เทศน์บนศาลา

เห็นสมณะ

๒๑ ก.ย. ๒๕๔๓

 

เห็นสมณะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ศึกษาธรรมะ พอมีความศรัทธาขึ้นมา ได้ศึกษาหลักการของธรรม ถ้าศึกษาแล้วปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิบัตินี้อยากจะพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก อยากเห็นไง อยากเห็น อยากพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เพราะว่าในธรรมะ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาพระออกจากพรรษาแล้ว ออกพรรษาส่วนมากจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง จะแนะวิธีสั่งสอน วิธีการทำให้ถึงที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ได้ เห็นไหม ถึงว่าทุกคนอยากเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากได้เฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อชี้นำช่องทาง

นี่การได้พบสมณะ การได้พบสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง ความได้เห็นสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง ความเป็นมงคลไง ในมงคล ๓๘ ประการ ผู้ที่พบเห็นสมณะ สมณะยังมีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เป็นชั้นๆ เข้าไป แต่ว่าเราคิดว่าเราอยากพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ในครั้งพุทธกาลก็มีนะ พวกพราหมณ์ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วไม่เชื่อ ไม่เชื่อยังต่อว่า ยังว่า อย่างพราหมณ์ว่า

“ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเด็กกว่า ทำไมไม่กราบไหว้ผู้ที่มีอายุยืนยาวกว่า” นี่ความเห็นแก่ความคิดของตัวเอง เวลาเราไปเห็นเข้า คนที่เห็นเข้ามันมีกิเลสไง ความเห็นของตัวมันเป็นใหญ่ของตัวเองอยู่ในหัวใจ ความเป็นมงคลนั้นเลยไม่เป็นมงคลกับจิตดวงนั้น

แต่ผู้ที่มีความศรัทธา ผู้ที่มีความเคารพเลื่อมใส ความได้พบได้เห็นนั้นเป็นมงคลอย่างยิ่ง ความเห็นสมณะนี้เป็นมงคลไง เย็นหูเย็นตานะ มีความสดชื่น มีความสบายอกสบายใจ แล้วยังมีเครื่องดำเนินอย่างเช่นครูบาอาจารย์ สาวกะ สาวกภาษิต มีตำรับตำราเป็นเครื่องชี้นำให้เราก้าวเดินตามเข้าไปถึงที่สุดได้ มีตำรับตำราเครื่องดำเนินคือว่าคำชี้แจงไง คำชี้แจงการเข้าถึงธรรม หัวใจนี้เข้าถึงธรรม แต่หัวใจนี้ยังไม่เห็นความเป็นมงคลภายใน

ความเป็นมงคลภายนอก ความเห็นของเรา เราเห็นความเป็นมงคล เราเห็นเพราะเรามีความศรัทธา เห็นไหม ดูโทษของกิเลสสิ กิเลสในหัวใจของเรา ถ้ามีความเชื่อก็ว่าพระองค์นั้นทำความถูกต้อง สมณะนี้ทำความถูกใจเรา ถ้าสมณะองค์นี้ทำตามความเคยชินของเขา เห็นไหม ความเห็นของเราก็คัดค้านในหัวใจเรา

ความคัดค้านในหัวใจเรานั้นเป็นอะไร เป็นความเห็นของเรา คือว่าความเห็นสมณะภายนอกมันเห็นไปพร้อมกับความคิดเดิมของเรา มันเห็นไปพร้อมกับความรู้สึกของเรา มันเห็นไปพร้อมกับความดิบๆ สุกๆ ในอารมณ์ของเรา เห็นไหม ความที่เป็นอารมณ์ของเรามีอารมณ์ความคิดของเรา ฝ่ายดีก็มี ฝ่ายไม่ดีก็มี เกิดดับๆ ในหัวใจของเรา แล้วเราเห็นของเราข้างนอก นี่เห็นสมณะข้างนอก

ความเห็นสมณะข้างนอก ถ้าเห็นสมณะข้างนอก ถ้าหัวใจมันสดชื่นมีความสุขมีความพอใจ ย้อนกลับเข้ามาได้ ย้อนกลับเข้ามาเป็นความศรัทธาเพิ่มขึ้นไง ความศรัทธาเพิ่มขึ้น ความจงใจของเรามีขึ้น ความอยากจะทำมีขึ้น ความน้อมใจลงเชื่อ มันฟังสิ่งนั้นไง เพราะธรรม ธรรมขัดกับโลกนะ โลกนี้เป็นโลก โลกเป็นความจริงอยู่ของเขาอย่างนั้น เป็นสมมุติสัจจะ ถ้าพูดกันเรื่องโลกมันก็สืบต่อไปเรื่องโลก สมมุติสัจจะหมุนไปอย่างนั้น

แต่ธรรมนั้นมันเป็นความกำจัดเรื่องของโลกเขา ถึงเป็นบัญญัติ บัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ บัญญัติมาทับสมมุติไว้ไง สมมุติสัจจะก็เป็นจริงอันหนึ่ง บัญญัตินี้ก็เป็นสมมุติสัจจะอันหนึ่งเหมือนกัน แต่บัญญัติมาเพื่อลบสมมุตินั้น ไม่ต้องให้เป็นสมมุตินั้น จนเข้าไปถึงปรมัตถสัจจะ เข้าไปถึงภายใน ถ้าปรมัตถสัจจะ เห็นไหม ถ้าความเห็นเป็นปรมัตถสัจจะ มันอยู่เข้าถึงความรู้สึกของใจตัวนั้น ถ้าใจตัวนั้นเป็นความสงบของใจตัวนั้น

ความเห็นภายนอกเห็นแล้วคิดปรุงแต่งไปแล้วแต่อำนาจวาสนา อำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน อำนาจวาสนาของคน จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน...พระโมคคัลลานะ ลูกศิษย์ ๕๐๐ เข้ากันด้วยธาตุ เป็นผู้ที่มีฤทธิ์หมดเลย ผู้ที่มีฤทธิ์คุยกันเรื่องฤทธิ์มันก็เข้าถึงกันได้ง่าย ธาตุขันธ์เข้าด้วยกันมันก็เป็นไปได้ นี่เข้ากันด้วยธาตุคือความเห็นมันลงกัน จริตนิสัยถึงการสะสมมาต่างกัน

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้หมด สามารถชี้นำได้หมด เราถึงอยากพบอยากได้เฝ้า ทีนี้ อำนาจวาสนาของเรามันเป็นอย่างนี้ เราก็ได้พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน

“ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาแทนเธอตลอดไป”

พระอานนท์ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“ถ้าพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว เราพวกเราพุทธบริษัทจะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง”

“ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของเราพวกเราชาวพุทธบริษัทนี้ต่อไป”

เราเกิดมาก็ได้พบธรรมและวินัย การพบพระพุทธเจ้ามันก็อ่อนลงมา อำนาจวาสนาของคนมันเป็นชั้นเป็นตอนลงมา ธรรมและวินัยก็พระไตรปิฎก เราศึกษาพระไตรปิฎกมามันก็มีความชุ่มชื่น ถ้าเราศึกษามา ความลังเลสงสัย ความไม่เข้าใจของเรา พอเราศึกษาเข้าไปมันจะเข้าใจ เห็นไหม ความเข้าใจ ความปล่อยวาง อันนั้นเป็นอารมณ์ภายนอก ศรัทธาความเชื่อมีเพิ่มขึ้นมา เพิ่มขึ้นมา ความเพิ่มขึ้นมา

คบใคร คบมิตรเห็นไหม คบมิตรดีที่สุดคือคบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็คบกัลยาณมิตร มิตรต่อๆ ไป เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้แต่ทางพ้นทุกข์ทั้งนั้น จะชี้ทางพ้นทุกข์ จะพาเราออกจากทุกข์ จะไม่ให้เราตกอยู่ในวัฏวนนี้ตลอดไป จะชี้ออก ถ้าผู้ที่ออกได้ ถ้าผู้ที่ไม่มีอำนาจวาสนา ไม่ถึงเห็นไหม พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็พูดถึงเรื่องการทำบุญกุศล เรื่องการให้มีเครื่องอาศัยเครื่องดำเนินต่อไป เรื่องสร้างสมบารมีไป

คนที่สร้างสมบารมี เห็นไหม รื้อสัตว์ขนสัตว์มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่ว่าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปได้หมด ขนาดที่ว่าตรัสรู้มาแล้วว่าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ยังเหนื่อยหน่ายไม่อยากจะสอน ความไม่อยากจะสอนเพราะอะไร เพราะมันเป็นสิ่งที่ลึกลับซับซ้อนมากเรื่องธรรม ลึกแสนลึก กว้างแสนกว้าง ผู้ที่มีปัญญาเห็นตามนั้นต้องสะสมมาพอสมควร แต่การสะสมมาพอสมควรไม่มีคนชี้นำก็สะสมไป มันเวียนไปเวียนมา

ความร้อน เวลาเราสะสมพลังงานความร้อนเข้าไปมันก็คายตัวลง บุญกุศลก็เหมือนกัน เวียนตายเวียนเกิดอยู่อย่างนั้น ฉะนั้น เราถึงว่าเราเกิดพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยธรรมและวินัย อันนี้ก็เป็นบุญกุศลของเราเพราะศาสนายังมีอยู่

“วิธีการทำถึงความสงบของเราไง” ถ้าเราทำใจของเราสงบได้นะ เราพยายามทำใจให้สงบ เชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วทำความสงบของใจ ถ้าใจเราสงบ ความสงบของใจภายในอันนี้สำคัญมาก เพราะว่ามันทั้งรู้ทั้งเห็นไง ถ้าเราศึกษาธรรมและวินัย เห็นไหม มันเพียงแต่ว่าความจำมา ความรู้มารู้แบบจำมา มันไม่ทั้งรู้ทั้งเห็น

ถ้าจิตของเราสงบเข้าไป ความสัมผัสที่จิตที่มันสงบกับความสงบนั้นทั้งรู้ทั้งเห็น ความทั้งรู้ทั้งเห็นมันเกิดจากมีความสุขตามมาด้วย ความสุขที่จิตนั้นสงบ นั่นน่ะ สมณะอย่างนั้นเป็นสมณะที่ว่าสมณะภายในของเรา ถ้าเรามีสมณะอย่างนี้ อยากเห็นสมณะๆ เห็นสมณะภายในของเรา ถ้าเราเห็นสมณะภายในของเรา เราก็มีเครื่องดำเนินสืบต่อ ความรู้ความเห็นนั้นจะแทงตลอดเข้าไป จนความเห็นของเราเห็นเข้าไปของเรา เห็นตามเป็นปัจจัตตังรู้จำเพาะตนด้วย เป็นอกาลิโกไม่มีกาลไม่มีเวลา

แต่ความเห็นภายนอกนี้มีกาล มีเวลา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ๒๕๔๓ ปี กาลเวลาข้างนอก เห็นไหม ความกาลเวลาข้างนอกมันก็มาขับเคลื่อนพร้อมกับกาลเวลาของหัวใจ ความเกิดดับๆ มนุษย์นี้มีอายุอยู่ ๑๐๐ ปีตามกัปนี้ อายุมนุษย์นี้แล้วก็ลดน้อยลงไป น้อยลงไปตามกาลเวลาที่ว่าแบ่งไป กาลเวลามันมีอยู่ ข้างนอกก็มีกาลเวลา

กาลเวลาของหัวใจก็มี กาลเวลาของหัวใจนี้สำคัญมาก เพราะการสืบต่อการเกิดดับของเวลานี้ นี่ความลังเลสงสัยเกิด เกิดอย่างนี้ ความเชื่อ เชื่อโดยชั่วคราว เชื่อด้วยความเห็นชั่วคราวๆ เชื่ออยู่เดี๋ยวก็ลังเลสงสัย จะมีจริงหรือ จะเป็นไปได้หรือ เห็นไหม จะเป็นไปอย่างนั้นหรือ นี่มันต้องมีความขัดข้องในหัวใจ หัวใจนั้นถึงได้ลังเลสงสัยออกมา

แล้วก็ทั้งๆ ที่ว่าพบพระพุทธศาสนา พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม พบสมณะ แต่กิเลสมันก็ไม่พาเชื่อหรอก กิเลสในหัวใจเรามันไม่พาเชื่อ เพราะมันมีกิเลสอยู่ในหัวใจ กิเลสนี้มันเป็นเจ้าวัฏจักร มันควบคุมใจของเราไว้ มันต้องอาศัยใจนี้เป็นที่อยู่อาศัยแน่นอน ที่อยู่อาศัยไม่อยู่อาศัยเปล่านะ พาเราทำกรรมชั่ว พาเราทำกรรมไม่ดี เสร็จแล้วกรรมอันนั้นมันลงที่ไหน ลงที่หัวใจดวงนั้น กิเลสมันไม่ได้รับผลของกรรมอันนั้นด้วยเพราะกิเลสนี้เป็นนามธรรม

กิเลสนี้เป็นการเกิดดับๆ นะ อารมณ์ชั่ววูบชั่ววูบหนึ่ง เวลาเราว่าสติเราไม่พอ เราโกรธขึ้นมาชั่ววูบ ถ้าสติสัมปชัญญะยั้งไม่ทันก็ทำไป พอทำไปแล้ว เราทำกรรมอันนั้น กิเลสยุให้เราทำเพราะทำให้เราเกิดอารมณ์ขึ้นมา แล้วถ้าทำเสร็จแล้วกิเลสไปไหน เพราะกิเลสเป็นสิ่งนามธรรมที่เกิดดับเหมือนกัน กิเลสนี้อาศัยอยู่ที่หัวใจเกิดดับได้เหมือนกัน แต่อาศัยเชื้อของใจไง

เหมือนเชื้อโรค เชื้อโรคอยู่ในร่างกาย ถ้าเรายังไม่ได้กำจัดเชื้อโรคออกไป เราต้องเป็นคนป่วยแน่นอน แต่มันจะแสดงผลออกมาขนาดไหนถ้าเชื้อโรคนั้นสุกงอมขึ้นมา เราจะให้เป็นอย่างนั้น อันนี้ก็เหมือนกัน เป็นเชื้ออยู่ในใจ พอเป็นเชื้ออยู่ในใจ ความคิดออกไปมันตามออกไปพร้อมกันๆๆ แต่เชื้อนั้นสามารถกำจัดได้ กิเลสนี้ถึงสามารถกำจัดได้ ถึงว่าหัวใจที่เป็นใจของเรา เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราเห็นพร้อมกับกิเลสพาให้เห็น

ความเห็นสมณะภายนอก ความเห็นสมณะ เราทำบุญกุศล เราได้เชื่อ ได้ประพฤติปฏิบัติตาม เป็นบุญเป็นกุศลแน่นอน เป็นมงคล ๓๘ ประการที่ว่าการพบสมณะนี้เป็นมงคลอย่างยิ่ง ความพบสมณะนะ แล้วเราทำใจของเราให้เป็นสมณะภายในหัวใจของเรา เป็นมงคลลึกเข้าไปลึกเข้าไป สมณะเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ถ้ามันเป็นความรู้จริงของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นประพฤติปฏิบัติธรรมจริง รู้จริงเห็นจริง เป็นไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปจากความเชื่อเริ่มต้นที่เราเชื่อ

ความเชื่อนี่เป็นศรัทธา ศรัทธาถ้าวิธีการเราเดินทางก้าวทางผิด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเป็นผู้ชี้แนะทาง คนเดินถึงก็มี คนเดินไปครึ่งทางก็มี คนเดินโดยก้าวเดินไม่เข้าปากทางเลยก็มี เห็นไหม ถึงว่าการกระทำนี้ต้องถูกทางด้วย ความกระทำที่ถูกทางของเรา ถูกทางในเป้าหมายที่เราจะเข้าถึงกลางหัวใจ เพราะมีใจนี้เป็นภาชนะรองรับธรรม ใจเท่านั้นเป็นที่จะรองรับธรรม

ธรรมนี้เป็นอกาลิโก เป็นสิ่งที่มีอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ธรรมก็มีอยู่ มรรคผลนิพพานมีอยู่แล้ว แต่เพราะการสะสมบารมีมาแล้ว สยัมภู ตรัสรู้ด้วยตนเอง เพราะการสะสมมาด้วยอำนาจวาสนาถึงจะตรัสรู้อันนั้น แล้วเราสาวกะ-สาวกผู้ที่ได้ยินได้ฟังไง ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ รู้ด้วยตนเองแล้ววางไว้นะ ให้พวกเราก้าวเดินตาม เป็นไปไม่ได้ เว้นไว้แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ต่อเมื่อไม่มีศาสนา อันนั้นเป็นอำนาจวาสนารองลงมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่ของเรานี่เรามีอยู่แล้ว แล้วเกิดมาพบ มันไม่ต้องไปขวนขวายขนาดนั้น การขวนขวายขนาดนั้นต้องสะสมบุญญาธิการมาขนาดไหน ยังกว่าจะค้นคว้าได้เจอแล้วต้องหมุนเวียนไป แต่ที่เราพบนี้มันมีอยู่ ถึงว่าการพบสมณะ การพบพระพุทธเจ้า การพบธรรมและวินัย อันนี้ถึงว่ามันควรจะมีกำลังใจ ควรจะตื่นตัวไง ความเห็นแล้วไม่ใช่ปล่อยให้กิเลสมันปกคลุมว่าผัดวันประกันพรุ่งไป กิเลสมันจะว่าอายุเรายังไม่มากอยู่ กาลเวลาเรายังมีอยู่ นี่มันพลิกแพลงไปทั้งหมด

ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามาไม่ได้ สิ่งนี้มันจะรื้อค้นมันจะทำให้ฟุ้งซ่านออกไป แล้วแต่ว่ามันจะขับไสออกไป แล้วจะเอาให้เราเสียโอกาสของเราที่การประพฤติปฏิบัตินะ ฉะนั้นถึงต้องเข้มแข็งไง ความทำที่ทำที่เข้มแข็ง “เชื่อ” เรานั่นเป็นศรัทธาภายนอก “เชื่อ” ต้องมีปัญญา ปัญญาในการดัดตน ปัญญาในการพยายามควบคุมความคิด ควบคุมไม่ให้กิเลสมันได้โอกาสทำงานของมันตลอดเวลา ปัญญานี้เข้ามาย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับมาดูกิเลสอย่างหยาบๆ

ถ้าทำความสงบนี่พุทโธก็ได้ ทำพุทโธ พุทโธเข้าไป พยายามกำหนดพุทโธ พุทโธเข้าไป เห็นไหม พุทธานุสตินี้ก็ธรรมและวินัย กรรมฐาน ๔o ห้องอยู่ในพระไตรปิฎก กรรมฐาน ๔o ห้องนี้ก็เป็นธรรมวินัย นี่เป็นศาสดาของเรา

ถ้าเชื่อ มันต้องทำได้ ถ้าเชื่อ เราต้องจับให้มั่น จับให้มั่นแล้วสติสัมปชัญญะต้องให้พร้อม สติสำคัญที่สุด พุทโธคำหนึ่งแล้วก็หายไป พุทโธคำหนึ่งแล้วก็คิด ๑o๘ ไป ความสืบต่อนี้มันไม่เกิดขึ้น พลังงานมันไม่มี ดูสิ น้ำร้อนจะเดือดได้ ไฟต้องติดอยู่ตลอดเวลา ถึงจุดเดือดของมัน มันจะเดือด อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าพุทโธสืบต่อไปตลอดเวลา สืบต่อเข้าไปตลอดเวลา ถึงจุดใจต้องสงบได้ เพราะกินคำบริกรรมนี้เป็นอาหารไง

“อาหารของใจ” ใจนี้หิวโหย ใจนี้พยายามดื่มกินแต่ความคิด ดื่มกินอารมณ์เป็นอาหารตลอดเวลา แต่อารมณ์อาหารนั้น เชื้อในหัวใจนั้น มันสืบต่อกันไป มันกินแต่อาหารที่ว่ากิเลสปรุงแต่งให้กิน กินแล้วก็อารมณ์เป็นเรา คิดออกไป คิดออกไป...ความฟุ้งซ่านอย่างนั้นมันก็ไปผลักไสสิ ทั้งที่เราเห็นของเราแล้ว เห็นสมณะของเราชื่นอกชื่นใจจะทำให้ได้อย่างนั้น มันยังผลักไสไป ผลักไสให้เรานี้เสียโอกาส ผลักไสหัวใจนี้เรรวน ความเรรวน ความมักง่ายแล้วมันจะได้ผลได้อย่างไร

ธรรมนี้เป็นของที่ประเสริฐ เพชรนิลจินดาจะได้มานี่นะเราต้องทุ่มเงินมีคุณค่ามาก ต้องลงทุนมาก ของมีคุณค่ามีราคา อันนี้มันถึงกับชำระกิเลส คิดดูสิ มันมีคุณค่าขนาดไหน มันหักด่านนะ หักวัฏฏะออกไป การจะหักวัฏฏะออกไป เครื่องมืออยู่ที่ไหน เครื่องมือการหักวัฏฏะ

ถึงบอก การเริ่มประพฤติปฏิบัติให้ถูกทางไง ว่า “การทำความสงบนี้จะเป็นการเสียเวลา ทุกคนคิดว่าการทำความสงบเสียเวลา จะต้องวิปัสสนาไปเลย” การวิปัสสนาไปเลยทำอย่างไรแล้วมันเป็นการปัญญาอบรมสมาธิเท่านั้น พยายามควบคุมใจที่ว่านั่นน่ะ พยายามควบคุมใจให้สงบเข้ามา สงบเข้ามา..

ถ้าใจสงบเข้ามาอันนั้น ความสงบของใจคือว่าใช้ปัญญาควบคุมความคิด สิ่งที่คิดออกไปมันจะคิดสืบต่อสาวยาวออกไป ปัญญาจะยับยั้งความคิดนั้น ความคิดนั้นจะสั้นเข้ามา ความคิดหดสั้นเข้ามา หดสั้นเข้ามาจนความคิดนั้นจะเริ่มคิดรู้ทันกัน นี่ปัญญาอบรมสมาธิ วิปัสสนาเป็นอย่างนั้น สิ่งใดเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น กระทบรับรู้แล้วตามไป ความตามไปนั้นเป็นเหมือนกัน เป็น

สมถกรรมฐานทำใจให้สงบ

ถ้าทำใจให้สงบ เห็นไหม ทั้งรู้ทั้งเห็นความสงบของใจ จะทรงตัวได้ขนาดไหน ถ้าใจทรงตัวอยู่ได้นานแล้วสืบต่อบ่อยๆ ถึงเป็นสมาธิ สัมมาสมาธิจะเกิดขึ้นต่อเมื่อจิตนี้สงบหลายๆ ครั้งเข้า จิตนั้นสงบเข้ามา พอสงบเข้ามาแล้วมันก็มีความสุข ทรงตัวได้พักหนึ่ง แล้วมันก็จะเคลื่อนตัวไป เคลื่อนตัวหมายถึงมันเสื่อมไป มันจะเสื่อมไปโดยธรรมดาของมัน

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดาต้องแปรสภาพเป็นธรรมดา”

วัตถุนี้ยังต้องแปรสภาพ ทุกๆ อย่างต้องแปรสภาพ จะรักษาขนาดไหนมันก็แปรสภาพของมัน จะของเก่าแก่ขนาดไหนมันต้องแปรสภาพไปตลอด มันต้องเสื่อมสลายไปโดยธรรมดาของความจริง

นี้อารมณ์มันแปรปรวนมากตลอดเวลา มันแปรปรวนนะ สมาธิตั้งอยู่มันก็เสื่อมไปโดยธรรมดา แต่มันทรงตัวได้ เราทำได้บ่อยเข้า อย่างเช่นความคิด ความคิดมันคิดแล้วก็หายไป แต่เราย้ำคิดย้ำทำ เราจะคิดของเราอยู่ตลอดเวลาเรื่องเก่าๆ สิ่งใดที่มันขุ่นใจ สิ่งใดที่มันกวนใจ สิ่งใดที่มันมีความดูดดื่มในหัวใจนะ มันเป็นของเก่า เป็นของที่เก่าแล้วเราคิดใหม่ เราเลยมองว่าอารมณ์นี้มันเหมือนกับว่ามันไม่เสื่อมสภาพ

แต่ความจริงนั้นมันเสื่อมสภาพเร็วกว่าภายนอก “เร็วกว่า” เห็นไหม มันสืบต่อเร็วมาก มันคิดเร็วมากแล้วมันก็สืบต่อเนื่องไปเร็วมาก แล้วหายไป แม้แต่วันหนึ่งๆ ยังคิดซ้ำๆ ไม่รู้กี่ครั้งกี่หนเรื่องเดิมนั่นน่ะ คิดปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวคิดซับซ้อนๆ อยู่อย่างนั้น นี่มันก็แปรสภาพ

สิ่งที่แปรสภาพอยู่นี้มันแปรสภาพอยู่ แต่เป็นธรรมชาติของเขาเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติของธาตุรู้แล้วสืบต่อ มีเชื้อคืออวิชชาสืบต่อไป “จะเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างนี้” แต่เราไม่เคยดู สิ่งที่เราไม่เคยดูเราไม่เคยทำ เราใช้แต่เรื่องนี้เป็นสื่อความหมายของโลกเขา การสืบต่อความคิดของโลกเขาก็คิดอย่างนั้นกันตลอดไป มันเป็นมนุษย์ใช้ภาษาพูด ภาษาคิด ภาษาทำ ภาษาเครื่องสื่อ ความที่เป็นสื่อนี้เราสื่อเราใช้มันตลอด ใช้มันก็เลยไม่เห็นตรงนี้ไง

แต่พอเราประพฤติปฏิบัติเข้ามา เริ่มควบคุม พอเริ่มควบคุมก็มีการต่อต้านมีการดิ้นรน พอมีการดิ้นรน ทำไมมันรุนแรงขนาดนั้น ถ้าไม่เคยควบคุมเลยนะ มันเหมือนกับจะอยู่อ่อนนิ่มนะ ใจเราเหมือนกับจะเอาไว้ง่ายๆ นะ

ทุกคนว่ารักตัวเอง ถ้าทำแล้วต้องทำได้ คิดว่าตัวเองจะทำสิ่งใดก็ทำได้ แต่พอทำเข้าจริงๆ แล้วทำไม่ได้ ยิ่งหนักหนาสาหัสสากรรจ์กับเรื่องของหัวใจ หัวใจนี้เหมือนกับช้างสารที่ตกมัน “เหมือนช้างสารที่ตกมัน” เห็นไหม มันมีอำนาจมาก มันชักจูงเราลากถูเราไปทุกๆ เรื่องที่มันพอใจ มันจะฉุดกระชากลากหัวใจเราไปตลอดเลย เอาไว้ไม่อยู่ นี่ช้างสารที่ตกมัน แล้วเราจะทำอย่างไรดึงสิ่งนี้ไว้ ถ้าเราควบคุมนะ

ถ้าเราไม่ควบคุมเราก็ไม่เห็น สิ่งที่ไม่เห็น เราคิดก็เป็นเรา พอคิดว่าเราเป็นเรา ทำอะไรเราก็พอใจทำ สิ่งที่เราพอใจทำ ทำไปกับสิ่งนั้นอยู่ตลอดเวลา อันนั้นมันเป็นความเคยใจ กิเลสคือความเคยใจ เห็นไหม สิ่งที่เคยตัวอยู่แล้วกับความเคยใจของเรา มันก็หมุนไปเข้าทางของเขาไปตลอด ไปตลอด ไม่เคยยับยั้งไม่เคยต่อต้าน พอต่อต้านขึ้นมา จะเป็นสิ่งที่ว่าการทุกข์ยากนี่แหละ

การทำความสงบของใจ การทำสมถกรรมฐานเริ่มต้นนี้มันถึงได้ทุกข์ได้ยากกัน ถ้ามันทำได้ง่าย กิเลสนี้มันก็ไม่ใช่แก่นกิเลสสิ สิ่งที่ว่ากิเลสนี้ชำระง่ายๆ มันเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นสิ่งที่หลบอยู่หลังความคิดเรา แล้วใช้ความคิดเรานี้ออกมานะ ใช้ปัญญาใช้วิชาการทั้งหมดออกมาสร้างโลก ถ้าสิ่งที่เป็นสร้างโลกเพื่อผูกพัน เพื่อความที่จะเอาไว้ในอำนาจของเขา สิ่งนั้นลื่นไหลไปตลอดเวลา แล้วเราก็เคยลื่นไหลมาตลอดกับสิ่งนั้นตลอดเวลา วัตถุการก่อสร้างการทำอะไรก็แล้วแต่ นั่นน่ะ เป็นทางออกของกิเลสที่จะทำให้เสียเนิ่นเวลา

แล้วเคยทำนะ สิ่งที่เคยทำ สิ่งที่เป็นแนวทางของใจแล้ว ถ้าใจลองได้ทำแล้วมันจะทำซ้ำทำซาก แล้วจะทำให้ละเอียดอ่อนเข้าไป เหมือนกับมันคันน่ะ คือว่ามันคัน ขันธ์ ๕ ไง หมาขี้เรื้อนในหัวใจของเรา มันอยู่ที่ไหนมันก็เกามันก็คัน มันอยู่ในความคิด อยู่ในอิสระของตัวเองไม่ได้ หัวใจ ต้องอาศัยสิ่งนี้เป็นที่เกาที่ให้มันคัน เห็นไหม คันหมายถึงว่ามันพอใจ มันทำไป มันหมุนไปกับโลก

สิ่งที่สร้างโลกนี้เป็นเรื่องของกิเลสเขา เรื่องของกิเลส เรื่องความผูกมัด แต่เราไม่เข้าใจ เราเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ สิ่งนี้เป็นที่พึ่งอาศัยได้ มันพึ่งอาศัยไม่ได้ แม้แต่กายของเราก็ยังพึ่งพาอาศัยไม่ได้ กายนี้ไม่ใช่ของเรา หัวใจนี้เป็นของเรา แต่โดนปกคลุมด้วยกิเลสที่มันบังคับให้เจ็บปวดแสบร้อนอยู่ในใจ เกิดตาย เกิดตายเห็นไหม แต่มันสามารถชำระได้ เป็นสมณะเป็นขั้นๆ เข้าไปด้วยการย้อนกลับมาดูกายกับใจนี้

แต่ในเมื่อความสงบมันไม่มี มันวิ่งออกไปเรื่องของโลกเขา มันเป็นไปประสาโลกเขาทั้งหมดเลย มันเป็นโลกเขาความคิดขนาดไหน ปัญญาที่คิดอยู่นี้มันไม่เป็นวิปัสสนานะ ถ้าใช้ปัญญาของขันธ์ที่ว่ามีกิเลสผลักขับไสออกไป มันไม่เป็นวิปัสสนาหรอก มันเป็นสัญญาอารมณ์ อารมณ์ของใจ อารมณ์ที่ควบคุมไป เห็นไหม อารมณ์นอนเนื่องไปกับความคิดอันนั้น อารมณ์ความรู้สึกมันปล่อยวางได้ มันว่างได้ ความว่าง ความปล่อยวางในอารมณ์นั้น ถ้ามันถึงจุดที่มันปล่อยวาง แต่มันเป็นสัญญาอารมณ์

แต่ถ้าความสงบของใจเข้ามา มันไม่ใช่เป็นอารมณ์อย่างนั้น ความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจทำความสงบเข้ามา สงบเข้ามา มันมีฐานที่ทำงานไง ใจที่ควรที่ทำงาน ความสุข สุขอย่างหนึ่ง ความสุขของจิตที่สงบ ที่เคยฟุ้งซ่าน ที่เคยแบกภาระไว้เต็มหัวเต็มไหล่ แล้วปล่อยวางความเป็นภาระในหัวใจนั้นหลุดออกไป นั่นน่ะ อิสระของการทำงานจะมี เห็นไหม อิสระคือว่าเขาเป็นอิสระกับกิเลสอยู่ชั่วครู่ชั่วยาม

แล้วยังมีสถานที่คือความรู้สึกตรงนั้น ตรงที่ใจสงบนั่นล่ะ มันจะรู้ว่านี่เป็นภวาสวะ เป็นฐานที่ควรแก่การงาน จะยกขึ้นดูกายหรือดูจิตหรือเปล่า ถ้ายกขึ้นดูกายหรือดูจิต สติปัฏฐาน ๔ และอริยสัจ ๔ อริยสัจความเป็นจริง อริยสัจ ๔...ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถ้าจับแล้วมันสะเทือนกัน สะเทือนหมายถึงว่าความทุกข์ของใจ ความเศร้าหมอง แม้แต่จิตที่สงบนี่มีความสุขมาก

แต่เวลามันเสื่อม มันจะเอาความทุกข์มาให้นะ ความทุกข์เหมือนคนเคยมีสมบัติ คนเราเคยมีสมบัติข้าวของเงินทองแล้วมันหายไปต่อหน้า เราจะเสียดายไหม เราจะเสียดาย เราจะทุกข์ร้อน ความสงบของใจก็เหมือนกัน มีความสุขต่อเมื่อมันมีความสงบ แต่เวลาเสื่อมค่าไป ความเสื่อมของเขาไป พอจิตนี้เสื่อมจากความสงบ มันก็จะกลับมาอยู่ในอารมณ์เดิมของโลกียะ โลกียะคืออารมณ์ของโลกเขา ความคิดอารมณ์ของโลกเขามันก็แบ่งสิ เพราะอะไร

เพราะเราเคยมีความสงบ เรารู้จักความสงบ อยากได้สิ่งนั้น ความอยากได้สิ่งนั้นมันเป็นตัณหาซ้อนตัณหาเข้ามาโดยเราไม่รู้สึกตัวเลย สมุทัย กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เห็นไหม มันมีความซ้อนเข้ามา พอความซ้อนเข้ามา การประพฤติปฏิบัติที่จะหาความสงบอันนี้ มันเลยมีแรงต้าน ๒ แรง แรงต้านจากกิเลส ๑ แล้ว แล้วเราสร้างกิเลสให้มีคุณค่าเป็น ๒ ขึ้นมาเพราะตัณหาความทะยานอยากของเรา เราไปคุ้ยกิเลสขึ้นมาให้เป็น ๒ ชั้นไง กิเลสอันหนึ่งคือธรรมชาติของเขามีอยู่โดยดั้งเดิมที่เขาต้องต่อต้านการประพฤติปฏิบัติ

การประพฤติปฏิบัติคือธรรม คือคุณงามความดีเพื่อจะชำระกิเลส กิเลสมันต่อต้าน มันมีเหตุผลของเขา เหตุผลของกิเลสคือเขาต้องการไม่ให้สิ่งที่มีคุณค่าตรงข้ามกับเขามาเทียบเคียงกันไง ถ้ามีสิ่งที่ตรงกันข้ามมาเทียบเคียงเขา คุณค่าของธรรมจะมีขึ้นมา อย่างจิตที่เคยสงบเข้ามา แต่ด้วยความไม่รู้ ความที่จิตของเราไม่รู้เพราะอวิชชามันครอบงำอยู่ มันถึงว่าต้องการโดยความอยากเฉยๆ ความอยากอันนี้เป็นตัณหาขึ้นมา

ความที่เป็นตัณหาขึ้นมาเป็นซ้อนขึ้นมา นี่กิเลสซ้อนขึ้นมาอักชั้นหนึ่ง กิเลสซ้อนมาอีกชั้นก็เลยเป็นการทำที่ยาก พอการทำที่ยาก เรามุมานะขนาดไหน ทำแล้วสักแต่ว่า สักแต่ว่าเพราะอะไร เพราะตัณหามันขวางอยู่ ความอยากในผลนั้นถึงต้องควรวาง

คบธรรมและวินัย ในธรรมสอนไว้บอกแล้วว่าความอยากนี้เป็นตัณหา ต้องวางความอยากโดยตัณหานี้วางไว้ แต่ไอ้จิตใต้สำนึก ไอ้อยากตัวนั้นเราวางไม่ได้ ถ้าสิ่งที่อยู่ใต้จิตใต้สำนึกวางไม่ได้ อันนั้นเราไม่ต้องไปวาง เราปล่อยไว้ถึงเวลาอัตตาตัวนี้ค่อยไปเจอกันข้างใน ถ้าจิตนั้นสงบแล้วหมุนเข้ามา จะไปเจอกันข้างใน พอไปเจอสิ่งนั้นแล้วค่อยไปชำระล้างกันด้วยวิปัสสนา ในเมื่อยังไม่ถึงวิปัสสนา เป็นสมถะ ทำความสงบเข้าไปมันยังสงบไม่ได้แล้วเราจะปล่อยวางอะไร

เราปล่อยวางได้สิ่งที่เรานึกขึ้นมาคือความอยากที่เรานึกขึ้นมาเป็นอารมณ์ เห็นไหม สิ่งที่เป็นอารมณ์เรานึกขึ้นมา เป็นความอยากของอาการของใจ คืออารมณ์ที่มันไปขุดคุ้ยให้จิตนี้ขุ่นมัวขึ้นมา ความที่ว่ามันไปขุดคุ้ยหรือไปกว้านไปให้สิ่งนั้นขุ่นมัวขึ้นมา อันนี้วางได้ อารมณ์ข้างนอกนี้วางได้

แต่จิตใต้สำนึกอารมณ์ความอยากอันนั้นวางไม่ได้ เพราะมันเป็นอัตตาอยู่ในหัวใจ เราก็ปล่อยไว้ตามความเป็นจริงแล้วสร้างเหตุขึ้นมา ปล่อยวางใจให้โล่งให้สบายแล้วกำหนดพุทโธๆ กำหนดความสงบเข้าไปเพื่อให้จิตนี้เกาะเกี่ยวเป็นคำบริกรรมไง จิตนี้เกาะคำบริกรรมเข้าไปเหมือนกับว่าเด็กเกาะราวเข้าไป จิตนี้มันจะฟุ้งซ่าน พยายามบิดเบือน พยายามทำออกไป ความคิดนี้มันจะออกไปอิสระของเขา

ถ้าเป็นอิสระของเขา นั่นก็กิเลสพาคิด กิเลสมันใช้งานแล้วมันจะออกไปในทำนองนั้น แต่ถ้าเราใช้สติสัมปชัญญะแล้วพยายามกำหนดเข้ามา พุทโธเข้ามา อันนี้เป็นการต่อต้าน เห็นไหม สิ่งที่ตรงข้ามกัน กิเลสกับธรรมเป็นของคู่ ระหว่างขาวกับดำที่ต่อสู้ตรงข้าม จะมีน้ำหนักใครมากกว่ากัน อยู่ที่เรา อยู่ที่สติสัมปชัญญะ อยู่ที่หัวใจพยายามกำหนดพุทโธเข้ามา ตั้งสติเข้ามาให้ได้ พอตั้งสติเข้ามาให้ดีแล้วจะละเอียดเข้าไป ความละเอียดเข้าไป

นี่เพราะมีเหตุ เหตุคือสติพร้อม เหตุเพราะคำบริกรรมเรามี

หัวใจนี้เป็นสถานที่ที่ทำงานอยู่ ความสงบของใจเข้าไปจะสงบเข้าไปของเขาโดยธรรมชาติของเขา นี้คือธรรมไง ธรรมที่มีอยู่โดยดั้งเดิมแต่เราไม่เคยทำ เราไม่เข้าใจ พอเราไม่เข้าใจ เราก็สะเปะสะปะ เห็นไหม ทำผิดทำถูก อันนั้นเป็นการเริ่มต้นเป็นการประพฤติปฏิบัติ

แต่ถ้าทำถูกเข้ามา ถูกเข้ามา ความถูกนี้เขาเรียก “วสี” วสีคือการชำนาญ ความชำนาญในการประพฤติปฏิบัติ ในการกำหนด ในการวางอารมณ์ จิตนั้นจะสงบเข้ามา ถ้าวสีนี้ชำนาญเข้าไปบ่อยๆ เข้า ถ้าชำนาญเข้าไปบ่อย มันกำหนดได้โดยง่ายไง ถึงจิตถ้าเป็นสมาธิ จิตตั้งมั่นแล้วกำหนดได้ง่าย นี่ทางที่เราเคยเดิน เราจะทำใจของเราสงบเข้ามาได้เรื่อยๆ ขึ้นมา นี้คือสมณะของใจ

“สมณะของใจ” สงบแต่ยังไม่ระงับ ถ้าจะระงับกิเลสออกไปจากหัวใจเป็นสมณะที่ ๑ เห็นไหม ถึงต้องพิจารณากายกับใจอีกชั้นหนึ่ง ความวิปัสสนาอย่างนี้วิปัสสนาเข้ามาเพื่อจะให้ระงับออกไปจากกิเลส เห็นไหม จากกิเลสที่เคยขับไส กิเลสที่เคยอยู่ในหัวใจ ด้วยเราใช้คำบริกรรมเข้ามาจนสมถกรรมฐานจนสงบเข้ามา แต่สงบเฉยๆ สงบเป็นที่ควรแก่การงานในการยกขึ้นวิปัสสนา

ถ้ายกขึ้นวิปัสสนานี้เป็นการประพฤติปฏิบัติ เป็นการ... “ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” ถ้าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมจะเข้าถึงสมณะเรื่อยๆ ขึ้นไป ความสมณะละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป จิตนี้ก็จะเป็นอิสระจากกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป

นี่เป็นตัวสมณะเอง รู้เองเห็นเองจากใจดวงนั้น

ใจดวงนั้นถ้าประพฤติปฏิบัติจนเข้าไปเป็นสมณะที่ ๑ ถึงสมณะที่ ๑ แล้วจะเข้าใจ จะเชื่อมั่นในหลักธรรมมาก เห็นไหม ถึงบอกว่าไม่มีความลังเลสงสัย เป็นอจลสัทธาที่จะก้าวเดินเข้าไปถึงธรรมเรื่อยๆ ขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นี้มีกำลังใจขึ้นมามันก็ก้าวเดินได้ง่ายขึ้น ความก้าวเดินของใจดวงที่ก้าวเดินเป็นแล้ว ถึงเรียกว่าภาวนาเป็นไง สมณะที่ ๑ นี้เป็นผู้ที่ภาวนาเป็นแล้ว เป็นขึ้นมาเพราะการก้าวเดินมาทางผิดทางถูกนี่แหละ แต่ถูกจนทำตัวเองเข้าไปถึงสมณะที่ ๑

ความเป็นสมณะที่ ๑ ต้องระงับจากกิเลส ระงับจากความเห็นผิด ระงับจากความเป็นตนเป็นตัวไง กายนี้เป็นเรา เรานี้เป็นกาย นี่ระงับออกไป ความที่ระงับออกไป ระงับจากด้วยปัญญา ด้วยมรรคะ ด้วยความเป็นจริง ด้วยความฝึกฝนของใจดวงนั้น ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นโดยได้มาโดยไม่มีเหตุไม่มีผล ความที่ไม่มีเหตุไม่มีผลนั้นเป็นเรื่องของกิเลสนะ

กิเลสจะบอกว่า “สิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้น” คือว่าเวลาประพฤติปฏิบัติไปมันจะวาดผลคาดผลไว้ให้เราหลงทางไง ความคาดผลหวังผลอันนั้นไม่ใช่เรื่องของธรรม การคาดผลหมายผลเพราะความอยากได้สะดวกอยากได้สบาย นี่กิเลสแทรกเข้ามาในวงในการวิปัสสนานั้น แล้วก็คาดหมายให้เป็นงานของเขา เป็นอารมณ์ของเขาที่พอใจว่าจะปล่อยวางอย่างนั้น

ความปล่อยวาง เห็นไหม ถึงว่ามันไม่ใช่เหตุใช่ผล ถ้าเป็นเหตุเป็นผล ความระงับโดยเด็ดขาดจะมีเหตุมีผล จะปล่อยวางตามความเป็นจริง กายเป็นกาย จิตเป็นจิต มันจะปล่อยวางเห็นชัดๆ เลย แล้วความระงับนั้นระงับจากความลังเลสงสัย ความลังเลสงสัยมันจะขาด ความขาดกายขาดนี้ พอกายขาดไป มันเห็นต่อหน้ามันจะไปลังเลสงสัยที่ไหน นั่นน่ะ รู้ทั้งรู้ทั้งเห็น

จิตที่ทั้งรู้ทั้งเห็นนั้นถึงจะเป็นสิ่งที่ประเสริฐ จิตที่ทั้งรู้ทั้งเห็นก็เย็นเข้ามาสิ มันเป็นเครื่องยืนยันไง จากที่ว่าเห็นสมณะข้างนอกแล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติตาม เชื่อตามธรรมนั้นแล้วประพฤติปฏิบัติเข้ามา จนใจนั้นเป็นสมณะที่ ๑ แล้วมันจะลังเลสงสัยความเป็นสมณะได้อย่างไร

ความเป็นสมณะคือความสงบของใจ ความสงบจากกิเลส ความสงบในความสงบเป็นสมถะเป็นความสงบชั่วคราว แต่ความสงบระงับจากกิเลสออกไปนี่มันเวิ้งว้างต่างกัน จิตนั้นถึงไม่ใช่จิตที่มันจะฟุ้งซ่านได้อย่างนั้นอีกแล้ว จิตนี้เป็นจิตที่ระงับจากความฟุ้งซ่าน เห็นไหม จะมีสมาธิโดยธรรมชาติของมันไง จะมีสมาธิส่วนหนึ่งเพราะเป็นอกุปปธรรม

จิตที่เป็นอกุปปธรรมนั้นจะมี...

...วางไว้ เสวยไปก่อน สุขอันนั้น แต่กิเลส... สุขอันนั้น ที่ว่าสมณะที่ ๒ ที่ ๓ นี่ กิเลสมันยังขุ่นมัวอยู่ในหัวใจ การขุ่นมัวมันก็ปกป้องไว้ เกิดอีก ๗ ชาติ สมณะที่ ๑ ยังต้องเกิดอีก ๗ ชาติ การเกิดและการตายในหัวใจยังมีอยู่ การเกิดและการตาย สิ่งที่พาเกิดพาตายคืออะไร คือสิ่งที่เป็นเชื้อโรคในหัวใจ ถ้าเรายังมีเชื้อโรคอยู่ในหัวใจนะ ความทุกข์อันละเอียดมันก็ต้องมีอยู่ในหัวใจ ความทุกข์ความวิตกกังวลอันละเอียด เห็นไหม กามราคะยังมีอยู่ในหัวใจ มันทำให้ขุ่นมัว ขุ่นมัวในความละเอียดขึ้นมา

สุข...สุขอย่างหยาบ แต่ทุกข์อย่างละเอียดมันฝังอยู่ที่ใจ ถ้าเราพยายามเข้าไป ความพยายามของมันต้องไตร่ตรอง ความไตร่ตรองของเราในธรรมนั้น ในธรรมเห็นไหม ในธรรมที่ว่าดูเรื่องความละเอียดเข้าไปของอริยสัจ ธรรมอยู่ข้างนอก สมณะข้างนอกเห็นไหม สมณะข้างนอกคือความเชื่อเป็นสัญญา

แต่ความเห็นภายใน ความละเอียดของใจที่มันแปรปรวนตลอด มันจะจับได้ ความจับได้ต้องทำจิตสงบเข้าไป นี่ความเห็นข้างในคือความจับต้องได้ การประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี้เวลาจิตมันเป็นความสงบขึ้นมานี่เป็นเรานะ เป็นอัตตาอันหนึ่ง อัตตาที่สงบอยู่แล้วกิเลสอยู่ในนั้นไง

ถ้าเราจับตัวนี้ได้ มันละเอียดอ่อนขนาดไหนเราก็ต้องจับได้ เพราะธรรมกับกิเลสมันเป็นของที่ฝ่ายตรงข้าม เป็นการต่อสู้กัน ถ้าคิดเป็นกิเลสมันก็ทำให้เราฟุ้งซ่าน เราคิดผิดไง ความเห็นผิด ความคิดที่ผิด ในการประพฤติปฏิบัติผิด ประพฤติปฏิบัติอยู่แต่มันออกไป มันต้องมีอยู่โดยแน่นอน เพราะอำนาจของอะไรจะมีมากกว่าล่ะ

ถ้าอำนาจของอวิชชามีมากกว่า อำนาจของกิเลสมีมากกว่า เวลาเขาบังเงาออกไป บังเงากับในความประพฤติปฏิบัตินี่ออกไป มันจะหมุนออกไปในความเห็นของกิเลสชักนำไป “จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น” คือเป็นการคาดการหมายไง แล้วเราก็พอใจ เราพอใจคือว่าเราคาดการณ์ผล

สิ่งที่เราไม่เคยเห็นผลที่ละเอียดขึ้นไป ความที่ว่ากายกับใจที่แยกออกจากกันโดยธรรมชาติเป็นสมณะที่ ๒ มันแยกอย่างไร เราก็จะไปเอาความเห็นครั้งแรกไง ความเห็นนั้นเป็นสัญญาใช่ไหม กายกับใจนี้แตกออกจากกันนั้นมันเป็นความจริงขณะที่เราประพฤติปฏิบัติในสมณะที่ ๑ แต่สมณะที่ ๒ นี้มันไม่เป็นอย่างนั้น ความที่ไม่เป็นอย่างนั้น แต่สัญญาจำมา คาดหมายอย่างนั้น คาดหมายอย่างนั้น กลัวให้มันเป็นไปโดยความที่เราเคยเห็นมา แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ นั้นคือกิเลสพาให้เราทำ กิเลสพยายามให้เราหลงทางออกไป ความที่เราจะหลงออกไป หลงทางออกไปไปไหน ไปอยู่ในอำนาจของเขา หมุนไปหมุนมาแล้วก็ต้องอยู่ตรงที่เก่านั้น นี่การประพฤติปฏิบัติหมุนไปไง

เราวิปัสสนาไป หมุนออกไป คิดว่าเป็นวิปัสสนาหมุนลงไป ไปอยู่ในอำนาจของกิเลสนั้น ถ้าหมุนเป็นธรรมล่ะ หมุนเป็นธรรมเราต้องฝืนไง ที่ว่าฝืนใจคือฝืนกิเลส ฝืนความเห็นของตนคือร่องความคิดเดิมของเขา เขาเคยคิดอย่างไรเขาก็คิดของเขาออกไปตามความคิดของเขาอย่างนั้น แล้วมันแปรปรวนไปตลอด กิเลสมันสร้างร้อยสันพันคมไง พยายามหาแง่มุมต่างๆ ขึ้นมาหลอกเรา หลอกเรานะ

คำว่า “หลอกเรา” ทำไมเราเชื่อล่ะ? เราเชื่อเพราะว่ามันอยู่ใกล้ชิดใกล้เคียงกับเรา แล้วสร้างปัญหาขึ้นมา เราจะเห็นตามนั้น คิดว่าเราคิดออกไป เราคิดออกไป มันเป็นความบังเงาอยู่ในหัวใจ เราไม่มีสติสัมปชัญญะพอ ถ้ามันหลอกไป หมุนออกไปแล้วมันเป็นความผิด ความผิดคือว่ามันปล่อยวางชั่วคราว

แต่มันปล่อยวางแล้ว พอความปล่อยวางนั้นมันเริ่มเสื่อมลง หมายถึงว่ามันเริ่มจางคลายออกไป จางออกมาจากสิ่งที่มันปล่อยวาง มันก็จะไปเห็นความขุ่นมัวของใจโดยธรรมชาติ เพราะสิ่งนั้นฝังอยู่ที่ใจ สิ่งนั้นไม่ได้ชำระออกไป

พอสิ่งที่ฝังอยู่ที่ใจมันเกิดได้ เราพิสูจน์ได้ เรื่องกระทบกับอารมณ์ภายนอกไง สิ่งที่กระทบกับรูป รส กลิ่น เสียง ภายนอกแล้วเรามีความขุ่นมัวในใจไหม ถ้ามันเป็นธรรม มันจะไม่มีสิ่งที่ขุ่นมัวในใจ เห็นไหม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเรายังมีอยู่ ความกระทบกระทั่งจากภายนอก รูป รส กลิ่น เสียงที่มากระทบกับหัวใจของเรา มันกระชากหัวใจเราไปไหม

ถ้ามันไม่กระชากหัวใจเราไป เราทันในสถานะอะไร สถานะที่เรากดไว้หรือทันในสถานะที่ว่ามันไม่มีเลย ทันในสถานะที่สงบระงับจากกิเลส มันเป็นทันในสถานะที่ว่ามันเข้าใจตามความเป็นจริง เข้าใจตามความเป็นจริงแล้วปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง จะฟังก็ได้ จะไม่ฟังก็ได้ จะยับยั้งตรงไหนก็ได้ สติสัมปชัญญะพร้อมกับรูป รส กลิ่น เสียง ตามรู้ตามทันตลอดเวลา ตามรู้ตามทันนะ ตามรู้ตามทันเพราะอะไร

เพราะหัวใจที่มันขยับไปรับรู้นั้นสติสัมปชัญญะมันไปพร้อมกัน มันไปพร้อมกัน จะไปพร้อมกันได้ต้องไม่มีตัวเชื้อของกิเลสอยู่ ถ้ามีเชื้อของกิเลสอยู่ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะไปพร้อมกัน มันเป็นอดีตอนาคต ความรับรู้นั้นมันปรุงแล้ว มันเป็นเรื่องของความที่เราไม่พอใจหรือพอใจขึ้นมาในหัวใจแล้ว เรายังไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นเป็นกิเลสมันปรุงขึ้นมาชั้นหนึ่งแล้ว นี่สิ่งที่ว่ามันทำไปแล้วมันผิดพลาด มันจะผิดพลาดไปอย่างนั้น

ความหลงของการประพฤติปฏิบัติ ความหลงคือการปฏิบัติในทางที่ผิด เพราะกิเลสมันพาปฏิบัติ กิเลสมันไม่ได้หยุดให้เราปฏิบัติ ถึงต้องกำหนดใจให้สงบเข้ามา ทำความสงบใจของเราเข้ามา ทำความสงบใจของเราเข้ามา ถ้าจิตมันสงบ มันจะเทียบเคียงเอง

“สงบ” ความสงบของใจเป็นอย่างหนึ่ง พอสงบของใจมีพลังงานขึ้นมา พอมีพลังงานขึ้นมา มีพลังงานพร้อมกับความคมของใจ ความคมของใจ เสียงเข้ามามันผ่าเสียง มันผ่าออกไป ผ่าออกไป เสียงนั้นไม่สามารถจะเข้าไปกระทบกับดวงใจนั้นได้ นี่มันก็เห็นโทษสิ เห็นโทษในปัจจุบันนั้น เห็นโทษตรงไหน เห็นโทษที่ว่าเรื่องของใจนี้มันไปรับรู้เขา มันเป็นยางเหนียว มันซึมซาบออกไป วิปัสสนาเข้ามา ย้อนเข้ามา ดูกายกับดูใจ ความที่ว่าดูกายกับดูใจ ต้องดูด้วยตาของปัญญา ต้องมีสมณะเข้ามาในหัวใจก่อนนะ สมณะคือความสงบของใจตรงที่หัวใจนั้น

ดูด้วยโลกของเขา โลกมันหยาบมาก รูป รส กลิ่น เสียงของโลกนี้หยาบๆ มันกระทบเรื่องสิ่งภายนอก แต่เรื่องของภายในนี้มันกระทบกับหัวใจอย่างเดียว ใจนี้มันอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้เป็นเครื่องสืบต่อ ใจนี้นอนอยู่ในกลางหัวใจนะ กลางตัวกลางหัวอกของเรา แล้วอาศัยนี้สืบต่อไปหาเหยื่อเข้ามาทำให้ใจนี้ขุ่นมัว

จิตนี้สงบมันจะจับใจดวงนี้ได้ จะเห็นอาการของใจที่ไปรับรู้นั้น นี่ทันเข้าไปด้วยมรรคอริยสัจจัง มรรคไง มรรคในอริยสัจ ๔ นั้น มรรคสร้างขึ้นมาด้วยใครสร้าง? มรรคเราเป็นคนสร้าง มรรคนี้เป็นนามธรรม กิเลสนี้ก็เป็นนามธรรม มรรค นามธรรมหมายถึงว่าสัมมาสมาธิ ความเป็นจิตนี้สงบ จิตนี้เป็นนามธรรมที่ตั้งตัวขึ้นมาไม่ได้เลย พอทำจิตนี้สงบเป็นสัมมาสมาธิ จิตนี้ตั้งตัวขึ้นมาได้ จิตนี้ตั้งตัวขึ้นมา จิตนี้เป็นสัมมาสมาธิ มีปัญญาก็ปัญญาออกมาจากตรงนี้ไง ปัญญาความดำริจากภายใน ดำริชอบ ความเห็นชอบ การงานชอบ ความเพียรชอบ ชอบขึ้นมา มรรคหมุนออกมา

มรรคหมุนออกไป ออกไปชำระสิ่งที่ว่ารูป รส กลิ่น เสียงภายนอกเข้ามากระทบใจ มันชำระออกไป ชำระออกไป ชำระออกไปเรื่อยๆ ออกไปจนความเห็นมันห่างออกไป ห่างออกไปนะ จากเดิมกระทบแล้วมันจะติดทันที ติดทันที ความห่างออกไป...รูป รส กลิ่น เสียงกับใจจะห่างออกจากกัน ห่างออกจากกัน กระทบกันไม่ได้เลย สิ่งที่กระทบกันไม่ได้เพราะอะไร

เพราะมรรคมันความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ความวางใจไว้ถูก เสียงเป็นเสียง เนื้อหาเรื่องสาระในเสียงนี้ต่างกัน เสียงนี้เป็นสักแต่ว่าเสียง สาระนี้เราเป็นคนแบ่งแยก สาระของเสียงนั้น เสียงนั้นพูดมาคำความหมายของเสียงนั้นเพื่ออะไร เห็นไหม เสียงของสิงสาราสัตว์นี้เสียงสักแต่ว่าเสียง เสียงของมนุษย์พูดออกมานั้นมีความหมายในเสียงนั้น

มันแยกออกไป แยกออกไป ความแยกออกไป สิ่งนั้นไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ปล่อยระงับออกไป ขาดออกไปจากใจได้โดยความเป็นจริง ระงับจากกิเลสได้ นี่สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ ขึ้นไป สมณะที่ ๔ ขึ้นไป จิตมันจะพัฒนาขึ้นของมันไปเรื่อยๆ หมุนเข้าไปเรื่อยๆ ไม่มีการนอนเนื่องในอาการของกิเลสที่มันจะพาให้นอนเนื่อง

กิเลสนี้จะไม่ยอมให้ประพฤติปฏิบัตินะ กิเลสนี้จะสวมรอยว่าสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติเข้ามานี้เป็นสิ่งที่สุดส่วนแล้วไง เป็นสิ่งที่ว่าถึงที่สุดของธรรม ถึงที่สุดของธรรมเชื้อมันอยู่ที่ไหน ก็เชื้อนั่นล่ะเป็นคนบอกว่าถึงที่สุดของธรรม ถ้าถึงที่สุดของธรรมนั้น มันจะเป็นธรรมจริงๆ ใจนั้นจะรู้เอง ใจจะรู้เองเห็นเองเป็นปัจจัตตังด้วยความเห็นภายในของใจนั้น

ใจนั้นกระทบกับกิเลสมันมีความเป็นกิเลส มันขุ่นมัวอยู่ในหัวใจตลอดเวลา เราต้องดูของเรา เราอย่าไปดูของคนอื่นนะ สมณะข้างนอก ครูบาอาจารย์นั้นเป็นครูบาอาจารย์ เรามองครูบาอาจารย์ กิริยาภายนอกยังเป็นกิริยาภายนอกเลย กิริยาของใจ

เพราะใจนั้นถ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใจนั้นบริสุทธิ์อยู่แล้ว ใจนั้นผุดผ่อง แต่กิริยาที่แสดงออกมามันต่างกัน ต่างกันความหมายตีค่าต่างกัน ความตีค่าความหมายภายนอกมันตีค่าภายนอก ย้อนกลับมาดูเรา

“ทุกคน ทุกผู้ปฏิบัติ ทุกหัวใจต้องดูที่ใจของเรา”

ใจของเราเวลากำเริบขึ้นมานะ มันให้ผลให้คุณค่ากับใคร เวลาใจมันทุกข์ขึ้นมาอย่างกิเลสมันหลอกใจอย่างนี้ หลอกว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ว่ามีคุณค่า เป็นสิ่งที่สำเร็จ ถึงที่สุดของธรรมแล้วหลอกอยู่อย่างนั้น แล้วเราก็นอนเนื่องอยู่นั้น เวลามันจะเข้ามาถึงใจเข้ามาไม่ได้เพราะอะไร เพราะความสงบอยู่มันพยายามทรงความสงบนั้นไว้ ทรงความสงบไว้มันก็เย็นใจ

ความเย็นใจอยู่ แต่กิเลสอยู่ข้างในนั้นมองไม่เห็น มองไปอยู่ข้างนอก เห็นไหม ถ้ามองอยู่ข้างนอก นั่นน่ะ เสียโอกาสของใจดวงนั้น จะมีสมณะที่ ๒ ก็จะทรงอยู่อย่างนั้น ไม่ย้อนกลับเข้าไปดู เพราะถ้าจะมีสมณะที่ ๓ มันต้องเห็นเงื่อนเห็นปมของการวิปัสสนาไง เงื่อนปมของกามราคะ เงื่อนปมของความกระเพื่อมของจิต

จิตนี้จะกระเพื่อมรุนแรงมากถ้าเห็นเงื่อนปมนี้ ถ้าจะไม่เห็นเงื่อนปมนี้ จะไม่มีความกระเพื่อมเลย มันจะว่างอยู่อย่างนั้น ว่างอยู่เพราะอะไร เพราะความสงบนี้ไปกดไว้ แล้วอวิชชา ปัจจยา สังขารา กิเลสนี้จะไม่ให้เห็น กิเลสนี้จะบังเงา กิเลสนี้ฉลาด ฉลาดในการเอาตัวรอดนะ แต่ทำให้สัตว์โลกทุกข์ สัตว์โลกนี้เป็นอยู่แต่อำนาจของเขา แล้วเขาจะฉลาดกับใจดวงนั้นนะ

ใจดวงที่ประพฤติปฏิบัติเขาไม่ฉลาดกับใครหรอก เขาฉลาดกับใจดวงนั้น อาศัยบังคับให้ใจดวงนั้นเป็นขี้ข้า เห็นไหม เขาถึงฉลาดกับใจดวงนั้นแล้วให้ใจดวงนั้นโง่ โง่เพราะว่าเป็นขี้ข้าเขา โง่เพราะแบกรับให้เขาขับถ่ายอยู่บนหัวใจไง เขาจะขับถ่ายความเศร้าหมอง ความทุกข์อยู่ในหัวใจนั้น

แต่เพราะเราประพฤติปฏิบัติมาเป็นสมณะที่ ๒ ความที่เป็นสมณะที่ ๒ นี้มันมีอาศัยฐานของใจเป็นความว่างนั้น แต่กิเลสมันบังเงาไว้ว่าสิ่งนั้นเป็นที่สุดอยู่ จะติดตรงนี้ติดความว่างนี่อยู่นาน ถ้าไม่มีการอยู่ใกล้นะ ได้คบสมณะไง คบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คบธรรม แล้วไตร่ตรองอยู่ตลอดเวลา ไตร่ตรองใจของเรานี่ มันจะเห็นได้

ถ้าเห็นเงื่อนเห็นปม มันถึงจะเริ่มต้นทำงานของสมณะที่ ๓ ได้ การทำงานสมณะที่ ๓ มันจะพ้นจากกามราคะ ความที่ว่าเป็นกามราคะจะรุนแรง ความที่รุนแรงเพราะอะไร เพราะว่าเป็นการเกิดการตาย

กามนี้เป็นการสืบต่อสิ่งมีชีวิต จิตนี้ก็อาศัยการสืบต่อนั้นถึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์ สิ่งที่เกิดเป็นมนุษย์ แล้วกิเลสปกคลุมใจที่เป็นมนุษย์นี้จนเราเชื่อฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อธรรมไง เชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมา นี่มันปกคลุมขึ้นมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วเราทำขึ้นมา เห็นโทษของเขามาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา เห็นโทษเพราะอะไร “เพราะธรรม” เพราะธรรมที่เป็นธรรมฝ่ายปฏิบัติ

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เห็นธรรมตามความเป็นจริงในใจนั้นถึงจะเห็นโทษ

แต่ถ้าเป็นการศึกษามา การคบด้วยการเห็นสมณะภายนอก มันเห็นแล้วมันสลด มันสังเวช ความสลดสังเวชนั้นกิเลสไม่กลัว กิเลสกลัวแต่ธรรมจักร กิเลสกลัวแต่ปัญญาธรรมจักร ปัญญาความดำริชอบ ความเห็นชอบ การนั้นฟาดฟันกับกิเลสนั้น กิเลสกลัวตรงนั้น สิ่งนี้ต้องสร้างขึ้น ถึงว่าเป็นปัจจัตตังรู้จำเพาะตน “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” กิเลสอยู่ในหัวใจดวงไหน หัวใจดวงนั้นต้องสร้างอาวุธขึ้นมา ต้องสร้างธรรมจักรนี้ขึ้นมา การสร้างธรรมจักรขึ้นมา

อย่างที่ว่าทำความสงบขึ้นมา เริ่มพื้นฐานขึ้นมา มันก็ต้องทำให้เราทุกข์ยากเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอน ทุกข์ยากเพราะกิเลสมันหลอกลวง ทุกข์ยากเพราะกิเลสมันต่อต้านเท่านั้น แล้วกิเลสต่อต้านแล้วกิเลสยังหลอกลวงแปรเปลี่ยน พยายามให้ค่าผิด ให้การประพฤติปฏิบัตินี้หลงทางออกไป สุดท้ายแล้วมันก็เป็นเรื่องของกิเลสต่อต้าน ๑ เป็นเรื่องของกิเลสพยายามปกป้องตัวเขาเอง ๑ เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้นทำให้เราประพฤติปฏิบัติแล้วไม่ได้ก้าวเดินเข้าไปตามสมณะ ๑, ๒, ๓ ที่เป็นความจริงอันนั้น

เราถึงว่าเป็นความทุกข์ยาก ทุกข์ยากเพราะกิเลสทำให้ทุกข์ยาก ต้องโทษกลับมาที่เรา ถ้ายกมาที่เรานะ ยกมาที่เรา ถ้าเห็นโทษของเราคือเห็นโทษมีทางก้าวเดิน ถ้าไปเพ่งโทษ ไปพยายามมองอยู่ข้างนอก แล้วว่าทำไมจะทำให้เรามีคุณค่าขึ้นมา เห็นไหม เราไปความหมายไว้ข้างนอก เป็นความหมายไว้ข้างนอกแล้วกิเลสมันอยู่ภายใน กิเลสก็หัวเราะเยาะ มันก็เลยไปสร้างฉากสร้างเงาไว้ให้เรามองไม่เห็นตัวมัน

ความที่มองไม่เห็นตัวมัน เราได้แต่ส่งข่าวของเขา ทำแต่เรื่องข่าวของเขา แล้วเราก็นั่งตีโพยตีพายของเราไป เพราะเราไม่สามารถไประงับดับยั้งต้นเหตุของสืบข่าวนั้นออกมาได้ สิ่งที่สืบข่าวมาก็สืบจากหัวใจ สืบจากตัวกิเลสนี้ กิเลสนี้ให้ค่าออกมาแล้วเราก็รับค่าของเขา รับค่าของเขาก็ให้คุณค่าของเขา ให้คุณค่าของเขาก็ให้ทุกข์กับใจ ให้ทุกข์อยู่อย่างนั้น นี่กิเลสมันให้ทุกข์ทุกอย่างนะ

ถ้าเรามีปัญญาคิด เราเห็นความสงบระงับขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความสุขมาก แล้วเราพยายามจะก้าวเดินให้เป็นถึงอย่างนั้น เป็นอริยสาวก เป็นสาวกที่เป็นเครื่องเป็นพยานยืนยันกับผู้ที่เข้าถึงธรรมได้ เข้าถึงธรรมมันต้องเข้าถึงธรรมจากหัวใจ สมณะภายในของใจดวงนั้น

สมณะภายนอกนี้เป็นเครื่องบูชา เป็นเครื่องที่ว่าเราบูชา เราศึกษา แล้วเราพยายามก้าวเดินตามไป นั้นเป็นแบบอย่าง สมณะที่เราเป็นมงคลในมงคล ๓๘ ประการนี้เป็นสมณะที่ว่าเป็นมงคลที่เราเห็นแล้วเรามีความจงใจ มีความมุมานะเพื่อจะสร้างสมขึ้นมา

แต่สมณะที่เราประพฤติปฏิบัติจากภายในหัวใจนี้เป็นสมณะที่เราสร้างขึ้นมาเอง เป็นสมณะด้วย เป็นความรู้ความเห็นของใจนั้นด้วย มันก็พยายามจะทำให้มันเป็นไปขึ้นมาในหัวใจดวงนั้น หัวใจดวงนั้นพยายามสร้างสมขึ้นมามันก็เป็นไปขึ้นมา เป็นไปขึ้นมา แล้วเป็นต้องเป็นให้ถูกทางด้วย สิ่งที่ถูกทางเข้ากับความเป็นจริง

“กิจที่ควรทำเราได้ทำแล้ว” ถ้ากิจที่ควรทำได้ทำแล้ว เรื่องญาณมันจะเกิดขึ้น ความเห็นถูกต้องมันจะเกิดขึ้น ความเห็นถูกต้องเกิดขึ้น สิ่งที่ธรรมเกิดขึ้น กามราคะก็เป็นกามราคะ กามราคะก็หัวใจนี้เป็นกามราคะโดยธรรมชาติ เพราะหัวใจนี้เคยอยู่โดยธรรมชาติของเขา

กามของใจ ใจนี้เป็นกาม เป็นกามเพราะกามนี้เป็นเชื้อแห่งภพ เชื้อแห่งภพมีการสืบต่อให้ไปเกิดเป็นภพเป็นชาติ กามอันนี้มันเป็นอยู่โดยธรรมชาติของมัน นี่มันอุ่นกินอยู่ในหัวใจดวงนั้นแล้วมันถึงขับออกมาเป็นความรู้สึกภายนอก ความรู้สึกภายนอกก็ออกมาจากกามดวงนั้น มันถึงย้อนกลับมาดูใจของเรา

ถ้าธรรมจักรเข้ามา มันจะเข้าไปชำระกามได้ กามนี้มันเป็นอยู่กับใจใช่ไหม เป็นเชื้อของใจใช่ไหม เชื้อไม่ใช่ใจ ใจนี้เป็นใจ เชื้อนี้เป็นเชื้อ อาศัยอยู่ด้วยกัน ถ้าธรรมาวุธ อาวุธเกิดขึ้นมา เชื้อโรคขึ้นมามียาเข้าไประงับเชื้อโรคนั้น เชื้อโรคนั้นจะดื้อยาขนาดไหน ยานั้นก็ต้องพยายามสร้างสมขึ้นมาให้เปลี่ยนยาขึ้นไป เปลี่ยนยาถ้าโรคดื้อยา

ปัญญาในการใคร่ครวญก็ต้องเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงคือคิดขึ้นมาใหม่ตลอดเวลา การต่อสู้ขึ้นไป เห็นไหม ใช้พลังงานไปส่วนหนึ่งแล้วก็หมดไป ความหมดไปสร้างสมขึ้นมาใหม่ สร้างสมขึ้นมาใหม่ แต่ถ้าเป็นพลังงานอันเก่า เป็นสัญญา เราดึงขึ้นมา นึกขึ้นมากิเลสก็หัวเราะเยาะ ความที่กิเลสหัวเราะเยาะ งานนั้นมันไม่เป็นงาน มันเป็นการก้มกราบ ก้มพนมกรยอมรับกิเลสนั้นไง การประพฤติปฏิบัตินี้ถึง “สักแต่ว่า” เป็นการประพฤติปฏิบัติ “สักแต่ว่า” เป็นการกระทำ

สักแต่ว่าไม่ได้ มันต้องทำจริงๆ การทำของเราขึ้นมา ทำจริงๆ ขึ้นมาให้เป็นจริง

สิ่งที่เป็นจริง จิตนี้ก้าวเดินออกไปจะเห็นความเป็นจริง เพราะเวลาปัญญาหมุนเข้าไป ความคิดความเห็นของเรามันต่อสู้กับความคิดเดิมแล้วมันปล่อยได้ ความคิดเดิมนั้นสู้ความคิดใหม่อันนี้ไม่ได้ ความคิดใหม่อันนี้มีพลังงานของสัมมาสมาธิหนุนเข้าไป ความคิดของเดิมคือเชื้ออันนั้นมันจะโดนทำลาย พอโดนทำลายขึ้นไปมันหลุดออกไปจากใจ

ความที่หลุดออกไปจากใจเป็นสมุจเฉทปหาน เป็นสมณะที่ ๓ ขึ้นมา

ความคิดที่หลุดออกไป กิเลสที่มันสืบต่อมันเป็นความสืบต่อ ความสืบต่อระหว่างความคิดกับใจมันคนละอัน “ขันธ์ใน” ขันธ์ในจิตนั้นจะขาดออก จิตนี้จะขาดออกจากขันธ์ ขันธ์นี้ขาดออกไปเลยเป็นตอของจิต นั้นคือตัวอวิชชา สมณะตัวนั้นสำคัญที่สุด ตัวอวิชชานี้เป็นเงื่อนปมที่จะถึงสมณะที่ ๔ การค้นหาเงื่อนปมอันนี้ก็ต้องใช้วิชาการ วิชาการก็มรรคอริยสัจจัง นี่สมณะที่ ๔ กับสมณะที่ ๔ เหตุและผลจะเข้าถึงตัวนั้นได้

การเข้าถึงเงื่อนปมอันนั้นต้องพยายามค้นคว้า การค้นคว้าคือการไตร่ตรองการดู ความเป็นธรรมและวินัยนี้เป็นตำราไง อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง ปฏิจจสมุปบาท การขับเคลื่อนออกไป เราก็ว่าสิ่งที่เราคิดนี้เป็นการขับเคลื่อนออกไป...มันเป็นความคิด มันเป็นสูตรสำเร็จ มันไม่เป็นการจับต้อง

ความรู้และความเห็น รู้ทั้งรู้ทั้งเห็น ต้องทั้งรู้ทั้งเห็นถึงเป็นการกระทำที่เป็นความจริง ถ้าเป็นการนึก เป็นการรู้ๆ ไปเฉยๆ รู้ด้วยการเราศึกษามา เห็นไหม เราอ้างอิง เรายืมมาเพื่อเป็นต้นทุน แล้วเราต้องดัดแปลงวิธีการของเราให้เข้าไปกระทบกับสิ่งนั้น ถ้าใจของเราเข้าไปกระทบกับสิ่งที่เป็นตอนั้น สิ่งที่เป็นตอเห็นไหม เขาขวางอยู่นั่น ตัวนี้เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน ไม่ใช่กาม

สิ่งที่เป็นกามนั้นเป็นโลภะ โทสะ โมหะ สิ่งนั้นให้ผลเป็นรุนแรง เป็นการต่อสู้ เป็นการพาตายพาเกิด แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่าจะดับไปข้างหน้า สิ่งที่เป็นเชื้อเป็นพลังงานอยู่ พลังงานนั้นจะมอดไหม้ไป ความที่พลังงานนั้นจะคายตัวออก เห็นไหม สิ่งที่ไปเกิดบนพรหมมันต้องคายตัวออก สิ่งที่คายตัวออกหมายถึงว่ามันคายพลังงานของมันออกไป คายพลังงานออกไป แต่มันเป็นสิ่งที่สืบต่อ ถ้าสมณะที่ ๔ จะต้องทำลายพลังงานตัวนี้ ตัวที่จะคายตัวออก ต้องทำลายทิ้งเลย ทำลายทิ้งถึงจะเป็นสมณะที่ ๔

ตัวพลังงานของใจ กามราคะเป็นกามราคะ กามราคะเพราะพลังงานตัวนี้กับขันธ์ ๕ นี้สืบต่อกัน ความสืบต่อกันถึงเป็นกามราคะออกมา ความจำได้หมายรู้ไง ปฏิฆะ ความเป็นสุภะ-อสุภะ ความเป็นสุภะความสวยความงาม อสุภะคือความไม่สวยไม่งาม มันก็เกิดอยู่ในขั้นกามราคะ แล้วจิตนี้มันวิปัสสนาเข้าไป

ความที่วิปัสสนาเข้าไปจนมันขาดออกมา พลังงานตัวนี้กับขันธ์ ๕ ถึงได้ขาดออกจากกัน ความขาดออกจากกันมาเป็นพลังงานเฉยๆ ตอตัวนี้ไม่เกิดอีกในกามภพ กามภพตั้งแต่สวรรค์ลงมา เห็นไหม เป็นขั้นของกาม นี่เป็นสมณะที่ ๓ ขึ้นไปสมณะที่ ๔

สมณะที่ ๔ ถึงเป็นธรรมล้วนๆ ไง เป็นตัวพลังงานตัวนี้ไง

ถ้าจิตเข้าไปกระทบกับตัวพลังงาน พลังงานจะคายตัวต่อเมื่อเขาไปเกิดเป็นพรหม เขาคายตัวของเขาเอง แล้วคายจนหมดไปเขาก็สิ้นไป เพราะพลังงานนั้นไม่มี เป็นแต่ใจล้วนๆ แต่วิปัสสนานี้วิปัสสนาเพื่อจะทำลายพลังงานนั้นให้หมดออกไปจากใจดวงนั้น นี่ถึงต้องเป็นเงื่อนปมของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะขึ้นไป วิปัสสนาของเขาขึ้นไปๆ วิปัสสนานี้มันเป็นความละเอียดอ่อน

ความที่เป็นญาณเป็นความละเอียดอ่อนของใจนั้น ก็ฟังว่าคำว่าพลังงาน ไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์นี้เป็นการคิดการปรุงการแต่ง มีเวทนา มีความรู้สึก แต่ในปฏิจจสมุปบาท อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง มันก็มีวิญญาณรับรู้ความสุขและความทุกข์อันละเอียด

มันจะละเอียดอ่อนมาก มันจะว่างหมด เปรียบเหมือนว่าเรือนว่างไง เรือนว่างแต่มีพลังงานนี้อยู่ในเรือนว่าง ความว่าไม่มีสิ่งใดกระทบได้ มันเป็นความว่างเป็นพลังงานเฉยๆ ไม่มีสิ่งใดจะแตะต้องได้เลยเพราะเรือนว่าง สิ่งที่เป็นเรือนคือสิ่งที่เป็นวัตถุที่จะจับต้องได้ สิ่งนี้มันเป็นนามธรรม ถึงจะเป็นนามธรรมก็ไม่มีขันธ์ที่มีเวทนาเข้าไปจับต้องได้ แต่มีเวทนาในปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นวิญญาณอันละเอียดนั้น

ถ้าการเฝ้ามอง การเห็นเงื่อนปมอันนี้เราเฝ้ามองอยู่ จนเฝ้ามองจับต้องสิ่งนั้นได้ ความจับต้องสิ่งนั้นได้ วิปัสสนาในสิ่งนั้น วิปัสสนาสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันละเอียดนะลึกซึ้งมาก ซึมไป ซึมจนพลิก พอพลิกก็เป็นสมณะที่ ๔ เห็นไหม สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔

สมณะที่ ๔ ถึงว่าเป็นผู้เห็นสมณะโดยตามความเป็นจริง

ในการเห็นสมณะข้างนอกนี้เป็นมงคลใน ๓๘ ประการ การดำรงชีวิตของเราชาวพุทธ การประพฤติปฏิบัติ เพราะมีความเห็นสมณะแล้วมีความเลื่อมใส มีความจงใจ มีการประพฤติปฏิบัติเข้าไป ก้าวจนเป็นสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อันนั้นใจดวงนั้นเป็นสมณะแท้ไง เป็นสมณะจริงๆ เป็นผู้สงบระงับโดยตามความเป็นจริง ใจที่สงบระงับจากกิเลสทั้งหมด พ้นออกไปจากกิเลสทั้งหมดนั้นเป็นมงคลของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเป็นมงคล มหามงคลกับใจดวงนั้นเลย นี่ถึงว่าใจดวงนั้นประเสริฐไง

ในศาสนาเรา ในการพบสมณะ ในการศึกษาเล่าเรียน เป็นการเพิ่มผลของใจขึ้นไปเป็นชั้นตอนขึ้นไป ใจจะประเสริฐขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป อยู่ในศาสนาพุทธ อยู่ในมงคล ๓๘ ประการ ในมงคล ๓๘ นั้นยังมีอริยสัจ มีนิพฺพานํ มี ตโป จ พฺรหฺมจริยญฺจ เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เป็นชั้นเป็นตอนจนสิ้นได้

จากไม่คบพาล คบแต่บัณฑิต ไม่คบกับพาลเลย พาลคือพาลในหัวใจ พาลคือกิเลส กิเลสในหัวใจของเรามันเกิดดับ เกิดดับ เห็นไหม พาลกับบัณฑิตนี้อยู่ที่ในหัวใจ แล้วก็เกิดดับในหัวใจขึ้นมา นี่เราก็คบมาตลอดแล้วละเอียดเข้าไป มีคารวะ มีคารโว จ นิวาโต จ มีการคารวะ ความนอบน้อมอ่อนน้อมของใจ ถ้าใจไม่นอบน้อมอ่อนน้อมของใจนั้น ใจจะมีความฮึกเหิม คบพาลก็คิดว่าคบบัณฑิต แล้วจะฮึกเหิมจะมีความทะนง แต่การคารวะ การเคารพตัวเอง ความคิดเกิดขึ้นมาก็ต้องไตร่ตรอง ต้องพิจารณาแยกแยะว่าความคิดของเรามันถูกหรือผิด ความคิดที่เกิดขึ้นมา เห็นไหม ถ้าความคิดขึ้นมาถูกหรือผิดถึงจะเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นเริ่มต้นจะพัฒนาเข้าไปหาสมณะของเราเข้าไปเรื่อยๆ

ถ้าเราไม่เริ่มต้น เราก็ไม่ได้แยะแยะ เห็นไหม ถึงว่าต้องตั้งปัญหาถามตน การตั้งปัญหาของเราขึ้นมา พอเราตั้งปัญหาของเราขึ้นมา เราก็ถามตัวเองขึ้นมา พอถามตัวเองขึ้นมานั่นคือเริ่มต้น การจะเริ่มต้นขึ้นมาต้องเรามีสติสัมปชัญญะแล้วถามตัวเอง ตั้งปัญหาขึ้นมาให้ตัวเองมีเงื่อนมีปมไง มีเงื่อนมีปมมันก็เป็นการจะเริ่มก้าว ๑ ๒ ๓ ขึ้นไป

เราไม่มีเงื่อนมีปม ผัดวันประกันพรุ่ง เข้าใจว่ารู้แล้ว สิ่งต่างๆ ในธรรมะนี่รู้ไปหมดเลย เป็นสมณะข้างนอกทั้งหมดเลย รู้และศึกษามา การรู้และศึกษามา เห็นไหม พบพระพุทธศาสนา พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น นั่นพบด้วยสมัยพุทธกาล แล้วพบในธรรมวินัย แล้วก็รื้อค้นในธรรมวินัยอยู่อย่างนั้น รื้อค้นธรรมวินัย รื้ออยู่ในธรรมในพระไตรปิฎก รื้อค้นอยู่อย่างนั้น พยายามจะหาสัจจะความจริงขึ้นมา มันไม่เป็นความจริงขึ้นมา

ความจริงขึ้นมา เราทรมานตนอยู่ พยายามทรมานตนของเรา นั่งสมาธินี่ทรมานไหม ทรมานตน ทรมานตนเพื่ออะไร เพราะทรมานตนก็เท่ากับทรมานกิเลส กิเลสนี้อยู่ในตนของเรา มันต้องทรมานตนขึ้นมาก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรมานตนเอง แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรมานลูกศิษย์ลูกหานะ ทรมานสาวกต่างๆ ให้เป็นผู้มีพยานขึ้นมา

นี่เราไม่มีตรงนั้น เราต้องทรมานตนเราเอง ถ้าทรมานตนก็ทรมานกิเลส แต่เราไม่ได้ทรมานกิเลสเลย เราจะหาแต่ทางเรียบ หาแต่ทางที่สะดวกสบาย หาแต่ทางที่ทางลัด สิ่งใดถ้าบอกว่าปฏิบัติง่าย ปฏิบัติได้ถึงเร็ว เราจะเข้าทางนั้นทันที นั่นน่ะ กิเลสหัวเราะเยาะแล้ว

ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่ายก็ปฏิบัติอย่างนี้เหมือนกัน ปฏิบัตินี้แหละ แต่รู้ง่ายขึ้นมาเอง รู้ง่ายหมายถึงว่าปัญญามันสอดส่อง ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ไม่ใช่ปฏิบัติลวกๆ แล้วรู้ไง ปฏิบัติลวกๆ แล้วว่าง่ายๆ แล้วว่าปฏิบัติลวกมันจะรู้ได้อย่างไร ในเมื่อคำว่า “ลวก” ความลวกมันไม่ใช่การแยกแยะจำแนกกิเลสออกมานี่ ปฏิบัติเร็วแล้วรู้ง่าย รู้ง่ายเพราะอำนาจวาสนาแบบพระยสะ พระยสะนี้ภายในคืนเดียวนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นคว้าอยู่ ๖ ปี พระยสะฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคืนเดียว ๒ หนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเหมือนกัน นี่รู้ง่าย ความว่ารู้ง่ายเพราะสร้างสมบารมีมาเหมือนกัน ในอดีตชาติเห็นว่ามีบริษัทบริวาร ๕๔ ที่ว่าพยายามเก็บ ที่ไปเก็บศพต่างๆ มา เขาสร้างสมบารมีของเขาขึ้นมา เขาได้เคยทำคุณประโยชน์ เคยสร้างกุศลของเขา แล้วจิตของเขาพร้อมมาอยู่แล้ว พอเขามาประพฤติปฏิบัติ เขาก็ไปของเขาได้ นั่นปฏิบัติง่ายรู้ง่าย

ปฏิบัติง่ายรู้ง่ายก็ฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิบัติเหมือนกัน ทรมานตนเหมือนกัน ต้องทรมานตน คือธรรมในมรรคนี้ ในความดำริชอบ ในความเห็นชอบ ในความเพียรชอบ ต้องเป็นความเพียรชอบ ต้องชอบทั้งหมด มรรคอริยสัจจัง มรรคะต้องรวมตัว มรรครวมตัว มรรคนี้เป็นสิ่งที่สืบต่อไปชำระกิเลส

“เหตุ” เหตุคือมีเราสร้างมรรคขึ้นมา กิเลสนี้เป็นสิ่งที่อยู่กับหัวใจ เราทำเหตุนี้สร้างขึ้นมาทำลายกิเลสในหัวใจนั้น มรรคนี้เข้าไปทำลายกิเลสในหัวใจ เห็นไหม เหตุเกิดขึ้นมาแล้วผลขึ้นมา ใจนั้นก็เป็นสมณะที่ ๔ โดยสัจจะของในอริยสัจนั้น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เกิดมาจากสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม เกิดมาสวมเข้าไปในอริยสัจ หัวใจนี้ผ่านออกมา กลั่นออกมาจากอริยสัจ

ในอริยสัจ ในใจของเรา เราสร้างสมขึ้นมา แล้วจะเข้าใจตามสิ่งที่เป็นอริยสัจนี้จะฝังไปในหัวใจ ในหัวใจนี้เป็นอริยสัจล้วนๆ เลย ล้วนๆ เพราะว่าทุกข์ก็ขาดออกไปเห็นๆ ทุกข์ขาดออกไปเพราะสมุทัยหลุดออกไป เห็นไหม ทุกข์จะดับไปหมดเลย นิโรธเกิดขึ้นด้วยมรรคอย่างนี้ มรรคที่หมุนตัวอยู่อย่างนั้น มรรคที่หมุนตัวออกมาแล้วใจหลุดออกมาเพราะปล่อยมรรค สัมปยุต วิปปยุตคายออกมา แล้วใจนี้หลุดออกไป ใจถึงเป็นใจที่บริสุทธิ์สุดส่วนในการประพฤติปฏิบัติ ในการก้าวเดินของใจดวงนั้นไง

ถึงว่ามนุษย์เราทำได้ มนุษย์เรา มนุษย์คือคน คนที่ว่าเป็นประพฤติปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติธรรม ๑ แล้วที่ออกมาบวชเป็นพระอีก ๑ บวชเป็นพระนี้เป็นนักรบนะ ผู้ที่นักรบต้องทรงไว้ การจะทรงไว้ต้องทรงไว้ให้ได้ การจะทรงไว้ต้องเริ่มจากการก้าวเดินของใจอันนี้ จะทรงไว้ต้องทรงด้วยหัวใจ ไม่ได้ทรงไว้ด้วยการท่องจำ การท่องจำนั้นทรงไว้กิเลสมันก็ให้ผลเป็นทุกข์อยู่ในหัวใจนั้นนะ กิเลสให้ผลเป็นทุกข์กับใจดวงนั้น

แต่ถ้าทรงด้วยหัวใจ กิเลสมันต้องโดนชำระไปเรื่อยๆ ถึงทรงในหัวใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นทรงไว้แล้ว เพราะทรงธรรมกิเลสถึงได้ตายไป “ทรงธรรม” ทรงสมาธิธรรม ทรงธรรมที่ว่าเป็นสมุจเฉทปหานจากกิเลสออกไป สงบระงับขึ้นมาจากในหัวใจ นั้นคือการทรงในหัวใจ

หัวใจทรงธรรม ไม่ใช่ว่าทรงด้วยการท่องจำมา การท่องจำมานั้นเป็นเรื่องของขันธ์ เรื่องของสัญญา เรื่องของสังขารมันปรุงมันแต่ง จำมาก็ลืมไป เพราะเกิดดับ เกิดดับ เห็นไหม ความจำมาขนาดไหนก็ลืมทั้งหมด ต้องท่องบ่อยๆ ให้ชินอยู่อย่างนั้น ย้ำคิดย้ำทำอยู่ถึงจะทรงเอาไว้ได้

แต่ถ้าทรงในอริยสัจ มันเป็นธรรมกับหัวใจ กระดิกขึ้นมาเป็นอัตโนมัติทั้งหมด ใจคิดออกไป ใจขยับ (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)