ชีวิตรันทด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์พระ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจนะ ทำความสงบของใจ ให้ใจสงบระงับ ฟังธรรมจะได้เข้าใจ ฟังธรรมเข้าใจหมายความว่า เวลาเสียงที่เข้าไปกระเทือนหัวใจนี่มันเกิดอาการขนพองสยองเกล้า คือมันทำให้เราตื่นตัวไง เวลานอนจม เวลาตะกอนมันนอนอยู่ใต้ก้นแก้ว ถ้าแก้วไม่มีการขยับ น้ำใส ตะกอนมันนอนอยู่ก้นแก้ว แต่ถ้ามีความสั่นสะเทือน ตะกอนมันจะฟูขึ้นมา
กิเลสของเรามันอยู่ที่ในจิตใต้สำนึก ด้วยความคุ้นชิน เคยชิน ความเคยชิน ดินพอกหางหมู ถ้าดินพอกหางหมู หางหมูมันจะก้อนโตขึ้นเรื่อยๆ มันจะมีน้ำหนักถ่วงไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามีการทำความสะอาด เห็นไหม มันแช่น้ำของมัน มันมีความยุ่ยเปื่อยของมันไป หางหมูนั้นจะมีความสะอาด หางหมูนั้นไม่มีดินพอก มันจะเบาสบายของมัน
จิต ถ้าเวลามันคุ้นเคย เหมือนกับดินพอกหางหมู นี่มันมีน้ำหนักของมัน แต่ถ้ามันเป็นตะกอนน้ำก้นแก้ว เวลาสั่นสะเทือนมันก็จะฟูขึ้นมา นี่ถ้าเวลาฟังธรรมขึ้นมา ธรรมนี่มันเข้าไปสะเทือนหัวใจ ถ้าสะเทือนหัวใจมันจะเกิดอาการขนพองสยองเกล้า มันเกิดอาการที่เราหนักหน่วงในหัวใจ ในหัวใจเรามันคุ้นชิน มันหนักหน่วง มันเซื่องซึม แต่ถ้ามันมีธรรมเข้าไป ไปกระตุ้น
เวลาพวกเราอยู่กับครูบาอาจารย์ เวลาเราออกประพฤติปฏิบัติ เวลาเราออกเที่ยวป่าขึ้นมา เราจะแวะไปหาครูบาอาจารย์เพื่อจะให้ท่านชาร์ตไฟ ชาร์ตไฟ หมายถึงว่า ท่านจะแสดงธรรมให้เราฟัง มันสะเทือนหัวใจไง ถ้ามันสะเทือนหัวใจ มันชาร์ตไฟขึ้นไป มันทำความสะอาดหัวใจของเรา หัวใจของเราดินพอกหางหมู มันช่วยตัวเองไม่ได้
ดิน โดยธรรมชาติของมัน เวลามันแห้ง มันเกาะด้วยจำนวนมวลดินของมัน แต่ถ้ามันแช่น้ำขึ้นไป มันมีสิ่งที่เข้าไปย่อยสลายมัน มันก็ต้องละลายไป นี่เวลากิเลส กิเลสเป็นนามธรรม ถ้าจิตมันฟังธรรมแล้วมันสะเทือนหัวใจ สะเทือนหัวใจทำให้เราตื่นตัวนะ ให้เราไม่นอนจมกับมัน ดูสิ เวลาความรู้สึกนึกคิดของเรา เวลามันหนักหน่วงในหัวใจ ชีวิตนี้เศร้าซึมนะ นี่เหม่อลอย เศร้าซึม มีแต่ความกดดันในหัวใจ
แต่ถ้าเราภาวนาของเรา จิตใจมันปลอดโปร่ง จิตใจมันเป็นสมาธิขึ้นมา มันมีความสุข พอมีความสุขขึ้นมามันจะซาบซึ้งธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญา มันมีคุณค่ากับเรา ความสุขสิ่งใดเท่ากับจิตสงบไม่มี
แต่เวลาจิตใจเวลามันทุกข์มันยากขึ้นมา ดินพอกหางหมู มันหนักหน่วงของมัน มันอยากกระทบกระเทือนสิ่งต่างๆ เพื่อให้มันมีความรู้สึกของมันไง เวลาจิตมันหนักหน่วงขึ้นมา มันคิดแต่เรื่องโลกๆ ไง คิดถึงความเป็นอยู่ของเขา มีความสุขสบาย เห็นไหม เวลาเราคิดกันนะ เวลาความคิดของเรา เวลาเราคิดว่าเราจะทำสิ่งใด เราจินตนาการว่ามันจะประสบความสำเร็จทั้งนั้นน่ะ ทำสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จ นั่นคือความคิด ไม่ใช่ความจริง
ถ้าความจริง เวลาไปทำแล้วมันจะมีอุปสรรค แล้วก็เรื่องเวรเรื่องกรรม เรื่องเวรเรื่องกรรมคือกาลเทศะ จังหวะและโอกาสของคนไม่เหมือนกัน คนเกิดมายุคหนึ่งคราวหนึ่ง สิ่งนั้นเขาขาดแคลน เราทำสิ่งใดก็จะประสบความสำเร็จ เราเกิดมาในยุคใดคราวใด สังคมเขาร่มเย็นเป็นสุข เรามีสิ่งใดเสนอไปเขาก็ไม่สนใจเราหรอก เขาไม่สนใจเพราะว่าเขาร่มเย็นเป็นสุขของเขาอยู่แล้ว คำว่า ร่มเย็นเป็นสุข ร่มเย็นเป็นสุขของโลกนะ ไม่ใช่ร่มเย็นเป็นสุขของธรรม
ร่มเย็นเป็นสุขของธรรม
เพราะสิ่งใดก็แล้วแต่ โลกนี้เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของมัน มันไม่มีอะไรคงที่หรอก นี้เหมือนกัน ขาขึ้น-ขาลง เวลาขาขึ้น สิ่งใดก็ดีงามไปหมด แต่เวลาขาลง ทุกข์ยากกันไปหมดนะ ผลของวัฏฏะมันเป็นแบบนั้น ฉะนั้น เราเกิดมาทางโลก กาลเทศะของเขามันเรื่องบุญกุศลของเขา
แต่เพราะเราเห็นโทษเห็นภัยในวัฏสงสารใช่ไหม เราถึงหาความจริงของเรา
เวลาหาความจริงของเรานะ เรามาบวชเป็นพระเป็นเจ้า เราบวชเป็นพระ ถ้าเขามีคุณธรรมในหัวใจ เวลาเขาเห็นพระเห็นเจ้า เขาอยากส่งเสริม ทุกคนเขาอยากจะส่งเสริม อยากจะดูแล อยากจะช่วยเหลือเจือจานนะ เขาเห็นชีวิตเราว่ามีความทุกข์ความยาก เขาสงสาร คำว่า สงสาร
ดูสิ แต่ถ้าผู้ประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ของเรา อย่างเช่น เวลาโค้ช นักกีฬาต่างๆ เวลาเขาฝึกนักกีฬา เขาดูทักษะ เขาดูเชาวน์ปัญญา เขาดูความเป็นไปได้ ถ้าดูความเป็นไปได้ เขาจะเข้มข้น เข้มงวด เพื่อให้นักกีฬาของเขาประสบความสำเร็จ เพื่อให้นักกีฬาของเขามีทักษะ มีปฏิภาณของเขาในการกระทำ เขาจะเข้มข้นของเขา
แต่ถ้าจิตใจของคน จิตใจที่เขาคิดทางโลก เขาคิดเห็นว่าในการฝึกทักษะ ในการกระทำมันมีความทุกข์ความยาก มันมีความเหนื่อยเดือดร้อน จะสงสาร คำว่า สงสาร สงสารด้วยความรู้สึกนึกคิดของเขา เขาเห็นเราเป็นนักบวช เห็นเราขาดแคลนอย่างนั้น คำว่า ขาดแคลน ใครทำให้มันขาดแคลน? เราทำให้มันขาดแคลนกันเอง ของมันมีอยู่ แต่เราใช้โดยความประหยัดมัธยัสถ์ของเรา เราฝึกหัดดัดนิสัย แล้วการฝึกหัดดัดนิสัยมันต้องบังคับไง บังคับให้อยู่ในร่องในรอย ถ้าอยู่ในร่องในรอย ทางโลกเขามองเข้ามาแล้วเขาสงสารไง เขาสงสาร เห็นใจ อยากจะช่วยเหลือเจือจาน อยากจะช่วยส่งเสริม
คำว่า ส่งเสริม ส่งเสริมอะไร ถ้าส่งเสริม นี่ไง โลกเขามอง มองกันที่นี่
ดูสิ เวลาทางพระ เขาเรียกว่า ฉกฉวยศรัทธา ศรัทธาที่ไหน เขามีต่างๆ ศรัทธาไทย ต้องการศรัทธาจากเขา ต้องการต่างๆ จากเขา ก็ไปแสดงเพื่อให้เขาสงสาร นั่นพูดถึงเรื่องของทางโลก เรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยากนะ
แต่เรื่องของธรรมล่ะ ดูครูบาอาจารย์ของเรา เวลาเราออกปลีก เราออกไปหาที่วิเวก หาที่สงัดของเรา เราหาที่อะไร? หาที่ขาดแคลนทั้งนั้นน่ะ อย่างที่ที่ขาดแคลน ขาดแคลนเพราะอะไร? เพราะจะดัดแปลงมัน เราจะต้องการให้เห็นกิเลสของเรา เพราะเราต้องการชำระกิเลส
ชำระกิเลส ชำระกันที่ไหน? จะชำระกันทางวิชาการ ชำระกันทางตำรา ชำระด้วยตรรกะ ตรรกะมันมีกับเรา เพราะคนเกิดมาต้องมีความรู้สึกนึกคิด เอาความรู้สึกนึกคิดมาชำระกิเลส มันเป็นไปไม่ได้หรอก ทีนี้ชำระกิเลส เห็นไหม เราออกวิเวกกัน ออกเข้าป่าเข้าเขาไปนี่เพื่ออะไรล่ะ? เพื่อทำความสงบของใจ ถ้าใจสงบ ใจมันอยู่ที่ไหน เวลาตั้งสติขึ้นมาใจมันอยู่ที่ไหน พอเราตั้งสติ เราใช้คำบริกรรมของเรา เราจะเข้าไปเผชิญหน้ากับมัน
ถ้าเข้าไปเผชิญหน้ากับมัน คำว่า เผชิญหน้า มันเป็นนามธรรมทั้งนั้นน่ะ แต่เรามีสติปัญญากำหนดพุทโธขึ้นไป นี่ไง กิเลสมันอยู่ที่ไหน ทุกอย่างแสวงหามา แสวงหากิเลสของเรา ฉะนั้น ชีวิตเรามันไม่รันทด คนเขามองมาเขาว่าชีวิตรันทดนะ นั่นชีวิตรันทดทางโลกเขา ทางโลกเขารันทดนะ พอรันทด ชีวิตเขาขาดแคลน ชีวิตเขาทุกข์ๆ ยากๆ เขามองกันอย่างนั้น เขาขาดแคลนกันอย่างนั้น
ทีนี้ พอมาเห็นพระไม่ต้องการสิ่งใด นึกว่าพระขาดแคลน คำว่า ขาดแคลน การขาดแคลน เราทำของเรานะ ไม่ต้องมาสงสาร คำว่า สงสาร เขามองแล้วเขาเปรียบเทียบขึ้นมาไง คนจะมีความสุขตามความเห็นของโลก คนจะมีความสุขต้องอุดมสมบูรณ์ ต้องมีความมั่นคงในชีวิตทุกอย่าง นี่ความคิดของเขา
ดูสิ เขามีคลังสำรองทางน้ำมัน ทางอาหาร เขาต้องมีคลังสำรองของเขาไว้ เพื่ออยู่ได้กี่วัน ๓๐ วัน ๕๐ วัน ในประเทศหนึ่งเขาจะมีคลังสำรองของเขาเพื่อความมั่นคงไง แล้วเวลาคลังอาหารของเขาบกพร่องลง เขาต้องหาเข้ามาเพื่อมาสำรองของเขา นี่เขาว่าความมั่นคงของเขา นี่คือการบริหารจัดการทางโลกนะ
แต่ถ้าเราเป็นทางธรรมล่ะ เราอดนอนผ่อนอาหารกัน เราฉันอาหารของเรา ดูสิ เรามีน้ำแค่ดำรงชีวิตของเราไป เราทนได้ เราต้องการความเบา ร่างกายสิ่งต่างๆ นี่มั่นคงอย่างนี้มันความมั่นคง เราทำเอง เราไม่ใช่ความมั่นคงของโลกเขา เขามั่นคงของเขาอย่างนั้น นั้นมุมมองของเขาไง ความรันทดของเขาคือความรันทดของคนที่ขาดแคลน คนที่เขาทุกข์เขายาก นิ้วคนไม่เท่ากัน
ในทางโลกก็เหมือนกัน การบริหารจัดการ ประเทศใดที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วขนาดไหน เขาจะมีคนตกงาน เขาจะมีคนตกสำรวจ คนทุกข์คนยาก คนนอกสำรวจของเขาน่ะ ทุกข์ยากกว่าเราเยอะนัก มันจะมั่นคงขนาดไหน ทุกประเทศมีคนจนและคนรวยในประเทศนั้น มีคนทุกชนชั้น แล้วชีวิตของเขามันแตกต่างหลากหลาย
อย่างนั้นเขาบอกเป็นการรันทดไง รันทดชีวิตทางโลกคือการขาดแคลน การต่างๆ
แต่เวลาเรามาทำ เราไม่ได้ขาดแคลน แต่เราต้องการจะชำระกิเลสของเรา แต่เขาเห็นว่ามันเป็นชีวิตที่รันทด เป็นชีวิตที่ทุกข์ยาก โลกมองว่าทุกข์ยากนะ ถ้าเรามองว่าสิ่งใดที่ทุกข์ยากนี่ เราจะเจริญงอกงามเข้าไปในธรรมไม่ได้เลย
เรากำลังเจริญงอกงามในธรรม เราจะเจริญงอกงามในธรรม
ธรรมคืออะไร?
ถ้าเราได้กินอิ่มนอนอุ่น นั่นกิเลสมันตัวใหญ่ๆ กินอิ่มนอนอุ่น กักตุนไว้ ความกักตุนในธรรมวินัย พระพุทธเจ้าก็ห้ามไว้แล้ว ภิกษุสะสมสิ่งใดไว้แรมคืน เป็นนิสัคคีย์ปาจิตตีย์ ห้ามเด็ดขาด สิ่งที่ห้ามเด็ดขาด ทีนี้ของเรา สะสมคือบุคคลคนนั้น แต่เวลาเราทำวัจกุฏี คลังที่เก็บอาหาร โรงครัว สิ่งนี้เอาไว้เป็นส่วนกลาง ไม่มีใครสะสม มันไม่มีใครเป็นเจ้าของ นี่วินัยมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา ฉะนั้น คำว่า เป็นชั้นเป็นตอน พระพุทธเจ้าห้ามเด็ดขาด ห้ามเด็ดขาดเพราะอะไร เพราะมันเป็นความกังวล
เวลามันเกิดนิวรณธรรม นิวรณธรรมเป็นเครื่องกั้นจิต สิ่งใดก็แล้วแต่มันเป็นภาระหน้าที่ทั้งนั้น ฉะนั้น เวลาในวินัย เพราะสังฆะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา วางธรรมและวินัยนี้ไว้ ฉะนั้น สิ่งใดภิกษุห้ามทำ เว้นไว้แต่สมมุติ สมมุติ ตั้งขึ้นมา พระที่วัจกุฏีวัตร พระที่มีหน้าที่ นี่เว้นไว้แต่สมมุติ สมมุติองค์นั้นทำหน้าที่
เพราะเวลาสังฆะคือสังคมสงฆ์
เวลาโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี นี่อริยภูมิ นั่นคือสงฆ์แท้ คำว่า สงฆ์แท้ เกิดที่นั่น
แต่ในเมื่อเป็นสมมุติสงฆ์ สงฆ์เป็นอารามิก ผู้ที่ไม่มีเรือน เราอยู่ร่วมกัน ความอยู่ร่วมกัน สิ่งใดต้องดูแลรักษา เพราะศรัทธาไทย ดูสิ เวลาโลกเขา เขาจะช่วงชิงศรัทธากัน แย่งชิงศรัทธากัน เพื่อให้เขามั่นคงในความเป็นอยู่ แต่ของเราไม่ใช่ต้องการศรัทธากับใครทั้งสิ้น แต่เราทำความจริงของเรา ทำความจริงของเราคือว่าในเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงฆ์ คือสิ่งที่ได้มาโดยสงฆ์ เว้นไว้สมมุติ สมมุติให้ผู้คนดูแล ผู้ดูแลนั้นต้องบริหารจัดการนั้นเพื่อรับผิดชอบสิ่งนั้น ไม่ให้เป็นที่ติเตียนของสังคม ไม่ให้เป็นที่ติเตียนของโลกเขา นี่ไง เขามอง เขาไม่รู้ไม่เห็น เขาก็สงสาร ชีวิตนี้รันทดนัก ชีวิตนี้ทุกข์ยากนัก ชีวิตนี้ลำบากนัก นี่ความคิดของเขา เพราะความคิดของเขายังอ่อนด้อย
แต่ความคิดของครูบาอาจารย์ของเราที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สิ่งนี้ สิ่งที่เราอยู่ป่าอยู่เขา สิ่งที่เราจำเป็นเพราะอะไร เรามีข้อวัตรปฏิบัติเหมือนทางโลก ทางโลก ถ้ามีผู้ที่มีปัญญา ดูสิ เวลานายพรานป่าเขาเข้าป่าไป เขามีมีดพร้าไปเล่มเดียวเท่านั้น เขาตัดไม้ไผ่ เขามีแหล่งน้ำ เขาเอาไม้ไผ่หุงอาหาร เขาทำได้หมดด้วยมีดพร้าเล่มเดียว เขาดำรงชีวิตได้ด้วยปัญญาของเขา ถ้าคนมีปัญญา เขาอยู่ในป่าในเขา ดำรงชีวิตได้หมดน่ะ
เราก็เหมือนกัน ในเมื่อเราเป็นพระ เราอยู่ในธรรมวินัย เหมือนคนที่มีปัญญา เขาเอาชีวิตเขารอดได้ ถ้าเอาชีวิตเขารอดได้ ไม่ต้องมารันทด เขามีปัญญาเอาชีวิตเขารอดขึ้นมา เห็นไหม ในทางโลกมันมีปัญญาอะไรล่ะ เราเอาชีวิตนี้ไปแขวนไว้กับสังคม ดูสิ รัฐบาล ผู้นำต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบ สิ่งที่รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ ทุกอย่างต้องผ่านรัฐบาล แล้วรัฐบาลยังเอาตัวไม่รอด แล้วจะมาดูเราได้อย่างไร นี่พูดถึงทางโลก
ถ้าพูดถึงทางธรรม สังฆะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สงฆ์เป็นใหญ่ สงฆ์เป็นผู้ดูแลสงฆ์ เราเป็นสงฆ์ เราบวชมาเป็นสงฆ์ ถ้าโลกเขามองมาในสงฆ์ วัดปฏิบัติแตกต่างกัน พอแตกต่างกันไป ที่เขามีอุดมสมบูรณ์ เขามีความสุขร่มเย็นน่ะ สังคมก็ว่า อืม พระนี้มีศักยภาพ พระนี้มีคนนับหน้าถือตา นี่เขามองกันในทางโลกไง มองทางโลก
แต่ถ้าครูบาอาจารย์เรามองนะ หลวงตาเวลาท่านมองนะ ท่านเตือนเราประจำ เตือนพระเรา เตือนในหมู่สงฆ์เรา เราเป็นภิกษุหัวโล้นๆ เราจะไปแข่งกับโลกไม่ได้ โลกเขามีเครื่องยนต์กลไกนั่นมันเรื่องของโลกเขา มีความจำเป็นของเขา เราเป็นภิกษุ เราหัวโล้นๆ เราจะมีเครื่องยนต์กลไกไปแข่งกับโลกเขาน่ะ มันน่าสังเวช
โห! เวลาท่านพูดนะ เขาได้ ๕ ได้ ๑๐ มา เวลาโลกเขาได้ ๕ ได้ ๑๐ มา เขาก็อยากได้บุญกุศลของเขา เขาก็ทำบุญกุศลของเขา ได้มีสิ่งใดที่เป็นของดีๆ ของที่ว่าเขาเลิศในทางโลก ผู้ที่เสียสละนี่คือผู้ที่มีใจเป็นธรรม
เขาก็เสียสละกับภิกษุหัวโล้นๆ ภิกษุเป็นเนื้อนาบุญของเขา แล้วภิกษุเราได้สิ่งนี้มา เราบริหารจัดการอย่างไร ถึงบอกว่า เว้นไว้แต่สมมุติ สมมุติว่าผู้ใดมีหน้าที่สิ่งใด ทำสิ่งใด เพื่อให้สิ่งนั้นถูกต้องตามธรรมและวินัย แล้วเราเป็นภิกษุหัวโล้นๆ จะไปแข่งกับโลกเขา นี่หลวงตาท่านเตือนประจำ ไม่ให้ไปแข่งกับโลกเขา แต่ในเมื่อเราอยู่ของเรา เราก็ต้องบริหารจัดการของเรา แต่เรามีเว้นไว้แต่สมมุติ สมมุติผู้ที่มีหน้าที่นั้น ถ้ามีหน้าที่นั้น นี่สงฆ์ต้องเป็นผู้แต่งตั้ง แต่ตั้งผู้นั้น นี่ตามธรรมวินัย
แต่กรรมฐานของเราแต่งตั้งกันในความรับรู้กัน เป็นเจตนาที่เรารู้กันอยู่แล้วว่าผู้นั้นทำหน้าที่นั้น ทำหน้าที่นั้น นี่ถ้าทำหน้าที่นั้น ถ้าใครเข้ามาศึกษา เข้ามาดูแล เขาก็รู้ว่ามันเป็นไปได้ไง แล้วถึงบอกว่า เวลาพรานป่าเขาอยู่ในป่า เขามีพร้าเล่มเดียวเขายังดำรงชีวิตของเขาได้ ของเรา เราก็มีปัญญาของเรา มีธรรมและวินัยเป็นศาสดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธงนำที่เดินนำหน้าเราไปอยู่ แล้วทำตามธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การดำรงชีวิต
การดำรงชีวิตทางโลกนะ แล้วถ้าเราจะดำรงชีวิตทางธรรม
ถ้ามันไม่รันทด จิตใจมันก็ไม่หงอยเหงา
ถ้าไม่รันทด จิตใจมันก็ไม่ห่อเหี่ยว จิตใจมันก็ไม่เศร้าสร้อย
แต่พอบอกว่าชีวิตนี้รันทด เขาเห็นแล้วเขาสงสาร พอเขาสงสารเขาก็มาอุ้มชู พออุ้มชูพวกเราก็ขาอ่อน คำว่า ขาอ่อน นี่เป็นคนที่แบบว่าไม่เข้มแข็ง แต่ถ้าในการประพฤติปฏิบัติล่ะ ถ้าจิตใจมันอ่อนแอ พอเขารันทดใช่ไหม ฮื่อ พระท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านขาดสิ่งนั้น ท่านขาดสิ่งนั้น เราจะต้องเข้าไปช่วยเหลือเจือจานกัน ก็ทุ่มกันเข้าไป นี่พอทุ่มกันเพื่อจะไปไง
อ้อ! สิ่งนี้เป็นสิ่งที่โลกเขาขาดแคลน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่โลกเขาปรารถนา เขาจะทำบุญกุศลของเขา เขาเห็นสิ่งนั้นปั๊บเขาก็ทุ่มเข้ามา
แล้วถ้าพระเราอ่อนแอ มันก็ตอบสนองกันไป
โมฆบุรุษตายเพราะลาภ โมฆบุรุษตายเพราะเหยื่อ
ในเมื่อเหยื่อมันเกิดขึ้นเพราะมันเป็นสังคมโลก สังคมโลกเกิดขึ้นอย่างนั้น แล้วจิตใจของผู้ที่เราไม่เข้มแข้ง นี่หลวงตาท่านถึงได้บอกสอนให้พวกเราไว้ว่า เราเป็นภิกษุนะ เราเป็นผู้หัวโล้นๆ นะ เราจะไปแข่งกับเขาไม่ได้ เราจะไปช่วงชิงกับเขาไม่ได้
สิ่งนั้น ถ้ามันเป็นตามธรรม ถ้าเขาเห็นเขาจะอุ้มชู เขาจะดูแลของเขา นั่นมันก็เรื่องของเขา เว้นไว้แต่สมมุติ สมมุติเป็นผู้จัดการ เป็นผู้ดูแลให้มันสมควรไง สมควรว่าผู้ใดควรเป็นอย่างใด มันจะเป็นประโยชน์กับสังคมสงฆ์โดยทั้งหมด ถ้าสิ่งนี้มันเกิดขึ้นมา เวลาทางโลกเขา เวลาเขาอุ้มชูกัน เขาอ่อนแอ คนที่อ่อนแอ คนที่ไม่มีความเข้มแข็ง เขาจะดำรงชีวิตของเขาในโลกนั้นได้อย่างใด
ในเมื่อเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าจิตใจเราอ่อนแอ จิตใจเราล้มลุกคลุกคลาน แล้วเราบอกว่าเราพยายามจะมาทรงตัวกันนะ มันรันทดมาตั้งแต่เกิดแล้วล่ะ เพราะมันเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาจากกำมา สิ่งใดก็เป็นของกู ของกู มันยึดมาตั้งแต่เกิด เวลาตายขึ้นมามันแบมือหมด เห็นไหม คติธรรมมันก็สอนตั้งแต่คนเกิดคนตาย มันก็เห็นนั่นน่ะ แล้วเราก็เกิดตายมาในชีวิตหนึ่ง แล้วเราเห็นภัยในวัฏสงสาร เรามาบวชเป็นภิกษุ เราเป็นนักรบอยู่นี่ แล้วเรายังต่อสู้กับตัวเราเอง มันจะรันทด ก็รันทดเพราะคนมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เพราะจิตใจเขาหยาบช้า จิตใจเขาต่ำทราม เขาถึงได้ไม่มองเห็นความเป็นจริงในธรรม
เรามองเห็นความเป็นจริงในธรรม จิตใจเรา นี่ปัญญาไง ปัญญาที่มันจะมีคุณประโยชน์ขึ้นมา ปัญญาที่มันจะส่งเสริมให้เราพ้นจากกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันได้รู้ได้เห็นว่าชีวิตของโลกมันเป็นแบบนั้น มันรันทดตั้งแต่การเกิดและการตายที่กลับมายึดมั่น กลับมาตอนที่ตายที่แบมือประกาศว่า
นี่ไม่ได้เอาอะไรไปเลยนะ สิ่งที่เป็นวัตถุไม่มีอะไรติดไม้ติดมือไปเลย แบไว้อย่างนี้ ไปก็ไปเฉพาะจิตวิญญาณ จิตวิญญาณที่ออกจากร่างไปมันมีบุญกุศลและบาปอกุศลติดตัวนั้นไป
นี่บอกเป็นคติธรรมมาตลอด
แล้วถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา ถ้าสิ่งนั้น สิ่งที่โลกเขาต้องการกัน นั่นก็เป็นเรื่องของโลกเขา สิ่งที่ว่าโลกเขา บุญกุศลของเขา เราว่าเขาทำของเขามันเรื่องของเขา แต่ของเราจะหาทรัพย์สมบัติจากภายใน ถ้าทรัพย์สมบัติจากภายในเราต้องมีความมั่นคงของเรา ต้องเข้มแข็งของเรา ถ้าเข้มแข็งของเรา จิตใจเราก็ไม่เศร้าหมอง จิตใจเราก็ไม่อ่อนด้อย จิตใจก็ไม่ล้มลุกคลุกคลาน ถ้าจิตใจไม่ล้มลุกคลุกคลาน ถ้ามันจะทำสิ่งใดมันทำได้เต็มไม้เต็มมือ
ถ้าคำว่า เต็มไม้เต็มมือ มันทำด้วยความจริงจัง ไม่ทำสักแต่ว่าทำ
สักแต่ว่าทำนะ ละล้าละลัง หน้าก็จะเอา หลังก็จะเอา ปัจจุบัน-อดีต-อนาคต ยึดไปหมดเลย แล้วปัจจุบันน่ะ จากปัจจุบันก็จิตใจเศร้าหมองอยู่นี่ไง แต่ถ้ามันปล่อยวางมาหมดนะ อดีตก็ผ่านมาแล้ว อนาคตก็ยังไปไม่ถึง ในปัจจุบันนี้เราจะมีสติปัญญาของเรา เราจะต่อสู้กับเรา นี่ใครจะมองเราอย่างไรก็แล้วแต่
คนเรานะ ดูสิ ผู้ที่มาบวชเป็นกุฎุมพี เศรษฐี มหาเศรษฐี ยาจกทุกข์จนเข็ญใจ มาบวชในพุทธศาสนาทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น โดยศักยภาพของโลก ศักยภาพของโลกคือศักยภาพของโลก แต่เวลาบวชมาแล้วมันก็อยู่ในธรรมวินัยอันเดียวกัน ฉะนั้น สิ่งที่ธรรมวินัยเดียวกัน มุมมอง วิธีการ ความรู้สึกนึกคิดมันก็แตกต่างกัน ถ้ามันแตกต่างกันนะ นี่สิ่งที่แตกต่างกัน แตกต่างกันด้วยความรู้สึกนึกคิด
แต่ถ้ามันเอาความจริงได้ไหมล่ะ ความจริงคือจะเอาความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบร่มเย็นขึ้นมา สิ่งนี้ต่างหากที่จะเป็นสากล สากลคือศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเกิดสมาธิขึ้นมันก็เกิดปัญญาขึ้นมา ถ้าเกิดปัญญาขึ้นมา ถ้ามันเคยทำความสงบของใจสักหนหนึ่ง มันจะเห็นคุณค่าไง คุณค่าสิ่งนี้คือเป้าหมาย คือสิ่งที่นักพรต นักบวชของเราแสวงหา
ถ้าไปแสวงนะ ทรัพย์ อริยทรัพย์
ทรัพย์จากภายนอก การช่วยเหลือเจือจานกัน ดูสิ โลกเขาทำธุรกิจกัน เขามีโครงการ เขาไปธนาคาร ถ้าธนาคารอนุมัติพันล้าน หมื่นล้าน แสนล้าน เขาก็เอาเงินมาใช้ได้ เห็นไหม แค่เสนอโครงการ ถ้าเราทำโครงการของเราน่าจะเป็นไปได้ ธนาคารเขาให้กู้ยืมแล้ว ถ้าให้กู้ยืมด้วยเครดิต ด้วยการค้ำประกันต่างๆ มันก็เอาเงินออกมาเป็นพันๆ ล้าน แสนๆ ล้านได้ทั้งนั้นน่ะ นั่นน่ะทรัพย์ทางโลก
แต่ถ้าเป็นทรัพย์ความเป็นจริงขึ้นมา เราจะเบิกเอามาจากใคร?
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา ครูบาอาจารย์ของเราท่านมีคุณธรรม เราจะเบิกธรรมจากครูบาอาจารย์ของเราออกมาได้ไหม?
แต่ถ้าเราศึกษา เราปฏิบัติของเราขึ้นมา ถ้าใจมันสงบขึ้นมาล่ะ ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าสมาธิมันเกิดขึ้น สุขสิ่งใดเท่ากับจิตสงบไม่มี สิ่งที่มันอ่อนด้อย มันเศร้าหมอง มันมีแต่ความเฉาในหัวใจ สิ่งที่อับเฉามันมีแต่ความรันทดในหัวใจ พอจิตใจมันเป็นธรรมขึ้นมา จิตใจมันมีความสงบร่มเย็นขึ้นมา มันเข้มแข็งขึ้นมา ไม่มีความรันทด มันสว่างกระจ่างแจ้ง มันมีความรู้สึก ความอิ่มเอมในหัวใจ
ถ้ามันมีความอิ่มเอมในหัวใจ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่จิตที่มันมีความสงบร่มเย็นนี่ล่ะที่มันออกใช้ปัญญาขึ้นมา มันจะเกิดปัญญา ดูสิ ความรู้สึกนึกคิดเหมือนกัน คำว่า กาย กาย กาย เวลากาย สิ่งต่างๆ ทางวิชาการ เราจะอธิบายเรื่องกายสู้ทางหมอเขาไม่ได้เลย ทางหมอเขาจะพิจารณาเรื่องกาย ถ้าเป็นความชำนาญเฉพาะทางยิ่งอธิบายได้ชัดเจนมาก การอธิบายอย่างนั้น อธิบายไปแล้วมันเป็นสิ่งใด? มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ไง เป็นสิ่งที่เวลามันพัฒนาการของมัน มันจะเป็นอย่างนั้น อายุขัยของมันเป็นอย่างนั้น
แต่ถ้าเป็นทางธรรมล่ะ ทางธรรมถ้าเป็นสมาธิขึ้นมา พอจิตเป็นสมาธิขึ้นมา พอมันพิจารณากายขึ้นมา กายมันเป็นไตรลักษณ์ คำว่า เป็นไตรลักษณ์ เป็นไตรลักษณ์ของใคร จิตใจที่มีอำนาจวาสนาบารมี เวลามันเป็นไตรลักษณ์ขึ้นมา มันเปลี่ยนแปลงในตัวมันเอง ไตรลักษณ์ เห็นไหม พิจารณากาย พอมันเห็นกายของมันขึ้นมา มันย่อยสลายของมัน มันเปลี่ยนแปลงของมัน สิ่งทั้งหลายมันเปลี่ยนแปลง มันเป็นความมหัศจรรย์ เป็นความมหัศจรรย์ของใคร?
มหัศจรรย์ของจิตดวงที่เห็นนั้น จิตที่สงบ จิตที่เห็นกาย จิตที่พิจารณากาย นี่ปัญญามันเกิดจากจิตดวงนั้น ถ้าจิตดวงนั้นพิจารณา จิตดวงนั้นเป็นผู้รับรู้ดวงนั้น รับรู้สิ่งต่างๆ ขึ้นมาด้วยภาวนามยปัญญาขึ้นมา มันเห็นแล้วมันปล่อยวางๆ ขึ้นมา นี่คำว่า ปล่อยวาง
ดูทางโลกสิ เวลาเขาศึกษาขึ้นมา แล้วเป็นความรู้ของเขา พอความรู้ของเขาขึ้นมา ดูสิ ทางวิชาการเขามีการวิจัย มีการพัฒนาตลอดไป เขาต้องพยายามให้ทันข้อมูลอยู่ตลอดเวลา เขาต้องศึกษาตลอดเวลาเพื่อให้เขาไม่ตกยุคตกสมัยของเขา แล้วยุคสมัยมันก็เปลี่ยนแปลงไปตลอด เห็นไหม ทางวิชาการเขามีตลอดไป แล้วมันเมื่อไรจะจบสิ้นล่ะ
แต่ถ้ามันพิจารณาโดยใจที่มันสงบแล้ว มันพิจารณากายของมัน พอพิจารณากายของมัน ถ้ามันเป็นไตรลักษณ์ เห็นไหม ถ้าจิตใจคนหยาบ จิตใจคนหนา พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันไม่ยอมปล่อย มันพิจารณาอีกอยู่อย่างนั้นน่ะ เพื่ออะไร? เพื่อให้ปัญญาอย่างนี้ เพื่อให้ปัญญาญาณมันได้ซึมซับเข้าไปถึงหัวใจ หัวใจนี้จะซึมซับสิ่งนั้น หัวใจได้ปล่อยวางสิ่งนั้น มันก็จะเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น
แต่ถ้าจิตใจที่มันมีคุณธรรม จิตใจที่ได้สร้างบุญญาธิการมา ขิปปาภิญญา พิจารณาง่ายรู้ง่าย พิจารณายากรู้ยากต่างๆ มันพิจารณาของมันแล้วมันปล่อยวางของมัน นี่ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ เกิดขึ้นมาเป็นสภาวะแบบนี้ ดูสิ เวลาเราเป็นพระนะ ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระประพฤติปฏิบัติ ดูอย่างพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระอรหันต์นะ เป็นสงฆ์องค์แรกของโลกนะ เวลาท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเข้าไปอยู่ในป่าในเขา เวลาย้อมผ้า ย้อมผ้าด้วยหินแดง เราย้อมผ้ากันด้วยหินแดง เพราะอยู่กับช้าง อยู่กับสัตว์ป่า นี่ถ้าทางโลกมองว่าชีวิตรันทด อย่างนี้รันทดไหม ไม่มีความสุขสบายสิ่งใดในโลกที่เข้ามาจุนเจือเลย อยู่องค์เดียวในป่า อยู่กับสัตว์อยู่ ๑๐ กว่าปีนะ พระอัญญาโกณฑัญญะน่ะ
ชีวิตอย่างนี้รันทดไหม? ถ้าเอาคำว่า ขาดแคลน คำที่ว่า ไม่สมบูรณ์ ในเรื่องปัจจัยเครื่องอาศัย อย่างนี้เป็นความทุกข์หรือ อย่างนี้เป็นความทุกข์หรือ ถ้าพูดถึงหัวใจที่เขามีคุณธรรมของเขา
เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โลกเขากินกันเพื่อกาม เพื่อเกียรติ เพื่อศักดิ์ศรี เราสมณะกินเพื่อดำรงชีวิต เวลาดำรงชีวิต ภารา หะเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์เป็นภาระอย่างยิ่ง สิ่งที่เป็นภาระอย่างยิ่งนี่ดูแลรักษากันไป มันไม่เดือดเนื้อร้อนใจขึ้นไป แค่ดำรงชีวิต การดำรงชีวิต ดำรงชีวิตไว้เพื่ออะไรล่ะ ดำรงชีวิตไว้ก็รอวันเวลาของผู้ที่หมดอายุขัย แต่ก่อนจะหมดอายุขัย สิ่งที่เป็นประโยชน์ พวกเราแสวงหานะ
พวกกรรมฐานเรานี่แสวงหาครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์มีสิ่งใดที่จะแนะนำสั่งสอนเรา เราอยากสิ่งนั้น คำว่า แนะนำสั่งสอนเรา สั่งสอนมาจากไหน? สั่งสอนมาจากปัจจุบันธรรม สั่งสอนจากที่เวลาเรามีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง เรามีสิ่งใดที่ความรู้เราไม่ทัน ครูบาอาจารย์จะบอกสิ่งนั้น แต่ถ้าจะให้เราแสวงหาเอง เราปฏิบัติเอง ทำแล้วทำเล่า ทำแล้วเดี๋ยวเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ วิตกกังวล นี่มันละล้าละลังไปหมด เพราะคนทางมันไม่เคยเดิน
แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านก็เดินมาแล้วทั้งนั้นน่ะ ท่านเคยละล้าละลัง ท่านเคยทุกข์เคยยากมา สิ่งนั้นท่านเคยบอกเรา ท่านคอยชี้นำเราให้เวลามันสั้นเข้า ไม่ต้องให้เราแสวงหาจนต้องดิ้นรนจนเกินไปนัก นี่เราเองแสวงหาครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา ท่านจะได้บอกทางของเรา ท่านจะได้ชี้นำเรา ไม่ให้เราเสียเวลาจนมากเกินไป
แล้วถ้ากิเลสมันหยาบ เวลามันไปเจอสิ่งใดเข้ามันก็ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ
๑. เวลามันเสียเวลาก็เสียเวลาไปอย่างหนึ่ง ถ้ากิเลสมันหยาบขึ้นมา มันยึดเลยว่าความรู้ความเห็นอันนั้นเหมือนกับทางโลกน่ะ ทางโลกเวลาทำข้อสอบแล้วเขาต้องผ่าน พอเขาผ่านแล้ว เขาสอบได้ สอบได้ก็คือจบ แล้วปัญญาที่รับรู้มาก็ต้องไปศึกษาค้นคว้า เดี๋ยวก็ต้องทบทวนตลอดเวลาเพื่อจะให้เขามีวิชาการในหัวของเขา
นี่ก็เหมือนกัน เวลาสอบแล้วว่าผ่าน แต่ความรู้มันไม่มีความจริง มันไม่มีความจริง มันจะเอาอะไรไปเป็นความจริง มันผ่านได้จริงไหมล่ะ? มันไม่จริง นี่ไง เวลาจิตใจมันหยาบๆ ขึ้นมา พอเจอสิ่งใดแล้วก็ยึดว่าสิ่งนั้นเป็นคุณธรรมของตัว
แล้วคุณธรรมของตัว...รู้อะไร? ไม่รู้สิ่งใดเลย
ถ้าไม่รู้สิ่งใดเลย นี่ถ้าใจมันหยาบ มันจะทำให้ตัวเองเสียประโยชน์ไง เคยทำแล้วมันน่าจะใช่ มันน่าจะใช่ก็คิดว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม แล้วก็ยึดเอาสิ่งนั้นว่าเป็นความรู้ของเรา แล้วเวลาพูดธรรมะก็ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ธรรมะของเราสักชิ้นหนึ่ง เพราะเราไม่รู้จริงอะไรสักชิ้นหนึ่ง เราไม่เคยจับต้องสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาว่าเป็นสมบัติของเราเลย
แต่ครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัติของท่าน ท่านล้มลุกคลุกคลานมา นี่สิ่งนี้เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นชิ้นเป็นอันน่ะตลาดเขาต้องการไหม ถ้าตลาดต้องการสิ่งนั้นจะมีราคา นี่เหมือนกัน เวลาเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา สมาธิเป็นสมาธิจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นสมาธิจริงกิเลสมันจะกลัว กิเลสมันจะกลัวนะ พอสมาธิขึ้นมา กำลังของสมาธิมันครอบงำไปหมด ถ้ามันครอบงำ กิเลสมันจะไปต่อสู้กับสิ่งใด ในเมื่อเกิดสมาธิ กิเลสมันต่อสู้กับสิ่งใดได้ มันโดนสมาธิครอบงำอยู่ มันจนตรอก มันไม่มีกำลังที่จะสู้ได้ แล้วเกิดใช้ปัญญา ปัญญามันจะฟาดฟันห้ำหั่นกิเลส แล้วกิเลสมันจะเอาที่ไหนซุกหัวนอน มันก็หลบเลี่ยงของมัน ถ้าเกิดปัญญาขึ้นไป นี่คนถ้าไม่หยาบจนเกินไป ถ้าหยาบเกินไปมันก็ติดใช่ไหม ติดว่าสิ่งนั้นเป็นของเรา สิ่งนั้นเป็นคุณธรรมของเรา แล้วมันมีความจริงหรือเปล่า? มันไม่มีเลย นี่หยาบๆ นะ
แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านจะให้อุบายนะ เพราะสิ่งที่เราทำ ดูสิ ของใคร บ้านใครใครก็รัก ประสบการณ์ใครใครก็รู้ จิตมันไปรู้ เป็นผู้เห็น จิตมันเป็นคนทำ แล้วจิตมันจะยอมรับสิ่งใด เพราะประสบการณ์ของเรา เรารู้ของเรา แต่ครูบาอาจารย์ท่านก็เห็นของท่าน แล้วประสบการณ์ของครูบาอาจารย์จะคอยบอกเรา เรามีสิ่งใด
๑. ไม่เสียเวลาเนิ่นช้า
๒. ไม่ทำให้เราออกนอกลู่นอกทาง
แล้วถ้าเกิดมันยึดมันติดของมันว่ามันติดคุณธรรมนะ มันติด คำว่า ติด ถ้าจิตมันติด
แก้จิตมันแก้ยาก แก้ยากเพราะอะไร เพราะเรารู้เราเห็นของเรา เราเชื่อมั่นของเรา ถ้าคำว่า เชื่อมั่นของเรา ครูบาอาจารย์ก็เอาความเชื่อมั่น เอาความรู้อันนั้นมา ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ในเมื่อมันเป็นคุณธรรม มันก็ต้องเป็นธรรมสิ ถ้าธรรมเป็นธรรม มันก็ต้องพิสูจน์ได้ ถ้าธรรมพิสูจน์ได้มันก็ต้องเหมือนกัน ถ้าเหมือนกัน ทำไมอุบายของครูบาอาจารย์เสนอมา ทำไมเราถึงไม่มีความเข้าใจล่ะ ถ้าไม่มีความเข้าใจเราก็ต้องทดสอบตรวจสอบสิ ถ้าทดสอบตรวจสอบมันก็เป็นประโยชน์กับเรา นี่ถ้าจิตใจมันไม่หยาบไง
ถ้าจิตใจมันหยาบมันเกิดทิฏฐิมานะนะ ฉะนั้น ของสิ่งนี้มันเป็นประสบการณ์ของจิต พันธุกรรมของจิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ฟังธรรมด้วยกันนี่แหละ แต่ถ้าจิตใจเรามีเหตุมีผล จิตใจเรามีสิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์กับเรา สิ่งนี้เราเอามาใคร่ครวญ เห็นไหม ชีวิตนี้เป็นชีวิตของเรานะ ประพฤติปฏิบัติมันเป็นของเรา สันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง จิตใจนี้เป็นผู้ที่สัมผัสทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น ถ้ามันมีโอกาส คนเราหมดโอกาสต่อเมื่อชีวิตนี้สิ้นไปนะ ถ้าลมหายใจเข้าและลมหายใจออกไม่มี นั่นน่ะหมดโอกาส แต่นี่เรายังมีลมหายใจอยู่ เราทำขึ้นมานี่ด้วยความมุมานะ ด้วยความบากบั่น มันจะทุกข์ มันจะลำบาก ไอ้อย่างนี้มันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริง
การทำงาน โลกเขายังอาบเหงื่อต่างน้ำเพื่อหาทรัพย์ของเขา เขาก็ลงทุนลงแรงนะ แล้วคนที่เวลาทำสิ่งใดขาดตกบกพร่อง มันเกิดวิตกในหัวใจ มันเกิดความทุกข์ในใจนะ ทุกข์มาก ความทุกข์อย่างนั้นมันเป็นทุกข์ประจำธาตุขันธ์ ทุกข์ประจำในหัวใจ แต่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะพ้นจากมันน่ะ เราจะพ้นจากกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราจะพ้นจากธาตุขันธ์ด้วย เพราะขันธ์มันไม่ใช่จิต แต่จิตอาศัยขันธ์เป็นทางผ่าน เป็นการแสดงตัวออกมา แต่เวลาพิจารณาไปมันจะหดสั้นเข้ามาๆ แม้แต่ขันธ์ก็ไม่ใช่จิต แต่ขันธ์ที่มันโดนจิตที่มีอวิชชาครอบงำจิตนี้ ขันธ์นั้นก็เป็นมารไปด้วย สิ่งที่เป็นมาร มารมันจะตั้งแต่เริ่มต้น
ดูสิ เวลาคนเจ็บไข้ได้ป่วย เขาจะใส่ชุดสิ่งใด ชุดคนป่วย ชุดปกติของเขา เขาก็เป็นคนป่วย
จิต ถ้ามันอวิชชาขึ้นมา มันจะผ่านขันธ์ใดก็แล้วแต่ ขันธ์นั้นก็ขันธ์ของอวิชชา ขันธ์ของอวิชชามันออกมา มันก็ไม่มีสิ่งใดเป็นความจริงโดยสมบูรณ์ แต่เวลาเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมอันนั้นเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราพิจารณาของเรา พิจารณาเป็นความจริงขึ้นมา เราพิจารณาเป็นความจริงขึ้นมา นี่ให้มันพิสูจน์ตรวจสอบขึ้นมา การตรวจสอบ ทดสอบ ตรวจสอบ ทดสอบ ตรวจสอบ อันนี้แหละมันทำให้เราไม่คลาดเคลื่อน สิ่งที่คลาดเคลื่อน เราจะเข้าข้างตัวเองตลอดเวลา เข้าข้างว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง สิ่งนั้นเป็นความจริง...จริงของใคร?
จริงของกิเลส หรือ จริงของธรรม
ถ้าจริงของธรรมนะ มันซาบซึ้งมาก
ถ้าจริงของกิเลสนะ มันปล่อยวาง มันโล่งอยู่พักหนึ่ง พอมันผ่านไปนะ ฮื่อ ฮื่อ... มันชักฮื่อ ฮื่อนะ มันสงสัยน่ะ มันมีสิ่งใดสงสัยคาอยู่ในหัวใจ ถ้ามันยังฟันธงกันไม่ได้ สิ่งคาหัวใจมันก็อยู่คาหัวใจอย่างนั้น แต่ถ้าเราทอดระยะเวลาไปนะ พอมีสติปัญญาขึ้นมา พอสติมันสมบูรณ์ขึ้นมา มันเห็นได้
หรือว่า? น่าจะ? จะเป็นไปได้ มันเป็นความผิดอยู่แล้ว หรือว่า น่าจะ มันไม่ใช่ความจริงน่ะ ถ้าความจริงมันไม่มี หรือว่า ไม่มี น่าจะ เพราะมันจริงก็คือจริง มันคิดแฉลบออกนอกเรื่องไม่ได้เลย เพราะมันเป็นความจริงอยู่แล้ว หรือว่า น่าจะ มันเป็นเรื่องกิเลส อวิชชาอยู่ในจิตอยู่แล้ว แต่มันหาทางหลบหลีกในใจของเรา กิเลสมันร้ายนักนะ มันครองใจเรามา ถ้ามันครองใจเรามา มันครองใจมาตลอด
ฉะนั้น เวลาเราจะลงอุโบสถกัน นี่ฟังธรรมนะ ฟังธรรมเพื่อปลุกปลอบหัวใจ อย่าให้มันเฉา อย่าให้มันเหงา มันหงอย ถ้ามันเฉา มันเหงา มันหงอย กาลเวลาล่วงไปนะ ชีวิตก็คืออย่างนี้ ชีวิตนี้เป็นแบบนี้ ดูสิ เวลาเราหนุ่มเราสาวกันนะ กับชีวิตเราเวลาเราแก่เราเฒ่า ความรู้สึกนึกคิดมันแตกต่างกันมากไหม ความรู้สึกนึกคิดมันก็เรื่องประสบการณ์ชีวิตเท่านั้นน่ะ แต่อารมณ์ความรู้สึกอันเดิมทั้งนั้น ชีวิตก็คือชีวิตน่ะ แล้วเวลามันแก่มันเฒ่านะ เวลาหมดอายุขัยตายไปมันมาเกิดใหม่ มันก็เป็นแบบนี้
เวลามันเกิดแบบนี้นะ ถ้าคนทำบาปอกุศลไปเกิดเป็นสัตว์ เกิดในนรกอเวจี ดูความรู้สึกนึกคิดเขาสิ รู้สึกนึกคิดก็เป็นอันนี้ แล้วถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์ล่ะ เกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดซ้ำเกิดซากน่ะ แล้วปัจจุบันนี้เรามีสติ คำว่า มีสติ เรามีปัญญาที่เราพยายามมาหาทางออกกัน อันนี้สำคัญมากนะ สำคัญคือคนเชื่อไง
อย่างเช่น คนเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วไปหาหมอ คนนั้นมีโอกาสหายเพราะอะไร เพราะหมอเขาได้เรียนตำรามา หมอเขาได้เรียนวิชาการทางการแพทย์มา หมอเขาได้เรียนการรักษาโรคมา ถ้าเขารักษาคนไข้นั้น คนไข้นั้นจะมีโอกาสใช่ไหม แต่ถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วเราก็ทะนงตนว่าเรารักษาตัวเราเองได้ เราไม่ไปหาหมอ เราไม่ได้ศึกษาการรักษาโรคภัยไข้เจ็บมา เราไม่ได้ศึกษามา เราไม่ได้ค้นคว้ามา เราไม่มีประสบการณ์ของเรา
จิต! ถ้ามันไม่สนใจในศาสนา ไม่สนใจในเรื่องมรรคเรื่องผล เขาจะใช้ชีวิตของเขาไป แล้วบอก ชีวิตรันทด ทุกข์ยากขนาดไหน มันยิ่งรันทดขนาดไหน มันก็ยังซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนั้น แต่พอเรามีจิตใจของเราแสวงหาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนคนเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วไปหาหมอ
หมอคือใคร?
หมอคือองค์ศาสดาไง
หมอคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หมอคือพุทธะ
หมอคือสิ่งที่เป็นธรรมโอสถ เป็นธรรมาวุธที่จะชำระล้างกิเลส
แล้วเราเข้ามา ศึกษาเข้ามา เวลาไปหาหมอ หมอเขาจะรักษา หมอเขาจะดูแลเรานะ แต่เวลาเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่สันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง เราเจ็บไข้ได้ป่วยเอง จิตเราเจ็บไข้ได้ป่วยเอง เราหาจิตของเราเอง
ทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบขึ้นมา เราได้บำรุงดูแลรักษามัน ถ้าจิตเราไม่สงบขึ้นมา เราไม่รู้จักจิตอยู่ไหน มันมีแต่ความคิด ความคิดคือสังขาร ความรู้สึกนึกคิด วิญญาณคือการกระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นเรื่องของวิญญาณในอายตนะ เวลาความรู้สึกนึกคิดก็เป็นสังขารขันธ์
จิตมันอยู่ไหน? คนป่วยอยู่ไหน? คนที่จะรักษามันอยู่ไหน?
แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเราเข้ามา จิตมันสงบเข้ามา นี่ไง เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยเขาไปหาหมอ นี่เหมือนกัน เวลาเราเป็นชาวพุทธ เราศึกษาขึ้นมา เราจะรักษาใจของเรา นี่โลกเขารันทดกัน รันทดเพราะความทุกข์ยากของเขา รันทดเพราะว่าเขาจนตรอกจนมุม จนที่กิเลสมันครอบงำ เขาถึงรันทดในชีวิตของเขา
เราเห็นโทษภัยในวัฏสงสาร เรามาบวชเป็นพระ เราประพฤติปฏิบัติในวัด ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราทุกข์เรายากนี่รันทดไหม คำว่า รันทด รันทดเพราะมันเป็นมุมมองของโลกไง รันทดเพราะคนที่อยากชิงสุกก่อนห่าม อยากเอาแต่ความสะดวกสบายไง แต่ชีวิตถ้ามันมีอำนาจวาสนา มันมีพละ มีกำลัง จิตมีกำลัง จิตที่เข้มแข็ง มันไม่รันทดนะ มันพอใจ
ยิ่งครูบาอาจารย์ของเรา ดูสิ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรา เวลาลูกศิษย์ลูกหาที่ประพฤติปฏิบัติ ท่านจะส่งเสริม ท่านจะให้โอกาส ท่านจะคอยป้องกัน ปกป้องไง ปกป้องคนที่เข้าไปทำให้เสียโอกาส ปกป้องคนที่เข้าไปทำลายอันนั้น ท่านปกป้อง ท่านป้องกันไว้ให้เลย เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าใครปฏิบัติดี
อย่าไปยุ่งกับองค์นั้นนะ ท่านจะกันเอาไว้เลย...นี่รันทดไหม?
แต่ถ้าในทางโลก เห็นไหม ก็เขาทุกข์อยู่แล้ว เขาลำบากอยู่แล้ว เราจะเข้าไปช่วยเหลือเจือจาน แล้วไปป้องกันไม่ให้เขาเข้าไป แสดงว่านี่ลำเอียงเหรอ คนลำบากอยู่อยากจะเข้าไปช่วยผิดเหรอ นี่เพราะจิตใจโลกคิดกันอย่างนั้น เขาถึงมองว่าเป็นชีวิตที่น่าลำบาก เห็นชีวิตแล้วน่าสงสาร อยากจะเข้ามาช่วยเหลือเจือจาน
แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรานะ คนๆ นั้นเขาจะมีโอกาส คนๆ นั้น จิตดวงนั้นปฏิบัติอย่างนั้น เขามีโอกาสของเขานะ ดูสิ เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จิตใจเราจวนเจียนจะได้จะเสีย เราจะเข้มแข็งของเราไหม ถ้าเราเข้มแข็งของเราขึ้นมานะ เพราะอะไร เพราะเวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เราเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา แล้ววางวินัย วางอริยสัจไว้นี่ แล้วพวกเรามาศึกษา แล้วเราจะต้องประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา เราจะมีคุณธรรม เราจะมีสมบัติ
พระ พระจะมีอะไรเป็นสมบัติ ถ้าไม่มีศีลธรรมในหัวใจเป็นสมบัติ แม้แต่ ดูสิ ผ้ายังต้องเปลี่ยนตลอดเวลา ผ้า ๓ ผืน เวลามันเปื่อยมันยุ่ยเราก็ไปตัดใหม่ เวลาบาตรมันชำรุดเสียหาย เราก็ระบมใหม่ สร้างใหม่ ทำใหม่ แม้แต่ปัจจัยเครื่องอาศัยเราก็ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นี่มันจะเป็นความจริงของเราจริงหรือเปล่า? ใช่ บริขาร ๘ เป็นของส่วนบุคคล แต่เวลามันเสื่อมสภาพ เราก็ยังซ่อมแซมบำรุงรักษามันเพื่อให้เป็นสมบัติของเรา
แล้วคุณธรรมในหัวใจล่ะ? ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมาล่ะ? สมบัติของเรามันอยู่ไหนล่ะ?
ถ้าเราทำของเราขึ้นมา เราทำของเรา
โลกเขามองมา ดูสิ ถ้าคนเขาอยู่ในสังคมของชาวพุทธ เขาเห็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในร่องในรอย เขาก็มีความมั่นใจ เขาก็มีความน่าเชื่อถือ ไอ้อย่างนี้มันเป็นประโยชน์กับเขานะ ประโยชน์กับเขาคือเขาศรัทธาในศาสนา เขาศรัทธาในรัตนตรัย เขาจะได้มีโอกาสของเขา แต่ถ้าเขาจะมาอุ้มชู อันนั้นปัญญาของเขากับปัญญาของเรามันคนละชั้นกัน ปัญญาของเขา เขาหวังผลประโยชน์ เขาเห็นด้วยทางโลก ปัญญาของเรา เราจะแสวงหาอริยทรัพย์ เราแสวงหาคุณสมบัติจากความเป็นจริง ฉะนั้น ต้องให้จิตใจมันเป็นจริง ต้องให้มันมีของมันขึ้นมา
ฉะนั้น สิ่งใดเวลาที่มันวิกฤต มันจะได้-ไม่ได้ เวลาเราจริงจังของเราขึ้นมา ฉะนั้น เราต้องทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าประโยชน์กับเรา เห็นไหม โลกเขามองอย่างหนึ่งนะ ถ้าโลกเขามองแล้วเขาอุ้มชู เขาพูดมา เราอย่าขาอ่อน เราอย่าอ่อนแอ อย่าหลงใหลไปกับเขา เราต้องเชื่อธรรมและวินัย ศาสดาของเรา ธรรมวินัยนี้วางไว้ถูกต้องดีงามแล้ว เราจะต้องยึดถือธรรมและวินัย ยึดถือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพยายามประพฤติปฏิบัติให้เข้มแข็ง ให้มีความอบอุ่น อย่าอ่อนแอไปกับโลก ให้มีความเข้มแข็ง ให้มีความสดชื่น ให้มีความพอใจ พอใจในการกระทำของเรา ไม่มีสิ่งใดหรอก
ถ้าเราอ่อนแอนะ ดูสิ ดินพอกหางหมู สิ่งต่างๆ ตะกอนในแก้ว เวลามันฟูขึ้นมา มันทำให้น้ำนั้นขุ่นมัวไปหมด จิตใจเรา เรารักษาของเรา ดูแลของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ
นี่ชีวิตเรา เราเป็นนักบวช เราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ เรามีเป้าหมายว่าจะพ้นจากทุกข์ เราต้องเข้มแข็ง แล้วต่อสู้กับกิเลสของเรา กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจนี่ต่อสู้ แล้วทำขึ้นมาให้เป็นสมบัติของเรา เอวัง