ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ดูให้รอบ

๒๔ ต.ค. ๒๕๕๔

 

ดูให้รอบ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๖๘๐. ข้อ ๖๘๑. มันไม่มีนะ

ข้อ ๖๘๒. นี่กรรมของคน

ถาม : ๖๘๒. เรื่อง “เสียงดังที่หู ทำสมาธิไม่ได้”

กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมมีปัญหาอยู่ว่า เมื่อ ๒๐ ปีก่อนนั้นจุดประทัด เผอิญว่าประทัดระเบิดข้างหู ทำให้แก้วหูฉีกขาด ผ่าตัดแล้ว แต่เสียงจะดังในหูตลอดเวลาหลายปี จนถึงปัจจุบันเสียงดังอยู่ แต่หายไปตอนที่ความนึกคิดจดจ่ออยู่กับเรื่องงานบ้าง หรือเรื่องอื่นๆ บ้าง แต่ต่อมา ผมทำสมาธิแล้วจิตเริ่มสงบเสียงนี้จะดังขึ้นมาทันที ทำเอาสมาธิจ่อไปที่เสียง เสียงที่ได้ยินจะดังไปรอบหัวเลย เครียดหนัก พอทำสมาธิอยู่กับพุทโธ หรือดูลมหายใจก็จะวอกแวก แว็บไปหาเสียงที่ดังข้างหู จนทำสมาธิได้ไม่ถึงไหนเลย ขอคำแนะนำจากหลวงพ่อด้วย

หลวงพ่อ : อย่างนี้พูดถึงมันมีเหตุมีผล เห็นไหม มีเหตุมีผลที่ว่า ในเมื่อตอนเด็กยังไม่เข้าใจ เล่นประทัดไงมันระเบิดข้างหู อันนี้เรารู้อยู่ นี่รู้ๆ อยู่มันก็ยังมีเสียงดัง แต่เวลาคนที่เขาไม่รู้เลย คนที่แบบภาวนาโดยพื้นฐานเลย บางคนก็มีเสียง มีอะไรขึ้นมา เราไม่มีเหตุผล แต่นี้มันมีเหตุผลอยู่นะ ว่านี่เราเคยจุดประทัดด้วยความที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ มันระเบิดที่ข้างหู แล้วผ่าตัดทุกอย่าง ผ่าตัดมา อันนี้เราเจ็บไข้ได้ป่วย

นี้ย้อนกลับมาผู้ป่วย เวลาผู้ป่วยต่างๆ เวลาจะภาวนาต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนั้น เวลาผู้ป่วย ขนาดผู้ป่วยนี่นะ ในเสขิยวัตรยังยกเว้นเลย ภิกษุ คนไม่เป็นไข้เขานอนอยู่ เรายืนอยู่แสดงธรรมเป็นอาบัติทุกกฎ แต่ถ้าเขาเป็นไข้นี่ยกเว้นได้เลย ถ้าเขาเป็นไข้นะ คนเป็นไข้ คนพิการต่างๆ วินัยยกเว้นได้

อย่างเช่นเรามาวัดมาวา ถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วยนี่ยกเว้นหมด แม้แต่พระยังเป็นเลย อย่างพระนี่ เห็นไหม ภิกษุเวลาผีเข้า อยากกินเนื้อสด ไปตามตลาด เขาขายเนื้อสด หยิบเนื้อสดกินเลย ไม่เป็นอาบัติตอนนั้น ภิกษุผีเข้า ในสมัยพุทธกาลก็มี ภิกษุผีเข้า ภิกษุวิกลจริตนี่ยกเว้น วินัยนี้ยกเว้น แต่ถ้าหายแล้วไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งที่ยกเว้นก็เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกๆ คน ให้ทุกคนมีโอกาส

ฉะนั้น เวลาเราทำสิ่งใดขึ้นไป ถ้าเรารู้ว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ดูแลรักษา แต่เวลามาทำสมาธิ บอกทำสมาธิไม่ได้นี้อีกกรณีหนึ่ง ทำสมาธิไม่ได้ เพราะการทำสมาธิ เวลาจิตมันจะสงบขึ้นมามันจะเข้าสู่บ้าน จะเข้าสู่บ้านมันต้องเปิดประตูบ้านเข้าไป นี้การเปิดประตูบ้านของคน เห็นไหม ประตูเล็ก ประตูใหญ่ ประตูสนิมเกรอะกรัง ประตูที่สะดวก เราจะเข้าสู่ เวลาเราจะปฏิบัติ ไอ้นี่พิสูจน์กันเลยล่ะ

เวลาทำสิ่งอื่น ทำจากโลกภายนอกมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เวลาจะเข้าสู่ใจเรามันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เวลาทำเข้าไปมันจะพิสูจน์เรื่องกรรมนี่แหละ ถ้าใครทำกรรมมาดี ใครทำสิ่งที่ราบรื่นมาดี มันก็จะเข้าสู่จิตด้วยความราบรื่น แต่ถ้าใครมีอุปสรรคใดมา แล้วเวลาปฏิบัติไป บางคนพอจิตมันคึกคะนอง จิตมันมีวาสนามาก พอจิตเริ่มสงบ เห็นตัวเองหลุดขึ้นไปอยู่บนอากาศ ไปเดินจงกรมอยู่บนอากาศ ไปนั่งอยู่บนก้อนเมฆ

เรื่องนี้มีนะ แต่พวกเราคิดว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์เกินไป เป็นหนังวิทยาศาสตร์ มันจะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร? แต่มีส่วนน้อย หลวงตาบอกว่ามีอยู่ ๕ เปอร์เซ็นต์ในจำนวนประชากรโลก เรื่องของจิตนี่ เพราะคนทำบุญมากๆ มันมีน้อยไง จิตที่คึกคะนองมันมีน้อยมาก คึกคะนองหมายถึงว่าบารมีใหญ่ จะรู้สิ่งต่างๆ แปลกประหลาดมากกว่าเขา แล้วพอเราปฏิบัติทำไมเราไม่เป็นแบบนั้น ก็คิดแล้วเนาะ ไม่จริงหรอก ถ้าเขารู้จริงเราต้องจริงด้วย

นี่ขิปปาภิญญา ผู้ที่ตรัสรู้ง่ายมี ฉะนั้น กรณีอย่างนี้เขาสร้างของเขามาเยอะมาก แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เวไนยสัตว์ เวไนยสัตว์คือหมายถึงว่าชนชั้นกลาง ชนชั้นกลาง พวกเรานี่มันมีโอกาสทำดีทั้งนั้นแหละ แต่ส่วนใหญ่แล้วเราจะทำหรือไม่ทำ เห็นไหม นี่เวไนยสัตว์มีโอกาส ยังถูไถกันไป ถ้าถูไถกันไปมันก็เข้ามาตรงนี้ มันจะมีอุปสรรคสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาวางให้ได้สิ

ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเรา ๒ ชั้น ชั้นหนึ่งคือว่าเราเคยมีอุบัติเหตุมา แล้วพอมีอุบัติเหตุมา อุบัติเหตุนั้นส่วนอุบัติเหตุนะ พออุบัติเหตุปั๊บ กลไกของประสาทต่างๆ มันก็ต้องตอบสนองตามนั้น นี้จิตใจมันก็วิตกกังวล เห็นไหม จะบอกว่าเรานี่ต้องกำหนดเรื่องเสียง ๒ เท่ากว่าคนอื่น คนอื่นเขามีเสียงเข้ามา เสียงแว่วมา เสียงอะไรมา เรากำหนดพุทโธให้ชัดๆ แล้วเสียงก็คือเสียง

ถ้าเรามีปัญญานะ เสียงก็คือเสียง ลมก็คือเสียง เสียงเด็ก เสียงเครื่องยนต์ เสียงก็คือเสียง เสียงสักแต่ว่าเสียง ปล่อยมัน แต่นี้เสียงไม่สักแต่ว่าเสียงสิ คำว่า ๒ ชั้นของเราหมายถึงว่าเราเคยมีอุบัติเหตุอยู่ เรารู้อยู่ว่าเรามีจุดด้อยตรงนี้ พอจุดด้อยตรงนี้มันกังวลอยู่แล้ว พอมีสิ่งใดปั๊บ กิเลสจะเอาตรงนี้มาเป็นเครื่องต่อรองกับเรา ฉะนั้น พอเสียงจะมา เสียงมาก็มา มาก็พุทโธไว้ เพราะเราทำของเรามาอย่างนี้ ถ้าเราทำของเรามาอย่างนี้ เรามีสติปัญญาของเราอย่างนี้ ไอ้กรณีอย่างนี้มันจะค่อยๆ ผ่านไป

นี่แล้วเขาบอกว่าให้แนะนำด้วย ให้หลวงพ่อแนะนำด้วย แนะนำ เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์สอนตัวต่อตัวแต่ละบุคคล บุคคลจะทำได้มากน้อยแค่ไหน? ตัวต่อตัว ฉะนั้น ตัวต่อตัวคือว่าจำเพาะ จำเพาะของคนๆ นั้น ฉะนั้น เวลาเราฟังธรรม เห็นไหม ถ้ามันเป็นประโยชน์กับเรานะเราจับประเด็นนั้นได้ แต่ถ้าไม่เป็นประโยชน์กับเราให้วางไว้ เพราะจริตของคนอื่นเขาใช้ได้ แต่จริตเราใช้ไม่ได้ ถ้าจริตเราใช้ไม่ได้เราไม่ต้องวิตกกังวล

เพราะ เพราะพระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน ๔๐ ห้อง การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ ใน ๔๐ วิธีการนั้นก็มีอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดอีก บางคนทำเข้มข้น บางคนทำปานกลาง บางคนทำ เอ๊ะ ทำไมเขาเดินไปเดินมา ทำไมจิตเขาสงบได้ เขาเดินไปเดินมามันเป็นกิริยาภายนอกนะ แต่ถ้ากิริยาภายในเขาตั้งใจของเขา

กิริยาภายนอก เห็นไหม ดูสิเวลาเดินนี่เดินเหมือนกัน ถ้าบอกว่าเอาการเดินเอาระยะทาง เดินต่างๆ พวกหุ่นยนต์ พวกเครื่องยนต์เขาทำได้ดีกว่าเรา แต่หุ่นยนต์ไม่มีชีวิต กิริยาภายนอกเพื่อเอาความสงบของใจ กิริยายืน เดิน นั่ง นอนไม่ต้องวิตกกังวลมากจนเกินไป ฉะนั้น เพียงแต่เวลาปฏิบัติใหม่เกร็งกันหมดเลยนะ โอ้โฮ ต้องนั่งสมาธินะ เอานิ้วหัวแม่โป้งชนกันนะ โอ้โฮ ไอ้นั่นมันภาพวาด พยายามจะทำภาพวาดกัน

เรานั่งของเรา เราก็เริ่มต้นอย่างนั้น แต่พอจิตมันเริ่มสงบ จิตเราตั้งใจเรา เราตั้งใจเรา เอาความสงบของใจ เวลาภาวนาไม่เอานาฬิกา ภาวนาไม่เอาสิ่งภายนอก แต่มันต้องอาศัย เพราะเรามีร่างกายนี้ จิตใจนี้มันอยู่กับร่างกายนี้ใช่ไหม? เราก็เริ่มต้นจากตรงนี้แหละ เรากำหนดของเรา แล้วถ้ามันมีอุปสรรคสิ่งใดเราต้องยอมรับ คำว่ายอมรับนะว่ามันเป็นกรรมของเรา เป็นกรรมของเราไม่เป็นกรรมของใคร ถ้าเป็นกรรมของเรา เราต้องแก้ไขที่เรา เป็นกรรมของเราให้คนอื่นแก้ไขก็ไม่ได้ อย่างไรก็แก้ไขไม่ได้ เห็นไหม

เขาว่าแก้กรรมๆ กัน แก้กรรมที่ดีที่สุดคือการภาวนานี่แหละมันจะแก้กรรมได้ แก้กรรมอย่างอื่นนะ แก้กรรมหนึ่งก็ไปเจอกรรมใหม่ แก้กรรม มีการกระทำมันก็ต้องเกิดการกระทำ กรรมคือการกระทำ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไปแก้ แก้เรื่องอะไร? ถ้าเราแก้กรรม เราทำคุณงามความดี มันก็ได้คุณงามความดีอันนั้นมา แก้กรรมแก้มาจากไหน? ฉะนั้น สิ่งนี้มันก็เป็นกรรมอันหนึ่งนะ

ถ้าโลกนี้ให้เชื่อกรรม บอกว่ากรรมแล้วเราจะยอมจำนนไปหมด ไม่ใช่หรอก เวลากรรมเราสู้กันนะ เวลากรรมนี่ เวลานั่งภาวนา เห็นไหม ทุกข์ยากขนาดไหนเราก็สู้ของเราไป เราทนของเราไป ก็คือกรรมทั้งนั้นแหละ แต่เราสร้างกรรมดีของเรา สร้างกรรมดีของเรา ทำคุณงามความดีของเรา ทางอื่นมันไม่มีทางรอดได้ ถ้ามีทางรอดได้เราก็ปล่อยเลย

ฉะนั้น เขาว่าให้แนะนำ แนะนำได้อย่างนี้ เพราะว่ามันอยู่ที่เรามีอุบัติเหตุอย่างนี้แล้ว มันจะเป็นอย่างนี้ แล้วจิตใจมันจะอ้างตรงนี้มาเป็นข้อต่อรองเราตลอด ถ้ามันอ้างอย่างนี้มาตลอด ใช้ปัญญาใคร่ครวญ สิ่งที่ผ่านมาแล้วก็คือผ่านมาแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว นี่ใช้ปัญญาใคร่ครวญสิ่งนี้ปั๊บ แล้วเวลาเสียงมันเกิดขึ้นมา แล้วก็อย่างที่ว่านั่นล่ะใช้ปัญญาปัจจุบัน เสียงสักแต่ว่าเสียง ทุกอย่างเป็นสักแต่ว่า แต่จิตนี้ไม่สักแต่ว่า เพราะจิตนี้มันออกรู้สึกนึกคิด

ฉะนั้น เสียงสักแต่ว่าเสียง ให้มันวางภายนอกแต่ภายในไม่วาง วางทุกอย่าง แต่พุทโธต้องชัดๆ สติต้องชัดๆ วางภายนอกแต่ภายในเด่นชัด แล้วภายในเด่นชัดเรากำหนดของเราไป กำหนดของเราไป ถ้าสงบเข้ามาสักหน ๒ หน เดี๋ยวมันก็วางไปได้เรื่อยๆ มันก็ปล่อยได้เรื่อยๆ ถ้ามันยังปล่อยไม่ได้มันก็ติดคาอยู่อย่างนี้ แต่ถ้ามันปล่อยได้ก็จบกันไป

ค่อยๆ ทำไป ทุกคนมีอุปสรรคหมด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เห็นไหม เป็นพระเวสสันดรเสียสละลูก เสียสละเมีย เสียมาทุกอย่างแล้ว เสียสละแม้แต่ตำแหน่งด้วย ตำแหน่งจะได้เป็นกษัตริย์ไปข้างหน้าก็เสียสละ เสียสละช้าง ม้า ช้างศึก เสียสละทุกอย่างที่เป็นเครื่องหมายของกษัตริย์ นี่เสียสละมาแต่ชาตินั้นแล้วชาติต่อๆ ไป แล้วเราเสียสละอะไรกับแค่นี้เอง

เรามองถึงศาสดา มองครูบาอาจารย์เราเป็นตัวอย่างนะ ท่านอดทนกว่าเรา ท่านเข้มแข็งกว่าเรา เราเอาตรงนั้นเป็นที่ตั้ง แล้วเอาจิตใจเกาะเกี่ยวไว้ แล้วเราทำของเราไป แนะนำอย่างนี้ เวลาเราอยู่ในป่า ในเขานะ เวลาเราทุกข์ เรายากเราคิดถึงหลวงปู่มั่นตลอด จริงๆ นะ ไม่ใช่มายกย่องตอนนี้ อยู่ในป่า ในเขา เวลาเราทุกข์ยากนะ

“โธ่! ความทุกข์มึงไม่ได้ขี้ตีนหลวงปู่มั่นหรอก ความทุกข์มึงไม่มีเท่าเศษขี้เล็บหลวงปู่มั่นหรอก”

อืม มันฮึดขึ้นมาหน่อยหนึ่ง ไม่อย่างนั้นมันคิดว่าเราทุกข์อยู่คนเดียวไง อยู่ในป่าคิดอย่างนี้จริงๆ เราคิดถึงหลวงปู่มั่นกับพระพุทธเจ้าตลอด พระพุทธเจ้าทุกข์กว่าเราเยอะ หลวงปู่มั่นทุกข์กว่าเราเยอะ เพราะท่านต้องค้นคว้าเอง แล้วมีแต่คน หลวงตาท่านพูดอยู่ว่า ในประวัติหลวงปู่มั่นท่านเขียนแต่ทางบวกหมด ทางลบท่านไม่เขียนเลย ท่านบอกมันไม่เป็นประโยชน์

ทางลบหมายความว่าท่านไปอยู่ที่อุบลฯ สมเด็จให้ท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัด ท่านไม่ยอมรับตำแหน่งท่านก็หนีไป สมเด็จก็สั่งบอกว่าจังหวัดอุบลฯ ไม่ให้ใส่ข้าวให้กินนะ ท่านก็หนีมาสกลฯ มาสกลฯ ก็บอกไม่ให้ใส่ข้าวให้กินนะ ท่านหนีไปหนองคาย ท่านหนีของท่านไปเรื่อยนะ นั่นน่ะท่านทุกข์กว่าเราเยอะ

นี้พูดถึงทางลบนะ หลวงปู่มั่นท่านประสบมาเยอะ แต่หลวงตาท่านเป็นพระคิดเชิงบวก ท่านถึงบอกว่าในประวัติหลวงปู่มั่นไม่มีเรื่องนี้เลย แต่ท่านเล่าให้พวกลูกศิษย์ฟังเป็นการเฉพาะ เราก็เลยจำขี้ปากมาขยายความต่อ นี่พูดถึงว่าท่านลำบากกว่าเราเยอะ เพียงแต่หลวงตาท่านบอกว่าท่านไม่เขียน ท่านบอกในประวัติหลวงปู่มั่นท่านเขียนแค่ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเขียน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์มันจะเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์กว่านี้เยอะนัก จนโลกเขาจะรับกันไม่ได้

ฉะนั้น ดูสิว่าครูบาอาจารย์ของเราทุกข์ยากขนาดไหน? ถ้าเราเอาตรงนี้มาเป็นที่พึ่งบ้าง มันจะทำให้เรานี่ไม่บอกว่า โอ้โฮ เราทุกข์คนเดียว อู้ฮู ลำบากไปหมดเลย ทำไมมันทุกข์แต่เราคนเดียว นี่เราไปเก็บกดแล้วก็กดดันตัวเอง พอมันเปิดมาหมดเลยนะ โอ้โฮ ครูบาอาจารย์ทุกข์กว่าเราตั้งเยอะแยะ โธ่ พระพุทธเจ้า ๖ ปีนะ แล้ว ๖ ปีไปอยู่กับเจ้าลัทธิต่างๆ ฉะนั้น หลวงตาท่านคิดเชิงบวก แล้วท่านจะบอกว่าสถานะของกษัตริย์นะ แล้วออกมาเป็นนักพรตที่ยังไม่มีศาสนา ความเป็นอยู่มันต่างกันฟ้ากับดินเลย

นี่เรื่องความเป็นอยู่อย่างเดียว เป็นพวกเราก็รับไม่ได้แล้ว แล้วท่านยังต้องไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ อีก ๖ ปี แล้วกว่าท่านจะมารื้อค้นของท่านเอง ของเรานี่นะชุบมือเปิบเลย แต่บอกว่าเสียงดังๆ เสียงดังก็ค่อยๆ แก้ นี่เอาครูบาอาจารย์เป็นแบบอย่าง แล้วเราก็แก้ไขเราด้วย แล้วเราจะได้ผลเนาะ

นี่คำว่าแนะนำไง คำว่าแนะนำเพราะเราเจออย่างนี้ อยู่ในป่านะ บางทีคอตก เดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน แล้วอดอาหารด้วย อดนอนด้วย แล้วมันไปไม่ได้ เพลียก็เพลีย ทุกข์ก็ทุกข์ โอ้โฮ เครียดก็เครียด คอตกเลยนะ พอมันคิดเรื่องนี้ขึ้นมาทีหนึ่งก็ ฮ๊า! ฮึดขึ้นมาทีหนึ่ง พอคิดเรื่องหลวงปู่มั่น เรื่องครูบาอาจารย์ก็ ฮ๊า! ฮึดขึ้นมาทีหนึ่ง ต้องเลี้ยงตัวเอง ปัญญาเพื่อจะเอาตัวเองรอด ต้องปลุกปลอบตัวเอง เลี้ยงตัวเองให้มันเข้มแข็ง แล้วสู้มาได้ สู้มาได้เพราะคิดอย่างนี้ เวลาคิดทีหนึ่งนะ แต่เวลาพูดนี่เขาบอกฮู้ฮู พูดน่าดูเลยนะ

ฉะนั้น ต่อไป ข้อ ๖๘๓. ไม่มี

ข้อ ๖๘๓. ๖๘๔. ๖๘๕. ไม่มี

ข้อ ๖๘๖. สิ คงจะตอบไปแล้ว นี่เขาถามกลับมา

ถาม : ๖๘๖. เรื่อง “คู่กรรม” (หัวเราะ)

หลวงพ่อ : นี้พูดถึงเขาอารัมภบทมาเยอะ อันนี้ไม่พูดนะ มันเรื่องความเห็นเนาะ เรื่องคู่กรรม แล้วเราจะเอาเข้าปัญหาเลย เพราะว่าในเรื่องปัญหาครอบครัว ฉะนั้น

ถาม : พระอาจารย์คะ หนูจะหยิบยกธรรมะข้อไหนพิจารณา เพื่อ (นี่เขาถามปัญหา)

๑. ลดความโกรธที่มีผู้หญิงคนนั้น (เพราะว่าแฟนเขาไปเกาะแกะคนอื่น)

๒.เพื่อคลายจากคู่ตัดวิบากกรรมที่ทำมา หนูพยายามพิจารณาไตรลักษณ์ว่าทุกอย่างไม่เที่ยง การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ แต่ก็ไม่ได้เป็นผล

๓. หนูรู้สึกเจ็บปวดมาก จนเหมือนตัวรู้ไม่ชัด สติหาย ปัญญาไม่เกิด ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้มันกลับคืนมา

๔. ไม่รู้กรรมอะไรที่ทำให้เราทั้งรักและสงสารเขา ทั้งๆ ที่เขาก็ผิดนอกใจเรา ไม่รู้ว่าหนูจะพ้นจากวิบากกรรมในครั้งนี้ได้หรือไม่ รู้สึกว่าทำไมเราถึงอ่อนแอขนาดนี้ หนูไม่อยากผูกกรรมแล้วค่ะ

หลวงพ่อ : เออ กลายเป็นศิราณีไปเลย (หัวเราะ) เพราะเราเคยตอบไป เคยตอบไปเรื่องกรรม เรื่องคู่กรรม ฉะนั้น เขาจะเขียนมาชัดเลยคราวนี้ อธิบายมาเยอะมาก ฉะนั้น อธิบายมาเยอะมาก เราจะบอกว่าอย่างนี้นะ นี่เวลาพูดถึงธรรมะ เราพูดนะ ธรรมะนี่เราจะตอบเรื่องภาวนา การภาวนานี่นะหลวงปู่มั่นท่านบอกเลย “จิตนี้แก้ยากมาก” ฉะนั้น เวลาท่านชราภาพมากท่านบอกให้หมู่คณะ บอกให้พระนี่

“ภาวนามานะ แก้จิตนี้แก้ยากนะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ” แล้วแก้มา

ฉะนั้น เวลาเราเปิดเว็บไซต์เราก็หวังตรงนี้ หวังจะแก้การภาวนา แต่นี้กลายเป็นคู่กรรมไปเลย แล้วปัญหาภาวนาไปไหนหมดล่ะ? ปัญหาภาวนาไม่เห็นมีเลย ฉะนั้น สิ่งที่ภาวนานี่มันเป็นปัญหาภาวนา หมายถึงว่าภาวนาไปแล้วมันติดขัด ฉะนั้น ปัญหาภาวนานี่ยากนะ เพราะเราภาวนาไปกว่าจิตเราจะสงบ แล้วจิตสงบแล้วจะเจออุปสรรคอย่างใด?

อย่างเช่นเรื่องเสียง เรื่องต่างๆ ที่ว่ามา พอภาวนาไปแล้วมันจะประสบ พอประสบมันจะแก้ตรงนั้น การแก้จิตแก้เรื่องนั้น แก้เรื่องจิตเข้าไปสัมผัส จิตเข้าไปรู้ จิตเข้าไปมีอุปสรรค แล้วจะแก้อย่างไร? แล้วนี่สิ่งที่ว่าคู่กรรมมันเกี่ยวอะไรกับเรื่องจิตไหม? มันเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐาน คือจิตที่จะภาวนาขึ้นมามันต้องมีศีล มีสัตย์ขึ้นมาใช่ไหม? มันต้องวางให้ได้ก่อนไง ฉะนั้น เรายังวางไม่ได้อยู่ นี้มันเป็นพื้นฐาน มันเป็นเรื่องความรู้สึก เรื่องความรู้สึกก็เรื่องจิต

ฉะนั้น สิ่งนี้เราจะบอกว่า ถ้าเราไปยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราจะบอกว่ามองด้านเดียวไง ถ้าเรามองด้านเดียวว่าสิ่งนี้เป็นกรรมแล้วไปยึดมัน เห็นไหม เราจะบอกว่าเวลากิเลสนี่มันหลอกนะ หลอกว่าสิ่งนี้เป็นกรรม สิ่งนี้เป็นกรรม แล้วเขาบอกว่าแก้กรรมแล้ว หรือว่าเราพิจารณาแล้วสิ่งนั้นต้องหายไปหมด เราต้องมีความสุข มันไม่ใช่!

มันไม่ใช่หมายความว่า โดยธรรมชาติของเรานี่เรามีฐานะ มีสถานะอยู่แล้ว เรามีสถานะอยู่แล้ว สถานะเรามันทุกข์อยู่แล้ว ทุกข์พื้นฐานของเรามันมีอยู่กับจิตเราอยู่แล้ว นี้พอจิตเรามันมีทุกข์อยู่แล้ว คือมันมีอวิชชา มันมีความไม่รู้ตัวของมันอยู่แล้วใช่ไหม? เรามีทุกข์อยู่ส่วนหนึ่งคือทุกข์เฉพาะตัวเราเอง ทุกข์เพราะมีเรานี่ทุกข์แล้ว เพราะมีเรา เพราะมีตัวตนของเรานี่ทุกข์ นี้พอตัวตนของเรามันก็บอกว่าไปรักเขา เออ ทุกข์อีกอันหนึ่งไง ทุกข์ไปรักเขานี่อีกเรื่องหนึ่ง นี้พอไปรักเขาแล้ว พอเขาทำให้เราเสียใจ มันก็เลยกลับมาเป็นโทษที่ว่านี่ไง

ฉะนั้น เราบอกว่ามันมองด้านเดียวไง มองด้านเดียวว่าถ้าเราแก้ได้ เราแก้ได้หมายความว่า นี่แฟนเราไปทำสิ่งใด แฟนเราไปมีปัญหามาเราจะอภัยให้ แล้วเราจะไม่ผูกพัน นี่เราคิดว่าถ้าเราพิจารณาตรงนี้จบปั๊บเราจะไม่มีทุกข์เลย เห็นไหม ถ้าเราพิจารณาตรงนี้ได้มันเป็นเรื่องภายนอกไง เรื่องภายนอกที่ว่าเราส่งออกไปข้างนอก

ทีนี้ถ้าแก้เรื่องนี้ได้ ถ้าทุกข์เรายังมีอยู่ สถานะเรายังมีอยู่ มีตัวตนของเราอยู่ ถ้าไม่มีตัวตนของเรา เห็นไหม เรื่องนั้นก็เลยเบาลง คือว่าระหว่างข้างนอกกับข้างในมันส่งกัน แบบว่ามันเกี่ยวเนื่องกัน พอเกี่ยวเนื่องกัน เราอยู่ตรงกลางก็เลยแบนแต๊ดแต๋เลย เลยไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ถอยก็ถอยไม่ได้ ก็เลยบอกให้แก้กรรมๆ

เพราะเราคิดกันเอง พูดถึงว่าคู่กรรมนี่ ถ้าเราแก้เสร็จแล้วเราจะหายหมด ถ้าเราคิดอย่างนั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ถ้าเป็นความจริงเราต้องมอง ๒ ด้าน มอง ๒ ด้าน กรรมดี กรรมชั่ว เห็นไหม กรรมดี กรรมชั่ว

ถ้าคนเรานะ กรณีของหลวงปู่ขาว กรณีหลวงปู่ขาวท่านเป็นนายร้อย คือท่านเป็นผู้ค้าโคต่างจากอีสานมาค้าภาคกลาง ท่านเป็นคนที่มีฐานะมาก ท่านมีฐานะมาก เพียงแต่ว่าท่านเป็นพ่อค้าใช่ไหม ท่านก็เอากองคาราวานสัตว์มาขายภาคกลาง ก็ทิ้งครอบครัวไว้นาน พอทิ้งครอบครัวไว้นานท่านก็ได้ข่าวว่าภรรยาท่านคิดนอกใจ แต่ท่านก็ยังไม่มีหลักฐานนะ

นี่อันนี้หลังไมค์ คือหลวงตาเล่าให้ฟัง ท่านก็บอก ทำท่าว่าท่านจะมาค้า เอาวัว ควายมาค้าอีก พอออกเดินทางมาท่านก็ปล่อยมา แต่ท่านแอบกลับไปที่บ้านไง แอบกลับไปที่บ้าน ขึ้นไปบนบ้านนะ นี่เห็นชัดๆ เลย พอเห็นชัดๆ ท่านก็ชักดาบเลย จะฆ่าเขาทันที พอจะฆ่าเขานี่เขายกมือไหว้ขอชีวิต

นี่ท่านมีบุญไง ท่านมีบุญ สติเตือนเลยว่าเขายอมแล้ว คือเขายอมรับผิดแล้ว เขายกมือไหว้แล้ว มันก็เลยวางดาบ พอวางดาบปั๊บท่านบอกว่ามันให้โทษมาก ท่านก็เลยยกสมบัติให้พวกนี้หมดเลย แล้วท่านออกบวช ท่านออกบวชจนมาเป็นหลวงปู่ขาวเรานี่ เรามาเป็นครูบาอาจารย์ที่หลวงปู่มั่นชมหลวงปู่ขาวมาก เวลาหมู่คณะท่านบอกว่า

“ให้ใครไปหาท่านขาวนะ ท่านขาวกับเราได้คุยกันแล้ว”

คือท่านขาวเป็นพระอรหันต์ว่าอย่างนั้นเถอะ นี่จากที่ครอบครัวมีปัญหา เห็นไหม ทำไมพลิกหัวใจกลับมา กลับมาเสียสละ แล้วออกบวช ออกเป็นพระล่ะ? นี้เรากำลังจะบอกว่ากรรมเก่า กรรมใหม่ไง ทีนี้พอของเรา เห็นไหม ของเราพอมันไปเกาะแกะเขา นี่เราก็บอกว่าจะสละเลย คือจะดึงกลับเลย หลวงปู่ขาวท่านยกให้เขาเลยนะ หลวงปู่ขาวท่านยกให้เลย แล้วท่านออกบวชเลย มันก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แล้วเรายกให้เขาได้ไหมล่ะ? (หัวเราะ) เรายกให้เขาไปเลย

ถ้าเรายกให้เขาไปเลยมันก็จบ ถ้ามันยกไม่ได้ นี่ยกไม่ได้ กรรมเก่ามันมีของมันมาใช่ไหม? แล้วกรรมต่อไป กรรมใหม่จะเป็นอย่างใด? ถ้ามันยังไม่หมดเวรหมดกรรมมันเป็นอย่างนี้ ถ้ามันหมดเวรหมดกรรมนะ ถึงเวลาตกลงกันได้แล้วนะ เฮ้อ! หมดเวรหมดกรรมเสียที (หัวเราะ) พอหมดเวรหมดกรรมนะ มันจะมีอีก ๒๐ คนก็ไม่ต้องทุกข์แล้ว มันจะไปหาอีก ๑๐๐ คนเราก็ทนได้ ถ้าหมดเวรหมดกรรมนะ แต่ถ้าไม่หมดเวรหมดกรรมมันเป็นอย่างนี้ เห็นไหม เราจะบอกว่าถ้ามอง ๒ ด้านมันมองอย่างนี้ ถ้ามองด้านเดียวเราก็จะทุกข์ของเราอยู่อย่างนี้

นี่ใช่มันเป็นกรรมแน่นอน การเกิดมามีกรรมพาเกิดมาอยู่แล้ว แต่ถ้าเรากรรมพาเกิดอยู่แล้ว เราจะมีสติปัญญาแค่ไหน? คือกรรมของเราหนักหนาแค่ไหน? กรรมของเราปานกลางแค่ไหน? กรรมของเราเล็กน้อยแค่ไหน? ถ้าเล็กน้อยมันจะตกลงกัน คุยกัน หรือว่าพิจารณากันได้ง่าย แต่ถ้าปานกลางก็ยื้อกันพอสมควรนะ ถ้าหนักหนาสาหัสสากรรจ์นะ เอากลับมาก็เหมือนเดิม เอากลับมาเดี๋ยวก็เจ็บซ้ำเจ็บซาก เจ็บอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วเราจะคิดอย่างไร?

เรื่องของกรรมมันเป็นเรื่องอย่างนี้ กรรมเป็นอจินไตย คือมันผูกพันกันมาจนไม่มีต้นไม่มีปลาย เรื่องของกรรมนี่ ดูสิในสมัยพุทธกาล หลวงตามาพูดบ่อย เห็นไหม ที่บอกว่าผู้หญิงอยู่ปราสาท ๗ ชั้น เคยเป็นสามี ภรรยากันมา แล้วมันผิดอย่างไรไม่รู้ ผู้ชายไปเกิดเป็นพรานป่า ผู้หญิงมาเกิดเป็นลูกสาวคนเดียวของเศรษฐี อยู่ในปราสาท ๗ ชั้น ไม่เคยเห็นหน้ากัน แค่เขามาค้า ล่าสัตว์แล้วเอาเนื้อมาส่งในตลาด

แค่เห็นเขา นี่เขาไม่รู้เรื่องอะไรกันเลย แล้วเป็นลูกสาวคนเดียวของมหาเศรษฐี มีคนใช้ล้อมเต็มไปหมดเลย ไปไหนก็ไม่ได้ พอเห็นเขาแล้วนะก็วางแผนไง วางแผนไว้เลยนะ พอถึงเวลาแล้ว เห็นเขาจะกลับมาก็หาทางหนีทีไล่ ก็บอกกับคนใช้ว่าจะไปห้องน้ำ ไปห้องน้ำใครจะตามล่ะ? บอกไปห้องน้ำ แล้วออกหลังห้องน้ำก็ไปเลย พอลงมา พรานป่าก็นั่งเกวียนออกมาจากตลาด ตัวเองก็เข้าไปบอกว่าจะไปด้วย ก็ไปด้วยกัน ไปเลย ไม่เคยเห็นหน้ากัน

นี่เวลาความผูกพันอย่างนั้นนะ นี้คนเรามันมากน้อยแค่ไหน? ถ้ามากน้อยแค่ไหน เราจะผูกพันแค่ไหน? ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ ตรงนี้นะ ตรงที่เรื่องกรรมเก่า กรรมใหม่ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ แต่อย่าไปยึดมั่นถือมั่นจนเกินไป ให้พิจารณาปัจจุบันนี้ ปัจจุบันนี้เหตุผลเพียงพอไหม? คุยกันเข้าใจได้ไหม? ถ้าคุยกันเข้าใจได้ก็คือการเข้าใจ ถ้าคุยกันเข้าใจไม่ได้ตัดสินใจซะ ตัดสินใจ

เรื่องของกรรมไง ตัดสินใจอย่างไรก็ได้ ถ้าจะไม่เจ็บซ้ำเจ็บซาก แต่ถ้ายังผูกพัน ก็ยอมรับความเจ็บช้ำก็จบ เออ ก็มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ กรรมมันเป็นอย่างนี้จะทำอย่างไร? นี่พูดถึงกรรมนะ แต่พูดถึงเวลาถ้ามันมีหลักของมัน เราจะบอกว่ามันจะเป็นโทษอย่างเดียว ใช่ เรื่องนี้เพราะพระพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว อย่างเช่นหลวงตาท่านก็บอก นี่โลกเวลาท่านเทศน์บอกว่า

“สิ่งที่โลกเขาผูกพันของเขาแค่นี้เอง หาสิ่งใดมาก็เพื่อเรื่องนี้”

แต่ถ้าตรงนี้มันหมด เห็นไหม ดูสิถ้าตรงนี้มันหมดแล้ว ถ้าอยู่ตามเพศฆราวาสไม่มีคู่ครอง ก็เนกขัมมบารมี แต่ถ้าเราพรหมจรรย์ พรหมจรรย์เราก็อยู่ด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ของเรา พรหมจรรย์มันเหนือกว่าอยู่แล้ว ถ้าเหนือกว่าอยู่แล้ว เหนือด้วยวิธีการใด? แต่ถ้าไม่มีพรหมจรรย์ เห็นไหม กามคุณ ๕ มันเป็นคุณของโลกเขา ในเมื่อกามคุณ ๕ มันเป็นคุณ กามนี่เป็นคุณ แต่เวลาให้โทษมามันก็เจ็บปวดอย่างนี้ กามมันเป็นคุณกับทางโลก แต่มันก็มีผลของมัน อยู่ที่เราจะเลือก ถ้าเราเลือกสิ่งใด?

ฉะนั้น นี่ประสาเราเลย เราจะบอกว่าคำถามนี่นะ เขาถามไป เขาถามไปเดินไปทางเรื่องกรรม แล้วก็ต้องเดินไปทางเดียวกัน แล้วก็ไปแก้ไขเรื่องกรรม มันไม่จบ พระพุทธเจ้าสอนไว้หลายอย่าง กามคุณ ๕ ก็เรื่องของโลกเขา ถ้ามีความรู้สึกเจ็บปวด มีสติปัญญาก็แบบหลวงปู่ขาว ท่านก็ยกให้เขาไปเลย ยกให้เขาไปเลย แล้วกลับมาบวช แล้วเป็นพระอรหันต์ด้วย เห็นไหม แก้ทางนี้ก็ได้ หรือถ้าเราจะอยู่ของเราประสาใดล่ะ?

เพราะคนถามเรื่องอย่างนี้มา แล้วเรื่องศาสนานี่ เห็นไหม เรื่องสัจธรรม ศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี่ให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เพราะพ้นจากกิเลสไป แต่นี้มันเรื่องของกิเลส กามคุณ ๕ คุณของโลก แล้วเวลาเขาไปถามพระพุทธเจ้าไง บอกว่าให้บวชหมด ให้บวชหมด แล้วต่อไปก็จะไม่มีมนุษย์เลย มนุษย์ไม่มีเลยมาบวชหมด มันจริงหรือเปล่าล่ะ?

เวลาบอกว่าเรื่องพ้นจากทุกข์ แต่ในเมื่อเวลาถ้ามีศีล เขามีศีล ๕ มีศีล ๘ มีศีล ๑๐ แล้วต่อไปนี้โลกเขาจะไม่มีมนุษย์สืบพันธุ์เลย โอ้โฮ พระพุทธเจ้าจะรื้อออกหมดเลย จะขนไปหมดเลย แล้วโลกจะไม่มีมนุษย์เลย นี่เวลาคนไปต่อว่าพระพุทธเจ้านะ แล้วมันจริงไหมล่ะ? โอ้โฮ หลวงตาท่านบอก เวลาพระไปอยู่กับหลวงปู่มั่นเป็นหมื่นนะ แล้วบางทีมาอยู่กับหลวงตานี่เหยียบแสนนะ แล้วได้กี่องค์? ขนาดบวชมาแล้วภาวนาได้กี่องค์? แล้วจะบอกว่าต่อไปจะไม่มีมนุษย์ในโลกเลย

เวลาเขาพูดกันอย่างนั้น เขาพูดเพื่อเขา พูดเพื่อประโยชน์กับโลก พูดเพื่อประโยชน์กับกิเลส ไม่พูดเพื่อประโยชน์เรื่องธรรมเลย ถ้าพูดเพื่อประโยชน์เรื่องธรรมนะ นี่ถ้าเรื่องอย่างนี้บางทีเราว่าเป็นเรื่องพื้นๆ แต่เรื่องพื้นๆ มันเกี่ยวพันกัน มันเกี่ยวพันกันหมายถึงว่า ถ้าเรื่องนี้เราเข้าใจมันได้ เราวางมันได้

เวลาธรรมของพระพุทธเจ้านะ บอกว่าเราเกิดมานี่ ไม่เคยเป็นญาติ เป็นพี่ เป็นน้องกันมาไม่มี ถ้าเรารู้ว่าเราเป็นญาติ เป็นพี่ เป็นน้องกันมา เราเป็นญาติกัน เราเป็นพี่ เป็นน้องกัน เราจะไปคิดอะไรเลยเถิดไปขนาดนั้น เราอยู่กัน เห็นไหม บริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราก็อยู่กันด้วยธรรมวินัย เพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้อย่างนี้ นี่แล้วถ้ามันเกินเลยไป คิดนะ ไม่ได้ทำ คิด! แค่คิดเกินเลย คิดเกินเลยมันก็มีสติสิ นี่มโนกรรมตัวนี้ใช้ไม่ได้แล้ว แล้วเราแก้ตรงนี้

แต่บางคนเวลาอย่างที่ว่า เวลาพระที่ว่าถ้ามันกรรมหนักนะ กรรมหนักเหมือนกับฟ้าฝ่า มันเจอหน้าไม่ได้นะ ถ้าเจอหน้านี่ช็อกเลย แล้วพอช็อกไปแล้วนะมันฝืนไม่กลับ เพราะเราสังเกต เราอยู่ในวงการพระ เวลาพระจะสึก หรือพระจะอะไร เขาแบบว่าเหมือนกับเขาไม่ทำอะไรเลย คือเหมือนกับคนแบบว่าไปทางเดียว คืออย่างไรต้องไปทางนั้นทางเดียว ดึงกลับไม่ได้

แล้วนี่ก็เหมือนกัน พอเวลามันเจอหน้ามันช็อกอย่างนี้ ถ้าช็อกนี่พูดถึงกรรมของเขานะ กรรมของเขาคือใจของเขา แต่สภาพแวดล้อมล่ะ? พ่อเขา แม่เขา ญาติเขายอมไหม? เขาไม่ใช่ตัวคนเดียว เขามีพ่อมีแม่ เขามีปู่ ย่า ตา ยาย แล้วปู่ ย่า ตา ยายจะยอมอย่างนี้ไหม?

นี่พูดโดยเหตุผลทางสังคมนะ แต่ถ้าเรื่องเหตุผลของกรรมนี่กูไม่รู้ กูช็อก กูจะเอา แต่ถ้าเหตุผลทางสังคมจะได้ไหม? สังคมเขายอมรับได้ไหม? เหตุผลทางสังคมอย่างหนึ่งนะ แล้วศีลธรรม จริยธรรมอีกเรื่องหนึ่งนะ ถ้าแต่ละคนมีสติปั๊บ เราช็อกก็ส่วนเราช็อกสิ แต่ทำไม่ได้ ทางสังคมก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว ยิ่งทางศีลธรรมนี่ไม่ได้เลย แล้วเราจะทำอย่างไร? เราจะทำอย่างไร?

นี่ไงมันถึงว่ากรรมเก่า กรรมใหม่ กรณีของกรรม ถ้าเราคิดเรื่องกรรมไปทางเดียว มันไปทางเดียวเลย ทีนี้พอคิดเรื่องกรรมด้วย เพราะเรื่องกรรมด้วย แต่นั่นคือกรรมเก่า ทีนี้พอกรรมใหม่ กรรมใหม่คือพระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์เราท่านเข้าใจของท่าน แล้วท่านเป็นแบบอย่างของเรา พอเป็นแบบอย่างของเรา เราจะฝืนอย่างไร? เราจะแก้ไขอย่างไร? ถ้าแก้ไขขึ้นมา เห็นไหม เราก็เป็นผู้ประเสริฐ

สัตว์ประเสริฐ สัตว์ประเสริฐมีเหตุมีผล ถ้าสัตว์ประเสริฐมีเหตุมีผล เหตุผลต้องเหนืออารมณ์ความรู้สึกสิ เหตุผลต้องเหนือสิ่งที่มันต้องการสิ ถ้ามีเหตุมีผล ถ้าเราเป็นสัตว์ประเสริฐจริงนะ แต่นี้บอกว่าเราเป็นสัตว์ประเสริฐ แต่ความคิดเรามันเดรัจฉาน มันก็จะไหลไป มันไม่สมกับเป็นสัตว์ประเสริฐ ถ้ามันสมกับเป็นสัตว์ประเสริฐมันก็ต้องเป็นสัตว์ประเสริฐขึ้นมาให้ได้ ถ้าเป็นสัตว์ประเสริฐขึ้นมาเราก็แก้ไขได้

นี่ถ้ามีปัญญาอย่างนี้มันจะแก้ไขมา ถึงบอกไม่ให้มองมุมเดียวไง ถ้ามองมุมเดียวนะ ต้องมีกรรม ต้องแก้กรรม เออ! แก้กรรมนี่ตังเมไง พอติดเข้าไปแล้วดึงไม่ออกเลย แก้กรรม แก้ไปแก้มาก็ตายอยู่นั่นน่ะ แก้กรรมวางให้หมด แล้วพุทโธ พุทโธของเรา ตั้งสติของเรา ฝืนให้ได้

โธ่! ยกกรณีหลวงปู่ฝั้นอีก นี่ไปช็อกเลยที่วัดบวรฯ เข้าไปในโบสถ์ปิดประตูเลย

“รักไหม?”

“รัก” รักไม่กิน

“รักไหม?”

วันที่ ๒ ก็ยังรักอยู่ไม่กิน

วันที่ ๓ ที่ ๔ ก็ยังรักอยู่นะ ท่านบอกว่าวันที่ ๖ หรือวันที่ ๗ นี่แหละจำไม่ได้ วันที่ ๖ หรือวันที่ ๗ นี่แหละ

“รักไหม?”

“ไม่รัก” เพราะมันจะตายแล้ว ทนได้

นี่ท่านแก้มานะ ครูบาอาจารย์เรานะ เรื่องอย่างนี้มี แล้วท่านจะแก้ของท่านมา ถ้ามีหมู่คณะที่ดี มีครูบาอาจารย์ที่ดี ท่านจะคอยช่วยเป็นกำลังใจ ช่วยป้องกัน ช่วยป้องกันหมายถึงว่าเอาพระมาซ่อนไว้ที่นี่ แล้วให้มันภาวนาของมัน แล้วเราก็คอยๆ กันไว้ ถ้าเราแก้ใจเราได้จบแล้ว พอแก้ใจเราได้นะ เอามาเจอกันเขาก็มีสติปัญญา จะไม่มีปัญหาต่อกัน แต่ถ้าแก้ไม่ได้ พอมาใกล้กันนะเสียเลย นี่ครูบาอาจารย์ท่านจะแก้อย่างนั้น

นี่พูดถึงมองอีกประเด็นหนึ่ง เรื่องอย่างนี้มันเรื่องของกรรมนะ ทีนี้ข้อที่ ๑. บอกว่า

ถาม : ๑. จะลดความผูกโกรธในผู้หญิงคนนั้นไหม?

หลวงพ่อ : เขาทำมันก็เป็นอิสระของเขา คือความคิดของเขานะ เราจะคิดแทนใครไม่ได้ ถ้าผู้หญิงคนนั้นเขามาเกาะแกะกับแฟนของเรา ผู้หญิงคนนั้นเขาคิดอย่างไร? ถ้าผู้หญิงคนนั้นเขามีศีลธรรม เขามีคุณธรรม เขารู้จักของเขา เขาเห็นว่ามีแฟนอยู่แล้วเขาก็ไม่เข้ามายุ่ง นี่พูดถึงศีลธรรมนะ

ทีนี้คนถือศีลนี่เขาว่าคนโง่ คนที่ไปแย่งชิงเขานี่ว่าคนฉลาด นั่นเขาคิดของเขาไปอย่างนั้น แต่ถ้าเราถือศีลเขาบอกว่าเราเป็นคนโง่ ถ้าผู้หญิงคนนั้นเขาคิดอย่างไร? นั่นมันเรื่องของเขา สิทธิของเขา เราต้องสิทธิของเรา สิทธิของเราคือแฟนของเรา คุยกันให้รู้เรื่อง ถ้ารู้เรื่องมันก็จบ

ผู้หญิงคนนั้นเป็นเรื่องผู้หญิงคนนั้น บุคคลที่ ๓ เราจะไปยุ่งกับบุคคลที่ ๓ ยิ่งแก้ไม่จบใหญ่เลย เรา ๒ คน แก้กัน ๒ คนนี่จบ แล้วเราก็เป็นผู้ตัดสินเลยว่าเราจะทำอย่างไร? นี่ข้อที่ ๑.

ถาม : ลดความผูกโกรธที่ผู้หญิงคนนั้น

หลวงพ่อ : เออ มันก็มีกรรมกันมานั่นแหละ ทำไมเขามายุ่งกับเราล่ะ?

ถาม : ๒. เพื่อคลายจากคู่ตัดวิบากกรรม หนูพยายามพิจารณาไตรลักษณ์ว่าทุกอย่างไม่เที่ยง การพลัดพรากเป็นสิ่งที่เป็นทุกข์ แต่ก็ไม่ได้ผล

หลวงพ่อ : ไม่ได้ผลเพราะว่ากำลังเราน้อยไง ไม่ได้ผลเพราะว่าเราคิด ๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ตัณหาแรงขับในใจมันมี ๙๐ เปอร์เซ็นต์ สู้ไม่ไหวหรอก ทีนี้สู้ไม่ไหว เราใช้ปัญญาของเราต่อสู้ ถ้าสู้ไม่ไหวแต่เราก็พยายามพิจารณาของเราไป ยับยั้งเรา คือพยายามขีดกรอบของตัวเราไว้ ถ้ามันคิดไม่ได้เราก็อย่าไปสร้างกรรมมากกว่านี้ ว่าอย่างนั้น

อย่าไปทำอะไร เราพยายามรักษาของเรา นี่คือวิบากกรรมของเรา ถ้ามันรักษาได้มันก็รักษาได้ ถ้ารักษาไม่ได้นะ นี่มีปัญหากันไป ทั้งแฟนด้วย ทั้งบุคคลที่ ๓ ด้วย ก็เลยนัวเนียกันไปหมดเลย ก็ยังมีกรรมต่อเนื่องกันไป แต่ถ้าไม่นัวเนีย เราตั้งสติ

เหมือน! เหมือนเราเป็นผู้ใหญ่ ตัดสินเด็ก ๒ คนที่มันเล่นตุ๊กตากัน เราเป็นผู้ใหญ่ ตั้งสติปัญญาของเราให้เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้ใหญ่มีเหตุมีผล แล้วตัดสินกรณีอย่างนี้ กรณีแฟนเรากับผู้หญิงคนนั้นให้มันจบกันไป

ถาม : ๓. รู้สึกเจ็บปวดมาก จนเหมือนตัวรู้ไม่ชัด สติหายไป

หลวงพ่อ : เจ็บสิ ใครไม่เจ็บ ชาติปิ ทุกขา การเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ชาติปิ ทุกขาไง มีชาติความเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ในเมื่อเราเกิดมาแล้ว พอเกิดมาแล้ว เรามีแฟนแล้วมันเป็นอย่างนี้ทุกคนก็เจ็บปวดหมดแหละ ความเจ็บปวดนะ

ถาม : หนูรู้สึกเจ็บปวดมากจนเหมือนตัวรู้ไม่ชัด

หลวงพ่อ : เจ็บปวดมาก เวลารักษาแผลหายแล้วมันก็หายเจ็บปวดได้ (หัวเราะ) เจ็บปวดมาก รักษาแผลให้หายซะ เจ็บปวดสิ ทีนี้เจ็บปวดเราอาศัยเขา เราไปหวังเขา คาดเขา ฉะนั้น เราไม่หวังเขา เรารักษาใจเรา พอรักษาใจเรานะ โธ่ เวลาบวชเป็นภิกษุณีแล้วเป็นพระอรหันต์ด้วย

ในสมัยพุทธกาลนะ มีผู้หญิงคนหนึ่ง จำชื่อไม่ได้ สวยมาก สวยมากๆ เลย ฉะนั้น พอสวยมาก เวลาบวชเป็นภิกษุณีก็ธุดงค์ไป มีผู้ชายเข้ามาหาบ่อย แล้วผู้ชายเข้ามาติดพันเยอะมากเลย ทีนี้ภิกษุณีก็ถามว่า

“ทำไมเข้ามาหาเขาล่ะ? ทำไมชอบมาเกาะแกะเขาล่ะ?”

“อ้าว ก็สวยมาก”

“สวยที่ไหน?”

“สวยที่ลูกตา”

ควักลูกตานี่ออกมาให้เขาเลย เอามือควักลูกตาเลยนะ แล้วยื่นให้ผู้ชายคนนั้นไปเลย ผู้ชายช็อกนะ

“สวยที่ไหน?”

“สวยที่ตา”

ภิกษุณีนะมีฤทธิ์ เอามือนี่ล้วงลูกตาตัวเองเลยนะ ควักออกมาเลยนะ แล้วยื่นให้ผู้ชายคนนั้นไป นี่ผู้ชายคนนั้นกรรมมาก เพราะผู้ชายคนนั้นพอออกจากภิกษุณีไปนะธรณีสูบเลย สูบไปเดี๋ยวนั้น อยู่ในพระไตรปิฎก ธรณีสูบเลยนะ

นี่ไงพูดถึงถ้ามันเจ็บปวด เจ็บปวดมากก็ไปย้ำคิดย้ำทำมันก็เจ็บปวดน่ะสิ ถ้าเราแก้ไขของเรามันก็จบกันไป เจ็บปวดสิ ยิ่งย้ำคิดย้ำทำเราก็ติดพันกันอยู่อย่างนี้ นี่อีกเรื่องหนึ่งนะ

ข้อ ๔. นี่ตอบธรรมะหรือเปล่าไม่รู้เนาะ

ถาม : ๔. ไม่รู้กรรมอะไรที่ทำให้ทั้งรักและสงสารเขา

หลวงพ่อ : เห็นไหม อันเดียวกับเมื่อกี้นี้ เจ็บปวดมาก ทั้งรัก ทั้งสงสาร มันผูกพัน ของอย่างนี้นะ ถ้ามันแยกออกจากกันนะ ระยะห่างมันก็รักษาได้ แต่ถ้าจิตใจคนเข้มแข็ง จะห่างแค่ไหนมันก็ยังอยู่อย่างนั้น ถ้าอยู่อย่างนั้น เห็นไหม นี่กรรมหนัก กรรมขนาดกลาง อย่างเบา กรรมมันเป็นเรื่องแตกต่างกันไป เราจะแก้เราเนาะ

เราชมคนนี้อย่างหนึ่ง คือว่าเขากล้าเขียนมาถามทั้งหมดไง เขาเปิดมาหมดเลย แสดงว่าทุกข์มาก แล้วธรรมดาต้องไปหาหมอ ต้องไปหาจิตแพทย์เนาะ ดันมาหาพระ (หัวเราะ) แล้วพระจะไปรู้เรื่องอะไรวะ พระไม่รู้เรื่อง ทีนี้พระจะรู้เรื่องของกรรม

ถาม : นี่ไม่รู้ว่าเป็นกรรมอะไร?

หลวงพ่อ : อันนี้เรายับยั้งได้นะ น้ำขึ้น น้ำลง ของนี่สูงส่งได้ขนาดไหน? ระยะทางหรืออะไรต่างๆ มันจะถนอมรักษาได้ อันนี้เรื่องของโลกนะ เป็นความผูกพัน เป็นความยึดมั่นของจิตนี่เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราปฏิบัติของเรานะ เราปฏิบัติ เพราะมันไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งหรอก

นี่พ่อแม่ก็ช่วยไม่ได้ ไปหาพ่อ หาแม่ หาใครนะ ยิ่งไปหาใครก็ช่วยไม่ได้ ไปก็กอดคอกันร้องไห้ นี้จะไปหาใคร? ใครจะช่วย? โลกนี้ใครจะช่วย? เรื่องหัวใจนี้ใครจะช่วย? ไปกอดพ่อ กอดแม่ กอดปู่ กอดตา กอดยาย ก็ไปกอดร้องไห้ด้วยกัน ปู่ก็แค่ลูบหลัง เออ อีหนูเนาะอีหนู นี่ก็แค่นั้นแหละ ใครจะช่วยเราล่ะ?

เราก็ต้องช่วยของเราเอง เห็นไหม ถ้าจิตใจเราเข้มแข็งขึ้นมาเราก็ช่วยตัวเราได้ ถ้าช่วยตัวเราได้แล้ว เราเอาจิตใจเราขึ้นมาได้ เราจะอธิบายให้คนอื่นฟังได้เลย เพราะ เพราะดูทางโลกเขาสิ คนที่แบบว่าเป็นผู้พิการต่างๆ แล้วเขาประสบความสำเร็จ เขาจะออกไปปาฐกถาของเขาเพื่อเป็นกรณีตัวอย่าง ปลุกให้คนมีกำลังใจขึ้นมา “ดูสิดูฉันนะ ฉันพิการนะ ฉันยังทำงานได้ประสบความสำเร็จ ฉันยังเป็นเศรษฐีได้นะ” ทุกคนก็ต้องมีกำลัง

นี่ก็เหมือนกัน ลองเราเจ็บปวดขนาดนี้ ถ้าเราแก้ไขเราได้ วันหลังจะไปสอนคนอื่นเขาเลย โธ่ เรื่องเล็กน้อย ไปสอนคนอื่นได้เลย โธ่ ของฉันเคยเป็นมากกว่านี้อีก ฉันยังแก้ได้ เพราะเรื่องความรู้สึก ความรู้สึกมันแก้ยาก เพราะความรู้สึกของคนมันไม่เหมือนกัน แล้วสิ่งเร้าต่างๆ มันก็ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ถ้าเราแก้ของเราได้นะ เราเป็นไปได้

ไอ้ที่เราพูดนี่ เพราะว่าเรื่องกรรมนะ เรื่องกรรมเวลามันเข้าไปแล้ว เรื่องการภาวนาจะเห็นกิเลสตัวหยาบ ตัวละเอียด มันจะลึกซึ้งกว่านี้ แล้วกิเลสตัวหยาบ ตัวละเอียดมันพญามาร เห็นไหม มันกระตุ้น มันเร้า มันต่างๆ เวลาสู้มันจะเห็นไง ฉะนั้น เวลามาอธิบายให้ฟังเรื่องกรรม เรื่องความผูกพัน โธ่! ขนาดหลวงตาท่านสอนนะ

“อย่าเสียดายอารมณ์ความรู้สึก”

เวลามันจะว่าง มันจะปล่อยมันหวงไง เรารู้เลยแล้วมันก็จะตระหนี่ อู๋ย ของกู! ของกู! ของกู! นี่มันทิ้งไม่ได้หรอก แล้วกว่ามันจะทิ้งได้มันต้องใช้ปัญญาขนาดไหน? ฉะนั้น เวลาที่มันรัก มันผูก มันพัน นี่เดี๋ยวจะหาว่าแล้วพระตอบ พระไปเอาประสบการณ์มาจากไหน? พระไปเอาประสบการณ์มาจากไหนวะ เอามาตอบเขานี่?

เวลาภาวนาไป หลวงตาสอนประจำ “อย่าเสียดายอารมณ์ อย่าเสียดายอารมณ์” เสียดายเราก็เสียดายความรักนี่ไง “อย่าเสียดายอารมณ์นะ อารมณ์เก่าๆ อย่าไปเสียดายมัน ทิ้งมัน! ทิ้งมัน!” แต่ทิ้งไม่ลงหรอก! พอเจอแล้วกอดไว้แน่นเลย กูจะทิ้ง กูจะทิ้ง แต่ทิ้งไม่ออกหรอก แล้วจะทำอย่างไร?

นี่มันพิจารณาของมันไป เห็นโทษนะพิจารณาเป็นอสุภะ พิจารณาต่างๆ ไป กว่ามันจะทิ้งได้ ถ้าพอมันทิ้งปั๊บ อ๋อ ทิ้งอย่างนี้เอง! แต่ไอ้นี่มันไม่ได้ทิ้ง ไอ้นี่มันไปเต็มที่ไง จะบอกว่า เอ๊ะ แล้วพระรู้ได้อย่างไร? พระจะมารู้เรื่องกรรม พระจะมารู้เรื่องความผูกพันได้อย่างไร? ถ้าพระไม่พิจารณา ไม่เสียสละ ไม่ทำลายมัน ไม่ฆ่ามัน มันจะพ้นมาได้อย่างไร? แล้วพอฆ่ามันแล้ว อู้ฮู มันเป็นเนื้อเดียวกับจิต โอ้โฮ

นี่พูดถึงการกระทำนะ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ คิด เพราะเวลาพระปฏิบัติไป พระมีพื้นมีฐานขึ้นไป พระก็แก้ไขได้ใช่ไหม? เพราะพระแก้ไขได้ พรหมจรรย์อันนั้นมันถึงมั่นคง แต่ของเรานี่เราเหมือนคนป่วย ไปหาหมอถามว่า “หายไหม? หายไหม? หายไหม?” แล้วไปหาหมอพูดอยู่คำเดียว หาย ไม่หาย? หาย ไม่หาย? แต่โรคมันหนักหนา

นี่ก็เหมือนกัน รู้ว่ามันเป็นกรรม รู้ว่ามันเป็นความรัก รู้ว่ามันเป็นความผูกพัน อยากจะละ อยากจะละ มันยิ่งคิด ยิ่งผูกพัน ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ ทำใจให้สงบซะ เราถือว่าเป็นกรรม เป็นวาระของกรรม เวลากรรมหมายถึงว่า เราไปทำอะไรไว้ ไปผูกพันสิ่งใดไว้ สิ่งนั้นเวลาเราทำ เราทำด้วยความเต็มไม้เต็มมือ ฉะนั้น เวลามันให้ผลมาเป็นอย่างนี้ เห็นไหม

เวลามันให้ผลมา มันทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ มันเกิดจากอะไรล่ะ? มันเกิดจากอะไร? ก็เกิดจากเราทำมา สิ่งนี้เราทำมา เราถึงได้มาเจอผลอย่างนี้ แล้วพอเจอผลอย่างนี้เราต้องมีจุดยืน ต้องมีสติปัญญาของเรา ไม่ทำให้มันผูกพันมากไปกว่านี้ ให้มันผูกพันมากไปกว่านี้ แล้วเราค่อยๆ แก้ไขไป

เจ็บไหม? เจ็บสิ ทำไมจะไม่เจ็บ ถ้ามันไม่เจ็บ ไม่ปวด มันจะเป็นกรรมหรือ? มันจะเข้ามาผูกพันเราหรือ? มันจะทำลายเราหรือ? มันก็เจ็บน่ะสิ แต่เจ็บแล้วจะเจ็บต่อไปอีกไหม? เจ็บแล้วเราแก้ไขอย่างไร? แก้ไขอย่างไร? เจ็บร่างกายนะหมอรักษาหาย เจ็บใจนี่ เจ็บใจเพราะว่าคนรัก แก้ไขเอาเองแล้วจะรู้ผลไง แก้ไขเอาเอง

นี้พูดถึงพูดให้ฟัง เพราะว่ากรณีอย่างนี้มันถามมาหลายคน แล้วคนถามเราคิดว่ามันเป็นคนเดิมที่เคยถามเรื่องกรรมเก่า กรรมใหม่ แล้วเราอธิบายไปไง พออธิบายไปแล้ว ถ้า! โทษนะ ถ้าวันนี้พูดแล้วเป็นประโยชน์ เราก็ว่าเป็นความดีงาม ถ้าวันนี้พูดโดยสถานะที่ไม่เหมาะสม เพราะเราเป็นพระ แล้วไปพูดเรื่องโลกมันจะไม่เหมาะสม

อันนี้พูดถึงตอบไว้ให้มันเป็นบรรทัดฐาน แล้วถ้าต่อมาใครจะถามมา บอกว่าให้ไปดูเว็บไซต์เรื่อง “คู่กรรม” เพราะตอบไว้เหลือเกิน แล้วจะได้จบเสียทีเนาะ เอวัง