เทศน์บนศาลา

ว่างจากการไม่รับรู้

๒๒ ส.ค. ๒๕๕๔

 

ว่างจากการไม่รับรู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะเป็นสัจธรรม ธรรมะเป็นของจริง ธรรมจะเข้าสู่คนจริง คนจริงเท่านั้นจะเข้าไปสู่สัจธรรม ถ้าคนเราไม่จริง ทำสิ่งใดก็ทำด้วยความไม่จริงจัง ความไม่จริงจัง เวลาไม่จริงจังกับธรรมะนะ แต่เวลาไปจริงจัง ไปจริงจังกับทุกข์ ไปจริงจังกับโลก ถ้าโลก เห็นไหม เราไปจริงจังกับมันเพราะ! เพราะมันเป็นเรื่องของสัจจะ สัจจะนะ สัจจะความจริงก็เป็นความจริงในอริยสัจ ในการที่เราจะประพฤติปฏิบัติเข้าสู่ธรรม

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นมาด้วยอำนาจวาสนาบารมี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่พุทธวิสัย พวกเรานี่สาวก-สาวกะ สาวกวิสัย นิสัยของสาวก นิสัยของผู้ที่เดินตาม นิสัยของผู้ที่ได้ยินได้ฟัง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นมา รื้อค้นมาด้วยอำนาจวาสนาบารมี สาวก-สาวกะได้ยินได้ฟัง

คำว่า “ได้ยินได้ฟัง” นี่ศรัทธาความเชื่อ กิเลสมันเปิดได้แค่นี้แหละ เวลากิเลสมันเปิดให้นะ เปิดให้ว่าพอมีลมหายใจไปไง ถ้าเข้มข้นจนเกินไป ชีวิตนี้ก็มีแต่จะถึงที่สุดแห่งชีวิตไง...ตายหมด! แต่ว่าต้องผ่อนไว้ให้เราพอมีลมหายใจ ผ่อนไว้เพื่อให้มีชีวิตอยู่ กิเลสมันจะได้อาศัยกับเราอยู่ไป ถ้าเราจริงจัง จริงจังในการประพฤติปฏิบัติ จริงจังในความเป็นจริง มันไม่พ้นจากมือเราไปหรอก แต่นี่เราไม่จริง แต่เราไปจริงกับโลก

เพราะคำว่า “สัจจะ” มันเรื่องของตัณหาความทะยานอยาก เรื่องของกิเลสใช่ไหม ในเมื่อมันเป็นเรื่องของกิเลส กิเลสมันก็เป็นอย่างนั้น กิเลสมันทำให้มักง่าย ทำให้เราพลั้งเผลอ ทำให้เราเสียหาย ทำให้เราอยู่ในอำนาจของมันตลอดไป แล้วเราไปจริงจังกับมัน เราไปจริงจังกับมันนะ แต่เวลาจริงจังกับความจริง ดูสิ เราเที่ยวในสถานที่วิเวก กายวิเวก จิตวิเวก ถ้าสิ่งที่วิเวก มันเสียวสันหลังนะ เข้าป่าช้าหรือก็กลัวผี จะเข้าไปไหนนะ.. เวลาความกลัวเป็นเรื่องของโลกน่ะ แต่ถ้าไปงานมโหรสพสมโภช ที่ไหนนะ..

“ในสโมสรสันนิบาตทุกดวงใจว้าเหว่” เราเข้าไปในที่สโมสร ที่เขามีงานมหรสพสมโภชกัน เราเข้าไปสโมสรสันนิบาตเลย แต่ทุกดวงใจว้าเหว่ ว้าเหว่เพราะอะไร เพราะมันสิ้นกระบวนการแล้วเราจะไปไหนกันต่อ? จะไปไหนกันต่อ? กับจนเพลิดเพลิน เมาหยำเป กลับไปถึงบ้านก็ไปอ้วกไปอาเจียน สุดท้ายแล้วก็ไปนอน เช้าขึ้นมาไปต่ออีกแล้ว

นี่ไง แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เข้าไปสู่ที่สงบสงัด เข้าไปสู่สถานที่วิเวก...กลัว! กลัวผีกลัวสาง ยิ่งพระเราปฏิบัตินะ เข้าป่าเข้าเขาไป กลัวสัตว์ร้าย กลัวความลำบาก กลัวความทุกข์ความยาก อันนั้นเป็นความจริงไหม ป่าเขาลำเนาไพรนี่เป็นความจริงไหม มันเป็นธรรมชาติใช่ไหม มันเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตใช่ไหม สิ่งนั้นเป็นความจริง แต่เรื่องในเมือง เรื่องในสิ่งที่เป็นที่ชุมชน นั้นมันเกิดเพราะอะไรล่ะ? มนุษย์สร้างขึ้น ตัดถนนหนทาง เดินไฟเข้าไป จะต้องหาเครื่องอำนวยความสะดวกเข้ามา

มันเป็นใครสร้างขึ้น แล้วสร้างขึ้นมันก็ต้องมีงบรักษาดูแล ดูสิ ดูแลรักษากันอยู่อย่างนั้น แต่ป่าเขาธรรมชาติมันสร้างขึ้น เพราะกาลเวลามันปรับสภาพของมัน มันฟื้นฟูขึ้นมา คนไม่ไปทำลายมัน มันขึ้นของมันเอง มันต้องอยู่ของมันเอง นี่เป็นความจริงไหม? เป็นความจริง แล้วเราเข้าไปกล้าเผชิญกับความจริงไหม? ทุกคนหนีนะ ทุกคนหนีมาเข้าไปสู่สังคม แต่ถึงเวลาแล้ว เวลาอยู่ในสังคมแล้วก็อยากจะพักผ่อน อยากจะเที่ยวป่าเที่ยวเขาเป็นครั้งเป็นคราว รู้ว่ามันเป็นธรรมชาติ ไปสูดโอโซน อากาศมันบริสุทธิ์ มันสดชื่น แต่ความดำรงชีวิตเราดำรงชีวิตอย่างไรล่ะ

เวลาเราไปจริง เราไปจริงกับกิเลส แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันไม่จริง!

ถ้ามันจริงนะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นความจริงนะ เป็นความจริงสิ่งที่พิสูจน์ได้ สิ่งที่พิสูจน์ได้ ดูสิ เวลาพระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ดำรงสร้างบุญญาธิการ สร้างคุณงามความดีมา แต่ละภพ แต่ละชาติ แต่ละชีวิต เป็นสัตว์ก็เป็นหัวหน้าสัตว์ เป็นสัตว์ใช่ไหม ก็ดูแลหมู่คณะ มีเภทภัยสิ่งใดมา ปกป้องดูแลโดยใช้ปัญญาของตัวพาหมู่คณะรอดพ้นจากอันตราย

แต่มันเป็นชีวิต ดำรงชีวิตเป็นกษัตริย์ก็เป็นกษัตริย์ที่ดี ถ้าเป็นจักรพรรดิเป็นต่างๆ นี่พระโพธิสัตว์สร้างบุญญาธิการมามหาศาลต่อเนื่อง.. ต่อเนื่อง.. ต่อเนื่องมา คำว่า “ต่อเนื่อง” จิตมันถึงมีบารมีธรรม ธรรมที่มีบารมีธรรม จิตมันถึงมีความแก่กล้า มีบารมี มีกำลัง เพื่อจะฝืนกับความเคยใจ ฝืนกับกิเลสนี้ไป ถ้ามันฝืนกับกิเลส นี่พันธุกรรม จิตได้ตัดแต่ง จิตได้ทำคุณงามความดีมา แล้วพยายามรื้อค้นสิ่งนี้มา

นี่จะพูดถึงธรรมะไง

“ธรรมะ” สิ่งที่มี สิ่งที่เป็นศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยที่เป็นศาสดาของเรา เรามาพบมาเจอขึ้นมา เราพบมาเจอ แล้วถ้าสังคมไม่สนใจ มันก็มีแต่ตำราไง “ถวายพระไตรปิฎก” เอาไว้ทำไม? เอาไว้กราบไง กราบพระพุทธคือพระพุทธรูป กราบพระธรรมคือกราบพระไตรปิฎก กราบพระสงฆ์นะ.. พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่รัตนตรัยเป็นที่พึ่งอาศัยแล้วอย่างไรต่อ? แล้วอย่างไรต่อ? ก็ทำบุญแล้วไง ก็สร้างก็ทำเต็มที่แล้วไง.. นี่ความอ่อนแอของใจ

ฉะนั้น สิ่งที่ธรรมวินัยนี้กว่าจะได้มานะ คำว่า “ธรรมวินัยได้มา” เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระธรรม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก นี่ไงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รัตนตรัยเป็นแก้วสารพัดนึกของเรา นึกอย่างไร นึกอย่างไร

นี่ไง ทำบุญกุศลใช่ไหม ทำบุญกุศลเป็นอามิส สิ่งที่เป็นอามิส เวลาเราทำทานของเรา เราหว่านพืชไปบนที่นาของเรา เราเก็บเกี่ยวผลของเรา นี่เป็นผลบุญกุศลของเรา แล้วพระล่ะ พระได้อะไร ก็ได้เศษข้าวที่ตกอยู่ที่นานั้นไง ได้เศษข้าว ได้เศษฟาง สิ่งนั้นเป็นผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะคือการกระทำ การกระทำนี่จิตทำแล้วจิตเป็นผู้ได้.. หว่านพืชสิ่งใดลงไป นี่แก้วสารพัดนึกของเรา เราทำอะไร เราทำทานของเรา เราทำทานของเรามันก็ได้อามิสของเรา ทำนี่ได้เป็นบุญเป็นกุศลเป็นอามิส ส่งเสริมให้เกิดผลของวัฏฏะ สิ่งที่เป็นชีวิตดำรงอยู่นี่ก็เป็นผลของวัฏฏะ แล้วทำมาก็ทำเพื่อวัฏฏะ แล้ววิวัฏฏะล่ะ คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีมากกว่านั้นน่ะ มีมากกว่าการทำบุญกุศลไง

ทำบุญกุศล เวลาทำบุญกุศล ทำทานขนาดไหนก็แล้วแต่ เวลามีเกิดบุญกุศลขึ้นมา ถ้าพ้นจากทุกข์ต้องภาวนาอย่างเดียว ถ้าภาวนานะ เพราะการภาวนา.. การทำทานใครเป็นคนทำ มนุษย์เป็นคนทำ แล้วมนุษย์นี้มาจากไหน มนุษย์เกิดจากปฏิสนธิ เกิดในไข่ ในครรภ์ของมารดา เกิดมาเป็นเรา เกิดเป็นเรา นี่คืออะไร ก็นี่คือมนุษย์ไง มนุษย์มันคืออะไร คือชีวิตกับจิต มีร่างกายและจิตใจไง ร่างกายและจิตใจ

การกระทำ สิ่งที่การกระทำ อะไรทำออกไป ทำสิ่งใด ทำบุญกุศลโดยมันทำ นี่จิตมันส่งออกมา! จิตมันส่งออกมา ถ้าไม่มีความรู้สึกนึกคิดจะทำได้ไหม ก็มีความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึกนึกคิดเกิดจากอะไร เกิดจากจิต พอจิตมีความนึกคิดแล้วใครเป็นคนทำ ก็ร่างกาย มือนี่เป็นคนทำ พอทำออกไปแล้วผลของมันก็ตกอยู่กับใจดวงนี้ไง ใจดวงนี้ ใจคือความคิดไง นี่พูดถึงผลของวัฏฏะไง แล้วผลของวัฏฏะได้อะไรสิ่งใดมา? ก็ได้บุญกุศลต่อเนื่องกันไปไง แล้วก็เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม แล้วก็เวียนกลับมาเกิดใหม่อีกไง

ก็เกิดอย่างนี้ก็เกิดเป็นพระโพธิสัตว์ไง เวลามัน ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ทำไมมันยังเป็นการทำคุณงามความดีเลย แต่นี่เราปรารถนาอย่างนั้นหรือเปล่าล่ะ เราไม่ได้ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ เราปรารถนาทำบุญกุศล นี่ด้วยศรัทธาความเชื่อ นี่ผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะทำแล้วก็ได้แต่วัฏฏะไง ผลของการนึกคิดทำแล้วมันก็เป็นผลของความนึกคิดของจิตดวงนี้ไง

แต่ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ทำบุญกุศลมากน้อยขนาดไหนแล้วแต่ มันทำให้จิตใจของเรามั่นคง จิตใจของเรา ดูสิ สิ่งที่พระโพธิสัตว์ท่านทำขึ้นมาเพราะแรงปรารถนา ความปรารถนาแล้วพระพุทธเจ้าพยากรณ์แล้ว ถ้าพยากรณ์แล้วมันกลับไม่ได้ มันต้องสร้างสมไปถึงที่สุดไง เพราะพยากรณ์แล้วมันไปถึงที่สุดแน่นอน อย่างเช่น เราประพฤติปฏิบัติ ถ้าจิตของใครเข้าถึงโสดาบันแล้ว พาดกระแสแล้วถึงที่สุดแห่งทุกข์แน่นอน นี่พูดถึงสาวก-สาวกะนะ มีธรรมวินัยแล้วประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าปฏิบัติถึงเป็นพระโสดาบันนี่เข้ากระแส พาดเข้ากระแสเข้าสู่นิพพาน ไปถึงนิพพานแน่นอน! นี่พูดถึงสาวก-สาวกะที่ประพฤติปฏิบัตินะ

แต่เวลาพระโพธิสัตว์ที่ได้รับการพยากรณ์แล้วล่ะ แล้วได้รับการพยากรณ์มาแล้วเป็นใครล่ะ มันรับพยากรณ์แล้วก็เป็นพระโพธิสัตว์ใช่ไหม พุทธวิสัยก็ต้องทำไป.. ทำไป.. ทำไป.. ทำไป.. ทำไปน่ะเพราะมีแรงปรารถนา เพราะมีความจงใจ มีความตั้งใจ ทำด้วยหัวใจนะ ทำด้วยความสุข ความพอใจของตัว คำว่า “พอใจ” ถ้าเราพอใจ เรามีความสุข มีความพอใจ เราทำต้องเป็นความดีใช่ไหม เป็นความดี ทำไปก็เป็นความดีไปต่อเนื่องไป

แต่ถ้ามองโดยธรรม มองโดยธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง การเกิด-ตาย เกิด-ตายทุกข์ไหม ทุกข์แน่นอน การเกิดและการตายนี่ทุกข์แน่นอน ความทุกข์แน่นอน แต่เพราะปรารถนา เพราะพอใจ มันก็เป็นความสุขไง ความสุขเพราะแรงปรารถนา เพราะยังไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ยังไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ต้องบุญญาธิการไป

แต่ในเมื่อเราเกิดมาพบพุทธศาสนา เกิดมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เรามีความเชื่อความศรัทธา มีความเชื่อความศรัทธา เราประพฤติปฏิบัติกันแล้ว ทานก็ได้ทำแล้ว ทานก็ทำ ทำทานแล้ว เพราะเราทำทานของเรา “ทาน ศีล ภาวนา” นี่สามเส้า หม้อข้าวหม้อแกงมันตั้งอยู่บนสามเส้ามันมั่นคงไง ทานก็คือทาน ทาน ศีล ภาวนา.. พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์.. รัตนตรัย นี่ไง

ทานของเรา เวลาเราทานด้วยวัตถุข้าวสิ่งของ ทีนี้เราในปฏิบัติปัจจุบันนี้ เราจะยกร่างกายเรานี้ถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะทานด้วยชีวิตจิตใจของเรา ถ้าเราจะทานด้วยชีวิตจิตใจของเรา เรานั่งสมาธิภาวนาอยู่นี้ ร่างกายนี้ไง “บุญกิริยาวัตถุ” เวลาเขาทำบุญกุศลกัน เขาทำด้วยวัตถุนะ แต่เวลาเรามีจิตใจ เราตั้งใจดีของเรา เราเอาร่างกาย เอาทั้งจิตใจและร่างกายบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเราเสียสละ บุญกิริยาวัตถุ เพราะเราจะเคลื่อนไหวอย่างไรก็ได้ เราจะอยู่สิ่งใดก็ได้ แต่ทีนี้เราเก็บกิริยา บุญกิริยาวัตถุ ท่านั่งนี่แหละ ท่านั่งนี่เราจะถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งร่างกายและจิตใจนี้เลย แล้วเรากำหนดพุทโธๆ ของเรา แล้วมันเป็นจริงไหม มันเป็นไปได้ไหมล่ะ? มันเป็นไปไม่ได้

เวลาเราหานะ เวลากิเลสมันข่มขี่เรานะ เราก็บอก “เราเป็นคนทุกข์จนเข็ญใจ เราจะทำบุญกุศลเราก็ไม่มีโอกาส” แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราเอาชีวิตเรา เอาร่างกายของเราถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะเป็นคนทุกข์จนเข็ญใจอีกเหรอ นี่เราเป็นบัณฑิต เราเป็นนักปราชญ์ เรามีสมอง เรามีความคิด เรามีการศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเรามีความพอใจ เราเอาชีวิตจิตใจของเราถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย มันเป็นคนทุกข์จนเข็ญใจมาจากไหน มันเป็นบัณฑิตต่างหากล่ะ มันเป็นบัณฑิต มันเป็นผู้ที่มีคุณธรรม เป็นผู้ที่จะเข้าไปสัมผัสธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราถึงเอาชีวิตจิตใจเรานี่ถวายเลยนะ

ทีนี้พอคำว่า “ถวาย”

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเราบอกว่า “ให้กำหนดพุทโธๆๆหรือปัญญาอบรมสมาธิ” การทำคำว่าพุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธิ “ศีล สมาธิ ปัญญา” “ทาน ศีล ภาวนา” ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ มรรค ๘ ก็คือ “ศีล สมาธิ ปัญญา” นี่แหละ ถ้าศีล สมาธิ ปัญญา.. มรรค

เริ่มต้นนะ พ่อแม่จะเลี้ยงลูก คลอดลูกมา ดูแลลูกมา ตั้งแต่อ้อนแต่ออก แล้วเราจะพัฒนาขึ้นมา เราจะรู้ว่าลูกเราควรทำสิ่งใด ลูกเราขยันหมั่นเพียรขนาดไหน ลูกเรามีปัญญามากน้อยขนาดไหน เราจะถนอมรักษาลูกเราให้โตขึ้นมา ให้มีการศึกษาเล่าเรียน ให้มีการต่างๆ เพื่อพัฒนาลูกของเราเพื่อจะอยู่ในสังคมนั้น

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ที่ท่านจะสั่งสอนเรา เริ่มต้น.. เราจะเริ่มต้นกันที่ไหน ดูสิ เราบอกเรามีความเชื่อมั่น เรามีความศรัทธา เราเอาร่างกายของเราและจิตใจของเราถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว นี่บูชา “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นแก้วสารพัดนึก เราก็ต้องการพุทธ ธรรม สงฆ์.. เราจะบวชเป็นพระ เราก็เป็นสมมุติสงฆ์ เราไม่ได้บวชเป็นพระ เราเป็นนักบวช เราก็อยากได้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” เราก็ต้องการบวชใจ ต้องการให้ใจมันเป็น พอต้องการให้ใจมันเป็น เราก็ตั้งใจทำของเรา

ครูบาอาจารย์ของเรานะ ให้กำหนดพุทโธหรือให้ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นี่ไง มันก็เหมือนพ่อแม่เลี้ยงลูก พ่อแม่เลี้ยงลูกก็ต้องการให้ลูกของเรามั่นคงเข็งแรงขึ้นมา ให้ลูกของเราเติบโตขึ้นมาเพื่ออยู่ในสังคมได้ นี่ก็เหมือนกันครูบาอาจารย์ที่จะประพฤติปฏิบัติเรา ท่านให้จิตใจมันเข้มแข็งขึ้นมา

แล้วจิตใจมันอยู่ไหน? จิตใจที่จะประพฤติปฏิบัติมันอยู่ไหน? นั่งด้วยความเป็นนักปราชญ์ นั่งด้วยความเป็นบัณฑิต นั่งด้วยความมีสติปัญญาหรือจะนั่งด้วยหุ่นยนต์ เราจะเป็นหุ่นยนต์ใช่ไหม? ถ้าเป็นหุ่นยนต์ คนที่ฉลาด เราบอกว่า “ก็สร้างรูปเหมือนเรารูปหนึ่ง แล้วก็ตั้งไว้ นี่ไงบูชาแล้วไง ก็ต้องได้บุญกุศลเต็มที่สิ เราก็ทำรูปเหมือนของเราก็ได้ เราทำหุ่นของเราก็ได้ แล้วก็บูชาพระพุทธเจ้า”

ก็เหมือนตุ๊กตาที่เขาแก้บนกันน่ะ แล้วมันเป็นอะไร มันได้อะไรขึ้นมา ตุ๊กตาแก้บนเขาบนของเขา เขามีตุ๊กตาไปแก้บนของเขา ก็เพื่อความสบายใจของเขาว่าเขาได้แก้บนแล้ว ไอ้นี่จะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็สร้างหุ่นตัวหนึ่ง เหมือนเปี๊ยบเลย โคลนนิ่งมาเหมือนเปี๊ยบเลย แล้วก็บูชาพระพุทธเจ้า ได้อะไรขึ้นมา? นี่ไงถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมานะ มันไม่ใช่เป็นความปลอม ถ้าเป็นความปลอมขึ้นมา มันจะได้สิ่งใดล่ะ มันก็หุ่นยนต์นั่นแหละ

ทีนี้การภาวนาของเรา ถ้ามันพุทโธๆ จิตมันเริ่มสงบ จิตมันมีความเป็นไป มันจะเป็นความจริง แต่ถ้าไม่เป็นความจริงล่ะ คนไม่เป็นความจริงนะ ถ้าแบบว่า “ว่างจากการไม่รับรู้”.. ว่างจากการไม่รับรู้ ไม่รับรู้อะไรเลย แต่ว่าง นี่ไง ไม่รับรู้อะไรเลย สิ่งว่างนะ มันว่างอย่างไรล่ะ

มนุษย์เรามีร่างกายและจิตใจ ร่างกายนี้จับต้องได้ จิตใจเป็นความรู้สึกนึกคิด เราทันความคิดกันไหม มองเห็นคน เห็นหน้าตาเห็นมนุษย์นี่ไว้ใจได้ไหม มนุษย์ก็คือมนุษย์ คนเหมือนคน แต่จิตใจคนเหมือนกันไหม? จิตใจคนไม่เหมือนกัน มีสูง มีต่ำ มีเลว มีดี มีการอาฆาตมาดร้าย มีสิ่งที่จิตใจสูงส่งคอยดูแลกัน นี่ไงในเมื่อจิตใจมันเป็นนามธรรม พอนามธรรม พอบอกกำหนดพุทโธหรือทำปัญญาอบรมสมาธิ

“ว่าง.. ว่าง.. ว่าง..” ว่างจาการไม่รับรู้ มันไม่รับรู้มันก็ว่าง แล้วว่างอย่างไร?

“ไม่รู้..” ว่างอย่างนี้เหรอ? นี่ว่างอย่างนี้

ดูสิ ถ้าเราประพฤติปฏิบัตินะ ด้วยความรู้สึกนึกคิดด้วยการใช้ปัญญา เราก็บอกว่า “เราบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยร่างกายและจิตใจแล้ว อย่างนี้เป็นบุญกุศลแล้ว” แล้วถ้าคนที่ไม่มีปัญญาขึ้นมา มันก็เอาหุ่นยนต์ เอารูปปั้นของมัน เหมือนตัวมันแล้วก็ไปบูชาพระพุทธเจ้า มันต้องได้มากกว่าเพราะมันนั่งตลอดชีวิต นั่ง ๒๔ ชั่วโมง บูชาไว้นี่แล้วตัวเองก็ไปเที่ยวเล่น จะทำอย่างไรก็ได้ เพราะเราได้บูชาพระพุทธเจ้าแล้ว เราได้ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้าแล้ว แล้วมันจะได้ผลขึ้นมาไหม? ไม่มี! ไม่มี! ไม่มีหรอก!

แต่ทีนี้ในการประพฤติปฏิบัติโดยความเป็นจริง เราก็กำหนดของเรา เราก็ดูแลใจของเรานะ แล้วว่างจากการไม่รับรู้นี่มันเป็นสมาธิไหม? เพราะมันไม่รับรู้ มันไม่รับรู้สิ่งใดใดเลย พอมันไม่รับรู้สิ่งใดใดเลย แล้วมันได้อะไรต่อมาล่ะ มันได้การไม่รู้สิ่งใดใดเลย ทีนี้พอการไม่รู้สิ่งใดใดเลย เราเกิดมาพบธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเมื่อเราพบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็ศึกษาธรรมๆ กันใช่ไหม ในเมื่อว่างจากความไม่รับรู้มันจะมีสิ่งใดต่อไป ในเมื่อมันไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่รู้เหนือรู้ใต้นะ แต่ถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

พอพยายามจะชักนำไง พยายามจะชักนำว่ามันรู้มันเห็นตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่จริง เป็นจริงไปไม่ได้ เป็นจริงไปไม่ได้หรอก เพราะมันขาดช่วง ในเมื่อว่างจากการไม่รับรู้ แล้วที่รู้มันคืออะไรล่ะ ที่รู้คือ “ว่างๆ ว่างๆ” น่ะ แล้วมันเกี่ยวเนื่องกับอะไรล่ะ ในเมื่อคนเราไม่มีสติ ในเมื่อคนเราไม่รู้จักตัวตนของตัว แล้วคนๆ นั้นจะทำอะไรขึ้นมาเป็นประโยชน์กับคนๆ นั้นได้ มันจะต่างกับหุ่นยนต์ไหม มันจะต่างกับตุ๊กตาแก้บนไหม

จิตของจิตเราทั้งดวง เราทำของเรา ถ้ามันเป็นสมาธิ มันเป็นสัมมาสมาธิ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา มันเป็นหรือไม่เป็นล่ะ...มันไม่เป็น ไม่เป็นเพราะอะไรล่ะ เพราะปฏิบัติมันไม่เป็นเหตุเป็นผล ถ้าไม่เป็นเหตุเป็นผล เวลาเราปฏิบัติเป็นเหตุเป็นผลขึ้นมา มันก็จะเป็นความจริงของมัน ในเมื่อมันปฏิบัติมาแล้วไม่เป็นเหตุเป็นผล แต่ในเมื่อเราศึกษา สาวก-สาวกะผู้ได้ยินได้ฟัง เราเป็นสาวก-สาวกะแล้วได้ยินได้ฟังขึ้นมา สิ่งที่ได้ยินได้ฟังขึ้นมาแล้วประพฤติปฏิบัติมาเป็นความจริง มันก็เป็นความจริง ทีนี้มันก็อยู่ที่อำนาจวาสนาของจิต จิตที่มันอ่อนแอ

จิตที่อ่อนแอเวลามันกำหนด กำหนดของมันไป มันก็ว่ามันไม่มี มันว่าง มันไม่มี แล้วว่าง ไม่มีแล้วเป็นอย่างไร? เพราะมันไม่รับรู้อะไร มันปฏิเสธ ปฏิเสธแล้วมันได้อะไรต่อไปล่ะ ทีนี้พอไม่ได้ต่อไปปั๊บ พอมันปฏิเสธต่อไป แต่เพราะมีสมอง เพราะมีการจำ มันเป็นสัญญาไง สัญญา.. ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาบอกว่า “ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น” ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ แล้วจิตใจมันไม่เป็นความจริง ในตัวเองไม่มีความจริง มันก็ฉ้อฉลกับตัวเองแล้วรอบหนึ่ง ฉ้อฉลกับตัวเองแล้วขั้นตอนหนึ่งนะ

แต่พอฉ้อฉลตัวเองเข้าแล้ว มันจะฉ้อฉลไปด้วยที่กิเลสหนา ปัญญาหยาบ แล้วปัญญาหยาบแล้วมันก็ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็เป็นสัญญา พอสัญญาขึ้นมามันก็เทียบเคียงใช่ไหม เทียบเคียงว่าจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น ผู้ที่ปฏิบัติอย่างนี้จะสำเร็จบ่อยมาก จะสำเร็จบ่อยครั้ง บ่อยมาก สำเร็จบ่อยเพราะเหตุใด? เพราะมันเป็นสัญญา มันสัญญาจำธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า จิตของเรา เวลาเราว่างจากความไม่รับรู้แล้ว มันก็ฟักตัวของมันใช่ไหม มันก็จินตนาการของมันใช่ไหม

พอจินตนาการ “พุทธพจน์ว่าอย่างนั้น ธรรมะว่าอย่างนั้น” แต่! แต่มันฟั่นเฟือน คำว่า “ฟั่นเฟือน” นะ ขณะจิตที่มันเป็นความจริงมันมีหนึ่งเดียว มันมีครั้งเดียว แต่ขณะที่ว่าว่างจากความไม่รับรู้ เวลาเขาบอกว่าของเขาเป็นน่ะ เป็นแล้วเป็นเล่า เป็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะเหตุใด? ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะมันเป็นสัญญา คำว่า “สัญญา” เดี๋ยวจำได้เดี๋ยวก็ลืม พอเดี๋ยวลืมไปเดี๋ยวก็พูดแง่มุมใหม่ พอแง่มุมใหม่ ผู้ที่ว่าว่างจากความไม่รับรู้นะ เวลาพูดถึงมรรคผลนะ พูดสับปลับ! พูดซ้ำซาก! พูดไม่มีหลักมีเกณฑ์! พูดไม่มีเหตุมีผล! พูดไม่มีการเกี่ยวเนื่องกันเป็นเรื่องขบวนการของธรรมที่เกิดขึ้น!

ศีล สมาธิ ปัญญา.. มรรค ๘ ขบวนการของมัน พูดไม่ถูกต้อง พูดไม่ถูกต้องเพราะอะไร เพราะมันขาดช่วง-ขาดตอนกัน “ว่างจากความไม่รับรู้” ถ้าไม่รับรู้ก็กิเลสทั้งนั้นน่ะ! มันจะรับรู้ได้อย่างไร มันไม่รับรู้ก็คือว่ามันไม่มี คือว่าไม่มีแล้ว ถ้ามันตกภวังค์ไปก็คือตกภวังค์ไปนะ แต่ถ้ามันไม่ตกภวังค์ไปนะ

อย่างฤๅษีชีไพร ของเขานี่เขาไม่ใช่ว่างจากความไม่รับรู้นะ ของเขาน่ะเข้าสมาธิของเขา แต่เพราะเขาเกิดก่อนสมัยพุทธกาลหรือสมัยปัจจุบันนี้เขาเป็นเดียรถีย์ เขาไม่สนใจในพุทธศาสนา ในเมื่อเขาไม่สนใจในพุทธศาสนา ของเขาเขาทำความสงบของใจ เขาเข้าแล้วเขาเป็นฌานโลกีย์ พอฌานโลกีย์ เขาต้องเข้าฌาน เขาเป็นการเพ่ง เขาต้องการเป็นผู้วิเศษของเขา ฤๅษีชีไพรในปัจจุบันนี้ ถ้าไม่ได้เดินมรรค ๘ มันไม่เข้าสู่สัจธรรม ถ้าฤๅษีชีไพรของเขา เขาบอกเขาถือของเขา เพราะฤๅษีชีไพรเขามีทิฏฐิไหม ถ้าเขาทิฏฐิ เพราะฤๅษีถือศีล ๑๐

แต่ถ้าเป็นพระล่ะ พระศีล ๒๒๗ ใช่ไหม แล้วอย่างในพระวินัย ๒๑,๐๐๐ ในเมื่อ ๒๑,๐๐๐ แล้ว เวลามีครูบาอาจารย์ พระทำไม่ได้ไง พระจะพูดโอ้อวด พระจะพูดนอกกรอบ พระจะพูดทุศีล พระจะพูดโกหก...พระทำไม่ได้ทั้งนั้นน่ะ! ถ้าพระทำไม่ได้ ถ้าทำไปมันก็พอกพูน ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในนรกอเวจีนี่นะ มันจะมีแท่งเหล็กเหมือนลำตาล เวลาพระตกนรกนี่นะ ผ้าเหลืองไม่ตก ผ้าเหลืองจะไปพาดอยู่บนแท่งเหล็กนั้นจนแอ่นเลยนะ คิดดูสิ นี่ไง ศีลนี่ไง! ศีลนี่ไง!

แต่ถ้าเป็นฤๅษีชีไพรมันไม่ต้องมีตรงนี้ไง เพราะว่าอะไร เพราะว่าเขาไม่ได้ปฏิญาณตน เขาไม่ได้บวชเข้ามา บาปกรรมของเขาก็เหมือนทางโลกที่เขาฉ้อฉลกัน ในโลกเห็นไหม ดูสิ ๑๘ มงกุฎ ผู้หากินบนหลังคนมันทำอะไรบ้างล่ะ มันก็หลอกลวงเขาไปเรื่อย! มันหลอกลวงกิน มันหลอกลวงผลประโยชน์ของมัน

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นฤๅษีชีไพร มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นพระ มันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก ถ้าเป็นพระ เพราะปฏิญาณตน บวชมาในญัตติจตุตถกรรม บวชมาเป็นสงฆ์ บวชมาแล้วมันปฏิญาณตน ปฏิญาณว่าเป็นพระ ถ้าเป็นพระแล้ว การประพฤติปฏิบัติเป็นพระอย่างไรล่ะ

ฉะนั้น จะมาบอกว่าถ้าว่างจากความไม่รับรู้ นี่ก็เป็นเพราะว่ากิเลสมันครอบงำ แต่ถ้าเป็นสมาธิ สัมมาสมาธิมันมีจิตไหม? มี.. มีจิตของมัน มีจิตรับรู้ ต่างๆ รับรู้ แต่ไม่เข้ามรรค ถ้าไม่เข้ามรรคมันก็เป็นเรื่องของทิฏฐิมานะ คนที่มีอำนาจวาสนาที่เขาถือตัวถือตนว่าเขาเป็นผู้รู้ เขาเป็นผู้วิเศษ แต่เขาเข้าถึงสัจธรรมไม่ได้.. ไม่ได้! ไม่ได้!

เพราะพระพุทธเจ้าปฏิเสธแล้ว ไปอยู่กับอาฬารดาบส อุทกดาบส สมาบัติ ๘.. สมาบัติ ๘ ก็คือสมาบัติ แล้วมรรคเป็นอย่างไรล่ะ นี่ไง พระพุทธเจ้าปฏิเสธเรื่องนี้มาอยู่แล้ว นี่พูดถึงว่า “ศีล สมาธิ มันไม่เกิดปัญญา”

ถ้ามันเกิดปัญญาล่ะ ถ้ามันเกิดปัญญาตามความเป็นจริงขึ้นมา “พุทโธ พุทโธ” ถ้าเรากำหนดพุทโธ เราทำสัมมาสมาธิ เวลาจิตมันสงบเข้าไปนี่เรารู้ ว่าง.. กระจ่างแจ้ง.. ว่างจากมีสติ ว่างจากความรับรู้ ไม่ใช่ไม่รู้...รู้! รู้ชัดๆ!

นี่รู้ชัดๆ ขึ้นมา ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ในเมื่อเป็นสมาธิ สมาธิก็คือสมาธิ ปัญญาก็คือปัญญา แต่ในปัจจุบันนี้ มันเป็นปัญญาที่เราพูดกันนี่มันเป็นสัญญา! มันเป็นสัญญา มันเป็นการจำมา มันเป็นการศึกษามาเพราะว่าการศึกษามา พอศึกษามา จิตมันไม่มีกำลัง คือจิตของคนเราไม่เข้มแข็ง พอไม่เข้มแข็ง ทำสิ่งใดก็แล้วแต่ สุกเอาเผากิน อยากได้ตามแต่ใจตัว แล้วก็บอกนะ “ธรรมะข้อนี้ในพระไตรปิฏกมันเลือนหายไป พระพุทธเจ้าเคยสั่งสอนไว้แล้วแหละ แต่สังคมเขาไม่ทำกัน เดี๋ยวนี้รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่”

หน่อแห่งพุทธะเกิดจากโคนต้นนะ หน่อไม้มันเกิดจากไหนล่ะ สิ่งที่มันแตกกิ่งก้าน มันทะลุกลางปล้องมัน มันไม่ใช่หน่อไม้ “หน่อแห่งพุทธะ” เกิดจากดิน เกิดจากข้อเท็จจริง ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพระพุทธเจ้าเคยสอนไว้แล้ว...อ้างกันไปทั่ว! เมื่อก่อนของเคยมีอยู่ เดี๋ยวนี้ได้หายไปแล้ว นี่ไง นี่มันเป็นสัญญา มันไม่มีที่มาที่ไปไง

แต่พวกเราเกิดมากึ่งพุทธกาลนะ “ศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง” ในเมื่อหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านฝึกฝนของท่าน เพราะว่าหลวงตาท่านเล่าให้ฟังประจำ ว่าหลวงปู่เสาร์ท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า หลวงปู่มั่นท่านปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า สร้างบุญกุศลมาขนาดไหน แต่พระพุทธเจ้ายังไม่พยากรณ์ ท่านถึงพลิกกลับมา พลิกกลับมา คนที่สร้างบุญกุศลมามหาศาลมันถึงมีเชาว์ปัญญา มันถึงมีการรื้อค้นค้นคว้าขึ้นมาด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยความข้อเท็จจริง ไม่ใช่ว่างจากความไม่รับรู้

เวลาพูดถึงธรรมะก็พูดธรรมะพุทธพจน์ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็พูดสับปลับ คำว่า “สับปลับ” หมายความว่า ไม่มีเหตุมีผล ไม่จริงไม่จัง แล้วไม่มีขึ้นต้น ท่ามกลาง และที่สุดอย่างใด มันต้องขึ้นต้น ท่ามกลาง ที่สุดในตามความเป็นจริง! ธรรมะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ขัดแย้ง ไม่ปีนกลียว ไม่มีความแปลกแยกจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่เริ่มต้น ท่ามกลางและที่สุด

เริ่มต้น “ศีล สมาธิ ปัญญา” มรรค ๘ มันจะขัดแย้งกันไม่ได้ ถ้ามันขัดแย้งกัน ธรรมนั้นไม่ใช่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อความมักน้อย เพื่อความสันโดษ เพื่อความขัดเกลา เพื่อความทำพรหมจรรย์ให้จบสิ้น.. ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีสับปลับ! ไม่มีการเคลื่อนไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชัดเจนมาก ฉะนั้น เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าตามความเป็นจริงนะ เราพยายามทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบขึ้นมา สงบให้เรามีกำลังใจ เราที่เป็นทุกข์เป็นร้อนกันอยู่นี่เพราะว่ากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันขับไส มันล้นฝั่ง มันล้นใจเราอยู่ แล้วสิ่งที่มันเกิดขึ้นมันล้นใจ มันเผาใจ มันเหยียบย่ำใจ ฉะนั้น เวลาเราทำขึ้นมา อยากได้บุญมากๆ อยากพ้นจากทุกข์ อยากจะเป็นพระอรหันต์ อยากทำคุณงามความดี อยากไปหมดเลย แต่ไม่ทำ.. พรุ่งนี้ทำ มะรืนนี้ทำ ชาติหน้าทำ อยากไปหมด แล้วเวลาทำขึ้นมาก็ทำด้วยมีสติปัญญามากน้อยแค่ไหน

เวลาทำขึ้นมา ถ้าทำจริงทำจังขึ้นมามันจะทุกข์มันจะยากไหม...ทุกข์!

งานทางโลกเขา เขายังต้องขวนขวาย อาบเหงื่อต่างน้ำกันขนาดนั้น แล้วเรา เราจะเอาชนะใจของเรา การชนะ.. ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ชนะกองทัพคูณด้วยร้อย คูณด้วยพันสร้างเวรสร้างกรรมทั้งนั้น” การทำทางโลก ต้องมีการประชาสัมพันธ์ ต้องมีการรวมหมู่ ต้องมีสังคม ต้องอะไร มันมีการกระทบกระทั่งกันทั้งนั้นน่ะ

แต่ถ้าเอาจริงเอาจังนะ เรานั่งอยู่โคนไม้ เรานั่งอยู่ในกุฏิของเรา เราอยู่ในบ้านในเรือนของเราก็ทำพุทโธได้ เราก็เอาชนะใจเราได้ “การชนะใจของตัวเองประเสริฐที่สุด การฆ่าที่ประเสริฐที่สุดคือการฆ่ากิเลสของเรา” กิเลสของคนอื่นเราฆ่าไม่ได้ เราฆ่ากิเลสของคนอื่นไม่ได้ ดูสิ คนที่เขาทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น มันแต่มีเวรมีกรรมทั้งนั้น ทำไมเราทำร้ายตัวเองล่ะ

กิเลสในหัวใจของเรา ถ้าชนะใจในเราแล้ว ถ้าธรรมะในหัวใจเราสมบูรณ์แล้ว เราจะเป็นประโยชน์มหาศาลเลย แต่โลกมองกลับกันไง “ต้องชนะคนอื่นก่อน” สิ่งนั้นมันสร้างเวรสร้างกรรมหมด ฉะนั้น การชนะตนเองสำคัญที่สุด.. ฉะนั้น การชนะตนเองสำคัญที่สุด เราถึงจะต้องหลับหูหลับตาเอาตัวเองให้รอดก่อน

ถ้าเอาตัวเองให้รอดนะ ในมุตโตทัยของหลวงปู่มั่นท่านบอกเลย “ธรรมสถิตในหัวใจของใคร ถ้าสถิตในหัวใจของพระโสดาบัน พระโสดาบันรู้ธรรมะได้ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ รู้เท่าที่รู้ พระสกิทาคามีรู้ได้ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็สกปรกโสโครกไปด้วยกิเลส ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นพระอนาคามี ธรรมะ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ กิเลสยังมี ๒๕ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

ทองคำที่หลอมแล้ว ทองคำที่บริสุทธ์ก็คือทองคำที่บริสุทธิ์ ทองคำที่มันอยู่ในเหมือง อยู่ในดิน มันต้องคลุกเคล้าไปด้วยทุกๆ อย่าง.. จิตใจของเรา.. “ศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้า เป็นทองคำๆ คำพูดนี่เป็นพุทธพจน์ คำพูดนี้สะอาดบริสุทธิ์ คำพูดนี้เป็นธรรม ก็ไหนบอกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วทำไมคำพูดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมมันผิดตรงไหนล่ะ”

คำพูดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือธรรมวินัยเป็นศาสดาของเรานะ แล้วกิเลสเราล่ะ

พระโสดาบันนะ รู้ธรรม ๒๕ เปอร์เซ็นต์ แล้วกิเลส ๗๕ เปอร์เซ็นต์ เราปุถุชนกิเลส ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แล้วมีสิ่งใดเป็นธรรมะล่ะ แล้วเวลาจะเริ่มปฏิบัติเอาชนะตนเอง กิเลสมันปล่อยให้ไปไหมล่ะ ฉะนั้น เวลากิเลสมันไม่ปล่อยให้ไป ฉะนั้น การปฏิบัติเราถึงทุกข์ไหมล่ะ ทีนี้การปฏิบัติก็กิเลสทั้งนั้นน่ะ มันย่ำยี กิเลสมันย่ำยีตีแหลกในหัวใจของเรา แล้วธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จินตนาการ จินตนาการก็เหมือนกับเราต้องเอาชนะตนเอง ทำไมจะไปเอาชนะคนอื่นล่ะ

นี่ก็เหมือนกันอยากได้ธรรมในหัวใจของตัว แต่ไปเอาสัญญาไปจำมา.. สัญญามันขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต จิตมันเป็นจิต จิตคือพลังงาน ความคิดคือขันธ์ ๕ แล้วธรรมะมันอยู่ที่ขันธ์ ๕ ธรรมะมันอยู่ที่สัญญานั้น แล้วสัญญานี้จิตต้องส่งออกไปถึงจะเป็นความคิด แล้วธรรมะมันอยู่ข้างนอก แล้วกิเลส ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์มันเหยียบย่ำยีในหัวใจอยู่นี่ มันจะไปสงบได้ไหม

ฉะนั้น ถ้ามันไม่สงบใช่ไหม เราก็ต้องมีสติ เราก็ต้องมีปัญญาของเรา ต้องมีการขวนขวยของเรา เราขวนขวายเพราะ! เพราะเราเห็นคุณค่า เราเห็นคุณค่าของชีวิต การเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นอริยทรัพย์ เกิดเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนานี้เป็นบุญกุศลมหาศาล เราดูเมืองไทย เมืองไทยเรานี่แหละ เมืองไทยที่ว่านับถือพุทธศาสนา แล้วเวลาเราดูถึงคนที่นับถือศาสนาอื่นสิ เขาสนใจศาสนาไหม เขาเกิดเป็นคนเหมือนกัน เขาพบพุทธศาสนาเหมือนกัน เขาก็เดินผ่านวัดผ่านวา ผ่านพระผ่านเจ้า สวนกันทุกวัน แล้วเขาเชื่อไหม เขาศรัทธาไหม

เราเกิดเป็นคน เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วได้พบพุทธศาสนา แล้วยังมีจิตใจฝักใฝ่ เรามีบุญไหมล่ะ มีอริยทรัพย์หรือยัง ทรัพย์นี่อริยทรัพย์คือชีวิตเรา ชีวิตนี้มีคุณค่ามาก ถ้าไม่สนใจ ไม่ศึกษามันก็ไม่มีการปฏิบัติ การปฏิบัติจะเกิดขึ้น ในเมื่อปฏิบัติเกิดขึ้น ถ้าเราตั้งใจของเรา เราจะต้องทำความสงบของใจของเรา ถ้าใจเริ่มต้องการปฏิบัติ เรามีศรัทธาเราก็ศึกษาค้นคว้าธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่าพุทธพจน์นี่ล่ะ ศึกษาด้วยสัญญา ศึกษาด้วยสุตมยปัญญา วิธีการศึกษาคือเรียกว่าภาคปริยัติ ภาคการศึกษา ศึกษามาแล้วเราต้องปฏิบัติ การปฏิบัติ.. การปฏิบัติถ้าจิตสงบ การศึกษานี้มันศึกษามาด้วยสัญญา สัญญาคือขันธ์ ๕ แต่เวลาทำความสงบของใจเข้าไป ถ้าไปดูที่สัญญา สัญญามันจำได้หมายรู้ พอสัญญาจำได้หมายรู้ กิเลสตัณหาที่มันย่ำยีหัวใจ มันก็บอกนี่พุทธพจน์ นี่ทองคำ นี่ธรระพระพุทธเจ้า ห้ามเถียง ห้ามแก้ไข ห้ามสบประมาท ห้ามทุกอย่างเลย ดูกิเลสที่มันย่ำยีหัวใจของเราสิ

ธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ข้างนอก เหมือนกับทรัพย์สมบัติของคนอื่น ไม่ใช่ทรัพย์สมบัติของเรา ถ้าทรัพย์สมบัติของเรา เราจะต้องแสวงหาทรัพย์สมบัติของเรา เราถึงจะมีทรัพย์สมบัติของเราตามความเป็นจริงใช่ไหม ฉะนั้น ขันธ์ ๕ สัญญาที่มันจำพุทธพจน์ๆ นี่เคารพนะ “ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต” ผู้ใดได้สัมผัสธรรมผู้นั้นได้สัมผัสองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่นี้มันเป็นสัญญา! นี้มันเป็นเปลือกของใจ! มันยังไม่ใช่ใจ ฉะนั้น เราต้องพยายามทำความสงบของใจเข้ามา เพื่อเข้าสู่ใจ ถ้าใจมันสงบขึ้นมา ดูสิ เวลาเราศึกษา เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราก็ซาบซึ้ง เราก็มีความขนลุกขนพองนะ

ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะธรรมนี้เหนือโลก ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสุดยอดมาก แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปก็เอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปแล้ว เพราะใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นศาสดาของเรา เป็นครูเอกของโลก นิพพานไปแล้ว ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปแล้ว สิ่งนี้เป็นสัญญา เป็นสมมุติบัญญัติ เป็นบัญญัติ บัญญัติเป็นธรรมไว้ให้เราได้ศึกษา ให้เราเป็นเป้าหมาย เป็นเครื่องดำเนิน ทีนี้พอดำเนิน เราศึกษามาแล้ว ศึกษามาเป็นเป้าหมาย ศึกษามาเพื่อปฏิบัติไง

ฉะนั้น ปฏิบัติ พอจิตมันสงบเข้ามา พอจิตเริ่มสงบเข้ามา เราก็ตรึกในธรรม ตรึกในธรรม.. ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันยิ่งชัดเจนขึ้น มันยิ่งซาบซึ้งขึ้น มันยิ่งสะเทือนใจมากขึ้น พอมากขึ้น ทำความสงบของใจมากขึ้น

พอจิตมันสงบเข้ามา นี่จิตสงบอย่างนี้ สงบอย่างนี้แล้วตรึกในธรรม สงบอย่างนี้แล้วพิจารณาในธรรม แยกแยะในธรรม มันยิ่งซาบซึ้ง! ซาบซึ้ง! ซาบซึ้ง!

ซาบซึ้งคืออะไร? รู้ไหม? มันไม่ใช่การไม่รับรู้ไง ว่างจากการไม่รับรู้

แต่นี่ว่างจากการรู้! ว่างจากการรับรู้! ว่างจากมีสติ! ว่างจากความรู้สึก! มันไม่ใช่ว่างด้วยความไม่รับรู้ที่ว่างไม่มีอะไร ว่างแบบสิ่งที่ไม่มีประโยชน์เลย ว่างแบบตุ๊กตา ว่างแบบไร้สาระ แล้วมันเป็นธรรมได้อย่างไร มันขาดช่วงกัน พอขาดช่วงกัน พูดธรรมะพระพุทธเจ้าโดยสัญญา โดยธรรมจากข้างนอก โอ๋ย ปากเปียกปากแฉะ แจ้วๆๆ.. แล้วคนก็ฟังนะ แต่ฟังแล้วมันไม่มีเหตุมีผลหรอก เพราะ! เพราะถ้าเป็นธรรมนะ หลวงปู่มั่นครูบาอาจารย์ของเราพูดคำไหนคำนั้น พูดเป็นโสดาบันอย่างใด เป็นสกิทาคาอย่างใด เป็นอนาคาอย่างใด เป็นพระอรหันต์อย่างใด หนเดียวแล้วพูดกี่ครั้งกี่ร้อยกี่ครั้งหนก็เป็นแบบนี้

แต่ถ้ามันเป็นกิเลสนะ มันว่างจากความไม่รับรู้นี่มันไม่มีจุดหมายปลายทาง มันไม่มีหลักมีเกณฑ์ พูดซ้ำพูดซากด้วยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้พูดด้วยความรู้จริงของตัว ความรู้จริงของตัวไม่มี การพูดก็คลาดเคลื่อน เดี๋ยวเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวสับปลับ! เดี๋ยวกลับกลอก! เดี๋ยววุ่นวาย! เดี๋ยวซ้ำซาก! อยู่อย่างนั้นน่ะ เพราะว่างจากความไม่รับรู้ไง

แต่ว่างจากการรับรู้ พอจิตมันสงบเข้ามา มันรู้ของมันนะ พอรู้มัน จิตมันชัดเจนมาก แล้วเราตรึกในธรรมๆ การตรึกในธรรมนี่ฝึกฝนให้จิตได้มันออกค้นคว้า การออกค้นคว้า เห็นไหม ดูสิ สมาธิ คือพลังงาน คือตัวจิต ขันธ์ ๕ จิตมันส่งออก จิตมันเสวยอารมณ์มันถึงเป็นขันธ์ ๕ มันถึงเป็นอารมณ์ความรู้สึกออกไป พอความรู้สึกออกไป ไปตรึกในธรรมๆ ออกไปนี่ถ้ามีกิเลสอยู่ ถ้าจิตไม่สงบมันเป็นกิเลสล้วนๆ เลย

จะคิดธรรมะก็ธรรมโดยกิเลส! เพราะจิตมันเป็นกิเลส! จิตมันมีอวิชชา!

ปฏิสนธิจิตมันเกิดมา ถ้าไม่มีอวิชชา มานั่งอยู่นี่ได้อย่างไร คนเกิดทั้งหมดจิตอยู่ใต้พญามารหมด ทีนี้พญามารไปศึกษาธรรมะ ศึกษาธรรมไว้ทำไมล่ะ ศึกษาธรรมะไว้คุยอวดกัน! ศึกษาธรรมะไว้คุยโม้!

แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันตรึกในธรรม ตรึกในธรรมเพราะอะไร ตรึกในธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า พอตรึกในธรรมขึ้นไปแล้ว ไปโม้กับใครล่ะ เพราะจิตมันสงบ เราตรึกในของเราเอง จิตมันตรึกของมัน มันก็มาถอดมาถอน มันมารื้อค้นในใจของตัว ถ้าใจของตัว เพราะเอาอะไรตรึกล่ะ? เอาจิตตรึก

เพราะจิตสงบแล้วมันก็ตรึกใช้ปัญญา พอจิตมันสงบแล้ว คำว่า “สงบ” เพราะกิเลสมันสงบตัวลงจิตถึงสงบได้ ถ้ากิเลสไม่สงบตัวลง จิตสงบไม่ได้ สิ่งที่สงบไม่ได้ แต่เวลาว่างจากความไม่รับรู้ จิตก็ไม่สงบ แล้วกิเลสมันก็หลอก บอกว่าว่าง เห็นไหม มันหลอก ๒ ชั้น ๓ ชั้น แต่ถ้าจิตมันสงบ มันมีสติ พอมีสติขึ้นมา เพราะถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเราจะบอกว่า “ต้องทำจิตสงบ ต้องมีศีล ต้องมาสมาธิ ต้องมีปัญญา”

ถ้ามีสมาธิขึ้นมา จิตมีสมาธิ ใครเป็นคนรู้ว่ามีสมาธิ ใครมีสติปัญญา ถ้าจิตมันรู้ว่ามันมีสมาธิขึ้นมา มันชัดเจน พอมันชัดเจนเวลามันตรึกในธรรม เวลามันพิจารณาของมัน ใครเป็นคนรับรู้? ใครเป็นคนถอดถอน

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ของเราท่านถึงบอกว่า “ต้องมีศีล ต้องมีสมาธิ มันถึงเกิดปัญญา” ต้องมีสมาธิๆๆ ถ้าขาดสมาธิน่ะ ว่างจากความไม่รับรู้น่ะ มันเฉไฉ! มันไร้สาระ!

แต่ถ้าว่างจากความรับรู้ เราจะบอกว่าครูบาอาจารย์ของเราท่านเน้นตรงนี้ไง ท่านเน้นตรงทำความสงบของใจ ถ้าใครทำใจให้สงบได้ นั่นน่ะ คนๆ นั้น.. ดูสิ ความเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นอริยทรัพย์ เกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาแล้วศรัทธาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ออกประพฤติปฏิบัติ

จิต! ถ้ามันสงบ มันหาจิตของมันเจอไง คนที่หาจิตของตัวเองเจอ คนที่หาตัวตนของตัวเองเจอ คนที่จะเอาจิตของเราได้ออกวิปัสสนา มันก็เหมือนเราเกิดเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนา แล้วไม่สนใจ.. ยิ่งคนถือศาสนาอื่นเขายิ่งไม่สนใจใหญ่ เขายิ่งไม่รับรู้เลย

จิตของคนปฏิบัติ! ถ้ามันว่างจากความไม่รับรู้ มันก็เหมือนคนที่เกิดเป็นมนุษย์แล้วไม่สนใจในศาสนา เดินสวนกันไป เดินชนกันยังไม่สนใจในศาสนา เขาจะได้อะไรไป? จิตของคนที่มันยังไม่สงบนี้มันก็เป็นอย่างนั้น ถ้าจิตของคนที่สงบมันก็เหมือนเราที่เป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา แล้วมีศรัทธา! มีความเชื่อ! มีการกระทำ! แล้วจิตสงบด้วย เห็นไหม ชัดเจนไหม นี่จิตมันจะชัดเจนของมัน

แล้วเวลามันรื้อค้นของมันนะ วิปัสสนาของมัน มันจะมีการเกี่ยวเนื่องกัน ตั้งแต่จิตที่มันฟุ้งซ่าน เราเกิดเป็นมนุษย์ใช่ไหม เราก็มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เป็นธรรมดา ฉะนั้น เวลาเราเป็นมนุษย์ มนุษย์ทำดีก็ได้ มนุษย์ทำชั่วก็ได้ ผู้ปฏิบัติถูกก็ได้ ผิดก็ได้ เป็นไปได้ทั้งนั้น

“จิตนี้ร้ายนัก!” หลวงปู่มั่นท่านพูดบ่อย “จิตนี้เที่ยวก่อเกิดไปในภพน้อยภพใหญ่ จิตร้ายนัก! จิตนี้ทุกข์นัก!” ถ้า “จิตนี้ร้ายนัก” ดีก็ได้ ชั่วก็ได้ ปฏิบัติถูกก็ได้ ผิดก็ได้ ฉะนั้นเราถึงต้องตั้งสติของเรา แล้วเราพยายามทำของเรา สงบเล็กน้อย สงบมากน้อยแค่ไหน เราก็ฝึกใช้ปัญญาของเรา แล้วมันจะชัดเจนของมัน ไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ ถ้าสงบก็รู้ว่าสงบ แล้วสงบแล้วออกใช้ปัญญา

เวลาไม่สงบก็อยากให้มันสงบ พอสงบแล้วใช้ปัญญาไม่ทัน เดี๋ยวมันก็เสื่อม “หงุดหงิด.. หงุดหงิด..” หงุดหงิดอย่างไรก็แล้วแต่ก็ต้องฝึก คนเรามันจะดีจะชั่วอยู่ที่การกระทำ คนเรานะถ้าทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว

ในปัจจุบันนี้เราประพฤติปฏิบัติอยู่นี่ผิดไหม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ทำผิดได้ผิด ทำถูกได้ถูก เวลามันผิดก็ผิด เวลาถูกก็ถูก คนเราทำผิดก็ได้.. ทำถูกก็ได้.. ทำผิดแล้วก็แก้ไข ถ้าทำถูกแล้วเราก็รักษา รักษาดูแลของเรา นี่จิตออกค้นคว้า ออกดูแล ออกรักษา มันจะแยกแยะของมัน มันจะมีการกระทำของมัน มันพัฒนาของมัน

นี่เวลาจิตสงบ รู้ว่าสงบ เวลาใช้ปัญญา ก็รู้ว่าใช้ปัญญา ถ้าฝึกหัดใหม่ๆ เวลาใช้ปัญญา หรือจิตสงบ มันสงบแล้ว ใช้ปัญญาแล้ว อาจจะพลาดพลั้ง เอ๊ะๆๆ อยู่ เพราะงานไม่เคยทำ ของไม่เคยทำ ของไม่เคยพบ ของไม่เคยเห็น ฟังขนาดไหน รู้ขนาดไหน ฟังเขามาว่า ระวังเต็มที่ขนาดไหน ไปเจอจริงๆ เข้า ก็ไม่เหมือนที่เขาพูดหรอก ไม่เหมือนที่ครูบาอาจารย์เทศน์หรอก

เวลาเราไปเจอของเรานะ “อื้ม..ใช่” พอ “อื้ม..ใช่” แล้วนะ เรารักษาไว้ รักษาจิตพอจิตสงบแล้ว เราออกแยกแยะ ออกค้นคว้า นี่มันมีการต่อเนื่อง ต่อเนื่องไง เริ่มต้นมา ตั้งแต่เริ่มต้น จากเกิดเป็นมนุษย์เลย ถ้ามีจิต เกิดเป็นมนุษย์แล้วถึงเป็นคน เพราะเป็นคน มีจิต จิตเท่านั้นที่ได้สัมผัสธรรม จิตเท่านั้นรู้สุข-รู้ทุกข์

ถ้าทุกข์ ก็ทุกข์แทบเป็นแทบตาย เวลาสุข เดี๋ยวเดียวหายหมดเลย เห็นไหม บอกจิตเท่านั้น จิตเท่านั้นเลย.. เพราะจิตมันสงบแล้ว จิตได้สัมผัสแล้ว ถ้าจิตสงบ “ความสุขใดเท่ากับความสงบของใจไม่มี” ถ้าจิตสงบ มันก็อาจเข้าใจได้ว่า นี่นิพพาน นี่สิ่งที่ดีงาม

สงบมาก-สงบน้อยก็แล้วแต่ คนเรามันต้องมีการใช้จ่าย การดำรงชีวิต มันต้องมีการใช้จ่ายใช่ไหม? ต้องการบำรุงรักษา จิตก็เหมือนกัน จิตจะสงบ สงบเพราะเหตุใด? “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” เพราะเรามีตั้งสติ เรามีสติของเรา เรามีปัญญาของเรา นี่ปัญญาอบรมสมาธิ-สมาธิอบรมปัญญา เพราะมีเหตุ

จิตสงบเฉยๆ เอามาจากไหน? มีจิตสงบเฉยๆ ก็ส้มหล่นน่ะ เวลาส้มหล่นน่ะ...ได้ แต่คำว่า “ส้มหล่น” ทำอะไรไม่เป็น ส้มหล่นมันมาเอง แล้วมันก็ไปเอง เวลามันวูบ เวลามันมีความรู้สึก เหมือนคนฝัน เวลานอนไปแล้ว เวลาฝันตื่นขึ้นมาก็หาย นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันวูบลง

จะบอกว่า “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

แล้วเวลาไม่ได้ทำอะไรเลย ทำไมมันเป็นน่ะ ถ้ามันเป็นขึ้นมานั้น นั้นคืออำนาจวาสนาบารมีของคน มันมีมาได้เหมือนกัน แต่บริหารจัดการไม่ได้ ไม่ใช่มรรค ถ้าเป็นมรรคนะ มรรค ๘.. ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ.. มันต้องมีความชอบธรรมของมัน

ความชอบธรรมคืออะไรล่ะ? ดูสิ เราอยู่ทางโลก เรามีเงินไปแลกเปลี่ยนสินค้ามาก็ชอบธรรม เราทำธุรกิจการค้า เราทำงานได้ผลตอบแทนก็ชอบธรรม สิ่งที่มันจะชอบธรรม มันต้องมีเหตุมีผลสิ! มันต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยนมันถึงจะชอบธรรม ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม ไปหยิบเขามาก็ขโมยสิ ไปหยิบของเขามา ลัก ฉ้อฉลเขามา ยืมเขามา ไม่ชอบธรรมทั้งนั้น! ถ้ามันไม่ชอบธรรม

ถ้าเป็นสติชอบล่ะ “สติชอบ” สติระลึกรู้ในพุทโธ “สติชอบ” สติระลึกรู้ในหน้าที่การงาน สตินั่งขับรถ สติใช้กับอะไรล่ะ ชอบไหม? สติเหมือนกัน ทำงานไม่ชอบไง ทำงานเพื่อดำรงชีวิต ถ้ามันสติชอบ สติชอบ มันก็ตั้งสติกับหัวใจสิ ถ้าหัวใจมันมีสติขึ้นมา มันก็กำหนดพุทโธสิ สติชอบ งานชอบ เพียรชอบ งานชอบ งานรื้อค้น งานถอดถอนกิเลส นี่งานชอบ

งานของเรา งานทางโลก เราก็ขวนขวาย เราก็ทำมาพอแรงแล้ว ยิ่งคนมีอายุ เราทำมาจนขนาดนี้ ลูกเต้าก็อยากจะดูแล อยากจะให้เรามีหลักมีเกณฑ์ คำว่า “หลักเกณฑ์” คือหลักเกณฑ์ของใจนะ เรามีหลักเกณฑ์อยู่แล้ว ขนาดเรามีลูกเต้าขึ้นมา จนขนาดนี้เราไม่มีหลักเกณฑ์ได้อย่างไร เราก็มีหลักเกณฑ์ แต่หลักเกณฑ์อย่างนี้เป็นหลักเกณฑ์ทางโลก เราประสบชีวิตทางโลก ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้มีราตรีนาน ก็เข้าใจเรื่องของโลกไง แต่ลูกๆ ก็อยากให้ยังมีหลักมีเกณฑ์ในหัวใจ ถ้ามีหลักมีเกณฑ์อยู่ในหัวใจนะ เราจะทำของเรา ถ้ามีหลักมีเกณฑ์

หลักเกณฑ์คืออะไรล่ะ? หลักเกณฑ์คือมีสติ.. สติชอบ งานชอบ.. สติชอบไง ทำให้หัวใจเราสงบร่มเย็น ถ้าหัวใจสงบร่มเย็นแล้วนะ พอจิตสงบร่มเย็น คิดอะไรก็ปลอดโปร่ง คำว่า “คิดอะไร” เวลาที่ว่ามันว่างจากความไม่รับรู้ แล้วออกไป นี่เป็นการฉ้อฉล ทำไมบอกว่ามันเป็นความคิด ไม่ใช่จิตล่ะ?

เวลาจิตสงบแล้วนี่ เราใช้ความคิด ทำไมบอกว่ามันเป็นงานชอบล่ะ? งานชอบเพราะจิตมันสงบ พอจิตสงบแล้วนี่นะ จิตออกรื้อค้น.. จิตเห็นจิต จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นจิต จิตเห็นธรรม ความเห็นธรรม ถ้าเห็นนะ เห็นมันก็มีหน้าที่การงานขึ้นมา ถ้ามีหน้าที่การงานขึ้นมา นี่วิปัสสนาญาณ

สมถะ คือความทำความร่มเย็นเป็นสุข ทำให้จิตสงบก่อน พอจิตสงบแล้ว ออกรื้อค้นๆ ฉะนั้น พอจิตเป็นสมถะ จิตมีความสงบแล้ว พยายามใช้ปัญญามากๆ พยายามใช้ปัญญาแล้วกลับมาทำความสงบบ่อยครั้งเข้า จนมันชำนาญ จนมันรักษาจิตนี้ให้ตั้งมั่นได้ จนมันรู้จักรักษาตัวเองเป็น

คนเรา ดูสิ คนฝึกงาน พอทำงานเป็น เราปล่อยทำงานได้เลย เด็กฝึกงานยังทำงานไม่เป็น ต้องมีพี่เลี้ยงคุมตลอด จิตถ้ามันยังทำความสงบของใจ แล้วรักษาใจไม่เป็น เราก็ทำสมถะ ใช้ปัญญานั่นแหละ แต่ปัญญาอย่างนี้คือปัญญารักษาให้จิตตั้งมั่น ปัญญาอย่างนี้คือปัญญาเห็นโทษของการฟุ้งซ่าน ปัญญาอย่างนี้เห็นโทษของการอยากได้อยากดี ปัญญาอย่างนี้จะเห็นโทษของการพลั้งเผลอ พอเห็นโทษบ่อยครั้ง เพราะมันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ มันจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป ฝึกฝนจนมันมีความชำนาญ

พอมีความชำนาญขึ้นมา นี่จิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นขึ้นมา เพราะมีความชำนาญ นี่มันเป็นขั้นของสมถะ การใช้ปัญญานี่ ปัญญาเพื่อปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาเพื่อทำให้คนมั่นคง ทำให้คนเข้มแข็งขึ้นมา พอจิตมันมั่นคงแล้วมันออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม…มันรู้! จิตถ้ารู้แจ้ง รู้ถึงสติชอบ ปัญญาชอบ งานชอบ เพียรชอบ รู้ทุกขั้นตอน ไม่มีวินาทีใดคลาดเคลื่อนเลย!

เวลาเข้าขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ.. นี่พุทโธๆ ละเอียดเข้ามาขนาดไหน รู้ขนาดไหน เป็น “ขณิกสมาธิ” รู้อยู่ เข้า “อุปจารสมาธิ” นี่รู้เลย เพราะมันว่าง มันสงบมาก แต่มันยังรับรู้เสียง รับรู้สิ่งต่างๆ ได้ พุทโธต่อเนื่องเข้าไป จนมันเริ่มสลัด เริ่มตัดความรับรู้นะ เรื่องหู เรื่องตา การรับรู้ทั้งหมด ดับหมด! ดับร่างกายนี้หมด ดับความรับรู้ในร่างกาย จิตที่อยู่ในร่างกายมันดับตัวมันเอง ไม่รับรู้เรื่องมีร่างกายอีกเลย มันเป็นตัวของมันโดยอิสรภาพ โดยที่ไม่มีวินาทีใดที่มันจะคลาดเคลื่อนเลย นี่พูดถึงขั้นของสมาธินะ! ขั้นของที่มันรักษาความชำนาญของมัน จนจิตสงบได้ขนาดนี้

แล้วต้องทำอย่างนี้ด้วยเหรอ?

ทำอย่างนี้ มันหมายถึงว่า จิตดวงนั้น มีความชำนาญ มีการศึกษา มีการค้นคว้าในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละแขนง แต่ละแนวทางว่ามันดำเนินการอย่างใด แต่อย่างเรานี่ พวกเรานี่ พวกเรา พวกที่ว่าทุกข์ๆ ยากๆ นี่ เราไม่ต้องทำอย่างนี้ก็ได้ จิตไม่ต้องสงบขนาดนี้หรอก จิตแค่เป็นขณิกสมาธิ ก็ฝึกบ่อยครั้งเข้า ใช้ปัญญาฝึกหัดๆ ใช้ปัญญาตรึก มันจะเข้ามาสู่ขั้นของอุปจาระฯ การที่เข้ามาสู่ขั้นของอุปจาระฯ เพราะจิตมันไม่สงบ เราไม่มีการค้นคว้า มันจะเข้าสู่อุปจาระฯ ไม่ได้

คำว่า “ไม่ได้” หมายความว่า ถ้าเราพิจารณาของเรา มันก็จะรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง รับรู้ก็ชัดเจน นี่ไง มีสติชอบ งานชอบ เพียรชอบ ถ้าชัดเจนเข้ามา มันก็จะละเอียดเข้ามา สืบต่อเข้ามาด้วยสติปัญญา แต่ถ้าเวลามันตกภวังค์ล่ะ? เวลามันแว็บหายล่ะ? นี่ไง มันจะไปสู่ความไม่รับรู้ไง ถ้าไปสู่ความไม่รับรู้นี่มันก็ออกนอกทางไง นี่งานไม่ชอบ ทุกอย่างคลาดเคลื่อน

แต่ความคลาดเคลื่อน เห็นไหม “จิตนี้ร้ายนัก” ดีก็ได้ ร้ายก็ได้ การปฏิบัติ มันจะมีอุปสรรคของมันตลอดเวลา แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เราจะรักษา แล้วแก้ไข ถ้ามันคลาดเคลื่อน มันผิดพลาดไป เริ่มต้นใหม่.. เริ่มต้นใหม่.. พอเริ่มต้นใหม่ พิจารณาใหม่ รักษาใหม่.. รักษาใหม่.. พอรักษาใหม่ เราจะเห็นเลยว่า ถ้าไม่รับรู้มันเป็นอย่างไร ถ้ามันรับรู้เป็นอย่างไร พอรับรู้ขึ้นมาจาก มันรับรู้ขึ้นมาจากขณิกสมาธิ เราใช้ปัญญาบ่อยครั้งเข้าๆ มันจะละเอียดเข้ามาๆ แต่ถ้าเป็นอุปจารสมาธิล่ะ ถ้าอุปจารสมาธินี่มันออกรู้ได้ จากที่เราใช้ปัญญาเข้ามา ปัญญาตรึกในธรรมของพระพุทธเจ้า ปัญญาเห็นความบกพร่องของตัว อันนี้มันเป็นสมถะหมดนะ เป็นปัญญาอบรมสมาธิทั้งนั้นน่ะ

แต่ถ้ามันละเอียดเข้าไป ใช้ปัญญามากขึ้น จนจิตมันเริ่มสงบมีหลักมีเกณฑ์นะ เวลามันไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันขนพองสยองเกล้า! ในเมื่อโจทย์ต่างกัน ในเมื่อเราเป็นคนทำผิด เราก็ว่าเราผิดๆๆ แต่เวลาเราเห็นกิเลสมันทำผิดบ้างล่ะ เห็นกิเลสทำผิดคืออะไร คือเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม กิเลสมันใช้อะไร? กิเลสมันใช้กาย เวทนา จิต ธรรม ออกไปเพื่อหาสิ่งที่เป็นตัณหาความทะยานอยาก การล้นฝั่งน่ะ สิ่งที่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันล้นฝั่ง มันเอ่อท่วมหัวใจน่ะ มันอาศัยจิต อาศัยขันธ์ ๕ ออกไปเสพความพอใจของมัน

“รูปรสกลิ่นเสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

เวลากิเลสมันเต็มหัวใจ มันเอารูปรสกลิ่นเสียง เอาสิ่งที่มันพอใจ “นี่เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร” พวงดอกไม้ก็ไปบูชามาร ถ้าเป็นบ่วงของมารก็รัดคอมัน แต่ถ้ามีสติล่ะ มีสติ! มีสติขึ้นมาสิ่งที่ว่ามันท่วมท้น กิเลสที่มารมันท่วมท้น เรามีสติปัญญา เรามีคำบริกรรมเข้ามา มันลดตัวลงๆ พอลดตัวลงเข้ามามันมีสติปัญญาของมัน มันจะไล่ปัญญา นี่ปัญญาอบรมสมาธิ เข้ามาบ่อยครั้งเข้า พอบ่อยครั้งเข้า พอจิตมันสงบ พอมันเห็นตามความเป็นจริง เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริง นี่สติปัฏฐาน ๔ มันเกิดตรงนี้

เขาบอกว่า “สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ วิธีปฏิบัติทางสติปัฏฐาน ๔ ”

“ว่างจากการไม่รับรู้ล่ะ” ว่างไปหมด ปลอดโปร่งไปหมด ดีไปทุกอย่าง แล้วไงต่อ? ต้องทบทวนไง ต้องทบทวน ทบทวนก็ธรรมะพระพุทธเจ้า สัญญาทั้งนั้น จำทั้งนั้น แล้วคลาดเคลื่อนไม่ได้ แต่ถ้าการทำจริงกับการฝึกงานของเรา เราให้เด็กโตขึ้นมาแต่ละคนหรือคนทำงานฝึกงาน เขาจะไม่เคยผิดพลาดบ้างเลยเหรอ ผิดแน่นอน! การปฏิบัติของเรา ถ้าจะเป็นความจริง มันเป็นสมบัติของเราไง มันเป็นสมบัติของจิตดวงนั้น

จิตดวงนั้นที่ประพฤติปฏิบัติล้มลุกคลุกคลาน จากที่ว่าจะทำไม่ได้เลย ทำไม่ได้เลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษาค้นคว้ากับเจ้าลัทธิต่างๆ ๖ ปี ล้มลุกคลุกคลานมาขนาดไหน ถ้าเราจะไม่ปล่อยให้ลูกหลานของเราหกล้มเลย ไม่ล้มลุกคลุกคลานเลย ลูกหลานของเราสุขภาพมันจะดีขึ้นมาได้อย่างไร เด็กยิ่งล้มลุกคลุกคลาน เด็กยิ่งกินดิน มันจะแข็งแรงนะ!

จิตใจของเรา ถ้ามันจะผิด.. กรรมฐานเรา ถ้าพุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธิจะรู้จะเห็นอย่างไร ให้มันเห็นไป แล้วครูบาอาจารย์มีหน้าที่แก้ เพราะครูบาอาจารย์ของเราให้นิสัยเรา เราขอนิสัยครูบาอาจารย์ของเรา เราอยู่กับครูบาอาจารย์ของเรา กรรมฐานติดครูบาอาจารย์ติดอย่างนี้ ติดครูบาอาจารย์เพราะครูบาอาจารย์จะคอยแก้ไขเรา ครูบาอาจารย์คอยดูแลจิตใจเรา ครูบาอาจารย์คอยชี้นำจิตใจเรา เห็นไหม เขาถึงรักกัน นี่รักมาก ถึงว่าลงใจๆ ลงใจครูบาอาจารย์

ฉะนั้น จิตถ้ามันสงบแล้ว พอมันสงบแล้ว เวลาออกรู้ออกเห็น นี่มันไม่ใช่บ่วงของมาร พวงดอกไม้แห่งมาร แต่ถ้ามันไม่รู้ไม่เห็น บ่วงของมาร พวงดอกไม้แห่งมารทั้งนั้นน่ะ ถ้าจิตสงบแล้วเริ่มออกรู้.. ออกรู้.. ออกรู้สิ่งที่กิเลสมันเอาสิ่งนี้ออกไปหาเหยื่อ ถ้าจิตไม่สงบมันก็เป็นช่องทางของจิตออกไปสร้างเวรสร้างกรรม พอจิตมันสงบแล้ว พอมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันขนพองสยองเกล้า มันสะเทือนกิเลสไง เพราะเรารู้ไง เรารู้ว่าสิ่งนี้เป็นกิเลส กิเลสมันอาศัยสิ่งนี้ออกหาเหยื่อ แต่เมื่อก่อนถ้าจิตไม่สงบ ไม่รู้! ไม่รู้ไม่เห็น! ยิ่งคิดคิดชอบ ยิ่งคิดยิ่งดี ยิ่งคิดยิ่งเป็นประโยชน์

แต่พอเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิขึ้นมา ก็คิดเหมือนกันนั่นแหละ แต่คิดให้มันสงบเข้ามา คิดสงบเข้ามา แล้วมีสติรับรู้เข้ามา ไม่ใช่การไม่รับรู้.. รู้ๆ! เพราะรู้ เพราะดู เพราะเข้าใจ เพราะการกระทำมันถึงหดสั้นเข้ามาๆๆๆ เวลาหดสั้นเข้ามามันมีสติปัญญาเข้ามาพร้อม เวลามันออกเห็นนะ ออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันสะเทือนหัวใจมาก การสะเทือนหัวใจนั้น นี่ไง สมถะเป็นส่วนหนึ่ง วิปัสสนาเป็นส่วนหนึ่ง สมาธิคือสมาธิ ปัญญาคือปัญญา สมาธิแก้กิเลสไม่ได้

แต่ถ้าไม่มีสมาธิ มันเป็นสิ่งที่เป็นตุ๊กตา เป็นตุ๊กตาแก้บนน่ะ ปฏิบัติไปเป็นตุ๊กตาแก้บน แต่ถ้าเรารับรู้ ถ้าการรับรู้นะ ในทางโลก ในการกระทำของเราเป็นการรับรู้ การรู้แจ้ง การกระทำนี่ ทำไมมันทุกข์มันยาก ทำไมมันทำลำบาก นี่มันเป็นตรงนี้ ตรงที่ถ้าเป็นความจริง เราก็จะบอกว่า เราต้องลงทุนลงแรง เราต้องจริงจัง

แต่ถ้าเราจะเอาปฏิบัติเป็นตุ๊กตากัน เป็นแบบกิเลส เป็นแบบสัญญา เป็นแบบการฉ้อฉล หลอกลวงชีวิตของตัวเองนะ หลอกลวงตัวเองเลยล่ะ ว่าตัวเองปฏิบัติธรรม แล้วมันเป็นไป อย่างนั้นน่ะสบาย เพราะมันไม่รับรู้อะไรไง ไม่ต้องรับรู้อะไรเลย ปล่อยให้มันไหลไปอย่างนั้นน่ะ เสร็จแล้วก็บอกว่า “ธรรมะพุทธพจน์ ธรรมะพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้.. เป็นอย่างนี้.. เป็นอย่างนี้” แต่ไม่มีหลักเกณฑ์ เพราะสับปลับ

แน่นอนนะ ถ้าเป็นสัญญา “สับปลับ” เพราะสัญญาเดี๋ยวก็จำได้ เดี๋ยวก็ลืม เดี๋ยวก็ชัดเจน เดี๋ยวก็ละเอียด เดี๋ยวก็หยาบ การที่แสดงธรรมโดยสัญญานี่เดี๋ยวก็สับปลับ สับปลับเพราะว่าสิ่งนั้นมันเคลื่อนตลอด แต่ถ้าเป็นความจริงที่ปฏิบัติกัน ตามความเป็นจริง พอจิตสงบ มันก็สงบของมัน เวลามันออกรู้ ออกวิปัสสนาของมันนะ ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ ท่านให้พิจารณา เห็นกายแล้วพิจารณากาย ถ้าไม่เห็นกาย ใช้ปัญญาเทียบเคียง เพราะการพิจารณากาย มันมีพิจารณากายแบบ เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ

เจโตวิมุตติจะเห็นกาย เพราะการเจโตวิมุตติ เจโตคือเจโตปริยญาณ คือจิตที่มันมีกำลัง จิตที่มีความสงบร่มเย็น แล้วพิจารณา มันจะเกิดเป็นภาพให้เป็นอุคคหนิมิต ถ้าการขยายส่วนแยกส่วนเป็นวิภาคะ การขยายส่วน แล้วจิตมันรู้ จิตมันเห็น มันสะเทือนหัวใจนะ มันสะเทือนมาก มันสะเทือนหัวใจ พอมันเห็นสิ่งใด มันสังเวชนะ เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะ เวลาบรรลุธรรม โอ้โฮ.. มันสะอื้นมาจากข้างในนะ เวลามันเห็นแล้วมันรู้จริงขึ้นมานะ “ทำไมมึงโง่ขนาดนี้... ทำไมมึงโง่ขนาดนี้... ทำไมมึงโง่ขนาดนี้...” ถ้าเห็นนะ

ถ้าไม่เห็นนะ “ในโลกนี้ใครจะฉลาดกว่าเรา ในโลกนี้เราฉลาดที่สุด โคตรฉลาดเลย เหนือโลกเลย” ถ้ากิเลสมันคิดนะ แต่ถ้าพอมันมีธรรมในหัวใจนะ “ทำไมเราโง่ขนาดนี้… ทำไมเราโง่ขนาดนี้…” เพราะมันรู้มันเห็นความโง่เง่าเต่าตุ่นของจิต ถ้าจิตมันไม่โง่เง่า มันจะไม่มีพญามารขี่คอมันมาอย่างนี้หรอก พญามารขี่คอมาเกิดตายเกิดตายมาขนาดไหน ก็ถือตัวถือตนว่ายอดคน ถือตัวถือตนมาตลอดน่ะ กิเลสทำให้จองหองพองขน มันจะพองขนของมันตลอด แล้วมันว่ามันรู้ มันฉลาด มันยอดคน นั่นน่ะเรื่องของกิเลสทั้งนั้นน่ะ

แต่ถ้าพิจารณาของเรานะ พิจารณากาย อุคคหนิมิต-วิภาคะขึ้นมาขยายส่วนแยกส่วน ขยายมันนะแล้วมันเกิดความสังเวช ปล่อยทีไรนะมันก็ว่า “ทำไมโง่ขนาดนี้… เวทนาก็อะไรเป็นเรา อะไรก็เป็นเรา ทุกข์ยากขนาดไหนก็เป็นเรา แล้วถ้าเป็นเราแล้วเรายังหวงด้วยนะ กลัวจะไม่รู้อีกนะ เป็นเราแล้วยังต้องศึกษานะ พอศึกษาตัณหามันก็ซ้อนตัณหาเข้ามา ปวด ๒ เท่า ๓ เท่านะ แล้วก็ยังยึดมั่นถือมั่นอยู่นะ”

แต่ถ้ามีสติมีปัญญานะ เวลามันพิจารณาของมัน เวลามันปล่อยนะ “อ้าว.. แล้วเวทนาไปไหนล่ะ ไหนว่าไอ้ปวดๆ หายไปไหนหมด ทำไมมันโล่งหมด ทำไมมันว่างหมด ทำไมมันมีความสุขล่ะ” ความรู้ รู้แจ้ง รู้ชัด รู้เจน นี่ถ้ามันปล่อยขนาดไหน มันเป็นตทังคปหาน มันเป็นการปล่อยวางชั่วคราว การปล่อยวางชั่วคราวคือการฝึกฝนจิตนี้ให้มั่นคง จิตนี้นะไม่ใช่รู้เห็นแล้วมันจะเป็นอย่างนี่เรารู้เราเห็น เพราะกิเลสมันครอบงำหัวใจมาซับซ้อนนัก กิเลสนี้ แก่นของกิเลสเหนียวนัก กิเลสมันอยู่กับใจมา มันไม่ยอมปล่อยให้ใจของใครหลุดรอดไปจากอำนาจของมันเด็ดขาด! พญามารมันครอบงำหมดล่ะ แล้วเราพยายามใคร่ครวญแยกแยะอยู่นี่ เราทำเพื่อใคร? ก็เราทำเพื่อหัวใจเรานี่แหละ

แต่เวลาเราต่อสู้ไปแล้วนี่ กระบวนการของมันจบวงรอบหนึ่ง เหมือนการแข่งขันกีฬา มันหมดเวลารอบหนึ่ง พอแข่งขันมันแพ้ชนะกันแล้ว แต่มันก็ยังมีสิทธิ มันไม่สมุจเฉทฯ แต่พิจารณาซ้ำๆ ซ้ำๆ เวลาซ้ำเข้าไป แล้วซ้ำอย่างไรล่ะ? เพราะพิจารณาไปแล้วมันก็จับต้องอะไรไม่ได้แล้ว ใจมันก็ปล่อยหมดแล้ว กายก็ทิ้งหมดแล้ว ทุกอย่างทิ้งหมดแล้ว ทำอย่างไรต่อไปล่ะ? ถ้าจิตมันสงบขึ้นมาเดี๋ยวก็จับได้อีกล่ะ เพราะการแข่งขันมันมีรอบต่อไป.. มีรอบต่อไป.. มีรอบต่อไป จนไม่มีวันสิ้นสุดหรอก นี่ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ถ้าพิจารณากายก็ปล่อย เวทนาก็ปล่อย จิตก็ปล่อย ปล่อยแล้วปล่อยเล่านะๆ

ถึงที่สุดแล้ว เวลากิเลสมันขาด! พิจารณากายไป เวลาพิจารณากาย เวลาธรรมมันสรุปลงแล้วนี่ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันแยกออกจากกัน.. พิจารณาจิต จิต ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕

อ้าว..พิจารณาธรรม.. ธรรม.. สัจธรรม ธรรมะ ถ้าธรรมมันมีกิเลสขึ้นมา “ธรรมารมณ์” อารมณ์เป็นอย่างไร? มันปล่อยวางอย่างไร? มันแยกแยะอย่างไร? พอมันแยกแยะแล้วขึ้นมามันก็ปล่อยวาง ถ้าใยปล่อยซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลามันขาดนะ.. จะเป็นพระอรหันต์.. เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอนาคามี พระอรหันต์ก็แล้วแต่ สมุจเฉทปหานมีอันเดียว! พระอรหันต์นิพพานหนึ่งเดียว ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ์

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงในพระไตรปิฎกทุกข้อ ถ้าพูดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ์ นี่แล้ววันวิสาขบูชาหนเดียว! พระพุทธเจ้าพูดที่ไหน พูดอย่างไรก็หนเดียว! ไม่มีคลาดเคลื่อน ไม่สับปลับ ไม่วกวน ไอ้วกวนนั่นน่ะเพราะอะไร? เพราะมาจากว่างจากความไม่รู้ ว่างจากไม่รับรู้ แล้วกิเลสตัวใหญ่มาก เพราะไม่รับรู้เรื่องธรรม แล้วกิเลสก็ไปกองกันอยู่ที่ความไม่รับรู้นั่นน่ะ ให้ธรรมะมองไม่เห็นไง แต่จริงๆ ใหญ่โตยิ่งกว่าธรรมะ แล้วก็เป็นนามธรรม

แต่ความรู้แจ้งของเรา เราประพฤติปฏิบัติไปแล้วนี่ เราเป็นอย่างไร เราก็รู้นะ เสื่อมก็รู้ว่าเสื่อม เจริญก็รู้ว่าเจริญ พิจารณาแล้วมันปล่อยวาง ปล่อยวางแต่มันไปขาดน่ะ มันไม่ขาด สังโยชน์ไม่ขาด มีประโยชน์อะไร? แล้วสังโยชน์ขาด ขาดอย่างไร? สังโยชน์ขาด ขาดแล้วจะกลับมาได้อีกได้อย่างไร ถ้าพิจารณาจนมันพิจารณากาย.. พิจารณาจิต พิจารณาธรรม เวลามันขาดพั้วะ! ขาดนะ ดัง “พั้วะ” นี่พูดเล่นนะ พูดเป็นบุคคลาธิษฐาน แต่เวลาความจริงเวลามันขาด ขาดอย่างไร? นี่เวลามันขาด พอขาดแล้ว สังโยชน์ก็ขาด จิตรวมลง แล้วรวมลงอย่างไร?

จะพูดกี่หน พันหน ร้อยหน ล้านหน มันก็พูดอย่างนี้ เพราะมันเป็นความจริง ความจริงมันก็เป็นความจริง ความจริงมันเป็นความจริงเกิดจากการกระทำนะ ฉะนั้น ถ้ามันเป็นความจริง มันจะเกี่ยวเนื่องกัน นี่มันเป็นปัจจยาการ ตั้งแต่เริ่มพิจารณามา ขันธ์ ๕ เป็นกอง เป็นขันธ์ เป็นกอง ๕ กอง “รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ” ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด

ขันธ์อย่างหยาบๆ.. เวลาชำระขาดไป นี่เป็นพระโสดาบัน

ขันธ์อย่างกลาง.. อุปาทาน เวลาชำระล้างแล้ว ขันธ์ ๕ ขาดไปจากจิต เป็นพระสกิทาคา

ขันธ์อย่างละเอียด.. ปฏิฆะ กามราคะ นี่ตรงนี้ สิ่งที่เสวยที่ละเอียด กามฉันทะตัวต่างๆ เวลามันพิจารณาแล้วมันขาด เวลาขาดไป พอขันธ์ขาด จิตเดิมแท้แล้ว

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส”

“ข้ามพ้นกิเลสไปน่ะ” เวลาถ้ามันเป็นความจริง มันจะเป็นชัดเจนของมันเป็นชั้นเป็นตอน แล้วเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา ครูบาอาจารย์ของเราท่านจะคอยส่งเสริมเรา ท่านจะคอยบอกเรา ไอ้เรานี่มันไม่มีอะไรแก้ไข ถ้ามีอะไรแก้ไข เรารีบปฏิบัติของเราขึ้นมาสิ ปฏิบัติขึ้นมาแล้ว มีสิ่งใดที่มันตกผลึก มันฉ้อฉลในใจของเรา ครูบาอาจารย์ของเราท่านจะได้ชี้นำ ท่านจะได้บอกเรา

ถ้ามันเป็นความจริง ความจริงมันเป็นปัจจยาการ “อวิชฺชา ปจฺจยาสงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ” อันนี้เป็นจิตเดิมแท้ที่เป็นปัจจยาการ ขันธ์ ๕ ขันธ์ที่ละเอียดมันเป็นเปลือกนอก แต่เปลือกนอกสังโยชน์มันร้อยรัดไว้ เวลาพิจารณาไปนี่สังโยชน์ขาดไป ๓ ตัว กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง นี่สังโยชน์ขาดไป ๕ ตัว “รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา” สังโยชน์อย่างละเอียดอยู่ที่ปัจจยาการนี้หมดเลย อยู่ที่จิตเดิมแท้นี้หมดเลย

จิตเดิมแท้นี่ “รูปราคะ อรูปราคะ” ดูสิ “รูปฌาน อรูปฌาน” นี่เข้าสมาบัติ สมาบัตินั่นล่ะ! รูปราคะ อรูปราคะ เพราะมันติดไง มันติดในฌานสมาบัติ มันติดของมันนะ ฌานสมาบัติก็ติด ในมานะก็ติด ในอุทธัจจะกุกกุจจะก็ติด ในอวิชชาล่ะ? อวิชชามันติดกับใจ มันครอบงำเลย แล้วมันพิจารณาของมันอย่างไร มันแก้ไขของมันอย่างไร

นี่พูดถึงนะ ถ้ารู้แจ้ง รู้จริง รู้ตามความเป็นจริง นี่ธรรมะแท้ๆ ธรรมะแท้ๆ เราจะต้องหนักแน่น เราจะต้องขวนขวาย เราจะต้องทำ ชีวิตนี้มีอะไรมีค่าไปกว่านี้ คุณค่าที่เราหากันอยู่นี้ เพื่อเป็นปัจจัยของโลก เป็นสมบัติสาธารณะ จิตนี้เกิดตายๆ ใครรื้อค้นขึ้นมา ชนะตนเองประเสริฐที่สุด คือการชนะกิเลสในหัวใจของตัว

ฉะนั้น สิ่งใดจะมีค่าไปกว่านี้ แต่! แต่โลกมองไม่เห็น เพราะสิ่งนี้เป็นนามธรรม แต่นามธรรมมันสัมผัสได้ด้วยใจ เพราะใจเราทุกข์ ใจเราสัมผัสเอง ทุกข์เราก็เป็นคนสัมผัส สุขเราก็เป็นคนสัมผัส สติเราก็เป็นคนสัมผัส สมาธิเราก็เป็นคนสัมผัส ปัญญาเราเป็นคนรื้อค้น แล้วเวลามันเป็นมรรคสามัคคี มันเป็นมรรคญาณ มันเข้ามาทำลายกิเลสเป็นชั้น.. เป็นชั้น.. เป็นชั้น.. ใครเป็นคนรู้ ใครเป็นคนเห็น

สิ่งที่ว่า “สิ่งที่เป็นนามธรรม ใครมองไม่เห็น ใครมองไม่รู้ ใครมองไม่ได้”

ความลับไม่มีในโลก หัวใจที่รู้ที่เห็น มันรู้! เอวัง