เทศน์บนศาลา

ศึกษาธรรมได้ธรรม

๑๑ เม.ย. ๒๕๔๕

 

ศึกษาธรรมได้ธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๕
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ ทำให้ดี ตั้งใจฟังธรรม กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดแตกต่างกันนะ กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดแตกต่างๆ กัน กรรมคือการกระทำ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เชื่อกรรม กรรมคือการประพฤติปฏิบัติของเรา ทำกรรมดี ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว การกระทำต่างๆ แล้วส่งผลมาให้เรา เราเกิดมาตามกระแสของกรรม กรรมทำให้เกิด เห็นไหม ต้องเกิดในวัฏฏะ ต้องเกิดในภพชาติต่างๆ แล้วแต่กรรมจะพาเกิด

ปัจจุบันนี้ธรรมพาเกิด กรรมพาเกิดให้เป็นมนุษย์สมบัติ เราเป็นมนุษย์สมบัติ แล้วเราพบพระพุทธศาสนา เราได้ศึกษาพระพุทธศาสนา ศึกษาธรรมไง ศึกษาธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การศึกษาธรรมเพื่อความกระจ่างแจ้ง

มืดมาสว่างไป สว่างมามืดไป คนสว่างมาสว่างไป เห็นไหม นี่เหมือนกัน ถ้ามันได้สว่างมา ขอให้ทำคุณงามความดีมา เกิดมาพบพระพุทธศาสนา มันสนใจ มันใฝ่ใจไง ใฝ่ใจอยากจะประพฤติปฏิบัติ ใฝ่ใจอยากจะกระทำ ถ้าใฝ่ใจ ใฝ่ใจการประพฤติปฏิบัติเพื่อเราไง เพื่อบุญกุศล เพื่อความเป็นไปของเรา เพื่อชีวิตนี้มีความสุข

สัตว์ ทุกตัวบุคคลปรารถนาความสุข จะสมความปรารถนาเราไม่สมความปรารถนาเรา มันอยู่ที่กรรม กรรมให้ผลไป ปรารถนาขนาดไหน ปรารถนาคุณงามความดี ปรารถนาความสุขความสงบ ถ้าเราไม่ได้ทำคุณงามความดีไว้ มันก็จะให้ผลไป ให้ผลเป็นไปตามสัจธรรมนั่นน่ะ นั่นล่ะเราศึกษาธรรมก็ศึกษาเพื่อรู้การกระทำของเรา เรากระทำความดีมา บุญกุศลต้องให้เป็นความดี แต่ความดีมันเป็นนามธรรม แต่ในปัจจุบันนี้เป็นรูปธรรม

รูปธรรมคือการศึกษาของเรา การกระทำของเรา เราศึกษาธรรม ศึกษามาเพื่อให้ความเข้าใจ ศึกษามา ศึกษาในการบอกเล่า ศึกษามานี้ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม วางธรรมไว้ตามความเป็นจริง เราไปศึกษาคำบอกเล่ามา มันก็เป็นการศึกษามาเพื่อรู้เรา พอมีความรู้ขึ้นมามันก็มีความพอใจ มีความจงใจขึ้นมา ถ้าความพอใจความจงใจของเราขึ้นมา เราทำของเราได้ เราทำของเรา เราว่าเราศึกษาธรรม เราเข้าใจธรรม เราทำของเราขึ้นมา เราศึกษาขึ้นมาแล้วเราเป็นประโยชน์ของเราขึ้นมา เป็นประโยชน์กับเรานะ มันหูตาสว่างไง หูตาสว่างนั้นเป็นสมบัติของใคร เป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราศึกษามา นี่เป็นธรรมยืมมา สิ่งที่ยืมมา ยืมมาต้องพยายามทำให้เราเป็นต้นทุนขึ้นมา แต่ถ้ากิเลสพาศึกษาล่ะ มันศึกษาแล้วมันเข้าใจว่าเป็นของเราไง ศึกษาธรรมขึ้นมา มันชำระกิเลสได้ไหม ถ้าศึกษาธรรมมาชำระกิเลส มันต้องมีธรรมภาคปฏิบัติเข้าไป จะต้องมีภาคปฏิบัติเท่านั้นที่จะไปชำระกิเลสได้ การศึกษาเข้ามานี่เป็นความจำเข้ามา

เปลือกส้มรักษาเนื้อส้มไว้ให้หอมหวาน ให้มีรสชาติอร่อยกับเรา รักษาไว้ไม่ให้เสียหาย อันนี้ก็เหมือนกัน ขันธ์ในสัญญาความจำได้หมายรู้ มันเป็นเปลือกของใจ เปลือกของในศึกษาเข้ามาก็ศึกษาในสถานะของเปลือกของใจเข้ามา ศึกษาด้วยสัญญา ความจำได้ สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง สิ่งนั้นคลุกเคล้ากันไปอยู่อย่างนั้น

ถ้ากิเลสพาศึกษานะ ศึกษาแล้วจะให้ผลเป็นอะไร ให้ผลเป็นการยึดมั่นถือมั่น ให้ผลเป็นความทิฏฐิมานะสูงส่งขึ้นมา เราปฏิบัติ เราศึกษาธรรมมาเพื่อกดกิเลสของเราขึ้นมา ทำไมมันศึกษาธรรมขึ้นมามันมีความเห่อเหิมมีความทะเยอทะยานล่ะ ความเห่อเหิมของใจ ใจยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นอะไร เป็นกิเลสไหม

สิ่งที่เป็นกิเลส ถ้าศึกษาธรรมมา ศึกษาเพื่อความอ่อนน้อมถ่อมตน ศึกษามาเพื่อภาคปฏิบัติ ศึกษามาเพื่อเป็นแนวทาง ศึกษามาเพื่อเป็นสมบัติ เป็นแผนที่เครื่องดำเนิน ถ้ามีแผนที่อยู่ เราจะดำเนินทางไปถูกต้อง ถ้าแผนที่ไม่มี เราจะเดินไปอย่างไร เราก็เดินไป วนเวียนอยู่ในความเห็นของเรา นั่นหลงป่า คนหลงป่า ความหลงป่ามันยังพาให้อดข้าวอดปลาถึงตายได้ ถ้าหลงป่า เห็นไหม นี่หลงในความเห็นของตัว หลงในความคิดของตัวเองไปในความคิดของตัวเอง หลงเข้าไปในการศึกษาเล่าเรียนมา ศึกษามาเพื่อกิเลส ไม่ได้ศึกษามาเพื่อธรรม ศึกษามาเพื่อธรรม มันศึกษามาแล้วต้องย้อนกลับเข้ามาสิ ศึกษามาเพื่อธรรม นั่นมันเป็นสิ่งที่วางไว้

อาจารย์มหาบัวไปหาหลวงปู่มั่น...ไม่ได้ดูถูกธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ต้องวางไว้ก่อน เวลายังไม่จำเป็นต้องวางไว้ก่อน ต้องทำความสงบของใจเข้ามาให้ได้ก่อน ทำความสงบของใจเข้ามา ถึงเวลาธรรมมันเป็นประโยชน์ มันจะเข้าสมานกันเป็นประโยชน์เลย

แต่ถ้าธรรมไม่เป็นประโยชน์ เห็นไหม มันหลอก หลงป่าก็หลงป่าไปในตามความหลงป่า คนหลงป่าหลงทางไป มันพยายามหาทางออก มันยังรู้ว่าหลงนะ ถ้ามันหลงเพราะมันยังจับต้นชนปลายไม่ถูก มันต้องว่าเรานี่หลงป่าแล้ว แต่หลงในความเห็นของตัวเอง ตัวเองไม่ใช่สมบัติของเรา ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ยึดว่าเป็นของเราได้อย่างไร

ยึดว่าเป็นของเราไม่ได้ เพราะเป็นสมบัติยืมมา เป็นคำบอกเล่าจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นธรรม เป็นเครื่องชำระกิเลส สิ่งนี้ชำระกิเลส กิเลสกลัวธรรม ถ้าเราศึกษาแต่ชื่อมานี่ เวลาพูดถึงธรรม กิเลสมันจะหมอบตัวลง กิเลสมันฉลาดกว่า มันจะหลบตัวลงว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ เราได้ธรรมมาแล้ว เพราะเราได้ธรรมมา นี่ธรรมออกหน้าไง แล้วมันก็อยู่หลังความคิดเรา อยู่หลังความคิดเรา ตลบเอาความคิดเราไปกิน อยู่หลังความเห็นของเรา ตลบความคิดไป นี่วนไปอย่างนั้น เราหลงในการคิดว่าเราศึกษาธรรม

ศึกษามาเพื่อใคร? ศึกษามาเพื่อชำระกิเลส ไม่ได้ศึกษามาเสริมสร้างกิเลสให้ขนพองสยองเกล้า นั่นขนพองสยองขวัญ หมายถึงว่ามันมีอำนาจเหนือเราอยู่ในธรรมชาติของมัน คนเกิดมาพร้อมกับกิเลสพาเกิด เกิดมาพร้อมกับกิเลสในหัวใจของเรานี่พาเราเกิดมา แล้วมันอยู่ในหัวใจ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ความไม่รู้ของใจโดยพื้นฐาน ใจของเราไม่รู้จักตัวมันเองโดยพื้นฐาน แต่มีความรู้สึกอยู่ ด้วยความพื้นฐานของเราไม่เข้าใจว่าสิ่งใดเป็นคุณสิ่งใดเป็นโทษ

การศึกษาขึ้นมา นี่กิเลสพาศึกษา ศึกษาธรรมมา แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมมา เอาธรรมนั้นมาพอกพูนในความเห็นของตัว ดินพอกหางหมู ดินพอกหางหมูแกว่งไปแกว่งมา มันเกาะอยู่ในหางหมูมัน อันนี้ก็เหมือนกัน กิเลสพอกอยู่กับใจ แล้วเวลาศึกษาธรรมมาก็ศึกษามาด้วยกิเลส กิเลสสะสมมา เป็นการพอกกิเลส เพิ่มพูนกิเลสเข้าไปในหัวใจ กิเลสมีความพอใจในตัวมันเอง กิเลสมันก็ยิ่งเป็นใหญ่ในหลักใจอันนั้น

มันถึงว่า เวลาเราศึกษาธรรมมา เราคิดว่าเราศึกษาธรรมมาแล้วเราได้ธรรม ศึกษาธรรมมานี้ ถ้าศึกษามาด้วยความเป็นธรรม มันจำเป็น สุตมยปัญญา การศึกษาปริยัติต้องสำคัญ สำคัญในความสำคัญของเรา ศึกษามาแล้ว เป็นแนวทางไว้ให้ถูกต้อง เห็นไหม เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้ กรรมฐาน ๕ นี้ อุปัชฌาย์ทุกองค์ต้องบอกกรรมฐานกับสาวกผู้ที่บวชใหม่ทุกคน พระบวชใหม่ทุกองค์จะต้องได้รับกรรมฐาน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ

ในปริยัติที่ศึกษามานั้นมันก็เป็นสิ่งที่บอกไว้เรื่องอริยสัจ เรื่องความเป็นไป เรื่องภายใน เรื่องอริยสัจ เรื่องอาการของใจ ใจนี้หมุนไปขนาดไหนมันจะเวียนไปตามประสาอาการของใจ แล้วสิ่งนี้คือขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่อาการของใจ สิ่งใดเกิดขึ้นก่อน สิ่งใดเป็นรูปของใจเกิดขึ้นมา สิ่งใดเป็นสังขาร ความปรุง ความแต่ง นั่นน่ะศึกษามาเพื่อให้รู้สิ่งนั้น รู้สิ่งนั้นเพื่ออะไร? เพื่อว่าเวลามันเกิดขึ้นมามันจะได้สื่อความหมายกันถูกต้อง แล้วมันดับ มันปล่อยวางได้ไหม มันสงบตัวลงได้ไหม ถ้าสงบตัวลงมา ทำไมมันทำใจของมันให้สงบตัวลงไม่ได้

เวลาสงบตัวลง โดยธรรมชาติของมัน มันใช้งานไปสุดกระบวนการของเขา เขาต้องหยุดของเขาเองโดยธรรมชาติของเขา นี่หยุดโดยธรรมชาติของเขา เราก็ว่าอยู่ในวังวนของอาการของใจ เราอยู่ในวังวนของความรู้สึกเราอย่างนั่นน่ะ แล้วมันก็ปล่อยวาง มันจะคิดฟุ้งซ่านขนาดไหนมันก็ปล่อยวางเป็นชั่วครั้งชั่วคราว เราก็อาศัยพออยู่ได้ไง พออยู่ได้เพราะกิเลสมันให้เรามีชีวิตอยู่ได้วันหนึ่งๆ เท่านั้น แต่เราไม่สามารถได้ธรรมไง

ผู้ศึกษาธรรมต้องได้ธรรมด้วย ถ้าได้ธรรม เห็นไหม ได้ธรรม ได้ความสงบของใจ ถ้าใจสงบตัวลงมา ใจสงบตัวเข้ามาๆ พอสงบตัวเข้ามา มันจะเย็นใจ ความเย็นใจ ความเข้าใจของใจ รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง รสของธรรมเกิดขึ้นนะ เกิดขึ้นเพราะเราสัมผัสธรรม เราสัมผัสของเราเอง เราพยายามทำความสงบของใจ ถ้าทำได้ นี้คือภาคปฏิบัติ

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ มีปริยัติขึ้นมาเพื่อจะมีการปฏิบัติ ศึกษาธรรมมา ศึกษาแล้วต้องวางไว้ก่อน วางไว้ให้เป็นหลักความเป็นจริงว่าอันนี้เป็นธรรม ถ้ามันไม่มี นี่ชื่อของธรรม เราศึกษา เราจำชื่อมา เราได้ชื่อของธรรมมาแล้ว แต่ตัวของมันเรายังจับต้องไม่ได้ ถ้าตัวของมันเราจับต้องได้ เราพยายามกำหนดคำบริกรรมก็ได้ ใช้ความคิดพิจารณาดูความคิดของตัวเองก็ได้ ดูความคิดของตัวเองไป มันจะหมุนไปไหน ความคิดมันจะหมุนไปไหน หมุนไปแล้วให้อะไรเป็นผลมา

เป็นผลคือความทุกข์ร้อน เป็นผลคือความแผดเผาใจของตัวเอง นั่นน่ะมันเป็นผลเพื่ออะไรขึ้นมา ถ้าเป็นโทษ เราทำไมไม่ปล่อยวาง ถ้าเราปล่อยวางสิ่งนั้นได้ ปัญญามันเกิดขึ้นมา นี่คือได้ธรรม ได้ธรรมคือได้สติสัมปชัญญะ ได้สติ ความระลึกคิดได้ ถ้าเราระลึกความรู้สึกเราได้ เราคิดยับยั้งตัวเราได้ มันจะมีการจับต้อง จุดตรงไหนที่มันเกิด มันต้องดับตรงนั้น ความคิดเกิดดับตรงไหน ต้องดับที่ความคิดนั้น ความคิดนั้นเกิดขึ้นมาจากใจ เกิดขึ้นมาจากภายใน แล้วหมุนออกไป แล้วเราดับไม่ได้ เราไปดับความคิดของคนอื่น

เวลาเราทุกข์ร้อนกัน เราปลอบประโลมกัน เราปลอบโยนกันระหว่างฝ่ายตรงข้าม จะใครก็แล้วแต่ เราปลอบโยนเขาได้ นี่เราจะดับไฟให้คนอื่น ดับไฟที่อื่นทั้งนั้นเลย แต่ไม่ได้ดับไฟสิ่งที่มันเกิดขึ้น ไฟเกิดที่ไหน? ไฟเกิดที่ใจของเรา ใจมันเกิดขึ้นมา มันเร่าร้อนขึ้นมาที่ใจ แล้วเราจะดับมันอย่างไร ดับมันด้วยธรรมไง ด้วยธรรม ด้วยคำบริกรรม ด้วยพุทโธ ธัมโม สังโฆ มรณานุสติ คิดถึงความตาย มรณานุสตินี่คิดถึงความตาย มันจะหยุด ถ้าอะไรก็แล้วแต่มันจะเป็นไป คิดถึงตาย เพราะมันตายแล้วมันสิ้นสุดที่การกระทำสืบต่อ มันจะหยุดได้ ถ้ามันหยุด มันหยุดตรงนี้ มันเริ่มหยุดคิด หยุดที่มันจะฟุ้งซ่านไป มันจะพยายามสงบตัวเข้ามา นี่คำบริกรรมเข้าไป เข้าไปถึงใจ นี้คือได้ธรรม

สิ่งที่ได้ธรรมขึ้นมานี่ได้ธรรมจากหยาบๆ ขึ้นมา มันจะได้ธรรมมา ศึกษาธรรมมา ศึกษาไปถ้าเป็นกิเลสพาศึกษานะ เราจะทุกข์ร้อนมาก จะทุกข์ร้อน จะเข้าใจว่าเรารู้ เราประเสริฐ เรารู้เราเข้าใจนะ เราเหนือคน เราเหนือเขาอยู่แล้ว เพราะเรารู้มากกว่า จำแต่ชื่อของธรรมมา จำได้มากกว่า คนจำได้มากกว่ากับคนจำได้น้อยกว่า ถ้าคนจำได้น้อยกว่าเขาทำตัวดีกว่า เขาก็ดีกว่าเราอยู่วันยันค่ำ แต่ความเห็นของตัวว่าเราจำได้มากกว่า นั่นน่ะ ศึกษาธรรม

นี้ศึกษาโดยคุณนะ ศึกษาโดยโทษน่ะมันกลับมา โดยที่ว่าการศึกษาธรรม ศึกษาโดยแบบหญ้าแฝก กำหญ้าแฝกไม่แน่น แล้วเราถอนหญ้าแฝก หญ้าแฝกจะบาดมือ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราศึกษาธรรม เราเข้าใจธรรม มันศึกษาด้วยให้โทษ ด้วยกิเลสพาศึกษา ศึกษาแล้วยิ่งมักใหญ่ใฝ่สูง ศึกษาแล้วยิ่งขนพอง กิเลสมันยิ่งพองขน พองขนในใจของเรา ขนในใจของเรามันจะพอง มันจะมีความยึดมั่นถือมั่นมากขึ้นไป อันนั้นมันเป็นโทษอยู่แล้ว แล้วเป็นโทษ

เวลาสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาไป ในพระไตรปิฎกมีมากมายเลยที่ว่าสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาแล้วมีลูกศิษย์ลูกหาขึ้นมาศึกษาขึ้นมา เริ่มต้นก็สอนธรรมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนธรรมที่ศึกษาเล่าเรียนมา สอนไปๆ กิเลสมันคิดขึ้นมา กิเลสมันใหญ่ขึ้นมา มันเอาความเห็นของตัวแทรกเข้าไปด้วย ความเห็นของตัวมันไม่ใช่ธรรมแล้ว นี่กล่าวตู่ อันนี้เป็นโทษมากเลย กล่าวตู่พุทธพจน์ กล่าวตู่สัจจธรรม กล่าวตู่

การกล่าวตู่มันเอาอะไรมากล่าวตู่? ก็เอากิเลสมากล่าวตู่สิ ความเห็นของตัวเองนี่กล่าวตู่พุทธพจน์ กล่าวตู่ สอนไปนี่ เวลาตกนรกตายไปตกนรกหมกไหม้ขึ้นมา ในพระไตรปิฎกมีนะ เวลาพ้นจากนรกขึ้นมานี่ เกิดเป็นปลาทองคำ นั่นน่ะการบวชนี้ บวชในพระศาสนา เกล็ดเป็นเกล็ดทองคำเลย แต่เวลาอ้าปากขึ้นมานี่ปากเหม็นมากเลย เพราะอะไร เพราะบุญกุศลมันก็มีส่วนทำคุณงามความดี สืบต่อศาสนามันก็สืบต่อศาสนา อันนี้เป็นส่วนที่มันเป็นคุณ

แต่ส่วนที่เป็นโทษ เห็นไหม สอนตัวเองให้หลงผิด กิเลสพองขนขึ้นมาแล้วทำให้ตัวเองหลงผิดพลาดไป ยังไม่พอนะ ยังสอนให้คนอื่นผิด ถ้าคนอื่นผิดขึ้นมา เดินผิดพลาดไป มันยิ่งเป็นโทษ ๒ ชั้น ๓ ชั้นขึ้นมา นั่นน่ะตกนรกหมกไหม้ แล้วพ้นจากนรกขึ้นมาเป็นชั้นๆ ขึ้นมาแล้วขึ้นมา ถึงจะเกิดมาเป็นปลาทองคำ นั่นไง กิเลสพาศึกษา พาศึกษาอย่างนั้น

ถ้ากิเลสพาศึกษาขึ้นมา ในหัวใจของเรา เราจะพ้นออกไปจากธรรม ก้าวเดินออกไปนะ ทั้งๆ ที่ว่าห่มผ้าเหลืองอยู่นะ แต่ก้าวเดินห่างออกไปจากธรรมตลอด ห่างออกไปจากธรรมตลอด ไม่เข้ามาใกล้ธรรม เพราะมันไม่ได้ธรรม ไม่ได้สัมผัสธรรมตามหัวใจนั้น มันสัมผัสเพราะศึกษามาเฉยๆ ศึกษาก็มีหลักการ หลักการมีอยู่แล้ว เราจะลืมขนาดไหน เราเปิดพระไตรปิฎกเราก็ฟื้นความจำของเราได้ เราไม่ต้องกลัวสิ่งต่างๆ เลย แต่เวลาเราทำความสงบของใจสิ เดี๋ยวมันก็พลัดพราก เดี๋ยวมันก็เสื่อมสภาพ ยกขึ้นวิปัสสนายิ่งแล้วไป

จะได้ธรรมมันต้องเป็นภาคปฏิบัติ ถ้าภาคปฏิบัติจะได้ธรรมขึ้นมาจากหัวใจ ได้ธรรมขึ้นมา

กิเลสเกิดขึ้นจากใจแล้วให้ความเร่าร้อนกับใจนั้น ให้ความทุกข์อยู่กับใจนั้น กิเลสจะดับ จะดับที่ใจนั้น ถ้ากิเลสดับที่ใจนั้น ธรรมสัมผัสที่ใจนั้น กิเลสดับลงด้วย แล้วใจดวงนั้นเป็นธรรมขึ้นมาอีกด้วย ได้ธรรมขึ้นมาจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะพ้นจากทุกข์ขึ้นมา ใจดวงนั้นจะเข้าใจสัจจะความเป็นจริง สัจจะ อริยสัจจะ หัวใจที่เกิดขึ้นนี่ อริยสัจเกิดขึ้นจากหัวใจ อริยสัจจะเกิดขึ้นจากภายใน นั่นน่ะผู้รู้อริยสัจ กลั่นความคิดนี้ออกมาจากอริยสัจ

อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมนี้มีอยู่โดยดั้งเดิมโดยความเป็นจริง แต่ไม่มีใครสามารถรื้อค้นขึ้นมาได้ ไม่มีใครสามารถจะย้อนกลับมาหาใจของตัวเองได้ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษามา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นคว้ามา จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าถึงธรรมก่อน เข้าถึงธรรมตรงนั้น ถึงวางอริยสัจให้เรา

สรรพสิ่งในโลกนี้เกิดขึ้นมาแล้วมีทุกข์เป็นเรื่องหลัก ทุกอย่างจะเผาไหม้ด้วยความทุกข์ เพราะการเกิดนี้ ชาติปิ ทุกฺขา ชาติความเกิดนี้เป็นสิ่งที่รองรับทั้งหมด เพราะเกิดมามีเรา พอมีเราสรรพสิ่งก็มี สรรพสิ่งนี้มีเพราะมีเรา เราไม่เกิดสรรพสิ่งนี้ก็มีอยู่ แต่เราเป็นดวงจิตอยู่ เราเกิดในสภาวะไหนก็แล้วแต่ อยู่ในสภาวะนั้นในวัฏวน ใจดวงนี้อยู่ในสภาวะไหนก็อยู่ในสภาวะนั้น

แต่ในปัจจุบันนี้ ชาติปิ ทุกฺขา ชาติ ความเกิดขึ้น ภพมนุษย์นี้เกิดขึ้นจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเสวยภพเป็นมนุษย์ขึ้นมา เพราะเป็นมนุษย์ สรรพสิ่งในโลกมนุษย์นี้ถึงเห็นสภาวะไปทั้งหมด แล้วสามารถพยายามรื้อค้น พยายามค้นคว้า พยายามสืบหามาเป็นของของเรา เราทำมาค้าขายอะไรก็แล้วแต่ สิ่งใดเป็นของเรา เราจะว่าเป็นของเรา แล้วก่อนที่จะมาเป็นของเราเป็นของใครมาก่อนล่ะ เห็นไหม ถึงว่าเป็นสมบัติกลาง สมบัติในโลกนี้เป็นของประจำโลกอยู่กับของเขา ใครเป็นผู้ที่มีปัญญาก็จะได้สมบัตินั้นเป็นของเรา เป็นของเราชั่วคราว

ถ้าคนมีปัญญา ใช้สมบัตินั้นเป็นประโยชน์จะเป็นประโยชน์มหาศาล ถ้าคนไม่มีปัญญา สมบัตินั้นเอาใช้สอยไป จนทำให้คนเสียคนก็ได้ เล่นการพนัน เล่นทุกอย่าง เพราะเอาเงินนี้เป็นตัวหลักก็ได้ หรือสมบัตินี้ทำบุญกุศล สร้างบุญกุศลก็ได้ สมบัตินี้ทำประโยชน์กับโลกก็ได้ เห็นไหม นี่ผู้มีปัญญา

ปัญญานี้คืออะไร ปัญญาเกิดจากไหน

ถ้าเขาทำกรรมดีมา วาสนามา มาสว่าง ไปสว่าง เห็นไหม เขาจะมีความรู้สิ่งนี้เป็นสมบัติเดิมของเขา นี่กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กันตรงนี้ กรรมอยู่ในหัวใจของสัตว์โลก หัวใจของสัตว์โลกจะแยกจำแนกความคิดของคนไปต่างๆ กัน แยกจริตนิสัยของคนไปต่างๆ กัน จริตนิสัยของความคิดของใจนี้ แล้วแต่ว่ากรรมจำแนกออกไป เราทำกรรมความดีมามาก เราสร้างกุศลมามาก ความคิดเราจะคิดไปในแง่บวก แง่คุณงามความดีกับใจดวงนี้ไปตลอดไป แล้วก็ไปตกอยู่ในสังคมไหน สิ่งแวดล้อมไหน สิ่งแวดล้อมนั้นจะดึงให้เราไปทางไหน อันนั้นก็เป็นกรรมอีกชั้นหนึ่ง

เพราะชีวิตนี้เกิดตายๆ มาในวัฏฏะนี้ ไม่มีต้นไม่มีปลาย การสะสมมาต้องมีมหาศาล ถึงต้องผ่านพ้น ต้องผ่านไปตามสภาวะของกรรมนั้น แล้วเราจะฝืนได้ไหม ฝืนความรู้สึกที่มันติดพันกับสิ่งนั้น ฝืนความรู้สึกที่มันจะเกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้น ฝืนไว้ ฝืนไว้ที่ไหน? ฝืนไว้ในหลักใจ ฝืนไว้ในหัวใจของเราไง หัวใจของเราฝืนไว้ว่าให้ใจนี้อยู่กับเรา อยู่กับความคิดของเรา อยู่กับเรา ไม่ให้หัวใจนี้ไปอยู่กับสิ่งต่างๆ มันคิดออกไปเรื่องสิ่งต่างๆ คิดออกไปเรื่องของโลก มันไปอยู่กับเขาแล้ว คิดเรื่องสิ่งใด ใจอยู่กับความคิดสิ่งนั้น ถ้าใจมันอยู่กับเรามันก็เป็นอิสระของมัน

ถึงว่าฝืนสิ่งต่างๆ ฝืนความดึงดูดของความต้องการ ฝืนความดึงดูดของความไม่รู้ความไม่เข้าใจ ใจนี้เป็น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี่ความไม่รู้ สังขารปรุงแต่ง มันจะหมุนออกไปด้วยความเกาะเกี่ยวไปทุกๆ สรรพสิ่ง มันจะเป็นไปตามทั้งนั้น นั่นน่ะเราปฏิบัติธรรม เราต้องย้อนกลับมา ฝืนกิเลส ฝืนความรู้สึกของเรา เท่ากับเราปฏิบัติธรรมโดยเนื้อหาสาระ

ถ้าเราฝืนได้บ่อยๆ เห็นไหม การฝืนได้ทำให้เราไม่โดนเขาฉุดกระชากลากไป ไม่โดนกิเลสฉุดกระชากลากไปหนึ่ง...สอง ความฝืนขึ้นมานี่มันเคยฝืนขึ้นมา พอมันฝืนขึ้นมามันก็รู้โดยธรรมชาติของมันว่าสิ่งนี้ฝืนได้ สิ่งนี้มีสิ่งที่เกาะเกี่ยวได้ สิ่งนี้ ถึงว่า เหมือนกับเราเป็นเด็กแล้วเราเป็นผู้ใหญ่ได้ เราสามารถจะไม่เดินหลงทางได้ เด็กไปตกอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ มันจะเดินไปไม่ถูกทาง มันจะหลงทิศหลงทางไปของมันตามประสาของเด็ก แต่ผู้ใหญ่เดินจะไม่หลงทาง เห็นไหม

อันนี้ก็เหมือนกัน ใจเราฝืนความรู้สึกขึ้นมามันก็ในเข้าสู่ทาง เข้าถึงทาง เห็นทางความเป็นจริง เดินเข้าถึงสัจจะ เดินเข้าถึงหัวใจได้ ก้าวเดิน เห็นไหม ในถนนหนทางเราก้าวเดินไปจะมีการผิดพลาด มีการหลงไปในถนนหนทางนั้น ในหัวใจ สิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นนามธรรม ความเป็นไปในหัวใจ การก้าวเดินนั้นจะเดินให้ถูกต้องมันจะเป็นไปได้อย่างไร มันต้องมีความผิดพลาด ความผิดพลาดนั้นเป็นครูของเรา ความผิดพลาดของใจที่มันผิดพลาดนั้น มันเป็นครูที่เราจะพยายามให้ความผิดนั้นว่าตรงนี้เป็นความผิด ตรงนี้ควรจะทำอย่างไร

เช่น เวลาจิตมันจะสงบขึ้นมามันจะเกิดอาการต่างๆ เกิดอาการวูบต่างๆ เกิดอาการตกใจต่างๆ นี่สิ่งนี้คือความผิดพลาดของใจ แต่ความผิดพลาดขนาดไหนมันก็เป็นความเคยใจ ใจดวงนี้มันรักสงวนตัวเอง เห็นไหม เราอยู่กับเรามาตลอด แล้วเราจะไปอยู่กับสิ่งใดที่มันเวิ้งว้าง ที่มันจะไม่มีที่จับต้องได้ มันก็มีความตกใจ มีความกลัว นี่โดยธรรมชาติของใจเลย จะมีความกลัว กลัวตาย ใจดวงนี้กลัวตาย แล้วสัตว์มนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยกัน จะอยู่คนเดียวก็อยู่ไม่ได้ ว้าเหว่ จะอยู่ด้วยกันมันก็มีการเบียดเบียนกัน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตนี้มันจะออกไปเป็นบุญกุศล เป็นคุณงามความดี มันยังกลัว กลัวจนไม่กล้าไป กลัวจนต้องหดเข้ามา นี่ความเคยใจ ใจเป็นอย่างนั้น นี่ความตกใจ ความกลัวสิ่งตกต่างๆ สิ่งนั้นมันเป็นอาการของใจ มันไม่ใช่ใจ มันเป็นความนึกคิดเกิดขึ้น ไม่ใช่ตัวใจ ตัวใจคือความรู้สึกเฉยๆ ความกลัว กลัวคืออะไร กลัวมาจากไหน นั่นน่ะ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราพยายามค้นคว้า พยายามแยกแยะออกมา

ความกลัวนี้มันเกิดจากว่าเราไม่เข้าใจ สภาวะอวิชชา เห็นไหม ไม่รู้ว่าใจจะเข้าความสงบต่างหาก ใจจะเข้าไปถึงคุณงามความดีต่างหาก ไม่เข้าใจตรงนั้น ถึงพยายาม พอมันกลัวขึ้นมามันก็ทำให้ใจนี้ฟูออกมา ใจจะสงบเข้าไปก็สงบไม่ได้ ย้อนออกมารับรู้สิ่งหยาบๆ นี่ สิ่งที่ความที่ว่าอยู่กับขันธ์ เห็นไหม ใจอยู่กับขันธ์ อยู่กับอารมณ์ เกาะเกี่ยวอยู่กับอารมณ์อยู่อย่างนั้น นี่มันปล่อยวางสิ่งข้างนอกเข้ามา อารมณ์ความฟุ้งซ่าน คิดถึงรูป รส กลิ่น เสียง ต่างๆ คิดแล้วมันก็ไปตามความคิดนั้น เวลามันสงบเข้ามาจนเป็นตัวมันเอง เข้ามาอย่างนี้ มันก็อยู่แต่ในขันธ์ของตัวเอง มันปรุงแต่ง ปรุงอยู่ในหัวใจ ความคิดในหัวใจมันจะคิดของมันไปตลอดเวลา แล้วเวลามันจะปล่อยวางสิ่งนี้มันก็ยังกลัว เห็นไหม มันยังกลัว มันยังเป็นไป ทำให้ฟุ้งออกมาเกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้นอีก มันก็เป็นอารมณ์อยู่อย่างนั่นน่ะ มันถึงเป็นความสงบเข้ามาไม่ได้ไง

ถ้าเป็นความสงบเข้ามาไม่ได้ มันเป็นสัมมาสมาธิไม่ได้ สิ่งที่เป็นสัมมาสมาธินี้ นี่คือหลักการของที่ว่า เป็นมรรคอริยสัจจัง หลักของศาสนา ลัทธิต่างๆ เรื่องทำความสงบนี่มีมาโดยดั้งเดิม ทำความสงบของใจมีมาทุกศาสนา ทุกๆ ลัทธิสอนให้คนทำความสงบของใจ แล้วทำความสงบแล้วมันละเอียดอ่อนเข้าไป

ดูเจ้าชายสิทธัตถะไปเรียนกับอาฬารดาบส อาฬารดาบสสอนเรื่องสมาบัติ เห็นไหม สมาบัติ อากาสานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ วิญญาณัญจายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ เห็นไหม จากรูปฌาน ๔ กับอรูปฌาน ๔ ยกขึ้นอากาสานัญจายตนะเลย นั่นอรูปฌานแล้ว ฌาน ๔ อรูปฌาน ๔

นั่นความสงบของใจสงบได้ขนาดไหน แล้วจบสิ้นแล้วนั้นคือจบสิ้นกระบวนการในการฝึกหัด นั่นคือว่าสิ้นแล้ว นั่นคือผลของงาน เห็นไหม นี่มันมีมาโดยดั้งเดิม ถ้ามีมาโดยดั้งเดิม ลัทธิศาสนาต่างๆ ความสงบนี้มันถึงมีพื้นฐาน ความสงบของใจเป็นพื้นฐานของลัทธิศาสนาต่างๆ ทุกศาสนาเลย มันถึงเป็นอย่างนั้นมาโดยดั้งเดิม

แต่พระพุทธศาสนาสอนต่างไปจากนั้น พุทธศาสนาสอนเรื่องมรรคอริยสัจจัง พุทธศาสนาสอนเรื่องวิปัสสนาญาณที่จะพ้นออกไปจากกิเลส สิ่งที่พ้นออกไปจากกิเลสคือว่าเอาสิ่งที่เป็นความสงบของใจนี้เป็นบาทฐาน เป็นบาทฐานแล้วยกขึ้นค้นคว้าความเห็นของกาย เวทนา จิต ธรรม อีกต่างหาก เห็นไหม การค้นคว้า กาย เวทนา จิต ธรรมนี้ นี่มรรคเกิด เกิดตรงนี้ ผู้ที่จะได้ธรรมจะได้ตรงนี้ ตรงที่ใจยกขึ้นวิปัสสนาไง ยกขึ้นวิปัสสนา ยกขึ้นเป็นหลักของศาสนาพุทธ หลักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา นั่นน่ะยกขึ้นสิ่งตรงนี้

ปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นมา มันจะเป็นปัญญาของผู้นั้น เห็นไหม ปัญญาในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ความสัมผัสของธรรมเข้ามา มันสัมผัสเข้ามานะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันมีการต่อสู้ ในการต่อสู้กับความเหนี่ยวรั้งไปของกิเลสหนึ่ง ความต่อสู้สิ่งนั้น ต่อสู้ให้สงบตัวเข้ามา อันนั้นเป็นการต่อสู้ด้วยการไม่ใช่ชำระกิเลส แต่การวิปัสสนานี้เป็นการต่อสู้ที่ลึกซึ้งกว่า มันมีการลึกซึ้งคือว่า ถ้าความสงบของใจไม่พอ มันจะวกออกไป มันจะออกไป คือว่ามันขับเคลื่อนไปไม่ได้ มันทำให้ภาพนั้น สิ่งที่เห็นอยู่นั้นหลุดไม้หลุดมือไปหนึ่ง แล้วยกวิปัสสนาไปมันก็จะไปไม่รอด

ความหลุดมือออกไปนั้น มันเป็นการที่ว่า เราไม่สมประกอบ เราทำงานไม่สมประกอบ เราทำงานไม่เข้าถึงหลักความเป็นจริง เราจะเอาผลจากความเป็นจริง เป็นไปไม่ได้ มันต้องถอนกลับมา ถอนกลับมารักษาความสงบของใจ

ลัทธิศาสนาต่างๆ สอนเรื่องความสงบ นี่มันไม่ใช่เป็นความผิดทั้งหมด มันเป็นการเริ่มต้น สิ่งที่มีความเริ่มต้น ถ้าจิตเราสงบขึ้นมา ความคิดของเราจะไม่คิดแบบปัจจุบันนี้ ปัจจุบันนี้เรามีความคิดเป็นความคิดของเรา เห็นไหม นี่ศึกษาธรรม ศึกษาธรรมเราก็มีเราเป็นพื้นฐาน มีความอยากศึกษาแล้วเราก็ศึกษาธรรมเข้าไป ถ้าเราศึกษาธรรมเข้าไป ความคิดความเห็นของเรามันบวกเข้าไปในความคิดนั้น บวกนะ มันจะมีความคิด มันจะเป็นความเห็นไปได้ มันจะต้องใช้สังขารของเรา แล้วความไม่รู้ของเรา

ความไม่รู้ คือว่าเคยคิดเคยทำอย่างไรก็ทำโดยสันดานเดิมของเราอย่างนั้น สันดานเดิมคือจริตนิสัยที่คิดนึกไปตามความเห็นอย่างนั้น อันนี้มันเป็นโลกียะ มันเป็นความคิดของโลกเขา ความคิดดั้งเดิมของเราที่เป็นอย่างนั้น คิดขนาดไหนมันไม่เป็นกลางไง นี่มัชฌิมาปฏิปทามันเกิดขึ้นมาไม่ได้ มันถึงว่าเป็นความคิดที่ว่าเข้าใจแล้วปล่อยวางๆ เป็นความสงบ เป็นวงของสัมมาสมาธิทั้งนั้นเลย นี่ความคิดอย่างนี้โดยดั้งเดิม เพราะมันมีความคิดดั้งเดิม

จนเราทำความสงบของใจเข้ามา ต้องมีความสงบของใจ ใจไม่สงบขึ้นมา ความคิดใหม่ไม่เกิด ความคิดใหม่คือความคิดวิปัสสนา สิ่งที่วิปัสสนาได้ขึ้นมานี้เพราะว่ามันปล่อยวางเข้ามาแล้ว ปล่อยวางเข้ามาเป็นอิสระ เห็นไหม ตัวตนของเรามันเบาบางลง ตัวตนของเรามันมีอำนาจเหนือเรา พอตัวตนมีอำนาจเหนือเรา มันคิดตามอำนาจของมัน เพราะตัวตนของเรามันเบาบางลง นี่เบาบางลงจนจับต้องสิ่งใดไม่ได้ เบาบางจนจับต้องสิ่งใดไม่ได้ นั้นคือว่ายกขึ้นวิปัสสนาไม่เป็น

ถ้ายกขึ้นวิปัสสนาไม่เป็น จะไม่ได้ผลงาน จะไม่ได้ธรรม จะอยู่สมาธิ สัมผัสความสงบของใจเท่านั้น ถ้ายกขึ้นวิปัสสนาเป็น ต้องยกขึ้น นึกภาพกาย เริ่มต้นถ้านึกภาพกาย นั้นเป็นสัญญา สัญญาเพราะมีตัวตน เราเป็นคนนึกคิด แต่ถ้าเวลามันปล่อยวางจนหมดแล้วเราก็ต้องเริ่มต้นจากการนึกคิดขึ้นมาเหมือนกัน เริ่มนึกคิดขึ้นมาเพื่อปลุกประเด็นขึ้นมา ถ้าเราตั้งประเด็นขึ้นมาได้เราจะเห็นกายขึ้นมา

เห็นกายจากภายในไม่ใช่เห็นกายจากภายนอก การเห็นกายของเราด้วยตาเห็นกายนี้เป็นความเห็นของเรา ตาเห็นกายอยู่จนปัจจุบันนี้ เห็นแล้วมันก็เกิดในธรรมชาติของมัน เห็นตามธรรมชาติ เห็นไหม กับเห็นตามธรรม ตามธรรมนี่ ธรรมคือความสงบของใจ ใจนี้สงบขึ้นมาแล้ว ดวงตานี้มันเป็นใจ ใจนี้เป็นนามธรรม แล้วไปเห็นกายตามสภาวะที่มันเป็นจริง สภาวะที่มันเป็นจริงมันไม่ใช่สภาวะที่มันเป็นโลกของเราอย่างนี้

ถ้าสภาวะเป็นโลกของเราอย่างนี้ มันเห็นแล้วมันเกิดความผูกพัน ระหว่างฝ่ายตรงข้าม ความเห็นกันจะเกิดความผูกพันอย่างมหาศาลเลย แต่ถ้าเป็นธรรมเห็นไม่เป็นอย่างนั้น มันจะเป็นสภาวะของมันเฉยๆ สภาวะที่ว่าเป็นกระดูกก็ได้ เป็นเนื้อก็ได้ เป็นอวัยวะ ๓๒ นี้เป็นอย่างใดก็ได้ หรือเห็นทั้งร่างกายก็ได้ แล้วนึกสภาวะนั้นไว้ มันจะขนพองสยองเกล้านะ

ขนพองสยองเกล้าของกิเลสมันขนพองอย่างหนึ่ง ขนพองสยองเกล้าของการที่ว่าเราไปจับต้องตัวตนของกิเลสอีกอย่างหนึ่ง ต่างกันมาก ขนพองสยองเกล้าของกิเลสเวลามันมีอำนาจเหนือเรา ขนพองสยองเกล้าด้วยทิฏฐิมานะโดยที่เราไม่เข้าใจ เราจะปล่อยให้มันลากความคิดเราไปตามมัน แต่ขนพองสยองเกล้าในการเห็นธรรม เห็นร่างกาย เห็นธรรม เห็นกายนี้ มันจะขนพองสยองเกล้าด้วยความตื่นเต้นกับความเห็นอันนี้ไง ตื่นเต้นกับสมบัติของเราที่เราจะหยิบสมบัตินี้เป็นสมบัติของใจได้ ถ้าเราได้ธรรม เราจะได้สมบัติสิ่งนี้ สมบัติสิ่งนี้มันเป็นการ...

การที่ทำธุรกิจมันต้องมีที่ทำธุรกิจที่เราจะทำธุรกิจต่อกัน นี่ก็เหมือนกัน ในการชำระกิเลสมันต้องมีสถานที่ที่ว่าเราจะชำระกิเลส กิเลสมันผูกพันใจ ผูกพันร่างกาย ผูกพันความเห็นตัวตนของเรา ตัวตนต่างๆ นี้ มันผูกมัดกับกายกับใจนี้ ผูกมัดกันไว้ ใจนี้หลงแล้วมันถึงได้มาหลงตัวตนนั้น นี่ความหลงของใจมันเป็นสภาวะอันหนึ่ง เป็นอกุศล เป็นธรรมฝ่ายดำที่มันผูกใจมาตลอด ถ้าเราวิปัสสนาสิ่งนี้ มันจะเห็นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่แปรสภาพ มันจะพึ่งตนเองไม่ได้ มันจะคงสภาวะอย่างนั้นไม่ได้ มันจะแปรสภาพไป

ความแปรสภาพไป เราเห็นสภาวะอย่างนั่นน่ะ ใจมันสลดสังเวชมาก เพราะอะไร เพราะมันมืดบอด ใจนี้มืดบอด คิดว่าสรรพสิ่งในร่างกายของเรานี้เป็นเราทั้งหมด ในสภาวะของเรานี่โลกคิดอย่างนั้นนะ สมบัติเงินทองข้าวของยังเป็นของเรา แล้วเนื้อหนังมังสาร่างกายของเราทำไมจะไม่เป็นของเรา มันต้องเป็นของเราสิ

นั้นเป็นโดยสมมุติ สมมุติสัจจะนี้มันเป็นสมมุติสัจจะความจริงอันหนึ่ง ความจริงนี้ความจริงชั่วคราว ชั่วแค่ชีวิตเดียว ชีวิตนี้ สิ้นสุดของชีวิตคือต้องตายไป ถ้ามันตายไป ร่างกายนี้เป็นเรามันต้องอยู่ในอำนาจของเราสิ มันต้องไปกับเราใช่ไหม เวลาเรามีชีวิตอยู่นี่มันต้องไม่เจ็บไข้ได้ป่วยใช่ไหม เวลามันเจ็บไข้ได้ป่วยเราต้องสั่งให้มันหายได้ใช่ไหม ถ้าเป็นของของเรา ข้าวของเงินทองเราเก็บใส่ตู้เซฟได้ ร่างกายถ้าเป็นของเรา เราต้องสั่งได้สิ เราต้องบังคับบัญชามันได้สิ มันไม่ได้สักอย่างหนึ่งเลย มันเป็นสภาวะ มันเป็นจริงโดยสมมุติ เป็นเราจริงๆ เป็นเราก็เพราะว่ามันเกิดมากับเรา แต่เป็นแค่ชั่วคราว

แต่ธรรมนี้จะเห็นสภาวะตามความเป็นจริง ถ้าเห็นตามความเป็นจริงมันจะปล่อยวางไง เห็นสภาวะอย่างนี้มันจะสลดสังเวชมาก สังเวชว่าทำไมเราโง่เง่าขนาดนั้น มันจะเกิดความสลดสังเวชนะว่าโง่เง่าเต่าตุ่น ใจนี้ทำไมมันไม่เห็น นั่นน่ะ ศึกษาธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สอนแบบนี้ สอนให้เห็นตามความเป็นจริงแบบนี้ เราก็ศึกษามา แต่เราไม่เคยเห็น เพราะเราไม่ได้ปฏิบัติ

ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมาจนเราจะเห็นตามความเป็นจริงขึ้นมา มันเป็นสมบัติของใคร มันได้ธรรมจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะต้องได้ธรรมเอง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ให้สัตว์โลกมันก้าวเดิน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกทางไว้ ทางนี้ทางมรรคอริยสัจจังนี้เป็นทางอันเอกที่จะพ้นจากกิเลสได้ เราเป็นคนชี้ทาง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทาง ทุกดวงใจต้องก้าวเดินเอง เพราะทุกดวงใจนั้นเป็นผู้ติด ใจนี้มันติดกับสิ่งนี้ มันจะปลดปล่อยสิ่งนี้ได้ มันต้องปลดปล่อยในตัวมันเอง ไม่มีใครสามารถปลดปล่อยแทนกันได้เลย

ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปลดปล่อยแทนได้ จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปหมดแล้ว ไม่ปล่อยให้สัตว์โลกค้างไว้ในโลกนี้หรอก แต่มันเป็นไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันดึงมาก็ไม่เชื่อ ชี้ทางบอกก็ไม่ฟัง ฟังไว้แล้วประพฤติปฏิบัติก็ยังพาใจนี้หลงไปต่างหาก พาใจของเราหลงไป ไม่เข้าหลักความเป็นจริง หลงออกไปตามกิเลสมันชักนำไป นั่นน่ะ ขนาดก้าวเดินตามก็ยังศึกษาธรรมเฉยๆ ศึกษาด้วยกิเลสมานะ ศึกษาด้วยทิฏฐิมานะ ศึกษาด้วยกิเลส กิเลสก็พาหมุนเวียนไป ไม่เข้าตามความเป็นจริง แต่หมุนกลับมา ความผิดพลาด ความเป็นไปนั้น อันนั้นเป็นการศึกษาเล่าเรียน มันต้องมีความผิด ความผิดเป็นไป

ความเป็นไปของการผิดพลาด มันจะต้องมีของมันอย่างนั้นโดยธรรมชาติ โดยธรรมชาติของสิ่งที่ปิดใจไว้ไง ใจโดนปิดไว้ สภาวะแบบนั้น มันก็ต้องเป็นแบบนั้นโดยธรรมชาติของมัน โดยธรรมชาติ เห็นไหม กิเลสก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เพราะกิเลสมันเกิดมากับใจ เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง สภาวธรรมอันนี้เป็นสภาวธรรมแบบเป็นอกุศล ถ้ากุศลเกิดขึ้นไป อกุศลมันต้องอยู่ไม่ได้ มันจะอยู่ไม่ได้ เห็นไหม นั่นน่ะ สภาวะที่มันอยู่ไม่ได้เพราะมันเห็นตามความเป็นจริง

ถ้าเห็นตามความเป็นจริงมันจะเริ่มปล่อยวาง จนสภาวะหนึ่ง พิจารณากาย เห็น ตั้งขึ้นมาพิจารณาซ้ำ จนกว่ามันจะแปรสภาพไป เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ก็ได้ แปรสภาพไป เกิดสภาวะ ตั้งร่างกายขึ้นมาเอาไฟเผา เผาให้มันละลายไป พอละลายเข้าไป สิ่งนี้พึ่งไม่ได้ สิ่งนี้ไม่ใช่ของเรา ถ้าเป็นของเรา เราจะรักษาสิ่งนี้ไว้ได้ มันไม่ใช่ของเราจริงๆ พอเข้าใจตามความเป็นจริงมันจะปล่อย พั๊บ! ขาดเลย นี่ขาด ได้ธรรมมาจากใจ เห็นสภาวะนี้ขาดออกไป กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ไม่เกี่ยวกัน อยู่ตามสภาวะของมันตามความเป็นจริง ต่างอันต่างจริง กายก็จริงอันหนึ่ง

จริงโดยที่ว่าเราได้ความจริงมา หัวใจนี้ก็เป็นความจริงอันหนึ่ง ความผูกพันทุกข์ที่เป็นความผูกมัดไว้ก็เป็นความจริงอันหนึ่ง มันได้สลัดออกจากกันด้วยสภาวะภาวนามยปัญญา มันขาดออกไปด้วยภาวนาของใจ ปัญญานี้ชำระ ในพุทธศาสนาปัญญาอันนี้ประเสริฐที่สุด มรรคอริยสัจจังเกิดจากตรงนี้ไง มัชฌิมาปฏิปทาในเครื่องชำระกิเลสเกิดจากตรงนี้ เกิดจากในหัวใจทุกดวงที่มีโอกาสศึกษาได้

ในหัวใจ ใจของเราทุกดวงสามารถทำสิ่งนี้ได้ สะสมขึ้นมาจากใจ จากความก้าวเดินของใจ นี่สะสมขึ้นมาจากการศึกษาเล่าเรียนต้องมีการศึกษาเป็นพื้นฐาน ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นการศึกษาธรรม แล้วประพฤติปฏิบัติจนจะได้ธรรม ถ้าเราได้ธรรมของเราขึ้นมา นั่นน่ะใจดวงนั้นประเสริฐ

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องแปรสภาพหมด สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องบุบสลายไปเป็นธรรมดา มันเห็นสภาวะสิ่งที่เป็นธรรมดาไง นั่นน่ะความได้ธรรมขึ้นมามันจะยืนหลักของตัวมันเองได้ เห็นไหม นี้ได้ธรรมขึ้นมามันก็ต้องทำขึ้นไปให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นไปเพื่อถึงที่สุด เพื่อให้พ้นออกไปจากความยึดมั่นถือมั่นของใจให้ได้ พ้นออกไปจากกิเลส

เดินตามธรรมขึ้นไป เดินตามธรรม ธรรมชี้นำไว้แล้ว มันเห็นทาง สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติมา มืดมิดปิดมา ปิดมาทั้ง ๘ ด้าน ว่ามรรค ๘ เป็นทางเดิน นี่มันปิดมาทั้ง ๘ ประตู เราไม่มีทางสามรถก้าวเดินได้เลย จนเราชำแรกเข้าไป จนมีความเห็นถูกต้อง จนชำระออกไป

มรรคสัมปยุตอย่างไร ในหัวใจมันรวมตัวอย่างไร แล้วมันสมุจเฉทปหานกิเลสขาดออกไปอย่างไร วิปปยุตคลายตัวออกอย่างไร นี่มันเห็นตามความเป็นจริง สิ่งนี้เกิดขึ้นจากใจดวงนั้นแน่นอน ถ้าใจดวงนั้นไม่เห็นสภาวะสิ่งนี้ ใจดวงนั้นไม่ได้ธรรม ใจที่จะได้ธรรมต้องเห็นสภาวะแบบนี้ตามความเป็นจริงเลย ตามความเป็นจริงว่าใจนี้รวมตัวกันนะ เพียงแต่ความคิด ความดำริชอบ ความเพียรชอบ งานชอบ สติชอบ ความระลึกชอบ ล้อมเข้าไปเลย พร้อมกับรวมตัวเข้าไป สมุจเฉทปหานออกไปจากใจ

แล้วมันจะก้าวเดินต่อไป ยิ่งก้าวเดินต่อไป เพราะเห็นว่าสิ่งนี้หลุดออกไปส่วนหนึ่งจากใจ ใจเรานี้มีสิ่งที่หลุดออกไป มันสามารถทำได้ ถ้าใจทำได้เราต้องพยายามจะให้มันมากขึ้นไปกว่านั้น เริ่มต้นจากการทำความสงบของใจ มันจะเริ่มสะสมสิ่งนี้ไง

ทุนเดิมของเรา ถ้าเรามีทุนรอนของเรา เราจะสามารถทำค้าขายได้ ถ้าเราไม่มีทุนรอนของเรา เราจะทำอะไรสิ่งใดไม่ได้เลย ความสงบของใจเป็นพื้นฐานของใจ สัมมาสมาธิ เห็นไหม กิเลสอย่างหยาบหลุดออกไป กิเลสอย่างละเอียดมันก็ผูกมัด มันก็รัดดึงใจเหมือนกัน รัดดึงใจไว้ เอาใจนั้นกับกิเลสผูกพันไปในหัวใจนั้น ต้องทำความสงบของใจเข้ามาเพื่อให้มันปล่อยวางต่อกัน เพื่อให้มีโอกาสให้ใจดวงนี้ได้ก้าวเดิน ให้ใจดวงนี้ก้าวเดินขึ้นมา นี่จับต้องไปที่กาย ถ้าจับต้องนี้เป็นงาน

เราใช้มือทำงาน เราทำสิ่งใดเราก็ใช้มือทำงานได้ แต่อันนี้เราใช้ใจทำงานน่ะ ใช้ความรู้สึกทำงาน ใช้หัวใจทำงาน ถ้าหัวใจมันเกาะเกี่ยวกับความฟุ้งซ่าน เกาะเกี่ยวกับความหลงผิดไปมันก็ทำให้ใจนี้ฟู ถ้ามันเกาะเกี่ยวกับธรรม เกาะเกี่ยวกับคำบริกรรมต่างๆ มันก็สงบเข้ามา ถ้ามันสงบเข้ามามันมีพลังงานเกิดขึ้น ถ้ามันฟุ้งซ่านไปมันจับจ่ายใช้สอย คนเราสุรุ่ยสุร่ายจับจ่ายใช้สอยจะมีสมบัติติดตัวไหม ถ้าคนเรารู้จักเก็บหอมรอมริบมันจะมีสมบัติติดตัว หัวใจก็เหมือนกัน ถ้ามันคิดฟุ้งซ่าน มันปรุงแต่งออกไปตลอด มันจะเอาอะไรไปติดตัวมัน มันจะไม่มีอะไรติดตัวมันหรอก มันใช้จ่ายของมันฟุ่มเฟือยไปตลอดเวลา

แต่ถ้าคำบริกรรมของมัน กำหนดพุทโธๆ มรณานุสติ กำหนดความตายของเรา กำหนดเข้ามาตลอดเวลา มันจะย้อนกลับเข้ามา ถ้าย้อนกลับเข้ามามันจะเริ่มสะสมตัวมันขึ้นมา มันจะเริ่มมีทุนรอนขึ้นมา ถ้ามีทุนรอนขึ้นมา นี่เป็นทุนเริ่มต้นที่เราจะยกขึ้นวิปัสสนาอีก จะยกขึ้นวิปัสสนาซ้ำ ๒ ซ้ำ ๓ ไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะหมดสิ้นไป จนจะไม่มีสิ่งใดจับต้องได้ ถ้าสิ่งใดจับต้องได้ สิ่งนั้นคือกิเลส จับต้องสิ่งใดได้ สิ่งนั้นมีอยู่ สิ่งใดมีอยู่ สิ่งนั้นเป็นมานะ เป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนของใจ จับต้องสิ่งนั้นได้ ต้องจับต้องโดยธรรมชาติของมัน

เริ่มต้นนี้ยังจับต้องได้โดยสมุฏฐานเลย เพราะมันมีความจับต้องได้ จับต้องแล้ววิปัสสนา ที่เราจับต้องไม่ได้เพราะอะไร เพราะกิเลสมันผลักไส มันผลักไสไม่ให้ใจมันย้อนกลับ มันผลักไสให้ใจหมุนออกไปจากภายใน หมุนออกไปข้างนอก เห็นไหม พลังงานส่งออก พลังงานของใจต้องส่งออกไปตลอดเวลา สิ่งที่ส่งออกไปพร้อมกับ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา พร้อมกับความหลงเอาไว้ มันส่งออกไป มันก็ต้องส่งออกไป เห็นไหม นี้คือการศึกษาธรรม

การศึกษานี้มันมีความผิดพลาด ความผิดพลาดเราก็เทียบเคียงตามตำรา เทียบเคียงกับครูบาอาจารย์ เห็นไหม ฟังเทศน์ฟังธรรม ฟังเรื่องนี้ เรื่องปัจจุบันธรรม เรื่องใจที่มันเกิดขึ้นจากหัวใจปัจจุบันนี้ ย้อนกลับเข้ามาๆ ย้อนกลับเข้ามาในหัวใจ ย้อนกลับเข้ามาจับต้อง ไฟเกิดที่ไหนต้องดับไฟที่นั่น ความทุกข์เกิดขึ้นมาจากหัวใจ ต้องดับที่หัวใจ แล้วที่จับต้องนี้ไม่ใช่ใจหรอ? เป็นอาการของใจไม่ใช่ใจ

อาการของใจคือธรรมชาติของมันที่มีอยู่กับใจที่เกิด เห็นไหม อารมณ์ แขกจรมา ความคิด เวลาคิดมันก็มีมา เวลาเราคิดขึ้นมานี่ความคิดเกิดขึ้น เวลาไม่คิด ความคิดอยู่ไหน เวลาเราไม่คิดน่ะความคิดไม่มี ความคิดไม่มี เวลาเราคิดขึ้นมาความคิดเกิดขึ้น นี่แขกจรมา นี่ก็เหมือนกัน อาการที่มันฟุ้งซ่านขึ้นมา มันฟุ้งซ่านมาจากไหน ถ้ามันไม่ฟุ้งซ่านขึ้นมาน่ะ มันสงบ มันสงบตังลงอย่างไร

ถ้าพูดถึงภาวนาไม่เป็นเลยมันก็ไม่รู้ผล เห็นไหม แต่นี้เป็นแล้ว เราพิจารณาเข้ามาจนเห็นกายตามความเป็นจริง กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย เห็นสัจจะตามความเป็นจริง สิ่งนี้เป็นการยืนยันกับใจเข้ามา พอยืนยันกับใจเข้ามา ใจนั้นต้องทำความสงบเข้าไปให้ได้ ย้อนกลับมาทำความสงบของใจเข้าไป ลึกซึ้งเข้าไป นี่ลึกซึ้งเข้าไป ความอ่อนใจเริ่มอ่อนตัวลงๆ จนอ่อนตัวลง จนพร้อมควรแก่การงาน เห็นไหม จะปั้นดิน ปั้นโอ่ง ปั้นไห ต้องนวดดินให้ควรแก่การงาน

จิตใจที่จะเริ่มจับต้องวิปัสสนาได้มันต้องควรแก่การงาน เราพยายามตะล่อมใจของเรา จนมันควรแก่การงานแล้วยกขึ้นวิปัสสนา จับกายอีก พิจารณาซ้ำเข้าไป แยกแยะออก กายนี้ต้องคืนสภาวะเก่าของเขา ธาตุเดิมของเขา เขาเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ คนเราตายแล้ว เวลาศพฝังไว้ มันต้องเป็นสภาวะแบบนั้น ทุกอย่างต้องกลับคืนสภาวะเดิม

ร่างกายที่ได้มานี้ได้มาจากกรรม กรรมนี้ได้จากไข่ของมารดากับเชื้อของพ่อรวมตัวกันกับปฏิสนธิเกิดมาเป็นเรา นี่เป็นเราขึ้นมานี่ เป็นมนุษย์ขึ้นมาคนหนึ่ง แล้วเวลาเราตายไป จิตที่ว่าปฏิสนธินี้ต้องหลุดออกไป สภาวะที่ว่าได้มาจากไข่ของมารดา มันเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นมนุษย์ เป็นตัวอ่อน เป็นสรรพสิ่งขึ้นมา แล้วเวลาตายไปแล้วฝังดิน มันไปไหน มันกลับไปสู่สภาวะเดิมของมัน มันต้องกลับไปสู่สภาวะเดิมของธรรมชาติ เราอาศัยสิ่งนี้เกิดขึ้นมา แล้วก็เจริญชีวิตกันมาขนาดนั้น

นี่ก็เหมือนกัน วิปัสสนาซ้ำตรงนี้ ตรงที่ว่าสิ่งนี้มันคืออะไร ระหว่างกายกับจิตมันเกาะเกี่ยวกันด้วยสิ่งใด มันเกาะเกี่ยวกัน เพราะอะไรมันถึงเกาะเกี่ยวกันอยู่นั้น นั่นน่ะ เกาะเกี่ยวกันด้วยความอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ใจที่ยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้นว่าเป็นเรา สิ่งนั้นว่าเป็นเรา

สิ่งที่ว่า กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กายนั้นส่วนหนึ่ง เราเห็นจริงเราก็ปล่อยวางเข้ามา แต่อุปาทานมันยังมีอีกชั้นหนึ่ง วิปัสสนาซ้ำเข้าไป จนซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะปล่อยวางมาบ่อยครั้งๆๆ บ่อยครั้งจนกว่ามันถึงที่สุด

ถ้าเราหลง เราปล่อยวางแล้วเราชะล่าใจ เราปล่อยไปนี่มันจะทรงตัว มันจะแข็งตัวขึ้นมา มันจะทรงตัวขึ้นมา ถ้าทรงตัวขึ้นมานี่เราจะสู้มันไม่ได้ ถ้าเราไม่หลงผิดไป เราซ้ำแล้วซ้ำอีก มันไม่เห็นตรงไหนก็พยายามรื้อค้น รื้อค้นนะ กิเลส ถ้าธรรมเหนือขึ้นมามันจะหลบซ่อนตัว มันไม่หนีไปไหนหรอก มันอยู่ในใจนั่นล่ะ แต่มันหาที่หลบซ่อน

แล้วธรรมเรา เรารักษาธรรม ธรรมคือสัมมาสมาธิ ธรรมคือมรรคอริยสัจจัง ธรรมคือความเห็นถูกต้องที่เข้าไปต่อสู้กับมัน มันสะเพร่า สุกเอาเผากิน ไม่มีความจดจ่อ ไม่มีความระลึกรู้อยู่ ไม่มีความจงใจทำ ถ้าความจงใจทำของเราไม่พอ ความจงใจทำของเราไม่พอนี่มันหลบเลี่ยงได้ พอหลบเลี่ยงได้ นั่นน่ะมันทำให้เราหลงไป วิปัสสนาหลง หลงตรงนี้ หลงตรงที่เราทำแล้วไม่ถึงที่สุด มันจะหลงออกไป ถ้าเราซ้ำเข้าไปๆ จนถึงที่สุด เห็นไหม ทำถึงที่สุด ได้ไตร่ตรองตลอดเวลา ถึงที่สุดแล้วมันต้องขาดออก

สิ่งที่ขาดออก นี่ปล่อยวางซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่านะ การหมั่นคราดหมั่นไถ ต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าถึงที่สุดแล้ว ถ้ามัชฌิมาปฏิปทามันลงตัวแล้ว มันปล่อยวาง มันก็มัชฌิมา เริ่มเคลื่อนไหวไง ถ้ามันปล่อยวางนี่มันเริ่มเคลื่อนแล้ว เริ่มเคลื่อนๆ เราต้องซ้ำไปบ่อยๆ จนสิ่งที่เคลื่อนออกขาดออกไปจากใจ สิ่งนี้ขาดออกไป เวิ้งว้างเลยนะ กายเป็นกาย ใจเป็นใจ แยกออกจากกัน สิ่งที่แยกออกจากกัน แยกออกไปเลย นี่ได้ธรรม สิ่งที่ได้ธรรมมันก็หมุนไปอีก หมุนขึ้นไปจนกว่าจะจับต้องได้ หมุนขึ้นไป หลงใหลอยู่ ความเวิ้งว้างของใจมันจะมีความสุขมาก นี่มันจะเวิ้งว้างขนาดไหนมันก็เป็นความสุขของเขา

แต่กิเลส เห็นไหม ในความเวิ้งว้างนั้นมันมีใครเป็นคนรู้ว่าเวิ้งว้างล่ะ แต่ในเมื่อสภาวะที่จะหลงมันไม่เข้าใจอย่างนั้นหรอก เวิ้งว้างนี้คือความเป็นผล ผลที่ความสงบของเรา มีความสุขมาก มีความเวิ้งว้างมาก มีความสุขของเรา ความพอใจของเรา จะหลงใหลไปอยู่นั้นน่ะพักใหญ่

แต่ถ้าใครอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ ใครอยู่ใกล้ตำรับตำรา เห็นไหม ธรรมวินัยนี้เป็นศาสดาของเรา รื้อค้นธรรมวินัยมันจะเข้าไปเจอว่ามรรค ๔ ผล ๔ การชำระสะสางมันต้องมีมรรค ๔ ผล ๔ เข้าไป แล้วเราถ้าย้อนกลับมาเทียบเคียงกับของเรา มรรคขั้นที่ ๑ เรามันปล่อยวางเห็นกายนี้ตามความเป็นจริง มรรคขั้นที่ ๒ นี้คืนธรรมชาติเขาไป นี่มันยังมีสิ่งที่ต้องก้าวเดินอีก แต่มันเป็นไปไม่ได้ มันจะก้าวเดินไปไม่ได้ เพราะมันละเอียดอ่อน มันเรื่องเหมือนกับว่าจะสุดวิสัย แต่ไม่สุดวิสัยของผู้ที่มีธรรม ไม่สุดวิสัยของหัวใจที่จะก้าวเดินต่อไป ถ้าหัวใจนั้นไม่สุดวิสัย มันพยายามย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาจับต้องได้

ความเป็นอสุภะอสุภังของใจ ความสกปรกของใจ ใจสกปรกอย่างนั้น ใจมีความคิดความสกปรกโสโครกของใจ ใจถึงจะมีปฏิฆะ ความผูกโกรธ ถ้าไม่สมใจหวังจะผูกโกรธ ใจจะโกรธมาก ใจจะไม่พอใจ ไม่พอใจกับความสมหวังของตัว ถ้ามันสมหวังแล้วมันจะพอใจของมัน ถ้ามันสมหวัง แล้วสิ่งใดจะสมหวังใจได้ตลอดไป

มันเป็นไปไม่ได้ เห็นไหมว่าสรรพสิ่งที่เราเกิดมาแล้วจะสมหวังเราตลอดไป มันเป็นไปไม่ได้เลย มันต้องมีการผิดหวัง มันต้องมีการผิดพลาด อันนั้นเป็นเรื่องอาการของใจ ถ้าเป็นเรื่องของกายก็เป็นเรื่องของอสุภะอสุภัง นี่ความผูกโกรธ โกรธเพราะว่ามันไม่ได้สมความปรารถนาของมัน สิ่งที่จะได้มาไม่สมความปรารถนา ถ้าไม่สมปรารถนามันก็เกิดปฏิฆะ เกิดปฏิฆะมันก็เกิดกามราคะ เห็นไหม กามราคะมันเกิดก่อน มันถึงเกิดปฏิฆะ ความผูกโกรธ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเกิดจากตรงนี้ไง

สิ่งที่ว่าเป็นโรคความหลงมันเกิดจากที่ว่า เราเห็นกายเป็นเรา เราเห็นสรรพสิ่งนี้เป็นเรา อันนั้นเป็นทิฏฐิมานะความเห็นผิด ความเห็นผิดเฉยๆ แต่ความหลงที่ไปกับความเห็นผิดมันอยู่ที่ไหน เพราะมันหลงในตัวมันเองมันถึงจะเห็นผิดใช่ไหม ถ้าไม่หลงตัวมันเองมันจะเอาอะไรมาเห็นผิด นั่นน่ะมันย้อนกลับเข้ามาจับตรงนี้ได้

สิ่งที่จะจับตรงนี้ได้ ศึกษาธรรมมา เป็นการศึกษา ศึกษามาขนาดไหนก็เป็นการศึกษาธรรม แต่ถ้าไม่ปฏิบัติ ถ้าจับต้องไม่ได้ ไม่ได้ธรรม สิ่งที่จะได้ธรรม เกิดจากภาคปฏิบัติ เกิดจากความมุมานะของตัวเอง เอาชีวิตเข้าแลกนะ จะทุกข์ยากขนาดไหนสิ่งใดก็แล้วแต่ ไม่สนใจ ขอให้เราได้ประพฤติปฏิบัติ ขอให้เราได้ใช้ภาวนาของเราเกิดขึ้นมา ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วมันจะออกไปข้างนอกไง

การดำรงชีวิตอยู่ ถ้าเราดำรงชีวิตสิ่งนี้เราก็พอแล้ว เราประพฤติปฏิบัติมาอย่างนี้มันก็สมกับเราประพฤติปฏิบัติแล้ว นั่นน่ะมันก้มให้กิเลส ถ้ากิเลสมีอำนาจเหนือกว่า มันจะคิดอย่างนั้น เราประพฤติปฏิบัติมาแล้ว เราศึกษาธรรมแล้ว เราทำแล้วพอสมควรแล้ว เราต้องทุกข์ยากไปเพื่ออะไร...ถ้าอย่างนี้แล้วมันก็ก้มกราบกิเลส ให้กิเลสมีอำนาจเหนือหัวใจนั้น เพราะมันยังต้องพาเกิดในกามภพ เห็นไหม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่า ความโกรธ ความโลภ ความหลงพาเกิด เกิดในวัฏวนนี้มันยังพาเกิดอยู่ สิ่งที่พาเกิดอยู่นี้มันพยายามรักษาตัวมันเองไว้

กิเลสนี้มันหลอกเรา ความคิดของเรานี่แหละ ความคิดของเราเป็นกิเลส สิ่งที่เป็นกิเลสมันจะต้องหลอกเรา สิ่งที่หลอกเรา เราก็เชื่อเรา เราเชื่อเรามาก เราไม่ได้ธรรมนี่ เราได้ศึกษาธรรมมา ศึกษาธรรมมาว่าเราเข้าใจแล้วเรารู้แล้ว ยันกันไว้ได้ เห็นไหม มันก็ยันกันไว้ได้ชั่วคราว ยันกับความคิดอันนั้นไว้ได้ว่าเราเข้าใจธรรมๆ มันก็เวิ้งว้าง เพราะความเวิ้งว้างมีผลมาจากเราปล่อยวางเข้ามาแล้ว จิตมันมีพื้นฐาน พอจิตมีพื้นฐาน ว่าเราคิดอะไรก็เป็นผล ความยันกันว่าเป็นผล มันยังจับรวบยอดไม่ได้ ถ้าเราวิปัสสนาเข้าไปซ้ำๆ ขึ้นไปบ่อยๆ พยายามวิปัสสนาเข้าไป มันจะจับรวบยอดได้ ถ้าจับรวบยอดได้ นี้คือได้งาน

ถ้าได้งาน ได้ความไม่พอใจ ได้ความขุ่นใจ ใจที่มันมีเปลือกส้ม มันก็จับต้องได้ง่าย เพราะเปลือกส้ม ผลส้ม มันต่างกันโดยธรรมชาติ แต่นี้มันเป็นเนื้อในของส้ม แล้วมันมีใยอยู่ในนั้น เนื้อในของส้มปอกเปลือกเข้าไปแล้วมันจะมีใยส้มอีกชั้นหนึ่ง

อันนี้ก็เหมือนกัน ขันธ์อันละเอียด มันอยู่ในนั้นมันไม่ใช่เนื้อส้มโดยเนื้อหาสาระ แต่มันไปใยเส้นๆ ที่มันติดอยู่ในเปลือกส้มนั่นน่ะ นี่มันละเอียดอ่อน เห็นไหม ขันธ์ของใจ ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี้มันเป็นความคิด มันเป็นขันธ์เหมือนกัน แต่ขันธ์อันละเอียดที่อยู่ในหัวใจดวงนั้น ถ้าจับตรงนี้ได้ ยกขึ้นวิปัสสนาได้ นี่จะได้ธรรม ได้ธรรมโดยภาคปฏิบัติ ได้ธรรมโดยการศึกษาของเราขึ้นมา

แต่ก่อนแต่ไรมา การวิปัสสนามันก็ยังว่าเป็นความยากพอสมควร เราศึกษาเรา เราค้นคว้ามา เราปฏิบัติมา เราได้ธรรมมาแล้วเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา มันก็เป็นผลของมันขึ้นมา ไอ้วิปัสสนาอันนี้มันจะละเอียดอ่อนกว่า มันจะหลอกลวงได้มากกว่า มากกว่าจากชั้นนอก ชั้นนอกนี้มันคือว่า มันยังเป็นเรื่องของความหยาบ สิ่งที่หยาบมันอยู่ข้างนอก สิ่งที่ละเอียดอยู่ข้างใน นี่มันอยู่ในใจของเรา มันยิ่งละเอียดอ่อนเข้าไป มันยิ่งทำให้เราพลิกแพลงให้เราผิดพลาดตลอด ความพลิกแพลงผิดพลาด ปัญญาอันนี้มันถึงเป็นปัญญาอันมหาศาล ปัญญาของน้ำป่า

น้ำป่า น้ำของกามภพ น้ำของกามโอฆะ นั่นน่ะ ความผูกพันของมัน มันต้องเข้าข้างตัวมันโดยธรรมชาติของมัน เข้าข้างธรรมชาติขึ้นมาแล้วยังสร้างสมนะ สร้างสถานการณ์ สร้างความเป็นไปให้เราเห็นสภาวะความเป็นจริง สร้างให้เราหลงตามไปว่าสิ่งนี้เป็นวิปัสสนา ถ้าสิ่งนี้เป็นวิปัสสนาเราก็จะก้าวเดินตามมันไป โดนกิเลสจูงไปนะ โดนกิเลสจูงให้เราเดินตามมันไป ทั้งๆ ที่ว่าเราจะฆ่ากิเลส เราจะพยายามปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้ธรรม แต่เราก็ให้กิเลสมันพาเราไป

จากเดิม เริ่มต้นที่ว่ามันสร้างสมขึ้นมาเราก็สู้มันไม่ไหว เราก็ยังยอมแพ้มาเป็นครั้งเป็นคราว จนกว่าเราจะสามารถจับต้องมันได้ มันก็หลอกเราซ้ำอีก หลอกเราซ้ำให้เราเชื่อมัน ให้เราหลงตามมันไปว่าสิ่งนี้เป็นผลงาน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติ มันได้ธรรมแล้ว แล้วมันก็เชื่อกันไป เชื่อไปชั่วครั้งชั่วคราว พอพ้นออกไป พอมันเสื่อมสภาวะไป มันขึ้นมา นี่สิ่งนี้อยู่ในหัวใจเราเต็มหัวใจ ความเร่าร้อนของใจยังอยู่ในหัวใจ ความเห็นผิดของใจยังเป็นธรรมชาติมันอยู่อย่างนั้น ความไม่เห็นผิด ความไม่เข้าใจตัวเอง นี่มันก็ต้องย้อนกลับมา เราผิดพลาด เราโดนกิเลสหลอก ย้อนกลับเข้ามา

ปัญญาในการต่อสู้กับกิเลสนี้มันถึงพลิกแพลงแล้วแต่เงื่อนไข เงื่อนไขของความหยาบก็เป็นเงื่อนไขของความหยาบๆ เงื่อนไขของความละเอียด แล้วต้องเป็นปัจจุบันธรรม สิ่งที่เป็นปัจจุบันเกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น แล้วต่อสู้กันเดี๋ยวนั้น อันนั้นเป็นธรรม สิ่งที่เคยใช้แล้วในขั้นไหนก็แล้วแต่ที่มันเป็นความเห็นของเรา

แต่ถ้ามันเอามาใช้จนปัจจุบันนี้ มันเป็นปัจจุบัน เราใช้ได้เลย ใช้ในการปัจจุบันนั้น ความคิดเดี๋ยวนั้น เกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น ใช้ปัจจุบันนั้น ถ้าในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นมา มันจะปล่อยวาง ถ้าปล่อยวางเดี๋ยวนั้น นั่นเป็นผลงาน ถ้ามันไม่ปล่อยวาง เราก็พลิกแพลง เทียบเคียง พลิกแพลงออกไป ปัญญาเราจะหมุนออกไป ปัญญาหมุนออกไปขนาดไหนขึ้นมา หมุนเพื่อหาจังหวะชำระมันไง หมุนเพื่อหาช่อง หาจังหวะที่เราจะเชือด เราจะทำลายกิเลสนี้ออกไปจากใจ

กิเลสเป็นความหลงผิด กิเลสเป็นความเห็นผิด กิเลสเป็นความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นผิดๆ ทั้งนั้น เพราะมันเห็นผิดมามันถึงทำให้เราทุกข์ยากมาตลอด แล้วถ้าเราจะชำระความเห็นผิด มันเป็นผลงานของเรา เราจะมืออ่อนตีนอ่อนได้อย่างไร เราต้องเข้มแข็ง ถ้าเราเข้มแข็งขึ้นมา นั่นน่ะ กิเลส มันถึงจะต่อสู้ได้

มันให้เราอ่อนด้อยอ่อนตัวนะ ทำให้เราไม่มีกำลังใจสู้มัน “หมดแล้ว เรื่องมรรคเรื่องผลไม่ควรจะประพฤติปฏิบัติหรอก เราจะทำไปนี่มันจะทุกข์ยากเกินไป เรื่องอย่างนี้มันเรื่องของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่เขาจะเห็นผิด เขามีความเห็นผิดเขาทำไป เราเป็นคนเห็นถูกต้อง เรามีความเห็นชอบ เราเห็นชอบ เราต้องมัชฌิมาปฏิปทาสิ ต้องทำพอสมควร ทำพอเป็นไป” เห็นไหม นี่มันหลอกซ้ำหลอกซากอยู่อย่างนั้น ความเห็นของเราหลอกเราเอง

ถ้าเราเชื่อความเห็นของเรา เราก็ผิดพลาดออกไป ถ้าเราไม่เชื่อขึ้นมา ปัญญามันจะโต้เถียงทันที ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา เราต้องมีคุณงามความดีขึ้นมาสิ ในเมื่อมันไม่เป็นความจริง เราถึงต้องทุกข์ยากอยู่อย่างนี้ แล้วเราจะชำระความทุกข์ยากของเราออกไป มันจะเป็นความผิดไปไหน ถ้าปัญญามันพลิกกลับขึ้นมา ข้อมูลมันพลิกกลับขึ้นมา เราจะมีกำลังใจขึ้นมาแล้วเราจะต่อสู้ได้

ถ้าปัญญาเราไม่พลิกกลับขึ้นมานะ วันนั้นเราแพ้ วันนั้นเราวิปัสสนาไปเราจะมีแต่ความน้อยเนื้อต่ำใจ ถ้าวันไหนเราวิปัสสนาแล้วเรามีกำลังใจ เราชนะมันนะ เราใช้ข้อมูลปัญญาของเราพลิกแพลงชนะมัน เราจะมีกำลังใจมาก แล้วกำลังวิปัสสนาจนสามารถจะปล่อยวางได้ชั่วคราว นี่เริ่มจากปล่อยวางชั่วคราว เพราะปัญญาเราได้รวมตัว ถ้าปัญญารวมตัวขึ้นมา รวมตัวเป็นมรรคอริยสัจจัง แล้วชำระออกไป มันปล่อยวางชั่วคราวๆ ชั่วคราวเท่านั้นนะ ชั่วคราวเพราะมันก็ต้องขยับก่อน เห็นไหม ก่อนที่มันจะทำลายสิ่งใด เราต้องขยับเขยื้อนมันก่อน เราถึงทำลายมันได้ เพราะมันเป็นเรื่องแก่นของกิเลส

สิ่งใดที่ว่าเป็นความแน่นหนา เป็นความมั่นคง ไม่มีสิ่งใดมั่นคงเท่ากิเลส สิ่งของที่มั่นคงทางโลกนี้มั่นคงขนาดไหน ใช้ระเบิดทำลาย ทำลายได้หมด เห็นไหม สิ่งที่เป็นความคิด เป็นความนึกเอา เราระเบิดไม่ได้หรอก เราระเบิดตัวเรา เราก็ระเบิดตัวตายเปล่าๆ กิเลสไม่เคยตายหรอก กิเลสมันก็ตายไปพร้อมกับจิตนั่นน่ะ มันถึงว่าระเบิดก็ระเบิดไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ แต่มรรคอริยสัจจังนี้สามารถระเบิดได้ มรรคอริยสัจจังนี้สามารถทำลายได้ ทำลายในหัวใจนี้เลย นี่มันถึงว่าเป็นปัญญาก้าวเดินออกไป ปัญญาก้าวนำพร้อมกับสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเป็นพื้นฐานของใจ แล้วใจถึงเข้ามา หมุนเข้ามาทำลายมัน ซ้ำบ่อยครั้ง บ่อยครั้งเข้าๆ จนกว่ามันทำลายออก กามภพหลุดออกไปจากใจ แล้วยังต้องทำซ้ำๆ เข้าไป เพราะมันเป็นสิ่งที่ว่ามันสืบต่อเนื่องนะ

เรื่องของกามภพนี้มันเป็นเรื่องที่ว่า พรหม ๕ ชั้น มันต้องเลื่อนชั้นขึ้นไปเรื่อยๆ นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อมันปล่อยวางแล้วมันต้องซ้ำ ต้องฝึกบ่อยๆ เข้า มันจะซ้ำเข้าไปบ่อยครั้งเข้าๆ จนกว่ามันจะพ้นออกไป เปลือกนี้ เส้นใยของใจออกหมดเลย ออกหมดจนจับต้องสิ่งใดไม่ได้ สิ่งที่จับต้องไม่ได้นั้น เนื้อของส้มมันจับต้องสิ่งใดไม่ได้ สิ่งที่จับต้องไม่ได้นั้นมันคืออะไร? นั่นน่ะคือเนื้อของใจล้วนๆ เลย

จะได้ธรรมต้องให้ใจดวงนี้สัมผัส จะได้ธรรมต้องจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส ถ้าไม่เข้าถึงจิตเดิมแท้นี้ จะชำระกิเลสไม่ได้ มันเป็นชำระกิเลสส่วนหยาบๆ เข้ามาทั้งนั้น ส่วนหยาบๆ เข้ามาแล้ว อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี้ต้องไปอยู่ในพรหม ๕ ชั้นนั้นเด็ดขาดเลย ถ้าจะพ้นจากพรหม ๕ ชั้นนั้นต้องย้อนกลับมาตรงนี้

มันจะจิตเดิมแท้นี้ผ่องใสขนาดไหน ใครเป็นคนรู้ว่าผ่องใส ใครเป็นคนมีความรู้สึกนั้น จิตดวงนี้ใครไปรู้สึกมันว่ามันผ่องใส ว่ามันผ่องใส มันผ่องใสมาจากอะไร? มันผ่องใสด้วยตัวมันเอง เห็นไหม ย้อนกลับเข้าไปจับต้องตรงนั้น ย้อนกลับเข้าไปจับความผ่องใสนั้น แล้วพลิกความผ่องใสนั้น ความผ่องใสนั้นเป็นญาณ ปัญญาในกามราคะเป็นปัญญาที่ต่อสู้รุนแรงมาก ปัญญาขั้นไหนไม่เท่ากับปัญญาของขั้นกามราคะ ในเรื่องของความเข้าใจผิด ในเรื่องของความโลภ ความโกรธ ความหลง นี้เป็นปัญญาที่รุนแรงมาก ถ้าชำระกันด้วยรุนแรง ความรุนแรงนั้นทำลายกิเลสออกไปจากใจ พ้นออกไปแล้ว ทีนี้ปัญญาอย่างข้างบนจะใช้ปัญญาอย่างนี้ไม่ได้

อุทธัจจกุกกุจจะ นี้เป็นความฟุ้งซ่านของใจด้วยปุถุชนเรา อุทธัจจกุกกุจจะ เห็นไหม แต่ปัญญาทางนี้ อุทธัจจะ ความเพลินในงาน ถ้าใช้ปัญญาที่รุนแรง ปัญญาที่มี มันจะเพลินไปในงาน มันจะไม่มัชฌิมาปฏิปทาในขั้นของจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสนี้มันเหมือนกับความละเอียดอ่อนของญาณ ญาณตัวนี้ต้องใช้ปัญญาญาณ ญาณอย่างมรรคอริยสัจจัง

มันถึงว่า อรหัตมรรคมันจะสูงสุดขนาดไหน ย้อนกลับเข้ามาๆ มันละเอียดอ่อน ละเอียดอ่อนเพราะเราไม่เคยทำ ใจดวงหนึ่งจะทำได้หนเดียว ใจได้หนเดียวเท่านั้น พอพ้นจากกิเลสแล้วใจดวงนั้นก็พ้นจากกิเลส ถ้าใจไม่เคยพ้นจากกิเลส ใจดวงนั้นก็ไม่เคยเห็น เห็นไหม เห็นได้หนหนึ่ง แล้วจะเห็นเฉพาะชำระกิเลสเท่านั้น

แต่ในเมื่อยังไม่ชำระกิเลสจะเอาอะไรมาเห็น ในเมื่อไม่เห็นก็ต้องมีความผิดพลาด ถ้าในเมื่อไม่เห็นก็ต้องมีความหลงไป ความหลงของเราก็ต้องหลงไป พ้นออกไป ต้องให้มีการลองผิดลองถูกอยู่อย่างนั้น

แต่ถ้ามีใครใกล้ครูบาอาจารย์ มีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งที่สอน เห็นไหม ชี้ย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาพลิกทีเดียวด้วยญาณ ปัญญาญาณอย่างเดียวพ้นออกไปจากใจ นั่นน่ะใจดวงนั้นก็ต้องถูกทำลายไป สิ่งที่ผ่องใส สิ่งที่มีความสว่างไสวขนาดไหนก็ต้องทำลายไป เพราะสิ่งที่ผ่องใสสิ่งที่สว่างไสวนั้น เพราะตัวของมันเอง เป็นสสาร เป็นสิ่งที่รู้สึกจับต้องได้

สิ่งที่เป็นสสาร สิ่งที่เป็นธาตุรู้ต้องทำลายทั้งหมด ถ้าไม่ทำลายสิ่งนั้น คือตัวมานะใหญ่ สิ่งนั้นคือตัวของมันเอง ถ้าทำลาย เห็นไหม มานะ ๙ เราสูงกว่าเขา สำคัญตนว่าสูงกว่าเขา ทั้งๆ ที่สูงกว่าเขานะ สำคัญตนก็ผิด ถ้าไม่สำคัญตนมันก็อยู่โดยธรรมชาติของมันใช่ไหม เราเสมอเขา สำคัญก็ผิด ไม่สำคัญก็อยู่ในธรรมชาติใช่ไหม เราต่ำกว่าเขา สำคัญก็ผิดเหมือนกัน ถ้าไม่สำคัญมันก็มีโดยธรรมชาติ สิ่งที่มีอยู่โดยธรรมชาติของมัน สิ่งที่มี ตัวนี้ตัวมี ตัวมี ตัวเป็น ตัวไป มันเป็นตัวที่ต้องทำลาย สิ่งนี้ต้องทำลาย แล้วพอทำลายขึ้นมา นั้นคือได้ธรรม

ศึกษาธรรมมานี้เป็นภาคปริยัติ ศึกษามาควรศึกษาอย่างยิ่ง ศึกษามาเพื่อเป็นหนทางแนวทาง แต่จะได้ธรรม ถ้าเราศึกษาแล้ว เราปฏิบัติถูกต้อง มัชฌิมาปฏิปทา ถ้าเราจะไม่ได้ธรรม เราศึกษามาแล้ว ศึกษามาแล้วปฏิบัติตามกิเลส เห็นไหม ถ้ากิเลสเป็นใหญ่ การปฏิบัตินั้นปฏิบัติตามกิเลส กิเลสพาออกไป การปฏิบัตินั้นลุ่มๆ ดอนๆ แล้วจะไม่ได้ผลตามความเป็นจริง

แต่ถ้าเราจะได้ธรรมนี้ เราต้องปฏิบัติในความถูกต้อง ต้องปฏิบัติในมรรคอริสัจจัง มรรคอริยสัจจังย้อนกลับเข้ามา ถึงยกขึ้นสูงขึ้นไปๆ เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ต้องเป็นชั้นเป็นตอนเพราะเป็นมรรค ๔ ผล ๔...มรรค ๔ ผล ๔ เพื่อให้หัวใจดวงนี้เข้าถึงธรรมโดยสมบูรณ์แบบ ถ้าเข้าถึงธรรมถึงจะได้ธรรม ถ้าได้ธรรม ใจดวงนั้นถึงจะรู้ธรรมจริง ใจดวงนั้นเป็นใจที่ว่า เป็นเพราะว่า เป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะใจดวงนั้น ใจดวงนั้นรู้โดยตามความเป็นจริง ใจดวงนั้นจะมีความสุข สุขที่ไม่ใช่ขันธ์ สุขของโลกมันหยาบๆ โลกหยาบๆ เพราะสุขเป็นสุขเวทนา สุขในสุขของขันธ์ สุขในการกระทบ แต่นี้ไม่มีสิ่งใดกระทบ มันเป็นสุขโดยวิมุตติสุข

ถ้าเป็นวิมุตติสุขนี้มันเป็นสิ่งที่ว่า ไม่สามารถที่จะเทียบเคียงในความสุขของโลกได้ โลกนี้เป็นสมมุติทั้งหมด เป็นความสุขที่ในสมมุติ แต่สุขในวิมุตติ สุขในตัวมันเองคือมันอิ่มเต็ม สิ่งที่สุขคืออิ่มเต็มและพอในใจ สิ่งที่พอ สิ่งที่เติมอีกไม่ได้ อันนั้นถึงเป็นวิมุตติ ไม่มีสิ่งใด ไม่ใช่ความสุขในเวทนา ไม่มีการกระทบใดๆ ทั้งสิ้น นั้นเป็นผลของผู้ที่ได้ธรรม

ใจดวงนั้นได้ธรรมดวงนั้น เห็นไหม ถึงจะเป็นปัจจัตตังกับใจดวงนั้น แล้ว อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้ ตนสร้างสมตนขึ้นมาจนเป็นที่พึ่งได้ แล้วถึงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกได้ เป็นผู้ชี้ทางออกได้ ถ้าคนไม่ประพฤติปฏิบัติ ไม่เคยเห็นธรรม จะเอาธรรมมาจากไหนมาเป็นแนวทาง ธรรมฝ่ายเหตุนะ อริยสัจเป็นธรรมฝ่ายเหตุ ธรรมฝ่ายผลกลั่นออกไปจากอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นี้เป็นธรรมฝ่ายลบ ทุกข์นี้เป็นความทุกข์มาก สมุทัยนี้เป็นความหลงใหล เป็นความที่ว่า เป็นตัณหาทะยานอยาก มันเป็นความที่เราไม่เข้าใจมัน แล้วยึดมั่นถือมั่น

มรรคอริยสัจจังนี้เป็นทางเดิน นิโรธมันดับขึ้นมา อริยสัจนี้เป็นสิ่งที่ว่า เราเป็นทางเดิน เป็นสิ่งที่ว่าจับต้องได้ แต่ผลของมันพ้นออกไปจากอริยสัจ ต้องรู้อริยสัจตามความเป็นจริงแล้วปล่อยวางอริยสัจไว้ รู้กฎของธรรมชาติแล้วปล่อยวางธรรมชาติไว้ตามธรรมชาตินั้น แล้วใจนี้หลุดพ้นออกไป รู้ธรรมชาติ เรารู้ธรรมชาติ เราแบกธรรมชาติ เรารู้สิ่งธรรมชาติ แล้วยึดมั่นถือมั่นธรรมชาติ มันก็ยึดมั่นถือมั่นไปอีกส่วนหนึ่ง เห็นไหม นั่นน่ะ ถ้ายึดอริยสัจ รู้ในอริยสัจ ว่าเรารู้อริยสัจ เรารู้ตามความเป็นจริง มันก็ยึดอริยสัจอยู่อย่างนั้น มันไม่ปล่อยอริยสัจไว้ตามความเป็นจริง

อริยสัจนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่ว่าเป็นธรรมที่ว่ามีอยู่แล้วโดยดั้งเดิม ถ้าเราไปรู้สิ่งนั้นขึ้นมา ใจผ่านจากสิ่งนั้น พ้นออกจากสิ่งนั้นมา ถึงจะเป็นธรรม ถึงจะได้ธรรมจริง ถ้ายังยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้นมันก็วนอยู่กับสิ่งนั้น วนอยู่กับในอริยสัจนั้น

นั่นน่ะ เหมือนกับว่าธรรม เห็นไหม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายต้องแปรสภาพทั้งหมด แล้วมันแปรสภาพอย่างไรล่ะ ถ้ามันอยู่กับเรามันจะแปรสภาพอย่างไร ธรรมทั้งหลาย เราไปอาศัยสิ่งนั้นก้าวเดินมา เราอาศัยถนนหนทางเป็นสิ่งที่ก้าวเดินมา สิ่งนั้นมีความจำเป็นมหาศาล ในเมื่อเราอยู่บนถนนนั้น ถ้าเราอยู่บนถนนนั้น ถนนนั้นรับรองเรามา เราก้าวเดินมา เราปฏิเสธถนนนั้นไม่ได้เลย แต่ถ้าเรายึดถนนนั้นเราก็มาถึงตรงนี้ไม่ได้เหมือนกัน เราต้องก้าวเดินไปตามสภาวะความเป็นจริง มันถึงว่าเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมมันถึงว่าต้องกลับไปอยู่ในสภาวะตามความเป็นจริงของเขา ธรรมชาติ สรรพสิ่งต้องกลับไปอยู่ในสภาวะเดิมของเขา

ใจดวงที่เคยมีกิเลสอยู่ในหัวใจได้สละกิเลสออกจากใจทั้งหมด กลับไปอยู่ในสภาวะเดิมของเขาเหมือนกัน นั้นใจที่พ้นออกไปจากกิเลส พ้นออกไปด้วยความเป็นจริง พ้นออกไปจากการได้ธรรม ได้ธรรมในการประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่ได้ธรรมมาด้วยการศึกษา ด้วยการจดจำมา ด้วยการศึกษาแล้วแบกสิ่งนั้นไว้ในหัวใจ จนหลังหักก็ไม่รู้ผล ศึกษาเล่าเรียนมากขนาดไหนก็มีกิเลสตัณหามากขนาดนั้น ถ้าไม่ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติแล้วถึงจะรู้ว่า ผลของการปฏิบัติแล้ว มันต่างกับการศึกษามหาศาล

การศึกษามานี้ง่ายๆ การท่องจำ การพยายามมีความใส่ใจ ศึกษามาก็ศึกษาได้ แล้วตีความเอาด้วยความเห็นของเรา แต่ในการปฏิบัติมันยาก ยากตรงที่ว่าตีความไม่ได้ ถ้าเราตีความ กิเลสมันพาตีความด้วย เห็นไหม ถ้าเราตัดสินใจสิ่งใดไป การตัดสินใจเรา กิเลสมันตัดสินใจด้วย ถึงต้องทำให้มันมัชฌิมาปฏิปทา ถึงต้องทำให้มันไม่มีสิ่งใดที่ว่าเอนเอียงไปกับสิ่งใด แล้วให้สิ่งนั้นพ้นออกไปจากธรรมชาติของมัน พ้นไปตามเป็นธรรม ไม่ใช่พ้นจากความเห็นของเรา พ้นจากความเห็นของเรานี้ เราจะมีความเห็นของเราตลอดไป

พ้นจากความเป็นธรรม พ้นจากความจริง แล้วเราก็เห็นจริงๆ กัน ยถาภูตํ สิ่งนั้นต้องเป็น ต้องออกไป ญาณทสฺสนํ ยถาภูตํ รู้ตามความเป็นจริง จะมีญาณอีกตัวหนึ่งว่ารู้แจ้ง รู้ว่าหลุดพ้นไง รู้ว่าพ้นด้วย รู้ว่าหลุดพ้นด้วย ใจดวงนั้นถึงจะเป็นสัจธรรมความเป็นจริง ความเป็นจริงของใจดวงนั้น เอวัง