โลกรู้ได้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
มันข้อ ๗๕๓. ข้อ ๗๕๓. นี่จริงๆ จะไม่อ่าน แต่มันก็มีประเด็นไง
ถาม : กราบขอบพระคุณหลวงพ่ออย่างยิ่ง โยมได้รับฟังคำตอบจากคำถามที่ส่งมาทั้ง ๒ เรื่องแล้ว กราบขอบพระคุณในความเมตตา โยมพยายามสม่ำเสมอเจ้าค่ะ ติดขัดบ้าง แต่จะลองทำซ้ำๆ ให้แน่ใจว่าเป็นปัญหาจริงๆ ก่อนที่จะเขียนมาถามหลวงพ่อ
ต้นไม้ของโยม แม้ดอก ผลจะยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็มีรากแก้วที่หยั่งลงในผืนดินแล้ว จะพยายามต่อไปเจ้าค่ะ กว่าหลวงพ่อจะได้อ่านข้อความนี้ก็คงเป็นปีใหม่แล้ว กราบขอบพระคุณหลวงพ่ออย่างสูงที่มีพระคุณ
หลวงพ่อ : นี่แล้วเขาก็อารัมภบทมา สวัสดีปีใหม่เหมือนกัน
คำว่าสิ่งที่เขาเคยถามมา แล้วเราตอบไปว่าต้นไม้ที่บอกส้มหล่น เขาบอกเขาส้มหล่นคือเขาปฏิบัติได้ แล้วคำว่าส้มหล่นๆ แล้วเราก็พยายามย้ำ เขาบอกว่าส้มหล่นจนมันจะหมดต้นแล้ว คือว่าสิ่งที่เขาเคยทำได้มันทำได้ยากขึ้นๆ จนส้มของเขาจะหมดต้นแล้ว เขาถามย้ำมา เราก็บอกว่าสิ่งที่ส้มมันจะหมดต้นแล้วมันก็ยังมีต้นส้มนั้นอยู่ ถ้ามีต้นส้ม เห็นไหม เราก็พยายามรดน้ำ พรวนดิน
คือจะบอกว่าในเมื่อเรายังมีจิตใจเราอยู่ เรายังมีความรู้สึกเราอยู่ สิ่งที่ปฏิบัติไปที่มันได้ก็ได้แล้ว ถ้ามันไม่ได้ เราน้อยเนื้อต่ำใจไปมันก็เท่านั้นแหละ แต่ในเมื่อยังมีความรู้สึกเราอยู่ เราดูแลของเราอยู่ เดี๋ยวต้นส้มมันก็ต้องออกส้ม ถ้าเรารู้จักดูแลรักษานะ แต่ถ้าเราน้อยใจ เราไม่ดูแลรักษานะ ปล่อยไว้นะ ส้มนั้นก็จะตายไปด้วย
ผลของส้มหล่นจนจะหมดต้นอยู่แล้ว แต่ผลของส้มมันจะหล่นจนหมดต้นอยู่แล้ว เราก็พยายามดูแลรักษาไม่ให้ส้มนั้นตายนะ ถ้าส้มไม่ตายนะเดี๋ยวมันก็ออกผลส้มอีกใช่ไหม? แต่ถ้าส้มมันหล่นจะหมดต้นอยู่แล้ว แล้วเราก็น้อยใจๆ เราจะไม่ดูแลรักษาต้นส้มเรานะ เดี๋ยวส้มมันก็จะตายด้วย ส้มคือศรัทธาความเชื่อ คือความมั่นคงของเรา ฉะนั้น เราทำของเรา เรามั่นคงของเรา
ฉะนั้น สิ่งที่เขาทำนี่เราจะบอกว่าเขาก็มีวุฒิภาวะพอสมควร พอสมควรหมายถึงว่า
ถาม : ๑.ทั้งสองเรื่องได้ฟังแล้ว แล้วจะลองทำซ้ำๆ ให้แน่ใจก่อน
หลวงพ่อ : นี่ลองทำซ้ำๆ แต่พวกเราไม่ได้ทำซ้ำๆ สงสัยก็ถามเลย สงสัยก็ถามเลย สงสัยแล้วทำให้ซ้ำๆ ตรวจสอบเราก่อน พอตรวจสอบเราก่อนเราจะมั่นคงของเรา ไอ้ทำซ้ำๆ นี่แหละสำคัญมาก สิ่งที่เราเคยทำ นี่แม่ครัว พ่อครัวต่างๆ ที่เขาจะมีความชำนาญ เพราะเขาทำอาหารทุกวัน วันหนึ่ง ๓ มื้อ ๔ มื้อเขาทำทุกวัน ทำจนชำนาญของเขา เขาคิดสูตรใหม่ เขาคิดต่างๆ เขาต่อยอดของเขาขึ้นไป
นี่ทำซ้ำๆ ก็คือมันชำนาญมากไง ชำนาญ ความชำนาญอันนั้นจะทำให้กิเลสมันแทรกเข้ามาไม่ได้ ถ้ากิเลสมันแทรกเข้ามา เพราะกิเลสมันแทรกเข้ามา เห็นไหม สิ่งที่ทำไปแล้วมันได้บ้าง ไม่ได้บ้างมันก็จะมีปัญหาแล้ว คำว่าได้บ้าง ไม่ได้บ้างนะ ฉะนั้น เวลาคนไม่ได้ปฏิบัติก็คิดไง คิดว่าอย่างเช่นเราทำสิ่งใดเสร็จแล้วก็คือเสร็จ ไอ้นั่นมันเสร็จนี่มันเสร็จงานนะ งานมันคืองาน แต่ภาวนาไป เวลามันภาวนาไปมันปล่อยหรืออย่างไร เป็นสมาธินะเดี๋ยวมันก็คลายออก
นี่เวลาเราใช้ปัญญาพิจารณาไปแล้วมันปล่อยวาง ปล่อยวางขนาดไหนมันก็ยังมีอยู่ ของถ้ามันมีอยู่ เหมือนเชื้อโรค เชื้อโรคถ้ามันยังมีอยู่นะ เรารักษาขนาดไหน แต่มันยังไม่หายจากโรคนะ เดี๋ยวมันก็ปะทุขึ้นมา นี่มันต้องไล่เข้าไปๆ ซ้ำเข้าไปๆๆ เวลามันรักษาโรค เห็นไหม เหมือนกินยา กินยานี่เป็นไข้หวัดกินยา เขาให้กินยาให้ครบขนาดของเขา กินแล้วพอไข้มันสบายๆ ไม่กินแล้ว ไม่กินเดี๋ยวมันดื้อยาตายเลย
นี่ก็เหมือนกัน ทำซ้ำๆ ซ้ำไปๆ ค่อยๆ ซ้ำของเราไป ถ้าซ้ำแล้วนะ แน่ใจแล้วถึงจะถาม เขาว่าอย่างนั้นนะ ขอบคุณมากค่ะ ขอบคุณมาก กรณีอย่างนี้ กรณีเหมือนกับหลวงตา เหมือนหลวงตา เหมือนผู้ที่ปฏิบัติ พระทุกองค์ หรือใครที่ปฏิบัตินะ พอปฏิบัติใหม่ๆ เราจับพลัดจับผลู แล้วเราต้องการหาคนชักนำ ตรงนี้สำคัญมาก หลวงตาท่านออกปฏิบัติใหม่ๆ เห็นไหม นี่ท่านบอกว่าอ่านถึงนิพพาน ทุกอย่างเข้าใจหมด เพราะท่านเป็นมหา แต่มันก็สงสัย แล้วถ้ามีผู้ใดแก้ความสงสัยได้ คอยชี้นำได้ เราจะถวายชีวิตกับองค์นั้นเลย แล้วไปเจอหลวงปู่มั่น เห็นไหม
นี่มรรคผล นิพพานไม่ได้อยู่ในดิน ในฟ้า ในอากาศ ไม่ได้อยู่ในที่ใดๆ เลย มันอยู่ในหัวใจของเรา แล้วอยู่อย่างไรล่ะ? อยู่ในหัวใจนี่เราฟังมาจนชิน มรรคผลอยู่กลางหัวอก สุข ทุกข์อยู่ที่ใจๆ แล้วใจอยู่ไหนล่ะ? ใจอยู่ไหน? ใจก็อยู่ที่ผิวหนังนี่ไง นี่พอมันกระทบก็เจ็บ นี่ใจอยู่ที่ผิวหนัง เพราะใจมันไปทั้งตัวไง
ใจนี่มันรับรู้ทั้งตัวนะ ถ้าไม่ทั้งตัวเวลาส่งออกนี่คิดถึงบ้านสิ คิดถึงกรุงเทพฯ สิ ใจไปอยู่ที่กรุงเทพฯ ไง อ้าว ตอนนี้คิดถึงบ้านใครล่ะ? เอ็งคิดถึงเวียดนามก็จะอยู่เวียดนามนู่นน่ะ มันส่งไปยันนู่นเลย นี่มันส่งออกหมดไง นี่แล้วว่าผลอยู่ที่ใจ ก็อยู่ที่เวียดนามไง อ้าว ก็ใจอยู่ที่เวียดนาม มรรคผลอยู่ที่เวียดนามด้วยใช่ไหม? แล้วใจมึงอยู่ไหนล่ะ?
นี่เราพูดกันแต่ปากนะ มรรคผลอยู่ที่ใจ สุข ทุกข์อยู่ที่ใจ แล้วใจมึงอยู่ไหนล่ะ? ใจมันอยู่ที่แบงก์ไง ใจมันอยู่ที่คอนโดหลังใหม่ไง มันจะไปแต่งห้องใหม่นู่นน่ะ อ้าว มรรคผลอยู่ที่ใจ แล้วใจมันอยู่ไหน? ใจมันส่งออกมันว่าใจมันอยู่ไหน? นี่พูดถึงถ้าไม่ปฏิบัติมันก็ว่ากันไป
ฉะนั้น พอปฏิบัติ นี่เราจะบอกว่าเวลาบอกเขาขอบคุณมา เหมือนที่ว่าค้นคว้า ค้นหาครูบาอาจารย์ หลวงตาบอกนะ ทองยังหาได้ที่ข้อมือของคน ที่คอของคน ทองคำว่าหายากมันยังมีอยู่ทั่วไปตามข้อมือคน แต่อาจารย์นี่หาสักองค์หนึ่งไปหาที่ไหน? มึงจะหาที่ไหน? มันมีแต่จานกระเบื้อง ถือให้ดีนะ จานกระเบื้องนั้นถือให้ดีนะ หลุดมือแตกนะ
จานกระเบื้องนะ เราจะบอกว่าเป็นจาน เป็นครูบาอาจารย์ เป็นจานกระเบื้อง ประคองให้ดีนะ ถ้าหลุดมือแตก หลุดมือตกลงดินนี่แตกทันที จะบอกว่าอาจารย์จะชักนำเรา หรือเราต้องไปประคองอาจารย์? ต้องไปประคองใช่ไหม? อาจารย์นี่ประคองไว้ กลัวจานมันจะตกลงดินแตก แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะไม่ต้อง ไม่มีแตก มีแต่คอยชักนำเรา ดึงเราไป
นี่เขาขอบคุณมาไง เขาขอบคุณเพราะแบบว่ามันเป็นธาตุ มันเป็นธาตุที่ตรงกัน อันนี้ถึงบอกว่าถ้าเขาทำได้ก็ทำของเขา ขอบคุณคือขอบคุณ นี่เขาไม่มีคำถาม แต่ในเมื่อเขาขอบคุณมาแล้วมันเป็นประโยชน์เราก็จะเล่าให้ฟังหน่อยหนึ่ง
ฉะนั้น ต่อไปนะข้อ ๗๕๔. อันนี้มันจะเป็นประเด็น ข้อ ๗๕๔. มันเป็นประเด็นเพราะว่าสังคมเขาเข้าใจต่างๆ
ถาม : ๗๕๔. เรื่อง กรรมและการกระทำที่ไม่เจตนา
หลวงพ่อครับ ผมได้ยินว่า เจตนาเป็นตัวกรรม จริงไหมครับ? แล้วไม่เจตนาเป็นกรรมหนักไหมครับ เพราะบางทีสติปัญญาน้อยรู้ไม่เท่าทัน ขอหลวงพ่อเมตตาด้วยครับ
หลวงพ่อ : กรรม เห็นไหม เขาว่าเจตนา กรรมอยู่ที่ส่อเจตนาไง การกระทำ นี่เจตนามันส่อถึงการกระทำ เวลาคดีอาญาเขาถึงบอกว่าถ้าขาดเจตนา ถ้าขาดเจตนา เห็นไหม เขาก็ลงโทษอยู่ แต่เพราะขาดเจตนา ลงโทษอยู่ รอลงอาญา หรือว่าเว้นโทษ นี่พวกนั้นขาดเจตนา เพราะว่าเจตนามันถึงเป็นตัวสำคัญ นี่โลกรู้ได้อย่างนี้
คำว่าเจตนานะ ทีนี้คำว่าเจตนา เราก็มีเจตนากันใช่ไหม? ตอนนี้เรามีเจตนาเต็มที่เลย เจตนาจะเป็นพระอรหันต์ ทุกคนใครไม่มีเจตนาเป็นพระอรหันต์บ้าง? ทุกคนก็อยากเจตนาสิ้นกิเลสหมดแหละ แล้วก็เจตนานี่เป็นกรรม ถ้าเจตนาแล้วดี ก็ต้องเจตนาตั้งเป้าแล้วให้ได้เป็นพระอรหันต์หมดสิ แล้วเป็นไหมล่ะ?
เราบอกเจตนานี่เป็นเจตนานะ แต่มันมีอวิชชาอีกตัวหนึ่ง เจตนานี่ กรณีนี้เราซาบซึ้ง เพราะเราเป็นลูกศิษย์ เราฟังจากหลวงตามาเยอะ แล้วหลวงตาท่านพูดอะไรเป็นคติแล้วมันฝังใจเรา พอพูดอะไรนี่จะยกตัวอย่างของหลวงตาที่ท่านประสบการณ์ของท่าน แล้วท่านเอามาพูดเป็นคติของเรา ท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังคับฟ้า แล้วหลวงปู่มั่นท่านเป็นผู้ที่ประหยัดมัธยัสถ์มาก ฉะนั้น เวลาท่านนุ่งผ้าอาบนี่ผ้าอาบมันขาด แล้วก็ปะชุน ปะชุนใช่ไหม?
หลวงตาท่านเป็นคนพับผ้า เก็บผ้าของหลวงปู่มั่น พอท่านเป็นคนเก็บผ้า พับผ้าของหลวงปู่มั่น ท่านก็อยากให้หลวงปู่มั่น อาจารย์ของเรานี่ชื่อเสียงคับประเทศไทย ก็ควรจะใช้ผ้าที่มันสมศักดิ์ศรีหน่อย ด้วยเจตนาที่ดี ด้วยความรัก ด้วยความรักอาจารย์มากก็ไปแอบตัดผ้า ตัดผ้า ย้อมผ้าอย่างดีเลย แล้วก็เอาไปให้หลวงปู่มั่นท่านใช้ ให้พินทุอธิษฐานไง หลวงปู่มั่นท่านไม่ยอม ท่านบอกว่าถ้าจะให้เราเป็นลิง เป็นลิงหมายถึงว่ามันจับจด มันไม่มั่นคง มันจับจด
ถ้าจะให้เราเป็นลิงเราจะใช้ ถ้าให้เราเป็นอาจารย์เราไม่ยอมใช้
หลวงตาท่านก้มลงกราบนะ กราบเสร็จแล้วนะท่านก็ไปเอาผ้าเก่าที่ปะๆ นั่นล่ะมาคืนให้หลวงปู่มั่น แล้วท่านก็มาพูดนะ นี่เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างหลวงตากับหลวงปู่มั่น แล้วท่านก็เก็บไว้ในใจ แต่พอมาสร้างวัดที่วัดป่าบ้านตาด แล้วเวลาท่านเทศนาว่าการนี่ท่านสอนพวกเรา สอนพวกศิษย์ไง บอกว่าผมคือตัวท่าน
ผมมีเจตนาที่สะอาดบริสุทธิ์มาก
เจตนาของหลวงตานี่เคารพหลวงปู่มั่นขนาดไหน? เจตนาของหลวงตาสะอาดบริสุทธิ์เลย เห็นไหม ท่านจะสอนลูกศิษย์ สอนพวกเรา สอนพระที่อยู่กับท่านบอกว่าอย่าอ้างว่าใช้เจตนาดีนะ พวกเรานี่ทุกคนจะอ้างว่าเราเจตนาดี เจตนาดีแต่ประสงค์ร้าย ทางโลกนะ เจตนาดี คำว่าประสงค์ร้ายนี่เรื่องโลกแล้ว นี้เราพูดเลยเถิดไป
คำว่าเจตนาดี พวกเราเจตนาดีอยู่แล้ว แต่ความรู้สึกนึกคิดเราไม่ถึง ความรู้สึกนึกคิดของเราต่ำต้อย เราปีนบันไดแล้ว เราก็ยังเอาความรู้สึกเรานี่เทียบท่านไม่ได้ เพราะท่านเป็นคตินะ เป็นคติตัวอย่าง มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่นอนสีหไสยาสน์ ไม่เคยนอนหงายเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากิริยานี่ชีวิตที่เป็นแบบอย่าง หลวงปู่มั่นท่านเป็นชีวิตที่เป็นแบบอย่าง หลวงตาท่านชมมากว่าหลวงปู่มั่นท่านถือธุดงควัตร ผ้าบังสุกุลท่านไม่เคยใช้ผ้าคหบดีจีวรเลย คือผ้าที่ถวายท่านไม่เคยใช้เลย
หลวงตาท่านบอกว่าจำได้อยู่ทีหนึ่ง มีของเจ้าคุณจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ทอด้วยมือ ทอเอง ทอผ้าเองแล้วตัดเป็นผ้าอังสะ ๒ ผืนเท่านั้นที่หลวงปู่มั่นท่านใช้ให้ หมายถึงว่าเจ้าคุณนั้น เจ้าคณะจังหวัดท่านเป็นเจ้าคุณด้วย แล้วท่านทอผ้า ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ท่านทอกับมือ ทอเอง เย็บเอง ย้อมเองแล้วไปถวายหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นใช้อยู่ ที่หลวงตาท่านเห็นอยู่ ใช้อยู่ ๒ ผืนนี้ ๒ ผืนคือผ้าอังสะผืนเล็กๆ ๒ ผืน นอกนั้นไม่เคยใช้ผ้าใครเลย
นี่ชีวิตที่เป็นแบบอย่าง ฉะนั้น คำว่าชีวิตที่เป็นแบบอย่างท่านเก็บผ้าบังสุกุล คือเก็บจากผ้าห่อศพ ผ้าที่เขาทิ้งแล้วมาซัก มาปะ มาย้อม มาชุน ท่านใช้ผ้าอย่างนั้น บังสุกุลของหลวงปู่มั่นท่านใช้อย่างนั้น เพราะท่านใช้อย่างนั้น เวลาท่านสอนลูกศิษย์ ลูกศิษย์ถึงไม่กล้าหือไง เพราะท่านใช้อย่างนั้น ท่านทำอย่างนั้น ท่านเป็นคติอย่างนั้น คำพูดของท่าน กิริยาคำสั่งสอนของท่านถึงมีหลักมีเกณฑ์ มีหลักมีชัยที่จะไม่มีใครกล้าโต้แย้งท่าน
ฉะนั้น ท่านบอกว่าท่านมีเจตนาดีมาก แต่ก็ผิด ทีนี้คำว่ามีเจตนาดีมากแต่ก็ผิด นี้เราพูดถึงธรรมะนะ แต่ถ้าเป็นทางโลกเขาบอกว่า เจตนาเป็นตัวส่อกรรม ถ้าเป็นทางโลก โลกเขารู้ได้ โลกเขารู้ได้ ความรู้สึกนึกคิด จิตวิทยาเขาก็รู้ได้ เห็นไหม ทางจิตวิทยา ในทางรักษาทางจิตเขาเข้าใจได้ เรื่องประสาท เรื่องต่างๆ เขาเข้าใจได้เพราะว่าอะไร? เพราะมันเป็นพลังงานที่สามารถมีเครื่องจับวัดได้ แต่ธรรมะมันลึกซึ้งกว่านั้น ธรรมะมันลึกซึ้งกว่านั้น
นี่คำว่าไม่มีเจตนานะ คำว่าไม่มีเจตนา นางสามาวดีใช่ไหมที่โดนเผาตาย นั่นน่ะไปอาบน้ำนะ ไปอาบน้ำแล้วหนาวมาก พอหนาวขึ้นมาขึ้นจากน้ำก็จุดไฟผิง พอจุดไฟนี่มันเป็นกองฟาง นี่ไม่มีเจตนานะ เดี๋ยวนี้ใช้คำว่าเจตนา ไม่มีเจตนา ก็ไม่รู้ ขึ้นจากน้ำก็จุดไฟผิง พอจุดไฟผิงเอาความอบอุ่นไง พอเอาความอบอุ่น พอเผาไปเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั่งอยู่ เข้าสมาบัติอยู่นี่ตกใจ พอตกใจ พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอาจารย์ของพระราชาไงก็กลัวจะมีความผิด ก็เที่ยวให้คนรับใช้ไปเก็บฟืนๆ มาวางสุมๆ จะเผาทำลายหลักฐานไง อันนี้เจตนา ไปเก็บฟืนมาเผานะ
นี่ไงเข้าฌานสมาบัติ เวลาเข้านิโรธสมาบัติ ที่ว่าเรื่องนี้จะไม่ระคายผิวเลย เป็นไปไม่ได้ ถ้าเวลาเข้านิโรธสมาบัตินะ ฉะนั้น พอเอาฟืนมาเผา พยายามเผา เผาอย่างไรก็ไม่สะเทือน สุดท้ายพอเข้าใจก็หลุด นี่จบออกไป นี่พูดถึงกรรมอันนี้ไง เวลามันเป็นพระโสดาบัน เห็นไหม ที่โดนเผาทั้งเป็น แล้วเขาบอกว่าทำไมพระโสดาบัน แล้วเขาบอกว่าพระโสดาบัน พระอริยเจ้ามีบุญกุศลมาก มีคุณงามความดีมาก ทำไมพระโสดาบันโดนไฟเผาตาย เขาจุดไฟเผาตาย
นี่คำว่าเจตนาส่อกรรม หรือกรรมส่อเจตนา คำว่าเจตนา พอเจตนา เราตั้งว่าเจตนา เรื่องกรรมมันอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องเจตนามันอีกเรื่องหนึ่ง เจตนามันก็คือตัวตั้งใจ เห็นไหม มโนสัญเจตนาหาร คำว่าเจตนา ทีนี้คำว่าเจตนาถ้าไม่มีเจตนานะ นี่มีกรรมหรือไม่มีกรรม อย่างเช่นดูสิอย่างที่ว่าแก๊สพิษ แก๊สพิษนี่นะเวลาเราไม่เห็นด้วยสายตานะ เราไม่เห็นด้วยสายตา เราไม่มีเจตนาใช่ไหม? ถ้าเราเข้าไปสถานที่นั้นเราตายไหม? ไม่มีเจตนานะ ตาย
เหล็กนะ เหล็กนี่เวลาเราเผาเหล็กไฟแดงๆ ก็เอาคีมคีบนะ แล้วเขามาตี แต่เด็กมันไม่รู้มันจับทั้งมือเลย คำว่าเจตนามันต้องมีปัญญาด้วยไง ถ้ามีปัญญานะ เหล็กแดงๆ เขาไม่เอามือจับ เขาเอาคีมจับ พอจับมาเขาตีเป็นมีดใช้เป็นประโยชน์ได้ ถ้าไม่มีเจตนา ถ้าไม่มีปัญญา เวลาจับ เวลากรรมมันแรง มันแรงเหมือนกันนะเพราะเราไม่รู้ แต่ถ้ารู้แล้วมันก็ไม่ทำ
นี่พูดถึงเจตนานะ ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาส้มหล่น เวลาเราภาวนาไป คนภาวนาไปนี่ ภาวนานะตั้งใจอย่างไรก็ไม่ได้ เวลาเราปล่อยเป็นปกติมันลงเป็นสมาธิ มันเกิดปัญญา มีเจตนาไหม? ไม่มีเจตนาแล้วมันลงได้อย่างไรล่ะ?
นี่ก็เหมือนกัน เราใช้คำว่าส้มหล่นไง ส้มหล่นคือมันฟลุค ทีนี้พอคำว่าส้มหล่น มันไม่มีเจตนามันเป็นมรรคญาณไม่ได้ มรรคญาณมันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีสติ เห็นไหม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ปัญญาชอบ นี้ถ้าเกิดว่าปัญญาไม่ชอบมันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทีนี้ถ้าเป็นปัญญาชอบล่ะ?
นี่เจตนาก็เจตนานั่นแหละ ทีนี้มันจะยืนยันกันอย่างไรล่ะว่าตัวเจตนาเป็นตัวกรรม ถ้าเราตั้งเจตนาอย่างนี้เป็นตัวกรรม กรรมคือการกระทำ เจตนามันเป็นเจตนา เวลากรรมกระทำลงไปแล้วมันถึงมีผล ถ้าเราตั้งเจตนาแต่ไม่ทำ นี่เราอยากพ้นจากทุกข์ทั้งนั้นเลย ทุกคนอยากเป็นพระอรหันต์หมดเลย ถ้าไม่ได้ทำก็เท่านั้นแหละไม่ได้ แต่ถ้าเรามีเจตนาใช่ไหม? เราก็ตั้งใจทำของเราด้วย แล้วทำแล้วถูกผิดมันต้องพิสูจน์กันแล้ว พิสูจน์กันเพราะอะไร? เพราะเวลาทำไปแล้วถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิก็เรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐินะมันจะเข้ามาแล้ว
ถ้าสัมมาทิฏฐิ คำว่าเข้ามานะ เข้ามานี่มันจะละเอียดขึ้น มันจะดีขึ้น มันจะพิสูจน์ได้ด้วยความเห็น ความรู้สึกของเรา มันจะเป็นปัจจัตตัง พอเป็นปัจจัตตัง เห็นไหม นี่เราจับต้อง เราจับต้อง เราบริหารจัดการ นี่ไงอริยสัจมันเกิดตรงนี้ นี่อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคมันเกิดตรงนี้ แต่นี่มันไม่มีต้นสายปลายเหตุ พอไม่มีต้นสายปลายเหตุ ว่างๆ ว่างๆ ไม่มีต้นสายปลายเหตุมันจะเป็นมรรคได้อย่างไร? มันจะเป็นอริยสัจได้อย่างไร?
แล้วพอมันเป็นอริยสัจ เห็นไหม ดูสิ พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา พอเทศน์ธัมมจักฯ นี่ถ้าไม่มีกิจจญาณ สัจจญาณ วงรอบ ๓ อย่างเราไม่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ เราไม่ปฏิญาณตน นี่พระพุทธเจ้าพูดนะ แต่เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะฟังมันก็มีกิจจญาณ นี่เพราะพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นปัญจวัคคีย์ เป็นพราหมณ์ พราหมณ์ทั้ง ๕ ที่อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่
ทีนี้พออุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ เห็นไหม นี่มันไม่มีมรรค มันไม่มีมรรค จะมีเจตนาดีขนาดไหนพระพุทธเจ้าอยากจะพ้นทุกข์ นี่เจตนาดีทุกอย่าง แต่มันยังไม่มีอริยสัจ ไม่มีสัจจะความจริง พอไม่มีสัจจะความจริงมันก็ว่างเปล่า แต่พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาปั๊บ พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้เสวยวิมุตติสุข แล้วเวลาสอนสอนปัญจวัคคีย์
นี่เราจะบอกว่าอริยสัจกับอริยสัจมันพิสูจน์กันไง อริยสัจของพระพุทธเจ้า เห็นไหม พระพุทธเจ้ารู้จริงแล้ว ทีนี้พอรู้จริง เวลาเทศนาว่าการมา เวลาอธิบายมาด้วยทางวิชาการ ผู้รับไง อัญญาโกณฑัญญะเป็นผู้รับ พระอัญญาโกณฑัญญะก่อนหน้านั้น ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ขึ้นมา นี่เวลาจะมาสอนปัญจวัคคีย์นะ ปัญจวัคคีย์เห็นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปฉันอาหารของนางสุชาดา พอฉันอาหารของนางสุชาดาก็หมดเลย
เพราะโดยความรู้สึกนึกคิดของปุถุชน ของโลกไง ต้องมีความเข้มแข็ง มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว แล้วพอคำว่าเด็ดเดี่ยว นี่นักเลง พวกเราใจนักเลง แล้วพอเราจะไปทำสิ่งใดกันมีคนถอดใจอย่างนี้ พวกเราก็หมดแล้ว นี่ว่าคนนี้หมดแล้ว นี้พูดถึงทางโลกเขามองกันอย่างนั้น แต่เวลาพระพุทธเจ้า เห็นไหม นี่พิสูจน์มาด้วยตัวเอง พอพิสูจน์มันจนตรอกแล้ว พอจนตรอกต้องฟื้นฟูร่างกาย นี่คือดำริของพระพุทธเจ้านะ ต้องฟื้นฟูร่างกาย พอฟื้นฟูร่างกายแล้วจะมาปฏิบัติต่อ
ทีนี้พอฟื้นฟูร่างกาย มันเป็นเวรกรรมมาที่พร้อมกัน นางสุชาดาก็จะมาถวายอาหารพอดี ก็ฉันอาหารของนางสุชาดา นี่คือมุมมอง นี่คือทัศนคติของพระพุทธเจ้า แต่ทัศนคติของปัญจวัคคีย์อีกเรื่องหนึ่งไง ทัศนคติของปัญจวัคคีย์ก็บอกนี่เป็นผู้หันกลับไปเสวยอาหาร หันกลับไปมักมากในกาม ก็เลยทิ้ง นี่พูดถึงมุมมองนะ ฉะนั้น พอทิ้งไปแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาจะไปสอนปัญจวัคคีย์ เขานัดกันไง
คำว่านัดกันเราจะยกให้เห็นว่ามุมมอง สัจจะ อริยสัจ มีหรือไม่มี ถ้ามี เห็นไหม เมื่อก่อนที่ไม่มีมันปราศจาก มันว่างเปล่าหมด มันจับต้องอะไรกันไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ยังไม่มีอริยสัจ ก็ยังพยายามค้นคว้าอยู่ ปัญจวัคคีย์ก็ไม่มีด้วยกัน ผู้ไม่มีด้วยกัน อุปัฏฐากกันอยู่ ดูแลกันอยู่ ทีนี้พออีกฝ่ายหนึ่งทิ้งมา พอฝ่ายหนึ่งทิ้งมาพระพุทธเจ้ากลับมาฉันอาหาร พระพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา
นี้มุมมองของปัญจวัคคีย์ยังเหมือนเดิมอยู่ไง เหมือนเดิมว่าไปฉันอาหารแล้วจะปฏิเสธไม่ยอมรับ พอไม่ยอมรับพระพุทธเจ้ามาบอกว่าเราไม่เคย เพราะอยู่ด้วยกัน ๕ ปี จะรู้นะว่าไม่เคยพูดโลเล ไม่เคยพูดกลับกลอก พูดคำไหนคำนั้น เห็นไหม เมื่อก่อนไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ เดี๋ยวนี้รู้แล้วนะ รู้แล้วจะมาสอนให้เงี่ยหูลงฟัง คือให้ปัญจวัคคีย์เปิดหัวใจ พอปัญจวัคคีย์เปิดหัวใจพระพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ แล้ว
พระพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ เห็นไหม ทเวเม ภิกขเว ทางไม่ควรเสพสองส่วน
ส่วนหนึ่งคือกามสุขัลลิกานุโยค คือความเสวยสุข อีกส่วนหนึ่งคือทำตนให้ลำบากเปล่า มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ทางสายกลางคืออะไร? ทางสายกลางคือความดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ เราชอบสิ่งใด
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา
นี่ไงสิ่งที่ดับไป ปัญจวัคคีย์เพราะเขามีความพร้อมของเขาอยู่แล้ว นี่เราถึงบอกว่าอริยสัจมันเกิดตรงนี้ พออริยสัจเกิดตรงนี้ พอเป็นความจริงขึ้นมานี่มีดวงตาเห็นธรรม พระพุทธเจ้าว่าอัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ ดีใจขึ้นมาเลย นี่อริยสัจมันเกิดตรงนี้ เพราะมันมีเหตุมีผลของมัน นี่ถึงบอกว่าถ้ามีเจตนา มันต้องมีการกระทำตรงนี้ด้วย ถ้ามันมีกรรม มีอริยสัจ มันก็เป็นความจริงขึ้นมา ฉะนั้น ถ้ามีความจริงขึ้นมา มันเป็นความจริง
ทีนี้เรามาพูดกันมันก็เหมือนเราบอกนะ นี่เราสร้างบ้านกัน เราสร้างชุมชนกัน เราต้องเอาไฟฟ้าเข้ามาในชุมชนของเรา เพื่อจะใช้ไฟฟ้าของเรา นี่เราก็ต่อให้ ต่อไฟเข้ามา แต่เราไม่ส่งกระแสไฟเข้ามาล่ะ? เราจะบอกว่าสายไฟคือสื่อที่จะเอาไฟเข้ามาในหมู่บ้านของเราใช่ไหม? เข้ามาในชุมชนของเราใช่ไหม? เจตนาก็เหมือนกัน เจตนามันก็ตัวสื่อเท่านั้นแหละ แล้วตั้งเจตนาไว้ แต่มันมีการกระทำให้มันสมสิ่งนั้นไหมล่ะ? ถ้าสมขึ้นมามันก็นี่ไง มันก็มีสัจจะความจริงขึ้นมา
นี้ว่าตัวเจตนาเป็นตัวกรรม ตัวเจตนาเป็นตัวเจตนา เป็นตัวสื่อ ตัวเจตนา แต่มีการกระทำดีหรือชั่ว เจตนาทำดี เจตนาทำชั่ว เจตนาไม่ทำ เจตนาๆ แต่ไม่ทำ นี้ตัวเจตนา เพราะคำถามมันเป็นอย่างนี้หนึ่ง สองเราฟังพระพูดมาก เจตนาเป็นที่ตั้ง เจตนาเป็นที่ตั้ง อะไรก็ว่าเจตนาๆ กันไป ในตำรามันมีอย่างนั้นนะ มีอย่างนั้นจริงๆ แล้วในตำราก็บอกจริงๆ ว่าตัวเจตนาเป็นตัวกรรม
ใช่ ตัวเจตนาเป็นตัวกรรม แต่ตัวเจตนานั้นมันก็ต้องมีประกอบ ประกอบด้วยดีหรือชั่ว ทำจริงหรือว่าทำไม่จริง ถ้าทำไม่จริง ทำไม่จริงตัวเจตนาก็คือตัวเจตนา เจตนาก็เป็นกลางๆ แต่ถ้าเจตนาดีแล้วทำดีเป็นความจริงขึ้นมา ทีนี้ความจริงอย่างนี้ ความจริงที่เวลาเราพูดถึงธรรม พอถึงธรรมมันจะมีการปฏิบัติของมัน มันจะความลึกซึ้งของมัน ศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมา มรรค ๔ ผล ๔ มันยังอีกหลายชั้นนะ
ถ้ามรรค ๔ ผล ๔ เห็นไหม โสดาปัตติมรรคเป็นอย่างไร? สกิทาคามรรคเป็นอย่างไร? อนาคามรรคเป็นอย่างไร? อรหัตมรรค เวลาเขาพูดบอกว่าเรานี่พูดวกวน วนไปก็วนมา มันจะไปวนตรงไหน? มันมรรค ๔ มรรคหยาบ มรรคละเอียด ถ้ามรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด นี่เวลาบอกมรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด คนก็ตื่นเต้นกันใหญ่ อ้าว มรรคไปฆ่ามรรค ที่ไหนมี? แล้วมรรคหยาบเป็นอย่างไร?
มรรคหยาบก็โสดาปัตติมรรคไง ละเอียดขึ้นไปก็สกิทาคามรรคไง ละเอียดเข้าไปอีกก็อนาคามรรคไง ละเอียดสุดเลยก็อรหัตมรรคไง แล้วมรรคเป็นอย่างไรล่ะ? แล้วถ้าคนไม่เห็น คนไม่เห็นมันก็ไม่รู้ว่ามรรคเป็นอย่างไร? แล้วพออธิบายขึ้นไปก็บอกนี่ไงวกวน ไอ้คนไม่เป็นนะ มันฟังไม่เป็นอย่างไรก็ไม่เป็น ถ้าคนเป็นนะเขาหาฟังอย่างนี้ เขาต้องการตรงนี้ ถ้าตรงนี้เป็นความจริงขึ้นมา มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด
นี่คำว่ามรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียดนะ ถ้ามรรคมันไม่ฆ่ากัน มรรคหยาบไม่ฆ่ามรรคละเอียด ครูบาอาจารย์ของเราจะไม่ติดหรอก บางองค์ติดที่โสดาบัน บางคนไม่เข้าเลยนะ บางองค์ไปติดที่สกิทาคามี บางองค์ไปติดที่อนาคามี นี่ทำไมถึงติดล่ะ? ก็มรรคมันหยาบไง มรรคที่เราได้ มรรคที่เราถืออยู่นี่มันหยาบ ทีนี้มันจะละเอียดเข้าไป เราไม่รู้ เราทำไม่ได้ พอเราไม่รู้ เราทำไม่ได้มันก็ติด แล้วพอติดมันก็เอาสิ่งที่ตัวเองติดเป็นมรรคผล
เพราะตัวเองติดใช่ไหม? พอติดมันทำได้แค่นี้ มันก็ว่าสิ่งนี้สุดยอดของมัน แต่ถ้าละเอียดเข้าไปนี่เถียงตายห่าเลย เขาต้องมีอุบาย อุบายบอกให้เขาเข้าใจได้ว่าสิ่งที่เอ็งคร่อมอยู่ ที่เอ็งถืออยู่ว่าใช่นั่นน่ะมันยังย่อยสลายได้ มันยังลึกเข้าไปกว่านี้ได้ ถ้ามันลึกเข้าไปกว่านี้นะ ถ้ารู้จริงขึ้นมานะ มันก็จะผ่านสิ่งที่ติดนี้เข้าไป ถ้าผ่านสิ่งที่ติดนี้เข้าไปมันก็จะเป็นความจริงขึ้นไป
ฉะนั้น สิ่งที่เขาถาม เขาบอกว่า
ถาม : เขามีสติปัญญาน้อย รู้ไม่เท่าทัน ให้หลวงพ่อช่วยเมตตาด้วย
หลวงพ่อ : ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันพูดได้หลายแง่ หลายมุม ถ้าพูดแบบปริยัติก็ไปอย่างหนึ่ง ถ้าพูดปริยัตินี่ถูกต้องหมด เจตนาเป็นตัวกรรม ใช่ ถ้าปริยัตินะ เพราะเราบอกว่าสิ่งที่โลกรู้ได้ โลกรู้ได้มันต้องเป็นวัตถุที่จับต้องได้ แต่ถ้าธรรมนี่ธรรมมันเหนือโลก พอธรรมเหนือโลก ถ้าพูดถึงเป็นทางโลก เป็นมายา นี่บอกว่าธรรมเหนือโลก ธรรมเหนือโลกจะได้ไม่ต้องพูดเรื่องโลกใช่ไหม? ธรรมเหนือโลกจะได้เบี่ยงเบนออกไปใช่ไหม? คือหนีปัญหาไง ปัดสวะทิ้งเลย ธรรมเหนือโลก นั้นเรื่องของโลก
นี้ไม่ใช่ นี้พูดถึงความจริงว่า ธรรมเหนือโลกมันเหนือจากการคาดเดา เหนือจากการคาดหมาย แต่ถ้าเป็นทางโลก เห็นไหม นี่ทางกฎหมาย เวลาศาลตัดสินเขาต้องยกให้เห็นชัดเจนว่ามีเจตนาหรือไม่มีเจตนา แล้วถ้ามีเจตนาหรือไม่มีเจตนา เขาต้องมีส่วนประกอบให้เห็นว่าเขามีเจตนาจริงหรือไม่เจตนาจริง นี่โลกเห็นได้อย่างนี้ไง เขามีหลักฐาน มีส่วนประกอบว่ามีเจตนาจริงหรือไม่มีเจตนาจริง แล้วก็ว่ามีความผิดหรือไม่มีความผิด แล้วพอมีความผิดนี้เป็นเรื่องโลก
เพราะว่ากฎหมายของเราชาวพุทธนี่นะมาจากพระไตรปิฎกเยอะมาก อย่างเช่นสัตว์ต่างๆ เพราะธรรมวินัย วินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่มี ฉะนั้น พอมาอย่างนั้นปั๊บ สิ่งที่วินัยมันก็มีอยู่แล้ว ถ้าวินัยโดยกฎหมายต้องตัดสินเด็ดขาด ต้องเป็นแบบนั้น ทีนี้โดยธรรมล่ะ? ธรรมนี่เป็นรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์คือเรื่องกฎหมาย เรื่องการปกครองคือรัฐศาสตร์ รัฐศาสตร์นี่ดูแลความร่มเย็นเป็นสุขในสังคม สังคมนั้น สงฆ์นั้น ปฏิบัตินั้นจะได้ลึกซึ้งขนาดไหน
ในการปฏิบัติ เห็นไหม นี่ในทางกฎหมายเวลาไปตัดสินในพื้นที่ต่างๆ กฎหมายใช้ไม่ได้ กฎหมายมันขัดแย้งกับวัฒนธรรม กฎหมายมันขัดแย้งกับประเพณี ดูสิกฎหมายกรมเจ้าท่า แล้วไปใช้อะไรกับที่มันไม่มีแหล่งน้ำ มันไม่มี มันไม่มีแหล่งน้ำ กฎหมายกรมเจ้าท่าใช้อะไร? ทีนี้พูดถึงรัฐศาสตร์ล่ะ? การปกครองเขาควบคุมหมด ธรรม ธรรมและวินัย วินัยคือกฎหมาย แต่เวลาเป็นธรรมนะ เวลาเป็นธรรมควบคุมใช้ทุกอย่าง
หลวงตาบอกว่า ธรรมนี้แทรกเข้าไปทุกเม็ดหิน เม็ดทราย ทุกเม็ดหิน เม็ดทราย ทุกอณูอากาศ ธรรมเข้าไปหมดเลย ธรรมะนี่ เพราะเวลาปฏิบัติไปนะ พอเวลาพ้นไป หลวงตาท่านบอกว่า เวลากิเลสมันขาด เหมือนกับพญามังกรมันบินไปบนอากาศ มันเวิ้งว้างไปหมด มันครอบคลุมหมด จิตนี้คลุมสามโลกธาตุ
สามโลกธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ จักรวาลนี้เรายังพิสูจน์ไม่ได้เลยว่ามันมีกี่จักรวาล มีกี่กาแล็กซี่ มีดวงอาทิตย์กี่ดวง เรายังค้นคว้ากันไม่ได้เลย แต่เวลาพอมันพิจารณาจนมันขาด ขาด เห็นไหม กามภพ รูปภพ อรูปภพ จิตนี้ครอบคลุมหมด ครอบคลุมหมดเพราะอะไร? นี่ครอบคลุมหมดเพราะจิตนี้ มนุษย์ทุกคน แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเกิดในนรกอเวจี พระอานนท์ก็เคยมีกรรม เคยตกนรกอเวจี เคยเกิดเคยตาย
นี่ไงกามภพตั้งแต่สวรรค์ลงมา เห็นไหม รูปภพ อรูปภพ นี่แล้วจิตมันเคยเกิดในสามโลกธาตุ เกิดในกามภพ รูปภพ เวลามันขาดมันควบคุมหมด ในกามภพมันก็ควบคุม รูปภพ อรูปภพ จิตนี้ครอบคลุมสามโลกธาตุ มันไปได้หมด ฉะนั้น เวลาเป็นธรรมหลวงตาถึงให้พูดคำว่า หลวงตาท่านพูดคำไหนนะเราฟังแล้วซึ้งมาก นี่เวลาจิตนี้ขาด ธรรมนี้แทรกเข้าไปอยู่ในทุกเม็ดหิน เม็ดทราย ทุกอณูอากาศ ทุกอย่าง ธรรมนี้แทรกหมดเลย แต่กฎหมายไปไม่ได้ กฎหมายเขียนมันไปไม่ได้ไง
นี่พูดถึงตัวเจตนา ทีนี้คำว่าเจตนา เพราะเราสงสัยในคำถามนี้ ว่าคำถามนี้ถามมาเพื่อว่าไม่รู้จริง หรือถามมาให้พระสงบพูดไง คำถามนี้คือว่าลองภูมิว่ามีกึ๋นจริงหรือเปล่า? รู้จริงหรือเปล่าวะเนี่ย? เจตนาเป็นตัวกรรม นี่ถ้าพูดเป็นทางโลกก็เป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นทางธรรมล่ะ? ทางธรรมนะ ทางธรรมที่เป็นธรรม ถ้าทางธรรม หลวงตาท่านใช้คำนี้นะ ท่านบอก
ออกมาโครงการช่วยชาติท่านเทศน์ไปหมดเลย ขาดอยู่อย่างเดียว ขาดแต่ปัญหาที่ถาม
ถ้าปัญหาที่ถามนะ คนถามมันจะบอกวุฒิภาวะของคนถาม อย่างเช่นพวกโยมถาม เดินจงกรมอย่างไร? นั่งสมาธิอย่างไร? ภาวนาอย่างไรให้เป็นสมาธิ เท่านั้นแหละ เพราะแค่นี้ไง คำถามของปุถุชนนะถามแค่นี้แหละ แต่ถ้าคำถามของผู้ที่ได้โสดาบันนะ เขาก็จะถามถึงว่าจะทะลุอย่างไรขึ้นไปสกิทาคา คำถามของสกิทาคาก็จะทะลุขึ้นไปเป็นอนาคา คำถามของอนาคา จะทำอย่างไรให้เป็นพระอรหันต์
ฉะนั้น คำถามนี่อ้าปากก็รู้แล้วว่าคนถามมีวุฒิภาวะแค่ไหน? ถ้าคนรู้จริงนะ ถ้าคนไม่รู้จริง คำถามทุกคำมันก็เป็นคำถามเหมือนกัน ก็คำสมมุติเหมือนกัน คือคำพูด ถ้าคนที่ไม่มีวุฒิภาวะเขาไม่รู้ว่าคำถามมันลึกซึ้ง หยาบ ละเอียดแค่ไหน? แต่ถ้าเป็นผู้ที่ภาวนาเป็นนะ นี่ถ้าปุถุชน ปุถุชนถามอย่างนี้แหละ เดินจงกรมก็ไม่ได้ ทำสมาธิก็ไม่ได้ ทำอะไรทุกอย่างไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่อยากได้ ทั้งๆ ที่อยากได้ ทั้งๆ ที่อยากเป็น แต่ทำไมทำไม่เป็น
ทำไม่เป็น เห็นไหม พอทำไม่เป็น ย้อนไปเมื่อวาน เมื่อวานที่ว่าขาดบารมีใช่ไหม? ขาดสิ่งต่างๆ ใช่ไหม? บารมีส่วนบารมีนะ มันอยู่ที่ความจริง เพราะบารมีมันก็อยู่ในปัจจุบันนี้ บารมีอยู่ที่การกระทำ การกระทำนี่คือการสร้างสมบารมี บารมีมันจะลอยมาจากฟ้าหรือ? อย่างเช่นเรา เรานี่คนไม่มีบารมีเลย แล้วพอเราไม่มีบารมีเราก็นั่งคอตก เราไม่มีบารมีเลย เราทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าบอกว่าเราไม่มีบารมีเลยนะ แต่เราขยัน เราขวนขวาย เราพยายามทำของเรา ทำข้อวัตร
นี่เรากวาดนะ เราดูแลรักษา เราทำความสะอาด ร้านนี่ทำความสะอาด เวลาโยมมาพัก เห็นไหม ก็ได้มาพักที่ความสะอาดที่เราได้ทำไว้ นี่เราก็ได้บารมีแล้ว เราก็จะได้ส่วนประโยชน์แล้ว เราทำนะ นี่เวลาเทวดามาถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าพระอินทร์มีไหม? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า นี่ขนาดเทวดาถามนะว่าพระอินทร์มีไหม? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า
เธออย่าถามว่าพระอินทร์มีหรือไม่มี เราจะบอกวิธีการเป็นพระอินทร์ให้
วิธีการเป็นพระอินทร์นะ ไม่ใช่ว่าพระอินทร์มีหรือไม่มีนะ ท่านพูดถึงวิธีการเป็นพระอินทร์เลย นี่ทำแหล่งน้ำ ทำทางสาธารณะ เห็นไหม ทำศาลาโรงธรรม เพราะศาลาโรงธรรมเป็นที่ใช้ประโยชน์ของประชาชน ที่สาธารณะ ถนนหนทาง แหล่งน้ำ ต่างๆ นี่ทำดีจะไปเป็นพระอินทร์ ท่านจะไม่บอกว่าพระอินทร์มีหรือไม่มี วิธีการเป็นพระอินทร์ทำอย่างใด? แล้วพวกเราจะทำไหมล่ะ? แล้วถ้าทำอย่างนี้เขาเกิดเป็นเทวดากัน แต่ผู้ที่ทำอย่างนี้ไปเกิดเป็นเทวดาเหมือนกัน แต่เป็นเทวดาผู้ปกครองคือเป็นพระอินทร์ พระอินทร์คือปกครองเทวดา
เราทำประโยชน์ตรงนั้น ถ้าทำประโยชน์ตรงนั้นนี่คืออะไร? นี่คือการสร้างบารมี ถ้าเราบอกว่าบารมีมีไหม? อย่างเช่นบอกว่าถ้าเราไม่มีบารมีเราก็นั่งคอตก เอ๊ะ เขาปฏิบัติกัน เราไม่มีบารมี เราไม่มีบารมี แต่ถ้าเราไม่มีบารมีแต่เราขวนขวาย เราทำสาธารณะประโยชน์ นี่เราทำประโยชน์ให้ ล้างถ้วย ล้างจานเป็นบารมีไหม? นี่จะหาผลประโยชน์ใส่ตัวแล้ว (หัวเราะ)
ใครช่วยล้างถ้วย ล้างจาน ใครช่วยเก็บกวาดคนนั้นมีบารมี ถ้ามันเป็นนิสัยนะ เพราะคนที่เขามานี่เขาใช้สิ่งที่เราทำให้เขา เราทำความสะอาดสิ่งใด แล้วคนที่เขามาเขาใช้อะไร? เขาใช้สิ่งที่เราทำ แต่ถ้าเป็นทางโลกบอกเสียเปรียบ เราเป็นคนใช้ เราต้องเก็บให้เขา กวาดให้เขา เขามาเขาก็ใช้ของเขาแล้วเขาก็กลับ ไอ้คนใช้นั่นน่ะจะต้องไปใช้หนี้เขาแล้วนะ เพราะเวลาออกไปไม่ได้จ่ายค่าพักอาศัย
ถ้าไม่จ่ายค่าพักอาศัยมันต้องใช้เขา เพราะไปใช้ของเขาแล้ว พอใช้ของเขาแล้วมันเป็นบุญกรรมกันไปไง จะรู้หรือไม่รู้กลับมาที่เจตนานี่ไง จะรู้หรือไม่รู้ แต่ถ้ารู้ เห็นไหม เราทำแล้วนะสาธุ เขาทำดี เราก็ทำดีตอบแทนกัน เราทำดีเพื่อความดี นี่เจตนาที่ดี ถ้าเราไม่รู้ โอ้โฮ ใครมานี่ชมนะ ใครมาที่นี่เขาจะชม เพราะเราอยู่กับหลวงตามา หลวงตาสอนพวกเรามา วัด เขาดูวัดที่เป็นระเบียบเรียบร้อยมีอยู่ ๒ ประเด็นที่เขาไปวัด
๑. ห้องส้วม
๒. สามเณรน้อย
คือคนที่ด้อยที่สุดในสังคมนั้น ถ้าคนที่ด้อยที่สุดในสังคมนั้นยังมีความเป็นอยู่ที่ดี แสดงว่าหัวหน้าใช้ได้ ถ้าหัวหน้าไม่ดีนะ คนที่ด้อยที่สุดในสังคมนั้นจะอัตคัดขาดแคลน ส้วม แหล่งน้ำ ห้องน้ำถ้าไม่สะอาด แสดงว่าหัวหน้านั้นใช้ไม่ได้ หลวงตามาหาเราทีไรนะเปิดส้วมทุกที ตอนอยู่โพธารามนะเช็คหมด พอมาหาเรานะ ห้องเรานี่ให้สั่งเปิดเลย หลวงตามานี่เปิด ตรวจ ห้องน้ำ ดู
นี่เขาดูเป็นธรรม ไม่เป็นธรรม ถ้าไปวัดเขาดูตรงนี้ ดูคนที่ด้อยที่สุดว่าเขามีอยู่ มีกินไหม? ถ้าคนที่ด้อยที่สุดในที่นั้นขาดแคลน แสดงว่าหัวหน้าไม่เป็นธรรม ถ้าหัวหน้าเป็นธรรมต้องเสมอภาค ฉะนั้น เวลาเราเข้าไปวัดใช่ไหม? นี่ได้รับคำชมมาก ใครมานะจอดรถต้องเข้าห้องน้ำก่อน พอเข้าห้องน้ำเสร็จขึ้นมา หลวงพ่อ ห้องน้ำสะอ๊าด สะอาด ใครมาก็ว่า หลวงพ่อ ห้องน้ำสะอ๊าด สะอาด
พระกูถูทุกวัน พระถูทุกวัน ห้องน้ำถูทุกวัน นี่คือข้อวัตร นี่คือสร้างบารมี แล้วเวลาคนมาใช้ห้องน้ำ นี่ใช้ห้องน้ำของใคร? แล้วได้บารมีหรือยัง? แล้วก็บอกว่าไม่มีบารมี ไม่มีบารมี ใครก็บอกว่าไม่มีบารมี ก็มึงไม่ทำ มึงทำก็มีบารมี ถ้ามึงบ่นว่าไม่มี คนนี้ก็ไม่มีบารมี คนนี้ก็ไม่มี ก็ไม่ทำอะไรเลย แล้วบารมีอยู่ไหนล่ะ? บารมีอยู่ที่การกระทำของเรานี่นะ เราทำนี่แหละ ฉะนั้น ใครอย่าน้อยใจว่าคนนู้นก็ไม่มีบารมี คนนี้ก็ไม่มี บารมีเขาไม่ได้บรรจุแคปซูลมาให้เว้ย ซื้อบารมีบรรจุแคปซูลส่งมาให้เลย แล้วกลืนเข้าไปเลย กูมีบารมี กูกินบารมีแคปซูลเข้าไป
ไม่มีหรอก เขาต้องสร้างเอา ทำเอา ถ้าสร้างเอา ทำเอานะเราจะทำได้ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราไม่มี เพราะว่าดูคำถามแล้วมันแปลกๆ ไง แต่เราก็อยากตอบ เราอยากตอบ เราอยากจะพูดธรรมะให้ฟัง ฉะนั้น ไอ้สิ่งที่คำถามนี่นะมันเป็นเรื่องโลกๆ มันเข้าใจได้ทั้งนั้นแหละ เขาบอก
ถาม : เจตนาเป็นตัวกรรมหรือเปล่า? มีความรู้น้อยให้อธิบาย
หลวงพ่อ : เจตนาคือส่วนเจตนา เจตนาทำดี เราพูดมาหลายแง่ หลายมุมไง ถ้าเจตนาที่ดี อย่างทางโลกเขาว่าเจตนาดีประสงค์ร้าย แต่เวลาหลวงตานะท่านบอกว่า เวลาท่านไปที่ไหนท่านไม่เคยไปหวังผลสิ่งใดเลย ท่านไม่เคยหวังผลสิ่งใดเลย ท่านไปช่วยดูแล นี่เจตนาของท่านไปดู ผิดก็จะบอก ท่านไปดูลูกศิษย์ ดูต่างๆ ดูเพื่อให้
เหมือนกับเรานี่ ถึงเวลาแล้ววัคซีนฉีดแล้วมันหมดอายุหรือยัง? จะต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ ๒ หรือยัง? ท่านก็คอยไปเช็ค ไปดูพวกเรานี่แหละ ท่านไปเพื่อเหตุนั้นนะ แล้วท่านก็ต้องไปดูๆ ไปดูพวกเรา แต่ท่านไม่เคยบอกเลยนะว่านี่หลวงตาจะมาดูเอ็งนะ หลวงตามาตรวจสอบเอ็ง ไม่เคยพูดเลยนะ ถ้าพูดอย่างนั้นนะมันไม่เป็นผล ท่านจะแอบไปดู เมื่อก่อนท่านบอกท่านแอบไปดูที่นู่น ที่นี่ พอท่านมีชื่อเสียงขึ้นมาท่านไปไม่ได้แล้ว เพราะเขารู้ทันหมด
แต่ก่อนท่านไปไหนไม่มีใครรู้ แล้วไปเห็นมาแล้วนะ ใครจะมารายงานอย่างไร ว่าพระองค์นี้ดีขนาดไหนนะท่านก็ไม่ฟัง เพราะท่านไปเห็นมาแล้ว แต่ถ้าท่านยังไม่เห็นนะ ในปัจจุบันนี้ท่านไปไหนไม่ได้ใช่ไหม? เวลาใครไปหาหลวงตานะ หลวงตา พระองค์นี้ดี๊ดี นี่ปฏิบัติอย่างดีเลย อยู่แต่วัดตลอดไม่เคยไปไหนเลย ดี๊ดี ทุกคนก็พยายามไปพูดตรงนั้นไง นี่เราถึงบอกว่าเวลาท่านไปท่านไม่เคยหวังผลประโยชน์กับใครทั้งสิ้น เพราะท่านไม่ต้องการสิ่งใด ฉะนั้น เวลาเราทำสิ่งใดเราทำเพื่อเราไง
ฉะนั้น เวลาเจตนาเป็นตัวกรรมหรือเปล่า? กรรมมันคือการกระทำ แล้วเจตนาที่ดีขึ้นกว่านี้ เจตนาที่ละเอียดกว่านี้ ปัญญาที่ดีกว่านี้ เพราะมันมีอวิชชา มีเจตนาแต่มีตัวไม่รู้คุมเจตนานั้นอยู่ อวิชชามันลึกกว่า มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา ความคิด เจตนา ความดำริ
นี่มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้า เจ้าจะเกิดกับจิตของเราอีกไม่ได้เลย
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าความดำริ ความนึกคิด เห็นไหม ก่อนที่จะเป็นเจตนา เป็นต่างๆ มันอยู่ในภวาสวะ ในภพ ในจิตของเรา แล้วมันอยู่อย่างนี้แล้วทำอย่างไร? ทีนี้พอเจตนาขึ้นมา พอเจตนาอวิชชามันก็ครองไว้ พอเจตนาจะหาเงิน ๑๐๐ ล้าน เจตนาจะหานั่น นี่เจตนาแล้วไง อวิชชามันคุมอยู่มันไปเลย แต่ถ้าเจตนาปฏิบัติธรรม เจตนาเพื่อจะทิ้ง โอ้โฮ นี่เจตนาผิดนะ คนนี้คบไม่ได้ ไม่ทำมาหากิน คนนี้ไม่แสวงหา คนนี้คบไม่ได้ๆ แต่ถ้านักปฏิบัติด้วยกัน เห็นไหม ทิ้งให้หมด
เราทิ้งทุกอย่างมาแล้ว สถานะของมนุษย์ มีสิทธิตามกฎหมายก็ได้ทิ้งมาแล้ว ทิ้งมาเป็นสมณะ กฎหมายไทย พรบ.สงฆ์ ควบคุมอยู่ นี่ทิ้งมาแล้ว แล้วยังจะกลับไปเอาอะไรอีก? นี่พูดถึงเราดูตรงนี้ อยู่ที่คำถามเนาะ ถ้าคำถามอย่างนี้ เราพูดถึงเจตนาเป็นกรรมหรือเปล่า? มันพูดเด็ดขาด พอเด็ดขาด นี่เด็ก เด็กเป็นเด็กหรือเปล่า? เป็น เด็กห้ามเป็นผู้ใหญ่ สตั๊ฟไว้เลย เด็กเป็นเด็กหรือเปล่า? เป็น เดี๋ยวไปเป็นวัยรุ่น เดี๋ยวมันแก่
เจตนา เห็นไหม เจตนาของเด็ก เจตนาของผู้ใหญ่มันพัฒนาได้ไง มันไม่มีกฎตายตัวว่าอย่างนั้นเถอะ มันไม่มีสิ่งที่จะต้องให้มันเด็ดขาดเพราะมันพัฒนาได้ เว้นไว้แต่ถึงที่สุดแล้ว พอสิ้นกิเลสแล้วจบ ถ้าจบแล้วสิ่งนี้ก็ไม่เป็นปัญหา เอวัง