เวลาตายจากภพ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เราจะตั้งใจฟังธรรม ชีวิตเรามีเป้าหมาย เราvpkdจะพ้นจากทุกข์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีเป้าหมาย เห็นไหม เป้าหมายการดำรงชีวิต ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเป็นผู้ชี้นำ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็พยายามสร้างสมบุญญาธิการแล้วประพฤติปฏิบัติ แล้วแต่ค้นคว้า แล้วแต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย มันต้องมีฝั่งตรงข้ามที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ทั้งๆ ที่ยังไม่มีใครบอกทางนั้นได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังขวนขวายพยายามหาทางออกจนได้ แล้วมีความเมตตาสงสารให้เรานะ วางธรรมและวินัยไว้ให้เราเพื่อศึกษาค้นคว้า
สิ่งที่ศึกษาค้นคว้าเราก็ศึกษาค้นคว้าด้วยความซื่อของเรา ศึกษาค้นคว้าตามตำรับตำราว่าเราจะค้นคว้าเอาธรรมจากในนั้น แต่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก วางธรรมวินัยไว้ให้ศึกษา ปริยัติ ปฏิบัติ ในการประพฤติปฏิบัติที่เราจะมาค้นคว้ากันอยู่นี้ เราจะค้นคว้ากันเพื่อให้เป็นสัจธรรม ให้เป็นความจริงขึ้นมาในหัวใจของเรา
เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาทุกคนก็มองนาฬิกา ว่าเราจะนั่งสมาธิภาวนาได้มากน้อยแค่ไหน เห็นไหม เราพ้นจากปริยัติ คือการศึกษามาเพื่อเป็นแนวทาง คำว่า แนวทาง คนจะเดินไปบนถนน คนจะเดินทางต้องมีแผนที่เครื่องดำเนิน ถ้าคนเคยเดินเส้นทางนั้นจะเดินเส้นทางนั้นด้วยความปลอดภัย แต่เส้นทางนั้น เส้นทางที่เคยเดิน เดินกลับมาถึงที่ของเราแล้ว เส้นทางนั้นก็คือเส้นทางนั้น นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษามาแล้ว เส้นทางที่เราจะดำเนิน เหมือนกับเราศึกษาเส้นทางมา แต่ในชีวิตของเราที่ดำเนินต่อไปล่ะ
ดูชีวิตของเรานะ เราอ่านหนังสือชีวิตของเราแต่ละหน้า แต่ละหน้า เราเปิดศึกษาชีวิตในหนังสือชีวิตของเราได้ ประวัติชีวิตของเราแต่ละหน้า แต่ละหน้า มันน่าเศร้า มันวิตกกังวล มีความทุกข์ร้อน มีความเฉา มีความหงอยเหงาในหัวใจ ถ้าชีวิตมีความรื่นเริง มีความสุข เราก็มีอารมณ์ร่วมไปกับความสุขรื่นเริงนั้น นั้นคือหน้าประวัติชีวิตของเรา
แต่ถ้าเราจะศึกษาธรรมล่ะ เราเปิดไม่ออก เราอ่านไม่ได้ แต่ถ้าเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเราก็ศึกษามาแล้ว แต่เราเปิดสัจธรรมความจริงขึ้นมาจากหัวใจของเราไม่ได้ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็มาดูเวล่ำเวลา เราปฏิบัติมากี่ปีกี่เดือนแล้วเราจะได้ผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหน กี่ปีกีเดือนนี้ก็เป็นเวลานะ
เวลาที่เราได้มาคืออายุเราที่เสียไป ดูเด็กน้อยสิเกิดมามันเริ่มนับเวลานะ ครบปี ครบเดือน เขาจะทำบุญให้ ครบรอบวันเกิดต่างๆ ๑ รอบวันเกิด วันเวลา เวลามันเคลื่อนไหวไป
มีนักบวชนอกศาสนาถามพระสารีบุตร ชีวิตนี้คืออะไร?
ชีวิตนี้คือพลังงาน
พลังงานตั้งอยู่บนเวลา เพราะมีกาลเวลานี่มันสืบต่อ มีอดีตอนาคต เวลามันถึงมีใช่ไหม เรานี่เราเฝ้ารอเวลานะ ถ้าเด็กเราเฝ้ารอเวลา เมื่อไรจะเติบโตขึ้นมา แล้วเวลาเติบโตขึ้นมา ดูสิ เวลาเด็กที่เขามีการศึกษาของเขา เขาต้องศึกษาวิชาการของเขาเพื่อการดำรงชีวิตของเขา ถ้าดำรงชีวิตของเขา เขาร่ำเขารอเวลาของเขา แต่เราพอโตขึ้นมา เวลามันเท่ากัน แต่ระหว่างชีวิตของเราแต่ละยุคแต่ละคราวตามวัยนี่มันไม่เท่ากัน ไม่เท่ากันเพราะเราเรียกร้อง เราต้องถวิลหา เราต้องรอ เรารอนะ สิ่งที่เรายังไม่ได้ เวลาเรารอนี่จิตใจเราหน่วงรั้งว่าอยากให้ถึงวันนั้น เราร่ำรอ
แต่เวลาปัจจุบันที่มาอยู่กับเราล่ะ เวลาปัจจุบันที่มาอยู่กับเรานี่แป๊บเดียว ผ่านไปได้เร็วมาก แล้วพอเป็นอดีตไปก็โหยหา เห็นไหม แล้วเวลาชีวิตของเรา เวลาเราตายไป นี่เวลาก็เป็นแบนี้ เวลามันก็คือเวลา แต่จิตนี้มันไม่เคยตาย มันก็ดำรงต่อไปโดยอดีตอนาคต โดยกาลเวลาที่มันต้องเปลี่ยนแปลงไป อดีตอนาคตนั่นล่ะคือเวลา อดีตอนาคตแล้วมันเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงนั้นการเปลี่ยนแปลงบนอะไร การเปลี่ยนแปลงบนเวลามันเกี่ยวเนื่องกัน พอมันเกี่ยวเนื่องกันไป สิ่งนี้ที่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราเปิดสิ่งนี้ไม่ได้ เราก็ไปมองที่กาลเวลานั้น
แต่ถ้าเราทำความสงบของใจล่ะ ถ้าใจมันสงบ สงบขึ้นมานี่จิตนิ่ง จิตมันสงบของมันอยู่ แต่มันก็อยู่บนเวลา เพราะจิตเราสงบขึ้นไปกี่ชั่วโมง เวลาถ้าจิตมันสงบนะ มันรวมลงนะ เป็นชั่วโมงๆ รวมลงหลายชั่วโมง ทำไมเรารู้ได้ล่ะ เรารู้ได้เพราะว่ามันมีเวลา
เวลานาฬิกามันตายนะ เวลามันไม่ได้ตาย นาฬิกาตายแต่เวลามันไม่ตาย นี่ก็เหมือนกัน เวลาคนตายไป สรรพสัตว์ที่เปลี่ยนแปลงในวัฏฏะ เวลามันตายไหม? มันไม่ตาย จิตมันไม่เคยตาย มันต้องอยู่กับกาลเวลาอย่างนี้ไป มันยังเวียนตายเวียนเกิดของมันไปไง สิ่งที่เวียนตายในชีวิตของเรา แล้วในปัจจุบันนี้เรามีสติมีปัญญาของเรา เราพยายามจะฆ่ามันให้ได้
ถ้าเวลามันตายไปจากภพนะ ถ้าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ๒,๐๐๐ กว่าปี นี่ก็คือกาลเวลา แล้วผู้ที่สิ้น เวลาสิ้น ถ้าเวลามันตายไปจากภพ คือจิตนั้นมันไม่เกี่ยวกับเวล่ำเวลาแล้ว เวลามีค่าสิ่งใด แต่มันจะมีค่ากับเราตั้งแต่เรานับนะ
นี่ไง เวลาพระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เวลาสร้างบุญญาธิการมามันก็เกี่ยว ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะสืบต่อได้อย่างไร การสืบต่อนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุพเพนิวาสานุสติญาณ เราเคยเป็นอย่างนั้น เคยเป็นอย่างนั้น สมัยนั้น สมัยนั้น นี่ไง มันมีได้ มันเกี่ยวเนื่องกัน มันสาวไปสู่บุพเพนิวาสานุสติญาณได้ จุตูปปาตญาณมันก็ไปของมันได้
แต่ของเรา เรารู้ได้เฉพาะชีวิตของเรานี้นะ รู้ได้เฉพาะชีวิตนี้ของเรา แต่คำว่า ชีวิตของเรา เวลาเราเปิดอ่านชีวิตของเรา เราเปิดอ่านประวัติชีวิตของเรา เราเปิดแต่ละหน้า แต่ละหน้าสิ เราเข้าใจได้ เรารู้ของเราได้ เห็นไหม เรื่องโลก โลกเข้าใจกันได้ แต่เราเปิดธรรมะไม่ออก หนังสือธรรมะเราอ่านไม่ได้
เวลาอ่านธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาธรรมทุกคนว่าเข้าใจ มีความรู้ทางวิชาการ มีความรู้ทั้งนั้นน่ะ แต่ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักสัจจะความจริง สติมันก็มีแต่ชื่อ เวลาสตินะ เวลาเราพูดกันได้ วันนี้ขาดสติ ทำความผิดพลาด ทำความพลั้งเผลอ เราก็พูดของเราไป แต่ถ้ามันเป็นสติที่เวลาเรายับยั้งของเราล่ะ สติที่เป็นประโยชน์กับเรา สติที่เราตั้งสติขึ้นมา แล้วเราพยายามทำคุณงามความดีของเรา เราตั้งสติของเรา ให้พุทโธ พยายามบริกรรมของเราขึ้นมา ถ้าจิตมันสงบได้ มันมีความเริ่มต้นของเราได้ เราจะเปิดธรรมะนะ ถ้าเราจะเปิดธรรมะของเราได้ ธรรมจะเป็นประโยชน์กับเราแล้ว นี่เราตั้งใจกันมา เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา
ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด แม้แต่ครูบาอาจารย์ของเราเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของเราก็ล่วงไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มันไม่มีสิ่งใดหรอก ถ้าเป็นวัตถุ เป็นสสาร ไม่คงที่ อยู่คงที่ไม่ได้ ถ้าสิ่งที่เป็นวัตถุ สิ่งที่เป็นสสารนี่มันจะไม่คงที่อยู่กับกาลเวลา แต่กาลเวลามากน้อยขนาดไหนมันก็แปรสภาพของมันไป
แต่เวลาถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว เวลาตายไปจากภพ ภพไปจากจิต ถ้าจิตจากภพ ถ้าภพ ถ้าจิตมันก็ยังมีเรามีเขาอยู่นะ ถ้าเป็นจากภพ กิเลสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ ถ้ามันตายไปจากภพ สิ่งที่เป็นธรรมธาตุมันพ้นจากกาลเวลาไป ไม่เกี่ยวกับกาล ไม่เกี่ยวกับเวลาเลย มันใหม่สดของมันอยู่อย่างนั้นตลอดไป นี้คือวิมุตติสุข
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ผ่านพ้นไปแล้ว ครูบาอาจารย์ของเราก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แล้วชีวิตเรา ชีวิตแบบอย่าง เรามีครูมีอาจารย์เป็นแบบอย่างของเรา ชีวิตของเรา เห็นไหม เวลากิเลสมันขี่คอ มันรันทดมากนะ มันเหนื่อยหน่าย เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก อวิชชาคือภพชาติ คือสิ่งที่เราเดินไปกลางทะเลทรายแล้วเราล้มลง แล้วเรายังจะต้องกระเสือกกระสนไป เห็นไหม มันน่าทุกข์ร้อนขนาดไหน
นี้ก็เหมือนกัน เวลาชีวิตของเรา เวลากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันครอบงำอยู่ ฉะนั้น สิ่งที่ครอบงำอยู่ทำให้เราคอตก เรานึกถึงแล้วมันเศร้าสร้อย นึกถึงชีวิตแล้วมันว้าเหว่ ทั้งว้าเหว่ ทั้งเฉา ทั้งเหงาหงอย สิ่งนั้น แต่ถ้าเราระลึกถึงธรรมล่ะ เราระลึกถึงธรรมมันชุ่มชื่นนะ เรามีโอกาส ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา เรามีโอกาสของเรา เราทำให้จิตใจเราสดชื่นขึ้นมา เหมือนกับนักกีฬา แข่งขันจะมีการชนะ เขามีกำลังใจของเขา นี่ก็เหมือนกัน มรรคผลมันมี เราสามารถทำได้ จิตที่ทุกข์ๆ ยากๆ อยู่นี่ เราที่นั่งคอตกกันนี่เราทำได้ เราทำได้
ดูฝ่ามือสิ พลิก หน้ามือกับหลังมือ จิตใจก็เหมือนกัน ถ้ามันเศร้าสร้อย มันเหงาหงอย เรามีความสดชื่นของเรา เราระลึกถึง ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูชีวิตแบบอย่างขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ ท่านเกิดมาเป็นกษัตริย์ ท่านสละความสะดวกสบายของท่าน ท่านออกไปค้นคว้าของท่าน ๖ ปีนะ พิสูจน์ตรวจสอบกันว่าที่ไหนมีความจริง ที่ไหนมีความไม่จริง ถึงที่สุดแล้วโลกมันก็เป็นโลกน่ะ โลกเป็นของจอมปลอม โลกคือเป็นสมมุติ โลกมันเป็นจริงของมันอย่างนั้น
แต่ถ้ามันสัจธรรมมันยังไม่เกิด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงย้อนกลับมาอานาปานสติ สิ่งใดที่มีคุณค่ากับความรู้สึกหัวใจนี้ ไม่มี ถ้าจิตใจมีความรู้สึก มีคุณค่าของมัน เห็นไหม ไปทดสอบตรวจสอบกับเขามา ๖ ปีนะ ถ้าเป็นเรามันไม่มีทางไปนะ เราก็คอตกหมดน่ะ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นจากที่อื่นมาหมดแล้ว มันเป็นไปไม่ได้
เราระลึกถึงตอนเป็นเด็ก ตอนที่อยู่โคนต้นหว้า ถ้ากำหนดจิต กำหนดอานาปานสติ กำหนดลมหายใจอย่างนั้นนะ แล้วมันมีความสุขอย่างนั้น จิตมันสงบระงับอย่างนั้น นี่ระลึกถึงนะ เพราะมันไม่เกิดมรรค เกิดผลไง แต่ตั้งใจจะทำแบบนั้น แล้วก็อธิษฐาน ถ้าคืนนี้ ถ้าได้นั่งสมาธิแล้วภาวนา ถ้าไม่สิ้นสุด เสียสละชีวิตนี้เลย จะไม่ลุกจากที่นั่ง นี่อธิษฐานขนาดนั้น ตั้งสัจจะขนาดนั้นแล้วทำของท่านจนพ้นจากกิเลสไปได้ นี่นึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พ้นไป
พอบอกนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิเลสมันก็สอดเข้ามานะ อ้าว นั่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะกล้าระลึกถึงอย่างนั้นหรือ เราจะทำของเรา มันเป็นสิ่งที่สุดความสามารถของเรา นี่เวลากิเลสมันสอดเข้ามานะ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็เป็นมนุษย์นะ ท่านสร้างบุญญาธิการมามาก แล้วเวลาท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเป็นศาสดา นี่เวลาตรัสรู้ขึ้นมาเป็นอาจารย์ของเทวดา ของพรหม ของต่างๆ เป็นอาจารย์สอนได้หมด สอนเพราะอะไร เพราะสิ่งที่ในเรื่องโลกๆ ถ้าเทวดา หมู่ของเทวดาเขาก็รู้กันเห็นกันเสมอกัน หมู่ของพรหมเขาก็รู้กันเห็นกันเสมอกัน หมู่ของมนุษย์ก็รู้กันเสมอกันเห็นเหมือนกัน นี่เรื่องของมนุษย์กับมนุษย์รู้เท่ากัน เทวดาก็รู้เรื่องของเทวดาเหมือนกัน พรหมก็รู้ว่าพรหมเหมือนกัน แต่เรื่องของสัจธรรมมันไม่มีใครรู้
เรื่องสัจธรรม เห็นไหม ส่งออกหมด โดยธรรมชาติของจิตมันส่งออกหมด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ย้อนกลับต่างหากล่ะ ธรรมะคือทวนกระแสเข้ามา ถ้าเป็นเทวดา เทวดาก็ต้องฟังธรรม กำหนดจิตย้อนกลับเข้า ถ้าเป็นพรหมก็ต้องศึกษาของพรหมเข้ามา เป็นมนุษย์เราก็ต้องศึกษาของเราเข้ามา นี่ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนได้หมดเพราะอะไร เพราะจิตอยู่กับกาลเวลา อยู่กับวัฏฏะ นี่ผลของมัน เวลาของพรหมยาวกว่า เวลาของเทวดา เวลาของมนุษย์ มันก็คือเวลาเหมือนกัน จิตนี้ กาลเวลาต่างๆ มันไม่เคยตายไปจากจิต เพียงแต่จิตอยู่ในสถานะไหน
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพอเราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เรามีกำลังใจของเราขึ้นมา แล้วเป็นแบบอย่าง แล้วเรามีสิทธิ เราทำได้ แต่ถ้ากิเลสมันสอดเข้ามา มันบอกเราคิดเกินตัว คิดเกินกำลังของตัว เห็นไหม เราปิดกั้นความจริงของเราเองต่างหากล่ะ
ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีทุคตะเข็ญใจอยากบวชมาก แล้วไปบวชกับใครก็ไม่มีใครรับบวช เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประชุมสงฆ์ว่า
ทุคตะเข็ญใจเคยมีคุณกับใคร?
พระสารีบุตรยกมือเลย เคยมีคุณกับข้าพเจ้า
มีคุณอะไร
มีคุณเคยใส่บาตรข้าพเจ้า ๑ ทัพพี
อย่างนั้น สารีบุตร เธอให้ทุคตะเข็ญใจนี้บวชเถิด
บวชเสร็จแล้วเอามาฝึกจนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้ นี่ไง ทุกคนมีความสามารถ มีความเป็นไปได้ทั้งนั้นน่ะ ทุคตะเข็ญใจก็ทำได้ถ้าเขามีสัจจะของเขา เขาตั้งใจตามความเป็นจริงของเขา แล้วเราทำไมทำไม่ได้ เราก็ต้องทำได้ ถ้าเราทำได้ขึ้นมา นี่มันมีกำลังใจขึ้นมาไง ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ ถ้าสักแต่ว่าทำนะ เราไม่มีความสามารถ เราทำไม่ได้ มรรคผลเกินความสามารถ เกินความไขว่คว้าของเรา
ถ้าเกินความไขว่คว้าของเรา เรามีชีวิตอยู่ทำไม แล้วอะไรเป็นสิ่งที่สัมผัสธรรม
ตำราก็คือตำรานะ เราจะจดจารึกขนาดไหนมันก็เป็นตำรานะ แต่ถ้าจิตใจมันได้สัมผัสล่ะ สติมันก็เกิดขึ้น สติจริงๆ นะ เราได้แต่ชื่อมันมา ศึกษาเราได้แต่ชื่อมันมา แต่ถ้าเราตั้งสติขึ้นมา สติจะเกิดกับเราถ้าเราตั้งสติขึ้นมา แล้วตั้งก็ล้มผล็อย ล้มผล็อยไปอย่างนั้น แต่เราตั้งสติขึ้นมาแล้วเทียบเคียงสิ เห็นไหม ถ้าสติมันดี พุทโธมันก็ชัด ปัญญาอบรมสมาธิก็แจ่มชัด ถ้ามันแจ่มชัดขึ้นมา เราทำแล้วถ้ามันแจ่มชัดขึ้นมาเราประคองของเราไว้ นี่ถ้าชำนาญในวสี
ผู้ที่ชำนาญการ ชำนาญในการทำสมาธิ ถ้าผู้ที่ชำนาญในการทำสมาธิ สมาธิจะไม่เสื่อมนั้น คำว่า เสื่อม เสื่อมหมายถึงว่าเวลาเราทำไม่เป็น เราทำขึ้นมาแล้วเราขาดตกบกพร่อง เราไม่ใช้สติปัญญาใคร่ครวญของเรา แต่ถ้าเราใคร่ครวญของเรา เราทำสมาธิอย่างใด เราตั้งสติอย่างใด เรากำหนดอย่างใดแล้วจิตมันเป็นสมาธิ แล้วคำว่า เป็นสมาธิ คำว่า สมาธิ คือจิตมันสงบเข้ามา
แต่ถ้าดูสิ ดูวันหนึ่ง เช้า สาย บ่าย เย็น มันแตกต่างกันด้วยอุณหภูมิ จิตใจของเราถ้ามันกระทบล่ะ สิ่งใดที่มันกระทบนะ ตอนเช้ากิเลสมันพอใจของมันว่ามันมีร่มเย็นเป็นสุข พอตอนเที่ยงขึ้นมากิเลสมันดิ้นรนแล้ว นี่มันทำสมาธิได้ยาก ยากตรงไหน? ยากตรงที่กิเลสของเราไง สิ่งที่ขัดข้องขัดแย้งในหัวใจมันทำให้การประพฤติปฏิบัติเราหละหลวมไปด้วย ฉะนั้น เราต้องประคองของเรา เราต้องรักษาของเรา
เวลาปฏิบัตินะ ธรรมะไม่เคยทำร้ายใคร ธรรมะมีแต่ให้คุณงามความดี แต่สิ่งที่ทำร้ายคือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก อยากได้ไง อยากได้โดยที่ไม่สมเหตุสมผล อยากได้โดยความนึกคิดของตัว แต่ถ้ามันมีสมเหตุสมผลของมันนะ คำว่า สมเหตุสมผล คนเรากิเลสหยาบ กิเลสละเอียด กิเลสหนา กิเลสบางแตกต่างกัน การกระทำของคนจึงแตกต่างกัน แตกต่างกันเพราะเหตุใด?
แตกต่างกันเพราะการกระทำของเรา ไม่ใช่แตกต่างกันด้วยการแบ่งแยกของใคร แตกต่างด้วยจริตนิสัยของเรา จริตนิสัยคือการกระทำมาจากอดีต กาลเวลาจากอดีตที่มันได้สะสมมา จิตใจนี้เวียนตายเวียนเกิดมา ฉะนั้น จิตใจเวียนตายเวียนเกิดมามันเป็นคุณสมบัติของเรา มันเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึกของเรา เราจะปฏิเสธไม่ได้ เราจะเรียกร้องฝักใฝ่ให้เป็นอย่างที่เราสมความปรารถนาก็ไม่ได้ แต่เรามีสิทธิทำในปัจจุบันนี้ เรามีสิทธิทำให้มันเกิดขึ้นตามความเป็นจริง ถ้าเรามีสิทธิทำให้เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แล้วเรามีสิทธิไหม เรามีโอกาสไหม ถ้าเรามีสิทธิ เรามีโอกาส เราก็ตั้งใจของเรา เราทำของเรา
เวลาในหมู่คณะของเรานะ เราคุยธรรมะกัน เราคุยกันเพื่อให้กำลังใจต่อกัน เราคุยหาเหตุหาผล หาช่องทางที่เราจะออกจากกิเลสด้วยกัน ฉะนั้น เราคุยกันเพื่อเป็นข้อเท็จจริง เพื่อให้มีทางออกต่อกัน แต่ไม่ใช่ว่าจะทำให้เหมือน ทำให้เหมือนกันมันเป็นจริตนิสัย มันเป็นความสมเหตุสมผลของเขา แต่ถ้ามันสมเหตุสมผลของเรา เราเป็นช่องทางหาเป็นอุบายวิธีการของเรา นี่เราคุยกันได้ แต่จะเอามาเป็นว่าเราจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ...ไม่ได้ คำว่า ไม่ได้ เราทำตามความเป็นจริงของเรา
ถ้าเราตั้งใจแบบนี้ เรามีโอกาสของเรา เราทำของเรา มันก็ทำให้เราไม่เศร้าสร้อยหงอยเหงาจนเกินไป ถ้าคนมีความหวังนะ ถ้าเรามีความหวัง เราจะมีกำลังใจของเรา เรามีความหวัง ความหวังเพราะสิ่งใด? ความหวังเพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ไปแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ฆ่าเวลาได้ตายจากภพ จากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พ้นจากกาลเวลา พ้นจากวัฏฏะ เป็นวิวัฏฏะไปแล้ว
ครูบาอาจารย์ของเราเวลาปฏิบัตินะ หลวงตาท่านบอกว่า ท่านว่างงาน ว่าง ไม่มีบัญชี ไม่มีอยู่ในโลกนี้ กาลเวลาก็หมุนไป กาลเวลากับจิตนั้นไม่เกี่ยวกันแล้ว
แต่ของเราเกี่ยว เกี่ยวเพราะมันมีผลกับเราไง มันมีผลเพราะกรรมดีกรรมชั่วมันให้ผลกับเรา ถ้ากรรมดีกรรมชั่วมันให้ผลกับเรา เราปฏิเสธไม่ได้ เวลาที่ผ่านมาเราได้สร้างสิ่งใดมาล่ะ แต่ถ้ามันเป็นปัจจุบันนี้เรามีโอกาสของเรา ถ้ามีโอกาสของเรา เราทำของเรา หน้าที่การงานก็เป็นหน้าที่การงาน โอกาสที่เราจะประพฤติปฏิบัติ เรามีโอกาสของเรา แต่ถ้ามันทำยากนะ ทำยากเราก็พยายามให้กำลังใจ
ความอยากที่เป็นมรรค กับ ความอยากที่เป็นกิเลส
ความอยากที่เป็นกิเลส คือมันอยากไม่สมเหตุสมผล อยากแล้วไม่ทำ
แต่ ความอยากที่เป็นมรรค เห็นไหม อยากพ้นทุกข์ อยากให้มีจิตสงบ อยากมีสติ อยากมีปัญญา อยาก ก็ต้องฝึกฝน อยาก ก็ต้องขวนขวาย ถ้าการขวนขวายนั้น ถ้าเรายังหนุ่มยังแน่น เราทำสะดวกสบายเราก็ตั้งใจทำ เดี๋ยวแก่ชราขึ้นมาแล้วเราทำลำบาก ถ้าเราแก่ชราแล้ว เราก็ยังมีลมหายใจ ถ้าเราแก่ชราแล้วนะ โอกาสของเรา เห็นไหม ลุกก็ปวด นั่งก็ปวด นอนก็ปวด แต่ยังมีลมหายใจ เราก็กำหนดของเราเข้าไป กำหนดที่ลมหายใจนั้น
อิริยาบถ ๔ คำว่า อิริยาบถ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน ถ้าเป็น ท่านั่ง ถ้าจิตมันสงบ เรานั่งเพื่อจิตสงบ เราไม่ได้นั่งเพื่อจะมาอวดท่าว่าใครสวยกว่าใคร เรานั่งเพื่อความสงบของใจ ถ้าเรานั่งแล้วมันไม่สะดวก บางคนถนัดเดินจงกรม
นั่งกับเดิน เดิน แล้วถ้าจิตมันจะลง ยืน ยืนรำพึง เราไม่ยึดท่าใดท่าหนึ่งเป็นท่าตายตัว เป็นที่ว่าคนที่ถนัด พระบางองค์ถนัดในท่านั่ง นั่งได้ทีหนึ่งครึ่งวันค่อนวัน พระบางองค์ถนัดในการเดินจงกรม เดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน นี่ไง มันเป็นที่ท่าถนัดใช่ไหม ถ้าเราอายุมาก เราแก่เราเฒ่า เราก็นอนได้ นอนปฏิบัติก็ได้ ทีนี้ถ้าเราคิดไม่ถึง เราบอกว่า เราจะปฏิบัติ เราจะนั่งสมาธิ เราจะเดินจงกรม แล้วร่างกายเราแก่ชรา เราก็ฝืน แต่ถ้าเรานอนทำ เรานั่งสบายๆ แล้วทำ ถ้ามันสงบลงล่ะ มันเกิดปัญญาขึ้นมาล่ะ เห็นไหม เราไม่ได้เอาที่ท่า เราปฏิบัติกันนี่เราเอาความสงบของใจ
เราค้นคว้านะ เราจะเปิดธรรมะ เราเปิดประวัติชีวิตของเราทางโลก เรารู้ได้หมด แต่ธรรมะเรายังเปิดไม่ได้ แต่ถ้าเมื่อใดเราเปิดหนังสือธรรมะของเรา อ่านใจเราออก เราค้นหาใจเราเจอ แล้วเราเปิดบทเริ่มต้นได้ ถ้าเราเปิดบทเริ่มต้นได้ เห็นไหม เริ่มมีความชื่นใจ มรรค ผล นิพพานมี มีที่ไหน? มีที่ใจนี้สัมผัส มีที่สันทิฏฐิโก มีที่ปัจจัตตัง ถ้าใจมันสัมผัส ใจมันเกิดขึ้นมานี่ใครจะต้องบอกเรา เรารู้ของเราชัดๆ
แต่ในปัจจุบันนี้มันเป็นสิ่งที่เรื่องของชีวิตโลกหมดเลย ความคิด ความกังวล ความวิตกกังวลต่างๆ มันเป็นเรื่องชีวิตโลกหมด นี่เราถึงต้องฝืน ฝืน
ความอยากที่เป็นมรรค อยากดี อยากพ้นจากทุกข์ อยากให้จิตใจนี้เป็นไป ถ้าจิตใจนี้เป็นไปนะ นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ไม่ให้เชื่อใคร ไม่เรียกร้องกับใคร ไม่ขอร้องอ้อนวอนจากใคร แต่ต้องเกิดขึ้นจากความเป็นจริง ถ้าเกิดขึ้นจากความเป็นจริง เราถึงตั้งใจตั้งสติของเรา แล้วกำหนดของเรา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันจะร่มเย็นเป็นสุข ถ้าจิตสงบร่มเย็นเป็นสุขมันจะมีกำลังใจ ถ้ามีกำลังใจ สิ่งที่เราได้สัมผัสแล้ว ถ้ามันยังทำไม่ได้ ทำสิ่งนี้ยังไม่ได้ สิ่งนี้จะฝังใจตลอดไป
ฝังใจ แต่ถ้าสิ่งที่ฝังใจเป็นพื้นฐาน เราจะทำให้เป็นปัจจุบัน เรากำหนดของเราบ่อยครั้งเข้า ชำนาญในวสี กำหนดพุทโธๆ หรือปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันสงบเข้ามา สงบเข้ามา แล้วเราใช้ปัญญาของเรา ปัญญาตรึกในธรรม เห็นไหม เราจะเปิดธรรมะ ธรรมะที่เกิดขึ้นจากใจ ไม่ใช่ธรรมะที่เราศึกษามา
ธรรมะที่เกิดขึ้นจากใจ ศีลก็เป็นศีลจริงๆ สติก็เป็นสติจริงๆ สมาธิก็เป็นสมาธิจริงๆ แล้วถ้าเกิดเป็นปัญญา ปัญญาอย่างนี้มันจะถอดมันจะถอน ปัญญาอย่างนี้มันจะทำให้จิตใจเราเข้าใจ เห็นไหม สิ่งที่เราไม่เข้าใจกันอยู่นี่มันเพราะอะไรล่ะ? อวิชชา ศึกษาธรรมะนี่รู้โจทย์ก่อน ถ้ารู้โจทย์ก่อน เวลาทำสิ่งใดขึ้นไป เวลาศึกษาธรรมมาแล้วถึงให้วางไว้ก่อน โจทย์ก็คือโจทย์ โจทย์อันนี้เป็นปูนหมายป้ายทาง เป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผ่านไปแล้ว แล้ววางไว้ให้เป็นการยืนยันกับเรา ให้เราตรวจสอบได้ไง
เวลาเราประพฤติปฏิบัติไปนะ เวลาสิ่งใดที่เกิดขึ้น ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าก็รู้เหมือนกัน แต่ไม่ได้บัญญัติศัพท์อย่างนี้ไว้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติศัพท์ไว้ เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไปเราจะตรวจสอบกันตรงนี้ไง ถ้าเราปฏิบัติไป เริ่มต้นจิตสงบมากสงบน้อย เวลาเกิดปัญญาขึ้นมามันพิจารณาแล้วมันปล่อยวางอย่างใด พอมันปล่อยวางนี่กิเลสมันจะเข้าข้างตัวเองตลอด กิเลสมันจะให้คุณค่าในการประพฤติปฏิบัติของเราเกินความเป็นจริง
เวลาเราปฏิบัติใช่ไหม สิ่งที่เราล้มลุกคลุกคลานนั้นก็เป็นกิเลสประเภทหนึ่ง เวลาเราปฏิบัติได้ เวลาเรามีสติปัญญาของเรา แล้วเราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง แล้วเราพิจารณาของเราไปนะ มันเป็น ตทังคปหาน กับ สมุจเฉทปหาน
สมุจเฉทปหาน คือการชำระกิเลสจบสิ้น เป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป
แต่ถ้า ตทังคปหาน เวลาเราประพฤติปฏิบัติไปมันปล่อยวางเหมือนกัน
ถ้าปล่อยวาง เราก็ว่าคำว่า ปล่อยวาง นี่ขันธ์ต่างๆ ดูสิ เวทนาดับหมด ทุกอย่างดับหมด เวลาเวทนาดับนะ สมาธิมันก็ดับ เวลาขันธ์มันรวมตัวนะ เวลาเรานั่งสมาธิ สมาธิคือจิตสงบผ่านขันธ์เข้าไป นี่เป็นสมาธิ สมาธิมันก็เป็น
แต่เวลาเราปฏิบัติ นี่ไง สิ่งที่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอาไว้เวลาให้เราตรวจสอบ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านรู้แล้ว ท่านรู้ก่อนเราอีก แต่ท่านใช้อุบาย เพราะ ทิฏฐิ เวลามันเกิดทิฏฐิ สิ่งใดมันก็ไม่เป็นประโยชน์กับบุคคลคนนั้น แต่ถ้าใช้อุบายให้บุคคลคนนั้นเข้าใจ นี่การติดก็การติด ติดที่ว่าเราติด เรายึดมั่นของเรา มันจะสั้นเข้า แต่ถ้าพอเราเกิดทิฏฐิ เกิดความยึดของเราเพราะเราสงสัย
พอสงสัย เพราะครูบาอาจารย์หรือว่าหมู่คณะบอกว่า สิ่งนี้มันคลาดเคลื่อน หรือไม่เป็นความจริง มันจะเกิดทิฏฐิว่า จริง ของเราใช่ แล้วพอเกิดใช่ ทิฏฐิ เห็นไหม ดูสิ ตัณหามันก็บวก ความยึดมั่นถือมั่นมันบวกมากขึ้น พอบวกมากขึ้น การแก้การจะปล่อยวาง เหตุผลมันเข้าไม่ถึง แต่ถ้าพูดถึงใช้อุบายให้เราพิสูจน์ เราพิสูจน์ของเราเอง พอเราพิสูจน์ของเราเอง มันไม่ใช่ตั้งแต่ต้น แต่เพราะเกิดทิฏฐิไปยึดมันเอง พอเราพิสูจน์ไปมันก็ไม่ใช่ นี่เวลามีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ การประพฤติปฏิบัติเราจะสะดวกขึ้น แล้วไม่เสียเวลามาก
แต่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ท่านมีแต่ตำรา มีแต่พระไตรปิฎก แล้วพอประพฤติปฏิบัติขึ้นไปต้องค้นคว้า ตรวจสอบแล้วตรวจสอบอีก แต่เพราะท่านเป็นผู้ที่มีบารมี แต่ของเรามีบารมีไหม ถ้าเรามีบารมีนะ เราปฏิบัติแล้ว เราตรวจสอบแล้วมันจะเข้าสู่มัชฌิมาปฏิปทา เข้าสู่ทางสายกลางในสัจธรรม มรรคสามัคคีมันรวมตัวอย่างไร มันสมุจเฉทปหานอย่างไร มันจะเป็นประโยชน์ตามความเป็นจริงถ้าผู้ที่มีบารมี
แต่ผู้ที่ไม่มีบารมีนะ แค่อาการวูบวาบมันก็บอกว่าสามัคคีแล้ว อาการวูบวาบนะ ดูสิ ดูในทางโลกเขา คนแก่คนเฒ่าเดินไปเขาจะล้มอยู่แล้ว เซซ้ายเซขวานั่นน่ะ วูบวาบอย่างนั้นมันจะสามัคคีอะไร มันจะเป็นมรรคอะไร วูบวาบอย่างนั้นโลกเขาก็เป็นกัน คนนักกีฬา เวลามันออกกำลังกาย มันออกกำลังมากมันก็เป็นลมแล้ว ถ้าเป็นลมเป็นแล้งอย่างนั้นมันจะไม่สามัคคีได้อย่างไร มันไม่เป็นความจริงหรอก ถ้าไม่มีบารมีนะ มันสั่นไหว มันหวั่นไหวไปกับอารมณ์ความรู้สึกหมดน่ะ
แต่ถ้ามันมีบารมีนะ มันตรวจสอบ ตรวจสอบ ตรวจสอบ การตรวจสอบนั้น นี่ชำนาญในวสี ถ้ามีความชำนาญ มีความค้นคว้า มีการกระทำ มันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ
ปฏิบัติไป ความดีที่ยังดีกว่านี้ยังมีอยู่ ความดีที่ละเอียดกว่านี้ยังมีอยู่
ปุถุชน กัลยาณปุถุชน เราปุถุชนคนหนา คนหนากระทบสิ่งใดมันก็ยึดไปหมด กระทบสิ่งใด กิเลสตัณหาความทะยานอยากเหมือนยางเหนียว ดูสิ แผ่นยางเหนียวๆ อะไรที่มันปลิวมา มันตกไปแล้วมันจะผ่านไปได้ไหม? มันติดหมดน่ะ ตัณหาความทะยานอยากคือยางเหนียว แล้วอารมณ์ความรู้สึก ความนึกคิดของเรามันจะผ่านจิตดวงนี้ไปได้ไหม?
มันซับไว้หมดล่ะ อารมณ์ความรู้สึก เวลายิ่งคิดสิ่งที่ไม่ดีนะ มันยิ่งยึดมาก แล้วยิ่งเวลาศึกษาธรรมะขึ้นมานี่รู้ไปหมด แล้วรู้ไปหมดมันมีความจริงอะไร ถ้ารู้ไปหมดนะ ดูเวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย เรากินยา ปฏิกิริยามันยังมีนะ มันถึงเวลากินยาเข้าไป ทางเคมีมันต้องมีปฏิกิริยาให้กำจัดโรคภัยไข้เจ็บอันนั้น แล้วเราศึกษามามันเป็นปฏิกิริยาอะไร มันทำอะไรเป็นความจริงขึ้นมาบ้าง? มันไม่มีอะไรเป็นความจริงขึ้นมาเลย
แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมาเขาก็บอกว่า ปฏิบัตินั้นมันจะมีผลหรือ ปฏิบัติมันจะเป็นความจริงหรือ
ปฏิบัตินะ เราทำให้ยางเหนียวของเรา ตัณหาความทะยานอยากนะ พุทโธก็พุทโธไม่ได้ เวลาความจริงของเรานี่พุทโธไม่ได้ เวลาอารมณ์ที่มันปั่นป่วน อารมณ์ที่มันทำให้หัวใจสั่นไหวนี่ได้หมด เพราะมันเป็นสิ่งที่กิเลสชอบ
เวลาครูบาอาจารย์ท่านเปรียบนะ จิตนี้มันหิวโหยนัก
สิ่งใดผ่านมามันกลืนกินหมด มันเสวยหมด เสวยอารมณ์ไง ความดี ความชั่ว ความคิด ความเฉา ความหงอยเหงา มันกลืนกินหมดเลย มันเสวยหมด แล้วเราก็เปลี่ยน เปลี่ยนให้กำหนดพุทธานุสติ ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทโธๆ นี่พุทธานุสติ ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยสติ พุทธานุสติ ระลึกถึงพุทโธๆ เพื่อเป็นขวัญเป็นมงคลกับชีวิตของเรา เป็นขวัญเป็นมงคลกับหัวใจนี้ อย่าเที่ยวไปเสวย อย่าเที่ยวไปเก็บเกี่ยวสิ่งที่มันให้แต่ไม่เป็นประโยชน์กับหัวใจเลย สิ่งนั้นมันให้กับหัวใจเศร้าสร้อยหงอยเหงามาตลอด
พุทโธๆ ไปมันคัดค้าน มันขัดแย้งกับกิเลส กิเลสมันไม่พอใจ มันจับพลัดจับผลู จับไม่ได้ พุทโธไม่ได้ พุทโธแล้วเครียด พุทโธแล้วต่างๆ นี่เริ่มต้นนะ เหมือนคนเล่นกีฬาไม่เป็น คนเริ่มต้นเล่นกีฬาไม่เป็น แต่เราจะฝึกกีฬานั้น เงอะๆ งะๆ ไปทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าตั้งใจฝึก มีพรสวรรค์ ตั้งใจฝึกมันเป็นไปได้ นี่ก็เหมือนกัน จิตใจที่เราเห็นคุณค่าสิ ถ้าเราเห็นคุณค่าว่าเกิดมานี่แสนทุกข์
การเกิดนะ มันเกิดโดยกรรม เกิดปฏิสนธิจิต เกิดในไข่ เกิดในคร่ำ เกิดในครรภ์ เกิดโอปาติกะ มันเกิดอยู่แล้ว การเกิดแบบนี้มันเกิดโดยกรรม แต่เวลาเราทำสมาธิ เราทำความสงบของใจ เพื่อใช้ปัญญา เราจะเกิดในธรรม เราเกิดในธรรมนะ เกิดตาใสๆ เกิดแบบมีความรู้สึก เกิดที่จิต เกิดในภพในชาตินี้
เราคิดดูสิ เราเป็นปุถุชน เป็นคนหนา เรามีแต่ความทุกข์ยากในหัวใจ แล้วถ้าจิตมันสงบมีความร่มเย็นเป็นสุขล่ะ แล้วเวลามันสงบแล้วใช้ปัญญานะ เวลาออกมางานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ความชอบธรรมมันเกิดขึ้น มันทำให้จิตใจนี้เด่นมาก มันทำให้ในหัวใจเราพองโต มันมหัศจรรย์ สิ่งที่มหัศจรรย์นะ โลกเขาไปหาความมหัศจรรย์กัน สิ่งมหัศจรรย์ทางโลก เป็นวัตถุ เป็นข้าวของ เป็นสิ่งต่างๆ เป็นความมหัศจรรย์
แต่เวลาจิตใจที่มันเป็นไป ความมหัศจรรย์ที่มันเกิดขึ้นมา นี่เวลาเกิดเป็นมนุษย์นี่นะ ทางวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์กัน พยายามจะหาคำตอบกันว่ามนุษย์มาจากไหน เกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหน เขาพยายามหาคำตอบกัน แต่มันไม่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ในทางธรรมเลย เพราะการเกิดนี้เกิดโดยกรรม จิตนี้เกิดแน่นอน เกิดในสถานะไหน มันเกิดอยู่แล้ว แล้วเกิดมาก็ทุกข์ๆ ยากๆ อย่างนี้
แต่เวลาเราจะตั้งใจทำคุณงามความดีของเรา เราจะต้องตั้งสติของเรา แล้วถ้ามันสงบเข้ามา นี่ไง ปุถุชนเกิดเป็นกัลยาณปุถุชน นี่จิตมันขยับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ของมันเพิ่มขึ้น จากปุถุชนคนหนา ยางเหนียว สิ่งใดติดไปหมด ติดไปทุกเรื่อง ติดไปหมดทุกอย่างเลย นี่ถ้าเราควบคุมด้วยคำบริกรรมของเรา ควบคุมแล้วเราฝึกใช้คำบริกรรมให้จิตมันเกาะ
คำว่า จิตมันเกาะ พุทโธๆๆ นี่จิตมันเกาะ
ถ้าไม่เกาะ ยางเหนียวมันไปเกาะอย่างอื่น มันเสวยทั้งหมด
แต่พุทโธๆ จนถ้ามันเริ่มสงบได้ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ พอเป็นความเข้าใจของมัน แล้วใช้ปัญญาใคร่ครวญของเรา ทำไมคราวนี้พุทโธได้ ทำไมคราวที่แล้วพุทโธไม่ได้ ทำไมพุทโธไปแล้วมันทำไมมันง่วงหงาวหาวนอน ทำไมพุทโธไปแล้วมันไม่สดชื่นเลย นี่เราหาแง่มุม หาโอกาส นี่เป็นเพราะเหตุใด แล้วมีครูบาอาจารย์ ท่านมีข้อวัตรปฏิบัติ มีอุบายวิธีการ นี่เราทำของเรา พอมันเริ่มเห็นเหตุเห็นผล คำว่า เห็นเหตุเห็นผล กัลยาณปุถุชนเห็นตรงนี้
กัลยาณปุถุชน รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร
จิตเรามีตัณหาความทะยานอยาก นั่นน่ะคือมาร แล้วมันก็เอาสิ่งนี้ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงแห่งมาร เป็นพวงดอกไม้ มันเอามาล่อน่ะ แล้วจิตนี้ก็โง่นัก ไม่รู้อะไรเลย เสียงมาก็ชอบ รูปมาก็ชอบ รสมาก็ชอบ สิ่งใดมาชอบหมด ดีไปหมดเลย
แต่พอมันใช้มีปัญญา เราพุทโธก็ไม่ได้ นู่นก็ไม่ได้ แต่เราใช้ปัญญาทดสอบ แล้วเราแก้ไขของเราจนเห็นโทษของมัน อ้อ! มันฟุ้งซ่านก็เพราะนี่ไง ชอบที่นุ่มนวล ชอบสิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ดีก็ขัดแย้งขึ้นมา ใจก็ฟู นี่บ่วงของมาร พวงดอกไม้แห่งมาร มันเอามาล่อ มันเอามารัดคอ แล้วเราก็ล้มลุกคลุกคลาน เราก็ยังโง่กับเขากับมัน
แต่พอจิตมันสงบแล้วเรามีปัญญาของเราใคร่ครวญของเรา จากจิตสงบบ่อยครั้งเข้า จนมันขาด สิ่งที่ว่า รูป รส กลิ่น เสียง ขาดจากใจ จิตนี้มันปล่อยหมด มันปล่อยรูป รส กลิ่น เสียงเลย รูป รส กลิ่น เสียงเงอะๆ งะๆ อยู่ข้างนอก แต่สติมันพร้อม นี่ไง ถ้าสติมันพร้อมกับความรู้สึกของเรา สติมันพร้อม มันควบคุมจิตได้ ถ้าควบคุมจิตได้ นี่กัลยาณปุถุชน
เป็นปุถุชนเหมือนกัน แต่มันพ้นจากคนหนา คนหนานี่มันควบคุมไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติ ไหลกันไปก็ไหลกันมา กระแสนู่นกระแสนี่ติดกันไปหมด เป็นเนื้อเดียวกันไปหมดเลย แบ่งแยกไม่ถูก แต่พอมีสติปัญญาใคร่ครวญแล้วนี่มันแบ่งแยกได้แล้ว รูป รส กลิ่น เสียง กับจิตของเรา พอจิตของเรามันควบคุมได้ ถ้าควบคุมได้ นี่กัลยาณปุถุชนมีพื้นฐานแบบนี้
พอมีพื้นฐานแบบนี้ รักษาจิตจนตั้งมั่น พอตั้งมั่นขึ้นไปนี่มันน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม จากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน พอกัลยาณปุถุชนจะเริ่มต้นโสดาปัตติมรรค ถ้าจิตสงบเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริง เวลาจิตมันสงบเข้ามานะ สงบจากปุถุชนเข้ามาเป็นกัลยาณปุถุชน มันสงบเข้ามา มันตั้งมั่นของมัน แต่มันก็เป็นปุถุชนน่ะ มันเป็นปุถุชน แต่มันมีความสงบระงับนะ มันเข้าใจได้ มันมีปัญญาของมัน
เวลาน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่ไงบุคคล ๘ จำพวก
บุคคลที่ ๑ กำเนิด
ถ้าบุคคลที่ ๑ กำเนิดแล้วนะ นี่โสดาปัตติมรรค ถ้าจิตมันรู้จิตมันเห็นตามความเป็นจริง เราจะเดินโสดาปัตติมรรค ถ้าเป็นโสดาปัตติผลล่ะ เกิดเป็นโสดาปัตติผล
เวลาที่มันไม่มีต้นไม่มีปลาย มันจะมีขอบเขตของมัน ถ้ามีขอบเขตของมัน แต่เวลาของเรานี่ไม่มีขอบเขต เวลาก็คือเวลา เวลาไม่มีวันตาย เวลาคือว่าจิตดวงนี้จะอยู่กับกาลเวลา กาลเวลาไหน จิตนี้อยู่สถานะไหนก็อยู่กาลเวลานั้น แต่เพราะเรามีสติมีปัญญา เพราะเราเป็นชาวพุทธ เพราะเราเชื่อในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ของเรา เวลาได้ตายจากภพในใจของท่านไปหมดแล้ว เพราะท่านทำของท่านอย่างนี้
ฉะนั้น เวลาเราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา ถ้าจิตมันน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม โดยความเป็นจริง โดยความเป็นจริงนะ
จิตจริง โสดาบันก็จริง
จิตจริง ธรรมะจะเป็นความจริง
ถ้าจิตจอมปลอม จิตเจ้าเล่ห์ มันอาศัยเบี่ยงเบน อ้างอิงธรรมะ แต่ตัวมันเองหลอกลวง หลอกลวงแม้แต่จิตของตัว จิตของตัวนี่อวิชชาพญามารมันครอบงำของมัน แล้วมันไม่มีทางออกหรอก แต่ถ้ามันจะมีทางออก จากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน นี่เป็นเพราะเหตุใด เป็นเพราะมีสติปัญญาของมัน
ทีนี้ ถ้าคนไม่มีอำนาจวาสนาบารมี พอมันสงบเข้ามาก็เหมือนฤๅษีชีไพร ฤๅษีชีไพรพอเขาทำจิตสงบเขาว่าเป็นสุดยอดปรารถนาของเขา ถ้าจิตสงบแล้วเขาจะรู้วาระจิต เขาจะเหาะเหินเดินฟ้า นี่เป็นฌานโลกีย์ทั้งนั้นน่ะ ฌานโลกีย์ทำให้ติด ติดเพื่ออะไร? ติดเพื่อให้ชีวิตนี้หมดไป ติดให้ตายอยู่ในวัฏฏะ ติดให้โดยที่ไม่ได้การประพฤติปฏิบัติ
คำว่า ติด สำคัญผิดไง สำคัญผิดว่าสิ่งนี้เป็นมรรคเป็นผล
แต่ถ้าคนที่มีอำนาจวาสนาบารมี เห็นไหม ไม่สำคัญผิด ไม่สำคัญตน ถ้าจิตมันปล่อยวาง รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันสงบระงับของมัน แต่มันมีสิ่งใดที่มันชำระล้างล่ะ? มันไม่มี ถ้ามันไม่มี ถ้าเราฝึกหัดของเรา มีครูบาอาจารย์ของเรา ให้น้อมไป ถ้าคนมีอำนาจวาสนาบารมีมันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม โดยที่จิตมันก้าวเดินไป แต่ถ้าเราไม่มีอำนาจวาสนา ล้มลุกคลุกคลานนะ
โสดาปัตติมรรค เราจะก้าวขึ้นสู่โสดาปัตติมรรค สิ่งที่เวลาเป็นโสดาปัตติมรรคมันระหว่างก้าวเดิน เห็นไหม คนเริ่มมีโอกาส คนเริ่มได้หน้าที่การงาน แต่ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เขาจะไม่ได้ผลตอบแทน แต่ถ้ามีหน้าที่การงานนะ เราพยายามฝึกฝนของเรา เราพยายามทำของเรา ล้มลุกคลุกคลาน
งานการชำระกิเลสเป็นงานที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์ งานที่ชำระกิเลสใช่ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จะมีอายุขัย จะมีอำนาจวาสนาแตกต่างกัน แล้วมันจะมีอำนาจวาสนาบารมี ฉะนั้น เราเป็นชาวพุทธ เราอยากประพฤติปฏิบัติ เราได้สร้างบุญกุศลของเรามา เราเกิดเป็นมนุษย์นี่มีโอกาส มีสิทธิ มีเสรีภาพ มีการกระทำ แล้วเราเป็นชาวพุทธ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน
มารเอย เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรา
ของเรา เห็นไหม นี่ฝากศาสนาไว้กับเราภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
แล้วเราเป็นชาวพุทธ เราเป็นเจ้าของศาสนาโดยชื่อ แต่เรายังไม่ได้สัมผัสตามความเป็นจริง ถ้าผู้ใดได้สัมผัสตามความเป็นจริง นี้ในศาสนาในสมัยพุทธกาล ถึงในศาสนาพุทธเรา วัดทุกวัดพระอรหันต์เต็มไปหมดเลย มีแต่พระอรหันต์เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังเคี่ยวเข็ญ กำลังประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง แล้วเราเป็นชาวพุทธได้แต่ชื่อ แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันก็จะได้ตามความเป็นจริง
ถ้าได้ตามความเป็นจริง ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ชื่ออย่างนี้มันอยู่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วางเป็นระดับขั้นของจิต จิตมันมีความสูงความต่ำอย่างใด จิตมีอำนาจวาสนาขนาดไหน นี่มันเป็นระดับในธรรมวินัยที่บัญญัติไว้ แล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เราคนเดียว จิตดวงนี้ดวงเดียว แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไปแล้วมันพัฒนาของมันขึ้นไป พัฒนาขึ้นไปจนถึงถ้ามันน้อมไป ถ้าจิตมีอำนาจวาสนา มันจะรู้มันจะเห็นของมัน เห็นของมันแล้ววิปัสสนาปล่อยวางขนาดไหน มันเป็นความจริง
แล้วการปล่อยวาง เวลาปล่อยวางโดยปัญญา ปล่อยวางโดยมรรคสามัคคี โดยความชอบธรรม ถ้าความชอบธรรม งานชอบ เพียรชอบ ความระลึกชอบ ระลึกคือสติ ความระลึกชอบ งานชอบ เพียรชอบ ปัญญาชอบ ทุกอย่างความชอบธรรม ความชอบธรรมถ้ามันเริ่มความเป็นจริง นี่การทำงานของใจ การใช้ปัญญา การประพฤติปฏิบัติมันอยู่ที่นี่ มันอยู่ที่ว่าถ้าจักรมันหมุนไง คือปัญญามันหมุนออกไป ถ้าปัญญามันหมุนออก ออกไปจากไหน? ออกไปจากจิต
เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ เราระลึก วิตก วิจาร พุทธานุสติมันเกิดจากอะไร? เกิดจากจิตดวงนั้นมีความศรัทธา มีความเชื่อ แล้วระลึกขึ้นมา นี่วิตก วิจาร ทีนี้ออกมาจากจิต เวลาสงบเข้าไปสู่จิต ถ้าจิตมันมีการกระทำ มันสงบ มันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน ถ้ามีหลักเกณฑ์ของมันนะ เวลามันออกใช้ปัญญา ออกใช้ไปจากไหน? ก็ออกใช้ไปจากจิต
นี่ไง สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปุถุชนที่คนหนา มันเป็นเรื่องโลกๆ มันเป็นเรื่องโลกเพราะความคิดความรู้สึกที่เศร้า ความเศร้า ความหงอยเหงา ความทุกข์ความระทมในหัวใจ มันเรื่องโลกทั้งนั้นน่ะ แต่เพราะเรากำหนดพุทธานุสติจนจิตมันสงบเข้ามา ตัวจิตนั่นคือสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้ง คือปฏิสนธิจิต จิตที่มันเกิดในไข่ ในน้ำคร่ำ ในโอปปาติกะ ไอ้ตัวจิตตัวนี้ ไอ้ตัวจิต ไอ้ตัวที่ได้สัมผัสธรรม ไอ้ตัวที่เป็นธรรมจริงๆ นี่ ไอ้ตัวที่นั่งอยู่นี่ ไอ้ตัวที่อยู่กลางหัวอกที่ไม่มีใครหามันเจอนี่
พอมันสงบระงับเข้ามา สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมา เวลามันออกใช้ปัญญา มรรคมันเกิด นี่โสดาปัตติมรรค มรรคคืออะไร? งานชอบ เพียรชอบ
เขาบอกว่า เลี้ยงชีวิตชอบก็หาอยู่หากินชอบ ทุกอย่างก็ชอบธรรมหมดแล้ว
นั่นมันเป็นฆราวาสธรรม นั่นเป็นเรื่องโลก แต่การเลี้ยงชีพ การหาอยู่หากินมันเรื่องของปากของท้อง มันเป็นเรื่อง...สัตว์มันก็ทำได้
แต่ถ้าพอจิตมันสงบเข้ามาไง เลี้ยงชีพชอบ ถ้ามันเป็นธรรมจักร ถ้าจักรของธรรมมันเคลื่อน นี่เลี้ยงชีพด้วยอะไร ความหิวกระหายสิ่งใด อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ จิตมันหิวกระหายมันก็เกาะหมดด้วยตัณหา ด้วยยางเหนียว แต่พอมันอิ่มเต็มของมันขึ้นมา เวลามันเกิดขึ้นมา เห็นไหม เลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงหัวใจชอบ อารมณ์ความรู้สึก ความสัมผัสของใจ ใจรับรู้รสนะ ถ้ามันสงบขึ้นมามันก็รับรู้รสของความสงบ นี่สมาธิธรรม
แต่เวลาเกิดปัญญา รสของธรรม รสของปัญญาญาณ มันมีรสมีชาติ พอมีรสมีชาติ การกระทำ ถ้ามีการกระทำ คนถึงเข้มแข็ง เวลาประพฤติปฏิบัติถึงเข้มแข็ง การปฏิบัติด้วยความจริงจัง ความองอาจกล้าหาญ ในเมื่อจักรมันหมุน ปัญญามันเกิด ถ้าปัญญามันเกิด จักรมันหมุนนะ การกระทำมันมีรสมีชาติ มันมีความชุ่มชื่น
จากที่ว่าคอตก ทำนู่นก็ไม่ได้ เดินจงกรมก็ไม่ได้ นั่งสมาธิก็ล้มลุกคลุกคลาน ถ้าจักรมันหมุนแล้วมันมีรสชาติ มันมีความเพลิดเพลิน ทั้งวันทั้งคืน ไม่อยากสุงสิง ไม่อยากยุ่งกับใคร มันนั่งสมาธิของมันนะ มันทำของมัน กาลเวลานี่สงวนมาก ใครอย่าเข้ามายุ่ง แค่บิณฑบาตนะ พระแค่บิณฑบาต โยมแค่มีอาหารตกถึงท้อง ขอให้ชีวิตนี้มันอยู่ได้ แล้วมันหมุนของมัน มันมีสุข มีความสุข มีความแช่มชื่น มีความแจ่มใสของมัน มันหมุนของมัน หมุนแล้วหมุนเล่า พอหมุนแล้วฝึกหัด นี่โสดาปัตติมรรค
ล้มลุกคลุกคลานนะ เพราะจิตมันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญโดยธรรมชาติใช่ไหม
เงินที่เราใช้สอยไปเราก็ต้องหาทุนมาเติม สติพอใช้ขึ้นไป สติมันใช้มาก สติมันก็อ่อนแอลง พออ่อนแอลง ความรู้สึกนึกคิดมันก็อ่อนตามหมด ถ้าอ่อนตาม สมาธิมันก็อ่อนลง พอสมาธิอ่อนลง ปัญญามันหมุนไป
มรรคญาณ มรรคไม่สามัคคี นี่จักรมันหมุนไปมันไม่มีกำลังของมัน เราก็ต้องวางแล้วกลับมาพุทธานุสติ กลับมาปัญญาอบรมสมาธิเพื่อให้มีกำลังขึ้น พอมีกำลังขึ้น สติก็แจ่มชัดขึ้น สมาธิก็มีขึ้น ทุกอย่างพอมีขึ้น พอออกใช้ปัญญา ปัญญามันก็มีกำลังขึ้น มันก็หมุนของมัน มันก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญของมัน มันปล่อยขนาดไหนก็คือปล่อยนะ แต่มันไม่มีผลตอบรับหรอก
แล้วพูดถึงสิ่งที่มันจะเป็นโสดาปัตติผล ถ้ามันเป็นโสดาปัตติผล มันจะเป็นตามข้อเท็จจริง ถ้าเป็นโสดาปัตติผลนะ นี่ผู้ปฏิบัติยากรู้ยาก ปฏิบัติยากรู้ง่าย ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก เราขยันหมั่นเพียรของเรา เราอย่าเลินเล่อ ถ้าเลินเล่อนะ มันเจริญแล้วเสื่อม พอเสื่อมขึ้นมาแล้วนะมันขึ้นได้ยาก
ถ้าเวลาครูบาอาจารย์นะ เราอยู่กับครูบาอาจารย์มามาก ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นธรรม องค์ไหน บุคคลคนไหนถ้าปฏิบัติดีท่านจะกันไว้ กันไว้คือว่าพยายามอย่าให้คนเข้าไปยุ่งด้วย กันเวลาไว้ไง เพราะถ้าคนเข้าไปยุ่ง ไปคุย ไปสุงสิง ไปแบบว่าเขาต้องการให้หลีกเร้น ถ้าไม่หลีกเร้น สิ่งที่กระทบมันกระทบเข้าไปถึงหัวใจ ถ้ามันกระทบเข้าไปถึงหัวใจนะ แล้วผู้ที่ปฏิบัติ เขาเรียก ชวนะ หูตามันจะดีมาก เสียงสิ่งใดก๊อกแก๊กมันจะทำให้สะเทือนหัวใจทันทีนะ
อย่างเรานี่นะ ถ้าคนหนาใช่ไหม สิ่งใดมันจะกระเทือนเราก็ไม่ค่อยรู้สึกกระเทือนหัวใจมากนัก แต่ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ จิตเป็นสมาธินี่ไม่อยากให้ใครเข้ามาส่งเสียงกระทบเลยล่ะ อย่างที่ว่า รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ถ้าไม่รู้จักว่ามันเป็นบ่วง เป็นโทษนะ เราก็คุ้นเคยกับมัน แต่พอมันเห็นโทษแล้วมันก็ไม่อยาก ไม่อยากเข้าใกล้ พอไม่อยากเข้าใกล้แล้วมากระทบเรานะ จิตมันจะกระเทือนมาก ทีนี้กระเทือนมาก พอกระเทือนแล้วมันก็กระเทือนถึงหัวใจ ล้มลุกคลุกคลานไปหมดก็ต้องเริ่มกันใหม่ พอเริ่มต้นกันใหม่นะ นี่ไง เวลาปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีสติมีปัญญามีความรู้ ท่านจะกันไว้
ฉะนั้น พอกันไว้ เราปฏิบัติของเรา เราก็ต้องรักษาตัวเราด้วย ถ้ารักษาตัวเราด้วยนะ เราจะไม่พูดพร่ำๆๆ ไปกับใครหรอก เราจะสงวนเวลาของเรา จะคุยกันต่อเมื่อเวลาน้ำร้อน เวลาจะคุยกันต่อเมื่อเรามาทำข้อวัตร เราจะเห็นกัน เราก็ทักทายกันเป็นครั้งเป็นคราว สุดท้ายเราก็เข้าที่ของเรา เราทำของเรานะ
ฉะนั้น ทางโลกเขา เวลาเขาเห็นอย่างนี้เขาบอกว่า อย่างนี้เป็นการที่ว่าไม่เกื้อกูลกัน ไม่ดูแลกัน
นี่ล่ะ การเกื้อกูล การเกื้อกูลแบบธรรม การเกื้อกูลแบบโอกาส
สัปปายะ ๔ อาจารย์เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ ฯลฯ เขาแสวงหากัน คนที่ประพฤติปฏิบัติเขาแสวงหาความสงบวิเวก เขาแสวงหาเวลาของเขาที่ได้ประพฤติปฏิบัติ เขาไม่ได้แสวงหาความร่ำความรวยที่จะต้องเอาเวลานั้นไปค้าไปขาย ไปวางแผนทำธุรกิจกัน เขาไม่แสวงหาอย่างนั้น เขาทิ้งมาหมดแล้ว เขาแสวงหาคุณงามความดี
ฉะนั้น สิ่งที่โลกเขาเห็นว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่าตกใจ เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ
สถานที่นะ สถานที่เชือดโคนี่มันต้องเชือดสัตว์ใหญ่ เขาจะต้องใช้สถานที่มากขึ้น สถานที่เชือดสัตว์เล็กๆ อย่างไก่ อย่างพวกสัตว์ปีกเล็กๆ น้อยๆ ตรงไหนเขาก็เชือดได้ เวลาประพฤติปฏิบัติ เวลาจะเกิดคุณธรรมขึ้นมาในหัวใจ สถานที่ การกระทำมันต้องมีโอกาสของมัน ถ้ามีโอกาสของมัน เห็นไหม การกระทำแบบนั้นมันจะเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง เราภูมิใจไหม แต่โลกเขามองไง มันคนละมุมมองกัน โลกเขามองว่าเราจะช่วยเหลือ ดูแล เกื้อกูล...มันเป็นการคลุกคลีกัน พอการคลุกคลีกัน ธรรมมันจะเกิดได้อย่างไร
แต่ถ้าเราไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน กิเลสมันก็สั่นไหวนะ อู้ย! ลำบาก อยู่ไม่ได้ มันจะต้องอยู่ด้วยความสุขสบาย
เราจะเอากิเลสหรือจะเอาธรรมล่ะ?
ถ้าเราจะเอาธรรมนะ เราเริ่มต้นมันจะทุกข์ยากขนาดไหน เราพยายามของเรา พอมันตั้งตัวได้ มันไปได้ จะซึ้งใจมาก เวลาครูบาอาจารย์ ถ้าเราประพฤติปฏิบัตินะ จะระลึกถึงคุณของครูบาอาจารย์ที่ท่านปกป้องคุ้มครองดูแล พ่อแม่ครูจารย์ แม้แต่อาหารการกิน อาหารเป็นอยู่นะ กินแล้วมันทำให้หนักหน่วง ง่วงหงาวหาวนอน ท่านก็คอยป้องคอยดูคอยแล
เสร็จแล้วพอปฏิบัติขึ้นไป สิ่งใดที่จะกระทบกระเทือน ท่านก็ดูแลให้เรา แล้วเวลาติดขัดขึ้นมา ท่านจะบอกเป็นนัยๆ เวลาปฏิบัตินะ จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น เพราะเหมือนกับเวลาถนนหนทาง เริ่มต้นกับที่สุด ถนนเส้นนี้ครูบาอาจารย์ท่านเดินไปแล้ว เราจะเดินนะ เราจะมีวิบากแบบนั้นน่ะ เราจะต้องล้มลุกคลุกคลาน เราจะต้องเอาจิตของเราก้าวเดินผ่านตรงนั้นไป ถ้าเอาจิตเราก้าวเดินผ่านตรงนั้นไปด้วยมรรคญาณ เห็นไหม เวลาจักรมันหมุน เราก็หมั่นเพียรของเรา
พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม มันปล่อยวางขนาดไหน ปล่อยแล้วมีความสุข ขนาดว่ามีความสุขนะ สุขจากสมาธิมันก็มีความสุขของมันอยู่แล้ว เวลาสุขจากการปล่อยวาง ถ้าความสุขจากการปล่อยวาง สุขขนาดไหนมันเป็นกุปปธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา มันยังไม่เกาะติด
คำว่าเกาะติดของมัน เกาะติดมันต้องมีเหตุมีผลสิ คำว่า เกาะติด มันไม่เสื่อมไง สิ่งที่มันยังเสื่อมอยู่นี้มันถึงเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา การว่าเป็นอนัตตา อนัตตาคือไม่คงที่ ความคงที่มันยังไม่มี แต่มันเริ่มมีเหตุมีผล มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีมรรคญาณ มีธรรมจักร จักรมันหมุน ปัญญามันหมุน นี่ไง เวลาปัญญาในพุทธศาสนา ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร สังขารความคิด ความปรุง ความแต่ง แล้วปัญญานี่มันรู้เท่า รู้ทัน รู้ขันธ์ ๕ รู้ทุกอย่าง มันรู้แล้วมันปล่อยวาง ปล่อยวางอย่างไร ปล่อยวางแล้วสิ่งที่เป็นอกุปปธรรมที่มันคงที่มันอยู่ไหน
ถ้ามันไม่มีคงที่อยู่ไหน นั้นถ้าเราประมาทเลินเล่อ หรือเราไม่ละเอียดรอบคอบ เวลามันเสื่อมนะ จะต้องเริ่มนับ ๑ กันใหม่เลยล่ะ เวลาถ้ายังไม่เสื่อมมันก็ว่าสิ่งนั้นมีความสุข มีความสบาย เวลาเสื่อม เสื่อมก็คือไฟไง คนเรานั่งอยู่นี่แล้วเอาไฟมาสุมน่ะร้อนไหม เวลาเมื่อก่อนมันทุกข์ยาก มันร้อนในหัวใจเราก็พยายามหาทางออกกันอยู่นี่ เวลาสิ่งใดที่มันเผาลนใจเราก็พยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนมันร่มเย็นเป็นสุข แล้วคิดว่าร่มเย็นเป็นสุขนี่มันจะอยู่กับเราตลอดไป ขั้วโลกมันยังละลายเลย น้ำแข็งขั้วโลกมันยังละลาย แล้วนับประสาอะไรกับสิ่งที่มันเป็นนามธรรมอย่างนี้ ถ้าเป็นนามธรรมอย่างนี้ ถ้ามันเสื่อมนะ ไฟดีๆ นี่แหละ ไฟนี่มันจะเผาลน
แต่ถ้ามันมีสติปัญญาขึ้นมา เห็นไหม โดยการประพฤติปฏิบัตินะ อาหารที่เรากินไปแล้ว เราก็ต้องกินอาหารมื้อหน้าต่อไป ในการประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่เราปฏิบัติมาถูกต้องดีงามอยู่แล้ว แต่มันคงที่กับเราไม่ได้หรอก สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สรรพสิ่งนี้เป็นอนัตตา ปัญญามันก็เป็นอนัตตา
สิ่งที่เกิดขึ้น พอมันพิจารณาแล้วมันปล่อยวางแล้ว ฉะนั้น ถึงจะต้องมีสติมีปัญญาหมั่นเพียร การหมั่นเพียร การค้นคว้า การค้นหา แล้วพิจารณาซ้ำซาก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะปล่อยขนาดไหน สิ่งที่มันมีอยู่มันต้องมี สิ่งที่มีอยู่คือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก สังโยชน์มันร้อยรัดไว้ นี่สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิคือความเห็นผิด ถ้ามันมีความเห็นผิด ความเห็นต่างจากธรรม ความเห็นต่างจากความเป็นจริงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ววางธรรมนั้นไว้ แล้วเราศึกษาธรรม เราเข้าใจในธรรมนั้นหมด เราก็เข้าใจ พอเราปฏิบัติขึ้นมามันก็เป็นจินตมยปัญญา มันเห็นภาพทั้งหมด แต่มันเป็นจริงไหมล่ะ เพราะมันไม่มีสิ่งใดที่มันขาดออกไปจากจิต
แต่ถ้าเวลามันพิจารณาไปแล้วถึงที่สุดนะ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะปล่อยวางขนาดไหน เราร้อนเป็นไฟเราก็จับพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลามันขาด การเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕
ทุกข์ที่มันทุกข์ระทมในหัวใจ ทุกข์ที่มันขี่คออยู่นี่ ทุกข์ที่มันเศร้าเหงาหงอยอยู่นี่ ถ้าเวลามันเป็นโสดาบัน ทิฏฐิความเห็นผิดมันขาด ถ้ามันขาด มันขาดอย่างใด อะไรมันทำให้ขาด แล้วขาดแล้วมันเหลืออะไร สิ่งใดเหลือไว้ แล้วไอ้ที่เหลือไว้ ใครเป็นคนบอกว่าขาด แล้วเวลามันขาดมันขาดอย่างใด
ไม่รู้ เป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าคนไม่รู้ไม่เห็น ถ้าตรงนี้ยังสรุปไม่ได้ ตรงนี้ยังไม่ถึง เวลากิเลสขาดดั่งแขนขาด เหมือนเอาแขนขึ้นมาแล้วเราเอามีดฟันแขนเราขาด ถ้าคนไม่รู้ว่าแขนขาด คนนั้นไม่ใช่โสดาบัน ถ้าใครจะเป็นโสดาบันต้องรู้ว่าแขนของฉันขาดอย่างใด ผิวหนัง เส้นเอ็น กระดูก เนื้อ มันขาดออกไปจากร่างกายนี้อย่างใด
ถ้ามันขาดออกไป นี่อกุปปธรรม ถ้าอกุปปธรรมอย่างนี้ เกาะติด ถ้าเกาะติดอย่างนี้ไม่เสื่อม ถ้าไม่เสื่อม เห็นไหม กาลเวลาของชีวิตนี้มีขอบเขตอีก ๗ ชาติ อย่างมากนะ กาลเวลาที่มันไม่เคยตาย นาฬิกาตาย คนตาย ทุกอย่างตาย แต่เวลาไม่มีตาย เพราะธาตุรู้ พลังงานตั้งอยู่บนกาลเวลา จิตนี้หมุนเวียนตายไปตามกาลเวลา เวลาไม่เคยตาย
นี่พิจารณาซ้ำ ถ้าจิตไปพิจารณา พอมันขาดไปแล้ว นี่ภาวนาเป็น ภาวนาเป็นเพราะเหตุใด? ภาวนาเป็นเพราะมันรู้มันเห็น ล้มลุกคลุกคลานมาขนาดไหน เวลามีสติปัญญาขึ้นมานี่ใคร่ครวญของเราขนาดไหน พอใคร่ครวญขึ้นไปแล้วล้มลุกคลุกคลาน จับพลัดจับผลูนี่แน่นอน จับพลัดจับผลูว่าปล่อยแล้วปล่อยเล่า ปล่อยแล้วมีผลตอบสนองอย่างใด มีอะไรตอบสนอง ถ้าไม่มีตอบสนองแล้วมันขาดอย่างใด ถ้าไม่ขาด กิเลสมันก็ไม่ได้ชำระออกไป
มันจะปล่อยวางขนาดไหน เพราะอะไร เพราะโสดาปัตติมรรค มรรคมันเสื่อม มันไม่ใช่โสดาปัตติผล ถ้าโสดาปัตติมรรคดำเนินงานไปตลอด สิ้นสุดของกระบวนการของโสดาปัตติมรรคมันก็เป็นโสดาปัตติผล ถ้ามันเป็นผลแล้วมันกลับมาเป็นมรรคอีกไม่ได้ ถ้ามันยังเป็นมรรคอยู่ มันยังไม่เป็นผล มันไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องยืนยัน ถ้าไม่มีสิ่งที่เครื่องยืนยัน ก็มันเกาะติดไง ก็มันของคงที่ไง ถ้ามันมีเครื่องยืนยันอย่างนั้น มันจะย้อนกลับได้ไหม
ถ้ามันย้อนกลับไม่ได้ ดูสิ เวลาที่มันไม่เคยตาย มันมีขอบเขตของมัน มันจะไม่มีขอบเขตของมันเหรอ ในเมื่อจิตมันเป็นแบบนั้น ในเมื่อธรรมมันเกิดกับดวงใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นมันเกิดขึ้นมาแล้ว เวลามีขอบเขตแล้ว แล้วเราพิจารณาซ้ำ ถ้าจิตมันทำความสงบเข้าไป เห็นไหม โสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค
โสดาปัตติมรรค กับ สกิทาคามรรค ไม่เหมือนกัน
สกิทาคามรรค กับ อนาคามรรค ไม่เหมือนกัน
อนาคามรรค กับ อรหัตตมรรค ไม่เหมือนกัน
ความสงบระงับ ฐานของจิตแตกต่างกัน เพราะสิ่งที่มันเป็นเชื้อไข มันมีกิเลส มันหยาบ-ละเอียดแตกต่างกัน สิ่งที่กิเลสมันละเอียดกว่า มันจะเอาสิ่งที่หยาบกว่าไปใช้ไม่ได้ นี่เวลาลงน้ำไปเขาต้องใช้เรือ เขาใช้รถไม่ได้ ใช้รถเขาใช้บนบก เขาใช้ในแผ่นดิน แต่ลงน้ำไปมันต้องเป็นเรือ นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราพิจารณาของเราแล้ว เราพิจารณาจนสักกายทิฏฐิมันขาดไปแล้ว แล้วพิจารณาซ้ำเข้าไป เราจะเอาของที่เราใช้อยู่บนบกไปใช้ในน้ำ มันเป็นไปไม่ได้
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าโสดาปัตติมรรคกับสกิทาคามรรคถึงแตกต่างกัน ถึงเป็นมรรค ๔ ผล ๔
ไม่มีมรรคเดียวแล้วจำกัดไปหมด เป็นไปไม่ได้
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขิปปาภิญญา ท่านก็สอนมรรค ๔ ผล ๔ เหมือนกัน เพราะมรรค ๔ ผล ๔ นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนบัญญัติไว้เอง บัญญัติเพราะอะไร เพราะจิตมันแตกต่างหลากหลาย ความแตกต่างหลากหลายของอำนาจวาสนาของคน ทีนี้ อำนาจวาสนาของคน เรามีอำนาจวาสนา ความแตกต่างหลากหลายขนาดไหน แต่เราก็มีศรัทธา มีความเชื่อของเรา เรามีกำลังใจของเรานะ
สติไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหน สมาธิก็ไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหน ปัญญาก็ไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหน ถึงไปซื้อก็ไม่มีขาย เราจะต้องทำของเราขึ้นมา ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา
สติจริงๆ มันก็เกิดขึ้นมาจากจิต
สมาธิจริงๆ ก็เกิดขึ้นมาจากจิต
ปัญญาจริงๆ ก็เกิดมาจากจิต
มันเกิดมาจากอะไร?
คอมพิวเตอร์เกิดไม่ได้ คอมพิวเตอร์นะ มันมีโปรแกรมของมัน ในตำรับตำราก็เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ครูบาอาจารย์เทศน์ก็เป็นของครูบาอาจารย์ มันไม่ใช่ของเรา แต่เวลามันเกิดกับเรามันคนละเรื่องกันนะ เวลามันเกิดกับเราโดยสัมผัสของเรา เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นกำลังของเรา นี่มันหมุนเข้ามา สิ่งนี้มันไม่มีซื้อมีหา มันมีการกระทำของเรา ถ้าเรามีความมั่นคงแข็งแรงของเรา เราทำของเราขึ้นมาได้ จิตมันสงบแล้วเราใช้ปัญญาออกไปอีก
ทีนี้ ถ้าใช้ปัญญาออกไปอีก เห็นไหม แล้วแต่อำนาจวาสนา ครูบาอาจารย์พิจารณากาย กาย กาย กาย ถึงที่สุดเป็นพระอรหันต์ พิจารณาจิต จิต จิต จิต เป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม มันก็อยู่อันใดอันหนึ่ง สิ่งใด ผู้ที่พิจารณากาย กาย กาย กาย พิจารณากาย แต่เวลาจิตมันจับเวทนาได้ มันก็ฝึกซ้อมได้
การฝึกซ้อม เห็นไหม ดูกีฬาสิ นักกีฬาประเภทหนึ่งเขาก็อยากเล่นกีฬาอีกประเภทหนึ่ง เวลาเขาพักผ่อนเขาก็ไปเล่นกีฬาอีกประเภทหนึ่ง จิตก็เหมือนกัน จิตเวลาเราพิจารณากาย ถ้าสิ่งใดเข้ามาเป็นปัจจุบัน สิ่งที่มันเข้ามากระทบถึงจิต จิตจับได้เลย ถ้าจิตมันภาวนาเป็นแล้วนะ จิตมันสงบแล้วมันจะจับได้เหมือนเรดาร์ เรดาร์ที่มันมีคุณสมบัติของมันที่ไม่เสีย สิ่งใดผ่านเข้ามาเขาจะจับของเขาได้
จิตที่มันได้ผ่านการพิจารณาของมันแล้วมันพิจารณาจนกาย เวทนา จิต ธรรมมันปล่อยมาแล้ว นี่มันทำเป็นของมัน มันเหมือนจิตมันมีเรดาร์ของมัน มันจะจับได้ ปัญญาจะละเอียดขึ้น มันจะค้นคว้าของมัน มันจะแสวงหาของมัน เราทำความสงบของใจให้มากขึ้น เวลามันย้อนออกไป มันก็พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เหมือนกัน กายก็คือกาย จิตก็คือจิต แล้วแต่คนจะจับสิ่งใดได้ คนจะเห็นสิ่งใดได้ แล้วพิจารณาใคร่ครวญของเราไป การใคร่ครวญ ทำงานเป็น
แล้วเราก็จะบอกว่า เราเคยทำงานแล้ว เราเคยพิจารณาสักกายทิฏฐิเราเคยวางมาแล้ว เราจะใช้ปัญญาอย่างนั้นเป็นพื้นฐาน เป็นพื้นฐานนะ แต่เวลาพิจารณาไปแล้ว ถ้ามันไม่ละเอียดเข้าไป มันจะรุกกิเลสเข้าไปไม่ได้ ฉะนั้น เวลามันละเอียดเข้าไป มันเป็นอุปาทาน จากที่ว่าเป็นสักกายทิฏฐิ เป็นทิฏฐิ พอมันละทิฏฐิแล้วมันมีอุปาทานสิ่งใดมันเข้าไปในอุปาทานนั้น ถ้าอุปาทานนั้นมันพิจารณาของมัน ถ้ามันพิจารณากาย มันจะแยกสภาพของมัน มันแยกสภาพของมันนะ
ถ้าคนไม่เป็น เริ่มต้นอธิบายมาจากคนเริ่มต้นไม่เป็น พยายามเป็นหลักเกณฑ์ไว้ แต่เวลาคนเป็นแล้วมันพิจารณาซ้ำๆ ซากๆ ซ้ำเข้าไปนี่มันเป็นไปด้วยกำลังของจิต ด้วยปัญญา ด้วยมรรคญาณ มรรคญาณ มรรคที่ละเอียดขึ้น มันจะแยกแยะของมัน มันจะแยกให้สิ่งนั้นที่ละเอียดเข้าไป ให้กิเลสที่ละเอียดเข้าไปมันแสดงตัวของมัน
มันแสดงตัวในอะไร? มันแสดงตัวในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม
พอมันแสดงตัวขึ้นมาแล้วพิจารณาของมัน พิจารณาซ้ำๆ มันก็ปล่อย
ปล่อยด้วยอะไร? ปล่อยด้วยกำลังของมรรค
มันไม่อยากปล่อย ไม่ใช่ปล่อยเพราะมันอยากปล่อย ปล่อยเพราะมันยอมแพ้ ปล่อยเพราะมันสงสารเรา...ไม่มีทาง
มารมันจะมาสงสารเรา...ไม่มี
ในเมื่อเราเป็นมนุษย์ใช่ไหม เรามีบ้านเรือนอาศัย เขามาไล่เราออกจากบ้านเรายอมไหม? เราไม่ยอมออกจากบ้านของเรานะ บ้านเราเราสร้างขึ้นมาเอง บ้านเราเราประกอบขึ้นมาเอง แล้วอยู่ดีๆ มีคนมาไล่เราออกจากบ้าน ใครจะยอม? เป็นไปไม่ได้ บ้านของฉัน บ้านของเราเราจะยอมให้ใครมาไล่
มารมันครองใจนี้มาตลอด กี่ภพกี่ชาติ ไม่มีกาล ไม่มีเวลา เวลาไม่มีต้นไม่มีปลายมันควบคุมมันมาตลอด แล้วอยู่ดีๆ มันจะให้มันถดถอยไป มันเป็นไปไม่ได้หรอก สิ่งนี้มันเป็นไปไม่ได้ใช่ไหม
แต่มันจะเป็นไปได้เพราะกำลังความเพียรของเราไง ความเพียรของเรา ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ ของเรา มรรคญาณของเรา ธรรมของเรา ปัญญาของเราที่เกิดขึ้น มันจะเข้าไปชำระสะสาง มันจำนนด้วยความเพียรชอบ มันจำนนด้วยกำลังของเรา มันจำนนด้วยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราศึกษามาแล้วเราปฏิบัติขึ้นมาเป็นความจริงในหัวใจของเรา
มันต้องปฏิบัติขึ้นมาตามเป็นความจริงในหัวใจของเรานะ จะไปยืมใครขอใครมา ยืมมาก่อน มาชำระหนี้ก่อนเป็นไปไม่ได้ ไอ้ยืมมาก่อนนั่นมันเป็นการหยิบยืมจากภายนอก แต่เวลามันปัจจุบันธรรม มันเป็นปัจจุบันในหัวใจ มันจะหยิบยืมใคร...ไม่มี
มันจะเป็นความจริงของมันขึ้นมา พิจารณาซ้ำๆๆๆ ขึ้นไป มันจะปล่อย ปล่อย ถึงที่สุดมันก็ขาด กามราคะ-ปฏิฆะอ่อนลง มันอ่อนของมันไป เวลามันอ่อนไป นี่ขอบเขตของกาลเวลามันสั้นเข้ามา สั้นเข้ามา แล้วจิตละเอียดมาก จิตละเอียดมากจนติดได้นะ ถ้าติดก็คือติด แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านก็พยายามจะชี้นำให้ออก หรือถ้าคนที่มีสติปัญญา คนที่แบบว่าเห็นครูบาอาจารย์เป็นแบบอย่าง จะเอาเป็นคติ ถ้ามันถึงระหว่างการปฏิบัติแล้วมันยังมีกิเลสที่ละเอียดอยู่ มันจะทำให้ความสงบมากขึ้นไปกว่านี้ แล้วจับต้องได้ การจับต้องได้นะ จับต้องกิเลสได้ การจับต้องกาย เวทนา จิต ธรรมที่ละเอียด มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก
แค่ค้น ขุดคุ้ย หากิเลสนี่มันก็เป็นเรื่องยากแล้ว ถ้าเรื่องไม่ยาก ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติไม่ติดหรอก การว่าติดนะ ติดมาทั้งนั้น คนที่ไปทำงานแล้วไม่มีความผิด ไม่มี น้อยนัก
หลวงปู่มั่นท่านบอก ท่านก็ล้มลุกคลุกคลานมาก่อน ท่านก็หาทางออกของท่านมาเหมือนกัน ไปปรึกษาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์บอก เราแก้ให้ไม่ได้หรอก ท่านต้องแก้ตัวท่านเอง นี่ครูบาอาจารย์ท่านก็ล้มลุกคลุกคลานมาทั้งนั้นน่ะ
เพราะกิเลสของเรา ความนึกคิดในใจของเราลึกๆ มันหลอกเราทั้งนั้นน่ะ นู่นก็ใช่ นี่ก็ใช่ นู่นก็ดี นี่ก็งาม ถ้าเป็นเรื่องของเรานี่ดีหมด ถ้าเรื่องของคนอื่น ผิดพลาดทั้งนั้น คนอื่นเขาจะผิดพลาดหรือเขาจะดีก็เรื่องของเขา ใจของเรามันล้มลุกคลุกคลานอยู่นี่ มันจะเป็นจะตายอยู่ในหัวใจ มันมีธรรมขึ้นมาขนาดนี้ ไอ้กิเลสอันละเอียดมันก็ยังหลอกให้หัวปั่นอยู่อย่างนั้นน่ะ
ถ้ามันมีอำนาจวาสนา เราศึกษาของครูบาอาจารย์มาแล้วเราวางเป็นหลักไว้ พอวางเป็นหลักไว้ มันออกหานะ พอมันจับได้ กามราคะ อสุภะ มันสะเทือนหัวใจมาก เพราะสิ่งที่มันเป็นสิ่งที่มันละเอียด เพราะกามราคะ เพราะปฏิฆะถึงเกิดเผ่าพันธุ์ จิตที่มันเกิด จิตที่มันปฏิสนธิ มันก็อาศัยสิ่งนี้เป็นเครื่องตอบสนอง กำเนิด ๔ ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ จิตปฏิสนธิไม่มีจะเกิดได้อย่างใด
แต่ถ้าเป็นโอปปาติกะเกิดโดยกรรม ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่ต้องมีใคร โอปปาติกะ เกิดเลย
แต่ถ้าพอมันรู้ของมัน มันเห็นของมัน มันพิจารณาของมันเข้าไปนะ มันเข้าไปแยกแยะของมัน พอจับเรื่องกามราคะ การต่อสู้นะต้องเป็นมหาสติ-มหาปัญญาแล้ว จากสติปัญญาเข้าไปถึงจุดนี้ไม่ได้ จุดที่จะเข้าสู่กามราคะ สู่อสุภะ ต้องเป็นมหาสติ-มหาปัญญา สิ่งที่เป็นมหาสติ-มหาปัญญา เห็นไหม นี่ไง อนาคามรรคมันแตกต่างกับสกิทาคามรรคมหาศาล แล้วอนาคามรรคมันเกิดอย่างไร ขบวนการของมันเกิดขึ้น ขบวนการของมันที่เราสร้างขึ้นมาจากสติเป็นมหาสติ จากปัญญาเป็นมหาปัญญา จากว่าสติล้มลุกคลุกคลาน สติทำไม่ได้เลย สิ่งที่ว่าล้มลุกคลุกคลาน สมาธิก็ทำไม่ได้ ทุกอย่างทำไม่ได้ จนมันตั้งมั่นของมันขึ้นมา จนเป็นมหาสติ แล้วมหาสติ เวลามันมหาสติ มันมีสมาธิที่มั่นคง แล้วไปจับกามราคะได้ พอจับกามราคะมันก็ใช้พิจารณาของมัน
พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าด้วยเล่ห์เหลี่ยม ด้วยกลอุบาย กลอุบายของความโลภ ความโกรธ ความหลง คือแม่ทัพใหญ่ของวัฏฏะ แม่ทัพใหญ่ประจำจิตดวงนั้น ประจำภพนั้น ภพคือจักรพรรดิ ภพคือกษัตริย์ แม่ทัพใหญ่ กษัตริย์ก็คือปกครองนโยบาย แต่กองทัพที่ออกสร้างผลประโยชน์กับอำนาจรัฐนั้น คือความโลภ ความโกรธ ความหลง แม่ทัพใหญ่นี่พิจารณาของมัน เราจะล้มอาณาจักรนั้น เราต้องทำลายกองทัพของเขา เราต้องทำลายระบบเศรษฐกิจ เราต้องทำลายทุกอย่างหมดเลย นี่การทำลาย แล้วจะทำลายอย่างไร เพราะเขาสร้างของเขามาจนมั่นคง
สติปัญญามันเข้าไปแก้ มันจะทำให้ล้มลุกคลุกคลานมาก ถ้ามันเป็นเล่ห์เหลี่ยมของการหลอกลวงของกิเลส หลอกลวงใคร? หลอกลวงจิตดวงนั้น หลอกลวงผู้ที่เข้าไปปฏิบัตินั้นจนล้มลุกคลุกคลาน เข้าไปยอมจำนนกับมัน จำนนแล้วจำนนเล่า ล้มลุกคลุกคลานจนคิดว่าจะทำไม่ได้ แต่เวลามันมีสติปัญญาขึ้นมามันก็ไล่ต้อนขึ้นไปๆ ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดมันไปทำลายในดวงใจนั้น ถ้าใจดวงนั้นทำลาย เห็นไหม ครืน! ไปหมดเลย แล้วเศษส่วนของมัน พิจารณาซ้ำๆๆๆ จนหมด หมดเข้าไป ว่างหมด โลกนี้เป็นความว่าง นี่ว่างหมดเลย ถ้าว่างหมดเลย นี่ถ้าเกิดก็เกิดอีกชาติเดียว
กรอบของเวลา เวลาที่มันไม่มีต้นไม่มีปลายมันละเอียดเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป จนไปจับภวาสวะ จับภพ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส คือภวาสวะ คือภพนะ อวิชชาคือความไม่รู้ นี่ความไม่รู้มันพิจารณาของมันมาเรื่อยๆ ถ้าอวิชชาไม่รู้คือเกิดปัญญาแล้ว ถ้าปัญญาขึ้นมาเราใช้พิจารณาอย่างนั้น มันก็เข้าไปชำระกิเลสที่ละเอียดอย่างนี้ไม่ได้
ฉะนั้น สิ่งที่มันละเอียดเข้าไป อรหัตตมรรค ถ้าอรหัตตมรรคมันจะจับตัวมันเองได้ ถ้าจับตัวมันเองได้ นี่ไง พลังงาน จิต...ชีวิตนี้คืออะไร? ชีวิตนี้คือพลังงาน พลังงานตั้งอยู่บนกาลเวลา
จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส มันตั้งอยู่บนอะไร?
นี่ถ้ามันจับของมันได้นะ อรหัตตมรรคมันจับภวาสวะได้ จับภพได้ ถ้ามันทำลายภพ เห็นไหม เวลานี้ตายจากภพ ถ้าไม่มีภพ เวลามันก็เป็นเวลาของมัน แต่ภวาสวะ แต่จิตตัวธรรมธาตุนี้มันเป็นวิมุตติไป มันพ้นจากกาลเวลาทั้งหมดไง นี่เวลามันจะตายจากภพ ตายจากการกระทำ ตายจากความเป็นจริง ตายจากการประพฤติปฏิบัติ ตายจากหัวใจที่ล้มลุกคลุกคลาน ตายจากหัวใจที่เศร้าสร้อยหงอยเหงา ที่ทุกข์ระทมอยู่นี่ไง
แต่เพราะเรามีสติมีปัญญา เราเกิดมามีอำนาจวาสนา เราถึงมีการกระทำ งานจากภายนอกอาบเหงื่อต่างน้ำ หาอยู่หากิน สุดท้ายแล้วก็ต้องพลัดพรากจากกันไป คุณงามความดีที่สร้างขึ้นมา บุญกุศลจะติดหัวใจนั้นไป แล้วถ้าประพฤติปฏิบัติ คุณธรรมมันจะไปกับใจดวงนั้น
เวลาเกาะติดขึ้นมาเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา ใครจะมาช่วงชิง ใครจะทำให้มันเสื่อมสภาพ กุปปธรรม-อกุปปธรรม ใครจะเชื่อ ใครจะไม่เชื่อ ใครจะเป็นจริง ใครจะยุแหย่แบ่งแยกอย่างไร อกุปปธรรม เหนือโลก เหนือสงสาร เหนือกาลเวลา เหนือทุกอย่าง ไม่มีสิ่งใดเข้าไปทำให้สิ่งนี้สะเทือนได้ เหนือพ้นไปจากจินตนาการของแต่ละบุคคล สิ่งที่การกระทำสิ่งนี้ขึ้นมาไม่ได้ เห็นไหม เวลาตายจากภพ เอวัง