ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

พระไตรปิฎกนอก-ใน

๘ ต.ค. ๒๕๕๔

 

พระไตรปิฎกนอก-ใน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๖๓๘. กับข้อ ๖๓๙. เขาเขียนมา แล้วเขาย้ำมาอีกทีหนึ่ง เรื่อง “ขอขมาพระสงบ” ใช่ไหม? นี่ก็กราบขอขมาอีกแหละ ข้อ ๖๓๘. กับข้อ ๖๓๙.

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อ ครูบาอาจารย์สายป่าทุกท่าน ข้าพเจ้าได้กระทำการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นกายก็ดี วาจาก็ดี ใจก็ดี อันเป็นการจาบจ้วงล่วงเกินครูบาอาจารย์ท่านใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสายใด สำนักใดที่มีศีลมากกว่าข้าพเจ้า หรือเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา จะด้วยเจตนาก็ดี ไม่เจตนาก็ดี ไม่ว่าจะที่ใดก็ตาม ข้าพเจ้ากราบขอขมาหลวงพ่อสงบ (เขาว่าอย่างนั้นเลย) และท่านทั้งหลาย ขอหลวงพ่อสงบและครูบาอาจารย์ทุกท่านโปรดอภัย โปรดอดโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด

หลวงพ่อ : นี่เขาย้ำมาหลายรอบ เขียนมาหลายที อันนี้จริงๆ ไม่อยากจะอ่าน แต่ที่ต้องอ่าน เพราะต้องการให้ผู้เขียนหรือคนทั่วไปได้สบายใจว่าเราไม่เคยถือโทษ (หัวเราะ) เราไม่ถือโทษหรอก เพียงแต่เวลาเราพูดออกไปนี่ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยอารมณ์ที่รุนแรงบางที คำว่าอารมณ์รุนแรงนี่มันอินกับธรรมะไง

อินกับธรรมะหมายความว่า คำพูดที่ไม่มีเหตุ ไม่มีผล ไม่มีหลักการใดๆ เลย ทำไมสังคมเขาเชื่อถือได้ นี่เราจะต้องพูดเหตุผลให้หักล้างความรู้สึกนึกคิดอย่างนั้น ฉะนั้น เวลาพูดไปแล้วมันก็เลยมีเสียงดังบ้าง อะไรบ้าง แต่! แต่จะพูดไปแล้วนะ อย่างที่หลวงตาท่านบอก

“ท่านพูดออกไปแล้วอยู่ที่เขาจะเอาหรือไม่เอา”

ถ้าเขาไม่เอามันก็กรรมของสัตว์ แต่ผู้ที่มีหลักเกณฑ์ใช่ไหม? สิ่งใดถูก สิ่งใดผิดก็พูดไปตามนั้น แต่เขาจะเอาหรือไม่เอาก็เป็นกรรมของสัตว์ เพราะ! เพราะบางอย่างพูดไปแล้วเขาไม่สนใจ หรือพูดไปแล้วเหตุผลไม่ได้ดั่งใจเขา คือว่าเขามีข้อมูลของเขาอย่างนั้น แล้วข้อมูลที่เข้าไปนี่ เหตุผลของเขา ปัญญาเขาไม่ถึง เขาก็ได้แค่นั้น

ฉะนั้น สิ่งที่เวลาท่านพูดไปท่านบอกว่าอยู่ที่ “เอาหรือไม่เอา” ถ้าเขาไม่เอามันก็เป็นกรรมของสัตว์ แต่หน้าที่ หน้าที่นี่ท่านปฏิบัติมาทั้งชีวิต หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ท่านปฏิบัติมาทั้งชีวิต ท่านค้นคว้าของท่าน ท่านพยายามของท่านมา ท่านรู้ว่ามันสมบุกสมบันแค่ไหน มันลงทุนลงแรงขนาดไหน ท่านถึงเอาประสบการณ์ของท่านมาเพื่อประโยชน์กับศาสนทายาท คือพวกเราเป็นลูกเป็นหลานท่าน เห็นไหม เป็นลูกเป็นหลานคือเป็นชาวพุทธด้วยกันท่านก็มาเผื่อแผ่ เผื่อแผ่เพราะว่าท่านทนทุกข์ ท่านพยายามของท่านมาแล้วท่านก็บอก

ฉะนั้น เวลาเราก็ฟังท่าน เมื่อก่อนเราเด็กๆ นะ เราเด็กๆ หมายถึงว่าเราบวชใหม่ๆ เราก็มีความคิดเหมือนกันว่า เอ๊ะ.. ทำไมคนที่เขามีมุมมองแตกต่าง หลวงตาหรือครูบาอาจารย์ของเราทำไมไม่ไปแก้ไข ไม่ไปแก้ไข.. เราเคยคิดอย่างนั้นนะ พอเราโตขึ้นมาๆ ประสบการณ์มันสอนไง ประสบการณ์มันสอนเพราะเราเคยไปคุยธรรมะกับพวกนี้ เขาไม่ฟังหรอก เขายังต่อต้านด้วยนะ เขาบอกว่าหลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติมาได้อย่างไร? ทำไมท่านไม่เรียน?

เราบอก อ้าว! ท่านก็เรียนมาแล้ว ท่านเรียนแล้วเพราะท่านมีเจ้าคุณอุบาลีเป็นอาจารย์ด้วย ท่านก็เรียน ท่านก็ศึกษาของท่านมา แล้วท่านปฏิบัติมา แต่ไม่อย่างนั้น เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูด ท่านพูดถึงธรรมะของท่าน ท่านพูดถึงความรู้สึก ความเป็นจริงของท่านที่ท่านเคยผิดพลาดมา แต่ความผิดพลาดจะเอามาพูดมันจะเสียเวลา ท่านถึงบอกว่าต้องเป็นอย่างนั้นๆ เป็นอย่างนั้นไปเลย

ฉะนั้น เวลาพวกที่มีการศึกษาเขาบอกว่า “ผิด เพราะไม่พูดตามพระพุทธพจน์”

อ้าว! พุทธพจน์มันเป็นทฤษฎี แล้วเราพูดถึงทฤษฎี กับเราพูดถึงผลงานมันแตกต่างกัน นี่พูดถึงกรรมฐานนะ ทฤษฎีคือต้องพูดอย่างนั้น ต้องพูดอย่างนั้น เพราะเราเคยไปคุยกับเขาไงเขาบอกว่า “หลวงปู่มั่นไม่ศึกษาแล้วปฏิบัติได้อย่างไร?”

เขาเคยถามเรานะ เราเคยไปคุยกับพวกนักปฏิบัติเยอะมาก เขาบอกว่า “ถ้าถูกต้องต้องพูดแบบว่าอยู่หน้าไหน? อยู่บรรทัดไหน?” อู้ฮู! อู้ฮู! มันก็เหมือนกับกฎหมาย กฎหมายทุกข้อเขามีบังคับ กฎหมายก็คือกฎหมาย แต่เราไม่ได้ทำผิด กฎหมายยังมีแพ่ง มีอาญา เห็นไหม มันก็มีนั่นไป

ฉะนั้นที่พูดนี่ เราเข้าใจ เมื่อก่อนเด็กๆ เราก็มีความคิดแบบผู้ถามมานี่แหละ คิดว่าสังคมมันจะเป็นผ้าขาว เวลาขาวกับดำมันต้องเห็นชัดเจน แต่พอเราโตขึ้นมานะ อืม ผ้าขาวก็มี ผ้าดำก็มี แต่สู้ผ้าขี้ริ้วไม่ได้ ผ้าขี้ริ้วเยอะที่สุดเลย คือไอ้เทาๆ นี่เยอะมาก ไอ้เทาๆ นี่ขาวก็ไม่ใช่ ดำก็ไม่ใช่ แต่เทาๆ อยู่นี่ ศึกษามาไม่รู้ก็ว่าจะรู้ ไอ้รู้ให้พูดขึ้นมาก็พูดไม่ถูก พวกนี้เยอะ

ฉะนั้น พวกนี้เยอะ เวลาเราพูดนี่ เราพูดไปถึงมันจะแรงบ้าง เบาบ้างนะ แรงบ้าง เบาบ้างก็เพื่อความจริงนั่นล่ะ ฉะนั้น พูดไปแล้วไม่ได้หวังอะไรเลย ๑. ไม่ได้หวังอะไรเลย ๒. ไม่ได้ไปกล่าวโทษ ไปเพ่งเล็งอะไรทั้งสิ้น

ฉะนั้น เขาบอกว่า “ขอให้อดโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด”

อดให้หมดเลย ไม่ต้องห่วง ทีนี้สายครูบาอาจารย์วัดป่าก็เหมือนกัน หลวงตา ครูบาอาจารย์ของเรานี่นะ เวลาท่านพูดนะหลวงตาท่านพูดอย่างนี้

“ในวงกรรมฐาน ในวงกรรมฐานคือในวงพระปฏิบัติเราต้องพูดกันข้อเท็จจริงแล้ว”

นี้ในวงของสงฆ์ไทย ในวงของพระสงฆ์ทั้งหมด มันออกไปมันก็มีทฤษฎี มีครูบาอาจารย์ของเขา อันนั้นมันกว้างออกไป พอกว้างออกไป เวลาท่านพูดถึงท่านบอกว่า “ท่านจะไม่พูดถึงนอกวงกรรมฐาน” ท่านจะบอกว่า “ครอบครัวของเรา” ถ้าอย่างนี้ก็บอกว่าแบ่งพรรคแบ่งพวก

ไม่ใช่! ครอบครัวของเราหมายถึงว่าครอบครัวของเรามันพูดกันได้ มันเสียงดังได้ เหมือนกับครอบครัวของเราจะพูดด้วยความรุนแรงก็ได้ มันเป็นครอบครัวของเราใช่ไหม? แต่ถ้านอกครอบครัวของเราจะไปพูดอย่างนั้นมันก็สะเทือนเขาอีกแหละ

นี่คำว่าครอบครัวของเราคือว่ามันพูดแรงก็ได้ พูดอย่างไรก็ได้ พวกเราพวกเดียวกันเอง พวกเดียวกันเองคือทำมาด้วยกัน สมบุกสมบันมาด้วยกัน เหมือนกับเพื่อนตายเลย เพื่อนตายเขาจะทำอย่างไร? วิสาสะมันได้ แต่ถ้าคนไม่รู้จักเราไปพูดอย่างนั้นได้ไหม? ไม่ได้

ฉะนั้น สงฆ์ไม่รู้จักกันหรือ? ใช่ สงฆ์มันวงกว้าง แล้วความเห็นตามแนวทฤษฎีของเขานั่นเรื่องของเขา แต่ในวงกรรมฐานท่านจะบอกอย่างนี้ แล้วในวงของเรา ในวงปฏิบัติ ในลูกศิษย์ของเราเองท่านก็อย่างนี้ อย่างนี้ เห็นไหม เพราะมันพูดกันได้จริงจัง แล้วคำว่าจริงจังนี่

ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านพูดมานี่ หน้าไมค์ท่านพูดออกมาในอินเตอร์เน็ต ในหนังสือท่านเยอะ แต่หลังไมค์น่ะ หลังไมค์ หลังไมค์ท่านพูดเฉพาะคน หลังไมค์เนี่ย หลังไมค์พูดกันเอง อันนั้นท่านจะชี้ถูกชี้ผิดชัดเจนเลยว่า อย่างนี้ผิด อย่างนี้ๆๆ แล้วผลมันจะออกอย่างนั้นๆ ท่านยกให้เห็นชัดๆ เลย แต่เวลามาหน้าไมค์ เห็นไหม สังคมสงฆ์ สังคมสงฆ์

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ กรณีที่ว่า “อดโทษด้วยเถิด” ไม่มี อดอยู่แล้ว สบายใจได้เลย จบ

เพราะว่าเขาถามมา เขาขอมา ย้ำมาเรื่อย ย้ำมาหลายอัน แล้วตอนนี้มันก็เป็นประเด็นแล้ว เรื่อง “พระโสดาบันตายแล้วไปไหน?”

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อ..

หลวงพ่อ : ข้อ ๖๔๒. เนาะ

ถาม : ๖๔๒. เรื่อง “พระโสดาบันตายแล้วไปไหน”

กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยจิตคารวะครับ กระผมมีปัญหาที่ขัดข้องใจอยู่ว่าพระโสดาบันเมื่อท่านตายแล้วจะไปไหน? ถ้ามาเกิดใหม่จะมาเกิดเป็นมนุษย์หรือไม่ ที่ถามปัญหาก็ต้องกราบขออภัยหลวงพ่อด้วยครับ เพราะว่าเห็นมีข้อถกเถียงกันเยอะว่าพระโสดาบันเกิดมาเป็นมนุษย์ เมื่อเกิดมาก็คือพระโสดาบันใช่หรือไม่ รบกวนหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : พระโสดาบันนะ พระโสดาบันนี่ปิดอบายภูมิ อย่างพวกเราปุถุชน ถ้าเราถือศีลบริสุทธิ์นะ แล้วเราถือศีลดีๆ เรามีสติดีๆ เราก็ปิดอบายภูมิ ถ้าเรามีศีลอยู่ แล้วเราผิดศีล เราทำสิ่งที่ไม่ดี เวลาเกิดมันถึงเกิดในอบาย แต่พระโสดาบันปิดอบายภูมิโดยอัตโนมัติเลย เพราะเวลาพระโสดาบันนะท่านจะเสียชีวิตของท่าน หรือท่านจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ จิตใจนี่สติมันจะพร้อม ถ้าจิตมันจะพร้อม

อย่างเช่นเรานี่ อย่างเช่นเราจะตาย ถ้าเราไปผิดศีลหรือเราทำสิ่งใดไว้นี่ เวลาจะตายมันคิดถึงตรงนั้นไง คิดถึงตรงนั้นมันไปเกิดตรงนั้นเลย แต่ถ้าเรามีศีลสมบูรณ์ เราคิดแต่เรื่องความดีงามของเรามันจะไปไหน? นี่ถ้ามีศีลไม่ไปอบายได้ แต่จะโดยอัตโนมัติ โดยที่ไม่ไปเด็ดขาดนี่พระโสดาบัน ฉะนั้น พระโสดาบันนี่ไม่ไปเกิดในอบายภูมิ เกิดตั้งแต่มนุษย์ขึ้นไป

ฉะนั้น พระโสดาบัน เวลาตายแล้วนี่เกิดตั้งแต่มนุษย์ขึ้นไป เป็นเทวดาด้วย เทวดา อินทร์ พรหมนี่เป็นพระโสดาบันก็ได้ เห็นไหม เทวดาเป็นอริยเจ้ากับเทวดาปุถุชนไง เทวดาปกติกับเทวดาที่เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคา นี่พระอนาคา พระอนาคาเป็นพรหม นี่ถ้าเวลาไปเกิดเป็นพรหม ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ล่ะ?

ถ้ามาเกิด พระโสดาบันเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์นี่แหละ แล้วเกิดเป็นมนุษย์ เรารู้ได้อย่างไรว่ามนุษย์คนไหนเป็นพระโสดาบัน มนุษย์คนไหนเป็นพระโสดาบัน ส่วนใหญ่แล้วเวลาเป็นมนุษย์นะ เวลาปฏิบัติที่ไม่เป็นพระโสดาบันเพราะอะไร? เพราะเวลาจิตมันขาด ขาดจากสักกายทิฏฐิเป็นพระโสดาบัน ถ้ามันเป็นไปแล้วมันจะขาดอีกไหม? ถ้ามันเป็นโสดาบันไปแล้วมันต้องมาทำอีกไหม?

พระโสดาบันก็คือพระโสดาบัน แต่พระโสดาบันมาเกิดเป็นมนุษย์ เราเกิดเป็นมนุษย์เราเป็นปุถุชน เราเป็นปุถุชน เราภาวนาขึ้นไปต้องทำความสงบของใจขึ้นมา พอใจสงบแล้วนี่กัลยาณปุถุชน พิจารณาไปแล้วเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคา พระอนาคา นี้พูดถึงเวลาในปัจจุบัน แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันมาแล้วล่ะ? เป็นพระโสดาบันมาแล้วมาเกิดเป็นมนุษย์ล่ะ?

ถ้าพระโสดาบันเกิดเป็นมนุษย์ เห็นไหม ก็เป็นมนุษย์นี่แหละ เป็นมนุษย์นี่แหละ แต่มนุษย์นี่จิตใจต้องสูงส่งกว่า แต่ใครรู้ได้กับคนนั้นว่าเป็นพระโสดาบัน แต่คนที่เป็นพระโสดาบันเขารู้ใจของเขา เพราะ! เพราะพวกนี้เขาไม่สีลัพพตปรามาส

เราสังเกตได้ไหม? บางคนเกิดมาทำไมเป็นคนดียิ่งกว่าผ้าพับไว้อีก เขาเป็นคนดีของเขานะ เขาฝืนทำสิ่งที่ผิดจากใจของเขาไม่ได้ เขาทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะขณะที่เป็นพระโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา ระหว่างนี่ เพราะว่าระหว่างที่จะสิ้นกิเลสเขาจะรักษาศีลของเขามาก เพราะ! เพราะอย่างเช่นเราเป็นไข้ ทุกคนเป็นคนป่วย พอคนป่วยเราก็ไปหาหมอรักษา ทีนี้หมอรักษาเราอยู่ ระหว่างรักษาเราจะรักษาฟื้นฟูร่างกายเราไหม? เราจะดูแลร่างกายเราไหม? เราดูแล เพราะเราอยากหายจากไข้

นี่ระหว่างที่เป็นพระโสดาบันขึ้นมา เป็นสกิทาคา เป็นอนาคาเพราะอะไร? เพราะสกิทาคา อนาคา อนาคากามราคะมันยังมีอยู่ นี่ถ้าเป็นอนาคาแล้วนี่เรื่องไฟสุมขอน พระอนาคาจะเป็นทุกข์ ทุกข์ของพระอนาคาคือไฟสุมขอน ความละล้าละลัง อาลัยอาวรณ์ มันไม่ใช่ทุกข์หยาบๆ นะ ไม่ใช่โทสะ โมหะ ไม่ใช่ความโลภ ความโกรธ ไม่ใช่! มันเป็นไฟสุมขอน รำคาญน่ะ ฮึ่ม! ฮึ่ม! อยู่อย่างนั้นแหละ พระอนาคานะเพราะมันเป็นทุกข์อันละเอียด

ฉะนั้น ในเมื่อมันยังไม่หาย คนเรานี่เป็นโรคแต่ยังไม่หาย ใครๆ ก็อยากจะหายจากโรค นี้การหายจากโรคมันก็ต้องฟื้นฟูร่างกายใช่ไหม? ฉะนั้น คนที่ปฏิบัติอยู่เขาก็ต้องดูแลรักษาศีลของเขาใช่ไหม? รักษาศีลของเขา ดูแลของเขา ฉะนั้น โสดาบัน สกิทาคา อนาคาจะรักษาศีล จะดูแลตัวเองมากเลย สติ มหาสติจะดูแล เพราะว่าไม่อยากผิด เพราะสติมันพร้อมอยู่แล้วมันไม่อยากผิด ไม่อยากอะไร มันจะเอาตัวเองให้รอด

ถ้าเอาตัวเองให้รอด ระหว่างที่ว่าถ้าเกิดโสดาบันมาเกิดเป็นมนุษย์ล่ะ? นี่ไง ถ้าเกิดเป็นมนุษย์แล้วมันก็จะมีสติปัญญา แล้วทำความผิดพลาดจะไม่ค่อยทำ ทีนี้คำว่าไม่ค่อยทำ แล้วไม่ทำเลยไม่ได้ใช่ไหม? มันไม่ทำเลยนี่เพราะตัวเองรู้ตัวเองว่ามีความรู้สึกอย่างไร? แต่คำว่าโสดาบันนี่จะเข้าใจได้หรือไม่เข้าใจได้? ต้องเข้าใจได้

อย่างเช่นปัจจุบันนี้ คนไหนก็แล้วแต่ถ้าเป็นพระโสดาบัน เป็นพระโสดาบันเพราะอะไร? เป็นพระโสดาบันเพราะมรรคญาณมาชำระสักกายทิฏฐิ สักกายทิฏฐิสังโยชน์ ๓ ขาด คนที่สังโยชน์ ๓ ขาดออกไปนี่เขารู้ไหมว่าเขาขาด เขาต้องรู้ เขาต้องรู้ว่าเขาขาด ถ้าเขาไม่รู้ว่าเขาขาดเขาจะเป็นพระโสดาบันได้อย่างไร?

ฉะนั้น การเป็นพระโสดาบันนี่เจ้าตัวต้องเป็นพระโสดาบันเอง ไม่มีใครรับประกันให้ ไม่มีใครทำให้ ไม่มี! ไอ้ที่ประกันๆ ใครมาก็โสดาบัน ให้รางวัลสวมพวงมาลัยให้เลยนี่ไม่มีหรอก ในโลกนี้ไม่มี ถ้าจะเป็นพระโสดาบันเขาต้องเป็นขึ้นมาจากใจของเขา ทีนี้เป็นพระโสดาบันขึ้นมาจากใจของเขาแล้ว แล้วมาเกิดเป็นมนุษย์

เขาบอกเลย โลกเขาเถียงกันไงว่าพระโสดาบันต้องเกิดเป็นมนุษย์ แล้วเกิดเป็นมนุษย์แล้วเป็นอย่างไรต่อ? (หัวเราะ) เราก็บ้าไปกับเขา เราบ้าไปก็จะเอาอะไรยืนยันว่ามันเป็นอย่างนี้แหละ แต่! แต่ถ้าทางโลกเขาเอ็กซเรย์กันไง เอ็กซเรย์ว่าจิตดวงไหนมาเกิดเป็นพระโสดาบัน แล้วพระโสดาบันจะทำตัวอย่างไร? เขาจะทำวิทยานิพนธ์ไง เด็กคนนี้เป็นพระโสดาบัน พฤติกรรมของพระโสดาบันตั้งแต่เกิดจนตายจะเป็นอย่างไร?

นี่คิดแบบโลกๆ ไง แต่มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นใจของเขา แต่โดยหลัก พระโสดาบันก็คือพระโสดาบันไม่มีวันเสื่อม มันเป็นอกุปปธรรม ทีนี้อกุปปธรรม สังเกตได้ด้วยความวินิจฉัยของเราเอง นี้ความเห็นนะ ความเห็นคือการเดาไม่ใช่ความจริง

นี่คือความเห็นของเรา ความเห็นของเรา พวกเป็นโสดาบัน สกิทาคาอันนี้มาก่อน พอมาก่อนแล้ว พอมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วมาปฏิบัติมันถึงเป็นพวกขิปปาภิญญาไง พวกขิปปาภิญญาคือพวกปฏิบัติง่ายรู้ง่าย เขาจะมีพื้นฐานของเขา พวกนี้เขาฟังพระพุทธเจ้า ผลัวะ! ไปเลย ผลัวะ! ไปเลย พวกที่ว่า ผลัวะ! ผลัวะ! ไปเลยเขามาสมบูรณ์ของเขา

ฉะนั้น ถ้าเป็นพระโสดาบันหรือเป็นต่างๆ เพราะเป็นมาจากพระพุทธเจ้าองค์อื่นนะ เป็นจากพระพุทธเจ้าองค์อื่น มาเจอพระพุทธเจ้าเรา เพราะพวกนี้มีมา อย่างเช่นนางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน แล้วถ้ามาเกิดล่ะ? แล้วเกิดที่ไหน? แล้วเกิดมาเป็นใคร? เห็นไหม แต่ใจเขาก็คือใจของนางวิสาขาอันเก่านั่นแหละ แต่เป็นพระโสดาบันไปแล้ว แล้วเวลามาเกิดล่ะเกิดเป็นใคร?

ทีนี้พอมาเกิดแล้วนี่ ถ้าเขาเป็นพระโสดาบันมาก่อน ด้วยพฤติกรรมของเขา ทีนี้พอเกิดขึ้นมา เป็นทารกขึ้นมาใครจะรู้ว่าเป็นโสดาบัน ไม่เป็นโสดาบัน แล้วถ้าไม่รู้ว่าเป็นโสดาบัน แล้วทำขึ้นมาก็ดำรงชีวิตอย่างเรานี่แหละ แต่เขาเองเขาจะรู้ของเขา รู้ของเขาคือว่า รู้ของเขา เห็นไหม สังเกตได้ เด็กบางคนเกิดมาไม่ยอมกินข้าว เกิดมากินอาหารที่แปลกกว่ามนุษย์ เขาอยู่อย่างนั้นได้ตลอดชีวิตเลย

เราเคยเห็นเด็กคนหนึ่ง อยู่ข้างๆ บ้านเรานั่นล่ะ เกิดมาไม่กินข้าวนะ กินขนมขบเคี้ยวทั้งชีวิตเลย นี่เราเคยเห็นงานวิจัยอันหนึ่ง เด็กคนหนึ่งเกิดมามันกินแต่มันฝรั่งทอด พอกินมากเข้าๆ เพราะมันมีเกลือใช่ไหม? พอกินทั้งชีวิตเลย อายุ ๓๐-๔๐ เขาเป็นโรคไต เพราะมันกินแต่มันฝรั่งอย่างเดียว เกิดมาชาตินี้กินมันฝรั่งอย่างเดียวเลย ไม่กินอะไรเลย

นี่เอาข้อกรณีอย่างนี้ โลกมันก็มีมาเปรียบเทียบใช่ไหม? แล้วทีนี้เรามาคิดสิว่าเด็กคนนั้น คนๆ นั้นถ้าจิตใจเขาเป็นโสดาบัน เห็นไหม ทำไมคนเราเกิดมาแล้ว มันกินอาหารเฉพาะอย่างมันยังทำได้เลย แล้วพ่อแม่เขาก็ส่งเสริม พ่อแม่เขาก็ดูแล เพราะเด็กมันกินอย่างนั้น แล้วถ้าเป็นโสดาบันมาเขาก็เป็นของเขา ไม่ต้องไปทำวิทยานิพนธ์หรอก ทำใจเรา

ทีนี้เพียงแต่เขาบอกว่า

ถาม : เพราะเหตุเห็นมีข้อถกเถียงกันเยอะว่า ถ้าพระโสดาบันเกิดมาเป็นมนุษย์ เมื่อเกิดมาคือพระโสดาบันใช่หรือไม่

หลวงพ่อ : ใช่! เป็นโสดาบันเด็ดขาด โสดาบันคือโสดาบัน

ถาม : แล้วกราบขอถามหลวงพ่อแค่นี้เนาะ

หลวงพ่อ : เขาเป็นโสดาบันอยู่แล้ว จิตของเขาเป็นโสดาบัน ฉะนั้น เวลาปฏิบัติง่าย ปฏิบัติยากมันมีมาอย่างนั้น แล้วว่าเป็นโสดาบัน นี่สมมุติเป็นโสดาบันชาตินี้ ตายไปเกิดมาเป็นปุถุชนไปทำโสดาบันใหม่หรือ? มันก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ โสดาบันคือโสดาบัน

กรณีอย่างนี้ เห็นไหม พระพุทธเจ้าอนาคตังสญาณ โสดาบันก็คือโสดาบัน เพราะว่าในศาสนามันไม่มีการขาดช่วงในการเกิดและการตาย อย่างถ้ามันขาดช่วง เป็นโสดาบันชาตินี้ ชาติหน้าเกิดมาเป็นปุถุชน แล้วเวลาพระพุทธเจ้าสร้างมาเป็นพระโพธิสัตว์ นี่ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เกิดตายๆ ๑๐ ชาติสุดท้ายเป็นพระเวสสันดร พอพระเวสสันดรมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า

นี่ถ้าพระเวสสันดร เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก็เป็นพระเวสสันดรอย่างเก่า ไม่ใช่! นี่เพราะอันนั้นมันเป็นบารมี แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันมันเป็นอกุปปะ คือไม่มีการเปลี่ยนแปลง ชัวร์ แน่นอน จบ!

อันนี้สิ ข้อ ๖๔๓.

ถาม : ๖๔๓. เรื่อง “พระองค์นี้เป็นพระอริยเจ้าหรือเปล่า” (เขาถามถึงองค์นี้แหละ)

ถ้าหลวงพ่อเห็นว่าคำถามนี้เป็นปัญหาภายหลัง ไม่ตอบก็ได้นะครับ เพราะผมก็มีความเห็น

หลวงพ่อ : เราจะบอกว่ากาลามสูตร อย่าให้เชื่อ พระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้นนะ พระพุทธเจ้าให้เชื่อเหตุเชื่อผล แล้วเวลาปฏิบัติ อย่างที่ว่าโสดาบันเขาจะเป็นโสดาบันเอง เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา เป็นพระอรหันต์นี่เป็นเอง แต่ระหว่างที่จะเป็นนี่ทุกข์ยากมาก

แล้วการปฏิบัติ กิเลสเรานี่โสดาบันก็กิเลสแบบหยาบๆ สกิทาคานี่กิเลสละเอียดขึ้นนะ อนาคานี่กิเลสเกือบจะถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์นะ เป็นอรหัตมรรคกิเลส ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ กิเลส ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ที่มันจะรุนแรงอย่างพระอนาคากลับไม่รุนแรงอย่างนั้น กลับเป็นการแบบว่าเป็นนโยบาย เป็นสิ่งที่เป็นนโยบายที่เราจะถกเถียงกันที่นโยบาย แต่ถ้าเป็นอนาคามันถกเถียงกันที่การปฏิบัติรวมยอด นี่มันเป็นคนละชั้นๆ มา

ฉะนั้น พอเวลาคนละชั้นพระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “กาลามสูตร” ไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น เชื่อในการปฏิบัติของเรา ถ้าเป็นโสดาบันเราจะเจอกิเลสโสดาบัน เราจะซัดกันที่นั่น สกิทาคาก็จะซัดกิเลสของสกิทาคา อนาคาจะไปซัดกับเรื่องกามราคะชัดๆ เลย ฉะนั้น เป็นโสดาบันเราจะพิจารณาเรื่องสักกายทิฏฐิ แล้วเราจะไปเอาเรื่องกามราคะเข้ามา เพื่อจะให้เราต่อสู้ ๒ ทาง ๓ ทางนี่เราเอามาทำไม? เราก็ต่อสู้เรื่องสักกายทิฏฐิของเราอย่างเดียวให้มันชัดเจนไปเลย ถ้ามันขาดไปแล้วนั่นมันก็เป็นความจริง

กาลามสูตรไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ฉะนั้น ว่าท่านนี้เป็นอะไรหรือไม่เป็นอะไร นี่กาลามสูตรไง แล้วนี่สิ่งที่เขาทำไปมันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง เราใช้สติปัญญาใคร่ครวญมันรู้ได้ กาลามสูตรไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ให้เชื่อตามความเป็นจริง ความจริง ให้เชื่อความจริง ฉะนั้น ความจริงนี่ แล้วเรามีความจริงไหมล่ะ? เราไม่มีความจริงเราก็สงสัย แต่ถ้าเรามีความจริงเราพิสูจน์ได้ ไม่ต้องพูดความจริงหรอก แค่ตรรกะมันก็พิสูจน์ได้แล้ว

ไม่ใช่! ไม่ใช่หรอก อันนี้ไม่ใช่เด็ดขาด ถ้าใช่ไม่เป็นแบบนี้

ข้อ ๖๔๔. ถึงข้อ ๖๔๖. ไม่มีเนาะ

ข้อ ๖๔๗. นี่เขาถามมาเรื่องการปฏิบัติ แล้วขอยกเลิก ขอยกเลิกก็ผ่านเลย ผ่านไปเลยนะ

ทีนี้ข้อ ๖๔๘. เห็นไหม

ถาม : ๖๔๘. เรื่อง “การศึกษาพระไตรปิฎกอย่างเข้มข้นเพื่อการพ้นทุกข์”

หลวงพ่อ : นี่เขาถามมา เขาอยู่ต่างประเทศ เขาถามมา เขาเคยมาที่นี่

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อครับ ผมเพิ่งได้ทราบถึงความแปลกใหม่ของการนำเสนอของการปฏิบัติในการสอน ผมต้องการถามหลวงพ่อเพื่อขอคำชี้แนะให้กับจิตของผมครับ

๑. ผมเกิดวิตก วิจารอย่างมาก เรื่องสำนักหนึ่งที่ดูจะเน้นตัวอักษรเรื่องเขียนพระไตรปิฎกเสียเหลือเกิน จนเกิดความแปลกใหม่ในรูปแบบที่ผมไม่เคยเห็น ไม่ว่าจะเป็นการไม่ยอมรับสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ในการสวดหลายๆ อย่าง เพียงเหตุผลที่ในพระไตรปิฎกเขียนหรือไม่เขียนเท่านั้น เสมือนกับเรากำลังเรียนกฎหมาย ที่ต้องมีการตีความตัวอักษรกันอย่างมาก จึงเกิดความขัดแย้งในเรื่องที่การตีความตัวอักษรและความหมายในหมู่ชาวพุทธ และผมกังวลเหลือเกินว่านี้คือจุดเริ่มต้นของการทำลายพระไตรปิฎก และต่อไปจะมีแต่การเปลี่ยนแปลงจากการตีความพระไตรปิฎกอีกมากมาย จนสุดท้ายจะไม่มีใครให้ความเชื่อถือและอ้างอิงพระไตรปิฎกกันอีก

ผมคิดมากไปหรือเปล่าครับ และผมควรจะวางจิตอย่างไรดี อุเบกขา หรือให้คำแนะนำที่ถูกต้องกับประชาชนทั่วไป

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงข้อนี้นะ เอาเป็นข้อๆ ไปเลย เดี๋ยวมันจะสับสนมาก

ทีนี้เรื่องพระไตรปิฎก การเน้นพระไตรปิฎก ทุกอย่างที่ว่าพูดถึงการเน้นพระไตรปิฎก การศึกษาพระไตรปิฎกทุกคนบอกเป็นความดี ในการศึกษา ในการค้นคว้าเป็นความดีทั้งนั้นแหละ ทีนี้การศึกษา การค้นคว้ามันก็มีการศึกษาค้นคว้าแบบครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ครูบาอาจารย์ของเราก็ค้นคว้านะ เวลาเราเกิดมาพบพุทธศาสนานี่เราทุกข์ยากมาก

ทีนี้เราเกิดมาพบพุทธศาสนา พุทธศาสนาคือธรรมและวินัย คือพระไตรปิฎกนั่นแหละ พระไตรปิฎกเป็นเครื่องหมาย เป็นเป้าหมาย เป็นทฤษฎี เป็นสิ่งที่ชี้เข้าไปสู่ใจของเรา ทีนี้พอเราศึกษาแล้วเราปฏิบัติขึ้นมา พระไตรปิฎกนั่นแหละเป็นกรอบที่เราจะค้นคว้าศึกษา อย่างเช่นเราจะทำความสงบของใจ เราอยากพ้นทุกข์นี่เราจะทำความสงบของใจไหม? ถ้าเราทำความสงบของใจได้แล้วเราจะออกใช้ปัญญาอย่างไร? นี่ในตำราก็ชี้บอกไว้แล้ว แต่เราทำผิดๆ พลาดๆ

ถ้าเราทำได้ถูกต้อง นี่เหมือนกับการศึกษาเลย ดูสิสังคมไทยนี่นะ ตอนนี้สังคมไทยเห่อจบปริญญาตรี แต่เวลาอุตสาหกรรมเขาบอกเขาไม่ต้องการ เขาต้องการช่าง ตอนนี้นะเขาต้องการช่าง ต้องการช่าง ไอ้นี่จบปริญญาตรีๆ จบมาทำไม? จบมาเตะฝุ่นไง จบมาแล้วก็ขอเงินแม่ไง แม่ขอตังค์กินข้าว แม่ขอตังค์กินข้าว จบมาแล้วไม่มีงานทำ แต่ทางอุตสาหกรรมเขาต้องการช่าง ต้องการช่าง ช่างคืออะไร? ช่างคือมันฝึกฝนของมัน

นี่ก็เหมือนกัน การศึกษาพระไตรปิฎกๆ เราศึกษาพระไตรปิฎก ก็เหมือนเราศึกษานี่ศึกษาอะไร? ศึกษาจบปริญญาตรี จบแล้วก็แบมือขอตังค์ใช่ไหม? งานก็ไม่มีทำ เตะฝุ่นด้วย แล้วยังทุกข์ยังยากอยู่อย่างนั้นแหละ นี่ศึกษามา ศึกษามาแล้วทำอย่างไรต่อไป? นี่พระไตรปิฎกนอก

พระไตรปิฎกใน พระไตรปิฎกในนะ อย่างพระไตรปิฎกนี่ศีล สมาธิ ปัญญา การกระทำต่างๆ มันก็เป็นการชี้เข้ามาที่เราทำ ถ้าเราทำขึ้นมาเราก็ใช้ ถ้ามันมีพระไตรปิฎกในนะ ถ้ามีพระไตรปิฎกใน ฟังดูคำว่ามีพระไตรปิฎกใน ถ้ารู้จริงนะ รู้จริงแบบพระไตรปิฎกในคือในใจของเรา มันมีความละอายนะ มันมีความละอาย ถ้าไม่อย่างนั้นเราเห็นนี่เด็กทุกคนมันมีความผิดไปหมดเลย

เราบอกทุกคนจะทำให้ดีหมดเลย ดีหมดเลย แต่ถ้ามีพระไตรปิฎกในนะ อืม เด็กมันยังเป็นเด็ก เด็กมันจะรู้กับเราได้อย่างไร? เด็กก็ต้องวางพื้นฐานให้มัน ไปวัดไปวาขึ้นมาก็นี่เห็นไหม พ่อแม่พาเข้ามา พ่อแม่พาเข้ามาเราก็วางพื้นฐานให้ ถ้าวางพื้นฐานให้ พอมันโตขึ้นมามันก็จะพัฒนาของมัน เว้นไว้แต่! เว้นไว้แต่เด็กนี่มันมีบารมีมาก อย่างเช่นสามเณร ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์

ถ้าเด็กมันมีบารมีอย่างที่ว่าข้อเมื่อกี้นี้ ที่บอกว่าเป็นพระโสดาบันตั้งแต่เด็ก เป็นพระโสดาบันมาเกิดเป็นพระโสดาบัน นี่มันมีของมันมา ฉะนั้น มันมีของมันมา ถ้าแม่ไม่ไปวัดมันจะถามเลยล่ะ “แม่ ชาวบ้านเขาไปวัดหมดทำไมแม่ไม่ไป?”

เออ.. ไปเจอเด็กอย่างนั้นเข้านะ พ่อแม่ไม่ไปวัดมันจะบอกพ่อแม่ว่าทำไมเขาไปกันหมดเลย นี่ชาวบ้านเขาไปหมดเลย พ่อแม่ทำอะไรอยู่ทำไมไม่ไปวัด นี่มันจะดีกว่าพ่อแม่มัน ถ้ามันมีของมันมามันจะดีกว่าพ่อแม่มัน ถ้ามันดีกว่าพ่อแม่มัน เห็นไหม นี่พูดถึงถ้าเด็กมันดี ถ้าเด็กมันไม่ดี เด็กมันเป็นสามัญธรรมดาทั่วไป เราก็ต้องรอเวลา ต้องให้มันเป็นขึ้นมา

นี่พูดถึงถ้ามีพระไตรปิฎกในนะ ถ้ามีพระไตรปิฎกในมันจะ มีหิริ มีโอตตัปปะ มีความหมายว่าจิตดวงไหนพร้อมแล้ว อย่าว่าแต่เด็กเลย แม้แต่ผู้ใหญ่ เห็นไหม จะคลานเข้าโรงอยู่แล้วยังไม่สนใจศาสนาเลย นี่จิตใจเหมือนกับเด็กๆ เด็กๆ เขาไม่ได้วัดกันที่วุฒิภาวะ เขาวัดกันที่ภูมิของใจ วุฒิภาวะ นี่อายุขัย ดูสิโดยวัย วัยคนแก่ คนเฒ่า คนแก่ คนเฒ่าถ้าไม่สนใจมันก็จิตเด็กๆ นั่นแหละ แต่เด็กๆ ถ้าจิตมันเข้มแข็ง จิตมันสนใจ นั่นมันเด็กที่ตัว แต่หัวใจมันไม่เด็กนะ

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ พูดถึงถ้ามีพระไตรปิฎกในไปนี่เขาจะรู้ได้ เพราะเขารู้ได้ว่าควรหรือไม่ควรไง ถ้าควรหรือไม่ควร ฉะนั้น พระไตรปิฎกเป็นกรอบ เป็นกรอบ ธรรมวินัยนี่ถูกต้อง ทุกคนศึกษาเป็นปริยัติ ทีนี้ปริยัติแล้วปฏิเวธไม่มี ถ้าปริยัติแล้วต้องปฏิบัติ แล้วถ้าปฏิบัติแล้วนี่ปฏิบัติอย่างไร? ปฏิบัติอย่างไร?

แล้วปฏิบัติมานี่.. โธ่! หลวงปู่มั่นนะเวลาลูกศิษย์ลูกหาเยอะแยะไปหมดเลย จริตนิสัยไม่เหมือนกัน หลวงปู่ตื้อก็ไปอย่างหนึ่ง หลวงปู่สิงห์ก็ไปอย่างหนึ่ง หลวงปู่ขาวก็ไปอย่างหนึ่ง คนละอย่างทั้งนั้นเลย เวลาหลวงตาท่านพูดถึง เห็นไหม ท่านบอกว่าครูบาอาจารย์นี่ โอ้โฮ ท่านเหมือนกับผ้าพับไว้เลยนะ หลวงปู่ฝั้น โอ้โฮ ท่านเรียบร้อยมาก พูดจานี่อู้ฮู นุ่มนวลมาก พอมาเจอหลวงตา หลวงตาบอกว่าท่านเป็นปืนกลเลย พั่บ! พั่บ! พั่บ! พั่บ! พั่บ! พั่บ! มันก็ต่างกัน

ฉะนั้น คำว่าต่างกัน เราจะให้เห็นว่าคนสอนจะสอนอย่างไร? หลวงปู่มั่นท่านจะสอนลูกศิษย์ที่แตกต่างกันนี่อย่างไร? นี่ถ้ามีพระไตรปิฎกใน เห็นไหม เหมือนครูนี่ ครูจะสอนลูกศิษย์ ลูกศิษย์ทั้งห้องนิสัยมันเหมือนกันสักคนไหม? แล้วครูพยายามจะให้ความรู้จะให้อย่างไร? นี่พูดถึง ฉะนั้น บอกว่าจะเอาพระไตรปิฎกมาแล้วก็ทุ่มใส่ๆ เอาพระไตรปิฎกมาเลยนะ เอาไม้บรรทัดมาวัดเลยนะ ทุกคนต้องเป็นอย่างนี้ ทุกคนต้องเป็นอย่างนี้ มันมีที่ไหน?

ขอให้เป็นคนดีเถอะ ขอให้เป็นคนดีแล้วมีความสุข แล้วทำดีมาเพื่อประโยชน์ขึ้นมา แล้วถ้าเป็นความดีขึ้นมาแล้ว คนถ้าทำความดีแล้วมันไม่ไปไหนหรอก คนทำความดีแล้วจิตมันต้องสงบ พอจิตมันสงบร่มเย็นแล้วนี่ คนสงบร่มเย็นแล้วมันอยากสงบร่มเย็นมากขึ้น พออยากสงบร่มเย็นมากขึ้น มันอยากจะแก้ไข มันอยากจะทำให้ของมันเป็นจริงขึ้นมา เดี๋ยวมันไขว่คว้า

คนเรานี่ เราเป็นคนดีนะ แล้วศึกษา พยายามทำของเรานะ พอมันเริ่มดีขึ้นมามันจะก้าวเดินไปเรื่อยๆ แล้วความดีมันสิ้นสุดไหมล่ะ? ความดีมันสิ้นสุดก็สิ้นกิเลสไง ถ้ามันสิ้นกิเลสมันจะขวนขวายของมัน จะไม่เอาเรื่องอย่างนี้มาเถียงกันหรอก

พระไตรปิฎกนอกเอาไว้ศึกษา ศึกษามาเพื่อทำให้เกิดพระไตรปิฎกใน พระไตรปิฎกในคือคุณธรรมในใจ ถ้าในใจมีคุณธรรมแล้วนะ อย่างอื่นมันจะมีค่าอะไร? พูดแล้วเขาไม่เอาก็เรื่องของเขา ถ้าไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าขนไปหมดแล้ว พระพุทธเจ้าเอาไปหมด พระพุทธเจ้ารู้หมดนะ ในพระไตรปิฎก เห็นไหม มีพระที่บอกพระพุทธเจ้าว่านี่ไปสอนเขาที่อื่นไปหมดทั่วเลย หน้าวัดไม่สอน

พระโมคคัลลานะต่อว่าพระพุทธเจ้า “สอนเขาหมดเลย ที่หน้าวัดไม่สอน”

พระพุทธเจ้าบอกว่า “เขาไม่เอา”

พระโมคคัลลานะว่า “ไม่เชื่อ” ไม่เชื่อให้พระโมคคัลลานะไปลอง

ไปหน้าบ้านเขาก็ไม่สนใจ เขาไม่สนใจเลย พระโมคคัลลานะมีฤทธิ์ใช่ไหม? พอเวลาเข้าไปสอนเขาก็แหงนหน้าหนี พอแหงนหน้าหนีก็เหาะขึ้นไปสอนข้างบน เขาก้มหน้าลงดินเลย แล้วสุดท้ายก็กลับไปหาพระพุทธเจ้าบอกว่าเขาไม่เอาจริงๆ อยู่หน้าวัดนี่ไม่เอา แต่พระพุทธเจ้าไปสอนนะ นี่ไปด้วยฤทธิ์ไปสอนทั่วไปหมดเลย.. นี่พูดถึงพระไตรปิฎกนอก พระไตรปิฎกใน

พระไตรปิฎกสาธุนะ พระไตรปิฎกเป็นธรรมวินัย เป็นศาสดา ศาสดาคือธรรมและวินัยที่บอกพระอานนท์ไว้

“อานนท์ ธรรมและวินัยที่เราพูดไว้แล้วจะเป็นศาสดาของเธอ”

เป็นศาสดาคือเราเอาเป็นที่เคารพบูชาใช่ไหม? แล้วเราปฏิบัติตามนั้น แต่ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมาแล้วมันจะเกิดธรรม ธรรมเหมือนกับน้ำอมตะธรรม น้ำอมตะธรรม เห็นไหม ดูสิการผสมปูน การจะทำอุตสาหกรรม การทำสิ่งใดต้องมีน้ำเพื่อทำอุตสาหกรรม ยิ่งเทคโนโลยีที่สูงขึ้นไปต้องการน้ำที่สะอาดมาก นี่เทคโนโลยี เห็นไหม อย่างเช่นพวกคอมพิวเตอร์ การกระทำของเขา ในโรงงานของเขาต้องมีความสะอาดมาก เพื่อให้มีคุณภาพสูงขึ้น

จิตใจของคน ถ้ามันดีขึ้นๆ มันจะเกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์กับใจมหาศาล ถ้าเกิดประโยชน์กับใจมหาศาลแล้วมันยิ่งจะสังเวชนะ สังเวชว่า อย่างเช่นถ้าโรงงานไหนถ้าสภาพแวดล้อมเขาดีมาก นี่คุณภาพของเขาออกมาจะดีมากเลย แล้วมันมีโรงงานอุตสาหกรรมอื่นเขาพยายามจะทำให้คุณภาพเหมือนกันแต่ทำไม่ได้ ทำไม่ได้เพราะเขาขาดสิ่งสภาวะอย่างนั้นเขาทำไม่ได้หรอก

จิตใจ จิตใจที่จะพ้นจากทุกข์ พ้นจากกิเลส เขาต้องทำของเขา เขาต้องมีสมาธิของเขา เห็นไหม ดูสิสติ มหาสติ ปัญญา มหาปัญญา ดูสมาธิสิ สมาธิมันก็มีละเอียด มีลึกซึ้งเข้าไป แล้วกว่ามันจะเข้าไปถึง โอ๋ย คนทำมามันจะสงสารนะ ฉะนั้น จะไม่เอากรอบนี้เที่ยวไปวัดคนอื่น ถ้าเอาพระไตรปิฎกนอกไปมันก็เหมือนตำรวจนี่แหละ ต้องจับ คนผิดต้องจับให้หมด แล้วโดนตำรวจจับไหม? ตำรวจจับคนทำผิดในประเทศไทยหมดไหม? หมดไหม? แล้วทำไมไม่จับให้หมดล่ะ? แต่ตำรวจก็มีหน้าที่จับคนทำผิดกฎหมาย แต่ตำรวจจะจับคนทำผิดกฎหมายหมดไหม?

พระไตรปิฎกเป็นหลักเกณฑ์บอกว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี ควรทำอย่างใด? แล้วทุกคนจะเป็นอย่างนั้นไหม? แต่ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม เราเป็นคนดี ตำรวจไม่ต้องมาจับ เราทำความผิดเราก็ละอายแก่ใจ เราละอายแก่ใจอยู่แล้ว นี่พูดถึงพระไตรปิฎกนอก พระไตรปิฎกใน ถ้าพระไตรปิฎกในเป็นอย่างนี้ นี่พูดถึงเขาบอกว่าถ้าอย่างนี้มันจะทำลายพระไตรปิฎก

ถาม : ๒. การเน้นตัวอักษรในพระไตรปิฎกนั้น มันช่วยให้เราสามารถบรรลุธรรมจนหลุดพ้นได้ไหมครับ ผมเข้าใจว่าทั้งธรรมและวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัตินั้น มิได้เป็นไปเพื่อให้ใครนับถือ มิได้เป็นไปเพื่อให้ใครเลื่อมใสและชื่นชม แต่เป็นไปเพื่อให้เป็นความสงบระงับและปัญหาอุปาทานทั้งปวง การที่เรานั่งตีความตัวอักษรในเนื้อหาในพระไตรปิฎกอย่างมาก จนเกิดการเน้นเรื่องต่างๆ หรือไม่ตรัสให้ถึงสุดท้าย เราจะเกิดความสงบระงับ และการละซึ่งตัณหาและอุปาทานทั้งปวงได้หรือไม่ครับ หรืออันนี้เป็นแนวทางใหม่ที่แตกต่างไปจาก (เห็นไหม) ที่หลวงพ่อเคยตรัสคัดค้าน

หลวงพ่อ : มันก็เป็นทิฐิของคนไปเรื่อยๆ แหละ พระไตรปิฎกนี่ เวลาปฏิบัติ เห็นไหม ที่บอกว่าเวลาปฏิบัติไปแล้ว เวลาครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติ แล้วหลวงปู่มั่น เวลาเราไปพูด เราเห็นว่าในสังคมต้องเป็นผ้าขาวกับผ้าดำ ต้องมีสีขาวกับสีดำ แล้วเราก็เข้าใจว่าทำไมครูบาอาจารย์เราไม่ไปแก้ เราเคยไปคุยกับเขาก็ตรงนี้แหละ เขาบอกหลวงปู่มั่นไม่ศึกษา

คำว่าไม่ศึกษา คือว่าไม่จบการศึกษาสูงสุดแล้วมาปฏิบัติ จะรู้ได้อย่างไร? แต่หลวงปู่มั่นท่านก็ศึกษา แต่ท่านไม่ได้ศึกษาเพื่อสอบไง ส่วนใหญ่แล้วพระปฏิบัติเรานี่นะ คนที่ปฏิบัติ คนที่ทำงานละเอียดมันต้องมีการตรวจสอบนะ อย่างเช่นของพวกเรา อย่างของเรานี่บุพพสิกขา พวกนี้มันอ่านหมด มันศึกษามาเพื่อตรวจสอบ ศึกษาของเรา แต่ไม่ได้ศึกษาไปสอบเอาขั้นเอาตอน ไม่ใช่ศึกษาไปเอาใบประกาศไง

ฉะนั้น พอไม่ได้ศึกษาเอาใบประกาศก็ไม่มีใบรับรองว่าศึกษา พอไม่มีใบประกาศก็ว่าไม่ศึกษา แต่ความจริงศึกษา แต่ศึกษามาเพื่อปฏิบัติ เพราะเรายิ่งปฏิบัติเข้าไปมันยิ่งสงสัย มันยิ่งมีอะไรคัดค้านในใจ ทีนี้พอคัดค้านในใจ มันศึกษานี่ศึกษาเป็นอะไร? ศึกษามันเป็นทฤษฎี แล้วมันจริงหรือเปล่า?

เราก็ปฏิบัติตรวจสอบๆ มันตรวจสอบกันมา พอมันเป็นความจริงขึ้นมามันยิ่งเข้าใจโจทย์นั้นอีกมหาศาลเลย ถ้าเข้าใจโจทย์มันอธิบายได้หมดแหละ นี้เวลาอธิบายแบบพระป่า เห็นไหม พระป่าคือว่าอธิบายตามข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงในใจ ถึงบอกว่าเวลาปฏิบัติแล้วมีข้อเท็จจริงหรือเปล่า? ถ้ามีข้อเท็จจริงมันก็เป็นความจริงขึ้นมา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “มันเป็นทฤษฎีอันหนึ่ง มันจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า?”

มันก็ต้องดูกันไป เพราะว่าเวลาปฏิบัตินะ เอตทัคคะ ๘๐ องค์ชำนาญกันคนละอย่าง สมัยพระพุทธเจ้า เห็นไหม อย่างเช่นพระอนุรุทธะชำนาญในวาระจิตมาก พระสารีบุตรชำนาญทางปัญญามาก พระอุบาลีชำนาญทางวินัยมาก มันชำนาญไปคนละอย่าง ถ้าเรื่องชำนาญก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่พูดถึงถ้ามันหมดกิเลสแล้วนะเรื่องนี้มันไม่ เพราะพระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้เอง ทีนี้ถ้าพระพุทธเจ้าท่านแต่งตั้งเอง แสดงว่าพระพุทธเจ้าท่านต้องสูงกว่า ถ้าคนที่เราไม่สูงกว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนนี้มีความรู้แค่ไหน?

ถ้าคนนี้มีความรู้แค่ไหน เราต้องมีความรู้เหนือเขาเราถึงตั้งเขาได้ พอตั้งเขาได้แล้วพระพุทธเจ้าถึงยกย่องด้วยนะ ยกย่องว่านี่เป็นเอตทัคคะ คนนี้เก่งทางนี้ คนนี้เก่งทางนี้ คนนี้เก่งทางนี้ นี่แล้วคนนี้เก่งทางนี้ ถ้าเราไม่มีความรู้ว่าเขาเก่งขนาดไหน เราจะตั้งว่าเขาเก่งทางนั้นได้อย่างไร? ฉะนั้น มันเป็นเอตทัคคะ ถ้ามันเป็นไป

ฉะนั้น เราจะบอกว่าถ้าเป็นความจริงนะมันจะเป็นประโยชน์ ถ้าเป็นความจริงเขาจะสร้างประโยชน์ เขาจะไม่ทำให้เป็นสิ่งที่ขัดแย้ง แล้วประโยชน์นี่ มันเหมือนถ้าคิดอย่างนี้แล้วทุกคนต้องดีหมด แล้วเราดีทีหลังหรือ? เราต้องดีก่อน ถ้าดีแล้วมันดีใน พระไตรปิฎกใน ดีใน ดีในแล้วมันมีความเมตตา มันมีความเมตตาแล้วมันมีความเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปไม่ได้มันก็ต้องวางไว้ก่อน รอเวลาของเขา รอเวลา รอให้เป็นไป

ถาม : ๓. สำหรับผม พระไตรปิฎกหรือพระพุทธรูปต่างๆ พุทธานุสติเป็นเครื่องที่น้อมทำจิตใจให้เกิดความสงบ เพื่อให้จิตคลายอุปาทานทั้งปวง เพราะสิ่งต่างๆ นั้นเป็นสิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้า พระไตรปิฎกคือคำตรัสของพระโอษฐ์จากพระพุทธเจ้าตั้งแต่สมัยพุทธกาล เหมือนสังเวชนียสถานเพื่อน้อมเอาจิตสงบคลายจากอุปาทานทั้งปวง ย่อมทำสมาธิได้ง่าย

หลวงพ่อ : อันนี้เราเอาสิ่งนี้เป็นบรรทัดฐานไง เราพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ จิตใจถ้าเป็นธรรมมันก็เป็นธรรมน่ะ ถ้าจิตใจเป็นธรรมนะ ถ้าจิตใจไม่เป็นธรรมมันก็เอามาเป็นอาวุธได้ เอามาทำลายกันเฉยๆ พระไตรปิฎกนอก พระไตรปิฎกใน มันเหมือนตำรวจเลย ตำรวจนี่กฎหมายเอาไว้ทำไม?

กฎหมายนี่เอาไว้เป็นสิ่งที่ไปหาผลประโยชน์ เห็นไหม กฎหมายเอาไว้ทำไม? นี้พระไตรปิฎกเอาไว้ทำไม? พระไตรปิฎกเขาเอาไว้แก้ไขกิเลสเรา พระไตรปิฎกเอาไว้วัดเรา ศีลคือวัดหัวใจของเรา ถ้าใจของเรามันดีแล้วมันก็จะดีขึ้นมา ถ้าหัวใจเราไม่ดีมันไม่ได้หรอก

ถาม : ผมคิดอย่างนี้ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ ผู้ซึ่งท่านให้ปัญญาและแสงสว่างแก่ผม ผิด ถูกอย่างไรให้หลวงพ่อช่วยตอบด้วย

หลวงพ่อ : นี้ตอบแค่นี้ นี่พูดถึงเวลาเขากังวลของเขา

ให้มันหมดกันไปเลยล่ะ อันนี้ก็เหมือนกัน “กราบนมัสการหลวงพ่อ” ข้อ ๖๔๙

ถาม : ๖๔๙. เรื่อง “ความขัดแย้งในตำรา”

กราบนมัสการหลวงพ่อครับ ความยึดถือในพระไตรปิฎก โดยเชื่อว่าความถูกต้องพระต้องปฏิบัติตามนั้น ผมเข้าใจเป็นอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในตำราหรือไม่? เป็นทิฐิซ้อนธรรมะหรือไม่? เป็นทิฐิซ้อนในธรรม เกิดจากความลังเล ความสงสัย ความอ้างอิงที่ไม่มีในวันนี้ ผิดไปจากสมมุติของผู้บอกเล่าในอดีต เป็นอักษรจารึก เป็นเหตุให้ยึดในพระไตรปิฎก ให้เป็นการทำลายในธรรม

(อันนี้ก็ความเห็นของเขานะ) พระพุทธศาสนาเสื่อมไปเพราะการยึดในตำราผู้สอนที่ผิด เพราะคนสอนที่ผิด พระไตรปิฎกเป็นความไม่จริงจนอาจเป็นมิจฉาทิฏฐิ ธรรมคือความดับหมด ไม่มีอาการ ไม่มีอารมณ์ ไม่มีกาม ไม่มีภพ ไม่มีเช่นในโลกวัฏสงสาร ขอให้หลวงพ่อชี้แจงด้วย

หลวงพ่อ : อันนี้บอกว่าไม่มีอารมณ์ ไม่มีกาม ไม่มีภพ ไม่มีใดๆ ในโลกนี้ แล้วมันไม่มีอย่างไรล่ะ? นี่เวลาเราบอกเขาเลย ความขัดแย้งในพระไตรปิฎก เห็นไหม ถ้าเขายึดสิ่งนั้นแล้วมันจะเป็นซ้อนในธรรม แล้วเราบอกว่าไม่มีในกาม ไม่มีในภพ ไม่มีเช่นในโลกนี้ นี่แล้วเราว่าไม่มีอย่างไร?

ความไม่มีก็คือไม่มี ไม่มีของเราที่เราคิดใช่ไหม? แต่ถ้าเรารู้จริงขึ้นมาล่ะ? รู้จริงของเรามันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง นี่เราไปบอกเขาว่ามันซ้อน แล้วเราก็ไปยึดตรงข้าม ถ้าเราไปยึดตรงข้ามล่ะ? เราไปยึดตรงข้ามก็เป็นอย่างหนึ่ง ถ้าเราไม่ยึดตรงข้ามนะ สิ่งใดที่เกิดขึ้น เห็นไหม จิตใจคนที่เป็นธรรมนะจะมองเห็นสิ่งต่างๆ นี้เป็นธรรม พอเห็นแล้วมันสลดสังเวช มองเห็นต่างๆ ว่าเป็นธรรม นี่ความว่าเป็นธรรม

แต่ถ้าจิตใจเราไม่เป็นธรรม เห็นแล้วมันขัดแย้ง พอมันขัดแย้งแล้วมันก็ทุกข์ พอมันเป็นทุกข์ขึ้นมามันก็จับตรงนั้นแหละ จับตรงที่เป็นทุกข์ ตรงที่มันขัดแย้งแล้วเอาขึ้นมาพิจารณา แต่ถ้ามันดีของมันแล้วมันก็จบ ถ้ามันดีของมันแล้วมันก็จบ มันต้องแก้ไขไป เพราะ! เพราะกิเลสมันมีอย่างหยาบๆ มีอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด

อย่างหยาบๆ นี่ถ้ามันทันมันก็ทัน แต่อย่างละเอียดไม่ได้ อย่างละเอียดต้องถอดถอน ต้องดึงออกมา ต้องทำลายมัน ถ้ามันไม่ดึง ไม่ถอดถอนจะทำอย่างไร? ถ้าอย่างละเอียดนี่เรารู้ทันมันก็จบ ถ้าอย่างที่มันลึกซึ้งล่ะ? ลึกซึ้งมันต้องแก้ไข แก้ไขแล้วมันก็จบของมัน

อันนี้พูดถึง “ความขัดแย้งในตำรา” ถ้าความขัดแย้งในตำรา ถ้าตำราคนเขียนผิดมามันก็ผิด ถ้าคนเขียนผิดมา แต่นี้! แต่นี้ว่าเป็นพระไตรปิฎกมันจะผิดไหมล่ะ? ฉะนั้น พระไตรปิฎกมามันก็มีบางส่วนนะ นี่ครูบาอาจารย์บอกบางส่วนที่มันเป็นการจดจารึกมา แล้วมันยาวไกลมา มันสังคายนามามาก

เพราะว่าดูสิตั้งแต่พระพุทธเจ้า เห็นไหม มันก็มาที่ลังกา ลังกานี่จนเป็นอาณานิคมตั้งกี่ ๑๐๐ ปี แล้วกี่ ๑๐๐ ปีมันเกิดการกระทำ แล้วเราก็มาฟื้นฟูกัน มันจดจารึกมาว่าอย่างนั้นเถอะ มันก็มีการผิดพลาดบ้าง ทีนี้มันมีการผิดพลาดบ้าง เราบอกพระไตรปิฎกไม่มีผิดเลยนี่ อาจมีผิดบ้าง เราพูดอย่างนั้นดีกว่า

อาจมีผิดบ้าง แต่! แต่อาจจะมีผิดเราก็ต้องยึดเป็นหลัก เราก็ต้องเอาพระไตรปิฎกไว้เป็นหลัก พอพระไตรปิฎกเป็นหลักไว้มันก็จบ มันก็เป็นความดีงาม เอาอันนั้นเป็นหลัก แต่! แต่เวลามาปฏิบัติขึ้นมา พอเป็นความจริงขึ้นมามันจะมีมากกว่านั้น ความรู้สึกเรามันจะมีมากกว่านั้น

ชื่อกับความจริง มันเป็นชื่อกับความจริง แต่ชื่อก็จำเป็น ชื่อก็สำคัญ ไม่มีชื่อเลย ไม่มีการบอกที่หมายเลยเราจะไปไหนกัน นี้มีชื่อ มีที่หมาย แต่พอทำจริงขึ้นมามันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ถ้าเป็นอีกเรื่องหนึ่งปั๊บมันก็ย้อนกลับมาที่พระไตรปิฎกในมันก็จบ

ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นที่เรามีความรู้สึก มีความเห็น เราพยายามเอามาเป็นประโยชน์ไง เราไม่ควรเป็นแบบนั้น ถ้าเราเห็นว่าอย่างนั้นมันไม่ดี ถ้าเราเป็นแบบนั้นเราจะเสียใจมากกว่านั้นนะ.. เรานี่ เพราะอะไร? เพราะถ้าเราเป็นแบบนั้นเราจะหลุดออกไป เราจะผิดพลาดออกไป ถ้าเราไม่หลุดออกไป เราไม่ผิดพลาดออกไปเราจะมีประโยชน์กับเรา เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง