เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒o ส.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาทำบุญกุศล เห็นไหม เราตักบาตร เวลาตักบาตรเราเห็นว่ามันเป็นวัตถุธาตุ เวลาเขาตักบาตรดอกไม้ อย่างนี้ว่าของกินไม่ได้ แต่มันก็เป็นเครื่องหอม นี่เวลาให้ธรรมเป็นทานล่ะ? วิชาการนะ ความรู้มันเป็นทาน

ความเป็นทาน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อสัตว์ขนสัตว์ รื้อสัตว์ขนสัตว์ด้วยอะไร? ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคืออริยสัจ คือมรรคญาณ มรรคญาณนะ เวลาไปเทศน์กับปัญจวัคคีย์ แสดงธรรมจักร พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม

นี่การเสียสละ.. การเสียสละ เห็นไหม วิชาความรู้ทางโลก เขาเป็นความลับทางการค้า เป็นความลับในหน่วยราชการ เป็นความลับ แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์นะ

“อานนท์ ไม่มีกำมือในเรา”

แบตลอด เปิดเผยให้พวกเราได้เต็มที่ แต่พวกเราทำได้หรือทำไม่ได้ พวกเราทำไม่ได้นะ ดูทางโลกสิ ทางโลกเวลาเขามีการแข่งขัน เห็นไหม การแข่งขันนั้น นี่มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ผู้ที่เป็นสัตว์ประเสริฐ ผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่มีความรู้ ผู้นั้นจะประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ถ้าเขามีคุณธรรมล่ะ? เขามีคุณธรรมนะเขาจะเผื่อแผ่ เขาทำสิ่งใดเพื่อโลก ในเมื่อเขาทำของเขานะ ในเรื่องหน้าที่การงานนั่นเรื่องของเขา แต่ใจเขาเป็นธรรม แต่ถ้าใจเขาไม่เป็นธรรมล่ะ?

นี่มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แต่สัตว์ประเสริฐนะ เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “มนุษย์โง่กว่าสัตว์” โง่กว่าสัตว์เพราะสัตว์มันมีอิสรภาพ มันไปได้ตามใจของมัน แต่มนุษย์เรา เห็นไหม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์เราต้องมีกติกา มนุษย์เราเขียนกฎหมายขึ้นมา เขียนกติกาขึ้นมา แล้วติดกติกาของตัวเอง นี่มันต้องรอนสิทธิ์กัน รอนสิทธิ์กันเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขในสังคมนะ.. นี่พูดถึงโดยธรรม เห็นไหม

นี่ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าละเอียดลึกซึ้งกว่านี้เยอะนัก สิ่งที่เรารู้กันเรารู้ด้วยการศึกษาทางวิชาการ ทางวิชาการนี่สุตมยปัญญา สุตมยปัญญาการศึกษา เห็นไหม ปริยัติมีปฏิบัติ ภาคปฏิบัติเขาเอาข้อเท็จจริงกัน ถ้าจิตเป็นปัจจัตตังมันสัมผัสของมัน มันถอดถอนนะ แต่นี้ศึกษาเท่าไหร่ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม? ใช่ แต่ก็งงนะ ยิ่งศึกษายิ่งงง

นี่มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แต่เวลาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ พระเป็นผู้ประเสริฐ.. พระเป็นผู้ประเสริฐ เห็นไหม พระเป็นผู้เสียสละ เสียสละมาจากทางโลก เราอยู่ทางโลก สิ่งที่ทางโลกเขาดำรงชีวิตกัน นี่มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสมอภาค ทำไมเสียสละมาล่ะ? เสียสละสิ่งนั้นมา นี่ผู้เสียสละมา เสียสละมาเพื่ออะไร? เพื่ออยู่ในกรอบ อยู่ในศีลในธรรม

ถ้าอยู่ในศีลในธรรม เห็นไหม นี่เวลาบวชขึ้นมา รุกขมูลเสนาสนัง ให้กรรมฐาน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่งานของเธอ งานของเธอ งานของพระนะ ถ้างานของพระ พระทำงานของพระ แต่พระถ้าไปทำงานของโลก เดี๋ยวนี้พระเป็นโลกหมด โลกกับธรรม! โลกคือการโฆษณา การประชาสัมพันธ์ เรื่องของโลกไง โลกคือตลาด เรื่องของโลกคือเรื่องการตลาด เรื่องความเชื่อถือ ต้องการให้เขาเชื่อถือ

แต่ถ้าเป็นธรรมล่ะ? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเผยแผ่ธรรมนะ เผยแผ่ เห็นไหม ถ้าคนไหนเขาเข้าถึงไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ฆ่าทิ้ง” ฆ่าทิ้งโดยการไม่พูด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พูดไม่จากับใคร คนนั้นเสียโอกาสนะ ด้วยการฆ่าทิ้ง การชักสะพาน พูดไปแล้วมันไม่มีประโยชน์ไง ไม่มีประโยชน์หรอก ยิ่งพูดเท่าไหร่ก็ไม่มีประโยชน์ แต่ไม่มีประโยชน์แล้วเผยแผ่ทำไม?

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรม เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการปัญจวัคคีย์ เทศนายสะ รวมทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น ๖๑ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “เธอทั้งหลายพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์ เธอจงไปอย่าซ้อนทางกัน โลกนี้เร่าร้อนนัก เห็นไหม เธออย่าไปซ้อนทางกัน โลกนี้เร่าร้อนนัก”

เราไม่เจ็บไข้ได้ป่วยนะ เราจะดำรงชีวิตของเราด้วยความสะดวกสบายของเรา ใครเจ็บไข้ได้ป่วยคนนั้นจะกระเสือกกระสนเข้าไปหาผู้ที่รักษา คนไม่เคยทุกข์มันไม่สนใจหรอก ยสะ เห็นไหม บอกว่าที่นี่เร่าร้อนนัก ที่นี่เดือดร้อนนัก นี่เขามีปราสาท ๓ หลังนะ เขามีทรัพย์สมบัติมหาศาลเลย ทำไมเขาเดือดร้อนล่ะ? ทำไมเขาทุกข์ยากล่ะ? เขาทุกข์ยาก เขาเดือดร้อนเพราะว่าใจเขามีคุณธรรมไง ถึงเวลาถ้าคนใจเป็นธรรมนะ สมบัติพัสถาน..

นี่ดูสิพระเรานะ คนจนผู้ยิ่งใหญ่คือหลวงตา มีบริขาร ๘ สมบัติส่วนตัวสิ่งใดๆ ไม่มีเลย แต่ช่วยเหลือโลกขนาดไหน นี่ถ้าคนจนผู้ยิ่งใหญ่ เขาใช้ของเขาเพื่อประโยชน์ของเขา เพื่อดำรงชีวิตเท่านั้นแหละ แค่กินเพื่ออยู่ดำรงชีวิต บริขาร ๘ เห็นไหม ชีวิตมีเท่านี้เอง แต่ที่เหลือเป็นประโยชน์กับโลก คนจนผู้ยิ่งใหญ่นะถ้าจิตใจมันเสียสละ

นี่ถ้าจิตใจเสียสละ สิ่งที่เสียสละนั้นออกไปเพื่อประโยชน์กับโลก ถ้าประโยชน์กับโลกมันจะย้อนกลับมาที่นี่ ย้อนกลับมาที่ใจนี้ ถ้าทำใจของใจได้ ถ้าทำใจของใจได้นะ..

“เธอพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์ เธอจงไปอย่าซ้อนทางกัน โลกนี้เร่าร้อนนัก”

โลกนี้เร่าร้อนนัก ผู้ที่เขาต้องการยา เขาต้องการธรรมะมีมหาศาล มีมหาศาลเพราะเขาเจ็บไข้ได้ป่วย เขารู้ของเขาว่าเขาเจ็บไข้ได้ป่วย นี่เรารู้ของเราไง ชีวิตนี้เป็นทุกข์ แต่ถ้าคนไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เห็นไหม ก็ว่าอะไรกัน ไปวัดทำไม? ชีวิตนี้มีแต่ความรื่นเริง มีแต่ความสุข มีแต่ความเพลิดเพลิน พวกนี้เขาไปทุกข์กันทำไม?

เขาไม่ป่วย! ทั้งๆ ที่เขาป่วยนั่นแหละ แต่เขาไม่รู้ว่าเขาป่วย แต่เวลาคนที่เขาป่วยนะเขารู้ว่าป่วย เห็นไหม ดูสิโลกนี้เร่าร้อนนัก ชีวิตนะ จิตใจที่มีคุณธรรม ในครอบครัวก็อุดมสมบูรณ์ เขาสมบูรณ์ของเขาหมดนะ เขาสมบูรณ์ทั้งสมบัติพัสถาน เขาสมบูรณ์ทั้งหัวใจของเขาด้วย

คำว่าสมบูรณ์ในหัวใจ เขาไม่ตื่นเต้นกับสมบัติสิ่งนั้นเลย สมบัติสิ่งนั้นไม่มีอำนาจเหยียบหัวเขาเลย สมบัติสิ่งนั้นไม่มีอำนาจครอบงำเขาได้เลย เขามีจิตใจเหนือสมบัตินั้น เขาบริหารสมบัติของเขาด้วยความเป็นสุขของเขา นี่เขาเสียสละของเขา เพราะอะไร? เพราะเราจะต้องตายไปข้างหน้า แล้วใครจะดูแล ใครจะรักษา แต่ถ้าสิ่งนั้นนะเราจัดการ เห็นไหม เพราะครอบครัวนะ พ่อแม่ถึงเวลาแล้วมอบให้ทุกๆ คนหมดแล้ว จบสบาย แต่ถ้าเรายังกังวล กังวลกันต่อไป..

นี้พูดถึงทางโลกนะ แล้วถ้าพูดถึงทางธรรมล่ะ? เวลาประพฤติปฏิบัตินะเราก็จะเอาสะดวกสบาย พ่อแม่นะ เวลาลูกนี่ พ่อแม่คนไหนบ้างไม่รักลูก ถ้าพ่อแม่คนไหนเลี้ยงลูกด้วยตามศีลธรรมจริยธรรมนะ เด็กมันก็ต้องธรรมดาของเขา เขาก็ต้องดื้อของเขา เขาต้องเล่นของเขาเป็นธรรมดา พ่อแม่ก็ต้องมีกติกากับเขาเพื่อให้เขายืนในสังคมได้ แต่ถ้าพ่อแม่คนไหนรักลูกเกินกว่าเหตุ รักลูก เอาใจลูก จนลูกยืนในสังคมไม่ได้ เป็นอย่างไร?

ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราตั้งสติ เราตั้งใจทำ เราก็ว่าสิ่งนี้เป็นความทุกข์เป็นความยาก ถ้าใครเขาเอาอกเอาใจ สะดวกสบาย ชอบ.. แล้วมันเป็นจริงไหมล่ะ? พ่อแม่รักลูกนะ เลี้ยงลูกมาต้องให้ลูกเข้มแข็ง ต้องให้ลูกตามความเป็นจริงขึ้นมาได้ ในการประพฤติปฏิบัตินะ เราเองต่างหากจะต้องดูแลใจเราเอง เราเองต่างหากต้องมีสติปัญญาควบคุมใจเราเอง

โลก! โลกเขาอยู่กันเพื่ออะไร? เพื่อกาม เพื่อกิน เพื่อเกียรติของเขา สมณะอยู่เพื่อดำรงชีวิตนี้เท่านั้น ดำรงชีวิตนี้ไว้เพื่อประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าชีวิตนี้มีอยู่ เราได้ประพฤติปฏิบัติ จิตถ้ามันมีสติมันก็รู้ว่ามันมีสติ ถ้ามีสติขึ้นมามันยับยั้งได้หมด ความคิดที่ฟุ้งซ่านในใจมันยับยั้งได้หมดเลย แต่ถ้ามันขาดสตินะ มันก็ไปแบบพายุบุแคมเลย

นี่แล้วถ้าเราเคยทำได้นะ เราจะเห็นได้เลยว่าคุณสมบัติของมันเป็นอย่างไร? คุณสมบัติที่ดีและชั่วในใจเรามันเป็นอย่างไร? แล้วถ้ามีสมาธิขึ้นมา ถ้าจิตมันสงบของมันขึ้นมาได้ เห็นไหม มันแตกต่างหมดแหละ พอมันสงบขึ้นมานี่ใครเป็นคนสงบ ก็จิตมันสงบไง ไม่ใช่ว่าลืมว่าสงบไง ว่างๆ ว่างๆ มันลืมไป! มันลืมว่ามีตัวมันอยู่ มันปล่อยหมดเลย แล้วไม่มีใครเลย แล้วไปไหน?

นี่ไงพ่อแม่เลี้ยงลูกโดยที่ไม่มีหลักมีเกณฑ์ ลูกมันก็ไปตามประสามันแหละ จนมันติดเป็นนิสัยมาแล้ว แล้วจะแก้กันอย่างไร? เวลาจะมาแก้จิตนะ นี่ตำราก็เขียนไว้อย่างนั้น แล้วตำราใครเขียนล่ะ? พ่อแม่ที่เขาไม่รู้เรื่อง เขาก็เขียนตำราเพื่ออย่างนั้นแหละ แต่พ่อแม่ที่เขารู้ดีรู้ชั่วนะ เขาไม่ทำอย่างนั้นหรอก เขาไม่ทำอย่างนั้นหรอก

นี่ความรักของพ่อแม่สะอาดบริสุทธิ์ เพราะความรักของพ่อแม่ไม่หวังสิ่งใดตอบแทนจากลูกเลย ความรักในโลกนี้ไม่มีความรักใดสะอาดเท่ากับพ่อกับแม่ พ่อแม่มีความรักที่สะอาดบริสุทธิ์มาก หวังดีกับลูก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ความรักของโลก เห็นไหม ที่ไหนมีรักที่นั่นมีทุกข์ ถ้าประสบความสำเร็จมันก็สมความปรารถนาไป ถ้าประสบความสำเร็จเล็กน้อย หรือไม่ประสบความสำเร็จ หรือมีปัญหาสิ่งใด เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของเวรของกรรม

คำว่าเวรกรรมนะ เห็นไหม กัมมะพันธุ กัมมะปฏิสะระโณ.. กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมเป็นแดนเกิด กรรมทั้งนั้นแหละ กรรมคือการกระทำ แล้วถ้าเรามาทำความดีของเราล่ะ? เรามีสติปัญญาไหม? เรามีสติยับยั้งไหม? ถ้ายับยั้งนะนี่ภาคปฏิบัติ.. ปริยัติคือศึกษา ศึกษาก็คือศึกษานั่นแหละ ดูโลกสิ เห็นไหม แล้วเวลาปัจจุบันนี้พอมาในศาสนา โลกก็เป็นใหญ่ คือการตลาดเป็นใหญ่ การประชาสัมพันธ์เป็นใหญ่ ความจริงอยู่ไหนไม่รู้

แต่ถ้าความจริงเป็นใหญ่ เห็นไหม ธรรมเป็นใหญ่ ธรรมเป็นใหญ่ความจริงมันเป็นใหญ่ เขาจะรู้หรือไม่รู้นั่นมันเรื่องของเขา ธรรมต้องเป็นใหญ่ ความผิด ความถูก สัจธรรมต้องเป็นใหญ่ เป็นใหญ่คือว่ามันต้องเป็นความจริงของมันไง สติต้องเป็นสติจริงๆ สมาธิต้องเป็นสมาธิจริงๆ ปัญญาต้องเป็นปัญญาจริงๆ แล้วปัญญาจริงๆ มันเป็นอย่างไร? มันเป็นอย่างไร?

มันเป็นได้ มันเป็นได้เมื่อธัมมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง เป็นมงคลของชีวิตนะ แต่นี้เป็นมงคลของชีวิต เราต้องเป็นนักเหตุผล หลวงตาท่านย้ำประจำ “เหตุและผลรวมลงเป็นธรรม”

เหตุและผล! เหตุและผลของใครมีน้ำหนักกว่ากัน เหตุและผลรวมลงเป็นธรรม

นี้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เหตุผลทางโลกนะ แล้วเวลาภาวนาไป เหตุผลทางจิต ถ้าจิตมันเป็นจริงมันจะรู้จริงของมัน ถ้าไม่เป็นความจริงมันก็เอาสีข้างเข้าถู พอสีข้างเข้าถู เวลาโต้แย้งแล้วมันไปไม่รอดไง เวลาแย้งขึ้นมานี่ว่า “ทำไมจิตเป็นอย่างนั้น?”

“ก็มันเป็นอย่างนี้ เพราะมันเป็นอย่างนี้มาโดยธรรมชาติ ก็มันเป็นอย่างนี้”

“แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ?”

“ก็มันเป็นโดยธรรมชาติน่ะ มันเป็นธรรมชาติ”

มันต้องมีที่มาสิ มันต้องมีที่มา แม้แต่นั่งอยู่นี่ก็ต้องมีที่มา ดูสิเรานั่งอยู่นี่เรามาจากเมื่อวานนี้ จิตนี้มาจากชาติที่แล้ว แล้วเวรกรรมมันมาอย่างไร? แล้วสมาธิมันมาอย่างไร? ถ้าไม่ตั้งสติมันจะเป็นสมาธิได้อย่างไร? แล้วบอกว่ามันว่างๆ มันเป็นธรรมชาติๆ ธรรมชาติมันเป็นของมันอยู่แล้ว ธรรมชาติเป็นอยู่แล้ว

ธรรมชาติเป็นผลของวัฏฏะ ธรรมชาติคือสสาร คือการแปรปรวน ธรรมชาติคืออนิจจัง คือมันไม่มีสิ่งใดคงที่ โลกนี้มีสิ่งใดคงที่? มันมีอะไรของมันคงที่บ้าง มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วเราล่ะ? เราก็เป็นส่วนหนึ่งของมัน เพราะเราก็แปรสภาพเหมือนกัน แล้วมันมาอย่างไรล่ะ? มันมาอย่างไร?

นี่พูดถึงว่าธัมมสากัจฉานะ ถ้าคนเป็น เห็นไหม นี่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า จิตที่สูงกว่า จะดึงจิตที่ต่ำกว่าขึ้น ครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าไม่มีวุฒิภาวะจะเป็นครูบาอาจารย์ของเราได้อย่างไร? ดูสิพ่อแม่นี่ ลูกทำอะไร เอาการบ้าน เอาฝึกงานมาเสนอพ่อแม่ ก็พ่อแม่ให้การบ้านไป พ่อแม่เป็นคนฝึกไป ส่งมานี่พ่อแม่รู้หมดแหละ

นี่ก็เหมือนกัน เป็นครูบาอาจารย์ ถ้าลูกศิษย์เวลาสนทนาธรรม การสนทนาธรรมประเสริฐที่สุด ประเสริฐหมายความว่า หนึ่งไม่เสียเวลา ถ้าเราเป็นลูกศิษย์นะ แล้วเรามีทิฐิมานะไม่ถามอาจารย์ อาจารย์ก็เอาไว้บนหิ้งนั่นแหละ แล้วก็ทำของเราไปนะ ๑๐ ปี ๒๐ ปีนะหัวชนฝาดันไปอยู่นั่นแหละ ดันอยู่อย่างนั้นแหละ ก็ทิฐิไง ก็เราเก่ง อาจารย์ก็เอาไว้บนหิ้งนั่นแหละไม่ถาม แต่ถ้าไปถามนะ ไปสอบทานกับท่านนะ ก็สอบทานก็จบเดี๋ยวนั้นแหละ แต่ถ้ามีทิฐิไง ทิฐิมันมี อันนี้มันเป็นจริต เป็นนิสัย เป็นอำนาจวาสนาของคนนะ

ดูในพุทธกาลนะ เห็นไหม สมณะพราหมณ์องค์สุดท้ายที่มาฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอดีตชาติเป็นพี่น้องกับพระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นพี่เป็นน้องกัน นี่ทำนาด้วยกันไง พอทำนาด้วยกัน พี่มีอะไรก็ถวายพระพุทธเจ้าก่อน ถวายพระพุทธเจ้าก่อน น้องบอกยังๆ

สุดท้ายแล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมานะ พระอัญญาโกณฑัญญะตรัสรู้เป็นองค์แรก สมณะน้องชายเป็นองค์สุดท้ายนะ เพราะทิฐิมานะอย่างนี้ไง คนมีปัญญา รู้ไปหมด เก่งไปหมด รับสิ่งใดไปหมดนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคืนนี้จะมานิพพาน ได้ข่าว ถ้าเราไม่ไปถามนะคืนนี้หมดโอกาสแล้ว คืนนี้หมดโอกาสแล้วต้องไปถาม พอเข้าไปถามก็ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอานนท์กันไว้ไง พระพุทธเจ้าบอก

“อานนท์ เรามาเพื่อเหตุนี้เหมือนกัน ปล่อยเข้ามา”

พอปล่อยเข้ามา ก็บอกว่า “นู่นก็ดี นี่ก็ดี นั่นก็ดี ดีไปหมดเลย”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“ในศาสนาไหนที่ดี ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล”

คำพูดสมัยโบราณนะ “ไม่มีรอยเท้าบนอากาศ” บนอากาศวางรอยเท้าไม่ได้หรอก รอยเท้าต้องอยู่บนดิน

นี่ก็เหมือนกัน มรรค ผล มันเกิดที่ใจ ถ้าไม่มีเหตุ ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล.. ลงนะ พอลงนี่ให้พระอานนท์บวชให้ คืนนั้นเป็นพระอรหันต์เลย เห็นไหม นี่ทิฐิมาทั้งชีวิตนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อยู่นั่นแหละ แต่ด้วยถือว่าตัวเองก็เป็นพราหมณ์เหมือนกัน ตัวเองก็มีปัญญาเหมือนกัน ไม่ยอมเข้าไปหา จนวันสุดท้ายนะ เพราะมันเกิดระลึกได้ นี่คนมีบุญเหมือนกัน วันสุดท้ายว่าถ้าเราไม่ถามวันนี้ก็จบแล้ว ถ้าไม่ถามคืนนี้ไม่มีสิทธิ์แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานคืนนี้แล้ว เข้าไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คืนนั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นลูกศิษย์ลูกหา เรามีครูบาอาจารย์เอาไว้บนหิ้งไง มีครูบาอาจารย์ก็เอาไว้สอบทานสิ สอบถามสิ แต่ถ้าเป็นจานกระเบื้องมันก็ไม่ยอมให้ถามนะ มันกลัวเสียงมันจะดังไง พอมันโยนลงพื้นแล้วมันจะมีเสียงดัง จานกระเบื้องนี่เวลาลูกศิษย์ถามจะบิดไปบิดมา บิดมาบิดไป ไม่ตอบหรอก แต่ถ้าเป็นอาจารย์จริงๆ นะเขาต้องการตรงนี้ เหมือนหมอ หมอนี่เขารอรักษาคนไข้ ยิ่งมีคนไข้หมอก็ยิ่งรักษา ไอ้หมอคนไหนคนไข้มาวิ่งหนี

นี่ก็เหมือนกัน พอลูกศิษย์มา.. นี่พูดถึงในวงกรรมฐาน พูดถึงเพราะว่าเดี๋ยวฟังเทศน์แล้วบอกว่า อ้าว.. ก็ไปถามแล้วท่านไม่ตอบ ถามทีไรวิ่งหนีทุกทีเลย พอเจอหน้ากันท่านขับรถหนีก่อนแล้ว ไม่เห็นตอบเลย นั่นก็เป็นจานกระเบื้อง แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์จริงๆ ก็มีอีกอย่างหนึ่งนะ

นี่เราเป็นชาวพุทธไง ธัมมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง เพื่อชีวิตเรานะ เราเป็นสัตว์ประเสริฐ มนุษย์เราเป็นสัตว์ประเสริฐนะ แต่ถ้าทางโลกมันต้องมีการแข่งขัน แต่ถ้าเป็นทางธรรมนะ มันแข่งขันกับหัวใจเราเอง เราจะต้องนั่งอยู่ที่โคนไม้ นั่งอยู่ในที่เรือนว่าง แล้วเราต้องมีสติปัญญา แล้วไล่กับจิตของเราเอง

โลกเขาแข่งขันกันด้วยตลาด ด้วยสังคม ธรรมะแข่งขันในใจเราระหว่างกิเลสกับธรรม ความพอใจและความไม่พอใจเรามันจะแข่งขันกันถ้าเรามีสติปัญญา เห็นไหม มันถึงเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกจำเพาะบุคคลคนนั้น เอวัง