ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

อิทธิพลของธรรม

๒๖ พ.ย. ๒๕๕๔

 

อิทธิพลของธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๗๐๙. เนาะ

ถาม : ๗๐๙. เรื่อง “กราบขอธรรมเป็นที่พึ่ง”

กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพยิ่ง ระยะหลังนี้โยมอาจจะเขียนมาบ่อย เพราะรู้สึกว่าส้มที่มีอยู่มันหล่นจนหมดต้นแล้ว โยมชอบคำว่า “ส้มหล่น” ของหลวงพ่อมาก เพราะเป็นคำที่ทำให้ใจพองๆ ของโยมหดเล็กลงทันทีทันใด โยมคอยเตือนตัวเองเสมอว่าที่ผ่านมามันเป็นแค่ส้มหล่น เพราะปีนี้เป็นปีที่ไม่มีส้มหล่นให้เห็นเลย ทำให้โยมรู้สึกว่า ถ้าไม่เข้มแข็ง ไม่พากเพียรให้มากขึ้น โยมอาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นผลส้มอีกเลย

กราบขอขมาหลวงพ่อเจ้าค่ะ เพราะจิตที่มีความต้องการที่พึ่ง อย่างน้อยช่วงเวลาที่ได้ฟังธรรม กุศลก็จะเกิดที่จิต จะเป็นกำไรของชาตินี้ และเป็นต้นทุนของชาติหน้า สะสมไปจนกว่าจะถึงวันที่จิตนี้ไม่ต้องการมีที่พึ่งใดๆ อีกต่อไป ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

หลวงพ่อ : นี่พูดถึง “ส้มหล่น”

คำว่าส้มหล่นนี่นะ โดยธรรมชาติของส้มหล่น ส้มมันจะเอาอะไรมาหล่น ดูสิในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูสิคนที่มีลาภสักการะมากที่สุดคือพระสีวลี คนที่ทุกข์ทนเข็ญใจมากคือพระอรหันต์ที่ว่าฉันข้าวไม่เคยอิ่ม ฉันข้าวไม่เคยอิ่มเลย เวลาบิณฑบาตไปคนจะลืมใส่บาตร จากหน้าจากหลังนะ ครูบาอาจารย์ก็ช่วยเหลือกัน จนสุดท้ายพระสารีบุตรสงสารมาก ข่าวมันร่ำลือไปไกล พระสารีบุตรไปถามว่า

“เขาไม่ใส่บาตรหรือ?”

“ใส่”

โยมอุปัฏฐากดูแลหมดแหละ มันก็เหมือนพระทั่วไป แต่ตัวเองจะขาดแคลนๆ ตลอดเลย พอตัวเองจะขาดแคลนนะ พระสารีบุตรเลยจับบาตรนั้นไว้ด้วยบุญของพระสารีบุตร ถ้าด้วยบุญของพระสารีบุตร อาหารในบาตรนั้นมันจะไม่หายไปโดยธรรมชาติ มันจะจางหายไปเลย แต่ถ้าเวลาพระสารีบุตรจับอยู่ ด้วยบุญของพระสารีบุตรอาหารจะอยู่คงที่อย่างนั้น พระองค์นั้นได้ฉันข้าววันนั้นอิ่มมื้อหนึ่ง

ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยฉันข้าวอิ่มเลยนะ พอฉันไปๆ อาหารมันจะหายไปๆ จนหมด ตัวเองไม่ทันอิ่มเลย หิว หิวอยู่ทั้งปีทั้งชาติ แต่เป็นพระอรหันต์นะ สิ้นสุดทุกข์เหมือนกัน นี่เวลาพูดถึงบุญของพระอรหันต์ทำไมฉันข้าวไม่เคยอิ่ม แล้วพระสีวลี ไปทางไหนมีแต่บุญมหาศาลเลย เราจะบอกว่าคำว่าส้มหล่น เพราะอะไร? เพราะพระสีวลีก็ทำของพระสีวลีมา นี่พระที่ว่าไม่เคยฉันข้าวอิ่ม เพราะว่าเวลาไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อยู่ในธรรมบทหรืออยู่ไหนนี่แหละ เขาเคยเป็นเศรษฐีนะ พอเป็นเศรษฐีนี่แบบว่าข้าวสารตกไปที่ดิน พอตกไปที่ดินนี่นะมดมันคาบไป เขาเอาจอบไปขุดเอาข้าวสารคืน โอ้โฮ ขี้เหนียวขนาดนั้น เขาขี้เหนียวได้ขนาดนั้นนะ แต่เวลาพระสีวลี เห็นไหม หลวงตาบอก อยู่ในธรรมบทเหมือนกัน เขาเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ใครทำบุญที่ไหนจะเป็นหัวหน้า เขาเป็นหัวหน้า เป็นผู้นำการทำบุญมาตลอด นี่เพราะมีบุญกุศลอย่างนั้น พระสีวลีถึงได้บุญมหาศาล ไปไหนไม่มีใครมีบุญเท่าพระสีวลี เป็นเอตทัคคะในทางลาภสักการะ นี่ทุคตะคนเข็ญใจก็เป็นเพราะการกระทำมา

ทีนี้ย้อนกลับมาที่ส้มหล่น คำว่าส้มหล่นมันเหมือนกับคนที่มีบุญใช่ไหม? คนที่มีบุญมันจะมีวาสนา ดูสิเวลาคนประกอบธุรกิจ คนทำต่างๆ จะประสบความสำเร็จ จะทำสิ่งใดเพราะเขาได้สร้างของเขามา แล้วเขาไม่เคยสร้างกรรมชั่วเลยหรือ? จิตทุกดวงมีกรรมดี กรรมชั่วมาในใจ อะไรมันจะให้ผลก่อน จะให้ผลก่อนนะ

ฉะนั้น นี่พูดถึงผลจากข้างนอก ผลจากข้างนอก การประสบความสำเร็จ การทำแล้วมันจะไม่มีอุปสรรคจนเกินไปนัก แต่มันก็มีทั้งนั้นแหละ อย่างเช่นว่าพระพุทธเจ้าก็ยังมี เห็นไหม พระพุทธเจ้า นี่พราหมณ์นิมนต์ไว้ก็ยังอดอาหารทั้งพรรษาเลย ทั้งๆ ที่เวลาร่ำลือนะพระสีวลีเป็นผู้ที่ลาภมหาศาล แต่ใครเป็นคนตั้งพระสีวลีล่ะ? ก็องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องมีมากกว่า ถ้าเรามีมากกว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนใดมีบุญมากน้อยแค่ไหน?

ฉะนั้น คำว่ามีมากกว่ามันก็ยังถึงคราว เห็นไหม ถึงคราวที่ว่า กรรมให้ผลๆ ฉะนั้น คำว่ากรรมให้ผล คนเรามันมีทำดี ทำชั่วมาในหัวใจทุกๆ ดวงใจ แต่ส่วนใหญ่เวลามัน เราจะใช้คำว่า

“อิทธิพลของธรรม”

อิทธิพลของธรรมมันมีอิทธิพลเหนือหัวใจดวงนี้ ถ้ามีอิทธิพลเหนือใจดวงนี้ เพราะเราทำบุญกุศลมา ทำสิ่งต่างๆ มา มันมีอิทธิพล นี่พันธุกรรมของมัน จิตของมัน มันมีแนวโน้มอย่างนั้น ถ้ามีแนวโน้มอย่างนั้นนะ เวลาเราไปภาวนา เห็นไหม คำว่าส้มหล่น เราจะบอกว่าส้มหล่นมันไม่มีคำอธิบาย เวลาจิตมันเป็นมันไม่มีคำอธิบายใช่ไหม? พอไม่มีคำอธิบายเราถึงบอกว่าส้มหล่น ทีนี้คำว่าส้มหล่นเลยกลายเป็นว่ามันไม่มีเหตุมีผล มี นี่วันนี้จะอธิบายถึงส้มหล่นไง

ถ้าส้มมันจะหล่นขึ้นมานี่มันจะเอาอะไรมาหล่น? ไม่มีหรอก ในพุทธศาสนาไม่มี สิ่งใดต้องมีเหตุ มีปัจจัยทั้งนั้นแหละ ถ้ามันไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยมันมาได้อย่างไร? มันมีเหตุ มีปัจจัยแต่เป็นภาษาเราพูดไง ภาษาเราพูดเราต้องการให้มันแบบว่ากระชับ แล้วไม่ต้องพูดกันเยิ่นเย้อ พอใครภาวนามาที ว่าอย่างนี้เป็นอย่างไร? ชักแม่น้ำ ๕ สาย ๑๐ สายมากว่าจะอธิบายจบ กว่าเขาจะร้อง อ๋อ นี่อู้ฮู เหนื่อยตายเลย ก็เลยว่าส้มหล่นๆ แต่ส้มหล่นมันต้องมีเหตุมีผลถึงจะหล่นได้

ทีนี้คำว่าส้มหล่น นี่อิทธิพลทางธรรม อิทธิพลของธรรม อิทธิพลของธรรมที่เราได้สร้างมามันถึงมาเป็นแบบนี้ พอมันเป็นแบบนี้ปั๊บ คำว่าส้มหล่นนะ พอส้มหล่นเราภาวนาไป เห็นไหม จิตมันจะลง มันจะเห็นนิมิตต่างๆ เห็นความรู้ต่างๆ แล้วมีความสุข นี่ส้มหล่น เพราะอะไร? เพราะเราทำมันเกิดโดยบุญกุศล ดูสิดูเหตุปัจจัยของผู้ที่ปฏิบัติ ขิปปาภิญญา ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก นี่มันก็เป็นเพราะการกระทำสิ่งนั้นมา ถ้าการกระทำสิ่งนั้นมา ใครทำมาสิ่งใดมันก็จะให้ผลตามนั้น

ฉะนั้น เวลาเราสร้างบุญกุศลของเรามาใช่ไหม? แต่เรายังไม่เกิดอริยสัจ คำว่าเกิดอริยสัจนี่นะ เรามีสติขึ้นมา เราฝึกหัดๆ จนเข้าสมาธิชำนาญในวสี คือเข้าสมาธิได้ง่าย ออกสมาธิได้ง่าย แล้วพอเข้าสมาธิแล้วเราพยายามน้อมนำไปหัดใช้ปัญญา นี่หลวงตาท่านพูดประจำ บอกว่า

“ปัญญานี่ถ้าไม่หัดฝึกฝนมันเกิดเองไม่ได้หรอก”

ในตำราบอกศีล สมาธิ ปัญญา แล้วมีครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติลุ่มๆ ดอนๆ ใช่ไหม? ท่านก็บอกว่าเวลาเกิดสมาธิแล้วมันจะเกิดปัญญาเอง ทุกคนก็รอให้ปัญญามันเกิด ใครทำสมาธิแล้วก็นั่งรอ นั่งรอนะเมื่อไหร่ปัญญามันจะเกิด นี่น้ำใสแล้วเห็นตัวปลา โดยความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ โดยความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้หรอก แต่เวลาจิตมันสงบแล้วมันรู้นั่น รู้นี่ รู้แว็บๆ แว็บๆ มันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น แต่มันไม่เป็นชิ้นเป็นอัน

มันไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นมรรค เป็นการกระทำที่เป็นกิจจะลักษณะ ถ้ามันจะเป็นชิ้นเป็นอัน เห็นไหม เราต้องรำพึง เราต้องฝึกฝนของเรา พอจิตสงบแล้วนี่เราฝึกหัดใช้ปัญญา พอฝึกหัดใช้ปัญญา พอออกใช้ปัญญามันเหมือนคนทำงานเลย นี่เวลาเราให้ทำงานขึ้นไป อู้ฮู มันเหนื่อย มันล้า ทุกอย่างมันไม่อยากทำ แต่ถ้าให้นอน สบาย เวลาเข้าสมาธิแล้วมันก็สบาย

ทีนี้พอออกใช้ปัญญาใหม่ๆ มันจะมีการต่อต้านไง มันจะขี้เกียจ มันจะไม่อยากทำ มันบอกเราก็ดีอยู่แล้ว ทำสมาธิก็มีความสงบร่มเย็นอยู่แล้ว ทำไมจะต้องไปหัดใช้ปัญญา แต่พอมันไปบังคับ พยายามฝึกฝน เวลาฝึกฝนออกไป พอมันเริ่มหัดใช้ปัญญา พอเริ่มใช้ปัญญาไปมันเห็นผลของมันใช่ไหม?

“อ๋อ อู้ฮู ใช้ปัญญาแล้วมันดีกว่าสมาธิอีก โอ้โฮ สมาธิมันแค่ไปนอนตายเฉยๆ โอ๋ย คราวนี้เป็นปัญญา เห็นไหม มันถอดถอนกิเลส”

พอมันเห็นคุณขึ้นมานี่มันก็เอาแต่ปัญญาอย่างเดียวแล้ว ไม่กลับไปเอาสมาธิอีกแล้ว นี่มันไม่พอดีไปหมดเลย ใจคนมันไม่พอดีไปสักอย่าง ถ้าไม่พอดีไปสักอย่างเราก็ต้องฝึกของเรา เห็นไหม พอเราฝึกของเรา เราทำของเราไป มันจะมีประสบการณ์ของมันไป อันที่มันฝึก มันหัดของมันไปอย่างนี้ นี่มันเป็นกิจจะลักษณะ มันได้มีการกระทำ อันนี้ถือว่าไม่ใช่ส้มหล่น

ถ้าคำว่าส้มหล่น เห็นไหม มันเป็นทีหนึ่งเราก็ อืม งงนะ พอมันเห็นกายทีหนึ่ง วูบเห็นกายนะขนพองสยองเกล้า อู้ฮู้ ตัวนี่พองหมดเลยนะ แล้วทำอย่างไรล่ะ? ทำอย่างไรต่อ งง งงไปหมดเลย นี่อย่างนี้คือส้มหล่น คือเป็นบุญวาสนา มันไม่เป็นกิจจะลักษณะ ไม่มีการกระทำของเรา เราไม่ได้บริหารจัดการ ทีนี้ถ้าการบริหารจัดการขึ้นมานี่มันถึงว่าเป็นมรรค เห็นไหม

เราบอกว่าส้มหล่นไม่ใช่มรรค ส้มหล่นมันเกิดจากบุญวาสนา แล้วมันอธิบาย นี่ที่มันจะมีส้มหล่นได้มันต้องมีบุญ มีวาสนาของใจนั้น แล้ว แล้วบุญวาสนาเวลาใช้ไปแล้ว เห็นไหม มันใช้ไปเรื่อยๆ ใช้ไปมันก็เริ่มจางไปๆ ฉะนั้น คำว่าส้มหล่น นี่คำถามบอกว่า

ถาม : ที่อยู่ได้เพราะว่าส้มหล่น แต่ตอนนี้ส้มมันหล่นจนหมดต้นแล้ว มันไม่มีอะไรจะหล่นแล้ว แล้วตอนนี้ก็ทุกข์มาก

หลวงพ่อ : ของสิ่งใด ลองได้ใช้แล้วมันก็จะต้องเจือจางไปเป็นธรรมดา ฉะนั้น ถ้าคำว่าส้มหล่น พอเวลามันเป็นอย่างที่ว่าส้มหล่นแล้วเราต้องขยันหมั่นเพียรของเรา อย่างเช่นว่านี่ส้มหล่นจนหมดต้นแล้ว เราก็ต้องดูแลต้นไม้ต้นส้มของเราไง เราจะต้องดูแลหัวใจของเรา เราต้องดูแลรักษา ถ้าดูแลรักษา ต้นส้มนั้นจะมีผลส้ม แล้วผลส้มมันจะได้หล่นลงมาอีก

ฉะนั้น ถ้าเราไม่ดูแลต้นส้มเลย เราจะเอาแต่ผลส้มๆ อยากให้ส้มหล่นๆ แต่เราไม่ดูแลต้นส้มเลย นี่ไง ทีนี้คำว่าส้มหล่นมันเป็นศัพท์ กิริยาที่มันใช้ว่าในเมื่อมีเหตุการณ์อย่างนั้นคำว่าส้มหล่น ฉะนั้น ถ้าเราอยากจะให้ส้มมันหล่นอีก โดยที่เรายังไม่เป็นกิจจะลักษณะ คือเราบริหารจัดการไม่ได้ เราก็ต้องหมั่นเพียรของเรา เราต้องดูแลของเราไง

ถ้าพูดถึงว่าพอส้มหล่นเราก็พอใจ เราก็อยากได้ แล้วอยู่ได้เพราะส้มหล่น ส้มหล่นเป็นเครื่องอยู่ ฉะนั้น ส้มนี่มันหมดแล้ว แล้วเราทำอย่างไรต่อไปล่ะ? ทำอย่างไรต่อไป? ทำอย่างไรต่อเราก็ฝึกหัดภาวนา การฝึกหัดภาวนานี่แหละ เห็นไหม การทำภาวนา หลวงตาบอกว่า

“ทำบุญกุศลมากมายขนาดไหน มันก็เหมือนเขื่อนกั้นไว้”

เราจะมีบุญกุศลนะ เราสร้างบุญกุศลมันก็เป็นผลของวัฏฏะ คือมันเป็นอามิสส่งเสริมให้จิตนี้ดี จิตนี้ไปเกิดในสิ่งที่ดี เกิดมาแล้วเป็นจักรพรรดิ มีสมบัติพัสถานมหาศาล มีขุนพลแก้ว มีขุนนางแก้ว มีไปหมดเลย แต่เวลาจะตายขึ้นมาก็คอตก นี่ถ้าพูดถึงมีบุญกุศลมันก็ส่งเสริมให้ผลเป็นผลของวัฏฏะ มันก็เวียนตายเวียนเกิดกันอยู่อย่างนี้แหละ แต่ถ้าจะพ้นจากวัฏฏะนะมันก็ต้องมีอย่างเดียวคือการภาวนา

ฉะนั้น การภาวนา เห็นไหม การภาวนาถึงว่าเป็นบุญกุศลที่สูงที่สุด เพราะการภาวนาทำให้เกิดปัญญา เวลาคนอยากมีปัญญา นี่มีปัญญาก็เสียสละธรรมไง ให้ธรรมะจะได้เกิดปัญญา ให้ธรรมะจะได้เกิดปัญญา แต่ถ้าการปฏิบัตินี่แหละจะเกิดปัญญา การปฏิบัติ จิตเป็นสมาธิแล้วนี่ ถ้ามันหัดฝึกฝน มันใช้ปัญญาขึ้นมาแล้ว แล้วปัญญาอย่างนี้มันเกิดขึ้นมา นี่ปัญญาทางโลกที่เขาไม่มีกัน ถ้าทางโลกเขาเป็นโลกียปัญญา ปัญญาของโลกเขา ถ้าปัญญาของธรรมขึ้นมา มันจะถอด มันจะถอน มันจะรื้อขึ้นมา แล้วมันจะเข้าใจเรื่องส้มหล่น มันจะเข้าไปเห็นว่าจริตนิสัย

ครูบาอาจารย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนาคตังสญาณ เห็นไหม มี มีมหา ๙ ประโยคไปถามหลวงปู่ฝั้น บอกว่าเขาจบ ๙ ประโยคนะ เขารู้ไปหมดทุกอย่างเลย แต่เขาไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร? หลวงปู่ฝั้นถามกลับว่า

“ทุกข์มันอยู่ที่ไหน? ทุกข์น่ะ?”

“ทุกข์มันอยู่ที่ใจ”

“ทุกข์อยู่ที่ใจมันก็ต้องปฏิบัติที่หัวใจนั่นไง”

นี่ไงเพราะเขาเป็นมหา ๙ ประโยค ๙ ประโยคนี่เพราะในทางตำราเขาเรียนจบหมดแล้ว เขาเรียนจบมาแล้ว เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน เหมือนครูบาอาจารย์ของเราสอน หลวงปู่มั่นท่านสอน สอนครูบาอาจารย์แต่ละองค์ไม่เหมือนกันนะ ไม่เหมือนกัน อันนี้กำหนดพุทโธนะ อันนี้ใช้ปัญญาอบรมสมาธินะ อันนี้กำหนดธรรมะให้ยาวหน่อยนะ เพื่อแก้ว่าองค์นั้นจริตมันแบบว่ามันง่วงนอนง่ายใช่ไหม? ก็ให้บริกรรมคำยาวๆ ไว้ ไอ้นี่ก็ให้พุทโธนะ นี่แต่ละองค์ๆ ท่านก็สอนแตกต่างกันไป เพราะจริตนิสัยไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น สิ่งที่ไม่เหมือนกัน เห็นไหม คำว่าไม่เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาสอนอย่างนั้น สอนไม่เหมือนกัน ฉะนั้น เวลามหา ๙ ประโยคนี่เขาก็เรียนหมดเลย

“องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนพระองค์หนึ่งก็อย่างนี้ สอนองค์หนึ่งก็อย่างนี้ แล้วผมจะทำอย่างไรล่ะ?”

ไปถามหลวงปู่ฝั้นนะ

“แล้วผมจะทำอย่างไรล่ะ? ผมไม่เข้าใจเลย ธรรมะผมรู้หมดเลย แต่ผมเอามาใช้ประโยชน์กับผมไม่ได้เลย”

นี่หลวงปู่ฝั้นบอกว่า “ทุกข์อยู่ที่ไหน? ทุกข์อยู่ที่ไหนให้กำหนดทุกข์ที่นั่น”

ทุกข์อยู่ที่ไหน เห็นไหม นี่ให้กำหนดที่นั่น ถ้าจิตเรามันทุกข์ที่ไหน ถ้าเรากำหนดสมาธิเข้ามามันจะเข้ามาเห็นจิตของตัวเอง แล้วจะแก้ไขกันที่นั่น นี่ผลของการภาวนา ผลของการฝึกหัดเป็นบุญกุศลที่สูงที่สุด ฉะนั้น คำว่าสูงที่สุดนี่เราปฏิบัติ แต่ถ้าทางโลกเขาบอกว่าถวายสังฆทานสูงที่สุด (หัวเราะ)

ให้ถวายสังฆทาน ถวายสังฆทานสูงที่สุด อันนั้นเป็นเรื่องของโลกนะ ถวายสังฆทานสูงที่สุดมันก็เป็นผลบุญ ผลบุญในการเสียสละ แต่ถ้าจะเอาปัญญา ปัญญาที่จะพ้นจากกิเลส การภาวนานี่แหละมันทำให้จิตใจออกฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา นี่ไงมันจะกลับมาให้ภาวนาได้ ให้ภาวนาเป็น

ทีนี้ภาวนาได้ ภาวนาเป็น มันก็ส่งเสริม นี่รักษาผลส้ม รักษาต้นส้ม รักษาต้นส้มก็คือรักษาหัวใจ ถ้าหัวใจดีขึ้น สิ่งที่ว่ามันไม่มีแล้วมันจะฟื้นฟูขึ้นมาว่าอย่างนั้นเลย ให้ฟื้นฟูสิ่งนี้ขึ้นมา นี่พูดถึงส้มหล่นนะ

ฉะนั้น ส้มหล่นมันมีที่มาที่ไปเหมือนกัน แต่ในเมื่อประสานะ ผู้ใหญ่คุยกับเด็ก เด็กน้อยได้แค่ผู้ใหญ่เอาใจเท่านั้น เด็กน้อยก็มีความสุขแล้ว ผู้ใหญ่พอโตขึ้นมา ผู้ใหญ่ต้องมีหน้าที่การงาน มันจะวัดกันที่ว่าการงานนั้น ผิดถูกนั้นถึงจะเป็นความดี แล้วถ้าโตขึ้นมา บริหารจัดการแล้วเขาต้องรับผิดชอบ เห็นไหม ความดีของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น เด็กน้อยเขาเริ่มฝึกหัดใหม่ เวลาเขามีสิ่งใด เราจะอธิบายให้เด็กน้อยเข้าใจกับเรามันเป็นไปไม่ได้เลย ฉะนั้น เราถึงบอกว่าถ้าเด็กน้อยเราก็เอาใจเขา สิ่งนี้เป็นความดีเราก็ตบมือให้ ๒ ที ตบมือแล้วเด็กมันดีใจ มันดีใจมาก

นี่ก็เหมือนกัน ส้มหล่นๆ มันก็เหมือนกับเด็กน้อยนั่นล่ะ ฉะนั้น อธิบายอย่างไรมันเข้าใจด้วยไม่ได้ เพียงแต่เขาบอกว่า

ถาม : ถ้ามันเป็นส้มหล่น แล้วอยากจะรักษาผลส้ม แล้วอยากจะเป็นกุศลไป

หลวงพ่อ : ฉะนั้น สิ่งนั้นวางไว้ ของสิ่งใดที่เราใช้แล้ว เราใช้แล้ว เราได้สัมผัสแล้ว นี่เรายังสนใจเรื่องศาสนามันก็มีคุณค่ามากแล้วแหละ แล้ววางไว้ เราเอาความจริงขึ้นมา ถ้าจิตมันสงบให้มันสงบได้ ถ้าสงบขึ้นมาแล้วให้มันพิจารณาของมัน ย้อนกลับมาดูใจของเรา แล้วผลส้มนั้น ต้นส้มนั้นมันจะเข้มแข็งขึ้นมา ถ้าต้นส้มเข้มแข็งขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์กับเรา นี่พูดถึงที่มาของ “ส้มหล่น”

แหม อยู่ดีๆ จะส้มหล่น ใครๆ ก็จะฟลุคไปหมดเลย การฟลุคนั้นนะ ทางโลกเขาพูดอย่างนี้ เขาบอกว่า

“ลาภที่ควรได้ กับลาภที่ไม่ควรได้”

ลาภที่ควรได้ ลาภสักการะของเรา ลาภที่ควรได้ ลาภที่ไม่ควรได้ ลาภที่ไม่สมควรจะได้ ได้มามันเป็นการผิดกฎหมายนะ กฎหมายเขาตรวจสอบนะ อย่างเช่นฟอกเงินๆ เขาจะดูแลอยู่

อันนี้ก็เหมือนกัน ลาภควรได้และลาภไม่ควรได้ ส้มหล่นก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นลาภที่ควรได้มันเป็นข้อเท็จจริง ถ้าลาภที่ควรได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นบุญกุศล มันเป็นอิทธิพลของธรรม อิทธิพล ธรรมะมีอิทธิพลเหนือใจเรา ธรรมะนี่มีอิทธิพล คือบุญกุศลมันมีเหนือใจเรา มันเป็นไปโดยธรรม ถ้าทางธรรมะเขาเรียกว่า “ธรรมะจัดสรร” ธรรมะจัดสรรให้เป็นไป

ธรรมะจัดสรรนะ แต่ใจเราโง่น่าดูเลย ธรรมะจัดสรรให้แล้ว เป็นส้มหล่นแล้วยังไม่รู้ว่าส้มหล่นอย่างไร? ธรรมะจัดสรรแต่เราโง่ ฉะนั้น เราก็ต้องฝึกเราให้มันฉลาดขึ้นมาใช่ไหม? ธรรมะจัดสรร แล้วจิตใจเราฉลาดขึ้นมา จิตใจเรารู้ขึ้นมาว่ามันมาจากไหน? มันมาอย่างไร? แล้วเราฝึกของเรา เห็นไหม ธรรมะจัดสรรด้วย แล้วเราก็ฉลาดขึ้นมาด้วย เราทำของเราได้ด้วย มันก็เลยไม่ไปทุกข์ใจ ร้อนใจกับส้มมันไม่หล่น ถ้าส้มมันหล่นก็ดีใจ ส้มไม่หล่นก็อยู่ไม่ได้ (หัวเราะ)

ส้มหล่นก็คือส้มหล่น ไอ้นี่มันมีที่มาที่ไปอยู่ ฉะนั้น เวลาเขาพูดถึงส้มหล่นเราถึงอธิบาย มันมีที่มาที่ไปอยู่ มันเป็นอิทธิพลของธรรม มันไม่ใช่ว่าใครส้มหล่น โอ๋ย เวลาส้มหล่นจากต้นนะ เขาไปเก็บกันเอามาเป็นอาหาร เอาไปค้าขาย นั่นมันเป็นผลทางโลก เพียงแต่ว่านั่นมันเป็นผลส้มหล่นจากต้น แต่นี่มันเป็นการปฏิบัตินะ ถ้าเราปฏิบัติเป็นความจริงขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์กับเรา

อันนี้ในแง่บวก ทีนี้ในแง่บวกนะ ในแง่บวกหมายถึงว่าส้มหล่น คือการปฏิบัติมันสุข มันทุกข์ในใจของเรา แต่อันนี้เป็นแง่ของโลก พอแง่ของโลกนะ แล้วมันเป็นเรื่องโลกไป

ข้อ ๗๑๐. ไม่มี

ข้อ ๗๑๑. ไม่มีใช่ไหม?

ข้อ ๗๑๒. ไอ้ที่ว่า “ทำบุญกึ่งบาป” นี่มาอีกแล้ว (หัวเราะ) ทำบุญกึ่งบาป ก็วันนั้นตอบไปแล้ว ทีนี้คำตอบเขาเขียนมาอย่างนั้น เขาเขียนกลับมาว่า

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อ รอบที่แล้วหลวงพ่อตอบไปแล้วเรื่อง “ทำบุญกึ่งบาป” มันเป็นเรื่องที่คาใจ เป็นประสบการณ์ของตัวเขาเอง หากถ้ากระเทือนหลวงพ่อผมขอขมาด้วย

หลวงพ่อ : คำว่ากระเทือนเพราะพวกเรานี่เราทำกันเอง ธรรมมันมีหยาบ มีละเอียด หลวงตาท่านจะบอกว่า

“ธรรมแท้ๆ มันเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องในหัวใจของเรา”

เวลาหลวงตาถ้าส่วนอื่นเขาจะทำดี ทำชั่วมันเรื่องของเขา ถ้าธรรมแท้ๆ ธรรมจริงๆ เพราะธรรมมันเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกเฉพาะตน ถ้าเฉพาะตน ถ้าเราทำของเรา เป็นประโยชน์กับเรา นี่ธรรมแท้ๆ แต่พอมันขยับออกไป เห็นไหม มันก็เข้านั่นแหละว่ากระเทือนหรือไม่กระเทือน ถ้ากระเทือนมันเหมือนกับเราไปทำให้ใครกระเทือน แต่ถ้ามันเป็นลูกศิษย์กับครูบาอาจารย์ท่านก็เอาจริงเอาจังต่อกัน

ฉะนั้น เวลาบอกว่ามันกระเทือนเขาไหม? สบประมาทเขาไหม? เราเองเราพูดเยอะ เราก็ต้องหาทางป้องกันตัว ป้องกันตัวว่าถูกหรือผิดไง ฉะนั้น เขาเขียนมาขอขมาว่าเขาไม่ได้ตั้งใจอย่างนั้น ที่เขาถามนี่เขาถามด้วยความบริสุทธิ์ใจของเขา เขาว่า

ถาม : ขอขมาหลวงพ่อด้วยถ้ามันกระเทือนหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : แต่ความจริงของเขาคือเขาอยากจะช่วยเหลือสังคม เห็นไหม เพราะมันมีพระไปทำบุญกันโดยการที่มัวเมาไปกับโลก อะไรต่ออะไร เขาอธิบายของเขามานะ อันนี้เขาบอกว่าเพื่อประโยชน์ไง เพราะเขาเข้าไปเพื่อต้องการจะให้คน หูตาสว่าง เพื่อให้ทำบุญด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยข้อเท็จจริง แล้วเข้าไปแล้วเขาจะโดนแรงเสียดสีมาก ฉะนั้น เขาบอกว่าเขาทำแล้วเหมือนกับเป็นเด็ก แล้วไปกระทบกระเทือนผู้ใหญ่

ถาม : เรื่องสิ่งต่างๆ ให้กลับซ้ำไป แต่พอได้ฟังหลวงพ่อทำให้ผมสบายขึ้นอย่างมาก หลวงพ่อได้ให้กำลังใจดีมากครับ คำว่า “แย่งชิง” และ “ขายวิญญาณ” เป็นคำที่โดนใจผมมาก

หลวงพ่อ : แย่งชิงคือแย่งชิงกิเลส แย่งชิง กิเลสมันตระหนี่ถี่เหนียว นี่แย่งชิง คำนี้เป็นคำของหลวงตา หลวงตาท่านพูดเอง บอกว่า

“เราแย่งชิง แย่งชิงจากกิเลสมาเพื่อเป็นประโยชน์กับเรา”

เราก็จำขี้ปากหลวงตามาอีกทีหนึ่ง ไอ้ขายวิญญาณนี่ เราเห็นสังคมเวลาเขาขายตัวกันน่ะ เขาหาผลประโยชน์กัน เขาเห็นผลประโยชน์แต่เรื่องวัตถุ แต่เวลาเรามอง เรามองถึงความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึกนึกคิดเรายังขายได้ คนๆ นั้นไม่น่าจะเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมได้

ฉะนั้น นี่พูดถึงอารัมภบทนะ ทีนี้ย้อนกลับมาที่เป็นคำถามแล้ว

ถาม : ๑. ถ้าเราเจตนาช่วยฉุดเขาให้เห็นความจริงขึ้นมา แบบนี้พอเรียกได้หรือไม่ว่าเป็นการส่งเสริมผู้อื่นให้เกิดทิฏฐุชุกรรม คือให้เกิดทิฐิ สัมมาทิฏฐิ

๒. กรณีที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ถ้าไม่มีใครกล้าพูดเรื่องจริงเพื่อแฉสิ่งที่จอมปลอมในสังคม ผมว่าสังคมเราคงจะแย่กว่านี้ และไร้ที่พึ่งบริสุทธิ์จริงๆ เพราะจะมีแต่การสร้างภาพดูดี แต่หมกเม็ดบางอย่างไว้ (นี่เขาพูดถึงสังคมทั่วไป)

หลวงพ่อ : ถ้าพูดอย่างนี้ นี่เวลาคนเรามีหยาบ มีละเอียด พูดอย่างนี้ถูก แต่เวลาคนที่ ในสังคมนะ เราจะบอกว่าสังคมของเขามันหมกเม็ดไหม? สังคมของเขาทำสิ่งใดที่ไม่ถูก แต่ทำไมคนเชื่อล่ะ? คำว่าคนเชื่อก็มี แต่เวลาคนที่เขาเข้าไปแล้วนี่เขาไม่เห็นด้วย เขาออกมาจากสังคมนั้นก็มี นี่เวลาคนเข้าไป พอเขาเห็นจริงหรือว่าเขามีปัญญาของเขา เขาก็เห็นความผิดของสังคมนั้น แต่ แต่เขาก็ไม่กล้าพูดของเขาเพราะว่ากระแสสังคมมันรุนแรง กระแสสังคมรุนแรงเขาก็เฉยของเขา

ฉะนั้น ถ้าเราจะบอกว่าสังคมต้องถูกต้องดีงามอย่างที่เราคิด เราคาดหมายกันทั้งหมด ถ้าคิดอย่างนี้นะเราทุกข์ เราแบกโลกไง นี่เราแบกโลก หรือเราจะคอนโลก หรือเราจะยืนอยู่บนโลก เราเหยียบโลกไว้ ถ้าเราเหยียบโลก เรายืนอยู่บนเหนือโลก เราเหยียบโลกไว้ ถ้าเราแบกโลกเราแบกโลกหมดเลย คอนไว้คือครึ่งหนึ่งไง แบบว่าครึ่งหนึ่งคือว่าเรายังติดโลกอยู่ แต่ถ้าเราเหยียบโลก เราอยู่เหนือโลกไง

ฉะนั้น ถ้าเราอยู่เหนือโลกใช่ไหม? เราฝึกใจของเรา ถ้าใจของเรามันเหนือโลก ถ้าใจของเราเหนือโลกนะ เหนือโลกหมายความว่าเข้าใจเหตุและผลในโลก สิ่งที่เขาทำกันมันถูกหรือผิด เรารู้ เราเห็นหมดแหละ เราอยู่เหนือเขา แต่เราวางไว้ตามความเป็นจริง แต่คนที่เขาแบกโลกอยู่ เห็นไหม เขาแบกโลกอยู่ เขาต่ำกว่าโลก ต่ำกว่าโลก

นี่สิ่งที่โลกเขาหลอกลวงกัน เขาหาผลประโยชน์กัน ผู้นั้นเขาเข้าไปหมดเพราะเขาต่ำกว่าโลกใช่ไหม? เขาอยู่กับโลกโดยที่เขาไม่มีหลักมีเกณฑ์ของเขาเลย เขาอยู่เพื่อจะเอาตัวรอดของเขา ฉะนั้น ในเมื่อเขาเจอสภาพสังคม กระแสสังคมที่ว่าเขาเป็นกระแสอย่างนั้นมันก็ติดไปกันหมดแหละ พอติดกันหมด ถ้าเขามีสติปัญญาของเขาเขาจะหลุดของเขาออกมาได้ เขาจะหลุดออกมาได้นะ

เราจะบอกว่าโลกธรรม ๘ มันเป็นแบบนี้ มันมีของมันอยู่อย่างนี้ ถ้ามีอยู่อย่างนี้ ในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีฤทธิ์หมดนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม ทอดธุระเลย จะสอนได้อย่างไร? จะสอนได้อย่างไร?

เราจะบอกเรื่องที่เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นความผิดพลาดในใจของเขา ทั้งๆ ที่เขาเป็นจักรพรรดิ เขาเป็นกษัตริย์ เขาเป็นกุฎุมพี เขาเป็นคนที่มีฐานะทั้งนั้นเลย แต่เราก็จะบอกว่าในหัวใจเขาคิดผิด เขาเป็นอวิชชา เขามีกิเลส นี่ใครจะยอมฟัง? ใครจะยอมฟัง ถ้าไปบอกเขาบอกว่าจักรพรรดินี่ดี๊ดี จักรพรรดิสุดยอดเลย จักรพรรดิจะดีใจมากเลย

ถ้าเราไปยกย่องในสิ่งที่ดีของเขา เขาจะพอใจ แต่ถ้าเราไปบอกความบกพร่องของเขา บกพร่องว่าเขาจะตายเปล่า เขาจะไม่มีอะไรติดใจของเขาไป จักรพรรดิเขาจะตัดหัวเราเลยล่ะ ในเมื่อเขาอยู่ใต้โลกเขาไม่เข้าใจของเขา ฉะนั้น ผู้ที่เราจะอยู่เหนือโลกใช่ไหมเราต้องสร้างปัญญาของเราขึ้นมา ถ้าเราสร้างปัญญาของเราขึ้นมา ถ้าเมื่อใดจะได้ใช้เหตุใช้ผล เราจะมีเหตุมีผล ใช้เหตุใช้ผลเคลียร์ปัญหาได้หมดเลย

นี่เราอยู่เหนือโลก เราเหยียบโลกอยู่ เราไม่ติดในโลก เราเข้าใจหมดเรื่องโลกเป็นอย่างไร? เรื่องความเห็นของเขาเป็นอย่างไร? แล้วความเห็นนี่กิเลสมันพอใจอย่างนั้น เห็นไหม แล้วทำไมเขาพอใจ ทำไมเขาเห็นชอบ เห็นดีเห็นงามต่อกัน

ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ ถ้าโดยโลกเขาบอกว่า แน่ะ หลวงพ่อจะเอาตัวรอดแล้วแหละ หลวงพ่อจะชิ่งออกใช่ไหม? หลวงพ่อจะไม่รับผิดชอบอะไรเลยหรือ? จะไม่ทำงานอะไรเลยหรือ? นี่จะชิ่งหนีแล้วนะเนี่ย ไม่ใช่ชิ่งหนีนะ หลวงตาท่านบอกว่า

“ในเมื่อถ้าเหตุการณ์เหตุการณ์นั้น มันยังแก้ไขสิ่งใดไม่ได้ เราเข้าไปมันทำให้เกิดปัญหามากขึ้น แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เรารู้เหตุรู้ผลว่าความผิดถูกมันเป็นอย่างใด ถึงเวลาแล้วนี่เหตุการณ์นั้นเราจะแก้ไขได้”

เหตุการณ์นั้นจะแก้ไขได้ แก้ไขหมายถึงว่าถึงคราวถึงกาล ปัญญาเราพร้อมหมดแล้ว นี่มันผิดทั้งนั้นแหละ แล้วมันผิดอย่างไรล่ะ? นี่มันบอกกล่าวนะ คนก็เชื่อฟัง มันฟังด้วยเหตุด้วยผล แต่ในเมื่อเหตุการณ์ยังไม่ถึงคราว เห็นไหม เรารู้ถูกรู้ผิด ความรู้ของเรา หลักฐานของเรามันเปลี่ยนแปลงเป็นหลักฐานเท็จได้ทั้งนั้นแหละ

นี่เรื่องของโลกนะ ความเชื่อของคน กรรมของคนมันมี ถ้ากรรมของคนมันมี ถ้าเราแบกโลก แล้วเราบอกว่านี่แสดงว่าถ้ามันเป็นความจอมปลอม สังคมไม่กล้าพูดความจริงกัน แล้วมันจะพูดอย่างไร? พูดความจริง มีกาลเทศะ กาลควรและไม่ควร ถ้ากาลมันควร เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

“สิ่งใดเป็นความจริง แต่ไม่มีประโยชน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็ไม่พูด สิ่งใดเป็นความจริง แล้วต้องมีประโยชน์ด้วยท่านถึงจะพูด”

พูดด้วยความจริงด้วย แล้วเป็นประโยชน์ด้วย เป็นความจริงแต่มันไม่เป็นประโยชน์ มันไม่เป็นประโยชน์เพราะมันทำลายคนอื่นแล้วมันมีผลกระทบ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพูดกับพระองค์นั้น ทำให้พระองค์นั้นเข้าใจ แล้วให้พระองค์นั้นให้แก้ไขตัวถ้าแก้ไขได้ ถ้าแก้ไขไม่ได้ คือเขาแก้ไขของเขาไม่ได้ ถ้าแก้ไขไม่ได้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เข้าไปยุ่งตั้งแต่ทีแรกเลย ไม่เข้าไปยุ่งตั้งแต่ทีแรก เห็นไหม นี่ธรรมมันละเอียดมากกว่านั้น

ฉะนั้น ข้อที่ ๑ บอกว่า

ถาม : ถ้าเราช่วยเขาให้เกิดทิฐิที่ถูกต้อง ในบ้านๆ หนึ่ง พี่น้องในบ้านความเห็นยังไม่เหมือนกันเลย แล้วทิฐินี่สำคัญมาก คำว่าทิฐิ แล้วคำว่าทิฐิ ถ้าสัมมาทิฐิมันมีความถูกต้องดีงามชอบธรรม แต่มันไม่ตรงกับความเห็นเรา นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ

ฉะนั้น จะบอกว่าสิ่งที่โลกเขาหลอกลวงกัน เขามีความหมกเม็ดกัน แล้วเรานี่ใสสะอาดบริสุทธิ์ แล้วเราว่าเราจะไปจัดการเขา แล้วใสสะอาดบริสุทธิ์นี่จริงหรือเปล่า? (หัวเราะ) เออ อันนี้ก็เป็นทิฐิอีกอันหนึ่ง อันที่ใสสะอาด อันที่ว่าเราบริสุทธิ์ เราจะช่วยเหลือกันมันก็เป็นทิฐิอีกอันหนึ่ง แล้วทิฐิอันนี้มันใช้ถูกกาล ถูกเวลาหรือเปล่า?

นี่เพราะว่าโลกเป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์จะให้ค่าอย่างนี้ ว่าอะไรบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ ในทางวิทยาศาสตร์จะบอกว่า ๙๙.๙๙ ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มี แต่ในทางธรรมต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เกินร้อยด้วยถึงสะอาดบริสุทธิ์จริง ถ้าสะอาดบริสุทธิ์จริง เห็นไหม นี่ธรรมเหนือโลกนะ เหนือวิทยาศาสตร์ เหนือทุกอย่างเลย

แต่ธรรมนี่ธรรมอย่างหยาบ คนเข้ามาเขามาทำบุญของเขา แล้วเราบอกว่าเขาหมกเม็ด เขาสร้างภาพ มันไม่เป็นความจริง ถ้าเขาไม่เป็นความจริงนะ เขาต้องมีความละอาย คนที่เขาทำนี่เขามีความละอาย นี่พูดถึงความละอายนะ แต่ถ้าเป็นสังคมโลกล่ะ? สังคมโลกบอกว่านี่คือเขามีความสามารถ เขามีความสามารถนะ โลกเขามองกันโดยกระแส ว่าใครทำกระแสนั้นได้ ปลุกกระแสนั้นขึ้นมา

งานทางการเมืองนะ เวลาเขาจะสร้างการเมืองขึ้นมานี่เขาใช้เงินทั้งนั้นแหละ นี่เวลาเขาเอาเงินสร้างขึ้นมาแล้วเขาต้องรักษาด้วย รักษาความต่อเนื่องของเขาไป แต่สิ่งใดก็แล้วแต่ในโลกนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเป็นอนิจจังหมด ไม่มีสิ่งใดคงที่ ช้าหรือเร็วเท่านั้นกระแสนี้มันต้องหมดไป ช้าหรือเร็วเท่านั้น ถ้าอย่างช้าที่สุดก็ชีวิตๆ นั้น ชีวิตนั้นเขายังยืนอยู่ได้ เขายังค้ำอยู่ได้ คนยังเชื่อถืออยู่อย่างนั้นได้ แต่ถ้าชีวิตนั้นหมดไปอยู่ไม่ได้หรอก

นี่ความจริงก็คือความจริง มันจะปรากฏ แล้วมันเป็นไปไม่ได้ แต่ขณะที่เขามีชีวิตอยู่ เขาค้ำสิ่งนี้อยู่ เขาค้ำกระแสนั้นอยู่ ฉะนั้น กระแสนั้นอยู่เขาค้ำด้วยอะไร? ด้วยอิทธิพลของเขา เวลาปัญหาแรก เห็นไหม “อิทธิพลของธรรม” ถ้าอิทธิพลของธรรมมันจะให้ผลตามความเป็นจริง เวลาใครภาวนาไปแบบส้มหล่น เวลาส้มหล่นมันภาวนาไปนี่เพราะอะไร? เพราะใจมันรู้ใช่ไหม?

เวลาขนพองสยองเกล้า เวลาสะเทือนหัวใจ เวลาร่างกายพองโต เวลามันเกิดสิ่งใดนี่ใครเป็นคนรู้ จิตใจนั้นเป็นผู้รู้ จิตใจนี้เป็นความจริง ถ้าจิตใจนั้นเป็นผู้รู้ จิตใจนั้นเป็นความจริงมันเกิดมาจากอะไรล่ะ? เกิดมาจากความสัมผัสของใจ เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นเรื่องจริง เพราะเป็นความสัมผัสของใจ เรื่องโลก เรื่องกระแสเป็นเรื่องความจอมปลอม นี้พูดถึง “อิทธิพลของธรรม”

ฉะนั้น ข้อที่ว่าทิฐิ ต้องการทิฐิกัน นี่มันอิทธิพลของกิเลส คำว่าอิทธิพลของกิเลสคืออะไร? คือมันรู้อยู่ ของมันรู้อยู่ใช่ไหม? นี่ไงที่เขาบอกว่ามันต้องการทิฐิของเขา ต้องการไม่ให้เขาสร้างภาพ ต้องการไม่ให้มีความจอมปลอมของสังคม ถ้าอย่างนี้เมื่อไหร่สังคมมันจะอ่อนด้อยไปเรื่อยๆ คนที่ทำเขารู้อยู่ เขารู้ของเขา นี่เวลาส้มหล่น จิตใจมันสัมผัสมันก็รู้อยู่ว่าสิ่งใดเป็นธรรม สิ่งใดเป็นประโยชน์

สิ่งใดที่เขาทำขึ้นมา มันสัมผัสขึ้นมาแล้วความร่มเย็นเป็นสุขมันเกิด เกิดความชุ่มชื่นในหัวใจ แต่สิ่งที่มันเป็นความจอมปลอม มันสร้างภาพ นี่เขาก็รู้ของเขาอยู่ เขาต้องรู้ของเขาอยู่ แต่ในเมื่อเขามีทิฐิมานะต้องการสร้างกระแส ต้องการให้สังคมเป็นไปอย่างที่เขาปรารถนา เห็นไหม เขากระทำสิ่งใดมันก็เป็นทางโลกทั้งนั้นแหละ โลกกระทำกันได้ทั้งนั้นแหละ แล้วทำขึ้นมานี่ ทำขึ้นมาต้องรักษาไหม?

นี่มันจะเป็นความสุขแบบส้มหล่นไหม? ส้มหล่นนี้เป็นเรื่องส่วนตัวนะ เป็นเรื่องของเรานะ เป็นเรื่องความสัมผัส ไม่ต้องลงทุนลงแรง ไม่ต้องทำสิ่งใดเลย มันเป็นอิทธิพลของธรรม แต่อันนี้มันเป็นอิทธิพลของกิเลส กิเลสคืออะไร? กิเลสคือต้องการให้คนยอมรับ ต้องการสร้างให้คนเชื่อถือ แล้วความเชื่อถือ เรายังเชื่อถือตัวเราเองไม่ได้เลย ถ้าเราเชื่อถือตัวเราเองได้ ทำไมเราต้องสร้างภาพ? ทำไมเราต้องสร้างภาพ? ก็เราเชื่อตัวเราเองได้ไง ถ้าเราดีจริงทำไมเราต้องสร้างภาพ การสร้างภาพเราก็รู้แล้วว่าเราสร้าง ไม่ใช่เรื่องจริง

นี่ไงเราเป็นคนสร้างขึ้นมาใช่ไหม? เราสร้างขึ้นมา มันก็ไม่คิดว่าเราสร้าง แต่ถ้าเราจริงเราไม่ต้องสร้างมันเป็นเอง ในเมื่อเราสร้างขึ้นมา พอเราสร้างภาพขึ้นมาให้เขารู้เขาเห็น เราจะบอกว่า ถ้าทั้งชีวิตของเขา เขาสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา แล้วสิ่งที่ทำขึ้นมามันเป็นสิ่งที่เขาหลบซ่อน เขาเก็บของเขาไว้ เขารู้ของเขา เขารู้ของเขา แล้วเราจะบอกว่ามันอยู่ไม่ได้หรอก สิ่งใดก็อยู่ไม่ได้

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาครูบาอาจารย์บอกว่า

“ให้ผลบุญของกรรม ให้มันเห็นผลของกรรม กรรมมันจะให้ผลของเขาเอง ถ้าจิตใจเรามีหลักมีเกณฑ์ เพราะในธรรมวินัยนี้เหมือนกับมหาสมุทร จะไม่มีสิ่งใดตกค้างอยู่ในมหาสมุทร จะซัดเข้าฝั่งหมด”

สิ่งใดที่มันผิดจากหลักธรรมวินัย จะอยู่ในหลักธรรมวินัยไม่ได้หรอก ช้าหรือเร็วเท่านั้น มันจะซัดเข้าไป ซัดออกไปจากธรรมวินัยนี้ ช้าหรือเร็ว ฉะนั้น คำว่าช้าหรือเร็วมันมีของมัน มันต้องรู้ของมัน ผลนี้มันต้องรู้ แต่ถ้าใครเขาเก็บสะสมไว้จนกว่าเขาหมดชีวิตไป นั้นก็เรื่องเวร เรื่องกรรมมันจะไปอีกชั้นหนึ่งนะ

เราจะบอกว่า “ผลของวัฏฏะนะ” นี่วัฏฏะ กามภพ รูปภพ อรูปภพมันกว้างขวางใหญ่โตนัก แต่เดิมประชากรของโลกมันมีไม่กี่พันล้าน ตอนนี้ ๗,๐๐๐ ล้าน นี่มันมากขึ้นไปเรื่อยๆ แล้ว ๗,๐๐๐ ล้านก็ ๗,๐๐๐ ล้านทิฐิ ๗,๐๐๐ ล้านนะ คนหนึ่งก็ทิฐิหนึ่ง คนหนึ่งก็ความเห็นหนึ่ง แล้ว ๗,๐๐๐ ล้านทิฐิ แล้วบอกจะต้องให้เป็นเหมือนกัน

ฉะนั้น ถ้าในทางโลกเขาใช้คำนี้ เขาใช้คำว่า “ความเห็นต่าง” ถ้าทุกคนมีความเห็นต่าง แล้วสังคมยอมรับความเห็นต่างได้ สังคมจะมีความร่มเย็นเป็นสุข ความเห็นต่างนะ! แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมา ในเรื่องอริยสัจมันไม่มีความเห็นต่าง เวลาลงอริยสัจมันเป็นอันเดียวกันไง อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคญาณมันชำระกิเลส

ฉะนั้น เวลาผู้ที่ชำระกิเลส ความสะอาดบริสุทธิ์นี้เหมือนกัน แต่อำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน เห็นไหม คือว่าอำนาจบารมีของคนไม่เหมือนกัน แต่ความสะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน พระอรหันต์นี่เหมือนกัน ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ทุกองค์เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน คืออริยสัจมีหนึ่งเดียว แต่บารมีการสร้างสมมาจากที่ว่าความเห็นต่างกัน การกระทำมาที่เห็นต่าง เวลาความเห็นต่างใช่ไหม? วิธีการต่าง แต่เวลาถ้าประพฤติปฏิบัติแล้วมันต้องสะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน

นี่มันสะอาดเหมือนกัน พอเหมือนกันแล้ว ความที่สะอาดบริสุทธิ์อันนี้เป็นหลัก พอเป็นหลักแล้ว หลักอันเดียวกันจะไม่มีความแตกต่างกัน พระอรหันต์ความคิดที่แตกแยกกัน ความคิดพระอรหันต์ที่ว่ามีมุมมองแตกต่างกัน คือความเห็นต่างมันเป็นเรื่องโลกๆ แต่พระอรหันต์จะไม่สงสัยกันในเรื่องโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ไม่สงสัยกันในเรื่องอริยสัจ ไม่สงสัยกันเรื่องการกระทำที่สิ้นกิเลส

ฉะนั้น สิ่งที่ว่านี่ถ้ามันเป็นธรรมถึงมีอันเดียว แต่ถ้าเป็นโลกมันมีความเห็นต่าง ถ้าความเห็น เรายอมรับความเห็นต่าง ความเห็นต่างนั้นเขาทำของเขา นี่เราถึงว่าไม่ดูถูกความเชื่อของคนอื่น ถ้าความเชื่อของคนอื่นเขามีความเชื่อของเขา แต่! แต่ถ้าเมื่อใดเขารู้เห็นของเขา เขาเปลี่ยนแปลงของเขา เห็นไหม เขาเปลี่ยนแปลงมาจากก้นบึ้งในหัวใจของเขา ถ้าเขาเปลี่ยนแปลงจากก้นบึ้งในหัวใจของเขา นั่นแหละมันจะไม่มีการกระทบกระเทือนในสังคมเลย แต่ถ้าเราจะให้มันกระทบกระเทือน มันก็กระทบกระเทือนกันน่าดูนะ

นี้พูดถึงเขาบอกว่า “ถ้าเราไม่กล้าพูดความจริง สังคมจะแย่ไปกว่านี้”

ในทางการศึกษาเขาจะบอกว่า “ปัญหาสังคมทุกปัญหา แก้ไขด้วยการศึกษา” คือคนมีปัญญาไง ถ้าให้คนมีการศึกษา คนมีปัญญานี่มันจะเข้าใจ แล้วมันจะแยกถูก แยกผิดถูก แล้วมันจะทำให้สังคม แก้ไขสังคมโดยความสงบสันติ แต่ถ้าเราจะไปทำกันอย่างนั้นมันไม่สงบสันติ

ฉะนั้น เขาบอกว่าจะแก้ทิฐิของคน ก็นี่แก้ด้วยการศึกษา แก้ด้วยความรู้ แก้ด้วยปัญญามันจะแก้ได้ แต่ถ้าเราแก้ของเรา เห็นไหม ฉะนั้น เราไม่ต้องไปทุกข์ร้อนจนเกินไป แต่ถ้าไม่เห็นด้วย เราก็ไม่เห็นด้วยทั้งนั้นแหละ สิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมใครอยากจะเห็นด้วย สิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมนะ ไม่มีใครเห็นด้วยทั้งนั้นแหละ เวลาเขาเกิดทางการเมือง ทางการสงคราม เขาแย่งชิงความชอบธรรมกัน เห็นไหม ในราชการลับ เวลาเขาจะมีการสงคราม เขาจะต้องทำให้ชอบธรรมไงว่าเราทำสงครามด้วยความชอบธรรม ธรรมะกับอธรรมจะต่อสู้กัน แล้วธรรมะจะชนะ นี่เขาแย่งความชอบธรรมกัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้ามันเป็นความชอบธรรม ถ้าเขาพิจารณาของเขา เขาแก้ไขของเขา นี่มันเป็นความชอบธรรมของเขา แล้วมันสงบร่มเย็นของเขา เราเอาตรงนั้นไง เราเอาตรงนั้น ทุกคนไม่เห็นด้วยทั้งนั้น สิ่งที่มันไม่ชอบธรรมที่เขาทำไว้นั้น แต่ แต่ต้องดูว่ากำลังเรามีเท่าไหร่? แล้วทำแล้วมันเป็นประโยชน์มากหรือประโยชน์น้อย ถ้ามันทำแล้วมันเป็นประโยชน์น้อยนะ ถ้าเป็นประโยชน์น้อยแต่เราลงทุนลงแรงมาก แต่ถ้าเป็นประโยชน์มากนะ เราพัฒนาตัวเราให้เป็นคนที่เหยียบโลก เหนือโลกไว้ แล้วเราจะมองปัญหาโลกออกหมด แล้วจะแก้ไขตอนไหน?

คำว่าจะแก้ไข ถ้ามันมีอำนาจวาสนา มีเวร มีกรรมต่อกัน เราจะได้มีโอกาสแก้ไข แต่ถ้ามันไม่มีวาสนาต่อกัน ไม่มีเวรมีกรรมต่อกัน เราพิจารณาของเรา เราแก้ไขของเรา จนหัวใจของเราพ้นจากโลก อยู่เหนือโลกแล้วนี่เราจะพ้นจากโลก เราเอาตัวเรารอดได้แล้ว แล้วไม่ใช่ว่าเราจะทอดทิ้งสังคม เพราะสังคมเขาไม่ฟังเราเอง

สังคมเขาไม่ฟัง สังคมเขาไม่ยอมรับความจริง แต่ถ้าเราศึกษา เราปฏิบัติจนได้ความจริงขึ้นมาแล้ว เห็นไหม เรามีความจริงพร้อมที่จะให้สังคม แต่สังคมเขารับไม่ได้ สังคมเขาไม่มีวุฒิภาวะที่จะรับ นี่มันกรรมของสัตว์แล้วนะ ฉะนั้น เรื่องของเราก็เรื่องหนึ่ง เรื่องของโลกก็เรื่องหนึ่ง แต่นี่เราจะเอาว่าต้องไปสู้เขา ต้องไปต่อสู้กับเขา อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งนะ

ทีนี้คำถามสด บอกว่า

ถาม : ที่มีการทำนาย ว่าจะมีแต่ภัยพิบัติเกิดขึ้นตามมามากมายใหญ่หลวง หลวงพ่อว่าเท็จจริงอย่างใด?

หลวงพ่อ : เราไม่เชื่อเลย เราไม่เชื่อเรื่องคำทำนาย แต่เราเชื่อเรื่องจริง เราเชื่อเรื่องจริงเพราะว่าในเมื่อสภาวะแวดล้อมเป็นแบบนี้ มันก็ต้องเกิดอย่างนี้ โดยทางวิทยาศาสตร์เขาบอกว่าโลกร้อน นี่โลกมันร้อน พอโลกร้อนขึ้นมา เวลาหน้าแล้งจะแล้งรุนแรง เวลาฝนตก ตกจนท่วมโลก ไอ้อย่างนี้มันเป็นเรื่องจริง เราดูเรื่องจริง ถ้าเรื่องจริงเราแก้ไขตามความเป็นจริง ถ้าแก้ไขตามความเป็นจริง

ทีนี้ไอ้คำทำนาย ทำนายอย่างไร? ดูสิกรมอุตุฯ ทำนายได้แค่ ๗ วัน แต่ถ้าของอเมริกาเขาทำนายได้มากกว่า แล้วอย่างนี้นะ พูดถึงว่าเกิดภัยพิบัติมากๆ หมอดูกำลังจะรวย ทำนายถูกต้องหมดเลย ทุกคนจะไปหาหมอแม่นๆ ไอ้หมอไม่แม่นไม่มีใครเขาหาแล้วนะ แต่ถ้าเราไม่ต้องหาหมอแม่นๆ สภาวะแวดล้อมเราก็เห็น ทุกอย่างเราเห็น ทางวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์กันได้อยู่แล้ว เอาความจริงนี่แหละ เอาความจริงนี่ เอาความจริงแล้วแก้ไขอย่างนี้ เราแก้ไขใจของเรา นี่เขาทำนาย เราจะไปทำนายกับเขาหรือ? ไม่มี

เวลาเขาบอกโลกจะแตกนะ น้ำจะท่วมโลก หลวงตาบอกว่า “น้ำจะท่วมปอด” เพราะคนวิตกกังวลมากไง น้ำจะท่วมปอด จะเกิดทุกข์ เกิดยากในใจก่อน กว่าที่มันจะท่วมโลกนะมันท่วมปอด ท่วมปอดจนหายใจไม่ออกนู่นน่ะ ต้องไปเจาะน้ำออกจากปอด น้ำยังไม่ท่วมโลกเลยมันท่วมปอดตายก่อน

ที่นี้ถ้ารักษาปอดของเรานะ น้ำจะท่วมโลกเราก็ลอยแพกัน เราต่อแพกันไว้ เราจะอยู่บนแพ แล้วเราจะมีความสุขร่มเย็น เราจะไม่ไปตื่นกับเขา เราตั้งสติไว้อย่าเป็นเหยื่อของใครนะ อย่าเป็นเหยื่อ นี่พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา เรามีปัญญาของเรา เราแก้ไขของเรา อย่าไปเชื่อ ถ้าเขาเป็นไปได้ มันอย่าไปเชื่อ

เดี๋ยวนี้โลกมันเป็นอย่างนั้นแหละ เวลาห่วงโซ่นะ ไอ้แชร์ลูกโซ่ต้องส่งข่าวต่อๆ กัน ต่อๆ กัน กระพือกันทุกที กระพือกันจนโลกนี่ อู้ฮู วุ่นวายไปหมดเลย แล้วเราก็เป็นเหยื่อของเขาไปอยู่กับเขา เราไม่ทำอย่างนั้น เราทำเพื่อความจริงของเราเนาะ จบ เอวัง