เทศน์บนศาลา

ธรรมลวงตา

๑๒ ก.ย. ๒๕๕๔

 

ธรรมลวงตา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราตั้งใจ เราตั้งใจมาฟังธรรม แล้วเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของหัวใจของเรา เรามีเจตนาดีมาแล้วเพราะเราเกิดมาดี เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วมีสติสัมปชัญญะ ดูสิ เราขับรถผ่านมาเห็นไหม มนุษย์ทั่วไปหมดเขาทำอะไรกันอยู่น่ะ เขาทำอะไรของเขา เขามีหน้าที่การงานของเขา เขามีความจำเป็นของเขา เขาปากกัดตีนถีบเพื่อความสะใจของเขา นี่พูดโดยธรรมนะ “โดยธรรม”

แต่ถ้าเป็นทางโลกล่ะ เขาเป็นผู้รับผิดชอบ เขามีหน้าที่การงานของเขา เขาต้องรับผิดชอบของเขา เขาทำงานของเขา งานของเขาก็คืองานทางโลกไง งานของเขาก็งานอาบเหงื่อต่างน้ำมาเพื่อความสะใจ ความสะใจเพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันแสวงหา มันต้องการของมัน

แต่เวลาคุณธรรมในหัวใจล่ะ คุณธรรมในหัวใจมันไม่เกิดขึ้นมา ถ้าคุณธรรมในหัวใจเราเกิดขึ้นมา เราหาทางออกของเรา ถ้าเราหาทางออกของเรา...ถ้ามันไม่มีทางออก เราจะออกทางไหน

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเที่ยวสวนเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย จะหาทางออก ออกมาศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ๖ ปีหาทางออกอยู่ ไปหาคนเพราะว่าเห็นว่าเขาเป็นศาสดา เขาเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมาก่อน ไปศึกษากับลัทธิไหน เจ้าลัทธิไหนก็ “มีความรู้เท่านี้ มีความเห็นเท่านี้ หมดแล้ว” ๖ ปีนะ ถ้าเรามีบุญกุศล เรามีเจตนาอยากจะหาทางออก ถ้าไม่มีทางออกเราพยายามทำของเราไป ทำของเราถึงที่สุดเห็นไหม มันก็ไปจบ ไปตันทั้งนั้น

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบุญญาธิการมา ไปศึกษามากับทางโลกแล้ว มันไปไม่ได้ ถึงต้องกลับมารื้อค้นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง เวลามารื้อค้น มาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา รื้อค้นจนถึงที่สุดแห่งทุกข์เห็นไหม นี่ทางออกเกิด มีทางออก ทางออกตามความเป็นจริงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้ ฉะนั้น วางธรรมและวินัยนี้ไว้

เวลาประพฤติปฏิบัติไปด้วยความมีกิเลสของเรา ใครมีกิเลสหยาบ กิเลสหนาต่างๆ กิเลสหนา กิเลสบางแล้วมากน้อยแค่ไหนแล้วแต่ ต่างคนต่างแสวงหาว่าตัวเองทำแล้วถูกต้องตามวิธีการ ตัวเองทำแล้วถูกต้อง ทำแล้วถูกวิธีการ ถูกต้องตามวิธีการโดยความเห็นเราไง เรารู้เราเห็นของเรา เราก็ว่าถูกต้องตามวิธีการของเรา

แต่ของเรามีครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติของท่านมา ท่านประสบของท่านมา แล้วมันพิสูจน์ตรวจสอบกัน พิสูจน์ตรวจสอบกันเห็นไหม

ดูสิ วันนี้วันอุโบสถ เวลาพระเราองค์อุโบสถกันเห็นไหม ลงอุโบสถ เวลาแสดงปาฏิโมกข์ พระด้วยกัน ศึกษามาด้วยกัน รับรู้ด้วยกัน แล้วสมัยพุทธกาลฟังภาษาบาลีออก ผิด-ถูกตรงไหนสะกิดกันไว้ “ตรงนี้ผมผิด ตรงนี้ผมผิด เดี๋ยวจะปลงอาบัติ” เห็นไหม ในหมู่สงฆ์เขาตรวจสอบกัน

นี่เหมือนกันหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านฝึกของท่านมา ท่านฝึกลูกศิษย์ของท่านมาเอง เวลาเทศนาว่าการ ท่านจะบอกว่า “บุคคลคนๆ นั้น พระองค์นั้น เราได้คุยกันแล้ว เราได้สัมผัสแล้ว ให้เชื่อถือองค์นั้นได้ พิสูจน์ได้ ตรวจสอบได้ แล้วให้เชื่อฟังกัน” ให้เชื่อฟังโดยที่มีผู้ชี้ทาง

นี่ไงเวลามีทางออกแล้ว เวลาปฏิบัติไปแล้ว มันออกได้จริงๆ ไง เวลามันออกได้จริงๆ มันมีออกไปทางไหนล่ะ นี่ออกได้จริงแล้วออกไปทางไหน?

ถ้าพูดเป็นภาษาโลกสมมุติบัญญัติทั้งนั้นน่ะ แต่สมมุติบัญญัตินี้เพื่อสื่อธรรมะ ถ้าธรรมะในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะในใจของครูบาอาจารย์เราออกมาจากใจ ออกมาจากความรู้จริงอันนั้น ถ้าความรู้จริงอันนั้นมันเข้มข้น มันมีข้อเท็จจริง มันมีเหตุมีผล

แต่เวลาเราศึกษาธรรมของเราขึ้นมา เราศึกษาธรรมวินัย ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสะอาดบริสุทธิ์ไหม...ใช่ สะอาดบริสุทธิ์ แต่มันเศร้าหมองไปด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเราเองไง กิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรา เห็นไหม ดูสิ เวลาคนทางโลกเขา ถ้าคนสายตาสั้น-สายตายาว สายตาสั้นก็เห็นพร่ามัว สายตายาวไปก็เห็นพร่ามัว เวลาคนสายตาเอียง เขาเห็นภาพเอียงของเขาตลอดไป เวลาคนตาบอดสีล่ะ ตาบอดสีก็เห็นเป็นสีเทาไปหมดเลย ไม่มีสีสันสักอย่างหนึ่ง เห็นไหม นี่พูดถึงสายตานะ

ทีนี้พอเราศึกษาขึ้นมานี่โดยกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรา “มุมมองของเรา” ถ้ามุมมองของเราล่ะ ถ้าสายตาสั้น-สายตายาว เราอ่านหนังสืออ่านไม่ออกเลยนะ เพราะมันมองเห็นไม่ได้ มันต้องใส่แว่น ใส่แว่นขยาย ใส่ต่างๆ เพื่อจะให้เห็นอักษรนั้น เห็นอักษรนั้น ศึกษาธรรมอ่านออกแล้ว ออกมามันก็ยังเป็นความลังเลสงสัย ความลังเลสงสัยในหัวใจนะ

นี่ “ธรรมะลวงตา ภาพลวงตา”

เวลาภาพลวงตานะ ถ้าภาพลวงตามันต้องเห็นภาพมันถึงจะลวงตา แต่นี่มันเห็นภาพไหม มันไม่เห็นภาพลวงตา มันเป็นความเห็นผิดเลย ถ้ากิเลสตัณหาความทะยานอยาก โดยสายตาสั้น สายตายาวนี่มันเข้าใจผิด เห็นผิดไปหมดล่ะ

แต่ถ้าเป็นภาพลวงตามันต้องเห็นภาพนั้น เห็นภาพนั้น เห็นไหม ดูสิ เราอ่านหนังสือนั้น เราอ่านศึกษาธรรมะนั้น เรามีความเห็นผิดไป เห็นผิดไปมีความเห็นผิด แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาเกิดภาพขึ้นมาล่ะ เกิดภาพขึ้นมานะถ้าจิตมันสงบ จิตมันสงบขึ้นมาแล้วมันเห็นของมัน ความเห็นสิ่งนั้น ถ้าเห็นไม่จริง...ความเห็นจริงแต่เรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ มันจะเป็นความจริงไปได้อย่างไร มันเป็นความจริงไปไม่ได้ นี่เวลาประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม

“ปริยัติ” สิ่งที่เราศึกษามาเราศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ทีนี้เราศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ เราเกิดมา เห็นไหม เราเกิดมาท่ามกลางกึ่งพระพุทธศาสนา กึ่งพระพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกบอกไว้แล้ว “กึ่งพระพุทธศาสนา ศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง”

คำว่า “เจริญ” นะ ทางโลกกัน คำว่า “เจริญ” เขาก็สิ่งปลูกสร้าง สิ่งต่างๆ มันวิจิตรพิสดาร ว่าสิ่งนั้นเป็นความเจริญ ถ้าเป็นความเจริญ “โดยธรรม” เวลาปริยัติศึกษาธรรม ศึกษาธรรม พอปฏิบัติขึ้นมานี่ปรมัตถธรรม ปรมัตถธรรมที่ว่าในการปฏิบัติ ถ้าพูดถึงแสดงธรรมในภาคปฏิบัติเห็นไหม สิ่งนั้นจะไม่มีค่า ถ้าพูดให้มันไม่มีค่า ถ้าไม่มีค่าเราไปติดมันได้อย่างไร

เราปลูกสิ่งที่มันวิจิตรพิสดารมาขนาดไหน นี่ในปัจจุบันนี้นะ ในสิ่งก่อสร้างต่างๆ เขาต้องมีวิธีการที่รักษา นกมันจะมาถ่ายไว้ มูลของนกมันจะมีความสกปรก มันจะทำให้สิ่งนั้น... สร้างสิ่งใดไว้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ นกกามันมาอาศัย สิ่งต่างๆ มันมาอาศัย แล้วมันได้สิ่งใดมาล่ะ? มันได้เป็นประเพณีวัฒนธรรม

สิ่งที่ใดมันควรจะสร้าง ที่สมควรจะสร้างก็ควรสร้าง สร้างขึ้นมาเป็นประเพณีวัฒนธรรม ในเมื่อสังคมพุทธของเรา เราก็ต้องมีสิ่งใดที่เป็นเครื่องประดับ เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมประเพณีของชาวพุทธ

แต่เวลาเราจะปฏิบัติล่ะ ถ้าเราไม่เห็นโทษของมัน เห็นไหม ถ้าเราไม่เห็นโทษนะ เราก็จะไม่เห็นคุณ ในการประพฤติปฏิบัติ เวลาเราปวด เราเวทนา เราเจ็บปวดขึ้นมา เราเห็นโทษของมันไหม แล้วเราจะข้ามพ้นกับมันไหม ถ้าเราไม่เห็นโทษนะ เราก็จะไม่รู้จักคุณของมันหรอก แต่เราจะเห็นโทษ การเห็นโทษในที่เราหมักหมม สิ่งที่เรายึดมั่นถือมันกับสิ่งนั้น

เวลาในการสื่อสาร ในสังคมของกรรมฐานเรา เวลาหลวงปู่มั่น ในประวัติหลวงปู่มั่น มันมีสามเณรน้อยกับพี่สาวบวชเป็นชี เขาก็อยากจะก่อสร้าง พอเขาก่อสร้างขึ้นมา เขาก่อสร้างเจดีย์ขึ้นมา แต่ยังสร้างไม่เสร็จ ตายทั้งคู่ไง ตายทั้งคู่ไปเฝ้าอยู่นั่น เวลาหลวงปู่มั่นนะ ท่านไปภาวนาที่นั่น เห็นนะ พอจิตท่านสงบปั๊บท่านมองเห็นของท่าน พอเห็นของท่านว่าทั้งเณรน้อยทั้งแม่ชีมาเดินวนเวียนๆ แถวนั้น จนหลวงปู่มั่นท่านทำจิตสงบ ท่านสื่อความหมายได้ไง

“เป็นอะไรถึงมาทำอยู่ที่นี่ล่ะ”

“นี่เพราะว่าอยากจะสร้างเจดีย์ไว้ในพระพุทธศาสนา ด้วยบุญกุศล แต่สร้างไปแล้วมันไม่เสร็จถึงเสียชีวิตก่อน ก็เลยยังผูกพันอยู่ที่นี่”

หลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการนะ ท่านเทศน์ให้ “สิ่งที่เราทำมันก็เป็นบุญกุศลไปแล้ว สิ่งที่ทำมาแล้วมันก็เป็นบุญกุศลไปแล้ว แล้วทำไมไปผูกพันล่ะ ถ้าเรา สิ่งที่เป็นบุญกุศล ทำไมเราไม่ไปตามบุญตามกรรมนั้นล่ะ เราผูกพันอยู่นี่มันเป็นอะไรล่ะ? มันเป็นทิฏฐิมานะ มันเป็นความเห็นผิดเห็นไหม” นี่เวลาท่านเทศนาว่าการนะ เวลาเขาปล่อยใจของเขาได้ เขาไปเกิดเป็นเทวดานะ เพราะเขาได้ทำคุณงามความดีไว้แล้ว

นี่เวลาเราสร้างบุญกุศลเพื่อประโยชน์กับเรา แต่ถ้าเราไปยึดติดกับมัน มันก็เป็นโทษกับเรา นี่เป็นโทษกับเรานะ แล้วหลวงปู่มั่น เรามีครูบาอาจารย์ท่านไปแก้ไขของท่าน... “มี” ในครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นไปแล้ว ท่านจะไปรู้ไปเห็นอะไรของท่าน “ที่โลกพิสูจน์ไม่ได้”

ทีนี้โลกพิสูจน์ไม่ได้ โลกก็คือโลกใช่ไหม เราเป็นลูกศิษย์กรรมฐานใช่ไหม เราอยากประพฤติปฏิบัติใช่ไหม เวลามันมีความทุกข์ในหัวใจ “มันเป็นอะไรน่ะ? มันก็เป็นอารมณ์ความรู้สึกมันกดถ่วงในหัวใจของเรา ทำไมเราจับต้องมันไม่ได้ ทำไมเราไม่ไปรู้ไปเห็นมัน”

แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาประพฤติปฏิบัติ จิตของท่านสงบ จิตของท่านมีหลักมีเกณฑ์ของท่าน ท่านไปรู้ไปเห็นอะไรสิ่งต่างๆ ของท่าน ท่านสร้างบุญกุศลของท่าน ท่านทำเพื่อหัวใจของท่านด้วย ถ้าไปรู้เห็นสิ่งใดก็เทศนาว่าการให้เขาคลาย คลายความยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้นนะ พอเขาคลายมาแล้วนะ เขาไปเสวยภพที่ดีๆ ดีๆ ของเขานะ เขาระลึกถึงบุญถึงคุณนะ เขามากราบมาไหว้ มาระลึกถึงคุณ

เพราะว่าเขานึกเองไม่ได้ ทิฏฐิมานะของเขายึดของเขา ว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ เพราะสิ่งที่ว่าเราไม่เห็นโทษในนั้นไง เราไม่เห็นโทษในนั้นเราก็ไปยึดมัน พอยึดมันขึ้นมา มันทำให้จิต... พอจิตยึดมัน มันก็ติดอยู่ที่นั่นล่ะ แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านเทศนาว่าการเห็นไหม ปล่อย ปล่อย ปล่อย พอปล่อยเขาเสวยภพใหม่ ภพใหม่ ภพใหม่ เขาสำนึกบุญสำนึกคุณนะ นี้เพราะคนอื่นแก้ไข

แต่ในการประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะแก้ไขเรา ถ้าเราจะแก้ไขเรา ดูสิ ในจิตใจของเรามันมีสิ่งใดบ้างที่มันเหยียบย่ำหัวใจเราอยู่นี้ ถ้ามันเหยียบย่ำหัวใจเห็นไหม ไหนว่าเราเป็นคนที่ประเสริฐไง เราเป็นผู้ประเสริฐนะ เรามีเจตนาที่ดี เราเป็นชาวพุทธ แล้วเราแสวงหาทางออก เราจะหาทางออกกัน หาทางออกนะ ให้จิตออกจากความครอบงำของมาร ออกจากความครอบงำของความไม่รู้ อวิชชาคือความไม่รู้จักตัวมันเอง ถ้ามันออกจากความไม่รู้นี่ ให้มันเป็นอิสรภาพขึ้นมา ถ้าเป็นอิสรภาพขึ้นมาเห็นไหม นี่ศาสนามีคุณค่าตรงนี้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา “อาสวักขยญาณ” ชำระกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอาสวักขยญาณชำระล้างทำความสะอาดบริสุทธิ์เห็นไหม นี่เสวยวิมุตติสุข สุขที่ไม่มีใครได้เคยสัมผัส สุขที่ในวัฏฏะนี้ไม่มีใครเคยพบเคยเห็น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรกเป็นผู้ที่สัมผัสสิ่งนี้ขึ้นมา พอสัมผัสสิ่งนี้ขึ้นมาเห็นไหม เสวยวิมุตติสุขอยู่ แล้วถึงเวลาจะออกเทศนาว่าการไง “แล้วมันจะสอนได้อย่างไร เขาจะรู้กับเราได้อย่างไร เขาจะรู้สิ่งต่างๆ ที่มันเป็นความลึกลับมหัศจรรย์” มหัศจรรย์จนว่าเราคาดกันไม่ถึง เราคาดกันไม่ได้

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมผู้นั้นจะได้สัมผัสธรรม”

ผู้ใดปฏิบัติด้วยความด้นเดา...ถ้าจิตใจมันอ่อนแอ อ่อนด้อย มันด้นเดาเอง ด้นเดาไป มันเป็นความลวงตาทั้งหมดเลย ฉะนั้น สิ่งที่เป็นความลวงตามันทำให้เราล้มลุกคลุกคลานนะ ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเราเห็นโทษ เราก็ปล่อยวางสิ่งนั้น แล้วเราพยายามเจริญนะ เห็นโทษแล้วเราปล่อยวางสิ่งใด ปล่อยวางมาแล้วมันแล้วมันเก้อๆ เขินๆ อยู่อย่างนั้นเหรอ ปล่อยวางแล้วจะไปไหนต่อล่ะ

นี่ถ้าปล่อยวางเห็นไหม สุขกับทุกข์ อุเบกขา... อัตตกิลมาถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค แล้วไม่ไปไหนมันก็เป็นอุเบกขา อุเบกขามันก็จะเอียงไปสุขไปทุกข์นั่นแหละ

นี่ถ้ามันแบบว่ามันเก้อๆ เขินๆ แล้วมันจะไปไหนต่อ มันไปไหนต่อไม่ได้ เห็นไหม ไปไหนต่อไม่ได้เพราะว่าในสามัญสำนึกของจิตเรา สามัญสำนึกของเรา ความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึกนึกคิดมันมาจากไหนล่ะ มันมาจากภวาสวะ มาจากภพ มาจากฐีติจิต แล้วฐีติจิตของคนมันเข้มแข็งและอ่อนแอแตกต่างกันไป

นี่มันมีหลักมีเกณฑ์มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีหลักมีเกณฑ์มากน้อยแค่ไหน ความรู้สึกนึกคิดของคนมันถึงแตกต่างหลากหลาย ความแตกต่างหลากหลายแล้ว แล้วแตกต่างหลากหลายแล้วมันเป็นประโยชน์อะไรกับเราล่ะ

ถ้าเป็นทิฏฐิมานะจนกล้าเกินไป เหล็กเห็นไหม ดูมีดสิ ที่แบบว่าเขาชุบจนมันแข็งเกินไป สับสิ่งใดนะ มันบิ่นทันทีเลยล่ะ นี่มันกล้าเกินไปก็ใช้ไม่ได้ มันอ่อนแอเกินไปนะ มันก็งอหมด มันก็บิดเบี้ยวหมด มันก็ฟันสิ่งใดไม่เป็นประโยชน์ แต่ถ้ามันพอดีของมันเห็นไหม พอดีของมัน มันต้องคมกล้า แล้วคมกล้าแล้วทำอย่างไรต่อไป คมกล้าก็ใช้ประโยชน์ นั้นประโยชน์ในการใช้สอยมีดไง

แต่ของเรา “ประโยชน์ในการใช้สอยจิต”

เราจะใช้สอย เราจะแก้ไข เราจะดัดแปลง เราจะหาทางออกของเรา

ถ้าหาทางออกนะ เราเกิดมาเป็นมนุษย์นะ ในสมัยพุทธกาล ในปัจจุบัน ครูบาอาจารย์ของเรายังเหาะเหินเดินฟ้า ยังไปในวัฏฏะ ไปด้วยจิต มันยังมีอยู่ ยังมีอยู่หมายถึงว่าในสมัยพุทธกาลนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติธรรมขึ้นมา จนบรรลุธรรมขึ้นมา พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ต่างๆ พระอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาช่วยเผยแผ่ธรรม พระโมคคัลลานะจะไปสวรรค์ชั้นต่างๆ แล้วมายืนยันกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พยากรณ์ตลอด นี่เวลาไปอย่างนั้นนะ

ถ้าในปัจจุบันนี้เราจะหาทางออกกัน เราจะไปนรกสวรรค์ เราจะไปด้วยจิต ด้วยร่างกาย ด้วยความรู้ความเห็นเราน่ะ ไปกลับมาแล้วได้อะไร ไปกลับมาแล้วมันคืออะไร นี่ไง มันแก้ไขไม่ได้ด้วยกำลังของสมาธิหรอก นี่ไง อภิญญา ๖ รู้แล้วรู้ต่างๆ แล้วรู้กลับมาแล้วได้อะไร สิ่งอย่างนี้มันเป็นอริยสัจไหม มันเป็นทางออกจริงหรือเปล่า

นี่ไง เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีร่างกายและจิต ถ้าร่างกายของเรานะ ดูสิ เวลาทางวิทยาศาสตร์ เขาคิดค้น เขาประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ไว้เป็นเครื่องใช้ไม้สอยในโลกเราจนทำให้เราสะดวกสบายขึ้นมา นี่มหัศจรรย์มาก ทุกสิ่งอย่างเขาปฏิบัติมา เขาค้นคว้ามาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสังคมให้กับโลก แล้วเขาก็ได้รับคำชมเชย สุดท้ายแล้วเขาไปไหนต่อล่ะ เขาไปไหนต่อ

นี่ไง ในเมื่อปัญญาของเราใช้สอยขนาดนั้นมันก็เป็นเรื่องโลก ร่างกายของเรานะ เราจะดูแลรักษาขนาดไหน มันจะอยู่กับเราตลอดไปได้ไหม เราจะหาทางออกกันด้วยวิทยาศาสตร์ ด้วยโลก ด้วยกรอบ นี่มันเป็นไปไม่ได้เลย มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเสวยวิมุตติสุข จะออกเทศนาว่าการยังบอกว่า

“แล้วจะสอนโลกนี้ได้อย่างไร โลกเขาจะเข้าใจได้อย่างไร”

โดยพื้นฐาน โดยความรู้สึกนึกคิด โดยสามัญสำนึก เราก็คิดกันนึกกันด้วยความรู้สึกของเรานี่แหละ ทีนี้พอความรู้สึกของรานี่เราศึกษาธรรมขนาดไหน เราประพฤติปฏิบัติขนาดไหน มันก็เป็นสามัญสำนึก มันเป็นตรรกะ มันก็เริ่มต้นตรงนี้ โดยการประพฤติปฏิบัติถ้าเริ่มต้นจากตรงนี้ เริ่มต้นจากความเป็นมนุษย์ เริ่มต้นจากเรามีเจตนา มีเจตนาอยากจะพ้นจากทุกข์ จะหาทางออกของเรา เรามีความเชื่อมั่นในพุทธศาสนา...ก็เริ่มต้นจากนี่แหละ

เริ่มต้นจากเราเกิด เหมือนเด็กๆ เวลาเด็กคลอดออกมา มันไร้เดียงสา พ่อแม่ก็ต้องสั่งต้องสอน ต้องทะนุถนอมให้เจริญเติบโตขึ้นมา ต้องมีการศึกษา พอศึกษาโตขึ้นมาแล้วต้องมีอาชีพ มีอาชีพแล้วต้องดำรงชีวิตอยู่ให้ได้ ต้องทันสังคม เห็นไหม เหมือนกัน จิตก็เหมือนกัน พอจิตเราจะฝึกฝนขึ้นมาก็ฝึกฝน เด็กเห็นไหม เด็กมันไร้เดียงสาขึ้นมา เราให้วิชาการเขา ให้ความรู้เขา ให้ต่างๆ เขา ทั้งๆ ที่มันไร้เดียงสา มันสะอาดบริสุทธิ์นะ สะอาดบริสุทธิ์โดยประสาโลก คำว่า “ไร้เดียงสา”

แต่มันไม่มีสติ ไม่มีปัญญาที่จะเอาชีวิตรอดได้ก็แล้วกันแหละ แต่มันต้องเติบโตขึ้นมา

ฉะนั้น พอเติบโตขึ้นมา...นี่พูดถึงทางโลก

แล้วถ้าเป็นทางธรรมล่ะ ทางธรรมเห็นไหม เรามีเจตนา เราจะหาทางออก เราจะพ้นจากทุกข์ แล้วมันจะพ้นที่ไหน นี่เราจะเอาตัวเป็นๆ เอาร่างกายมนุษย์ให้มันพ้นไป มันเป็นธาตุ มันเป็นวัตถุ มันไม่มีชีวิตนะ มันไม่มีชีวิต เห็นไหม วัตถุมันไม่มีชีวิต เวลาถ้าจิตออกจากร่างนะ

แต่ถ้าเป็นมนุษย์มีชีวิตไหม? มี ถ้ามีชีวิต นี่ชีวะ “ชีวะ” ชีวะมันคืออะไร ชีวะมันก็ปฏิสนธิจิต ทีนี้ปฏิสนธิจิตมันได้เกิดเป็นมนุษย์มาแล้ว พอได้เกิดเป็นมนุษย์มาแล้ว “สถานะ” สถานะเห็นไหม ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕

ทีนี้ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ...จิตเป็นพลังงานเฉยๆ จิตนี้เป็นพลังงานนะ ฐีติจิตเป็นพลังงาน แล้วขบวนการของมัน ขบวนการที่ชีวิตเราใช้อยู่ มันก็ขบวนการของมันอยู่นี่ แล้วเราก็เอาขบวนการอย่างนี้มาศึกษาธรรมะ มาศึกษาธรรมะ ถ้าขบวนการอย่างนี้มาศึกษาธรรมะ นักวิทยาศาสตร์ของเขาใช้ปัญญาของเขาเพื่อรื้อเพื่อทำวิจัย เขาพยายามพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แล้วเขาได้ประโยชน์อะไรล่ะ

แล้วเราศึกษาธรรมะเห็นไหม มันต่างกันตรงไหน เราศึกษาธรรมะ เราก็วิจัยในธรรมนี่ล่ะ เราวิจัยในธรรม ถึงที่สุดถ้าจิตของคนมีความฝักใฝ่ มันก็ลงสู่ความสงบทั้งนั้นน่ะ “ลงสู่ความสงบ” ถ้าลงสู่ความสงบแล้วสงบ มันไปไหนต่อล่ะ

นี่ไง ถ้าจิตมันสงบ เห็นไหม สิ่งที่เป็นภาพลวงตานี่นะ ถ้าจิตมันสงบไปแล้วถ้ามันไปเห็นสิ่งใด เหมือนกับคนเรา เวลาเราขับรถไป เราเห็นพยับแดดไหม นี่พยับแดด เหมือนมันจะมีนะ เหมือนมันจะมีเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา แต่พอเข้าไปมันแค่เป็นอุณหภูมิเป็นความร้อน ความร้อนของมัน มันไหวตัวของมัน นี่มันก็เป็นเท่านั้นเอง

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตเราศึกษาเพื่อความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบขึ้นมาล่ะ ใจสงบขึ้นมามันสงบจริงไหม ถ้ามันสงบขึ้นมาแล้วมันไปเห็นสิ่งใด ถ้าเห็นสิ่งใดเห็นไหม สิ่งที่เห็นมันไม่เป็นความจริง มันเป็นภาพลวงตา ถ้าภาพลวงตาเราไปติดสิ่งนั้นได้ไหม

นี่ไง ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์จะบอกว่าพยายามทำความสงบของใจ แล้วใจที่มันจะสงบมันแตกต่างหลากหลายนะ บางคนก็สงบไปโดยเรียบง่าย บางคนก็สงบไปโดยที่มันจะมีเห็น รู้เห็นสิ่งต่างๆ แล้วเวลาสงบขึ้นไป ความสงบเห็นไหม กว่าเราจะทำความสงบของใจได้นะ โดยสามัญสำนึกเราคิด เรารู้ เราศึกษาโลกด้วยสามัญสำนึก ด้วยความเป็นมนุษย์

เหมือนเด็กอ่อนไร้เดียงสา เด็กไร้เดียงสานี่เพราะมันไร้เดียงสาโดยสัญชาตญาณของมัน แต่นี่เราเป็นผู้ใหญ่ เรามีความฝักใฝ่ที่เราจะออกจากทุกข์ นี้เราศึกษาธรรมะขึ้นมาเหมือนกับไร้เดียงสา รับรู้แบบเถรตรงไง “ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้” นี่ยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นแล้วมันจะปฏิบัติอย่างไรต่อล่ะ

ศึกษาแล้วเห็นไหม ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในครูบาอาจารย์ของเรา เวลาศึกษาแล้วนี่ให้วาง ศึกษานี้ไว้เทียบเคียง เวลาหลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติอยู่ในป่า ถึงเวลาแล้วท่านจะทดสอบภูมิคุณธรรมของท่าน ท่านเข้ามาวัดบรมนิวาส ท่านมาค้นคว้า เปรียบเทียบ มาสนทนาธรรมกับเจ้าคุณอุบาลีเพื่อตรวจสอบความเป็นจริงของท่าน เพื่อตรวจสอบเห็นไหม แล้วท่านก็ประพฤติปฏิบัติในป่าของท่าน พอตรวจสอบแล้วก็เข้าป่าไปพยายามค้นคว้า พยายามประพฤติปฏิบัติให้มันเป็นความจริงขึ้นมา

ถ้าเป็นความจริงขึ้นมาเห็นไหม สิ่งที่เราศึกษา เราศึกษามาเพื่อเป็นแนวทาง แล้วถ้าปฏิบัติล่ะ ถ้าศึกษาปฏิบัติเห็นไหม “พอเรานั่งสมาธิอย่างนี้ก็เป็นสมาธิ ปัญญามันจะเกิดอย่างนั้น ปัญญามันเกิดแล้วนะ มันก็เกิดศีล สมาธิ ปัญญาใช่ไหม มันก็เกิดมรรคญาณใช่ไหม มรรคญาณมันก็รวมตัวใช่ไหม มันก็เป็นมรรคที่เข้ามาชำระกิเลสใช่ไหม”

นี่มันหลอกลวงเราเลยนะ มันลวงเราหมดเลย

คำว่า “ภาพลวงตา” นี่เราไปเห็น แต่นี้มันไม่ใช่ภาพลวงตา

นี้เป็นความเห็นผิด นี้คือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันทำให้การปฏิบัติของเราไขว้เขว พอมันไขว้เขวไป ด้วยความเถรตรงของเราใช่ไหม ถ้าเราไม่ปฏิบัติอย่างนี้เราก็รู้ไม่ได้ ถ้าเราไม่ปฏิบัติธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็จะบรรลุธรรมเราจะรู้ธรรมไม่ได้ เพราะธรรมนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้แล้ว เราก็ต้องเดินตามธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันจะผิดไปไหน มันถูกต้องดีงามไปหมดล่ะ

แต่กรรมฐาน “วงกรรมฐานเวลาบอก พุทโธ พุทโธ ทำใจให้สงบมาก่อน เวลาทำปัญญาอบรมสมาธิเพื่อทำใจให้มันสงบ สิ่งนี้ทำนอกลู่นอกรอยนอกแบบ ทำแล้วไม่ตรงตามความเป็นจริง” เวลาเด็กนะ เวลามาศึกษากับครูบาอาจารย์นะ เด็กมันไปโรงเรียนเห็นไหม อาจารย์ก็สอน แต่เด็กเวลามันไบร์ทนะ มันมีปัญญาของมันนะ มันคิดตอบคำถามได้ก่อน มันรู้ของมันไปก่อน นี่มันรู้ของมันเห็นไหม นี่ไง ตามที่ครูบาอาจารย์สอนไง

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเป็นหลัก โดยหลักเป็นอย่างนั้น “โดยหลักเป็นอย่างนั้น” แต่โดยวิธีการที่เราจะทำ เราจะต้องทำให้เป็นความจริงของเรา ถ้ามันเป็นความจริงของเราเห็นไหม ถ้าความจริง นี่ไง ครูบาอาจารย์บอกว่า “ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน”

พอใจมันสงบเข้ามานะ ถ้ามันมีความรู้ความเห็น ถ้าความรู้ความเห็นนะ เห็นภาพเห็นไหม นิมิตเป็นอย่างไร ถ้าเป็นภาพลวงตา ธรรมะลวงตา มันก็ทำให้เราไขว้เขว เวลาจิตเห็นแสง แสงคืออะไร เห็นทุกอย่าง...ความรู้ความเห็นมันทำให้เราละล้าละลัง ทำให้เราไม่มั่นคง ในการปฏิบัติของเราก็เหลวไหล ทั้งๆ ที่ว่าเราพุทโธมา เราทำความสงบของใจเข้ามา พอใจมันสงบ...

ถ้าใจมันไม่สงบนะ ใจไม่สงบโดยที่มีหลักมีเกณฑ์ หรือใจสงบพอสมควร มันจะไปรู้ไปเห็นสิ่งที่แปลกจากโลกไปไม่ได้หรอก โดยทางโลกนะ ถ้าเราเห็นเห็นไหม เว้นไว้แต่คนสายตาสั้น คนสายตายาว คนตาเอียงต่างๆ เขาจะเห็นแปลกจากโดยข้อเท็จจริง เพราะสายตาของเขามันคุณภาพเป็นแบบนั้น

แต่ถ้าเป็นโดยความสมบูรณ์ ทุกคนจะเห็นเหมือนกัน ทุกคนจะรู้เหมือนกัน ความรู้ความเห็นมันก็เป็นเรื่องเหมือนกันไปหมดล่ะ

ฉะนั้น เวลาเราทำความสงบของใจเข้ามาล่ะ ถ้าใจสงบของเราเข้ามาเห็นไหม สิ่งที่รู้ที่เห็นเห็นไหม ดูสิ เวลาสายตาของคนมันชำรุด สายตาของคนมันพิการแตกต่างกันไป... “จิต” จิตเวลาทำความสงบของใจขึ้นมา สิ่งที่รู้เห็นแสง รู้เห็นต่างๆ เห็นไหม นี่ไง มันก็แตกต่างกันไป ถ้ามันแตกต่างกันไป แล้วเราไม่ได้สายตาสั้น เราไม่ได้สายตายาวแล้วทำไมเราจะต้องให้รู้ให้เห็นแบบนั้น สายตาเราเป็นปกติ เรามองภาพสิ่งใดเราจะให้ภาพของเราให้ภาพเหมือนคนสายตาสั้น สายตายาว เป็นไปได้ไหม? มันเป็นไปไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราพุทโธ พุทโธ หรือเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตเราสงบเข้ามาโดยความเรียบง่าย มันก็กลับมาเป็นความปกติ เราไม่ใช่คนสายตาสั้น สายตายาว แต่ถ้าคนสายตาสั้น สายตายาว สายตาคือสายตานะ แต่จิตเป็นจิตนะ ไม่เกี่ยวกัน แต่ถ้าเป็นจิต เราพยายามของเรา เพราะว่าสายตาสั้น สายตายาว มันก็มีพลังงาน มันก็มีตัวจิตรับรู้ แต่รับรู้แล้ว เพราะด้วยจอประสาท ด้วยความบกพร่องของร่างกายมันถึงส่งข้อมูลเข้าไปสู่หัวใจด้วยความรู้ความเห็นแบบนั้น

ฉะนั้น แต่ถ้าเราหลับตาซะ แล้วเรากำหนดพุทโธ พุทโธ มันก็เข้าไปสู่ใจได้เหมือนกัน เว้นไว้แต่จิตใจที่เข้มแข็ง ที่อ่อนแอ นั้นอีกเรื่องหนึ่ง จิตใจที่เข้มแข็ง ที่อ่อนแอ มันจะมีความมุมานะได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีความมุมานะทำของเราเข้ามา ถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ เพราะคำว่า “สงบ” กว่าที่จิตมันจะสงบเข้ามาสู่ฐีติจิต สู่ใจของตัว ถ้าจิตใจของคนสร้างเวรสร้างกรรม อำนาจวาสนาของคนมันแตกต่างหลากหลาย วิธีการการเข้าสู่ใจมันถึงแตกต่างมหาศาลเลย

ฉะนั้น เวลาโดยพื้นฐานของเรา เราไม่ต้องการสิ่งใด เราต้องการความสงบ แต่ถ้ารู้เห็น เห็นแสง เห็นดวง เห็นต่างๆ วางให้หมด นั้น “ภาพลวงตา” ทำให้จิตใจเราออกไปรับรู้

อ้าว! แล้วเมื่อก่อนทำไมมันไม่รู้ล่ะ ถ้าโดยปกติ เราไม่ได้ภาวนา เราก็ไม่เคยรู้เคยเห็นสิ่งนี้ พอเราเริ่มกำหนดขึ้นมา กำหนดพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา ทำไมไปรู้เห็นสิ่งนี้?

รู้เห็นสิ่งนี้เพราะจิตมันเปลี่ยนแปลง จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ มีหลักฐานขึ้นมา มันถึงรู้ของมัน แต่ความรู้นี้สติปัญญามันอ่อนแอ พออ่อนแอรู้แค่หญ้าปากคอก รู้แค่จิตมันจะเริ่มสงบเข้ามา แต่มันเจออุปสรรคด้วยเวรด้วยกรรมของจิตแต่ละดวง ถ้าจิตแต่ละดวงนะ เราถึงไม่ต้องไปรับรู้สิ่งที่ส่งออกนั้น เพราะสิ่งที่มันจะสงบเข้ามาจนรู้เห็นดวงเห็นแสง เห็นภาพนิมิต เห็นต่างๆ ก็เกิดจากคำบริกรรม

เวลาพระสารีบุตรตามพระอัสสชิไป แล้วถามพระอัสสชิเพื่อจะเอาหลักเอาเกณฑ์ไง เวลาพระอัสสชิบอกพระสารีบุตรนะ บอกว่า

“องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่าธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ให้เข้าไประงับที่เหตุนั้น ให้เข้าไปต่อสู้ที่เหตุนั้น”

นี่เหมือนกันเวลาเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ พอจิต “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” เราได้สร้างเหตุของเรามา ถ้าเราสร้างเหตุของเรามา พอจิตมันมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา มันถึงออกไปรับรู้สิ่งนั้น ออกไปรับรู้สิ่งนั้นแต่มันอ่อนด้อย ไม่มีสติปัญญามันก็เลยยึดมั่น รู้ เชื่อถือเป็นแบบนั้น แล้วก็จะส่งออกไปแบบนั้นเห็นไหม

นี่ไง คำว่า “ภาพลวงตา” มันยังไม่ได้เข้าหลักเข้าเกณฑ์สิ่งใดเลย แต่มันไปรู้ไปเห็นตามนั้นน่ะ

ถ้ารู้เห็นอย่างนั้นแล้วปล่อยวาง ปล่อยวาง แล้วกำหนดพุทโธให้ชัดๆ พุทโธให้ชัดๆ เข้ามา ถ้าพุทโธให้ชัดๆ เข้ามา คำว่า “ชัดๆ” มันมีสติพร้อม ทุกอย่างพร้อม พอพร้อมขึ้นไป ถ้าไม่ชัด สติไม่พร้อมมันก็ไม่ชัด ถ้าพุทโธไม่ชัดสติมันก็ไม่มี พอสติไม่มีพุทโธมันถึงเหลวไหล พอเหลวไหล สักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าท่องบ่นไป แต่จิตใจมันส่งออกไป มันเร่ร่อนของมันไป ก็ยังพุทโธแต่ปาก พุทโธไปอยู่อย่างนั้นน่ะ มันถึงไม่ชัดเจน

ถ้าชัดเจนสติมันพร้อม ถ้ามีสติมันถึงคำบริกรรมมันถึงจะชัด ถ้าคำบริกรรมมันชัดปั๊บ พอคำบริกรรมมันชัด พลังงานมันจะไปไหน เพราะพลังงานมันใช้อยู่กับพุทธานุสติ พอพลังงานมันอยู่กับพุทธานุสติเห็นไหม ยิ่งชัดขนาดไหน สิ่งที่รู้ที่เห็น ภาพลวงตานั้นมันจะปล่อยวาง ปล่อยวาง ปล่อยวางเข้ามา ถ้าจิตมันมีหลักมีเกณฑ์เข้ามานะ ถ้ามีหลักมีเกณฑ์เข้ามาจนจิตมันสงบมีหลักมีเกณฑ์ ตั้งมั่น พอตั้งมั่นนะ ตั้งมั่นขึ้นมา เราเห็นภาพนั้นไหม

ถ้าจิตเราสงบนะ เราเห็นภาพนั้น เห็นภาพแล้วเห็นโดยข้อเท็จจริง ถ้าเห็นโดยข้อเท็จจริงแล้วมีสิ่งใดต่อไป เห็นโดยข้อเท็จจริงเกิดปัญญาไหม นี่ไง ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วถ้าปัญญามันเกิดขึ้นภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการวิปัสสนาญาณ ปัญญาเกิดจากจิต จิตมันได้วิปัสสนา มันได้แยกได้แยะขึ้นมา มันถึงจะเกิดปัญญาของมัน ถ้าปัญญาเกิดขึ้นมา สิ่งที่เห็นเห็นด้วยจิต เห็นภาพนั้นด้วยจิตแล้วมีปัญญา ปัญญาที่มันเร็วมาก มันเห็นการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงของจิต อุคคหนิมิต-วิภาคะ การแยกส่วน-ขยายส่วน การแยกส่วน-ขยายส่วน การเห็นนั้นสิ่งที่เห็นมันแยกตัวออก มันแปรสภาพของมัน สิ่งที่เห็นมีปัญญาไหม นี่ไง มันต้องสัมปยุตด้วยปัญญา แล้วปัญญาที่เกิดนั้นไม่ใช่ปัญญาสามัญสำนึกที่เราทำกันอยู่นี่ ปัญญาสามัญสำนึกที่ว่าเราใช้ปัญญาๆ กันอยู่นี่ ที่ว่าเราใช้ศึกษาธรรมะ สิ่งนี้มันเป็นโลกียะ มันเกิดจากสามัญสำนึก มันเกิดแบบวิทยาศาสตร์ เกิดแบบโลกที่เขาศึกษาเป็นวิชาชีพกัน

แต่เวลาภาวนาขึ้นมา เวลาภาวนาขึ้นไป ถ้าจิตมันสงบขึ้นไปมันถึงเป็นการไม่หลอกลวง ไม่ต้มตุ๋นตัวเองไง ถ้าเกิดภาพลวงตามันก็ทำให้เราไข้วเขวออกไปนอกลู่นอกทาง เกิดเป็นทิฏฐิมานะ เกิดความรู้ความเห็นว่าเราได้ศึกษาธรรม เราได้เข้าใจธรรมะ นี่มันต้มตุ๋นหลอกลวงตัวเองนะ สิ่งที่เราเข้าใจ เราศึกษา เราจำธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา มันเป็นสามัญสำนึกไง มันเป็นโลกียปัญญาไง มันเป็นสุตมยปัญญาไง ถ้ามีการตรึก มีการใคร่ครวญมันก็เป็นจินตมยปัญญา มันก็เป็นจินตนาการ จินตนาการแล้วมันเป็นความจริงไหม ถ้าจินตนาการ พอมันจินตนาการสิ่งใดๆ มันเข้าถึงใจไหม? มันเข้าไม่ถึงใจ ถึงจะต้องให้สงบเข้ามาให้เกิดปัญญา

ปัญญาที่เราปรารถนากันอยู่นี้มันเรียกว่า “ภาวนามยปัญญา” แล้วถ้าภาวนามยปัญญามันใคร่ครวญนะ จิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมโดยตามความเป็นจริง เห็นไหม “โดยตามความเป็นจริง” ถ้าโดยตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราใช้จิตของเรา ใช้ปัญญาของเรา ใช้ปัญญาแยกแยะใคร่ครวญการรู้การเห็นนั้น

การฝึกฝนการฝึกหัดการใช้ปัญญา ถ้าการฝึกหัดการใช้ปัญญา แยกแยะส่วนที่รู้ที่เห็นตามความเป็นจริง นี่ไง ถ้าแยกแยะส่วนที่รู้ที่เห็นตามความเป็นจริงนะ ถ้ากำลังมันพอ กำลังมันดี โดยการประพฤติปฏิบัติ “ความละเอียดอ่อน” ความละเอียดอ่อนเห็นไหม ดูงานสิ งานทางโลกเขา งานอาบเหงื่อต่างน้ำนั้นเป็นงานของกรรมกร งานที่การบริหารจัดการนั้นเป็นงานของผู้บริหาร งานที่กำหนดนโยบาย เป็นผู้ที่ควบคุมองค์กรต่างๆ

นี่ไง สิ่งที่จิตที่จิตเวลามันสงบเข้ามาแล้ว ถ้าสงบเข้ามาแล้ว ถ้ามันใช้ปัญญาของมัน มันแยกแยะของมัน...คนที่ใช้ปัญญาโดยกำหนดนโยบายนะ เขาก็ต้องพิจารณาของเขาว่าควรกำหนดวางนโยบายอย่างไร เพื่อให้องค์กรนั้นประสบความสำเร็จ เวลาจิตที่มันละเอียดเข้าไปเห็นไหม ถ้าใช้ปัญญาอย่างโลกๆ มันก็ใช้ปัญญาเพื่อความปลอดโปร่ง เพื่อเป็นเป้าหมายของการใช้ความคิด

แต่เวลาจิตมันสงบเข้ามา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันก็เป็นการควบคุมตัวเองให้สะอาด ให้มีพลังงาน ถ้ามันส่งออก มันไม่สะอาด หมายถึงว่ามันบวกสัมปยุตด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก คิดเรื่องนู้นเรื่องนี้ออกไปเห็นไหม ถ้าเราใช้พุทโธๆ คำบริกรรม กับใช้ปัญญาอบรมสมาธิเพื่อให้พลังงานนี้ไม่หมอง ไม่เศร้าหมองไปด้วยกิเลส ให้มันผ่องใส ให้มันมีกำลังของมัน นี่ปัญญาอีกระดับหนึ่ง

“ปัญญาอบรมสมาธิ” คิดต่างๆ มันเข้าเป็นสมาธิ เป็นสมาธิแล้วทำอย่างไรต่อไป? ถ้าจิตมันสงบเป็นสมาธิแล้ว ถ้ามันเห็นกาย เห็นต่างๆ ถ้าจิตเป็นสมาธิแต่สมาธินั้นไม่เข้มแข็ง สมาธินั้นเห็นแว็บๆ แว็บๆ มันก็เป็นเหมือนกับภาพลวงตาเหมือนกัน ถ้าภาพลวงตา เห็นจริงๆ ก็เป็นภาพลวงตา เพราะมันยังไม่เป็นประโยชน์ไง

แต่ถ้าจิตมีกำลังขึ้นมา ความรู้ความเห็น เห็นกาย เห็นจิต เห็นจิตคือเห็นรูป เห็นอารมณ์ จับอารมณ์ความรู้สึก จับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปคือความรู้สึกนึกคิดทั้งหมด ในรูปนั้นมันประกอบไปด้วยเวทนา ประกอบไปด้วยสัญญา ประกอบไปด้วยสังขาร ประกอบไปด้วยวิญญาณ แล้วมันแยกแยะของมันอย่างใด ถ้ามันแยกแยะของมันเพราะมันมีกำลังของมัน มันแยกแยะของมัน เห็นไหม แยกแยะอย่างนี้ มันเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาตรงไหน วิปัสสนามันเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา ไม่ใช่ปัญญาเกิดจากธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่เราบอกว่า “ธรรมวินัย ศึกษาวินัย ต้องให้ตรงตามนั้น ปฏิบัติต้องตรงตามธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ตรงตามความเป็นจริงแล้วเราจะบรรลุธรรม เราจะตรัสรู้ธรรมขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าเราจะตรัสรู้ธรรม เราต้องทำตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระอานนท์ “อานนท์ เรานิพพานไปเราก็เอาแต่ธรรมของเราไป เราไม่เอาของใครไปเลย” แล้วท่านเป็นศาสดา เป็นครูเอกของโลก จึงวางธรรมและวินัยนี้ไว้

“วางธรรมวินัย” เป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสมบัติสาธารณะ เป็นสมบัติที่เราเอาสติปัญญาของเรา โดยที่อวิชชา สติปัญญาของเราที่ไม่สะอาด ไปศึกษามา ไปจำมาเป็นแนวทางมา เพราะกลัวผิด กลัวพลาด กลัวไม่เดินตรงตามธรรม กลัวที่เราจะไขว้เขวออกจากธรรม ศึกษามาเต็มที่เลย

แล้วเวลามาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา โดยศึกษาธรรมขึ้นมา มันเป็นกรอบ เป็นสัญญาที่ในหัวใจ เวลาปฏิบัติไป ล้มลุกคลุกคลานน่ะ มันหลอกตัวเองทั้งนั้น มันต้มตุ๋นให้เราล้มลุกคลุกคลาน ไปไม่รอดเลย

แต่พอวาง วางธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ศึกษาแล้ว รู้ช่องทางแล้ว ทีนี้เราจะปฏิบัติ ให้ปฏิบัติโดยความเป็นจริง เห็นไหม เราปฏิบัติตามความเป็นจริง มันก็หลอก มันก็ลวง มันก็ต้ม มันก็ตุ๋น สิ่งที่ว่ารู้ว่าต้มว่าตุ๋น เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติมาก่อน ท่านถึงพยายามจะบอกกับพวกเราว่า

“ให้วางไว้ก่อนนะ อย่าใจร้อนด่วนได้ อย่ารีบด่วนจนเกินเหตุเกินผล คนที่มักง่ายจะทุกข์จะยาก คนที่บากบั่นมีความเพียรชอบ เริ่มต้นด้วยความเพียรวิริยะอุตสาหะ ผู้นี้จะประสบความสำเร็จ จะประสบความปลอดโปร่งของหัวใจ”

ฉะนั้น ให้วางสิ่งที่ศึกษาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นแนวทาง เป็นสิ่งที่ประเสริฐ เป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ และเราแสวงหาทางออก เรามีทางออก ทางออกด้วยอริยสัจ ด้วยสัจจะความจริงอันนี้ แต่จิตใจของเรามันยังสกปรก จิตใจของเรามีอวิชชาอยู่ มันจะเคลมเอา มันจะบังคับเอา มันจะตะล่อมเอาว่าให้เป็นแบบนั้น การปฏิบัติมันก็เลยลุ่มๆ ดอนๆ ตลอด

แต่ถ้าเราวางนะ วางให้ได้ อย่างเช่น เรากำหนดพุทโธก็แล้วแต่ ปัญญาอบรมสมาธิก็แล้วแต่ มันก็บอกว่า “นี่เป็นสมาธิอย่างนี้ นี่เป็นขณิกะ นี่เป็นอุปจาระ นี่เป็นอัปปนา ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิมันจะปล่อยวางอย่างนี้” นี่ไง มันจะเคลมเอาอย่างนี้ แล้วมันจะเป็นไหมล่ะ ละล้าละลังนะ ทุกข์ยากมาก

งานทางโลกนะ ทำจบก็คือจบนะ จะกวาดขยะ กวาดใบไม้ กวาดเสร็จมันก็จบแล้ว เวลาตีตาดทำอะไรมันก็จบหมดล่ะ จะถูศาลาจะทำอะไรเดี๋ยวก็จบหมดล่ะ แต่ถูหัวใจไม่จบสักที เก็บกวาดในใจนี่มันไม่หมดสักที นี่ไง สิ่งที่ “ไม่หมดสักที” มันเป็นอย่างนั้นไหมล่ะ มันเป็นแนวธรรมที่พระพุทธเจ้าบอกไหมล่ะ เพราะสิ่งนั้นถ้ามันเป็นวัตถุนะ เก็บกวาดสิ่งใดมันก็จบ หัวใจมันเก็บกวาดขนาดไหน มันก็คิดขึ้นมาใหม่ มันก็คิดแล้วคิดอีก ละล้าละลังๆ มันเก็บตรงไหน มันจะเก็บอย่างไร

“ชีวะ” สิ่งที่มีชีวิต...จิตนี้มีชีวิต เหมือนหญ้า ดูหญ้าสิ เวลาเราถางหญ้าแล้ว พอมันชื้นน้ำอากาศ มันก็งอกใหม่ มันก็งอกใหม่ นี่อวิชชามันก็เป็นแบบนั้น อนุสัยมันนอนมากับใจ มันเกิดตลอด มันเสียด มันแทงมาในใจตลอด แล้วเราบอกว่า “ต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้น” มันเป็นจริงอย่างไร วางไว้... วางไว้...

เวลาเราถางหญ้าแล้ว หญ้ามันก็งอกอีก หญ้ามันก็เกิดอีก เกิดอีกเพราะความชื้น เกิดอีกเพราะเราไม่ดูแลรักษาใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน พุทโธๆ พุทโธมันจะแลบ มันจะแฉลบอีก มันก็จะออกไปทั้งนั้นล่ะ นี่เราทำใจของเราให้สงบ ทำใจของเราให้ตามความเป็นจริง ให้มันเป็นความเป็นจริง วางให้หมด อย่าละล้าละลัง อย่าห่วงหน้าพะวงหลัง กลัวจะไม่ได้วิปัสสนา กลัวตัวเองจะไม่บรรลุธรรม กลัวไปหมดเลย

นี่ถ้ามันวางได้ วางสิ่งใดไว้อย่างหนึ่ง แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติ ถ้าพยายามประพฤติปฏิบัติ ตั้งสติของเรา แล้วใช้คำบริกรรม ถ้ามีคำบริกรรมเห็นไหม จิตมันมีพุทธานุสติ มีสติด้วย อยู่กับคำบริกรรมด้วย ไม่ส่งออกไป ถ้ามันรู้มันเห็นมันยังเป็นภาพลวงตาอยู่

มันเป็น “ธรรมะลวงตา” ลวงตาเพราะกิเลสนะ

ถ้าเราไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ มันก็ว่าเราเป็นคนดี เราเป็นคนประเสริฐ เราเป็นคนดีงามทั้งนั้นล่ะ แต่เวลาเราจะปฏิบัติ เราจะพ้นจากกิเลส เราจะหาทางออกของชีวิต กิเลสที่มันอยู่ในหัวใจของเรา มันเริ่มแสดงตัวแล้ว มันเริ่มฟาดงวงฟาดงาใส่ใจเรา ล้มลุกคลุกคลานทั้งนั้นล่ะ

แต่ถ้าเราบอกว่า “เราเป็นคนดี เราเป็นคนประเสริฐ เราเป็นคนยอดเยี่ยม” นี่ไม่ได้ไปทำลายกิเลสนะ กิเลสมันนอนอยู่ในหัวใจนะ มันพอใจ แล้วเราก็ไม่มีสิ่งใดขัดแย้งกับใจนะ อยู่ที่ไหนก็มีความสุข อยู่ที่ไหนก็มีความรื่นเริง แต่พอมานั่งสมาธินะ พอเริ่มจะสู้กับมันนะ เริ่มจะทำความสะอาดใจ เริ่มจะเข้าไปสู่มัน กิเลสมันหาทางออก มันพลิกแพลงนะ เรานี่ล้มลุกคลุกคลานทุกที

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะเข้าใจเรื่องนี้ ถ้าเข้าใจเรื่องนี้นะ ในเมื่อเราต้องการใช้น้ำ ชีวิตนี้ขาดน้ำไม่ได้ ในเมื่อเราต้องการใช้น้ำ น้ำมาจากไหนล่ะ น้ำมาจากฟ้า คือมาจากเมฆฝน น้ำมาจากดิน จากเราขุดบ่อ ขุดสระเพื่อหาน้ำใช้ นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราต้องการความสงบของใจ ถ้าจิตใจนี้สงบเห็นไหม จิตใจจะร่มเย็น จะใช้สิ่งใดเป็นพื้นฐาน

“ศีล สมาธิ ปัญญา” ปัญญาจะเกิดต่อเนื่องไป

เพราะเราใช้น้ำ เรามีน้ำ เราจะทำสิ่งใดเป็นประโยชน์สิ่งใดกับสิ่งมีชีวิตมันได้ต่อไปข้างหน้า ฉะนั้น สิ่งที่เราจำเป็นต้องใช้ เราจำเป็นต้องการดำรงชีวิต ฉะนั้น เราถึงจะต้องทำ ถ้าเราจะต้องทำขึ้นมานะ ถ้ามันไม่สงบเข้ามา จิตใจไม่สงบเข้ามา มันมีปัญญาหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ หมุนเวียนอยู่โดยโลกียปัญญา มันจะหมุนเวียนของมันอยู่อย่างนี้ มันจะดีหรือมันจะลึกซึ้ง ตรรกะจินตนาการ ตรรกะของคน เวลาจินตนาการธรรมะ มันละเอียดลึกซึ้งไปได้มหาศาลเลย

แล้วเวลามันคิดพิจารณาไปวงรอบหนึ่ง แล้วกลับมาเป็นอะไร?

กลับมาก็เป็นปุถุชนอย่างเก่าไง

แต่เราจะหาทางออกของใจ ใจเราจะหาทางออก เราจะต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าใจสงบ เห็นไหม เราพุทโธก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ พอจิตละเอียดเข้ามา พอมันรู้ขึ้นมา เห็นภาพต่างๆ มันจะเป็นบังเงา มันจะเป็นภาพลวงตา มันจะเป็นสิ่งใดก็แล้วแต่ เราใช้สติปัญญาใคร่ครวญ แยกแยะของมัน ถ้าเรามีจุดยืนนะ เรามีจุดยืน เรามีจิตใจ เราเข้มแข็ง เราจะหาทางออกของเรา เราพิจารณาแล้ว สิ่งนี้ถูก สิ่งนี้ผิด

“สิ่งที่ถูก” เห็นไหม สิ่งที่ถูกคือมันเกิดขึ้น แล้วมันก็ตั้งอยู่ แล้วมันก็หายไปเป็นธรรมดา สิ่งที่เราเห็น เห็นสิ่งต่างๆ เห็นชั่วคราว เห็นแว็บ เห็นต่างๆ มันก็เห็นจริงๆ นั่นล่ะ แต่มันก็เป็นอนิจจัง มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา ถ้าเป็นธรรมดา นี่ความจริงมันเป็นอย่างนี้ แต่เราไปเสริมค่าไง “ไอ้นั่นเป็นไอ้นั่น สิ่งนั้นจะเป็นอย่างนั้นๆ” มันจินตนาการไปนะ มันก็จะลากใจเราไป

เราใช้ปัญญาของเรา ปัญญาของเรา พิจารณาของเรา พอเข้าใจตามความเป็นจริง มันก็วาง...วาง...วาง...มันจะไปตื่นเต้นกับอะไร แสงนี้แสงไฟก็มีอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง สิ่งที่เป็นความว่าง เป็นอวกาศ อวกาศมันก็มีของมันอยู่แล้ว โลกเขามีทั้งนั้นล่ะ เพียงแต่สิ่งนั้นมันเป็นสาธารณะ มันเป็นของประจำโลก

แต่พอเราไปรู้ไปเห็นเข้า นี่เพราะทิฏฐิมานะ เพราะความยึดมั่น “ทำไมเราเป็นผู้วิเศษเหลือเกินล่ะ ทำไมเป็นผู้วิเศษนะ มันหลอกลวงเรา เราจะไปหลงตามมันอีกล่ะ” มันก็ปล่อย เห็นไหม ใช้ปัญญาใคร่ครวญๆ การกระทำของเราขึ้นมา มันจะมาหลอก เราอีกไม่ได้

ถ้ามันหลอกเราอีกไม่ได้ เห็นไหม จิตใจเราเข้มแข็งขึ้น จิตใจเรามีปัญญามากขึ้น ปัญญาใคร่ครวญอย่างนี้ ใคร่ครวญให้หัวใจเข้มแข็ง พิจารณาใช้ปัญญาเข้ามาให้หัวใจมันรอบรู้ของมัน มันรอบรู้ในกองสังขาร สังขารความคิด ความปรุง ความแต่ง ที่ไปยึดไปมั่น ถ้ามันรอบรู้ขึ้นมานะ นี่ไง มันจะเป็นข้อเท็จจริง มันไม่ใช่ลวงตานะ ไม่ใช่ภาพลวงตา ไม่ใช่พยับแดดให้เราไล่ตะครุบ ถ้ามันเป็นพยับแดด

ถ้ามันเป็นภาพลวงตา “ธรรมะลวงตา” มันก็หลอกลวง

แล้วไม่ใช่หลอกใครเลยนะ หลอกใจของเรานี่แหละ หลอกผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ

ถ้าเราใช้ปัญญาใคร่ครวญแล้วมันจะเห็นตามความเป็นจริง

สิ่งนี้มีอยู่ไหม?... มี

แล้วมันจะมีอำนาจเหนือใจไหม?... ไม่มี

“ไม่มี” เพราะมันรู้เท่า มันรู้เท่ามันก็ปล่อยหมดเห็นไหม พอมันปล่อยหมด เราใช้ปัญญาของเรามากขึ้น เราพยายามใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือใช้คำบริกรรมมากขึ้น จิตสงบมากขึ้น มากขึ้น พอมากขึ้นเห็นไหม มันมีความสุข มีความสงบระงับ คนได้พักได้ผ่อนแล้วออกทำงาน

ถ้าจิตมันไม่ยอมทำงาน ถ้ามันติดสมาธิ มันติดสุขของมัน เราก็พยายามออกฝึกหัด

โคที่ฝึกหัดดีแล้ว มีคุณค่ามาก โคที่ไม่ได้ฝึกหัด เขาก็เอาไว้ฆ่า ใช้แต่เนื้อเป็นประโยชน์เท่านั้น ฉะนั้น สิ่งที่มันสงบแล้ว เราออกฝึกหัด ออกใช้ปัญญา ถ้ามันไม่เห็นสิ่งใด ให้รำพึง ให้รำพึงเรื่องกายขึ้นมา ถ้ามันรำพึงไม่ได้ เราคิดเทียบเคียง เราใช้ปัญญา

ในการเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันไปเห็นภาพลวงตา มันไปเห็นสิ่งที่ฉ้อฉล เราใช้ปัญญาใคร่ครวญแล้วเห็นโทษ แล้วปล่อยวางเข้ามา สิ่งที่ปล่อยวางเข้ามาเห็นไหม มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นปัญญารอบรู้ในกองสังขาร ให้ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร

พอสังขารมันดับเห็นไหม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร ในกองสังขารนั้นมันมีพลังงานคือตัวจิต ถ้าไม่มีตัวจิตเป็นตัวพลังงาน สังขารนั้นมันมาจากไหน สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่งนี้เกิดจากจิต พอเกิดจากจิต ถ้าจิตมันสงบเข้ามา พอรอบรู้ในกองสังขาร เราพิจารณาของเรา เราใคร่ครวญของเรา เราดูแลของเรา

ถ้าไม่เห็นเรารำพึงขึ้นมา รำพึงขึ้นมา เปรียบเทียบได้ถ้าจับต้องได้ ถ้าพิจารณา เป็นพุทโธ เป็นคำบริกรรม ถ้าจิตมันสงบแล้ว เราเห็นกาย ถ้าไม่เห็นกายเราก็รำพึงขึ้นมา รำพึงสิ่งใดก็ได้ พอรำพึงขึ้นมานะ พอรู้พอเห็นขึ้นไป ถ้ารำพึงแล้วเห็นจริง “จิตเห็นอาการของจิต” จิตเห็นกาย เห็นกายมันสะเทือนกิเลสมากนะ มันเหมือนกับมหาโจรจอมโจรมันหลบซ่อนอยู่ในใจของเรา แล้วเราไม่เคยรู้เคยเห็น

ดูสิ อย่างถ้าเรารู้ว่าในบ้านของเรามีโจรปล้นมาหลบอยู่ในบ้าน แล้วกำลังรื้อค้นสมบัติเราอยู่ เราจะตกใจไหม เราจะกล้าเปิดเข้าไปในบ้านเราไหม เรากลัวโจรคนนั้น เขาอยากได้สมบัติของเรา เขาจะจับเราเป็นตัวประกัน เขาจะฆ่าเรา เพราะเขาต้องการสมบัติของเรา

นี่เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ พอมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ความรู้สึกมันเป็นแบบนั้นน่ะ ความรู้สึกว่าเราเห็นโจร เห็นกิเลส เขาบอกว่า “กิเลสเป็นอย่างไร เห็นตัวกิเลส กิเลสมันตัวเป็นๆ กิเลสมันเป็นยักษ์ที่เขาเขียนแล้ววาดภาพไว้ในตามผนังวัด กิเลสตัวมีเขี้ยวยาวๆ”

ไม่ใช่ล่ะ ไม่ใช่...กิเลสคือความยึดมั่นถือมั่นของใจ กิเลสนี้คือความยึดมั่นถือมั่นของใจ แต่มันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นอกุศล มันเป็นสิ่งที่ไม่ดีงาม ฉะนั้น สิ่งที่เป็นอกุศล สิ่งที่ไม่ดีงามเขาถึงเขียนภาพให้มันเป็นยักษ์เป็นมารไป พอเป็นยักษ์เป็นมารไป นั้นเป็นบุคคลาธิษฐาน เป็นสิ่งเปรียบเทียบ แล้วถ้าเป็นคุณงามความดีล่ะ ถ้าเป็นคุณงามความดีก็เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมนะ โอ้โฮ! สวยงามมากเห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันแสดงออก ถ้าเราเห็นกิเลสของเรา มันขนพองสยองเกล้าว่า บ้านของเรามีจอมโจรมันอาศัยอยู่ แล้วจอมโจรมันจะช่วงชิงสมบัติของเรา แล้วเราไปเห็นมันน่ะ พอเห็นมันเห็นไหม มันสะเทือนใจ

ทางโลกถ้าเรารู้ เรามีสมบัติพัสถานก่อนนะ เรามีสมบัติแล้วเรารู้ว่ามีจอมโจร มีขโมยเข้าไปรื้อค้นที่กำลังจะช่วงชิงสมบัติของเราไป แล้วเรารู้นะ ถ้าเราไม่รู้นะ เราก็ไม่รู้ใช่ไหมว่ามีโจรปล้นเข้ามาลักทรัพย์ เราไม่รู้ ไปรู้อีกทีหนึ่งเขาก็เอาไปแล้ว โจรมันหายไปแล้ว ทุกอย่างหายไปแล้ว เราก็ไม่รู้

กิเลสมันหลอกทุกวัน กิเลสมันหลอกอยู่ทุกวัน...ไม่รู้ ไม่รู้ว่ากิเลสหลอกนะ นั่งสมาธิพอจบ เลิก “โอ้! วันนี้ไม่ได้อะไรเลย” โจรมันหลอกไปแล้ว โจรมันปล้นไปแล้ว มันเอาสมบัติไปหมดแล้ว พอเลิกจากภาวนา “อื้ม... วันนี้ไม่ได้อะไรเลย” แต่เพราะว่าเราไม่รู้ว่าโจรมันปล้น ไม่รู้ว่าคนเข้ามาลักทรัพย์ของเรา

แต่พอจิตมันสงบ พอจิตมันสงบเข้ามา แล้วเราใช้จิต จิตสงบมีสมาธิ ออกรู้ ออกเห็น ออกค้นคว้า พอออกค้นคว้า เปรียบเทียบ ถ้าเห็นกาย เห็นกายโดยข้อเท็จจริง นี่ไง เห็นกายโดยข้อเท็จจริง เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม

ธรรมคือธรรมารมณ์นะ ไม่ใช่สัจธรรม “ธรรมารมณ์” อยู่ในอริยสัจ พอไปรู้ไปเห็นเข้า มันสะเทือนใจ มันสะเทือนจนขนลุกขนพองนะ เพราะเรารู้เราเห็น

แต่เดิม โจรอยู่ในบ้าน มันลักทรัพย์ มันมาขโมยอยู่...นอนสบาย มันขนอยู่นี่นอนสบายมาก ยังไม่รู้นะ ตื่นขึ้นมาก็ยังไม่รู้ว่าของหาย แต่พอจะไปใช้เงินใช้ทอง ไปเปิดดูในเซฟ ไม่มีอะไรเหลือเลย เสียใจ...เสียใจ... อยู่อย่างนั้น

ชีวิตมนุษย์ นี่ธรรมะมันหลอกลวง นี่ภาพลวงตา ธรรมะลวงตา

แต่พอเราเป็นความจริงล่ะ ความจริงพอจิตสงบเห็นไหม จิตสงบแล้วเราออกรู้ออกเห็น คือออกเห็นโจร เห็นโจรคือเห็นกิเลส เห็นกิเลสก็ขนพองสยองเกล้า ถ้าจับได้ เราจะจับโจรอย่างใด นี่โจรมันปล้นอยู่ โจรมันกำลังรื้อทรัพย์สมบัติของเราอยู่ โจรมันกำลังจะเอาเพชรนิลจินดาของเราไปหมดแล้ว แล้วเราทำอย่างไรล่ะ ทำอย่างไร จะทำอย่างไร

กำลังเราไม่พอใช่ไหม โจรมันมีปืน ๕ กระบอก ๑๐ กระบอก เราไม่มีอะไรเลย ทำอย่างไร? เพราะจิตเรา สมาธิเราอ่อน พอเราจับได้ ถ้าสมาธิเราเข้มแข็ง แล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญา เราจะมีปืนสู้กับมัน

มรรคญาณ ธรรมจักร สัจธรรม เวลาพิจารณาไป ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา”

เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะเข้าใจ

“จักขุง อุทพปาทิ ญาณัง อุทะปาทิปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ”

จักขุญาณเกิด เกิดจักขุญาณ เกิดปัญญา เกิดความหยั่งรู้ เกิดความสว่างไสว นี่ไง มันหมุนไป นี่ไง ปืน! ปืน! ปืน! เรามีอาวุธต่อสู้กับมัน ถ้าเรามีอาวุธต่อสู้กับมัน มันเป็นความจริงนะ มันไม่ใช่ความหลอกลวง ไม่ใช่ภาพลวงตา ภาพลวงตานี้ทำให้เราล้มลุกคลุกคลานมา

แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมาล่ะ เราพยายามประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมาตามความเป็นจริงของเราขึ้นมา เรามีครูมีอาจารย์น่ะ เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา อายครูนะ อายครูไม่รู้วิชา ครูบาอาจารย์มี ปฏิบัติมา ถ้ามันเป็นเหตุเป็นผลอย่างใด

แต่ทีนี้พอเป็นเหตุเป็นผลขึ้นมา ถ้าไม่เป็นความจริงนะ ครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติมาก่อน ท่านฟังท่านจะรู้ว่าสิ่งใด มันอยู่ในวุฒิภาวะ ภูมิของใจสูงต่ำแค่ไหน แล้วการปฏิบัติไปนี้มันเป็นจริง เป็นจริงแค่ไหน

แต่ถ้ามันไม่เป็นจริงนะ แต่เราว่าเป็นจริง เห็นไหม บอกว่า “ไปหาครูบาอาจารย์ๆ พอหาทีไรไล่ทุกทีเลย ไม่เคยฟังสักที”

ของเดิมๆ ของเดิมๆ ที่ซ้ำซาก สิ่งที่เราเป็นของที่ซ้ำซาก มันหลอกลวงขนาดไหน เหมือนกับที่ว่าน่ะ โจรมันเอาไปหมดแล้วยังไม่รู้ตัว ยังถือตัวถือตนว่าตัวเองได้ประพฤติปฏิบัติ ตัวเองได้ใช้ปัญญา กิเลสมันล้วงไส้ล้วงพุงไปหมดแล้ว ตัวเองยังว่าน่ะ

“ของเดิมๆ” คือสัญญาไง

“ของเดิมๆ” คือสิ่งที่เราทำแล้วทำเล่า แล้วเรามีสิ่งใดเป็นสมบัติของเราล่ะ แล้วก็จะเอาสิ่งเดิมๆ อย่างนั้นมาเล่าให้ครูบาอาจารย์ฟังน่ะ ทำไมโง่ขนาดนั้น ทำไม่เปลี่ยนแปลง ทำไมไม่มีอุบายวิธีการที่เราจะก้าวเดินไป

กิเลสมันโง่ขนาดนั้นเชียวหรือ กิเลสมันฉลาด มันหลอกให้เราโง่ เราโง่ไง

“ทำมันก็ทำแล้ว ปฏิบัติก็ปฏิบัติแล้ว รู้ก็รู้แล้ว ของก็เดิมๆ อยู่อย่างนั้น รู้อยู่อย่างนั้น แล้วมันเป็นอย่างไรต่อไป”

เป็นสิ เตรียมที่นอนเอาไว้แล้ว จะเลิกแล้วล่ะ จะกลับไปนอน

นั่นน่ะ “ของเดิมๆ” เห็นไหม “ของเดิมๆ” เราก็ต้องแก้ไข เราแก้ไขสิ ถ้าแก้ไขนะ พอแก้ไขแล้วมันจะเป็นปัจจัตตัง มันจะเป็นกาลามสูตร ไม่ให้เชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์พูด ไม่ให้เชื่อสิ่งที่อนุมานได้ ไม่ให้เชื่อว่ามันสมควรจะเป็น “ไม่ให้เชื่อ” นี่ไง “ธรรมะลวงตา” มันหลอกลวงมาทั้งนั้น อนุมานได้ อนุมานก็เข้ากันได้ ภาพนี้ก็เคยเห็น สิ่งอะไรมันถูกต้องไปหมดล่ะ แล้วจบมันคืออะไรล่ะ?

จบคือพอมันภาวนาจบแล้ว “อื้ม! ไม่เห็นมีอะไรเลย อื้ม! ไม่เห็นมีอะไรเลย”

นี่เราไม่มีความคิดแตกต่าง ความคิดตรวจสอบตัวเราเอง ถ้ามีความคิดแตกต่าง ความคิดตรวจสอบ ทำไมอย่างนี้แล้วมันเป็นอย่างนี้เพราะเหตุใด ถ้ามันไม่มีเห็นไหม นี่กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อในการประพฤติปฏิบัติของเรา ไม่ให้เชื่อสิ่งต่างๆ แต่ถ้าจิตมันเป็นล่ะ จิตมันเป็นไม่ให้เชื่อได้อย่างไร มันซึ่งๆ หน้า มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก

เวลาเราจับโจรได้ แล้วเราต่อสู้กับโจรนะ เวลากิเลสมันใช้มันใช้กงจักร สิ่งที่เป็นกงจักรมันทำลายล้าง ทำลายล้างสติ ทำลายล้างสมาธิ ทำลายล้างปัญญาของเราให้เป็นสู่อกุศล อกุศลคือสัมปยุตด้วยตัณหาความทะยานอยาก ตัณหาเห็นไหม ตัณหา-วิภวตัณหา ตัณหาความทะยานอยาก นี่มันสัมปยุตไปด้วยอย่างนั้น มันก็เป็นกงจักรทำลายไปหมดเลย

แล้วถ้าเป็นธรรมจักร ล่ะ ธรรมจักรมันเกิดจากสติ สมาธิ ปัญญา ถ้ามันเป็นธรรมจักร ปัญญามันเกิดขึ้น ปัญญามันเกิดขึ้นมันแยกแยะของมันเกิดขึ้น เห็นไหม กงจักรหมุนไปทางหนึ่ง ธรรมจักรหมุนไปอีกทางหนึ่ง หมุนเข้าไปสู่ฐีติจิต หมุนเข้าไปสู่ภวาสวะ หมุนเข้าไปสู่ภพ นี่ไง เวลาทำนะ นักวิทยาศาสตร์เวลาเขาทำวิจัยต่างๆ เขาใช้ปัญญาของเขา ปัญญานี่นะ มันเป็นปัญญาสมองนะ มันออกมาจากพลังงาน ออกมาจากจิต สิ่งต่างๆ เขาคิดของเขาออกไป มันวูบ มันสว่างโพลงในใจขนาดไหน มันก็เป็นปัญญาของโลกๆ

แต่ถ้าพูดถึงทำความสงบของใจ สิ่งที่มันวูบ มันเป็นความปลอดโปร่ง ถ้ามีสติมันจะย้อนกลับมาสู่สมาธิ พอสู่สมาธิ เราทำสมาธิของเราจนมั่นคงของเราแล้ว เราทำสมาธิของเราจนเราออกรื้อค้นเห็นโจร เห็นอวิชชา เห็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ออกแสดงตัวในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แสดงตัวในกาย เวทนา จิต ธรรม เราจับสิ่งใดก็ได้ จับสิ่งใดก็ได้

เพราะ “รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ” กับ “กาย เวทนา จิต ธรรม” มันเป็นสิ่งที่ว่าเราเกิดมามีกายกับใจใช่ไหม เราเกิดมามีร่างกายและจิตใจ ร่างกายและจิตใจสิ่งที่สัญชาตญาณของมนุษย์ แล้วอวิชชามันมีพลังงานนั้น มันก็อาศัยสิ่งนี้ออกหาเหยื่อ ออกหากิน ออกทำลายเรา ออกให้ชีวิตของเราพ้นไปวันๆ หนึ่ง

พอจิตเราสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามา เราจับต้องมันได้ เราเห็นมหาโจร เราเห็นโจรปล้น มันปล้นผ่านรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันปล้นผ่านกาย เวทนา จิต ธรรม มันใช้สิ่งนี้ออกไปปู้ยี่ปู้ยำ เอาแต่โทษมาใส่ใจเรา

พอจิตเราสงบแล้ว เรารู้ว่ามหาโจร มันใช้สิ่งนี้ออกไปทำงานของมัน ออกไปเพื่อผลประโยชน์ของมัน แล้วเรามีสติปัญญาจับได้ จับมหาโจรได้ แต่ยังต่อสู้กันด้วยสติด้วยปัญญา ต่อสู้กันด้วยปัญญา ปัญญาแยกแยะในขันธ์ ๕ แยกแยะในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม แยกเข้าไป แยกแยะเข้าไป

เพราะสิ่งนี้กิเลสมันพาใช้ กิเลสมันอาศัยสิ่งนี้ออกไปหาผลประโยชน์ของมัน

เวลาเราทำความสงบของใจเราเข้ามา ใจเราสงบแล้วเราจับต้องสิ่งนี้ได้เหมือนกัน ถ้าใจไม่สงบขึ้นมา ไม่เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมโดยความเป็นจริง...เห็นโดยความลวงตา เห็นโดยการกิเลสต้มตุ๋น เห็นโดยการคาดหมาย คาดหมายธรรมมันก็ได้ธรรมะคาดหมาย มันไม่ใช่ธรรมความเป็นจริงเห็นไหม

แต่เพราะเราจิตสงบขึ้นมา เรามีความเป็นจริงของเรา เราพิจารณาของเรา เราใคร่ครวญของเรา เวลามันปล่อยนะ เวลาจิตมันพิจารณาของมัน ที่มันพิจารณาเพราะมันมีกำลัง มันมีความเป็นจริง พอมีความเป็นจริงมันพิจารณาแล้วมันปล่อย ปล่อย มันมีความสุขมาก มีความสุขขนาดไหน มีความสุขแล้ว เพราะถ้ามีความสุขอยู่ จิตใจมีกำลังขึ้นมา เราก็กำหนดดูแลรักษา แล้วเราพิจารณาของเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ นี่ระหว่างกิเลสกับธรรมมันต่อสู้กัน

โจรก็มีปืน ธรรมะก็มีปืน แต่เดิมโจรมันมีปืน โจรมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันมีสิ่งที่นอนใจ สิ่งที่จิตใจเชื่อมั่นมันอยู่ แต่ธรรมะไม่มี “ธรรมะมีแต่สักแต่ว่า โน่นก็สักแต่ว่า นี่ก็สักแต่ว่า โน่นก็เป็นความว่าง โน่นก็เป็นขันธ์ ๕...” รู้ไปหมด แต่กำลังของจิตไม่มี

กำลังก็มี จับได้แล้วนะ จับได้ก็สู้ไม่ไหว

“แก่นของกิเลส”

จิตนี้ไม่มีต้น ไม่มีปลาย การเกิดและการตายของชีวิตเราซับซ้อนกันมา ไม่มีต้นไม่มีปลาย การเกิดการตายซับซ้อนกันมา มันได้ปลูกฝัง มันได้ซับซ้อนให้กิเลส ให้จริตนิสัยซับซ้อนมาจนเป็นแก่น เป็นสิ่งที่มั่นคงขนาดไหน

แต่เราเกิดมาในภพในชาตินี้ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เกิดมาพบครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติ แล้วเราเป็นคนที่มีเจตนา เป็นคนที่มีสติปัญญา เป็นคนที่มีอำนาจวาสนา แล้วเราพยายามจะหาทางออกอยู่ แล้วเราพยายามสร้างสมตนเราขึ้นมา ด้วยการทำความเพียร ด้วยการทำความสงบของใจ ด้วยการพัฒนาการของจิตที่มันสงบระงับเข้ามา

จิตสงบระงับเข้ามาแล้วเราออกฝึกหัดใช้ปัญญา ออกฝึกหัดใช้ปัญญาจนจิตมันตั้งมั่น จิตตั้งมั่นจนจิตมีหลักมีเกณฑ์ แล้วจิตมีหลักมีเกณฑ์แล้วเห็นกาย เวทนา จิต ธรรมเห็นทุกๆ อย่างตามความเป็นจริง ถ้าเห็นทุกๆ อย่างตามความจริง มันไม่ใช่ภาพลวงตานะ มันล้มลุกคลุกคลานมา แล้วฝึกฝนตัวเองขึ้นมา ยืนตัวเองขึ้นมาแล้วต่อสู้กับมัน จับต้องตัวมันได้ นี่มันเป็นระหว่างกิเลสกับธรรมต่อสู้กันอยู่ในหัวใจของเรา

ชัยภูมิของการประพฤติปฏิบัติ กรรมฐาน สมถกรรมฐาน สิ่งที่ชัยภูมิการต่อสู้ของกิเลสมันอยู่บนภวาสวะ มันอยู่บนภพ อยู่บนหัวใจของเรา อยู่ที่การวิปัสสนา การใคร่ครวญกัน อยู่กลางหัวใจของเรานี่ นี่ไงภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากจิต พลังงานเกิดเดี๋ยวนั้น พิจารณาเดี๋ยวนั้น เป็นปัจจุบันเดี๋ยวนั้น ไม่ต้องผ่านขึ้นไปบนสมอง ไม่ต้องผ่านขึ้นไปบนความรู้สึกนึกคิด ผ่านไปบนสมองนั่นมันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นปัญญาของโลกไปแล้ว มันเป็นวิชาชีพ มันเป็นสิ่งที่กิเลสมันหลอกลวง

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มันเกิดที่หัวใจ เกิดที่การกระทำของเรา เราทำของเรา เราพิจารณาของเรา เราแก้ไขของเราไป เห็นไหม สิ่งต่างๆ ทำขึ้นมานี่คืออะไรล่ะ นี่ปัจจัตตัง นี่สันทิฏฐิโก

กาลามสูตรไม่ต้องเชื่อใคร ไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์พูด ไม่ให้เชื่อว่าอนุมานแล้วทำได้

แต่นี้เราเป็นทางโลกเห็นไหม ทางโลกที่เขาทำกันอยู่ เขาอนุมานเอา เขาใคร่ครวญเอาว่า นี่มันเป็นอย่างนี้ ธรรมะเป็นอย่างนี้ ธรรมะของพระพุทธเจ้า ธรรมตรงเปี๊ยะเลย ก๊อปปี้เหมือนกัน เดินเท้าต่อเท้าเลย เหยียบไปบนทางเดียวกันเลย

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์เหยียบไป

แต่เราเป็นคนมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากเต็มหัวใจแล้วเหยียบไป

แตกต่างกันมาก แตกต่างกันมาก

แต่ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือใช้คำบริกรรมขึ้นมาจนจิตเราสงบนะ จิตใจเราจะก้าวไป ไม่ใช่เท้าก้าวไป ไม่มีสิ่งใดก้าวไป ธรรมจักรต่างหากมันก้าวไป มรรคญาณมันก้าวไป มรรคญาณมันมรรคสามัคคี มรรคญาณมันพิจารณาซ้ำพิจารณาซาก รวมตัวสมุจเฉทเข้ามาประหารขาด! นี่ไง กุปปธรรม-อกุปปธรรม

กุปปธรรมที่ล้มลุกคลุกคลานขึ้นมา สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมเป็นอนัตตา ทุกอย่างเป็นสภาวะๆ ก็สภาวะมันก็มีเกิดดับๆ ทั้งนั้นน่ะ

สิ่งต่างๆ เราทำขึ้นมา มันเป็นสภาวะทั้งนั้นน่ะ เอาสภาวะนี้เข้าไปลบล้าง เข้าไปทำลายสิ่งที่เป็นความสกปรก ความที่เป็นสังโยชน์ เป็นความผูกพันของใจ ใจยึดมั่นถือมั่นในหัวใจ มันจะย้อนกลับ ย้อนกลับแล้วทำลายด้วยปัญญาของมัน ด้วยปัญญาของเราที่มันพิจารณาของเราอยู่

นี่ไง เราทำของเรา เราปฏิบัติของเรา แล้วเวลาปฏิบัติตามความเป็นจริงแล้ว มันจะต่างไปจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปที่ไหน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ ธรรมและวินัยนี่ตรงเปี๊ยะแล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ปฏิบัติเข้ามาสู้ใจ ถ้าใจชำระล้างแล้ว กับธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันต่างกันตรงไหน

ถ้ามันต่างกัน กาลามสูตรไง ไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อนี่ ถ้ามันต่างกันมันก็ไม่ใช่ แล้วถ้ามันถูกต้องตรงกัน มันถูกต้องตรงกันอย่างไร มันมีเหตุผลอย่างไรถึงถูกต้องตรงกัน มันถูกต้องตรงกันเพราะสมุจเฉทปหาน เพราะสังโยชน์มันขาด แล้วสังโยชน์มันขาด มันขาดอย่างไร แล้วสังโยชน์มันอยู่ที่ไหน นี่เวลาโจรมันปล้นก็ไม่เห็นโจร เวลาฆ่ามันแล้ว ฆ่ามันแล้วมันไปอยู่ไหน

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกนะ การฆ่า การทำลายกัน แม้แต่พูดจา คำพูดไม่เป็นกุศล คำพูดไม่ให้พูดส่อเสียด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้ทำทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทะเจ้าชื่นชมนะ

“การฆ่าที่ประเสริฐที่สุดคือการฆ่ากิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุโมทนา”

แต่การเบียดเบียน การทำเสียดสี การทำสิ่งต่างๆ ที่กระทบกระเทือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าห้ามทั้งนั้น ห้ามนะ “ศีล” สีละ ศีลคือความปกติของใจ ถ้าความปกติของใจห้ามการทำให้คนอื่นกระทบกระเทือน ห้ามทั้งนั้น มันเป็นการสร้างเวรสร้างกรรมทั้งนั้น

แต่ถ้าเวลาเราทำให้กิเลสเรากระทบกระเทือน อันนั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด เราทำให้กิเลสของเรามันกระทบกระเทือน มันสั่นไหวด้วยความเพียรชอบของเรา ให้มันสั่นไหว ให้มันตกใจ ให้มันไม่มีที่อยู่ ให้มันวิ่งหนีไปจากใจของเรา ไม่ให้มันครอบงำในหัวใจของเรา เราพยายามทำของเรา จะทำลายมัน จะฆ่ามัน ทำลายมันด้วยมรรคญาณ ด้วยสัจธรรม ไม่ใช่เอาอาวุธร้ายอย่างใดไปทำลายมัน

สิ่งที่บอกว่า ปืนต่อปืนต่อสู้กันเพราะเป็นอาวุธ กิเลสมันมีอาวุธ มันฉ้อฉล มันหลอกลวง มันปล้นสะดม มันปล้นชิงคุณงามความดีเราไปทั้งหมดเลย เราพยายามจะประพฤติปฏิบัติ พยายามสร้างสมจะทำคุณงามความดีขึ้นมา มันปล้นชิงของมันขึ้นมาเป็นบุคลาธิษฐานให้เห็นว่ามันปล้นชิงแล้วมันมีอาวุธที่จะทำลายเรา แล้วเราตื่นเต้นตกใจขนาดไหน แล้วเราพยายามทำความสงบของใจ เราทำมรรคญาณ

มรรค ๘ งานชอบ เพียรชอบ... เรามีปืน ๘ กระบอก นี้เป็นบุคลาธิษฐาน ปืนของเราก็คือมรรค คือสัจจะ คือความจริง คือความสุภาพบุรุษ คือความจงใจ คือความตั้งใจ แล้วไปต่อสู้กับมัน ไปต่อสู้กับมันจนถึงที่สุด จนมีคุณงามความดีเพียงพอ ถ้ามีคุณงามความดีเพียงพอ เห็นไหม เป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นมรรคญาณ มรรคสามัคคี มรรครวมตัวแล้วสมุจเฉทปหาน

เวลากิเลสฆ่ากิเลสด้วยมรรคญาณแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุโมทนากับผู้ประพฤติปฏิบัติผู้นั้น

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย” เอวัง