เทศน์บนศาลา

กิเลสแปรรูป

๒๔ ธ.ค. ๒๕๕๔

 

กิเลสแปรรูป
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะในพุทธศาสนานี้ ใครแสดงธรรมก็ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเกิดเป็นชาวพุทธนะ เกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่มีบุญกุศลมาก ถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์ ไม่พบพระพุทธศาสนา “ไม่พบพระพุทธศาสนา” หมายความว่า ถ้าเราเกิดกึ่ง เห็นไหม สิ่งที่ว่าพระพุทธศาสนาหมดอายุ หมดกาลหมดเวลาไป ศาสนานี้ไม่มี

แต่ถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์นะ ดูสิ เขาก็เกิดเป็นมนุษย์ แต่เขาไม่เชื่อ ไม่เชื่อในพุทธศาสนา ก็เหมือนเกิดเป็นมนุษย์ แต่ไม่ได้พบพระพุทธศาสนา เราเกิดเป็นมนุษย์ แล้วพบพระพุทธศาสนาด้วย พระพุทธศาสนาสอน สอนถึงความเป็นอยู่ของเรา สอนถึงความดำรงชีวิตของเรา สอนเราให้เรารู้จักตัวเราเอง ถ้ารู้จักตัวเราเอง

ถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์ ไม่พบพระพุทธศาสนา มันว่างเปล่านะ ดูสิ ก่อนพุทธกาล “ก่อนพุทธกาล” หมายถึงว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ออกไปค้นคว้าหากับเจ้าลัทธิต่างๆ เขาปฏิญาณตนว่าเขาเป็นศาสดานะ เขาปฏิญาณตนว่าเขาเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นน่ะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเขา ถ้าไม่มีการตรวจสอบ มันก็ไม่รู้ว่าสิ่งใดจริงหรือเท็จ มันเป็นความจริงหรือไม่เป็นความจริง ไม่มีใครรับรู้ด้วย แต่เขาปฏิญาณว่าเป็นศาสดา ทุกคนก็เชื่อถือ เพราะลูกศิษย์ลูกหาก็เยอะแยะมากมาย แล้วคนประพฤติปฏิบัติตามก็มหาศาล

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ได้สร้างบุญญาธิการมา ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เห็นไหม ไปศึกษาก็มีการตรวจสอบกัน แต่ถ้าไม่มีการตรวจสอบกันน่ะ เขาบอกว่าเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดา ทุกคนก็เชื่อถือ เพราะอะไร เพราะวุฒิภาวะของผู้ที่ฟังนั้นไม่มีหลักมีเกณฑ์

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษา เห็นไหม นี่มันว่างเปล่าไง มันว่างเปล่า ไม่มีสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีสิ่งใดเป็นความจริงขึ้นมา เพราะชีวิตเกิดมาก็เป็นแบบนี้ เวลาฤๅษีชีไพรเขาประพฤติปฏิบัติเขาก็ทำความสงบของใจของเขาได้ เขาก็มีฤทธิ์มีเดชของเขานะ เขามีฤทธิ์มีเดช ดูสิ สมัยโบราณของเรา ชาวไทยของเราเขาถือสัจจะ นี่เขาก็มีฤทธิ์มีเดชของเขาได้ เขาอยู่ยงคงกระพันนะ

เด็กเดี๋ยวนี้ ดูสิ เราจะทำขนาดไหนมันก็ไม่ได้อย่างนั้น เพราะเราไม่จริงจัง เราไม่มีสัจจะในการประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงอันนั้น แต่สมัยพุทธกาล ดูสิ ที่เขาทำเขาก็มีฤทธิ์มีเดชของเขา มีฤทธิ์มีเดช ถ้าเราไม่มีจุดยืนของเรา เราไม่มีวุฒิภาวะ เราก็เชื่อเขา เพราะเราไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นธรรมและสิ่งใดไม่เป็นธรรม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ได้ทดสอบ ได้ทดสอบแล้วมันไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะมันแก้กิเลสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ตามความเป็นจริง นี่มันสงบขนาดไหน ได้ฌานสมาบัติขนาดไหนมันก็มีกิเลสในหัวใจ ถ้าคนซื่อสัตย์ คนมีสัจจะ จะยอมรับความเป็นจริงว่าในหัวใจของเรามันมีสิ่งใดฝังในหัวใจเราอยู่ เรามีความลังเลสงสัย เรามีไฟสุมขอน เรามีต่างๆ อยู่ในหัวใจทั้งนั้นน่ะ มันไม่เป็นความจริงทั้งนั้นน่ะ แล้วสิ่งนี้จะชำระล้างได้อย่างใด เวลาเข้าฌานสมาบัติ เข้าทำความสงบของใจมันก็สงบได้ มันก็สงบตัวลง มันก็มีความร่มเย็นเป็นสุขเป็นชั่วครั้งชั่วคราว ออกมามันก็เป็นแบบนั้นน่ะ เขาทำกันแบบนั้น นี่พูดถึงถ้ามันว่างเปล่าไง มันว่างเปล่ากับหลักสัจจะความเป็นจริง

แต่ถ้าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ตรัสรู้ธรรมเพราะเหตุใดล่ะ

มันมีสัจจะ มีความจริงอันนั้นที่เข้าไปรื้อถอน

ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา พญามารคอตกนะ ดูสิ แล้วมารมันคืออะไรล่ะ มารมันคืออะไร ดูนะ เวลาเทพ เทพที่ฝ่ายมาร ฝ่ายมารกับฝ่ายธรรม ถ้าฝ่ายธรรม ดูสิ เทวดา อินทร์ พรหม เขาเป็นสัจธรรม เขามีความเป็นธรรมในหัวใจของเขา เขาเป็นเทวดา อินทร์ พรหมเหมือนกัน แต่ถ้าเขาเป็นมาร ดูสิ มีฤทธิ์มีเดช เขาทำลายทั้งนั้นน่ะ นี่เวลาเทพฝ่ายมาร

มาร พญามารคอตกนะ คอตกเลยน่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สิ่งนี้ต่อรองมาตลอด ต่อรองคือเผชิญหน้ากับการกระทำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตลอด แล้วละล้าละลังว่าสิ่งนี้จะหลุดจากการครอบครองของเขาไป จะหลุดจากการครอบครองของเขาไป นี่ว่าถ้าเป็นบุคลาธิษฐานก็ถูก แต่ถ้าเป็นความจริงก็ถูก

ดูสิ ดูอย่างของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าความเป็นจริง ดูหัวใจของเรามันเป็นความจริงบ้างไหม มีหลักมีเกณฑ์สิ่งใดขึ้นมาบ้าง นี่เราเกิดมาเป็นมนุษย์นะ แล้วพบพระพุทธศาสนา เราเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วเรามีความเชื่อของเราไง ดูสิ เขาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วเขาไม่เชื่อพระพุทธศาสนา เขาเกิดเป็นมนุษย์ แต่เขาอยู่ด้วยกัน ความรู้สึกเหมือนกัน มีความรู้สึก มีต่างๆ มีสุขมีทุกข์เหมือนกัน แต่เขาไม่เชื่อ...มีเหมือนไม่มี

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม มันไม่มี มันว่างเปล่า ไม่มีสิ่งใดเลย พิสูจน์ตรวจสอบสิ่งใดไม่ได้เลย แล้วเขาปฏิญาณตนกัน เจ้าลัทธิต่างๆ เขาปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นน่ะ เวลาเจ้าชายสิทธัตถะไปปฏิบัติกับเขาแล้วมันไม่เป็นความจริง ไม่เป็นความจริงนะ มันว่างเปล่า ว่างเปล่าจริงๆ ถ้ามันมีความจริงขึ้นมา เจ้าชายสิทธัตถะไปศึกษากับเขามันก็มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา มันก็จะเป็นประโยชน์ขึ้นมา ก็ยืนยันว่ามันมีจริง มันมีจริงก็ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานขนาดนั้น แต่มันไม่มี มันไม่มีเพราะได้การตรวจสอบแล้วมันไม่มี

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาล่ะ เพราะบุญอำนาจวาสนา อำนาจวาสนา พระโพธิสัตว์ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมได้อย่างไร? ตรัสรูธรรมด้วยการกระทำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้เองโดยชอบ “โดยชอบ” ชอบอย่างไร ถ้าโดยไม่ชอบล่ะ เราทำโดยความเป็นจริงแล้วทำไมมันไม่จริงสักอย่างหนึ่ง ถ้าไม่เป็นจริงมันก็ไม่ชอบ

ถ้าโดยชอบ ชอบอย่างใด? “โดยชอบ” เห็นไหม ดูสิ เวลาความชอบธรรมทางโลกที่เขาเรียกร้องความเป็นธรรม ความชอบธรรมของเขา ความเป็นธรรมนี่ทุกคนก็พอใจ ทุกคนว่าสิ่งใดเป็นธรรม ถ้าใครทำสิ่งใด ถ้าอยู่ฝ่ายธรรมมันจะเป็นฝ่ายชนะอธรรม อธรรมเพราะทุกคนไม่พอใจ ทุกคนไม่ต้องการ ทุกคนปฏิเสธทั้งนั้นน่ะว่าเป็นอธรรม “อธรรม” มันเป็นอกุศล มันไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนปรารถนาเลย มีแต่ทุกคนปฏิเสธ แต่ถ้าเป็นความชอบธรรม เราชอบธรรมเราก็วัดได้โดยความรู้สึกของเรา แต่เราไม่มีวุฒิภาวะ เราไม่สามารถกระทำได้ เราจะว่าอะไรเป็นธรรมล่ะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา เห็นไหม แบบว่าวัดกันด้วยความรู้สึกจากภายใน “ภายใน” ดูสิ เวลาตรัสรู้ขึ้นมาโดยชอบ ชอบเพราะว่ามันชำระสะสาง ชำระจนอวิชชาตาย “เราเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา ในมนุษย์ ในบรรดาสัตว์ ๒ เท้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด ไม่มีใครเลอเลิศเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

เพราะการกระทำอันนี้มันประเสริฐที่สุด เวลาเสวยวิมุตติสุข เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา ถ้าเป็นศาสดาจะสั่งสอน เวลาสั่งสอนขึ้นไปแล้ว สอนพระโมคคัลลานะ สอนพระสารีบุตรแตกต่างกันไป เวลาสอนพระโมคคัลลานะนี่เจโตวิมุตติ หนักไปทางสมาธิ เห็นไหม ง่วงหงาวหาวนอน ไปโดยฤทธิ์นะ “โมคคัลลานะ เธอควรทำอย่างนั้น เธอควรทำลูบหน้า ตรึกในธรรมต่างๆ ถ้าไม่ได้นะ ไม่ได้ให้พักผ่อนก่อน แล้วถึงให้ประพฤติปฏิบัติ”

สอนพระโมคคัลลานะอย่างหนึ่ง พระสารีบุตรอย่างหนึ่ง เอตทัคคะ ๘๐ องค์ ก็ ๘๐ อย่าง “๘๐ อย่าง” หมายถึงว่า มีความถนัดแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ความไม่เหมือนกัน เห็นไหม ถ้าความเป็นจริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ได้ จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ตามความเป็นจริง เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการจนพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” มีความสุขมีความพอใจ เพราะมีพยานไง เวลาเผยแผ่ธรรมมา พระอรหันต์ ๘๐ องค์ เอตทัคคะ สิ่งที่ว่าเป็นพยานกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีฤทธิ์มีเดชขนาดนั้นนะ เวลาพระโมคคัลลานะมีฤทธิ์ขนาดไหน ไปเผยแผ่ธรรมมา กลับมา สงสัย มาถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนั้น” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้อธิบายให้ฟัง แสดงว่าสิ่งที่ว่ามีฤทธิ์ขนาดไหนก็ไม่เท่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุข เพราะมันสมบูรณ์ มีความพร้อม มีความพร้อมเพราะว่าจะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ไง นี่สิ่งที่มีธรรม เพราะธรรมมันมี เวลาธรรมมันมี

ถึงผู้ที่ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติไม่ได้ความเป็นจริง มันก็แปรรูปกันไป การแปรรูปนะ ดูสิ ทางโลกเขา ถ้ารัฐบาล รัฐเขามีหน้าที่อำนวยความสะดวกในสาธารณูปโภคกับประชาชน นั่นเป็นหน้าที่ของเขา เขาทำเพื่อสิ่งใด ถ้ารัฐนั้นเป็นผู้ที่ดี เขาทำเพื่อประโยชน์กับสังคม ประโยชน์ด้วยความเป็นธรรม แต่ถ้ารัฐนั้นเขาไม่รับผิดชอบ เขาทำสิ่งใดโดยการวินิจฉัยของเขา เขาทำสิ่งนั้นแล้วมีความเสียหายไป นี่คนที่เดือดร้อนคือประชาชนไง ประชาชนจะไม่ได้รับการบริการจากสาธารณูปโภคนั้น นี่การแปรรูปของเขานะ ถ้าการแปรรูปของเขา ถ้ารัฐที่เป็นธรรม รัฐที่เขามีวิสัยทัศน์ เขาจะบริหารจัดการของเขา เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะบริการประชาชน

แต่เวลาเจอระบบเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจว่า ถ้าเอกชนเข้ามาแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นของเอกชนไป เขาจะบริการได้ดีขึ้น เขาจะบริการได้เพียบพร้อมกว่า เขาจะบริการจัดการได้ดีกว่า นี่ด้วยความเห็นของรัฐ เห็นไหม แต่เวลาเขาแปรรูปไปแล้วล่ะ มันเป็นธุรกิจ ถ้าธุรกิจมันมีกำไรขาดทุนแล้ว ถ้ามีธุรกิจของเขา เขาต้องแสวงหาผลกำไรทั้งนั้นน่ะ ถ้าเขาแสวงหาผลกำไร พอแปรรูปไปแล้วมันแสวงหาผลกำไร แต่ผู้ที่แปรรูปนะ ผู้ที่เขาทำธุรกิจของเขาด้วยใจเป็นธรรม ด้วยความเป็นธรรมของเขา บางรัฐวิสาหกิจก็มีประโยชน์

แต่ส่วนใหญ่แล้ว ในการกระทำจนสัจจะความจริง โดยสัจจะความจริงนะ ในเมื่อเป็นธุรกิจเขาต้องแสวงหาผลกำไร ถ้าแสวงหาผลกำไรนะ เขาจะลงทุน เขาจะทำอะไรเพื่อประโยชน์กับสาธารณะไหม นี่ถ้าเขาแปรรูปไปนะ สิ่งที่แปรรูป ความแปรรูปของเขา แล้วถ้ามันไม่มีรัฐวิสาหกิจ ใครจะเป็นคนแปรรูป ถ้ามันไม่มีความเป็นจริงนะ นี่พูดถึงทางโลก ถ้าทางโลกเขาแปรรูปกันไป เขาก็หวังเพื่อความดีทั้งนั้นน่ะ แต่ในเมื่อคนมันมีความเห็นแก่ตัว คนมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก คนที่จิตใจเป็นธรรม จิตใจที่เป็นสาธารณะ ส่งต่อกันมามันจะได้มากน้อยแค่ไหน นี่พูดถึงการแปรรูปของโลกเขานะ

ดูสิ เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันมีธรรมอยู่แล้ว ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา สิ่งนี้ที่มีคุณค่ามากนะ มีคุณค่ามาก แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติกันตามความเป็นจริง มันเป็นจริงขึ้นมาไหม

ถ้ามันไม่เป็นความจริงขึ้นมานะ ดูเวลากิเลสมันแปรรูป ถ้ากิเลสมันแปรรูปนะ มันทำความเสียหายไปหมดเลย ความเสียหายของตัวเองก่อน ถ้ากิเลสมันแปรรูป เห็นไหม แปรรูปเพื่อสิ่งใด เพราะมันมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเอาอะไรไปแปรรูปล่ะ

นี่ถ้ากิเลสแปรรูป มันก็บิดเบือนธรรมะอันนั้นไง เพราะมันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันไม่มีความรู้จริงจากความจริงขึ้นมา ถ้าไม่รู้จากความจริงขึ้นมา สิ่งใดที่มันประพฤติปฏิบัติขึ้นมา หรือทำขึ้นมาแล้วก็อ้างอิง พอคำว่า “อ้างอิง” มันมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้รองรับใช่ไหม พอรองรับนี่มันทำลายตัวเองไง ถ้ามันแปรรูปแล้วมันทำลายตัวเอง รัฐวิสาหกิจนั้น สิ่งสาธารณูปโภคนั้นจะไม่มีประโยชน์กับใครเลย นี่พูดถึงการทำลายตัวเองนะ

แต่ถ้าพูดถึงเวลาแปรรูปไปแล้ว ดูสิ กิจการต่างๆ เวลาแปรรูปไป ดูผู้ปฏิบัติ กิเลสมันแปรรูปนะ นี่ปฏิบัติทางลัด ทางง่าย ทางสะดวกสบาย ทำแล้วมันจะได้...มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ ดูสิ ดูในสาธารณูปโภคที่เราจะใช้สอยมันต้องมีใช่ไหม จะน้ำ จะไฟ จะการคมนาคม มันต้องมีการบริการเรา ถ้าการบริการสิ่งนั้นทำให้มีผลตอบแทน มีความสะดวกสบายขึ้นมา สิ่งนั้นถึงตามความเป็นจริง ถ้ามันไม่มีสิ่งนั้นขึ้นมา สิ่งที่ว่าสาธารณูปโภคมันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ในการประพฤติปฏิบัติที่ว่า สิ่งที่ว่าทำแล้วสะดวก ทำแล้วสบาย ทำแล้วมันง่ายตามความเห็นของเขา มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ? มันเป็นจริงๆ เพราะมันมีสิ่งใดรองรับว่าสิ่งใดว่าเป็นความจริงล่ะ

เวลามันแปรรูปนะ มันแปรรูปเข้าข้างไง “กิเลสมันแปรรูป” คือมันทำลายสัจจะความจริง ทำลายธรรมะให้เสื่อมทรามไป ให้ด้อยค่าไป ความมันเข้าไม่ถึงธรรม ถ้ามันเป็นธรรม ถ้าธรรมะ ธรรมะไม่ต้องแปรรูป ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม ธรรมะมีอยู่แล้ว คำว่า “ธรรมะมีอยู่แล้ว” ดูธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่สัจจะความจริง ใครจะมีความรู้ ใครจะมีความฉลาด มีปัญญาเกินองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์นะ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ ดูสิ ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเครื่องหมาย เป็นศาสดา เป็นการชี้นำ

แล้วการแปรรูปคือบิดเบือนมัน ความเข้าใจ ถึงเราเข้าใจไม่ได้แล้วบิดเบือนสิ่งนั้นไป แล้วทฤษฎีที่ว่า สาวกภาษิตนะ เขาบอกว่า “พระปฏิบัติ เวลาผู้ปฏิบัติไม่มีการศึกษา ไม่รู้บาลี ไม่รู้ต่างๆ”...บาลีมันก็เป็นภาษาภาษาหนึ่ง

แล้วภาษาใจล่ะ ความรู้สึกของใจที่มันมีความรู้สึกนึกคิดอยู่นี่ เวลามันทุกข์ขึ้นมาอยู่นี่ สัจจะความจริงมันมีของมันอยู่ ผลตอบสนองมันมีของมัน ถ้ามีของมัน ถ้ากิเลสมันไม่แปรรูปไปเสียก่อน ถ้ากิเลสแปรรูปเสียก่อน มันไม่เข้าถึงความจริง เราจะไม่ได้ผลการได้ผลจากศาสนานี้เลย

เราเกิดเป็นชาวพุทธ แล้วพบพระพุทธศาสนา เราเชื่อมั่นในสัจจะ เชื่อมั่นในอริยสัจ ในความเห็นในพุทธศาสนานี้ คนที่บังคับตนเอง ถ้าไม่บังคับตนเองนะ กิเลสมันพาออกไปแล้ว กิเลสมันต้องการความสะดวกสบายของมัน กิเลสมันต้องการอำนาจบาตรใหญ่บนหัวใจของสัตว์โลก มันบังคับบัญชาให้ใจนี้ทำตามที่มันต้องการ

ดูสิ เราเกิดมา เรามีต้องการสิ่งใด? โดยสัญชาตญาณของคน โดยสัญชาตญาณของจิตมันมีแรงขับดันของมัน ถ้ามันมีแรงขับดันของมัน ถ้าเราไม่มีศาสนา เราไม่มีสิ่งใดไปบังคับข่มขี่มัน มันไปตามกำลังของมันนะ ถ้ามันไปตามกำลังของมัน เห็นไหม เราทำสิ่งใด ทำซ้ำทำซาก นี่ถ้าเราย้ำคิดย้ำทำจะเป็นจริตนิสัย ความเป็นจริตนิสัย แล้วทำบ่อยครั้งเข้าๆ จนความผิดเป็นความถูกไป

ความถูกของใคร? ความถูกโดยความเห็นอันนั้น แต่มันเป็นความถูกความเป็นจริงไปไม่ได้ ไปไม่ได้หรอก เพราะสัจจะความจริงในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่แล้ว “ศีล สมาธิ ปัญญา” ในเมื่อมันผิดศีล ผิดธรรม ผิดวินัย ผิดทุกๆ อย่าง มันจะเป็นความจริงขึ้นมาได้อย่างใด

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “มนุษย์ สัตว์โลกจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร” ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ ความเพียรชอบด้วย ถ้าความเพียรไม่ชอบมันก็เป็นมิจฉา ถ้าเป็นมิจฉาขึ้นไป มันมิจฉาคือความผิดทั้งนั้นน่ะ

แต่ถ้าเป็นความถูกล่ะ? ถ้าเป็นความถูก ถ้ามีสัจจะมีความจริง เราจะมีความมั่นคงของเรา ถ้าความมั่นคงของเรา นี่ถ้าเรามีธรรม มีธรรมมันจะเริ่มมีความปกติของใจ ใจถ้าไม่มีศีล ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ มันปกติไม่ได้ มันปกติไปไม่ได้ มันไหลไปตามตัณหาความทะยานอยากทั้งนั้นน่ะ แต่เพราะเรามีศรัทธา มีความเชื่อของเรา เราถึงต้องฝึกฝนของเรา

ถ้าเราฝึกฝนของเรา เริ่มต้น ดูสิ ทางโลกเขา ชาวพุทธให้เสียสละ ให้ช่วยเหลือเจือจานกัน อย่าเอารัดเอาเปรียบกัน การเอารัดเอาเปรียบมันผิดศีลผิดธรรม ถ้ามันผิดศีลผิดธรรม แล้วถ้าเราช่วยเหลือเจือจานกัน เราจะช่วยเหลือเจือจานกันอย่างใด เราจะไว้ใจใครกันได้ เห็นไหม ดูสิ ทางโลก สิ่งนั้นถ้าเรามองว่าจะต้องสะอาดบริสุทธิ์ไป มันก็พระอรหันต์เท่านั้น แต่นี่สังคมโลกมีสูงๆ ต่ำๆ แม้แต่ใจเรายังขึ้นๆ ลงๆ อยู่ ใจของเรายังไม่มีหลักมีเกณฑ์ของเรา โลกเขาก็เป็นกันแบบนั้น ถ้าเราเสียสละก็คือเสียสละไปโดยไม่ต้องไปใส่ใจ แต่ถ้าเราสละไม่ได้ เราก็เสียสละที่เราไว้วางใจ ไว้วางใจ เห็นไหม ดูสิ เวลาในทานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“ควรทำที่ไหน?”

“ควรทำที่เธอพอใจ”

“ถ้าหวังผลล่ะ”

“หวังผลนี่ต้องพูดกันตามเนื้อนาบุญ”

นี้เหมือนกัน ถ้าเราเสียสละ นี่พูดถึงว่าพื้นฐานของชาวพุทธไง พุทธศาสนาที่เราจะได้ประโยชน์กับในศาสนา ถ้าเราเสียสละอย่างนั้น เสียสละอะไร เสียสละคือกิเลสตัณหาความทะยานอยากแบบพื้นฐาน “ความพื้นฐานของคน” พื้นฐานของคนนะ มีความตระหนี่ถี่เหนียว มีความยึดมั่นถือมั่นโดยธรรมชาติ การเสียสละอย่างนั้นมันการเสียสละเพื่อความพื้นฐานอันนั้นให้มันเปิดกว้างขึ้นมา ให้จิตใจมันไม่ไหลลงต่ำ

ถ้ามันไหลลงต่ำ น้ำ มันไหลลงต่ำโดยธรรมชาติของมัน แต่เขาก็ทดน้ำขึ้น เขาพยายามทดน้ำขึ้น เขาพยายามชักน้ำขึ้นไปเพื่อประโยชน์แก่การใช้สอยของเขา เขายังทำของเขาได้ น้ำ มันไม่มีชีวิต เขายังบังคับให้ขึ้นสู่ที่สูงได้โดยกาลักน้ำ โดยการทดน้ำ โดยการต่างๆ เขาทำของเขายังทำของเขาได้ แล้วจิตใจของเรา เราเกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา ศาสนาสอนถึงให้เข้าใจตนเอง ให้ชนะตนเอง

“ชนะตนเอง” ชนะที่ไหน? ชนะตนเอง มันจะกินแล้วนอน กอนแล้วนิน แล้วมันจะอยู่ตามประสามันอยู่อย่างนั้นใช่ไหม อย่างนั้นมันก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่ง มนุษย์ถ้าไม่มีศีลธรรม เลวกว่าสัตว์ สัตว์มันยังมีสัญชาตญาณการรักหมู่รักฝูงของมัน ถ้ามนุษย์ไม่มีศีลธรรมในหัวใจนะ มันเบียดเบียนเขา มันทำลายเขา มันทำลายตนก่อน แล้วมันทำลายผู้อื่นไปทั้งนั้นล่ะ

แต่ถ้ามันมีศีลธรรมขึ้นมา มีศีลมีธรรม มนุษย์ต่างจากสัตว์เพราะมีศีลธรรม แล้วศีลธรรมเข้ามาในหัวใจ “ศีลธรรมจากภายนอก-ศีลธรรมจากภายใน” ถ้าศีลธรรมจากภายในขึ้นมา เราจะดูแลของเรา เราจะรักษาของเรา เห็นไหม เราไม่แปรรูป เราไม่ต้องให้กิเลสแปรรูปธรรมะให้สะดวกสบาย ให้นุ่มนวลอ่อนหวาน ให้ตามความพอใจของเรา กิเลสมันจะแปรรูปให้ธรรมะพอใจเรา

ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ต้องปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน แล้วปฏิบัติธรรมเพื่อธรรมล่ะ?

บังคับชีวิตประจำวันเข้าสู่ธรรม

เราบังคับเรา ดูสิ เวลาพระเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราตั้งสัจจะสิ เราจะถือธุดงค์ข้อใด เนสัชชิก ไม่นอนทั้งคืน เนสัชชิกกี่วันก็ได้ ธุดงค์กี่ข้อ แล้วแต่เรา นี่ไง ศีลในศีล แม้แต่ศีล ๒๒๗ ศีล ๒๑,๐๐๐ ข้อ เราถืออยู่แล้ว “ศีล” ถ้าเราไม่ทำความผิด เราไม่มีเจตนาล่วงเกิน ศีลมันก็มีแค่หัวใจดวงเดียว ถ้าหัวใจดวงเดียวมันยังบังคับตัวเองไม่ได้ ยังจะต้องกติกาบีบบังคับ บีบคั้นมันเข้าไป บีบคั้นมันเข้าไปเพื่อให้มันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน มีหลักมีเกณฑ์ แล้วบีบคั้นใคร? บีบคั้นกิเลส

พอมันบีบคั้นปั๊บ พูดอย่างนี้ไม่ได้ อย่างนี้เป็นกิเลส เราปฏิบัติธรรมเพื่อความผ่อนคลาย ไม่ใช่การบีบคั้น การผ่อนคลาย ผ่อนคลายให้กิเลสมันไหลไปตามตัณหาความทะยานอยากใช่ไหม ถ้ามันผ่อนคลายไป ผ่อนคลายไปไหน?

ผ่อนคลายไปมันก็โลเลไง ผ่อนคลายมันก็จะเข้าสู่ไปนอนจมอยู่กับกิเลสไง กิเลสมันเป็นอนุสัยอยู่ในหัวใจ แต่เราจะบังคับบัญชาของเรา นี่เรามีสติ มีสติก็คือการระลึกรู้ การระลึกรู้ก็คือการจำกัดขอบเขตของมัน ถ้าจำกัดขอบเขต เราระลึกรู้ขึ้นมา เรามีคำบริกรรมของเราเพื่อประโยชน์กับเรา

เราจะไม่ปฏิรูป เราจะไม่แปรรูป เราจะไม่ชักนำ เราจะไม่ทำให้ตามความพอใจของเรา

“ตามความพอใจของเรา” นี่คือปริยัตินะ

ปริยัติ เวลาสั่งสอน “อริยสัจเป็นอย่างนี้ ศีลคือเป็นอย่างนี้ สมาธิ-ผลของสมาธิจะเป็นอย่างนี้” นี่คือการบังคับ นี่ไง ผลของมันไง ผลของมัน การคำนวณของมันว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น แต่เวลาปฏิบัติจะเป็นความจริงไหม

เวลาปฏิบัติขึ้นมา คนที่ปฏิบัตินะ เดี๋ยวสมาธิเข้าได้ง่าย สมาธิเข้าได้ยาก สมาธิเราทำแล้วมันควบคุมได้ สมาธิคราวนี้เข้าแล้วทำไมมันติดขัด นี่แม้แต่เราทำของเราเองมันยังไม่มีสูตรสำเร็จเลย มีความชำนาญขนาดไหน ชำนาญในวสีขนาดไหน เราทำของเรา การทำของเราทำมาจากไหนล่ะ ทำมาจากไหน?

ทำมาจากสติ ทำมาจากคำบริกรรม

แล้วสติกับคำบริกรรมมันมาจากไหน?

ถ้าสติในทฤษฎี สติในคำสั่งสอน สติในสัจจะมันก็เป็นการบังคับที่ต้องให้เกิดอย่างนั้น แต่ถ้าเวลาเราทำขึ้นมา สติเราก็ระลึกรู้สิ สติเราก็มีสติสัมปชัญญะของเรานี่สิ ถ้าไม่มีขึ้นมา ถ้าสติขึ้นมามันก็มีกรอบ อย่างนี้เป็นการบีบคั้นไหม? ไม่ใช่การบีบคั้น นี่คือการใฝ่ดี การใฝ่ดี การปรารถนาดี การต้องการคุณงามความดีโดยไม่ใช่แปรรูปหรือชักนำให้เป็นตามความพอใจของกิเลส ตามความพอใจของตัว ถ้าตามความพอใจของตัว เราคาดหวังไง ที่ทำกันอยู่นี่เราคาดหวัง มันจะเป็นอย่างนั้น มันจะเป็นอย่างนั้น เราคาดหวังของเรา เพราะเราศึกษามา เราศึกษาตำรามา แล้วกิเลสมันก็แปรรูป ต้องให้สมความปรารถนา

แล้วพอกิเลสแปรรูปไป ถ้าคนผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิญาณตนว่ารู้ แต่ถ้าไม่มีสติปัญญา ไม่มีความเข้าใจ มันเชื่อความเห็นของตัวนะ ถ้าเชื่อความเห็นของตัวใช่ไหม เราไม่ต้องทำสิ่งใด เราแค่กำหนดดู มันจะเป็นไปตามความพอใจ ถ้าสิ่งที่กำหนดดูมันจะเป็นการอัตตกิลมถานุโยค มันจะเป็นการบังคับ มันจะเป็นต่างๆ ว่ากันไป

เด็กดี คนดี พ่อแม่ต้องดูแลไหม? จะว่าบังคับก็ได้ แต่การบังคับนี่บังคับด้วยเทคนิคไง พ่อแม่ต้องการให้ลูกให้เป็นคนดี ให้ลูกสมความปรารถนา พ่อแม่ก็ใช้การต่อรอง ใช้คำพูด ใช้เหตุผล ใช้ต่างๆ นี่เป็นการบังคับไหม? บังคับด้วยอุบาย ไม่ใช่บังคับด้วยกฎที่มันบีบคั้นให้เด็กนั้น ให้ลูกเรานั้นมีปัญหา แต่เราใช้ปัญญาของเรา อย่างนี้มันบังคับไหม เป็นการบีบคั้นไหม อย่างนี้เป็นอัตตกิลมถานุโยคไหม? ไม่เป็นเพราะเหตุใด? ไม่เป็นเพราะเราปรารถนาให้ลูกของเรา ลูกของเราเอง เราจะมีสิ่งใดจะทำให้มันเสียหาย เราทำแต่ความดีทั้งนั้นน่ะ

ทีนี้เราจะปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติธรรม ถ้ากิเลสมันแปรรูปนะ...ไม่ได้ จะต้องสะดวก จะต้องสบาย จะต้องเป็นความพอใจของตัว แล้วก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม...จริงหรือ จริงหรือ?

สติเป็นสติอย่างไร?

“สติ” ชื่อในตำราก็มีอยู่แล้ว เวลาปฏิบัติก็ได้แต่ชื่อมาเหรอ ความจริงไม่เป็นความจริงขึ้นมาเลยเหรอ แล้วถ้าเป็นสมาธิ สมาธิมีแต่ชื่อ แล้วสมาธิจริงๆ เป็นอย่างไร

ถ้าสมาธินะ คนได้สมาธิแล้ว นักปฏิบัติ ในวงกรรมฐานเรา ถ้าผู้ปฏิบัตินะ เขาจะต้องการความสงบสงัด เขาจะต้องการเวลาของเขา แล้วถ้าสงบสงัดนี้ถ้าไม่สงบสงัดปฏิบัติไม่ได้ใช่ไหม? ถ้ายังไม่มีความชำนาญ ผู้ที่ปฏิบัติใหม่มันก็ต้องอาศัยสภาวะแวดล้อมช่วยมาก แต่ถ้าผู้ที่ปฏิบัติจนมีความชำนาญแล้ว แล้วมีความจำเป็น จะพลุกพล่านอย่างไรเขาก็ทำใจของเขาได้ ถึงเวลาเราฝึกฝนจนเรามีความชำนาญขึ้นมาแล้ว เราจะดูแลรักษาของเราได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าดีขึ้นเรื่อยๆ นะ อยู่คนเดียวก็ได้ อยู่ในหมู่คณะก็ได้ จะทำสิ่งใดก็ได้

ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราว่า “ต้องอยู่คนเดียว ต้องสงบสงัด แล้วในสังคมปฏิบัติไม่ได้เลยหรือ ทำไม่ได้เลยหรือ” นี่ไง กิเลสมันจะแปรรูปไง กิเลสมันจะแปรรูปของมันไป แล้วก็ว่าทำสิ่งนั้นก็ได้ ทำสิ่งนี้ก็ได้ ว่าสิ่งนั้นเป็นคุณงามความดี สิ่งนั้นเป็นความจริงในความเห็นของเขา

เพราะกิเลสมันแปรรูปมันก็เป็นกิเลสไปแล้ว ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่วางไว้ แต่เอาสิ่งนั้นมาเป็นการรองรับกัน แต่ความจริงมันไม่เป็นแบบนั้น นี่เพราะกิเลสมันแปรรูป เพราะคำว่า “กิเลสแปรรูป” มันไม่มีธรรมเลยไง มันแปรธรรมะเป็นกิเลสหมด

แต่ถ้าเป็นความจริง คนมีกิเลสอยู่แล้ว

เราเกิดมา เกิดเป็นมนุษย์ กิเลสทั้งนั้นน่ะ เพราะไม่มีกิเลสจะเกิดมาได้อย่างไร ถ้าเรามีกิเลสเกิดมาแล้ว มันไม่ต้องแปรรูปมันมีของมันอยู่แล้ว ถ้าเราไม่มีสติปัญญาของเรา เพราะเรามีการศึกษาของเรา เรามีการศึกษาแล้วเราค้นคว้าของเรา นี่เรามีกิเลสอยู่แล้วไง กิเลสมันก็แปรรูปให้ตามความเห็นของตัวหมดเลย

แต่ถ้าเราปฏิบัตินะ เราวางให้หมด การศึกษานั้นเป็นแนวทาง เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาของเรา ศาสดาของเราพยายามจะชักนำเราให้เข้าสู่สัจจะความจริง ถ้าพยายามชักนำให้เข้าสู่สัจจะความจริง เข้าด้วยอย่างใด?

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ที่เรามาบังคับตนเองกันอยู่นี่ เรามานั่งสมาธิภาวนากันอยู่นี่ เราทำเพื่ออะไร แล้วเราทำเพื่อสิ่งใด? เราทำเพื่อต้องการให้เราเข้าสู่สัจจะความจริง เข้าสู่ธรรม ไม่ใช่ว่ากิเลสแปรรูปจากธรรมมาเป็นกิเลส นี่เพราะเรามีกิเลสอยู่แล้ว สิ่งที่มีกิเลสอยู่แล้ว ดูสิ สิ่งที่ไม่มีชีวิต ดูสิ สิ่งที่วัตถุที่ไม่มีชีวิต เราก็ใช้ประโยชน์จากเขาได้นะ

ดูแสงสว่างสิ ดูเรานั่งอยู่ในร่มสิ เขามีชีวิตไหม? เขาไม่มีชีวิต แต่ยังเป็นประโยชน์กับเราเลย แล้วหัวใจของเรา ชีวิตของเรามันมีชีวิต คำว่า “มีชีวิต” มันรู้ผิดชอบชั่วดี มันรู้สุขรู้ทุกข์ มันรู้ผิดรู้ถูก แล้วเราปล่อยนะ ดูสิ สิ่งที่ไม่มีชีวิตเขายังเอามาเป็นประโยชน์ได้ แล้วเรามีชีวิตนะ เรามีความรู้สึกนะ เรามีความปรารถนาดีนะ แต่เรามีกิเลสอยู่ไง

ฉะนั้น สิ่งที่ไม่มีชีวิตมันทำโดยการจัดวางของผู้ที่มีปัญญา ให้สิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับส่วนรวม ให้สิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับเรา ให้สิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับทุกๆ คน ถ้าคนที่มีปัญญาจัดวางสิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์ แต่ถ้าสิ่งนั้น เวลาสิ่งที่มันกีดมันขวาง อันนั้นมันเป็นโดยสัจจะ โดยมันเป็นไปโดยธรรมชาติ

แต่ถ้าหัวใจของเราล่ะ หัวใจของเรา เราจะดูแลรักษา เราจะทำอย่างใด

สิ่งที่เราศึกษามานะ ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษามา ต้องมีการศึกษานะ ดูสิ ดูอย่างพระเรา เวลาเราเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์เขาก็มีภาษาของเขา มนุษย์นะ จะเป็นเผ่าพันธุ์ใดก็มีภาษาของเขา เขาสื่อของเขาด้วยภาษาของเขา จากฆราวาสนะ จากมนุษย์จะบวชเป็นพระ เขาก็ต้องมีพิธีกรรมของเขา มีญัตติจตุตถกรรมขึ้นมาให้เป็นพระ พอเป็นพระขึ้นมา อุปัชฌาย์ก็สอนแล้ว

คราวนี้ในเมื่อ...ดูสิ ในเผ่าพันธุ์ใด ในชนชั้นใด ในชุมชนใดเขาก็มีภาษาเขียนภาษาพูดของเขาเพื่อสื่อสารกัน บวชเป็นพระนี่เราก็ศึกษา เราบวชเป็นพระมา เราก็เป็นพระขึ้นมาแล้ว ถ้าบวชเป็นพระขึ้นมา

เราบอก “ยังไม่ได้ศึกษา ยังไม่ได้เรียนตำรับตำราจะมาประพฤติปฏิบัติอะไร?”

“เรียน” เรียนโดยการปฏิบัติ เรียนโดยมีครูมีอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านสอนโดยตรงๆ เลย ท่านสอนปฏิบัติ เห็นไหม ผิดถูกโดยข้อเท็จจริงเลย แต่ถ้าเราศึกษาของเรา เราศึกษาแล้วเรายังมาตีความกันอยู่นะ

ฉะนั้น ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา “ศีล สมาธิ ปัญญา” ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราทำสิ่งใดที่ล่วงเกินศีล แล้วเรามาปฏิบัตินี่เรานั่งสมาธิได้ไหม เรามาทำความสงบของใจได้ไหม โดยธรรมชาติของใจ ดูสิ มันไหลลงต่ำ ความรู้สึกนึกคิดมันจะไหลไปตามความพอใจของมัน ไหลไปตามความพอใจของมันนะ แล้วเวลากิเลสมันแปรรูป พอเรานั่งสมาธิภาวนาไป นั่นก็ผิด นี่ก็หลอกตัวเอง ฉ้อฉล คดโกง

ถ้าเรามีสติปัญญา เราจะใช้ปัญญาโต้แย้ง “ความโต้แย้งความคิด”

ถ้าโต้แย้งความคิดนะ มันจะมีเหตุมีผลนะ เอาเหตุผลโต้แย้งความคิด นี้คือปัญญา

ถ้าปัญญานะ ถ้าเราแก้ความลังเลสงสัย แก้สิ่งที่กิเลสมันพยายามจะทำให้การประพฤติปฏิบัติเราล้มเหลวไป ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา มันมีเหตุผลจนกิเลสมันไม่กล้าโผล่หน้ามา ถ้ากิเลสมันไม่กล้าโผล่หน้ามานะ การประพฤติปฏิบัติของเราจะสะดวก จะได้ผลตามความเป็นจริง ไม่ใช่แปรรูปให้เป็นตามกิเลสที่มันพอใจ

ถ้ามันแปรรูปมันตามกิเลสที่มันพอใจ มันแปรรูปนะ แล้วจะทำจริงขึ้นมามันยังมีข้อโต้แย้ง มีการกระทำให้เราล้มเหลว แต่เรามีสติปัญญา สติปัญญาของเรา เราแก้ไข เห็นไหม วัตถุที่ไม่มีชีวิต เขายังเป็นประโยชน์ได้ จิตใจที่เรามีชีวิต มีความรู้สึกนึกคิด มีรู้สึกผิดชอบชั่วดี “ผิดชอบชั่วดี”

ดูสิ พอเราบอกว่าเราเป็นชาวพุทธ เราเป็นลูกศิษย์กรรมฐาน เราสนใจในพุทธศาสนาดีกว่าคนอื่น นี่พอมันยกสถานะมันขึ้น ยกสถานะขึ้น ยกขึ้นมาทำไม? ยกขึ้นมาเพื่อจะทุ่มลงไง ยกขึ้นมาเพื่อแปรรูปให้เข้าสู่กิเลสไง “เราเป็นลูกศิษย์กรรมฐาน เราใกล้พุทธศาสนา เรามีปัญญา”...แล้วไงต่อ แล้วไงต่อล่ะ แล้วมันเป็นจริงหรือเปล่าล่ะ?

ถ้ามันเป็นจริง เราเป็นลูกศิษย์กรรมฐาน เราเข้าใจ เรามีปัญญา เรามีการปฏิบัติของเรา ถ้าปฏิบัติของเรา ถ้าปฏิบัติ เราควบคุมใจได้ ถ้าควบคุมใจได้นะ ความสงบสงัดนี้จะเป็นความสุขมาก อยู่คนเดียวดูแลใจของเรา ใช้คำบริกรรมให้จิตมันสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบมีหลักมีเกณฑ์ “ศีล สมาธิ ปัญญา” นี่ตอนนี้ธรรมะจะแปรรูปแล้ว

เราเกิดมาเราเป็นมนุษย์ใช่ไหม เราเกิดเป็นมนุษย์ เรามีกิเลสมาใช่ไหม แต่เพราะเรามีกิเลสอยู่ แล้วเราศึกษาธรรมะนี่กิเลสมันแปรรูปธรรมะให้เข้าทางกิเลสหมดเลย จะทำอย่างที่ตัวเองพอใจ จะทำ จะลัด จะสั้น จะสะดวก จะสบาย จะทำหวังผล ว่างๆ เหมือนไม่มีสิ่งใดเลย นิพพานคือความว่าง นิพพานเป็นเมืองแก้ว...มันจินตนาการ มันแปรรูปสัจธรรม มันแปรรูปธรรมะเป็นกิเลสหมดเลย

แต่พอจิตเราสงบขึ้นมา จิตเราสงบ พอจิตสงบ เราใช้ปัญญาของเราขึ้นมา นี่เริ่มต้นตั้งแต่เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญา เราโต้แย้งกิเลสที่มันจะทำให้เราล้มลุกคลุกคลานนี่ “เกิดมาเป็นคนทุกข์คนยาก เกิดมาเป็นคนที่ไม่มีวาสนา เกิดมาปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล เกิดมา”...มันอ้างไปหมดเลย มันจะไม่ให้ทำน่ะ

เพราะการทำขึ้นมา ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพ้นจากกิเลสไป พญามารคอตกเลยนะ พระอรหันต์แต่ละองค์ที่พ้นไปๆ มารมันเสียใจมากนะ ขนาดที่ว่ามันครอบครองวัฏจักรนะ มันครอบครองจิตทั้งหมดอยู่ในอำนาจของเขา จิตดวงใดหลุดออกไปเขายังเสียใจ

ฉะนั้น เวลาเราเริ่มต้นปฏิบัติขึ้นมา ความเป็นจริงเราก็มีวาสนา เราเกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา แล้วมีการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราก็หวัง หวังจะพ้นออกจากกิเลส ออกจากพญามาร ออกจากวัฏฏะ ความหวังนี้ ดูสิ เวลาบอกว่า “ทุกข์ สมุทัย” สมุทัยคือตัณหาความทะยานอยาก คือความหวัง แล้วเราก็มีความหวังนี่มันไม่ใช่สมุทัยเหรอ? คำว่า “เป็นสมุทัย” หวังที่หวังแล้วไม่ได้ทำ หวังสิ่งที่ไม่มีเหตุมีผล หวังร่ำ หวังรวย หวังพ้นทุกข์โดยไม่กระทำ นี่ตัณหา สมุทัย

แต่นี่หวังแล้วปฏิบัติ ให้อยากในเหตุ ให้อยากในการประพฤติปฏิบัติ ให้อยากขวนขวาย ให้อยากหาทางออก ให้อยากใฝ่ดี ให้อยากมีการกระทำ อย่างนี้เป็นมรรค คำว่า “มรรค”

ถ้าพูดถึงว่า “สิ่งความอยากต่างๆ เป็นกิเลสหมดเลย” นี่กิเลสมันจะแปรรูปไปอีกแล้ว

ถ้าอย่างนั้นก็เป็นเหมือนวัตถุใช่ไหม ดูสิ ดูอิฐ หิน ทราย ปูนเขามาเทไว้ เขาทำไว้ให้เป็นที่นั่งร่มเย็นของเรานี่ อย่างนี้เขาไม่มีความอยากไง อิฐ หิน ทราย ปูนมันไม่มีความอยาก มันเป็นพระอรหันต์หรือยัง เราจะต้องไปกราบบูชาอิฐ หิน ทราย ปูนไหม? เราไม่ต้องไปกราบ เพราะอิฐ หิน ทราย ปูนมันไม่มีมีความอยาก ไม่มีความอยากเพราะมันไม่มีชีวิต

แต่ในเมื่อสิ่งมีชีวิต “ชีวะ” ชีวะอยู่บนกาลเวลา มันมีไออุ่นอยู่บนกาลเวลา มันมีของมัน ไออุ่นบนกาลมีพลังงานของมัน มีความรู้สึกของมัน เพราะมันมีอวิชชาของมัน มันมีกิเลสของมันน่ะ มันมีของมัน

นี้เรามีความอยาก อยากเพื่อจะลัดตัดทอนไง มันต้องมี ไม่มีการกระทำแล้วมันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร สติก็เป็นชื่อ สติก็อยู่ในตำรา สมาธิก็ชื่อสมาธิ ยิ่งปัญญานี่จำสัญญามาหมดเลย ปัญญาก็ศึกษามา ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยาะเย้ยมาร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถากถางมาร นี่จำมาหมดเลย แล้วความจริงอยู่ไหน ความเป็นจริงขึ้นมาล่ะ

ความจริงขึ้นมา นี่ธรรมะจะเริ่มแปรรูป แปรรูปกิเลสในใจของเรา ถ้ามันเริ่มจะแปรรูปในกิเลสในใจของเรา เราไม่ใช่บีบคั้น เรามีสัจจะ เราเป็นคนจริง เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเพื่อความจริง ธรรมะจะอยู่ที่คนจริง คนจริงเท่านั้นถึงได้ความจริง

ถ้าเราทำจริงของเราขึ้นมา มันจะเป็นสมาธิจริงๆ ถ้าสมาธิจริงๆ มันแปรรูปมาแล้ว กิเลสมันไม่มีสถานะที่มันครอบงำใจไง ถ้ากิเลสมันมีสถานะครอบงำใจนะ ทำอะไรก็ไม่ได้ ขยับอะไรก็ไม่ได้ เป็นกิเลสไปหมด แต่เพราะเอาเกลือจิ้มเกลือ เอาความสัจจะ เอาความจริงนี่แหละสู้กับมัน

พอมันเริ่มสงบตัวลง สงบตัวลง “อืม! เราก็ทำได้ เราก็อยู่ได้”

คำว่า “อยู่ได้” เราอยู่นิ่งๆ แล้วไม่เร่าร้อน นี้คือจิตสงบ ถ้าจิตสงบร่มเย็นนะ อยู่ที่ไหนก็ร่มเย็น ถ้าจิตมันฟุ้งซ่าน จิตมันเร่าร้อน อยู่ที่ไหนก็เร่าร้อน ฉะนั้น ถ้าเรารักษาดูใจของเรา ใช้คำบริกรรมของเรา ใช้ต่างๆ ของเรา มันร่มเย็นเข้ามา ถ้ามันร่มเย็นเข้ามานะ นั่นล่ะ ธรรมะแปรรูปกิเลส

เพราะมันไม่เร่าร้อน มันไม่เร่าร้อน ไม่กระเสือกกระสน ไม่ขวนขวาย แล้วถ้าไม่กระเสือกกระสน แล้วเวลาพระเราออกธุดงค์ ออกแสวงหานี่มันคือกระเสือกกระสนไหม? อันนี้แสวงหาเพื่อความจริง ความจริงที่ยิ่งไปกว่านี้ยังมีอยู่ ความจริงที่เราต้องการความชัดเจนมันยังมีอยู่ ฉะนั้น สิ่งที่มีอยู่ เราต้องขวนขวายของเรา เราขวนขวายเพื่อคุณงามความดีทั้งนั้นน่ะ แสวงหา พยายามขวนขวายขึ้นมาเพื่อชำระล้างในหัวใจของเรา

ถ้าชำระล้างในหัวใจของเรา ดูสิ เรานั่งสมาธิ จิตใจไม่สงบ เราเดินจงกรม เดินไปเดินมา เดินไปเดินมา เดินโดยกิริยา แต่มีสติปัญญา ให้ความรู้สึกนั้นนิ่ง “ความรู้สึก” เวลาเดินจงกรมเท้าย่างก้าวไป แต่จิตมันจะหดเข้ามา หดเข้ามา หดเข้ามาจนมันปล่อยวางเข้ามาจากเป็นภายในของมันได้ ถ้ามันปล่อยเข้ามาจนเป็นภายในของมัน เห็นไหม นี่เดินจนเดินไม่ได้ ให้ยืนรำพึง ถ้ายืนไม่ได้ให้นั่งลง ถ้านั่งลงนั้นนั่นอัปปนา เข้าสู่ความสงบของใจ เห็นไหม นี่ธรรมะจะแปรรูป

ธรรมะจะแปรรูปต่อเมื่อจิตเริ่มสงบระงับเข้ามา ถ้าจิตสงบระงับเข้ามา สิ่งที่เกิดขึ้นมันจะเกิดขึ้นโดยธรรม แต่ถ้าจิตเราไม่สงบเข้ามา มันเกิดขึ้นโดยกิเลส ทั้งๆ ที่เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ใช้ปัญญาขึ้นมามันก็เป็นสัญญา เป็นสัญญาเพราะมันมีอวิชชา มีความไม่รู้ในตัวของมันเอง ถ้ามีความไม่รู้ในตัวของมันเอง

ดูพลังงานสิ ดูคลื่น ถ้าเสียงเกิดจากที่นี่ ถ้าระยะเดินทางของมัน เสียงจะดังแตกต่างกัน นี่ระยะเดินทางของเสียงนะ ของแสง การเดินทางของแสง การเดินทางของเสียง มันมีระยะทางของมัน นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันไม่สงบขึ้นมา ระยะที่ความคิดมันออกมาจากไหน ความรู้สึกนึกคิด “ความรู้สึกของเรา” กับ “ความคิด” มันออกไปจากไหน

แต่ถ้าจิตสงบขึ้นมา มันเป็นหนึ่งเดียว มันไม่มีการเดินทาง ถ้าไม่มีการเดินทาง นี่ธรรมจะเกิด “สมถกรรมฐาน” ฐานที่ตั้งแห่งการงาน “สัมมาสมาธิ” เป็นฐานที่ตั้งแห่งการงาน เพราะจิตมันไม่เดินทาง จิต ความรู้สึกมันไม่เดินทาง มันอยู่ในฐานที่ตั้งของมัน ถ้าในฐานที่ตั้งของมัน นี่ธรรมะจะแปรรูป จะแปรรูปอะไร? จะแปรรูปกิเลสไง

เวลากิเลส ดูสิ เวลาจิตส่งออก เวลาจิตมันเคลื่อนออกไป มันเดินทาง พอเดินทาง กิเลสมันก็ยิ้มน่ะสิ เพราะมันมีช่องว่างให้กิเลส อนุสัยนอนเนื่องมากับจิต นอนเนื่องมากับจิตนะ หลงใหลได้ปลื้มไปหมด อะไรก็ดี อะไรก็ดีไปหมด เว้นไว้แต่ตัวเราน่ะไม่ดี เพราะตัวเราไม่ดี ทุกคน ทุกอย่างดีหมดเลย แต่เราไม่ดี เผาลน เผาลนนะ พอเราไม่ดีนะอยากได้ เห็นไหม ดูสิ อยากได้ อยากดี อยากเป็น อยากไปทั้งหมดเลย นี่กิเลสไง “กิเลสแปรรูป” ร้อน เผาลนในหัวใจ

แต่ถ้าเราใช้คำบริกรรมของเรา เรามีปัญญาของเรา เรามีสติปัญญาของเรา นี่มันไม่เดินทาง มันอยู่ในฐาน มันจะหดตัวเข้ามาสู่ฐานที่ตั้งของเขา “ฐีติจิต” ถ้าใช้ปัญญา การใช้ปัญญาของเรา ถ้าจิตมันสงบเล็กน้อย การเดินทางมันจะเห็นการเดินทาง เห็นระยะห่างต่างๆ เราใช้ปัญญาของเรา เราใช้คำบริกรรมของเรา มันก็จะมั่นคงขึ้น ระยะสั้นขึ้น ดีขึ้น ควบคุมง่ายขึ้น สงบร่มเย็นขึ้น จนมันเป็นธรรม สติธรรม สมาธิธรรม

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

ถ้าเราไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักที่ตั้ง ไม่รู้จักการเริ่มต้น แล้วเราจะไปหาธรรมะกันที่ไหน มันเป็นกิเลสหมด มันแปรรูปหมด แปรรูปว่า “เรารู้ เราเห็น เรามันเป็นอย่างนั้น” แล้วสั่งสอนกันนะ สั่งสอนกัน แล้วกิเลสมันก็เชื่อกิเลสไง

คนสั่งสอนก็ยืนยันว่า “เป็นพระ เป็นอาจารย์ เป็นผู้มีคุณวุฒิ”

ไอ้คนฟังก็ “อืม! อาจารย์พูดไม่ผิด อาจารย์พูดอ้างพระไตรปิฎกทุกคำเลย อาจารย์พูดธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้นเลย มันต้องไม่ผิด”

นี่ไง ถ้ากิเลสแปรรูปนะ ความเสียหาย เสียหายกันไปหมด เพราะว่ามันไม่เป็นความจริง

แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมานะ ความจริงมีหนึ่งเดียว สัจจะมีหนึ่งเดียว

เวลาถ้าเป็นโสดาบันเป็นอย่างไร เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา เป็นพระอรหันต์เป็นอย่างใด

จะปฏิบัติแนวทางใดนี่อ้างกัน เวลากิเลสมันแปรรูปนะ “มันจริตนิสัยไม่เหมือนกัน การปฏิบัติไม่เหมือกัน”...ใช่ จริตนิสัยไม่เหมือนกัน แต่แบงค์นะ แบงค์ร้อย แบงค์พัน มันก็เป็นแบงค์เหมือนกัน ผลมันเหมือนกัน จะทำหน้าที่การงานอย่างใด จะทำสินค้าสิ่งใด เวลาทำงานแล้วได้ผลตอบแทนก็เป็นแบงค์ เวลาเราทำธุรกิจสิ่งใด เวลาเราขายของไปเราก็ได้แบงค์ เหมือนกัน แบงค์พันก็คือพันเหมือนกัน จะทำหน้าที่การงานอย่างใดมา แต่ได้พันเหมือนกันนะ

อริยสัจมีหนึ่งเดียว ถ้าปฏิบัติแล้วเป็นโสดาบันอย่างใด ถ้าเป็นสมาธิ เป็นสมาธิอย่างใด ถ้าเป็นสติ ถ้าสติยังไม่รู้จักสติ ยังไม่รู้จักเนื้อหาสาระของสติ แต่รู้จักชื่อนะ สวมชื่อให้มัน สติเป็นอย่างนี้ๆ อ้างอิงไปทั่ว “สมาธิจะเป็นอย่างนั้น สติ สมาธิไม่จำเป็น ไม่ต้องไปใช้มัน เราใช้ปัญญาอย่างเดียว”...ปัญญาที่กิเลสมันแปรรูปไง ปัญญาอย่างนี้ คิดให้มันว่างมันก็ว่าง คิดให้มันสบายมันก็สบาย

แต่ถ้าคนทุกข์นะ ถ้าเรามีการกระทบกระเทือนหัวใจที่รุนแรง มีความทุกข์บีบคั้นมันจะว่างไหม แต่ไอ้ที่มันว่าง เวลามันว่างๆ เพราะว่าเคลมกันให้ว่าว่าง คำว่า “เคลม” มันยังต้องมีเหตุมีผลให้เคลมนะ นี่ในหัวใจมันไม่มีสิ่งใดเลย แล้วมันเอาอะไรเป็นความจริงล่ะ? นี่ไง มันไม่จริง ถ้ามันไม่จริง เห็นไหม “กิเลสมันแปรรูป” มันเสียหายไปอย่างนี้

แต่ถ้ามันเป็นความจริง ถ้าอานาปานสติมันก็กำหนดลม ถ้าปัญญาอบรมสมาธิก็ปัญญาไล่จนจิตสงบ ปัญญามันไล่ต้อนเข้ามาไง มันไล่ต้อนการส่งออก การเดินทางของแสง การเดินทางของจิตที่มันส่งออก นี่ปัญญามันไล่ต้อนเข้ามา ส่งออกไป เวลาจิตมันส่งออกไป ส่งออกไปในเรื่องอะไร ส่งออกไปเรื่องสิ่งใดก็แล้วแต่มันไปยึดสิ่งนั้น

ถ้าเราส่งออกไปเรื่องอะไร? เรื่องหน้าที่การงาน เรื่องชีวิต เรื่องต่างๆ นั่นล่ะ จิตมันอยู่ตรงนั้น ถ้าจิตอยู่ตรงนั้นปั๊บ เราเอาสิ่งที่มันคิด เราใช้ปัญญาโต้แย้ง พอโต้แย้งขึ้นมามันก็ปล่อย พอปล่อยมันก็หดเข้ามา หดเข้ามา หดเข้าไปไหน? ก็หดเข้าไปสู่ฐานของเขา หดเข้าไปสู่ฐาน ถ้าเข้าไปสู่ฐาน ผู้ใดเห็นธรรมล่ะ เห็นสมาธิธรรมล่ะ เห็นปัญญาธรรมล่ะ แล้วมันเกิด มันเกิดอย่างใด

ถ้ามันเกิดขึ้นมา “ธรรมะ” ถ้าธรรมะเกิดนะ ธรรมะเกิด มีเหตุมีผล มีหลักมีเกณฑ์ เหมือนกับวัตถุ วัตถุแร่ธาตุสิ่งใด ทางธรณีวิทยาเขาจะรู้เลย แร่ธาตุสิ่งนี้ แร่ธาตุนี้มันมีประโยชน์สิ่งใด แร่ธาตุอย่างนี้มีอายุเท่าไร ธรณีวิทยาเขาจะรู้หมดน่ะ นี่ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมนะ สติมันก็ต้องรู้ว่าสติเป็นอย่างไร สมาธิก็ต้องรู้ว่าสมาธิเป็นอย่างไร แล้วเวลาปัญญามันเกิด มันเกิดอย่างใด ศีล สมาธิ ปัญญามันเกิดอย่างไร นี่ธรรมะแปรรูปแล้ว ถ้ามันมีธรรมขึ้นมามันจะแปรรูปกิเลส

กิเลสมันอยู่ที่ไหน? กิเลสมันอยู่กับเราอยู่แล้ว

ดูสิ เวลาคนเกิดนะ เกิดมาเรามีอวิชชา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา นี่กิเลสมันตายไปกับใจ พอตายไปกับใจ “สิ่งที่ตายไปกับใจ” หมายถึงว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่ที่โคนต้นโพธิ์ อาสวักขยญาณทำลายอวิชชาหมดเลย

๔๕ ปีที่อยู่ ๔๕ ปีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมมานี่ไม่มีกิเลสเลย ไม่มีอวิชชาในหัวใจเลย สิ่งนี้ธรรมธาตุที่ครองร่างครองธาตุขันธ์อยู่อีก ๔๕ ปี แล้วเวลาปรินิพพานไปแล้ว สอุปาทิเสสนิพพาน คือยังมีชีวิตอยู่ อนุปาทิเสสนิพพาน คือเวลาล่วงไปแล้ว

ถ้ายังเกิดอยู่ เราเกิดอยู่ เรายังมีอวิชชา แต่เวลาเราชำระอวิชชา ชำระกิเลส นี่ธรรมะแปรรูปจนกิเลสสะอาดบริสุทธิ์ในหัวใจ สะอาดบริสุทธิ์โดยไม่มีสิ่งใดมีกิเลสค้างอยู่ในหัวใจเลย แล้วถึงจะไม่เกิดอีกไง แต่ถ้าเรามีกิเลสอยู่นี่เราเกิด ฉะนั้น เราเกิดมานี่

พระอรหันต์เป็นอย่างนี้ “พระอรหันต์” สิ่งที่จะเป็นพระอรหันต์ได้คือสิ่งที่เป็นสิ่งที่มีชีวิต รู้ผิด รู้ถูก รู้ชั่ว รู้ดี แล้วเราแก้ไขของเราจนสะอาดบริสุทธิ์ พอสะอาดบริสุทธิ์ไปแล้วจบ พอจบแล้วชีวิตยังอยู่นะ เพราะอายุขัยยังไม่สิ้น ถ้าอายุขัยสิ้นไปแล้วก็จบไป

ฉะนั้น มันถึงว่า สิ่งที่ว่ามันจะลอยมาโดยไม่มีเหตุมีผล เป็นไปไม่ได้ มันต้องมาจากการเกิด มาจากการมี นี่เกิดมาก็เป็นสิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตมันก็เป็นกิเลส เพราะมันมีของมันอยู่ใช่ไหม เราถึงทำลายสิ่งที่มีอยู่ ทำความสะอาดสิ่งที่เป็นกิเลส สิ่งที่มีอยู่ในหัวใจให้มันหมดสิ้นไป

ทีนี้ พอหมดสิ้นไปแล้วมันจะมีการเกิดอีกไหม? ยังไม่มีการเกิด แต่ยังมีชีวิตอยู่นะ แต่ยังไม่ตายเลย นี่สะอาดบริสุทธิ์แล้ว แล้วถ้าตายไปแล้วจบแล้ว ไม่มีการเกิดอีกแล้ว เพราะมันไม่มีกิเลส ไม่มีกิเลสเพราะธรรมะมันแปรรูปหมดแล้ว ธรรมะมันกลั่นกรองจนสิ้นกิเลสไปหมดแล้ว มันยังมีสิ่งใดขับเคลื่อนให้ภวาสวะ ให้สิ่งนี้มีอยู่แล้วไปเกิดอีกมันไม่มี มันไม่มี เห็นไหม ถ้าธรรมะแปรรูปมันจะเป็นประโยชน์อย่างนี้

ทีนี้ คำว่า “เป็นประโยชน์อย่างนี้” มันถึงต้องตั้งอกตั้งใจ ความเพียรชอบ ความวิริยะ ความอุตสาหะ ฉะนั้น ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ มันมองว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยคเชียวเหรอ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ แล้วความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะของใคร? นี่โดยอำนาจวาสาบารมีของคนมันแตกต่างกัน

“ขิปปาภิญญา” สิ่งที่ว่าขิปปาภิญญา ที่ฟังทีเดียว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์หนเดียวสำเร็จเป็นพระอรหันต์น่ะ แต่เขาได้ทำของเขามา แล้วของเรา ถ้าเราเป็นขิปปาภิญญา เราก็ควรจะมีสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ เป็นเครื่องแสดงออกถึงความมีขิปปาภิญญาของเราบ้าง

แต่นี่ฟังธรรมก็ฟังไม่ออก มองคนก็มองไม่เป็น แล้วบอกว่าเรานี่ขิปปาภิญญา จะตรัสรู้ง่ายไง นี่ไง กิเลสมันแปรรูปไง พอมันแปรรูปขึ้นมา ขิปปาภิญญาของกิเลสไง ก็หลักลอยกันอยู่อย่างนั้นไง ว่างๆ ว่างๆ เป็นกันอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วสะดวกสบายของเขา มันเป็นกลุ่มชนนะ กลุ่มชนอย่างนั้น ถ้าเขามีวุฒิภาวะอย่างนั้น เขาก็เชื่อกันอย่างนั้น นี้คำเชื่ออย่างนั้นมันก็เป็นกรรมของสัตว์

สัตว์โลก “กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน” ฉะนั้น กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน มันกรรมของสัตว์ ความรู้ความเห็น ดูโลกทัศน์ ดูความรู้สึกจากภายใน เราที่เรามีปัญหากัน เพราะเราเถียงกันเรื่องความดี ทุกคนก็ว่าของตัวเองถูก ตัวเองดีทั้งนั้นน่ะ แล้วมันก็มีการโต้แย้งกันด้วยว่าความดีของใคร ความดีกับความดีทำให้กลุ่มชนนั้นเกิดมีการปะทะกันด้วยความคิด

ฉะนั้น ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราต้องใช้สติปัญญาของเรากรองในหัวใจของเราเพื่อประโยชน์กับเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ เพื่อประโยชน์กับชีวิตนี้ ไม่ให้ชีวิตนี้เป็นเหยื่อ เราเกิดมาเป็นมนุษย์นะ แล้วพบพระพุทธศาสนา แล้วเราพบพระพุทธศาสนา จะเป็นอย่างนั้นหรือ เห็นไหม กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ให้เชื่อแม้อาจารย์ของเรา แล้วเราก็ถามในหัวใจของเราว่า ในหัวใจของเรามันมีสิ่งความลังเลสงสัยไหม มันมีสิ่งใดตกค้างในใจ นี่ของมีอยู่ ถ้าธรรมะมันจะแปรรูป เพราะของมันมีอยู่ แล้วธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีอยู่ แล้วเราก็เกิดมาเป็นมนุษย์ เราก็เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วพบพระพุทธศาสนา แล้วพบพระพุทธศาสนา มันหลักลอย มันไม่มีสิ่งใดเป็นแก่นสารเลยเหรอ

ถ้ามีแก่นสารขึ้นมา ดูสิ สติมันก็ตามให้เราความรู้สึกนึกคิดมีกรอบ แล้วมันมีกรอบขึ้นมา กรอบของสติที่มันยับยั้งไม่ให้ความคิดพุ่งออกไป แล้วถ้าเกิดมีสมาธิขึ้นมาล่ะ สมาธิทำให้จิตใจนั้นไม่เผาลนตัวเอง สมาธิมันขลุกขลิกๆ อยู่ในใจของตัว เพราะเรามีศีล มีศีล แต่จิตมันยังไม่สงบ มันก็อึดอัดขัดข้องในใจ เราก็มีคำบริกรรมฟอก คำบริกรรมพุทโธๆๆ รีไซเคิลมัน จัดระเบียบของมันให้มันมีความสงบร่มเย็น ไม่ส่งออก พลังงานไม่พุ่งออกไป

ถ้ามันสงบระงับของมัน ถ้ามันเป็นความสงบ เริ่มต้นมีความสงบเริ่มต้นจากที่จิตสงบได้ ถ้าจิตสงบได้ สงบเล็กน้อย สงบแล้วมันมั่นคง บางคนสงบแล้วรักษาได้ มันก็จะทำให้เจริญงอกงามขึ้นไป แต่บางคนสงบแล้วไม่เชื่อ “เอ๊ะ! มันเป็นอย่างไร ทำไมมันเป็นอย่างนี้ ทำไมมันไม่เห็นแสง ทำไมมันไม่เห็นนิมิต ทำไม...” เห็นนิมิตนั่นจิตส่งออก

นี้ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้าเราไปเห็นกาย ถ้าจิตสงบแล้วเราจะทำงาน ถ้าจิตสงบแล้ว ธรรมะมันจะแปรรูปกิเลส ถ้าแปรรูปกิเลส กิเลสมันคืออะไร? กิเลสคือความหลงผิด กิเลสคือความหลงผิด ทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด ถ้ากิเลสคือความเห็นผิด ความเห็นผิดมันจะเห็นถูกต้องได้อย่างไร ถ้าความเห็นถูกต้อง ถ้าจิตสงบแล้วมันจะเห็นอะไรถูกต้องล่ะ

ถ้าจิตสงบแล้ว สติปัฏฐาน ๔ “สติปัฏฐาน” ฐานการประพฤติปฏิบัติ นี่มันจะแปรรูป แปรรูปกิเลสมาให้สู่สัจธรรม “กาย เวทนา จิต ธรรม” เวลาเป็นกายขึ้นมา พิจารณากาย กายเป็นสภาวะกายเป็นอย่างไร ทำไมจะต้องมาดูเรื่องกายนี้

เวลาเกิดสมบัติขึ้นมา เราหวงแหนมาก เราหวงแหนสมบัตินั้นเพราะอะไร เพราะมีเรา ถ้าไม่มีเรา เราจะหวงแหนสมบัติไหม ดูสิ สมบัติอยู่ในร้านทอง ร้านทอง ร้านขายเพชร เขาเต็มร้านเลย ทำไมเราไม่รู้สึกหวงเลยล่ะ แต่ถ้ามันเป็นของเรานะ โอ้โฮ! เราหวงมากเลย รักษาดูแล เวลามันหายไป ทุกข์มากเลย เพราะอะไรล่ะ เพราะมันยึด แต่ถ้าไม่ใช่ของเรา ทำไมเราไม่ยึดล่ะ นี่เราเห็นผิดกับเรื่องร่างกายอย่างนี้ ถ้าเราเห็นผิด มันความเห็นของเรานะ

เวลาถ้ากิเลสมันแปรรูปนะ รู้ ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเราน่ะอย่าเสียใจ ถ้าไม่ใช่ของเรา ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมาต้ององอาจกล้าหาญสู่สัจจะความจริง เวลาพูดน่ะพูดแต่ปาก มันแปรรูปมา กิเลสมันแปรรูปมาเป็นธรรมหมดเลย แล้วก็พูดไปๆ พูดแล้วมันจริงหรือเปล่าล่ะ มันมีความจริง อะไรเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง ความจริงมันเป็นความจริงอย่างใด ทำไมมันถึงเป็นความจริง มันต้องมีเหตุผลสิ

“อ้าว! ก็ความจริงมันพิจารณากายแล้วมันปล่อยกายไง”

ถ้ามันปล่อยกาย เครื่องหุ่นยนต์เวลามันจับ ดูสิ มันจับก็ปล่อย ดูโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สิ เวลาเขาจับสารปรมาณู เขาใช้เครื่องยนต์เข้าไปจับ มันจับแล้วมันเลื่อนไปวางได้ตามตำแหน่งที่เราสั่งได้หมดเลย มันจับแล้วมันก็ปล่อยเหมือนกัน แล้วมันเป็นอะไรล่ะ? มันก็เป็นเครื่องยนต์ไง นี่ไง “พิจารณากายมันก็ปล่อย” เพราะอะไรน่ะ เพราะกิเลสมันแปรรูป มันแปรรูปธรรมะมา แต่มันไม่มีข้อเท็จจริง ถ้ามันมีข้อเท็จจริงขึ้นมานะ ถ้าข้อเท็จจริง จริงอย่างไร สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นอย่างไร ถ้าธรรมะมันจะแปรรูป

ถ้าธรรมะแปรรูปเพราะอะไร เพราะธรรมะของใจดวงนั้น ถ้าธรรมของใจดวงนั้น ธรรมะจะแปรรูปกิเลสในใจดวงนั้น ถ้ากิเลสในใจดวงนั้น กิเลสมันคืออะไร กิเลสมันแสดงตัวอย่างไร อะไรเรียกว่ากิเลส ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก กิเลสๆ ที่ทำให้อวิชชา ทำให้ความไม่รู้ ทำให้เราโง่กับตัวเอง ฉลาดกับคนอื่น

เวลากิเลสนะ มันเบียดเบียนตนก่อน พอเบียดเบียนตนเสร็จแล้วมันก็เบียดเบียนคนอื่นทั่วไปหมด นี่มันแปรรูปแล้ว กิเลสมันแปรรูปเสร็จแล้ว “อย่างนี้เป็นธรรม ปล่อยวางแล้ว คุณก็ปล่อยวาง ผมก็ปล่อยวาง ทุกคนก็ปล่อยวาง พอปล่อยวางแล้วมันก็เป็นธรรมหมด นี่ทุกคนปล่อยวางหมดเลย ปล่อยวาง ปล่อยวาง”...ปล่อยวางโดยคารมคมคาย แล้วมันมีอะไรจริง นี่มันแปรมา เพราะอารมณ์คมคาย

เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา แล้ววางธรรมวินัยนี้ไว้ แล้วกิเลสมันก็มาแปรรูปธรรมมาเป็นกิเลสไง แต่ถ้าไม่มีองค์กร ไม่มีสาธารณูปโภค จะอะไรไปแปรรูปอะไร คนที่จะแปรรูปเขาต้องมีธุรกิจของเขา เขาต้องมีทุนของเขา เขาถึงจะแปรรูปสิ่งนั้นมาเพื่อประโยชน์ของเขา

ไอ้นี่กิเลสของเรา กิเลสมันจะแปรรูป เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามี แล้วสังคมเขาเชื่อถือศรัทธา สังคมชาวพุทธเขาศรัทธาในสัจธรรม ศรัทธาในพุทธศาสนา เขาก็หวังมรรคหวังผล ไอ้กิเลสที่มันแปรรูปธรรมะไปสู่ใจของผู้ที่ไม่มีคุณธรรม แล้วก็อ้างอิงๆ แปรรูปแล้วหลอกลวงตัวเอง ยังหลอกลวงคนอื่น ทำให้สาธารณูปโภค ทำให้สังคมที่เขาจะได้ใช้สาธารณูปโภคนั้นจะไม่ได้ประโยชน์สิ่งใดเลย

การปฏิบัติ ถ้าไม่ได้สิ่งใดก็ตายเปล่าไง ถ้ากิเลสมันแปรรูป มันเสียหายอย่างนี้

แต่ถ้าธรรมะที่มันธรรมะแปรรูปล่ะ แปรรูปกิเลสจะแปรอย่างไร นี่ไง มันเห็นกาย เห็นกายอย่างใด ที่ว่าจับต้องกายแล้วมันปล่อยกายแล้ว มันอะไรปล่อย? มันไม่ได้ปล่อยด้วยคีมนะ โอ้โฮ! คีมไปจับแล้วก็ปล่อยใช่ไหม...มันไม่ใช่น่ะ

เห็นกาย เห็นกายอย่างไร เวลาจิตที่มันเห็นกาย เห็นกายอย่างไร ถ้ามันเห็นกายขึ้นมา นี่ไง พอจิตเราไม่เคยสงบเลย เราไม่เห็นนิมิตเลย ถ้าเห็น เห็นนู่นเห็นนี่ เห็นนรกสวรรค์ ไอ้นั่นก็ส่งออกไปหมดเลย แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ จิตมันสงบมีหลักมีเกณฑ์ นี่มันเป็นธรรม

“สมาธิธรรม” ถ้าไม่มีสมาธิ มันจะมรรค ๘ สัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิทำให้จิตเข้มแข็ง จิตมีกำลัง จิตมันปล่อยวางสัญญาอารมณ์จากโลกทั้งหมด จิตมันปล่อยสัญญาอารมณ์ที่สัญชาตญาณที่เรารู้สึกนึกคิดนี่ มันปล่อยมันเข้ามา สิ่งที่มันไม่ปล่อยเข้ามา เพราะมันมีสัญชาตญาณ สัญชาตญาณของมัน ดูสิ ผงเข้าตามันก็รีบหลับตา พอจิต พออะไรสะกิดมัน มันปฏิเสธหมด นี่โดยสัญชาตญาณของมัน แต่มันโดยสัญชาตญาณนะ แต่ไม่เป็นเนื้อเป็นหนังขึ้นมา ไม่เป็นความจริงสิ่งใดๆ ขึ้นมาเลย

ฉะนั้น เราทำความสงบของใจเข้ามา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ทำความสงบของใจของเรามาก่อน “อ้าว! แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ ทำไมไม่บอกให้ทำสมาธิเลยล่ะ ทำไมเทศน์ธัมมจักฯ ไปเลยล่ะ ทำไมมรรค ๘ ไปเลยล่ะ”

อ้าว! ก็ปัญจวัคคีย์ท่านทำความสงบของใจมากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ๖ ปีแล้ว

คนที่หลักใจมั่นคง ดูสิ เรามีการศึกษามา เราจบมาใช่ไหม เราก็มีใบรับรองว่าเราจบการศึกษามา เราจะไปสมัครางานได้ไหม? ได้ เพราะเรามีการศึกษามา เราไม่มีการศึกษามา เราไม่มีใบรับรองสิ่งใดมา เราไปสมัครงานได้ไหม เราไม่มีวุฒิ เขาจะรับเราทำงานไหม? เขาก็ไม่รับ แต่ถ้ามีวุฒิล่ะ? เขาก็รับ

ปัญจวัคคีย์เขาทำความสงบของใจมา เขามีวุฒิภาวะ เขามีทุกอย่างพร้อม แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องให้เขาไปเรียนใหม่ไหม ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ต้องให้เรียนใหม่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เทศนธัมมจักฯ เลยไง พอเทศน์ธัมมจักฯ ไป พอจิตสงบ จิตเขาสงบอยู่แล้ว

พอเทศน์ธัมมจักฯ ไป ใช้ปัญญาตาม ใช้ปัญญาตามเพราะว่าก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรมขึ้นมายังไม่มีธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติขึ้นมา ไปศึกษาไปทดสอบกับใครมาก็ไม่มี แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว เอาธรรมความจริงนี้มาแสดงธัมมจักฯ ให้ปัญจวัคคีย์ฟัง

พอปัญจวัคคีย์ นี่จิตมันสงบอยู่แล้ว จิตมีหลักมีเกณฑ์อยู่แล้ว ธรรมะมันจะแปรรูปกิเลส พอฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาก้าวเดินตาม พอเดินตามนะ

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับไปเป็นธรรมดา”

พิจารณากาย ปล่อยกาย ปล่อยกาย...ปล่อยอย่างไร อะไรปล่อย?

แต่ถ้าเพราะมันมีสมาธิ มีฝึกฝนมาแล้วไง มีวุฒิภาวะ มีทุกอย่างพร้อม ถ้าไม่พร้อม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเทศน์ทำไม ถ้าปัญจวัคคีย์ไม่พร้อม ถ้าปัญจวัคคีย์ไม่มีวุฒิภาวะ ไม่มีใบรับรอง ไม่มีการศึกษาที่จบแล้ว จบจากโลกนะ จบจากโลกที่ปล่อยวางสัญญาอารมณ์เข้ามานะ ถ้าปล่อยวางสัญญาอารมณ์เข้ามา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ แล้วใช้ปัญญาตามขึ้นมา พอรู้จริงเห็นจริง

นี่ไง สิ่งที่ พิจารณากาย ปล่อยกาย...ปล่อยอย่างไร ปล่อยอย่างไร?

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าไม่มีมรรคญาณที่เข้ามาวงรอบ เข้ามาทำลายอวิชชาของเรา เราจะไม่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์”

แล้วนี่ปัญจวัคคีย์ พระอัญญาโกณฑัญญะมันมีวงรอบของมรรคญาณที่เข้ามาทำลายการปล่อยวาง ที่ว่าปล่อยวางร่างกาย แล้วพระมหานามล่ะ พระอัสสชิล่ะ ทำไมไม่ได้อย่างพระอัญญาโกณฑัญญะล่ะ ทำไมเทศน์ธัมมจักฯ ปัญจวัคคีย์ สมณะ ๕ รูป ทำไมพระอัญญาโกณฑัญญะรู้ มีดวงตาเห็นธรรมองค์เดียวล่ะ แล้วอีก ๔ องค์ทำไมไม่เห็นล่ะ เห็นไหม นี่ความแตกต่าง แล้วแต่อำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน พระพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ ได้มาองค์เดียว อีก ๔ ยังไม่ได้ พิจารณาซ้ำๆ จนอีก ๔ องค์เป็นพระโสดาบันหมด เทศน์อนัตตลักขณสูตร เป็นพระอรหันต์หมดเลย นี่ถ้าธรรมะมันจะแปรรูปเพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้สอนเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ทดสอบเอง

แต่ไอ้ในปัจจุบันของเรานี่ เราทดสอบกันเอง เราเอาทิฏฐิมานะของพวกเราไง ทิฏฐิมานะของกิเลสมันจะแปรรูปมาไง แปรรูปธรรมมาเป็นกิเลสน่ะมันง่าย เพราะกิเลสมันพูด กิเลสพูดกับกิเลสฟัง ว่า “เอ้อ! ใช่ เอ้อ! ใช่” พอกิเลสพูด กิเลสฟัง

แต่ถ้าธรรมะพูดนะ กิเลสงงน่ะ “ไม่เข้าใจ เอ...เอ...” แน่นอน เพราะมันเป็นเรื่องธรรม ธรรมมันเหนือโลก แต่กิเลสมันอยู่ใต้โลก กิเลสมันโดนโลกครอบงำ พญามารมันครอบงำอยู่แล้ว แล้วทุกดวงใจอยู่ใต้อุ้งเท้าพญามารหมดเลย นี่ในอวิชชาในหัวใจของเรามันอยู่ใต้อุ้งเท้าพญามารทั้งหมดน่ะ แล้วมันก็พูดภาษาเดียวกัน พูดภาษาอยู่ในบ่วงของมารไง ถ้าบ่วงของมาร มันจินตนาการ มันเป็นปรัชญา มันตรรกะ มันเข้าใจได้

“อืม! นี่ใช่” ถ้าเป็นกิเลสมันพูดนะ “ใช่” เพราะกิเลสพูดกับกิเลสไง

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าเป็นธรรมนะ หลวงตาท่านบอกว่า ท่านศึกษาปริยัติอยู่ ท่านฟังเทศน์เจ้าฟ้าเจ้าคุณมาหมดแล้ว เข้าใจหมดเลย ไปฟังเทศน์หลวงปู่มั่นใหม่ๆ ฟังไม่รู้เรื่อง ฟังไม่รู้เรื่อง หลวงตาท่านพูดบ่อย ฟังไม่รู้เรื่อง แต่พอฟังไม่รู้เรื่องก็พยายามปรับปรุงตัวเอง ทำความเข้าใจ ปรับปรุงตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง จนฟังเทศน์หลวงปู่มั่น โอ้โฮ! ซาบซึ้ง แล้วตั้งแต่นั้นมาฟังเทศน์คนอื่นไม่ได้เลย

เพราะว่าอะไร เพราะว่ากิเลสพูดกับกิเลส ถ้ากิเลสมันแปรรูป มันประสากิเลส กิเลสก็ชอบ

แต่หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระสิ่งใด ท่านเป็นพระจริงๆ ท่านพูดความจริง ท่านพูดธรรมเหนือโลก ธรรมเหนือโลกนะ พอเราฟังเข้าใจได้ “ฟังเข้าใจได้” แต่ของเรายังไม่เกิด “ของเรา” ธรรมะยังไม่แปรรูปกิเลสมา เราก็ต้องพยายามค้นคว้า พยายามขวนขวาย ค้นคว้า พยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้ขึ้นไปตามความเป็นจริง ให้ได้ความจริงขึ้นมา

พอได้ความจริงขึ้นมา เวลาหลวงตาท่านขึ้นไปรายงานหลวงปู่มั่น “พิจารณาอย่างนั้น” นี่ไง ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา พิจารณาเวทนามันปล่อยหมด ว่างหมด ทุกอย่างหมดเลย

ไม่ใช่เหมือนกิเลสแปรรูปนะ “ก็พิจารณากาย ก็ปล่อยกายไง เราก็ปล่อยกันหมดแล้ว” นี่กิเลสมันแปรรูปมา เพราะอะไร เพราะมันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นกิเลสคุยกับกิเลส เพราะในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ว่าอย่างนั้น แล้วครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการไว้เป็นหลักฐานไว้เยอะแยะไปหมด เราไปฟังมาเราก็ว่าเป็นธรรมๆ ไง แล้วพูดเหมือนกัน พูดถูกต้อง พูดคำเดียวกันเลย แต่ไม่ใช่ ไม่ใช่

แต่เวลาหลวงตาท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น พิจารณาเวทนามันปล่อยหมดเลย ว่างหมดเลย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะ

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับไปเป็นธรรมดา”

“โอ้! อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

เวลาหลวงตาท่านขึ้นไปพูดกับหลวงปู่มั่นนะ ท่านบอกพิจารณาเวทนา นั่งตลอดรุ่ง ทุกข์ยากมาก เวลาพิจารณาจนมันปล่อย เห็นไหม มันก็รวมลง พอรวมลงไปนะ หลายๆ ชั่วโมงมันก็คลายออกมามันก็เกิดอีก เกิดแล้วพิจารณาซ้ำๆ เพราะมันตทังคปหานเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา จนมันสมุจเฉทปหานขาด “มันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราวะ เวทนาที่ว่ามันขาดไป เวทนามันจะมากกว่านี้มันจะมาจากไหนอีก มันจะมีเวทนาหน้าไหนมากจากเวทนานี้อีก เวทนาขนาดไหนเราก็สู้มาหมดแล้วตั้งแต่ลูกมัน หลานมัน พ่อมัน แม่มัน ฆ่าหมดแล้ว”

ไปอธิบายให้หลวงปู่มั่นฟัง หลวงปู่มั่น เห็นไหม ท่านเป็นพระอะไร เวลาท่านฟังขึ้นมา นี่ธรรมะจะแปรรูปน่ะ

“อืม! ถูกต้อง จิตนี้ไม่เกิด ๕ อัตภาพเว้ย” คือมันเข้าหลักเข้าเกณฑ์ มันจะไปของมันได้แล้ว

“จิตนี้ไม่เกิด ๕ อัตภาพนะ” มันเป็นความภูมิใจ

ถ้าธรรมะมันได้แปรรูปกิเลสมานะ มันเป็นความภูมิใจ ความภูมิใจว่าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้วมันได้มรรคได้ผลตามความเป็นจริง มันไม่ใช่ให้กิเลสมาครอบมางำ ไม่ใช่ให้กิเลสคุยกับกิเลส เวลากิเลสมันคุยกับกิเลสมันก็พูดภาษากิเลสไง ยกยอปอปั้น พยายามให้สังคมเห็นเหมือน แล้วมันจะเป็นความจริงขึ้นมาไหม

แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา ดูสิ เวลาความจริงขึ้นมา ความจริงก็คือความจริง ความจริงมันมีหนึ่งเดียว ความจริงไม่ต้องว่าความจริงจะมีร้อยมีแปด เราพูดแล้วจะไม่เหมือนกัน จริตไม่เหมือนกัน...จริตไม่เหมือนกันก็พูดออกมาสิ ทำอย่างไร จริตไม่เหมือนก็คือไม่เหมือนกัน ดูสิ มรรคผล ผู้หญิง-ผู้ชาย เวลาสมาธิ มีหญิงมีชายไหม เราก็เป็นผู้หญิงผู้ชายนี่แหละ แต่เวลาเราปฏิบัติไปแล้ว สมาธิก็คือสมาธิ

“เอตทัคคะ” นางอุบลวรรณาก็เป็นเอตทัคคะนะ เป็นภิกษุณีนะ เอตทัคคะภิกษุณีตั้งหลายองค์ เวลาภิกษุณีกับภิกษุก็เป็นเอตทัคคะด้วยกัน มันมีหญิงมีชายตรงไหน นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติขึ้นมาแล้ว มันพูดออกมามันจะมีแตกต่างกันตรงไหน ถ้ามันเป็นความจริง ความจริงมันจะไม่มีแตกต่างกัน

แต่ถ้าเป็นกิเลสแปรรูปมันแตกต่าง แตกต่างที่ว่าของเรามันสะดวกกว่าไง ของเราปฏิบัติง่ายๆ ของเราทำแล้วไม่เป็นอัตตกิลมถานุโยค คนที่ทำจริงทำจังนั่นเป็นอัตตกิลมถานุโยค...แต่เขาไม่รู้จักความเพียรชอบนะ เพราะความเพียรชอบ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ “โดยชอบ” ไม่ใช่โดยไม่ชอบ ถ้าโดยไม่ชอบ เดี๋ยวกิเลสมันเกิดอีก ถ้าโดยไม่ชอบ ไม่ชอบธรรม เดี๋ยวกิเลสมันฟื้น แต่ถ้าโดยชอบธรรม กิเลสตายสนิท แล้วจะไม่มีอีก ไม่มีหนที่ ๒

เวลาพิจารณา เห็นไหม “ตทังคปหาน” คือจิตใจของคนไม่เหมือนกัน ถ้ากิเลสหนา หรืออย่างเรา เรากิเลสหนา เราได้สะสมสิ่งใดไว้ในหัวใจที่หมักหมม เราล้างแล้วล้างอีก ล้างแล้วล้างอีก ล้างแล้วล้างอีก มันไม่สะอาดเสียที แต่ถ้าคนเขาดูแลรักษาใจของเขามา เขาได้สร้างบุญกุศลของเขามา จิตใจของเขามันบางมา การพิจารณามันก็พิจารณาไม่ต้องรุนแรงหรือไม่ต้องเข้มข้น ไม่ต้องบ่อยครั้งเท่ากับที่กิเลสหนา ฉะนั้น คนกิเลสบางกับกิเลสหนามันแตกต่างกัน ฉะนั้น เวลาพิจารณาเป็นตทังคปหาน ตทังคปหานก็คือการชำระล้างสะอาดรอบหนึ่งๆ แต่มันไม่ใช่สมุจเฉท

ฉะนั้น ตทังคปหาน บางคนมีมาก บางคนมีน้อย บางคนขิปปาภิญญา มีหนเดียว ไม่มีตทังคปหานเลย จะเป็นสมุจเฉทปหาน ฉะนั้น คำว่า “สมุจเฉทปหาน” มีหนึ่งเดียว ถ้ามันขาด มีอยู่หนเดียว แต่ถ้ามันมีการฝึกซ้อม เป็นการทำความสะอาด ทำเพื่อให้มันแจ่มแจ้งขึ้นมา เพราะเราสะอาดอยู่ มันสะอาดอยู่ แต่มันไม่ขาด มันไม่สะอาดจบ มันสะอาดแล้วมันก็ยังมีเหตุมีผล มีเหลื่อม มีความหมักหมม สะอาด แต่สิ่งความสะอาด แต่กลิ่นมันก็ยังไม่สะอาด เห็นไหม มันสะอาดแล้วแต่มันก็ยังไม่ถูกใจ นี่มันสะอาดแต่มันไม่มรรคสามัคคี มันไม่สามัคคี

มรรคสามัคคีรวมลงสมุจเฉทปหาน ขาดผลั๊วะ! หนึ่งเดียว ไม่มีครั้งที่ ๒

ฉะนั้น “ฆ่ากิเลสโดยชอบ” หนึ่งเดียว หนเดียว แต่ว่าหนเดียวนี่มันจะต้องมีการฝึกฝน มีการกระทำ มีความมั่นคง มีการกระทำขึ้นมา ถ้าธรรมะแปรรูปกิเลส มันจะมีการจบสิ้น จบสิ้นกระบวนการของมัน

งานทางโลกที่เราเกิดกันมานะ เราเกิดตายๆ ไม่จบนะ ไม่จบ แต่ถ้ามันจบสิ้นนะ เวลาขาด เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่โคนต้นโพธิ์ อีก ๔๕ ปีมานี่ไม่มีสิ่งใดในหัวใจเลย มีแต่คุณธรรม ธรรมะล้วนๆ แสดงธรรม รื้อสัตว์ขนสัตว์ วางศาสนาไว้นี้มั่นคง แล้วเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วยังมีจิตใจฝักใฝ่ ไม่เหมือนกับคนทั่วไปเกิดมาเป็นมนุษย์ อยู่กับศาสนาเหมือนใกล้เกลือกินด่าง อยู่กับศาสนาแต่ไม่รู้จักคุณค่า ไม่รู้จักสิ่งใดๆ เลย เขาจะไม่ได้ประโยชน์ไง

เราเกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา แล้วมีจิตใจ เพราะว่าถ้าใครเกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา แล้วมีการประพฤติปฏิบัติ เหมือนกับคนที่มีสิทธิได้ค้นคว้าหาอริยทรัพย์ แต่คนที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แต่เขาไม่สนใจ เขาไม่ค้นคว้าหาสมบัติที่เป็นอริยทรัพย์ น่าเสียดายโอกาสของเขามาก

ฉะนั้น เราดูตัวเรา ถ้าเราทำประโยชน์กับเรา เราทำของเรา แล้วตั้งใจ อย่าให้กิเลสมันแปรรูป กิเลสเรามีอยู่แล้ว อย่าเชื่อ กาลามสูตร อย่าเชื่อ แล้วเราทำของเรา ถ้าเป็นจริงขึ้นมามันจะเป็นธรรมะแปรรูป เอวัง