เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๘ ส.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คนเราเกิดเป็นมนุษย์ พอเกิดเป็นมนุษย์มีชีวิตจิตใจ เราจะรู้สึกตัวเราเอง แต่ถ้าจิตเราไม่เกิดเป็นมนุษย์ ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นผี เป็นเปรต เราเกิดซะเอง แต่เราเกิดมาเป็นมนุษย์เรากลัว เห็นไหม มีมืดกับสว่าง ถ้าในที่มืดแล้วนี่ความกลัว มนุษย์ สัตว์ทุกอย่างมีความกลัวประจำหัวใจ ความกลัวอันนั้นทำให้ชีวิตเราลุ่มๆ ดอนๆ เพราะเรากลัวของเรา

แต่ถ้าในสัจธรรม เห็นไหม ในสัจธรรมนี่ ที่ไหนมีความกลัว งานของพระนะ งานของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติต้องสถานที่วิเวก ไปเที่ยวป่าช้า ไปเที่ยวที่สงบสงัด ทำไมต้องทำอย่างนั้นล่ะ? นี้ในทางโลกเราจะต้องไปในที่สโมสรสันนิบาต เราต้องไปที่มีแสง สี เสียง เราต้องไปที่มีความร่มเย็นเป็นสุขไง พอเข้าไปแล้วนะทุกดวงใจว้าเหว่ แต่เวลาเราเข้าไปที่สงบสงัด เราไปเที่ยวป่าช้า

ป่าช้าพอเราจะเดินเข้าไปนะ ถ้าตอนนี้เราก็คิดได้ ตี ๔ ตี ๕ เราเดินเข้าไปคนเดียวนี่ขาสั่นทั้งนั้นแหละ เว้นไว้แต่อาชีพสัปเหร่อ ถ้าอาชีพของเขา เขาอยู่ของเขาจนคุ้นชินของเขา แต่ถ้าเวลาเราจะก้าวเดินไป เห็นไหม นี่เวลาสัปเหร่อเข้าไปทำไมเขาไม่กลัวล่ะ? เพราะเขาคุ้นชินของเขา เป็นอาชีพของเขา แต่ทำไมเรากลัวล่ะ? นี่ทำไมเรากลัว? เรากลัวจนขาสั่นนะ เรากลัวมาก

ความกลัวนี้ เห็นไหม ก่อนสมัยพุทธกาล คนกลัวนะกราบภูเขา กราบไฟ กราบพระอาทิตย์ นี่หาที่พึ่งไง ศาสนาแรกของโลกคือศาสนาผี ความระลึกถึง ความกลัวผี เราระลึกถึง เรากลัวเขา เราต้องบูชาเขา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว บอกว่า “บัดนี้คนฉลาดเกิดขึ้นมาแล้วนะ” เห็นไหม เวลาคนนะ คนตาย คนที่พลัดพรากจากกัน “อย่าเสียใจ อย่าร้องไห้ อย่ารำพี้รำพันถึงกัน ให้ทำคุณงามความดีถึงกัน ให้อุทิศบุญกุศล อุทิศความรู้สึกอันนี้ ความรู้สึกกับความรู้สึกมันถึงกัน ไม่ต้องเสียใจ เพราะมันเป็นความจริง”

“ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง”

สิ่งที่เป็นความจริง สัจจะ เห็นไหม สัจจะเป็นความจริง แล้วเรากล้าเผชิญกับความจริงไหมล่ะ? เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราไปในที่วิเวก เราไปเที่ยวป่าช้าต่างๆ เพราะ! เพราะความกลัวมันมีอิทธิพลเหนือจิตใจของสัตว์โลก ทีนี้เราเข้าไปเผชิญกับมัน พอเข้าไปเผชิญกับความกลัว พอมีความกลัวมันดิ้นรนมาก จิตใจนี้ดิ้นรนมาก จิตใจอยู่ในสโมสรสันนิบาต อยู่ในที่รื่นเริง มันมีความสุข มันมีความอบอุ่นนะ แต่เวลาเข้าไปที่ความกลัวมันจะดิ้นรนของมัน พอดิ้นรนของมัน ยิ่งดิ้นรนนั่นล่ะมันแสดงตัวมัน

เราหาอะไรกันอยู่นี่? เราเกิดเป็นมนุษย์มีร่างกายกับจิตใจ ร่างกายนี่รู้จักมัน แต่จิตใจนี้ไม่มีใครรู้จัก หาไม่ได้ เจอแต่ความคิดนะ เวลามีความคิด มีความรู้สึก บอกว่านี่คือใจ นี่คือใจ.. ใจทำไมมันให้ผลเป็นทุกข์ขนาดนี้ล่ะ? เวลามันคิด มันทุกข์ มันยาก นี่มันเหยียบย่ำหัวใจ ใจของเราเองทำไมมันทุกข์ยากขนาดนี้ เห็นไหม นั่นล่ะเพราะมันเป็นตัณหาความทะยานอยาก มันไม่ใช่ใจ

มันเป็นความคิด มันแสดงออก ส่งออก พลังงานส่งออก พลังงานคือตัวจิต ถ้ามันไม่คิดมันมีความรู้สึกไหม? พลังงานพอมันคิดออกมามันก็แสดงออกของมันขึ้นมา พอแสดงออกมา นี่กิเลสอวิชชามันเป็นอนุสัย เห็นไหม

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว เจ้าจะเกิดในหัวใจของเราไม่ได้เลย”

เวลาเราจะมีความคิด นี่ความคิดมาจากไหนล่ะ? มีพลังงาน พลังงานมันต้องไปสู่ความคิด ออกไปความคิดนี่ เวลาพลังงานมันส่งออก นี่ไงอนุสัย

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา”

มารมันมาแล้ว มารมันมาแล้ว! มารมันมาก่อนความคิดอีก แล้วพอคิดมันคิดด้วยมาร คิดด้วยความกลัว คิดด้วยความวิตกกังวล คิดแต่ตัณหาความทะยานอยาก มันทุกข์ไปหมดเลย เห็นไหม นี่เราไปเจอความคิดเราก็ว่าจิต ร่างกายนี้พิสูจน์กันได้ แต่หัวใจเราไม่เคยพิสูจน์กัน เราจับกันไม่ได้ไง

เวลาศาสนานี่นะ พุทธศาสนา เห็นไหม ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่สิ่งที่เป็นธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา คำว่าศาสดาของเรา เราก็ศึกษาพระไตรปิฎกนี่ว่าเป็นธรรมและวินัย.. ใช่ ศึกษาพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกเป็นวิชาการ เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน บอกว่า

“อานนท์ เราไม่ได้เอาธรรมของใครไปเลย เราเอาแต่ของเราไป”

คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาสมบัติของท่านไปหมดแล้ว คือในหัวใจของท่าน คือสิ่งที่เป็นนิพพานของท่าน ธรรมธาตุของท่านไปหมดแล้ว สิ่งนี้เป็นกิริยา เป็นการบอกกล่าวชี้เข้าไปสู่ใจ แล้วเราก็ไปศึกษากัน ศึกษากัน แล้วเราก็ไปยึดติดกัน เห็นไหม มันก็เหมือนความคิดกับพลังงานนี่แหละ ฉะนั้นพอเราศึกษามาแล้วเราก็งง

ปริยัติ ศึกษามานี่ ศึกษานะถ้าคนหยาบๆ เวลาคนหยาบๆ คนไม่เข้าใจสิ่งใดเลยมาศึกษาพุทธศาสนา ดูสิในทางตะวันตกเขามาบวชกันเพราะอะไร? เพราะเขายิ่งศึกษานะ เพราะเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ ยิ่งศึกษามันยิ่งท้าทายให้พิสูจน์ ยิ่งศึกษายิ่งท้าทายให้ทำ เอามาสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่มีกำมือในเรา” แบตลอด ธรรมะนี่เปิดเผยแบตลอด แต่พวกเราขวนขวายกันอยู่ คว้าน้ำเหลว คว้าน้ำเหลว ไม่มีสิ่งใดติดมือเลย

นี่เวลาเขาพิสูจน์กัน เขามาบวชกัน เขามาพิสูจน์ของเขา ไอ้เราเป็นชาวพุทธ เราจะทำบุญกุศลกัน เห็นไหม ทาน สามเส้าเพื่อตั้งภาชนะเพื่อทำอาหาร ทาน ศีล ภาวนา.. เรามีทานขึ้นมาจนเป็นประเพณีวัฒนธรรม เขาบอกว่าต้องทำบุญกุศลนะ ไม่ทำบุญกุศลชาติหน้าจะไม่มีอะไรจะกินนะ ต้องเสียสละนะ นี่เราก็คิดได้แต่พื้นๆ ไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดจากทาน เกิดจากเสียสละ เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นหัวหน้าสัตว์ เป็นหัวหน้าฝูง เสียสละทุกๆ อย่างเลย เพื่อให้ฝูงนั้น เพื่อให้สังคมนั้น.. เป็นกษัตริย์ เป็นพระเวสสันดร เห็นไหม เพื่อให้สังคมมีความร่มเย็นเป็นสุข เสียสละทุกๆ อย่างเลย นี่ทานๆๆ จนทำให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่พันธุกรรมทางจิต จิตเวลาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะนะ เวลาไปเกิดที่สวนลุมพินี เห็นไหม เกิดมา เด็กๆ ยังมีความรู้สึกอะไร บอกว่า

“เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย”

เปล่งวาจาเลยนะ ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะอะไร? เพราะการสร้างสมอันนี้มา จิตใจมันพร้อมเป็นชาติสุดท้าย มันพร้อมมาแล้วไง พอพร้อมมาแล้ว ไปเจอวิกฤติขนาดไหนนะก็ต้องเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน ต้องเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน แต่! แต่เวลาประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ไปกับเจ้าลัทธิต่างๆ ไปกับต่างๆ มันก็ยังต้องพิสูจน์ตรวจสอบไปเรื่อย ทั้งๆ ที่จิตใจมีอำนาจวาสนานะ

แล้วเราเป็นชาวพุทธมีวาสนาไหม? มี.. แล้วเราทำบุญกันไหม? ทำ ทำเสร็จแล้วก็ทำเพื่อพลังงานอันนี้ไง เพื่อให้จิตใจนี้เข้มแข็งไง พอเข้มแข็งขึ้นมา เราศึกษาแล้วนี่ ศึกษาโดยที่ไม่ให้ใครชักนำเราไปไง ถ้าเราไปศึกษาแล้วใครชักนำ เห็นไหม นู่นก็ใช่ นี่ก็ใช่.. นี่ธรรมนี้เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วมันเลอะเลือนไป เดี๋ยวนี้มาค้นคว้าขึ้นมาใหม่

โอ้โฮ.. เก่งกว่าพระพุทธเจ้าเนาะ เก่งกว่าหมดเลย ไอ้เราไม่ต้องไปเชื่อเขา เราเชื่อธรรมและวินัย แล้วเราปฏิบัติของเรา เห็นไหม “ศีล สมาธิ ปัญญา” เรามีศีล มีความปกติของใจ เวลาทางโลกเขานะเขาไปในสโมสรสันนิบาต เขาไปในที่มีความสุขร่มเย็น เขาไปหาแต่ความเพลิดเพลินกัน นั้นในทางโลก

นี่สโมสรสันนิบาต นั้นคือการทำงานของโลก แต่เราเป็นนักปฏิบัติ เห็นไหม เราจะหาที่เป็นชัยภูมิ เราไปในป่าช้า ไปในที่สงบสงัด ในต่างๆ เพื่อจะค้นหาใจของตัว เวลาเราทำงานกันนี่เรานั่งสมาธิ เรานั่งสมาธินะ เวลาเราทำงานกันเราบอกเราเครียด ทำงานกันเราบอกว่าเราเหนื่อย ทำงานบอกว่าเราทุกข์ยาก เวลาเรานั่งสมาธิมันทำอะไรล่ะ? นั่งเฉยๆ ทำไมทำไม่ได้ล่ะ?

เวลางานในศาสนา งานทำของตัวเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ เห็นไหม องค์เดียวอยู่ในป่า อยู่คนเดียวโดดๆ กับต้นไม้ ไม่มีใครเลย ทำงานในหัวใจ เวลามรรคญาณมันเกิด บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ นี่งานหัวใจมันทำของมัน เวลาทำของมัน มรรคญาณมันชำระล้างหัวใจนี้สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา นี่ความกลัวที่มันปกคลุมในหัวใจ เห็นไหม พอมันรู้แจ่มแจ้ง พอแจ่มแจ้งหมดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้เทศนาว่าการ

เวลามีคนเจ็บ คนตาย มีญาติพี่น้องเสียไปนะ บอกว่า “อย่าเสียใจ อย่ารำพึงรำพัน เพราะสิ่งนั้นมันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริง ให้ทำคุณงามความดีถึงกัน”

ให้ทำคุณงามความดี เห็นไหม แล้วอุทิศถึงกัน คิดถึงแต่สิ่งที่ดีๆ ที่เขาเคยทำกับเราไว้ เป็นบุญกุศลของเรา เป็นกตัญญูกตเวที เราคิดถึง เขาเคยมีคุณกับเรา เขาดูแลเรา เขารักษาเรา คิดถึงสิ่งนี้แล้วมันผูกพันกันนะ แล้วเราทำสิ่งใดแล้วเสียสละให้เขาไป

เสียสละที่ไหน? เสียสละอะไร? เสียสละคือเสียสละความรู้สึกไง ความรู้สึกดีๆ เราเสียสละความรู้สึกดีๆ ความรู้สึกดีๆ มันจะถึงกัน.. จิตถึงจิต ความรู้สึกมันถึงกันได้ สิ่งที่ถึงกันได้ นี่พระพุทธเจ้าสอนที่นี่ เพราะอะไร? เพราะในความกระจ่างแจ้งขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ คือสิ่งที่มันมีเวรมีกรรม กรรมนี้เป็นกรรมอจินไตย กรรมอจินไตย คือเกิดเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นญาติพี่น้องกันมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ มันผูกพันกันมาตลอดเลย บุพเพนิวาสานุสติญาณ

แต่ถ้ายังไม่ถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ ถ้ายังเกิดจุตูปปาตญาณ ยังต้องเกิดไป เห็นไหม นี่บุญกุศลต่างๆ ที่จะทำ เวรกรรมนี่มันจะเกี่ยวพันกันไปตลอดเลย เวลามรรคญาณ ธรรมในหัวใจนี้สะอาดบริสุทธิ์แล้วมันกระจ่างแจ้ง ไม่เป็น เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศนาว่าการกับยสะ นี่ปัญจวัคคีย์

“เธอทั้งหลายพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์”

บ่วงที่เป็นโลกคือเวรกรรมที่มันเกี่ยวพัน นี่บ่วงที่เป็นโลก มันมีบ่วง มันมีความผูกพันกันไป มันจะต้องเกี่ยวพันกันไป

“เธอพ้นจากบ่วงที่เป็นโลก! แล้วเธอก็พ้นจากบ่วงที่เป็นทิพย์” เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม สิ่งที่เป็นทิพย์

“เธอพ้นจากบ่วงที่เป็นโลก และเธอพ้นจากบ่วงที่เป็นทิพย์ เธออย่าไปซ้อนทางกัน โลกนี้เร่าร้อนนัก เขาต้องการธรรม”

โลกนี้เร่าร้อนนัก.. เวลาพระสารีบุตรไปฟังเทศน์พระอัสสชิ เห็นไหม โอ้โฮ.. มีการเคลื่อนไหว มันความสงบเสงี่ยมมาก มีความนุ่มนวลมาก นี่ไปถามพระอัสสชิว่า

“ใครเป็นศาสดาของเธอ บวชกับใคร”

“บวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

“องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอะไร?”

สอน เห็นไหม เราเป็นผู้บวชใหม่ นี่พระอรหันต์นะ พ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์นะ เวลาพูดก็พูดเรื่องสัจธรรม เรื่องชีวิตเรานี่แหละ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

สิ่งที่เราทุกข์เรายาก เราลำบากลำบน เรามีบุญกุศล เรามีความมั่งมีศรีสุข นี่ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เราทำมาเองทั้งนั้น! เราทำมาเองทั้งนั้น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่กรรมเป็นอจินไตยมันจะตอบสนองเราชาติไหน? มันจะตอบสนองเราเมื่อไหร่? เห็นไหม ตอนนี้เราเกิดมา โอ้โฮ.. เรามั่งมีศรีสุข เรามีเงินทองมหาศาลเลย รัฐบาลบอกว่ายกเลิก ลดค่าเงินบาท เงินมหาศาลไม่มีค่าเลย ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ?

นี่คนเรามันมีเวรมีกรรมต่อกัน เห็นไหม เธอพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์.. เราอยู่ในบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์ บ่วงทางโลก บ่วงเวรบ่วงกรรม เป็นทิพย์ก็เวลาทิพย์สมบัติ เวลาทำคุณงามความดี เราทำของเรา ทำเพื่อประโยชน์กับเรา เวลาอาสวักขยญาณมันทำลายจนจิตมันสะอาด นี่สิ่งนี้จะไม่มีความกลัวเลย มันจะไปกลัวสิ่งใด มันไม่มีสิ่งใดเพิ่มขึ้นและลดลง มันเป็นสัจธรรมของมันอยู่อย่างนั้น แล้วสัจธรรมมันอยู่ในหัวใจเรานี่แหละ

เขาบอกว่า “นิพพานมันอยู่แล้ว จิตใจมีอยู่แล้ว” นิพพานไม่มีหรอก ถ้านิพพานมีอยู่แล้วมันไม่มาเกิดอีกหรอก แต่จิตใจมีอยู่แล้ว หลวงตาบอก “จิตคนไม่เคยตาย” จิตคนไม่เคยตาย เวียนตายเวียนเกิดอยู่อย่างนั้น

นี่ไงจิตมีอยู่แล้ว แต่นิพพานไม่มีอยู่แล้วหรอก! ถ้านิพพานมีอยู่แล้วไม่มาเกิดหรอก นิพพานมีอยู่แล้วก็ไปเลย กลับมาทำไม? แต่จิตมีอยู่แล้ว แล้วจิตนี้เป็นอจินไตย เห็นไหม กรรมนี้เป็นอจินไตย มันจะเวียนของมันอยู่อย่างนี้แหละ แต่ถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้วนะจบ ถ้ามันจบนะเราแก้ไขของเรา นี่เราหมั่นเพียรของเรา

ฉะนั้น สิ่งที่เรามาทำบุญกุศล เห็นไหม นี่อุตส่าห์มากัน ทีนี้อุตส่าห์มากัน เวลาที่มันจะได้เหตุได้ผลนะ นี่เวลามีหนักต้องหนัก เวลาเบาต้องเบา เวลาเราพูดเล่นพูดหัวกัน เราปฏิสันถารกัน อันนั้นเป็นสังคมเราก็อยู่กัน มันไม่เบียดเบียนกัน แต่เวลาฟังเทศน์ เวลาจะฟังเทศน์ เห็นไหม เวลาวิทยุเรานะ เวลาโทรศัพท์เราไม่มีคลื่นเราก็ยังไม่พอใจเลย เวลาเปิดโทรศัพท์ไม่มีคลื่น ทุกคนไม่พอใจทั้งนั้นแหละ

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เสียงที่มันออกมา เห็นไหม เสียงธรรมที่มันจะออกมา แล้วหูที่จะฟังมันก็เหมือนคลื่นนั่นแหละ ผู้รับและผู้ส่งมันควรจะจูนเข้ากันที่ดีๆ ไง แล้วอย่าให้สิ่งใดมาทำให้คลื่น หรือทำสิ่งนี้มันคลาดเคลื่อนไปไง นี่เวลาดุมันดุตรงนี้ไง เวลาหนักก็ควรหนัก เวลาเบาก็ควรเบา เวลาหนัก เห็นไหม เวลาอย่างนี้เรามาฟังธรรม เราฟังธรรมเพื่ออะไร? เรามากันด้วยความรีบเร่ง เรามาต่างๆ แล้วจะต้องมาหยุดเบรก เอี๊ยด! แล้วก็นิ่งๆ ฟังธรรม มันก็ทำได้ยากนะ

เวลาฟังธรรม เวลาอยู่ที่บ้านตาด เห็นไหม ถ้าที่นั่นมันพลุกพล่าน คนมันหนวกหูนะ ท่านบอกเทศน์ไม่ได้หรอก ไม่เทศน์ วันนี้ไม่สมควร ธรรมะเป็นของที่ประเสริฐ ธรรมะเป็นของที่ละเอียดอ่อน แล้วจะมาหยำเปกันอย่างนี้ จะมาทำแบบทำเมา เมาเหล้ากินยา ก๊งกันอยู่นี่นะ แล้วบอกว่า “หลวงพ่อเทศน์สิ หลวงพ่อเทศน์ ผมจะฟังเทศน์ ผมจะก๊งไปด้วย”

ธรรมะจะเป็นอย่างนั้นหรือ? ธรรมะจะเป็นอย่างนั้นไหม? ถ้าธรรมะไม่ควรเป็นอย่างนั้น เวลาหนักควรหนัก เวลาเบาควรเบา เราควรรู้กาลเทศะ ฉะนั้น เวลาหลวงพ่อเอ็ด จะบอกว่าไม่ใช่อาฆาตมาดร้าย ไม่ใช่จะฆ่าแกงใคร แต่เพื่อประโยชน์กับสังคม ประโยชน์กับพวกเรานี่เนาะ เอวัง