ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เห็นธรรม

๓ ธ.ค. ๒๕๕๔

 

เห็นธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๗๑๕. มันไม่มีเนาะ

ถาม : ๗๑๖. เรื่อง “สงสัยในพุทธพจน์ครับ”

หลวงพ่อ : มันมีคำถามนะ ข้อ ๑. เขาบอกว่า

ถาม : สงสัยข้ออ้างอิงที่อ้างอิงจากพุทธพจน์ที่มีอยู่ว่า

๑. ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่าเห็นธรรม

ถ้าทางโลกเขาบอกว่าเป็น วักกลิ เป็นความจริง เป็นบุคคลเห็นธรรมก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม (นี่เขาว่า เขาพูดของเขา)

๒. เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจะเห็นตถาคตชั่วเวลาที่กายของตถาคตยังดำรงอยู่ เมื่อกายแตกสิ้นแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจะไม่เห็นตถาคต

หลวงพ่อ : นี่คำถามเขานะ

ถาม : ๑. โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็น ผู้นั้นย่อมชื่อว่าเห็นธรรม เป็นในลักษณะบุคลาธิษฐาน

หลวงพ่อ : เปรียบเทียบสอนจากคำถามของเราไง นี่พูดถึงข้อที่ ๑.

ถาม : ๒. แล้วประโยคที่ว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจะเห็นตถาคตชั่วเวลาที่กายของตถาคตดำรงอยู่ เมื่อกายแตกสิ้นชีพแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจะไม่เห็นตถาคต เทวดาและมนุษย์ที่ว่านี้ไม่ได้หมายรวมถึงพระอรหันต์ที่ดำรงขันธ์อยู่ด้วยหรือไม่ครับ?

หลวงพ่อ : ธรรมะ นี่เวลาศึกษามาแล้วมีการศึกษา “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” เป็นคำพูดของกรรมฐานนะ นี่อยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าเป็นกรรมฐาน

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

ธรรมคืออะไร? ผู้ใดเห็นเรา นี่เราหมายถึงใคร? ถ้าเรานะ ถ้าเรานะเราหมายถึงตัวเรา เราหมายถึงเรา เราเห็นเรา เราเห็นธรรม ไม่ใช่ ถ้าเราเห็นเรานะ ถ้าเราพุทโธ พุทโธ พุทโธจนจิตเราเป็นสมาธิเราจะเห็นเรา โดยธรรมชาติใช่ไหม? โดยสามัญสำนึกทางโลก เราคือใคร? เราคือนาย ก. นาย ข. นาย ก. นาย ข. นี่คือเรา แต่ความจริงมันไม่ใช่ นี้เป็นสมมุติ นี่เป็นสมมุติไง

สมมุติ จริงตามสมมุติใช่ไหม? นาย ก. นาย ข. นี่จริงตามสมมุติ นาย ก. นาย ข. มีสิทธิตามกฎหมาย มีสิทธิรับมรดก มีสิทธิทางสายเลือด มีสิทธิหมด แต่เวลาคนๆ นั้นตายไปนะ คนนั้นก็ส่งต่อไป เห็นไหม มันเป็นเรื่องทางโลก แต่ถ้าเป็นเราอย่างนี้ เราอย่างนี้ในทางธรรม เราคือกิเลส เราคืออัตตา

อัตตาและอนัตตา โดยธรรมชาติทุกคนมันต้องมีอัตตา อัตตาเกิดจากอะไร? อัตตาเกิดจากฐีติจิต ฐีติจิต จิตที่มาเกิดเป็นมนุษย์นี่มีตัวตน ภวาสวะ ตัวภพ ตัวสถานที่ ถ้าตัวภพ ตัวสิ่งที่มีอยู่ ถ้าสิ่งที่มีอยู่ สสาร สสารเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต สสารนี้มันไม่รู้จักตัวมันเอง นักวิทยาศาสตร์ต่างหากจะรู้ค่าของสสาร ตัวจิต ตัวจิตนี่ตัวของมันเอง มันรู้จักตัวมันเองไหม?

ตัวจิต โดยจิตแท้ๆ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้มันก็เป็นสสารอันหนึ่ง เป็นธาตุรู้ แต่ธาตุรู้ใครไม่เคยเจอมัน ใครไม่เคยพบมัน แต่ธาตุรู้นี่เป็นธาตุที่มีชีวิต เห็นไหม ธาตุรู้ สสารที่ไม่มีชีวิต กับสสารที่ไม่มีชีวิตนี้แปลกมาก เป็นสิ่งที่แปลกมาก แต่สิ่งที่แปลกมากเห็นไหม ตัวจิตนี่ตัวสำคัญมาก ถ้าตัวสำคัญมาก ตัวนี้เพราะมีภวาสวะ มีภพ ถ้ามีภพขึ้นมา ตัวภพ เห็นไหม ภวาสวะ กิเลสสวะ อวิชชาสวะ

ในเมื่อภพมันเป็นกิเลส ภพมันเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง กิเลสสวะ กิเลสคือตัณหาความทะยานอยาก อวิชชาสวะคือความไม่รู้ ภวาสวะคือภพ คือสิ่งที่มี สิ่งที่มี ตัวสสารนี่ตัวภพ ตัวภพตัวนี้ตัวกิเลส แล้วถ้าผู้ใดเห็นเรา เห็นเราก็เห็นกิเลสไง แต่มันไม่เห็น ธรรมดามันไม่เห็น พอไม่เห็นพระพุทธเจ้าถึงสอนไง เวลาพระพุทธเจ้าสอนธรรมแบบนี้ เห็นไหม ที่สอนโมฆราช

“เธอจงมองดูโลกนี้เป็นความว่าง”

นี่เวลาทุกคนถ้ามีสติ มีปัญญา ถ้าจิตมีหลักมีเกณฑ์แล้วจะบอกว่าให้มองโลกนี้เป็นความว่าง เป็นความว่างคือสิ่งที่ไม่มีตัวตน ถ้าสิ่งที่ไม่มีตัวตนมองโลกนี้ก็เป็นความว่าง แต่เวลาคนมองไปแล้วนี่เอาอะไรมอง? มองไปแล้วมันเกิดความรู้อะไร? ถ้ามันมองไปแล้วมันเกิดความรู้ เกิดความรู้คือเกิดปัญญา เกิดปัญญามันจะเห็นสิ่งนี้เป็นไตรลักษณ์ เป็นไตรลักษณะ คือสิ่งที่คงที่มันไม่มี มันมีการเปลี่ยนแปลง เห็นไหม นั่นล่ะสิ่งนั้นเป็นอนัตตา

สัพเพ ธัมมา อนัตตา อนัตตาคือขณะ ขณะที่ก้าวเดิน หลวงตาบอกว่า “เป็นการก้าวเดิน” มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นิพพานถึงจุดแล้วไม่มีการก้าวเดิน นิพพานมันถึงไม่ใช่ ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่อนัตตา ไม่ใช่ทั้งสิ้น แต่ถ้าเป็นอัตตา อัตตาคือตัวตนของเรา

ฉะนั้น บอกว่าคำว่า “เห็นเราๆ” เห็นเรานี่เห็นอะไร? นี่ไงแม้แต่คำถาม ความเข้าใจของผู้ถามก็ถามว่า นี่พอเข้าใจว่าถ้าเห็นเราเห็นตถาคต แล้วเขาเห็นเรา คำว่าเราตีเป็นวิทยาศาสตร์ไง เป็นวิทยาศาสตร์ว่าเรานี้คืออะไร? เรานี้คืออะไร? เรานี้คือตัวตนของเราหรือเปล่า? ทีนี้เรานี่เป็นบุคลาธิษฐาน คือเป็นตัวอย่างหรือเปล่า? นี่ส่งออก เห็นไหม ส่งออกหมายถึงว่าถามปัญหาแล้วย้อนออกมาเป็นโลก แต่ถ้าเป็นธรรมนะ

“ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นตถาคต”

เห็นตถาคตคือตัวธรรมะไง ถ้าตัวธรรมะผู้ใดเห็นธรรม ธรรมมีอันเดียว แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วมีรัตนะ ๒ มีพระพุทธเจ้ากับพระธรรม มีพระพุทธเจ้ากับพระธรรมใช่ไหม? แต่นี้เวลาพระพุทธเจ้าแสดงธรรมจักร พอแสดงธรรมจักรนี่พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม พอพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม นี่เห็นธรรม

นี่ไง “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต”

พอไปเห็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปลื้มใจมาก เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะปรารถนามา ๔ อสงไขย สร้างบุญญาธิการมามหาศาล พระโพธิสัตว์นะ พระโพธิสัตว์เป็นหัวหน้า เป็นผู้เสียสละมหาศาล เสียสละชีวิตมาแล้วจนนับครั้งไม่ได้ เสียสละแล้ว เสียสละอีก เสียสละอยู่อย่างนั้นแหละ เสียสละจนจิตใจมั่นคง พันธุกรรมของใจ ใจนี้หนักแน่นมั่นคง แล้วอยากจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ แล้วพอรื้อสัตว์ขนสัตว์ พอบุญญาบารมีเต็มขึ้นมา เห็นไหม นี่เวลาเกิดที่สวนลุมพินี

“เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย”

ทารกเพิ่งคลอดออกมาวันนั้น ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกว่า “เราเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” นี่พูดอย่างนี้ได้เพราะอะไร? เพราะจิตใจมั่นคงมา เห็นไหม หลักเกณฑ์ในใจนี้มั่นคงแข็งแรงมามากเลย แต่ แต่ยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะนะ เพราะพระเจ้าสุทโธนะยังให้มีครอบครัว ยังมีสามเณรราหุลนะ ยังไม่ได้ออกตรัสรู้ ยังไม่ได้ออกปฏิบัติธรรม เวลาออกปฏิบัติธรรม นี่ออกปฏิบัติธรรมอีก ๖ ปี ๖ ปีนี่พอปฏิบัติไปถึงเต็มที่ ไปศึกษาเล่าเรียนกับทางวิชาการที่โลกนี้มี

สิ่งที่โลกนี้มี ศาสดาองค์อื่นเขามีอยู่แล้วไปศึกษากับเขา ไม่มีความจริงเลย ไม่มีความจริงเพราะอะไร? ไม่มีความจริงเพราะจิตใจที่มั่นคงนี้ไง แต่ถ้าจิตใจที่ไม่มั่นคงนะ ไปศึกษากับเขาใช่ไหม? พอศึกษากับเขา เขาเป็นหมู่พวกกับเขา เขารับรองค้ำประกัน คือเป็นพวกเดียวกันแล้ว เป็นพวกเดียวกันแล้ว แล้วรับรองกัน อาฬารดาบส อุทกดาบสบอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความรู้เสมอเรา เป็นอาจารย์สอนได้

มีคุณค่าเท่าเรา มีคุณค่าเท่าอาจารย์ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เอาๆ ไม่เอาเพราะมันไม่เป็นความจริง เพราะอะไรล่ะ? เพราะจิตใจที่มั่นคง พอมั่นคง เห็นว่าไปปฏิบัติกับเจ้าลัทธิต่างๆ มาแล้วมันไปไม่รอด ไปไม่รอดหรอก มันเป็นเรื่องโลกๆ มันเป็นอภิญญา อภิญญาเหมือนกับสมาบัติ คำว่าสมาบัติ อภิญญานี่มันเป็นกำลังของจิต กำลังของจิตก็เหมือนเราเป็นนักกีฬา ถ้าเราฝึกซ้อมดี กำลังเราดี แล้วถ้าเราไม่รักษาความฟิตไว้มันจะฟิตตลอดไปไหม? ไม่ได้หรอก

จิตใจจะดีขนาดไหน สูงส่งขนาดไหนนะ มันก็เป็นอนิจจัง มันแปรสภาพ มันเป็นความจริงไม่ได้ พอเป็นความจริงไม่ได้ พอท่านมาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาของท่านเอง พอไปศึกษาท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมา พอตรัสรู้ธรรมขึ้นมานี่มันมหัศจรรย์ มาตรัสรู้ธรรมด้วยมรรคญาณในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ไงเห็นธรรมๆ

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

นี่ไงเห็นธรรมก็เห็นตถาคต เพราะตถาคตคือตัวธรรม เพราะตถาคตเป็นผู้บรรลุธรรม นี้พอบรรลุธรรมขึ้นมา ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต พอบรรลุธรรมขึ้นมา ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา นี่มีรัตนะ ๒ เพราะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับธรรมะ ที่เขาบอกว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะที่มีอยู่แล้วโดยดั้งเดิม มีอยู่แล้ว ใครไปเอาความจริงนั้นมาเปิดเผยล่ะ? มีอยู่ มีอยู่อย่างไร? มีอยู่ มีอยู่ที่ไหน? แล้วอะไรมีอยู่ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ (หัวเราะ)

ธรรมชาติก็ทำให้ฝนตกแดดออกกันอยู่นี่ไง ธรรมชาติก็นี่ไง น้ำท่วมอยู่นี่ก็ธรรมชาติไง นี่ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นสัจธรรมนะ แต่เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหนือธรรมชาติ เหนือธรรมชาติตรงไหน? เหนือธรรมชาติตรงที่มันไม่เกิด ไม่ตายไง ถ้าเป็นธรรมชาติมันแปรปรวน ถ้าเป็นธรรมชาติมันยังหมุนอยู่

ธรรมชาตินะ ดูสิธรรมชาติมันหมุนของมัน แต่ถ้าเหนือ เหนือนี่มันเหนือกฎเกณฑ์ เหนือทฤษฎี เหนือความเป็นจริงทั้งหมด ทีนี้พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแบบนี้แล้ว พระพุทธเจ้าอ่อนอกอ่อนใจว่าจะสอนได้อย่างไร? เพราะมันแบบว่า เราจะสอนสิ่งที่ว่าเป็นสิ่งที่เป็นการคาดหมายไม่ได้ การจินตนาการไม่ได้ การทำสิ่งใดไม่ได้ แต่ แต่รู้ด้วยพระอัญญาโกณฑัญญะ รู้ด้วยผู้มีบารมี ผู้มีจิตใจเข้มแข็ง แล้วจิตใจเวลาเข้มแข็งแล้ว นี่เวลาใช้ปัญญา ปัญญาในพุทธศาสนานี้เป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา

ปัญญาเกิดจากการภาวนา เห็นไหม เราดูทักษะในวิชาชีพสิ ทักษะในวิชาชีพ เห็นไหม ดูนักกฎหมาย ดูนักวิทยาศาสตร์เขาต้องการให้ทุกคนมีความรู้เหมือนเขา แต่มีความรู้เหมือนเขา มันก็มีความรู้ด้วยการเดินตาม การเดินตามคือศึกษาทางวิทยาศาสตร์จากเจ้าทฤษฎี หรือการทดสอบนั้น แต่ไม่สามารถต่อยอด ไม่สามารถต่อยอด ความคิดบุกเบิกใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาไม่ได้

ฉะนั้น เวลาภาวนาขึ้นไป นี่ภาวนามยปัญญา เห็นไหม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก ในวิชาการที่เราศึกษากันอยู่นี้ นี่มันศึกษาทางวิชาการ แต่ความรู้จริงมันอยู่ไหน? ถ้าความรู้จริง เวลามันปฏิบัติขึ้นมา นี่ไงที่ว่าพระพุทธเจ้าอ่อนอกอ่อนใจไง จนทอดธุระเลยนะ จนพรหมมานิมนต์ นี่อาราธนาให้แสดงธรรมๆ พระพุทธเจ้าจะไม่แสดงธรรม ฉะนั้น ผู้ใดเห็นธรรม ธรรมอันนั้นแสดงธรรมอันนี้ นี่ธรรม ธรรมคือสัจจะความจริง

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

ธรรมอันนี้กับความรู้สึก ความนึกคิดของเรา เห็นไหม ถ้าเป็นตัวตน ผู้ใดเห็นเรา เราก็คือเรา เราคือกิเลสหมด เราคือภวาสวะ ถ้าเป็นเรานะ เวลาคนทำความสงบของใจ ถ้าจิตสงบนี่ พอที่ว่านาย ก. นาย ข. เวลาไป นี่พอไปถึง เอ๊อะ! พอ เอ๊อะ! คือตัวจิต พอจิตเข้ามาถึงตัวจิต ตัวจิตคือตัวต้นขั้ว คือตัวต้นเหตุหมดเลย ถ้าตัวต้นเหตุนะทุกอย่างเกิด

ความคิดยังไม่ใช่เลย ความคิดเกิดจากจิต ความคิดนี่ ความคิดเป็นเราไหม? ความคิดเกิดดับๆ สิ่งใดที่เกิดดับมันไม่ใช่ตัวมัน แล้วตัวจิตตัวเกิดดับไหม? จิตเดิมแท้มันเกิดดับไหม? พอเข้าถึงจิตเดิมแท้นี่แล้วไปแก้กันที่นั่น ถ้าไปแก้ที่นั่น นี่ตัวธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต นี้คำว่าธรรมนะ

นี่เขาบอกผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นได้ชื่อว่าเห็นเราตถาคต แล้วเขาบอกว่าเป็นบุคลาธิษฐาน เป็นธรรมะต่างๆ อันนั้นเรื่องหนึ่ง แล้วอย่างนี่ข้อที่ ๒.

ถาม : ๒. เทวดาและมนุษย์จะเห็นตถาคตชั่วกาลที่กายของตถาคตยังอยู่ เมื่อกายแตกสิ้นไปแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจะไม่เห็นตถาคต

หลวงพ่อ : ไม่เห็นหรอก อย่างเช่นมนุษย์ตาย อย่างเช่นเราปุถุชนนี่เราตาย เวลาเราตายนะ ถ้าคนทำใจได้จะตายสงบ ถ้าคนทำใจไม่ได้นะตายไปด้วยความวิตกกังวล วิตกกังวลคืออะไร? วิตกกังวลคือความคิด เห็นไหม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

รูปคืออารมณ์ความรู้สึก

เวทนาคือความคิดบวกและลบ

สัญญาคือสิ่งที่เรารู้อยู่ สัญญาคือข้อมูลที่จำได้ ตั้งแต่เด็กมามีสมบัติอยู่ที่ไหน? ใครเป็นหนี้เป็นสิน นี่มันจะต้องพลัดพราก

สังขารคือความปรุงแต่ง จะเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ ความคิด ความปรุงนี่มันจะเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ตามแรงปรารถนา

วิญญาณรับรู้นี่

สิ่งที่ขันธ์ ๕ เราต้องพลัดพรากจากมัน เห็นไหม นี่มันไปกับเรา มันคิดวิตกกังวล แต่มันก็ไปกับเรา แต่เวลาพระอรหันต์จะตายนะ เวลาพระอรหันต์จะตายมันไม่มีสิ่งนี้เลย รูปคือความรู้สึกนึกคิดดับหมดแล้ว ความคิดแง่บวก แง่ลบมันรู้เท่าหมดแล้ว สัญญาข้อมูลที่ในหัวใจมันได้ตัดรากขาดหมดแล้ว ความคิดสังขารวิตกกังวลที่จะเป็นไป ไม่เป็นไปมันไม่มีอีกแล้ว ไม่มีคือไม่เกิดไม่ดับไง ถ้ามันมีนะ เพราะมันยังมีเราใช่ไหม? มีเรา มีภาระรับผิดชอบ มีสิ่งดี สิ่งชั่วที่อยู่ในใจจะต้องชดใช้ นี่มันต้องไป นี่สังขารมันขาดหมดแล้ว ขาดตั้งแต่กิเลสมันขาด

ฉะนั้น วิญญาณนี่ไม่ต้องพูดถึง วิญญาณมันเป็นสิ่งอายตนะภายนอก วิญญาณเกิดจากความรู้สึกนึกคิด มันไม่ใช่ปฏิสนธิวิญญาณ เพราะตัวปฏิสนธิวิญญาณมันได้ทำลายแล้ว พอมันทำลายแล้วนี่มันทำลายที่นี่ พอมันทำลายที่นี่ เห็นไหม ขันธ์ ๕ เป็นภาระ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ความรู้สึกนึกคิดนี่เป็นภาระ เป็นภาระความรับผิดชอบที่มีอยู่

เหมือนเราเกิดเป็นมนุษย์ใช่ไหม? มนุษย์ก็คือมนุษย์ แต่มนุษย์ที่สะอาดแล้ว ร่างกายความเป็นอยู่ก็คือมนุษย์ แต่จิตใจมันไม่ใช่ แต่เราเป็นมนุษย์ปุถุชน เราเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์มีกิเลส มีความวิตกกังวล มีทุกอย่างในหัวใจแบกรับไปหมดเลย ทีนี้เวลาตายไปมันก็เลยละล้าละลัง แต่เวลาพระอรหันต์ตายอีกเรื่องหนึ่ง มันไม่เป็นแบบนี้ ฉะนั้น สิ่งที่ว่า

ถาม : เทวดาและมนุษย์จะเห็นตถาคตต่อเมื่อมีร่างกาย

หลวงพ่อ : ถูกต้อง ถูกต้องเพราะอะไร? เพราะมนุษย์เห็นรูปร่างได้ นี่เราเห็นกันได้รูปร่างระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่เวลาเพื่อนมนุษย์ตายไปแล้วนี่เราไม่เห็น แต่เทวดาเห็นนะ เห็นจิตวิญญาณ แต่เวลาเทวดาจะไม่เห็นตถาคตต่อเมื่อตายไปแล้ว ถ้ามนุษย์นี่ตาย คนเรานี่มนุษย์คนใดก็ได้เป็นคนที่มีคุณประโยชน์มาก ทำความดีมาก แล้วจิตใจเขาอยู่กับความดีของเขา คนถ้าทำคุณงามความดีมากนะ แต่เวลาตายนี่ไพล่ไปคิดถึงความวิตกกังวลที่เคยทำความชั่วไว้ ไปเกิดในนรกอเวจีก่อนนะ แล้วพอพ้นจากนรกถึงเป็นเทวดา

แต่ถ้าคนทำคุณงามความดีไว้มาก เวลาจะตาย เห็นไหม คนโบราณเขาบอกเวลาคนจะตายให้นึกถึงพระๆ นึกถึงคุณงามความดี คุณงามความดีคือความคิด สัญญาอารมณ์นี่จิตเกิดตามนั้น ถ้าจิตเกิดตามนั้น นี่คนๆ นี้เป็นคนทำคุณงามความดีมาก เวลาตายไปแล้วจิตเขาอยู่กับคุณงามความดีของเขา เวลาเขาตายไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ดีๆ เขาจะไปเกิดเป็นเทวดา ทีนี้เทวดาเขาก็มีจิตวิญญาณใช่ไหม? ถ้ามีจิตวิญญาณ เขาก็จะเห็นจิตวิญญาณของคนที่ตาย

ฉะนั้น นี่เวลามนุษย์เห็นร่างกายตถาคตได้ แต่เทวดาเขาก็เห็นร่างกายของเทวดาได้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาตายแล้วทำไมเทวดาไม่เห็นล่ะ?

เขาบอกว่า “เทวดาและมนุษย์จะไม่เห็นตถาคต ถ้าตถาคตละกายไปแล้ว คือตถาคตตายไปแล้ว”

เพราะว่าเวลาจิตนี่ภวาสวะไง จิตนี่เวลาไปเกิด เห็นไหม เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมในวัฏฏะ กามภพ รูปภพ อรูปภพ กามภพตั้งแต่เทวดาลงมา อรูปภพนี่พรหม รูปภพ-อรูปภพ ทั้งเทวดาและมนุษย์ด้วย

ฉะนั้น สิ่งที่มนุษย์นี่ ถึงจะเป็นจิตวิญญาณ เป็นนามธรรมก็เห็นไง เทวดาเห็นพวกเขาได้ แต่เวลาพระพุทธเจ้านิพพานแล้วทำไมไม่เห็นล่ะ? ไม่เห็น เพราะจิตนั้นมันไม่ไปเกิดไง จิตนั้นมันไม่ไปเกิดเป็นเทวดาไง จิตนั้นมันไม่ไปเกิดเป็นพรหมไง จิตนั้นมันภวาสวะ ตัวภพได้ทำลายแล้วไง ผู้ใดเห็นธรรม นี่ธรรมอันละเอียดไง ฉะนั้น เทวดาถึงไม่เห็น

มนุษย์ก็ไม่เห็น เทวดาก็ไม่เห็น นี่มันเป็นความจริงอยู่แล้ว มันเป็นความจริงอยู่แล้วแต่ความจริงของธรรมไง แต่เราเอาความรู้สึกนึกคิดทางโลก ทางวิทยาศาสตร์ ทางที่เรารับรู้ได้ แล้วเราก็ไปคาดหมายกันไง เราไปคาดหมายกันเองว่าจะต้องเป็นแบบนั้น ฉะนั้น พอไม่เป็นแบบนั้น นี่ถึงต้นเหตุใช่ไหม? ทีนี้พอคำถาม คำถามมาบอกว่า

ถาม : คนทั่วไปเข้าใจว่าอย่างนั้น เขาว่าเป็นบุคลาธิษฐาน เป็นต่างๆ

หลวงพ่อ : ไม่ใช่ ไม่ใช่หรอก แล้วคำถามนี่เราไม่อ่านหมด เพราะเราไม่อยากจะให้มัน เพราะว่านี่เขาถามมาว่าแล้วทำไมครูบาอาจารย์เรา หลวงปู่มั่น ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอนุโมทนา อ้าว องค์หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอะไรล่ะ? แล้วอนุโมทนา นี่เราจะบอกว่าวุฒิภาวะที่สูง-ต่ำกว่ากัน ถ้าวุฒิภาวะระดับนี้ นี่มนุษย์ก็รับรู้เรื่องของมนุษย์ได้ เทวดาก็รับรู้เรื่องของเทวดาได้ พรหมเขาก็รับรู้เรื่องของพรหมได้ แล้วผู้ที่สิ้นกิเลสเขาก็ต้องรู้เรื่องของผู้ที่สิ้นกิเลสได้ อันนี้มันข้อยกเว้น

มันข้อยกเว้นหมายถึงว่าในพระไตรปิฎกนะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่สอนคนมีกิเลส สอนคนที่มีกิเลส พยายามต่อสู้กับตนเองนะ พยายามต่อสู้กับตนเอง เอามรรคญาณ เอาสติปัญญาของเราเข้าไปในใจของเรา แล้วไปชำระล้างสิ่งที่เป็นอวิชชา เป็นความไม่รู้ในหัวใจของเรา เราต่อสู้กับสิ่งนี้ ถ้าต่อสู้กับสิ่งนี้ กระบวนการสิ่งนี้จบสิ้นไปแล้ว นี่มันจะรู้ผู้ใดเห็นธรรม เห็นธรรม เห็นความเป็นจริงมันก็เข้ากันได้ พอเข้ากันได้มันก็เป็นทางเดียวกัน

ฉะนั้น ไม่ต้องมาสงสัยสิ่งนี้ แล้วจะไม่พูดให้มันลึกไปกว่านี้ ถ้าลึกไปกว่านี้เราก็จะเป็นจำเลยของโลก ต้องให้โลกมาตั้งคำถามอยู่ทุกวันๆ นี้ไม่ไหว ถ้าเราพูดไปอีกมันก็เป็นจำเลยของโลกเลย ทำไมหลวงพ่อว่าอย่างนั้น? ทำไมหลวงพ่อว่าอย่างนั้น? อ้าว ไอ้ที่ว่าอย่างนี้ คำถามที่ถามมาว่าทำไมเป็นอย่างนั้น? ทำไมหลวงปู่มั่นเป็นอย่างนั้น?

อันนี้มันเป็นบุคลาธิษฐาน มันเป็นสิ่งที่เรายกเป็นตัวอย่างขึ้นมา ในเมื่อคำถามเขาสงสัยประเด็นใด เราก็จะมีเหตุ มีผลเพื่อไปชำระความลังเลสงสัยเขาเป็นประเด็นๆ ไป ฉะนั้น สิ่งที่เป็นประเด็นมันก็ไปแก้ความลังเลสงสัยของผู้ถาม ของคนๆ นั้นมันก็จบไปแล้ว

ฉะนั้น สิ่งที่มันเป็นประโยชน์ เหมือนการให้ยา หมอให้ยาคนไข้ คนไข้ได้หายจากโรคนั้นแล้ว ยานั้นเพื่อคนไข้คนนั้นก็จบไป ทีนี้คนนี้ไม่ได้เป็นไข้ก็ไปเอายาชนิดนั้นมา บอกว่ายาชนิดนั้นจะรักษาโรคอย่างนี้ๆ ได้ไหม? ยาชนิดนั้นๆ ให้เป็นไข้ก่อน ให้ไม่สบายก่อนแล้วค่อยมาถามหายาไง ไอ้นี่บอกเลยยาอย่างนั้นชนิดนั้นใช้อย่างไร?

ฉะนั้น สิ่งที่มันเป็นเรื่องหลวงปู่มั่น เรื่องครูบาอาจารย์ยกไว้ เวลาเรายกเรื่องครูบาอาจารย์มาเป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่าง เป็นคติธรรม แต่พระกัสสปะ พระกัสสปะนะถือธุดงควัตร เห็นไหม อายุเท่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๘๐ ปีเหมือนกัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถาม

“กัสสปะเอย เธอก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ทำไมเธอต้องถือธุดงค์ด้วยล่ะ?”

นี่พระกัสสปะบอกว่า “ข้าพเจ้าทำเพื่อเป็นคติธรรม ไว้กับอนุชนรุ่นหลังได้เป็นคติแบบอย่าง ข้าพเจ้าไม่ได้ทำเพื่อข้าพเจ้าเลย”

เพราะพระกัสสปะเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ไม่มีกิเลส พระอรหันต์ไม่มีกิเลสจะลงธาตุขันธ์อย่างไรก็ได้ แต่มันเป็นที่อำนาจวาสนาของคน ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีกิเลส แต่เพื่อประโยชน์กับสังคมโลก สังคมต่อไปในอนาคต มันอยู่ที่อำนาจวาสนาบารมี มันเป็นเรื่องธรรมดาไง เรื่องธรรมดาความเคยชิน อย่างเช่นพระอรหันต์ พระอรหันต์ชำระกิเลสได้นะ แต่ชำระนิสัยไม่ได้ ดูพระสารีบุตรสิ พระสารีบุตรเวลาเขานิมนต์ไป เห็นไหม ไปร่องสวนยังกระโดดข้ามร่องสวนไป ดูอย่างสันตกายไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แต่สงบเสงี่ยมจนคนเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์

นี่สิ่งนี้สิ่งที่ว่าละกิเลสได้ แต่ความเคยชินอันนั้น ความเคยชินมันก็คือความเคยชิน ฉะนั้น ถ้าพระอรหันต์ไม่มีกิเลสแล้ว ความเคยชินอย่างนั้น หรือทำความสะดวกสบายโดยที่ไม่ผิดธรรมวินัยก็ได้ แต่ถ้าครูบาอาจารย์บางองค์ เห็นไหม ท่านทำของท่านเพื่อประโยชน์กับผู้ที่เอาเป็นคติแบบอย่าง ก็เหมือนกัน ฉะนั้น สิ่งที่ว่าครูบาอาจารย์เราที่ยกขึ้นมานี่มันจบ อย่าเอาไปเทียบกับคนอื่น เราไม่ใช่จำเลยของใครนะ เราไม่ใช่จำเลยของโลก เราไม่ใช่จำเลยของใคร

ฉะนั้น เรื่องที่ว่าเราพูดไปแล้วจะเอาคำพูดนั้นกลับมาถาม เห็นไหม ทำไมเป็นอย่างนั้น? ทำไมเป็นอย่างนั้น? เพราะเราให้ยา ให้ยาเฉพาะบุคคลคนนั้น ถ้าคำถามเขามีปัญหามา เราก็ตอบปัญหาแล้วก็ยกตัวอย่าง ตัวอย่างอย่างนี้ เหตุผลให้เขาเห็นได้ พอเขาเห็นได้ พอจิตใจเขาปล่อยวาง จิตใจเขาเข้าใจได้ นั่นแหละคือความปรารถนาของเรา ความปรารถนาคือแก้ความลังเลสงสัย แก้ความวิตกกังวลของคน นี่คือหน้าที่ คือว่าเป็นหน้าที่ เราทำเพราะเหตุนี้ ทำเพื่อประโยชน์ตรงนี้ ตรงอื่นไม่เกี่ยว

ถาม : ๒. แล้วประโยคที่ว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจะเห็นตถาคตชั่วเวลาที่กายของตถาคตดำรงอยู่ ถ้ากายแตกสิ้นไปแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจะไม่เห็นตถาคต เทวดาและมนุษย์ที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงพระอรหันต์ที่ยังดำรงขันธ์อยู่ด้วยใช่ไหมครับ?

หลวงพ่อ : ก็เทวดาไง ถ้าเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามียังเกิดอยู่ ยังเกิดในชั้นเป็นเทวดาอยู่ ถ้าเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ฉะนั้น ในเทวดานี่มีเทวดาปุถุชนกับเทวดาอริยบุคคล อริยบุคคล ถ้ายังไม่สิ้นกิเลสนะก็ยังเกิดตายในวัฏฏะ แต่ถ้าพูดถึงเป็นพระอรหันต์แล้วจบ ไม่มีการเกิดตาย ฉะนั้น มันพ้นไปจากเทวดา และพ้นไปจากมนุษย์

ฉะนั้น ไม่ได้หมายความถึงพระอรหันต์ใช่ไหม? อันนี้มันเป็นเป้าหมายของชาวพุทธ ที่ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วจะไม่ลังเลสงสัยในธรรม ฉะนั้น เราไม่ต้องไปวิพากษ์ตรงนั้น เราวิพากษ์เฉพาะสิ่งที่เราไม่รู้ สิ่งที่จะแก้ไขอยู่นี่ ยา จะสมควรแก่ผู้เจ็บไข้ได้ป่วย ยา ไม่สมควรแก่ผู้ที่ไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อถ้าเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว จิตพ้นจากกิเลสไปแล้ว พ้นจากทุกๆ อย่าง ไม่ต้องเอามาพูดกันอย่างนี้ ทีนี้คำที่ว่า

“ไม่รวมถึงพระอรหันต์ที่ดำรงขันธ์อยู่ ใช่หรือไม่ใช่อย่างไร?”

อันนี้จบไป จบไปเพราะว่าจบ มันเรื่องของครูบาอาจารย์ไง ฉะนั้น สิ่งที่ว่าครูบาอาจารย์ท่านสอนอยู่นะ ถ้าเหตุการณ์มันเล็กน้อย เราก็ใช้ปัญหาที่เล็กน้อยนี้ตอบ ถ้าเหตุการณ์ที่มันใหญ่โต เราก็ใช้เหตุการณ์ที่ใหญ่โตมาตอบ แต่นี้มันอย่างที่ว่านี่ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคตมันก็เป็นธรรมที่สูง ธรรมที่สูงที่ว่าเข้าใจได้ แต่นี้พอบอกว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ตถาคตเห็นเรา เห็นเราตถาคต เราคือใคร? ความสับสนมันเกิด ถ้าความสับสนมันไม่มีแล้วนะ ปฏิบัติไปด้วยความถูกต้องดีงาม มันจะดีงามของมันได้

อันนี้เป็นข้อที่ ๑. ฉะนั้นข้อต่อไปนะ

ข้อ ๗๑๗. ไม่มีเนาะ

ถาม : ๗๑๘. เรื่อง “เพราะไม่รู้จริง”

หลวงพ่อ : คำถามถามว่าเขานอนแล้วเขาฝัน พอเขาฝันเสร็จแล้วเขาก็ใช้ความฝันของเขามาพิจารณา มาพิจารณาเป็นคติธรรมของเขา แล้วมันก็เป็นคำถามมาถึงเราแล้ว เป็นคำถามว่า

ถาม : ความฝันนี่เป็นความจริงหรือไม่เป็นความจริง

หลวงพ่อ : ความฝันนะ สิ่งที่เป็นความฝัน ฝันถึงเหตุการณ์ของเขาอยู่ พอฝันไปแล้วนี่เขามาฟังธรรม พอฟังธรรมก็บอกว่า ฟังธรรมนะ ในธรรมของหลวงตาฟังว่า

“เราสามารถที่จะมีสติหรือขาดสติได้เหมือนกัน ดังนั้น ความฝันจึงเป็นสิ่งที่เราแค่รับรู้เฉยๆ และมีทั้งที่สามารถทำให้รู้ผิดชอบ รู้ดี รู้ชั่วได้”

ฉะนั้น คำว่ามีสติหรือไม่มีสติ นี่ความฝัน เห็นไหม ความฝันเป็นความฝัน ฉะนั้น นี่พูดถึงความฝัน ไอ้คำถามแรกเขาว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นตถาคต” นี้ความเป็นจริง แต่นี้ถ้าเป็นความฝันล่ะ? นี่ความฝันเป็นความจริงหรือเปล่า? ความฝันนะมันอยู่ที่คุณภาพอีกแหละ ถ้าคุณภาพของจิตดี ความฝันนะ อย่างเช่นในพระไตรปิฎกบอกพระอรหันต์ฝันไม่ได้ พระอรหันต์ไม่มีฝัน ถ้าฝันไม่ใช่พระอรหันต์ แต่นั้นเวลาในคำถามว่าหลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์หรือเปล่า? แล้วหลวงปู่มั่นท่านฝันหรือเปล่า?

นี่คำว่าความฝันนะ เวลานอนฝัน เช่นหลวงปู่ขาว ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอรหันต์ เวลาฝันขึ้นมาเพราะมันไม่มีกิเลส ความฝันนะส่วนใหญ่แล้วจะเป็นความจริง นี่เป็นความฝันนะ แต่ถ้าไปนั่งสมาธิล่ะ? นั่งสมาธิ เวลาพระอรหันต์นะ พระอรหันต์เขาจะรู้ถึงศักยภาพของร่างกายและจิตใจ อย่างเช่นรถ ใครที่เป็นเจ้าของรถ ใครที่มีรถเขาจะดูแลรักษารถของเขา รถนี้ไม่เคยได้อุ่นเครื่อง รถนี้จอดทิ้งไว้เลย ซื้อรถมาก็จอดทิ้งไว้เลย รถนี้ต่อไปก็จะเสียหาย

แต่รถนี้เราดูแลรักษาเขา จิตใจและร่างกายก็เหมือนกัน ถ้าร่างกายของเรา เห็นไหม เวลาพระอรหันต์นะวิหารธรรม เวลาพระอรหันต์นั่งสมาธินั่งทำไม? ก็นั่งเพื่อให้ขันธ์กับจิตแยกออกจากกัน เหมือนรถมันได้อุ่นเครื่อง รถนี่ได้ดูแลรักษา ถ้าดูแลรักษารถนี้จะใช้งานได้มาก

สังเกตได้ไหม? เช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาอยู่ทั้งวัน อยู่ทั้งวันเพราะท่านพัก ท่านพักในสมาธิ สมาธิคือการพักจิต สมาธินี่เดินจงกรมคือวิหารธรรม คำว่าวิหารธรรม เห็นไหม การทำอย่างนี้มันไม่ได้ทำเพื่อชำระกิเลส เพราะไม่มีกิเลสให้ชำระ

อย่างพวกเรา อย่างพวกปุถุชนเรานี่ ภาวนา เดินก้าว ๒ ก้าวก็จะล้ม นั่งสมาธิมันก็หัวทิ่มหมอน นี่มันทำไมภาวนาไม่ได้เลย ทำไมครูบาอาจารย์ที่ไม่มีกิเลส ทำไมท่านยังภาวนาได้แจ่มแจ๋ว นั่งสมาธิได้มีความสุข มีวิหารธรรม ไอ้เรากิเลสท่วมหัว ภาวนานี่หัวทิ่มบ่อๆ ทำอะไรไม่ได้เลยเพราะอะไร? เพราะมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มีกิเลส กิเลสมันทำก็ไม่ได้ เดี๋ยวจะไม่สบาย อย่างนี้ตลอดไป

ฉะนั้น เวลาคนที่กิเลสท่วมหัว เวลาฝันมันก็ฝันแต่เรื่องกิเลสทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าพระอรหันต์เวลาฝัน เขาบอกพระอรหันต์ฝันไม่ได้ อันนี้มันเป็นประเด็นนะ เป็นประเด็นในพระไตรปิฎก ไม่อยากยืนยันเดี๋ยวเป็นจำเลยอีก เป็นจำเลยทุกข้อๆ ไม่ไหว มีแต่เป็นจำเลยโลกตลอดเลย เราจะบอกว่าครูบาอาจารย์ท่านฝันมันมีสติไง นี่เขาบอกว่า “มีสติหรือไม่มีสติ”

ฝันหรือนิมิต เวลานั่งสมาธินี่เห็นนิมิต เห็นไหม ว่าเป็นนิมิต ถ้าเป็นนิมิตเราก็บอกว่าโอ้โฮ นิมิตนี้มีคุณภาพมาก พระอรหันต์เห็นอะไร รู้อะไรล่วงหน้า จะบอกอะไร รู้อะไรได้ล่วงหน้า เราก็จะเงี่ยหูฟังกันหมดเลย จะฟังแต่ว่าพูดเรื่องอะไร? แต่ถ้าเป็นความฝันนะ บอกว่าเมื่อคืนฝันว่ะ เห็นไหม มันผ่อนลงแล้ว มันผ่อนลง ไม่ให้คนไปยึดมั่นถือมั่น

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ เช่นหลวงปู่ขาว ครูบาอาจารย์เราท่านจะพูดเล่าเรื่องฝัน เรื่องอะไร นั่นล่ะของจริงทั้งนั้นแหละ แต่ท่านพูดด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตน ท่านพูดด้วยการไม่ให้เกิดอีโก้ ไม่ให้เกิดการยึดมั่นถือมั่น ท่านพูดเตือนสตินะ บางทีหลวงตาท่านบอกว่า “เมื่อคืนฝันว่ะ ฝันว่ะ” ฝันนั่นล่ะของจริงทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าเป็นไอ้พวกขี้หมูรา ขี้หมาแห้งบอก อู๋ย เมื่อคืนนะได้อย่างนั้นๆ นี่เพื่อจะยกหางตัวเองไง แต่ครูบาอาจารย์เราท่านจะไม่ยกหางนะ เพราะยกหางมันคนมีกิเลส แต่ครูบาอาจารย์ที่ไม่มีกิเลสท่านไม่มีหางให้ยกหรอก

ฉะนั้น เราจะบอกว่าเวลาฝันนี่ เวลาฝันถ้าจิตมันดีนะ มันก็ฝันได้ ถ้ามันฝันนะ จิตดี คุณภาพของจิตดีนี่ฝันแล้วมันก็จะมีเรื่องจริงมากกว่าเรื่องไม่จริง เห็นไหม ฉะนั้น เขาถามว่าสิ่งที่เขาฝันมันจะลงตรงนี้ไหม? ลงที่ว่า

“สิ่งที่ฝันนี่จริง แต่ความฝันนั้นไม่จริง”

คำพูดนี้เป็นคำพูดของหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ท่านเตือนลูกศิษย์ไว้เยอะ

“สิ่งที่เห็นจริงไหม?”

“จริง”

“แต่สิ่งที่เห็นนั้นจริงหรือไม่จริง”

นี่สิ่งที่เห็นเป็นสมมุติจริงไหม? สิ่งที่เราเห็นภาพนี่จริงไหม? เห็นภาพจริงๆ นี่มันจริงไหม? มันเป็นภาพอย่างที่เราเห็นจริงหรือเปล่า? ฉะนั้น บอกว่าสิ่งที่เห็นนี่จริง แต่ภาพนั้นเขาวาดขึ้นมา ภาพนั้นเขาสร้างขึ้นมา แล้วมันจริงหรือเปล่าล่ะ? เห็นไหม เพื่อจะให้เรามองว่าทุกสรรพสิ่งในโลกนี้มันเป็นอนิจจัง นี่คำพูดของครูบาอาจารย์แต่ละคำมันจะมีเนื้อหาสาระ มันจะมีคติธรรมให้เราได้ใช้ประโยชน์มหาศาลเลย แต่เราจะใช้หรือไม่ใช้ล่ะ? เราจะมีสมองพอจะคิดได้ถึงไหมล่ะ? ถ้าเรามีสมองพอคิดถึง นั่นเป็นตรรกะนะ แต่ถ้าเป็นความจริงไม่ใช่ เป็นความจริงอีกอย่างหนึ่ง

ฉะนั้น เขาจะถามว่า “สิ่งที่เขาเห็นนี่จริงหรือเปล่า? แล้วฝันนี่เป็นจริงไหม?”

เราจะไม่มีอำนาจเหนือกับจิตวิญญาณหรือความรับรู้ของใคร เราจะมีอำนาจกับความรู้สึกของเราเท่านั้น ถ้าเรามีอำนาจกับความรู้สึก เราฝันแล้วมันให้คติอะไรกับเราบ้าง สิ่งที่ฝันมันเกิดขึ้นมาจากเรานะ แล้วเราก็เป็นคนรับรู้เพราะเราฝัน ส่วนใหญ่ฝันเสร็จแล้วก็ไปหาอาจารย์ นี่ฝันอย่างนี้คืออะไร? ฝันอย่างนี้คืออะไร? ก็ฝันเอง ก็ฝันเองรู้เอง แล้วไปถามคนไม่ได้ฝัน ไอ้คนฝัน มันฝันแล้วก็ไปถามคนอื่น แต่ถ้ามันฝันแล้วมันให้คติอะไรกับเรา นี่ตรงนี้สำคัญ

ถ้ามันให้คติกับเรา เป็นความดีกับเรา เป็นสิ่งที่ให้หัวใจนี้ชุ่มชื้น นี่เวลาภาวนาไป ถ้าจิตสงบนะมันอบอุ่น มันสดชื่น เห็นไหม นี่ถ้าความฝันมัน เวลาผู้ที่ปฏิบัติมีคุณธรรมนะ เวลาจิตเขาเรียกว่า “ธรรมเกิดๆ” มันจะเหมือนกับฝัน ฝันจะมีเรื่องเข้ามาใช่ไหม? แต่ถ้าเวลาเรานั่งสมาธิไป พอจิตมันลงนะมันจะมีธรรมะ คือสิ่งที่เป็นคติธรรมเป็นข้อๆๆ เตือนมาเลย นี่เขาเรียกธรรมเกิด แต่ไม่ใช่อริยสัจ

ถ้าอริยสัจนะจิตต้องสงบ พอจิตสงบแล้วนี่ จิตน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นสิ่งที่เป็นวัตถุที่จับต้องเลย พอจับต้อง กิเลสของเรามันอาศัยกาย อาศัยเวทนา อาศัยจิต อาศัยธรรมออกไปหากิน แบบเชื้อโรคเลย เชื้อโรคมันจะแสดงตัว เพราะมันต้องอยู่ในร่างกายเราใช่ไหม? พออยู่ในร่างกายเรา มันก็ทำให้ร่างกายเราเจ็บไข้ได้ป่วยใช่ไหม? นี่เชื้อโรค แล้วเราก็กินยาเข้าไปใช่ไหม? เราก็รักษาขึ้นมาให้เชื้อโรคนั้นหาย ฆ่าเชื้อโรคนั้น เชื้อโรคนั้นตายไป

อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่เวลามันคิดขึ้นมา เวลาจิตมันสงบขึ้นมา เห็นไหม จิตสงบมันเห็นธรรมนั้นอย่างหนึ่ง แต่ถ้าจิตมันเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาที่ชำระกิเลส กิเลสมันเหมือนเชื้อโรค พอเชื้อโรคมันอาศัยกาย อาศัยเวทนา อาศัยจิต อาศัยธรรมออกไปเพิ่มพูนเชื้อโรคให้เข้มแข็งขึ้น ฉะนั้น เวลาจิตเราสงบแล้วเราเห็นกาย เราพิจารณาให้แปรสภาพ คือว่ามันมีเชื้อโรคอยู่ในนั้น

ถ้ายา ยาคือมรรคญาณ ยาคืออริยสัจ มันเข้าไปแยก ไปแยะ ไปทำลาย เห็นไหม เวลากิเลสมันขาด เชื้อโรคมันตายไป นี่อันนี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ อันนี้เป็นวิปัสสนา อันนี้เป็นอริยสัจ แต่เวลาจิตสงบ แล้วมันเกิดคติธรรมขึ้นมา เกิดเป็นคำๆ มา อย่างเช่นที่หลวงตาท่านพูด จิตของท่านนี่สูงมาก เพราะจิตของท่านเวลามองไปทะลุภูเขาเลากา โลกนี้ไม่มีอะไรเลย มีแต่ความว่างหมดเลย แล้วเวลาคติธรรมเกิด เห็นไหม นี่ที่ว่าธรรมมาเตือนๆ นี่ธรรมมันเกิด

“จิตที่มันสว่างไสว จิตที่มันผ่องใส มันเกิดจากจุดและต่อม เกิดจากจุดและต่อม”

ท่านบอก เห็นไหม นี่ธรรมมาเตือนไง นี่เวลาธรรมเกิด ธรรมมาเตือน แต่ท่านยังงงนะ พอเกิดแล้วท่านงงใหญ่เลย จับไม่ได้ ท่านต้องพิจารณาอยู่พักหนึ่งเลย แล้วย้อนกลับมาถึง อ๋อ อะไรเป็นจิต อะไรเป็นจุด อะไรเป็นต่อม แต่ขณะที่คติธรรมเกิดขึ้นมานี่มันเป็นคำพูดใช่ไหม? แต่เราไม่มีข้อเท็จจริง ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่พอมันได้อันนั้น พอธรรมนี้มาเตือนปั๊บท่านก็มาค้นคว้าของท่าน อะไรเป็นจิต? อะไรเป็นจุด? อะไรเป็นต่อม? แล้วจุดมันอยู่ที่ไหน? ต่อมมันอยู่ที่ไหน?

พอมันเข้าไปหาจุด หาต่อมขึ้นมา อ๋อ ไอ้ที่ว่างๆ หมดเลย จิตที่มันส่งออกไปมันทะลุภูเขาเลากา มันเกิดจากจุดและต่อมนี้ พอเข้าถึงจุดและต่อมนี้ พอจับจุดและต่อมนี้ได้ท่านก็มาพิจารณา เห็นไหม อันนี้เป็นอริยสัจ แต่เวลาขณะที่เกิดเป็นจุดและต่อม ตอนนั้นเป็นอริยสัจหรือยัง? ไม่เป็น เป็นธรรมเกิด ธรรมะเกิด ธรรมะมาเตือนๆ ฉะนั้น เวลาภาวนาไปนี่ธรรมะมาเตือน

นี่เราจะเปรียบเทียบฝัน ฝันกับคติธรรม ธรรมที่มาเตือนมันเป็นคนละอย่าง มันยังลึกลับซับซ้อนนะ เรื่องของจิตนี้ลึกลับซับซ้อนมาก เวลาหมอเขารักษาคนไข้ รักษาคนไข้นะมันก็เพาะเชื้อ เข้ากล้องจุลทรรศน์มันก็รู้ว่าเป็นโรคอะไร แต่เวลาภาวนาไป เวลาจิตมันเป็น จิตมันเป็น มันไปรู้ ไปเห็นเข้า แล้วเราจะตามอาการนะ

เวลาครูบาอาจารย์ที่รักษาคนไข้ คือหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เราที่แก้จิต เขาแก้ไปตามพันธุกรรมของมัน พันธุกรรม จิตที่มันคึกคะนอง พระอรหันต์ เห็นไหม สุกขวิปัสสโก เตวิชโช มันมีพื้นฐานมาแตกต่างกันหมด พื้นฐานแตกต่างกัน เหตุที่เกิดแตกต่างกัน โรคภัยไข้เจ็บแตกต่างกัน แตกต่างกันหมดเลย แล้วเวลารักษาต้องตามอาการ แล้วดึงกลับมาพิจารณาจนเขาหาศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ ของเขาโดยสมบูรณ์

นี่ธรรมโดยสมบูรณ์ มรรคญาณโดยสมบูรณ์ แล้วถ้ามันพิจารณาไป แล้วมรรคมันรวมตัวสมุจเฉทปหาน มรรคสามัคคีรวมตัว คือยานี่สมดุล พอสมดุลขึ้นมา ยามีกำลังพอมันก็เข้าไปชำระกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นั้นคือการรักษาแบบครูบาอาจารย์ของเรา การรักษาแบบนี้มันต้องมีจริง ถ้ามันไม่มีจริงทำอะไรไม่ได้หรอก

ฉะนั้น สิ่งที่เขาบอกว่า “นี่เป็นความฝันหรือเปล่า?” แล้วถ้าเป็นความฝันนี่มันฝันเพราะไม่รู้จริง ทำให้เขาเกิดความลังเลสงสัย แล้วสิ่งที่ฝัน นี่ฝันแล้วเขาเอาฝันนี้มาเปิดเทศน์หลวงตาฟัง พอฟังเทศน์หลวงตาเสร็จแล้วก็มาถามเรา นี่มันถามใครไม่ได้มันก็มาถามเรา พอมาถามเรา เราตอบเพราะว่ามันมาเข้ากับอันนี้ไง มันมาเข้ากับว่า “เรื่องสงสัยพุทธพจน์ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต”

อันนี้เป็นการปฏิบัติ เป็นถึงสัจจะความจริง มันเป็นความจริง เป็นความจริงแล้วนี่คนไม่เข้าใจก็ตีความให้มันต่ำลงมาเฉยๆ ว่าเห็นเราคือตัวเราหรือ? หรือเป็นบุคลาธิษฐาน หรือเป็นคำสั่งสอน ใช่มันเป็นบุคลาธิษฐาน แต่ถ้าทำจริง เห็นจริงแล้วมันจะซาบซึ้งมาก

ข้อที่ ๒. ความฝันนี่เราเป็นปุถุชน เราเป็นคนมีกิเลส นี่ฝันเหมือนกัน มันก็เป็นเรื่องนามธรรม ทำไมมันเข้ากับข้อแรกไม่ได้ ข้อแรกนั้นจิตมันลงลึกเข้าไปสู่ระดับของการวิปัสสนาญาณ ข้อที่ ๒. นี้มันเป็นเรื่องของจิตพื้นๆ ของพวกเรา ฉะนั้น ของพวกเรา ของพวกปุถุชน ของคนมีกิเลสมันก็เป็นเรื่องของจิตแพทย์ พวกจิตแพทย์ เห็นไหม เวลาคนไข้คนป่วยทางจิต เขาก็ใช้ทางการแพทย์นี้เพื่อรักษาให้จิตมันเป็นปกติ ถ้าจิตมันเป็นเรื่องปกติ เรื่องสามัญสำนึกมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ แต่เวลาปฏิบัติมันก็เริ่มต้นจากตรงนี้ เริ่มต้นจากความรู้สึกนึกคิด เริ่มต้นจากจิต หลวงตาท่านบอกว่า

“ไม่มีสิ่งใดสัมผัสธรรมได้ นอกจากความรู้สึกของคน”

ความรู้สึก เรื่องจิตวิญญาณนี่สัมผัสธรรมได้ตามความเป็นจริง จิตฟุ้งซ่านก็ฟุ้งซ่าน จิตสงบก็จิตสงบ จิตเกิดปัญญา จิตชำระกิเลส จิตนี้รู้เอง รู้เอง เห็นเองเพื่อจิตมั่นคงแข็งแรงขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอน ขณะที่จิตล้มลุกคลุกคลาน จิตที่ไม่มีกำลังเลย ฝันก็ไม่รู้ว่าฝัน สิ่งใดเกิดขึ้นมา ฟุ้งซ่าน ทุกข์ยากขนาดไหนก็ไม่รู้สึกตัวเอง ไม่รู้สึกตัวเองเลยว่าตัวเองทุกข์ตัวเองยาก แต่ทุกข์เพราะจับต้นชนปลายไม่ถูก

แต่พอมันยืนได้ขึ้นมา พอจิตมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เห็นไหม มีศรัทธา มีความเชื่อ กำหนดพุทโธ ใช้บริกรรม หรือใช้ปัญญาขึ้นมาจนจิตมันสงบ พอมันสงบเข้ามามันก็เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา มันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา แล้วพอมันออกใช้ปัญญาเป็น ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่การงาน เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาแต่ตกงานไม่มีงานทำ มันก็เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความรับผิดชอบสิ่งใด

ฉะนั้น เวลาเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา ก็ทำสมาธิได้แต่ออกใช้ปัญญาไม่เป็น มันก็ยังเป็นผู้ที่ไม่มีหน้าที่การงานจนเป็นผลงานของจิตนั้น พอจิตมันมีหน้าที่การงาน มันพัฒนาของมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เห็นไหม มันก็จะก้าวเดินของมันเป็นชั้นเป็นตอน เป็นเรื่องของจิตทั้งนั้น เรื่องความรู้สึกนึกคิดที่สัมผัสธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ได้สัมผัส ได้รับรู้สึก ได้มีการกระทำ

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นอันเดียวกันนะ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ จิตที่มันมีหลักมีเกณฑ์คุยกัน พูดกันมันรู้ คนที่ไม่รู้พูดออกมา คนที่รู้ รู้ทันที คนที่ไม่รู้พูดออกมามันเลื่อนลอย มันเป็นสัญญา มันเป็นความจำ แต่ถ้าคนที่มีความจริงขึ้นมา พูดออกมานี่มันปักหลักปักฐาน มันมั่นคง แล้วพูดด้วยเหตุด้วยผลชัดเจน แล้วถามมา ถามขนาดไหนก็ไม่ไขว้เขว แต่ถ้าไม่มีหลักเกณฑ์นะ พูดคำแรกนี่ชัด แต่อย่าถามคำที่สองนะ มันจะตอบผิดจากคำแรกแล้ว แล้วยิ่งที่สาม ที่สี่ไปนะหลักลอย ไม่มีแล้ว เพราะอะไร? เพราะเราไม่มีหลัก เราไม่รู้จริง เราก็สงสัย แล้วถ้าถามมาแล้วมันเลื่อนลอย เห็นไหม นี้พูดถึงว่าถ้ามันพัฒนา

ฉะนั้น ข้อที่ ๑. กับข้อที่ ๒. ข้อที่ ๑. หมายถึงว่ามันเป็นเรื่องผู้ที่ปฏิบัติ มันเป็นเรื่องจริงไปเลยถ้าทำได้จริง ถ้าทำไม่ได้จริงก็เลื่อนลอยไปเลย ข้อที่ ๒. เรื่องความฝัน ความฝันมันก็อยู่ที่วุฒิภาวะ อยู่ที่เราใช้เป็นคติธรรม เราใช้ประโยชน์กับเรา ก็เป็นประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น เราจะบอกว่าสิ่งที่ฝันนั้นเป็นความจริงใช่ไหม? แต่สิ่งที่ฝันนั้นไม่จริง อันนั้นเป็นการเตือนของหลวงปู่ดูลย์ ในการเตือนผู้รู้ ผู้เห็นในการปฏิบัติว่าอย่าประมาท แต่ของเรานี่เราฝันของเราเอง คือเป็นเรื่องในบ้านของเรา เป็นเรื่องในหัวใจของเราเอง เป็นเรื่องเวร เรื่องกรรมของจิตเราเอง แล้วจิตเราฝันมันจะเชื่อได้หรือเชื่อไม่ได้ล่ะ?

ไม่ใช่ว่าสิ่งที่เห็นนั้นจริง แล้วสิ่งนั้นไม่จริง แต่เรารู้สึกเอง เห็นเอง ไม่มีใครมาหลอกลวง ไม่มีใครมาปั้นแต่งเรื่องนี้ขึ้นมา เรารู้เอง เห็นเอง แล้วมันเป็นคติธรรมกับเราได้ไหม? ถ้ามันเป็นคติธรรมได้เอาตรงนั้น เอาที่เป็นประโยชน์ ที่ไม่เป็นประโยชน์ทิ้งไว้ เพราะเราเกิดตายมาตั้งแต่อดีตชาติ ไม่มีต้น ไม่มีปลายจนมาถึงปัจจุบัน แล้วเราก็จะเกิด จะตายต่อไป

ฉะนั้น สิ่งที่เราทำอยู่แล้วมันก็เป็นสิ่งที่เรารู้ เราเห็น เราพัฒนามา ฉะนั้น สิ่งที่เป็นคติธรรมมันจะทำให้เรามีหลัก มีเกณฑ์ แล้วเราจะหักวัฏฏะได้ หักวัฏฏะหมายถึงภาวนาจนสิ้นสุดแห่งทุกข์ที่นี่ สิ้นสุดแห่งทุกข์ในหัวใจผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันเป็นคติธรรม แล้วเราสะเทือนใจนะ เราก็หาหลัก หาเกณฑ์ของเรา ทำเพื่อประโยชน์กับเรา

คนจะมั่งมีศรีสุข ทุกข์ทนเข็ญใจขนาดไหน สุดท้ายแล้วจะต้องทิ้งทุกอย่างไว้ในโลกนี้ แล้วไปแต่จิตวิญญาณของเรา แล้วจิตวิญญาณนี้มันจะไปสิ้นสุดกันที่ไหน? แต่ถ้ามีสติปัญญาเดี๋ยวนี้ แก้ไขเดี๋ยวนี้ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติแต่ไม่สิ้นสุดแห่งทุกข์ แต่ แต่เราได้สร้างสมบัติของเรานะ คนมีสมบัติพัสถาน จะออกเดินทางมันก็อบอุ่น คนไม่มีสิ่งใดติดเนื้อติดตัวไป ออกเดินทางละล้าละลังนะ

ถ้าเราปฏิบัติสิ้นสุดแห่งทุกข์ได้ก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าไม่ได้เราก็มีเสบียงติดตัวเราไป เอวัง