เทศน์พระ

ลิงแก้แห

๒๗ ก.ย. ๒๕๕๔

 

ลิงแก้แห
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราฟังข่าว เห็นไหม เราฟังข่าว ข้อมูลข่าวสารมันเรื่องของสังคม มันก็สะเทือนเรา มันสะเทือนนะ นี่ข่าวสารของโลก การอยู่กับโลกนะ ใครคุมข้อมูลข่าวสารคนนั้นชนะไปครึ่งหนึ่ง ฉะนั้นเวลาใครรู้ข้อมูลข่าวสาร รู้เขารู้เรา ถ้าเขารู้เขารู้เรา นั่นเป็นเรื่องของโลกนะ มันเป็นประโยชน์กับสังคมโลก มันต้องทันกัน ถ้าใครรู้ข้อมูลก่อน ใครรู้ข่าวก่อน เขาจะแก้ไขก่อน เขาต้องตั้งความระมัดระวังตัว

แต่ถ้าในการประพฤติปฏิบัติของเราล่ะ ข้อมูลข่าวสารนั้นทำให้จิตใจเราฟุ้งซ่าน ข้อมูลข่าวสารนั้นทำให้เรารับรู้ เราต้องการรู้จักตัวเรา เราไม่ต้องการรู้จักสังคม ทั้งๆ ที่เราอยู่กับสังคมนี่แหละ แต่สังคมนั้นเป็นเรื่องของโลก เราเกิดมาจากโลก ถ้าเรายังคลุกอยู่ในโลก เราก็จะเวียนตายเวียนเกิดไปกับโลก แต่ถ้าเราเกิดมาจากโลก แล้วเราออกประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา เราอยู่กับเขา เราอยู่กับโลก รู้ข้อมูลข่าวสาร ถ้าเรารู้ตามความเป็นจริง เรารู้แล้วเราวางของเราไว้

ดูสิ ดูในมหายานเขาบอก “ลิง ๓ ตัว” ปิดตา ปิดหู ปิดปาก ปิดหมด ไม่รับรู้เรื่องของเขา

“ปิดตา” ความรับรู้ต่างๆ

“ปิดหู” เสียงต่างๆ ก็ไม่ได้ยิน

“ปิดปาก” ไม่พูดพร่ำเพรื่อ

“ลิง ๓ ตัว...ปิดตา ปิดหู ปิดปาก” นี้เป็นคติของเขา คติของมหายานเขา

แต่ในพุทธศาสนาของเรา ในพระไตรปิฎกว่า “ลิงแก้แห” ถ้าลิงแก้แหนะ ดูสิ มันแก้ของมัน มันเป็นลิงไง แล้วมันแก้แห มันยุ่งของมันไปหมดน่ะ แล้วถ้าแก้ไปแก้มานะ มันทำลายตัวมันเองไปหมดเลย ฉะนั้น เราจะแก้หัวใจของเราล่ะ เราจะเป็นลิงแก้แหไหมล่ะ ถ้าเราไม่เป็นลิงแก้แห เราจะเริ่มตั้งสติของเรา

เราเป็นคนนะ เราเป็นสัตว์ประเสริฐ มนุษย์สำคัญตนว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ มนุษย์เป็นคนสำคัญตนว่าเป็นผู้ฉลาด มนุษย์สำคัญตนเป็นผู้ปกครอง สัตว์ต่างๆ เรามาใช้ประโยชน์ทั้งหมดเลย นี่มนุษย์สำคัญว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ สำคัญว่าเป็นผู้มีปัญญา แต่ปัญญาของมนุษย์ ปัญญาที่ว่าเวลามนุษย์เป็นสัตว์ขี้ขลาด มนุษย์อยู่คนเดียวไม่ได้ มนุษย์ต้องมีสังคม

ดูสิ สังฆะของเรา ถ้าอยู่บุคคลเป็นบุคคลอุโบสถ คณะอุโบสถ สังฆอุโบสถ

“สังฆะ” สังฆะเป็นชุมชน เป็นหมู่สงฆ์

“หมู่สงฆ์” ผู้ที่เสียสละออกจากทางโลกมา แล้วเราออกประพฤติปฏิบัติด้วยกัน เรามีสิ่งใดเราจะเจือจานกัน เราจะอาศัยกัน เราจะพึ่งพิงกัน เรามีความอยู่ด้วยกันอย่างเสมอภาค ศีล ๒๒๗ เท่ากันเห็นไหม ถ้าสิ่งที่เราอยู่ด้วยกันนี่เป็นสังคม

มนุษย์เป็นสัตว์ขี้ขลาด มนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยกัน นี่มนุษย์อยู่ในสัตว์สังคม แต่อยู่สังคมแล้ว ดูสิ มนุษย์ ๒ คนขึ้นไปเขามีปัญหากัน มีสิ่งใดกระทบกระเทือนกันเป็นเรื่องธรรมดา ในเมื่อมนุษย์ที่ฉลาดแล้ว มนุษย์ถึงต้องเข้ามาดูใจของมนุษย์เอง ถ้ามนุษย์เข้ามาดูใจของมนุษย์ มนุษย์จะรักษาใจของตัว ถ้ารักษาใจของตัว เห็นไหม เราเป็นสัตว์ประเสริฐ เราเป็นมนุษย์ เราเป็นผู้ที่มีสติปัญญาของเรา เราไม่ใช่ลิงแก้แห

ลิงแก้แห เวลามันพันไปแล้ว “แห” ถ้ามนุษย์เอาไว้ใช้เพื่อประโยชน์ในการกสิกรรม ในการดำรงชีพ สิ่งที่เป็นแหเป็นอวนต่างๆ มนุษย์เราใช้ประโยชน์ได้นะ ประโยชน์ขึ้นมาเพื่อเป็นวิชาชีพของตัว เพื่อการดำรงชีวิตของตัว สิ่งนั้นมนุษย์เอามาใช้ประโยชน์

แต่ลิงมันเห็นว่ามนุษย์ใช้งานๆ มันก็จะมาทำของมัน แล้วทำแล้วมันพันตัวมันเอง มันถึงกับเสียชีวิตนะ ลิงแก้แหมันแก้ตัวมันเองไม่ได้ มันแก้สิ่งที่เป็นประโยชน์ไม่ได้ มันเข้าใจสิ่งประโยชน์นั้นไม่ได้ มันทำไปตามสัญชาตญาณของมัน ถ้าสัญชาตญาณของมัน ดูสิ มันอยู่ป่าอยู่เขาของมัน มันเข้าไปในเถาวัลย์ต่างๆ มันแก้ของมันได้เพราะอะไร สิ่งนั้นเวลามันใช้กำลังของมัน มันใช้เขี้ยวเล็บของมัน มันทำให้สิ่งนั้นขาดได้ สิ่งนั้นมันรอดพ้นจากสิ่งพันธนาการมันได้

แต่เวลาเป็นแหขึ้นมา เป็นแหเป็นอวน มันเป็นเชือก มันเป็นเอ็นที่มันมีความเหนียวของมัน ยิ่งแก้ยิ่งรัด ยิ่งแก้ยิ่งรัด เพราะมันแก้ไม่ถูกที่วิธีการของมัน เพราะมันเป็นสัตว์ เราเป็นมนุษย์ เราเป็นสัตว์สังคม เราว่าสิ่งที่เราเป็นสิ่งที่สัตว์ประเสริฐ เรามีสติปัญญาของเรา เราเป็นมนุษย์

มนุษย์ เวลาเขาอยู่ทางโลกของเขา เวลาเขาทำมาหากินของเขา เขาอยู่ดำรงชีวิตของเขา เขาก็อาบเหงื่อต่างน้ำนะ รู้จักประหยัด รู้จักมัธยัสถ์ รู้จักอดออมขึ้นมา เพื่อความมั่นคงชีวิตของเขา นี่ถ้าเขาประหยัดมัธยัสถ์ขึ้นมา ชีวิตเขาจะไม่ลำบากลำบนจนเกินไปนัก แต่ถ้าเขาใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของเขา ชีวิตของเขาจะลำบากลำบนของเขา เพราะเขาหาอยู่หากิน เขาต้องใช้กำลังของเขา เพราะเขาใช้จ่ายมากกว่าคนอื่น เห็นไหม ถ้ารู้จักประหยัดมัธยัสถ์ สิ่งที่ทำมาหากินขึ้นมา สิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์กับเราได้ เก็บไว้เจือจานกับคนอื่นได้ เก็บไว้ความดำรงชีวิตก็ได้ เก็บไว้เป็นประโยชน์กับเราก็ได้ ถ้าเขารู้จักมัธยัสถ์การทำมาหากินของเขา ในจิตใจของเขา เขาต้องมีความร่มเย็นเป็นสุขของเขา เพราะเขามีหลักประกันของเขา เห็นไหม แม้แต่ความประหยัดมัธยัสถ์ของเขา มันก็เป็นประโยชน์กับเขาขึ้นมา ถ้าเขารู้จักประหยัดมัธยัสถ์ของเขา เขาใช้ประโยชน์กับเขานะ นี่พูดถึงการดำรงชีวิตทางโลก

แต่เราเป็นคนที่สัตว์ประเสริฐ เราเห็นว่าการดำรงชีวิตแบบนั้นมันเป็นเรื่องโลกๆ

“เป็นเรื่องโลกๆ” คือว่าปากกัดตีนถีบกันไป

“การครองเรือน...วิดน้ำทะเลทั้งทะเลเพื่อเอาปลาตัวเดียว” ความสุขในการครองเรือนมันแค่ปลาตัวเดียว แต่ลงทุนลงแรงวิดน้ำทะเลทั้งหมด นี่ความดำรงชีวิตของเขา เขาอาบเหงื่อต่างน้ำขึ้นมา เวลาทำบุญกุศลเพื่อเป็นอามิสต่างๆ เขาทำของเขาได้แค่นั้น เวลาอยากประพฤติปฏิบัติขึ้นมา “ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ” คับแคบเพราะการดำรงชีวิตของเขาต้องใช้เวลาของเขาทั้งชีวิตหมดไปกับการทำหน้าที่การงานของเขา แล้วเขาต้องเจียดเวลาของเขาเพื่อมาแสวงหาสิ่งที่เป็นอริยทรัพย์ เป็นสมบัติภายในของเขา เพื่อเป็นหลักประกันในชีวิต เวลาตายไปจะได้มีหลักมีเกณฑ์ไปในหัวใจของเขา

เราเห็นโทษของความดำรงชีวิตของทางโลก เราเกิดมาเป็นมนุษย์ แต่เราเห็นโทษของความเป็นทางโลก เราถึงเสียสละออกมา เพราะมนุษย์มีปัญญา มนุษย์ไม่ใช่ลิงแก้แห มนุษย์มีปัญญา เห็นไหม ดูสิ เวลาประสบความสำเร็จทางโลก เขาได้รับรางวัล ได้เหรียญทอง ได้โล่เกียรติยศ ว่าทำสิ่งใดเพื่อประโยชน์สังคม เขาได้รางวัลเกียรติยศกัน แต่รางวัลเกียรติยศนั้นเป็นเครื่องล่อให้เขาทำกันอยู่อย่างนั้น แต่เวลาเราเห็นโทษของความดำรงชีวิตในโลก เราได้วาง เราได้เสียสละ เราได้มาบวชเป็นพระเป็นเจ้า

สิ่งที่เห็น ทางโลกที่เขาจับต้องได้ เขาจับต้องได้ว่านี่เป็นประโยชน์ของโลก เรายังเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นเครื่องร้อยรัด สิ่งนั้นเป็นเครื่องร้อยรัด สิ่งนั้นแย่งชิงชีวิตของเรา แย่งชิงกาลเวลา เห็นไหม ชีวิต ๒๔ ชั่วโมง เป็น ๑ วัน... ๓๐ วัน เป็น ๑ เดือน... ๑๒ เดือน เป็น ๑ ปี... หน้าที่การงาน ผู้ที่ทำงาน ผู้ที่มีประสบการณ์ทำงาน ประสบการณ์ทำงาน ๕ ปี ๑๐ ปี ๒๐ ปี เขาจะได้เงินวิชาชีพของเขา เพราะเขามีความชำนาญของเขา เขามีประสบการณ์ของเขา สิ่งนั้นจะทำให้ค่าครองชีพของเขา ทำให้ผลตอบแทนของเขาได้มากขึ้น

แต่เราเห็นว่าสิ่งนั้นมันแย่งชิงเวลาในชีวิตของเราไป เราถึงวางสิ่งนั้นไว้ มนุษย์ที่มีปัญญาวางสิ่งนั้นไว้ สิ่งที่ว่าโลกเขาแสวงหากัน เราก็เคยแสวงหามากับเขา แล้วเราได้วางสิ่งนั้นไว้กับโลก แล้วเราเสียสละของเราออกมา เราปล่อยวาง เราวางสิ่งนั้นได้เพื่อมาประพฤติปฏิบัติ นี่สิ่งที่เราแก้

ลิงแก้แห มันแก้ไม่ถูก แต่เรามีสติปัญญา เราจะแก้ของเรา เราปล่อยวางสิ่งนั้นได้ เราปลดเปลื้องสิ่งที่ชีวิตเราจะหมดไปกับหน้าที่การงาน จะหมดไปกับโลก เราสละสิ่งนั้นมาเพื่อเป็นพระ เราบวชเป็นพระขึ้นมา เพื่อจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ เราปล่อยวางสิ่งนั้นมาแล้ว เราปล่อยวางสิ่งนั้นมาแล้ว

แต่เวลาฟังข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลข่าวสารก็ข้อมูลข่าวสารทางโลก แต่ข้อมูลข่าวสารทางธรรมล่ะ

เวลาเรารื้อค้นในพระไตรปิฎก เวลาเราศึกษาในพระไตรปิฎก เราได้ยินข่าวสาร ข่าวสารของพระสารีบุตร ข่าวสารของพระโมคคัลลานะ ข่าวสารขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ข่าวสารของครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม สิ้นกิเลสที่นั่น ที่นั่น ที่นั่น นี่ข้อมูลข่าวสารอย่างนี้เราก็ได้ยินของเรามา ทำไมเราไม่เอาสิ่งนั้นมาเป็นตัวตั้งล่ะ

ข้อมูลข่าวสารอย่างนั้น สิ่งที่ได้ยินมาทางโลก ทางโลกเขาทำมาหากินกัน เขาทำหน้าที่การงานของเขาก็เพื่อประโยชน์ เพื่อตัวเลขในธนาคารของเขา แต่เวลาเรามาบวชเป็นพระ สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา ดูสิ ครูบาอาจารย์ของเราท่านอยู่ที่ไหน ท่านประพฤติปฏิบัติอย่างใด การลงทุนลงแรงด้วยการตั้งสติ การนั่งสมาธิภาวนา การค้นคว้าหาตัวตนของเราขึ้นมา

ทางโลก เวลาเขาทำหน้าที่การงานของเขา เขาต้องทำหน้าที่การงานของเขา เขาต้องทำไร่ทำสวน เขาต้องหาที่ดินของเขา หาแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อประโยชน์กับเขาในการทำวิชาชีพของเขา ถ้าวิชาชีพของเขาทำการค้าของเขา เขาต้องมีตลาดของเขา เขาต้องมีที่ระบายสินค้าของเขา

เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาล่ะ สิ่งที่มันหมักหมมในใจของเราล่ะ

เราเห็นนะ เราเห็นอยู่แล้วว่างานทางโลกจะประสบความสำเร็จมากน้อยขนาดไหนก็แล้วแต่ งานสิ่งนั้นมันจบสิ้นไม่ได้ ดูสิ เขาทำบริษัทร้านค้าต่างๆ บางคนนะ บางคนเขาเป็นทุกข์เป็นร้อนว่าผู้ที่จะดูแลมรดกตกทอดของเขา ดูแลกิจการของเขา เขาจะมีความสามารถดูแลกิจการนั้นไปได้ไหม สิ่งที่เขาสร้างมานั้นก็เป็นความยากลำบากอันหนึ่ง แล้วจะรักษาไว้ก็เป็นความยากลำบากอันหนึ่ง งานของโลกมันไม่มีวันจบวันสิ้น

แต่เวลาเราได้วางสิ่งนั้นไว้แล้ว เรามาประพฤติปฏิบัติของเราเพื่อแสวงหาคุณธรรมของเรา ถ้าคุณธรรมของเรามันละเอียดกว่านั้นไง ถ้ามันละเอียดกว่านั้นนะ เวลาอาบเหงื่อต่างน้ำเป็นความทุกข์ความยาก เราตั้งสติ แล้วเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา นี่งานของพระ ถ้างานของพระนะ เรามาเป็นพระเพื่อจะปลดเปลื้อง ปลดเปลื้องสัญญาอารมณ์ในใจ สัญญาอารมณ์ในใจนี่มันกระชากจิตใจของเราไปให้ไปคลุกเคล้ากับสัญญาอารมณ์

“สัญญาอารมณ์” เวลาทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ มันเป็นวัตถุธาตุนะ หามจั่ว หามเสา หามต่างๆ มันเป็นงานหนักไปทั้งหมดเลย แต่เวลามันมาแบกอารมณ์ มันมาคลุกเคล้ากับอารมณ์แล้วมันแบกความรู้สึกนึกคิด มันเป็นความหนัก หนักอย่างใดล่ะ นี่งานของธรรมมันอยู่ที่นี่ไง งานของธรรมนี่มันไม่เป็นวัตถุธาตุที่โลกเขาเห็นกันได้

แต่เวลาทำความสงบของใจขึ้นมา “อารมณ์ความรู้สึกของเธอเป็นวัตถุอันหนึ่ง” มันจับต้องได้ไง ถ้าอารมณ์ความรู้สึกเธอเป็นวัตถุอันหนึ่ง เห็นไหม ดูสิ เราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ถ้าเราไม่เป็นวัตถุอันหนึ่ง แล้วเวลาครูบาอาจารย์กับลูกศิษย์เขาคุยกัน เขาตรวจสอบกัน เขาจะตรวจสอบกันอย่างใด

“เห็นอย่างใด ความรู้ความเห็นมันเป็นอย่างใด อารมณ์ความรู้สึกที่จับต้องได้มันเป็นอย่างใด สิ่งที่แบกหามมาเหนื่อยยากนัก เวลามันสลัดทิ้งไป มันสลัดทิ้งไปอย่างใด” นี่มันเป็นงานที่ละเอียดเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง

มันไม่ใช่ “ลิงแก้แห” นะ ถ้าลิงแก้แห มันแก้ไปแก้มา มันยิ่งรัดตัวมัน พอยิ่งรัดตัวมัน รัดไปรัดมา มันถึงกับเสียชีวิตของมันได้ แต่นี่เรามาแก้ใจของเรา เราไม่ใช่ “ลิงแก้แห”

เราต้องมีสติปัญญา อารมณ์ ความรู้สึก ความที่มันเหยียบย่ำหัวใจ มันเป็นความทุกข์ร้อนไหม? มันเป็นความทุกข์ร้อน มันก็วางไว้ก่อน มันต้องวางไว้ก่อน

เวลาหลวงตานะ เวลาท่านจะออกประพฤติปฏิบัติ ท่านบอกว่า “ถ้าออกประพฤติปฏิบัติแล้วนะ ถ้าจะสำเร็จ-ไม่สำเร็จ คืนนี้นั่งขอให้เห็นนิมิตว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แล้วถ้านั่งแล้วไม่เห็นนิมิต ถึงจะเป็นความฝันก็ได้” ท่านนั่งหลายชั่วโมงไม่เห็น ออกจากการนั่งสมาธิ นอนพักผ่อน พอนอนพักผ่อนน่ะ คืนนั้นฝันไป ฝันว่าตัวเองเหาะขึ้นไป วนไปในพระนคร เมืองใหญ่มาก ๓ รอบ

พอท่านตื่นจากนอน ท่านดีใจของท่านมากว่า “ถ้าเราออกไปครั้งนี้ มันจะประสบความสำเร็จ” แต่! แต่ก็ยังสงสัย สงสัยว่ามันมีผลจริงหรือเปล่า นี่ไง ออกไปครั้งนี้จะมีประสบความสำเร็จ เพราะว่าได้อธิษฐานก่อนที่จะนั่งสมาธิ แล้วก่อนที่จะนอนพัก แล้วก็เห็นตัวเองเหาะขึ้นไป เพราะว่าก่อนนอนอธิษฐานไว้ว่า “ถ้าออกไปประสบความสำเร็จ ให้มีสิ่งบอกเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ให้รู้ว่าตัวเองจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ” เห็นไหม เหาะไปบนอากาศ ๓ รอบ นี่สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาบอกเหตุ การบอกเหตุ วนไปในพระนครใหญ่ ๓ รอบ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ได้ นี่จบสิ้นกระบวนการของมัน

นี่มีสิ่งบอกเหตุ แต่ก็ยังสงสัยอยู่ว่ามรรคผลมีหรือเปล่า ถ้า “มรรคผลมีหรือเปล่า” นะ แล้วเราจะหาที่พึ่งที่ไหนดี? ในนี้สังคมเขาเชื่อมั่นกัน เพราะหลวงตาท่านบอกว่า “ได้ยินกิตติศัพท์-กิตติคุณของหลวงปู่มั่นมาตั้งแต่ท่านยังเป็นเด็กๆ ได้ยินกิตติศัพท์-กิตติคุณของหลวงปู่มั่นมาตลอด” ฉะนั้น ท่านถึงแสวงหาไปพบหลวงปู่มั่น ให้หลวงปู่มั่นช่วยแก้ไข

แล้วเวลาไปประพฤติปฏิบัติกับหลวงปู่มั่น ท่านบอก “นั่งสมาธิ เวลานั่งสมาธิไปนะ มีปะขาวเดินมา มีปะขาวเดินมานะ เดินมาสู่ใกล้ๆ แล้วก็นับข้อมือให้ดู ๑-๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙ แล้วก็มองหน้า นี่ถ้าปฏิบัติไป ๙ ปีจะสำเร็จ”

แล้วเวลาท่านปฏิบัติของท่านไป ทุกข์ยากขนาดไหน พอ ๙ ปีแล้วก็ไม่สำเร็จ... ๙ ปีในความเห็นของเราไง ๙ ปีในความเห็นของหลวงตา เพราะว่าออกพรรษาปีที่ ๙ ทีนี้ท่านไปปรึกษา เพราะท่านพักอยู่วัดดอยธรรมเจดีย์ ขึ้นไปปรึกษากับหลวงปู่กงมา หลวงปู่กงมาท่านมีหลักมีเกณฑ์ ท่านก็ประพฤติปฏิบัติมา เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นองค์สำคัญองค์หนึ่ง เพราะเวลาท่านเสียชีวิตไป เผาแล้วเป็นพระธาตุนะ

ท่านให้กำลังใจหลวงตา บอกว่า “ถ้า ๙ พรรษา มันก็ต้องสิ้นปีสิ สิ้นพ.ศ. พรรษาที่ ๙ ไอ้นี่มันออกพรรษา เหลืออีกตั้งหลายเดือนน่ะ”

นี่มันฟื้นฟูกำลังใจมาให้หลวงตาท่านมีกำลังใจของท่านขึ้นมา

เวลาปะขาวมาบอกว่า “๑-๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙ แล้วก็มองหน้า” มองหน้ามาก็มีความอิ่มใจ มีความชื่นใจ เห็นไหม ก่อนจะออกก็บอกว่า “ให้มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาบอกเหตุว่าออกปฏิบัติคราวนี้จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ” เวลาปฏิบัติไปแล้วนะ ก็ยังมีปะขาวมาตอกย้ำอีกว่า “๑-๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙ ว่าพรรษาที่ ๙ จะสำเร็จ”

แต่เวลาปฏิบัติไปล้มลุกคลุกคลาน เวลาปฏิบัติไปนั่งตลอดรุ่ง ทุกข์แสนทุกข์ จิตเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เวลาไปติดขัดที่ไหนน่ะ ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น ไปโต้กัน ไม่ได้โต้ด้วยทิฏฐิมานะ โต้ด้วยความรู้ความเห็น เวลาปฏิบัติไปต้องมีความรู้ความเห็น คนที่ปฏิบัติพ้นจากทุกข์ ไม่มีความรู้ความเห็น มันจะเอาอะไรมาปฏิบัติ แล้วปฏิบัติไปจะแก้กิเลส มันมีสิ่งใดมาขัดมาขวางในการประพฤติปฏิบัติ แล้วขัดขวางขึ้นมา มันมีสิ่งใดโน้มน้าวให้เราแฉลบออกนอกทาง

เราแฉลบด้วย เราอั้นตู้ เราเข้าไปตันอยู่กับความรู้ความเห็นของตัวน่ะ

หลวงปู่มั่นท่านก็พยายามฉุดกระชากออกๆ

การประพฤติปฏิบัติ นี่ไง เราเป็นมนุษย์นะ เราไม่ใช่ลิงแก้แห ลิงแก้แหน่ะ ตัวเองมีอะไร ตัวเองล้มลุกคลุกคลานอยู่ แล้วก็เอาสิ่งนั้นมาพันตัวเองอยู่น่ะ พันอะไร? พันหัวใจอยู่นะ เวลาเราบอกว่าสัตว์กับมนุษย์ มนุษย์ก็ต้องมีคุณค่ามากกว่า มนุษย์มีคุณค่ามากกว่าสัตว์ มนุษย์มีปัญญามาก แล้วเราเห็นทางโลกเขาทุกข์เขายากกัน นี่วันเวลากลืนกินชีวิตเขาไปทั้งชีวิตเลย จะทำบุญกุศลนะ มันก็เป็นแค่อามิสเพื่อมีบารมีมีคุณธรรมเพื่อเวียนตายเวียนเกิดไป

เราเห็นโทษของมัน เราเห็นโทษของโลกแล้ว เรามาบวชเป็นพระ เราบวชเป็นพระขึ้นมา มันมีอุปสรรคในการประพฤติปฏิบัติ งานของโลกเขายังอาบเหงื่อต่างน้ำ ทุกข์ยากขนาดนั้น แล้วงานของธรรม จะพ้นจากกิเลส มันจะสุขสบายเอามาจากไหน ในเมื่อมันมีความทุกข์ความยาก เราก็ต้องมีความมานะบากบั่น ถ้าเรามีความมานะบากบั่นนะ มันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญแค่ไหน...วางมันไว้สิ

วันนี้เราหุงข้าว ดูสิ ทางโลกเขา ผู้ที่ทำครัว วันนี้หุงข้าว ข้าวมันไหม้ แล้วข้าวมันไหม้เพราะเหตุใดล่ะ ข้าวมันไหม้ มันไหม้เพราะน้ำมันน้อย ไหม้เพราะไฟมันแรงเกินไป มันไหม้เพราะอะไรล่ะ มันไหม้เพราะอะไร วันนี้ข้าวมันไหม้ หุงข้าวนี่ข้าวไหม้หมดเลย กลิ่นเหม็นไหม้ทั้งหม้อเลย แล้วก็ “ข้าวมันไหม้ๆ” แล้วมันก็ไหม้อยู่หนเดียว แล้วมันจะฝังใจไปตลอดเหรอ

ข้าวมันไหม้เพราะอะไร เพราะเราประมาทเลินเล่อ แล้ววันต่อไปเราก็เปลี่ยนสิ เราก็ใส่น้ำให้มันพอ ไฟก็อย่าให้มันแรงเกินไป พอไม่แรงเกินไป วันนี้ข้าวไม่สุก ดิบๆ สุกๆ ข้าวไม่สุก เพราะว่าไฟมันอ่อนเกินไป เวลาน้ำมันจะระเหิดหมดแล้ว ข้าวก็เลยดิบๆ สุกๆ วันนี้เลยเป็นอาหารสัตว์ไปเลย เขาเอาไว้เลี้ยงหมู เพราะข้าวมันไม่สุก

เวลาเราทำไป มันทั้งขาด มันทั้งเกิน... ข้าวไหม้ก็ไฟแรงเกินไป ไฟอ่อนไปข้าวมันก็ไม่สุก นี่ไง เวลาปฏิบัติไป แล้วเราแก้ไขอย่างไร เราจะทำอย่างไร? ประสบการณ์ ดูสิ ทางโลกเขาประสบการณ์ ๕ ปี ๑๐ ปี เขาได้เบี้ยยังชีพนะ เขาได้ค่าวิชาชีพของเขา เพราะเขามีประสบการณ์ของเขา ปฏิบัติของเรามันก็ต้องมีประสบการณ์อย่างนี้ มันก็เริ่มต้นจากล้มลุกคลุกคลาน เริ่มต้นจากที่เราล้มลุกคลุกคลานนี่ มันเอามาจากไหน

จิตมันก็จิตของเรา ต้นทุนมันมาจากเรา ต้นทุนมาจากหัวใจ หัวใจเราเกิดเป็นมนุษย์ แล้วมนุษย์เห็นโทษของวัฏฏะ มนุษย์เห็นโทษของโลก แล้วมาเป็นพระ บวชพระเป็นนักรบ ศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นนักรบ นักรบจะรบกับกิเลสของตัว เราเป็นนักรบจะรบกับกิเลสของตัว แล้วมันจะเอาความสะดวกสบายมาจากไหน เวลาโลกเขา โลกเขายังทุกข์ร้อนขนาดนั้น แล้วเราจะพ้นจากทุกข์ มันจะเอาความสะดวกสบายมาจากไหน

ถ้ามันล้มลุกคลุกคลานมันก็ต้องมีกำลังของตัว วางให้ได้ วางสิ่งนั้นน่ะ มันเป็นประสบการณ์อันหนึ่ง จะว่ามันเป็นความผิดก็ไม่ใช่ เพราะเวลาคนปฏิบัติมันก็ต้องมีถูกมีผิด ดูสิ เวลาเด็กมันโตขึ้นมามันหัดเดิน หัดเรียนเขียนอ่าน มันจะไม่มีความผิดพลาดเลยเหรอ มันก็มีความผิดพลาดทั้งนั้นน่ะ บางคนเรียนไปไม่ไหว ต้องดรอปไว้ก่อนนะ แล้วค่อยมาเรียนใหม่ทีหลังก็ยังได้ นี่เขายังทำของเขาได้

แล้วการปฏิบัติของเรา ชีวิตนี้ก็คือชีวิตนี้นะ ชีวิตนี้ ถ้าเรามุ่งมั่นของเรา เราทำของเรา จะถึงหรือไม่ถึงเราพยายามทำของเรา ชีวิตนี้เป็นของเรานะ เราเป็นคนตัดสินใจเอง แต่ทางโลกเขา เวลาเขาล้มลุกคลุกคลาน เขาก็ต้องกล้ำกลืนฝืนทนของเขาไป แล้วมันจบที่ไหน มันจบต่อเมื่อหมดอายุขัยไง มันก็เวียนตายเวียนเกิดไง เวียนตายเวียนเกิดไป เวียนตายเวียนเกิดไป เราก็เวียนตายเวียนเกิดถ้าเราปฏิบัติแล้วไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์

แต่ถ้ามันสิ้นสุดแห่งทุกข์ เราจบกันที่นี่ จบตรงที่นี่ ที่ว่าไม่ใช่ลิงแก้แห จบที่ว่าเรามีกระบวนการของเรา เราทำกระบวนการของเรา สิ่งที่อารมณ์มันร้อยรัดเข้ามา ดูสิ เวลามันรัดเข้ามาที่จิตใจ นี่ลิงแก้แห อารมณ์ความรู้สึกมันรัดมา รัดหัวใจเรา แล้วแก้ไม่ถูกน่ะ ยิ่งแก้ยิ่งรัด ยิ่งแก้ยิ่งติด ยิ่งแก้ยิ่งมัด พอยิ่งมัดก็ยิ่งคอตก ยิ่งคอตกก็ยิ่งมีแต่ความทุกข์

แล้วปฏิบัติว่ามีแต่ความสุขๆ ทำไมปฏิบัติมันมีทุกข์ขนาดนี้

ปฏิบัติมันจะมีความสุข ความสุขต่อเมื่อจิตมันสงบ ต่อเมื่อจิตมันเป็นธรรม

แต่ทีนี้มันปฏิบัติแล้วจิตมันไม่เป็นธรรม พอมันร้อยรัดเข้ามาด้วยอะไรล่ะ ร้อยรัดเข้ามา ดูสิ เวลาลิงแก้แห แหนี่มันไม่มีชีวิตนะ แหมันเป็นวัตถุนะ ดูสิ มันเป็นเชือก มันเป็นเอ็น เวลามันแก้แห แต่ว่าเขาถักกันเป็นแห แล้วรัดตัวมัน...มันไม่มีชีวิต มันยังแก้ด้วยความทุกข์ความยากของมัน

แต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรามันมีชีวิต ตัณหาความทะยานอยากมัน...

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” มันมีพญามารครอบงำมันมาน่ะ แล้วเราจะต่อสู้ มันก็เบี่ยงเบน มันก็หลบเลี่ยง มันก็บังเงา มันหลอกลวงเราตลอดเวลาน่ะ นี่แหของเรามันแก้ยากกว่าลิงอีก ลิงมันแก้ไม่ได้เพราะมันไม่มีวุฒิภาวะ ลิงมันแก้ไม่ได้เพราะมันเป็นสัญชาตญาณของสัตว์ แต่เราเป็นมนุษย์ เราใจเย็นๆ แล้วมันแก้ของมัน มันแก้ได้เพราะว่าแหมันคงที่ของมัน มันรอให้เราแก้ มันไม่เคลื่อนที่ มีแต่ว่าเงื่อนที่เราผูกมัดเข้าไป เราดึงแรงเข้าไป เงื่อนมันจะเป็นเงื่อนตาย

แต่ถ้าเราค่อยๆ แก้ออกมา แหมันต้องแก้ออกได้ แต่ความคิดล่ะ ความคิดที่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากนี่แก้อย่างไร จะแก้มัน แก้อย่างไร ยิ่งพอแก้ขึ้นมา แก้ปมนี้ออก ไปติดปมนั้น พอแก้ปมนั้นออก ไปติดปมต่อไป ความรู้สึกนึกคิด สัญญาอารมณ์มันติดไปตลอดเลย แก้ปมนี้จะไปติดปมหน้า แก้ปมหน้าจะไปติดปมต่อไป พอแก้ปมต่อไปเสร็จเข้ามา ข้างหน้าติดอีกแล้ว

ตั้งสติ วางให้หมด สิ่งที่แก้แล้วก็คือแก้แล้ว สิ่งที่ยังไม่ได้แก้มันยังไม่มา ไม่ต้องไปวิตกกังวล สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นไม่ต้องวิตกกังวล สิ่งที่ผ่านไปแล้วก็ผ่านไปแล้ว เห็นไหม มันไม่เหมือนลิง แหมันคือแหเป็นวัตถุนะ นี่คืออารมณ์ความรู้สึก อารมณ์ความรู้สึก สิ่งที่ยังไม่มา เราไม่ต้องไปคิดถึงมัน สิ่งที่ผ่านไปแล้วที่ล้มลุกคลุกคลาน ที่ทำให้คอตกอยู่นี่ ที่ทำให้หมดอาลัยตายอยากอยู่นี่...ไม่ต้องไปคิดถึงมัน

ตั้งสติ แล้วเอาปัจจุบันนี้

“พุทโธๆ” หลวงตาท่านบอกว่าตอนที่อยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านพุทโธๆ ของท่านไปเรื่อย แล้วจิตมันเสื่อม พอจิตมันเสื่อม ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นนะ

“ปฏิบัติก็ตั้งใจปฏิบัติแล้ว พุทโธก็พุทโธแล้ว อดอาหารก็อดอาหารแล้ว ทำสิ่งใดทุกอย่างก็ทำหมดแล้ว ทำไมจิตมันเสื่อม”

หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า “จิตนี้เปรียบเหมือนเด็กๆ” เปรียบเหมือนเด็ก เด็กมันชอบเที่ยวเล่น เด็กมันเอาแต่ใจของมัน เด็กมันเอาแต่ใจ มันไปเที่ยวเล่น แต่ธรรมชาติของเด็กมันต้องมีอาหารเลี้ยงชีวิต ถ้าเด็กมันหาอาหารของมันไม่เป็น ถ้ามันหาอาหารของมันไม่เป็นนะ ถึงเวลาแล้วมันต้องกลับมาหาอาหารของมัน ฉะนั้น ถ้าอาหารของจิต มันก็คือพุทโธ ฉะนั้น จิตนี้มันเหมือนเด็ก มันเสื่อม มันเสื่อมสภาพ มันทุกข์ มันยาก มันไม่มีสิ่งใดเป็นสมบัติของมันเลย มันเดือดร้อนมาก...ช่างหัวมัน

มันเหมือนเด็ก เด็กที่มันหลีกหนีเที่ยวเล่นของมันไป เรากำหนดพุทโธๆ พุทโธไว้ พุทโธไว้ เรากำหนดพุทโธไว้ นี่อาหารของมัน อาหารของจิต ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ ถ้าจิตนั้น ถ้าเด็กคนนั้นมันหิวมันกระหายของมัน มันต้องหาอาหารของมัน กำหนดพุทโธๆๆ ไว้นะ สุดท้ายพุทโธๆๆ ไว้ จากจิตที่มันเสื่อมหมด จิตที่มันทุกข์มันยากหมด พอมันหิวอาหารของมัน มันไปของมันจนสุดเขตสุดแดนของมันนะ มันก็มาเกาะพุทโธๆ พุทโธๆๆๆ มันจะไปไหนให้มันไป จะเสื่อมไปไหนให้เสื่อม จะทุกข์ยากแค่ไหนเชิญตามสบาย จะไปไหน...

เห็นไหม สิ่งที่ผ่านมาแล้ว เราก็ไม่นึกถึงมัน สิ่งที่ยังไม่มาถึงเรา เราก็ไม่นึกถึงมัน อดีต-อนาคตเราวางให้หมด แล้วเราพุทโธของเราไว้ พุทโธๆๆ จิตมันจะเป็นอย่างไรช่างหัวมัน จิตมันจะดีดดิ้น มันจะไม่พอใจ มันจะกระฟัดกระเฟียด...ช่างหัวมัน ช่างหัวมัน พุทโธไว้ พุทโธไว้นะ พุทโธไว้ ถึงว่าพุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ

จิตท่านเริ่มสงบร่มเย็นขึ้น จิตท่านเริ่มมั่นคงขึ้น จิตท่านเริ่มเป็นประสบการณ์ขึ้น นี่เวลาท่านพิจารณาของท่านแล้วนะ ท่านซึ้งน้ำใจหลวงปู่มั่นมาก ท่านคิดถึงนะ เวลาท่านคิดถึงท่านบอกว่า “เวลาคนภาวนาไม่เป็นนะ ขึ้นไปหาท่านนะ ท่านสอนเหมือนเด็กๆ”

นี่ไง สอนเหมือนอนุบาล เด็กๆ เขาสอน “ก.เอ๋ย ก.ไก่ ก.ไก่ ต้องเขียนอย่างนี้นะ ลากเส้นขึ้นไปแล้วก็หยักหัวมัน แล้วค่อยลากลงมานะ นี่อย่างนี้เขาเรียก ก.ไก่ ถ้ายังไม่เรียก ก.ไก่ นะ นี่ไก่มันเป็นอย่างนี้ ดูไก่โต้ง ไก่โต้งมันเป็นอย่างนี้ เขาเรียก ก.ไก่”

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธๆๆๆ... ก.เอ๋ย ก.ไก่ แล้วถ้า ก.ไก่ขึ้นมา พอ ก.ไก่ แล้วก็สื่อสารกับ ก.ไก่ ได้ใช่ไหม สื่อสารกับสังคม ก.ไก่ ก็คือ ก.ไก่ ไง ภาษาไทย ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก เดี๋ยวมันก็ประสมเป็นคำขึ้นมาได้ แต่ถ้าเราเขียน ก.ไก่ ไม่ได้ แล้วบอก ก.ไก่ ก.ไก่เขียนอย่างไร? ก.ไก่ ก็ไก่อยู่ในเล้า ก็ไก่อยู่ในคอก

แต่มึงเขียนมาสิ ก.ไก่ เขียนอย่างไร ก.ไก่ มึงน่ะ

นี่ก็เขียนไม่ได้ แต่เราฝึกของเราพุทโธๆๆๆ เวลาเราเขียน ก.ไก่ นี่ไง ก.ไก่ ก.ไก่ เป็นอย่างนี้ แต่ไก่ในเล้าเขาเอาไว้เชือด ยิ่งไก่ในฟาร์มนะ ประเดี๋ยวเอาไว้ฟักในฟาร์มของเขาอันนั้น แต่ ก.ไก่ ของเรามันเขียนอย่างนี้

นี่ไง ท่านบอก “พุทโธๆ ให้กำหนดพุทโธไว้ กำหนดพุทโธไว้ ถ้ามันหิว มันกระหาย เดี๋ยวมันจะกลับมากินอาหารของมันเอง”

พอมันกลับมา มันเริ่มดีขึ้น จิตมันเริ่มดีขึ้นนะ ท่านซึ้งใจมาก ท่านซึ้งใจมาก

เราเป็นคน เราไม่ใช่ลิง “ลิงแก้แห” ยิ่งแก้ยิ่งมัด ยิ่งแก้ยิ่งรัด ยิ่งแก้นะ รัดถึงชีวิตมันเสียไปนะ เราเป็นคนนะ เราเป็นคน เราเห็นโทษของมัน โทษของโลกเราก็เห็นแล้วว่าโลกทุกข์ยากแสนเข็ญขนาดไหน เขาจะประสบความสำเร็จในชีวิต เขาจะมีความสุขของเขา สุขอย่างนั้นมันสุขหลอกกันน่ะ หลอกให้ติดไว้น่ะ

เวลาถึงที่สุดนะ เวลาคนจะตายแล้วนะ ก็มีเท่านี้จริงๆ น่ะ เวลาไปงานศพของหมู่คณะ ของญาติ ของเพื่อน คนตายก็เท่านั้นน่ะ แต่ขนาดว่าเขาไปงานศพนะ เขาจะรีบๆ ร้อนๆ ให้มันเสร็จๆ เขาจะไปแก้แหเขาต่อไง เสร็จงานแล้วเขาจะไปทำหน้าที่การงานเขาต่อ

ยิ่งเดี๋ยวนี้นะ โลกเจริญนะ ทุนนิยม แต่ก่อนมีกิจกรรม มีงานเกี่ยวกับศาสนา เกี่ยวกับพิธีต่างๆ กว่าเขาจะทำงาน เขาต้องมีโรงครัว เขาจะทำอะไรมันยังเป็นน้ำใจกัน จะเป็นการเกี่ยวเนื่องกัน เดี๋ยวนี้เป็นธุรกิจหมดเลย เผาศพก็เผาเป็นธุรกิจจนมันจะเป็นพิธีไปหมดล่ะ เวลาเขาไปงานศพเขายังรีบๆ ไป เพื่อจะไปแก้แหของเขาต่อ ฉะนั้น นี่พูดถึงโลก

เราเห็นว่าการแก้แห แก้ทางโลก เราก็เห็นมาแล้ว เขาจะมีความสุขๆ ขนาดไหนมันเรื่องแค่ดำรงชีวิตปัจจัยเครื่องอาศัยเท่านั้นน่ะ แล้วเขาติดในปัจจัยเครื่องอาศัย แล้วเอาสิ่งนี้เป็นเครื่องอาศัยนั้นมาวัดศักยภาพของความเป็นมนุษย์ ของการมีสิ่งศักยภาพ

เราบวชเป็นพระมาแล้ว ถ้าพระยังหลงอยู่ในลาภสักการะ ก็ต้องการสถานะมาเพื่อมารองรับ...มันก็ยังมาติดแหอีกน่ะ ก็ยังมาติดแหในอารมณ์ของตัว จะมีศักยภาพ จะมียศถาบรรดาศักดิ์ เพื่อจะไปอวดกันแบบโลกที่เขาอวดกัน อวดปัจจัยเครื่องอาศัยนะ ใครมีสถานะ ใครมีศักยภาพ คนนั้นมีสถานะ คนนั้นมีหน้ามีตา บวชเป็นพระแล้วก็ยังจะหาหน้าหาตาหาขึ้นมา ก็ยังมาติดแหอีกตัวหนึ่ง

แต่เรามาประพฤติปฏิบัติ เราปฏิบัติ เราไม่ติดแหในสังคมโลก ในเรื่องศักดิ์ศรี-ศักยภาพ ในเรื่องสังคมของพระ แต่เราก็มาติดความรู้สึกเราอีกน่ะ เราก็มาติดอารมณ์ความรู้สึก ติดความทุกข์ความยากในหัวใจอีก นี่เราจะแก้ไขของเราอย่างไร ถ้าเราแก้ไข เห็นไหม ดูสิ หลวงปู่มั่นท่านแก้หลวงตามาตลอด

“จิตนี่มันเหมือนเด็กน้อย มันกระฟัดกระเฟียดไปเป็นธรรมดา ถึงเวลามันดีดดิ้นมันก็เล่นแง่ มันก็ทำให้เสื่อมสภาพไป เรามีสติปัญญา อดีต-อนาคต เราไม่นึกถึงใครทั้งสิ้น ถ้าเรายังนึกพุทโธได้ สติสัมปชัญญะมันก็อยู่กับเรา คำบริกรรมมันก็อยู่กับเรา จิตมันก็อยู่กับเรา ถ้าเราไม่นึกพุทโธ มันจะไปนึกได้อย่างไร”

แต่ด้วยความอ่อนด้อยของจิต มันไม่รู้จักจิต มันก็ว่าจิตเป็นอารมณ์สัญญา มันก็เที่ยวคิดฟุ้งซ่านไปทั่วโลกธาตุ มันไปของมันหมดนะ นั่นคือสัญญาอารมณ์ที่มันคิดไป ตัวจริงๆ มันก็คือตัวพลังงาน ตัวรับรู้น่ะ เราก็พุทโธๆ ไว้น่ะ มันไม่แสดงตัว เพราะสัญญาอารมณ์มันมีรสชาติมากกว่า ความรู้สึกนึกคิด ไอ้ความทุกข์นั่นน่ะ ไอ้สิ่งที่ว่าเราไม่ชอบๆ มันมีรสชาติมากกว่า

สิ่งที่มันบีบบี้หัวใจ นี่บอกว่าลิงแก้แห แหไม่ดีแต่ก็อยากจะกินแห

รสชาติสัญญาอารมณ์มันมีรสชาติก็ไปติดตรงนั้นน่ะ แล้วบอกว่านี่ของจริงๆ แล้วเวลานึกพุทโธๆ บอกให้นึกพุทโธไว้ เด็กมันไม่เข้าใจ มันไปมันหิวกระหาย มันก็กลับมาเอง พุทโธๆ ไว้ไม่ต้องไปนึกสิ่งใดเลย ไม่ต้องไปเปรียบเทียบอะไรเลย เพราะปัญญามันอ่อนด้อยอย่างนี้ เปรียบเทียบมันก็ไม่มีความรู้ได้ ให้นึกพุทโธๆ ไว้ พอนึกพุทโธๆ ไว้ เวลาพุทโธๆๆ...พุทโธมันก็ตัวจิตนั่นน่ะ แต่ถ้าพูดออกไป แสดงออกไป นี่มันรู้มากเกินไปไง มันติดแหข้างนอก มันจะมาติดแหข้างในนะ

“นี่ติดสัญญาอารมณ์ก็ทุกข์ยากขนาดนี้แล้ว ท่านก็บอกให้พุทโธๆ ก็พุทโธมา ๕ ปี ๕ ชาติแล้วมันก็ไม่ลงสักที ตั้งสติก็ตั้งสติมาแล้วตั้งแต่ยังไม่บวช บวชแล้วก็ตั้งสติมาจนป่านนี้ก็ตั้งสติจนไม่รู้จะตั้งอย่างไรแล้วก็ไม่เห็นสักที”...มันอ้างไปหมดเลย

กิเลสมันทับซ้อนมา กิเลสมันอยู่ในหัวใจ มันละเอียดอ่อนกว่า มันหลอก มันลวง มันล้วงตับล้วงพุงเอาไปตีแผ่ ให้กิเลสมันเผาจนย่อยยับไปหมดแล้วมันก็บอกว่า “ปฏิบัติมาสุดยอดเลย ทำมาดีมากๆ เลย” นี่ไง เวลากิเลสมันตีกลับ กิเลส หัวใจของเรามันตีกลับ มันย้อนศร มันตีกลับเข้ามา มันบังเงา มันทำลายเราหมดเลย แล้วเสื่อมสภาพไปหมดเลย แล้วเราทำอย่างไร? คอตก คอตกไง

สิ่งที่เราคอตก เราเห็นโทษมาแล้วนะ เวลาเราศึกษาทางวิชาการเรารู้ไปหมด สติเป็นแบบนั้น สมาธิเป็นแบบนั้น ถ้าปัญญาเป็นแบบนั้น นี่เราเข้าใจหมดเลยทางทฤษฎี แต่เวลาเข้าไปเจอตัวจริง งงหมดเลย สติก็ล้มลุกคลุกคลาน ภาวนาแล้วมันก็ภาวนาให้มันครบไง เขาบอก “ไม่ได้ครบก็ทำจริงๆ นั่นแหละ”

“ทำจริงๆ” แต่กิเลสมันละเอียดกว่านั้น แต่เดิม “กิเลสหยาบๆ” พอกิเลสหยาบๆ มันคิดสิ่งใด พอเราศึกษาทางปริยัติขึ้นมา อารมณ์มันทันกันมันก็หยุดได้ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไป กิเลสมันรู้แล้วว่าจะเอาจริงกับมัน มันจะนอนนิ่ง มันจะซุกอยู่ใต้พรม มันจะทำตัวให้มันละเอียดเข้าไป ทำตัวมันให้ละเอียดลึกซึ้งกว่าความรู้สึกของเรา แล้วมันก็ทำให้เราเบี่ยงเบน ให้เราชอบ-ไม่ชอบ ติด-ไม่ติด พอใจ-ไม่พอใจ...หงุดหงิดไปหมดเลย พอหงุดหงิดขึ้นมา นี่ไปเข้าทางมันแล้ว กิเลสมันเข้าทางมันแล้ว

นี่ไง “ลิงแก้แห” แหมันไม่มีชีวิต แต่กิเลสมันมีชีวิต กิเลสมันมีความรู้สึก พอความรู้สึก มันก็เบี่ยงเบนตลอด มันก็ทำลายเรามาตลอด พอทำลายเรามาตลอด เราก็ว่า “ทำแล้วๆ” ทำแล้วน่ะไปเข้าทางมันหมดเลย ไปเข้าทางกิเลสหมดเลย ฉะนั้น หลวงปู่มั่นท่านถึงไม่บอกไง ไม่บอกว่ามันเป็นอย่างนั้นๆ นี่ไม่ต้องบอก

ท่านบอกว่า “เด็กมันเที่ยวเล่นของมันไป แต่เด็กมันต้องการอาหาร”

ดูสิ มันต้องกินน้ำ มันต้องมีเครื่องหล่อเลี้ยงมัน ถ้ามันไม่ได้กินน้ำ เด็กทารกไม่ได้กินนมมันก็ตาย เด็กมันต้องตาย แต่จิตมันตายไหม จิตมันเป็นสิ่งนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม ฉะนั้น เปรียบเทียบแล้วมันเห็นชัดใช่ไหม แล้วตัวเองมันก็จนตรอกเต็มที่แล้ว พอจนตรอกเต็มที่นะ พุทโธๆ วันยังค่ำ คืนยังรุ่ง ปิดหูปิดตาเลย

“ลิงปิดปาก ปิดหู ปิดตาหมด”

“พุทโธๆๆๆ” มันจะโง่ มันจะฉลาดก็เรื่องของมันแล้ว ไม่ไหวน่ะ ไม่ไหว ตั้งสติไว้ พุทโธๆๆๆ ไปน่ะ

เราไม่ใช่ลิงแก้แห เราไม่รับผิดชอบ ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น ไม่รับรู้สิ่งใดเลย เห็นไหม ข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลข่าวสารทางโลกเขา เขาเรียนรู้มา เขารู้มาก็เพื่อประโยชน์กับเขา ทีนี้ข้อมูลข่าวสารในการเจริญแล้วเสื่อมในใจของเรา เรารู้เองนะ ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ จิตสงบก็รู้ว่าสงบ จิตร่มเย็นก็รู้ว่าร่มเย็น จิตไม่ร่มเย็นก็รู้ว่าไม่ร่มเย็น...นี่ข้อมูลใคร ข้อมูลนี้ข้อมูลใคร? มันข้อมูลเราเองใช่ไหม มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันบอกเราเลย

เวลาจิตเสื่อมนี่มาพูดกันได้ แต่เวลาจิตมันดี พูดออกมาสิ มันดีอย่างไร มันดีอย่างไร? มันก็ดีของเรานี่ไง

“จิตมันดี จิตมันเป็นประเสริฐอย่างนี้ มันดีอย่างนี้”

“แล้วมันดีอย่างไร?”

“ก็มันดี”

“แล้วมันดีอย่างไร?”

มันมีสัมมา-มีมิจฉานะ ถ้ามิจฉา ธรรมชาติของการปฏิบัติ กิเลสนี้มันมีชีวิต มันเป็นนามธรรม มันอาศัยอยู่ในใจเรา มันแสดงตัวออกเวลามันทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน นี่มันเป็นไปได้ ถ้าจิตเราละเอียดขนาดไหน

หลวงตาท่านบอกว่า “กิเลสมันเหมือนสวะ เศษสวะมันอยู่ที่น้ำในแม่น้ำลำคลอง ในแม่น้ำลำคลองมีสวะอยู่ เวลาน้ำมันลด สวะนั้นก็ลดตามไปด้วย เวลาน้ำมันเพิ่มมากขึ้น สวะนั้นมันก็สูงขึ้นไปด้วย สวะนี่มันอยู่บนน้ำ น้ำลดก็ลดตาม น้ำขึ้นก็ขึ้นตาม”

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันดี กิเลสมันก็ดีตาม เวลาจิตมันเสื่อม กิเลสมันก็เสื่อมตาม แล้วถ้าเสื่อมตาม น้ำมันน้อย พอเสื่อมตามแล้วมันกระทืบซ้ำเลย ล้มลุกคลุกคลาน เพราะธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของกิเลสมันจะต้องขัดขวาง

การทำลายการทำความเพียรของสัตว์โลก ถ้าใครทำความเพียรปฏิบัติธรรมเพื่อจะชำระกิเลส กิเลสมันจะยอมจำนนให้เราไปทำลายมันไหม มันก็จะต้องทำลายความเพียรของเรา ทำลายสิ่งที่เราทำแล้วให้เข้าไปสู่สัจจะความจริงเพื่อสงวนสถานที่ของมัน เพื่อมันจะได้อยู่อาศัยของมัน

ฉะนั้น ถ้าจิตของเรามันดีขึ้นมาขนาดไหน เราจะประมาทเลินเล่อไม่ได้หรอก คนที่เขาประพฤติปฏิบัติอยู่ ฉะนั้น ในวงกรรมฐานของเรา ครูบาอาจารย์ของเราท่านถึงให้สงบสงัดไว้ เห็นไหม ให้สงบสงัด ให้พยายามรักษาใจของตัว จะเดินจะเหินไปให้มีสติสตัง ฝึกให้เป็นนิสัย ถ้าไม่ฝึกเป็นนิสัยนะ เราไม่ปิดกั้น ไม่พยายามถนอมรักษาไว้ เวลามันฟาดงวงฟาดงามานะ เรานี่ทุกข์ มันไม่มีใครทุกข์กับเราหรอก เรานี่ทุกข์

ฉะนั้น ถ้าเราจะไม่ให้มันฟาดงวงฟาดงาเรา เราต้องสู้กับมัน

เราเป็นมนุษย์ เราเห็นมาตั้งแต่ต้น เห็นเรื่องวัฏฏะ ผลของวัฏฏะ เห็นความทุกข์ความยากของวัฏฏะ เราถึงเสียสละมาบวชเป็นพระ เวลาเราบวชเป็นพระขึ้นมาแล้ว เราจะเสียสละในสัญญาอารมณ์ ในความรู้สึกนึกคิดของเราเพื่อให้ใจเราสงบเข้ามา ใจเราสงบเข้ามาเป็นสมถกรรมฐาน เป็นสถานที่ตั้งแห่งการงาน งานการประพฤติปฏิบัติ งานการวิปัสสนามันจะเริ่มต้นจากตรงนี้ งานของเรา งานของพระนะ พระเราไม่มีศีลมีธรรมเป็นสมบัติ เราจะเอาอะไรเป็นสมบัติ

หลวงตาท่านพูดบ่อย “เราเป็นพระ ไม่ทรงศีลทรงธรรม ใครจะทรง”

เราเป็นพระ เราประพฤติปฏิบัติ เราไม่มีผลงานในหัวใจ เราไม่รู้จักสัมผัสกับศีล สมาธิ ปัญญา แล้วใครจะสัมผัส ฉะนั้นเราเป็นนักรบ เราเป็นพระ เราจะต้องเข้มแข็ง เพราะสิ่งที่เป็นสมบัติทางโลกมันเป็นวัตถุธาตุ มันเป็นสังคมที่เขาสร้างกติกากันมา เวลาเราบวชเป็นพระ ธรรมและวินัยมันก็เป็นกติกาอันหนึ่ง

แต่เราปฏิบัติไป ปฏิบัติไป กิเลสมันเป็นสิ่งที่มีชีวิต เราจะต้องตามไปทุกแง่ทุกมุมของมัน มันจะหลบจะซ่อนที่ไหน เราต้องมีสติปัญญาเข้าไปชำระล้างมัน ตามให้ถึงที่สุด ถ้าตามไปถึงที่สุด เห็นไหม ชำระล้างแล้วนะ สิ้นกิเลสแล้วนะ จบสิ้นกัน

ถ้าจบสิ้นกันแล้ว “จะเอาความทุกข์มาจากไหน จะเอาความทุกข์มาจากไหน”

ดูสิ พระอรหันต์ก็ยังเป็นไข้ เป็นหวัด เป็นไอ...มันก็เป็นเรื่องของโลก ในเมื่อเราเกิดมามีสิ่งที่มีชีวิต ชีวิตมันเป็นอย่างนี้ ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ร่างกายนี้ก็ต้องตายเป็นที่สุด ทุกอย่างต้องดับสิ้นไปที่สุด...แต่ใจล่ะ?

นี่ถ้ามันไม่ใช่ลิงแก้แห มันปลดเปลื้องตัวเองได้ มนุษย์สัตว์ประเสริฐ สัตว์ประเสริฐจนเห็น วางโลกมาบวชเป็นพระ แล้วถ้าประพฤติปฏิบัติไป ชำระล้าง แก้กิเลสในหัวใจจนสิ้นสุดไปแล้ว ดูสิ ดูความประเสริฐของมนุษย์ มนุษย์ประเสริฐแค่ไหน ประเสริฐที่ว่าปลดเปลื้องความผูกพันในใจได้ทั้งหมด นี่สมบัติของเรานะ

เราเป็นนักรบ เราจะรบกับตัวเอง รบกับทิฏฐิมานะ รบกับความเห็นของตัว แต่เวลาบุคลาธิษฐาน เวลากิเลสเป็นยักษ์เป็นมาร เวลาเป็นมรรค เป็นเทพ เป็นพรหม เวลาเป็นมรรคญาณ นี่ต่อสู้กันในหัวใจของเรา เราปฏิบัติไป เราจะรู้ของเราเองชัดเจนมาก พอชัดเจนมาก สิ่งนี้เป็นการปฏิบัติบูชา

เราจะปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพุทธะจะเกิดท่ามกลางหัวใจของเรา เอวัง