เทศน์บนศาลา

ตามรอยธรรม

๒๖ พ.ค. ๒๕๔๕

 

ตามรอยธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๕
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ปฏิบัติบูชาไง เราจะปฏิบัติบูชากันต่อไป ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะปฏิบัตินะ ธรรมะปฏิบัติ การปฏิบัติคือการดัดแปลงใจตน การดัดแปลงใจตน ทำไมต้องดัดแปลงใจตน ใจเราเกิดมา ใจมันโดนปกคลุมด้วยอวิชชา โดนปกคลุมไว้ด้วยความเคยใจ ความเคยใจ อวิชชาคือความเคยใจ ใจมันเคยประสาของใจมันอยู่อย่างนั้น

เราถึงต้องดัดแปลงเรา ถ้าเราดัดแปลงเรา เราดัดแปลงเราเพื่อเข้าถึงธรรมไง ตามรอยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดวันนี้ เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ศึกษาวิทยาการของทางโลกเขาทั้งหมด จนรอคอยจะขึ้นเป็นกษัตริย์ วิทยาการทางโลก ทางโลกของเขา ทางโลกที่สมัยนั้นมีอยู่ ศึกษามาเพื่อจะปกครองไง ความศึกษามา แล้วศึกษามาเป็นอย่างไร ศึกษามาแล้วได้ผลประโยชน์ไหม?

ได้ผลประโยชน์ถ้าครองแผ่นดินจะเป็นจักรพรรดิ แต่สมบัติจักรพรรดิก็ได้แค่ช่วงชีวิตนั้นเท่านั้น แล้วก็จะไม่ได้มา ๒,๕๐๐ กว่าปีที่เป็นอยู่นี้ แต่ออกแล้ว ได้ไปศึกษาเล่าเรียนมาแล้ว เอาแต่ความทุกข์มาให้ ศึกษาออกมา ออกไปแล้วไปเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย โลกเขามีอย่างนี้ด้วยหรือ โลกเขามีอย่างนี้แล้วทำไมคนเขาไม่หาทางออกกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีความสลดใจ แค่ขนาดนั้นยังมีความสลดใจ

คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ไม่เคยได้ยินธรรมคำสั่งสอนเหรอ ธรรมแสดงตัวตลอดเวลา เราเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตายไหม ถ้าเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เราควรจะสะเทือนใจ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสะเทือนใจมาก่อน แล้วสมัยนั้นไม่มีธรรมนะ สะเทือนใจมาก่อน จนจะหาทางออก เห็นไหม หาทางออก ออกไปเพื่อปฏิบัติอีก ๖ ปี อีก ๖ ปี ทรมานขนาดไหน ตามธรรมนะ ตามความเป็นธรรม เพราะธรรมยังไม่มี สมัยนั้นยังไม่มี ต้องพยายามแสวงหาอยู่ ทุกข์ยากขนาดไหนนั้นเพื่อใคร? เพื่อสัตว์โลก เพื่อความพ้นทุกข์จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้วันนี้ เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะนั้นกิเลสเต็มหัวใจ เกิดเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิเลสหมดไปจากหัวใจ หมดไปจากใจพร้อมกับมีความสุขนะ มีความสุขในใจมหาศาลอย่างยิ่ง แล้วก็วางธรรมไว้ให้พวกเราก้าวเดินตาม ถ้าเราก้าวเดินตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครู เป็นตัวอย่างของเราที่เราจะก้าวเดินตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เราต้องดัดแปลงตน ดัดแปลงตนคือดัดแปลงว่า สิ่งใดที่การศึกษามาว่าตนฉลาดขนาดไหน วางไว้ก่อน ฉลาดขนาดไหนกิเลสมันหลอกใช้ กิเลสมันหลอกใช้เราว่าเราฉลาดขนาดไหน เราคิดตามประสาเรานี่ กิเลสมันอยู่ข้างหลังเรา มันใช้ให้เราเดินหน้าไปตลอด แล้วเราก็เดินหน้าไปตลอด โดยที่กิเลสบังคับบัญชาโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย เราไม่รู้หรอกว่ากิเลสใช้เรา

เราจะเดินหน้าไป แล้วก็ใช้ตามประสาของเราไป มีแต่ความทุกข์มาตลอด เอาความทุกข์มาให้ เอาความทุกข์ เอาความเร่าร้อนมาให้กับหัวใจ แล้วหัวใจก็ไม่เข้าใจ แล้วก็มีแต่ความเร่าร้อน แล้วเราว่าเราเป็นลูกศิษย์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเป็นลูกศิษย์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราต้องเชื่อธรรม พอเราเชื่อธรรมขึ้นมา มันจะมีความหวัง หวังแล้วหวังในธรรม หวังแล้วจะพ้นจากทุกข์ หวังประสาโลกเขา หวังพึ่งเราเอง หวังพึ่ง หวังพยายามแสวงหาทางออก มันไม่เคยสมหวังสักอย่างหนึ่ง

โลกหวังขนาดไหนแล้วมีแต่ความเร่าร้อน แต่หวังในธรรม หวังในธรรมเพื่อจะพ้นออกไปจากทุกข์ ถ้าพ้นออกไปจากทุกข์ได้ เราต้องพยามยามแสวงหาของเรา แสวงหาดัดแปลงตน แสวงหาโอกาส สร้างโอกาสให้ตัวเองนี่ก็ต้องมีโอกาสแล้ว เราไม่เคยสร้างโอกาสให้ตัวเองเลย ทำงานทำการของเราประสาโลกไปวันๆ หนึ่งขนาดไหน หมดเวลาขนาดไหน แล้วปฏิบัติธรรมเคยทำไหม? ไม่เคย สิ่งนี้ไม่เคยทำเลย ถึงจะทำก็ทำแต่น้อย ทำแต่ความเป็นไป

แต่เวลาผู้ที่ปฏิบัติ การนั่งตลอดรุ่ง นั่งตลอดรุ่งเพื่ออะไร? เพื่อจะให้เข้าไปต่อสู้กับเวทนา ต่อสู้กับสิ่งต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นกับเรา นั่นน่ะ เขาต่อสู้กันขนาดนั้นเพื่อจะพ้นจากทุกข์ แล้วเราเทียบเคียงได้ไหม เทียบเคียงกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม? เราเทียบเคียงไม่ได้เลย ไหนเราจะเอาใครเป็นตัวอย่าง ถ้าเอากิเลสเป็นตัวอย่าง เอาความเห็นเราเป็นตัวอย่าง เอากิเลส ความคิดของเรา มันผัดวันประกันพรุ่ง มันหวังพึ่งตัวเอง หวังต่อไป

ความหวังของเรานี่หวังโดยกิเลส จะเป็นความเร่าร้อนของใจ ใจจะพ้นไปไม่ได้ พ้นออกไปจากวังวนของความคิด เห็นไหม นี่ว่าตัวเองฉลาด ถ้าคิดกว่าตัวเองฉลาด จะวังวนวนเวียนอยู่ในความคิดของตัวเอง วนไปแล้วก็มีความทุกข์ความเร่าร้อน มีความไม่สมความปรารถนา แล้วมีแต่ความอาลัยอาวรณ์ตลอดไป เป็นไปอย่างนั้นโดยธรรมชาติของเขา

ถึงจะต้องหยุดสิ่งนี้ให้ได้ ต้องหยุดสิ่งนี้ให้ได้เป็นสมถธรรม สมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐานเป็นของคู่เคียงกันไปตลอด ถ้าไม่มีสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานจะเกิดมาจากไหน เราว่าเราทำวิปัสสนา เราประพฤติปฏิบัติธรรม เราว่าเราประพฤติปฏิบัติ กิเลสมันก็ประพฤติปฏิบัติไปกับเรา เราว่าของเรา เราคิดของเรา เราจินตนาการของเราไป มันเป็นจินตนาการของเรา มันเป็นความคาดหมายของเรา คำว่า “เรา” คือตัวตน สิ่งที่คาดหมายมันเป็นตัวตนตลอด สิ่งที่คาดหมายต้องคาดหมายในทางผิดพลาดไปตลอด ความผิดพลาดเอาอะไรมาให้? เอาความไม่สมประโยชน์มาให้

ถ้าความสมประโยชน์สมความปรารถนาของเรา เราจะต้องวางใจของเราเป็นกลาง วางใจเป็นกลางต้องเป็นกลางโดยตามธรรม ไม่ใช่เป็นกลางของเรา เป็นกลางของเรา เราก็คิดของเราว่าอย่างนี้เป็นกลางแล้วทำไมไม่สมความปรารถนา ไม่สมความปรารถนาเพราะเรามีความปรารถนา นั้นคือตัวตัณหา ความอยากเกิดขึ้นไปนั้นคือตัณหาเกิดขึ้นแล้ว พอเกิดขึ้นแล้วมันจะเอาความสมหวังมาให้ได้อย่างไรในเมื่อมันเป็นสมุทัย

ทุกข์นี้ควรกำหนด สมุทัยควรละ ทุกข์มันมาจากไหน ทุกข์ก็คือว่าความอยากของเรามันเป็นทุกข์ แล้วเราก็ไม่เห็นผลของความอยาก เราไม่เห็นตัวทุกข์ไง เราเห็นผลของมันคือผลของความทุกข์แล้ว “ทุกข์นี้ควรกำหนด” เรากำหนดไม่ได้ เรากำหนดต่อเมื่อมันพ้นไปแล้ว มันไม่เป็นปัจจุบัน เราคิดถึงแล้วเราเสียใจภายหลัง สิ่งที่เราคิดแล้วเราเสียใจภายหลัง แต่ปัจจุบันที่เกิดขึ้นมา เราตัดสินใจไม่ทัน เราตัดสินใจทันนั้นปัจจุบันธรรม

ปัจจุบันมันเคลื่อนไปแล้ว ความเคลื่อนไปแล้วเป็นอดีตไปหมด พอเป็นอดีตมันก็เวียนไปตลอด ความเวียนไปของเรา ความเวียนไปของการประพฤติปฏิบัติ ความเวียนไปของการจินตนาการของเรา เห็นไหม นี่คือการจินตนาการ

ความจินตนาการของเรามันจะเป็นธรรมตรงไหน มันเป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมด กิเลสมันอยู่กับเรา มันคิดอยู่กับเรา นั่นน่ะ มันไม่สมความปรารถนา สิ่งที่สมความปรารถนา มันต้องสร้างโอกาสของเราขึ้นมาก่อน พยายามทำความเพียรของเราไป โอกาสของเราสร้างความเพียรของเราไป

ความเพียร เห็นไหม คนจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ถ้าความเพียรมีกับเรา ความเพียรเกิดมาจากไหน ความเพียร ยืน เดิน นั่งนอน อิริยาบถ ๔ ความเพียรอยู่ตรงนี้ ยืน เดิน นั่ง นอนนี้เอาไว้ต่างหาก นอนนี้มันไปแล้ว มันไปเลย เราไม่ไปยุ่งกับมัน แต่มีคนทำได้เหมือนกัน เพราะยืน เดิน นั่ง นอน เราจะปฏิเสธไม่ได้ สิ่งนี้มีอยู่ สิ่งใดมีอยู่ สิ่งนั้นต้องเป็นไปตามสัจจะ สิ่งสัจจะ แต่มันไม่เป็นสัจจะของเรา สัจจะของเรา เราต้องยืน เดิน นั่ง แล้วพยายามทำความเพียรของเรา พยายามของเรา พยายามจนกว่ามันจะเกิดผลประโยชน์กับเราขึ้นมา ถ้าไม่เกิดผลประโยชน์ เราพยายามทำของเราอยู่อย่างนั้น ทำอยู่อย่างนั้นมันต้องเป็นไปได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ต้องสมความปรารถนา เราได้ถึง ๗ ปีไหม เราทำอย่างนั้นไหม ถ้าสมถึง ๗ ปี มันต้องสมความปรารถนา ความปรารถนาของเราปรารถนาจะพ้นจากทุกข์ เห็นไหม ทุกข์ในหัวใจเกิดกับเรา แล้วมันจะหลุดปลดเปลื้องออกไปด้วยวิธีการใด ทุกข์เกิดกับเรานี้เป็นของแน่นอน เพราะใจของเรามันมี อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เวียนตายเวียนเกิด จิตนี้แสวงหาที่เกิด ธรรมชาติของจิตหมุนไป

ชีวิตนี้ เห็นไหม ชีวิตนี้คืออะไร? ชีวิตนี้คือไออุ่น ชีวิตนี้คือตัวจิตนี้ต่างหาก ไม่ใช่ชีวิตนี้คือมนุษย์นะ มนุษย์ตายไป จิตมันไม่ตาย มนุษย์ตายแล้วจิตมันไปไหน? จิตมันก็เวียนตายเวียนเกิด ตามประสาของมัน มันคงที่ของมัน คงที่ในการไม่บุบสลายไม่ทำลายไป จิตนั้นเป็นสภาวะแบบนั้น

ชีวิตนี้คือไออุ่น ไออุ่นอยู่บนอะไร? อายุอยู่บนกาลเวลา อายุของเราสืบต่อ ชีวิตเรามีขนาดนี้ ชีวิตของเรามีไออุ่นขนาดนี้ แต่ชีวิตนี้ก็หมุนเวียนไปในวัฏฏะ สิ่งที่เป็นวัฏฏะหมุนเวียนไป หมุนออกไปตามประสาแล้วแต่บุญกุศลสร้างมา

ถ้าบุญกุศลสร้างมา อย่างเช่นปัจจุบัน บุญกุศลต้องสร้างมา สร้างมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนานี้ ๒,๕๔๕ ปี ชีวิตเราขนาดไหน ชีวิตเราไม่ถึง ๑๐๐ ปี แล้วเราพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาในการประพฤติปฏิบัติด้วย เราปฏิบัติธรรม ธรรมะปฏิบัติคือการต่อสู้โดยซึ่งๆ หน้า ธรรมะปฏิบัติคือการก้าวเดินไปของใจ ใจประพฤติปฏิบัติ

เวลาเราเดินจงกรม กายเดินไปขนาดไหน เดินไปเพื่ออะไร? เพื่อให้ใจหยุดนิ่ง กายเดินไปขนาดไหน พิจารณากายขนาดไหน กายมันให้ผลอะไรกับจิต กายนี้เป็นสมบัติของจิตที่มันเป็นมนุษย์สมบัติเท่านั้น กายนี้ถึงว่ามันเป็นส่วนหนึ่ง มันเนื่องด้วยกัน การพิจารณากายถึงเป็นอย่างนั้น

ถึงว่า การก้าวเดินของใจ การประพฤติปฏิบัติอยู่ที่ใจ ใจประพฤติปฏิบัติขนาดไหน มันจะดัดแปลงตน เห็นไหม ดัดแปลงตน เอาชนะตนให้ได้ เอาชนะตนได้มันยับยั้งตนได้ ยับยั้งตนได้ตนมีที่พึ่ง ตนจะมีที่พึ่งของเราเพราะมันยับยั้งของเราได้ ยับยั้งเราไม่ได้มันพุ่งไปอย่างนั้น แล้วก็ไม่เข้าใจเรื่องชีวิต ก็วนเวียนอยู่ในวัฏฏะอยู่อย่างนั้น ชีวิตวนเวียนอยู่ในวัฏฏะ แล้วเวียนไปในวัฏฏะ มีแต่เสวยทุกข์ไปตลอด

แล้วไม่พบธรรมไง เกิดแล้วไม่พบยา ธรรมโอสถ ธรรมโอสถแก้ไขกิเลสได้ กิเลสนี้เท่านั้นเป็นสิ่งที่เสียดแทงใจ แล้วพาใจนี้วิ่งไปตามวัฏฏะนั้น วิ่งไปตามกระแสของกรรม เห็นไหม มันหยุดไม่ได้ ความคิดนี้ก็หยุดไม่ได้ ความคิดเราหยุดไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันเกิดดับในหัวใจ สิ่งที่เกิดดับในหัวใจมันเป็นอะไร? มันเป็นขันธ์ มันเป็นแขกจรมา สิ่งที่เป็นแขกจรมานี่สามารถหยุดได้ เรารับแขกได้ด้วยสติสัมปชัญญะ อารมณ์คิดแขกจรมา แขกมาดีก็ได้ แขกมาร้ายก็ได้

ความคิดของเรา ความคิดดี เห็นไหม แขกจรมา แขกดีมา เราต้องต้อนรับ เราต้องต้อนรับ เราต้องเร่งคันเร่งของเรา อย่างเช่น เราอยากจะประพฤติปฏิบัติ เราอยากจะออกจากทุกข์ นี่ความคิดเหมือนๆ กัน แต่ความคิดที่มันเป็นมรรคกับความที่มันเป็นตัณหา ความคิดเป็นตัณหา ความคิดทะยานอยาก ความคิดโดยสัญชาตญาณ คิดออกไปตามประสามัน แล้วจะลากเราไปตามประสามัน ลากมันออกไปจากวังวนของการประพฤติปฏิบัติ ลากออกไปจากวงปฏิบัติ ลากออกไปเพื่อให้เขาอยู่ในอำนาจเหนือเรา เขามีอำนาจเหนือชีวิตดวงนี้ จิตดวงนี้ถึงเป็นขี้ข้าของเขา จิตดวงนี้ถึงไม่เป็นอิสระ เราถึงไม่เดินตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

ถ้าเราเดินตามธรรม เราเดินตามธรรม ตามรอยธรรมไป เราจะเข้าถึงได้ ถ้าเราเชื่อก่อน เราเชื่อขึ้นมา มีความศรัทธาความเชื่อ ถ้ามีศรัทธาความเชื่อ เราจะมีการประพฤติปฏิบัติ ถ้าศรัทธาความเชื่อเราไม่เกิด เราจะประพฤติปฏิบัติไปเพื่ออะไร? มันมีแต่ความทุกข์ ทุกข์ขนาดที่ว่าเกิดมามันก็ทุกข์อยู่แล้ว การงานของเราก็มีมากมายมหาศาล การงานนี้ก็ให้ความทุกข์กับเราแล้ว ทำไมเราต้องมาเพิ่มทุกข์ให้กับชีวิตนี้อีก นั้นคือกิเลสให้มันคิด

แต่ถ้าธรรมมันคิด ธรรมคิดคือว่า เราเกิดมาแล้วทางโลกมันก็ประสบความสำเร็จขณะนี้ เรื่องของโลกมีเท่านี้ สมบัติผลัดกันชม สมบัติผลัดกันไป ผลัดกันชม ขนาดว่าสมบัติขนาดไหน มันแล้วแต่สมบัติที่ว่าใครมีปัญญาจะหาได้ ผลัดกันชม แล้วก็เวียนผลัดเจ้าของกันไปอย่างนั้น ชีวิตมีเท่านั้น แต่ความสุขของใจอยู่ที่ไหน ความสมความปรารถนาในชีวิตเราเคยพบไหม ใครเคยพบบ้างที่ว่าแสวงหาทางโลกแล้วมีความสมความคิดของเขา สมความปรารถนาของเขา...ไม่มีหรอก เขาต้องตายไป ทุกคนต้องตายไปพร้อมกับความหลงของตัวเอง ทุกคนต้องตายไปพร้อมกับความอาลัยอาวรณ์ในชีวิตนั้น ชีวิตนี้ไม่อยากพลัดพราก อยากจะมีชีวิตยืนยาวตลอดไป

มันเป็นไปไม่ได้หรอก สัจธรรมความจริง เกิดมาแล้วต้องตาย คนเกิดมาแล้วตายหมด แต่เวลาตายไปนี่ตายด้วยคุณงามความดี ตายไปด้วยขนาดไหน จะตายด้วยคุณงามความดี ตายด้วยสมความปรารถนาของตัว ตายด้วยความมีที่พึ่งไง คนมีที่พึ่งตายพร้อมกับความมีที่พึ่ง กับคนไม่มีที่พึ่ง ตายไปพร้อมกับความว้าเหว่ อันนั้นเป็นจิตที่มันหมุนเวียนไป แล้วเราก็เข้าใจเรื่องการตาย เพื่อมาให้กำลังใจ คิดมาเพื่อให้ใจย้อนกลับไง ในเมื่อมันจะต้องตายอยู่แล้ว ทำไมเราไม่ศึกษาการตายตั้งแต่ปัจจุบันนี้ เห็นไหม อะไรมันตาย สิ่งที่เกิดขึ้นมานี่อะไรมันตาย? ไม่มีตาย

อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ จิตนี้ไม่มีการบุบสลายไม่เคยตาย มันเปลี่ยนสถานะเท่านั้นเอง มันไม่เคยตาย แต่เวลามันตายขึ้นมา มันก็ให้ความเดือดร้อนกับใจ เวลาเปลี่ยนภพชาติจะให้ความเดือดร้อนกับใจว่า “เราต้องตาย เราต้องเปลี่ยนสถานะ” แล้วมันก็ให้ความเดือดร้อนจริงๆ

จริงๆ ที่มันไป เราไม่รู้ว่ามันจะไปไหน ไม่รู้ว่าเราจะไปพบกระทบกับสิ่งใด เพราะมันต้องไปข้างหน้า มันไปข้างหน้าเราไม่รู้ เราไม่รู้เราถึงเป็นความทุกข์ เราไม่ต้องการ สิ่งที่ไม่ต้องการ ต้องการยึดถือไว้ สิ่งที่ยึดถือ ยึดถือไม่ได้หมด ความยึดถือของใจ มันยึดถือภพ ยึดถือชาติ ยึดถือความเห็นของเรา ยึดถือไปหมดเลย ยึดถือแล้วก็นัวเนียไปกับความคิดของเรา นี้คือความเป็นไปของใจ

ใจกับขันธ์มันจะหมุนวนเวียนไปอย่างนั้น ในเมื่อกิเลสมีในหัวใจ มันจะพาใจออกหาเหยื่อไปเป็นธรรมชาติของเขา นี้คือการทำงานของเขา พร้อมกับกิเลสที่มันไสไปไง กิเลสมันอยู่ในหัวใจ มันอยู่ในท่ามกลางความคิดนั้น มันใช้ความคิดนั้นออกหาเหยื่อ ในอายตนะกระทบ สิ่งที่กระทบกับภายนอก สิ่งที่กระทบกับรูป รส กลิ่น เสียงภายนอก นี่บ่วงของมาร บ่วงของมารเป็นเหยื่อ บ่วงของมารมาล่อลวงเราไป เราก็ตกบ่วงของมาร บ่วงของมารพยายามชักนำเราไป เราก็หมุนกันไปตามความคิด หมุนไปอย่างนั้น สร้างสมปัญญาของเราขึ้นมาได้ สติสัมปชัญญะหาขึ้นมาไม่ได้

ถ้าหาสติสัมปชัญญะขึ้นมาได้ มันต้องหยุดสิ่งนี้ได้ สติสัมปชัญญะคือความระลึกรู้อยู่ ถ้าความระลึกรู้อยู่นี้ มันต้องกำหนดพุทโธขึ้นมา กำหนดสิ่งนี้ได้ ตามสัจจะความจริงมันคิดไป มันก็เป็นสัจจะอันหนึ่งของเขา เป็นสมมุติสัจจะ แล้วบัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นมา บัญญัติธรรมขึ้นมาเพื่อทับสมมุติสัจจะ ให้เราหาเหตุหาผลของเราเข้ามา ถ้าเหตุผลของใจดวงไหนมันประสบผลสำเร็จ ความสงบจะเกิดกับใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นมีความต่อต้าน ใจมันต่อต้านนะ มันต่อต้านธรรม

รสของอาหาร รสไหนที่มันถูกปากของเรานี่เราชอบ อันนี้เหมือนกัน มันเคยกินอารมณ์นี้เป็นอาหารหมด ใจนี้กินอารมณ์เป็นอาหาร มันเสวยอารมณ์ ความคิดมันเป็นอารมณ์ อาหารของใจ มันเป็นสิ่งที่เคยกลัวมาตลอด มันจะเป็นสภาวะแบบนั้น มันพอใจ แต่พอพุทโธนี่ มันเป็นไปไม่ได้ อาหารอย่างนี้ใจไม่ยอมรับ มันไม่ยอมรับเพราะมันจืด มันไม่มีรสชาติ แต่รสชาติของเขาจะให้ผล เห็นไหม สิ่งใดที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ถ้ามันมีคุณค่าทางอาหารให้ผลกับร่างกายนี้สมบูรณ์ ถ้าสิ่งใดไม่มีคุณค่าทางอาหาร ให้พิษภัยกับร่างกายด้วย

อันนี้ก็เหมือนกัน อารมณ์ความคิดเป็นอย่างนั้น แค่พุทโธคำเดียวนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ พุทโธ พุทธะ คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ให้หัวใจนี้เบิกบาน มันสะเทือนโลกธาตุ ถ้าเรานึกถึงพุทโธ นึกถึงพุทโธก็นึกถึงเรา นึกถึงใจของเรา เราคือผู้รู้ ผู้ตื่น หัวใจคือผู้รู้ แต่มันโง่ขนาดไหน ไม่รู้จักตัวมันเอง ว่ามันเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มันเบิกบานตรงไหน? มันเศร้าหมอง มันทุกข์ยากอยู่ในหัวใจ เพราะมันไม่มีความสามารถจับต้องสิ่งใดได้ นี่มันทุกข์ยากขนาดนั้น แต่พุทโธนี้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าใครทำได้

ถึงผู้ที่อินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์แก่กล้าขึ้นมา สะสมขึ้นมา มันจะเกิดกำหนดพุทโธๆ เข้ามา มันจะมีความสงบของใจ ใจจะสงบเข้ามาได้ ใจสงบเข้ามาได้เพราะมันเปลี่ยนอาหาร อาหารที่มันฟุ้งซ่าน อาหารที่มันหมุนไปตามโลกเขา คิดสืบต่อ คิดหมุนเวียนออกไป มันมีแต่เรื่องเอาความเร่าร้อนมาให้ใจ

กับพุทโธมันตัด พุทโธแล้วหยุด แล้วพุทโธตลอดไป มันไม่สืบต่อไปทางอื่น แค่พุทโธ แค่ชื่อของธรรม แล้วเรากำหนดพุทโธๆ เข้าจนพุทโธกับใจเป็นอันเดียวกัน เห็นไหม มันไปเบิกตาของใจได้ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มันจะเบิกบานขึ้นมาในหัวใจ มันจะมีความสุขขึ้นมา จะมีความสงบของใจเข้ามา ใจจะสงบผ่องแผ้วของใจขึ้นมา ละเอียดอ่อนขนาดไหน มันลึกซึ้งขนาดไหน มันเป็นไป เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ถ้าเรากำหนดพุทโธขึ้นมา กำหนดพุทโธๆๆ ตลอดเข้าไป นี้คือเราพยายามดัดแปลงตน ถ้ามีคนดัดแปลงตนได้ คนมีกำลังใจได้ สามารถทำได้ พยายามกำหนดพุทโธๆๆๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนั้น นั้นคือพยายามเปลี่ยนอาหารของใจ

ถ้าใจนี้เปลี่ยนอาหาร เห็นไหม จากกินอาหาร บ่วงของมารกินอาหารเรื่องของโลกเขา บ่วงของมาร รูป รส กลิ่น เสียง จากกินอาหารมาเป็นความเบิกบาน เป็นผู้รู้ ผู้ตื่นของใจ นั่นน่ะ กินเข้าไปจนเป็นเนื้อเดียวกับใจ มันถึงจะเป็นความสงบของใจไง แต่นี่มันไม่เป็น มันเป็นอารมณ์ มันเป็นเงาเหมือนกัน ในเมื่อสมมุติก็เงา บัญญัติก็เงา พอเงาขึ้นมามันก็เป็นอาการของใจ แล้วเราก็ไม่ได้ผลของเรา เราทำไม่ได้ผลเพราะเราไม่มีสติสัมปชัญญะ เพราะเราตั้งใจไม่พอ เราตั้งใจของเราไม่พอขึ้นมา เห็นไหม

ความตั้งใจ ความจงใจ ความจงใจเกิดขึ้นมา มันจะเป็นผลงานขึ้นมา ถ้าสติสัมปชัญญะมีอยู่นั่นคืองาน ถ้าสติสัมปชัญญะไม่พร้อมอยู่ อันนั้นมันเป็นสักแต่ว่างาน เราเข้าใจว่าเราทำงานนะ เราภาวนา เราเข้าใจว่าเราภาวนา แต่มันเป็นผลสักแต่ว่าทำเฉยๆ สักแต่ว่าทำ ผลมันก็สักแต่ว่า เพราะสติสัมปชัญญะมันไม่พอ

มันเป็นเรื่องการกระทำของเรา มันเป็นความผิดพลาดของเรา มันไม่ใช่เป็นความผิดพลาดของธรรม มันเป็นเรื่องของกิเลสผลักไส กิเลสผลักไสให้เราก้าวเดินออกไปจากธรรม ไม่ก้าวเดินตามธรรม ก้าวเดินตาม เห็นไหม ตามรอยของธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติตรัสรู้ไปได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะเป็นมนุษย์เหมือนกัน สร้างบุญกุศลเหมือนกัน ครูบาอาจารย์ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ถ้าเรามีกำลังใจ เราเป็นมนุษย์ เราสามารถทำของเราได้ เรามีหัวใจขึ้นมาที่จะรองรับธรรมของเราได้ ถ้าเรามีของเราได้ เรามีสมบัติพร้อม เรามีภาชนะที่จะใส่ธรรม ภาชนะในธรรมนี้ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นภาชนะใส่ธรรม ตำรับตำรานั้นเป็นหนังสือ เป็นหมึก เป็นกระดาษเปื้อนหมึกที่ไว้ให้เราศึกษา เราไปอ่านในตำรับตำราขึ้นมา เราซึ้งใจข้อไหน เราจะมีความตื่นเต้นในหัวใจของเรา นั่นน่ะ ใจมันไปรับรู้ต่างหาก

นี้ก็เหมือนกัน ใจเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ ใจเป็นผู้ที่รับรู้ความรู้สึกต่างๆ ใจเป็นผู้ที่ดัดแปลงตน ถ้ามันสงบขึ้นมามันก็สงบ ถ้ามันไม่สงบ มันก็เร่าร้อนในใจ ใจเท่านั้น เป็นภาชนะที่ใส่ธรรม แล้วใจในหัวใจของเรา มันจะใส่ธรรมได้มากได้น้อยขนาดไหน เราทำไมไม่ย้อนกลับมาดูตัวเราเอง เราต้องย้อนกลับมาดูตัวเราเองตลอด ถ้าเราย้อนกลับมาดูตัวเราเอง เห็นไหม อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมไปแล้ว ปรินิพพานไปวันนี้เหมือนกัน แล้วก็วางธรรมไว้ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านำไป แล้วก็วางธรรมไว้ให้เราก้าวเดิน ใจของเราจะก้าวถึงตามธรรมได้ มันต้องเข้าถึงความสงบของใจ แล้วยกขึ้นวิปัสสนา ถ้าไม่เข้าถึงตามความวิปัสสนาของเรา มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ความเห็นของเราที่ใช้ปัญญาอยู่นี้เป็นปัญญาของโลก เป็นโลกียะทั้งหมดเลย โลกียะ มันหมุนเข้ามา โลกียะถ้าเราตามเข้าไป ใช้สติตามเข้าไป มันก็เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ที่ว่ามันจะเริ่มปล่อยวางได้ การปล่อยวางโดยใช้ปัญญานี้เป็นวงของสมถะเหมือนกัน

ความเป็นสมถะ เห็นไหม สมถกรรมฐานคือความสงบของใจ ความที่มันเดือดร้อน มันวุ่นวายไป กิจมันไปในบ่วงของมาร มารชักลากไป มันถึงให้แต่ความฟุ้งซ่านของใจ ให้แต่ความเดือดร้อนของใจ แล้วความสงบของใจ ตามด้วยความคิดเข้าไป ด้วยสติสัมปชัญญะ นี้คือปัญญา

ปัญญาของโลก ปัญญาในสมมุติสัจจะ เวียนเข้าไป อันนี้ก็เป็นความคิดเหมือนกัน แต่ความคิดนี้ย้อนกลับมาเพื่อดูใจของตัวเอง ให้สงบเข้ามาให้ได้ ถ้าสงบเข้ามาแล้วมันยกขึ้น ถ้าไม่ยกขึ้นวิปัสสนา มันเจริญขึ้นมา สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องแปรสภาพเป็นธรรมดา ใจของเราสงบขนาดไหนแล้วมันต้องเสื่อมสภาพโดยตามธรรมชาติของมัน ใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติสงบขนาดไหนแล้วมันก็ต้องเสื่อม มันเสื่อม เห็นไหม รักษาไว้ขนาดไหน มันก็เสื่อม มันเป็นกุปปธรรม มันจะเจริญแล้วเสื่อมขึ้นไป มันไม่เป็นอกุปปธรรม

สิ่งที่เป็นอกุปปธรรม มันต้องปฏิบัติธรรมสมควรแก่เหตุ เหตุสมควรแก่ผลนั้น นั่นน่ะ สร้างเหตุจนสมควรขึ้นมาแล้วมันจะเป็นอกุปปธรรม ถ้าเป็นอกุปปธรรมแล้ว เจริญแล้วจะไม่เสื่อมจากสิ่งนั้นเลย แล้วยังเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ อกุปปธรรมคือการวิปัสสนา คือเข้าใจตามความเป็นจริงแล้วปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง ถ้าปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง มันต้องใช้ปัญญาในภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาจะเกิดขึ้นจากสมถกรรมฐานนี้เป็นพื้นฐาน สมาธิทำให้เกิดปัญญา ตัวสมาธิเองจะทำให้เกิดปัญญาไม่ได้ แต่ตัวสมาธิเองเป็นบาทฐาน เห็นไหม เป็นบาทฐานให้เกิดภาวนามยปัญญา

ถ้าไม่มีบาทฐานให้เกิดภาวนามยปัญญา มันเป็นความเห็นของเรา ตัวตนของเราจับต้องสิ่งใดแล้วเราต้องคิดว่าเรารู้ เราเห็น เราเข้าใจ ความว่าเป็นเรานี่มันจะให้ค่า สิ่งที่ให้ค่านั้น สิ่งนั้นมันไม่เป็นธรรมชาติแล้ว มันเป็นความคิดของเราเข้าไปบวก สิ่งที่ความคิดเข้าไปบวก นี่โลกความดึงดูดของกิเลส ความดึงดูดของตัวตน ตัวตนของเราดึงดูดกับความคิดของเรา หมุนไปเองโดยตามความคิดของเรา มันถึงไม่เป็นภาวนามยปัญญาไง มันถึงต้องใช้สมถกรรมฐาน สมถกรรมฐานเข้ามา ทำความสงบของใจให้ใจสงบเข้ามา แล้วยกขึ้น

ถ้ายกขึ้นไม่ได้ นั่งตลอดรุ่งนี่เวทนามันเกิดอยู่แล้ว คำว่า “ผ่านเวทนา” นี่มันสะดวกตรงที่ว่ามันพบไง มันเข้าไปซึ่งๆ หน้า แต่มันก็เป็นจริตนิสัย ครูบาอาจารย์หลายองค์ บางองค์ก็นั่งตลอดรุ่งขึ้นมาเพื่อสู้กับเวทนา บางองค์ก็ไม่เคย แล้วแต่ครูบาอาจารย์จะผ่านทางไหน คำว่า “ผ่าน” เห็นไหม ผ่านเข้าใจตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงโดยตามธรรม โดยตามธรรมคือธรรมที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ ไม่ใช่ความเห็นของเรา ความเห็นของเราเป็นความเห็นผิด เห็นขนาดไหนมันก็เห็นแล้วยึดไปทั้งหมด ยึดว่าเราเห็น ยึดว่าเรารู้ ถึงว่ารู้ก็ยึดว่าเรารู้ มันไม่ปล่อย

สิ่งใดปล่อย สิ่งใดละวางแล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเราไม่ละวาง สิ่งใดยึดแล้ว นั่นน่ะคือว่าเวลาเกิดขึ้นมา ความสงบของใจเกิดขึ้นมา ธรรมมันเกิด ความเห็นต่างๆ เกิดขึ้น ธรรมมันเกิด แต่เราจินตนาการ เราอยากได้อีก เราอยากรู้อีก นั่นน่ะ กิเลสมันเกิด กิเลสมันเกิดตามหลังมาโดยเราไม่เข้าใจว่ากิเลสเกิดตามหลังมา สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการพบเห็น มีการประพฤติปฏิบัติ เข้าใจแล้ววางไว้ตามความเป็นจริง ไม่ต้องไปนึกถึงมัน ขณะที่ประพฤติปฏิบัตินี้ต้องเป็นปัจจุบัน สร้างสมปัจจุบันขึ้นมาเพื่อจะได้ให้เห็นธรรมะในปัจจุบัน

ปัจจุบันนี้แก้กิเลสได้นะ อดีตอนาคตแก้กิเลสไม่ได้ ความคาดความหมาย คาดหมายขนาดไหนไปก็คาดหมายไป ความคาดความหมาย เห็นไหม ธรรมะด้นเดา คาดหมายไปแล้วธรรมะเกิดขึ้นมาก็เกิดโดยความคาดหมาย มันไกลจากกิเลสมากนัก มันไกลจากศูนย์รวมของกิเลส คือไกลจากดวงใจ กิเลสมันเกิดที่หัวใจ แล้วมันก็ขี้รดในหัวใจของเรา กิเลสของเราเองขี้รดในใจของเรา แล้วเราก็แก้ไขของเราไม่ได้ ถ้าคนอื่นว่าเรา เราจะรู้สึกเคืองนะ แต่เวลากิเลสมันเกิดจากเรา แล้วมันขี้รดในหัวใจเรา เราทำไมไม่โกรธกิเลสของเราล่ะ หาทางชำระกิเลสของเราให้ออกไปจากใจ มันให้ความเดือดร้อนกับเรา

มันขี้รดในหัวใจเราก็พอใจ มันพอใจเพราะอะไร เพราะมันไม่มีสิ่งใดไปโต้แย้งได้ แต่ในเมื่อปัจจุบันนี้เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนเรื่องอริยสัจ เรื่องมรรคอริยสัจจัง มรรคอริยสัจจังจนภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมา สามารถชำระประหารกิเลสออกไปจากใจได้ กิเลสมันก็ตายได้ ความเคยใจของเรามันตายได้ด้วยมรรคนี้สมประกอบ ด้วยมรรคนี้หมุนเวียนออกไป หมุนสมประกอบแล้วจะฆ่ากิเลสออกไปจากใจได้ กิเลสที่อยู่ในหัวใจที่มันดื้อด้านในหัวใจเรานี่ ที่มันขี้รดในหัวใจเรา มันทำให้เราทุกข์ยากอยู่นี่ เราคิดว่าเราทำไม่ได้ เราไม่มีอำนาจวาสนา นี่มันทำให้เราอ่อนด้อย ทำให้เราไม่มีกำลังใจ ก้าวเดินไป

ทำไมจะทำไม่ได้ในเมื่อเหตุมันมีอยู่ ในเมื่อมรรคอริยสัจจังยังมีอยู่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคหมุนเวียนไปต้องเกิดนิโรธ ความปล่อยวางจนได้ ถ้ามรรคไม่หมุนเวียนไป แต่นี้มรรคของเรามันไม่หมุนเวียน มันยังเกิดขึ้น มันหมุนเวียนไม่ได้ เพราะเราใช้ความคิดของเรา เวลาพูดถึงทางโลก สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ นี้เราก็เป็นมรรคของเราแล้ว นั้นมรรคของโลกียะ มรรคของโลกเขา

ผู้ที่ปฏิบัติไม่ใช่มรรคอย่างนั้น ความเลี้ยงใจชอบ ความทำใจชอบ ใจคิดความผิดพลาดไป มิจฉาอาชีวะแล้ว ทำให้ใจฟุ้งซ่าน แต่ถ้าใจนี้ตั้งอารมณ์ถูกต้อง เห็นไหม นั่นน่ะ สัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะคือสัมมาสมาธิ สัมมาอาชีวะยกขึ้นวิปัสสนาได้ สัมมาอาชีวะทำให้มรรคนี้สมบูรณ์แบบได้ มรรค ๘ มรรคสามัคคีไง ถ้ามรรคไม่สามัคคี นี่มรรคแม้ตัวเดียวเรายังหาไม่เจอเลย แล้วมรรค ๘ มันจะเกิดมาจากไหน ความดำริชอบ ความเห็นชอบ ชอบในอะไร ชอบในความไม่เป็นจริงของกิเลสไง

กิเลสมันไม่เป็นความจริงหรอก มันเกิดดับ แต่มันสถิตอยู่ที่ใจ มันไม่ใช่ความจริง แต่มันยึดมั่นถือมั่น เพราะถ้ามันเป็นความจริงนี้มันต้องให้ประโยชน์กับเราสิ หัวใจต่างหากเป็นเรื่องของความจริง เพราะหัวใจมันไม่เคยตาย หัวใจมันมีความจริงคือใจ แต่มันโดนกิเลสปกปิดป้อง มันปิดบังไว้ เห็นไหม กิเลสมันถึงตายได้ไง เพราะมันไม่เป็นความจริง แต่มันเหนียวแน่น แก่นกิเลส กิเลสนี้เหนียวแน่นนัก แล้วขึ้นข่มขี่ใจของมนุษย์นี้ สัตว์โลกนี้ต้องอยู่ในอำนาจของกิเลสทั้งหมด อยู่ในอำนาจของกิเลสแล้วพญามารไง

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” เห็นไหม เกิดจากความคิดของเรานี่ มารเกิดขึ้นพร้อมกับความคิดของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชนะมาร เยาะเย้ยมาร แต่เราเป็นขี้ข้าของมาร เราต้องให้มารขี่คอแล้วขย่มเราไป แล้วเราก็ทุกข์ยากตลอดไป

เราทุกข์ยากมันเป็นความจริงไม่ต้องปฏิเสธเลย ทุกหัวใจทุกดวงใจมีแต่ความเร่าร้อน ทุกดวงใจนี้มีแต่ความเกิดตายในหัวใจ มีแต่ความทุกข์ในหัวใจ มีความทุกข์แล้ว...จะมีความสุขขนาดไหน เวลาเจอหน้ากันถาม “สบายดีไหม” นั่นน่ะ เป็นการปลอบประโลมกัน เป็นทางโลกเขาเฉยๆ

แต่ในหัวใจต้องถามว่า “ทุกข์ไหม” ถึงจะถูกต้อง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาลูกศิษย์ลูกหาไปหา “เธอพอทนอยู่ได้หรือ” ถามพระที่ไปกราบทุกองค์ว่า “เธอพอทนอยู่ได้หรือ” ทุกข์มันบีบบี้สีไฟในหัวใจของสัตว์โลกตลอด พระผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันก็มีทุกข์ในหัวใจที่บีบบี้สีไฟ “เธอพอทนอยู่ได้หรือ” พอทนอยู่ได้เพื่ออะไร? เพื่อจะชำระล้างมัน พอทนอยู่ได้เพื่อจะชำระกิเลส พอทนอยู่ได้เพื่อจะต่อสู้กับมัน ไม่ใช่พอทนอยู่ได้ด้วยทนไว้เฉยๆ

นี้เราทนกันเฉยๆ เราไม่มีความเพียร เราไม่มีอิริยาบถ ๔ ในการต่อสู้กิเลส ถ้าเรามีอิริยาบถ ๔ ในการต่อสู้กิเลส นั้นมันถึงสมฐานะไง ถึงสมฐานะที่เราทนในภพของมนุษย์นี้เพื่อจะชำระกิเลสให้ก้าวเดินตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทันให้ได้ ถ้าทันธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราทันขึ้นมามันก็เป็นความสุขของเรา มันเป็นความสุขของใจดวงนั้น แล้วมันเป็นพยาน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้เรื่องต่างๆ มหาศาล โลกวิทู รู้เเจ้งโลก รู้แจ้งหมด แต่ไม่พยากรณ์ ไม่พูด จนพระโมคคัลลานะลงจากเขาเห็น พระพุทธเจ้าบอกว่า “เราเห็นมานมนาน แต่ไม่มีพยานหลักฐาน เราก็ไม่พูด” แต่พระโมคคัลลานะเห็น ลงจากเขาคิชฌกูฏที่เห็นเปรต พอเห็นเปรตไปบอกว่า “พระโมคคัลลานะเห็น” พระพุทธเจ้าบอกว่า “เราเคยเห็นมาก่อน”

นี่ก็เหมือนกัน รู้แจ้งโลก รู้ไปหมด รู้ในการจะออก แล้วเราน่ะ เรามันมืดบอด เรามันมืดบอดในหัวใจของเรา เรามืดบอดของเรา เราต้องพยายามสร้างสะสมของเราขึ้นมา เราสะสมขึ้นมาให้มันเกิดแสงสว่างขึ้นมาในหัวใจ ความมืดอยู่ที่ไหน ไฟเปิดขึ้นมามันสว่างที่นั่น ปัญญาเกิดขึ้นจากในหัวใจแล้วมันจะชำระกิเลสออกไปจากใจ ปัญญาอย่างโลกนั้นวางไว้ก่อน วางปัญญาของโลกเขาไว้ โลกียปัญญานั้นเป็นปัญญาไว้การประกอบอาชีพ การประกอบอาชีพมันก็ต้องใช้ไหวพริบของเขาในทางโลก เป็นอย่างนั้น

แต่เวลาประพฤติปฏิบัตินี่ต้องเอาชนะตนให้ได้ ปัญญาอย่างนี้มันเป็นปัญญาฟุ้งให้กิเลสมันฟุ้งขึ้นมา แล้วเราปล่อยวางไม่เป็น แล้วเราก็ชำระไม่ได้ มันเป็นความทุกข์ ๒ ชั้นเพราะกิเลสเรามันหลอก มันหลอกว่า “นี่เราเป็น เราเป็นผู้ที่ฉลาด เรานี้เป็นคนที่ว่ามีอำนาจวาสนา เรา เราตลอดไป” เราทุกข์ขนาดนี้ยังไม่รู้จักเราอีกนะ เราต้องการความสงบของใจต่างหาก เราต้องการดับเครื่องยนต์ เครื่องยนต์ของใจนี้ติดแล้วไม่เคยดับ ไม่เคยดับแล้วหมุนออกไปตลอด เอาแต่ความทุกข์มาให้หัวใจ เห็นไหม เราจะดับสิ่งนี้ ถ้าดับสิ่งนี้มันต้องวาง วางความคิดของเรา

แต่วางแล้วมันก็วางไม่ลง มันก็คิดอยู่อย่างนั้น มันมีความคิดฟุ้งออกมาตลอดไป นั่นน่ะ มันถึงต้องใช้คำบริกรรม มันถึงต้องไปใช้คำบริกรรมเข้าไปกดสิ่งนี้ไว้ไง กดสิ่งนี้ไว้เพื่อไม่ให้มันคิดฟุ้งซานออกไป ถ้ามีคำบริกรรมอยู่นั้นเป็นความเพียรนะ

ตอนนี้ปฏิบัติกันว่า “ให้ดูไว้เฉยๆ” ดูไว้เฉยๆ ก็ได้ ก็ได้ ก็ได้ในเริ่มต้น แต่ผลของมันจะให้ผลขนาดไหน ให้ผลของการมองไว้ มันก็ว่างเฉยๆ ว่างแล้วก็ขณะนั้นก็เสื่อมไป เสื่อมไป แต่มันไม่ยกขึ้นวิปัสสนาได้เพราะฐานมันไม่พอ

ถ้าฐานมันพอ กำลังมันพอ กำลังมันพอ ยกขึ้นวิปัสสนา เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตนี่ แยกได้นะ จับต้องสิ่งนี้ไม่ใช่เรา สิ่งนี้ไม่ใช่เราแล้วความเห็นมันถึงว่าไม่ใช่เรา แต่นี้มันจับต้องไม่ได้ จับต้องขึ้นมาก็น้ำหนัก มันจะหนักมากเลย หนักพร้อมกับความทุกข์ไง จับกายแล้วมันก็ทำอะไรไม่ถูก จับเวทนาขึ้นมาก็ปวด ๒ ชั้น ๓ ชั้นเข้าไป นั่นน่ะ เพราะมันกำลังไม่พอ กำลังไม่พอถึงต้องทำความสงบของใจ คำบริกรรมถึงจำเป็นไง

กรรมฐาน ๔๐ ห้อง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ให้เราก้าวเดินเข้าไป แล้วเราจะเลือกอันไหนล่ะ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สิ่งใดก็ได้ที่ตรงกับจริตกับเรา มรณัสสติ การระลึกถึงความตายนี่ก็มีประโยชน์มาก แต่พุทธานุสตินี้เป็นสิ่งที่ก้องโลก สะเทือนไปหมด สะเทือนทั้งโลกธาตุ พุทธานุสติ พุทโธๆ คำบริกรรมของเรา มันจำเป็นสำหรับเรา จำเป็นที่เราต้องพยายามแสวงหาของเราขึ้นมา ถ้าเราแสวงหาของเราขึ้นมา เห็นไหม เป็นสมบัติของเรา ไม่ใช่เป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ แล้วเราก็ก้าวเดินตามธรรมนั้น แต่เวลาประสบความสำเร็จมันเป็นความสำเร็จของใจดวงนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้มาแบ่งผลประโยชน์ไปจากใจดวงนั้น ไม่ได้แบ่งผลประโยชน์ไปจากใครเลย ถ้าเราประสบความสำเร็จ ใจมันมีแต่ความสงบเข้ามา มันยืนยัน มันยืนยันกับใจ ถ้าใจยืนยันขึ้นมานี่กำลังใจมันเกิดขึ้น

คนเรามันจะมีแต่ความทุกข์ มันจะทำงานอะไรไหว เราค้าขาย เรายังมีกำไรมีขาดทุน เวลาขาดทุนขึ้นมาเราก็แพ้ เราก็ขาดทุนไป แต่ถ้าเราชนะขึ้นมา นี่เรามีกำไรขึ้นมา ถ้าเรามีกำไรขึ้นมามันก็มีความสุข ความสุขอันนั้นเผลอไม่ได้ ความสุขอันนั้นเสวยไว้ แล้วพยายามทำความสุขนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความสงบของใจบ่อยครั้งเข้า จิตนี้ถึงเป็นสมาธิ จิตนี้ตั้งมั่น จิตนี้ตั้งมั่นควรแก่การงาน นี่มรรคเกิดโดยพื้นฐานเลย

ถ้ามรรคเกิดโดยพื้นฐานนี่ ยกขึ้นวิปัสสนา กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มันเกิดขึ้น จับสิ่งนั้นแยกออกไป สิ่งนี้ไม่เป็นความจริง สิ่งนี้เป็นอนิจจัง “สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นต้องเป็นอนัตตา” ความทุกข์ที่เกิดกับเรามันเป็นอนัตตา มันเกิดดับ เกิดดับอยู่กับใจ ถ้าความทุกข์นี้เป็นความจริงที่ว่าไม่เกิดดับนะ มันซ้อนๆ กันน่ะ คนเราทนไม่ไหวหรอก เวลาทุกข์หนักๆ ขึ้นมานี่มันล้ามาก มันปวดร้าวมาก แล้วมันก็คลายไป แล้วมันก็ทุกข์ใหม่ มันก็ทุกข์ใหม่ เห็นไหม มันเป็นอนัตตา มันโดยสัจธรรม มันเป็นความจริง ธรรมะถึงมีอยู่โดยดั้งเดิมไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม มีอยู่แล้ว เพียงแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปรู้ธรรมอันนั้น แล้วดึงอันนั้นออกมาวางไว้ให้พวกเราก้าวเดินตาม เห็นไหม ถ้าพวกเราก้าวเดินตามเข้าไป มันก็ต้องก้าวเดินตามเข้าไปโดยสัจธรรมความเป็นจริงที่เราพยายามประพฤติปฏิบัติให้ใจดวงนี้

มันมืดจากดวงใจ ดวงใจนี้ไม่เข้าใจตามความเป็นจริง มันต้องให้สว่างขึ้นมาจากใจดวงนั้น สว่างขึ้นมาด้วยภาคปฏิบัติ ธรรมะขึ้นมา สว่างขึ้นมา สวิทซ์ไฟที่ว่าทางโลกเราซื้อมา เราติดตั้งได้ มันเปิดมันก็สว่างขึ้นมา นี่เหมือนกัน อ่านตำรับตำราแล้วมันว่ามัน อ๋อ! ขึ้นมา มันไม่ปลดเปลื้องหรอก มันต้องยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาจนซ้ำแล้วซ้ำเล่า พิจารณากายนี้สักแต่ว่ากาย กายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา มันเป็นสักแต่ว่าอยู่ของมัน แต่เพราะใจเข้าไปยึด ยึดเพราะอะไร

ยึดเพราะมันเข้าใจว่าเป็นของมัน จิตใต้สำนึกของกิเลสมันเป็นแบบนั้นตลอด มันต้องวิปัสสนาเข้าไปให้หัวใจนี้เห็นตามความเป็นจริง ถึงตั้งอยู่แล้วพิจารณาไป กำลังมันพอ มันจะตั้งอยู่ได้

กำลังไม่พอนี้มันจะเคลื่อนไป ความเคลื่อนไปนี่ เรากำลังไม่พอ ต้องกลับมาทำความสงบของใจขึ้นไปแล้วไปจับต้องใหม่ นั้นวิปัสสนาอย่างนี้ไปตลอด ถ้าทำอย่างนี้ไปตลอดเราจะมีผลงานของเรา ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ๆ ไป เราคาดเราหมายไป แล้วเราก็หมดกำลังใจ เราคาดเราหมายว่าจะต้องเป็นแบบนั้น จะต้องทำสิ่งนี้ อ่านตามตำราแล้วก็งง งงตามตำราอย่างไร แต่ตามความเป็นจริงคือสัจจะที่ว่าครูบาอาจารย์สอนเรา ก็ครูบาอาจารย์เคยผ่านมาแล้ว สิ่งที่เคยผ่านมาแล้วเราเดินตาม มันน่าจะสะดวกสบายนะ เพราะเรามีคนชี้นำ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีใครชี้นำเลย ค้นคว้าหามาเองยังทำได้ แล้วเรามีคนชี้นำ ชี้ทางที่ถูกต้อง ทำไมเราผิดพลาดไปได้ล่ะ มันก็ต้องย้อนโทษเราสิ โทษความเห็นของเรา เราทำความเห็นของเราผิด เราทำความเห็นของเราไม่ถูกต้อง ถ้าความเห็นของเราไม่ถูกต้อง แล้วผลมันจะเป็นความถูกต้องได้อย่างไร ในเมื่อมรรค สัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ มรรคมีสัมมากับมิจฉาทั้งหมด แล้วเราทำอยู่มันเป็นมิจฉาไหม

อัตตกิลมถานุโยค ทำให้ตนเหนื่อยเปล่า ทำให้มีความทุกข์ แล้วทำให้เราเร่าร้อน เราเหนื่อยเปล่า นั่นคืออัตตกิลมถานุโยค ความสุขของเรา เราก็พยายามปรารถนา มันไม่ลงมัชฌิมา เห็นไหม ไม่ลงมัชฌิมาก็ไม่ลงตามความเป็นกลางของธรรม ถ้าไม่ลงตามความเป็นกลางของธรรม มันจะเอาผลมาจากไหน

มันไม่เป็นความจริง เพราะธรรมนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม ถ้าถึงสมควรแก่ธรรม ธรรมนี้จะเป็นธรรมขึ้นมา “สมควร” สมควรด้วยเหตุ เหตุเราสร้างขึ้นมา หน้าที่ของเราคือต้องสร้างเหตุขึ้นมาตลอด

วิปัสสนาเข้าไปในเรื่องของใจ เรื่องของกาย เพราะใจมันไปเกี่ยวข้องกับกายนั้น วิปัสสนาเข้าไปเรื่องของใจ ใจมันไปยึดเพราะอะไร ยึดเพราะขันธ์เหมือนกัน ขันธ์คือความคิดไง ใจนี้เป็นเรา กายนี้เป็นเรา สรรพสิ่งนี้เป็นเรา แล้วมันก็ยึดไป ความยึด สังขารมันปรุงมันแต่ง เข้าไปจับตรงนี้

จับความรู้สึกแล้วแยกออกไป ความรู้สึกมันแยกออกได้เป็นขันธ์ ๕ ความรู้สึกที่มันเกิดขึ้น อารมณ์เราอารมณ์เดียวนี่แหละ แยกออกเป็นขันธ์ ๕ เห็นไหม เวทนา ความว่าให้ค่าในเวทนา วิญญาณรับรู้ สังขารปรุงแต่งมันคิดซ้อนไป ความคิดซับซ้อนๆ ซับซ้อนด้วยสังขารมันปรุงมันแต่ง มันซับไปเรื่อยๆๆ มันเป็นรูปของจิตมันก็หมุนออกไป สิ่งที่หมุนออกไปมันหมุนออกไปอย่างนั้น พอหมุนออกไปมันก็ติด สิ่งที่ติดเพราะอะไร

เพราะกิเลสอาศัยขันธ์นี้ออกหาเหยื่อ อาศัยขันธ์นี้ออกไปยึดมั่นถือมั่น นั่นน่ะ เราย้อนกลับ ธรรมะนี่ทวนกระแส ทวนกระแสความคิดนี้ย้อนกลับเข้าไป จับความคิดแล้วย้อนกลับเข้าไป สิ่งนั้นไม่เป็นประโยชน์ สิ่งนั้นมันเกิดดับโดยธรรมชาติของมัน แต่เพราะความเห็นผิดของเราเข้าไปบวกด้วย เพราะความเห็นผิดเข้าไปบวกมันถึงจะเป็นสภาวะแบบนั้น เวลาปัญญามันทันขึ้นมา มันจะหมุนกลับเข้าไปอย่างนั้น ความคิดมันจะดับ ดับความคิดนะ ถ้าเป็นปัญญามันทัน ความคิดมันจะดับ มันจะปล่อยวาง ปล่อยวาง

พิจารณากายเหมือนกัน พิจารณา ถ้าความเห็นพิจารณาเห็นว่าสิ่งนี้แปรสภาพ นี่แปรสภาพของกายกับความดับของใจ เพราะกำลังของปัญญามันทัน นี้ไง นี่คือภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นมา นี่มรรคเกิดเกิดตรงนี้ มรรคอริยสัจจังเกิดขึ้นแล้ว อริยสัจเกิดขึ้นในวงความเป็นจริงของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นวิปัสสนาขึ้นมาจากใจ จนอริยสัจเกิดขึ้นมาจากใจ แล้วมันเคลื่อนหมุนออกไป เห็นไหม วงรอบหนึ่งปล่อยวางทีหนึ่ง วงรอบหนึ่งปล่อยวางทีหนึ่ง ถ้าสัมมาสมาธิพอ ถ้าสัมมาสมาธิไม่พอ วงรอบหนึ่งมันไม่ปล่อยวาง มันเข้าไปถึงครึ่งทางแล้วมันไปยันกันไว้ ยันกันคือว่าความคิดนี้ตัดสินลงไม่ได้ว่าถูกหรือผิด

ปล่อยวางมาแล้วกลับมาทำสัมมาสมาธิ กลับมาทำสร้างความสงบ สร้างพลังงานขึ้นไปเพื่อจะเข้าไปวิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงจุดหนึ่งมันต้องเป็นไปตามธรรม สิ่งคำตอบที่มันจะตอบใจดวงนั้น เห็นไหม ใจนี้เป็นใจ ทุกข์นี้เป็นทุกข์ กายนี้เป็นกาย มันต้องแตกสลาย แยกออกไปโดยธรรมชาติของมัน สภาวธรรมทำได้อย่างนั้น ปล่อยวางตามความเป็นจริง นี้คืออกุปปธรรม อกุปปธรรมเข้าใจตามความเป็นจริง ธรรมเกิดขึ้นแล้วมันจะปล่อยวาง ทุกข์ไปอยู่ที่ไหน ทุกข์หลุดออกไปเลย ทุกข์เป็นทุกข์ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต สักกายทิฏฐิ ๒๐ ขาดออกไปจากใจ ใจนี้เป็นอิสระเสรีภาพ

เดินตามธรรม ตามรอยของธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้ ใจนี้ตามรอยของธรรมจนทัน ถ้าตามรอยของธรรมจนทันมันจะซ้ำลงที่ใจนั้น นั่นน่ะเป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรมกับใจเห็นเป็นเนื้อเดียวกัน สิ่งที่เป็นเนื้อเดียวกัน พร้อมกับความสุขของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นมีความสุข ความสุขที่เกิดขึ้น

แต่ก่อนแต่ไรทุกข์ยากมาก การประพฤติปฏิบัตินี้แสนลำบากลำบน ต้องพยายามฝึกฝน พยายามอดทนของเรา ก้าวเดินเข้าไป นั้นมันเป็นเพราะกิเลสมันต่อสู้ขัดขวาง กิเลสอย่างหยาบๆ นะ เราต่อสู้กับกิเลสอย่างหยาบๆ ขึ้นมา จนเราสามารถประหารมันออกไปจากใจได้ ขาดออกไป ทุกข์ขาดออกไปเลย นั่นน่ะความสุขเกิดขึ้น มีความสุขในหัวใจมาก ถ้าอยู่ตรงนี้มันมีความสุข แต่กิเลสอย่างกลางอย่างละเอียดที่มีในหัวใจ มันยังมีอยู่ คอยหลอกลวงของใจ ใจมันหลอกลวง ความเห็นตัวตนไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ตัวตน โดยธรรมชาติของมัน แต่อุปาทานการยึดมั่นถือมั่นมันยังมีซ้ำอยู่ในหัวใจนั้น ยกขึ้นวิปัสสนา

กิเลสอย่างละเอียดหลอก มันหลอกได้ชัดเจนกว่า หลอกด้วยว่าเราเคยทำอย่างนี้แล้ว เราทำแล้วสมความปรารถนา มันสร้างความเห็นให้เรา นั่นน่ะมันเป็นการคาดหมายของกิเลสไป กิเลสคาดหมายเอาธรรมมาออกหน้านะ เอาธรรมตั้งขึ้นมา เอาธรรมออกหน้าว่าสิ่งนี้เป็นธรรม แล้วมันก็หลอกกินอยู่อย่างนั้น นั่นน่ะ กิเลสอย่างละเอียดมันหลอก หลอกหัวใจของเรา เราก็โดนหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เห็นไหม โดนหลอกเพื่ออะไร? เพื่อให้อยู่ในอาณัติของกิเลสตลอดไป เพราะมันยังต้องเกิดต้องตาย

ถึงจะเข้าใจตามเป็นธรรม ถึงจะเข้ากระแสแล้วนะ เข้ากระแสของนิพพาน อย่างไรก็แล้วแต่เกิดอีก ๗ ชาติเท่านั้น ถ้าจะต้องเกิดในอีก ๗ ชาติ แต่ถ้าทำให้ถึงหลุดพ้น มันจะหลุดพ้นไปได้เลย

เพราะการเกิดการตาย การเกิดการตายคลอดออกมาจากช่องคลอด คลอดออกมาจากในที่แคบ ทุกข์ยากมาก แต่เราไม่เข้าใจ เราเกิดมาแล้วเราก็ว่าเราเกิดมาแล้ว สิ่งนั้นมันเป็นอดีตไปแล้ว มันไม่คิดถึงสิ่งนั้น แล้วยังต้องไปเกิดอีก ๗ ชาติ มันจะต้องไปผ่านช่องแคบนั้นอีก มันจะไปเกิดอีกทำไม

ถ้าไม่ไปเกิดอีก มันต้องตามธรรมจนถึงหัวใจ ถ้าตามธรรมจนถึงหัวใจ ขันธ์อันอย่างละเอียดอยู่ในหัวใจ เห็นไหม ย้อนกลับเข้าไป ทำความสงบของใจเข้ามาแล้วย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาจับต้องสิ่งนี้ให้ได้ จับติดมือขึ้นมาก็เป็นวิปัสสนา จับไม่ติดมือ สิ่งนั้นมันจับไม่ได้เพราะมันไม่มีกำลังพอ มันทำไม่ได้ ย้อนกลับเข้ามาภายใน ย้อนกลับเข้ามา กระแสของใจจะย้อนกลับ ถ้าย้อนกลับเข้าไปจับต้องสิ่งนั้นได้ ต้องอาศัยความสงบของใจ เห็นไหม ถึงต้องทำความสงบ

มรรคอริยสัจจังเกิดขึ้นมาพร้อมกับสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเป็นพื้นฐาน สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ถึงต้องก้าวเดินไปพร้อมกัน ก้าวเดินไปพร้อมกันเพราะเราต้องเข้าไปจับต้องสิ่งนี้ จับต้องขันธ์อันละเอียด จับต้องสิ่งที่ว่าเป็นธาตุ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มันเป็นสภาวะของเขา ถ้าจับต้องสิ่งนี้ได้มันถึงจะเป็นวิปัสสนา เห็นไหม จับต้องธาตุแล้ววิปัสสนา มันจะคืนสภาวะเดิมของเขา ถ้าคืนสภาวะเดิมของเขานั้นคือกำลังพอ ถ้ากำลังพอต้องเป็นไปตามสภาวธรรม สภาวธรรมที่ใจดวงนั้นเห็น มันจะปล่อยวางสิ่งนั้น ปล่อยวางสิ่งนั้นออกไป ถ้ามันไม่ปล่อยวาง มันปล่อยวางไม่ได้ มันปล่อยเฉยๆ แต่มันไม่มีสิ่งใดขาดออกไป ต้องซ้ำ ภาวนาซ้ำ ซ้ำอยู่ตรงนั้น หมั่นคราดหมั่นไถอยู่ที่ตรงนั้น ถ้าหมั่นคราดหมั่นไถขึ้นมา งานของเราเกิดขึ้น เราก็มีประสบการณ์

ถ้างานของเราไม่เกิดขึ้น พอภาวนาขึ้นไป คนภาวนาไม่มีงานทำ พอไม่มีงานทำ พยายามทำ มันเบื่อหน่าย ทำให้เบื่อหน่ายในการประพฤติปฏิบัติ แต่ถ้ามีงานทำ มีงานทำคือจับต้องสิ่งนี้ได้แล้วมีงานทำ จะมีความสนุกมาก มีการต่อสู้กันระหว่างกิเลสกับธรรมต่อสู้ในหัวใจของเรานะ ความเห็นผิด คือความเห็นของกิเลสขับเคลื่อนไปในหัวใจ วงรอบหนึ่งมันหมุนออกไป เราเผลอตามเขาไปมันก็หมุนไป แต่ถ้าเป็นธรรมขับเคลื่อน มันขับเคลื่อนขึ้นมา มันจะเป็นสภาวธรรม หมุนกลับเข้ามาพิจารณา หมุนกลับเข้ามาพิจารณาสิ่งนี้ว่ามันจะเป็นสภาวะสิ่งใด

ถ้าพิจารณานามธรรมมันก็พิจารณาเป็นนามรูป ถ้าพิจารณาธาตุเป็นธาตุ ๔ มันพิจารณาเป็นร่างกาย สิ่งที่เป็นร่างกายตั้งขึ้นมาแล้ววิปัสสนาไป เอาไฟเผา เอาสิ่งใดเผาขึ้นมา ให้มันคืนสภาวะเดิม จนเห็นบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า มันปล่อยวาง มันปล่อยวางนี่มันจะมีความสุขนะ

ความสุขจากการทำสมถกรรมฐาน ความว่างอย่างหนึ่ง ความสุขจากกิเลสที่มันโดนเราต่อสู้ ความสุขจากกิเลสที่โดนเราค้ำยันมันออกไป มันจะเป็นความสุขของเรานะ ความสุขในการประพฤติปฏิบัติมันมีเสริมเข้ามาในหัวใจของเรา ถ้ามีเสริมเข้ามาในหัวใจของเรา เราก็รับรู้ไว้ รับรู้ไว้ รับกับความสุขนั้นไว้

“ทุกข์ควรกำหนด” สุขเราไม่ต้องกำหนดมัน สุข มันก็มีความสุขของเรา แต่เราพยายามทำให้มันก้าวหน้าขึ้นไป ไม่ติดสุขไง เห็นไหม เวลาจิตมันเข้าสมาธิขึ้นไป มันมีความสุขของมัน มันก็ติดสุขของมัน มันเวิ้งว้างแล้วมันไม่อยากทำงานนะ มันติดสุข พอติดสุข เห็นไหม การออกใช้ปัญญาขึ้นมามันเหมือนกับเราต้องไปออกตากแดดตากฝนในการต่อสู้ประพฤติปฏิบัติ

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าจิตออกวิปัสสนา มันทำงานขนาดนั้นนะ ทำงานขนาดที่ว่ามันต้องต่อสู้ จนกว่ามันเหมือนกับไฟติดเชื้อ ถ้าเราจุดไฟติดเชื้อนี่มันจะเผาไหม้ไป นี่ก็เหมือนกัน ถ้าปัญญามันก้าวเดินแล้ว มันเหมือนไฟติดเชื้อ มันจะหมุนออกไป ถ้าปัญญามันไม่ก้าวเดิน เห็นไหม ไม่ก้าวเดิน มันไม่ติดเชื้อ มันจะไม่หมุนออกไป นั่นน่ะ มันติดสุข มันถึงต้องแก้ไข ต้องแก้ไขเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไปเวลาจิตมันเป็นอย่างนั้น เป็นสภาวะแบบใด เราก็แก้ไขของเราไป แก้ไขโดยเรา ครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำ

การประพฤติปฏิบัติเป็นการกระทำของเรา เราต้องแก้ไขของเรา แก้ไขให้เข้ามัชฌิมาปฏิปทา เข้ามาในความเป็นมรรคอริยสัจจัง ถ้าแก้ไขย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาทำวิปัสสนาของเรา วิปัสสนาของเราจนความเห็นของเราเต็มสมบูรณ์ เห็นไหม ธาตุเป็นธาตุ กายเป็นกาย ใจเป็นใจ แยกออกจากกัน การแยกออกจากกัน จากความเป็นจริง จากการวิปัสสนามันจะเวิ้งว้าง มันจะมีความสุขมหาศาล มีความสุข ติดอยู่ในความสุขได้ มีความสุขจนติดในความสุข สุขนี้มีความสุขมหาศาล นี่เราเข้าใจ

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไม่ได้ศึกษามา จะเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นความจริงไง คือสิ่งนี้เป็นธรรมโดยสมบูรณ์...มันไม่สมบูรณ์หรอก เพราะมันยังไม่ผ่านกามราคะ สิ่งที่ผ่านกามราคะ กามราคะมันอยู่ที่ใจ ใจนี้สกปรกโสโครกไปด้วยสิ่งโสโครกด้วยตัณหา ตัณหาความทะยานอยากด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง...ความโลภ ความโกรธ ความหลง บางคนประพฤติปฏิบัติเริ่มต้นประพฤติปฏิบัติก็ว่า “ฉันละโกรธได้ ละโกรธได้” ละโกรธได้ด้วยการข่มไว้ไง ถ้าละโกรธได้ด้วยตามความเป็นจริง มันจะต้องเข้าไปเห็นขันธ์อันละเอียด

ขันธ์อันละเอียดเป็นสิ่งที่เป็นต้นตอของโลภ ของโกรธ ของหลง นางตัณหา นางอรดี อยู่ตรงนี้ไง อยู่ตรงที่ว่าเราผ่านขันธ์อันอย่างหยาบๆ เข้าไปจนถึงขันธ์อันละเอียดที่ขันธ์อยู่กับใจ แล้วมันจะหลอกลวงใจให้อยู่เป็นขี้ข้าของมัน อยู่ในอำนาจของเขา แล้วก็อุ่นกินอยู่ในหัวใจนั้น เราไม่เข้าใจ เราก็หมุนเวียนออกไป มืดก็มืด ความทุกข์ก็มีความทุกข์ ความทุกข์ในการประพฤติปฏิบัตินะ ไม่ใช่ความทุกข์ในเรื่องของกิเลส เพราะกิเลสมันปล่อยวางมาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา

ถ้าพูดถึงความสุข เริ่มของพื้นฐานข้างล่าง มันมีความสุขอยู่ แต่กิเลสที่มันละเอียดกว่า มันหลอกด้วยชั้นเชิงที่เหนือกว่า แล้วเราก็ยังต่อสู้เขาไม่ได้ การต่อสู้นี่เป็นการงาน ถ้าการต่อสู้นี่เป็นการงาน การต่อสู้นี้เป็นงาน เป็นงานมันก็ต้องมีความทุกข์ยาก ต้องใช้พลังงาน นี่ความทุกข์มันเกิดเกิดตรงนี้ไง เกิดตรงที่เราต้องพยายามต่อสู้ ต้องพยายามฝืนกลับไม่ให้มันเป็นไปตามกระแสของความโลภ ความโกรธ ความหลง

ความโลภ ความโกรธ ความหลง มีอำนาจเหนือใจดวงนั้น มันชักลากให้ใจดวงนั้นเป็นไปตามอำนาจของมัน แล้วเราก็ต้องไปตามมันอยู่อย่างนั้น จนกว่าเราทำความสงบของใจขึ้นมา จนกว่าจะจับต้องได้ จนกว่าจะเริ่มมีความเอะใจว่า “มันมีสิ่งใดอยู่ในหัวใจหรือ มันถึงทำเราให้ใจเดือดร้อน เห็นไหม มันถึงย้อนกลับ ถ้าย้อนกลับขึ้นมามันจะจับต้องสิ่งนี้ได้ จับต้องสิ่งนี้ได้นี่เป็นอสุภะ ถ้าพิจารณาหยาบๆ เรื่องของกายนี้จะเป็นอสุภะ อสุภะเป็นเรื่องเกิดจากภายใน ถ้าพิจารณาจิตนี้เป็นกามราคะ

สิ่งที่เป็นกามราคะ เห็นไหม นี่ตัวกามราคะ ตัวกามราคะนี้มันให้โทษกับใคร? ให้โทษกับใจของเราเองนะ ไม่ได้ให้โทษกับใครหรอก มันให้โทษกับใจ เพราะมันข้ามสิ่งนี้ไม่ได้ไง ข้ามสิ่งนี้ไม่ได้มันมีอารมณ์อยู่ในหัวใจนั้น ความพอใจ ความอุ่นใจ ความเผาลนของใจเป็นอย่างนั้นไปตลอด แล้วเราก็แก้ไขของเราไม่เป็น นั่นน่ะ ล้มลุกคลุกคลานอยู่ตรงนั้น การต่อสู้ของใจมันต้องใช้พลังงานอันมหาศาล ล้มลุกคลุกคลานไปตลอด

ถ้ามีสติสัมปชัญญะขึ้นมา มันต่อสู้ขึ้นมา มันก็ได้เป็นครั้งเป็นคราว เป็นครั้งเป็นคราวเพราะว่าเรื่องของกิเลส เรื่องของน้ำป่า น้ำป่ามันไหลมาแรง แล้วเราทำฝาย แล้วฝายของเรามันกั้นไว้ไม่อยู่ ฝายของเราต้องทำลายไปตลอด น้ำป่านั้นพัดเอาฝายของเราพังทลาย พังทลาย ต่อสู้หนหนึ่งก็แพ้มาตลอดไง ความแพ้ออกมา มันก็ถอยออกมา แล้วก็ต่อสู้ใหม่ต้องมีความอดทน การต่อสู้เข้าไปใหม่ การทำความสงบของใจ แล้วตั้งฐานขึ้นมาให้ได้ ยกเข้าไปต่อสู้ใหม่ ต่อสู้กับความคิดของตัวนั้นน่ะ ความคิดของเราเป็นความเห็นผิด

ถ้าเราแยกออกไปจับขันธ์ได้ ถ้าความเห็นถูกมันคืออะไร เห็นไหม ขันธ์อันละเอียดสิ่งที่ ละเอียดมันแยบยลอยู่ในหัวใจ มันหลอกลวงให้เราเป็นไปอยู่ในอำนาจของคิดอันนั้น ความคิดเป็นเรา เราเป็นความคิด แยกขึ้นมา ขึ้นมา สร้างความคิดขึ้นมา สร้างความคิดใหม่ขึ้นมาก็เป็นความคิดของเขาอยู่อย่างนั้น จนกว่ากำลังเราพอ กำลังเราพอมันจะแยกสิ่งนี้ออกได้ มันจะปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอน ความปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอนอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ อยู่ที่ความตั้งใจของเรา อยู่ที่ความเห็นของเรา ที่ความเห็นของเราถูกต้องขึ้นมา มันจะปล่อยวาง

เพราะกิเลสมันกลัวอย่างเดียว คือกลัวธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิเลสมันกลัวสัจธรรมความจริงที่เราสะสมขึ้นมา ถ้าสัจธรรมความจริงของเราสะสมขึ้นมาแล้ว มันต้องมีอำนาจเหนือกิเลส มันต้องทำให้กิเลสหลบตัวลง ยุบยอบตัวลง กิเลสมันไม่ยอมแพ้ง่ายๆ มันจะยอมแพ้เพื่อจะให้เป็นแพ้ แพ้เพราะมันต้องตายไปจากใจ สิ่งที่ต้องตายไปจากใจ ชีวิตของใคร ใครก็ปรารถนา ใครก็รักษาใช่ไหม เพราะชีวิตของเรา

อันนี้เหมือนกัน ความเป็นไปของกิเลสที่มันอยู่ในหัวใจ ชีวิตนี้เกิดมาไม่มีต้นไม่มีปลายในบุพเพนิวาสานุสติญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาวไปอดีตชาตินี้ไม่มีที่สิ้นสุด ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ พุทธวิสัยยังสาวไม่มีที่สิ้นสุด แล้วสาวกะ สาวกผู้เดินตามอย่างเรามันไม่มีที่สิ้นสุด ใจมันหมุนเวียนมาไม่มีที่สิ้นสุดขนาดนั้น แล้วเราต่อสู้ของเราไป มันจะเอาความเห็นของเราจากไหนไปต่อสู้? มันก็ต้องเอาธรรม นั่นน่ะ กิเลสมันกลัวธรรม มันกลัวธรรมตรงนี้

กลัวธรรมที่ว่า ธรรมนี้สามารถรู้สภาวะตามความเป็นจริงทั้งหมด ธรรมนี้สามารถแก้ไขเรื่องสิ่งต่างๆ ได้ทั้งหมด นั่นน่ะกิเลสมันกลัวธรรม แต่ธรรมมันเกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เพราะธรรมของเราเป็นธรรมฝึกหัด มันไม่ใช่ธรรมอกุปปธรรมที่ธรรมที่ผู้สำเร็จธรรมแล้ว ผู้ที่เข้าถึงธรรมแล้ว ธรรมกับใจนั้นเป็นอันเดียวกัน แต่สภาวธรรมที่เกิดขึ้นมา สภาวธรรมคือสภาวะของการก้าวเดิน สภาวะของมรรค สภาวะของมรรคเกิดขึ้นมาเพราะเราสะสม เราสร้างขึ้นมา สภาวะของมรรคขึ้นมา แล้วสภาวะของมรรคใช้ไป

ความใช้ไปถ้ากิเลสมันต่อสู้ขึ้นมา มันก็ถอยออกมา แพ้ออกมา ถ้าชนะขึ้นไปมันก็เป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอนในการยันกันไว้ ในการสามารถเอาชนะกิเลสได้ จนถึงที่สุดกิเลสมันต้องพังทลายไป ขันธ์อันละเอียดกับใจนี้ต้องขาดออกจากกัน สิ่งที่ขาดออกจากกัน ใจนี้พ้นออกไป ใจนี้พ้นออกไป ไม่ใช่ขันธ์ จิตนี้ไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์นี้ไม่ใช่จิต จิตเป็นจิต ขันธ์เป็นขันธ์ เป็นส่วนอันละเอียดจากกิเลสจากภายในที่กิเลสมันหลอกใช้ กิเลสมันอาศัยขันธ์นี้ออกไปหาเหยื่อ

เราพยายามตัดรอนมันเข้าไป ย่นระยะทางมันเข้าไป จนจิตนี้ต้องเข้าไปอยู่ในอุโมงค์ของใจ ในอุโมงค์ของใจ ใจนั้นก็อุ่นๆ อยู่อย่างนั้น แล้วมันก็เวิ้งว้าง มันปล่อยวาง มันว่างหมด เห็นไหม ผู้ที่ไม่มีเรือน ผู้ที่พ้นออกจากเรือน เป็นอารามิกะ พ้นจากเรือนไปแล้ว ไม่เป็นผู้อยู่ในเรือนว่าง นี่อยู่อย่างนั้น ความสุข มีความสุขของเรามาก ความสุขในใจนี้มีมหาศาล แต่ความทุกข์อันละเอียดอยู่ลึกๆ ในหัวใจมันมองไม่เห็น สิ่งนี้จะมองไม่เห็นเลย ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ หรือคอยเฝ้าดูใจของเรา มันอยู่นานไปๆ มันจะเกิดความเศร้าหมอง ความผ่องใส

จิตจะเศร้าหมอง จิตจะผ่องใสอยู่ขนาดไหน นั้นมันคือตัวจิต ตัวจิตจะสว่างไสวขนาดไหน มันต้องเศร้าหมอง ความเศร้าหมอง ความสว่างไสวนั้นมันเอาความกังวลมาให้ใจ ความทุกข์อันละเอียดอยู่ในหัวใจ มันยิบแย็บๆ ในหัวใจ แต่เดิมเรามีความทุกข์ยากมาก เราแบกไว้เต็มไหล่เต็มบ่า เรายังต่อสู้มาได้ แล้วทำไมเรามาเจอสิ่งที่ความทุกข์อันละเอียดมันหลอก นี่มันหลอกนะ มันหลอกเอาจนเราหลงใหลแล้วหมุนออกไปข้างนอก หาสิ่งนี้ไม่เจอ ถ้าหาสิ่งนี้ไม่เจอมันก็ไปเกิดบนพรหม ถ้ามันตายไป ไปเกิดบนพรหมเพราะว่าไม่มีขันธ์ เป็นขันธ์ ๑ ขันธ์ที่เป็นขันธ์ ๕ นี้ขาดออกไปจากใจ ขันธ์อันละเอียดเข้ามาในหัวใจ มันเป็นขันธ์ ๑ ขันธ์ ๑ นี้ถ้าดับมันต้องไปเกิดบนพรหม ถ้าไปเกิดบนพรหมต้องไปทำที่นั่น ต่อที่นั่นแล้วจะต่อไปเลย

แต่ในการประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ตามรอยของธรรม” ถ้าตามรอยของธรรมให้ถึง สิ่งนี้ตอของจิตนี่ตัวที่จะตามรอย ตัวที่จะเข้าถึงธรรม ตามรอยของธรรมมันจะมีรอยให้ตาม ถึงธรรมแล้วธรรมนั้นจะไม่มีร่องมีรอย สิ่งที่ไม่มีร่องมีรอยเพราะใจนั้นเป็นธรรมล้วนๆ

นั่นน่ะ ย้อนกลับเข้ามาถ้ามีความสงสัย มีความระลึกรู้อยู่ ย้อนกลับเข้าไปจับจิตได้ ถ้าย้อนไปจับจิต สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่าจับต้องได้ยาก การประพฤติปฏิบัติ ในการประพฤติปฏิบัติ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานนี้ก้าวเดินคู่กัน การใช้ปัญญาก็เหมือนกัน ทำความสงบของใจขึ้นมา จับต้องกิเลส การขุดคุ้ยหากิเลสอย่างหนึ่ง ปัญญานะ ปัญญาในการขุดคุ้ยหาจำเลยอย่างหนึ่ง ปัญญาในการไต่สวนจำเลยนั้นอีกอย่างหนึ่ง

นี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราพยายามขุดคุ้ยขึ้นมาจนเห็นตัวจิตได้ นี่คืองานอย่างหนึ่ง งานอย่างนี้งานอย่างมหาศาล จับต้องสิ่งนี้ได้ พอจับต้องสิ่งนี้ได้ นั่นน่ะวิปัสสนาจะเกิดขึ้น แต่วิปัสสนาโดยญาณ มันละเอียดอ่อนเพราะมันไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์นี้มันเหมือนกับมือสองข้างเราจับกัน นี่ขันธ์กับจิตมันกระทบกัน แต่นี้ไม่มีขันธ์ไปกระทบกับสิ่งใด ไม่มีขันธ์จะเอาอะไรไปกระทบกับมัน มันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นตอของจิตอยู่อย่างนั้น นั่นน่ะใช้ญาณหยั่งรู้เข้าไปพิจารณา พิจารณาจนคว่ำขาดออกไป

ตามรอยของธรรมจนถึงธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาก็ก้าวเดินมาอย่างนี้ เห็นไหม วันนี้วันเกิดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วก็ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมก้าวเดินตามธรรม ก็จะตามรอยถึงธรรม ถ้าตามรอยถึงธรรมได้ ใจดวงนั้นถึงที่สุดเหมือนกัน ถึงที่สุด ธรรมมีอยู่โดยธรรมชาติดั้งเดิม แต่ต่อไปนี้มันไม่เป็นธรรมธรรมชาติ มันเป็นธรรมในดวงใจดวงนั้น ดวงใจดวงนั้นเข้าถึงธรรมเป็นธรรมล้วนๆ จะมีความสุขในหัวใจนั้น วิมุตติสุข สุขในดวงใจดวงนั้น

วิมุตติสุข สุขในดวงใจ ไม่ใช่สุขด้วยอาการของขันธ์ ไม่ใช่สุขด้วยเวทนา ไม่ใช่สุขด้วยความสุข มันเป็นความสุขเฉยๆ อยู่ในหัวใจนั้น ผู้ที่ตามรอยของธรรมพบเห็นเกิดจากการประพฤติปฏิบัติ เกิดจากการก้าวเดินตามของเรา เราก็พยายามจะเดินตามอย่างนั้น ถ้าเราเดินตามอย่างนั้นได้ นี่ลูกศิษย์มีครูไง

เวลาเราเวียนเทียนกัน เราเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี้เป็นที่พึ่งของเรา เราพยายามเวียนเทียนของเรา เพื่อพยายามสืบต่อศาสนา แล้วศาสนาที่เราพบพระพุทธศาสนา แล้วเราประพฤติปฏิบัติ ดวงใจของเราจะเข้าถึงธรรมได้ไหม ถ้าดวงใจของเราจะเข้าถึงธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติมา ๖ ปีนะ ๖ ปีทุกข์ยากมาขนาดไหนแสวงหามา ๖ ปี แล้วของเรา เราจะตั้งเป้าหมายของเราขนาดไหน ถ้าเราตั้งเป้าหมายของเรากี่ปีขึ้นมานี่ เราพยายามสร้างขึ้น สะสมของใจเราขึ้นมา แล้วเราทำของเราขึ้นไป

มันเป็นโอกาสของเรา ชีวิตนี้เกิดมาแล้วจะมีคุณค่า ลาภ ยศ สรรเสริญนั้นเอาไว้ต่างหาก มันเป็นเรื่องของโลกเขา ลาภ ยศ สรรเสริญนั้น โลกธรรม ๘ เวลามันให้โทษกับใจนะ เหมือนกับเสาเข็มทิ่มเข้าไปในหัวใจ มันเจ็บปวดมาก เวลาสรรเสริญมันมีความสุขขึ้นมาก็เล็กน้อย แค่เอาลมผ่านเข้าไปเฉยๆ เหมือนกับลมผ่านมาแล้วก็จบไป แต่เวลามันทุกข์ขึ้นมา มันเหมือนกับเสาเข็มทิ่มเข้าไปเลย สิ่งนั้นเป็นเรื่องของโลก แต่เรื่องของใจของเรา ถ้าก้าวตามรอยของธรรมทันแล้ว สิ่งนั้นจะเข้าถึงใจไม่ได้ ใจนี้เป็นใจ สิ่งนั้นเป็นเรื่องของขันธ์ สืบกันด้วยขันธ์ เห็นไหม

เวลาสืบต่อกัน เวลาใช้ความติดต่อกันด้วยขันธ์ ด้วยขันธ์นี้เพื่อสื่อความหมาย ขันธ์นี้เป็นสิ่งที่สื่อความหมาย สื่อความหมายมันไม่ใช่เรื่องของใจ เวลาจิตนี้สงบ ภาษาใจคือภาษารู้ ภาษารู้เฉยๆ ในรูปของใจ ใจรู้มันเอง เวลาเรามีความสุขความทุกข์ขึ้นมา เรามองหน้ากัน เราก็รู้แล้วว่ามีความสุขความทุกข์ไหม หัวใจมันจะบอกถึงความสุขความทุกข์ สายตามันจะบอกกัน ว่าสิ่งนี้เป็นความสุข สิ่งนี้เป็นความทุกข์ นั้นมันเป็นเรื่องของใจ ใจนี่มันรับรู้สิ่งนั้นได้ ถ้าใจรับรู้สิ่งนั้นได้ เราต้องประพฤติปฏิบัติถึงสิ่งนั้นได้เหมือนกัน

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติถึงสิ่งนั้นได้ มันเป็นผลงานของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะมีอำนาจวาสนา อำนาจวาสนาเกิดมาแล้วพบพระพุทธศาสนาไม่ให้เสียเปล่า ถ้าเกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้วปล่อยวางให้หลุดพ้นไปจากมือ เห็นไหม เกิดเปล่า ตายเปล่า

หลวงปู่ฝั้นบอกว่า “ลมหายใจทิ้งเปล่าๆ” เวลาลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนี่ทิ้งเปล่าๆ ลมหายใจเราไม่ให้หายใจทิ้งเปล่า อายุของเรากี่วัน กี่เดือน กี่ปี ลมหายใจวันละกี่หน ถ้ากำหนดพุทโธขึ้นมา กำหนดพุทโธหนหนึ่งมันก็เป็นสติสัมปชัญญะ ถ้ามีสติสัมปชัญญะ มีการระลึกรู้อยู่ นั้นระลึกรู้ตน ถ้าระลึกรู้ตน นี่หาตน พยายามค้นคว้าหาตน ตนเองเป็นหลักขึ้นมาได้ ถ้าตนเองเป็นหลักขึ้นมาไม่ได้ มันจะไม่มีความสามารถจะก้าวเดินไปไหนได้เลย ถึงว่าอำนาจวาสนาเกิดจากตรงนั้น

เราพบพระพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธศาสนาจะให้ค่ากับเรา ให้ค่ากับเรา หรือไม่ให้ค่ากับเราอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของเรา เหมือนอาหาร อาหารวางไว้ตรงหน้า ถ้าเราไม่เปิบเข้าปาก มันจะไม่ได้ประโยชน์กับเรา ถ้าอาหารอยู่ตรงหน้า เราเปิบเข้าปากเรา มันจะเป็นของเรา การประพฤติปฏิบัตินี้เหมือนกันเลย ผู้ใดลงแรง ผู้ใดประพฤติปฏิบัติ มรรคผลนิพพานนี้เป็นสมบัติของใจที่ประพฤติปฏิบัติ

มรรคผลนิพพานไม่สามารถซื้อขายได้ ไม่สามารถทำแทนกันได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้าทำแทนได้นะ นรกสวรรค์นี้ทำลายหมด ทำลายนรกไม่ให้เราไปตกนรกเลย มันเป็นไปไม่ได้ พระศรีอริยเมตไตรยก็ต้องมาตรัสรู้ธรรมอยู่อย่างนี้ วัฏวนมันเป็นโดยธรรมชาติของมันอยู่อย่างนี้ แล้วเราเกิดมาในวัฏวน มันเป็นวัฏวน มีทางพ้นทุกข์ได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติเท่านั้น มีความพ้นทุกข์ได้ด้วยการพยายามสร้างมัคคาขึ้นมาในหัวใจ มัคคา คือทางอันเอกของใจ ทางอันเอกที่จะก้าวพ้นออกไปจากทุกข์นี้

ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นความจริง ทุกข์นี้เป็นสิ่งที่ควรกำหนด กำหนดทุกข์นี้ได้ นี่มรรคเกิดตรงนี้ ถ้ากำหนดทุกข์ได้ วิปัสสนาได้ มรรคเกิด มรรคอริยสัจจังเกิดขึ้น นิโรธ ความดับ ตัณหาความทะยานอยากก็ออกไปจากใจ แล้วจิตนี้พ้นออกไปจากอริยสัจ ๔

อริยสัจนี้เป็นความจริง เป็นบัญญัติ บัญญัติขึ้นมาเป็นทางก้าวเดิน เป็นถนนหนทางที่ให้ใจนี้เดินไป ถ้าใจเดินตามไปบนถนนหนทางนั้น ต้องถึงเป้าหมายได้ แต่ใจเดินไปบนถนนหนทางนั้น มันตกถนนก่อน มันไม่เดินไปตามถนนนั้น ตกซ้าย ตกขวา ตามกิเลสมันผลักไส ตกซ้าย ตกขวาแล้วแต่เราจะติดสิ่งใด ประพฤติปฏิบัติไปเห็นสิ่งใดข้างทาง มีสิ่งที่น่าสนใจ แวะปลีกแวะไปสิ่งนั้นแล้ว ถ้าปลีกแวะไปสิ่งนั้นมันจะก้าวเดินไปถึงทางนั้นได้อย่างไร

นี่เหมือนกัน การประพฤติปฏิบัติ เวลาธรรมมันเกิดขึ้นในหัวใจ ความเห็นเกิดขึ้นมาในหัวใจ นั่นสิ่งที่มันเรียกร้องให้เราปลีกแวะแล้ว สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่อำนาจวาสนา แล้วแต่ของแต่ละบุคคล อำนาจวาสนาของแต่ละบุคคลสร้างสมมามันจะมีสิ่งที่ว่านิมิตเกิดขึ้นมา สิ่งที่เห็นต่างๆ เกิดขึ้นมา ถ้าอำนาจวาสนาไม่ได้สร้างขึ้นมา สิ่งนี้มันจะไม่เกิดกับใจดวงนั้นหรอก

ใจดวงนั้นปฏิบัติไปนะ สุกขวิปัสสโก เขาว่าสุกขวิปัสสโกสิ้นนี้สิ้นสุด สิ้นกิเลสโดยที่ไม่เห็นสิ่งใด ถ้าเตวิชโช ผู้ที่ว่าประพฤติปฏิบัติขึ้นไปแล้วมีวิชชา ๓ รู้สิ่งต่างๆ ความรู้นี้เกิดขึ้นมาจากจริตนิสัยของใจดวงนั้น แต่สุกขวิปัสสโกก็รู้สิ่งนั้นได้ สุกขวิปัสสโก ถ้ามีความสงสัยอยู่จะสิ้นจากกิเลสได้อย่างใด มันไม่สิ้นจากกิเลสเพราะว่ามันมีความสงสัย แล้วความสงสัยของใจมันต้องมีโดยพื้นฐาน

จิตนี้มาจากไหน เกิดแล้วเกิดมาจากไหน ตายแล้วตายไปไหน นี่มันเป็นสิ่งที่ซับซ้อนอยู่ในหัวใจ แล้วสิ่งที่วิปัสสนาเข้าไปมันจะปลดเปลื้องกับความลังเลสงสัย ความลังเลสงสัยของใจต้องปลดเปลื้องออกไปทั้งหมด สิ่งนี้เกิดขึ้นมา สุกขวิปัสสโกจะไม่รู้ได้อย่างไร ถ้าไม่รู้ก็ต้องสงสัยสิ นี่ไม่สงสัยในความเห็นของตัวเอง ไม่สงสัยในเรื่องของวัฏฏะ เพราะจิตนี้มันซักฟอกใจของมัน มันผ่านมาขนาดไหนมันก็ซับอยู่ที่ใจ

แล้วใจไปรื้อค้น รื้อค้นความเห็นของใจนี้ รื้อค้นสิ่งต่างๆ ที่หมักหมมอยู่ในหัวใจ รื้อค้นสิ่งนี้ขึ้นมาเพื่อมาเปิดเผย เปิดเผยกับความเห็นของใจดวงนั้น เปิดเผยกับความเป็นจริง เปิดเผยกับความรู้แจ้ง เห็นไหม มันมืดบอดในหัวใจ เปิดไฟขึ้นมามันสว่าง สว่างขึ้นมาเฉพาะหน้า เป็นปัจจุบันธรรมกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเห็นตามสภาวะตามความเป็นจริงกับความเห็นขึ้นมาด้วย ความรู้ต่างๆ เกิดขึ้นมาด้วย

ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ...ยถาภูตํ รู้ตามความเป็นจริงอันหนึ่ง ญาณหยั่งรู้เกิดขึ้นมาอย่าง รู้ว่าสิ้น รู้ว่ากิเลสออกไปจากใจ รู้ความสิ้นออกไป ขณะที่มรรคอริยสัจจังมันทำสมุจเฉทปหานกันในหัวใจ มันจะปล่อยวางออกไป นั้นน่ะรู้ตามความเป็นจริงอย่างหนึ่งแล้ว เพราะรู้เห็น รู้ว่าสิ่งใด คำตอบของการประพฤติปฏิบัติมันตอบขึ้นมาในหัวใจ นั้นคือมรรคอริยสัจจัง นั่นรู้ว่ากิเลสสิ้น แล้วรู้ตามความญาณหยั่งรู้ว่ารู้อีก เพราะจิตมันหลุดพ้นออกไปจากขันธ์ ออกไปจากกิเลสทั้งหมด มันปล่อยวางทั้งหมด นั่นน่ะรู้อีก

ความสุขอันนี้มันจะเกิดขึ้นในใจดวงนั้น ใจผู้ที่ประพฤติปฏิบัติสมควรแก่ธรรม แล้วจะตามรอยของธรรมทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอวัง