เทศน์พระ

รู้-เห็น

๒๖ ต.ค. ๒๕๕๔

 

รู้-เห็น
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฟังธรรมนะ ถ้าใจหยาบจะฟังอะไร มันก็เหมือนทางโลกเขาว่าน่ะ

“อยู่บ้านก็โดนด่าทุกวันแล้ว ไปวัดยังให้พระด่าอีก”

เวลาอยู่บ้านว่า “เมียเทศน์มาทั้งวันเลย ไปวัดพระยังด่าอีกนะ”

แต่เวลาเทศน์ เทศน์ก็พูดถึงสิ่งที่เราคิดไม่ถึง เราคิดไม่ได้ เราคิดไม่ถึงไง ทั้งๆ ที่เป็นความคิดเรานี่ แต่ความคิดเรามันคิดหมักหมม คิดแต่ในสิ่งที่ตอกย้ำ ตอกย้ำสิ่งที่ตัณหาความทะยานอยากมันหลอกให้คิด

แต่พอคิดเป็นคุณงามความดีขึ้นมา สิ่งที่คิดเป็นคุณงามความดีขึ้นมา คุณงามความดีของใครล่ะ?

คุณงามความดีของเด็ก มันก็รับผิดชอบของมันได้แค่นั้น

คุณงามความดีของผู้ใหญ่นะ ดูสิ คุณงามความดีของผู้ปกครอง นี่คิดสิ่งใด ก็พูดถึงว่าถ้าตัดสินใจผิดพลาด ประเทศชาติเสียหายไปเลยล่ะ ถ้าประเทศชาติเสียหายไปเพราะการตัดสินใจของผู้นำ เห็นไหม ผู้รับผิดชอบมาก เวลาตัดสินใจไปมันจะมีผลกระเทือนกันไปมาก ถ้าผู้รับผิดชอบน้อย เวลาตัดสินใจไปก็ผิดเฉพาะบุคคลคนนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตจิตใจของเรานะ ชีวิตจิตใจของเราในปัจจุบันเราตัดสินใจอย่างไร ถ้าเราตัดสินใจแล้ว เราคิดสิ่งใดมันตอกย้ำแต่ความเจ็บช้ำน้ำใจ ความทุกข์ความยากอยู่ในหัวใจน่ะ นั้นเวลากิเลสมันพาคิดไง กิเลสพาคิดเพราะอะไร เพราะเราไม่สำนึกในตัวเราเอง ถ้าเราสำนึกในตัวเราเองนะ เวลาเรามีสติปัญญาขึ้นมา

ดูสิ นี่ผลของวัฏฏะ เวลาเกิด เวลาตาย เรารู้เราเห็นอะไรไหม? เวลามาเกิดนี่ไม่มีใครรู้นะ พ่อแม่เท่านั้นที่รู้ ดูสิ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของเรา พระอรหันต์ของลูกนะ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูกเพราะเราได้ชีวิตมาจากพ่อจากแม่ ถ้าพ่อแม่ไม่บอกว่าเกิดเมื่อไร ใครจะรู้

ถ้าเราโตขึ้นมา ดูสิ เวลาคนพลัดพ่อพลัดแม่ เวลาลูกกำพร้าไม่มีพ่อแม่ ไม่มีใบเกิด ไม่รู้วันเกิด ไม่รู้วันเกิดนะ ก็พิจารณาเอา เดาเอา ด้นเอาว่าเกิดเมื่อไรเท่านั้นน่ะ นี่พวกเก็บมาเลี้ยงก็จะบอกว่าคาดหมายเอาว่าได้เท่านั้น แต่ถ้าไม่มีพ่อมีแม่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเกิดเมื่อไร นี่เพราะความไม่รู้ เราไม่รู้หรอกว่าเราเกิดเมื่อไร ผลของวัฏฏะนี่เราเกิดอย่างไร

เวลาสร้างบุญสร้างกรรมขึ้นมา กรรมมันให้ผลขึ้นมาแล้วเราไม่รู้หรอกกรรมมันให้ผล เพราะอะไรกรรมถึงมาเป็นชนิดนี้ ให้ผลมาเป็นชนักปักหลังมาให้เราเจ็บช้ำน้ำใจอยู่อย่างนี้ เวลาเรามีสติปัญญาขึ้นมา นี่เราไม่รู้ว่าเรามาจากไหน เราไม่รู้ แต่เวลาเราเกิดมา เรามีสติปัญญา นี่เรารู้ เห็นไหม เรารู้เราเห็น

เวลาเราจะบวชเราจะเรียน พ่อแม่ต้องพามาฝาก ถ้าพ่อแม่ไม่อนุญาต บวชไม่ได้ นี่ต้องพ่อแม่อนุญาตนะ พ่อแม่อนุญาตด้วย เวลาไปบวช เห็นไหม “มนุสโสสิ เป็นมนุษย์จริงหรือเปล่า ได้ขอพ่อแม่หรือยัง เป็นหนี้เป็นสินมาหรือเปล่า” นี่สิ่งนี้เรารู้เราเห็น เพราะเรามีศรัทธาความเชื่อ เรามีศรัทธาของเรา เรารู้ของเรา แล้วเรามาบวชของเรา

ดูชีวิตเรา เราเป็นคนบังคับบัญชาเอง ชีวิตเรา เราเป็นคนเลือกสรรเอง เราเป็นคนเลือกเองนะ แต่เวลาเรามาเกิดจากพ่อจากแม่ เรามานี่เราไม่รู้เรื่องเลยนะ หมดเวรหมดกรรม หมดภพหมดชาติ ถ้าเป็นเทวดามา เวลาหมดอายุขัยก็จุติมาเกิดเป็นมนุษย์ เวลาเกิดในนรกอเวจีขึ้นมา พ้นจากนรกอเวจีขึ้นมานี่กรรมมันผ่อนเบาขึ้นมาเป็นสัตว์เดรัจฉาน หมดอายุสัตว์เดรัจฉานมาเกิดเป็นมนุษย์ ตายจากมนุษย์ไป ถ้ามีบุญกุศลอยู่ก็กลับมาเกิดซ้ำเป็นมนุษย์

การเกิดนี่เราไม่รู้หรอกว่าที่มาของการเกิดนี่มาจากไหน ถ้ารู้ต่อเมื่อพ่อแม่บอก นั่นคือสิ่งที่ไม่รู้ แต่ถ้าเราเกิดมา เรามีศรัทธามีความเชื่อของเรา เรารู้ๆ เห็นๆ อยู่นะ เรารู้ของเรา เราจะมาบวช เราเปลี่ยนจากคฤหัสถ์มาเป็นพระ อุปัชฌาย์ทำคลอดมา เรามีพ่อ มีแม่ มีอุปัชฌาย์ มีครูบาอาจารย์ออกมา สงฆ์ยกเข้าหมู่ ยกจากคฤหัสถ์เข้ามาเป็นพระ...นี่เรารู้ รู้ตกฟากเลย เกิดเวลาเท่าไร อุปัชฌาย์ญัตติขึ้นมาเวลาเท่าไร เราเกิดเมื่อไร เราเกิดเป็นพระนี่เกิดเมื่อไร

แล้วในปัจจุบันนี้เรามีสติปัญญาของเรา เราจะรักษาของเรา รักษาหัวใจของเรานี่ เรารู้เราเห็นนะ เวลาปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเราเห็นของเรา เราปฏิบัติของเรา จิตมันฟุ้งซ่านก็รู้ว่ามันฟุ้งซ่าน จิตมันทุกข์ยากก็รู้ว่ามันทุกข์ยาก แต่ถ้ามันเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ นี่เราไม่รู้ไม่เห็นนะ เราไหลไปน่ะ

ดูสิ ดูชีวิตของเราสิ เราจะเลือกเอาอย่างใด นี่เราเลือกของเราเอา ดูสิ ผู้ที่มาบวชมาเรียน บวชเรียนเพื่อมาศึกษาในธรรมวินัย แล้วมีความจำเป็นต้องสึกไป เขาก็รู้ว่าเขาจะตายเมื่อไร เวลาเขาสึกนี่เขาก็ตายจากพระไป เขาก็ไปเกิดเป็นฆราวาส เห็นไหม รู้เวลาเกิด รู้เวลาตาย นี่เห็นเลย เราจะเกิดเมื่อไร เราจะตายเมื่อไร นี่เรารู้เราเห็นของเรา

นี่ไง “ธรรมวินัย” เราเป็นพระตามสมมุติ “สมมุติสงฆ์” เราจริงตามสมมุตินะ เวลาบวชมาแล้วเป็นพระ อย่างเช่นเราจะลงอุโบสถกันอยู่นี่ ถ้าเป็นคฤหัสถ์เข้ามาไม่ได้ สามเณรยังเข้ามาไม่ได้เลย ในหัตถบาส ถ้าเป็นพระนานาสังวาส เขายังให้แยกหัตถบาส ถ้ายิ่งเป็นเณรเข้ามาไม่ได้ อนุปสัมบันเข้ามาไม่ได้เลย นี่เวลาบวชมาเราเป็นพระโดยสมบูรณ์

สมมุติสงฆ์รู้วันเกิด เกิดแล้ว แล้วนี่บางคนรู้วันตายแล้ว จะตายเมื่อไรนี่รู้แล้วว่าจะตายเมื่อไร กำหนดสึกก็คือรู้วันตายแล้ว นี่เรารู้เราเห็นนะ เวลาวันเกิดวันตาย เรารู้เราเห็นของเรา นี่มันเห็นอย่างนี้ แล้วทำไมเราดูแลชีวิตเราไม่ได้ล่ะ

เวลาเราบวชมาแล้ว เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะทุกข์มันจะยาก...ทุกข์ยากแน่นอน ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง แล้วความจริงนี่จริงอย่างไร แล้วแต่เราเลือกของเราน่ะ เรารู้กำหนดชีวิตเราได้ แต่ถ้าเป็นคฤหัสถ์ไป เรากำหนดชีวิตเราได้ไหม ชีวิตของเราเป็นไปตามเวรตามกรรม แต่ถ้าเราเป็นพระนี่เรากำหนดชีวิตเราได้เลย นี่พรรษา ๑ พรรษา ๒ พรรษา ๓ พรรษา ๔...พรรษาของเราจะเพิ่มมากขึ้น แล้วพอมันพ้นพรรษา ๕ ถ้าเรามีความฉลาด เราท่องปาฏิโมกข์ได้ เรากำหนดได้ เราพ้นนิสัย เราบรรลุวุฒิภาวะแล้ว นี่พูดถึงบรรลุวุฒิภาวะทางโลก

บรรลุวุฒิภาวะทางธรรมวินัย เป็นผู้ฉลาด เป็นผู้ฉลาดนี่ท่องปาฏิโมกข์ได้ พอท่องปาฏิโมกข์ได้มันรู้ธรรมวินัย พอรู้ธรรมวินัย เรารักษาตัวเราได้ นี่ไม่ต้องขอนิสัย แต่ถ้ายังต่ำกว่า ๕ พรรษามา ยังท่องปาฏิโมกข์ไม่ได้ นี่เราบรรลุนิติภาวะไหม เราพ้นนิสัยไหม ถ้ามันไม่พ้นนิสัย มันก็ต้องพยายามอยู่อย่างครูบาอาจารย์ไปเรื่อยๆ ฝึกหัดตัวเรา นี่ไง เรากำหนดชีวิตของเราได้ นี่พูดถึงกำหนดชีวิตในตามความเป็นจริงนะ

แต่ถ้ามันเป็นผลของวัฏฏะ มันเกิดมันตายตามความเป็นจริง มันเกิดมันตายในวัฏฏะ ในวัฏฏะคือตายจากมนุษย์ ตายจากเทวดา ตายจากอินทร์ ตายจากพรหม ตายจากสัตว์เดรัจฉาน ตายจากทุกอย่าง...มันต้องตาย ที่ไหนมีการเกิด ที่นั่นต้องมีการตาย

ดูสิ เรามาบวช แม้แต่สมมุติมาบวชเป็นพระ ชั่วอายุขัย อายุที่เรากำหนดว่าเราบวชกี่วัน นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราบวชเป็นพระ ผู้ที่มีความตั้งใจว่าจะบวชไปเรื่อยๆ จะบวชแล้วจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จะบวชไปเรื่อยๆ เราก็ไม่รู้วันตายของเราเหมือนกัน

แต่ถ้าเวลาประพฤติปฏิบัติ นี่ไง รู้ ทั้งรู้ทั้งเห็นไง ถ้ามันเห็นของมันนะ ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เรารักษาใจของเรา ใจเราเริ่มสงบร่มเย็นเข้ามา นี่ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตที่ตัวเกิดตัวตายนี่ มาเกิดในไข่ แค่ปฏิสนธิจิต จิตนี่เป็นนามธรรม มาปฏิสนธิในไข่ พอเกิดในไข่ ไข่ของแม่กับสเปิร์มของพ่อ แล้วปฏิสนธิจิตมันไป นี่การเกิด กำเนิด ๓ ต้องมี ถ้าไม่มี ปฏิสนธิจิตมันเกิดไม่ได้

พอเกิดขึ้นมา เห็นไหม จากไข่ ดูสิ กลายเป็นน้ำมันใส น้ำมันข้น กลายเป็นปัญจขันธ์มีตุ่ม มาเป็นตัวอ่อน จากตัวอ่อนมันพัฒนาขึ้นมาจนเป็นทารก แล้วจนตกคลอดออกมาเป็นมนุษย์

ปฏิสนธิจิตพาเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ นี่กรรมมันพาไป ดูสิ เวลาคนที่มั่งมีศรีสุขอยากมีลูกมีเต้านี่มีลูกยาก ไอ้คนทุกข์คนจนนี่ลูกเป็นแพเลย จิตที่มันทำคุณงามความดีมา ให้แค่เกิดมาแล้วสะดวกสบาย เกิดมาแล้วอยู่บนกองเงินกองทองมันยังมีน้อยเลย นี่มองในทางวิทยาศาสตร์ มองทางโลกนะ บอกว่าเกิดในกองเงินกองทองแล้วจะมีความสุขน่ะ...แต่มันจริงหรือเปล่า มันจริงหรือเปล่า มันมองทางโลก มันเกิดตามบุญ

“บุญ” คือการกระทำมา สิ่งที่ทำคุณงามความดีมา ว่าสะดวกสบาย แต่สะดวกสบายนี่มันเป็นสถานะของการเกิด แต่เวลาเกิดมาแล้ว สิ่งที่ว่ากองเงินกองทอง แต่หัวใจมันไม่มีเป็นสุขน่ะ แต่ถ้ามันเกิดมาในครอบครัวที่ร่มเย็นเป็นสุข เห็นไหม เกิดในประเทศอันสมควร เกิดมาแล้วมีความเข้าใจต่อกัน มันจะมีกองเงินกองทองหรือมันจะอัตคัดขัดสนขึ้นมา แต่พ่อแม่กับลูกเข้าใจกันดี พ่อแม่ช่วยกันส่งเสริม พ่อแม่ยิ้มแย้มแจ่มใส นั่นก็เป็นความสุขของเขา ความสุขเป็นความสุขโดยธรรม ความสุขตามความเป็นจริง

ธรรม คือสัจจะความจริง คือความจริง สัจจะความจริง เห็นไหม เป็นธรรมวินัย นั่นน่ะ สัมมาทิฏฐิ ความชอบทุกอย่างเป็นความชอบธรรม นั่นล่ะคือธรรม

“อธรรม” เกิดมาบนกองเงินกองทองต่างๆ แต่เป็นอธรรม เกิดมาแล้วมีความขัดแย้ง เกิดมามีแต่ความทุกข์ความยาก เกิดมาทำไม แต่เขาก็ต้องเกิดตามการเกิดของวัฏฏะ นี่พูดถึงการเกิดของวัฏฏะนะ

แต่เราเกิดมาแล้วเรามีศรัทธาความเชื่อ เราเกิดมาแล้วเรามีศรัทธา เราเกิดมาเป็นสมณะ จากฆราวาสมาเกิดเป็นสมณะ ชี พราหมณ์ เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะพ้นจากทุกข์ จะพ้นจากทุกข์แล้วนี่เรากำหนดชีวิตเราเอง ชีวิตเราเอง ดูสิ ดูคนขับรถ ถ้าคนขับรถนะ เขามีสติปัญญาของเขา เขาจะพารถของเขาไปถึงเป้าหมาย รถของเขานี่ไปจอดที่จอดรถอย่างดีเลย แต่ถ้าคนขับรถมันหลับในนะ มันขับมาด้วยความหิวกระหาย ด้วยความทุกข์ความยากนะ รถแฉลบไปจะลงข้างทาง นี่ชีวิตมันสำมะเลเทเมาไปเรื่อยเลย นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราจะดูแลชีวิตของเราได้อย่างไร นี่พูดถึงทางโลกนะ แต่ถ้าเรามีศรัทธาความเชื่อขึ้นมา เราออกมาบวชเป็นสมณะ เราจะพ้นจากโลก เราจะพ้นจากการเกิดเลย นี่ถึงเป็นอริยทรัพย์

ถ้าอริยทรัพย์ เราต้องมีสติปัญญาของเรา นี่รู้ว่าเกิด รู้ว่าเกิดเป็นพระ เวลาปฏิบัติขึ้นไป พอจิตมันสงบขึ้นไป จิตสงบ จิตมันเริ่มระงับเข้ามาปั๊บ มันมีความฟุ้งซ่าน มันมีความทุกข์ มีความวิตกกังวล วิตกกังวลน่ะเราทำได้อย่างไร เราจะมีความทุกข์ยากขนาดไหน

“อธิษฐานบารมี” บารมี ๑๐ ทัศนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อำนาจวาสนา บารมี ๑๐ ทัศ ผู้ที่ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ “ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี อธิษฐานบารมี ฯลฯ” อธิษฐานว่าจะต้องมีเป้าหมาย เป้าหมายว่าจะต้องเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระโพธิสัตว์ ตั้งเป้าขึ้นมาแล้วพยายามทำของท่านขึ้นไป เกิดแล้วเกิดเล่า ท่านทำแต่คุณงามความดีสะสมไป ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย นั่นคือเป้าหมาย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเป็นสาวก-สาวกะ เราไม่ได้สร้างบุญกุศลของเรามา ถ้าไม่สร้างบุญกุศลมา ดูสิ โลกเขาอยู่กันประสาโลกเขา เขาว่ามีความสุขมีความรื่นเริงของเขา นี่เขาหาเงินหาทองกัน เขาว่าสิ่งนั้นเป็นความมั่นคงของเขา โลกเวลาเขาลดค่าเงิน เงินมันเฟ้อ เงินที่สังคมเขาไม่ยอมรับแล้ว...หามาเกือบตายทั้งชีวิตนะ สูญเปล่า ไม่มีอะไรเลย อุตส่าห์หาเงินหาทองมาสร้างสิ่งปลูกสร้างไว้มหาศาลเลย เวลามันด้อยค่าเสื่อมสภาพ ไม่มีค่าอะไรเลย ดูสิ เวลาเขาสร้างตึกรามขึ้นมา พอยุคเก่าขึ้นมาเขาระเบิดทิ้งนะ เขาระเบิดทิ้งเลย เขาจะสร้างตึกใหม่ เปลี่ยนเจ้าของปั๊บเขาระเบิดทิ้งเลย แล้วระเบิดทิ้งต้องเสียตังค์ด้วย เราแสวงหาของเราขึ้นมา นั่นสมบัติโลกเป็นแบบนั้น

โลกเขาอุตส่าห์หามา เขาคิดว่าเป็นความมั่นคงของเขา แต่มุมมองเรามีความแตกต่างกับเขา เราอุตส่าห์นะ อุตส่าห์เสียสละมาบวช บวชเป็นพระเป็นเจ้า พอบวชเป็นพระเป็นเจ้า ถ้าโลกเขาก็ว่ากันน่ะ เสียดสีกัน “เป็นคนไม่จริง” คนไม่จริงจะบังคับตัวเองได้อย่างไร คนไม่จริงจะตั้งสัจจะ เห็นไหม ตั้งสัจจะว่าเราบวชแล้ว เราพยายามจะรักษาชีวิตของเรา เราจะตั้งกติกาควบคุมตัวเราไว้

อย่างเช่นครูบาอาจารย์ของเรา ตั้งเป็นข้อปฏิบัติมา ถ้าไม่มีข้อวัตรปฏิบัติมา เห็นไหม ต่างคนต่างทำ พอต่างคนต่างทำขึ้นมา มุมมองก็แตกต่าง แต่นี่ครูบาอาจารย์ของเรา ดูสิ เราเชื่อมั่นว่าหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ ท่านเป็นผู้วางข้อวัตรปฏิบัติมา ท่านเป็นพระอรหันต์ ถ้าพระอรหันต์น่ะไม่มีสิ่งใดปิดบังหัวใจนั้น หัวใจนั้นสะอาดกระจ่างแจ้ง สว่าง สะอาดบริสุทธิ์ กระจ่างแจ้ง รู้รอบขอบชิด ว่าจิตนี้มาจากไหน?

บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ...จิตนี้มาจากไหน? ทำไมมาเกิดเป็นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น แล้วท่านรักษาของท่านเอง ท่านแก้ไขของท่านเอง ตั้งแต่จบสิ้นกระบวนการของท่านไปแล้ว ท่านรู้ของท่าน ท่านถึงวางธรรมวินัยไว้กับพวกเรานี่พวกตาบอด พวกอยากได้ พวกมีแรงปรารถนา มีความตั้งใจ อธิษฐานบารมี แต่ยังมีตาบอด ยังตาบอดสี สายตาเอียง สายตาไม่เป็นข้อเท็จจริง เราก็ต้องแก้ไขของเราไป นี่มันมีข้อวัตรปฏิบัติมา ครูบาอาจารย์ท่านวางของท่านไว้แล้ว แล้วเรามาเดินตามนี่ เรามาเดินตามครูบาอาจารย์ของเรา

สิ่งนี้บังคับไว้ถ้าหัวใจของเรามันยังลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ ก็อาศัยสิ่งนี้เป็นเครื่องอยู่ จิตต้องอาศัยเป็นเครื่องอยู่ ดูสิ เวลาเราถึงมี ๒๔ ชั่วโมง เช้าขึ้นมาเราบิณฑบาตมาเพื่อฉันอาหารเพื่อดำรงชีวิต พอบ่ายขึ้นมาเราทำข้อวัตรปฏิบัติ เราก็ฉันน้ำร้อนกัน ตกเย็นขึ้นมาเราก็ทำวัตรของเราส่วนตัวขึ้นมา แล้วภาวนาของเรา นี่ชีวิตของเราจะมีอะไรเป็นเครื่องอยู่

ถ้ามันมีอะไรเป็นเครื่องอยู่ จิตมันไม่ออกนอกลู่นอกทาง ให้มันเกาะสิ่งนี้ไว้ ถ้าไม่เกาะสิ่งนี้ไว้นะ ถ้าจิตมันไม่มีเครื่องอยู่ มันไปประสาโลก มันดิ้นรนของมันไป ถ้าดิ้นรนของมัน มันก็แสวงหาของมันไปตามธรรมชาติของมัน ถ้ามันดิ้นรน ดิ้นรนทำไม มันทำไมถึงดิ้นรนอย่างนั้นน่ะ? ดิ้นรนไปเอาสิ่งที่เป็นฟืนเป็นไฟมาเผาตัวเอง เห็นไหม นี่รู้ๆ อยู่ว่าเราเป็นอะไร รู้ แต่ยังไม่เห็น

แต่พอมันเห็น มันมีสติปัญญาขึ้นมา มันเห็นน่ะ ทั้งรู้ ทั้งเห็น...เห็นอะไร?

เห็นหัวใจของตัวไง เห็นคือมีสติ ถ้ามีสติมันยับยั้งได้ ยับยั้งสิ่งที่มันเผาลนหัวใจเรา

“เราทำไมโง่ขนาดนี้ ไปเอาสิ่งที่เป็นฟืนเป็นไฟมาเผาเราทำไม”

นี่ไง เราก็มีข้อวัตร คือการห้ามใจไว้ ข้อวัตรเป็นเครื่องอยู่ ถ้าจิตใจมันมีเครื่องอยู่ อยู่อาศัยสิ่งใดมันก็อยู่ อาศัยข้อวัตรปฏิบัติเป็นเครื่องอยู่

ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์เรา หลวงตา เวลาท่านไปวัดดอยธรรมเจดีย์ เวลาสมุจเฉทปหาน พลิกฟ้าคว่ำดินเลยนะ จบสิ้นกระบวนการ “จะสอนใครได้หนอ จะสอนใครได้หนอ” คิดน่ะ เพราะมันลึกลับซับซ้อน สิ่งที่เราไม่รู้ไม่เคยเห็น แต่นี่เรารู้กันนี่เราเห็น เราเห็นโดยอวิชชา เรารู้เราเห็นโดยสัญญา เรารู้เราเห็นด้วยความจำมา พอจำมาเราก็คาดก็หมายไป พอคาดหมายไป มันคาดหมายไม่ใช่ความจริง มันถึงไม่มีรสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง

ถ้ามันรสของธรรม เวลาความจริง “สมาธิ” สมาธิคือความร่มเย็น ถ้ามีปัญญามันจะมาชำระถอดถอน แต่นี่เวลาเราคาดเราหมายไป “สิ่งนี้เป็นธรรมๆ”...มันโดยสัจธรรม โดยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็มีที่พึ่งหาอาศัย นี่อธิษฐานบารมี มีเป้าหมายเวลาทำไป แต่มันไม่ถึงที่ตรงนั้นน่ะ เวลามันคายพิษออกมาไง เห็นไหม กิเลสมันบังเงา มันคิดถึงธรรมน่ะ “เป็นความว่าง สิ่งนี้เป็นปัญญา”...นี่อาศัยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเครื่องอยู่ อาศัยสิ่งนี้เป็นที่เกาะไว้

แต่เวลากิเลสมันโดนตะล่อมไว้หลายรอบ ตะล่อมไว้หลายทีน่ะ กิเลสมันบังเงา มันแสดงตัวออกมา มันเศร้า มันเหงา มันหงอย มันไม่เป็นความจริงน่ะ ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา สิ่งที่เป็นธรรมโอสถ สิ่งที่เป็นธรรมรสมันต้องมีของมัน ถ้ามีของมัน เราตั้งสติของเรา เราทำของเรา นี่เราต้องแลกมาด้วยความเข้มแข็ง แลกมาด้วยความจริงของเรา ถ้าแลกมา เราอาศัยจิตนี้เป็นเครื่องอยู่ เราพิจารณาของเรา เวลามันปล่อยมันวาง เวลาปล่อยวาง...ปล่อยวางสิ่งใด? ปล่อยวางสัญญาอารมณ์ ถ้าปล่อยวางสัญญาอารมณ์ พอมันปล่อยวางขึ้นมาตัวมันก็เป็นเอกเทศของมัน นี่สัมมาสมาธิ

ถ้าจิตมันปล่อยเป็นสัมมาสมาธิ...ทำไมมันถึงปล่อยล่ะ? มันไม่ได้ปล่อยเพราะอยากปล่อย มันไม่ได้ปล่อยเพราะเราต้องการให้มันปล่อย บังคับให้มันปล่อย เราบังคับ เราต้องการ เราขู่เข็ญมัน...ศึกษาธรรมมา เวลาทำมาแล้วเหมือนกับทำข้อสอบเลย เวลาเราทำข้อสอบ ตอบแล้วมันต้องมีผลของมัน นี่ก็เหมือนกัน นั่งสมาธิภาวนาเสร็จแล้วกี่ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมงขึ้นมาแล้วต้องมีผลตอบรับออกมา ผลตอบรับขึ้นมา ถ้าผลตอบรับต่างอันต่างจริง มันก็สักแต่ว่า “สักแต่ว่า” แค่นั้นน่ะ

แต่ถ้ามันเห็น “ทั้งรู้ ทั้งเห็น”

“รู้” คือรู้การเกิด

“รู้” คือรู้ชีวิตของเรา

รู้ตั้งแต่เกิด เราบวชเป็นพระ คนที่เสียสละไปก็รู้วันตาย แต่นี่เรายังไม่รู้ของเรา เราไม่รู้ของเรา เราไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อไร แต่เรามีแต่ความตั้งใจจริง เห็นไหม รู้เรื่องสมมุติสงฆ์ รู้เรื่องความเป็นไปของเรา แต่ยังไม่รู้ความเห็นความเป็นจริง

จิตมันเริ่มสงบ มันเริ่มความจริง ถ้าต่างอันต่างสักแต่ว่า มันก็ควบคุมสิ่งใดไม่ได้ แต่ถ้ามันมีสติปัญญาขึ้นมา เวลากำหนดพุทโธ กำหนดคำบริกรรม ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอมันปล่อยวางเข้ามาๆ มันปล่อยวาง นี่มันเริ่มมีสติปัญญา มันรับรู้ตัวมันเอง มันปล่อยวาง เราจะเห็นคุณค่า

คนที่เวลาปล่อยวางสิ่งใดเข้ามา ปล่อยวางเพราะสิ่งใด? ปล่อยวางเพราะเรามีเครื่องอยู่ไง อาศัยเครื่องอยู่นี่ให้จิตมันเกาะ จิตมันมีที่พึ่ง พอจิตมีที่พึ่ง...ดูสิ เวลาเขาอยู่กลางแดด มันร้อนนัก ถ้าเรามีร่มเรากางร่มเรา เราเข้าที่ร่มมันก็ร่มเย็น จิตใจนี่มันเร่าร้อน เร่าร้อนเพราะอะไร เร่าร้อนเพราะมันฟุ้งซ่าน เร่าร้อนเพราะมันคิดแต่เรื่องโลกๆ คิดไป รู้เห็นสิ่งที่มันคิด สิ่งที่มันคิดขึ้นมามันก็เป็นสัญญาอารมณ์ สัญญาอารมณ์คือสิ่งที่รู้อยู่แล้ว เคยรู้เคยเห็นขึ้นมามันก็สัญญา มันก็ซับมาในหัวใจ เวลาคิดก็คิดเรื่องนั้นแหละ คิดเรื่องที่สัญญามันซับไว้นั่นแหละ นั่นน่ะ คิดเรื่องเดิมนั่นแหละ นี่มันก็เผาตัวมันอยู่แล้ว มันรู้เรื่องเดิมๆ รู้เรื่องสัญญาอารมณ์

แต่ถ้าเรื่องความจริง เรื่องเป็นปัจจุบัน ถ้าสติปัญญา จากข้อวัตรปฏิบัติเราเกาะมันไว้ พอเกาะไว้ พอถึงเวลาแล้วมันปล่อย มันปล่อยเพราะมันเป็นความจริงนะ เพราะความจริง เพราะมีสติปัญญามันก็ปล่อย ปล่อยสัญญาอารมณ์ มันเป็นตัวมันจริงๆ มันปล่อยสิ่งใดมันก็เหลือพลังงาน พอเหลือพลังงาน ถ้ามีสติปัญญา พลังงานมันก็ชัดเจน

พอมันปล่อยแล้วมันเก้อๆ เขินๆ ปล่อยแล้วมันงงน่ะ “เอ๊ะ! ถ้ามันเป็นสมาธินะมันว่างๆ มันก็รู้ได้หมดนะ ออกมาอธิบายได้ทั้งนั้นเลย”

เวลาเป็นสมาธิจริงๆ นะ ไม่รู้ “เอ๊! มันเป็นอะไรนี่ มันเป็นอะไร...”...นี่มันยังไม่ชัดเจน สติปัญญามันยังไม่สมบูรณ์ ฉะนั้นทำบ่อยครั้งเข้า สติบ่อยครั้งเข้า พอสติชัดเจนขึ้นมา สมาธิก็คือสมาธิ มันมีความร่มเย็นของมัน มันเห็นของมัน พอเห็นของมัน มันเริ่มออกใช้ปัญญาของมัน

“ความรู้ความเห็น” ถ้ามันเห็นของมัน เห็นตามความเป็นจริงขึ้นมานะ มันบริหารจัดการของมันได้ ถ้าบริหารจัดการขึ้นมาได้นะ นี่ไง ถ้าบริหารจัดการได้มันเห็นคุณค่าแล้ว เวลาคนที่จิตสงบ จิตมีที่พักอาศัย เห็นไหม จะเห็นคุณค่าของการประพฤติปฏิบัติ จะเห็นคุณค่าของชีวิตของสมณะ

พอสมณะ เราจะตักตวงเอาอริยทรัพย์ เวลาเราเห็นช่องทาง เราอยากจะไปถึงเป้าหมาย ถ้าไปถึงเป้าหมายนะ เราเสียดายเพศนี้มาก เสียดายกาลเวลา เสียดายชีวิตของเราที่เราจะประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นไป ถ้าเรายังอยู่ในเพศนี้ เราไม่เสียดาย เราก็จริงจังของเรา เราก็ทำของเรา

ถ้าทำของเราไปนะ พอจิตเริ่มสงบเราก็รักษา ชำนาญในวสี การเข้าและการออก ดูแลรักษาจิตของเรา แล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าเราใช้ปัญญาขึ้นมาแล้ว มันจะเข้ามาทำความสงบได้ง่ายขึ้น เพราะมันใช้ปัญญา พอการใช้ปัญญาก็ปัญญาการรอบรู้ในกองสังขาร สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง มันคาด มันหมาย มันยึด มันมั่น มันวิตกวิจาร มันต้องการของมัน เห็นไหม นี่ถ้ามันรอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในตัวมันเอง

“คิดไปทำไม? ให้มันเป็นความจริงสิ”

ชำนาญในวสี เห็นไหม เวลาเข้าสมาธิก็เป็นสมาธิอยู่นี่ เป็นเพราะอะไรล่ะ?

เป็นเพราะเราตั้งสติ แล้วเราใช้คำบริกรรม ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ

“งานชอบ” ถ้างานมันชอบธรรม เราทำหน้าที่การงานตามหน้าที่ของเรา ถ้าผลของมันตามความเป็นจริง มันก็ต้องให้ผลตอบแทนในทางที่ชอบ

ทีนี้ มันไม่ชอบ ไม่ชอบเพราะอะไร เพราะเราปฏิบัติแล้วเราคาดเราหมาย “ทำแล้วไม่ได้ผล”...นี่มันไม่ชอบ ไม่ชอบเพราะอะไร เพราะเราวิตกวิจาร เราไปเกี่ยวอดีตเอามาเป็นปัจจุบันไง ถ้าเราทำต่อไป ผลมันคือผลใช่ไหม มันยังไม่ถึงผลนั้น มันเป็นอดีตใช่ไหม อดีต-อนาคต สิ่งที่เป็นอดีต เราไปเกี่ยวมาเป็นปัจจุบัน ถ้ามันยังไม่ได้ผล อนาคต ถ้ามันทำไปจริง มันก็จะได้ผลเป็นผลอย่างนั้น ถ้าได้ผลอย่างนั้น เราไปเอาอดีต-อนาคตมาเป็นปัจจุบัน มันไม่เป็นความจริงหมดเลย

“ปล่อยหมด” หน้าที่ของเราเราก็ทำของเราไป ถ้ามันเห็นของมัน มันเป็นจริงของมัน มันเข้าใจนะ พอมันเข้าใจขึ้นมา มันรักษาพื้นฐานได้ ถ้ารักษาพื้นฐานได้ ชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าและการออก ถ้าการเข้าและการออกมันทำของมันได้ ถ้าทำของมันได้ นี่ทั้งๆ เห็นๆ นี่แหละ

เวลาเราอ่านตำรับตำราขึ้นมา ครูบาอาจารย์เทศนาว่าการขนาดไหน นี่เป็นการบอกเล่า “จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น ทำไปเป็นอย่างนั้น” แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นความจริงท่านท้าทายมาก “ทำมาสิ ถ้าไม่เข้าตรงนี้มันจะไปที่ไหน มันต้องเข้าตรงนี้แหละ มันต้องเข้ามาตรงนี้ ถ้ามันไม่เข้ามาตรงนี้...”

ครูบาอาจารย์ท่านรู้อยู่แล้วว่าใครผิดหรือใครถูก ทีนี้ คำว่า “ผิด” หรือ “ถูก” มันน่าเห็นใจ น่าเห็นใจเพราะอะไร เพราะในการประพฤติปฏิบัติใหม่มันก็ธรรมดา คนฝึกหัดใหม่ คนทำงาน คนทำงานการฝึกหัดมันก็ต้องมีผิดพลาดเป็นธรรมดา จะว่าปฏิบัติไปแล้วจะมีถูกไปเลย ขิปปาภิญญา เวลาปฏิบัติปั๊บ มรรคสามัคคีมันรวมเลย สมุจเฉทปหาน ถ้ามันชำระกิเลสได้...มีไหม? มี แต่น้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วมันก็ต้องถูไถ

เริ่มต้นขึ้นมา ดูสิ ทางโลกเขาไม่เชื่อกันง่ายๆ หรอก ใครจะมีฐานะ-ไม่มีฐานะ เขาจะดูตัวเลขทางบัญชี ในบัญชีมีเงินจริงหรือเปล่า ถ้าในบัญชีมีแล้วเขาต้องพิสูจน์ด้วยว่าเงินที่ได้มาน่ะ ได้มาด้วยการฟอกเงินหรือเปล่า ฉ้อฉลหรือเปล่า โกงเขามาหรือเปล่า เขาต้องตรวจสอบนะ เขาไม่ไว้ใจกันหรอก นี่ว่ามีเงินจริงหรือเปล่า

นี่ก็เหมือนกัน เวลาว่าจิตมันสงบเป็นความจริง ที่บอกว่าเข้าไปจุดนั้นๆ น่ะ มันตรวจสอบกันได้ เพียงแต่ว่าคนที่ตรวจสอบมันมีน้อยไง คนที่ตรวจสอบจริงมันมีน้อย มันเป็นตรรกะทั้งหมด มันเป็นปรัชญาไปกันหมดเลย แล้วมันจะตรวจสอบกันอย่างไรล่ะ

ปรัชญา พูดให้เหมือน พูดให้คล้ายเท่านั้นน่ะ มันใกล้เคียง พอใกล้เคียงกันเองก็อนุโลมเอา

ใกล้เคียง...ใช่ ใกล้เคียง...ใช่

แต่มันไม่ใช่

ถ้ามันใช่ มันต้องให้ผลสิ ถ้ามันเป็นใช่ มันก็ต้องเป็นใช่ตามเป็นจริงของมัน ถ้าใช่ตามเป็นจริงของมัน มันเป็นความจริงของมัน ถ้าเป็นความจริง ความจริงก็คือความจริง ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไป เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านจะคอยชี้แนะเรา ถ้าคอยชี้แนะเรา คนที่จะชี้แนะเรามันต้องผ่านอย่างนั้นมา ถ้าไม่ผ่านอย่างนั้นมาจะรู้ได้ไหมว่าผิด ฉะนั้น ถ้าผ่านมาแล้ว การกระทำ นี่ไง ที่ว่าเราติดครูติดอาจารย์ก็ตรงนี้ ตรงที่ว่ามันไม่ต้องเสียเวลาเรานาน

คิดดูสิ เวลาปฏิบัติ เสียเวลาเราไหมล่ะ ดูสิ ครูบาอาจารย์บอกให้ทำความสงบของใจ เราทำเมื่อไรมันจะสงบ สงบแล้วเราชำนาญในวสี ถ้าชำนาญในวสีนี่มันไม่เสื่อมนะ คือพอชำนาญในวสีนี่รักษาใจนี้ได้ พอรักษาใจนี้ได้ เราใช้ปัญญาของเราไป พอใช้ปัญญาของเราไป เราแยก เราแยะของเราไป เราพิจารณาของเราไป มันจะเบิกทางเข้าไปเรื่อยๆ เปิดออก เปิดออก เปิดออก เปิดสิ่งที่ปิดหัวใจนี่ เปิดออก เปิดออก เปิดออกมันก็ต้องรู้สิ

ดูสิ เราเปิดห้องเปิดหับของเรา เปิดตู้เปิดไหของเรา เราต้องรู้ข้างในมันบรรจุสิ่งใดไว้ นี่เหมือนกัน เปิดออก เปิดสิ่งที่ความวิตกกังวล พอมันเปิดออก โอ้! ไปเห็นข้างใน ข้างในยังมีปัญหาให้เราแก้ ยังมีงานให้เราทำอีกมหาศาลเลย พออย่างนี้ พอเราเปิดตู้เปิดไหไม่ได้เราก็โอ้! เช็ดแต่ตู้ เช็ดแต่ฝาตู้ มันก็มีเท่านี้ เบื่อมากเลย แล้วเปิดออกไม่ได้ ถ้าเปิดออกข้างใน ในตู้นี่มันบรรจุสิ่งใดไว้อีกมหาศาลเลย

จิตสงบแล้วออกพิจารณากาย พอเห็นกายขึ้นมามันแยกแยะของมันไป มันมีทางไปมันมีมหาศาลเลย แล้วทางไปนี่มันเป็นประโยชน์ ยิ่งค้นยิ่งคว้า ยิ่งเกิดปัญญา พอเกิดปัญญานี่มันสะเทือนใจนะ พอเกิดปัญญาขึ้นมา สิ่งที่ว่า ดูสิ เราลูบคลำอยู่ข้างนอก เราก็ว่า “สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีอะไรเลย จะชำระสะสางด้วยความดีของเราหมดแล้ว ทำไมไม่เป็นความจริง”...มันจะเป็นความจริง-ไม่เป็นความจริงก็ใจเรานั่นน่ะ

ถ้ามันเศร้าหมอง...เวลามันดี มันดีชั่วคราว แล้วพอเรารักษาไม่ดีนะ พอมันเสื่อมมันถอยขึ้นมานะ ล้มกรูดๆ เลยนะ พอล้มกรูดๆ เลย มันมีอะไรล่ะ มันก็มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเราเปิดตู้ออกมานะ ข้างในมันล้มลุกคลุกคลานเพราะอะไรล่ะ เพราะในตู้นี่มันจะมีเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ให้เราได้พิสูจน์ตรวจสอบ

พอเปิดมาแล้ว สังขารเกิดจากที่ไหน สัญญามันจำข้อมูลมาจากอะไร วิญญาณรับรู้อย่างไร พิจารณากาย กายมันเกิดมาจากอะไร มันพิจารณา มันแยกแยะของมันนะ มันแยกแยะของมันน่ะ มันแยกแยะ มันเป็นไตรลักษณ์ของมัน...มันทำไมถึงเป็นไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์แล้วผลที่ใจมันเห็นไตรลักษณ์มันมีรับรู้สิ่งใด จิตที่เห็นไตรลักษณ์มันปล่อยไตรลักษณ์อย่างไร พอมันปล่อยไปแล้วมันเหลือสิ่งใดไว้ สิ่งที่ปล่อยมามันรับรู้ได้อย่างไร ถ้ารับรู้แล้วมันมีผลตอบสนองอย่างไร

ธรรมโอสถ ธรรมรสต่างๆ ที่มันชนะขึ้นมามันชนะอย่างไร ถ้ามันชนะอย่างนี้ เห็นไหม ทรัพย์อย่างนี้ เราจะหาอริยทรัพย์ ถ้ามันรู้มันเห็นของมัน สิ่งที่รู้ที่เห็นนี่ทำให้จิตใจนั้นองอาจกล้าหาญนะ แล้วจิตใจดวงนั้น ดูสิ ผู้มีศีลจะเข้าสังคมไหนก็ได้ สังคมไหนเราเข้า ไม่เคอะไม่เขินไง แต่ถ้าเราทุศีล เราจะองอาจกล้าหาญเข้าไปในสังคมไหม เพราะว่ามือมีบาดแผลนะ เราไม่กล้าไปจับสิ่งเชื้อโรคต่างๆ หรอก มันจะเข้าตามมือเรา ถ้ามือเราไม่มีบาดแผลเลยนี่มันทำอะไรก็ได้

จิตใจ ถ้าทำมามีความสงบร่มเย็น มันก็อหังการนะ ถ้าจิตสงบรักษาแต่ความสงบ แต่ไม่ใช้ปัญญา...อหังการมาก คิดว่าจิตนี่มันติดในความสงบ สงบนี่มันมีแสง มีแพรวพราวในหัวใจนะ มันก็คมกล้าบ้าบิ่นไปเลย แต่เพราะจิตมันสงบแล้วมันมีปัญญาของมัน เพราะปัญญาจะทำให้อ่อนน้อมถ่อมตน ปัญญามันจะค่อยๆ อ๋อ! จิตที่มันคมกล้า จิตที่มันแพรวพราวนี่มันเป็นสัมมาสมาธิ มันเป็นเรื่องฌานโลกีย์ มันเป็นเรื่องฤทธิ์เรื่องเดช เรื่องพลังงานของมัน พอมีปัญญาขึ้นมา ปัญญามันก็แยกแยะขึ้นมา มันพิจารณาของมัน อ๋อ!

นี่มีพลังงานขนาดไหน ปัญญาขนาดไหนนะ มันก็อนิจจัง มันเป็นของชั่วคราว มันไม่คงที่ไง พลังงานคือพลังงาน ตัวใจอวิชชามันครอบงำไว้มันก็เวียนตายเวียนเกิด นี่ที่ไม่รู้ไม่เห็น เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เกิดในวัฏฏะ แล้วนี่มาเกิดเป็นพระ นี่เรารู้เราเห็น

แล้วพอจิตสงบแล้วเราใช้ปัญญา พอพิจารณาของมันไป อ่อนน้อมถ่อมตนน่ะ อ่อนน้อมถ่อมตนเพราะอะไร อ่อนน้อมถ่อมตนเพราะมันพิจารณาของมันไปนะ อื้ม! ใครจะรู้ใครจะเห็นสิ่งนี้ สิ่งนี้ถ้าโดยตรรกะ โดยปรัชญา โดยทางโลกทางวิทยาศาสตร์ มันก็เป็นเรื่องโลก เป็นโลกียปัญญา แล้วขณะที่เป็นโลกียปัญญาจะพลิกมาเป็นโลกุตตรปัญญา ถ้าจะพลิกมาเป็นโลกุตตรปัญญา ถ้าจิตสงบแล้วมันมีความอ่อนน้อมถ่อมตน อ่อนน้อมถ่อมตนเพราะอะไร เพราะมันสงวนรักษา

เพราะถ้ามันแฉลบออกทางโลกไป มันก็ถลำไปเลย เป็นโลกนะ มันมีแรงดึงดูด มันมีความพอใจ มันซาบซึ้ง พอเป็นโลกๆ มันซาบซึ้ง มันเป็นแรงดึงดูดของตัณหาความทะยานอยาก นี่มันไหลไปแล้ว ผิดอีกแล้ว พลาดอีกแล้ว พอออกไป ดูสิ กว่าจะทำจิตสงบได้ แล้วพอพิจารณาไปๆ ฟั่นเฟือนไปจนออกเป็นโลกไปอีกแล้ว เป็นโลกียปัญญาไปแล้ว

พอดึงกลับมา พอมีความสงบ พอสงบแล้วมันเป็นที่ว่าถ้ามันองอาจกล้าหาญมันก็เป็นแพรวพราวของมันใช่ไหม ถ้าจิตมันสงบ ถ้ามีกำลังมาก เวลาพิจารณากาย กายจะใส ใสจนพิจารณาไม่ได้ มันไม่ลงเป็นไตรลักษณ์ไง มันไม่ลงเป็นไตรลักษณ์ มันคมกล้า มันกล้าแข็งของมัน เราใช้ปัญญาแยกแยะของมันๆ ให้มันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ให้มันสมดุลของมัน พอเป็นความสมดุลของมัน นี่ปัญญามันแยกแยะของมัน มันเห็นของมัน มันรู้ของมัน พอรู้ของมัน เห็นไหม ถ้าด้วยความแพรวพราว ด้วยความคมกล้า ด้วยความอหังการ มันเป็นเรื่องโลกๆ เรื่องทิฏฐิมานะ

แต่ถ้ามันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา มันอ่อนน้อมถ่อมตน มันแก้ไขตัวมันเอง ออกมาสั่งสอนใจ ให้ใจมันรับรู้ ใครจะรู้กับเราได้ เราอ่อนน้อมถ่อมตน อ่อนน้อมถ่อมตนกับธรรม แต่ในหัวใจมันมีธรรมรส มันมีความเข้าใจของมัน มันมีปัญญาของมัน มันแยกแยะของมันด้วยมรรคญาณของมัน มันยิ่งเห็นน่ะ เพราะปัญญาอย่างนี้ ปัญญาที่การแยกแยะอย่างนี้ โลกรู้กับเราไม่ได้ มันเป็นโลกุตตรปัญญา มันเป็นปัญญาที่เหนือโลก ถ้าเหนือโลก เราคุยกับโลกไม่ได้เลย โลกเข้าใจเราไม่ได้เลย ถ้าโลกเข้าใจไม่ได้ เราไปพูดกับเขานี่เราเป็นคนดีหรือคนบ้า เขาหาว่าเราเป็นคนบ้า แต่ความจริงเราเหนือโลก ธรรมเหนือโลก โลกุตตรธรรม

แต่โลกเขาบอกว่า “ทำอย่างนี้มันทำให้อ่อนด้อย ให้ไม่ทันคน”

ทันคน-ไม่ทันคน เอากิเลสไปทันเขาทำไม แต่เราจะทันกิเลสของเรา ทันความอหังการของเรา เห็นไหม ใช้ปัญญาแยกแยะๆ ถ้าความสมดุลของมัน มันก็เป็นไตรลักษณะ มันแปรสภาพของมัน มันเปลี่ยนแปลงของมัน เรารู้เราเห็นของเราน่ะ ดูสิ มันเป็นโลกุตตรปัญญา นี่มันเห็นของมัน มันรู้ของมัน ทั้งรู้ ทั้งเห็น ทั้งเป็นไป จิตใจมันมั่นคงของมัน

แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถึงอ่อนน้อมถ่อมตน ใครจะอหังการ ใครจะมีความรุนแรง เป็นสิ่งที่เรื่องของโลกเขา เราหลบ เราหลีก เราแก้ไข เราจะเอาตัวเรารอด ถ้าเอาตัวเรารอด นี่เราเอาตัวเรารอดได้

“อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

ตนสามารถจะเอาใจของเราพ้นจากภวาสวะ ภวาสวะนะ พ้นจากภพ ภพของเรานี่ พ้นจากกิเลสสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ พ้นจากภพ จากที่อยู่อาศัย จากถ้ำ จากคูหา จากสิ่งที่กิเลสมันครอบงำอยู่นี่ เราจะเอาใจเราพ้นน่ะ ถ้าเอาใจเราพ้น เราต้องรักษาของเราเอง เราต้องดูแลของเราเอง เห็นไหม มันรู้มันเห็นของมัน ถ้ารู้-เห็นของมันนะ มันจะอหังการไปไหน คนที่เขาอหังการเพราะว่ามันทิฏฐิมานะ ความมีทิฏฐิ พอทิฏฐิว่าเรารู้เราเห็นแล้วเราก็อยากให้คนอื่นเขารู้เขาเห็นกับเรา...มันเป็นไปไม่ได้

สิ่งที่เขารู้เขาเห็นกับเรา หนึ่ง เขาต้องใช้ความสงบร่มเย็นของเขาขึ้นมาให้เป็นกลาง ให้เป็นสัมมาสมาธิก่อน ถ้ามีสัมมาสมาธิ ถ้ามันพูดไป มันมาด้วยเหตุด้วยผล มันก็เป็นโลกียปัญญา เป็นเรื่องโลกๆ แล้วเรื่องโลกๆ มันเถียงกันจบไหม? มันเถียงกันไม่จบ ฉะนั้น มันเถียงกันไม่จบ พูดไปมันจะจบไหม

แต่พอมาใจเป็นสัมมาสมาธิ พอใจเป็นกลางขึ้นมา แล้วเป็นโลกุตตรธรรมขึ้นมานี่พูดกันรู้เรื่องแล้ว เพราะสิ่งที่มันพูดกันรู้เรื่องเพราะอะไร เพราะเราเข้าไปจุดเดียวกัน เข้าไปสู่มรรคญาณเหมือนกัน นี่อริยสัจอันเดียวกัน มันพูดกันเข้าใจ พอพูดกันเข้าใจ เราจะส่งเสริมกัน เราจะดูแลกัน พอดูแลกัน ดูแลจากไหน? ดูแลจากความเป็นจริงของเรา ถ้ามันพิจารณาของมันไปบ่อยครั้งเข้า นี่จับต้องได้ พิจารณาของมันซ้ำได้ นี่มันรู้-เห็นจากภายในนะ

“รู้-เห็นจากภายใน” ครูบาอาจารย์เป็นคนบอก เป็นคนสั่งเป็นคนสอน เป็นคนคอยชี้นำ แต่ถ้าเราปฏิบัติของเราเอง ถ้าเรารู้ของเราเอง มันเป็นปัญญาของเราเอง เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเราขึ้นมาได้ นี่ไง สิ่งนี้เรารู้เราเห็นหมดเลย

ดูสิ เวลาเขาเกิดตายในโลก พ่อแม่ไม่บอกไม่รู้หรอก พ่อแม่บอก เดี๋ยวนี้เขาจดไว้ที่โรงพยาบาล เกิดที่ไหน เกิดที่โรงพยาบาลนั้น นี่เขาจดเอาไว้หมดแล้ว เพราะทางสถิติ ทางโรงพยาบาลเขาต้องจดไว้...เราไม่รู้ไม่เห็นของเรา เดี๋ยวนี้เกิดที่โรงพยาบาลกันทั้งนั้น มนุษย์เรามันจะเป็นไก่ไปเรื่อยล่ะ สายพันธุ์ไหนๆ ไปอยู่ที่โรงพยาบาลหมดน่ะ นี่มันเป็นเรื่องโลกไปหมด

แต่ถ้าพอเรามาบวชเป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมา เรารู้ตกฟากของเรา เรารู้ เราเกิดเราก็เห็น เราเป็นคนเปล่งวาจากับอุปัชฌาย์เอง เราขอบวชเอง แล้วเราก็ยกขึ้นหมู่มาแล้ว เราเป็นพระของเราเอง แล้วเราปฏิบัติเราก็ล้มลุกคลุกคลานของเราเอง ถ้าใครทุกข์ก็ทุกข์ในหัวใจเอง แต่ถ้าปฏิบัติขึ้นมามันเป็นความจริงนะ แต่! แต่เรายังมีวาสนา เรายังมีหมู่มีคณะ แม้จะไม่ถูกใจเรา แม้แต่จะไม่เห็นด้วยกับเรา

แต่ถ้า...ดูสิ ดูเมล็ดพันธุ์พืช ในป่า ดูสิ ไม้เบญจพรรณ หญ้าต่างๆ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับทางโลกนะ ทางโลกคือไม่เป็นประโยชน์กับเขา แต่มันเป็นประโยชน์กับในป่านั้นน่ะ แม้แต่เฟิร์นต่างๆ ยังคลุมดินไว้ให้ดินชุ่มชื้น ไม่มีสิ่งใดไม่เป็นประโยชน์เลย มันเป็นประโยชน์ทั้งนั้นน่ะ เป็นประโยชน์ของป่าเขา แต่ไม่เป็นประโยชน์กับมนุษย์

ฉะนั้น สิ่งที่มันอยู่ในป่ามันยังส่งเสริมกัน จุนเจือกัน แล้วเราเกิดมาเป็นพระ เราเกิดโดยความตั้งใจของเรา แล้วเรามีหมู่คณะของเรา มันจะไม่ถูกใจไม่เหมือนกับเราปรารถนา เราต้องการ เป็นความจริงอยู่แล้ว เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรามันอยากได้ตามจินตนาการของมัน อยากได้ตามความคาดหมายของมัน แล้วมันจะไม่ได้ตามความเป็นจริงแน่นอน...ไม่ได้หรอก ที่ไม่ได้ปั๊บ เราก็อึดอัดขัดข้องไป

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา เรามีหมู่มีคณะ เรามีผู้ที่ประพฤติปฏิบัติร่วมด้วยขนาดนี้ มันเป็นบุญเราขนาดไหน ถ้าอยู่ที่ไหนเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาสิ ถ้าเขาไม่ปฏิบัติกัน เราไปปฏิบัติก็ไปขัดแย้งกับเขา นี่เราปฏิบัติของเรา เราต้องหาช่องทางของเรา...มันเป็นกันหมดน่ะ ลองมีประสบการณ์ มันจะเข้าใจเรื่องอย่างนี้หมดเลย

แล้วถ้ามันอย่างนี้แล้ว เราจะไปตื่นเต้นเอาสิ่งใด เรื่องสภาวะแวดล้อม เราได้ขนาดนี้เราก็มีบุญกุศลมากขนาดนี้แล้ว เราถึงได้หมู่คณะที่จงใจ ตั้งใจ มีเป้าหมายอันเดียวกัน เพราะปฏิบัติธรรม เราเป็นพระกรรมฐาน กรรมฐานหลักอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของเรา แล้วถ้ามันรู้มันเห็นขึ้นมาตามความเป็นจริงของมันน่ะ เราเป็นประโยชน์ของเราเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

ฉะนั้น สิ่งที่เรามาลงอุโบสถกันอยู่นี่ เพื่อความสมานฉันท์ เพื่อความเข้าใจของเรา ตั้งแต่เราบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าให้ลงอุโบสถสังฆกรรมร่วมกัน ให้เป็นหมู่เป็นคณะกัน สิ่งที่ขาดเหลือเจือจานให้ดูแลกัน สงฆ์ไม่ดูแลสงฆ์ ใครจะดูแล สงฆ์ด้วยกันดูแลกัน ช่วยเหลือเจือจานกัน แต่ใครถ้ามีความจำเป็น เขาต้องตายจากพระไปเป็นฆราวาส นั่นก็เรื่องธรรมดา นี้ตายทั้งรู้ทั้งเห็นนะ

แต่ถ้ามันตายในวัฏฏะ มันไม่รู้ไม่เห็นนะ เวลาตายไปแล้วก็สิ้นอายุขัยไป ไปเกิดเป็นอะไรก็ยังไม่รู้ ถ้าทำคุณงามความดีมันก็ได้ผลของเขาตามเวรตามกรรม แต่นี่เรารู้เราเห็นของเรา เราจะทำประโยชน์กับเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ

ตั้งใจ ตั้งใจแล้วรักษาหัวใจของตัว

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

ถ้าเราเห็นธรรมแล้ว ถ้าครูบาอาจารย์ท่านพูดเทศนาว่าการ ถ้าเราเห็นนะ ถ้าโต้แย้ง ถ้าตรงข้าม อาจารย์ที่พูดโกหกทั้งนั้นน่ะ เราย้อนศรได้เลย ย้อนศรกลับไปเลย แต่ถ้าเราปฏิบัติไปแล้ว ถ้าถึงที่สุดแล้วนะ ถ้าที่อาจารย์พูดกับที่เราเห็นจริง พอมันรู้จริง นี่ไง ความจริงคือความจริงที่เข้ากันได้พอดี ความจริงกับความจริงอันเดียวกัน

แต่ประสบการณ์ของครูบาอาจารย์ มีอายุพรรษาที่แก่กว่า แล้วจะล่วงไปก่อนเรา แล้วเราจะเดินตามมา นี่ศาสนทายาท เพื่อศาสนา เพื่อความมั่นคงของศาสนา

“ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

สิ่งที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่พึ่งที่อาศัยของเรา

ชีวิตนี้เกิดมาจิตหนึ่ง เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ได้บวชเป็นพระ ได้พยายามขวนขวาย พยายามประพฤติปฏิบัติ เป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้เป็นที่พึ่งกับหมู่คณะได้ เราจะเป็นศาสนทายาท เอวัง