เทศน์บนศาลา

สัตว์โลก

๑๙ ก.ย. ๒๕๔๓

 

สัตว์โลก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ทำของเราไป แต่มันไม่เป็นไปจริงหรอก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเรียนกับลัทธิต่างๆ เรียนมาตลอด ธรรม หลักธรรมถึงว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมตามสัจจะตามความเป็นจริง ธรรมนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม เพราะพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ในกัปนี้ ๕ พระองค์ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ตรัสไว้ ๕,๐๐๐ ปี หมดจาก ๕,๐๐๐ ปีไปแล้วพระศรีอาริยเมตไตรยก็จะมาตรัสต่อไป นี่ธรรมมีอยู่โดยดั้งเดิม มีอยู่โดยธรรมชาติของเขา

นรก สวรรค์ มีอยู่โดยธรรมชาติของเขา พรหมโลก ทุกอย่างมี วัฏฏะนี้มี จิตนี้ถึงเวียนตายเวียนเกิดตามหลักธรรมอันนี้ไง จิตของเราเวียนตายเวียนเกิด ใจที่อยู่เป็นเรานี่แหละ เคยเกิดบนสวรรค์ เคยเกิดในนรก เคยเกิดทั้งหมด แต่เราไม่รู้ วัฏฏะนี้เหมือนกรงขังจิตของสัตว์โลก กรงขังของสัตว์โลกคือวัฏวน ในวัฏวนจิตนี้เคยเกิดเคยตายมาตลอด สัตวโลกมันข้องอยู่ในวัฏฏะ ใน ๓ โลกธาตุ ในกามภพ คือโลกไง ในกามภพเรา โลกนี้ เทวดา สวรรค์ นี่ในกามภพ ในอรูปภพ รูปภพ อรูปภพ ในพรหม จิตนี้เคยเกิดเคยตายมา มันถึงสร้างสมมา อันนั้นเป็นสัตว์ เป็นการข้องอยู่ของสัตว์โลก

แล้วเราเกิดมาเป็นมนุษย์เดี๋ยวนี้ นี่ก็คือโลกหนึ่ง โลกหนึ่งนี่ก็สัตว์ สัตว์โลก เราก็เป็นสัตว์ สัตว์โลกที่ข้องอยู่ ความข้องอยู่ อะไรพาเกิด? หลักธรรมบอกเลย กิเลสพาเกิด อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ในหัวใจพาเกิด แต่เราไม่เห็น เราไม่รู้ เพราะความไม่รู้ ความไม่รู้ถึงต้องเกิดไปเรื่อยๆ เราไม่รู้เรื่องของเรา แต่เรารู้เรื่องของสรรพสิ่งในสากล รู้ไปหมด ทางวิชาการเราจะรู้ทุกอย่างเลย นี่วิชาทางโลก เป็นวิชาชีพ ไม่ใช่วิชาแก้กิเลส

วิชาแก้กิเลสนะ คนจะโง่ คนจะโง่ทางโลกนะ จะโง่จะฉลาดขนาดไหน เรื่องนั้นมันเป็นเรื่องกิเลสพาใช้ แต่ถ้าเรื่องธรรมพาใช้ เห็นไหม มีกาย มีใจ มีความศรัทธา ความเชื่อ เกิดมาเป็นญาติ ญาติธรรมด้วยกัน การเกิดมามีปากมีท้อง คนเรามีปากมีท้องต้องแสวงหาเพื่อปากเพื่อท้อง

การแสวงหา การทำงานมา มันก็เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง การแสวงมาเพื่อปากเพื่อท้อง มีทุกคน คนเกิดมาแล้วมีปากและมีท้อง ความทุกข์อันนี้เป็นสัจจะ แต่เรามองกันเห็นเป็นเรื่องปกติไง เรามองเห็นเป็นเรื่องธรรมดาๆ มีปากมีท้องก็เรื่องธรรมดา เพราะเกิดเป็นมนุษย์แล้วมีปากมีท้องนี้ มันก็เป็นความทุกข์โดยธรรมดาของมัน เพราะเราเห็นว่าธรรมดา

คำว่า “ธรรมดา” นี้ต้องเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน พระขีณาสพเท่านั้นถึงจะบอกว่าเป็นธรรมดา เพราะได้ มนสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ ได้กำจัดความ...ดวงใจนั้นสิ้นจากความเกาะเกี่ยวมาแล้ว ถึงว่าเป็นธรรมดา เรานี่ไม่ธรรมดาหรอก เรานี้เป็นความทุกข์ ความแสวงหานี้เป็นความทุกข์เพราะอะไร เพราะว่า ชาติปิ ทุกฺขา ชาติความเกิดนี้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง คนที่จะไม่ทุกข์คือคนที่จะไม่เกิดอีกเท่านั้น ที่ไม่เกิดก็ต้องมาชำระกันที่หัวใจนี้

ทีนี้การเกิดมาแล้ว เกิดมาแล้วมันมีความทุกข์ประจำธาตุขันธ์มา เห็นไหม ทุกข์ประจำธาตุขันธ์ หมายถึงธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ประจำตัวเรามาตลอด มันมีอยู่โดยดั้งเดิม แต่เรามองข้ามกันไป แล้วเราไปมองข้างนอก ไปมองการประกอบอาชีพนั้นเป็นทุกข์ ทุกข์จรมานี้เป็นทุกข์เล็กๆ น้อยๆ ความที่เป็นทุกข์เล็กๆ น้อยๆ แต่เรามองข้ามความทุกข์เป็นอันใหญ่ ความทุกข์อันใหญ่นี้ก็เลยปิดไว้ ไม่เห็น ให้เห็นแต่ความทุกข์เล็กๆ น้อยๆ นั้นเป็นสัจจะ เป็นความบีบคั้นหัวใจ

การเกิดมา เราไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ เอาแค่อยู่ในครรภ์ของมารดา ๙ เดือนนี้ก็ทุกข์พอสมควรแล้ว แต่เวลาเรามองว่าเป็นธรรมดา เป็นธรรมดา เห็นไหม อันนี้เป็นโลกมอง เป็นหลักวิชาชีพมองว่าเป็นธรรมดา เพราะว่าสิ่งนี้ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ มันเป็นธรรมดาของการเป็นภพมนุษย์ การเกิดมันเป็นธรรมดา มันถ้าไม่มีธรรมดา จะทำให้เราฉุกคิด ถ้าเราฉุกคิด เหมือนกับเรานี่นะ เราตั้งปัญหาถามตัวเองไง เราจะมีโอกาสแก้ไขเรื่องของเรา

สิ่งนั้นก็เป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็เป็นธรรมดา เรามองข้ามหมดเลย เรามองข้ามธรรมะหมดเลย เราไปเห็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องความใหญ่โต เป็นเรื่องของโลก เรื่องของสิ่งที่เป็นอาศัย ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย ปัจจัย ๔ ในโลกนี้หามาเพื่ออาศัย เราอาศัยเขาเท่านั้น แล้วถึงเวลาแล้ว เราไม่พลัดพรากจากเขา เขาก็ต้องพลัดพรากจากเรา

ชีวิตนี้มีความตายเป็นที่สุด ชีวิตนี้มีความตายเป็นที่สุด เราต้องพลัดพรากจากเขา สมบัติในโลกนี้ ก็ไว้เป็นผลัดกันชมอยู่ในโลกนี้ เราพลัดพรากต้องไปจากเขา หรือเราใช้จ่ายเขาไป มันเป็นใช้จ่ายเข้าไปเป็นประโยชน์นะ ถ้าใช้จ่ายเป็นประโยชน์ในการบำรุงร่างกาย ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย แล้วสิ่งที่ว่าเราไม่ได้ใช้จ่ายล่ะ เราเก็บไว้ เราเก็บไว้เป็นความทุกข์ของเรา ความทุกข์นะ ความเก็บรักษานี้ก็เป็นความทุกข์อันหนึ่ง เรามองข้ามไป มองข้ามว่ามันเป็นความสุขไง เราเก็บแก้วแหวน เงินทอง โอ้โฮ! นี่เป็นความสุขมาก แต่กลัวนะ กลัวหาย กลัวนี่มันเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง แต่เพราะความพอใจ ตัณหาความทะยานอยากหามาๆ อันนี้มันก็เป็นความทุกข์อันหนึ่ง

ถ้ามองสิ่งนี้เป็นความทุกข์ มันจะย่นเข้ามา ย่นเข้ามา หมายถึงว่า ทุกวงรอบนอก การแก้ไขวงรอบนอก กับวงในไง รอบนอกคือหมู่สัตว์ข้างนอก กับเรา เรานี่ ถ้าแก้เรา เรามาแก้เรา ธรรมะสอนที่เรานะ สอนมาแก้ที่บุคคล ทุกคนต้องมาแก้ที่เราหมด แก้ที่เขาไม่ได้หรอก การแก้ที่เขา มันเป็นการเกาะเกี่ยวการกระทำของเรา

การประกอบอาชีพนะ เราหาอยู่หากิน ทำงานในบริษัท ยังมีการบีบบี้สีไฟกัน มีการทำลายรังแกกัน มีไปหมดน่ะ ทุกวงงานต้องมี คนเกิดมาจากกิเลส แล้วเวลาเขาทำมา เขาทำ เขามีความชนะไง เขาทำเรา แกล้งเราได้ เขาว่าเขาแกล้งเราได้ เขาชนะ...เขาแพ้นะ เขาแพ้ความโลภ ความโกรธ ความหลงในหัวใจของเขา เขาหลงใหลได้ปลื้มว่าเขาชนะแล้วเขามีความสุขไง นั้นคือการก่อเวรก่อกรรม

การก่อเวรก่อกรรม ในหลักของศาสนาเราไม่ให้ก่อเวรก่อกรรม กรรม ให้อภัยกัน กรรม เราจะแก้กรรมได้ด้วยการให้อภัย ด้วยการยกให้เขาไป แล้วเราจะมีความสุขของเรา มีความสุข เห็นไหม ทางโลกว่าเป็นผู้แพ้ เป็นผู้แพ้กับเรื่องของความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่เป็นผู้ชนะ ชนะตนเอง ชนะโดยไม่ก่อกรรมทำเข็ญ ไม่ก่อสิ่งสืบต่อไป ไม่ก่อความผูกโกรธในหัวใจ

โลกเขาเป็นแบบนั้น ถ้าเราจะเอาเรื่องของโลก เราจะพยายามเอาเรื่องของโลกมาเป็นเรา เราจะเอาเรื่องนั้นเป็นเรา แล้วเราจะไปติดตรงนั้น มันจะให้เราได้คิด ให้เราได้คิด มองไป มันเหมือนกับศาสนานี้สอนในการไม่สู้คน สอนในการหลบ สู้คน ชนะอื่นหมื่นแสนก่อเวรก่อกรรม ชนะตนเอง สังคมเกิดจากหน่วยหนึ่งคือมนุษย์ เป็นคนๆ ไป ถ้าสังคมนั้น ทุกคนปรารถนาให้สังคมนั้นเป็นสังคมที่ดี แต่ลืมมองตัวเราเอง ถ้าตนคนนั้นดี ทุกคนเป็นคนดี สังคมนั้นดีโดยธรรมชาติเลย

พระพุทธเจ้าสอนที่ต้นเหตุ ต้นเหตุคือหัวใจของการที่เกาะเกี่ยวในสัตว์โลก สัตว์ของโลกที่เกาะเกี่ยว เราเกาะเกี่ยว เราปีนเกลียวไง เราปีนเกลียวกับสัจจะความจริง เราปีนเกลียวกับมัน เราไม่ลงพอดี ถ้าเราลงพอดี ความคิดกับเราไปด้วยกัน ความคิดจะฉุดกระชากเราไปตลอด ฉุดกระชากเรา ความคิดฉุดกระชากเราไป แล้วเราก็ฟุ้งซ่าน เราก็ทุกข์ของเรา นี่มันเริ่มปีนเกลียวแล้ว

ข้องอยู่ สัตว์โลกข้องอยู่ ข้องกับกิเลสของตัวเอง ถ้าเราแก้ไขตรงนั้นแล้ว เรื่องสิ่งที่ว่าการกระทบกระทั่งกันภายนอกนี้มันเป็นธรรมดา ลิ้นกับฟันยังก็ต้องกระทบกัน เกิดมาเป็นมนุษย์ โลกธรรม ๘ สรรเสริญ นินทา มีโดยธรรมชาติของมัน ถ้าเขานินทา เขาสรรเสริญเรา อันนั้นมันเป็นสิ่งที่ว่า มันจริงหรือไม่จริง ถ้ามันเป็นความจริง เราก็พอใจว่า เราทำดีแล้วได้ดี ถ้าเราทำดีแล้วเขาสรรเสริญนะ ถ้าเราทำความไม่มีแล้วปกปิดไว้ขนาดไหน แต่เขาเห็นของเรา เขาว่าเรา เขาก็มีสิทธิ เรื่องของเขา

เห็นไหม โลกธรรม ๘ มีอยู่โดยดั้งเดิม มีอยู่แต่ไหนแต่ไรมา เหมือนธรรมมีอยู่ ของเก่าแก่ประจำโลก แต่เราไปเจ็บแปลบแสบร้อนกับสิ่งนั้น เราไปเจ็บแปลบสิ่งนั้น เพราะอะไร เพราะปีนเกลียว เราปีนเกลียวกับหลักความจริงตลอด หลักความจริงตลอด เราถึงไม่เข้าหาความจริงของเราได้ เพราะเราเข้ากับเรื่องโลก มันเป็นโลกๆ ทั้งนั้น ธรรมจึงย้อนกลับมาที่เรา ย้อนกลับมาที่เรา

สัตว์โลกข้อง ข้องอยู่กับเรื่องของร่างกายก็ข้องอยู่ เรื่องของหัวใจก็ข้องอยู่ มันข้องไปหมด สัตว์นี้ สัตว์โลก สัตว์ข้องอยู่ มันปีนเกลียว ความปีนเกลียวทำให้มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น เรื่องของวิชาชีพ เรื่องของเรา เราวางไว้ เกิดมาทุกข์เหมือนกันหมด ทุกข์ประจำธาตุขันธ์มีโดยธรรมชาติ เราต้องหาอยู่หากินไปอยู่แล้ว อันนั้นเราก็เอาไว้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

แต่ส่วนที่ว่าเป็นเรา งานของเรา งานของเราคืองานการที่ว่า เราทำกัน เราพยายามทำความเพียร เราพยายามสละออกมา สละออกจากโลกมาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ในวงสังคมของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติก็มี มีการ มีการว่า สิ่งใดถูกสิ่งใดผิด มีการกระทบกระทั่ง ความกระทบกระทั่งมันมีอยู่แล้ว แม้แต่ออกมาเป็นพระ บวชเป็นพระแล้วก็ว่าการประพฤติปฏิบัตินี้ต้องหาที่สัปปายะ ๔ สถานที่สัปปายะ อาหารสัปปายะ หมู่คณะสัปปายะ

ฟังว่า คำว่า “หมู่คณะสัปปายะ” สิ หมู่คณะสัปปายะ ความเห็นตรงกัน ทิฏฐิความเห็นเสมอกัน อยู่กันเป็นสุขมาก ทิฏฐิความเห็นไม่ตรงกัน ความเห็นต่างกัน ถ้าความเห็นมันต่างกัน เราต้องมองตรงนั้นแล้ว หมู่คณะ มันทำให้กระเพื่อม ความกระเพื่อมมันก็ทำให้หมุนเวียนออกไป ผู้ปฏิบัติก็เหมือนกัน ความเป็นไป เราต้องย้อนกลับมาที่ตรงนี้ ถ้ามันกระเพื่อมขึ้นมา เราต้องย้อนกลับมาดูที่ตรงที่กระเพื่อม เราไม่ใช่ตามดูมันกระเพื่อมเพราะเหตุไร มันกระเพื่อมไง เวลามันกระเพื่อม ความคิดฟุ้งซ่านขึ้นไป มันคิดฟุ้งซ่านไปแล้ว

ความคิดนั้นเป็นความคิดด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ โทสะเกิดขึ้นกับสิ่งนั้น ถ้าเราคิดไปสิ่งนั้น เราจะไม่เห็นเหตุผลตามความเป็นจริง เราต้องย้อนกลับมา ย้อนกลับมาว่า สิ่งนี้เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากอะไร เขาว่ามาแต่ไหน เขาว่ามาตั้งแต่เมื่อไหร่ นั่นคือเสียงเขาว่าจะเป็นปัจจุบันนั้นก็มาจากข้างนอก มากระทบหูเดี๋ยวนี้เอง จริงหรือไม่จริงนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่อารมณ์เราเกิดขึ้นแล้ว ต้องให้อารมณ์เราย้อนกลับมา

ถ้าย้อนกลับมาที่อารมณ์ของตัว จับที่อารมณ์ของตัวให้ได้ก่อน ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด แล้วย้อนกลับมา ถ้าอยู่ที่อารมณ์ของตัวแล้ว หมู่คณะสัปปายะมันจะเป็นตรงนี้ เหตุผลแล้วเราค่อยมาคุยกันทีหลังไง ความผิดข้อง ความผิดพลาดมีกันทุกคน ทุกคนต้องมีความผิดพลาด ความผิดพลาดนี้มันหมายถึงว่า เพราะสิ่งนี้หนึ่ง เผลอสติก็ได้ ความไม่รู้ก็ได้

แล้วความเห็นว่า ความเห็นต่างกัน ก็ทำไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ควรคุยกันได้ ควรจะคุยกัน นั่นคือว่า เหตุผลที่เราออกมาพูดที่ข้างนอก พูดต่อเมื่อสติเรากลับมาสมบูรณ์ ไม่พูดด้วยอารมณ์ ถ้าพูดด้วยอารมณ์ไป อารมณ์ของเรา ขวานไง เกิดมาขวานมีคนละเล่ม พกมาติดตัว ปากนี่คือขวาน เที่ยวถากเขาทั่วไป คนโน้นถากที คนนี้ถากที ถากจนถึงกระดูกเชียวเหรอ คนที่มีอย่างนั้นก็มี ขวานที่เราเอาไปถากเขา ทำไมไม่ถากเราล่ะ ถากเราสิ สิ่งที่เกิดขึ้นเราดูกลับมาสิว่า มันเกิดขึ้นเพราะเหตุไร มันเกิดขึ้นเพราะเหตุไร นี่จับ จับอารมณ์ความเกิดขึ้นย้อนกลับเข้าไปได้ จับอารมณ์เกิดขึ้น เราไม่จับอารมณ์ตัวนี้กัน เราถึงความสงบไม่ได้

ความข้อง สัตวโลกข้องในเรื่องของโลก ข้อง ข้องไปทั้งหมดเลย อันนั้นมันข้องข้างนอก แล้วข้องข้างใน ความข้องของใจ มันออกมาตลอด แล้วมันคิดออกมาตลอด มันปีนเกลียวกันแล้วมันถึงออกมาเป็นอารมณ์ เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นความกระทบกระทั่งกัน เพราะมันปีนเกลียวแล้วมันไม่ลงพอดี ถ้าลงพอดีนี้ จิตโดยธรรมชาติ ขันธ์นี้สักแต่ว่าขันธ์ ขันธ์คือความอารมณ์ความคิดเราไง ขันธ์คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

รูปคืออารมณ์ความคิดสำเร็จรูป นี่เป็นรูปอันหนึ่ง เป็นความคิดอันหนึ่ง เวทนา เวทนาคือว่า ความคิดผิด คิดถูก คิดอารมณ์โกรธ นี่เวทนา สัญญา มันต้องมีความจำ ความเกิดขึ้นขึ้นมา สัญญามันต้องมีข้อมูลเดิมของมัน สังขารมันปรุงมันแต่ง มันปรุงมันแต่งไปวิญญาณรับรู้ อารมณ์จะเกิดขึ้น เราย้อนกลับเข้ามาตรงนี้ให้ได้ จับความกระเพื่อมออกไป แล้วย้อนกลับเข้าไป

ต้องต่อสู้นะ การต่อสู้ การจะต่อสู้ อย่างนักกีฬาเขา นักมวยจะมีแชมป์โลกขึ้นมา กว่าจะมีแชมป์โลกแต่ละคนขึ้นมานะ เขาต้องสร้างสรรค์กันมานะ ต้องปั้นขึ้นมาขนาดไหน เราก็เหมือนกัน เราอยากจะเป็นคุณงามความดี เราอยากเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติที่จะเอาชนะตนได้ มันก็เป็นอย่างนี้ทุกคน

ครูบาอาจารย์ เห็นไหม ฟังสิ เวลาท่านเทศน์ ครูบาอาจารย์นะ บอกว่า เวลากิเลสมันเกิดนะ เราก็อยากจะต่อสู้กับกิเลส เราอยากจะทำความสงบ ตั้งใจเต็มที่ แล้วพอตั้งใจเต็มที่ขนาดไหนก็แล้วแต่ กิเลสมันต่อกรเอาล้มทั้งหงาย ล้มทั้งหงาย แล้วน้ำตาร่วง ทั้งๆ ที่ว่า เราต่อสู้อยู่นะ น้ำตาร่วงหมายถึงว่า เราสู้ไม่ไหว สู้เสือด้วยมือเปล่าไง

กิเลสมีอำนาจเหนือที่สุดนะ กิเลสนี้ปกครองหัวใจของเรามาตลอด กิเลสพาเราเกิดมา จิตนี้ตายเกิด ตายเกิดมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ จิตเวียนตาย เวียนเกิด จริตนิสัยก็ซับซ้อนมาในหัวใจ แล้วมันพาเวียนตายเวียนเกิดในกรงขังของวัฏฏะนี้ วัฏฏะนี้ขังจิตนี้อยู่ในวัฏฏะวนอยู่ตลอดเวลา แล้วตายเกิด ตายเกิดมาตลอดเวลา ตายเกิด ตายเกิด อำนาจของอวิชชามันมีรุนแรงมาตลอด มันคุมมาตลอดไง แล้วเรามือเปล่าๆ ไปสู้กับเสือ เสือตะปบเอาตายหมด

เวลาพรานเขาเข้าป่า เขามีปืน มีอาวุธเข้าไปล่าสัตว์ แล้วพระเรา เวลาเข้าป่า เวลาออกธุดงค์ ไปมือเปล่าๆ นะ ไปอยู่กับสัตว์ ความกลัวจะเกิดขึ้นขนาดไหนก็กลัว แต่เวลาเจอเสือ...เจอ ครูบาอาจารย์นี้เคยเจอเสือ เข้าป่านี้เจอเสือต่อหน้า มือเปล่าๆ เวลาเจอเสือขึ้นมานี่กลัว กลัวมากๆ ความกลัวนี้กลัวสุดๆ แต่ก็ต้องอุทิศชีวิตนี้แล้ว อุทิศชีวิตนี้เพราะอะไร เพราะว่าเราเข้ามาอยู่ในป่า ขณะนี้เจอเสืออยู่ซึ่งๆ หน้า แล้วจะหนีไปไหน เพราะในเมื่อมันเป็นกลางคืน กลางคืนเราจะหนีเสือไปไหน มันก็ต้องพยายามทำใจให้สงบ

พยายามทำใจให้สงบ กำหนดหาที่พึ่ง พุทโธๆๆ นะ คนเราถ้าจนตรอกแล้วมันจะหาที่เกาะ ถ้าคิดถึงเสือมันจะฟุ้งซ่านมาก จะวิ่งออกไปข้างนอก แล้วมันจะกลัวจนสุด กลัวมาก ขนพองสยองเกล้าไปทั้งตัว เวลาเจอเสือในป่า เจอกันตัวต่อตัว...เจอ ครูบาอาจารย์เจอ แล้วมันมีจริง อย่างนี้มีจริง สู้เสือด้วยมือเปล่า อย่างนั้นครูบาอาจารย์ก็เจอมาแล้ว

แต่ความคิดของเรา ความคิดที่เกิดขึ้นมาในหัวใจของเรา นี่เสือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เสือ แล้วมันตะครุบกินอารมณ์ ตะครุบกินความคิด ตะครุบกินเราทั้งหมดไง ความคิดเราเกิดขึ้นมาแล้ว มันฉุดกระชากให้เราทำ เราจะทำสิ่งใดก็ได้ถ้าเราไม่มีสติยับยั้ง มันโกรธ อารมณ์มันโกรธ ผูกโกรธ มันจะทำอะไรก็ได้ มันจะวางแผนอย่างไรก็ได้

กิเลสนี้มันถึงน่ากลัวมาก แล้วมันเป็นสิ่งที่ปกครองอยู่ มันเหมือนแชมป์โลก มันเป็นเจ้าวัฏจักร มันปกคลุมหัวใจของเราอยู่ แล้วเรามือเปล่าๆ เข้าไป มันตะครุบ มันตะปบ เราล้มลุกคลุกคลาน แล้วเราก็น้อยเนื้อต่ำใจ ทำไมเราไม่มีโอกาส ไม่มีโอกาส...มีโอกาส เราต้องทำได้ ถ้าเรามีความตั้งใจจงใจ กดอยู่ตรงนั้น อารมณ์ใด สิ่งใดสิ่งหนึ่งกดอยู่ตรงนั้น กดอยู่ตรงนั้นนะ ๓ วัน ๔ วัน คิดอยู่แต่เรื่องนั้นเรื่องเดียว เราต้องชนะ คิดอยู่ตรงนั้นน่ะ

มันเป็นไปได้ เพราะผู้ปฏิบัติเคยปฏิบัติมาอย่างนั้น มันเป็นไปได้จริงๆ ติดข้องอยู่สิ่งใดนะ วิตกวิจารณ์กับสิ่งนั้น ๓ วัน ๔ วันอยู่อย่างนั้น จนกว่าจะชนะได้ ชนะมันตกไง ถ้าเราชนะ หมายถึงความคิดนี้มันตกไป เฮ้อ! ปล่อยวางหมดเลยนะ อารมณ์นี้เป็นอารมณ์ แต่มันยึดมั่นมาก พวกเรานี้ยึดมั่นมาก เพราะอะไร เพราะมันเป็นเราไง เราคิด เราต้องถูกต้อง เราต้องคิดถูกต้องเพราะเป็นเรา เราจะรักตัวเราเอง เราทำอะไร เราคิดของเราถูกออกไป แล้วมันคิดขึ้นมาแล้วมันให้โทษกับตัวเอง ให้โทษกับตัวเองเพราะว่ามันฟุ้งไปเต็มที่เลย

เราจุดไฟ ไฟไหม้ฟาง จุดฟาง ฟางนี้จะลุกวูบวาบไปหมดเลย ความคิดที่มันรุนแรงขึ้นมาในใจของเรานะ มันเป็นอย่างนั้น มันอยู่ที่จริตนิสัยของคน เราสร้างมา จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน วิตกจริต โทสจริต ถ้าโทสจริต เวลาคิดขึ้นมา มันไปเต็มๆ เลย ออกไปเต็มๆ นี่เสือตะครุบ มันกินเราไปแล้ว เราไม่รู้สึกตัวเลยนะ เราวิ่งไปตามเขาเลยน่ะ เราออกไปแล้ว ออกไปข้างนอก แล้วเราก็ทุกข์ เอาความทุกข์นั้นมาเผาตัวเรานะ เอาความทุกข์มาเผาตัวเราเอง แล้วเราก็เชื่อเรา เราคิดไปประสาเรา

การต่อสู้กิเลส นี้คือธรรมนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ตรงนี้ งานของเราอยู่ที่ตรงนี้ พยายามทำความสงบของเราเข้ามาให้ได้ ถ้าเราชนะ เรายับยั้งเราได้ ยับยั้งเราได้ เราเริ่มยับยั้งเราได้ ความคิดมันจะหยุดตัวลง หยุดตัวลง นี้คือปัญญาอบรมสมาธิ สมาธินี้ใช้ความคิดเข้าไปต่อกรเข้าไป ต่อกรเข้าไป ความคิดมันจะปล่อยวางออกไปเรื่อยๆ ปล่อยออกไปเรื่อยๆ ใหม่ๆ นี้จะรุนแรงมาก รุนแรงสุดๆ เพราะว่าอะไร เพราะว่าเหมือนเด็ก เด็กเราปล่อยมันเล่น เด็กปล่อยเล่นขนาดไหนมันจะพอใจ มันจะกลิ้งไปไหน มันพอใจ จับเด็กนั้นมานั่งอยู่เฉยๆ สิ เด็กเล็กๆ ทารก จับให้นั่งเฉยๆ ไม่ได้ มันไม่ยอมหรอก มันร้องตายเลย

จิตนี้ก็เหมือนกัน มันเหมือนลิง มันเหมือนช้างสารตกมัน ช้างสารที่ตกมันมันมีอำนาจขนาดไหน มันจะฉุดกระชากเราไปได้หมด นี่ช้างสารที่ตกมัน มันจะไป เป็นไป เอาไว้ไม่อยู่ จิตนี้เปรียบเหมือนช้างสารที่ตกมัน ไม่มีใครสามารถเอาตะขอยับยั้งมันได้เลย เราทำความสงบมันถึงไม่สงบ พอไม่สงบแล้วมันก็ฉุดกระชากไปพร้อมกับความทุกข์ ความทุกข์ว่าเราไม่มีอำนาจวาสนา

ครูบาอาจารย์มายิ่งกว่านั้นนะ ทุกข์มากกว่านี้ จนน้ำตาร่วง จนคิดคอตกนะ ทำไมมันรุนแรงขนาดนี้ ได้เป็นความอาฆาตนะ อาฆาตว่าสักวันหนึ่งต้องชนะ แล้วก็ชนะไปแล้ว ชนะไปจริงๆ แต่กว่าจะชนะได้ นั่งตลอดรุ่งอย่างนี้ก็ต้องทำ การนั่งตลอดรุ่ง การต่อสู้ ต่อสู้ขนาดนั้นนะ ต่อสู้กับเสือตัวนั้น เสือในหัวใจของเรา มันปกคลุมอยู่

สัตวโลก เรามองแต่สัตว์ข้างนอก เราไม่เคยมองหัวใจของเรา คุณค่าของใจนี้ประเสริฐสุด แต่เราปล่อยให้อวิชชานี้ปกคลุม ให้เสือนี้ควบกินไปตลอด แล้วก็เอาความทุกข์มาหาเรา ความทุกข์นั้น กิเลสนี้อยู่บนหัวใจของคน กิน แสวงหาอาหารในหัวใจนั้น กินอารมณ์เป็นอาหาร แล้วก็ขับถ่าย ขี้เอาไว้บนหัวใจดวงนั้น ขับถ่ายเอาความทุกข์ไง ขับถ่ายขี้ ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง มันก็ขับถ่ายอยู่บนนั้น โทสัคคินา โมหัคคินา เผาผลาญใจดวงนั้นให้ทุกข์ร้อนไปตลอด

แล้วไหนว่าเราเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรม ไหนว่าจะเป็นคนที่ฆ่ากิเลสไง เราจะฆ่ากิเลสหรือให้กิเลสฆ่า นี้โดนกิเลสฆ่านะ เราต่อสู้กับกิเลส แล้วทำไมให้กิเลสมันฆ่าเอาๆ ทำไมไม่มีสติสตังยับยั้งขึ้นมา เราต้องสร้างตัวเราขึ้นมาสิ เราจะมาฆ่ากิเลส แต่นี้กิเลสฆ่าเราราบ ราบไปเลย ราบหน้ากลอง ไม่โอกาสได้ต่อสู้กับกิเลสเลย เป็นผู้แพ้มาตลอด เป็นผู้แพ้มาตลอด

แล้วไหนว่าเป็นนักรบ นักรบมีแต่ความพ่ายแพ้อย่างนี้ เป็นนักรบมันก็เสียเมืองน่ะสิ เสียหัวใจ เสียอะไรเสียให้กิเลสไปหมด แล้วว่าเกิดเป็นชาวพุทธพบพระพุทธศาสนา แล้วยังได้เชื่อในสัจธรรม ศาสนาธรรมคือคำสั่งสอน คำสั่งสอน ธรรมะ ธรรมะนี้ ธรรมเป็นธรรมาวุธที่สามารถจะสร้างขึ้นมา แล้วออกมาประพฤติปฏิบัติ เพราะเห็นโทษทุกข์ของโลกเขาแล้ว

โทษทุกข์ของโลกเขานี่เห็น แล้วเราประสบมา เป็นคนที่มีคุณค่า ชีวิตที่เหลือนี้ ควรจะหาสิ่งที่พึ่งให้ได้จริง สิ่งนั้นพึ่งไม่ได้ หาสิ่งที่พึ่งได้จริง แล้วพอมาพึ่ง มาประพฤติปฏิบัติ มันก็ต้องสร้างคุณงามความดีของเราขึ้นมา สร้างอาวุธของเราขึ้นมา ธรรมาวุธ สมาธิธรรม ถ้าจิตนี้สงบขึ้นมา มีที่ผ่อนคลาย มีหลักหัวใจ ถ้าใจนี้เป็นหลักขึ้นมา จะทำอะไรขึ้นมา จะทำจะคิดขึ้นมาก็เป็นเอกเทศ เป็นเราคิด ถ้าไม่มีสมาธิขึ้นมา เราคิดขนาดไหน กิเลสพาใช้นะ เจ้าอวิชชานั้นพาใช้ จำเอาไว้เลยว่ากิเลสพาใช้ คิดขนาดไหนออกไปมันก็พาเราใช้ออกไป

แต่ถ้าเราเชื่อธรรมขึ้นมา ใช้ปัญญาย้อนกลับมา ปัญญาความคิด ปัญญาที่ความคิดที่ว่าฉุกคิด ย้อนกลับตัวเอง ฉุกคิดไง “เราคิดนี้ถูกหรือ” นี่ฉุกคิด สติสัมปชัญญะจะกลับมาทันทีเลย เท่ากับกระตุกตนไว้ไง กระตุกตัวเราไว้ กระตุกตัวเราไว้ ความกระตุกนั้นคือตั้งสติไว้ ถ้าสติพร้อมขึ้นมา สติสำคัญ เพราะมันขาดสติ ขาดสติ ขาดความยับยั้ง ถ้าขาดสติมันก็ไปตามความคิดของเราดั้งเดิม ความคิดอันนั้น จะพาเราคิดออกไป แล้วเราก็เป็นทาสของเขา เป็นเพราะว่าเขาขับไสไปตลอด แล้วก็กว้านเอาความทุกข์เข้ามา กว้านเอาความทุกข์เข้ามา

มันต้องต่อสู้ สร้างขึ้นมา อาวุธของเราต้องสร้างขึ้นมา ถ้าสร้างขึ้นมานี้เป็นถึงว่าธรรมาวุธนั้นเข้ากับใจดวงนั้น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เวลาอาหารเรากิน เราเอาเข้าปากของเรา เรากินของเราเอง เราอิ่ม แต่เวลาอย่างนี้ เราจะยืมของเขามา ยืมของเขามาไง ยืมของครูบาอาจารย์มา ฟังเทศน์ๆ นี่ชุบมือเปิบ เพราะว่าอะไร เพราะครูบาอาจารย์นั้นต้องต่อสู้มาแล้ว ต้องออกสนามมาแล้ว การออกสนามมา เห็นกิเลสมาแล้ว พยายามฟาดฟันกับกิเลส ฟาดฟันกับตัวเองมา แล้วเราก็เปิบอาหารนั้นเข้าปาก

ถ้าเราสร้างขึ้นมา ก็เหมือนกัน เราจะได้ฟาดฟันกับความคิดของเราเอง เอาความคิดนี้ยับยั้งความคิดของเราขึ้นมา ยับยั้งขึ้นมา ฟาดฟันเข้ามา อย่างนั้นจริงๆ ถ้าเราสร้างขึ้นมาจะเป็นอย่างนั้น ถึงจะเห็นว่า นี่ไงคือมรรค มรรคของเราที่เราสร้างขึ้นมา มรรคอริยสัจจัง ความดำริชอบ ความเพียรชอบ การงานชอบ ความวิริยอุตสาหะชอบ งานทางโลกเขา วิริยอุตสาหะขนาดไหน เหงื่อไหลไคลย้อยนั้นก็เป็นโลกียะ เป็นเรื่องของโลกเขา

การทำไร่ทำสวน เราทำเองก็ได้ เราไหว้วานให้คนอื่นทำก็ได้ เราจ้างเขาทำก็ได้ เราจ้างเขาได้หมด แต่งานของเราไม่มีทางสามารถซื้อได้ มีเงินกี่ร้อยล้านกี่พันล้าน ซื้อสมาธิธรรมไม่ได้ ซื้อมรรคผลไม่ได้ เงินของเขากองเท่าท่วมหัวก็เอาความทุกข์มาให้เขา ถ้าเขาเป็นคนที่มีธรรมอยู่ เงินของเขาจะเป็นประโยชน์กับเขาขึ้นมา ถ้าเขาได้สร้างคุณงามความดี เขาได้ทำบุญกุศลของเขา นั้นเงินจะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเขาไม่มีธรรมในหัวใจของเขา เงินของเขาก็สร้างโทษให้เขาก็ได้ ยึดเขาให้ติดอยู่กับเงินของเขาอยู่นั้น จนเขาออกจากเงินกองนั้นไม่ได้ ผูกติดเขาไว้ เหมือนขังเขาไว้กับเงินนั้นเลย แล้วเวลาตายไป ตายไปไหน

ตายไป มีนะ โตเทยยพราหมณ์มีเงินมาก มีเงินมาก เป็นโตเทยยพราหมณ์ เป็นเศรษฐีมาก แล้วไม่เคยทำบุญกับพระพุทธเจ้า เวลาเป็น หวงมากกับพระพุทธเจ้า ขี้เหนียวมาก พยายามยึดไว้ แล้วตายไป ตายไปนะ อยู่ในพระไตรปิฎก

พระพุทธเจ้าไปบิณฑบาต นี่ออกมาเห่า ออกไปเห่า พระพุทธเจ้าบอก “โตเทยยพราหมณ์ เมื่อเธอมีชีวิตอยู่เธอก็ตระหนี่ ตายไปเป็นสุนัขเธอก็ยังตระหนี่” จนเขาได้ยินน่ะ เขาไปฟ้องลูกน่ะ ลูกไม่พอใจพระพุทธเจ้า ตามไปต่อว่าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่าให้พิสูจน์กัน อยู่ในพระไตรปิฎก ให้พิสูจน์กัน ให้กลับไป เพราะยังใหม่อยู่ ให้กลับไปเรียกพ่อเลย แล้วบอกว่า ขอทรัพย์สมบัติอันนั้น เลี้ยงให้อิ่มหนำสำราญแล้วขอ หมาตัวนั้นพาไปขุดเอาทองคำขึ้นมา ทองคำที่ตัวเองฝังไว้น่ะ

เห็นโทษของมันไหม สมบัติของตน ตนหามา แล้วก็สะสมๆ ไว้ แล้วตายไปเกิดมาเป็นสุนัขเฝ้าสมบัติของตน นั่นน่ะ ให้โทษจริงๆ นี่สัจธรรม มีอยู่ในพระไตรปิฎก อยู่ในพระไตรปิฎกเลย นี้คือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ผลเกิดเป็นโทษ นี่สมบัติกองเท่าฟ้า ถ้าจะให้ได้ประโยชน์กับเรา ให้ประโยชน์เราก็ได้ ให้โทษเราก็ได้ เห็นไหม สมบัติข้างนอกเป็นสมบัติข้างนอก ไหว้วานกันได้ ไหว้วานได้

แต่สมบัติของเรา สมบัติของเรานี้ ถ้าเกิดมรรคะ เกิดปัญญาญาณขึ้นมา เราสามารถชำระได้นะ ถ้าเราชำระขึ้นมาได้ อริยทรัพย์ ฟังสิ ทรัพย์ข้างนอกเป็นทรัพย์ข้างนอก เป็นสมบัติของโลกเขา แล้วอริยทรัพย์ ทรัพย์ภายในหัวใจของเรา อริยทรัพย์มันผูกไปกับใจนั้น ใจพาตาย พาเกิด อามิสทาน เราทำบุญกุศลเป็นทานก็ขับเคลื่อนให้ใจดวงนั้นสูงๆ ต่ำๆ ได้ สูงขึ้นไป พอใช้หมดแล้ว จากสวรรค์ตายแล้วก็เกิดหมุนเวียนในวัฏฏะนี้

จิตนี้มีแน่นอน จิตนี้สงบ ถ้าใครทำจิตนี้สงบจะรู้เลยว่า จิตนี้คือเรา อ๋อ! ไอ้ที่ว่าเราๆ อยู่ที่นี่เอง จิตสงบนี้ สงบแล้วนิ่ง มันรู้เอง ความรู้ว่าจิตสงบมันจะปล่อยวางเข้ามา แล้วเป็นตัวของตัวเอง จิตนี้จะเป็นตัวของตัวเอง แล้วจะมีความสุขมาก ความสุขจากที่ว่า แต่เดิมเราสุขเพราะอามิส สุขเพราะอารมณ์ อารมณ์ที่ว่าพอใจก็สุข สิ่งที่ว่าแก้วแหวนเงินทองหามาแล้วมีความสุขมาก มีความสุขมาก แล้วก็จะแสวงหาให้มากขึ้นๆ ถ้าเสมอเท่าที่มีอยู่ จิตนั้นจะไม่มีความสุข เพราะมันเคยแล้ว มันก็ต้องแสวงหามากกว่านั้นๆ เห็นไหม สัตวโลกมันข้อง ข้องเพราะเราไปสุขสบายเพราะอารมณ์ พอใจในอารมณ์ที่ว่าสะสมขึ้นมาแล้ว พออิ่มเต็มอารมณ์นั้นก็มีความสุข

สุขข้างนอก อารมณ์ อารมณ์ขันธ์ ๕ ที่เราเกิดเป็นมนุษย์มันมีอารมณ์ มันเป็นสัจจะที่ว่า เราต้องใช้สิ่งนี้สื่อสารกันโดยสัญชาตญาณ มีอยู่โดยธรรมชาติ แล้วกิเลสก็พาใช้อย่างนี้มา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ย้อนกลับ ให้ย้อนกลับตรงนี้เข้าไป ย้อนกลับเข้าไป ผ่านจากอารมณ์ สุขโดยอารมณ์เข้าไป ให้เข้าไปถึงความสงบนั้นให้ได้

แต่ในเมื่ออารมณ์นี้มันฟุ้งซ่านออกมา ถ้าคนติดในสมบัติมันก็เป็นเรื่องสมบัติไป แม้แต่บริขารนี้ก็ยังจะหามาเปลี่ยนแปลงมันตลอดเวลา นี่ติดอยู่เรื่องของภายนอก ติดอยู่กับเรื่องของความคิดของตัวเอง เป็นวิตกจริต เป็นจริต นี่ติดกับอารมณ์ อารมณ์ตัวนี้สำคัญมาก มันจะไม่สงบ อารมณ์ไม่สงบ เพราะอารมณ์ตัวนี้ปกคลุมไว้ มันบังจิตไว้ไง อารมณ์ตัวนี้บังจิต เพราะมันเป็นธรรมชาติ มันเป็นสิ่งเดียวกัน ถ้าเราไม่เคยศึกษา ไม่เคยประพฤติปฏิบัติเลย เราจะแยกสิ่งนี้ออกจากใจไม่ได้เลย

แต่เราพยายามทำความสงบ เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วฟาดฟันเข้าไปที่ว่า ฟาดฟันกับกิเลส ฟาดฟันกับความคิดของเรา ย้อนกลับเข้าไปในความคิด มันจะผ่านอารมณ์นี้เข้าไปได้ พอผ่านอารมณ์อันนี้เข้าไปได้ นี่ไง อาการของใจ อารมณ์เหมือนกับเงา เงาไม่ใช่ร่างกายของเรา เราเข้าไปถึงร่างกายของเรา แล้วสติสัมปชัญญะกับความรู้สึกเข้าไปสัมผัสกับร่างกายของเรา เราเองสัมผัสกับร่างกายของเรา เราจะปฏิเสธร่างกายของเราไม่มีได้อย่างไร

จิตนี้ก็เหมือนกัน พอจิตนี้สงบขึ้นมา มันสัมผัสกับเนื้อของจิตน่ะ เราจะว่าจิตไม่มีนี่เป็นไปไม่ได้เลย พอจิตเริ่มสงบขึ้นมาถึงว่า อ๋อ! อ๋อ! เลยนะ มันเป็นอย่างนี้เอง มันเป็นอย่างนี้เอง มีความสุขมาก มีความสุขมาก ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันหวังสิ่งนี้ ความหวังของเราเป็นไปได้ เพราะหัวใจของเราอยู่ในร่างกายของเรา แล้วก็ขันธ์ ๕ กับร่างกายปกปิดหัวใจของเราไว้ด้วยอำนาจของกิเลส

อำนาจของกิเลส เราถึงเข้าถึงหัวใจของเราไม่ได้ เราเข้าถึงหัวใจของเราไม่ได้ เราก็ฟุ้งซ่านไป ฟุ้งซ่านไป ฟุ้งซ่านไปขนาดไหนมันก็เอาความทุกข์มาให้ ความทุกข์มาให้ มันต้องพยายามเข้มแข็ง ความเข้มแข็ง ความเด็ดเดี่ยว มันเด็ดเดี่ยว เวลามันเด็ดเดี่ยว มันเด็ดเดี่ยวเป็นเรื่องของกิเลสไง เด็ดเดี่ยวเป็นเรื่องของกิเลส เด็ดเดี่ยวเรื่องความคิดในเรื่องของอารมณ์ เรื่องของความคิดว่า ต้องเป็นความคิดสำเร็จรูปออกไป เป็นอารมณ์เข้าไป

แต่ถ้าเด็ดเดี่ยวเข้ามา สิ่งนั้นจับต้องไว้ แล้วพยายามกำหนดดูสิ่งนั้น วิเคราะห์สิ่งนั้นสิ่งเดียว อยู่ตรงนั้นที่เดียว แต่ถ้าเป็นอารมณ์ อารมณ์ของกิเลส สิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นอารมณ์มันสืบต่อ มันไหลไปไง มันไหล อย่างเช่นเหมือนกับหนังเหมือนละครน่ะ มันจะสลับเป็นฉากๆ ไป อารมณ์เราก็เลื่อนไหลไป เลื่อนไหลไป ถ้าหนังละครนั้นอยู่ในภาพนิ่งภาพเดียว สนุกไหม? มันไม่สนุกหรอก เพราะมันไม่สืบต่อ

แต่นี้เราพยายามกำหนดพุทโธๆๆ หรือกำหนดให้จิตอยู่ที่ภาพเดียว อยู่ที่จุดนั้น แล้วไม่ให้เคลื่อนไป พอไม่ให้เคลื่อนไป เราก็ใช้ความคิดที่ว่าอารมณ์นั้นน่ะ คิดกลับ คิดกลับขึ้นมาว่าสิ่งนั้นน่ะมันมีคุณค่าอย่างไร มันหลอกล่อได้อย่างไร มันหลอกล่อ หมายถึงว่าทำไมเราตามมันไป เราไม่สามารถยับยั้งได้ เราไม่สามารถจับเนื้อของจิตได้ มันก็หยุดไม่ได้ ถ้ามันหยุดได้มันจะเห็นอาการของขันธ์ ๕ พอเห็นอาการของขันธ์ ๕ อาการของขันธ์ ๕ หมุนไป นี่มันหยุดเพราะความเห็นโทษ มันหยุดเพราะว่าเราตามทันนะ มันไม่หยุดเองโดยธรรมชาติ

เพราะกิเลสมันปกครองจิตไว้ กิเลสมันปกครองจิตไว้ แล้วมันไหลไป จิตนี้เป็นธรรมชาติของธรรมชาติที่ความคิดมันเกิดดับๆ ขันธ์ ๕ นี่เกิดดับอยู่กับใจตลอดเวลา เกิดดับ เกิดดับ แล้วอวิชชาอยู่ที่หัวใจ มันไหลออกมา เหมือนไฟฟ้าน่ะ ไฟฟ้าถ้ามันสื่อออกไปในสายไฟ มันสื่อมา ไปโดนใครก็ช็อต มันต้องช็อตโดยธรรมชาติของมัน เพราะมันมีไฟฟ้า มันมีสื่อไฟฟ้าออกมา

ความคิดก็เหมือนกัน มันมีกิเลส พอกิเลสอยู่ในความคิดมันไหลออกมาพร้อมกับความคิด มันก็ช็อต ช็อตคือให้ความเจ็บแสบร้อนกับใจของเรา เวลาเราคิดขึ้นมา แล้วมันก็ช็อต มันถึงว่าควบคุมจิต แล้วมันพยายามทำลายจิตเรา ทำลายให้เรามีความทุกข์ วิตกวิจารณ์จนเศร้าหมอง เราหน้าดำคร่ำเครียดนะ ถ้าเราคิดจนขนาดว่า เราโง่หรือเราฉลาด ความสุขหรือความทุกข์มันอยู่ในหัวใจของเรา ความสุขและความทุกข์ เราหาได้ในใจของเรา ทำไมเราจะเอาแต่เรื่องของความทุกข์นี้มันมาใส่ไว้ในหัวใจล่ะ แล้วเวลาธรรมะเราศึกษาขึ้นมาน่ะ พระไตรปิฎกค้นทั้งตู้ อ่านทั้งหมด มันก็เป็นของยืมมา ของยืมมาหมายถึงว่า เราไปจำมา มันไม่ได้เกิดขึ้นเป็นปัจจัตตัง ปัจจัตตัง คือหมายความว่า เราสร้างขึ้นมา

ไฟฟ้าออกมาจากหัวใจ แล้วมันช็อตหัวใจของเรา แล้วเราไปเรียกร้องให้คนอื่นเขามาช่วย เห็นไหม ก็เราไปเอาธรรมะข้างนอกเข้ามา ข้างนอกคือธรรมะย้อนเข้ามา มันเข้ามาไม่ทัน ความเข้ามาไม่ทัน มันไม่พอดีกัน ถึงว่ามันต้องเป็นสมบัติของเรา เราต้องสร้างขึ้นมา ฉะนั้นว่า เราต้องสร้างขึ้นมา เราต้องฝืนตรงนี้ไง ถ้าเราสร้างของเราขึ้นมา มันถึงเป็นสมบัติของเรา มันถึงยับยั้งใจของเราได้

เป็นสัญญา สิ่งที่คิดนั้น เราคิดว่าเราปฏิบัติธรรม เราสร้างธรรมขึ้นมา มันเป็นสัญญา มันยังไม่เป็นปัญญาขึ้นมา ปัญญา คำว่า “ปัญญา” เราคิดของเราเอง เราคิดขึ้นมา สัญญามันคิดสำเร็จรูปมา มันยกมาทั้งอันๆ มันยกมา สัญญายกมาจากพระไตรปิฎกมาว่าเป็นอย่างนั้นๆ กิเลสมันหัวเราะเยาะ ไฟฟ้ามันเผาอันนั้นไหม้เลย แล้วมันก็ยังหัวเราะเยาะอีกด้วย เผาไหม้ความคิดอันนั้นนะ

แล้วคิดดูสิ ถ้าเราสร้างของเราขึ้นมาเอง มันจะหัวเราะเยาะได้อย่างไร เพราะมันคิดทันกัน มันทันกัน มันเป็นอารมณ์ของเรา แล้วมันเป็นความคิด ความคิดที่เป็นกิเลส แล้วความคิดที่เป็นธรรมต่อสู้กัน ความคิดที่เป็นธรรมต่อสู้ชนะกับความคิดอันนั้น เพราะอะไร เพราะใจของเรามันก็จะเข้มแข็งขึ้นมา เข้มแข็งขึ้นมา เป็นการยืนยันกับเราตลอดไป

พอจิตสงบเข้ามา ความหาเงื่อนหาปม นั่นน่ะวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาขึ้นมา ทำวิปัสสนาขึ้นมา มันถึงจะว่าสัตวโลก สัตวโลก ความข้องนั้น ความข้องนั้นจะโดนทำลายไป มันปีนเกลียวกันมาตลอด ตั้งแต่เรื่องข้างนอก เพราะกิเลสมันพาให้ปีนเกลียว ความคิดของเรามันพาให้ปีนเกลียวมาตลอดเลย ปีนเกลียวมาตลอด เราทำเข้ามา ทำเข้ามาจนเห็นพยาน เห็นความจริง ความเห็นพยาน เห็นสัจจะตามความจริงของเราขึ้นมา

พอเราเห็นขึ้นมาตามความเป็นจริง ความเป็นจริงของเราหนึ่ง ความสุขเกิดขึ้นจากความเป็นจริงอันนั้นหนึ่ง ธรรมคือความสงบสุขภายในหัวใจ ความที่ว่าความเร่าร้อน ความคิดของเรานั้นคือกิเลสทั้งหมด ความที่กิเลสนั้นโดนธรรมนี้ชำระประหารเข้าไปเรื่อยๆ ความประหารเข้าไปเรื่อยๆ ต้องอ่อนตัวลง ความอ่อนตัวลงของกิเลสน่ะ ธรรมถึงได้มีโอกาสขับเคลื่อนออกไป แล้วเราค่อยค้นคว้าในหลักของใจ อาการที่ว่าเราทำความสงบเข้ามา สงบเข้ามาน่ะ ขันธ์ ๕ นั่นน่ะ ขันธ์ ๕ ที่มันเป็นความคิด ความคิดขึ้นมา ค่อยไปแยกแยะออก ความแยกแยะอันนั้น แยกแยะเพื่ออะไร?

แยกแยะเพราะกิเลสมันอยู่กับสิ่งนั้น กิเลสของเรา ถ้าเราแยกแยะตรงนี้ได้ เราแยกแยะได้เราก็สามารถทำให้กิเลสออกจากใจของเราเป็นชั้นๆ ออกไป นี่อริยทรัพย์จะเกิด เกิดอย่างนี้ อริยทรัพย์ไม่เกิดขึ้นมาลอยๆ อริยทรัพย์เกิดขึ้นมาจากผู้ที่ค้นคว้าขึ้นมา พยายามค้นคว้าขึ้นมาจาก จากหัวใจ จากหัวใจของสัตว์โลกนะ ถ้าไม่มีหัวใจ ภาชนะของใจเท่านั้นที่ใส่สมบัติของธรรม ธรรมนี้อยู่ในพระไตรปิฎก เป็นตัวอักษรนะ ตัวอักษรหนังสือกับในกระดาษที่พิมพ์ไว้ในตัวอักษรอยู่ในตู้ อันนั้นเป็นกิริยาไง เป็นทฤษฎี เป็นสุตมยปัญญาที่เราศึกษามา

แต่ความเข้าใจของเรา ความรู้ของเรา มันจะเป็นเนื้อของใจ ความรู้ของใจ ใจนี้ถึงเป็นภาชนะที่จะบรรจุธรรม ในเมื่อเรามีหัวใจ หัวใจของเรามันบรรจุไปด้วยกิเลสทั้งหมด กิเลสนี้บรรจุอยู่ในหัวใจของเราแล้วก็ขับถ่าย ขับถ่ายอยู่ในหัวใจของเรา เอาความทุกข์นี่อยู่ในหัวใจของเรามาตลอด แต่เพราะเรามีใจ เรามีความมั่นคง เรามีความวิริยอุตสาหะขึ้นมา เพราะมีใจตัวนั้น ใจตัวนั้นขับเคลื่อนออกมา ตรงที่ว่าใจๆ เป็นที่อยู่ของกิเลส แล้วธรรมเข้าไปสัมผัสกับตรงนั้น กิเลสต้องออกไป

สิ่งที่กิเลสออกไปเพราะความพ่ายแพ้ ไม่ใช่ออกไปเพราะว่าเขายอมจำนน เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น วิปัสสนาถึงเกิดตรงนี้ไง เกิดตรงที่ว่าใคร่ครวญในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ที่ว่าเป็นอารมณ์ เป็นความคิดนั่นน่ะ แต่เดิมนั้นมันเป็นอารมณ์เป็นความคิดออกมาใช่ไหม แล้วเราแพ้ เราเป็นความคิดออกไป แต่ขณะปัจจุบันนี้ไม่ใช่ ปัจจุบันนี้เราจับต้องได้ เขาอยู่ในกำมือของเรา ธรรมนี้เริ่มกลืนตัวไง ธรรมนี้เริ่มจับอารมณ์แล้วแยกออก

แยกออกที่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกออก ถ้าแยกออกมาอย่างนั้น ออกไปนี้ ส่วนผสมไง เชือก เชือกถ้าฟั่นด้วยปอ ๕ เกลียว เป็นด้วยเพราะเชือกเส้นใหญ่ เราไม่สามารถจะทำให้ขาดได้โดยง่าย ถ้าเชือกนี้เราแยกตัวออก แยกตัวออกให้มันเล็กลง เราจะสามารถดึงให้ขาดได้

นี้ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นอารมณ์ความรู้สึกของเรา เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ว่า ความคิด ความโกรธ ความอะไรก็แล้วแต่ที่มันขึ้นมา แล้วมันเป็นอารมณ์เรา เราจะต่อสู้ มันจะไม่ทัน เราต้องจับตั้งไว้ แล้วแยกออก แยกออก แยกออกว่าสิ่งใดเกิดก่อน ที่ว่าเกิดดับๆ ขันธ์ ๕ เกิดดับ เกิดดับ อะไรเป็นตัวเชื้อปะทุพาให้เกิด สัญญาตัวเชื้อพาให้เกิด สัญญา สังขารปรุง วิญญาณรับรู้ สุข ทุกข์ คิดดี คิดชั่วไง คิดดีก็ภูมิใจไป คิดชั่ว เผาลนอีกแล้ว ถ้าแยกตรงนี้ กิเลสมันแทรกอยู่ตรงนี้ แทรกอยู่กับความสืบต่อนี้ กิเลสถึงว่ากิเลสอาศัยหากินอยู่กับขันธ์ ๕ นี้

กิเลสหากินนะ กินในอารมณ์ของเราไง เอาสิ่งที่ว่าสิ่งที่จะเป็นอารมณ์ที่เราแยกออก ถ้าแยกออกแล้วอารมณ์มันจะไม่เป็นอารมณ์ เราอารมณ์ความคิด แต่เดิมเราไม่ทันความคิด แต่ตอนนี้เราทันหมดแล้ว แล้วเราแยกด้วย แยกออกๆ แยกให้เห็นไง พอแยกออกไป แยกออกไป เราจะเห็นว่า ขันธ์สักแต่ว่าขันธ์ ความคิดสักแต่ว่าความคิด ถ้าธรรมเป็นฝ่ายชนะนะ สมาธิธรรมมีอยู่ เราแยกอารมณ์ แยกความคิดของเราออกได้หมด ออกได้หมด แล้วมันจะปล่อยว่าง

ความสุขจากว่า จิตนี้มีอยู่ จิตนี้อยู่ในกรงขังของวัฏวนที่มันเกิดตายๆ เราไปเห็น เห็นพื้นที่ เห็นภวาสวะ เห็นภพ เห็นสนามการต่อสู้ไง วิปัสสนาได้เพราะเหตุนี้ ถ้าไม่เห็นสถานที่ ไม่เห็นที่ เราจะทำงานที่ไหน เราทำงานเลื่อนลอย ไม่มีพื้นที่ให้ทำงานก็ทำงานไม่ได้ เมื่อจิตเราเป็นสมาธิธรรม มีฐาน มีความคิด มีสถานที่ที่จะทำงาน เป็นภพ เป็นสถานที่ตั้ง เราก็แยกตรงนั้น พอแยกตรงนั้น นั่นน่ะเป็นการค้นคว้า เป็นการแยก ระหว่างกิเลสกับธรรมต่อสู้กันตรงนั้น

ความต่อสู้ ต่อสู้ขึ้นไป เข้าต่อสู้เข้าไป ต่อสู้เข้าไป ต่อสู้ด้วยปัญญานะ คำว่า “ต่อสู้” แต่เดิมน่ะ เราใช้อารมณ์ใช้ปัญญาหมุนเข้ามานั้นอารมณ์ข้างนอก เสือทั้งตัว ตอนนี้เสือมันโดนถอดเขี้ยวถอดเล็บเข้าไปแล้ว ถอดเขี้ยวถอดเล็บก็เป็นเสืออยู่วันยังค่ำ ความที่เป็นเสือเขาก็ต้องสงวนตัวของเขา ความสงวนตัวอันนั้น ความสงวนตัว ความจะรักษาชีวิตของเขา เพื่อจะมีอำนาจเหนือกว่าใจของเรา เป็นอย่างนั้นจริงๆ

ถ้าการฟาดฟัน การฟาดฟัน การต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้อย่างนี้ถ้าเมื่อเราเห็นจริง นี่คือวิปัสสนา วิปัสสนาหมุนเข้าไป เป็นไป งานภายนอก งานภายใน มันจะละเอียดเป็นชั้นๆ เข้าไปนะ ความละเอียด ขันธ์นอก ขันธ์ใน ขันธ์ในขันธ์ แล้วก็ขันธ์ในปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทจะแยกเป็นขันธ์ก็ได้ แต่ถ้าแยกเป็นขันธ์ แยกโดยสมมุติ โดยนามธรรม แต่ตัวของสัจจะความจริงแยกไม่ได้ มันเป็นตอของจิต มนสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ นี่ตัวตอของจิตนี้อยู่ข้างใน

ถึงว่า การต่อสู้เข้าเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มรรค ๔ ผล ๔ น่ะ มรรค ๔ ผล ๔ ถึงกับสร้างมรรคขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ใช้เข้าไป เวลามันสัมปยุตเข้าไป สัมปยุต เห็นไหม มรรคสามัคคี ถ้ามรรคสามัคคีเข้าไปสมุจเฉทปหาน มรรคสามัคคีจะรวมตัวเข้าไป นี่ธรรมจักรหมุนออกไป หมุนออกไปจากหัวใจ ปัญญาที่เราสร้างสมขึ้นมา ปัญญาที่เราสร้างสมขึ้นมา เราสร้างขึ้นไปเรื่อย หมุนไปเรื่อย หมุนไปเรื่อย จากสิ่งที่ว่าไม่คล่อง ไม่ชำนาญ มันจะคล่อง มันจะชำนาญไปเรื่อย หมุนจนเป็นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา

ธรรมจักรนั้นเป็นปัญญาที่ว่าไม่ใช่ตัวตน ความที่ไม่เป็นตัวตน มันถึงเป็นกลาง ความเป็นกลางคือมัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทานั้น ถึงกลับไปฆ่าหัวใจดวงนั้น ดวงที่ว่าเป็นสิ่งที่พาตายพาเกิด อวิชชาอยู่ที่หัวใจดวงนั้น สิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรมเข้าไปชำระสิ่งที่เป็นกิเลสในหัวใจ มันถึงชำระได้ มันไม่มีอาวุธใดๆ ในโลกนี้ หมอเขาผ่าตัดหัวใจ เขาเปลี่ยนหัวใจ เขาจะเปลี่ยนอย่างไรก็แล้วแต่ มันก็เป็นเรื่องของในวัฏวนนี้ไง จะเปลี่ยนกี่หัวใจ เขาก็ต้องตายเกิด ตายเกิดอยู่ในโลกนี้ต่อไป ไม่มีอาวุธใดๆ เลยที่จะสามารถชำระกิเลสได้

โดยธรรมาวุธ โดยอาวุธในศาสนาของเรา ในศาสนาพุทธไง ในธรรมจักร ในพุทธศาสนานี้ พุทธศาสนาที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นผู้สิ้นกิเลส ศาสนาของผู้สิ้นกิเลส ผู้สิ้นกิเลส รู้จักวิธีการชำระกิเลส

“สุภัททะ เธออย่าถามให้มากไปเลย”

สุภัททะนี้เป็นพราหมณ์ เคยศึกษามา แล้วก็ว่าศาสนาไหน ลัทธิไหนก็ว่าของเขาดี ของเขาเด่นหมด แล้วตนเองเป็นผู้ที่ว่าเป็นพราหมณ์ เป็นผู้มีอายุ ก็ถือตัวถือตนอยู่พอสมควร ถือตัวถือตนอยู่นะ ว่าตัวเองยังมีผู้มีอายุ ไม่ยอมไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า ถือว่าตัวเองมีปัญญามากกว่า มีปัญญามากกว่า ไม่ยอมไปศึกษา อยู่จนอย่างนั้น ปัญญาจะมากขนาดไหนมันก็ปัญญาโลก เอาตัวไม่รอดหรอก

จนคืนสุดท้าย คืนวิสาขบูชา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไง ความคิดนะ คนเขามีวาสนาพอสมควรเหมือนกัน คิดว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ไปถามคืนนี้จะไม่มีโอกาสไปถามเลย ถึงได้ไปถามไง สุภัททะว่าลัทธิศาสนาเขาว่าของเขาก็ดี ของเขาก็ดี

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ไม่มีรอยเท้าอยู่บนอากาศ รอยเท้าของสัตว์มันต้องอยู่ที่บนดิน ถ้าศาสนาไหน ไม่มีมรรค คือไม่มีดิน มันไม่มีรอยเท้านั้นหรอก ศาสนาไหนมีมรรค มันมีพื้นฐาน มรรคคือเหตุ ถ้าศาสนาไม่มีเหตุจะไม่มีผล ลัทธิศาสนาต่างๆ เหตุเขาไม่มี ว่ากันไป พูดกันไปว่า ผู้ที่มีกิเลส ศาสดาผู้มีกิเลสก็เอาแต่จินตนาการ เอาความคิด เอาความเห็นของเขามาสอน แล้วก็เชื่อตามๆ กันไป

ความเชื่อตามๆ กันไป จินตนาการตามๆ กันไป เป็นอย่างนั้น จริงตามสมมุติ จริงตามจินตนาการ สร้างสมขึ้นมาจนเชื่อ เชื่อจนหลอกตัวเอง จนตัวเองก็เชื่อ เชื่อความเห็นของตัวเองว่าเป็นอย่างนั้น กับว่าศาสดาผู้สิ้นกิเลสนะ สิ้นกิเลส สิ้นด้วยอะไร? ด้วยมรรค ด้วยเหตุ

“สุภัททะ อย่าถามให้มากไปเลย ถ้าไม่เหตุ จะไม่มีผล”

คืนนั้นสุภัททะ พระอานนท์บวชสุภัททปริพาชก ได้สำเร็จเป็นคืนนั้น เพราะเขาได้พยายามค้นคว้ามาตลอด แก่กล้าด้วยสมาธิ แก่กล้าทุกๆ อย่าง แต่ไม่มีปัญญา ภาวนามยปัญญาตัวนี้ไง ไม่มีธรรมาวุธ เพราะไม่มีเหตุผลตัวนี้มาชำระกิเลส

ถึงว่า เราย้อนกลับมาที่เรา ในเมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราพบพระพุทธศาสนา ถึงว่าเรามีโอกาส มีวาสนา มีวาสนามากๆ มีวาสนาเพราะเราสามารถเอาอาวุธ เอาอาวุธ เราสร้างขึ้นมา เราต้องสร้างอาวุธของเราขึ้นมาเป็นสมบัติของเรา สร้างอาวุธขึ้นมา สร้างขึ้นมาโดยความถูกต้อง

ถ้าสร้างขึ้นมาด้วยความไม่ถูกต้อง มันก็เป็นจินตนาการอย่างเขาเหมือนกัน ความจินตนาการอย่างเขามันก็ให้กิเลสหลอกไง กิเลสก็จะหลอกไป เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น กิเลสหลอกนะ เวลาประพฤติปฏิบัติกิเลสหลอก หลอกอย่างไร? หลอกว่าสร้างเหตุ สร้างสถานการณ์เป็นอย่างนั้น สร้างสถานการณ์ขึ้นมาในหัวใจของเราเอง แล้วก็ปล่อยวางออกไป มันก็เห็นอย่างนั้นจริงๆ นะ เห็นออกไป แต่ไม่เข้าถึงเนื้อของใจ เพราะมันเป็นอารมณ์ มันเป็นอาการของใจ เป็นเรื่องระหว่างตรงเงานั้น มันไม่เข้าถึงใจดวงนั้น มันเป็นอาการต่างๆ เข้ามา

ถึงต้องมีสมถกรรมฐานโดยความถูกต้อง สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานนี้ก้าวเดินไป มนุษย์เดิน ๒ เท้า มีเท้าเดียวเดินไม่ได้ นี้เหมือนกัน ความสงบของใจ ถ้าใจนี้สงบขึ้นมา สมถะ ความทำสมถะของเรา เราทุกข์ยากกันอยู่นี่ เราทำความสงบของเราไม่ได้ ถ้าเราทำความสงบของเราได้นี่คือสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งควรแก่การงาน ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือความสุข อย่างหนึ่งฐานที่ตั้ง ที่ตั้งคือว่าความสุขได้หลักใจหนึ่ง

สอง ฐานที่ตั้งคือฐานตรงนั้น ภวาสวะ ภพของใจที่เราจะเข้าไปทำงานตรงนั้น นี่ได้ ๒ อย่างพร้อมกัน ได้หลักใจด้วย ได้พื้นที่ที่ทำงานด้วย พื้นที่ทำงานถึงยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาก้าวไป การต่อสู้ด้วยปัญญา การต่อสู้ด้วยปัญญา ถ้าสมาธิอ่อนตัวลง ปัญญานั้นหมุนไปไม่ได้ เราย้อนกลับมาที่สมาธิได้ หมายถึงว่า เวลาเราจะทำสมถกรรมฐานด้วยปัญญา ด้วยความถูกต้อง ถ้าเราคิดจนฟุ้งซ่านขนาดไหน ฟุ้งซ่านจนมากเกินไป จนเราอ่อนล้า เราไม่ไหว เราไม่คิด เราหยุดความคิดนั้นไว้ เรากลับมาที่คำบริกรรม

ถ้าเรากลับมาที่คำบริกรรม เห็นไหม คำบริกรรม บริกรรมคำว่าอะไรก็แล้วแต่ ให้มีหลักใจมีไว้น่ะ เราบริกรรมคำนั้น บริกรรมไว้ตลอด บริกรรมไว้ จนกว่าจะมีกำลังขึ้นมา แล้วค่อยกลับไปคิดใหม่ เห็นไหม มันเดินด้วย ๒ ทางมาตลอด วิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐาน วิปัสสนาคือการค้นคว้าด้วยปัญญา ด้วยมรรคไง ถ้าไม่วิปัสสนา เราทำความสงบเข้ามา มันก็เป็นสัมมาสมาธิ เป็นหนึ่งในมรรค ๘ แล้วมรรคหนึ่ง มรรคหนึ่งกับมรรค ๘ มันต่างกันไหม

การงานผิดไง งานที่ไม่ควร งานที่ไม่ชอบ งานที่ควร งานที่ชอบ ก็งานอย่างที่เราทำอยู่นี่ ที่เราทำอยู่นี่งานโดยชอบ งานโดยชอบคือว่าเราเป็นคนทำเอง เราเป็นคนต่อสู้เอง ต่อสู้กับเราเอง ต่อสู้ในหัวใจของเราด้วย เพราะใจของเรา เป็นพื้นที่ที่เราจะทำ ทำต่อสู้เราเข้าไป มันถึงว่า เราถึงมีอำนาจวาสนา อำนาจวาสนาของเรามีอยู่มหาศาลเลย เพียงแต่กิเลสมันหลอก

การต่อสู้กับกิเลสนี้ กิเลสขัดขวางอยู่ เราเลยทำกันไม่ค่อยได้ เราทำกันไม่ค่อยได้ เราก็จะโทษว่าธรรมะนี้มันของที่ทำได้ยาก ธรรมะนี้จะมีหรือไม่มียังไม่รู้ มันไปโทษไง สิ่งที่ทำอยู่คือเราพยายามจะต่อสู้กับความคิด ความเห็นในใจของเรา แต่เราก็ไปโทษศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่า เป็นของที่ว่า ทำได้ยาก ทำได้ยาก

เนื้อของมัน เนื้อของใจอยู่ในหัวอก อยู่ในหัวใจของเรา ทะลุเข้าไปก็ถึงใจของเรา เราทำทะลุเข้าไปถึงใจของเราไม่ได้ แล้วเราไปโทษวิธีการไง ทั้งๆ ที่กิเลสเป็นผู้ต่อต้าน กิเลสเป็นผู้ที่ผลักไส กิเลสเท่านั้นทำให้การประพฤติปฏิบัตินี้ยาก ยากเพราะกิเลสมันพยายามจะประคองตัวมันไว้เอง กิเลสจะกลัวไม่มีที่อยู่อาศัย เห็นไหม ไม่ใช่ยากเพราะธรรม กิเลสถึงว่ากิเลสมันผลักไส

เวลากิเลสหลอก เราทำประพฤติปฏิบัติอยู่ เราคิดว่าเราฆ่ากิเลส แต่ธรรมเข้าไปหากิเลส แล้วกิเลสก็หลอกเรา หลอกให้เราล้มกลิ้ง ล้มหงายไป ล้มกลิ้งล้มหงายออกไปโทษสิ่งต่างๆ โทษคนโน้น โทษลม โทษฟ้า โทษดิน โทษแบบ อ้างว่าร้อนนัก หนาวนัก อ้างเล่ห์ไปตลอดเลย อ้างไปตลอดแล้วก็พออ้างไปแล้ว นี่กิเลสมันฉลาดอย่างนี้ มันโทษคนอื่น แล้วไม่เห็นตัวมันไง โทษแต่ผู้อื่น ไม่โทษหัวใจของตน โทษแต่คนอื่น ไม่ค้นคว้าเข้ามาภายใน นี่งานไม่ชอบ

ถ้างานชอบ ค้นคว้าเข้ามาภายใน ทุกข์อยู่ที่ใจ สุขก็ต้องอยู่ที่ใจ ทุกข์ขนาดไหน ต้องชำระได้ ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นสัจจะความจริง ทุกข์นี้เป็นสัจจะความจริงโดยธรรมชาติ มีอยู่โดยธรรมชาติ โดยสัจจะเลย โดยอริยสัจด้วย แต่เราไม่ไปดูทุกข์ตรงนี้ เราไปดูทุกข์อันนอกหมด เราถึงไม่เจอทุกข์ตัวนี้ ทุกข์เพราะอะไร กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ความอยาก ความไม่อยาก ความผลักไส นี่มันผลักไสน่ะ ดับ ดับตรงนี้ไง ดับตรงสมุทัย ดับสมุทัย นิโรธเกิดขึ้น นิโรธดับ ดับด้วยอะไร? ดับด้วยมรรคอริยสัจจัง อริยสัจ เห็นไหม อริยสัจ ๔

อริยสัจ ๔ เป็นที่ว่าสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ก็เป็นพื้นฐานในที่ทำงานของเรา เราทำงานตรงนี้ขึ้นมา ถ้าเรามีสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ฐานที่ทำงาน งานมันก็ชอบเข้ามา งานชอบ ความระลึกชอบ ตบะธรรมเกิดขึ้น เผาผลาญกิเลสนะ เผาผลาญมัน เผาผลาญในกิเลสเรา มันนะ เพราะมันอยู่ในหัวใจของเรา มันขาดจากหัวใจของเราได้

ถ้ามันเป็นเรานะ มันขาดจากเราไม่ได้ มันขาดจากหัวใจของเราเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ถ้าไม่อย่างนั้น ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสำเร็จ สำเร็จเป็นศาสดาของเรา เป็นครูของเรานะ สลบถึง ๓ หนนะ ออกปฏิบัติอยู่ ๖ ปี ๖ ปีทุกข์ขนาดไหน ทั้งๆ ที่ว่าสร้างสมมา สร้างบารมีมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สละ กัณหา ชาลีก็สละ นางมัทรีก็สละ สละออกไปหมดเลย เพื่ออะไร? เพื่อโพธิญาณ เขาหาว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว

เห็นแก่ตัวที่ไหน คนสุดรัก ลูก ๒ คนนะ สุดจะรักสุดหัวใจ นางมัทรีก็มาขออีก แล้วกระชากหัวใจออกไปนะ คนเราทุกๆ คนน่ะ ถ้าเรารัก สิ่งที่รักสงวนจะมาขอ เอาเราไปแทนได้ไหม เอาเราไปแทนได้ไหม มันจะเป็นสิ่งนั้น มันเป็นการสละที่สละได้ยาก เว้นไว้แต่ว่าโกรธกัน ไม่ถูกกัน สละมันง่าย มันไม่ได้ถูกกันที่ไหน มันรักสุดรักนั่นน่ะ สละออกไปขนาดนั้น ถึงได้โมกขธรรมมา สละออกไปชาตินั้นนะ แล้วชาตินี้มาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ๖ ปี

สลบ ทำความเพียรที่ว่า สิ่งที่ว่าอุกฤษฏ์ขนาดไหน ที่ในสมัยพุทธกาลที่เขาทำกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลองหมด ลองมาทุกอย่าง แล้วเราล่ะ มันย้อนมาตรงนี้ไง ย้อนมาที่เรา เรามาเหลาะๆ แหละๆ

ถึงว่า “สุภัททะ เธออย่าถามให้มากไปเลย” มรรคมันไม่สมเหตุสมผล ความเป็นเพียร อุตสาหะมันไม่พอ มรรคมันไม่พอ ความเพียรของมันไม่ถึงกับเหตุนั้น ความไม่ถึงแก่เหตุนั้น เหตุอ่อนแอ จะเอาผลมากๆ แล้วผลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุ่มไปทั้งชีวิตขนาดนั้น ๖ ปี สลบแล้วฟื้น สลบแล้วฟื้น ๓ หน เหมือนตายแล้วฟื้นมาถึง ๓ ครั้ง แล้วทุ่มออกไปเต็มที่เลย เราทำกันอย่างไร ถ้าเราคิดตรงนั้นมาเป็นอาจารย์ของเรา ศาสดาเป็นยิ่งกว่าอาจารย์ เป็นพ่อด้วย ศากยบุตรพุทธชิโนรส ประกาศตน ประกาศตนว่าเป็นศากยบุตร บวชในศาสนาพุทธนี่เป็นลูกพระพุทธเจ้า แล้วปฏิบัติตนเหมือนพระพุทธเจ้าไหม พระพุทธเจ้าออกจากกษัตริย์ไป

คิดดูสิ คนอยู่ในราชวัง การเป็นอยู่จะขนาดไหน แล้วออกไปอยู่แบบไม่มีศาสนา นักบวชที่ไม่มีศาสนาเขาจะให้อะไร แล้วเราย้อนกลับมาเรา เราเป็นศากยบุตร ศาสนานี้วางหลักเกณฑ์ไว้แล้ว บิณฑบาตเป็นวัตร มีการบิณฑบาต มีอาหารบิณฑบาต อาศัยจากโยมเขา อาศัยจากผู้ที่เขาจะเลี้ยงมา นี่ไม่เป็นกังวล ปัจจัย ๔ โยมเขาพร้อมตลอด

แต่เราล่ะ เราพร้อมไหม พระต้องพร้อม ถ้าพระพร้อมขึ้นมา ถ้าพระไม่ทรง พระไม่ประพฤติปฏิบัติ พระไม่ทรงไว้ ใครประพฤติปฏิบัติ พระเป็นนักรบ นักรบต้องรบกับกิเลสของตัวเองก่อน ถ้ารบกับกิเลสของตัวเองได้ นั่นน่ะถึงว่าเป็นผู้ชนะตน ถ้าชนะตนแล้ว ถึงจะทรงไว้ ทรงไว้ถึงว่า เป็นที่พึ่ง เป็นเนื้อนาบุญไง เป็นเนื้อนาบุญของโลกเขา

มันมองกลับมาตรงนี้ไง มองว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกข์มาขนาดไหน ทุกข์ก่อนที่จะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ทุกข์ที่ว่า ๖ ปีนั้น ทุกข์มาขนาดไหน แล้วเรา เราจะเอาสุข สุขกันอย่างไร ชุบมือเปิบ ชุบมือไง เปิดพระไตรปิฎกมา แล้วก็อ่านมาว่าเป็นธรรม ว่าเป็นธรรม ว่าเป็นธรรม ทำไมให้ความทุกข์ ธรรมนี้จำกัดทุกข์ ธรรมนี้ให้แต่ความสุข ธรรมนี้ต้องให้ใจดวงนั้นมีความสุข ธรรมนี่

ธรรม ธรรมเป็นความสุข ทุกข์ กิเลสเป็นความทุกข์ กิเลสกับธรรมนี้เป็นข้าศึกต่อกัน แล้วเมื่อเราว่าเราศึกษามา เราเปิดตู้มา เราอ่านมา เป็นธรรมมา เป็นธรรมมา ถ้าธรรมมาทำไมมันทุกข์ ธรรมมาทำไมมันให้ผลไม่เป็นความจริง ถ้าเราศึกษามามันก็ย้อนกลับเข้ามาดูเรา ต้องดูเรา ธรรมมันต้องให้คุณค่า ธรรม ธรรมเราสร้างสมขึ้นมา นักรบต้องรบให้จริง ถ้านักรบ รบไม่จริง เรารบเหลาะๆ แหละๆ ความเป็นเหลาะๆ แหละๆ ของเรา แล้วผลความจริงขึ้นมามันถึงไม่ได้สัมผัสในใจ มันมีหัวใจ เป็นหัวใจอยู่ในหัวอกของเราอยู่แล้ว เป็นหัวใจด้วย

แล้วประกาศตนน่ะ ศากยบุตร บุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องทำให้สมควรกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้อย่างไร ถ้าสมควรอันนั้นน่ะ

ถ้าเราคิดถึง คำว่า “ฉุกคิด” สัตว์โลก สัตว์ข้อง ถ้าจิตมันคิดได้ มันเห็นอย่างนั้น มันจะย้อนกลับมา ถ้าเราไม่ฉุกคิดนี่ เราไม่ฉุกคิด กำลังใจไม่เกิด หนึ่ง กำลังใจไม่เกิด สอง เราจะทำอย่างไรของเรา เราไม่ฉุกคิด เราไม่ตั้งปัญหาขึ้นมา มันก็เป็นเรื่องของกิเลสล้วนๆ วันหนึ่งคืนหนึ่งกิเลสเอาไปกินหมด ไปตามประสากิเลส กิเลสจะฉุดลากไป ไปตามกิเลส ภาวนาก็ภาวนาเพื่อกิเลส กิเลสพาไปหมดเลย ถ้าฉุกคิดขึ้นมามันจะย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามา

มีองค์ศาสดาเป็นตัวอย่าง มีครูบาอาจารย์เป็นตัวอย่าง ที่บุกเบิกมาได้ เราต้องทำได้ แล้วครูบาอาจารย์ก็ล้มลุกคลุกคลานมา ไม่มีใครเลยที่ว่าปฏิบัติมาง่ายๆ นะ มีแต่พระยสะ ยอมรับ ฟังเทศน์คืนเดียวได้ เพราะบุญวาสนา ก็เกิดจากสหชาติ นี่พระยสะ แต่ที่ว่าทุกข์ยากมา จักขุบาลก็จนตาแตก พระโสณะเดินจนฝ่าเท้านี้เลือดทั้งนั้นเลย เวลาเอาทุกข์เข้าแลก เอาทุกข์เข้าแลก แต่มันสมควร สมควรกับเวลามันมีความสุขไง

คนตายแล้ว สัตวโลก วัฏวนนี้เป็นที่ข้องของจิต จิตนี้ต้องวนไปตามวัฏฏะ แล้วเวลาเราทำการปีนเกลียว จนไม่มีความปีนเกลียว ลงตัวพอดี จิตนี้ไม่ข้องในวัฏฏะ มันไม่เกิดอีก คนไม่เกิด คนไม่เกิดถึงจะมีความสุข คนตายแล้วเกิดมีแต่ความทุกข์ เพราะเวลาเกิดนี้ ชาติปิ ทุกฺขา ชาติพาเกิด ปากท้องมาแล้ว ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ใน ๓ โลกธาตุ มีอาหารหมด กวฬิงการาหาร วิญญาณาหาร อาหารของสัตว์โลก อาหารของเทวดา อาหารอะไร มีอาหาร ต้องมีอาหารกิน ต้องมีผัสสาหาร อาหารของประจำโลกธาตุเขา การเกิดมาต้องมีอาหาร เป็นเรื่องของเขา มันก็อยู่ในวังวนความทุกข์นั้น ต้องขับต้องหมดจนกว่าชีวิตจะหมดไป การเกิด เกิดในวัฏฏะ เกิดในวัฏฏะ เกิดในกามภพ รูปภพ อรูปภพ อันนั้นคือจิตพาเกิด

เกิดในมนุษย์ แล้วชำระใจจนสะอาด ถ้าชำระใจจนสะอาด จนตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทันน่ะ ชีวิตที่เหลือนี้ถึงว่า เป็นสอุปาทิเสสนิพพาน สอุปาทิเสสนิพพานถึงว่า เป็นธรรมดา สิ่งที่เป็นธรรมดาคือว่าธาตุขันธ์นี้เป็นของธรรมดา สอุปาทิเสสนิพพานคือว่าการเข้าใจเรื่องของกิเลสทั้งหมด ชำระกิเลสออกจากใจ กิเลสนี้หลุดออกไปจากใจทั้งหมด พอหลุดออกไปจากใจ ความทุกข์ไม่มีอยู่ในใจดวงนั้นนะ ใจดวงนั้นสะอาด ใจดวงนั้นบริสุทธิ์ ใจดวงนั้นมีแต่ความสุข วิมุตติสุขในใจดวงนั้น

พอใจดวงนั้นสะอาดแล้ว มีความสุขแล้ว แล้วปากท้องมันจะมาเอาความสุขอะไรมาอีกเล่า ในเมื่อปากท้อง การหาอยู่หากินน่ะ ต้องมาเพื่อปากท้อง ใส่ปากท้องให้มีรสชาติขึ้นมา ด้วยความพอใจ เห็นไหม สุขที่เกิดขึ้นจากลิ้นน่ะ กับสุขที่ในวิมุตติสุขมันต่างกันฟ้ากับดิน

ฉะนั้น มันถึงว่าเป็นธรรมดาไง การอยู่การกิน มันถึงเป็นเรื่องของธรรมดา ถึงว่าเป็นธรรมดา มีปากมีท้องมันธรรมดา แต่ถ้ายังไม่ถึงตรงนี้เป็นธรรมดาไปไม่ได้เลย มันพ่วงไปด้วยความทุกข์ของเรา พ่วงเข้าไปกับความยึดติดของเรา ความยึดติดของเราไปตลอด แต่ถ้าพ้นจากตรงนี้ไปแล้ว ถึงว่าเป็นธรรมดา ถ้าเป็นธรรมดาอย่างนี้ ถึงเป็นธรรมดา เป็นธรรมดาต่อเมื่อมันเป็นผลไง

แต่เราชาวพุทธ เราเข้าใจผิดกัน “ศึกษาศาสนาแล้วปล่อยวาง พระพุทธเจ้าบอกว่า ให้ว่าง ให้วางเฉย ปล่อยวาง”

ปล่อยวางไม่ได้ ปล่อยวางต่อเมื่อมันต้องมีเหตุมีผล เข้าใจเหตุผลจนเข้าใจเต็มที่แล้ว มันปล่อยวางเอง ความปล่อยวางอันนั้นมันปล่อยวางโดยสมุจเฉทปหานสิ้นไป การชำระหนี้โดยทั้งหมดขึ้น เราเป็นหนี้เขา แล้วเราบอกเราไม่ใช้หนี้เขา แล้วบอกเราใช้แล้ว ไม่ใช้ ไม่ใช้ได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ กรรม ในเมื่อเราไม่สามารถชำระกรรมจนสะอาดได้ กรรมนั้นต้องตามไปตลอด กรรมนี้ให้ผลไปตลอดนะ ให้ผลไปตลอด จนกว่าชำระใจสะอาดแล้ว ให้ผลกับใจดวงนั้นไม่ได้

แต่ร่างกายนี้ยังเหลือเศษส่วนอยู่ สอุปาทิเสสนิพพานคือเศษส่วนของกายนี้ยังมีอยู่ ตามตรงนี้ทัน ตามทัน ยังกระทบกระทั่ง พระพุทธเจ้ายังต้องห้อเลือด พระเทวทัตกลิ้งหินเข้าใส่น่ะ กรรมมันมีอยู่อย่างนั้น มีอยู่ส่วนหนึ่ง เข้าถึงเฉพาะร่างกาย แต่หัวใจนั้นไม่ถึงใจดวงนั้น ใจดวงนั้นบริสุทธิ์ผุดผ่อง พอบริสุทธิ์แล้วนั่นน่ะ เป็นหลักที่เป้าหมายของศาสนาของเรา

ศาสนาพุทธเยี่ยมยอดขนาดนั้น ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่พื้นๆ ตั้งแต่สอนพวกเรา ให้พวกเราเชื่อเรื่องของทาน ให้เชื่อการสละออกไป การให้ทาน ให้ไปเถิด การให้ไปน่ะ มันย้อนกลับมา กลับมาในหัวใจของเรา เราเคยให้อยู่ทุกวัน สิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวันน่ะมันสะสมลงที่ใจ ใจดวงนี้มันรู้ เพราะใจดวงนี้มันไป มันพาอันนี้ไปด้วย ผู้ที่ให้ เวลาจิตนี้นึกถึง มันจะมีพร้อมกับใจดวงนี้

ถ้าจิตนี้ไม่เคยให้ จิตดวงนี้ตระหนี่ถี่เหนียว จิตดวงนี้คับแคบ เวลามันจะตายไป จิตดวงนี้มันจะไปขังคุก จิตดวงนี้ไปไหนไม่รอดหรอก เพราะมันนึกอะไรก็ไม่ออก มันไปไหนไม่ได้ มันวนเวียนอยู่ในอารมณ์ของมันนั่นล่ะ แต่ถ้าจิตดวงนั้นมันให้ทานมาตลอด พอมันออกจากนี้ไป มันพร้อมแล้ว เสบียงพร้อม จะไปไหนก็ไปได้ไง ถึงว่าเป็นที่ว่าเรื่องของทาน เรื่องของศีล ศีลพยายามบังคับใจเข้ามา บังคับใจเข้ามา ให้ใจเรามีขอบมีเขตเข้ามา

มีขอบมีเขตเข้ามา มันก็เริ่มตั้งแต่เราเป็นคนดีเข้ามา...ดี ดีเพราะว่า เราไม่ตามใจเรา ถ้าศีลมันตามใจ มันก็คิดไปร้อยแปด คิดไปร้อยแปด ขอบเขตคิดไปร้อยแปดเลย มโนกรรม ถ้ามันคิดแล้วมันก็ต้องการการกระทำ ถ้าเราไม่คิดมันก็จบ นี่ศีลคือความปกติของใจ คือใจไม่คิดในเรื่องความผิด ในเรื่องความข้อง ความกรรมของใจนั้น นี่ศีลในใจ ทาน ศีล ภาวนาเข้ามา นี่ศาสนา

ภาวนาเข้าไปเรื่อย ภาวนาเข้าไปเรื่อย ภาวนาเข้าไปจนถึงที่สุด ถึงใจของตน ชำระใจของตนได้หมด ชำระใจของตนได้หมด ถึงว่าเป็นไปได้ สิ่งที่เป็นไปได้ สิ่งที่เป็นความจริง เราเป็นชาวพุทธ เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเชื่อธรรม ธรรมนั้น ศาสนธรรม ศาสนธรรมตรัสไว้ดีแล้ว ศาสนธรรมไง ตรัสไว้ดี ตรัสไว้ชอบ เป็นของที่ปัจจุบันตลอด ทุกข์นะ เวลาเกิดในหัวใจของเรา เกิดเดี๋ยวนี้เลย ทุกข์เกิดปั๊บ ให้ผลทันที

แล้วทำไมธรรมถึงจะเกิดไม่ได้ เพราะธรรมจำกัดทุกข์อันนี้ไง มันเป็นการบอกว่า ถ้าทุกข์ยังมีอยู่ ทุกข์เกิดขึ้น แทงใจเราได้อยู่ ศาสนาธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าต้องมีจริง เพราะมันจะจำกัดสิ่งนี้ เหมือนไข้ ไข้กับหมอ เหมือนไข้กับยา ถ้ามีไข้อยู่ ถ้ามียาอยู่ โรคนั้นต้องหายได้ ถ้ามีไข้อยู่ แล้วยานั้นเราไม่สนใจยานั้น โรคมันจะหายได้อย่างไร

มันยืนยันได้ขนาดนี้ ถ้าเรายืนยันเข้ามานะ ยืนยันอย่างนี้มันก็สร้างความมั่นใจ ใจของเราจะมั่นคงขึ้นมา ถ้าเราไม่สร้างความมั่นใจของเรา เห็นไหม ศรัทธามันคลอนแคลนได้ หมายถึงว่า ช้างตกมันนั่นน่ะ มันไปของมันเรื่อยนะ ช้างตกมัน มันไปตามอำนาจของความตกมันของมัน มันตกมัน มันไม่รู้ตัวมันนั่นน่ะ เวลาช้างเวลาตกมันน่ะ จิตเหมือนกัน เวลาคิดไป มันไม่รู้สึกตัวมันหรอก มันคิดไป ประสาที่มันตกมัน มันตกมันจนขนาดนั้นเชียวหรือ

มันน่าสงสารนะ น่าสงสารใจของเรา ทุกคนว่ารักตนเอง คนทุกคนน่ะว่ารักเรา ใครจะรังเกียจเรา รักเราทุกคน รักตนเอง ทำไมไม่หาที่พึ่งให้ตนเองล่ะ ถ้าเราเชื่อ เราศรัทธา จากศรัทธาเราพยายามทำความสงบเข้าไป มันจะเป็นอจลศรัทธา คำว่า “อจลศรัทธา” หมายถึงว่า มันจะมั่นคง ความมั่นคงแล้ว มันจะทำให้เราก้าวเดินไป สัทธา อจลศรัทธา จนเป็นอกุปปะ

กุปปธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลาย เราปฏิบัติอยู่ มันยังเป็นอนิจจัง มันยังแปรสภาพ มันไม่แน่นอน จนเป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรมหมายถึงว่า มันชำระกิเลสไปเป็นอริยทรัพย์ สิ่งที่เป็นอริยทรัพย์แล้วจะไม่เสื่อมจากนั้น ไม่เสื่อมจากสิ่งที่นั้น แต่เจริญรุ่งเรืองขึ้นไปได้ เจริญรุ่งเรืองขึ้นไปจนถึงที่สุด แต่เสื่อมจากนั้น ไม่เสื่อม เพราะความว่าเราศรัทธาขึ้นไป ศรัทธาขึ้นไป

ในศาสนาสอนอย่างนี้ เราก็เชื่อในศาสนา แล้วสอน สอนนั้นเป็นคำสอน การประพฤติปฏิบัตินี้เป็นการยืนยัน เราสร้างสมของเรา เราทำของเรา มันรู้สึกไปพร้อมตลอดเวลา แล้วมันก็จะเห็นผลของเราไปตลอดเวลา เห็นผลของเราขึ้นไป ขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดของการประพฤติปฏิบัตินะ ถึงที่สุดการประพฤติปฏิบัติ ก็ต้องถึงว่า เราเป็นไปได้ที่จะให้ถึงวิมุตติสุข เอวัง