เป็นพุทธศาสน์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
มันข้อ ๗๑๓. ข้อ ๗๑๓. คำถามนี่มันถามว่าเขาฝึกหัดภาวนา เขาไปหาภาวนาตามวัดต่างๆ เสร็จแล้วเวลาเขาไปฟังธรรม ฟังธรรมแล้วมันขนลุกขนพอง นั่งน้ำตาไหล ฉะนั้น เขาถามว่า
ถาม : อาการแบบนี้เป็นอาการดีใจ ปลื้มใจในทางโลก แม้จะดีใจ ปลื้มใจขนาดไหน ทำไมโยมไม่เคยเกิดอาการแบบนี้ เกิดอาการแบบว่าเวลาฟังธรรมแล้ว เวลามันเกิดปีติ น้ำตาไหล (เขาว่า) มีน้ำตาไหลนะ แต่ไม่ได้ไหลแบบเสียใจ น้ำตาไหลแต่ยิ้มพร้อมกับน้ำตาไหล ปากยิ้มแต่น้ำตาไหล แล้วมีความสุขมาก แล้วสุขอย่างนี้มันเป็นแบบใด นี่คืออาการแบบใด แล้วทำไมเวลาเขามีความสุขในทางโลกไม่มีอาการขนาดนี้
หลวงพ่อ : นี่อันนี้มันก็เหมือนกับที่เราประพฤติปฏิบัติกันอยู่นี่ไง ถ้าเราประพฤติปฏิบัติกันอยู่นี้ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา เห็นไหม ถ้าจิตสงบใช้ปัญญาแล้วนี่ปัญญามันจะเกิดการสำรอก การชำระล้าง แต่ถ้าเราใช้ปัญญา ในปัจจุบันเราว่าเราใช้ปัญญากันอยู่ ปัญญานี่ปัญญาโดยสามัญสำนึกมันไม่ถึงไง มันเหมือนมีกำแพงกั้น มันเหมือนกับมันคนละมิติว่าอย่างนั้นเลยนะ พูดถึงถ้ามันเป็นความจริงมันลงในเชิงลึกมาก ในเชิงลึกมากมันก็เหมือนกับซาบซึ้งมาก น้ำหูน้ำตาไหล อันนี้อันหนึ่ง
อันนี้ที่ว่าเวลาเราดีใจทางโลกทำไมไม่มีอาการแบบนี้ล่ะ? นั่นดีใจทางโลกไง ทางโลกก็เหมือนพ่อแม่ให้รางวัลลูก ลูกก็ดีใจๆ มันก็ธรรมดา ดูสิพ่อแม่นะ เวลาลูกเดินทางไกลมา แล้วเอาของมาฝากพ่อแม่ พ่อแม่ก็ดีใจแล้วมีความปลื้มใจมาก ความปลื้มใจ อย่างถ้าคนอื่นให้ก็คนอื่นให้นะ แต่ถ้าลูกให้นี่พ่อแม่ปลื้มใจว่าลูกคิดถึงไง ลูกคิดถึง ลูกดูแล นี่มันความสัมพันธ์ มันเป็นเรื่องความสัมพันธ์
นี้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่นะ นี้ความสัมพันธ์ของจิต ถ้าจิตมันมีสมาธิ จิตมันมีความสงบของมัน เวลามันเกิดปีติขึ้นมานี่มันจะสะเทือนถึงขั้วหัวใจ ถ้าสะเทือนถึงขั้วหัวใจ เห็นไหม สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมา นี่ความสุขที่ไม่เกิดจากอามิส ทางโลกนี่ ความสุขสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาเขาต้องมีเหตุ มีปัจจัย เหตุสุขเพราะอะไร? ได้สิ่งใดมา? ได้คำชมเชยสิ่งใดมา? ได้การยกยอมาจากใคร? นี่มันจะมีความสุขของมัน แต่เวลาจิตมันสงบขึ้นไปมันไม่มีใครเยินยอมา ไม่ได้รับรางวัลของใครมา แต่จิตมันเป็นเอง พอจิตมันเป็นเอง นี่ปลื้มใจ น้ำตาไหล ขนพองสยองเกล้า
ทีนี้ทางโลกเขาคิดกันว่าคนนั้นน้ำตาไหล เห็นไหม เขาว่าพระอรหันต์ร้องไห้ไม่ได้ พระอรหันต์ร้องไห้ไม่ได้ คำว่าโลกนี่เวลาร้องไห้ ร้องไห้คือความทุกข์ ความเสียใจ แต่เวลาพระอรหันต์ท่านปลงธรรมสังเวชมันสะเทือน นี่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าธาตุขันธ์มันทำงาน เวลาเราอยู่ปกติของเรา เวลาขนลุก ตอนนี้ทางวิทยาศาสตร์เขาพยายามพิสูจน์กันอยู่นะ ว่าขนลุกนี่เป็นเพราะเหตุใด? ขนลุกมันเป็นอาการอย่างใด?
นี่ขนลุกนะ ขนลุกเพราะประสาทมันสั่งงาน เวลาหัวใจมันสะเทือนแล้วประสาทมันสั่งงาน ประสาทสั่งงานนี่ขนลุกหมดเลย คำว่าขนลุกนะ แล้วเวลาตัวพอง ตัวใหญ่ อันนี้มันเป็นผลของใจ ปีติมันเป็นผลของใจ ผลของใจ นี่ใจที่มันอยู่ในร่างกายนี้ เวลาใจมันทำงานปั๊บ มันมีการเคลื่อนไหวปั๊บ ร่างกายมันจะตอบสนอง พอร่างกายตอบสนอง เห็นไหม นี่น้ำหู น้ำตาก็ไหลแต่มันไม่ใช่ไหลเพราะความเสียใจ ไหลเพราะความดีใจ ไหลเพราะความสะเทือนใจ
ฉะนั้น เวลาอาการทางโลก จะเอาทางโลกมาเปรียบทางธรรมไม่ได้ แต่ในปัจจุบันนี้เราเอาโลกเป็นใหญ่ไง อย่างเช่นในการปฏิบัติ เราฟังแล้วมันขัดหูจริงๆ นะ เวลาปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ชีวิตประจำวันมันมีค่ามากขนาดนั้นหรือ? เอ็งจะไม่ตายใช่ไหม? จะอยู่ประจำวันอย่างนี้ไปใช่ไหม? แล้วธรรมะนี่มาส่งเสริมชีวิตประจำวันนี้หรือ?
เออ ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ธรรมมันสูงส่งกว่านี้มากนะ ทีนี้พอปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันปั๊บเราก็เอาตัวตนเราเป็นใหญ่ เอาชีวิตเราเป็นใหญ่ เอาเราเป็นที่ตั้ง เอากิเลสเป็นที่ตั้ง เอาโลกเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เอาธรรมเป็นที่ตั้ง แต่ถ้าเอาธรรมเป็นที่ตั้ง เห็นไหม เราจะปฏิบัติเพื่อธรรม นี่เราจะปฏิบัติเพื่อธรรม เราละบ้านละเรือนมา เราวางงานของเรามา เราละทุกอย่างของเรามา แล้วเรามาปฏิบัติธรรมเพื่อธรรม ถ้าปฏิบัติธรรมเพื่อธรรม มันก็จะเป็นความจริงขึ้นมา
แต่นี่จะปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันมันเอาโลกเป็นใหญ่ ในปัจจุบันนี้เขาว่าปัญญาๆ คนเราศึกษาแล้วมันต้องมีปัญญา ชำระกิเลสด้วยปัญญา ก็เลยศึกษาธรรมะกันใหญ่เลย ศึกษามาก็เหมือนเราศึกษาทางวิชาการมา นี่เรียนจบมาแล้วมีงานทำไหมล่ะ? เรียนจบมาแล้วยังต้องหางานทำนะ พอหางานทำขึ้นมานี่เขาทดลองงานก่อน เขายังไม่รับหรอก ต้องทดลองงานก่อน ๖ เดือน กี่เดือนต้องทดลองทำงานไปถึงจะรับเข้ามา พอทำเป็นแล้วเขาถึงยอมรับเข้ามา นี่ไงเรียนจบแล้วยังต้องไปฝึกงาน
ในการศึกษาก็เหมือนกัน ศึกษาธรรมะศึกษามาบอกว่าเข้าใจแล้ว นี่มีปัญญามาก มีปัญญาของเรา แล้วปัญญาของเรา ปฏิบัติไปแล้วมันจะเกิดปัญญาไปข้างหน้า แต่ในครูบาอาจารย์ของเรานะ เวลาจิตพยายามทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบแล้ว พอใจมันสงบ หรือใจมันมีการเปลี่ยนแปลง มันเกิดอาการแบบที่ถามมานี่แหละ แบบที่ถามมานี่เราตื่นเต้น เพราะเรารู้เห็นเป็นครั้งแรก แต่ครูบาอาจารย์ของเราผ่านอย่างนี้มาเกือบทั้งนั้นเลย
คำว่าเกือบทั้งนั้นนะ เพราะบางองค์ไม่มีสิ่งนี้ก็ได้ มันเรียบๆ ไป คำว่าเรียบๆ ไปก็มี แต่ส่วนใหญ่แล้วมีอย่างนี้เพราะมันเป็นพื้นฐาน พื้นฐานว่าวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ มันเป็นองค์ประกอบของสมาธิ เริ่มต้นวิตก วิจาร พุทโธ พุทโธนี่วิตก วิจาร เขาบอกไม่ต้องทำสิ่งใดเลย สมาธิมันจะเกิดเอง สมาธิจะเกิดขึ้นมา มันเป็นไปได้อย่างไร? เราไม่ทำงานเลย มีคนมาให้รางวัลเรามันเป็นไปได้อย่างไร?
เราทำงานขึ้นมาแล้ว เขาจะให้รางวัลเรามา หรือว่าทำงานประสบความสำเร็จมันอีกเรื่องหนึ่ง ทำงานแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็อีกเรื่องหนึ่ง ทำงานแล้ว งานนั้นใช้ไม่ได้ งานนั้นเขาไม่ยอมรับ พุทโธ พุทโธหรือเราวิตก วิจารไง พุทโธ พุทโธคือวิตก วิจาร วิตก วิจารจนกล่มกลอมแล้วก็เกิดปีติ พอเกิดปีติแล้วมันจะเกิดความสุข พอเกิดความสุข ทุกอย่างมันสมดุลแล้วมันก็เป็นเอกัคคตารมณ์ จิตมันก็ตั้งมั่น นี่องค์ของสมาธิ
ถ้าองค์ของสมาธิ ถ้ามันเข้าสมาธิได้ เห็นไหม พอมันเข้าสมาธิแล้ว นี่เข้าสมาธิคืออะไร? คือจิต เห็นไหม ดูสิดอกไม้มันบานออก ก่อนที่ดอกไม้มันบานออก ดอกไม้มันเป็นดอกตูมก่อนหรือเปล่า พอดอกตูมแล้วมันบานออกใช่ไหม? ทีนี้พอบานออก มันก็เหมือนความคิดเรามันกระจายออก เราพุทโธ พุทโธนี่เราให้ดอกไม้กลับมาตูมอย่างเก่า จิตตั้งมั่น จิตมันหดตัวเข้ามาๆ ดอกไม้มันทำไม่ได้ พอมันบานแล้วมันก็จะร่วงโรยไปเท่านั้นแหละ แต่จิตมันทำได้
จิตของเรานี้ทำได้ พุทโธ พุทโธ เห็นไหม จากที่จิตมันส่งออก คือดอกไม้มันบานอยู่ เราหดเข้ามาๆ ให้มันเข้าไปสู่ตัวมันเอง พอเข้าสู่ตัวมันเองมันก็มหัศจรรย์แล้ว พอมหัศจรรย์แล้ว เราพร้อมมหัศจรรย์ จิตมันตั้งมั่นแล้วเราหัดฝึก ดอกไม้เวลามันบานออกไปแล้วมันก็แบบว่าจะร่วงไป จะเฉาไป เพราะอายุมันมีเท่านั้นเอง แต่จิตของเรามันไม่เป็นอย่างนั้น
จิตของเรา เห็นไหม จิตนี้ไม่มีกาล ไม่มีเวลานะ มนุษย์เรานี่มีกาลเวลา ๑๐๐ ปี ๑๐๐ กว่าปี ๘๐ ปีตาย นี่มีอายุขัย จิตมันไม่มีอายุขัย พอจิตไม่มีอายุขัยนี่มันอยู่ในสถานะอะไร? ถ้ามันอยู่เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมก็อย่างหนึ่ง ไปอยู่เป็นมนุษย์ก็อย่างหนึ่ง นรกอเวจีก็อย่างหนึ่ง ทีนี้มาอยู่เป็นมนุษย์ มนุษย์มีร่างกายและจิตใจ พอมีร่างกายและจิตใจแล้ว นี่ทางโลกมันเจริญใช่ไหม? ก็มีการศึกษาๆ พอศึกษามาเราว่าเราเข้าใจ เราว่าเรารู้
นี่ว่ารู้ธรรมกัน แล้วก็สบประมาทซะด้วยนะ บอกว่าพระกรรมฐานหลับหู หลับตามันจะรู้อะไร? มันรู้ เหมือนคนเรียนจบมาต้องฝึกงาน รู้แบบคนฝึกงาน คนทำงาน คนเติบโตมาในครอบครัวนั้นเลย ครอบครัวนั้นครอบครัวการทำงานขึ้นมา เห็นไหม เราปฏิบัติของเรา ถ้าจิตมันสงบ นี่ในตำราก็บอกสติ สมาธิ เวลาเราทำขึ้นมา เขาเรียนมาต่างๆ เขาก็เรียนมาเรื่องนี้ เรียนมาก็เพื่อมรรคผล แล้วมรรคผลมันเป็นอย่างไร?
แต่ที่เราทำขึ้นมานี่เราทำเนื้อหาสาระขึ้นมา พอทำเนื้อหาสาระ ก็บอกว่านี่ถ้าไม่เรียนเลย ปฏิบัติไปมันไม่มีปัญญา จะชำระกิเลสไม่ได้ จะเกิดความลังเลสงสัย ยิ่งเรียนยิ่งสงสัยมาก ยิ่งเรียนยิ่งมีปัญหามาก เรียน เรียนมาเพื่อเป็นความรู้ทางโลกปริยัตินะ แต่ถ้าปฏิบัติขึ้นมา เวลาจะปฏิบัติ การศึกษา การเรียนมามันทำให้เกิดความสงสัย ให้วางไว้ก่อน ให้วางไว้ก่อนแล้วปฏิบัติขึ้นมาตามความเป็นจริง แล้วเรามานั่งทบทวนนะ นั่งทบทวน เพราะเรียนมานี่เป็นทางวิชาการใช่ไหม? แต่พอเราปฏิบัติมันได้ผลขึ้นมา เราจะมีมุมมองของเรา
มีมุมมองนะ ดูสิเวลาผู้ที่เขาไปทำงาน เห็นไหม แล้วเขาเอาสิ่งนั้นเป็นพื้นฐาน แล้วเขาต่อยอดของเขาไป เขามีปัญญาของเขา เขาต่อยอดทางธุรกิจของเขา เขาสร้างเครื่องยนต์กลไกของเขาที่ดีขึ้นไป ดีขึ้นไปจากไหนล่ะ? เราบอกพื้นฐานเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแต่ละองค์เขาจะมีประสบการณ์ของเขา ทีนี้มีประสบการณ์ของเขา นี่ไงนี่เป็นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านจะสอนเรา ท่านจะรู้ เพราะท่านรู้จริงของท่าน ถ้ารู้จริงของท่านมันเป็นความจริง พอเป็นความจริงขึ้นมา
นี่ถ้ามาบอกว่าปัญญาๆ เราพยายามพูดเน้นย้ำตรงนี้มาก เน้นย้ำว่าปัญญาที่เป็นปัญญาทางโลกๆ นี่นะ ปัญญาที่เราตรึกกันอยู่นี้ ผลตอบสนองหรือผลของมัน สูงสุดคือปัญญาอบรมสมาธิ สูงสุดของมันเพราะอะไร? เพราะมันเป็นข้อเท็จจริงของมันอย่างนั้น เพราะปัญญานี่มันเหมือนดอกไม้มันบานอยู่ แล้วเวลาเราทำเต็มที่แล้ว ดอกไม้เราเด็ดกลีบมันออกหมดมันจะเหลืออะไร? มันก็เหลือแต่ขั้วมันนั่นล่ะ ขั้วดอกไม้นั่นล่ะ
นี่ถ้าปัญญามันส่งออก มันส่งออกอย่างนั้น นี่ปัญญาทางโลกมันเป็นอย่างนั้น ถ้าเวลามันเด็ดกลีบออก มันออกเพราะความไม่เข้าใจของมัน ใช้ปัญญาๆ นี่มันเด็ดกลีบออกหมดเลย เด็กดอกไม้ออกหมดเลย ก็เหลือแต่ขั้วมัน เหลือแต่ขั้วมัน เห็นไหม นี่ปัญญามันสูงสุดมันได้แค่นั้น ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ แต่ถ้ามันเป็นสมาธิแล้ว แล้วเกิดมาออกใช้ปัญญานะ มันจะเกิดอาการแบบที่ถามมานี่แหละ
อาการที่ถามมาเพราะมันมีอาการแบบนี้ แล้วถ้าอาการแบบนี้ไปหาหมอนะ หมอเขาบอกมันเป็นเพราะว่าประสาทมันทำงาน มันเป็นสมองส่วนนั้น เพราะอาการของกายมันก็เป็นแบบนั้น เพราะว่าถ้าหมอเขาคิดไปเขาก็ต้องคิดสู่ทางวิทยาศาสตร์ ถ้าเขาจะพูดไปนะ หมอบางคนปฏิบัติ หรือนักวิชาการบางคนปฏิบัติ พอไปรู้เรื่องของโลกวิญญาณนี่ไม่ค่อยกล้าพูด ถ้ากล้าพูดไปเขาก็จะบอกว่าเป็นหมอติ๊งต๊อง เป็นนักวิทยาศาสตร์ติ๊งต๊อง นี่มันไม่ค่อยกล้าพูด
แต่ถ้าเป็นคนจริงนะ มันพิสูจน์ได้ ถ้ารู้จริงขึ้นมาแล้ว จะไปนั่งบนกองไฟที่ไหนมันก็พูดความจริง จะไปอยู่ในที่อับ ที่ชื้นอย่างไรมันก็พูดความจริง ถ้ามีความจริงในหัวใจพูดได้ทั้งนั้นแหละ เพียงแต่จะพูดหรือไม่พูด
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าในทางโลกมันจะเป็นอย่างนั้น ฉะนั้น ถ้าเราคาบเกี่ยว ในปัจจุบันนี้สังคมมันคาบเกี่ยวอยู่ คาบเกี่ยวว่าอาการอย่างนี้มันเป็นอย่างไร ต้องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ทีนี้พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ใช่ไหม? พิสูจน์ว่ามันคืออะไร? แล้วเหตุผลมันเป็นอย่างไร? คือเหมือนว่าไปยืนในที่แจ้ง ถ้าเราคุยกันบนที่สว่าง คุยกันบนที่แจ้งมันพิสูจน์มาเพื่อให้รู้ให้เห็นกัน
ฉะนั้น ให้รู้ให้เห็นกัน อันนั้นมันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องทางโลก แต่ถ้ามันเป็นทางธรรมล่ะ? ทางธรรมนี่มันมีข้อแม้ มันมีข้อแม้ว่าจิตใจของคนมันไม่เหมือนกัน ถ้าจิตใจของคนไม่เหมือนกัน จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน เห็นไหม บางคนพุทโธ พุทโธ นี่พุทโธได้นะ พุทโธสงบได้ แต่บางคนพุทโธอย่างไรก็พุทโธไม่ได้ แล้วพุทโธนี่เครียดมาก พุทโธทำให้ตัวเองอึดอัดมาก ถ้าอึดอัดมากปั๊บมันก็เปลี่ยนเป็นปัญญาอบรมสมาธิซะ
ถ้าเปลี่ยนเป็นปัญญาอบรมสมาธิ นี่เปลี่ยนเป็นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสตินะ ระลึกถึงความตาย บางคนใช้ความกลัว เห็นไหม นี่ใช้เวทนา ใช้ความกลัว กลัวในสิ่งใด ถ้ากลัวให้ไปเที่ยวป่าช้า ให้ไปดูซากศพ นี่เทคนิคของมันมี ทีนี้จริตของคนไม่เหมือนกัน มันเหมือนสินค้านี่แหละ สินค้าถ้ามีชิ้นเดียวขายในโลกนี้ สินค้านั้นขายไม่ได้ แม้แต่สินค้าชนิดเดียวกัน ขายในภูมิภาคแตกต่างกัน เขายังต้องคำนวณถึงว่าสินค้านั้นต้องมีกรณีพิเศษของเขา
จิตใจของคนมันไม่เหมือนกัน ถ้าจิตใจของคนไม่เหมือนกัน เห็นไหม ถ้าบอกว่าต้องมีทางเดียว ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า กรรมฐาน ๔๐ ห้องล่ะ? การทำความสงบของใจมีถึง ๔๐ วิธีการ ๔๐ วิธีการเพราะให้ตรงกับจริตของตัวไง ให้ตรงกับจริตของตัว เห็นไหม ดูสิชาวเขานะ ชาวเขาเขาอยู่บนเขา เราธุดงค์ใหม่ๆ ฝังใจมาก เราธุดงค์ขึ้นไปทางเหนือนะ แล้วพวกชนภูเขา พวกชนกลุ่มนั้นเขาพูดอย่างไรรู้ไหม?
เขาบอกว่า ถ้าเขารวยขึ้นมานี่นะ เขาจะกินน้ำผึ้งกับปลาทูทุกวันเลย
ปลาทูนี่ ถ้ารวยขึ้นมานะ เขามีฐานะขึ้นมานะ จะกินน้ำผึ้งกับปลาทูทุกวันเลย เพราะชาวเขานะ พวกสัตว์น้ำมันไม่มีไง สิ่งที่ชาวเขา อาหารที่เลิศที่สุดของเขาคือน้ำผึ้งกับปลาทู เขาบอกถ้าเขารวยขึ้นมานะ เขามีตังค์ขึ้นมานะ เขาเป็นคนร่ำรวยนะเขาจะกินปลาทูกับน้ำผึ้งทุกวันเลย (หัวเราะ)
นี่ไง นี่พูดถึงภูเขาใช่ไหม? แล้วถ้าเราอยู่ชายทะเลล่ะ? ปลาทูนี่นะเราหาได้ทุกวันเลย ปลาทูมีเกลื่อนไปหมดเลย แล้วปลาทูค่ามันก็ต่างกัน เห็นไหม เราบอกว่าแม้แต่ภูมิภาค แม้แต่ชนเผ่าเขาอยู่บนภูเขา เขาอยากกินปลาทู เขาอยากกินอาหารทะเล มันไปถึงได้ยากมาก แต่ในปัจจุบันนี้การคมนาคมมันสะดวก มันไปได้หมดแหละ สมัยก่อนมันเดินด้วยเท้าทั้งนั้นนะ ภูเขา ๕ ลูก ๑๐ ลูกเราต้องเดินไปทั้งนั้น ส่งของขึ้นไปมันก็มีแต่พวกลา พวกล่อขึ้นไป ไม่มีคนขึ้นไปหรอก
ฉะนั้น สิ่งนี้นี่โดยข้อเท็จจริง ฉะนั้น บอกว่าถ้าจะพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ การตอบธรรมะ นี่ธรรมมันเหนือโลก แล้วถ้าเอาโลกเป็นใหญ่ เราคุยกันทางวิทยาศาสตร์ เราบอกว่าเวลาแสดงธรรมนี่แสดงเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะแสดงธรรมให้พวกเราเข้าใจได้ แต่วิทยาศาสตร์มันเป็นทฤษฎี มันเป็นกฎตายตัว แต่ธรรมะมันเกี่ยวกับเรื่องกรรม เรื่องเวร เรื่องจริต เรื่องนิสัย เรื่องความเป็นไป
ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ที่ท่านภาวนาเป็นท่านจะดูจริตนิสัย อ้าว ให้ลองทำอย่างนี้ดู ถ้าอย่างนี้ทำได้ทำไป แล้วถ้ามันมีเหตุขัดข้อง มันมีเหตุอย่างไรท่านจะหาอุบายพลิกแพลงไป แม้แต่ทำสมาธิเราต้องทำอย่างนี้ เคยทำอย่างนี้เคยได้ ทำต่อไปได้ไหม? นี่ทำต่อไปไม่ได้เพราะอะไร? ทำต่อไปไม่ได้เพราะว่ากิเลสมันรู้ทันแล้ว
กิเลสนี่นะคือพญามาร พญามารมันยึดครองหัวใจของเราเป็นที่อาศัย แล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เราจะเอาหัวใจของเราพ้นจากพญามาร แล้วถ้าเราจะเอาหัวใจพ้นจากพญามาร เราทำสิ่งใด พญามารมันจะปล่อยให้เราทำสะดวกสบายไหม? ฉะนั้น ถ้าเราเคยทำสมาธิได้ พญามารมันเสียท่าเราไปหนหนึ่ง ถ้าหนหน้ามานะมันจะเข้มแข็งกว่า มันจะต่อรองกว่า ให้เราจับพลัดจับผลูหาทางเข้าทางนั้นไม่ได้ เหมือนทางเคยเดินนี่แหละ แต่เดินไปแล้วหลงทาง
นี่พญามารมันจะทำอย่างนั้น ถ้าทำอย่างนั้นปั๊บ ครูบาอาจารย์จะบอกเลย เห็นไหม เช่นหลวงปู่มั่นนะ เวลาลูกศิษย์ของท่าน ท่านบอกว่าให้ไปอยู่ป่าช้านั้น ให้ไปอยู่ป่าเขานั้นมันมีเสือ ให้ไปอยู่ที่นั้น พอไปอยู่ที่นั้นปั๊บ พอไปอยู่ที่สงบสงัด ที่อันตราย พญามารมันต้องไปด้วย เพราะพญามารมันอยู่กับใจเรา พอเราจะไป นี่พอพญามารไปด้วยพญามารมันกลัว พอพญามารมันกลัวเราก็มีโอกาสขึ้น เห็นไหม
เรามีโอกาสขึ้น เพราะถ้าเราอยู่ในที่เราอุ่นใจพญามารมันขี่หัวเลยนะ มันขี่คอเรา นี่ยอมจำนนตลอด พอเราไปที่สงบสงัด ไปที่ป่าช้า ไปที่กลัวผี อ้าว ทำไมมารมันกลัวผีล่ะ? ทำไมมารมันกลัวผี? พอมันกลัวขึ้นไปปั๊บมันก็ไม่คิดแส่ส่าย นี่มันจะทำความสงบได้ง่ายขึ้น มันใช้ปัญญาได้ง่ายขึ้น นี้คือเทคนิคและอุบายของครูบาอาจารย์ของเรา ใช้สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับเรา
นี่เราอยู่โดยปกติ เราจะไปบอกว่าเราทำอะไรก็ได้หมดเลย แต่ถ้าเราไปอยู่ในป่าช้าเราจะกลัวจนตัวสั่นหมดเลย อาศัยสิ่งนั้นกลับมาเป็น เป็นประโยชน์กับการภาวนา ไปอยู่ป่ามีเสือ มีสาง เสือมันจะมาขบมากัดเรานี่มันกลัว พอมันกลัวมันก็ไม่แตกฟุ้งกระจายออกไป มันก็หาที่พึ่ง แล้วหาที่พึ่งคืออะไรล่ะ? ก็ต้องหาที่พึ่ง หาธรรมเป็นที่พึ่ง พอหาที่พึ่งก็กลับมาพุทโธ พุทโธมันก็สงบลงมา
นี้ถ้าปฏิบัติอย่างนี้เขาจะเอาธรรมเป็นใหญ่ ถ้าเอาธรรมเป็นใหญ่นะ เราปฏิบัติเพื่อธรรม เห็นไหม แต่ถ้าเราเอาโลกเป็นใหญ่ ทุกอย่างต้องเป็นวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างต้องเป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์มันเป็นสื่อ เราจะสื่อธรรมะกันเป็นวิทยาศาสตร์ แต่เวลาปฏิบัติกันนะ พุทธศาสน์มันเข้มข้นว่าวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์ เห็นไหม ทฤษฎีหนึ่งกับทฤษฎีหนึ่งที่ขัดแย้งกัน มันจะมาใช้ร่วมกันไม่ได้ ทฤษฎีแต่ละทฤษฎีมันจะขัดแย้งกัน มันจะใช้ร่วมกันไม่ได้ แต่ถ้าเป็นพุทธศาสน์ล่ะ?
พุทธศาสน์ เห็นไหม ใช้ทฤษฎี ใช้วิธีการอย่างนี้ กิเลสมันก็หลบไปทางนี้ แล้วเราก็ต้อนอย่างนี้ คือในทางโลก ทางวิทยาศาสตร์เขาจะบอกว่า ๙๙.๙๙ เขาไม่กล้าพูดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าใน ๑ เปอร์เซ็นต์นั้นนะ เวลาจิตเราสงบมันสงบเต็มที่เลย เวลามันเสื่อมนะ เวลามันฟุ้งซ่าน มันบานออกไปเหมือนดอกเห็ดเลย เหมือนระเบิดปรมาณูเวลามันระเบิด ตูม! เป็นดอกเห็ด คนตายหมดเลย
จิตเสื่อมก็เหมือนกัน เวลาจิตมันเสื่อม เวลาจิตมันลงสมาธิมันหดเข้ามาหมดเลย แล้วเวลามันบานออกล่ะ? นี่แล้วเวลามันทำไม่ได้ล่ะ? นี่ไงพุทธศาสน์ เห็นไหม มันถึงบอกว่าต้องเข้าหมด ต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ล้านเปอร์เซ็นต์ มันจะไม่มีสิ่งใดเลย ต้องสะอาดบริสุทธิ์เต็มที่ ว่าอย่างนั้นเลย
ฉะนั้น วิทยาศาสตร์ เห็นไหม วิทยาศาสตร์ หรือตัวตน หรือตัวจิต เวลาเข้ามาถึงที่สุดแล้วมันมีเรา หลวงตาบอกว่า เวลามันว่างข้างนอก เราเห็นนี่ว่างหมดเลย ทุกอย่างนี้ว่างหมดเลย ว่างข้างนอกแต่ข้างในไม่ว่าง คือว่างตัวเรา
วิทยาศาสตร์มันเป็นแบบนี้ มันต้องมีเจ้าของสถิติ เจ้าของผู้รู้มันถึงรู้วิทยาศาสตร์ได้ เพราะตัวเรา ตัวเจ้าของ ตัวตนนี่แหละเป็นผู้ที่กำหนด แล้วถ้ามันกำหนดจากเราไป เห็นไหม โลกหมดเลย นี่วิทยาศาสตร์เป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเวลาเป็นธรรมจักร เวลามันเป็นพุทธศาสน์มันมีตัวตนไหมล่ะ? ถ้ามีตัวตนนะ เห็นไหม หลวงตาบอกว่า
บ้านนี่ร้าง บ้านร้าง แต่มันบอกว่าว่างหมดเลย ไม่ใช่หรอก เรายืนขวางอยู่นั่น
เรายืนขวางอยู่นั่น นี่ธรรมะเป็นแบบนั้น นี่มันว่างหมด ไม่มีสิ่งใดเลย ว่างหมดเลย แล้วเราล่ะ? แล้วทำลายตัวเราอย่างไร? ทำลายตัวตนนี้อย่างไร? ถ้าทำลายตัวตน นี่มันเหนือวิทยาศาสตร์ตรงนี้ไง มันเหนือทุกๆ อย่าง นี่เพราะคำถามอย่างนี้ วันนี้ตอบอย่างนี้เพราะว่าเมื่อวานก็ตอบส้มหล่นก็คล้ายๆ กันนี่แหละ ส้มหล่นก็มีความรู้สึกอย่างนี้ นี่เขาก็ถามมาอีก เห็นไหม ว่าเขาเป็นแล้วเขาสงสัยไง แล้วเขาถามว่า
ถาม : เขาก็เคยประสบความสำเร็จทางโลก ปลื้มใจขนาดไหนก็แล้วแต่ก็ไม่เป็นแบบนี้
หลวงพ่อ : ถ้าไม่เป็นแบบนี้มันก็เป็นอาการของเรา ถ้าเป็นอาการทางธรรมนะ แล้วอย่างที่ว่าถ้าปฏิบัติที่ไหนแล้วนี่ เขาจะพูดอย่างไรนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าใจของเรา ถ้าเราทำของเราได้ นี่อันนี้มันจะพิสูจน์ของเราว่ามันเป็นไปตามจริงอย่างไร?
นี่อาการของแสง คำถามนะ
ถาม : อาการของแสง เวลาจิตสงบแล้วมีแสงแพรวพราว มีทุกอย่างพร้อม
หลวงพ่อ : อันนี้มันเป็น ถ้าแสงแพรวพราวนะ อย่างเช่นเรา ยกตัวอย่างว่าเรานะ ไม่ใช่คนอื่นนะ อย่างเช่นเราผิดปกติ พอเราผิดปกติ พอเรานั่งไปเราจะเคลิบเคลิ้มไปหมดเลย เราจะเห็นแสงแพรวพราวไปหมด เราจะเห็นเทวดามาอนุโมทนาเต็มไปหมด อันนี้ผิดปกตินะ เวลาผิดปกติ เวลาจิตผิดปกติ จิตเภท จิตนี้หลอกตัวเอง มันเป็นอุปาทานก็ได้ เป็นสิ่งต่างๆ ก็ได้
แต่นี้เวลาปฏิบัติไป สิ่งที่เป็นความจริงที่เราอธิบายนี่อธิบายเป็นความจริง แต่ถ้าเป็นความจริงแล้ว เพราะว่ากระแสสังคม เขาจะบอกว่าพวกกำหนดพุทโธจะติดนิมิต จะเห็นนู่น เห็นนี่ไป การเห็นนั้นเห็นนิมิต เขาว่านิมิตนี่เป็นของที่ไม่ถูกต้อง นิมิตเป็นของผิด แต่ถ้าใช้ปัญญาไปแล้วมันจะโล่ง ว่างหมด มันจะไม่มีนิมิต แต่ถ้าในการปฏิบัติแบบครูบาอาจารย์ของเรามันเป็นชนิดของผลไม้ ทุเรียนก็คือทุเรียน ส้มก็คือส้ม มังคุดก็คือมังคุด ปลูกผลไม้ชนิดใด มันจะให้ผลไม้ตามชนิดที่เราปลูกนั้น
จิต จิตของคน ถ้ามันมีกิเลส มันมีทิฐิมานะ มันมีสิ่งที่มันสร้างมากับจิตดวงนั้น ปฏิบัติไปมันจะเป็นตามนั้นแหละ ฉะนั้น ถ้าเป็นตามนั้นแล้ว บอกว่าพุทโธแล้วมันเกิดนิมิต พุทโธแล้วมันเกิดความหลงใหล พุทโธแล้วมันมีแต่ความเสียหาย แล้วถ้าเกิดปฏิบัติทางปัญญา ปฏิบัติทางไหนก็แล้วแต่ ถ้ามันเป็นทุเรียน จะปฏิบัติชนิดไหนมันก็ออกมาเป็นทุเรียน คือมันปฏิบัติอย่างใดมันก็ออกมาเป็นนิมิตถ้าจิตเป็นนิมิต จะปฏิบัติประเภทใดมันก็คือนิมิต ถ้าปล่อยให้มันเกิดตามความเป็นจริงนะ เว้นไว้แต่เราไปกดมันไว้ เราปฏิเสธมันไว้เท่านั้นเอง
ฉะนั้น การรักษาของหมอ เห็นไหม หมอเขารักษาคนไข้เขาต้องรักษาตามความเป็นจริง คนเป็นโรคชนิดใด เขาต้องรักษาโรคชนิดนั้น โรคนั้นถึงจะหายได้ คนเป็นโรคชนิดนี้ ไปรักษาโรคชนิดอื่นมันจะหายไม่ได้ ให้ยาผิดประเภท ให้ยาไม่ถูกต้องตามอาการของคนไข้ คนไข้จะหายไม่ได้ ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติตามความเป็นจริง ทีนี้ถ้ามันจะเกิดนิมิต ก็ต้องแก้นิมิตนั้นตามนิมิต
คนที่มันไม่มีนะ อยากให้มีใจจะขาดมันก็ไม่มี ถ้าเขาปลูกทุเรียนกันทั้งสวนเลย เราไปปลูกส้ม แล้วเราจะเอาผลส้มบอกให้มันเป็นทุเรียนๆ จะให้ไปเหมือนเขามันเป็นไปไม่ได้หรอก ส้มมันก็คือส้ม มันจะเป็นทุเรียนไปไม่ได้ ทุเรียนมันก็เป็นทุเรียน จะเป็นส้มไปไม่ได้ จริตของคน ใครที่สร้างบุญกุศลมา เป็นอย่างไร มันก็เป็นอย่างนั้น มันไม่ใช่อยู่ที่วิธีการปฏิบัติ มันอยู่ที่จิตดวงนั้นเป็นมาอย่างใด? แล้วปฏิบัติไปมันเจออย่างใดมันเป็นอย่างนั้น
ทีนี้เขามาบอกว่าถ้าเป็นพุทโธแล้วมันจะเป็นนิมิต แหม ปฏิบัติหรือยัง? ได้ปฏิบัติเห็นจริงหรือยัง? ถ้าไม่ได้ปฏิบัติเห็นจริงแล้วอย่าเพิ่งพูด ถ้าจะปฏิบัติชนิดไหนก็แล้วแต่ ถ้ามันเป็นอย่างนั้น มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วพอเป็นอย่างนั้นจะแก้อย่างใด? จะแก้อย่างใดให้ผ่านอุปสรรคอย่างนี้ไป จะแก้อย่างใดให้สิ่งนั้นมาเป็นประโยชน์ ดูสิเชื้อโรคเขาเอาไปฆ่า แล้วเขาเอามาทำเป็นวัคซีน เห็นไหม เขาเอาเชื้อโรคนั่นแหละไปทำเป็นวัคซีนกลับมาป้องกันโรค
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเกิดนิมิต มันเกิดสิ่งใด เราจะเอานิมิตนี้มาเป็นประโยชน์กับการภาวนาอย่างไร? เราจะเอาสิ่งที่มันเกิดขึ้นมา มาเป็นประโยชน์กับการภาวนาอย่างไร? พูดอย่างนี้สิแล้วจะคุยกันได้ แต่ถ้าบอกว่ามันใช้ไม่ได้ มันผิดไปหมดเลย ก็เหมือนเรานี่ มนุษย์มี ๒ แขนผิดหมดเลย จะตัดข้างหนึ่งทิ้งใช่ไหม? จะตัดแขนข้างหนึ่งทิ้งแล้วว่าถูกอย่างนั้นหรือ? มนุษย์มี ๒ แขน ๒ แขนไว้ทำประโยชน์อะไร? นี่มนุษย์มี ๒ แขน ผิดก็ตัดแขนทิ้งเลย
นี่ก็เหมือน พอพุทโธ พุทโธผิด พุทโธเป็นนิมิตก็ว่าพุทโธผิดหมดเลย พุทโธตัดทิ้งไปเลย มันไม่ใช่ มันไม่ใช่หรอก แต่ถ้ามันเป็นจริง มันจะรู้จริงของมันนะ อันนี้พูดถึงนั่งภาวนาแล้วน้ำหู น้ำตาไหล
ทีนี้เอาอันนี้ เพราะอันนั้นเดี๋ยวมันไม่จบไง
ถาม : ๗๑๔. เรื่อง ที่ถามว่าเพี้ยนหรือเปล่า เข้าใจที่พระอาจารย์ตอบแล้วค่ะ
หลวงพ่อ : ที่ถามมาว่า เพี้ยนหรือเปล่า? นี่มันเพิ่งมาเมื่อวาน
ถาม : กราบพระอาจารย์สงบค่ะ ได้ฟังเทศน์ตอบกลับมาแล้วค่ะ เข้าใจที่พระอาจารย์เทศน์ค่ะว่าหมายถึงอะไร ตอนที่ท่านพูดว่า ถ้ามันขาด มันจะขาดเด็ดขาดเลย ขนลุกเลยค่ะ แล้วที่พระอาจารย์บอกว่า เป็นอดีตไปแล้ว ใช่เลยค่ะ ไม่ได้ไปยึดติดอารมณ์ตรงนั้นเลย ตอนนี้ก็เบื่อหน่าย เพราะรู้แล้วว่ามันไม่ได้มีอะไรที่จะยึดเอาไว้เป็นตัวของเราได้เลย ไม่มีอะไรเลย ขันธ์ ๕ ก็เกิดของมันเอง ดับไปเอง
มันเหมือนฝนตก ฟ้าผ่า เราจะไม่สามารถรู้เลยว่ามันเกิดตรงไหน แบบไหน รู้แต่ว่ามันต้องเกิดเพราะมันต้องเกิด เกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดใหม่อีก ห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ด้วย เราก็เห็นมันเกิดดับไปแทบทุกวินาที ทุกวันที่รู้ แต่ว่ามีสติรู้อารมณ์ตัวเองตลอดเวลา รู้ว่าก้าวเดินซ้าย ขวา มือซ้าย มือขวาอยู่ตรงไหน รู้ว่ากายนี้ไม่ใช่กาย ของที่กินนี้ไม่ใช่กินเพื่อบำรุงกิเลส แล้วหลายอย่างค่ะ
เข้าใจแล้วที่ท่านอาจารย์บอกว่า ให้เห็นเป็นวงจรนั้น คือปัญญาที่จะมารู้ความจริงว่ากิเลสทั้งหลายคืออะไร แต่ยังไม่รู้ว่าจะออกจากวงจรนี้อย่างใด รู้แต่ว่าต้องรู้อารมณ์ตัวเองให้มากที่สุด ถ้าเป็นไปได้ทุกขณะจิตเลย ให้รู้เฉยๆ ให้รู้ว่ารู้เฉยๆ ค่ะ ไม่ต้องยุ่งหรือใส่อารมณ์สิ่งที่เพิ่มเข้าไป กายก็ต้องรู้ด้วยเหมือนกัน วงจรนั้นทำให้รู้หลายอย่างเลยค่ะ ไม่ได้พูดเกินจริงค่ะ คือพอฟังอาจารย์สงบเทศน์ตอบแล้ว มั่นใจว่าต่อไปนี้ไม่เพี้ยน ต่อไปนี้ไม่เพี้ยนแน่ๆ
แต่ก็แปลกใจค่ะ มันก็เป็นอัตโนมัติของมันเอง เวลารู้พุทโธ เวลารู้กาย รู้อารมณ์ มันทำไปเอง กราบขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะที่ชี้ทางเดินที่ถูกต้องแน่ๆ และต้องทำให้ถึงที่สุดไม่ให้หยุด หยุดไม่ได้เลย เข้าใจถูกใช่ไหมคะ? ต้องทำอย่างไรเพิ่มเติมไหมคะ?
หลวงพ่อ : นี่เพิ่มเติมมีอยู่ ๒ ประเด็น ประเด็นหนึ่งที่บอกว่า รู้เฉยๆ คำว่ารู้เฉยๆ เราไม่เห็นด้วย เพราะมันต้องมีสติปัญญาสิ คำว่ามีสติปัญญานี่เราเป็นผู้บริหารจัดการ การรู้เฉยๆ เรารู้ไม่ได้บริหารจัดการเลยหรือ? การรู้เฉยๆ มันไม่บริหารจัดการเพราะอะไร? เพราะมันไม่มีสมาธิ ถ้าเรามีสมาธิขึ้นมา จิตเรามั่นคงขึ้นมาแล้ว เราจะรู้สิ่งใดเราบริหารจัดการมันได้ เราต้องรู้แบบบริหารจัดการสิ เราต้องมีสติสิ
ถ้าเราไม่มีสติ เห็นไหม ดูสิมรรค ๘ สติชอบ งานชอบ เพียรชอบ ถ้าสติชอบ สติชอบดูคนขับรถสิ คนขับรถนี่เขาควบคุมรถของเขาไป รถจะมีความเร็วขนาดไหน ในทางแยก ทางร่วมต่างๆ เขาต้องมีสติของเขา เพราะรถมันตัดหน้าได้ตลอดเวลา ถ้ารู้เฉยๆ ก็เหมือนรถบังคับวิทยุไง ปล่อยมันแล่นไปอย่างนั้นแหละ ไปเจอมันก็ประสานงาน่ะสิ
รู้เฉยไม่ได้นะ เราไม่เห็นด้วยกับการรู้เฉย การรู้เฉย ถ้ารู้เฉยนี่พุทโธ พุทโธเรารู้ให้ชัดเจน แต่ถ้าการวิปัสสนาเราต้องเข้าไปแยกแยะ ต้องใช้ปัญญาแยกแยะ นี่แยกแยะเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต เรื่องธรรม แยกออกไปว่าสิ่งใดเป็นอะไร สิ่งใดเป็นอะไร เหมือนกับอาหารชนิดหนึ่ง อาหารชนิดหนึ่งมันมีเครื่องปรุงอะไรบ้าง เครื่องปรุง ถ้าเราแยกเครื่องปรุงออกหมดแล้ว มันก็จะรู้ว่าเครื่องปรุงมาจากอะไร นี่เครื่องปรุงมาจากอะไร เห็นไหม แล้วถ้าเครื่องปรุงนั้นเราผสมกัน เราประกอบขึ้นมาก็เป็นอาหาร
อารมณ์ อารมณ์ความรู้สึกมันมีอะไรบ้าง? มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? มันมีสัญญา ต้องมีสัญญา ถ้าไม่มีสัญญาเราจะไม่รู้ว่าเราคิดเรื่องอะไร? แล้วเวลาเราคิดขึ้นมา นี่ความคิด ความปรุงมันคืออะไร? มันคือสังขาร สังขารจะใช้ได้อย่างไรถ้ามันไม่มีวิญญาณรับรู้ ถ้าวิญญาณรับรู้ รับรู้เรื่องอะไร? รับรู้เรื่องสุข เรื่องทุกข์ แล้วสุข-ทุกข์มันเกิด สุข-ทุกข์มันก็เป็นเวทนา แล้วเวทนานี่เราพอใจหรือไม่พอใจ มันก็หมุนต่อไป มันหมุนต่อไป เรามีสติปัญญาเราต้องแยกแยะนะ
ไอ้ที่ว่าไม่เพี้ยน ไม่เพี้ยนเพราะการปฏิบัติมันจะเพี้ยนได้อย่างไร? มันจะเข้าไปเมื่อกี้นี้ เมื่อกี้นี้ที่เราบอกว่าถ้าจิตเราไม่ปกติ เห็นไหม อาการรู้เห็นเทวดา เห็นนู่น เห็นนี่ เขาก็บอกว่าเห็นเพ้อเจ้อ แต่เทวดามีจริงหรือเปล่าล่ะ?
ฉะนั้น ถ้าเขาเห็นจริง ถ้าเห็นจริงอย่างเช่นหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่น เทวดา อินทร์ พรหมมาฟังเทศน์หลวงปู่มั่นนะ แต่ถ้าเราบอกว่าพุทโธเกิดนิมิต ไอ้ที่ว่าเทวดามาก็เป็นนิมิตทั้งนั้นแหละ นิมิตแล้วทำไมคุยกับเทวดารู้เรื่องล่ะ? ทำไมเทวดาต้องการฟังเทศน์กัณฑ์ใดทำไมหลวงปู่มั่นรู้ล่ะ? อ้าว ว่าคราวนี้มาจะฟังเทศน์เรื่องอะไร? หัวหน้าเป็นคนบอกว่าจะฟังเรื่องอะไร?
นั่นน่ะ ไอ้นั่นเป็นความจริงอีกอันหนึ่ง แต่ถ้าคนไม่เคยปฏิบัติเข้าถึงไม่ได้ แล้วรู้ไม่ได้หรอก ปฏิบัติแล้วรู้ไม่ได้ ในพระไตรปิฎกเทวดามาฟังเทศน์พระพุทธเจ้าเยอะแยะไปหมด ถ้าคนมีการศึกษา มีการเรียนมามันจะรู้เรื่องนี้ เรื่องของวัฏฏะ แต่ในปัจจุบันนี้บอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเราทำสิ่งที่เป็นไปได้ขึ้นมา แล้วท่านเก็บไว้ในหัวใจของท่าน ท่านจะบอกเฉพาะลูกศิษย์ของท่าน ท่านจะบอกเทคนิคของท่านให้ลูกศิษย์นั้นปฏิบัติขึ้นมา อันนั้นเป็นความจริง อันนั้นพูดถึงที่ว่าเวลาเพี้ยน เขาว่า เพี้ยนหรือไม่เพี้ยน?
นี่อันนี้ก็เหมือนกัน อันนี้ถ้าพูดถึงว่าเรารู้เฉยๆ เรารู้เฉยๆ มันรู้อย่างไร? ถ้ารู้เฉยๆ ใช่ไหม? การรู้เฉยอยู่ นี่บอกว่ารู้เฉย ไม่ต้องไปยุ่งสิ่งใด อารมณ์ที่เกิดขึ้นมามันไปอีก กรณีอย่างนี้เขาเรียกสมถะ สมถะนี่นะเราใช้ปัญญาเพื่อมาปล่อยวาง เราปล่อยวางเข้ามาก็เป็นตัวของมัน พุทโธ พุทโธนี่ พุทโธเพื่อให้รู้แจ้ง ไม่ใช่พุทโธเพื่อพุทโธนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนพุทโธไม่ได้ เราพุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธมันจะละเอียดขึ้น
พุทโธละเอียดขึ้นนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธนะ พอพุทโธไป ใหม่ๆ พุทโธนี่หลุดไม้หลุดมือนะ พุทโธแล้วหายไป พุทโธแล้วไม่ได้ นี่พุทโธมันคล่องขึ้นมาแล้ว มันชำนาญขึ้นมาแล้ว เหมือนคนขี่จักรยาน เริ่มต้นขี่จักรยานไม่เป็นนะ เอาจักรยานออกไปนี่ล้มตลอดแหละ แต่พยายามประคองตัวเรื่อยๆ ประคองตัวเรื่อยๆ พอจักรยานออกได้ ถีบจักรยานได้นี่ถีบจักรยานไปแล้ว ถีบจักรยานออกไปเลย นั้นจักรยานกับเราเป็นอันเดียวกัน มันไปไหนมันไปได้หมดแหละ
พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนพุทโธไม่ได้เลย คำว่าพุทโธไม่ได้เลยนี่คนตีประเด็นไป ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือพุทโธมันหายไป คือพุทโธมันไม่มี แล้วพอพุทโธมันหายไปก็เหมือนกับเริ่มต้นเราหัดขี่จักรยาน นี่เอาจักรยานมาหัดขี่ก็ล้มลุกคลุกคลานใช่ไหม? ขี่ไปขี่มาขี่ไม่เป็น ไม่เป็น เวลาล้มไปนะจักรยานก็ตกเขาไปข้างหนึ่ง คนก็ตกเขาไปอีกข้างหนึ่ง พุทโธหายไง เขาคิดว่าพุทโธหายอย่างนั้นหรือ? ไม่ใช่ เวลาเราขี่จักรยานนะ แล้วจักรยานนี่เราขี่ด้วยความเร็วมาก ดูซี่ลวดล้อจักรยาน เห็นไหม มันเร็วจนเราไม่เห็นว่ามีซี่ลวดเลย มันจะไม่เห็นเลย
นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนมันคล่อง จนพุทโธกับจิตเป็นอันเดียวกันเลย จนพุทโธไม่ได้เลย เหมือนกับรถมันวิ่งจนกำหนดเราเห็นไม่ได้เลย มันเป็นแบบนั้น พุทโธมันหายอย่างนี้ ไม่ใช่พุทโธขี่ๆ มาสะดุด จักรยานก็ไปทางหนึ่ง คนก็ไปทางหนึ่ง พุทโธหาย นี่พุทโธหายมี ๒ ประเด็น ประเด็นส่วนใหญ่แล้วจักรยานมันล้ม แล้วคนก็กระเด็นไป
หลวงพ่อ พุทโธไม่ได้เลย พุทโธหาย
แล้วจักรยานมันนอนอยู่นั่นมึงไม่เห็นหรือ? แล้วเราก็บอกว่า
สมมุติว่าพุทโธได้ไหม?
ได้ค่ะ
สมมุติว่า ถ้าบอกว่าพุทโธบอกไม่ได้นะมันหาย เพราะเขาตีค่าว่าพุทโธหายคือเป้าหมายของการปฏิบัติ เขาตีค่ากันอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นความจริงนะ พุทโธ พุทโธ จนพุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้เลยนะ เรานี่สว่างไสว เรานี่รู้ทันหมดเลย รถมันเร็ว รถมันหมุนไปจนเป็นอัตโนมัติไปแล้ว จนมันคล่องตัวไปแล้ว แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ? ทำอย่างไรต่อไป?
นี่พอออกจากสมาธิมา พอคลายออกมาหน่อยเราก็ใช้ปัญญาของเราสิ ใช้ปัญญาต่อไป นี้คนภาวนาเป็นนะ ถ้าพุทโธมันหาย พุทโธหายคืออัปปนาสมาธิ คือมันนิ่งหมด สักแต่ว่ารู้ จบ รู้ชัดเจนหมดเลย แต่มันคลายตัวออกมาเป็นอุปจาระ เราก็ใช้ปัญญาของเราไปได้ แต่ถ้าพุทโธหายแบบจักรยานกระเด็นไปข้างหนึ่ง คนกระเด็นไปข้างหนึ่ง มันไม่ได้อะไรขึ้นมาหรอก ดีนะล้มไปแล้วไม่แขนหัก ขาหัก ถ้าล้มไปแขนหัก ขาหักนี่โอ๊ยๆ ร้องปวดอยู่นั่นน่ะ พอล้มหายไปแล้วนะ จักรยานก็กระเด็นไปข้างหนึ่ง เราก็อยู่ข้างหนึ่งนอนสบาย พุทโธหาย พุทโธหาย มันไม่ก้าวหน้าเลย
นี่ไงถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา เห็นไหม ในกรณีรู้เฉย มันจะเฉยขึ้นมาอย่างไร? นี่ถ้าเป็นสมถะมันเป็นแบบนี้ แต่ถ้าเป็นปัญญาเราค่อยแยกแยะนะ เราแยกแยะของมัน แล้วอย่างที่ว่านี่
ถาม : มันแปลกค่ะ มันเป็นไปโดยอัตโนมัติ มันเป็นไปเอง แค่เวลารู้พุทโธ เวลารู้กาย รู้อารมณ์ มันเป็นไปเองค่ะ
หลวงพ่อ : คำว่าเป็นไปเองนี่นะ มันเป็นไปเองถ้าเป็นพิจารณากาย ถ้าพิจารณากาย พอจิตสงบแล้วนี่พอเราน้อมไปที่กาย พอน้อมไปที่กาย เห็นไหม เราให้กายมันแปรสภาพ อย่างนี้มันเป็นไปได้ มันเป็นด้วยกำลังของใจ ถ้าภาษาเราเขาเรียกว่าเป็นไปโดยฤทธิ์ เป็นด้วยกำลัง แต่ถ้าเป็นปัญญานะ พอมันแบบว่าให้กายนี่แปรสภาพไป พอกายแปรสภาพมันก็จะละลายของมันไป พอละลายไปนี่ จิตมันดูอยู่มันจะผงะ เอ๊อะ! เอ๊อะ!
มันเป็นอัตโนมัติที่ไหน? มันไม่เป็นอัตโนมัติหรอก มันเป็นไปโดยปัญญา โดยจิตที่มันเห็น คำว่าอัตโนมัติเราห่วงไง ถ้าอัตโนมัติคือไม่ต้องทำอะไรมันเป็นเอง คำว่ามันเป็นเองไม่มี นี่ถ้ามันเป็นอัตโนมัตินะ กายมันจะเป็นไปเอง เป็นโดยอัตโนมัติ คือหนูไม่ต้องทำอะไรเลย หนูเฉยๆ มันเป็นโดยอัตโนมัติให้ดูเลย มันก็เหมือนกับทุกคนเอาเงินมาให้เรา อยู่เฉยๆ ใครก็เอาเงินมาให้ มาให้อะไร? มันเป็นไปไม่ได้
ฉะนั้น คำว่าอัตโนมัติ คำถามนี่เขาพูดมาว่าเขาดีใจ ว่าเราบอกว่าไม่เพี้ยน แล้วพอไม่เพี้ยนเขาก็สบายใจ ทีนี้สบายใจนี่การต่อเนื่อง เห็นไหม หนึ่งที่ว่ารู้เฉยๆ นี่ให้มีสติ ถ้ามีสติรู้เฉยๆ เป็นสมถะ เราพุทโธชัดๆ ไว้นี่มันเป็นสมถะ แต่ถ้าการรู้ต่อไป รู้ด้วยปัญญาไม่ใช่รู้เฉยๆ นะ
นี่นักหลบ เห็นไหม บางคนภาวนาไปแล้วบอก อู๋ย สุขสบายมาก นี่รู้เท่าแล้วสุขสบายมาก เราบอกว่านี่นักหลบ หลบคือแบบว่าเราเข้าไปพัก เราเข้าไปพัก เราเข้าไปผ่อน เราไม่เคยทำงานอะไร นี่อย่างนี้เขาเรียกว่านักหลบ นักหลบแก้กิเลสไม่ได้ นักหลบมันแค่ภาวนาให้เรามีเครื่องอยู่ แต่ถ้าเป็นนักรบ นักรบที่ชำระกิเลสต้องออกไปเผชิญหน้า ต้องไปเผชิญหน้ากับกิเลส แล้วต่อสู้กับมัน แล้วแยกแยะกับมัน แล้วพอไปเผชิญหน้ามันใช้วิปัสสนา นี่วิปัสสนาญาณมันจะรู้ไงว่าวิปัสสนานี่ทำอย่างไร?
นี่โดยต่อไปก็บอกภาวนาๆ ภาวนาอะไรกัน? ภาวนาให้มันสงบเฉยๆ ภาวนาเพื่อพักผ่อน ภาวนาเป็นชีวิตประจำวันไง นี่ภาวนาในชีวิตประจำวัน ภาวนามาอย่างนั้นแหละ แต่ถ้ามันเป็นนักรบนะ เพราะเราวงกรรมฐานใช่ไหม? ในพุทธศาสนานี่มันมีมรรค มีผล ฉะนั้น มีมรรค มีผล เวลาเราทำมรรค ผลมันต้องเกิดอย่างนี้ เหมือนกับทางธุรกิจ ธุรกิจเขาต้องมีตลาด เขามีการค้า ถ้ามีการค้า ถ้าส่งสินค้าได้ วางบิลได้ เขาก็เก็บเงินของเขามา
นี่ก็เหมือนกัน เราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป แล้วผลนี่เก็บเงินมา เก็บมรรค เก็บผลมา ถ้าเก็บมรรค เก็บผล เราต้องหยิบ ต้องเก็บ เราต้องจัดการบริหาร เราจะเอาสินค้าไปส่งอย่างไร? ส่งเสร็จแล้วจะวางบิลกับใคร? วางบิลแล้วใครเป็นคนจ่ายเงินมาให้เรา
นี่ก็เหมือนกัน จิตเวลามันพิจารณาไป กาย เวทนา จิต ธรรมมันเป็นเครื่องแสดงออกของกิเลส กิเลสเป็นนามธรรมอาศัยกาย อาศัยต่างๆ เพราะเรายึดว่ากายเป็นของเรา ยึดเวทนาเจ็บปวด เห็นไหม นี่ยึดจิตว่าจิตเป็นเรา ยึดต่างๆ เวลามันพิจารณาไปๆๆ นี่กิเลสอาศัยสิ่งนี้ออกมาแสดงออก แล้วเวลาพิจารณาไปมันปล่อยวางอย่างไร? ปล่อยวางนี่เป็นตทังคปหาน คือเราเริ่มทำสินค้าเราได้แล้ว แต่ยังส่งไม่ได้
ถ้าทำสินค้าได้ สินค้ายังมีจุดบอดอยู่ ยังไม่สมบูรณ์ ยังเสียหายอยู่ ยังส่งให้ลูกค้าไม่ได้ ลูกค้าไม่ยอมรับสินค้านั้น นี่เวลาเราทำได้ แต่สินค้านั้นยังไม่สมบูรณ์เราก็ทำแล้วทำอีก ฝึกฝนๆ ฝึกฝนให้มันชำนาญขึ้น จนสินค้าเรานี่แจ่มแจ๋ว แวววาว สมบูรณ์แบบหมด เห็นไหม ส่งให้ลูกค้า ลูกค้ารับแล้วเราวางบิลกับใคร?
นี่มันต้องมีการบริหารจัดการ มันเป็นอัตโนมัติไม่ได้ มันจะเป็นเฉยๆ ไม่ได้ คำว่าเฉยๆ ไม่ได้ นี่พูดถึงนะ แหม อ่านทีแรกก็บอกว่า แหม ฟังเทศน์หลวงพ่อแล้วหนูดีใจ หนูเข้าใจหมดเลย ก็แหม แต่พอเรามาเจอว่า หนูก็รู้เฉยๆ อยู่ แล้วมันเป็นอัตโนมัติ อันนี้เราบอกว่าให้โยมนี่ปฏิบัติไปก่อนเนาะ ยังไม่ต้องเขียนมานะ เดี๋ยวจะเขียนมาอีก โอ๋ย หลวงพ่อตอบอย่างนี้แล้วมันหมายความว่าอย่างไรล่ะ? โอ๋ย หลวงพ่อหนูไม่เข้าใจเลยเขียนมาอีก โอ๋ย ปวดหัวเลย
เพราะการภาวนานี่ เราอยู่กับครูบาอาจารย์มา การภาวนานะกว่าจะได้ความเป็นจริงขึ้นมาแต่ละชั้นแต่ละตอน เราจะต้องทุ่มเทกันเต็มที่เลย อันนี้ก็เหมือนกัน แค่ว่าเราอบอุ่นใจว่าเราไม่เพี้ยน อันนี้ทำให้เรามั่นใจ ความมั่นใจ ความเป็นเอกภาพของใจ เวลาทำสิ่งใดแล้วจะประสบความสำเร็จ ความละล้าละลัง ความทำสักแต่ว่า การทำไม่เต็มไม้เต็มมือ การปฏิบัติมันจะได้ผลน้อย
ฉะนั้น ถ้าเราแก้ว่าไม่เพี้ยน อันนี้มันก็เป็นผลประโยชน์มหาศาลแล้ว แล้วเราทำต่อไป ทำต่อไปที่ว่าหนูรู้เฉยๆ อยู่ค่ะ แล้วเวลาเป็นโดยอัตโนมัตินี่เราสังเกตให้ดีๆ แล้วเดี๋ยวเราจะเห็นผลประโยชน์ แล้วเราจะก้าวหน้าต่อไปในการปฏิบัติ ขอให้ขยัน ถามเราเท่าไรก็ไม่รู้หรอก มันจะรู้ตอนไปปฏิบัติเองไง เวลาปฏิบัติเอง เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก จิตได้สัมผัส อันนั้นจะเป็นความจริง แล้วนี่เราจะเคารพธรรม เราเคารพธรรมความเป็นจริงเต็มที่เลย
ถามเราเราก็ตอบนี่ แล้วถ้าถามมาใหม่ มันตอบไปอีกจะสงสัยมากกว่านี้อีก เดี๋ยวจะสงสัยไม่จบ ฉะนั้น ให้ปฏิบัติก่อนนะ อย่าเพิ่งเขียนมาใหม่ เอวัง