เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๙ พ.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม เวลาให้ธรรมเป็นทานนะ เวลาเราให้ใช่ไหม? เราเสียสละทาน เสียสละวัตถุมันเป็นอามิส สิ่งที่ให้ธรรมเป็นทานเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม เห็นไหม ถ้าการสั่งสอน ลูกหลานเราเชื่อฟัง ทำตาม พ่อแม่จะดีใจมาก แต่ลูกหลานเวลาฟังสิ่งใดแล้วถ้าไม่เข้าใจ ความไม่เข้าใจ เราสั่งลูกหลานเราแล้ว ถ้าลูกหลานทำให้เราผิดจากที่เราสั่งไป เราจะมีความรู้สึกขุ่นใจ แต่ลูกหลานก็บอกว่าเราทำดีที่สุดแล้ว เราทำดีให้เต็มที่แล้ว ทำไมมีความผิดพลาด? ความผิดพลาดอันนั้นเพราะเขาเข้าใจไม่ได้ เด็กมันจะเข้าใจสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดยังไม่ได้ ถ้าเข้าใจยังไม่ได้ พอโตขึ้นมาเขาจะเข้าใจของเขาได้

นี่การฟังธรรม ถ้าการฟังธรรมนะ สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วมันตอกย้ำนะ ความตอกย้ำอันนั้น เห็นไหม นี่ถ้าตอกย้ำแล้ว ถ้าพัฒนาของมันขึ้นไป ถ้าจิตมันพัฒนาขึ้นไปมันจะเข้าใจได้ ความเข้าใจได้นั้น นี่การฟังธรรมนี้ถึงเป็นการฟังได้ยาก เพราะคำว่าเวลาเราได้ฟังยาก หมายความว่าความเข้าใจของพ่อแม่ ถ้าความเข้าใจแล้ว นี่ความเข้าใจอันนั้นเป็นหลัก นี้เวลาเราสั่งสอนเด็กของเราไป เด็กของเราทำไม่ได้ดั่งใจของเรา อันนั้นแหละมันเป็นหลัก หลักมันเปรียบเทียบได้

แต่ถ้าเราฟังธรรมโดยประเพณี เราฟังแล้วเราก็เข้าใจ ต่างคนต่างเข้าใจกันไป ตาบอดคลำช้าง เห็นไหม ช้างจะเป็นอย่างไรก็ว่ากันไปตามช้างนั้น แต่ก็ไม่ถือสากันเพราะเราฟังเอาบุญ การฟังเอาบุญนะ นี่ถ้ามันเป็นเราทำคุณงามความดีกัน เวลาในปัจจุบันนี้เราทะเลาะกันด้วยการทำคุณงามความดี ความดีของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ถ้าความดีของแต่ละคนไม่เหมือนกันนะ ดีของเขา วุฒิภาวะเท่านั้นรู้ได้เท่านั้น ถ้าวุฒิภาวะที่ลึกกว่านั้นจะได้ลึกกว่านั้น

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ของเราบอกว่าให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าจิตสงบแล้วมันเกิดปัญญาขึ้นมามันจะเป็นโลกุตตรปัญญา แต่เราก็เข้าใจกันว่าเราได้ปัญญากันแล้ว เราใช้ปัญญากันแล้ว ที่ทำอยู่นี้ก็ใช้ปัญญาทั้งนั้น ปัญญานี้ถ้าในทางปฏิบัติเขาเรียกว่าสัญญา แต่ในการประพฤติปฏิบัติเราว่าเป็นปัญญา ปัญญาเพราะมันเกิดจากความรู้สึกนึกคิดของเราไง แต่ความรู้สึกนึกคิดของเรามันมีตัวอย่าง

พอมีคำว่าตัวอย่าง เห็นไหม นี่มันเป็นสัญญา สัญญาจากสิ่งนั้นมา ถ้าสัญญาจากสิ่งนั้นมา แล้วมันเป็นความผิดพลาดทั้งหมดไปไหม? มันก็ไม่เป็นความผิดพลาดไปทั้งหมด เพราะ เพราะเด็กมันก็ทำตามผู้ใหญ่นั่นแหละ แม่ปูมันเดินไปนะ มันบอกว่าลูกเดินตรงๆ นะ ลูกเดินตรงๆ นะ แม่ปูมันไม่รู้ว่ามันเดินเบี้ยวนะ มันเดินไปมันบอกว่าลูกเดินให้ตรงๆ นะ แล้วลูกมันเดินตามไป มันเดินตามแม่ปูมันไป เดินตามแม่ปูแล้วมันจะเดินตรงได้ไหมล่ะ? แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา มันจะเป็นความจริงของมัน

เพราะว่าเวลาคนพูดก็ยังไม่รู้เลย แล้วคนพูดยังไม่รู้ สิ่งที่ว่าเป็นปัญญาๆ มันเป็นปัญญาอย่างไร? ถ้าเป็นสัญญาล่ะ? สัญญา เห็นไหม ดูสิลูกปูมันเดินตามแม่ปูไป แต่มันเห็นแม่ปูมันเดินส่าย แล้วถ้ามันเดินให้ตรงล่ะ? สัญชาตญาณของปูมันเดินตรงไม่ได้ แต่ความรู้สึกนึกคิดของคนมันตรงได้ เวลามันจัดกระบวนการความคิดขึ้นมามันจะตรงได้

ถ้ามันตรงได้ เห็นไหม นี่ทุกคนก็ว่าเป็นความดีทั้งนั้นแหละ เวลาเราเถียงกัน เรามีปัญหากันว่าความดีของใครถูกต้อง นี่มันเป็นอวิชชาทั้งนั้นแหละ อวิชชาคือความไม่รู้ ไม่รู้ว่ามันดีหรือไม่ดี ถ้ามันรู้ว่าดีจริงขึ้นมานะ มันดีของเรานี่มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก ความดีนี้เป็นความดีอันแท้จริงนะ ความดีอันแท้จริง นี่เวลาความดีอันแท้จริงเราจะบอกได้อย่างไร?

เวลาคนทำความสงบของใจขึ้นมานะ นี่ถ้าเป็นความสงบจริงมันพูดไม่ได้ มันพูดไม่ได้ มันรู้อยู่แต่มันพูดไม่ได้ แต่เวลาบอกว่าสมาธิเป็นอย่างนั้น เป็นความว่างอย่างนั้น อู๋ย มันมีความสุข นั่นล่ะสัญญาทั้งนั้นแหละ สัญญาเพราะอะไร? เพราะสิ่งที่มันอธิบายของมัน มันเป็นโลกียปัญญา

โลกียะ เห็นไหม ดูสิทางวิชาการ เราต้องอธิบายของเราทางวิชาการออกมา ใครไปรู้ไปเห็น ใครทดสอบสิ่งใดแล้ว ต้องทำทางวิชาการไว้เพื่อเป็นประโยชน์ให้ประชาชน ให้ประโยชน์สังคม สังคมได้ต่อยอดสิ่งนั้นขึ้นไป สิ่งนั้นมันพิสูจน์กันได้นะ แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์นะ

“อานนท์ ไม่มีกำมือในเรา ไม่มีสิ่งใดลี้ลับเลย” แต่เราทำกันไม่ถึงเอง

แต่พอเราไปถึงนะ นี่ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาธรรมจักร เห็นไหม

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะรู้ขึ้นมา นี่ได้พูดอะไรขึ้นมาบ้างล่ะ? แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ารู้แล้วหนอ ความรู้ความจริงอันนั้นนี่รู้กัน มันรู้กันเป็นความจริงอันนั้น แต่ถ้าความจริงมันยังไม่เป็นความจริงของเรา เห็นไหม นี่ติดดีของเรา ติดว่าสิ่งนั้นเป็นคุณงามความดีๆ ความดีที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ พอไปถึงความดีที่สุดมันสะอึกเลยนะ

เวลาหลวงปู่มั่นท่านบอกว่า “มันไปถึงหนองอ้อ” ถ้ามัน เอ๊อะ มันอ๋อ มันอ้อแล้วนั่นล่ะจบ มันจบเพราะมันรู้จริง เห็นไหม แต่เราก็อ้อของเราอยู่เรื่อย อ้อของเรานี่อ้อโดยอวิชชาไง อ้อด้วยความไม่รู้ไง เพราะว่านี่วุฒิภาวะ เวลาวุฒิภาวะนะ คนจะเข้มแข็งขึ้นมา เวลาจิตใจมันมีพละ มีกำลังของมัน มีความเข้มแข็ง เห็นไหม อินทรีย์แก่กล้า ดูสิคนมีกำลังยกสิ่งใดก็ได้ คนอ่อนแอ คนเจ็บไข้ได้ป่วย ตัวเองยังช่วยตัวเองไม่ได้เลยจะไปยกสิ่งใดขึ้นมา

จิตใจ จิตใจถ้าไม่มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เห็นไหม ดูสิวุฒิภาวะ พุทธจริต จริตของผู้ที่มีปัญญา ศรัทธาจริต โมหจริต โทสจริต เวลาจริตของเรานะ โมหจริตนะเขาไม่ต้องมาหลอกหรอก เชื่อเขาไปก่อนแล้ว เพราะตัวเองมันช่วยไม่ได้นะ เชื่อเขาไปหมดเลย เชื่อเขาไปหมดเลย แต่พุทธจริตไม่เชื่อใครเลย นี่ไงวุฒิภาวะตรงนี้ไง ตรงที่มันเป็นวุฒิภาวะตามความเป็นจริงขึ้นมา ถ้ามันรู้จริงขึ้นมามันจะไปเชื่อใคร?

ความเชื่อนะ ศรัทธาความเชื่อเป็นเรื่องหนึ่ง ถ้ามีศรัทธาความเชื่อ เห็นไหม ที่เรามากันนี้เรามาเพราะอะไร? เพราะเรามีศรัทธาในพุทธศาสนาใช่ไหม? เรามีความเชื่อมั่นของเรา แต่ความเชื่อมั่นของเราแก้กิเลสได้ไหม? ไม่ได้หรอก ทีนี้พอเรามาแล้วเราต้องศึกษาของเรา ในกาลามสูตรองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“อย่าเชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์ของเราว่าพูดแล้วมันจะน่าเชื่อถือ”

นี่ไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อสิ่งใดเลย แต่คำว่าไม่ให้เชื่อนั้น เวลาเราประพฤติปฏิบัตินะ เวลาเอาจริงเอาจังขึ้นมา แต่เริ่มต้น เห็นไหม แม่ปูมันรักษาลูกมัน มันดูแลลูกของมัน นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติของท่านขึ้นมาท่านเป็นแม่ปู ท่านยังไม่รู้จริงของท่าน แต่มีกิริยาเลื่อมใสศรัทธา เป็นศรัทธาความสงบเสงี่ยม ความที่ชักนำเราขึ้นมา อันนั้นเป็นอะไร? อันนั้นเป็นการเปิดตาของเราไง ให้เรามีศรัทธามีความเชื่อขึ้นมา อันนี้เป็นบุญคุณไหม?

นี่กตัญญูกตเวที อาจารย์ของเราก็คืออาจารย์ของเรา ความจริงมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ความจริงที่มันเป็นขึ้นมา ความจริงคือความจริง อาจารย์คืออาจารย์ แต่ถ้าอาจารย์กับความจริงเป็นอันเดียวกันล่ะ? ถ้าอาจารย์กับความจริงเป็นอันเดียวกัน อันนั้นเรายิ่งเชิดชูขึ้นไปใหญ่เลย เพราะอาจารย์ของเรารู้จริง ถ้ารู้จริงขึ้นมา เห็นไหม เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่รู้แล้ว

หลวงปู่ขาวกับหลวงปู่แหวนท่านไปหาหลวงปู่มั่น ท่านเดินไปด้วยกันท่านคุยกันนะ ท่านจะไปกราบหลวงปู่มั่น หลวงปู่ขาวบอกว่า

“หลวงปู่มั่นท่านจะรู้วาระจิตเราหรือเปล่าหนอ? เราจะมากราบหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านจะทายใจเราได้หรือเปล่าหนอ?”

เวลาหลวงปู่ขาวกับหลวงปู่แหวนท่านไปกราบหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า

“ใจของตัวก็ไม่ดู จะให้คนอื่นมารู้ใจของเรา แล้วทำไมใจของตัวไม่ดูล่ะ? ไม่รักษาล่ะ?” เห็นไหม

เวลาไปนี่หลวงปู่ขาวท่านคิดเลย หลวงปู่มั่นท่านจะรู้วาระจิตเราไหม? หลวงปู่มั่นท่านจะรู้ความจริงของเราไหม? นี่ว่าเราอุตส่าห์มากราบท่าน เรามีความศรัทธา มีความเชื่อ มีความเคารพเลื่อมใสจะมากราบหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นจะรู้วาระจิตเราไหม? พอไปถึงท่านไม่พูดหรอก ท่านบอกใจของตัวนี่ไม่ดู ความคิดของตัวไม่รักษา แล้วจะให้คนอื่นมารักษาใจของตัว หรือว่าอาจารย์ของตัวจะรู้วาระจิตของตัวหรือเปล่า? แล้วตัวรู้อะไร? ตัวรู้อะไร?

ถ้าความจริงกับอาจารย์เราเป็นอันเดียวกัน ถ้าความจริงในอาจารย์ อาจารย์กับความจริงอันเดียวกัน อันนั้นล่ะเรายิ่งเคารพศรัทธา รู้ไปหมด แล้วความรู้อันนั้น เห็นไหม

“อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า”

พระอริยเจ้าท่านไม่พูดพร่ำๆ เพรื่อๆ แต่ถ้าพูดมันจะเข้าเป้านะ พูดเข้าเป้าเลย นี่ไม่พูดพร่ำๆ เพรื่อๆ ถ้าพูดออกไปแล้วมันสะเทือนกันไหม? ถ้ามันสะเทือนกันท่านไม่พูดหรอก มันไม่เป็นประโยชน์หรอก เห็นไหม แต่ของเราเวลารู้สิ่งใดเราต้องบอก นี่ความเห็นของเราถูกต้อง ความดีของเราถูกต้อง ทุกคนต้องเห็นตามนี้ เห็นตามนี้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก

เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนสาวก สาวกะ เห็นไหม เอตทัคคะ ๘๐ องค์ นี่เวลาพระอรหันต์แต่ละองค์นะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดตานะ เปิดตาคนละอย่าง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาทำลายอวิชชาคือความไม่รู้จริง ความไม่รู้ รู้ไปหมด รู้วิชาการ รู้ทุกอย่างไปหมดเลย

นี่ไปศึกษามานะ เป็นเจ้าชายสิทธัตถะจะเป็นกษัตริย์ก็ศึกษามาทางวิชาการ ทางโลก พร้อมแล้วจะเป็นกษัตริย์ นี่เวลามาศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เห็นไหม ที่ว่าศึกษามาทั้งหมด ศึกษามาหมดเลย ไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลย แต่พออาสวักขยญาณทำลายอวิชชา

“เป็นไก่ตัวแรกเจาะฟองอวิชชาออกมา”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพอรู้จริงขึ้นมา เวลาสอนลูกศิษย์ เห็นไหม สาวก สาวกะ ๘๐ องค์สอนคนละอย่างนะ พระสารีบุตรก็สอนอย่าง พระโมคคัลลานะก็สอนอย่าง พระโมคคัลลานะฟังเทศน์ของพระสารีบุตร พระสารีบุตรฟังจากพระอัสสชิมา เห็นไหม เป็นพระโสดาบันไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้บวชแล้วปฏิบัติโงกง่วงอยู่

นี่เวลาไปแก้ความโงกง่วงของพระโมคคัลลานะ เวลาไปแก้พระสารีบุตร เวลาแก้แต่ละองค์ๆ ไม่เหมือนกัน เวลาตรัสรู้ขึ้นมา เวลาบรรลุธรรมขึ้นมาแล้ว เอตทัคคะ ๘๐ องค์ไม่เหมือนกัน พระอรหันต์ถึงไม่เหมือนกันเลย ไม่มีเหมือนกันหรอก ไอ้เหมือนกันนั่นสัญญาจำมาทั้งนั้นแหละ ไม่มีความจริงหรอก แต่ถ้าความจริงกับอาจารย์เราเป็นอันเดียวกัน ท่านจะบอกเราด้วยความเป็นจริง

แต่ถ้าเป็นสัญญาขึ้นมา เห็นไหม แต่เรานี่มันเป็นการปฏิเสธไม่ได้ ปฏิเสธไม่ได้ เพราะพวกเราเกิดมาเป็นมนุษย์มันมีขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือมันมีความรู้สึก ความรู้สึกมันก็จำกันมา พ่อแม่ลูกก็สอนกันมา ดีเอ็นเอต่างๆ มันก็มีกันมา พันธุกรรมมันก็มีกันมา เห็นไหม แต่ถ้ามีกันมาทั้งหมด พ่อแม่ดีลูกก็ต้องดีไปด้วยสิ ทำไมพ่อแม่ดีแสนดี ลูกทำไมมันไพล่ไปทางอื่นก็ยังมี เห็นไหม นั่นมันเป็นเวรกรรมของจิตดวงนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นสัญญามันก็มี มันมีผลของมัน แต่ถ้าสัญญามีผลของมัน สัญญา เห็นไหม ดูสิเห็นเขารวยเรานึกว่าเรารวย สัญญาคือจำความรวยของมึง กูจะรวยกับมึง กูจะมาจะรวยไหมล่ะ? รวยไม่ได้หรอก แต่เราจำว่าเขาทำอย่างไร? เขาสร้างเนื้อสร้างตัวอย่างไร? แล้วเราเอามาพิจารณาของเรา แล้วเราพยายามจะสร้างตัวของเราขึ้นมา

นี่จากสัญญา สัญญาทำให้มันเป็นข้อเท็จจริงขึ้นมา สัญญาความจำเขามา สังขารความปรุงความแต่งขึ้นมา แล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ให้มันเป็นความจริงขึ้นมา ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา ความจริงอันนี้มันจะเป็นความจริงของเรา ถ้าความจริงของเราเกิดขึ้นมา นี่มันเป็นสมบัติของเรา ถ้าเป็นสมบัติของเรา ความดีอันนี้จะไม่เถียงกันนะ พระอรหันต์จริงๆ ไม่เคยเถียงกันเลย ที่เถียงกันมันไม่ใช่พระอรหันต์ ไม่ใช่

ถ้าพระอรหันต์เข้าถึงอริยสัจ สัจจะ มันจะเถียงกันได้อย่างไร? พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก ใครจะไปเถียงเรื่องพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก แต่เวลาพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกแต่ละฤดูก็ไม่เหมือนกัน ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูฝนมันจะมีเมฆ มีหมอก มีบางของมัน พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกเหมือนกัน แต่ฤดูกาลไม่เหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน พระอรหันต์เขารู้อยู่ว่าพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก เขาไม่เถียงกันหรอก แต่ฤดูกาลของใครของมัน ความรู้ความเห็นของใครของมัน เขาไม่เถียงกันเพราะเขารู้จริง ถ้ารู้จริงแล้วไม่มีการเถียงกัน แล้วมองตาก็รู้แล้วว่ามันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง

ฉะนั้น ถ้าความดีจริงมันจะไม่มีการโต้แย้งโต้เถียงกัน สิ่งที่เป็นความดีกับความดีทะเลาะกันอยู่นี้ ถ้าความดีกับความดีทะเลาะกันนะ ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะท่านจะเก็บเอามา แล้วมาวินิจฉัย แล้วถ้าความดีของเรา เราเอียงเข้าข้างใด เราถือหางทางความเห็นอันใด แล้วเราพิจารณาของเรา อันนี้จะเป็นประโยชน์กับเรานะ

ถ้ามันพิจารณาแล้ว พิจารณาเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรามันเข้ากันได้ มันเป็นความถูกต้อง เราก็ภูมิใจ เราก็อุ่นใจ แต่ถ้าเราพิจารณาแล้วมันขัดแย้ง ถ้ามันขัดแย้งมันต้องผิดแล้ว ถ้ามันผิดแล้วแสดงว่าเราได้ประโยชน์แล้ว เราได้ประโยชน์เพราะว่าเราจับความผิดพลาดของเราได้ไง เพราะเรายังไม่เข้าถึงเป้าหมายใช่ไหม? ถ้าเรามีความขัดแย้งกับหลักความจริงแสดงว่าเราไม่ใช่แล้ว ถ้าเราไม่ใช่เราต้องแก้ไขเราแล้ว

นี้พูดถึงสุภาพบุรุษนะ พูดถึงผู้มีคุณธรรมในหัวใจ แต่ถ้ามันไม่มีคุณธรรมในหัวใจ มันแถไปเรื่อยแหละ แถไปอยู่อย่างนั้นแหละ โวหาร พูดเมื่อไหร่ก็ได้ พลิกเมื่อไหร่ก็ได้ โวหารนี่โวหารของคนมันไปได้ตลอด เห็นไหม ลิ้นสองแฉกมันไปได้ตลอด แต่ความจริงไปไม่ได้ ความจริงมั่นคงของมัน ฉะนั้น ฟังธรรมแล้วให้เป็นประโยชน์กับเรา เราทำบุญกุศลแล้วมันเป็นกุศล แล้วสัจจะนี้ให้เป็นประโยชน์กับเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ ทำเพื่อประโยชน์กับเราจะได้ เห็นไหม

เราเกิดมาแล้ว เกิดมาพบพุทธศาสนา เกิดมาในสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข เราก็มีสัมมาอาชีวะ เราประพฤติปฏิบัติของเรา ให้จิตใจของเรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง