เทศน์บนศาลา

ใจไม่เอาถ่าน

๒๖ ต.ค. ๒๕๕๔

 

ใจไม่เอาถ่าน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อความสงบร่มเย็นของใจนะ ถ้าใจสงบร่มเย็น เรามีศักยภาพ ถ้าเราไม่มีความมีศักยภาพ เห็นไหม ฟังธรรมแล้วไม่เข้าใจ “ฟังธรรม” ถ้าฟังธรรม เราเข้าใจ

“คนมีคุณภาพ” เวลาดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาท่านเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ โลกพยายามจะดึงไว้ โลกพยายามจะดึงไว้นะ “โลกกับธรรม” สมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ธรรมะยังไม่มี ธรรมะมันก็เป็นธรรมะแบบโลก เพราะมีศาสดา มีผู้ปฏิญาณตนว่าเป็นศาสดา มีลัทธิศาสนาอยู่ก่อนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะออกประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมา โลกพยายามจะดึงไว้

“โลกพยายามดึงไว้” หมายถึงว่า พระเจ้าสุทโธทนะพยายามจะดึงไว้

โลกพยายามจะดึงไว้ เพราะคนมีคุณภาพ

ถ้าคนมีคุณภาพ ที่ใดก็ปรารถนา คนมีคุณภาพนะ ถ้าคนไม่มีคุณภาพ ที่ไหนเขาไม่ปรารถนาทั้งนั้น ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมา เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนามาเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างคุณงามความดีมามหาศาล ฉะนั้น เวลาเกิดขึ้นมา เวลาเกิดมาแล้ว เปล่งวาจาที่สวนลุมพินีฯ ว่า “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ออกประพฤติปฏิบัติทั้งนั้นน่ะ

ฉะนั้น เวลาพระเจ้าสุทโธทนะให้พราหมณ์พยากรณ์ พราหมณ์พยากรณ์แล้วว่า “ถ้าได้อยู่ทางโลก จะได้เป็นจักรพรรดิ แต่ถ้าออกบวช จะได้เป็นศาสดา”

ฉะนั้น เวลาพระเจ้าสุทโธทนะ พราหมณ์พยากรณ์ไว้ ก็พยายามจะดึงไว้ไง ดึงไว้อยู่กับทางโลก

“โลกกับธรรม” เวลาโลก ทุกคน ถ้าเป็นคนดี คนที่มีคุณภาพ ที่ไหนเขาก็ปรารถนาทั้งนั้นน่ะ สังคม ถ้ามีคนดีอยู่จำนวนมาก สังคมนั้นจะมีความร่มเย็นเป็นสุข สังคมไหนมีแต่คนพาลนะ ทำให้สังคมนั้นมีความกระทบกระเทือนกันตลอด คนพาลน่ะ ทำสิ่งใดมันก็กีดขวางเขาไปทั่ว ถ้าเป็นคนดี คนดีที่ไหนก็ปรารถนา ถ้าเป็นคนดี ถ้าคนดี ดีที่ไหนล่ะ? มันดีอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ มันไม่ใช่ดีเพราะเราว่าเราดี

เวลาเจ้าชายสิทธัตถะ ไม่ได้ปฏิญาณตนว่าเป็นคนดี ปฏิญาณตนว่า “เราเกิดมาชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” คำว่า “ชาติสุดท้าย” นี่จิตใต้สำนึกมันมีสิ่งนี้เรียกร้องอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีเรียกร้องอยู่ตลอดเวลา แต่ยังไม่มีการค้นคว้า ยังไม่มีการกระทำ ไม่มีการกระทำ เห็นไหม มันก็เปล่งแสงไง เปล่งแสงคือคุณงามความดีน่ะ คุณงามความดีเป็นคุณงามความดีอยู่แล้ว ถ้าคุณงามความดี ถ้าที่ไหน คนที่มีจิตใจมีคุณงามความดี การทำสิ่งใด การตั้งใจ การกระทำ เห็นไหม สิ่งนั้นมันจะมีแนวโน้มไปทางที่ดี

ดูสิ ถ้าคนดี เขาจะให้คนอื่นได้ประโยชน์ก่อน เขาจะดูแลของเขา เวลาเจ้าชายสิทธัตถะ เวลาเป็นพระโพธิสัตว์ ถ้าเป็นสัตว์ก็เป็นหัวหน้าสัตว์ เป็นผู้ดูแลฝูงนะ ถ้าฝูงมีเหตุมีภัยขึ้นมา จะเป็นผู้ที่สั่งการ เป็นผู้ที่ดูแล จะเกิดเป็นสิ่งใดก็แล้วแต่ จะเป็นผู้เสียสละให้สังคมนั้นมีความร่มเย็นเป็นสุข นี้คือพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์พาคนทำบุญกุศล ทำแต่คุณงามความดี เป็นหัวหน้า ทำขึ้นมาถึงได้มีบารมี

เวลาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เวลาคนทำบุญกุศล เขาบอก เพราะว่าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่ใช่ เป็นเพราะท่านทำมาทั้งนั้นน่ะ ท่านได้เสียสละมา ท่านได้ทำของท่านมา การเสียสละ ทำมาจนจิตใจมั่นคง จิตใจไม่วอกแวกวอแว

แต่ของเรา จิตใจของเราโลเล จะทำสิ่งใดก็คิดว่าจะเสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา นี่เรื่องของโลกๆ ทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น คนดีอยู่ที่ไหน คนก็ต้องการ แล้วถ้าจิตใจเราดีล่ะ ถ้าจิตใจเราดี เราต้องการให้จิตใจเราเป็นคนดี นี่เราเกิดมาในโลกนี้ สิ่งที่อยู่กับโลก สิ่งนี้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าโลกนี้ อยู่ที่เราอยู่กับเขา มันมีสิ่งใดเป็นความจริงจังบ้างล่ะ

สังคม เวลาอยู่ในสังคม เราต้องทันสังคมนะ ถ้าเราไม่ทันสังคม เราก็เป็นเหยื่อของเขา ถ้าเราเป็นเหยื่อของเขามันก็เป็นนิสัยของคน นิสัยของคน เห็นไหม โทสจริต โมหจริต โลภจริต ถ้าโลภจริตมีแต่ความโลภมันก็เป็นเหยื่อของเขาตลอดไป ถ้าเป็นโทสจริต มันก็แหย่ไม่ได้ สิ่งใดไม่ได้เลย โลภจริตไม่ต้องบอกเขาก็หลงอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามีปัญญาล่ะ เรามีปัญญานะ โลกมันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว โลกมันสิ่งที่มีการแข่งขัน นี่เราจะไว้ใจสิ่งใดไม่ได้เลย เราต้องมีสติปัญญาของเรา เราต้องแยกของเรา ต้องใช้ปัญญาของเราไตร่ตรองของเรา ถ้าไตร่ตรองของเรา นี่เรื่องของโลกๆ ยังต้องใช้ปัญญาขนาดนั้น

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกบวชนะ เพราะว่าอยู่กับโลก โลกเขาพยายามดึงไว้นะ จะปรนเปรอขนาดไหน แต่จิตใจของคนฝักใฝ่ ฝักใฝ่เพราะสร้างแต่คุณงามความดีมา โลกดึงไว้นะ แต่นี่เราอยู่กับโลก แล้วเราออกจากโลก เราออกไม่ไหวกันน่ะ เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เวลาจะปฏิบัติธรรมก็ห่วงว่าชีวิตประจำวันมันจะสูญเสียไป ต้องปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน นี่ดึงธรรมให้ต่ำมา ดึงฟ้าต่ำ ดึงฟ้าต่ำตลอดเวลา

ในเมื่อชีวิตประจำวันจะมีคุณงามความดีขนาดไหน เกิดมาเป็นคน เกิดมาเป็นมนุษย์ มันจะมีค่าขนาดไหน “เนื้อ” เวลาตายไป เนื้อก็ขายไม่ได้ เวลาสัตว์มันตายไป เนื้อมันยังเป็นอาหารของคนนะ เวลาคนตายไป เนื้อเหรอ เนื้อก็เป็นอาหารของแมลงไง นี่มันมีค่าแค่ไหนน่ะ ชีวิตมันมีค่าแค่ไหน

ถ้ามันมีค่า ปฏิบัติธรรมเพื่อในชีวิตประจำวัน จะทำสิ่งใดก็เอาตัวตนเป็นใหญ่หมดเลย นี่เวลาเราอยู่กับโลก โลกก็เป็นแบบนั้น เราก็ทุกข์ เราก็รู้อยู่แล้วว่าโลกมันเร่าร้อนแค่ไหน เราจะหาทางออกของเรา เราก็ต้องจริงจังของเรา เราจะสละเวลามาได้มากได้น้อยแค่ไหน เราเสียสละมาแล้วเราก็ต้องตั้งใจของเราเพื่อทำความดีของเรา ถ้าเราออกบวช ออกบวช เราประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะเอาจริงเอาจังของเรา โลกมีเท่านี้จริงๆ นะ เวียนตายเวียนเกิดกันอยู่อย่างนี้ งานของโลกไม่มีวันที่สิ้นสุด

มันจะเจริญรุ่งเรืองขนาดไหนนะ ถึงเวลาคราวมันตกต่ำนะ ดูสิ ไม่มีประเทศชาติใดจะคงที่อยู่ตลอดไป เป็นไปไม่ได้หรอก ดูสิ ดูรายได้ของประเทศชาติของเขามันจะเจริญอยู่อย่างนั้นได้ไหม เพราะทรัพยากรมันใช้ไป ต่างๆ มันใช้ไป แล้วคนเวลามันทุกข์มันยาก มันช่วยเหลือเจือจานกัน เวลามันสุขขึ้นมา มันอิ่มหนำสำราญขึ้นมามันก็นอนใจ พอนอนใจมันก็มีการแข่งขันกัน เวลาคนที่เขาทุกข์เขายาก เขาพยายามของเขา เขาขวนขวายของเขา เดี๋ยวเขาก็แซงหน้าไป มันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว มีขึ้นก็มีลงเป็นธรรมดา มันเป็นของธรรมดาของโลกเขา แล้วเราเกิดมา เกิดเวียนตายเวียนเกิดกับโลกเขาอยู่อย่างนี้ นี่เวลาเวียนตายเวียนเกิดนะ นี่พูดถึงผลของวัฏฏะ ถ้าเวียนตายเวียนเกิดในโลกก็เกิดเป็นมนุษย์น่ะมีค่า คำว่า “มีค่า” มีโอกาสไง

ทุกคนสงสัยนะ ทุกคนว่า “ถ้าเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม ทำไมมันจะไม่มีค่าอย่างใด?”

มันเกิดด้วยบุญกุศลจากการทำจากมนุษย์ เวลาเกิดเป็นบุญกุศลขึ้นมา เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมไปแล้วมันก็เสวยบุญ เสวยวิบากกรรม กรรมดีให้ผลมันก็ไปเสวยผลของมัน ถึงเวลาแล้วมันก็หมดบุญบารมี มันก็เวียนมาเกิด มันก็เวียนมาอีก มันหมุนมาอย่างนี้ แล้วหมุนมาแล้ว ดูสิ มันเป็นคราวเป็นกาล

ดูสิ “ภัทรกัป” ภัทรกัปของเรา พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ พระสมณโคดมเป็นองค์ที่ ๔ องค์ที่ ๔ นะ เวลาเราย้อนดูทางประวัติศาสตร์ ใครเรียนประวัติศาสตร์จะรู้ว่าเวลามันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ดูสิ สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่ประเทศอินเดียนะ เจริญรุ่งเรืองมาก เรื่องทางวิชาการ ศิลปวัฒนธรรมนี่สุดยอดเลย

เวลาหมด เวลาเผยแผ่ไปชนบทประเทศ แล้วชมพูทวีป มันเสื่อมโดยตัวมันเอง ขนาดนี่ศาสนา ถึงว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดเอาไว้เองว่า “ชีวิตเราสั้นแค่ ๘๐ ปี ฉะนั้น เราจะวางธรรมวินัยไว้ ศาสนาจะมี ๕,๐๐๐ ปี” ขนาด ๕,๐๐๐ ปีนะ หมดไปพันกว่าปีมันก็เริ่มเสื่อมไปแล้ว แล้วพอกึ่งพุทธกาล ศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองอีกหนหนึ่ง

ในปัจจุบันนี้ พระจากชนบทประเทศพยายามจะฟื้นฟูชมพูทวีป จะไปฟื้นฟูศาสนากัน เพราะว่ามันได้หมดไปจากชมพูทวีป นี่ไง มันยังเสื่อมไปของมัน แม้แต่ในศาสนาของสมณโคดมของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา มันยังมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญอยู่ของมันอย่างนั้นเลย

แล้วปัจจุบันนี้มันฟื้นฟูกันขึ้นมา ฟื้นฟูขึ้นมาเพราะคนมีบุญนะ ฟื้นฟูขึ้นมาเพราะเรามีครูบาอาจารย์ของเรานะ ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์ของเรา เราทำสิ่งใด เราก็ทำแบบวัวแบบควายน่ะ วัวควาย ดูมันไถนาสิ เวลาคนใช้งาน วัวควายถ้าเขาไม่ได้ฝึกฝน มันไถนาไม่ได้ ราคาโคเนื้อมันก็ได้แค่เนื้อมัน แต่ว่าเวลาเราฝึกฝนจนมันไถนาเป็น นี่ทำตัวเหมือนควาย ถึงเวลาก็ไถนาไง พอเทียมแอกเข้าไปมันก็ลากไป ลากกันไปอยู่อย่างนั้นน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติก็ปฏิบัติแบบวัวแบบควายไง ทำสักแต่ว่าทำกัน แต่ถ้ามันมีสติปัญญาขึ้นมา เราไม่ใช่ควาย เราเป็นคน เป็นมนุษย์ แล้วมีสติปัญญา ดูสิ ผลของวัฏฏะที่เขาเวียนตายเวียนเกิดมันก็เป็นอยู่อย่างนี้ แล้วเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์ อริยทรัพย์เพราะอะไร เพราะมันมีสมอง มันมีสมองนะ ถ้าเป็นคนดีมีคุณภาพ มันมีสติปัญญาของมัน มันจะเป็นประโยชน์ เห็นคุณค่า

ดูสิ “สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” แต่เราแสวงหากัน เราพยายามจะทำความมั่นคงของชีวิต ชีวิตนี้จะอยู่ค้ำฟ้า พยายามอยากมีชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ มันเวียนตายเวียนเกิดอยู่อย่างนั้นน่ะ ประวัติศาสตร์เราก็มีของเราแล้วเราเกิดมาศึกษากับชีวิต กับสิ่งที่เราได้ทำไว้น่ะ เรารู้ตัวหรือเปล่า? เราไม่รู้สิ่งใดๆ เลย เกิดใหม่ก็ชาติใหม่ ตื่นเต้นไปกับความเกิด เวลาตายไปก็เศร้าโศกเสียใจ เวลามา เห็นไหม กำไว้เลยน่ะ ร้องออกมาตั้งแต่คลอดออกมา ยึดไว้ กำไว้ เวลาตายไปแบมือทุกคน จนเขาต้องสั่งไว้นะ สั่งว่าเอาดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้พระ ต้องตราสังไว้ ไม่สังไว้ มือมันแบหมด เวลามาน่ะกำมาเลย เวลาจะไปน่ะแบหมด

เวลาเกิดมา มีสิ่งใดมากับเราด้วย เวลาเกิดมามีสิ่งใดเกิดมา “เจ้ามา เจ้ามีอะไรสิ่งใดมา เวลาเจ้าไป เจ้าจะเอาสิ่งใดไปกับเจ้า” แล้วก็เวียนตายเวียนเกิดกันอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา เกิดมาแล้วไม่เสียชาติเกิด ถึงเรามีความจำเป็นกับทางโลก เราก็ต้องอยู่กับทางโลกของเรา แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราจะเติมบุญกุศลของเรา เราจะทำคุณงามความดีของเรา ถ้าเราทำคุณงามความดีของเรา นี่ถ้าจิตใจมันรู้จักนึกคิด

เวลาทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ ว่าทุกข์ยากนัก ทุกข์ยากนัก เวลามาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ให้นั่งเฉยๆ ให้เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา นี่งานของเรา งานส่วนตัวของเรานะ ถ้าเราทำได้ก็เป็นงานของเรา ถ้าคนมันมีคุณภาพมันจะรู้ของมันว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์และสิ่งใดไม่เป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นประโยชน์นะ เวลาอารมณ์มันกระทบกระเทือนหัวใจเข้ามา นี่ไง โทสจริต ถ้ามันมีความโกรธขึ้นมาแล้ว โทสะมันเกิดแล้ว แล้วมันก็เบียดเบียนเราแล้ว ร้อนเป็นไฟอยู่นี่ ดูสิ มันร้อน ร้อนจนอยู่ไม่ติด นี่งุ่นง่าน งุ่นง่าน แล้วไปทำลายคนอื่น มันเป็นประโยชน์อะไรขึ้นมา นี่พาล ถ้าเป็นคนพาล มันไม่มีอะไรเป็นประโยชน์สิ่งใดในหัวใจหรอก

แต่ถ้ามันเป็นบัณฑิตล่ะ มันเป็นบัณฑิต มันมีสติปัญญาของมัน มันคุ้มครองดูแลของมัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกแสวงหา ออกประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ประพฤติปฏิบัตินะ ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเพื่อใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเกิดมา นี่โลกพยายามดึงไว้ โลกพยายามดึงไว้ พ่อแม่พยายามดึงไว้ ดึงไว้หมดล่ะ เพราะต้องการเอาไว้ให้เป็นจักรพรรดิ

แล้วในสถานะของโลก ความคิดของโลก แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกประพฤติปฏิบัติ ๖ ปี เหมือนคนทุคตะเข็ญใจ ไม่มีสิ่งใดๆ ยืนยันถึงการดำรงชีวิตนั้นเลย แสวงหาเอาแบบนักบวชนะ นักบวชที่ยังไม่มีศาสนา นักบวชที่กำลังประพฤติปฏิบัติกันอยู่ ประพฤติปฏิบัติกันมา ทำทุกรกิริยา ทำต่างๆ เพื่อทรมาน นี่ไง โลกกับธรรม นี่มันโลกล้วนๆ มันยังไม่มีธรรมะอะไรเลย

เวลาไม่มีธรรมะสิ่งใด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปแสวงหากับเจ้าลัทธิต่างๆ นี่สั่งสอนขนาดไหนก็ไม่เข้าใจ ทำถึงที่สุด ถ้าเขามีคำสอนขนาดไหน ทำถึงที่สุดแล้วมันก็แก้อะไรไม่ได้ ถึงต้องย้อนกลับมา คำว่า “ธรรม” ธรรมมันเกิดมาจากไหน ธรรมเกิดมาจากตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปลงใจนะ ถ้าเราไปศึกษามากับเขา มันไม่มีทางไปแล้ว ไม่มีทางไป ทุกลัทธิ ทุกคำสอนต่างๆ ทำไว้หมดแล้ว

ถึงสุดท้ายแล้ว เสี่ยงทายเลยนะ ปลงใจว่าเราจะฟื้นฟูร่างกาย นางสุชาดาพยายามจะแก้บน จะถวายอาหารเทวดา ไปเจอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถวายข้าวมธุปายาส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉันอาหารอันนั้นแล้วลอยถาดเสี่ยงทาย เสี่ยงทายทุกอย่าง นี่บุญสร้างมา สิ่งที่สร้างมา โลกจะดึงไว้ขนาดไหน ด้วยบุญกุศลอันนั้น แต่ถ้าเป็นคนอื่น ถ้าเป็นพวกเรา ถ้าโลกดึงไว้มันก็เสร็จ ถ้าโลกดึงไว้ก็ไปอยู่กับโลก มีความโน้มเอียงไปกับเขาหมดน่ะ แต่นี่โลกจะถึงไว้ขนาดไหนก็ต้องแสวงหา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสี่ยงทายเลย “ถ้าจะได้ตรัสรู้ ลอยถาด ถาดจะลอยทวนน้ำขึ้นไป”

ถาดก็ลอยทวนน้ำขึ้นไปเพราะด้วยบุญบารมี เวลาประเพณีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ประพฤติปฏิบัติมา เพราะถาดของเจ้าชายสิทธัตถะก็เป็นใบที่ ๔ ไปทับลงไป จะใบที่ ๕ ก็ต้องไปทำเป็นอย่างนั้น ทีนี้ประเพณีเขาเป็นอย่างนั้น ประเพณีสร้างมา สุดท้ายแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเป็นอย่างนั้น นี่ลอยถาดไป ทวนน้ำไปก็ได้กำลังใจ

สุดท้ายแล้ว นั่งอานาปานสติกำหนดลมหายใจ

นี่ธรรมจะเกิด เกิดที่ไหน? ธรรมจะเกิด เกิดที่ไหน?

เกิดในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาเกิดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความรู้สึก ความนึกคิดต่างๆ ที่มันสงบ-ไม่สงบ ถ้าไม่สงบมันก็ฟุ้งซ่าน ไม่สงบมันก็ทำลายตัวเราเอง แต่เวลาอานาปานสติ จิตมันมีกำลังของมัน บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ จนสิ้นไป แล้ววางธรรมและวินัยไว้ นี่ธรรมถึงได้มีไง ถึงได้มีธรรม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นอยู่ ไปก็มีแต่ผู้สอนผิด ผู้สอนผิดคือเจ้าลัทธิต่างๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษามานี่มันไม่มีอะไรถูกทางเลย ทำไปแบบโลกๆ ฌานโลกีย์ ความรู้ต่างๆ เป็นสถิติ เป็นจินตนาการ เป็นต่างๆ ก็ทำกันไป แต่เขาก็อยู่ของเขากันได้ เขาอยู่กันได้ก็เพราะคุณภาพของคนมันมีอย่างนั้นน่ะ คุณภาพของเขา เขาเชื่อของเขาอย่างนั้น

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมา นี่ไม่เชื่อ ไม่เชื่อแล้วพยายามแสวงหา พยายามค้นคว้าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนเป็นความจริงขึ้นมา เพราะมันเห็นจริง รู้จริงเห็นจริงหมด บุพเพนิวาสนานุสติญาณ อดีตชาติไป ทบทวนแล้ว ถ้าเป็นเรารู้อดีตชาติขึ้นมา มันก็มีอหังการถ้ามันอหังการ พอบุพเพนิวาสานุสติญาณไปถึงที่สุด ดึงกลับ พอดึงกลับเป็นปัจจุบัน แล้วกำหนดจิตสงบลงมันส่งออกไปอีก จุตูปปาตญาณ รู้ กำหนดรู้ขนาดไหน เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มา สิ่งนี้อาฬารดาบสก็รู้ ทำสมาบัติ ๘ แต่เขาเป็นเรื่องสมาบัติ ฌานสมาบัติมันก็ออกรู้ได้

แต่ขณะที่นี่เป็นวิชชา เป็นวิชชาที่จิตเข้ามาโดยสัจจะข้อเท็จจริงของจิต วิชชา ๓

พอวิชชา ๓ พอดึงกลับมา รวมกลับมาให้เป็นปัจจุบัน พอปัจจุบัน อาสวักขยญาณ ทำลายกิเลสอวิชชาสิ้นไปจากใจ เป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา มันไม่มีใครเจาะฟองอวิชชาออกมาได้ เป็นไก่ตัวแรก เป็นศาสดา เป็นผู้รู้จริงขึ้นมา

พอความรู้จริงขึ้นมามันก็มี “โลกกับธรรม” จากที่ว่าโลกดึงไว้ ไม่อยู่กับโลก ถ้าโลกดึงไว้อยู่กับโลกมันก็อยู่กับโลก มันก็จะเกิดตายไปอีก แต่ถ้าพอมาแสวงหา มาค้นคว้าสัจธรรม พอค้นคว้าสัจธรรม โพธิญาณก็ได้โพธิญาณมา การกระทำ การฝึกหัดมา มันการฝึกหัด การค้นคว้าในการกระทำในหัวใจนั้นมันเป็นความจริงขึ้นมา พอเป็นความจริงขึ้นมา สิ่งนี้มันละเอียดลึกซึ้ง

หมายถึงว่า “โลกกับธรรม” สิ่งที่เป็นธรรมขึ้นมา ถ้ามันมีคุณภาพ คนที่มีคุณภาพ คนที่มีสัจจะ มีความจริง มันก็มีคุณภาพมาจากหัวใจ มีคุณภาพมาจากมโน “มโนกรรม” ตั้งแต่ความรู้สึกนึกคิด นี่คนดีคนชั่วมันอยู่ที่นี่

ถ้าพูดถึงร่างกาย ร่างกายของคนมันก็เหมือนกันทั้งนั้นน่ะ มันจะสูงจะต่ำ จะดำจะขาว แตกต่างกันเล็กน้อย แต่มันก็อาการ ๓๒ เหมือนกัน มันแตกต่างกันตรงไหน ร่างกายมนุษย์กับมนุษย์มันแตกต่างกันตรงไหน? มันก็ไม่แตกต่างกันมากมาย มากเกินไปหรอก แต่ความรู้สึกนึกคิดของคนนี่มันแตกต่างราวฟ้ากับดินนะ เวลาคนชั่วมันชั่วได้สุดๆ เวลาคนดีมันก็ดีจนเป็นเทวดา เห็นไหม มนุสสติรัจฉาโน มนุสสเทโว มันเป็นอย่างนั้นเลยล่ะ คนจะสูงจะต่ำนี่มันอยู่ที่หัวใจ อยู่ที่ความรู้สึกนึกคิดนะ ถ้าความรู้สึกนึกคิดมันดี ทำสิ่งใดขึ้นมาก็ออกมาดี เพราะมันเริ่มต้นจากความรู้สึกนึกคิดนี้

ฉะนั้น เวลาวางธรรมและวินัยไว้ ดูสิ สมัยชมพูทวีป แล้วกาลเวลา พอคนมันคุ้นชิน คนมันต่างๆ กัน แล้วสิ่งที่ศาสนามันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา แต่ผู้ที่เขาเห็นต่างเขากลับมาทำลายจนหมดไปจากชมพูทวีปน่ะ แล้วพอมาเจอชมพูทวีป

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “กึ่งพุทธกาล ศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง”

เรามีครูมีอาจารย์นะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ท่านค้นคว้าของท่านขึ้นมา...ใช่ ในเมืองไทยมันมีพระมาแต่สมัยไหนแล้ว ดูสิ ตั้งแต่ชมพูทวีป ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วสิ่งที่เผยแผ่ธรรมกันมา...ใช่ มันก็สืบต่อมาจากนั่นแหละ แต่เวลาออกไปแล้ว ประเพณีวัฒนธรรมไปทางไหนล่ะ ไปทางบก ไปทางน้ำ?

ถ้ามาทางน้ำนี่เถรวาท ถ้าไปทางบกขึ้นไปมันก็เป็นมหายาน

เป็นมหายานเพราะอะไร เพราะว่ามันภูมิประเทศมันเป็นไปอย่างนั้น ความเป็นอยู่ของเขาอย่างนั้นมันขึ้นไป

สิ่งที่ไปทางไหน ศาสนาเผยแผ่ไปทางไหน? พอเผยแผ่ไปทางไหน นี่พอไปทางประเพณีวัฒนธรรมของพื้นถิ่น พอพื้นถิ่นขึ้นไปนี่เป็นโลกๆ เห็นไหม จากศาสนานะ จากที่เป็นความจริงนะ จากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เป็นศาสดา เวลาเผยแผ่ในสมัยพุทธกาล พระอรหันต์เต็มไปหมดน่ะ เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “สหชาติ” แล้วเป็นคนชี้นำ “อนาคตังสญาณ” รู้ว่าคนใดควรประพฤติปฏิบัติอย่างใดแล้วจะบรรลุธรรม

สิ่งที่บรรลุธรรมขึ้นมาเพราะอะไร เพราะเขาได้สร้างบุญกุศลของเขาขึ้นมา เขาได้สร้างบุญกุศล ได้สร้างคุณงามความดี ได้เกิดบารมีในหัวใจ หัวใจที่แก่กล้า หัวใจที่เข้มแข็ง หัวใจที่มีพละ มีกำลัง มีความที่จะพยายามขวนขวายแสวงหาสิ่งนี้มา แล้วมีครูบาอาจารย์ชี้นำที่ถูกต้อง แล้วถึงที่ว่ามันเจริญแล้ว กาลเวลามันถึงยุคถึงคราว มันก็เสื่อมไป นี่พอเสื่อมไปแล้ว ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่จะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง

ครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาตามความเป็นจริงมันถึงมีความจริงขึ้นมา ถ้ามีความจริงขึ้นมาเพราะอะไร เพราะท่านเป็นคนจริง ท่านเป็นคนที่มีคุณภาพ ท่านไม่ใช่คนไม่เอาถ่าน

ถ้าเป็นคนไม่เอาถ่าน ดูสิ ถ้าไม่เอาถ่าน มันก็ไม่เป็นประโยชน์สิ่งใด คนไม่เอาถ่านนะ มันขวางไปหมดน่ะ นี่ขวางทั้งตัวเองด้วย ทำให้ตัวเองเสียโอกาสไป แต่ถ้าเป็นคนจริง เป็นคนที่มีคุณภาพ มันเป็นคนทำจริงทำจัง เก็บเล็กผสมน้อย สิ่งใดที่เป็นประโยชน์นะ นี่รู้จักเก็บรู้จักรักษา

ครูบาอาจารย์ท่านพูดอยู่ หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ “เก็บเล็กผสมน้อย” ท่านเป็นพระอรหันต์นะ ถ้าท่านจะอยู่สุขอยู่สบายของท่านท่านก็อยู่ของท่านได้ แต่ทำไมท่านต้องทำตัวเป็นแบบอย่างน่ะ เวลาดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ นอนสีหไสยาสน์ นี่กิริยาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีองค์เดียว นอกนั้นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ละนิสัยเดิมได้ก็มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะลงมา ละกิเลสได้ แต่ละนิสัยของตัวเองไม่ได้

กิเลส คือกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ อวิชชาความไม่รู้ในใจ

ไม่รู้เรื่องธรรม ไม่รู้เรื่องมโนกรรม

กรรม มโนกรรม เวลามันคิดขึ้นมา มันกระดิกขึ้นมานี่ไหลไปตามมันหมดเลย แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา เราแก้ไข พอเข้าไปถึง

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส”

พลังงานที่ผ่องใสๆ นั่นน่ะ คืออวิชชาทั้งนั้น เวลามันทำลายเสร็จสิ้นกระบวนการของมันไปแล้ว นี่หัวใจสะอาดผ่องใส หัวใจสะอาดบริสุทธิ์ในหัวใจของเรา ในหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้น

แต่นิสัย นิสัยใจคอมันก็อันเดิมนั่นน่ะ นิสัยใจคอตั้งแต่เริ่มต้น ที่ว่าเป็นคนพาล เป็นคนที่ไม่มีคุณภาพ เป็นคนที่ไม่เอาถ่านนี่ล่ะ ถ้าไม่เอาถ่าน มันก็เอาขี้เถ้าน่ะ ขี้เถ้ามันก็เป็นฝุ่นละอองไปไง เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ไม่มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาก็หยิบฉวยเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นสมบัติของตัว แล้วก็มีเล่ห์กลกันไป เผยแผ่ไปตามเล่ห์กลนั้น เล่ห์กลนั้นมันก็เป็นขี้เถ้า มันก็ลอยไปในอากาศทั้งนั้นน่ะ

แต่ถ้าคนเอาถ่านนะ มันหยิบหนักเอาเบาสู้ ถ้าคนหนักเอาเบาสู้ ดูสิ ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านหนักเอาเบาสู้นะ จะผิด จะถูก จะทำอย่างไรท่านก็ขวนขวายของท่าน ทั้งๆ ที่ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่แล้ว

เวลาสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ธรรมวินัยไม่มีนะ ธรรมวินัยยังไม่เกิด ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ นี่ศาสดาทั้งนั้นน่ะ นี่ไปศึกษากับเขา แต่เพราะบุญบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสร้างของท่านมา ท่านแยกถูกแยกผิดได้ไง เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้วจนเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วางธรรมและวินัยไว้นะ เพื่อประโยชน์กับสังฆะ

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม เวลาสังฆะ เห็นไหม สงฆ์องค์แรกก็พระอัญญาโกณฑัญญะ

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

ท่านดีอกดีใจมาก เพราะพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรก เวลาแผยแผ่ขึ้นมาน่ะ

แต่ผู้ที่ไม่เอาไหน ผู้ที่เป็นพาลชน ผู้ที่เป็นผู้ไม่เอาถ่าน ดูสิ ฉัพพัคคีย์ ทำสิ่งใด เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติสิ่งใด วินัยอันใดก็แล้วแต่ แฉลบซ้าย แฉลบขวานะ วินัยเกือบทั้งหมดเลยมาจากฉัพพัคคีย์กับสัตตรสวัคคีย์ ภิกษุทั้ง ๖ กับภิกษุทั้ง ๑๗ นี่มันมาอย่างนั้นน่ะ เวลามันพาลขึ้นมา เห็นไหม ผู้ไม่เอาถ่าน มันขวางไปหมดน่ะ ธรรมวินัยพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้วก็แถ แถไปเรื่อย พระพุทธเจ้าก็อนุบัญญัติไปเรื่อย บัญญัติไปเรื่อย บัญญัติออกไปเพื่อจะให้อยู่ในกรอบไง นี่ทุกสังคมมันมีของมันนะ สังคมมีอย่างนั้นน่ะ นี่พูดถึงสังคม

แต่เวลาหัวใจของเราล่ะ ดูสิ คนที่มีวุฒิภาวะ จิตใจที่เอาถ่าน เอาถ่านคือเก็บเล็กผสมน้อย เอาจริงเอาจัง อย่างหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านขวนขวายของท่าน ท่านทำของท่าน จะผิดจะถูกนะ เวลาภาวนาใหม่ๆ ขึ้นมา พอจิตสงบก็เห็นกาย พอเห็นกายทีแรกมันก็เหมือนไปถึงทางตัน นี่เวลาหลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติของท่านขึ้นมา สุดท้ายแล้วนะ

“ทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนั้น”

นี่ถ้าเราไม่มีสติปัญญา เราคนไม่เอาถ่านนะ มันจะเอาขี้เถ้า

พอเห็นกายขึ้นมา “นี่วิปัสสนา” พอมันอั้นตู้ขึ้นมา “โอ๋ย! นี่นิพพาน”

มันจะไม่ได้สิ่งใดเลย มันจะได้สิ่งที่เป็นเล่ห์กลของกิเลสที่มันหลอก หลอกให้หัวใจนี้อยู่ในอำนาจของมัน ถ้าเล่ห์กลของกิเลสนะ ถ้าคนไม่เอาถ่านนะ มันจะไม่ได้สิ่งใดติดไม้ติดมือไปเลย ทั้งๆ ที่ผู้ประพฤติปฏิบัติมีโอกาสอยู่แล้วก็ทำให้ตัวเองล้มเหลวไป ทำให้ตัวเองไม่มีหลักมีเกณฑ์

แต่ถ้ามันมีหลักมีเกณฑ์นะ เก็บเล็กผสมน้อย คนเอาถ่าน ดูสิ เวลาคนเขาเผาถ่าน เขาต้องมีไม้ของเขา เขาต้องมีเตาเผาของเขา เวลาเขาจุดเขาจะดูแลของเขา เขาจะได้ถ่านออกมา ถ่านเอามาใช้ทำอะไร? เอาเป็นสินค้าก็ได้ เอามาหุงต้มแกงกินก็ได้ เอามาเป็นเชื้อเพลิง เอามาทำสิ่งต่างๆ เขาจะได้ประโยชน์ทั้งหมดเลย

แต่ถ้าคนมันเผาถ่านไม่เป็นนะ เวลามันเผาของมัน เห็นเขาเผาถ่านก็เผาถ่าน เวลาเผาขึ้นมาไฟมันลุกโชติช่วงจนไม่เหลืออะไรเลย มันเหลือแต่ขี้เถ้าไง เหลือขี้เถ้าเพราะอะไร เพราะมันทำไม่เป็น เห็นเขาเผาถ่านก็จะเผาถ่านกับเขา เวลาคนเขาเผาถ่านเขามีประสบการณ์ของเขา เขาทำของเขาได้ เขาพิสูจน์ของเขา เวลามันเผาน่ะ คนจะมีความชำนาญเขาทำของเขาแล้วเขาจะมีประสบการณ์ เขาทำของเขาด้วยความชำนาญนะ เราเห็นเขาทำก็สักแต่ว่าทำ เห็นถ่านออกมา ถ่านก็คือถ่าน

นี่เหมือนกัน ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่แล้ว ธรรมและวินัยมีแล้วเพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา เราเป็นคนมีบุญกุศล เรามีบุญมากนะ เรามีบุญ แต่เราจะใช้บุญของเราหรือเปล่าล่ะ เรามีบุญของเรา เราเอาบุญแฝงไว้ แต่เราใช้กิเลสของเราน่ะ เราใช้กิเลสของเรา มันดึงเราไปน่ะ ดูสิ เวลาสมัยพุทธกาล ฉัพพัคคีย์ทำให้มีความเสียหาย ในปัจจุบันนี้เราบวชมาเป็นพระ ที่ว่าเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะเอาจริงหรือเปล่า ถ้าเราจะเอาจริงหรือเปล่า เรามีศาสดา เรามีธรรมวินัยเป็นศาสดาของเรา

เราดูความทุกข์ความยากขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ เราดูความทุกข์ความยากของครูบาอาจารย์ของเราก่อน ดูหลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ท่านทุกข์ยากขนาดไหน ทุกข์ยากด้วยความพอใจนะ

หลวงปู่เสาร์ ดูสิ เวลาท่านบวชใหม่ๆ ท่านละล้าละลังๆ อยู่ตั้งนานกว่าที่ท่านจะออกประพฤติปฏิบัติ เวลาออกปฏิบัติท่านก็เอาจริงเอาจังของท่าน นี่เวลาคนสร้างมาแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่หลวงปู่มั่นน่ะ หลวงปู่เสาร์ท่านเอามาบวชเลย พอมาบวชขึ้นมา ตั้งแต่เป็นสามเณร เป็นสามเณรบวชได้พรรษาหนึ่ง สึกไปก่อนแล้วกลับมาบวชใหม่ แล้วท่านมีโรคประจำตัวมาตั้งแต่ต้น โรคท้องท่านมีเป็นโรคประจำตัวมาเลย แต่ท่านก็ทำของท่าน ท่านมีความเข้มแข็งของท่าน ผิด-ถูก...

เวลาเราปฏิบัติ เรามีคนบอกอยู่แล้วนะ มันเหมือนเราอยู่บนถนน ถนนหนทางเขาตัดไว้ ข้อวัตรปฏิบัติ ธรรมวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงปู่มั่นท่านวางไว้ ข้อวัตรปฏิบัติเหมือนถนนหนทาง เราต้องมีเครื่องดำเนินไป ฉะนั้น ขณะที่ถนนหนทางอยู่นี่ เรายังไปไม่ได้เลยน่ะ แต่ทำไมของท่านไม่มีนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็รื้อค้นของท่านขึ้นมาเอง เพราะว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า...รู้ แต่ไม่ได้วางข้อวัตรไว้ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วย แล้ววางธรรมและวินัยนี้ไว้ด้วย

หลวงปู่มั่น เวลาท่านรู้จริงขึ้นมา แล้วท่านก็วางของท่านไว้ วางอะไร? ก็วางข้อวัตรปฏิบัติไง วางข้อวัตรพระป่าที่เราปฏิบัติกันอยู่นี่ ปฏิบัติเพื่ออะไร? เราเห็นคุณค่าของมันไหม?

เวลาในมุตโตทัยของหลวงปู่มั่น...การเหยียด การคู้ ต้องมีสติ การดื่ม การกิน ต้องมีสติ เรามีสติตลอด เราจะฝึกฝนตัวเองตลอด ฉะนั้น มาบวชพระ ดูกรรมฐานของเรา นี่ข้อวัตรมันจะบอกหมดน่ะ เพราะมันอยู่ในสังคมใช่ไหม สังคมกรรมฐาน อะไรเป็นอามิส อะไรไม่เป็นอามิส อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ถ้ามันทำไม่ได้ นี่ประเพณีวัฒนธรรม

ในสังคมนั้นเขาทำแต่คุณงามความดีของเขา เวลาเราไป เราไปทำสิ่งที่ขวางเขามันก็เข้าเขาไม่ได้อยู่แล้ว นี่พระกรรมฐาน ข้อวัตรปฏิบัติที่หลวงปู่มั่นท่านวางไว้ ฝึกฝนไว้ๆ เวลาเราทำ อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อะไรเป็นอามิส อะไรไม่เป็นอามิส อะไรเป็นอาบัติ ไม่เป็นอาบัติ อะไรสมควรหรือไม่ควร

อาบัติต้องเพราะควร ของที่ควรเห็นว่าไม่ควร ของที่ไม่ควรเห็นว่าควร...แค่นี้ก็อาบัติแล้ว

สิ่งนี้มันก็เป็นอาบัติแล้ว เพราะต้องเพราะความสงสัย อาบัตินะ เป็นอาบัติเพราะความสงสัย เป็นอาบัติเพราะเป็นอาบัติจริงๆ เป็นอาบัติเพราะทำผิด นี่ไง มันเป็นของมันอยู่แล้ว แล้วธรรมวินัย ข้อวัตรปฏิบัติที่หลวงปู่มั่นวางไว้ วางไว้ให้พวกเราก้าวเดิน ฉะนั้น เวลาเราก้าวเดิน ถนนหนทางมันมีอยู่แล้ว เรายังไปได้ไหม นี่มันมีของมันอยู่แล้ว ถ้าเราตั้งใจจริง นี่ไง มันเป็นเครื่องอยู่ ถ้าจิตใจมันมีเครื่องอยู่นะ มันมีข้อวัตรเป็นเครื่องอยู่ มันเกาะสิ่งนี้ไว้

ดูสิ เวลาเรากำหนดพุทโธๆ พุทโธเพราะอะไร เพราะต้องเอาจิตเกาะไว้กับพุทธานุสติ ถ้าไม่เอาจิตเกาะไว้นะ มันคนไม่เอาถ่านน่ะ มันเหลวไหลของมัน มันไปตามประสาแต่สัญญาอารมณ์ของมันไป ฉะนั้น คนไม่เอาถ่าน เราก็ต้องบังคับ นี่มันจะไปเอาขี้เถ้าไม่ได้ เราจะต้องมีประสบการณ์ของเรา ถ้ามีประสบการณ์ของเรา เราบังคับให้จิตใจเราอยู่กับพุทโธๆ ถ้ามันอยู่กับพุทโธๆๆ มันเกาะไว้ๆ นี่ฝึกฝนไว้ เก็บหอมรอมริบ อย่ามักง่าย อย่าทำอะไรสักแต่ว่าทำ ถ้าทำสักแต่ว่าทำ เห็นไหม ดูสิ เก็บหอมรอมริบนี่มันจะรู้ดี-รู้ชั่ว รู้ถูก-รู้ผิด รู้ควร-ไม่ควร ถ้ารู้ควร-ไม่ควร ทำไปมันรู้มันเห็นนะ มันละอายกับใจ

แต่ถ้าคนมันดื้อด้าน เหมือนควายตู้ มันสักแต่ว่าทำ จะไถนาอย่างเดียว ถึงเวลาเอาแอกใส่คอแล้วมันก็จะลากไป จะลากแต่แอก ไม่ฝึกฝนอย่างอื่นเลย นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรารู้ เราไม่ใช่ควาย เราเป็นคน แล้วเป็นคนเอาถ่านด้วย เก็บหอมรอบริบ พอเราเคยทำใช่ไหม เราจะทำให้มันอยู่ในร่องในรอย เวลามันผิดจากในร่องในรอยไปมันรู้แล้ว ถ้าเราทำน่ะมันผิดร่องรอย เรารู้เลยว่านี่เราผิดแล้ว แต่ถ้าเราอยู่ในร่องในรอยของเรา นี่ข้อปฏิบัติ นี่มันเครื่องอยู่ไป เครื่องอยู่ไป

ถ้าจิตมันมีสติปัญญาของมันนะ นี่คำบริกรรมของมัน จิตมันสงบเข้ามาได้ ถ้ามันสงบเข้ามา นี่คนเขาจะเผาถ่านนะ เขาจะต้องมีไม้ เขาจะต้องมีสิ่งใด เขาจะเผาถ่าน ถ่านเอาอะไรไปเผา? ถ่านเอาอะไรไปเผา? นี่ก็เหมือนกัน คนที่ทำความสงบของใจ ใจมันมีหลักเกณฑ์อย่างไร สิ่งใด นี่คูหาของใจ ร่างกายนี่เป็นคูหาของใจ ทรวงอกนี่เป็นคูหาของใจ แล้วใจมันอยู่ที่ไหน? เรามีเชื้อเพลิงสิ่งใด? ถ้าเรามีเชื้อเพลิงสิ่งใด เราก็จะไปทำคุณประโยชน์ เราจะเก็บหอมรอมริบของเรา เราจะเผาถ่านของเรา เราได้ถ่านขึ้นมานะ

ถ้าทำไม่ได้ก็ได้แต่ขี้เถ้าน่ะ ขี้เถ้ามันก็ลอยลม ลอยลมขึ้นไปนะ เพราะธรรมวินัยมันมีอยู่แล้วใช่ไหม แล้วในสมัยปัจจุบันนี้ หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ท่านทำจนสังคมยอมรับ ใครๆ ก็ว่า “ในพระสายกรรมฐาน กรรมฐาน”

ฐานอยู่ไหน? ฐานอะไร? ฐานมันอยู่ที่ไหน? ฐานมันอยู่ที่เร่ร่อนอย่างนั้นเหรอ ฐานมันก็ต้องอยู่ที่สัมมาสมาธิสิ ฐานมันอยู่ที่จิตสิ ถ้าจิตมันดี ถ้าจิตมันมีฐานนะ คนเรานี่นะ มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมามันจะออกนอกลู่นอกทางไหม คนมันออกนอกลู่นอกทางเพราะมันไม่มีฐาน ถ้ามันมีฐานขึ้นไปนะ

หลวงตาท่านพูดบ่อย “ถ้าใครทำสมาธิได้ มันพออยู่พอกิน จิตดวงใดมีความสงบ จิตดวงนั้นมีความร่มเย็นเป็นสุข”

ถ้าจิตดวงใดมีความสงบนะ มันมีความร่มเย็นเป็นสุขนะ มันอาศัยตัวมันเองได้ มันพออยู่พอกิน คำว่า “พออยู่พอกิน” มันอบอุ่นไง มันไม่เร่ร่อน มันไม่ใช่ฝุ่นละอองที่จะปลิวไปตามลม

เดี๋ยวนี้โลกเป็นใหญ่ จะทำสิ่งใด เห็นไหม ดูสิ พระอยู่ที่ไหน? พระก็อยู่กับโลกนี่แหละ เวลาพระบวชมาแล้ว พระก็มาจากมนุษย์ มนุษย์มาบวชพระ พอบวชพระขึ้นมาเป็นภิกษุ พอภิกษุแล้วอยู่ไหนล่ะ? ก็บิณฑบาต อยู่กับสังคม แล้วถ้ามันไม่มีหลักมีเกณฑ์ จิตใจไม่สงบร่มเย็น มันไม่มีกรรมฐาน ไม่มีฐานที่ตั้งของมัน มันจะลอยลม มันจะไปไหนล่ะ? นี่โลกเป็นใหญ่ โลกก็ดึงไป พอโลกดึงไป

ดูสิ หลวงตาท่านบอกว่า “ท่านเทศนาว่าการ พระเป็นหมื่นเป็นแสน แล้วมันหายไปไหนหมด มันหายไปไหนหมด มันหายไปไหนหมด”

ท่านพูดบ่อยนะ ว่า “ท่านฝึกพระมาเป็นหมื่นเป็นแสน แล้วพระมันหายไปไหนกันหมด มันเหลืออะไรอยู่” นี่ไง เพราะถ้ามันไม่มีฐานไง ถ้ามันมีฐานของมันนะ เราทำความสงบของใจเข้ามา ดูสิ เวลาบอกว่า เรานะ มีถนนหนทาง เรายังเดินตกถนน เรายังแฉลบออกนอกลู่นอกทาง แล้วถ้าจิตเราสงบขึ้นมา นี่มันอยู่ในทางเลย ถ้ามันจิตสงบขึ้นมา พอมันสงบ มันสงบเพราะอะไรล่ะ เราทำอย่างไรมันถึงสงบขึ้นมา แล้วพอสงบขึ้นมาเราก็รู้ว่าโลกนี่มันจะลากเราไป

ถ้าโลกลากเราไป เราก็ตกออกนอกลู่นอกทางไป แต่ถ้าเราไม่ไปกับโลก เราอยู่บนข้อวัตรปฏิบัติของเรา ถ้าอยู่บนข้อวัตรปฏิบัติของเรา นี่มันไม่ตกถนนไป มันอยู่บนทาง อยู่บนข้อวัตรขึ้นไป จิตใจมันจะมีหลักมีเกณฑ์ไหม ถ้าจิตใจมีหลักมีเกณฑ์นี่มันบอกตรงๆ ชัดๆ อยู่แล้ว ถ้ามันบอกชัดๆ ขึ้นไป นี่เราก็ไม่เป็นไปกับโลก พระก็อยู่กับโลกนี่แหละ ถ้าอยู่กับโลก

ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาออกไปวิเวก ท่านบอกให้เข้าป่าไป ให้เข้าป่าไป ไปวิเวก ไปหาคุณธรรมของเรา ไม่ไปหายาเสพติด ไม่ไปหาสิ่งที่ข้องเกี่ยว ข้องเกี่ยว เสพติด เสพเหล้า เขาว่าศาสนาเป็นยาเสพติด...ขอให้มันติดเถอะ ถ้ามีคุณธรรม

ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” บรรลุธรรมขึ้นมา ให้มันติด ให้มันมีธรรมติดในใจมัน ถ้ามีธรรมติดในใจ ให้มันเสพ เสพให้ได้จริงๆ แต่นี่มันเสพไม่ได้ ศาสนาไม่ใช่ยาเสพติด มันเสพกิเลสต่างหากล่ะ นี่กิเลสน่ะมันติด แต่ธรรมะมันน่ะไม่ติด ธรรมะมันไม่มีสิ่งใดตกค้างในหัวใจเลย มีแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยาก บอกศาสนาเป็นยาเสพติด

แล้วถ้าเราไม่ฝึกฝน เราไม่มีการกระทำ มันจะมีคุณธรรมขึ้นมาได้อย่างไร

ถ้ามันจะมีคุณธรรมขึ้นมา มันก็อยู่ที่การกระทำของเรา ถ้าเรามีการกระทำของเราขึ้นมา เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ขอให้มันติด ให้มันเป็นธรรมนะ แต่นี่มันไม่ใช่ธรรม นี่มันเป็นกิเลส เพราะมันติดขึ้นมา มันเสพขึ้นไปมันก็โลกลากไป พอโลกลากไปนะ เพราะอะไร เพราะมีจุดยืน เพราะอะไร เพราะจิตใจไม่มีฐาน ถ้าจิตใจมีฐาน เพราะคำว่า “มีฐาน” ฐานมันเกิดจากอะไร ฐาน “ศีล สมาธิ ปัญญา” ถ้ามันความผิดปกติของใจ ถ้าศีลมันผิดปกติ ใจไม่ปกติมันจะเข้าสมาธิได้ไหม ถ้าใจมันเป็นสมาธิขึ้นมามันต้องมีความปกติของมัน

“ทาน ศีล ภาวนา” การภาวนาก็เพื่อความสงบระงับของใจ ถ้าใจมันสงบระงับขึ้นมาได้ มันสงบระงับขึ้นมา มันสงบมาจากอะไร จะสงบมันก็ต้องมีสติสิ ถ้ามีสติขึ้นมา คำบริกรรมก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ เพราะมันอยู่ที่จริตนิสัย อยู่ที่การกระทำ เห็นไหม ถ้าเรามีสัทธาจริต เรามีความมั่นคงของเรา เราพุทโธของเราได้ เราทำของเราได้ด้วยความนุ่มนวล ด้วยสติปัญญาของเรา เห็นไหม พุทโธๆๆ ให้จิตมันนุ่มนวล ให้จิตมันไม่ไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งใด ถ้าเรามีศรัทธา เรามีความเชื่อมั่นของเรา นี่ถ้าเรามีสัทธาจริตนะ

แต่ถ้ามันจิตใจมันกวัดแกว่งนัก เราก็พุทโธให้เร็วขึ้น เราก็มีสติปัญญาของเรา

แต่ถ้าเป็นปัญญา เป็นพุทธจริต พวกที่มีปัญญา พวกที่มีความรู้สึกนึกคิด บอกพุทโธๆ มันไม่ลงสักที พุทโธทีไร พุทโธมันจะเกิดขึ้นมา พุทโธ พุทธานุสติมันมีคุณค่าของมันอยู่แล้ว แต่เพราะจิตใจเรามันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก จิตใจของเรามันโลเล จิตใจของเรา...คนไม่เอาถ่าน อะไรมันก็ไม่รู้ คนไม่เอาถ่านนะ มันไม่เห็นประโยชน์อะไรเลย หนักก็ไม่เอา เบาก็ไม่สู้ อะไรก็ไม่จับไม่ต้องสักที แล้วก็อยากจะเป็นพระอรหันต์ อยากจะบวชแล้วให้สวมตอลงมาเลยนะ ให้เหมือนทองชุบน่ะ เวลาเขาจะชุบทอง เขามีตะกั่วเขาชุบไปในทอง มันเป็นทองชุบขึ้นมามันก็เป็นทองชุบน่ะ มันก็มีแต่ผิวๆ พอเดี๋ยวมันก็ลอกหมดน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน หนักก็ไม่เอา เบาก็ไม่สู้ แต่จะเป็นพระอรหันต์ อยากจะพ้นจากทุกข์ อยากจะพ้นจากทุกข์ แต่มันหนักไม่เอา เบาไม่สู้ ไม่เอาถ่าน ไม่เอาสิ่งใดเลย นี่หัวใจเร่ร่อน หัวใจมันต้องมีหลักมีเกณฑ์ หัวใจมันต้องคมชัดของมัน มันต้องชัดเจนของมัน มันชัดเจนของมัน

ดูช่างทองสิ ช่างทองเขาต้องมีความละเอียดรอบคอบของเขานะ เขาดึงทอง ต้องดึงให้มันยืดออกมา พยายามจะเส้น แล้วมาตัดของมันทำ นี่ช่างทองเขามีความละเอียดรอบคอบนะ เพราะทองมีค่า หัวใจเราก็มีค่า ถ้าหัวใจเรามีค่าขึ้นมา เรามีความละเอียดรอบคอบ ถ้าเวลามีความละเอียดรอบคอบ นี่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาใคร่ครวญของเรานะ ใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญ

เวลาปัญญา ถ้ามีสติ สิ่งการเหยียด การคู้ การกระทำ เรามีสติตามไป ถ้าตามถึงความคิดทันมันก็ทัน ถ้าตามความคิดไม่ทัน เราก็มีการเคลื่อนไหว เรามีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ถ้าสติปัญญามันทัน มันทันมันจับต้องสิ่งใด ถ้ามันผิดปกติ มันผิดจากธรรมวินัย ถ้ามันไม่ผิดปกติ เห็นไหม เราเป็นพระ เราเป็นนักปฏิบัตินะ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ถ้ามันไม่ผิดจากศีลมันก็ไม่มีสิ่งใดที่มันจะกระเทือนใจ แต่ถ้ามันผิดมันจะดึงออกไป เรามีสติปัญญาดึงกลับมาไหม ถ้าเรามีสติปัญญาดึงกลับขึ้นมา เราจะเห็นความละเอียดรอบคอบขึ้นไปเรื่อยๆ

แต่พอมีจับความคิดได้ พอความคิดมันแฉลบ มันแลบออกมา ถ้ามีสติปัญญา เพราะความคิดอย่างนี้มันเป็นฟืนเป็นไฟ แล้วมันคิดขึ้นมาทำไม? คิดเพราะเราขาดสติ ถ้าเรามีสติ ความคิดมันจะดับ ถ้าความคิดดับ พอความคิดดับ เริ่มครั้ง ๑ ครั้ง ๒ ครั้ง ๓ พอความคิดต่อๆ ไปนี่มันไม่ดับแล้ว มันไม่ดับเพราะอะไร เพราะว่าพอมันดับขึ้นมาแล้วเดี๋ยวมันก็เกิดอีก พอมันเกิดอีก สติปัญญาไม่ทัน นี่กิเลสมันมีช่องออกแล้ว

พอมีช่องออกขึ้นมา สติปัญญาเราตามไป...มันคิดเรื่องอะไร มันคิดเรื่องอะไร? พอความคิด สัญญา พอสัญญาข้อมูลมันมีอยู่แล้ว พอมีอยู่แล้วสังขารมันปรุง มันปรุงเรื่องสิ่งใดก็แล้วแต่ มันปรุงแล้วแต่แรงกระตุ้นของตัณหา คิดเรื่องโลก คิดเรื่องเงิน คิดเรื่องฐานะ คิดเรื่องความผูกโกรธ คิดเรื่องเทียบเคียง...มันคิดเรื่องอะไร? แล้วตัณหามันเสริมอย่างไร? นี่พูดถึงความปรุงแต่งไง ความปรุงแต่ง สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง

ถ้าความคิด ความปรุง ความแต่ง ถ้าคิดสิ่งใด สติปัญญามันจับได้ มันพิจารณาของมัน มันจับแล้วมันพิจารณาของมัน นี่โทษทั้งนั้นน่ะ นี่เวลาเป็นคนไม่เอาถ่านนะ มันจบจด มันไม่เอาสิ่งใดเลย แต่เวลาจะเอานะ จะเอาแต่โทษไง จะเอาแต่ฟืนแต่ไฟมาเผาตัวเอง นี่ตัวเองก็ไม่เอาถ่านอยู่แล้ว เอาแต่ขี้เถ้า พอเอาขี้เถ้า ขี้เถ้าก็ไม่เป็นประโยชน์ แต่จะเอาสารพิษ เอาสารพิษขึ้นมาเผาตัวเอง นี่ถ้าสติปัญญามันทันนะ มันเห็นโทษของมัน มันมีความละอาย พอละอายมันก็ปล่อย ปล่อย นี่ถ้ามีปัญญา นี่ไล่ต้อนขึ้นไปอย่างนี้

“เก็บหอมรอมริบ” เราเก็บหอมรอมริบ เราพิจารณาของเรา เราทำเพื่อใคร? ก็ทำเพื่อเรานั่นน่ะ ถ้าทำเพื่อเรา พอจิตมันสงบเข้ามา มันปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามา การปล่อยนั้นน่ะคือการฝึกหัด การฝึกหัดการกระทำ ถ้าไม่มีการฝึกหัด ไม่มีการกระทำ มันจะเอาคนทำมาจากไหน เวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษามา รู้หมด รู้หมด รู้มันสัญญาทั้งนั้นน่ะ นี่มันมีแต่ชื่อ ตัวจริงมันไม่มี สมาธิก็ชื่อสมาธิ สติก็ชื่อสติ สมาธิก็ชื่อสมาธิ...ได้แต่ชื่อ

ดูสิ ทะเบียนบ้าน ไปเลือกเอาเลย จะชื่ออะไร ยิ่งไปหาพระตั้งชื่อให้นะ เขามีให้เลือกเลยนะ ตั้งมาให้ร้อยชื่อ เอาชื่อหนึ่ง ชื่อไหนก็ได้ แล้วไปเปลี่ยนเอา ไปเปลี่ยนที่กรมการปกครอง ไปเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนเสียง นี่ไง มันมีแต่ชื่อ มันไม่มีตัวจริง ตัวจริงมันคือเรา ชื่อมันสมมุติ นี่ก็เหมือนกัน ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันศึกษาแล้วมันได้อะไรมา? มันได้แต่ชื่อมา มันไม่มีตัวจริงเลย แล้วตัวจริงมันอยู่ไหนน่ะ ตัวจริงมันอยู่ไหน? ตัวจริงมันก็เร่ร่อนไง ตัวจริงมันก็เป็นคนพาลไง ตัวจริงมันไม่มีอะไรเป็นแก่นสารเลยไง

แต่เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ท่านปฏิบัติมาจากไหน ท่านก็ประพฤติปฏิบัติจากความไม่รู้ของท่านนั่นล่ะ เวลาท่านปฏิบัติ ท่านจะรู้สิ่งใด ท่านมีแต่ศรัทธา มีแต่ความมุ่งมั่น เพราะท่านสร้างบุญญาธิการของท่านมา ท่านก็มาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ท่านก็ล้มลุกคลุกคลานมาอย่างนี้ ถ้าท่านไม่ล้มลุกคลุกคลานขึ้นมา ทำไมจากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน จากจิตที่ไม่มีสมาธิทำไมเป็นจิตที่เป็นสมาธิได้ จิตที่มีสมาธิมันมีสมาธิอย่างไร

เพราะมีสมาธิแล้ว เวลาพิจารณาขึ้นไปแล้ว ถ้ามันเป็นติดโพธิสัตว์ ติดสิ่งที่แรงอธิษฐาน สิ่งนั้นท่านยังต้องไปเสียสละอีกชั้นหนึ่ง เพราะท่านไปลาโพธิสัตว์ของท่าน ท่านลาโพธิสัตว์ เห็นไหม เราปฏิบัติขึ้นไป เราเป็นอะไร เราไม่เป็นสิ่งใดเลย เราปฏิบัติไปมันจะไปติดค้างสิ่งใด ถ้าติดค้าง เราก็ไม่รู้ไม่เห็นของเรา

แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านมีบุญญาธิการของท่าน ท่านถึงรู้ว่าถ้าปุถุชน ถ้าคนปกติ เวลาปฏิบัติไปเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิเป็นอย่างไร แต่ถ้ามีบุญญาธิการที่เป็นแรงปรารถนามา ที่บุญกุศลมา เวลาเป็นสมาธิขึ้นมา พระโพธิสัตว์ พวกโพธิสัตว์ พวกต่างๆ ที่เขาสร้างบารมีของเขา นี่เขาทำฌานโลกีย์นี่แหละ เขาทำฌานโลกีย์ขึ้นมา แล้วอภิญญา สิ่งที่อภิญญา ถ้าใครมีเข้าใกล้ อภิญญาจะชัดเจน จะทำสิ่งใดจะเป็นประโยชน์มากขึ้น แต่ถ้ายังห่างไกล สิ่งนี้มันจะมีความผิดมากกว่าความถูก นี่มันเป็นฌานโลกีย์ เป็นเรื่องของโลกๆ นี้ถ้ามันติด มันสิ่งนี้มันเป็นบุญญาธิการ นี่ท่านลาตรงนี้แล้วท่านถึงทำสมาธิแล้วก็พิจารณาเข้าไป มันยิ่งเห็นชัดเจนขึ้นไป

เพราะท่านล้มลุกคลุกคลานมา แล้วเก็บหอมรอมริบ ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาโดยหัวใจที่ล้มลุกคลุกคลาน จนตั้งตัวขึ้นมาได้ จนจิตสงบ จิตร่มเย็น มีหลักมีเกณฑ์ ถึงได้ออกวิปัสสนา พอออกวิปัสสนาขึ้นไปตามความเป็นจริงขึ้นมานะ เวลาท่านจิตสงบแล้วเห็นกาย พอเห็นกาย พิจารณาไปแล้วมันปล่อยวาง “อื้ม! อันนี้ใช่”

แต่เวลาก่อนหน้านั้น พอจิตท่านเห็นกายของท่านก็พิจารณาไปแล้วมันอั้นตู้หมดเลย เข้าไปบนถนนตัดขาด ถ้าพิจารณาไปแล้วมันก็เข้าไปเหมือนเจอกำแพง ทำสิ่งใดไม่ได้เลย นี่เวลาผู้ที่ครูบาอาจารย์ของเราท่านผ่านประสบการณ์อย่างนั้นขึ้นมา เวลาท่านมาสอนพวกเรา ท่านวางข้อวัตรไว้ ดูสิ เวลาท่านประสบความสำเร็จแล้วท่านยังสั่งสอนพวกเรา แล้วผู้ใดที่ประพฤติปฏิบัติ

ธรรมะมีเหตุมีผล ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีมรรคมีผล มันมีจริงของมัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ตรัสรู้ได้ที่ไหน? ตรัสรู้ที่อาสวักขยญาณ ตรัสรู้ที่ในหัวใจ ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาธัมมจักฯ สอนพระอัญญาโกณฑัญญะ สอนปัญจวัคคีย์ ก็สอนมาจากความจริง

แล้วพระอัญญาโกณฑัญญะ เวลาบรรลุธรรมขึ้นมา บรรลุที่ไหน? ก็บรรลุในธรรมของพระอัญญาโกณฑัญญะ บรรลุธรรมในใจของพระอัสสชิ บรรลุธรรมในใจของพระมหานาม...ก็บรรลุธรรมในหัวใจทั้งนั้นน่ะ ก็ในหัวใจน่ะมันรู้จริงขึ้นมา พอรู้จริงขึ้นมามันก็เป็นพยานต่อกัน มันเป็นพยานยืนยันกันว่า “สิ่งนั้นมีจริง สิ่งนั้นมีจริง”

แต่มันไม่ใช่พวกไม่เอาถ่านแบบพวกฉัพพัคคีย์ พวกสัตตรสวัคคีย์ที่ว่าแฉลบ แถไปเรื่อย แถนี่มันแถเรื่องข้อวัตรนะ แถเรื่องวินัยนะ นี่ในหัวใจไม่มีอะไรเป็นแก่นสารเลย บวชมาเป็นพระมันก็ยังแถในสมัยพุทธกาล

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านรู้จริงของท่าน ท่านมีประโยชน์ของท่าน ท่านทำของท่านขึ้นมา แล้วท่านเห็นว่าใจนี้มันจะก้าวเดินไปอย่างไร จากล้มลุกคลุกคลานมันล้มลุกคลุกคลานเพราะโดยธรรมชาติของมัน แล้วล้มลุกคลุกคลาน พวกที่ไม่เอาถ่านนะ เอาแต่ขี้เถ้านะ พอล้มลุกคลุกคลานขึ้นไปมันก็ทำให้มันใช้จินตนาการให้มันไม่มีของมันไป พอไม่มีของมันไป นี่ล้มลุกคลุกคลานแล้วก็คือว่าง ว่างแล้วก็เป็นธรรม แล้วพอเป็นธรรม อะไรเป็นธรรม? เป็นธรรมนี่มันมีสิ่งใดตอบสนอง มีสิ่งใดที่เป็นยืนยันว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม

แต่ถ้ามันจะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม มันต้องคนเอาถ่าน ต้องคนเอาจริงเอาจัง ถ้าคนเอาจริงเอาจัง เห็นไหม ดูสิ เรามีสติของเรา เรามีสติของเรา เรามีปัญญาของเรา เราแยกแยะของเรา อะไรผิด อะไรถูก สิ่งที่ผิดเราก็วางไว้ เราเดินในทางที่ถูก ในทางที่ถูก เริ่มตั้งแต่ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ...

คำว่า “ปล่อยวาง” เริ่มต้นฝึกหัดการปล่อยวางก็ปล่อยวางแต่เริ่มต้น พอปล่อยวางเริ่มต้น มันจะปล่อยวางได้มากได้น้อยขึ้นมามันอยู่ที่ความดูดดื่มของใจ ถ้าใจมันมีอะไรที่ดูดดื่ม ที่มันยึดมั่นของมัน เวลามันปล่อยมันก็ปล่อยแวบๆๆๆ แต่ถ้ามันกำลังของจิตที่มันมีมากกว่า กำลังของสติที่มันมีมากกว่า เวลามันมีปัญญาขึ้นมาน่ะ มันปล่อยได้ลึกซึ้งกว่า พอมันลึกซึ้งกว่า สมาธิมันก็มีกำลังมากขึ้น สมาธิมันก็มีหลักมีเกณฑ์ของมันมากขึ้น

“เก็บหอมรอมริบ” ฝึกหัดขึ้นไป ไม่ต้องไปวิตกกังวล

แต่โดยธรรมชาติของจิตดิบๆ ธรรมชาติของจิตที่กิเลสมันแก่กล้า เห็นไหม ล้มลุกคลุกคลาน เวลาแวบ แวบไปแวบมา มันไม่มีสิ่งใดติดเนื้อติดตัวเลย แต่มันมีแต่ศรัทธา มีแต่ความเชื่อมั่น มีความเชื่อมั่นว่าเราทำแล้วจะได้ประโยชน์ตามความเป็นจริง เพราะว่าศาสนามันมีมรรคมีผล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางหลักเกณฑ์ไว้ เวลาผู้ที่ปฏิบัติจะรู้จริงเห็นจริง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านก็ว่ามีมรรคมีผล ศาสนทายาท ในเมื่อมีมรรคมีผล ปฏิบัติขึ้นมามันก็เป็นความจริงขึ้นมา เป็นความจริงที่ไหน?

เป็นความจริงขึ้นมาในหัวใจ เป็นความจริงขึ้นมาจากความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นความจริงที่เราศึกษากันอยู่นี่ ไปศึกษาแล้วมันมีแต่ชื่อ “แต่ชื่อ” นี่เป็นความจริงเหมือนกัน แต่เป็นความจริงในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นความจริงในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นความจริงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ เป็นศาสดา...แต่ไม่ใช่ของเรา

แต่ถ้ามันเป็นของเราขึ้นมา เวลาเป็นความจริงของเราถ้ามันปฏิบัติไป มันเป็นความจริงขึ้นมา พอมันสงบ มันสงบมากน้อยแค่ไหน ถ้าสงบมากน้อย แล้วเราใช้ปัญญา ปัญญาพิจารณาออกไป ดูสิ เวลาหลวงปู่มั่นท่านพิจารณาของท่านไป “อย่างนี้ไม่ใช่ อย่างนี้ไม่ใช่” เพราะพิจารณาไปแล้วออกมามันไม่มีอะไรสิ่งใดเป็นเครื่องหมายบอกเลย ว่าเราพิจารณาแล้วได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา เวลาพิจารณาไปแล้ว เหมือนถนนขาด เหมือนกำแพง เข้าไปแล้วเด้งออกมา ไม่มีสิ่งใดเป็นประโยชน์เลย

จน “มันเป็นเพราะอะไร? มันเป็นเพราะอะไร?”

ค้นคว้า ค้นคว้า “อ้อ! เป็นเพราะเราเคยอธิษฐานไว้ เราเคยสร้างบุญญาธิการไว้”

ลานะ ทำจิตให้สงบเข้ามา แล้วลาในสมาธิ ลาเอาแต่ปาก ลาเอาแต่ข้างนอกน่ะ พอลาเสร็จแล้ว เวลาไปพิจารณากาย พอพิจารณาขึ้นไปมันเห็นผลนะ พอพิจารณากายไปแล้วมันปล่อย พอปล่อยหมายความว่าอย่างไร ถ้าพอมันปล่อย จิตใจนะ “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” รสของความสงบ รสความร่มเย็นก็เป็นอย่างหนึ่ง

เวลาจิตของเรา ถ้าจิตของคนที่มันมีความสงบร่มเย็น พออยู่พอกิน มันมีความอบอุ่น พอคลายตัวออกมามันก็เป็นปกติ แต่เราเข้าสมาธิได้ เรามีสติปัญญาของเรานะ เวลาเราเจออะไรสิ่งใดที่กระเทือนใจ เราก็หลบเข้าสมาธิ เวลาเรามีความทุกข์ความยากนะ เราก็ตั้งสติ กำหนดพุทโธชัดๆ เข้าหลบไปในสมาธิ เวลาเรามีความสิ่งใดไม่พอใจใช่ไหม เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาใคร่ครวญว่าสิ่งนี้มันเป็นโทษ สิ่งนี้มันทำให้จิตเราเร่ร่อน สิ่งนี้ทำให้จิตเรามีแต่ปัญหา เราใช้ปัญญาไล่ต้อนเข้ามา มันก็กลับเข้าสู่สมาธิ มันก็หลบเข้ามาสู่ความสงบร่มเย็น นี่สมาธิมันเป็นที่หลบ มันเป็นที่พักจากความเดือดร้อน พักจากสิ่งนั้น นี่คือรสของสมาธิ รสของสมถะ รสของกรรมฐาน รสของสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน งานที่จะก้าวเดินต่อไป

นี่ไง คนที่จะเอาถ่านมันต้องมีหลักมีเกณฑ์ มีเหตุมีผล เวลาจิตมันสงบร่มเย็นแล้ว ถ้ามันว่าเราหลบแล้ว เราพอใจแล้ว สิ่งใดที่ว่าเรามีปัญหาขึ้นมาเราก็มาพักมาผ่อนมาหลบเรา ถ้าจิตใจมันอ่อนแอ คนที่มันไม่เอาถ่านเลยอย่างนี้ มันก็ว่าสิ่งนี้เป็นนิพพาน เห็นไหม ถ้าใจมันไม่เอาถ่านนะ

“คนไม่เอาถ่าน” อย่างหนึ่ง ถ้า “ใจไม่เอาถ่าน” ใจมันไม่ออกทำงาน

ถ้า “ใจไม่เอาถ่าน” มันบอกว่า “อื้ม! นี่สงบร่มเย็น เวลาออกไปก็ทุกข์ เวลากระทบสิ่งใดก็มีแต่ความทุกข์ เวลามีสติปัญญาขึ้นมา หลบเข้ามานี่โอ๋ย! สุข สบาย นิพพานเป็นอย่างนี้เอง”...นี่ใจไม่เอาถ่าน

ถ้าใจมันเอาถ่านนะ “ใจมันเอาถ่าน” พอจิตสงบร่มเย็นแล้ว นี่รสของสมถธรรม แล้วรำพึง นี่เก็บเล็กผสมน้อย จิตสงบแล้วรำพึงไปเห็นกาย ถ้ารำพึงไปเห็นกายมันจะเห็นของมันถ้ามีอำนาจวาสนา แต่ถ้าไม่มีอำนาจวาสนานะ รำพึงไปมันไม่ไป มันไม่มี พอไม่มีนี่เราต้องเปรียบเทียบขึ้นมา เราต้องเปรียบเทียบให้เห็นกาย ถ้าเห็นกาย เราฝึกหัด พอฝึกหัด ถ้าเห็นกายขึ้นมาถ้าจิตเป็นสมาธิ เวลาเห็นกายขึ้นมานะ โอ้โฮ! มันสะเทือนหัวใจมากนะ มันไม่เห็นแบบที่เราเห็นอย่างนี้หรอก มันสะเทือนหัวใจ เพราะใจมันเห็น

ดูนะ เวลาเรามองเห็นภาพ เราว่าภาพสิ่งใดเราก็รู้เราก็เห็นได้ เวลาผงเข้าตาเรานี่เราไม่เห็นผงในตาเรานะ แต่เราเคืองตามาก เราเคืองตากมาก ถ้าเราได้เอาผงออกจากตานะ เราจะสบายมากเลย เพราะความเคืองตานั้นออกไป

“จิต” ถ้ามันเห็นของมันโดยธรรมชาติของมนุษย์เขาก็เห็นของเขา แต่เวลาผงเข้าตา เวลาจิตที่มันสงบ จิตที่มันรู้มันเห็นของมัน มันเห็นละเอียดอ่อนกว่านั้น ถ้ามันเห็นละเอียดอ่อนกว่านั้นมันจะเอาสิ่งที่ผงเข้าตาเอาออกจากตา ถ้าจิตมันพิจารณา มันไปเห็นกาย มันสะเทือนหัวใจขึ้นมา แล้วมันพิจารณาของมันไป พอพิจารณามันปล่อย มันปล่อย

นี่รสของสมาธิธรรมอย่างหนึ่งนะ รสของการใช้ปัญญา รสของวิปัสสนาญาณ เวลามันปล่อยน่ะ มันแตกต่างกัน เห็นไหม คนเอาถ่าน ใจเอาถ่าน มันรู้ ถ้าใจเอาถ่านมันจะรู้เลยว่านี่เป็นสมถะ นี่เป็นสมาธิ เป็นการพักร้อน เป็นการหลบของร้อน หลบจากเรื่องวุ่นวายเข้ามาพักสงบร่มเย็น ถ้าสงบร่มเย็นแล้ว ถ้ามันไม่ได้ใช้ปัญญา ไม่ได้วิปัสสนาออกไป นี่มันคลายตัวออกไปมันก็เหมือนเดิมน่ะ เหมือนเดิมหมายถึงความรู้สึกนึกคิดมันเหมือนปกตินี่แหละ เพราะมันไม่มีสิ่งใดหลุด หรือไม่มีสิ่งใดขาด ไม่มีสิ่งใดที่ถอนออกไปจากใจ

แต่จิตมันมีความสงบ เพราะมันพิจารณาแล้วจิตมันหลบเข้ามามีความสงบแล้ว ถ้าเราใช้ปัญญา เพราะใจมันเอาถ่าน ใจมันขวนขวาย ใจมันต้องการกระทำ มันรำพึงไปให้เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่สติปัฏฐาน ๔ การใช้ปัญญาที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นตรงนี้ ถ้าตรงนี้มันเกิดขึ้นมามันใช้ปัญญาของมันไป เวลามันพิจารณาไปแล้วมันปล่อย มันปล่อย พอมันปล่อยขึ้นมา นี่มันปล่อย มันลึกซึ้ง มันตื่นเต้น

คำว่า “ปล่อย” ปล่อยด้วยอะไร? ปล่อยด้วยดำริชอบ ปล่อยด้วยปัญญา ปล่อยด้วยงานชอบ งานชอบเพราะมันพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม พิจารณาด้วยปัญญา ปัญญามันมีสติ มีสมาธิพร้อม พอมันพิจารณา มันใช้ปัญญาแยกแยะไปใคร่ครวญไป พอใคร่ครวญไปนะ พอมันสมดุล มันเป็นมัชฌิมาปฏิปทามันก็ปล่อย ความปล่อย นี่รสของวิปัสสนาญาณ

นี่ไง ที่ว่าหลวงปู่มั่นท่านพิจารณากายครั้งแรก ท่านจิตสงบแล้วท่านพิจารณากาย พิจารณากายไปแล้วมันเด้งออกมา มันเหมือนกับชนกำแพง มันพิจารณาไปแล้วมันเหมือนถนนขาด พิจารณาไปขาด มันไม่มีสิ่งตอบสนอง มันคล้ายกับเป็นสมาธิ เหมือนกับหลบในสมาธิแล้วออกมาเหมือนปกติ ท่านบอกว่า “อันนี้ไม่ใช่ อันนี้ไม่ใช่ เอ...ทำไมมันไม่ใช่ เอ...มันไม่ใช่”

เหมือนกับเราตอบโจทย์ แล้วมันไม่มีผลตอบสนอง จนท่านลาโพธิสัตว์แล้ว ท่านพิจารณากาย กลับมาทำความสงบของใจใหม่ แล้วพิจารณากายไป พอพิจารณากายไปมันถอดถอนไง เวลาเกิดถ้าใช้ปัญญา ปัญญาชอบ งานชอบ เพียรชอบ การใช้วิปัสสนาญาณ พอพิจารณาไปมันปล่อยเป็นตทังคปหาน พอมันปล่อย รสชาติ รสของสมถธรรม รสของความสงบร่มเย็น รสของการหลบจากร้อนมาพักมาผ่อน มันต้องมีสัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ มันเป็นโลกียะหมด นี่โลกุตตระมันเกิดจากตรงนี้ โลกุตตระเกิดจากสัมมาสมาธิ เกิดจากศีล สมาธิ ปัญญา

ถ้าไม่มีสมาธินะ สมาธิที่เป็นสัมมา สมาธิที่ความถูกต้อง ถ้าเกิดปัญญา ปัญญานี่มันจะชำระล้างกิเลส ปัญญาที่มันจะถอดถอนกิเลส ถ้าพิจารณาไป พอมันปล่อยขึ้นมา รสของมันแตกต่าง พอรสของมันแตกต่าง สิ่งที่ว่าสิ่งที่หลวงปู่มั่นท่านพิจารณาของท่านทีแรก ท่านบอกว่า

“อย่างนี้ไม่ใช่ อย่างนี้ไม่ใช่”

พอท่านลาโพธิสัตว์แล้ว ท่านพิจารณา “อื้ม! นี่ใช่ นี่ใช่”

มันแตกต่างอย่างนี้

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราพิจารณาไป ใจถ้ามันเอาถ่านนะ มันเห็นความแตกต่าง ความแตกต่างว่า ถ้าเป็นวิปัสสนา มันถอดมันถอน มันรื้อถอนออกมาจากใจของเรา ถ้าเป็นสมถะ ร่มเย็นเป็นสุข ถ้าร่มเย็นเป็นสุข เวลามันพักผ่อน ร่มเย็นเป็นสุขแล้วไม่ทำงานน่ะ เราจะเอาที่ไหนกิน ร่มเย็นเป็นสุข นอนพักผ่อนทั้งวันทั้งคืนเลย แล้วจะเอาอะไรไปอยู่ไปกิน จะกินจะอยู่นี่มันต้องขวนขวาย ต้องแสวงหา นี่ไง เราถึงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ เรามีธรรมเป็นเครื่องอยู่ เราจะประพฤติปฏิบัติของเราเพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าประโยชน์กับเรา เราถึงต้องขวนขวาย

เหนื่อยไหม? เหนื่อย

ทุกข์ไหม? ทุกข์

การกระทำนี่ทุกข์เพราะมันเป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง แล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันต้องลงทุนลงแรง การลงทุนลงแรงของเรา เราทำเพื่อใคร นี่ไง แต่ถ้าคนไม่เอาถ่านนะ มันจะเอาขี้เถ้านะ มันจะเอามักง่าย ความมักง่ายมันจะเอาแต่ประโยชน์ จะเอาแต่ชื่อ จะเอาแต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา สุกเอาเผากิน หยิบฉวยเอาเลย จับฉวยเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นของๆ ตัว

แล้วในปัจจุบันนี้ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ท่านประพฤติปฏิบัติด้วยความเป็นจริง ด้วยความเมตตาของท่านนะ ด้วยความเมตตาน่ะ ท่านแสดงธรรมไว้ให้เราเป็นปูนหมายป้ายทาง เป็นเครื่องดำเนิน ถ้าเป็นเครื่องดำเนิน ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา อันนั้นมันเป็นเครื่องชี้ทาง มันเป็นการบอกเรา เราต้องเอาความจริงของเราขึ้นมา ถ้าความจริงกับเรา เราปฏิบัติขึ้นไปมันจะเป็นข้อเท็จจริงกับใจดวงนั้น เพราะจริตนิสัยมันไม่เหมือนกัน จริตนิสัยเหมือนกัน ทำเหมือนกัน แต่ผลตอบสนองไม่เหมือนกัน มันจะได้มากได้น้อย หรือมันจะไม่ได้เลย มันอยู่ที่การกระทำอันนั้น ฉะนั้น ถ้าใจมันไม่เอาถ่าน มันเอาขี้เถ้าน่ะ มันไปหยิบฉวยเอามา พอหยิบฉวยเอามา

ในการประพฤติปฏิบัติ พวกเราที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ ปฏิบัติใหม่มันก็เหมือนคนตาบอด คนตาบอดนี่เขาบอกอะไรก็เชื่อ เพราะเราตาบอด เราไม่รู้อะไรถูกอะไรผิด เพราะเราตาบอด เรารู้จริงไม่ได้ แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านตาสว่างโพลง ท่านพิจารณาของท่านมาท่านรู้หมดน่ะ ว่าอันใดมันเป็นถ่าน อะไรมันเป็นขี้เถ้า ถ้าเป็นถ่าน เป็นถ่านมันเป็นประโยชน์นะ เป็นถ่านมันเอาไปทำเป็นเชื้อเพลิง เอาไปทำสิ่งใดเพื่อเป็นหุงหาอาหารกินเราได้ แต่ถ้ามันมีขี้เถ้า ขี้เถ้ามันเป็นสารพิษด้วย มันไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับใครเลย ไปอยู่แหล่งน้ำก็ทำให้น้ำเสีย ไปอยู่บนอากาศ อากาศหายใจเข้าไปมันก็เข้าไปทำลายปอด...มันจะไม่มีอะไรเลย

นี่ก็เหมือนกัน เราก็ไปหยิบฉวยเอา เพราะอะไร เพราะมันเป็นของเบาไง แล้วมันเป็นประโยชน์ขึ้นมาไหมล่ะ? มันไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย นี่ถ้าใจไม่เอาถ่านนะ ถ้าใจไม่เอาถ่าน มันจะทำลายตัวมันเอง ไม่ทำลายใครเลย ทำลายตัวมันเองเพราะอะไร เพราะถ้ามันปฏิบัติไป ถ้ามันไม่มีการทำอย่างนั้น ถ้ามันปฏิบัติแล้วไม่ได้ผลต่อไป ทำอย่างนั้นต่อไป ใจมันจะเร่ร่อนไปเรื่อยๆ นี่มันเป็นสารพิษกับใจตัวเองตลอดไป นี่เที่ยวหยิบฉวย เที่ยวหยิบฉวยเพราะมันเป็นขี้เถ้า มันหยิบฉวยมันเป็นนามธรรม หยิบของคนอื่นมาเป็นของตัว

แล้วไอ้สังคมมันก็ตาบอดด้วย พอสังคมตาบอดก็เชื่อว่า “โอ๋ย! มันสะดวก มันทำง่าย มันเป็นธรรมจริง เพราะท่านเป็นพระกรรมฐาน ท่านอยู่ในสังคมกรรมฐาน มันต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ”...แล้วมันจริงไหม? มันไม่จริงสักอย่างหนึ่ง เพราะอะไร เพราะใจไม่เอาถ่าน

ถ้าใจเอาถ่านนะ เราทำของเรา มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก เรารู้ของเราเอง เรารู้ชัดเจนมาก เราเป็นคนทำเราต้องรู้ก่อนสิ

เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนได้ขั้นได้ตอนขึ้นมา ท่านจะไปรายงานครูบาอาจารย์ของท่านนะว่า “เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น” ถ้าไม่ถูกต้องนะ ส่วนใหญ่แล้วท่านจะเงียบ เงียบเพราะอะไร เพราะพูดออกไปแล้ว คนปฏิบัติมามันจะเสียใจ นี่ส่วนใหญ่จะเงียบ ถ้าไม่ถูกนะ ถ้ายังไม่ถูกต้องท่านจะเงียบ แล้วท่านจะเสนอว่า “ควรทำอย่างนี้ ควรทำอย่างนี้” นั่นคือแนวทางที่จะให้ไปทำแล้วล่ะ

แต่ถ้าไปบอกว่า “ผิด” หรือว่ามันทำแล้วทำให้คนปฏิบัตินี่ขาอ่อนเลย มันไม่มีกำลังใจ ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมขึ้นมา ท่านจะห่วงกำลังใจมาก เพราะกำลังใจ ถ้ากำลังใจมันไม่สู้นะ มันล้มลุกคลุกคลานเลย แต่ถ้ากำลังใจมันจริงจังขึ้นมานะ มันอะไรมันก็ทำไปได้ ฉะนั้น ถ้าเวลาอธิบายให้ครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านยังเงียบอยู่น่ะ นั่นน่ะ มันแปลก

แต่ถ้าเวลาท่าน ถ้าเป็นความจริงนะ เราปฏิบัติแล้วพออธิบายให้ท่านฟังนะ ท่านจะตอบรับทันทีเลย “นั่น! นั่น! นั่น!” นี่ถ้าเป็นความจริงนะ มันตอบรับทันที

แต่ถ้ามันยังไม่จริงน่ะ เพราะว่าถ้า “นั่น” ไปแล้ว ทำให้จิตใจดวงนั้นไม่ละเอียดรอบคอบ ไม่พิจารณาให้มันเป็นจริงขึ้นมา ฉะนั้น ท่านพยายามจะเสนอ เสนอคือว่าความเห็นต่าง นี่ความเห็นต่างอีกมุมมองหนึ่ง เพื่อให้จิตดวงนั้นได้พลิกตัวมา เพื่อให้จิตดวงนั้นได้พิจารณา ได้แก้ไขเพื่อประโยชน์กับจิตดวงนั้น นี่ถ้าครูบาอาจารย์ของเราเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นครูบาอาจารย์จริงๆ

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ไม่จริง ครูบาอาจารย์ที่เขาไม่จริง ผู้ที่ปฏิบัติใจไม่เอาถ่าน มันก็เลยกลายเป็นการส่งเสริมกัน เป็นการยกย่องเชิดชูกันไป ถ้าเชิดชูกันไป เชิดชูด้วยลมปาก มันไม่มีสิ่งใดเป็นความจริงตกค้างในใจ ถ้าเป็นความจริงตกค้างในใจ นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก

แล้วเราเป็นใคร? เราเป็นนักปฏิบัติใช่ไหม เราเป็นลูกศิษย์กรรมฐานใช่ไหม ถ้าเราเป็นลูกศิษย์กรรมฐาน ครูบาอาจารย์ของเราเยอะแยะไปหมดน่ะ เราฟังสิ “กาลามสูตร” อย่าเพิ่งเชื่อ แล้วเทียบเคียง ถ้าเทียบเคียงขึ้นมามันเป็นประโยชน์นะ เว้นไว้แต่ ในปัจจุบันนี้ ในเมื่อในการปฏิบัติ พวกเราเหลวไหลกันมาก พวกใจไม่เอาถ่านมันเยอะ พอใจไม่เอาถ่านมันก็เอาแต่ขี้เถ้า แล้วพวกนี้เยอะ

แต่พวกที่ใจเอาถ่าน พวกที่เข้มแข็ง พวกที่มีการกระทำ พอการกระทำ พวกเราก็กลัวทุกข์กลัวยากไง เวลาจริงๆ จังๆ ขึ้นมาก็กลัวทุกข์กลัวยากกลัวลำบากลำบน แต่ที่มันไม่เอาถ่าน มันเป็นขี้เถ้า ไม่ต้องทำสิ่งใดเลย มันปลิวไป ง่ายๆ แล้วผู้ที่ปฏิบัติฐานไม่ดี คือว่าสร้างบุญญาธิการมา ที่เชื่อง่าย โลภจริต หลงใหลได้ปลื้มไปกับเขา ฉะนั้น เขาก็หลอกได้ง่ายๆ ทั้งนั้นน่ะ ถ้าหลอกเราก็เชื่อเขาไป แต่ถ้ากาลามสูตร อย่าเพิ่งเชื่อ แล้วพิจารณาของเรา ถ้ามันเป็นจริงนะ

แม้แต่ทำความสงบร่มเย็นในใจนี่ชำนาญในวสี จะเข้าเมื่อไรก็ได้ ถ้าเข้าแล้ว ถ้าจิตมันเสื่อมนะ เวลามันเข้าไม่ได้ เวลาเข้าเข้าไม่ได้ “เอ๊ะ! จิตเราทำไมเข้าไม่ได้” ถ้าเข้าไม่ได้เราต้องหาทางแล้วล่ะ หาทางของเรา “ทำไมมันเสื่อม? แล้วสิ่งที่เคยเข้าได้ ทำไมเข้าไม่ได้” ถ้าเข้าได้นะ พอเข้ามานะ มันสงบร่มเย็น ร่มเย็น แล้วทำให้ร่างกายสดชื่น แล้วเราจะทำสิ่งใดก็มีกำลัง

ถ้าจิตมันเสื่อมนะ เร่าร้อน ร่างกายก็เร่าร้อน หัวใจก็เป็นไฟ แล้วมีแต่ความหมักหมมในหัวใจ เราถึงเวลาจิตมันเสื่อมนะ เราก็ต้องอาศัยหมู่คณะ อาศัยข้อวัตรปฏิบัติ แล้วเราพยายามพลิกแพลงของเรา ต้องพยายามพลิกแพลง อย่าไปน้อยใจกับมัน อย่าไปยอมจำนนกับมัน กิเลสมันอยู่กับเรามาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันก็มาเบี่ยงเบนให้เราล้มลุกคลุกคลานอยู่นี่ ฉะนั้น ถ้ามันล้มลุกคลุกคลาน เราต้องหาทางพลิกขึ้นมาให้ได้ เพราะชีวิตมีค่ามาก ในเมื่อเรายังมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออกอยู่ เราไม่ใช่คนตาย ถ้าคนยังมีชีวิตอยู่ กีฬานั้นยังปิดเกม เกมยังไม่สิ้นสุด ชีวิตเรายังมีอยู่ เรายังพลิกขึ้นมาได้

ในสมัยพุทธกาลนะ เวลาพระวิปัสสนาญาณอยู่ วิปัสสนาใช้ปัญญาใคร่ครวญกิเลสอยู่ เสือมันมากัดกิน กินตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมา นี่ก็ใช้ปัญญาต่อไป ต่อไป มันกินมาจนถึงเอวนะ ยังไม่สำเร็จนะ พอมันกินขึ้นมาถึงเหนือขึ้นมา สิ้นชีวิตพร้อมกับการสิ้นกิเลสไป สิ้นกิเลสคาปากเสือเลย นี่ผู้ที่ทำเขาได้ประโยชน์ขนาดนั้นนะ เขาใช้ปัญญาของเขา ใช้ความเข้มแข็งของเขา

แล้วเรา เราเคยวิกฤตขนาดนั้นไหม เราไม่เห็นวิกฤตขนาดนั้นเลย เราวิกฤตแค่จิตใจเรามันเจริญมา เคยมีหลักมีเกณฑ์มาแล้วมันเสื่อมไปก็เท่านั้นเอง แล้วถ้าจิตใจมันเจริญแล้วไม่เสื่อมเลยนี่มันมีที่ไหนล่ะ แล้วจิตใจถ้ามันเจริญแล้วไม่เสื่อม หรือเสื่อมแล้วเจริญไม่ได้ แล้วถ้ามันเสื่อม มันเจริญแล้วไม่เสื่อมเลยน่ะ มันจะอยู่เป็นวัตถุอย่างนั้นเหรอ มันก็ต้องเจริญแล้วเสื่อม มันก็เป็นประสบการณ์ของเราไง

ดูครูบาอาจารย์ของเราท่านล้มลุกคลุกคลานมาทั้งนั้นน่ะ ท่านเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญขึ้นมา ท่านแก้ไขของท่าน ทำของท่าน จนท่านพ้นจากทุกข์ไป จนท่านเป็นอาจารย์ของเราอยู่ในปัจจุบันนี้ นี่ครูบาอาจารย์ท่านจะผ่านวิกฤตประสบการณ์อย่างนี้มาทั้งนั้นน่ะ

แล้ววิกฤตประสบการณ์อย่างนี้มานี่แค่นี้เอง แค่นี้เอง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกข์ขนาดไหน เวลาครูบาอาจารย์เราทุกข์ขนาดไหน...ก็ของเราแค่นี้ ฉะนั้น ฟื้นฟู ตั้งใจ เก็บหอมรอมริบ เราไม่ใช่คนใจเอาถ่านนะ ถ้าใจไม่เอาถ่านนะ มันจะเหลวไหล แล้วมันก็จะไหลไปกับกระแสโลก แล้วกระแสโลก

ดูสิ หลวงตาท่านพูดประจำ

“เราฝึกพระมาเป็นหมื่นเป็นแสน มันหายไปไหนกันหมด?”

โลกกลืนกินไปหมดเลย แล้วเราจะเป็นอย่างนั้นอีกด้วยเหรอ เห็นถ้าโลกมันกลืนกินคนอื่นไปหมดแล้ว เหมือนกับเสือนี่มันกินพระไปหมดแล้ว เราไม่ยอมให้เสือกิน เราจะหลบหลีกของเรา เราจะแก้ไขของเรา นี่ถ้าโลกมันกลืนกินพระหมดแล้ว เราก็ต้องเข้มแข็งของเรา

อยู่กับโลกโดยไม่ติดมัน อยู่กับมันนี่แหละ แล้วเราถึงที่สุด ดูสิ ถ้าเราปฏิบัติของเราที่สุดแห่งทุกข์ เห็นไหม “หยดน้ำบนใบบัว” มันอยู่บนใบบัวแต่มันไม่ติดไปกับใบบัว มันเป็นสัจจะของมันอย่างนั้น ฉะนั้น จิตใจของเรา เราอยู่กับโลกเราก็ต้องเข้มแข็งของเรา เราก็แก้ไขของเรา เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา ตั้งใจ มันเป็นสัจจะอย่างนี้

สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์

สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจังทั้งอารมณ์ความรู้สึกเราด้วย ทั้งในการประพฤติปฏิบัติเราด้วย มันก็เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญอย่างนี้ เพียงแต่เราบริหารจัดการมันได้อย่างไร ถ้าเราจะบริหารจัดการขึ้นมาให้มันเป็นประโยชน์กับเราขึ้นมา ตั้งใจแล้วทำของเราให้เป็นประโยชน์ขึ้นมา นี่การล้มลุกคลุกคลานนี้ การเสื่อมนี้มันเป็นประสบการณ์ ถ้าเราไม่รู้จักเสื่อม เราจะเจริญได้อย่างไร ถ้าเราไม่มีในหัวใจของเราเลย มันจะเสื่อมได้อย่างไร คนไม่มี มันจะเสื่อมอย่างไร คนมันต้องมี มันถึงเสื่อม แต่ถ้ามันเสื่อมแล้วมันก็ต้องเจริญได้ นี่ถ้ามันเจริญได้ จิตใจมันปักให้ได้ ปักหลักให้ได้ ถ้าจิตใจมันปักหลักได้นะ มันก็เป็นหัวใจมันก็ดีขึ้นมา นี่หัวใจเข้มแข็งขึ้นมา หัวใจมันจะเอาถ่านนะ

ถ้าหัวใจไม่เอาถ่าน ปฏิบัติไปมันก็ล้มลุกคลุกคลานนะ เราปฏิบัติเพื่อเรา เราทำเพื่อเรา จิตใจนี้ ปฏิสนธิจิต น่าสงสารมากนะ ปฏิสนธิจิต เกิดในไข่ เกิดในน้ำคร่ำ เกิดเป็นโอปปาติกะ เกิดในไข่ เกิดในครรภ์ เกิดในน้ำคร่ำ เกิดเป็นโอปปาติกะ ปฏิสนธิจิตมันต้องเกิดอย่างนั้น ปฏิสนธิจิตมันจะเวียนตายเวียนเกิดอย่างนั้น กำเนิด ๔ แล้วกำเนิด ๔ มันเกิดมาเป็นเรา พอเกิดมาเป็นเรา เรามีความมุ่งมั่น เรามีความประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะล้มลุกคลุกคลานขนาดไหน นี่จิตดวงนี้มันก็มีวาสนาของมัน มันได้มาสัมผัส

“โอกาส” โอกาสของการประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่มันเป็นมานะ อะไรที่มันไม่ดี ละแล้ววางซะ สิ่งที่ไม่ดี เราพยายาม เพราะสิ่งที่ไม่ดีนะ ไม่ละไม่วาง นั่นล่ะ เหตุไง เหตุมันเป็นวิบาก นั่นล่ะ มันจะมาเผาเรา

ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะต้องทำให้ตัวเราเบาที่สุด เราจะต้องทำให้สิ่งที่ว่ามันจะมาเผาลนใจเรา ถ้าเราไม่ทำมันก็ไม่เกิด ถ้าเราทำมันก็เกิด เราไปทำสิ่งใด เราจุดไฟ ไฟก็เผาเรา เราไม่จุดไฟ ไฟก็ไม่เผาเรา ถ้าสิ่งใดมันเป็นสิ่งที่ไม่เป็นความดี ละแล้ววาง ต้องเปลี่ยน ต้องเปลี่ยนแปลง “ต้องเอาถ่าน” อย่าเอาขี้เถ้า

“ต้องเอาถ่าน” จิตใจเข้มแข็ง จิตใจเอาถ่าน

ถ้าจิตใจไม่เอาถ่าน เอาแต่ขี้เถ้า แล้วจะเหลวไหล จะไม่เป็นประโยชน์กับเรา เอวัง