เทศน์บนศาลา

เปิดตู้พระไตรปิฎก

๓๑ ส.ค. ๒๕๔๓

 

เปิดตู้พระไตรปิฎก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เมื่อตรัสรู้ธรรมแล้วถึงมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

พระธรรมคือศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนธรรมคำสั่งสอนรวมลงแล้วอยู่ในตู้พระไตรปิฎก เห็นไหม ในวัดเรามีองค์พระพุทธรูปแทนพระพุทธเจ้า ตู้พระไตรปิฎกแทนพระธรรม พระสงฆ์นี้ศึกษาพระไตรปิฎก พยายามศึกษาธรรมกัน เปิดพระไตรปิฎกไง เปิดตู้พระไตรปิฎกออกมาศึกษาธรรมะกัน ศึกษาธรรมที่ว่าเราพยายามศึกษาธรรม ศาสนธรรมคือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อจะให้เราเข้าถึงความสุข

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เหมือนแก้วสารพัดนึก เห็นไหม เป็นแก้วสารพัดนึก แก้วเลย แล้วเหมือนสารพัดนึกต่อเมื่อคนทำได้จริง ทำได้จริงจะถึงสารพัดนึก นึกถึงความสุขก็เป็นสุข เพราะไม่ต้องนึกก็สุขอยู่แล้ว เพราะใจนั้นเป็นแก้วสารพัดนึก ใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นสุข สุขอย่างยิ่ง สุขล้นเหลือ สุขจนโลกนี้เทียบเคียงไม่ได้ นั่นแก้วสารพัดนึก

แต่พวกเรา เราเข้าไม่ถึงแก้วดวงนั้น เราทำไม่ได้ เราศึกษาของเรา เราศึกษาพระไตรปิฎกมาแล้วก็ลังเลสงสัย เริ่มจะศึกษาพระไตรปิฎกก็ว่า “พระไตรปิฎกมีการเจือปนมา อ่านแล้วจะเข้าใจไหม” พออ่านเข้าไปแล้วก็ยังงง นี่งงในพระไตรปิฎก เพราะอะไร เพราะเรามีความลังเลสงสัยในหัวใจเรา

เวลาอ่านไปนี่มีความเชื่อนะ พวกที่ศึกษาปริยัติมา อ่านไป ศึกษาไป ถ้ามีความเชื่อ ถ้ามีความเลื่อมใส จะมีความศรัทธามาก มีความสุข มีความเข้าใจ ความเข้าใจอันนี้เป็นความเข้าใจข้างนอก มีความสุขเข้ามาๆ แต่ความสุขอันนั้นมันเป็นข้างนอก เป็นเหมือนประเพณีวัฒนธรรม ประเพณีวัฒนธรรมของชาวพุทธนั้นมาจากไหน? มาจากพระไตรปิฎก แห่บุญพระเวสๆ มาจากไหน? ตอนเอาพระเวสสันดรกลับเข้าเมือง ก็อยู่ในพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกพูดแล้ว พระศึกษาเล่าเรียนมาแล้ว ประเพณีนิยมทำตามๆ กันมา พระที่นั่งอยู่นี้ก็เกิดจากประเพณี เกิดจากการบวช

ประเพณีวัฒนธรรมการบวช บวชในสังฆกรรมก็เป็นประเพณีวัฒนธรรม แต่เป็นประเพณีวัฒนธรรมแล้วเราทำถูกต้องตามประเพณี ถึงเป็นสงฆ์โดยสมมุติ เป็นสงฆ์ตามหลักความจริง เพราะเราศึกษาประเพณีแล้วเราทำตามประเพณีมา ประเพณีนั้นเราถึงต้องรักษาไว้ เรารักษาประเพณีไว้ แต่เราไม่รู้ เราไม่รู้ว่าประเพณีนี้มาอย่างไร แล้วมาจากไหน เราก็ตะครุบประเพณีกันอยู่นั่น เราตะครุบเงากันอยู่ตลอดเวลานะ นี่ตะครุบเงาๆ

ประเพณีนี้เป็นประโยชน์ในหลักของการทำทาน เราทำทานไปจะเป็นบุญกุศลของเรา เราทำทาน เพราะเป็นเรื่องของทาน ในวงของทานนั้นเราไม่ว่ากัน ในวงของทานเป็นเรื่องของทาน เราทำทานเพราะเรามีความเชื่อมีความศรัทธา ครูบาอาจารย์ทำตามกันมา เราก็ทำตามกันไป อันนั้นเป็นความเชื่อของเรา เราเชื่อแล้วเราทำตามของเราไป ความเชื่อเป็นศรัทธา ศรัทธานี้เป็นอาการของใจไหม? เป็น นี่ศรัทธาความเชื่อ เชื่อแล้วทำตามกันไป ถ้าเราทำตามประเพณีไป มันก็วนเวียนอยู่ในอาการของใจ ในวัฒนธรรมของประเพณี แล้วก็มีความสุข ความสุขอย่างนี้เขาเรียกว่า “อามิสทาน” ความเป็นอามิส ความที่ขับเคลื่อนด้วยอามิส เวลาทำบุญกุศล เราดับขันธ์ไป เราต้องเกิดแน่นอน

ใจนี้เป็นนักท่องเที่ยว เพราะพระไตรปิฎกก็บอกไว้แล้วว่าใจนี้เป็นนักเกิดนักตาย ในพระไตรปิฎกมีอยู่เต็มไปหมดเลยว่าเกิดเป็นชาตินั้น เกิดเป็นอย่างนั้น เกิดเป็นอย่างนี้ ในบุพเพนิวาสานุสติญาณก็เหมือนกัน ระบุว่าใจนี้ยังต้องเกิด เราก็ต้องเกิดมา มันยืนยันต่อกันในการประพฤติปฏิบัติหลายชั้นหลายตอนเลย

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติเข้าไปนะ มันจะว่า ทำไมทำเหมือนกันแล้วได้ผลไม่เหมือนกัน คนทำมากบางทีได้น้อย คนทำน้อยบางทีได้มาก นี่ในพระไตรปิฎกก็มีเรื่องอย่างนี้มากเลย มีมากเลย พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทำ อยู่ที่เหตุผล จะได้มากหรือได้น้อยอันนั้นหนึ่ง ในปัจจุบันนี้นะ ทำกับพระพุทธเจ้า ทำกับพระอัครสาวก ทำต่างๆ ถ้าไปเกิดเป็นเทวดานี่ทำไม่เหมือนกัน พระพุทธเจ้าชี้บอก

เพราะพระโมคคัลลานะไปเห็นแล้วลงมาบอกว่าทำชั้นนั้นๆ ในเทวดาที่มาฟังธรรมพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ทำไมทำบุญแล้วเป็นอย่างนั้นๆ มันไม่เท่ากัน นี่คืออามิสทาน ทานที่เป็นอามิส เห็นไหม อามิสนี้ขับเคลื่อนให้ใจนี้ไปเกิดสุข-เกิดทุกข์ แล้วพอหมดอันนี้มันเป็นการกระทำไง เพราะเรามีความเชื่อ เราเชื่อกันมาเราถึงมีการกระทำ ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว การกระทำอันนั้นเป็นผลที่เกิดจากเราทำ เราทำในขั้นของอามิส มันก็ได้ผลเป็นอามิสเข้าไปๆ

ทีนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดในป่า ตรัสรู้ในป่า ดับขันธปรินิพพานก็ในป่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ในอะไร? ตรัสรู้ในร่างกาย ในเรื่องของกายกับใจ ในพระไตรปิฎกนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว เรื่องของใจ ดับกิเลสทั้งหมด แล้วสอนออกมาเป็นพระไตรปิฎก สอนออกมา ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เราจดจารึกกันมาอยู่ในพระไตรปิฎก แล้วเราก็ศึกษาในพระไตรปิฎก อันนี้เป็นการสื่อการสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการให้เราเปิดตู้พระไตรปิฎกภายใน เปิดตู้พระไตรปิฎกในร่างกายของเรา ในกายกว้างศอก หนาคืบ นี่คือตู้พระไตรปิฎกจริง ถ้าใครเปิดตู้พระไตรปิฎกนี้ได้ อันนี้ต่างหากถึงจะเห็นธรรมรู้ธรรม ชำระกิเลสได้เป็นชั้นๆ เข้าไป

ตู้พระไตรปิฎกในวัดในวานี้เป็นแผนที่ดำเนินให้เราดำเนินตามเข้าไป เพราะตู้พระไตรปิฎกนี้เป็นคำสั่งสอน เหมือนแผนที่ คำสั่งสอนเข้าไปถึง อย่างเช่นช่างหรือแม่ครัว ในตำราทำอาหารกับตำราช่างเป็นตำราอย่างหนึ่ง ถ้าเวลากระทำ ในตำรานั้นบอกไว้นะ แต่ถ้าเราทำแล้วมันต้องมีเทคนิค มีความเข้าใจ มีความชำนาญ การทำเข้าไปๆ ความชำนาญอันนั้นก็เป็นอาหาร เป็นช่างไม้ขึ้นมา แต่ในการประพฤติปฏิบัตินี้ แผนที่ดำเนินนั้นเข้าถึง เห็นไหม

เปิดตู้พระไตรปิฎก เราเปิดกันไม่ได้ เรายังจับตู้พระไตรปิฎกไม่ได้เลย เราเห็นแต่ตู้พระไตรปิฎกตามวัดตามวา เราไม่เคยเห็นตู้พระไตรปิฎกใน ไม่เคยเห็นนะ เราไม่เคยเห็นตู้พระไตรปิฎกเลย แล้วเราจะเปิดอย่างไรล่ะ อันนี้สำคัญ มันมีเครื่องมือเข้าไปเปิดตู้พระไตรปิฎก นี่มันต้องมีเครื่องมือ

เราเป็นพระเป็นเณร เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติไปศึกษาตามวัด เรามีร่างกายของเรา เราเดินเข้าไป เราเอามือเปิดตู้พระไตรปิฎก แล้วตู้พระไตรปิฎกภายในนี้เห็นก็ไม่เห็น เปิดก็ไม่มีเครื่องมือเข้าไปเปิด ถึงต้องทำความสงบก่อน ทำความสงบนี้เพื่อเอาใจเข้าไปเปิด ต้องเอาใจนี้เข้าไปเปิด แล้วมันจะสะเทือนถึงความสุข-ความทุกข์ รู้สึกว่าทุกข์-สุขเป็นอย่างไร สุขจริงหรือไม่จริง สุขโดยเจือด้วยอามิส กับสุขด้วยการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม สุขด้วยการประพฤติปฏิบัติ สุขด้วยความเป็นจริงของเราไง เขาเรียกว่า “ปัจจัตตัง” รู้จำเพาะตน รู้จริงๆ รู้จากเราประพฤติปฏิบัติเข้าไป แล้วจิตสงบเข้าไปมันจะมีความสุขอย่างไร แล้วจะเข้าถึงตู้พระไตรปิฎกตามหลักความจริง

นี่มันเข้าไม่ถึง เพราะว่าตู้พระไตรปิฎกตามวัดตามวามันจะมีปิดทอง มีการแกะสลัก มันสวยงามไง มันสวยงามมาก เราไปติดกันที่ตู้พระไตรปิฎก เราไม่สามารถเข้าไปถึงธรรมะที่อยู่ในตู้พระไตรปิฎก เพราะอะไร เพราะว่าอารมณ์มั่นหมายของเราไง มันจะยืนยันกันตรงนี้ ตรงที่ว่าอารมณ์ของเรามันเป็นเหมือนกับเปลือกของตู้ เหมือนลายของตู้ อารมณ์วิจิตรพิสดาร สวยนะ ลายทองนะ มีความสวยงาม เราก็ติดตรงนั้น

นี่เหมือนกัน ในเมื่อความเห็นเราเกิดขึ้น เราจะมีความคิดใดๆ ก็แล้วแต่ เราจะว่าเป็นเรา สิ่งที่ว่าเราเป็นเรา แล้วก็คิดฟุ้งซ่านออกไป นี่มันเป็นอาการของใจ อาการของใจไม่ใช่ใจ เห็นไหม ตู้พระไตรปิฎกก็เหมือนกัน ตัวตู้พระไตรปิฎก ลายอยู่ข้างนอก ลายข้างนอกมันสวยงาม เราเห็นแค่ลายข้างนอกเราก็ล้มลุกคลุกคลานไปกับอารมณ์ของเรา มันถึงไม่เห็นตัวตู้พระไตรปิฎก เห็นแต่ลายอยู่ข้างนอก เป็นอย่างนั้นไปตลอด

นี่เราไม่เข้าใจ ทำไมเราทำความสงบของใจเราเข้ามาไม่ได้ เราก็พยายามทำหนักหนาอยู่แล้ว แล้วมันจะทำไปได้หรือ แล้วทำไมพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยืนยันอย่างนี้ ทำไมเราทำไม่ได้ ทำไมธรรมที่แสดงออกมาจากพระไตรปิฎกนั้น อาการของธรรมที่แสดงออกมามันยืนยันเข้าไป ถ้าเราเชื่อจริง นี่ศรัทธาความเชื่อที่มั่นคง กำลังใจจะเกิดขึ้น อาศัยกำลังใจของเรา

เราต้องมีความตั้งใจจริง สติสัมปชัญญะต้องพร้อม สิ่งใดๆ ที่เราเกิดขึ้น เราเห็นโทษนะ เกิดขึ้นกับคนอื่นนี่เราเห็นโทษ แต่เวลาเกิดขึ้นกับเราเอง เราจะไม่เห็นโทษเลย เราจะยึด พอเป็นเราปั๊บ เราจะให้อภัยตัวเรา เราจะตั้งใจให้เราเป็นใหญ่ เรานี้ไม่ผิดไม่พลาด เพราะความสงวนรักตัวเองว่าเป็นเรา เห็นไหม นี่เหมือนกัน พอความคิดเกิดขึ้น อารมณ์เกิดขึ้น มันก็ว่าเป็นเรา พอสิ่งที่ว่าเป็นเรา มันก็จะเคลื่อนออกไป อารมณ์จะเกิดกับเรา หมุนไปตลอดๆ หมุนไปเรื่อยๆ เลย นี่เป็นเงาทั้งนั้นเลย ถ้าคิดสิ่งที่ดีขึ้นมาก็เป็นประโยชน์ คิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ชั่วมันก็ดึงให้ใจนี้ไปชั่ว ใจนี้ไปชั่วเพราะมโนกรรมเกิดขึ้น คิดดีเป็นบุญกุศล คิดไม่ดีเป็นบาปอกุศล

ในพระไตรปิฎกบอก อเสวนา จ พาลานํ ไม่ให้คบคนพาล ให้คบบัณฑิต แล้วใจคบคนพาลหรือคบบัณฑิต เราไปดูแต่เพื่อนข้างนอก ดูแต่หมู่ชนข้างนอกว่าคนนั้นเป็นคนดี คนนั้นเป็นคนไม่ดี เห็นไหม คนข้างนอกเป็นคนข้างนอก แต่อารมณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันนี้เป็นเพื่อนสองของใจ อารมณ์เกิดขึ้นกับใจ ใจนี้ไม่ใช่อาการของใจ อาการของใจกับใจเกิดขึ้นต่างกัน

เวลาอารมณ์เกิดขึ้น นี่คบเพื่อน ใจของเราได้คบเพื่อนแล้ว ถ้าคบพาล คบสิ่งที่คิดไม่ถูกต้อง นี่คบพาล แล้วไม่รู้ว่าคบพาล อเสวนา จ พาลานํ อย่าคบ ให้คบบัณฑิต ให้คบความคิดที่ดี ความคิดที่ถูกต้อง ถ้าเราเห็นตรงนี้ เราจะปฏิเสธตรงนี้ได้ ความที่เราปฏิเสธตรงนี้ เราไม่คบคนพาล เราคบบัณฑิต พอเราคบบัณฑิต เราคบกับความคิดของเรา มันจะทำให้เราใกล้เข้ามา ใกล้ตู้พระไตรปิฎกเข้ามาเรื่อยๆ ดึงใจเราเชื่อมั่นเข้ามาๆ ความเชื่อมั่นในความคิดที่ดี นี่คบมิตรดี มิตรดีพาไปหาดี คบมิตรชั่ว มิตรชั่วพาไปหาชั่ว อาการของใจคิดไม่ถูกแล้วจะพาเตลิดเปิดเปิง แล้วคิดได้ทุกอย่าง ทำได้ทุกอย่าง เพราะมันเป็นความคิด ความคิดมันก็เตลิดเปิดเปิง นี่คบคนพาล คบอารมณ์ที่ผิด เราก็ยังไม่รู้สึกตัวเลย แล้วคบคนดี เรามีความสุขขึ้นมา เราทำความถูกต้องขึ้นมา คบตรงนั้นเข้ามาๆ นี่คบคนพาล คบบัณฑิต แล้วเราก็ต้องพยายามตั้งใจให้ตั้งมั่น

จากที่ว่าคบเพื่อน กับให้ตัวเองยืนขึ้นมาได้ ตัวเองยืนขึ้นมาโดยสัจจะของตัวเอง ไม่ต้องอาศัยคนอื่นเป็นที่อาศัยขึ้นมา ใจนี้เปรียบเหมือนกับน้ำในแก้ว ไม่เห็นน้ำในแก้วเพราะมันใส ไม่เห็นน้ำ พอเติมสีเข้าไป เราถึงจะเห็นว่าสีใดเข้าไปในน้ำ เห็นน้ำสีนั้นๆ ในแก้วนั้นมีสี เห็นไหม อาการของใจเกิดขึ้น มันสะเทือน เหมือนกับใส่น้ำลงไปในแก้ว มีอารมณ์ขึ้นมา เพราะฉะนั้นมันอยู่เฉยๆ มันไม่มีอารมณ์ ทำอย่างไรล่ะ นี่มันไม่เห็นอาการของใจ มันจับต้องใจของตัวไม่ได้ ถึงต้องใช้คำบริกรรมเพื่อให้ใจนี้ทรงตัวอยู่ได้ จะเป็นพุทโธๆ ก็ได้ ทำใจให้สงบ พยายามทำใจของตัวเองให้สงบให้ได้

การฝึกเริ่มต้นเน้นย้ำกันที่ว่า สมถกรรมฐานนี้สำคัญที่สุด สมถกรรมฐานคือความสงบของใจ เป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐาน เป็นพื้นฐานที่ว่าทำไมเขาฟังเทศน์ฟังธรรมสมัยพุทธกาลกันแล้วเข้าใจธรรมกันไป เพราะพื้นฐานตรงนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม ในสมัยพุทธกาล ความสงบของใจเขาจะทรงอยู่แล้วโดยปกติ แต่ในปัจจุบันของเรา ใจไม่ค่อยสงบกัน ใจคิดร้อยแปดเลย แล้วกว้านเอาแต่ไฟเข้ามาใส่ตัวนะ กว้านเอาแต่สิ่งที่คิดแล้วทำให้ตัวเองไปในทางที่ลบส่วนใหญ่ ถ้าคิดทางบวกมันจะมีส่วนน้อย

เวลาอารมณ์เกิดขึ้นมันคิดไป มันไม่มีความสงบเป็นพื้นฐาน เราถึงต้องทำความสงบเป็นพื้นฐาน พื้นฐานของความสงบ สมถกรรมฐาน อันนี้เป็นพื้นฐาน พอเป็นพื้นฐานขึ้นมา มันจะมีเครื่องมือเข้าไปเปิดตู้พระไตรปิฎก ถ้าไม่มีความสงบของใจ มันเป็นอารมณ์โลก

คิดอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ คบมิตรดีมิตรชั่วอยู่ข้างนอก คบไปตลอด อาการของใจมันส่งออกมาข้างนอก การปฏิบัติธรรมนี้คือการทวนกระแสของโลก ดูสิ ดูการประพฤติปฏิบัติ คนที่ออกประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญ กับพระนักบวช ส่วนใหญ่โลกจะติเตียนมากว่าเป็นคนที่ไม่สู้โลก เป็นคนที่ไม่สู้สังคม คนที่ปฏิบัตินี้เป็นคนที่มีปัญหา อยู่กับโลกเขาไม่ได้แล้วค่อยมา นี่กระแสโลกจะติเตียน

การทวนกระแสโลกต้องทวนทุกอย่างเลย การทำคุณงามความดีก็ต้องทวนกระแสโลก โลกจะติเตียนให้เราอ่อนด้อยไปตลอด นี่ทวนกระแสเข้ามาๆ ทวนกระแสพร้อมกับต้องมีกำลังใจเข้ามา ใครบอกว่าเป็นคนรกโลก ผู้นี้ต่างหากเป็นคนที่จะออกจากวัฏวน ออกจากกระแสที่โลกเขาหมุนเวียนกันไป

โลกนี้เขากว้านเอาแต่ฟืนแต่ไฟมาเผาตัวเองนะ คนที่คบคนพาลแล้วเขาไม่รู้ว่าพาล พาลพาไปนี่เขายังมีความอิ่มใจดีใจของเขานะ แล้วมาติเตียนผู้ที่ใฝ่ดีออกว่าเป็นคนที่ไม่สู้โลก เป็นคนอะไร นั่นเขาคบพาล เขาไม่รู้ตัว แล้วเขายังเอาฟืนเอาไฟมาใส่ตัวเขา คนที่คบบัณฑิต คบสิ่งที่ออกจากโลก มันทวนกระแสแสนจะทวนกระแสนะ ทวนกระแสจากเปลือกต่างๆ คือทวนกระแสจากโลกภายนอก แล้วยังต้องมาทวนกระแสกับความขับดันของใจ

ใจเรามันมีกิเลสอยู่ กิเลส หมายถึงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมา คนเกิดขึ้นมาทั้งหมดมีกิเลสในหัวใจ คนมีหัวใจ กิเลสถึงพาเกิด คนที่มีกิเลสถึงพาเกิด คนเกิดมาทั้งหมดนี้ต้องตายหมด ตายแล้วก็ต้องเกิดหมด ตายเกิดๆ นี้ถึงเป็นสิ่งที่ว่าตายซับตายซ้อนเข้ามาอยู่ในหัวใจ หัวใจทุกๆ ดวงเคยตายเคยเกิดมาไม่มีต้นไม่มีปลาย เกิดมาซ้ำซากๆ การเกิดอันนี้ถึงได้สะสมเป็นจริตนิสัย จริตนิสัยของคนถึงไม่เหมือนกัน เพราะความเกิดความตายได้ทำคุณงามความดี เกิดชาติหนึ่งคบมิตรดีมิตรชั่ว สะสมไปชาติแล้วชาติเล่า สะสมอยู่อย่างนั้น เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ตกนรกอเวจี เป็นมาทั้งนั้น แล้วสิ่งนี้เป็นข้อมูลเดิมฝังอยู่ในหัวใจ เพราะอะไร เพราะความไม่รู้ อวิชชาพาเกิด เวียนตายเวียนเกิดอยู่อย่างนั้น ถึงไม่มีที่สิ้นสุด

นี่คนเกิดมาทั้งหมดต้องตายทั้งหมด ตายทั้งหมดต้องเกิดทั้งหมด เว้นไว้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ธรรมแล้ว พระอริยสาวกต่างๆ ที่เสด็จตามทันไป อันนั้นชำระกิเลสได้ เพราะได้เปิดตู้พระไตรปิฎกของแต่ละบุคคลๆ เข้าไปชำระล้างจนสะอาด เห็นไหม เราเปิด เราก็ตั้งใจ เพราะเราจะทวนกระแสเข้ามา ทวนกระแสข้างนอกแล้วยังต้องทวนกระแสของอารมณ์ของเราเอง ทำอารมณ์ของเราเองเพื่อทำความสงบเข้ามา

ความสงบนี้ทำได้ยาก ถ้าทรงความสงบได้ คนเราจะเชื่อเรื่องศาสนานี้ขึ้นมาอีกมหาศาลเลย ส่วนใหญ่เพราะเราทำความสงบของเราขึ้นมาไม่ได้ เราถึงไม่ค่อยเชื่อเรื่องของศาสนา ความไม่เชื่อศาสนาเพราะไม่เชื่อตนเอง ตนเองยังเชื่อไม่ได้ ถ้าเราเชื่อตนเองได้ เราต้องบังคับตัวเราได้สิ เห็นไหม เราบังคับเราไม่ได้ เวลาอารมณ์เราชอบใจสิ่งต่างๆ ขับเคลื่อนออกมาจากใจแล้วขับให้เราตามไป ทำไมเรายับยั้งใจเราไว้ไม่ได้ล่ะ เรายับยั้งใจเราไว้ไม่ได้เพราะเราไม่มีกำลังพอ เพราะเราไม่เคยฝึก เห็นไหม ถึงต้องพยายามฝึกคำบริกรรม ต้องทวนกระแสตรงนี้เข้าไป ทวนกระแสเข้าไปๆ พยายามบริกรรมไว้ สติสัมปชัญญะสำคัญที่สุด คนจะมีคุณงามความดีมีคุณงามความดีอยู่ตรงนี้ ตรงที่ตั้งตัวของตัวให้เป็นผู้ที่ยืนตัวของเราขึ้นมาได้ คนเรายืนทรงตัวขึ้นมาได้ คนนั้นเป็นเอกเทศ ใจนี้ตั้งเป็นหนึ่ง พอใจนี้เป็นหนึ่ง เอกัคคตารมณ์ ใจนี้เป็นหนึ่ง

ใจนี้โดนคนเขาชักนำ โดนอารมณ์ดึงไปทั่วหมด โดนความคิดดึงออกไป เห็นไหม ประเพณีวัฒนธรรมที่ไหลออกมาจากตู้พระไตรปิฎกดึงออกไปๆ เราก็หมุนจนหัวปั่นอยู่กับโลกเขา หมุนไป หมุนจนหัวปั่นเลย สิ่งนี้ดึงออกไป ทรงตัวไว้ไม่ได้เพราะอารมณ์มันดึงออกไป ออกไปจนครอบ ๓ แดนโลกธาตุ ครอบถึงต่างประเทศนะ คนเคยไปต่างประเทศ ไปที่ไหนมา ลองคิดถึงนี่ทันทีเลย จะไกลขนาดไหน แว็บขึ้นมาในหัวใจ ถึงแล้ว ภาพเกิดขึ้นในใจ ถึงหมดๆ มันถึงครอบถึงต่างประเทศ ครอบ ๓ โลกธาตุ เพราะเรานึกขึ้นมาได้

ใจนี้มันกว้านเอาวัตถุ กว้านเอาสิ่งต่างๆ เข้ามากินในหัวใจ เอาใจเสวยอารมณ์อันนั้นแล้วมันก็ฟุ้งซ่านออกมาๆ นี่หลงข้างนอกแล้วก็ยังไม่พอ หลงสิ่งที่ว่าเขาพากันไป เขาพูดอะไรก็เชื่อเขา เขาทำอะไรก็เชื่อเขา ตามๆ กันไป ตามกระแสสังคมไปแล้วก็หมดเนื้อหมดตัว แล้วได้อะไรขึ้นมา? ได้แต่ความเศร้าโศกเสียใจเข้ามา

นั่นน่ะ ทวนกระแสอันนั้นเข้ามา ทวนกระแสของเราด้วยสติ ด้วยสัมปชัญญะ ความตั้งสติอยู่ต้องสงบได้ จิตฟุ้งซ่านได้ จิตต้องสงบได้ จิตของคนนี้ สิ่งต่างๆ มีขึ้นมา เกิดขึ้นมาแล้วต้องแปรสภาพทั้งหมด อารมณ์ที่มันเกิดขึ้นเป็นความทุกข์ความร้อน เป็นสิ่งที่ทำให้ใจนี้ฟุ้งซ่าน มันเกิดดับๆ ตลอดนะ แต่เราไม่รู้เพราะเราไม่ใส่ใจ เราไม่พยายามประพฤติปฏิบัติ เราไม่พยายามทรงตัว ไม่พยายามตั้งใจของเราให้ขึ้นมาได้

ถ้าตั้งใจ ทรงตัวของใจขึ้นมาได้ มันจะเห็น พอจิตสงบเข้าไป แว็บเข้าไปๆ มันจะสงบเข้ามาเรื่อยๆ ก่อน แว็บเข้าไป นี่ขณิกสมาธิเกิดขึ้น สิ่งที่เป็นขณิกสมาธิ หมายถึงว่า มันได้เข้าไป ทวนกระแสเข้าไปบ้างเล็กน้อย ความสงบเล็กน้อยเกิดขึ้นมาจากใจ นี่มันก็แปลกประหลาดแล้ว สิ่งที่แปลกประหลาดมันจะมีความร่มเย็นของใจ ใจมันจะร่มเย็น สิ่งที่มีความร่มเย็นจริงๆ แล้วมันอยู่ที่กลางหัวใจของพวกชาวพุทธทั้งหมด ชาวพุทธนี้ไม่เข้าใจเรื่องความสุข สิ่งที่ควรหาได้ในร่างกายของเรา เห็นไหม นี่ตู้พระไตรปิฎก กว้างคืบ หนาศอก นี่ตู้พระไตรปิฎก อยู่ที่นี่ อยู่ที่เรา

เราไปเปิดตู้พระไตรปิฎก มันเป็นแผนที่เครื่องดำเนิน แล้วเราก็พยายามเปิดของเรา เราพยายามอยู่แล้ว เห็นไหม ขณิกสมาธิ ใจมันสงบเข้ามา แว็บขึ้นมา มันมีเครื่องยืนยันขึ้นมาแล้ว อยากได้ๆ หลุดไป หลุดไปเพราะอะไร หลุดไปเพราะตัณหาความทะยานอยาก เรารู้ว่าอะไรเป็นคุณสมบัติสิ่งที่เป็นคุณงามความดี เราไม่เคยจับต้องได้ พอเราจับต้องได้ ความอยากของเราเกิดขึ้น พอความอยากของเราเกิดขึ้น นี่ตัณหาซ้อนตัณหา

จิตของคนโดยสัญชาตญาณนี้ใฝ่ดี ใฝ่อยากได้ เห็นไหม ใฝ่ดี อยากดี อยากไปหมด จิตใต้สำนึกของคนเรามีตัณหาโดยธรรมชาติของมัน มีอัตตามีตัวตนอยู่พร้อมในการเกิดนี้ จิตนี้เป็นอัตตาตัวตนพร้อมมาตลอด เราก็ต้องใช้อัตตาตัวตนนี้เข้าไปก่อน ความที่เราต้องพยายามยึดอัตตาของเราไว้ อัตตา หมายถึงว่า เราเข้าไปหาเอกัคคตารมณ์ ก็เข้าไปหาอัตตานี่แหละ ไปดูแล้วจับตัวอัตตาไว้ เพื่อจะก้าวเดิน เพื่อจะสาวเดินเข้าไป

ถ้าไม่ยึดอะไรเลย บอกว่า “อันนั้นก็เป็นกิเลส อันนี้ก็เป็นกิเลส”...อันนั้นมันเป็นการไตร่ตรอง ที่ว่านักปราชญ์คิดค้นกัน ศึกษาพระไตรปิฎกจากตู้มาแล้ว “อัตตาก็ไม่ผิด อนัตตาก็ผิด” นี่คือนักปราชญ์ นักปราชญ์ศึกษามาก็มาใคร่ครวญ มาเถียงกัน เถียงกันด้วยอารมณ์ของโลก นี่โดนหลอกทั้งหมด นี่กระแสของโลกไง นี่เข้าถึงความเข้าใจในศาสนาด้วยประเพณี ด้วยความเห็นของตัวเอง แต่ไม่ได้เข้าถึงหลักศาสนาด้วยสัจจะ ด้วยความจริง

แล้วเข้าถึงได้ทุกคน หัวใจนี้เป็นเครื่องมือที่จะเข้าถึงหลักของศาสนา พอจิตเข้าไปสัมผัสกับขณิกสมาธิ แว็บๆๆ เข้าไป พอมันอยาก หลุดมือไป ตั้งต้นใหม่ เราต้องตั้งต้นใหม่ สิ่งนี้เป็นเครื่องยืนยันว่ามันมีอยู่จริงในหัวใจของเรา หัวใจนี้มีคุณค่า แต่เดิมเราไม่เข้าใจเรื่องหัวใจของเรา เราคิดว่าเราไปหาความสุขต่างๆ แล้วจะมีความสุข ขณะนี้เราเห็นอาการของใจแล้ว เราพยายามตั้งต้นใหม่ แต่ด้วยคนใหม่ ด้วยการประพฤติปฏิบัติใหม่ ความอยากอันนั้นเราไม่อยาก มันก็เกิดขึ้นเอง เพราะกิเลสเราไม่รู้เรื่อง ความไม่รู้นี้มันปั่นให้อยากมาก ความอยากนั้นมันทำให้เป้าหมายนั้นผิดไป เรากำหนดคำบริกรรมไว้ตรงที่ปลายจมูกหรือที่ไหนก็แล้วแต่ กำหนดไว้ ตั้งสติให้ดี ความอยากนั้นช่างหัวมัน อะไรจะอยากก็ไม่เกี่ยว พยายามตั้งสติไว้ เพราะเราเคยเห็นแล้ว

จอกแหนบังน้ำไว้ เราเคยเห็น แหวกจอกแหนออก เป็นขณิกสมาธิ เห็นน้ำนั้นแล้ว น้ำนั้นคือตัวธรรม คือเห็นใจของเราแล้ว เราก็พยายามตรงนั้น พยายามจะแหวกจอกแหนให้ได้ ตั้งอารมณ์ของเรา พุทโธๆๆ ไว้ตลอดเวลา แล้วสติตั้งไว้ อะไรจะเกิดขึ้นช่างหัวมัน ทำประหนึ่งเหมือนกับโลกนี้ไม่มี สิ่งใดๆ ในโลกนี้ ที่เกิดอยู่นี้ ไม่สนใจ สนใจแต่คำบริกรรมกับใจนี้อย่างเดียว พุทโธๆๆ ตลอดเวลา วันคืนเดือนปีไม่เกี่ยว อยู่กับพุทโธพร้อมสติสัมปชัญญะ มันต้องสงบเข้าได้สักวันหนึ่ง หลักความจริง มีเหตุต้องมีผล เราสร้างเหตุขึ้นมา ความอยากในเหตุนี้ถูกต้อง ความอยากในผลของความสงบเป็นสิ่งที่ผิด แต่อยากในเหตุนี้ถูกต้อง เราเอาที่เหตุนั้น สร้างเหตุนั้นขึ้นมา ทำแต่เหตุเข้าไป ผลมันเกิดขึ้นมา มันจะสงบเข้ามา

จากเดิมที่เป็นขณิกะ พอจิตนั้นสงบเข้าไปเรื่อยๆ มันจะเป็นอุปจารสมาธิ จิตที่เป็นอุปจารสมาธิมันจะสงบเย็นลึกเข้าไปกว่านั้น ความว่าลึกตื้นนี้อยู่ที่อาการของใจเฉยๆ ใจนี้สงบเข้าไปๆ ความลึกกับความตื้นนี้เป็นอาการ ไม่ใช่ลึกตื้นที่ไหนหรอก คนที่เป็นจะเข้าใจ พอสงบเข้าไปๆ ถ้าไม่มีสิ่งใดไปกวน สงบลึกเข้าไปๆ จนถึงกับอัปปนาสมาธิได้ อัปปนาสมาธินี้ถึงฐานของใจ จะมีความสุขมาก สิ่งที่เป็นอัปปนาสมาธิ สิ่งที่ว่ากำหนดพุทโธๆๆ อยู่ จะอยู่ด้วยไม่ได้ จิตนี้สงบเข้ามาจนพุทโธนี้หายออกไป อาการของใจไม่มี เป็นใจล้วนๆ เป็นความสงบล้วนๆ จะนึกจะคิดอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น จะมีอารมณ์ไม่ได้เลย สักแต่ว่ารู้

สิ่งที่ว่าเรารู้ๆ อยู่นี่ ไม่ใช่ สิ่งที่ว่าเรารู้ๆ อยู่นี้ เป็นอุปจารสมาธิ รู้อยู่ เพราะความรู้อยู่ อัปปนาสมาธิลึกกว่านั้น ลึกจนไม่รู้สิ่งใดทั้งสิ้น แม้แต่ถ้ารวมลงเป็นอัปปนาสมาธิ เกิดฟ้าถล่มมา ยังไม่รับรู้ รู้อันนั้นไม่ได้เลย มันเป็นเรื่องของภายนอก ใจนี้สงบ ตัดรูป รส กลิ่น เสียงออกทั้งหมด เป็นอัปปนาสมาธิ แล้วมีความสุขอย่างมาก โอ๋ย! สุขอย่างนั้น จิตถึงตรงนั้นแล้ว นี่เป็นอัปปนาสมาธิ เห็นไหม สิ่งที่เป็นอัปปนาสมาธินี้เป็นพื้นฐาน เป็นฐีติจิต จิตเดิมของเราเลย ต้องถอน ถ้าเราอยู่สักพักหนึ่งจะคลายตัวออกมาเอง สิ่งที่คลายตัวออกมา ออกมาเป็นอุปจารสมาธิ นี่ไง สิ่งที่เป็นอุปจารสมาธิตรงนี้ต่างหากเป็นที่ที่เราจะวิปัสสนา

ใจรวมลงถึงอัปปนาสมาธิหรือไม่ถึงก็แล้วแต่ เป็นอุปจารสมาธิ นี่ทำงานได้แล้ว สิ่งที่ทำงานได้นี้คือการเปิดตู้พระไตรปิฎก เห็นไหม เปิดตู้พระไตรปิฎกของเรา จิตนี้สงบแล้วเราต้องจับเงื่อนปม สลักที่ปิดตู้พระไตรปิฎกไว้ เราจะถอดสลักนั้นออกได้อย่างไร ถอดสลักตู้พระไตรปิฎกออกเพื่อจะเข้าไปหาพระไตรปิฎก เพื่อจะศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกนั้นไง

จิตนี้สงบเข้าไป หลุด ถอนออกมาถึงอุปจารสมาธิ อุปจาระ วงรอบของจิตนี้ เห็นไหม จากเดิม จิตข้างนอก วงรอบของจิต อาการของจิตนี้เป็นสิ่งที่หลอกลวงเราตลอด แต่พอจิตสงบเข้าไป กิเลสนี้สงบเข้าไป อวิชชาพักตัว พอจิตนี้ทรงตัวเป็นเอกเทศ เขาเป็นอิสระชั่วคราว ออกมาที่อุปจารสมาธินี้ วงรอบของอุปจารสมาธิ นี่ต่างหากจะพิจารณากาย ยกขึ้นมาให้เห็นกายของเรา เห็นไหม ตู้พระไตรปิฎกคือ กว้างศอก หนาคืบนี้ ถ้าเห็นกายของเรา นี่คือการถอดสลัก พอถอดสลัก ได้เงื่อนได้ปม ถ้าถอดสลักออกจะเห็นกาย ความเห็นกายจากจิตที่สงบ นี่จิตที่สงบเข้าไปเห็นกายตรงนั้น เห็นด้วยอะไรเห็น? เห็นด้วยหัวใจพาเห็น ไม่ใช่เห็นด้วยตาเนื้อพาเห็น ใจที่พาเห็นอันนี้คือใจตัวนี้ที่พาตายพาเกิด นี่เครื่องยืนยันกันไงว่าจิตนี้ต้องตายต้องเกิด

สิ่งที่ว่าถอดสลักได้ เพราะอะไร เพราะว่าการเห็นจากตาใจอย่างนี้ เอาตาใจเห็นใช่ไหม นี่เห็นกาย จะขนพองสยองเกล้า จะจับตัวอาการเงื่อนปมได้ แล้วเปิดตู้ออก พอเปิดตู้ออก นี่ไง เปิดตู้พระไตรปิฎก แล้วจะได้ใช้วิปัสสนา วิปัสสนาคือปัญญา ปัญญาวิปัสสนาจะเกิดขึ้นอย่างนั้นถ้าจิตสงบ ถ้าจิตไม่สงบ อันนั้นเป็นสัญญา

คำว่า “เห็นกายๆ” ถ้าคำว่า “เห็นกายโดยตา” ทำไมเราต้องทุกข์ยากลำบากขนาดนั้นเพื่อจะเห็นกาย ถ้าไปพูดกับคนข้างนอก หรือกิเลสมันจะหลอกขึ้นมาในหัวใจ “กายใครๆ ก็เห็นได้ เห็นไหม เราก็มีตาอยู่ มองไปที่ไหนมนุษย์เกลื่อนกลาดไปหมด ทำไมจะไม่เห็นกาย เห็นกายที่ไหนก็เห็นได้” นี่เห็นด้วยตาเนื้อ เห็นด้วยอารมณ์โลก ความเห็นด้วยอารมณ์โลกนั้นแก้กิเลสไม่ได้หรอก ยิ่งเห็นด้วยอารมณ์ของโลกนะ มันไปกับโลกเขา นั่นน่ะ เขาถึงบอกว่าในศาสนามีผลหรือไม่มีผลตรงนั้นไง ตรงที่เขาเห็นกายด้วยกายนอกๆ เห็นด้วยกิเลสพาเห็น เห็นด้วยวัฏวน เห็นด้วยอำนาจของกิเลสพาเห็น เห็นด้วยความผูกมัดไง ยิ่งเห็นสัตว์ เห็นโลก มันอยากสวยอยากงาม อยากเด่น อยากไปกับเขา นั่นเห็นด้วยตาเนื้อ

แต่เห็นด้วยตาธรรม ใจเห็น ใจนี้สะเทือนใจ ความที่สะเทือนใจ เพราะใจนี้เป็นตัวติด ใจนี้เป็นตัวข้อง กิเลสอยู่ที่ใจ ใจเป็นตัวข้อง ข้องในอะไร? ข้องในร่างกายนี้ พอจิตสงบเห็นกายจากภายใน มันสะเทือนเลื่อนลั่น นี่ตู้พระไตรปิฎกเปิดออก พอเปิดออก เราก็หยิบกายกับใจของเรานี้ขึ้นมาวิปัสสนา วิปัสสนานั้นคือการค้นคว้าพระไตรปิฎก นี่การศึกษาพระไตรปิฎกจริงไง การศึกษาพระไตรปิฎกจนเข้าใจพระไตรปิฎกจากหลักความจริงจากภายในหัวใจ ในหัวใจนั้นจะศึกษาพระไตรปิฎกจากภายใน ภายในคือในไตรลักษณ์ ในอนัตตา

ความที่ว่า “เป็นอนัตตาๆ” นักปราชญ์ที่พูดกันข้างนอกนั้นเขาพูดกันด้วยลมปาก ถ้าพูดกันด้วยลมปากมีแต่การโต้เถียง เพราะความผูกมัดของใจยึดของตัวเองว่าของตัวถูก แต่การศึกษาของเราไม่ใช่ศึกษาตรงนั้น เราศึกษาเพื่อให้หัวใจนี้ฉลาด เพราะหัวใจนี้โง่เขลา หัวใจนี้ดื้อ หัวใจเชื่อในความเห็นของใจ เชื่อในความที่กิเลสพาเห็น กิเลสมันพาเห็นว่ากายต้องเป็นเรา นี่ความไม่รู้เกิดขึ้นพร้อมกับเป็นเรา เราเป็นเรา เราเกิดขึ้นมา สรรพสิ่งต้องเป็นเรา เพราะเราเกิดแล้วทุกอย่างต้องเป็นเรา กว้านเอาอารมณ์ทั้งหมดมาเป็นของเรา สมบัติประจำของโลกเขาทั้งหมดก็กว้านมาเป็นของเรา

มันเป็นของเราไปได้อย่างไร ตายไปเดี๋ยวนี้สิ ทุกอย่างต้องหลุดออกไปเป็นของคนอื่นหมดเลย คนตายแล้วศพนี้เขาเอาไปเผานะ เขาไม่เอาเก็บไว้บ้านหรอก นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อกายมันไม่ใช่เรา แต่ความเห็นนี้มันเห็นว่าเป็นเราๆ นี่มันค้านพระไตรปิฎก แล้วมันจะศึกษาพระไตรปิฎกจากไหน? ศึกษาพระไตรปิฎกจากอารมณ์โลก อารมณ์โลกมันก็ยึดมั่นถือมั่น กว้านเอาแต่ทุกข์เข้ามาใส่ตัว กว้านความหลงผิด พออะไรเกิดขึ้น ร่างกายก็ทุกข์ร้อนตามไป อะไรเจ็บปวดแสบร้อนหน่อยก็โอ้โลมปฏิโลมตามใจไปแล้วว่า “เดี๋ยวจะเป็นอย่างนั้น นั่งนานก็ไม่ได้นะ พรุ่งนี้เช้าเดี๋ยวขาจะง่อย ลุกไปไหนไม่ได้ จะไปไหนไม่ได้” นี่จะเป็นการทำให้เราเนิ่นช้าไปทั้งหมด ทำให้เราหลงใหล ไม่ยอมก้าวเดินไปกับความเป็นจริงที่ปัญญามันจะเกิดขึ้นจากภายใน ปัญญานี้คือภาวนามยปัญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ในป่า ตรัสรู้อันไหน? ตรัสรู้อันนี้ไง

อานาปานสติ เห็นไหม กำหนดใจลงสงบเข้าไปแล้ว สงบใจเข้าไปๆ เริ่มต้นบุพเพนิวาสานุสติญาณ นั่นน่ะอาการของใจ นี่ไม่ใช่ พอจุตูปปาตญาณ ลึกเข้าไป รู้ว่าสัตว์เกิด นี่อาการของใจ พออาสวักขยญาณเข้าไปแก้ไขกิเลส อาสวักขยญาณ การกำจัดอาสวะ ญาณเกิดขึ้นด้วยการค้นคว้าหลายครั้งหลายตอนเข้ามา เราค้นคว้าหลายครั้งหลายตอน จิตสงบแล้วยกกายขึ้น เพราะเห็นกายแล้ว จับกายตั้งขึ้น เพราะตู้พระไตรปิฎกเปิดแล้ว พอเปิดแล้ววิปัสสนา พยายามใคร่ครวญ วิปัสสนาๆ

การวิปัสสนาคือการตั้งกายไว้ ตั้งสิ่งที่เห็นนั้นไว้แล้วเพ่งดู ไม่ใช่ดูเฉยๆ นะ ดูโดยการแปรสภาพ ใช้ปัญญาว่ามันจะแปรสภาพอย่างไร ให้แปรสภาพให้เห็น การแปรสภาพให้เห็นมันจะเป็นไปเร็วมาก เพราะอะไร เพราะอาการของใจนี้เร็ว อารมณ์คิดมันจะรุนแรง มันจะรวดเร็ว เราจะคิดไปถึงไหนนี่เร็วมากเลย แล้วสงบนิ่ง ความที่สงบนิ่งอยู่ อาการของใจ การสืบต่อ มีพลังงานอยู่ตลอดเวลา จิตที่เป็นสมาธินี้จะมีพลังงานตลอดเวลา พลังงานของใจที่หมุนไป สมาธินี้หมุนในตัวมันเอง วนอยู่ในตัวมันเอง พลังงานนี้หมุนขึ้นมา เหมือนกับมอเตอร์ที่มันหมุนอยู่ พอเราไปเข้ากับอะไร มันเป็นพลังงานปฐมที่จะทำอะไรให้เกิดขึ้นก็ได้ พลังงานตัวนี้จะหมุนออกไปตลอด

จิตที่สงบนี้ไม่ใช่สงบซื่อบื้อนะ สงบนี้คือความที่มันมีพลังงานอยู่ในตัวของเขาเอง ปัญญามันก็จะเกิดขึ้น เพราะอะไร เพราะว่าความดำริ สิ่งนี้ดำริดูกาย ดูการแปรสภาพ ดูความแปรปรวน ดูความที่มันไม่จริงจัง พับ! ความเห็นนี้เห็นทันที เห็นเร็วมาก ความที่จิตเคลื่อนไปเร็วแล้วมันหยุดนิ่งอยู่ได้ พอใจนี้เกิดขึ้นมันก็จะเกิดขึ้นด้วยความเร็ว เราไม่เห็นหรือเราเห็นแล้วตามไม่ทัน ความตามไม่ทัน ต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญอย่างนี้ ใคร่ครวญเรื่องของใจที่มันพลิกมันแพลงอยู่ตลอดเวลา อาการของใจจะแปรสภาพอยู่ตลอดเวลา

ทีนี้จิตนี้ อาการที่แปรสภาพ เห็นภาพนั้น ภาพนั้นก็จะแปรสภาพอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เหมือนกับไฟ ไฟที่เราจุดขึ้นมาตลอด มันไม่ใช่จุดไฟดวงเก่า มันสืบต่อตลอดเวลา นี่ก็เหมือนกัน สืบต่อตลอดเวลา แล้วมันก็แปรสภาพด้วย การแปรสภาพนี้ พิจารณาของเราตลอด การพิจารณาใช้ปัญญาใคร่ครวญๆ

นี่ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก ศึกษาค้นคว้าของเราเอง ใจมันหลง ใจมันไม่รู้ ใจมันถึงยึด มันไม่รู้เพราะอะไร เพราะอวิชชามันครอบงำอยู่ ความไม่รู้ก็ยึดไปๆ ความยึดอันนั้น เป็นสิ่งที่เรากำลังต่อสู้กับความยึดอันนั้น ความยึดระหว่างกายกับใจที่ยึดเป็นเนื้อเดียวกัน ยึดกายนี้เป็นเรา ใจนี้ก็เป็นเรา ทุกสิ่งทุกอย่างมันยึดเป็นของมันทั้งหมด นี่เพราะความที่มันไม่เข้าใจ พอยึดขึ้นมาแล้วมันจริงไหม? มันไม่จริง สิ่งที่มันไม่จริง เพราะอะไร เพราะมันต้องแปรสภาพ อย่างเช่นคนตาย ศพนี้ยังต้องเอาไปเผา เขาไม่เก็บไว้ ใจนี้ก็เหมือนกัน ขณะที่อยู่กับเรา ถ้าเป็นเรา เราต้องสั่งเราได้ สั่งให้เราสมความปรารถนาของเรา เราปรารถนาอย่างใดต้องสั่งได้...มันสั่งไม่ได้หรอก

...ชราคร่ำคร่าไปโดยธรรมชาติ คำว่า “โดยธรรมชาติ” คือเขาต้องไปของเขาอยู่โดยธรรมชาติ...

...ใจที่ว่าเราเปิดตู้พระไตรปิฎกจากวัดจากวา เห็นไหม ก็บอกแล้วว่า “ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ใจไม่ใช่เรา สิ่งใดไม่ใช่เรา ก็เข้าใจ”...เข้าใจอันนี้เข้าใจด้วยการยืมมา ถ้าเราศึกษาพระไตรปิฎกจากตู้ในวัดในวานะ ในนั้นเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้จริงตามนี้ จริงตามนี้แล้วสอนไว้ตามนี้ แล้วเราก็ไปอ่านมาๆ เป็นของยืม เป็นของจำมา มันถึงแก้กิเลสไม่ได้ เพราะอะไร เพราะกิเลสมันอยู่ที่หัวใจ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “หน้าที่การแก้กิเลสนั้นเป็นหน้าที่ของพวกเธอต่างหากที่ต้องเป็นคนทำ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้แนะวิธีการในมรรคอริยสัจจังที่เราก้าวเดินขึ้นมาจนเห็นใจ เห็นกายนี้ เราต้องเป็นคนทำเองทั้งนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนชี้ทางไป เพราะอะไร เพราะมันอยู่ในร่างกายของเรา ในหัวใจของเรา ไม่มีใครสามารถชำระกิเลสให้คนอื่นได้ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ของใจเป็นโดยตนเอง ตนเท่านั้นเป็นปัจจัตตัง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนเท่านั้นเป็นผู้ที่ทำให้สะอาดหรือสกปรกในหน้าที่ของตน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สามารถทำให้ได้ แต่เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าสะอาดจริงหรือไม่สะอาดจริง เพราะพุทธวิสัย รู้ไปหมด ครอบงำหมดทุกอย่าง แต่เพราะสาวกะวิสัยนี้ไม่สามารถรู้ได้ แล้วเรายังไม่ถึงความเข้าใจตรงนี้ เราพยายามค้นคว้าของเรา ต้องพยายามค้นคว้าของเราเข้าไป นี่เป็นหน้าที่ของเรา เพราะมันอยู่ในหัวอกของเราอยู่ภายใน ใจนี้อยู่ลึกๆ ในหัวใจ

นิสัยยังเปลี่ยนแปลง ต้องใช้เวลานาน แล้วนี่มันเป็นสิ่งที่เป็นยิ่งกว่านิสัย เพราะมันอยู่ในเนื้อของจิต อยู่ในความหลง ในความไม่เข้าใจ มันถึงต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญบ่อยๆ ความใคร่ครวญตลอดเวลา ซ้ำๆ ไง อย่าทำด้วยความมักง่าย เราประพฤติปฏิบัตินี้แสนยากเลยกว่าใจจะสงบ แล้วพอเห็นขึ้นมา ด้วยความเห็นอันนี้เป็นเรื่องความทุกข์ความยาก แล้วพอทำขึ้นมา พอเห็นอาการของกายปั๊บ พอมันปล่อยวาง มีความเข้าใจว่าอันนั้นเป็นผลๆ มันน่าเสียดาย นี่กรรมฐานม้วนเสื่อ จะม้วนเสื่อด้วยวิธีการนี้

พอเห็นทีเดียว เราพยายามค้นคว้านะ อำนาจวาสนามี ใจสงบจริง แล้วเห็นกายจริงๆ พอเห็นกายจริงๆ ขึ้นมาก็ตื่นเต้น มันปล่อยวาง ใจมันปล่อยวาง อาการของใจนี้มหัศจรรย์นะ เรื่องของสมาธิ ความสงบของใจเท่านั้น ทำความสงบของใจ ทำได้ พอจิตสงบเข้ามาแล้วมันพออยู่พอกิน พออยู่พอกินหมายถึงมันมีความสุขจริงๆ สุขมาก สุขจนติดในสมาธินั้น คิดว่าสมาธินี้สุขแล้ว ว่าจิตนั้นสงบแล้ว น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา รอแต่ว่าปลามันจะเกิดมาเมื่อไหร่ น้ำขุ่นๆ พอน้ำใสแล้วจะเห็นปลา อันนี้ก็เหมือนกัน พอจิตเราสงบแล้ว เดี๋ยวปลามันจะให้เราเห็นเอง ก็พยายามจะรอเวลาอยู่...มันไม่ใช่ มันต้องถอดสลัก การถอดสลักตู้พระไตรปิฎกนั้นคือการค้นคว้า ยกขึ้นดูอาการของใจ ถึงจะเห็นอาการของกายอันนั้น แล้ววิปัสสนาไปๆ พอปล่อยก็เข้าใจว่าเป็นผลๆ

มันจะเป็นผลนี้มันต้องเป็นปัจจัตตัง จะรู้ว่าเกิดหรือตาย ตายแล้วสูญ ตายแล้วมี มันจะพิสูจน์กันตรงนี้ ตรงวิปัสสนาเข้ามานี้ เพราะใจนี้มันสกปรก ใจนี้ไม่เข้าใจ มันเป็นสิ่งที่กดถ่วงอยู่ แล้วพอเราพิจารณาไปๆ ใช้ปัญญาไป พอความเข้าใจจริงเกิดขึ้น มันจะปล่อยโดยสัจจะ เหมือนกับว่าเรากำงูพิษไว้อยู่ เราไม่รู้ เราก็กำไว้ พอเรารู้ว่าเป็นงูพิษ เราจะสลัดงูพิษนั้นทิ้งทันทีเลย เห็นไหม เวลาความเห็นว่าเข้าใจจริงจะขนาดนั้นนะ จะสลัดงูพิษออกไปเลย

นี่เหมือนกัน ถ้าความเข้าใจจริงเกิดขึ้น ปัญญาแทงทะลุแล้ว หัวใจจะปล่อยร่างกายทันที ไม่ใช่ปล่อยเพราะว่ามันปล่อยนะ แต่ปล่อยเพราะความเห็นโทษ ต้องมีความเห็นโทษว่าอันนี้เป็นความยึด อันนี้เป็นอวิชชา อันนี้เป็นความไม่รู้ อันนี้เป็นความโง่เขลา มันจะสลัดออก พับ! เลย พอสลัดออกไป กายนี้แยกออกไป กายนี้เป็นกาย จิตนี้เป็นจิต ความลุ่มหลงนั้นหลุดออกไป ความสุขเกิดขึ้นมหาศาล จิตนี้แยกออกมา พอจิตนี้แยกออกมา มันเห็นน่ะ สิ่งที่เป็นความลุ่มหลงของใจมีอยู่ ความยึดมั่นถือมั่นของใจมีอยู่ แล้วใจนี้สลัดออกไป สิ่งที่สลัดออกไปจากใจนั้น นั่นน่ะ มันสลัดออกไป ทำไมจะไม่เห็นว่าใจนี้ได้ประเสริฐขึ้นมา นี่ถึงว่ามันเป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตนขึ้นมา

นี่ใคร่ครวญพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกมีอะไร? มีธรรมกับวินัย สิ่งนี้เป็นธรรมเกิดขึ้น เป็นอกุปปธรรม สิ่งที่เป็นอกุปปธรรมคือจะไม่เสื่อมจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเข้าถึงเนื้อของพระไตรปิฎกเป็นชั้นๆ เข้าไป เห็นไหม พระไตรปิฎกมี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ความเห็นผิดของเรา ความเห็นผิดต่างๆ เป็นชั้นเป็นตอนลึกเข้าไปๆ เข้าไปในหัวใจของเรา เข้าไปเรื่อยๆ ความสะอาด เราต้องพยายามทำเข้าไป

สิ่งที่ว่าเราสลัดออกไป พอมันสลัด มันเห็นความสะอาดเข้ามาส่วนหนึ่ง ความสะอาดส่วนหนึ่งเป็นอกุปปธรรม ถึงธรรม ผู้ใดเห็นธรรมนี่เหยียบฝั่ง จะเข้าถึงที่สุดของธรรม พอถึงที่สุดของธรรม วิปัสสนาเข้าไปเรื่อย กายนอก กายใน กายในกาย กายนอกจากข้างนอกเลย พิจารณากายเพื่อความสงบ เพื่อให้จิตนี้ไม่เกาะเกี่ยวกับรูป รส กลิ่น เสียงภายนอก หดตัวเข้ามา หดตัวเข้ามาเพื่อให้ใจนี้เป็นเอกเทศ ตัวนี้ จิตนี้สงบเป็นพื้นฐาน สมถกรรมฐาน ถึงค้นคว้าเปิดตู้พระไตรปิฎก เปิดตู้พระไตรปิฎกเข้าไป เห็นกายเข้ามานะ นั่นวิปัสสนาเกิดขึ้น

ถ้าไม่มีสมถกรรมฐาน จะคิดเรื่องกายขนาดไหนก็เป็นกายนอก คิดเรื่องกายขนาดไหนก็เป็นกายของโลกเขา นี่ว่าจะเห็นกายๆ แม้แต่ใช้มีดนะ เห็นกายแล้วเราอยากจะรู้ นี่ถ้าคนปฏิบัติด้วยความหลงผิด อยากจะเอาตนเป็นใหญ่ ไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเชื่อตน ทำเพื่อตน เอามีดกรีดเนื้อเข้าไปสิ กรีดเรา คิดว่าเป็นปัญญาไง เอามีดกรีดเนื้อ กรีดเนื้อแล้วมันจะได้อะไรขึ้นมาล่ะ หนังก็ขาด เนื้อก็เป็นชั้น โดนมีดกรีดเข้าไป มีแต่เลือดออกมา เห็นอะไร ได้แต่ความเจ็บปวด กรีดจนถึงกระดูกก็เห็นแต่กระดูกเฉยๆ

ความเห็นภายนอก เลือดไหล มีแต่ความเจ็บปวด แต่ความเห็นกายภายในด้วยปัญญาไม่ใช่อย่างนั้น เห็นด้วยตาธรรม ตาของธรรมเห็นด้วยอาการของใจตั้งอยู่ อาการอย่างใดอย่างหนึ่งในหัวใจตั้งอยู่เป็นชิ้นเป็นอัน จะกะโหลกก็ได้ จะเป็นท่อนกระดูกท่อนไหนก็ได้ จะเป็นสิ่งใดก็ได้ นี่วิปัสสนาด้วยตาของธรรม ความเห็นความเข้าใจ แล้วความแปรสภาพของใจที่มันแปรสภาพ มันจะสลดสังเวช เพราะมันแปรสภาพ เหมือนกับของที่เราเห็นอยู่แล้วมันแปรสภาพ มันเน่าไปคามือน่ะ สิ่งที่มันเน่าคามือมันต้องปล่อยออกไป นี่ปัญญาเกิดขึ้น

เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาวกะผู้ได้ยินได้ฟัง เวไนยสัตว์ การประพฤติปฏิบัติบ่อยๆ เข้า ต้องถึงธรรมได้โดยความวิริยอุตสาหะของตัว ความวิริยอุตสาหะของตัวนั้นจะสบประมาทกันไม่ได้ ความเป็นคน คนสร้างขึ้นมา ถึงตรงที่ประพฤติปฏิบัติเข้ามาจนเห็นกายเป็นตามความจริง มันเป็นอจลศรัทธาขึ้นมาโดยสัจจะเลย เพราะจิตนี้สลัดกายทิ้งออกไป กายนี้เป็นกาย จิตนี้เป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ สักกายทิฏฐินี้แยกออกหมด พอแยกออกหมดมันก็เข้าใจธรรม พอเข้าใจธรรม สีลัพพตปรามาส ไม่ลูบคลำ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยอย่างอื่นไม่มี ความสงสัยเรื่องตายเรื่องเกิด จะเอาอะไรมาสงสัย มันเห็นๆ อยู่กับตาว่าจิตนี้ได้สลัดสิ่งนั้นออกไป ความที่สลัดออกไป ภพชาติมันสั้นเข้ามาโดยธรรมชาติ ตรงนี้เกิดอีกก็ ๗ ชาติ มันยังเกิดยังตายอยู่ แต่มันก็ยืนยันการเกิดการตายไง เห็นไหม การเกิดการตายสั้นเข้ามา

แต่เดิมการเกิดการตายนี้ไม่มีที่สิ้นสุด บุพเพนิวาสานุสติญาณ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสาวไปตลอด ไม่มีเงื่อนต้นและเงื่อนปลาย จิตนี้เกิดตายไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลาย เราเกิดมาอยู่นี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในพระไตรปิฎกเลยว่า คนคนหนึ่ง ถ้าเอาน้ำตาที่เราร้องไห้ตั้งแต่เกิดจนตายชาติหนึ่งๆ รวมไว้ น้ำทะเลนี้สู้ไม่ได้นะ สู้ไม่ได้หรอก นี่คนเกิดตายขนาดนั้น เราเกิดมานั่งอยู่บนกองกระดูก กองกระดูกของใคร? ของบุคคลคนนั้นเอง เพราะคนคนนั้นตายซ้ำตายซาก คนตายไป ร่างกายแปรสภาพไปหมด จากกระดูกนี้ จากเนื้อหนังมังสากลายเป็นดิน นี่เรานั่งอยู่บนอะไร? เรานั่งอยู่บนดิน เราก็นั่งอยู่บนกองกระดูกเดิมของเราอีกนั่นล่ะ เห็นไหม มันสลดสังเวชเข้ามาโดยธรรมนะ แต่ถ้าสลดสังเวชด้วยการศึกษาพระไตรปิฎกตามวัดตามวาที่เราไปศึกษานั้นสลดสังเวชขึ้นมาเพื่อเกิดศรัทธา

แต่ความสลดสังเวชอันนี้เป็นอจลศรัทธา ถึงว่า วิจิกิจฉาถึงได้ขาดออกไปจากใจ คนที่ไม่มีวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยที่เราลังเลสงสัยกันอยู่อย่างที่เราปุถุชนลังเลสงสัยกันอยู่นี้จะไม่มี จะไม่ลังเลสงสัยว่าตายแล้วจะเกิดอีกหรือไม่เกิด ไม่ต้องพูดกัน พอถึงตรงนี้แล้วไม่ต้องพูดกัน คนเห็นชัดๆ ยืนยันกับปัจจัตตัง กับดวงใจดวงนั้น ทำไมจะต้องให้ใครบอก นี่ปัจจัตตังเด็ดขาดขนาดนี้ เด็ดขาดเพราะไม่ต้องมีใครบอก ไม่ต้องมีใครประกันความเห็นกายอันนี้จริง เห็นจริงๆ ตัดออกจริงๆ ถึงว่า อกาลิโก ปัจจัตตังในหลักของศาสนานี้เป็นผลของผู้ปฏิบัติ นี่เยี่ยมที่สุด เป็นผู้ยืนยัน แก่นของศาสนาอยู่ตรงนี้ แล้วเราเข้าหาแก่นของศาสนา

จากเดิมเป็นคนที่ไม่สู้โลก เป็นคนที่หลบเลี่ยง เป็นคนไม่เอาใจใส่ ไม่เอาการงาน เป็นคนขี้เกียจ มักน้อย จะไปหาแต่ความสะดวกสบายของตน

การนั่งตั้งแต่เย็นจนรุ่งนี่เป็นคนขี้เกียจหรือ การภาวนาทุ่มทั้งชีวิต เนสัชชิก ไม่นอนทั้งคืน ทรมานตน นี่ผลมันจะเกิดขึ้นมันต้องเกิดขึ้นจากความวิริยอุตสาหะจริง เพราะอะไร เพราะกิเลสมันอยู่กับใจของเรา มันจะทำให้เราหลุดจากการต่อสู้เขา จะทำให้เราเป็นผู้แพ้ เพื่ออะไร? เพื่อเขาจะได้มีเรือนอยู่ตลอดไป ถ้าเราต่อสู้ทำลายกิเลสออกจากเรือนคือใจของเรา เรือนของใจคืออัตตาที่มีอยู่ เราต้องมีอัตตา ไอ้ที่เขาเถียงกัน เขาทะเลาะกัน อัตตา-อนัตตา นั่นเรื่องของเขา นั่นอารมณ์โลก แต่เราเห็นของเราเข้าไปเรื่อยๆ เห็นเรือนของใจ เห็นการสลัดออกของใจ เห็นใจของเราเข้ามาเรื่อยๆ การเข้าไปถึงใจแล้วหยิบฉวยธรรม เพราะเป็นคนมีปัญญา มีปัญญาจริงแล้วถึงเอาธรรมเข้ามาสัมผัสใจของเราได้ ความสัมผัสใจของเราได้นี่ประเสริฐ ผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐ ใจดวงนั้นประเสริฐเป็นชั้นๆ ขึ้นมา ถึงเป็นผู้ที่ยืนยันกับเรา ยืนยันกับใจดวงนั้น

พอใจดวงนั้นสลัดเข้ามา ต้องค้นคว้าเข้าไป ตู้พระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ นี่เข้าไปเรื่อยๆ ค้นคว้ากายนอก กายนอกเป็นกายนอก พิจารณากายในเข้าไป ต้องถอดสลักเข้าไปเป็นชั้นๆ เข้าไป ใจเป็นชั้นเข้าไป จะปล่อยวางสังโยชน์เป็นชั้นๆ เข้าไป สังโยชน์เครื่องร้อยรัดใจ ใจที่เป็นขี้ข้าอยู่นี้เพราะสังโยชน์รัดไว้ ถ้าเราละสังโยชน์ออกไปจนหมด สังโยชน์ ๑๐

ถ้าผู้ที่เห็นกายจริง ละสังโยชน์ได้ ๓ ตัว สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นผิด เห็นกายผิด เห็นกายเป็นเรา เราเป็นกาย เราว่าเราไม่เห็น อันนั้นเป็นสัญญา แต่ถ้าเป็นความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริง พอหลุดตามความเป็นจริง นี่สักกายทิฏฐิหลุด ละสังโยชน์ได้ ๓ ตัว แต่สังโยชน์เครื่องร้อยรัดภายใน ถ้ามีสังโยชน์ร้อยรัดอยู่ กิเลสรัดเราอยู่ เราไม่เป็นอิสระกับเราจริง เรายังไม่เป็นอิสระเต็มตัว

ความที่ไม่เป็นอิสระ เราเป็นหนี้ กิเลสต้องสับขอลงที่กลางหัวใจเรา ความสับขอ กิเลสสับขอมา ความสุขที่มีอย่างมากเป็นความสุขที่เป็นอกุปปธรรมที่มีโดยพื้นฐาน แต่กิเลสที่อยู่ที่สูงกว่า แล้วสับขอมาที่หัวใจ หัวใจนี้ก็ยังเกิดความทุกข์อยู่

๑. ความทุกข์เกิดขึ้น

๒. ผู้ที่ปฏิบัติมาถึงจุดแล้วก็อยากจะก้าวเดินไป

พอเริ่มปฏิบัติ ความทุกข์จากการประพฤติปฏิบัติเกิดขึ้นมาจากความเพียร ทุกข์อย่างนี้ทุกข์เพื่อจะชำระกิเลส ความทุกข์อย่างนี้เราต้องอาจหาญรื่นเริงเข้าไปเผชิญกับความทุกข์อย่างนี้ ความทุกข์ที่จะพ้นจากกิเลสนี้เป็นความทุกข์ที่มีวันที่สิ้นสุด ความทุกข์ที่หักตอนจนสิ้นสุดไม่สามารถสืบต่อได้ กับความทุกข์การเกิดการตายที่มันต้องเกิดต้องตายอยู่ ถึงจะ ๗ ชาติมันก็มีเกิดมีตายอยู่ ความเกิดตายอีก ๗ ชาติ ต้องเกิดอีก ๗ ชาติในครรภ์ มันมีความทุกข์ไหม? อันนั้นก็เป็นความทุกข์ ถ้ามีปัญญาเครื่องสอดส่อง มีปัญญาการใคร่ครวญ ปัญญาเกิดขึ้นจากฐานของจิตที่มีภูมิธรรมแล้ว ไม่ใช่ปัญญาจากประเพณีวัฒนธรรมที่หมุนออกไป เห็นไหม ปัญญาจริงๆ ที่เกิดจากแก่นของธรรมที่วิปัสสนาขึ้นมา จากแก่นภายใน แก่นของศาสนา ปัญญาอันนี้จะทำให้ใจนี้อาจหาญ ความที่ใจนี้อาจหาญ ใจนี้รื่นเริง

นี่จะทำความสงบเข้ามา ความสงบของใจ ใจมีพื้นฐานเป็นความว่าง อันนั้นเป็นความว่าง แต่ความสงบของใจต้องสร้างขึ้นมา เพราะมรรค ๔ ผล ๔ มรรคสามัคคี สัมปยุตเข้าไป วิปปยุตออกมา คลายออกมา มันใช้มรรคนั้นหมดไป ความที่ใช้หมดออกไป จากปัญญาญาณเป็นภาวนามยปัญญาชำระกิเลสออกมานั้น มันชำระหมุนเข้าไปรอบหนึ่งแล้วต่างอันต่างจริง ฟังสิ ฟังว่าต่างอันต่างจริง รวมลงแล้วต่างอันต่างจริง เห็นไหม กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ นี่ต่างอันต่างจริง ความจริงนั้นกลืนกินกับมรรคข้างต้นนี้ สามัคคีรวมกัน จนย่อยสลายเข้าไปชำระกิเลส มรรคนั้นได้ทำลายกิเลสออกไปแล้วชั้นหนึ่ง ฉะนั้น มรรคที่สูงขึ้นมานี้เราต้องสร้างขึ้น ถึงต้องทำความสงบอีก

ถ้าไม่ทำความสงบ กิเลสที่อยู่ที่สูงกว่าสับขอลงมาก็ทำให้ฟุ้งซ่าน ตรึกในธรรมนั้นก็ทำให้เราคิด ความคิดของเรานี้คิดในธรรม คิดออกไป กิเลสพาคิดเหมือนกัน เราพาคิดเหมือนกัน ความคิดของเรา ในเมื่ออวิชชาอยู่ที่หัวใจ ความคิดของเราต้องลองผิดลองถูก นี่สิ่งที่สูงขึ้นมา เราอยู่ในบ้าน เราจะเข้าใจพื้นฐานในบ้านเรา เราทำความสะอาดได้หมด พื้นฐาน ในโต๊ะ ในเตียง เราจะทำความสะอาดได้เพราะเราเป็นคนจัดคนถู แต่บนหลังคาของเรา เราจะไปเห็นได้อย่างไรว่าหลังคาของเราสกปรกหรือไม่สกปรกล่ะ เราจะทำความสะอาดข้างบน เราจะทำอย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน เราทำใจของเราให้สูงขึ้นไปๆ เราต้องทำความสงบขึ้นมาเพื่อจะปีนขึ้นไปบนหลังคา เพื่อจะไปทำความสะอาดบนหลังคานั้น นี่ก็เหมือนกัน เราสร้างใจของเราให้สูงขึ้นไปๆ ต้องทำความสงบขึ้นมา เห็นไหม ถึงมรรค ๔ ผล ๔ ต้องทำความสงบขึ้นมาให้สิ่งที่ใจทุกข์ ใจที่เป็นความฟุ้งซ่านของใจ ทำให้เราหมุนเวียนออกไปข้างนอก นี่ให้สงบเข้ามาๆ สงบเข้ามาแล้วต้องหมุนเข้ามา หมุนเข้ามาแล้วต้องถอดสลัก ถ้าไม่ถอดสลัก ไม่เข้าไปถึงอีกชั้น นี่ต้องถอดสลัก การถอดสลักคือการดูกาย พิจารณากาย ถ้าพิจารณาเข้าไปเรื่อยๆ ซ้ำอยู่เรื่อย แก่นของกิเลสนี้เป็นสิ่งที่เหนียวแน่น กิเลสนี้ยึดกายกับใจเอาไว้แน่นนักหนา การวิปัสสนาเข้าไปมันจะปล่อยวางเป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น เพราะว่ากิเลสทรงตัวไว้ไม่ได้ ไม่ใช่ปล่อยวางเพราะกิเลสไม่สู้นะ กิเลสนี้สู้ตลอด

เวลาเราหลงตัวเรา เราคิดถึงตัวเรา เราไม่คิดเลยว่ากิเลสมันอยู่ข้างหลังเรา หลงตัว หลงความคิด หลงอารมณ์ หลงความมั่นหมาย หลงทุกอย่าง เราไม่เคยเห็นสัจจะความจริง เราถึงยับยั้งความจริงของเราไว้ไม่ได้ นี่มันเป็นความจริงของอารมณ์โลก ไม่ใช่เป็นความจริงอริยสัจ เราต้องกลั่นความจริงออกมาจากอริยสัจ

ในอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นสัจจะความจริงโดยแน่นอน จะทุกข์อย่างหยาบ ทุกข์อย่างละเอียด ทุกข์อย่างละเอียดสุดในหัวใจนี้ก็เป็นความทุกข์ ถ้าเป็นความทุกข์อยู่ในใจนี้ยังจับต้องได้ ถ้าเราจับต้องได้ การจับทุกข์นั้นได้ นี่ความเห็นทุกข์ไง เห็นทุกข์ วิปัสสนาทุกข์

ทุกข์ สมุทัย นิโรธ...นิโรธคือการดับทุกข์ ดับทุกข์ด้วยมรรค ด้วยวิธีการ ด้วยเหตุ มรรคนี้จะหมุนเข้าไปๆ เพราะเราถอดสลัก นี่วิปัสสนาจะเกิด ถอดสลักหมุนเข้าไปๆ ปัญญานี้หมุนๆ คำว่า “หมุนๆ” ถ้าวิปัสสนาจะเห็นอย่างนั้นจริงๆ นะ เป็นการหมุนเข้าไปด้วยปัญญามันเกิด มันต่อสู้กับความเห็นผิดเห็นถูก เหมือนเก้าอี้ดนตรีกลางหัวใจ ถ้าความคิดฝ่ายกิเลส ความคิดของเขาเอง เขาก็สร้างปัญหาขึ้นมา จิตใต้สำนึกมันสร้างขึ้นมาเอง “ต้องเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ถูกต้องแล้ว นั่นเราทำแล้ว เห็นไหม นี่จิตสงบไปอย่างนั้น แล้วปล่อยวางอย่างนั้น” นี่เป็นอย่างนี้จริงๆ นะ อันนี้เป็นฝ่ายผูก ฝ่ายผูกคืออวิชชาพาคิด ความเห็นผิดในหัวใจจะพาคิดออกมาอย่างนั้น ถ้าเราเชื่อ เราเสียโอกาส แต่เชื่อหรือไม่เชื่อ มันก็เชื่อไปแล้ว พอเชื่อไปแล้ว อาการหมดไปอย่างหนึ่ง เราต้องตั้งขึ้นมาใหม่ หมายถึงว่า ปัญญามันใช้ไปแล้ว ความเชื่อมันเคลื่อนไป มันหมุนไป ความคิดของกิเลสหมุนออกมา มันก็เชื่อไป พอเชื่อไปมันก็ปล่อยวางหมด พอปล่อยวางหมดมันก็ว่าง...ว่าง แต่มันไม่มีเหตุผล ว่างไม่มีเหตุไม่มีผล

ถ้าปล่อยวางแบบสัจจะในอริยสัจ กลั่นออกมาจากอริยสัจ นิโรธในอริยสัจ มันปล่อยวาง มันต้องมีสิ่งที่เป็นอวิชชาหลุดออกไป สิ่งที่เป็นความสกปรกของใจ สิ่งที่เป็นลูกหลานของอวิชชาที่มันเกาะเกี่ยวระหว่างใจกับกิเลสนี้เป็นเนื้อเดียวกัน สังโยชน์ที่ผูกพัน สิ่งที่ผูกพันรัดต้อนไว้ เวลามันขาดออกมันต้องออกไป โซ่ตรวนเราตัด เรายังรู้ว่าโซ่ตรวนนี้หลุดออกจากขาเราลงไปที่พื้นดิน เสียงกระทบกันยังดังให้เราได้ยินได้ แล้วเวลากิเลสมันขาดออกไปจากเรา ทำไมเราจะไม่รู้ไม่เห็น

เห็นไหม มันไม่มีเหตุไม่มีผล สิ่งที่ไม่มีเหตุไม่มีผลนั้นคือกิเลสมันหลอก การหลอกนั้นทำให้เราเสียโอกาสไป เสียเวลาไป อย่างนี้มันเป็นพื้นฐาน เป็นพื้นฐานเพราะเราไม่เข้าใจ เป็นพื้นฐานของกิเลสที่มันมีโดยธรรมชาติ เห็นไหม ผู้ที่ผ่านแล้ว ผู้ที่รู้แล้วจะรู้เรื่องอย่างนี้ แต่ผู้ที่ไม่รู้ ผู้ที่ยังก้าวเดินอยู่ต้องโดนสิ่งนี้หลอกลวงไปตลอด

เรารักเรา ทำไมเราให้กิเลสหลอกเรา เราก็ประพฤติปฏิบัติอยู่ ทุกข์ยากขนาดไหนก็ทน ทุกข์ยากขนาดไหนก็สู้ สู้เพราะว่าอันนี้เป็นเหตุ เหตุเป็นทุกข์ ทุกข์เพื่อจะดับทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์เพื่อจะทุกข์ เราก็สร้างเข้าไปๆ แล้วก็ล้มลุกคลุกคลานออกมา นี่หมุนเข้าไปๆ วิปัสสนาเข้าไป หมุนเข้าไปๆ แพ้บ้าง ชนะบ้าง จนชนะ ขาดออก สิ่งที่ขาดออก เห็นไหม ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ

จากที่เดิมนี้สภาพของกายหลุดออกไป แต่ความติดในธาตุ เห็นไหม ธาตุของกาย ดิน น้ำ ลม ไฟ ร่างกายนี้ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นเรา เรามีดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วกรรม จิตปฏิสนธิคลุกเคล้ากันให้เราปฏิสนธิออกมาจากครรภ์ของมารดา ไข่ของครรภ์มารดา ไข่แค่ใบเดียว เห็นไหม กับจิตปฏิสนธิแทรกเข้าไปในไข่นั้น เกิดขึ้นมาในครรภ์ของมารดา แล้วสะสมดิน น้ำ ลม ไฟขึ้นมาในครรภ์ของมารดาเป็นตัวเป็นตน แล้วคลอดออกมาเป็นตัวเป็นตนออกมาอย่างนั้น นั้นเป็นดิน น้ำ ลม ไฟในโลกของเขา นี่ดิน น้ำ ลม ไฟที่เราศึกษากันมา นี่ดิน น้ำ ลม ไฟในพระไตรปิฎกที่วัดที่เราศึกษามา นี่สัญญาจำได้อย่างนั้น

แต่ความเห็นจริงภายในจากตู้พระไตรปิฎกของเรามันเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ มันแปรสภาพกลับคืนเป็นธาตุเดิมของเขา ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ แปรสภาพคืนออกไป จิตเห็นอย่างนั้น จิตสลัดออกเลย พอจิตสลัดออกมา นั่นล่ะ จิตกับกายนี้ถึงแยกกันโดยเอกเทศเลย จิตเป็นจิต กายเป็นกายโดยเอกเทศ เห็นไหม ปล่อยวางเข้ามา ความโล่งโถงเกิดขึ้นมาในใจดวงนั้น

สุขที่ว่าเขาติดสุขกัน สุขอย่างไรนั่นเรื่องของเขา สุขอันนี้เป็นเครื่องดำเนิน นี่สุข เห็นไหม ทุกข์เป็นอริยสัจ สุขเกิดขึ้นเพราะทุกข์ดับ ทุกข์นี้ได้ดับกลางหัวใจแล้วส่วนหนึ่ง ความสุขจากการภาวนาที่แสนทุกข์แสนยาก ลำบากลำบน ทุกข์ยากแสนเข็ญ นั้นเราทุกข์มาขนาดไหน ความทุกข์อันนั้นเราเอาชีวิตนี้เข้าแลกมาตลอด ในเมื่อมาเจอความสุข เราก็อยู่กับความสุขนั้นสิ อยู่กับความสุขไป ความสุขมันจะจางลงเป็นธรรมดา ความสุขจางไปๆ

เวิ้งว้างหมด นี่ในสมาธิธรรม ติดความว่าง จะเริ่มเข้าสมาธิอีกก็ยังติดในสมาธิ เพราะอะไร เพราะใจ ใจนี้เป็นอาการ เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม กายกับใจนี้แยกออกจากกันโดยธรรมชาติ ตรงนี้หาได้ยาก เงื่อนนี้หายากมาก การหาเงื่อนหาปม หาเพื่ออะไร? หาเพื่อถอดสลักเข้าไปไง นี่ถอดสลักจากกายแล้วจะถอดสลักของใจ ถอดสลักของใจเข้าไปอีกชั้นหนึ่งนะ นี่ต้องหาเงื่อนหาปม การหาเงื่อนหาปมเพื่อจะถอดสลักของใจ ต้องสร้างขึ้นมา มรรค ๔ ผล ๔ อีก ยืนยันในมรรค ๔ ผล ๔ กิเลสในหัวใจยังมีอยู่โดยดั้งเดิม

การสร้างกายขึ้นมา แล้วกิเลสในหัวใจนี้ยังเสียบปักมาตลอดเวลา เสียบปักมาแล้วยังสับใจดวงนั้นให้มีความทุกข์ แต่ไม่รู้ แปลก แปลกมากๆ เลย พอกายกับใจแยกออกจากกัน จิตแยกออกจากกันแล้ว ความว่างนี้เกิดขึ้น แล้วเราพยายามรักษาอาการของใจของเราอยู่นะ มันจะมีความสุขตลอด สุขหนึ่งคือเกิดขึ้นจากใจของเราว่าง สุขที่สองคือเราเคยดำเนินมา เราเคยสร้างใจของเราขึ้นมาจนเป็นความสุขได้ขนาดนี้ มันจะเข้าสู่ความว่างได้ง่าย คือทำสมาธิได้ง่าย รักษาใจให้เป็นสมาธิได้ง่าย

แล้วกิเลสมันก็เป็นกิเลสด้วย กิเลสมันบอกว่าให้เราติดอยู่ตรงนี้ ให้เราติดอยู่ในความว่าง อยู่ในสมาธินี้ จะมีที่อยู่อาศัย เขายังครองใจของเราได้อยู่ กิเลสยังครองใจของสัตว์โลกดวงนั้นอยู่ ฉะนั้น ให้เขาติดอยู่ตรงนั้น เขาจะได้เป็นเรือน เป็นที่อยู่ของเรา นี่อัตตาภายในยังไม่เห็นเลย ต้องจับอัตตา พยายามดูอัตตาของเราให้ได้ ถ้าจับอัตตาได้คือจับเงื่อนปมได้ จับเงื่อนปมแล้วสาวไปหาอนัตตา อัตตาและอนัตตานี้เป็นเครื่องดำเนินของใจเท่านั้น อัตตาและอนัตตาไว้ในพระไตรปิฎกนั้นให้เป็นเครื่องดำเนิน ถ้าเห็นอัตตา สาวเข้าไปจะเห็นอนัตตาโดยสัจจะ โดยอริยสัจจะ โดยความจริงที่เกิดขึ้นกลางหัวใจในการวิปัสสนา แต่ถ้าอัตตาและอนัตตาด้วยนักปราชญ์ เถียงกันอยู่ภายนอก ด้นเดาเกาหมัดอยู่อย่างนั้น จะไม่เห็นผลขึ้นมา

อันนั้นเป็นอันนั้น นี่ถึงว่า ถ้าเราศึกษาเข้ามา มันจะเห็นว่าพระไตรปิฎกนอกกับพระไตรปิฎกใน ตู้พระไตรปิฎกที่วัดกับตู้พระไตรปิฎกที่เคลื่อนที่ได้ ที่หายใจได้อยู่นี่ หายใจด้วย เข้าใจด้วย ความเข้าใจสิ่งนั้นจะไปขวางโลกได้อย่างไร สิ่งที่ไม่ขวางโลกมันก็จะมีความสุขอยู่อย่างนั้น นี่กิเลสมันหลอก หลอกให้ใจดวงนั้นอยู่ตรงนั้น พออยู่ตรงนั้นมันก็มีความสุข นี่อยู่ตรงนั้นเอง ถึงบอกว่า ความทุกข์ที่ละเอียดๆ ที่บอกว่าเป็นความทุกข์ ทำไมไม่เห็น

ถ้าเป็นพวกเรา เรานอนอยู่ ไฟมาเผามันต้องร้อน ต้องลุกหนีแล้ว ใครเอาไฟมาเผา เอาน้ำราด เราต้องลุกหนี เห็นไหม แต่จิตดวงนั้นไม่เห็น อยู่ตรงนั้นจะไม่เห็นทุกข์ตรงนี้ ถ้าใครเห็นทุกข์คือเห็นอัตตา ถ้าไม่เห็นทุกข์คือไม่เห็นอัตตา นี่การเห็นทุกข์ถึงเป็นการเปิดตู้พระไตรปิฎกซ้อนเข้าไปๆ การเปิดเงื่อนเปิดปม อันนี้เป็นการเป็นงาน เป็นอำนาจวาสนา พยายามของเราเข้าไป ถ้าจับตรงนี้ได้ พยายามจับได้ การจับได้นี่ไหวติง การเปิดสลัก การถอดสลักตู้พระไตรปิฎกจากข้างใน มันจะมีการขยับออก เราเปิดประตูตู้ เปิดฝาตู้ออกมา มันขยับออกมา นี่อาการที่ขยับออก เปิดเงื่อนเหมือนกัน เปิดเงื่อน จับเงื่อนจับปมของใจได้ นี่คืออาการของใจ อันนี้เป็นอาการของใจ

แต่ถ้าเทียบ เพราะใจนี้ก็อาศัยกายอยู่ ใจดวงนี้เป็นกายใน เป็นอสุภะ-อสุภัง สิ่งที่พิจารณาอสุภะ-อสุภัง ความสวยความงาม กามราคะที่เขาข้องเกี่ยวกัน เขาคิดว่าเขาข้องเกี่ยวกันจากภายนอก แต่มันเป็นความข้องเกี่ยวจากภายใน เห็นไหม กามราคะนี้ต่างหากจะชำระล้างการเกิดการตาย

จากเห็นชัดๆ ไง ความเกิดความตายที่เข้าใจมาจากข้างล่างนั้นเป็นความเกิดความตายเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา แต่ถ้าเข้าไปถึงความเกิดความตายตรงนี้ ถ้าการเกิดกามราคะมันก็ทำให้เกิดปฏิสนธิในวิญญาณ วิญญาณปฏิสนธิเกิดจากไข่ออกมาตรงนั้น ตรงนี้มันจะปฏิสนธิอีกไม่ได้ถ้าชำระกามออก ไข่ฟองนั้นต้องฝ่อไป เพราะจิตไม่มาปฏิสนธิในนั้นอีกแล้ว ถ้าจิตไม่ปฏิสนธิ ไข่นั้นก็ไม่มีเชื้อ ไข่ที่มันไม่มีเชื้อฟักออกมาเป็นตัวไม่ได้ จิตนี้ก็เหมือนกัน พิจารณากามจนตัดเชื้อของกามออกหมดแล้ว พอตัดเชื้อของกามออกหมดแล้วมันไม่ลงปฏิสนธิอีก มันจะเอาอะไรเป็นเชื้ออีก เห็นไหม

เชื้อคืออะไร? เชื้อคือกามราคะ กามราคะคืออะไร? กามราคะคืออวิชชา ความที่อวิชชาออกมาเป็นนางตัณหา นางอรดี นี่เป็นสิ่งที่รุนแรง การประพฤติปฏิบัติที่เราเห็นทุกข์ๆ ยากๆ เข้ามา ตรงนี้ต้องต่อสู้อย่างสุดความสามารถ เพราะมันทำลายภพชาติส่วนหนึ่ง ทำลายถึงกามราคะ เห็นไหม ถ้าตรงนี้ดับออกไป ทำลายตรงนี้ออกไปแล้ว จะไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีกเลย แต่ไปเกิดบนพรหม สิ่งที่จะไม่เกิดมันยืนยันขนาดนั้นนะ แล้วทำไมว่าตายแล้วไม่มี ตายแล้วสูญ

จิตดวงข้างนอกนั้นเรื่องของเขา แต่จิตดวงที่ประพฤติปฏิบัตินี้มันเชื่อเหตุเชื่อผล แล้วทำลายอสุภะ-อสุภัง ความสกปรกของความคิด ความสกปรกของใจ ใจนี้มันสกปรก มันคิดแอบอิงกันเอง มันมีการเสียดสี มีการเกิดขึ้น แล้วออกไปยุ่งกับข้างนอก นี่ย้อนกลับเข้ามาๆ จนใจนี้ชำระออกหมด กามราคะนี้ขาดนะ ต่อสู้แบบรุนแรง กามราคะขาดออกจากใจ พอขาดออกจากใจ ใจนี้เป็นอิสระจากกามราคะ กามภพ

วัฏวนนี้เป็นที่อยู่ของใจ จิตนี้มันเกิดในวัฏวน ในเมื่อกามภพตั้งแต่เทวดาลงมานี่เกิดแน่นอน ขนาดที่ว่าสลัดการเกิดเป็นเทวดา นี่สลัดออก ไม่เกิดอีก ความไม่เกิดอีก ความตัดทอนกัน จิตดวงนี้สลัด สะเทือนเลื่อนลั่นเลยนะ พอสะเทือนเลื่อนลั่นออกไปแล้ว นั่นล่ะคือตัวของอัตตาแท้ๆ โลกนี้ว่างหมดเลย แต่ใครเป็นคนเห็นความว่าง

สิ่งใดที่เกิดขึ้นต้องมีตัวรับรู้ ภวาสวะ ตัวอวิชชา ตัวมันจะรู้เอง สาวเข้าไปถึงตรงนั้น ทำลายตรงนั้นออกทั้งหมด เห็นไหม นั่นน่ะ ทำลายสิ่งนั้นจนเป็นสิ่งที่สะอาด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หัวใจนี้สะอาดบริสุทธิ์ในป่า เกิดในป่า ตรัสรู้ในป่า ปรินิพพานในป่า แล้วใจที่บริสุทธิ์นั้น คำสอนออกมาแบบตู้พระไตรปิฎกเป็นประเพณีวัฒนธรรม เราทำตามประเพณีวัฒนธรรมกันเพื่อจะสาวเข้ามาตรงนี้ ถ้าคนที่เชื่อเข้าไป รู้จริงทำจริง จะไปขวางเรื่องประเพณีวัฒนธรรมเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าเข้าถึงสัจจะความจริง

สิ่งที่เป็นความฟั่นเฝือในประเพณีวัฒนธรรมนั้นเป็นความฟั่นเฝือ แล้วทำให้พ้นจากเป้าหมายสิ่งนี้ เราเป็นนักปฏิบัติ เราเป็นคนที่พยายามฝืนขึ้นมาเพื่อจะเข้าหาหลักธรรม เราฝืนเข้ามาขนาดนั้นแล้ว เราฝืนจากสิ่งหยาบๆ เข้ามา เราต้องพยายามเล็งเป้าให้ตรง ดูสิ แสงเลเซอร์ที่ยิงออกไป ถ้ายิงผิดเป้า เร็วมาก แล้วเสียหายหมด ถ้าเล็งแสงเลเซอร์เข้าเป้าที่กลางหัวใจ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อยู่บนภวาสวะกลางหัวใจนั้น ถ้าเล็งเข้าไปได้ด้วยมรรคอริยสัจจังนี้หมุนตัวกลับเข้ามา ทวนกระแสกลับเข้าไปชำระล้าง ใจดวงนั้นสะอาดหมด นี่รู้พระไตรปิฎกโดยเนื้อหาสาระ ความเป็นจริงจากใจดวงนั้น กับพระไตรปิฎกนั้นเข้ากันเป็นเนื้อเดียวกัน จะไม่ขัดแย้งเลยว่าพระไตรปิฎกนั้นมีส่วนเกิน-ส่วนไม่เกิน เพราะอันนั้นเป็นวิธีการสั่งสอนมาเพื่อให้เขาเดินเข้ามา

ถนนหนทาง มันจะทำอย่างไรเพื่อให้คนที่มีอำนาจวาสนาเดินบนถนนที่เรียบ โปรยด้วยดอกกุหลาบ คนที่มีอำนาจวาสนาน้อยก็ให้เดินบนถนนที่เรียบธรรมดาก็ยังดี คนที่มีวาสนาต่ำลงอีก เดินมาบนขวากบนหนาม แต่ให้เดินไปให้ถึงเถิด นี่เหมือนกัน วิธีการ คำสอน ประเพณีวัฒนธรรมก็เหมือนกัน ละเอียดหยาบต่างกัน ที่หนึ่งไปไม่เหมือนกันๆ สิ่งนั้นจะเข้ามาเป็นเครื่องให้เราพาดจากกลางหัวใจ พาดจากการเข้าหาพระไตรปิฎกได้อย่างไร ถ้าเราเชื่อสิ่งนั้น เอาสิ่งนั้นเป็นบรรทัดฐาน เราจะเข้าถึงใจของเราไม่ได้

มันจะเข้าถึงด้วยความยากลำบาก เราจะติดตรงนั้น แล้วเราจะไม่ทิ้ง เหมือนกับเรามีตะกั่ว เราศึกษาพระไตรปิฎกมา เหมือนกับเรารู้มา ความรู้ความจำเหมือนตะกั่ว แต่ความรู้ความจริงเหมือนทองคำ เห็นไหม ยิ่งรู้เข้าไปถึง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา หลุดออกไป ยิ่งกว่าเพชร ยิ่งกว่าเครื่องนิลจินดาที่เยี่ยมที่สุด เพราะไม่มีคุณค่าเทียบราคาได้ คุณค่ามหาศาลจนโลกนี้ไม่มีการประเมินค่า เป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้เลย ใจดวงนั้นประเมินค่าไม่ได้ เหนือทุกอย่าง สูงสุด กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราก็กราบ ใจดวงนั้นเป็นแก้วสารพัดนึกจริง เห็นไหม

จากที่ว่าเรามีแก้วสารพัดนึก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ที่วัด เราพยายามกราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อจะให้ถึงแก้วสารพัดนึก

ไหนว่าแก้วสารพัดนึก ทำไมเรานึกถึงความสุข ไม่เห็นเจอความสุขเสียที พอปฏิบัติเข้าไป ความสุขจะเพิ่มขึ้นจากชั้นข้างในๆ ละเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ความสุขอย่างมหัศจรรย์ๆ ทั้งนั้นเลย พอมหัศจรรย์เข้าไป เพราะใจดวงนั้นเป็นแก้วเสียเอง พอใจดวงนั้นเป็นแก้วเสียเอง เห็นไหม แก้วสารพัดนึก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมอยู่ที่ใจ พอรวมอยู่ที่ใจก็เป็นแก้วดวงเดียวกันนั้น มันก็เปล่งประกาย ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ออกมาจากที่ไหนล่ะ

ฟังสิ แก้วในใจดวงนั้นเป็นแก้ว แล้วเรามีใจไหม ย้อนกลับมาถามเรา เรามีหัวใจไหม? มี แล้วไม่ใช่มีธรรมดาด้วยนะ มีแล้วยังใฝ่ดี ใฝ่ประพฤติปฏิบัติ ใฝ่เพื่อจะออกจากกิเลส ใฝ่เพื่อจะเข้าหาสัจจะความจริง

(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)