เทศน์พระ

มีภูมิ

๑o ธ.ค. ๒๕๕๔

 

มีภูมิ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ อากาศดี ถ้าอากาศดีนะ เราภาวนาดี ถ้าภาวนาดี เราเป็นพระกรรมฐาน

พระกรรมฐาน ปริยัติ ปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติแล้วไม่ต้องละล้าละลัง ถ้าเวลาปฏิบัติไปเกิดความลังเลสงสัย เราจะคิดว่าเราไม่ได้เรียนปริยัติมาก่อน คำว่า “เรียนปริยัติมาก่อน” เห็นไหม เรียนพุทธประวัติ เรียนประสบการณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งที่ท่านแสดงธรรม นั่นเรียนปริยัติ เรียนธรรมวินัยไว้เพื่อปกครองตัวเอง

แต่ในทางโลกนะ เรียนธรรมวินัยไว้ อย่างเช่น พระสังฆาธิการเวลาเป็นเจ้าอาวาสนะ การแต่งตั้งเจ้าอาวาส “ให้เกิดอธิกรณ์ในอาวาสนั้น ให้พระสังฆาธิการเป็นผู้ดูแล เป็นผู้เผดียงให้เกิดความมั่นคงของศาสนา” ธรรมวินัย เห็นไหม เวลาเป็นพระสังฆาธิการ นั่นเอาไว้ปกครอง

แต่เวลาในการประพฤติปฏิบัติ เราปฏิบัติของเรา เราต้องมีเหตุมีผล มีการกระทำของเรา ถ้ามีการกระทำของเรา เราจะเกิดความมั่นคง ถ้าเกิดความมั่นคงขึ้นมา นี่การปกครองคือการปกครองตนเองให้ได้ก่อน ถ้าตนเองปกครองตนเองไม่ได้ เราจะไปปกครองใคร นี่เหมือนว่าถ้าเรามีคุณธรรมในหัวใจของเรา เราแสดงธรรมออกมา เราเป็นผู้ชี้นำ เราจะชี้นำได้ถูกต้อง ฉะนั้น การปกครองต้องปกครองตัวเองก่อน

ในทางโลก ความเจริญของสังคมต้องอยู่ที่การศึกษา ถ้ามีการศึกษา สังคมนั้น คนที่มีปัญญาคุยกัน เวลาสังคมนั้น เวลาเขาตัดสินประเด็นในสังคมนั้นด้วยสติปัญญา เขาจะไม่เกิดมีปัญหารุนแรงจนเกินกว่าเหตุ แต่ถ้าคนไม่มีการศึกษา ไม่มีเหตุมีผล เอาแต่สัญญาอารมณ์ เอาแต่อารมณ์ของตน เอาแต่อารมณ์เป็นใหญ่ ไม่เอาเหตุเอาผลเป็นใหญ่ ถ้าเราเอาอารมณ์เป็นใหญ่ เห็นไหม เกิดปัญหาสังคมนั้นก็ทำให้ปัญหาสังคมนั้นรุนแรง เกิดผลกระทบจนเกิดการเสียหายไปมากมาย เพราะขาดการศึกษา

ฉะนั้น ถ้ามีการศึกษาขึ้นมาแล้ว ด้วยการที่มีเหตุมีผล เพราะมีการศึกษาทำให้คนๆ นั้นมีสติปัญญา มีเหตุ มีผล มีการรับรู้ มีการกระทำ มีการรับเหตุรับผลของบุคคลอื่น

ถ้าเวลาบุคคลอื่นเขามีเหตุมีผล คำว่าเหตุผล มันหักล้างความไม่มีเหตุมีผล หักล้างทิฏฐิมานะ หักล้างอวิชชา ความไม่รู้ เหตุผลนั้นมันขจัดสิ่งต่างๆ ให้เข้ารูปเข้ารอย ฉะนั้น ด้วยเหตุด้วยผล ทุกคนต้องยอมรับความชอบธรรม เหตุผลโดยความชอบธรรมนั้น ทุกคนต้องยอมรับ การศึกษานั้นถึงทำให้ตนเองปกครองตนเองได้ด้วยเหตุด้วยผล ในสังคมนั้นคุยกันด้วยเหตุด้วยผลเพราะมีการศึกษา มีปัญญา เหตุๆ นั้นจะทำให้ไม่ลุกลามใหญ่โตจนเกินไป นี่พูดถึงทางโลก การศึกษาของเขาเขายังมีประโยชน์กับเขา

เพราะการศึกษานั้นทำให้ไปทำลายความลังเลสงสัย ไปทำลายความไม่รู้ ความไม่รู้ก็ทำให้เกิดความลังเล ความลังเลก็เกิดด้วยการสงสัย การกระทำลูบๆ คลำๆ แล้วทำจนเป็นจริตเป็นนิสัย สังคมนั้นไม่มีเหตุมีผล สังคมนั้นเป็นสังคมที่เลื่อนลอย

แต่ถ้าปริยัติหรือมีการปฏิบัติ การปฏิบัตินี้คือการปฏิบัติเพื่อความรู้จริง ฉะนั้น เวลาศึกษามาเป็นปริยัติ ทางโลกสังคมจะมั่นคง สังคมจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นไป เพราะสังคมต้องมีการศึกษา แต่การศึกษานี้ศึกษามาแล้วมันก็ตายเปล่าๆ ไง มันตายอยู่กับโลกนี้ไง

โลกที่มีการศึกษา ดูสิ ในปัจจุบันนี้การศึกษาทางยุโรปเขาบอกกำลังเสื่อมโทรมลง เสื่อมโทรมลงเพราะไอคิวของเด็กต่ำลง การศึกษาของเด็กมันไม่เจริญรุ่งเรืองเหมือนกับยุคก่อน ยุคก่อนเด็กจะมีการขวนขวาย เด็กมีไอคิวมาก แล้วการศึกษาเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะมีการขวนขวาย

ในปัจจุบันนี้ทั่วทั้งโลกการศึกษาอ่อนด้อยลง อ่อนด้อยลงเพราะอะไร เพราะทางวิชาการเขาศึกษามา แล้วการศึกษาของเด็ก เด็กมันศึกษาแล้วถึงคราวอับจนไง มันศึกษาไปไม่ได้ มันศึกษาพอการดำรงชีวิตเท่านั้น พอความรู้ของโลกก็การศึกษาทางโลก ศึกษาของโลก โลกก็เป็นแบบนี้ ฉะนั้น ว่าการศึกษาในทางโลก ดูสิ ทางตะวันตกก็เหมือนกัน การศึกษาอ่อนด้อยลงเรื่อยๆ จนเป็นเหตุให้วิตกวิจารกันไปทุกรัฐบาลว่า การศึกษาของชาติอ่อนด้อยลงๆ มันไม่เหมือนคราวที่ยุคเฟื่องฟู ยุคเฟื่องฟูจะมีเด็กมีการศึกษาจะมีไอคิว จะมีทางวิชาการที่ต่อยอดขึ้นไปจนโลกเจริญขึ้นมา ฉะนั้น คนส่วนใหญ่ คนที่มีปัญญา เขาก็ยังทำของเขาได้อยู่

แต่โดยธรรม โดยธรรมคือโดยสามัญสำนึก โดยความเป็นไปของโลก คนจะมีจริตนิสัยให้ฉลาดปราดเปรื่องเหมือนบุคคลส่วนน้อยมันเป็นไปได้ยาก มันเป็นไปได้ยากเพราะอะไร เพราะทางธรรมของเราว่า “มันมีกรรม” กรรมของคนไม่เท่ากัน การกระทำของคนไม่เหมือนกัน การกระทำต่างๆ มันมีกรรมมาตัดมาทอนของมัน แต่โลกก็คือโลก ในเมื่อโลกเขามีการศึกษา เพราะการศึกษาทำให้เขาเกิดวุฒิภาวะ เกิดมีความรู้ของเขา

ในการประพฤติปฏิบัตินะ ในกึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง เจริญเพราะใคร? เจริญเพราะครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ท่านมีวุฒิภาวะของท่าน ท่านมีการกระทำของท่าน การกระทำแบบนี้ ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เจ้าลัทธิต่างๆ เขาปฏิญาณตนว่าเขาเป็นศาสดานะ เขาเป็นพระอรหันต์นะ เขาเป็นศาสดา เขาเป็นเจ้าของศาสนา ลัทธิศาสนาต่างๆ เขาจะรู้เรื่องขนาดไหน แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเขาแล้ว ด้วยวุฒิภาวะนี่ไม่เชื่อเลยๆ

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาที่ไหน ตรัสรู้ด้วยภาวนามยปัญญา ตรัสรู้ขึ้นมาด้วยอาสวักขยญาณ สิ่งที่ชำระกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ สิ่งนี้มันเหนือโลก พอมันเหนือโลกขึ้นมา พอคำว่า “เหนือโลก” แล้วจะวางธรรมและวินัยไว้ จะวางธรรมวินัยนี้ได้อย่างใด

ดูสิ พระจุนทะเป็นคนขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองว่า

“ในลัทธิศาสนาต่างๆ เวลาศาสดาเขาตายไป ในศาสนาเขาจะมีปัญหาไปหมด แล้วจะทำอย่างไรมันถึงจะเป็นความดี”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอบว่า “ต้องมีวินัย”

พระจุนทะให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติวินัยนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “บัญญัติไม่ได้”

“บัญญัติไม่ได้” หมายถึงมันไม่มีเหตุมีผล เราจะบัญญัติขึ้นมามันเลื่อนลอย จนมีพระประพฤติปฏิบัติขึ้นมานอกลู่นอกทาง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบัญญัติเหตุนั้นเป็นต้นเหตุ ต้นบัญญัติเป็นต้นบัญญัติ ต้นเหตุแล้วบัญญัติไว้

นี่ไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระจุนทะว่า ธรรมและวินัยจะทำให้ศาสนามั่นคง ศาสนามั่นคงคือว่ามีการสืบต่อไปด้วยกรอบ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมก็เหมือนกัน ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วจะวางธรรมวินัย จะสอนอย่างใด นี่เวลาสอน สิ่งที่เราได้มา ได้มาจากพระอานนท์ เวลาพระอานนท์จะได้เป็นอุปัฏฐาก แต่เดิมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอุปัฏฐากก็หมุนเวียนกัน จนถึงที่สุดพระเห็นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครูเป็นอาจารย์ที่ทุกคนลงใจถ้าคนที่เป็นธรรม แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีผู้อุปัฏฐากประจำ ถึงได้ตกลงกันประชุมกันให้พระอานนท์เป็นผู้อุปัฏฐาก

เวลาพระอานนท์เป็นผู้อุปัฏฐาก เวลาขอพรองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๑. ถ้าไปแสดงธรรมที่ไหน ถ้าพระอานนท์ไม่อยู่ด้วยต้องมาแสดงธรรมให้พระอานนท์ได้ฟังด้วย

สิ่งที่ได้ลาภมา ห้ามให้พระอานนท์

แล้วถ้ากิจนิมนต์ที่ไหน ถ้าพระอานนท์รับกิจนิมนต์ใคร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องไป เหตุผล เพราะถ้า

๑. ถ้ากิจนิมนต์ ถ้าไม่ไป พระอานนท์เวลารับปากใครแล้วจะเสียหาย

๒. สิ่งที่ได้ลาภมาก็บอกว่า อุปัฏฐากเพื่ออยากได้ลาภ อยากได้ชื่อเสียง อยากได้ของดีจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แล้วธรรมวินัยล่ะ สิ่งที่แสดงธรรมต้องแสดงให้พระอานนท์ฟังเพราะเหตุใด?

แสดงธรรมเพราะว่าถ้าเกิดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อยู่หรืออย่างไร คนเขาถามว่า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดว่าอย่างไร” แสดงว่าพระอานนท์เลินเล่อ ไม่สนใจ ไม่ตั้งใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดจาที่ไหนก็ไม่เข้าใจใช่ไหม ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงรับพรอันนั้น เวลาไปแสดงธรรมที่ไหนจะแสดงธรรมให้พระอานนท์ฟัง

ฉะนั้น พระอานนท์กับพระอุบาลี ถึงเวลาสังคายนา ถึงได้เป็นธรรมวินัยมาถึงเรา

สิ่งที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วจะวางธรรมวินัยไว้อย่างไร นี่แสดงธรรมให้พระอานนท์ฟัง ถึงได้เป็นธรรมวินัยมา การวางธรรมวินัยนี้ วางธรรมไว้ เวลาคำสั่งสอนเป็นบุคลาธิษฐาน แต่ความจริงล่ะ ความจริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ ความจริงที่เกิดขึ้นมาจากความเป็นจริงอันนั้นล่ะ เห็นไหม มันมีเหตุ มีผล มีข้อเท็จจริงนะ นี่ไง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีมรรคมีผลนะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เห็นไหม พราหมณ์แก่ สุภัททะพราหมณ์ พราหมณ์ที่ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“ศาสนาไหนก็ว่าดี แล้วศาสนาดีอย่างไร มีเหตุมีผลอย่างไร”

“เธออย่าถามให้มากไปเลย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ไม่มีรอยเท้าบนอากาศ”

นี่มรรคผลในพุทธศาสนาไง ในพุทธศาสนามีมรรคมีผล มีหลักความจริง ฉะนั้น ใครประพฤติปฏิบัติไปมันต้องมีสติมีปัญญา มีศีล สมาธิ ปัญญา มีสติ มีเกิดมรรคญาณขึ้นมาในหัวใจดวงนั้น มันถึงมีภูมิรู้

ถ้า “มีภูมิ” ถ้าพระเรามีภูมิ ครูบาอาจารย์ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ภูมิท่านเต็มนะ ท่านเต็มภูมิของท่าน ถ้าท่านมีภูมิของท่าน ดูหลวงปู่มั่นนะ หลวงตาท่านพูดประจำ หลวงตา หลวงปู่เจี๊ยะ เวลาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่นนะ ท่านปรึกษากัน น้ำตาไหลนะ เพราะเห็นว่าหลวงปู่มั่น ถ้าพูดถึงทางโลก ท่านไม่เคยมีความสุขความสบายกับโลกเขาเลย ท่านอยู่ป่าอยู่เขามาตลอด นี่หลวงปู่เจี๊ยะท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นมาบอกว่า ถ้าบิณฑบาตมาวันไหนได้ปลาสร้อยปลาซิวมาตัวเดียว วันนั้นลาภมหาศาลเลย

แล้วเวลาในปัจจุบันนี้ ดูสิ เวลาพระกรรมฐาน พระป่าของเรา ดูความเป็นอยู่ของพระป่า พระกรรมฐานของเราสิ มันอุดมสมบูรณ์ไปหมด คำว่า “อุดมสมบูรณ์” เราก็ว่าเราทุกข์เรายากอยู่นะ แต่ความสุขทางโลกคือความสุขการดำรงธาตุขันธ์ ถ้าการดำรงธาตุขันธ์ เห็นไหม ดูสิ ครูบาอาจารย์ของเราท่านดำรงธาตุขันธ์อยู่ในป่าในเขาของท่าน ท่านจะทุกข์ยากขนาดไหน เขาว่าทางโลกเป็นทางที่ทุกข์มาก ทางโลกไม่มีอะไรสิ่งใดไปจุนเจือให้ท่านมีความสุขขึ้นมาได้เลย

แต่ในทางธรรม ท่านอยู่ป่าอยู่เขาของท่าน ท่านมีความสุขรื่นเริงของท่าน เห็นไหม ดูสิ อยู่ป่าอยู่เขา เทวดาทางเชียงใหม่มากกว่าเทวดาทางหนองผือ นี่ ๔ ทุ่มขึ้นไปมาแล้ว หัวค่ำมาแล้ว นี่ในเมื่อคุณธรรมในหัวใจอย่างนั้น ดูสิ โดยปัญญาของท่านเทศนาว่าการให้เทวดา อินทร์ พรหม ฟังอย่างนั้นมันมีความสุขขนาดไหน สุขอย่างนั้นสุขที่มันเป็นทิพย์ สุขที่เลอเลิศ

สุขที่เป็นทิพย์เพราะอะไร เพราะมีจิตวิญญาณไง

แต่ในหัวใจของท่านมันพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและบ่วงที่เป็นทิพย์ไปแล้ว แต่เทวดา อินทร์ พรหม เขายังเป็นทิพย์ของเขาอยู่ เวลาสิ่งที่เป็นทิพย์เขามาขอฟังธรรมกับหลวงปู่มั่น แล้วพูดถึงสิ่งที่เป็นทิพย์เรายังเจือจานเขาได้ ถ้าอยู่ในป่าในเขา นี่ไง ภูมิของท่าน มันเลยภูมิขึ้นไป ถ้าภูมิของท่านมันมีคุณค่าประโยชน์ขนาดนั้น นี่การดำรงชีวิตของท่าน

ดูสิ มีสิ่งใดบ้างที่เราจะเป็นสิ่งที่ขาดตกบกพร่อง

หลวงตาท่านพูดประจำว่าหลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าในเขาของท่านนะ “เก็บหอมรอมริบ” เล็กน้อยอย่างใดท่านก็เก็บหอมรอมริบของท่าน ท่านไม่ปล่อย ท่านทรงธรรมและทรงวินัย ข้อวัตรปฏิบัติของท่านท่านทรงไว้ให้เป็นแบบอย่างของเรา นี่ผู้มีภูมิ ผู้มีภูมิในหัวใจอัดแน่นไปด้วยคุณธรรม มันมีภูมิ มันมีความรู้ของท่าน

แต่ที่ไม่มีภูมิล่ะ ไม่มีภูมิแล้วอวดภูมิ ถ้าไม่มีภูมิ มันเหลวไหล

ความดำรงชีวิตก็เหลวไหลอยู่แล้ว การดำรงชีวิตนี่เหลวไหลมาก ถ้าการดำรงชีวิตนี้เหลวไหลเพราะอะไร เพราะมันไม่มีภูมิของมัน พอไม่มีภูมินี่มันก็สั่นไหวของมัน มันคลอนแคลนไปตามวุฒิภาวะตามภูมิในหัวใจนั้น ถ้าในหัวใจนั้นมันสั่นไหวของมันไป ดูสิ เวลาแสดงธรรมออกมา ธรรมที่แสดงออกจากผู้ที่ไม่มีภูมิ มันไม่มีภูมิ มันไม่มีเหตุมีผล มันไม่มีสิ่งใดเป็นข้อเท็จจริง ถ้าข้อเท็จจริงในหัวใจนั้นมันไม่มีเหมือนเลื่อนลอย ทีนี้ความเลื่อนลอยไป เพราะความไม่มีภูมิ

นี่ไง เวลาการประพฤติปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก ภิกษุเราที่ปฏิบัติที่ไม่ได้ผล เพราะการปฏิบัติไม่สม่ำเสมอ คำว่า “ไม่สม่ำเสมอ” ดูสิ ธรรมวินัยทุกข้อ บัญญัติเพราะว่าเพื่อปราบปรามคนหน้าด้าน เพื่อความอยู่เป็นสุขของผู้ที่มีศีลมีธรรม เพื่อความเป็นสุขของผู้มีศีลมีธรรมนะ แต่เพื่อเป็นการปราบปรามคนหน้าด้าน

เพื่อคนที่ศรัทธาแล้วให้ศรัทธามากขึ้น

เพื่อผู้ที่ไม่ศรัทธาให้เข้ามาในศาสนานี้

แล้วข้อสุดท้าย เพื่อความสม่ำเสมอ

ถ้าความสม่ำเสมอนะ ความประพฤติปฏิบัติสม่ำเสมอ ผู้ที่ปฏิบัติดีแล้วให้ได้ดีขึ้นไป ผู้ที่ปฏิบัติให้มันสม่ำเสมอ ถ้าไม่สม่ำเสมอ การปฏิบัติที่ไม่ได้ผลคือการปฏิบัติที่ขาดการเสมอต้นเสมอปลาย คำว่า “เสมอต้นเสมอปลาย” คือหลักของใจไง

ถ้าผู้ที่มีภูมิจะมีหลัก ถ้ามีหลักนะ การดำรงชีวิตนี้ก็เป็นหลัก เพราะมันเห็นโทษ เหมือนกับทางการแพทย์ สิ่งใดที่มันเป็นสารพิษ สิ่งใดที่มีเชื้อโรค เขาจะไม่เข้าไปในที่นั้น ดูสิ เวลาในการเขาขุดบ่อ ลงไปในหลุมที่ลึกนี่เขาขาดอากาศ เขาตายหมดน่ะ ขาดอากาศหายใจ ไม่มีออกซิเจนเขาก็ตายแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่อากาศเป็นสารพิษต่างๆ เขาระวังของเขา นี่ก็เหมือนกัน ผู้มีภูมิเขารู้ของเขา ความเป็นความรู้ไม่ใช่ความกลัวนะ ความกลัวคือความหวาดระแวง ความกลัวคือความไม่เข้าใจสิ่งใด แล้วมีสิ่งในหัวใจนั้นทำให้สั่นหวั่นไหว แต่ความรู้จริงไม่ใช่ความกลัว ความรู้จริงเมื่อสิ่งนั้นที่ไม่มีออกซิเจน ที่เข้าไปแล้วมันจะขาดอากาศหายใจ ที่มันต้องตาย ไม่ใช่ความกลัว แต่เป็นความรู้

คนที่เขามีภูมิของเขา เขารู้ของเขาว่า “อะไรควรและไม่ควร” สิ่งที่ไม่ควร เห็นไหม การดำรงชีวิตของเขา เขาถึงอยู่ในหลักในเกณฑ์ไง แต่ผู้ที่ไม่มีภูมินั้นเร่ร่อน

ดูสิ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันบัญญัติตายตัวไว้แล้ว พระเทวทัตเป็นคนขอไว้เองนะ ต้องอยู่ป่าตลอดไป ต้องไม่รับกิจนิมนต์ ต้องห้ามฉันเนื้อสัตว์ ต้องต่างๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อนุญาตเลย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาต “ให้บุคคลที่มีความเข้มแข็ง บุคคลที่มีความตั้งใจ บุคคลที่ทำเป็นประโยชน์ ให้บุคคลนั้นเป็นผู้ปฏิบัติ อนุญาตให้บุคคลคนนั้นเป็นครั้งเป็นคราว เพื่อบุคคลคนนั้นจะได้ทรงคุณธรรมขึ้นมา” แต่ถ้าเวลาขอขึ้นมา นี่ไง เวลาจะทำมันก็ทำเกินกว่าเหตุ นี่ไง มัชฌิมาปฏิปทามันอยู่ตรงไหน

คำว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ถ้ามีภูมิ ทำสิ่งใดแล้วมันจะเป็นประโยชน์ มันจะเป็นคติ เป็นแบบอย่าง เป็นสิ่งที่ให้เราดำเนินตาม แต่ที่ไม่มีภูมิเอาเป็นตัวอย่างไม่ได้ หน้าอย่างหลังอย่าง มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง มีหน้าฉากหลังฉาก เวลาแสดงธรรม แสดงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พฤติกรรมของตนอย่างกับผีอย่างกับเปรต นี่พฤติกรรมนะ ยังไม่พูดถึงการแสดงธรรม การแสดงธรรมมันต้องมีเหตุมีผล

แสดงธรรมมันต้อง...ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมกับฆราวาสนะ แสดงธรรมกับคฤหัสถ์ อนุปุพพิกถา ท่านพูดเรื่องทานเท่านั้น ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่บอกว่า “นิพพานๆๆ” มันจะนิพพานได้อย่างไรในเมื่อคนมันไม่มีความพร้อม ถ้าคนไม่มีความพร้อม ดูสิ ภาชนะที่จะบรรจุธรรม อะไรที่เป็นภาชนะจะมาบรรจุธรรม เราก็ว่าในตำรับตำรา นี่ไง เวลาปริยัติ ปฏิบัติ

ว่า “การศึกษา” ศึกษาทางโลก เพราะคนเกิดมานี่คือโลกนะ คนเกิดมา ปฏิสนธิจิต เวลาเกิดมาเป็นมนุษย์นี่เกิดมากับโลก เราเกิดมาจากกาม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะเวลาเขาจะถวายกาม ไม่ยอมรับเขา แล้วเพ่งเขาจนเป็นหนอง จนมีหนองไหลไปหมดเลย แล้วไปดูไง จะช่วยเขาก็ช่วยไม่ได้ เพราะกรรมมันเต็มที่ พอมันเต็มที่ ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก

“ช่วยเขาไม่ได้ กรรมเขาหนักนัก หนักเท่ากับแผ่นดิน”

“แผ่นดินขนาดไหน” ถึงเหาะขึ้นไปดู

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าเธอเหาะไปเห็นโลกนี้เท่าใบมะขาม อย่าไปอีกนะ ให้กลับมา” นี่หลุดไปเลย

เวลากลับมาแล้วมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ผลของกามทำไมมีโทษขนาดนี้”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระโมคคัลลานะ “เธอพูดอย่างนั้นไม่ได้”

นี่คนที่มีธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ พระโมคคัลลานะก็พระอรหันต์เหมือนกัน แต่วุฒิภาวะของศาสดากับอัครสาวกเบื้องซ้าย

“เธอพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเราตถาคตก็เกิดจากกาม”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาจากใคร? ก็เกิดขึ้นมาจากพระเจ้าสุทโธทนะ เกิดจากพ่อจากแม่ทั้งนั้น แล้วคนเราเกิดมาจากกามก็คือโลกไง เราเกิดมากับโลก เราอยู่กับโลก ถ้าเราอยู่กับโลก การศึกษาของโลกเพื่อความเจริญ เพื่อความเข้าใจกันของโลก แต่ในการประพฤติปฏิบัติธรรมมันต้องลึกซึ้งกว่านั้น นี่ถ้ามีภูมิมันจะเข้าใจ

ถ้าไม่มีภูมิ การศึกษาก็คือการศึกษา ความเข้าใจก็คือการรู้ธรรม

แล้วการรู้ธรรม เวลากิเลสมันดิ้นรนในหัวใจทำไมเอาไม่ได้

แม้แต่พฤติกรรม ถ้าพฤติกรรมอยู่ในร่องในรอยมันถูกต้อง ดูสิ เวลาพระเราให้ศีล มุสาวาทา เวรมณี นี่มุสา แล้วตัวเองมุสากับตัวเองไหม? นี่เวลาแสดงธรรมขึ้นมานี่รู้อย่างนั้นจริงๆ เหรอ สิ่งที่พูดออกมานั้นเป็นความจริงหรือเปล่า จำใครมาพูด สิ่งที่พูดออกมามันมีเหตุผลข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหน

แล้วถ้ามีเหตุผล คนพูดความจริงกลัวความจริงได้อย่างใด นี่ความจริง เห็นไหม ธาตุก็คือธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มันก็เป็นธาตุอย่างนั้น จะเอาธาตุดินขึ้นมาเป็นธาตุดินเมื่อไรก็ยังเป็นดินวันยังค่ำ น้ำมันก็ยังเป็นน้ำ มันมีของมันอยู่อย่างนั้น นี่ธาตุมันเป็นธาตุ ในการประพฤติปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา มันเป็นแบบใด นี่มันมีเหตุมีผลนะ จะบอกว่ามันลัด มันสั้น มันรวดเร็ว รวดเร็วขนาดไหนก็อธิบายได้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขิปปาภิญญาเหมือนกัน เวลานั่งไป นั่งคืนเดียว บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาน

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องอะไร? สอนเรื่องมรรค ๔ ผล ๔ มรรค ๔ ผล ๔ อธิบายได้หมด เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ฉันเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ฉันบรรลุธรรม แต่ฉันสอนไม่ได้”...เป็นไปไม่ได้

พระปัจเจกพุทธเจ้าก็สอนได้ สอนแบบความรู้จริงสอน นั่นน่ะสอนแบบพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ไม่ได้วางธรรมวินัยไว้ วินัยบัญญัติไว้ ทางวิชาการนี่บัญญัติไว้ นั่นเป็นบารมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราสาวก-สาวกะ ในศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๕,๐๐๐ ปี อย่างไรมันก็ต้องรู้ ถ้ารู้ขึ้นมามันต้องมีเหตุมีผล

เขาว่า “มุสาวาทา เวรมณี” นี่เวลาเราให้ศีลเขา แล้วตัวเองที่พูดออกมาน่ะรู้จริงเหรอ? ถ้ารู้จริงมันต้องสาธยายได้ รู้จริงมันต้องบอกได้ มันบอกได้หมดน่ะ บอกว่า “ฉันรู้ธรรม แต่ฉันบอกไม่ได้ ฉันเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า” พระปัจเจกพุทธเจ้าก็สอนได้ สอนได้ทั้งนั้นน่ะ แต่วางธรรมวินัยนั้นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าสอนไม่ได้ บอกไม่ได้ มันจะรู้ได้อย่างไร ถ้าคนรู้จริงเขารู้จริงของเขา นี่พูดถึงว่าถ้ามีภูมินะ

ถ้าไม่มีภูมิ เห็นไหม อ้างอิงไปหมด ถ้าอ้างอิงไปหมด นั่นน่ะมันหลอกตัวเองอยู่แล้ว ตัวเองพูดออกไป นี่ไง ในการประพฤติปฏิบัติเราอยู่กับครูบาอาจารย์มานะ เวลาปฏิบัติแล้วสิ่งใด ถ้าคุยธรรมะ ธมฺมสากจฺฉา เราคุยกัน เตือนกัน บอกกัน สิ่งนี้เราคุยธรรมะกัน แต่ถ้าเวลามีความเห็นผิด เวลาพระเราถ้าผีเข้านี่ไม่เป็นอาบัติ ถ้าอวดอุตตริมนุสสธรรม มันเพราะเราเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น แล้วเราคุยธรรมะกัน ความหลงเข้าใจว่าเป็น พูดออกไป นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าคนเขาด้วยความสะอาดของเขา เขาละอายใจของเขานะ เขารังเกียจของเขานะ เพราะเรารู้ของเรา นี่ความสะอาดบริสุทธิ์

ดูสิ ในทางวิทยาศาสตร์เขาพยายามจะทดสอบทดลองทางวิทยาศาสตร์ ค่าของสารเคมีของเขายังต้องสะอาดบริสุทธิ์ มันถึงจะให้ผลให้ค่าตามข้อเท็จจริง แต่ถ้ามันไม่สะอาดบริสุทธิ์มันก็ให้ค่าเบี่ยงเบนแล้ว นี่เหมือนกัน ในเมื่อเราจะประพฤติปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะมีเหตุผลอย่างไร ถ้ามีภูมินะ คนมีภูมิกับคนมีภูมิเขารู้กัน เขาเห็นพฤติกรรมที่แสดงออกเขาก็รู้แล้ว

ในทางโลก เวลาเขาดูทางวิชาการ คนฉลาด-คนโง่ เวลาคุยสนทนากันเขาจะรู้ว่าคนไหนฉลาด คนไหนโง่ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าคนไม่มีภูมิมันพูดออกมามันเลื่อนลอย แล้วฟังรู้เลย เพียงแต่ว่ามารยาทสังคมหนึ่ง แล้วอย่างเช่น เขาเรียกว่าเป็นครูเป็นอาจารย์กัน ขอนิสัย ถ้ามีการขอนิสัยกัน เป็นครูบาอาจารย์กันก็จะสอนกัน ถ้าเขาไม่ได้ขอนิสัยเรา ครูบาอาจารย์องค์ใด นี่มันกรรมของสัตว์ไง มันสิ่งที่เลือก

ฉะนั้น เวลาคนที่เขามีภูมินะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า”

คนมีภูมิเขารู้ผิดรู้ถูก แล้วพูดออกไปนี่แก้ได้หรือแก้ไม่ได้ ถ้าแก้ได้ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาจะแก้ได้นะ ท่านรอจังหวะ แล้วรอเวลาเพื่อเตือนสติ ถ้าเตือนสติได้ คนๆ นั้นเข้าใจได้ คนๆ นั้นจะสาธุ สาธุ สาธุแล้วสาธุอีก เพราะสิ่งนี้มีค่ามหาศาล ความหลงผิดนะ มันข้ามภพข้ามชาติ แม้แต่เกิดมาเป็นมนุษย์ เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราอยากจะพ้นจากทุกข์ ถ้าเราซื่อสัตย์กับตนเอง เราปฏิบัติ ถ้าเป็นความจริงมันก็จริง ถ้าไม่จริงเราก็ต้องขวนขวาย เพราะเรายังมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออกอยู่

เหมือนกับคน คนที่เขามีความหลงผิดอยู่ เขาแก้ไขให้ถูกได้ จิตใจเขาก็เหมือนกัน ถ้ามันมีความเห็นผิด มันปฏิบัติโดยความผิดพลาด ถ้าเราซื่อสัตย์กับเรา ผิดมันก็คือผิด แต่ถ้ามันไม่ซื่อสัตย์

๑. คนที่มีภูมิและไม่มีภูมิ การแสดงออกนั้นมันเป็นแบบวิทยาศาสตร์นะ วิทยาศาสตร์หมายถึงตามข้อเท็จจริงนั้น นี่มีแสดงออกตามนั้น รู้อย่างไรก็พูดได้แค่นั้น

ถ้ารู้จริงพูดความจริง พูดแล้วมันก็มีความจริงรองรับแล้วมันยังไปได้กว่านั้น เพราะความรู้จริงเขาพูดโดยกาลเทศะสมควรแค่นั้น แต่ถ้าจะให้ขยายความ หรือคนที่เกิดความสงสัย คนที่เขาได้ประโยชน์แล้วเขาต้องการให้มีรายละเอียด มันยังไปได้อีกมหาศาลเลย เพราะธรรมไม่มีขอบเขต ธรรมไปได้หมดทุกอณูของอากาศ ไปได้ทั้งนั้น คำว่า “ไปได้” หมายถึงอธิบายได้หมด ทีนี้เพียงแต่อธิบายไปแล้วมันจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ นี่คนที่มีภูมิพูดออกมามันฟังได้ มันเข้าใจได้

แต่คนที่ไม่มีภูมิ มันไปไม่ได้ในอากาศ มันไปไม่ได้

ดูสิ อย่างเช่นมีกำแพงกั้นอยู่ ถ้ามันมีภูมิ มันอธิบายได้หมดว่า หนึ่ง เราอยู่กำแพงฝั่งนี้ กำแพงประกอบด้วยสสาร ด้วยส่วนประกอบสิ่งใด หลังกำแพงนั้นมีอะไร แล้วออกกำแพงนั้นมีสิ่งใด นี่ถ้าคนมีภูมินะ

แต่ถ้าคนไม่มีภูมินะ ตัวเองก็ลังเลสงสัย มีกำแพงอยู่แล้วไปไม่ได้เลย ชนกำแพงนั้นหมด หลังกำแพงนั้นยังไม่รู้สิ่งใดว่ามันมีสิ่งใดอยู่นั้น แล้วอย่างนี้มันจะเป็นธรรมไหม อย่างนี้มันจะเป็นประโยชน์ไหม นี่ถ้ามันไม่มีภูมิ มันจะเป็นโทษไง เป็นโทษกับบุคคลคนนั้น

แต่บุคคลคนนั้นไม่เข้าใจว่านี่เป็นโทษ เพราะด้วยความมืดบอด ถ้าความมืดบอดเข้ามา นี่อ้างอิงด้วยความมืดบอดของจิตนะ จิตถ้ามันมืดบอด

๑. ไม่มีภูมิอยู่แล้ว

๒. อ้างอิงไปเรื่อย อ้างอิงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อ้างอิงมา อ้างอิงโดยที่ไม่มีเหตุมีผล

แต่โดยจิตใจที่สูงกว่าและต่ำกว่านะ เวลาปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค-โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค-สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค-อนาคามิผล อรหัตตมรรค-อรหัตตผล สิ่งที่เป็นมรรคและผลนี่แตกต่างกันมาก

สิ่งที่เป็น “มรรค” คือสิ่งที่เราทำ ดูสิ เราทำวิชาการกันเพื่อให้วิชาการนั้นให้กรรมการยอมรับ เพื่อจะเป็นผลงานของเรา ถ้าเป็นผลงานของเรา ขณะที่เราทำ เราทำเพื่ออะไร เราทำเพื่อให้สิ่งนี้ถูกต้อง กรรมการเห็นชอบแล้วผ่าน เห็นไหม โสดาปัตติมรรคคือการทำงาน แล้วโสดาปัตติผลนี่ผ่านหรือไม่ผ่าน การผ่านและไม่ผ่าน อารมณ์ความรู้สึกของเราแตกต่างกันมากเลย ขณะที่เราทำงานแล้วมันไม่ผ่าน เราละล้าละลังๆ มีแต่ความทุกข์ยากไปทั้งนั้น กลัวจะผ่านแล้วกลัวไม่ผ่าน แล้วทางวิชาการเราก็ต้องหาเหตุหาผล หาสิ่งสนับสนุนความรู้สึกของเรา แต่พอเราไปถึงกรรมการตรวจแล้วก็ไม่ผ่าน

นี่ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ในเมื่อเราใช้สติปัญญาของเราตรึกในธรรม ในการพิจารณาของเรา แต่นี่มรรคสามัคคี เวลาผ่านทางธรรมนี่มันไม่มีคณะกรรมการนะ อริยสัจมีหนึ่งเดียว เวลาปฏิบัติกันน่ะ เวลาอริยสัจมันรวมตัว มรรคญาณมันรวมตัว มันสมุจเฉทปหาน มันมีหนึ่งเดียว จะปัญญาวิมุตติ จะเจโตวิมุตติ จะพิจารณาสิ่งใดก็แล้วแต่ สิ่งที่เวลามันถึงเข้าถึงสู่อริยสัจแล้ว ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคญาณที่มันประพฤติปฏิบัติ มรรคสามัคคี มันมีอันเดียว มันไม่มีแบ่งแยกของใครทั้งสิ้น แต่วิธีการมามันแตกต่างกันขนาดไหน แต่เวลาไปมันมีอันเดียว

แต่ถ้าไม่มีมรรคญาณ มันไม่ผ่านอริยสัจสิ่งนี้ ถ้าไม่ผ่านอริยสัจสิ่งนี้ นี่ไง คนที่ไม่มีภูมิมันไม่ผ่านตรงนี้ ถ้าไม่ผ่านตรงนี้มันเลื่อนลอย พูดนะมันไกลจากจุดความเป็นจริงนี้มาก ถ้ามันพูดนะ คนที่มีภูมิเขาจะพูดเข้ามาสู่จุดความจริงนี้ อธิบายอะไรก็แล้วแต่จะเข้ามาสู่จุดความจริงเรื่องอริยสัจ แต่ถ้าคนไม่มีภูมินะ พูดสิ่งใด อธิบายขนาดไหน อธิบายเป็นเรื่องวัตถุ เพราะวัตถุนี่เป็นสิ่งที่คนรู้คนเห็น นี่เรื่องวัตถุ เรื่องภายนอก

แล้วเวลาคนที่อธิบายอริยสัจตามความเป็นจริง อธิบายเรื่องวัตถุไหม? อธิบายเรื่องวัตถุเหมือนกัน แต่วัตถุที่ละเอียดเข้ามา วัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับใจ เกี่ยวเนื่องกับที่เกิด เกี่ยวเนื่องกับจุดกำเนิด เกี่ยวเนื่องกับที่มาที่ไป แล้วต้องชักนำเข้าไปสู่สิ่งที่เกี่ยวเนื่องนั้น แล้วทำลายสิ่งที่เกี่ยวเนื่องนั้นเข้าสู่ภวาสวะ เข้าสู่ภพ เข้าสู่การกระทำอันนั้น

นี่ไง คนที่มีภูมิ-ไม่มีภูมิมันต่างกัน ต่างกันตั้งแต่การยกอุปมาอุปไมย

ต่างกันตั้งแต่ที่มาและที่ไป แล้วต่างกันมีข้อเท็จจริงและไม่มีข้อเท็จจริง

ฉะนั้น สิ่งที่ไม่มีภูมินะ มันทำลายตัวเองตั้งแต่เริ่มพฤติกรรมนั้น แล้วมันน่าเศร้าใจ มันน่าเศร้าใจว่าสิ่งที่ไม่มีภูมิ เห็นไหม เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เขาถามเรื่องเทวดาไง เขาบอกว่าคนที่ไปเทวดานี่เขาโคกับขนโค คนไปเป็นเทวดานี่มีเขาโค คนไปนรกอเวจีนี่มันขนโค แต่ถ้าไปเทวดานี่เขาโค เขามีอยู่ ๒ เขา ไปในทางดีมีอยู่ ๒ เขา แต่ไปในทางนรกอเวจีนี่ขนโค ฉะนั้น การแสดงออกของสิ่งที่เป็นวัตถุ

ทีนี้ สังคมเป็นขนโค ถ้าขนโคนี่ฟังแล้วชื่นชม ฟังแล้วรับรู้ได้ แต่ไอ้ ๒ เขานั้นน่ะ ไปสวรรค์ สิ่งที่ไปเรื่องที่ดีมันมีส่วนน้อย คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก ถ้าคนโง่มาก เห็นไหม ใช่ มีการศึกษาทางโลก บอกโลกนี้เจริญด้วยการศึกษา คนเรามีการศึกษาทั้งนั้นน่ะ ศึกษาโดยโลกียปัญญา ศึกษาจากตัวตน ฉะนั้น ตัวตนน่ะเป็นขนโค ขนโคไม่เข้าใจความเป็นจริง ถ้าไม่เข้าใจความเป็นจริง ยิ่งศึกษามาขนาดไหน

ถ้าเวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า สิ่งที่เป็นโลกธรรม สิ่งที่ว่ากาลามสูตร ไม่ให้เชื่อๆ ถ้าพูดถึงถ้าคนมีการศึกษา แล้วสิ่งที่ได้พิสูจน์กัน อย่าเชื่อว่าเป็นอาจารย์ของเรา อย่าเชื่อว่าอุปมาอุปไมยจะเข้ากันได้ อย่าเชื่อว่าเราจับต้องได้ อย่าเชื่อๆๆๆ ตรงนี้สำคัญมาก ทีนี้เรามีการศึกษาแล้ว ทำไมกาลามสูตรไม่เอามาใช้ “กาลามสูตร” ทำไมเชื่อไปก่อนล่ะ เชื่อไปก่อนเพราะมันเป็นโลกียะกับโลกุตตระไง

โลกียปัญญา ปัญญาตรึก ตรรกะ ปรัชญาต่างๆ นี่โลกียะ มันเกิดจากภพ เกิดจากตัวตน เกิดจากความรับรู้ของเรา ถ้าโลกียปัญญามันเข้ากันได้ มันตรวจสอบได้ มันเคลิบเคลิ้มได้ นี่คนเชื่อเชื่อตรงนี้ไง ที่มันเศร้าใจ เศร้าใจตรงนี้ เศร้าใจคนที่ว่าขนโคหรือเขาโค ถ้าขนโค สิ่งนี้มันอ้างอิง ไม่ต้องพูดสิ่งใดเลย บอกว่านี่เป็นศาสนาพุทธทุกคนก็เชื่อไปแล้วค่อนตัว นี่มันเชื่อไปก่อนไง เชื่อว่าสิ่งนี้เป็นความจริง ทั้งๆ ที่ยังไม่เป็นความจริงเลย

แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีภูมิ ไม่อ้างอิงสิ่งนี้เลย ไม่อ้างอิงสิ่งนี้ อ้างอิงความจริงของตัว ถ้าความจริงที่มันเหนือโลกแล้วเขาจะไม่หวั่นไหวกับสิ่งใดเลย เขาจะชักเข้ามาที่อริยสัจ สิ่งใดเกิดมาเกิดจากอริยสัจ อริยสัจมีหนึ่งเดียว ถ้าอริยสัจมันเหนือโลก มันเหนือตรรกะ เหนือปรัชญา เหนือทุกๆ อย่าง แล้วจิตใจที่มันรู้จริง ดูสิ หลวงปู่มั่นท่านสอนเทวดา อินทร์ พรหม แม้แต่เทวดา อินทร์ พรหม ยังอยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ยังอยู่ในวัฏฏะ แล้วนี่มันเหนือโลก ถ้ามันเหนือโลกมันจะไปหวั่นไหวกับสิ่งใด

แต่ขนโคกับเขาโค เขาโคมีอยู่ ๒ เขา ขนโคมีมหาศาล คนพูดสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นสิ่งที่เหนือโลก แต่คนเข้าใจได้โดยยาก ถ้าคนเข้าใจได้โดยยากจะเข้าใจด้วยเหตุใด ถ้าจะมีทางเข้าใจได้ก็ด้วยการเราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจเราสงบนะ ดูสิ อย่างเช่นครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าใครฟังเทศน์ทางโลก ฟังเทศน์ทางคัมภีร์ ทุกคนก็เข้าใจได้ เข้าใจเรื่องธรรม เข้าใจหมด แต่เวลาพูดถึงเรื่องปฏิบัติ งงหมดน่ะ มันเข้าใจไม่ได้เพราะมันจะเข้าสู่โลกุตตรธรรม

“โลกียะ” คือความรู้สึกความนึกคิดของเรา

ถ้า “โลกุตตระ” มันจะพ้นจากโลกแล้ว แล้วอะไรพ้นจากโลก จะเอาอะไรมาพ้นจากโลก สิ่งใดมันจะพ้นจากโลกล่ะ มันมีสิ่งใดบ้างที่พ้นจากโลกไป ยานอวกาศมันออกไป เวลามันตกมันก็ตกมาสู่โลกหมด เพราะแรงดึงดูดมันมีอยู่ในโลก นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อมันมีกิเลสมีตัณหาอยู่ของเรา แล้วเราจะพ้นออกจากมันไปอย่างไร

ถ้ามันพ้นไปไม่ได้เพราะเกิดแรงดึงดูด แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเราล่ะ มีสติ มีการกระทำของเรา นี่มันแสดงตรงนี้

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดนะ “คนรู้จริงมีอยู่” ถ้าคนรู้จริงมีอยู่นี่มันชี้ถูกชี้ผิดได้ เพียงแต่ว่าคนรู้จริงมันมีกี่เปอร์เซ็นต์ ขนโคกับเขาโคนะ ถ้าขนโคกับเขาโคนะ ถ้ามันรู้จริงนี่ไม่ใช่เขาโคด้วย มันเป็นนอแรด มันแทบไม่มีในตัวของสัตว์เลย มันมีหนึ่งเดียว

ในสังคมโลกก็เหมือนกัน ถ้าในสังคมโลกถ้ามันยังเป็นอย่างนั้นอยู่ มันเป็นโดยกระแส แล้วเราอยู่ในกระแสอย่างนี้

เราเวลาพูดนี่นะ ไม่ใช่พูดดูถูก ไม่ใช่พูดเหยียดหยาม แล้วเราก็เป็นส่วนหนึ่ง เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านบอกท่านเกิดมาจากโลก เกิดจากพ่อจากแม่เหมือนกัน แต่ประพฤติปฏิบัติออกจากโลกไป นี่ก็เหมือนกัน โลกเขาเป็นกันอย่างนั้น ถ้าโลกเขาเป็นอย่างนั้นนะ สติปัญญาของเราล่ะ นี่เอาสิ่งนั้นเป็นคติธรรม เป็นการเตือนหัวใจของเราไง โลกเขาตื่นกันอย่างนั้น เขาเข้าใจได้ขนาดนั้น แล้วเขาก็จะจมอยู่กับธรรมแบบโลกๆ นั่นไง ธรรมแบบโลกๆ คือมันคว้าน้ำเหลว ตายเปล่า ไม่มีสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอันกับตัวเองไป ผู้ที่ประพฤติตาม

แต่ผู้ชี้นำ เห็นไหม ตัวเองหลงนะ มันเป็นกรรมของตัวเอง แต่สอนให้คนอื่นลุ่มหลง มันจะเป็นบาปเป็นกรรมกับผู้สั่งสอนนั้นมหาศาล เพราะว่าตัวเองหลงก็ส่วนหนึ่ง ทำให้คนอื่นหลงอีกมหาศาล คำว่า “หลง” แต่ถ้ามันเป็นเรื่องผลประโยชน์เรื่องทางโลกเขาไม่สนใจตรงนี้ ถ้าเขาไม่สนใจตรงนี้มันก็เป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรม คนที่จะรู้ได้กลับแสนยาก มีน้อยมาก คนทำความสงบของใจ ถ้าจิตสงบมีความสุขนั้นก็เป็นการคัดเลือก คัดเลือกจิตสงบแล้ว จิตสงบชำระกิเลสไม่ได้ แต่ถ้าจิตไม่สงบจะเกิดโลกุตตรธรรมไม่ได้ เวลาเกิดปัญญานี่เขาเรียก “โลกียปัญญา” ปัญญาเกิดจากภพ ปัญญาเกิดจากใจ ถ้ามีหัวใจอยู่แล้วมันมีความคิด ความคิดดี-คิดชั่ว ปัญญาถ้ามันคิดดีมันก็เป็นเรื่องปัญญาได้ นี่ความคิดอย่างนี้มันเป็นเรื่องโลกียะ มันเกิดได้อยู่แล้ว ความคิด ความรู้สึก โลกียปัญญามันเกิดได้ เกิดจากภวาสวะ เกิดจากใจนี่แหละ

แต่ถ้ามันจะเป็น “โลกุตตระ” พอจิตมันสงบนะ เราก็ได้ลิ้มรสของความจิตสงบ “ความสุขใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” แล้วถ้าเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญาเกิดจากจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ เกิดจิตที่เป็นสัมมาสมาธินะ

เขาบอก “สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ พุทโธมันเป็นสมถะ พุทโธจะไม่เป็นประโยชน์”

สัมมาสมาธิ สมถกรรมฐานนี้เป็นแค่พื้นฐาน เขาไม่ได้เอาสมาธิมาแก้กิเลสกัน เขาต้องการเอาสมาธิมากดอวิชชา กดโลกียปัญญา กดสิ่งที่ว่ามันพยายามเทียบเคียงไปทางโลก เทียบเคียงไปทางไม่มีภูมิ เป็นความเหลวไหล

พอมีสัมมาสมาธิ เวลามันเกิดปัญญาขึ้นมา มันจะเกิดการกระเทือนขั้วหัวใจ พอมันกระเทือนขั้วหัวใจ เพราะเกิดสัมมาสมาธิ เวลาเกิดปัญญามันจะเป็นโลกุตตรปัญญา ปัญญาอย่างนี้เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันจะสั่นไหว หัวใจจะพองโตมากเวลามันสั่นไหวของมัน

แล้วเวลาพิจารณาไปเป็นสภาวธรรมที่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้นี่ เวลาธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ววางธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาธรรมอันนี้ ใครรู้ธรรมอันนี้มันจะสำรอกกิเลสออกจากใจ เวลาวิปัสสนาไปมันจะเริ่มเป็นไตรลักษณ์ มันจะปล่อยวางอย่างไร

คำว่า “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา”...ใช่ มันเป็นอนัตตา แต่เป็นอนัตตามันมีภวาสวะ มีภพ มีจิตดวงนั้นเป็นผู้ที่ค้นคว้า เป็นผู้ที่พิจารณาแล้วจิตดวงนั้นเป็นผู้เห็นอนัตตา อนัตตาในอำนาจของสัจธรรมที่เกิดจากภวาสวะเกิดจาภพนั้นมันทำลายกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา เวลามันทำลายกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามามันสมุจเฉทปหาน มันคายออก มันขาด มันรู้มันเห็นของมัน นี่ภูมิมันจะเกิดอย่างนี้

ถ้ามีภูมินะ ทำสิ่งใดก็ถูก เพราะมีภูมิในหัวใจ เพราะใจมันเป็นธรรม

พอใจเป็นธรรม ทำอย่างไรก็เป็นธรรม เป็นอธรรมไม่ได้

แต่ถ้าไม่มีภูมิ มันเป็นอธรรม มันไม่เป็นธรรมๆๆๆ เพราะมันไม่มีภูมิของมัน ไม่มีภูมิมันก็ทำลายตัวมันเองตลอดเวลา พอทำลายตัวเอง แสดงธรรมก็แสดงธรรมเป็นเรื่องโลกๆ แสดงธรรมเป็นเรื่องของอกุศล อกุศลมันจะไปไหน? มันก็ไปสู่ความต่ำต้อย

ถ้าเป็นกุศลล่ะ กุศลเป็นคุณงามความดี ความดีนี้มันจะเกิดขึ้นมา เห็นไหม ถ้ามีนะ มันเป็นประโยชน์มาก เราแสวงหาครูหาอาจารย์กัน เวลาหลวงตาท่านบอกว่า เวลาท่านมาพบ ท่านยังมีความสงสัยอยู่ ผู้ใดชี้ทางให้ เวลาไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นพูดถึง “นิพพานไม่อยู่ในอากาศ ดินฟ้า อากาศ...อยู่ในใจนี่” นี่มีคนชี้ทางให้

เราแสวงหานะ หลวงตาท่านบอกว่า

“สิ่งที่แสวงหา แสวงหามาเต็มที่นะ บัดนี้มีผู้ชี้ทาง เราจะจริงหรือเราจะไม่จริง”

ในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราจริงของเรา เราจะมีโอกาสของเรานะ แต่ถ้าด้วยความอ่อนด้อย เพราะเรามีกิเลสในหัวใจ อยากสะดวก อยากสบาย อยากสิ่งที่สุกเอาเผากิน อยากได้โดยความพอใจของตัว เรื่องของกิเลสทั้งนั้นน่ะ นี่ความไม่มีภูมิมันจะผลักไสให้เรามีความเห็นอย่างนั้น

ถ้าความมีภูมิ มีจุดยืน มีความหนักแน่น มีความเป็นจริง แต่ต้องขวนขวายพยายามของเรา เราถึงจะปฏิบัติได้ แต่ถ้าไม่มีภูมิ มันหลักลอยมาแต่ต้น แล้วมันจะเอาแต่ความสะดวกสบายของมัน มันจะเอาแต่ความมักง่าย แล้วมันก็จะลงไปสู่มูตรคูถ ความที่ไม่มีภูมิมันก็จะทำให้เราไม่มีสิ่งใดติดหัวใจเราไป

เราเกิดมานะ เรามีศรัทธาความเชื่อ เราได้มาบวชเป็นพระเป็นเจ้าแล้วเราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เราถามใจของเรา การแสดงธรรมนี้เพื่อเตือนสติ แล้วเราถามใจของเรา ถามความรู้สึกนึกคิดของเราว่า “เราทำเพื่ออะไร ปัจจุบันนี้เราปฏิบัติเพื่ออะไร” ประโยชน์ของเราจะเกิดตรงนี้ เอวัง