ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จิตเป็นได้หลายอย่าง

๓ ม.ค. ๒๕๕๕

 

จิตเป็นได้หลายอย่าง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๗๕๖. ไม่มี ข้อ ๗๕๗. เนาะ

ถาม : ๗๕๗. เรื่อง “ควรละจิตไปเลยหรือไม่ครับ”

หลวงพ่อ : เขาถามนะ

ถาม : “ควรละจิตไปเลยหรือไม่ครับ”

วันหนึ่งผมพิจารณากายจนมันปล่อยแล้วมันเป็นภพโล่งๆ ผมเอาใจตั้งไว้ที่กลางหัวอก แล้วพิจารณาจิตอยู่ตรงกลางหน้าอกไปเลยครับ เห็นจิตมันส่งออกเป็นห้วงๆ เป็นขณะๆ แล้วมันก็ย้อนไปอดีตเพื่อไปหาสัญญาที่เก็บไว้ในใจ แล้วเมื่อมันปรุงความคิดมันก็ไปในอนาคตเพื่อกินอารมณ์ฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้น ผมนั่งพิจารณาไปเรื่อยๆ ก็เห็นแต่กระบวนการของจิตเป็นอย่างนี้ตลอด ก็เลยปลงว่า เอ๊ะ จิตมันก็เป็นของมันไปแบบนี้เอง

ทันใดนั้นเองจิตก็วูบลง คือมันไม่มีอะไรให้ติดข้องใจเลยครับ คราวนี้ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต และก็ไม่เป็นปัจจุบันด้วย มันไม่เหมือนปัจจุบัน มันไม่เหมือนอัปปนาสมาธิ เพราะอัปปนาสมาธิไม่มีอดีต ไม่มีอนาคตแต่มันมีปัจจุบัน รู้อยู่ในปัจจุบัน ที่ผมกล่าวว่าไม่มีปัจจุบันเพราะมันไม่มีอะไรเลย มันก็เลยไม่มีเรื่องมีราว ไม่มีประธาน ไม่มีกิริยา ไม่มีกรรม เสมือนไม่มีความเป็นเรา เรื่องราวต่างๆ จึงไม่มีเรื่องเลย เวลาอดีต อนาคต ปัจจุบันก็ไม่มี สภาวะแบบนี้คงอยู่พักหนึ่งแล้วก็หายไป ผมอยากเจอสภาวะแบบนี้อีก แต่ก็ไม่ได้เจออย่างนี้อีกเลย

ขอโอกาสถามหลวงพ่อว่า

๑. จิตนี่แหละคือธรรมชาติที่เป็นทุกข์ เพราะมันส่งออกไปรู้อะไรต่างๆ ข้างนอกตลอด มันรู้สิ่งที่ออกไปสัมผัสเป็นจำนวนมาก แล้วมันก็เข้าใจผิดในเรื่องราวต่างๆ ไปด้วยตัวมันเอง เช่นจิตมันเข้าใจผิดว่าตัวเองคือเรา ทุกครั้งที่มันส่งออก กระบวนการของขันธ์ ๕ ทำงานเร็วมาก และเกิดเวทนาที่ฐานที่ตั้งของจิต คือกึ่งกลางหน้าอก จิตก็หลงว่าเวทนาคือเรา ครบกระบวนการของขันธ์ ๕ แล้วก็เกิดความคิด กายก็ทำตามความคิดทันที จิตก็เข้าใจผิดว่ากายเป็นเราอีก ผมว่าจิตนี่แหละเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของความทุกข์ ถูกไหมครับ?

๒. ผมว่าจิตนี้ไม่ควรไว้ใจเลย เพราะความเป็นจิตและผลผลิตของจิตที่ออกมาก็เป็นสมมุติบัญญัติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยเป็นความจริงเลยจริงไหมครับ?

๓. จากอารัมภบทข้างต้น ผมว่าสภาวะที่ไม่มีเรื่องเวลามาเกี่ยวข้องกับภพ คือไม่มีอดีต ปัจจุบัน อนาคต แต่ก็รู้ได้ คิดได้โดยที่ไม่มีเวทนาเกี่ยวข้อง คือการทิ้งจิตหรือเปล่า? หรือคืออาการอะไรครับ?

๔. เมื่อผมวิปัสสนาไปเรื่อยๆ ยิ่งมั่นใจว่าจิตนี่แหละพาเราทุกข์ไม่จบสิ้น ถ้าเราทิ้งจิตไป เพราะเสี้ยนหนามที่ทำให้ปวดแสบปวดร้อน และทุกข์ร้อนตลอดเวลาก็คือจิตนี่เอง ผมก็รู้สึก ๒ จิต ๒ ใจ กล่าวคือกลัว ทั้งๆ ที่ผมว่าผมก็ทิ้งจิตมาแล้วหนึ่งครั้งตามคำถามข้อ ๓. คือกลัว เพราะตลอดชีวิตก็ใช้ชีวิตโดยต้องมีจิตเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตลอด ในฐานะที่มันสร้างความเป็นตัวตนของเรา แต่มาวันนี้รู้ว่าถ้าเชื่อจิต ชีวิตจะอยู่กับสมมุติบัญญัติตลอดไป และจะสร้างแต่ทุกข์และจะไม่มีวันจบสิ้น แต่ก็กลัวถ้าจะทิ้งจิตไป

ทั้งๆ ที่ผมว่าผมเคยละจิตตามข้อ ๓. เป็นระยะเวลาสักพักก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร รู้ได้ คิดได้ แต่ไม่มีเรื่องเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะดีงาม ถูกต้อง และขอเมตตาหลวงพ่อด้วยครับ

หลวงพ่อ : นี่ข้อที่ ๑. นะ นี่แหละจิต เขาว่าจิต การปัจจุบันการทิ้งจิตไปเลยหรือไม่ เอากระบวนการนี้ก่อน

ถาม : ควรจะทิ้งจิตไปเลยหรือไม่?

หลวงพ่อ : การว่า “การทิ้งจิตและการไม่ทิ้งจิต” มันเป็นอดีต อนาคตอีกนั่นแหละ แต่ถ้าเราพิจารณาไปเป็นปัจจุบันตลอด สิ่งใดมี สิ่งนั้นคือตัวมัน ถ้าสิ่งที่มีตัวมันเราพิจารณาไปเลย นี่เราจะทิ้งจิตหรือไม่ทิ้งจิต ถ้าบอกเราทิ้งจิตไปเลยมันก็อ้าง กิเลสมันจะอ้างว่าจิตมันไม่มี ถ้าเราจะทิ้งนะมันบอกมันไม่มี แต่ถ้าเราไม่ทิ้ง เราบอกเราทิ้งจิตไม่ได้ จิตมันก็จะขี่เรา

ฉะนั้น เราจะต้องให้เป็นปัจจุบันอย่างเดียว ถ้าเป็นปัจจุบันอย่างเดียว อย่างเช่นกรณีที่ว่านี่ เวลาเราพิจารณาไป อย่างข้อ ๓. ที่ว่าทิ้งจิตไปแล้ว จิตมันไม่มี การทิ้งไปขนาดไหนนะ ถ้ามันเป็นจริงนะ เวลากายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แล้วจิตรวมลง จิตรวมลงนี่จิตไม่มี ยถาภูตัง คือรู้ว่าขาด มันมีญาณทัศนะอีกตัวหนึ่ง มันจะมีญาณทัศนะ เห็นไหม คือมันมี แต่ที่บอกว่ามันไม่มีหรือมันมี มันยังเป็นวัตถุ ยังเป็นแร่ธาตุอยู่ ยังเป็นสมมุติอยู่ ว่าอย่างนั้นเลย

ฉะนั้น จะต้องทิ้งจิตไปหรือไม่? แต่ถ้าโดยหลักแล้วต้อง แต่ถ้าบอกว่าต้องปั๊บนะมันก็จะปฏิเสธเลยนะ เราทิ้งแล้วๆๆ โอ้โฮ กิเลสนี่ร้ายมาก กิเลสนี่บอกมันไม่ได้นะ จะบอกมันก่อนไม่ได้ มันต้องรู้ของมันเองใช่ไหม? บอกว่าต้องทิ้งจิตไปเลยนะ มันก็เป็นเหมือนที่เราพูดถึง มันมีหลายสำนักเขาบอกว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น

มันเป็นอย่างนั้นไม่ได้หรอก คือมันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่าถ้าเป็นแบบนั้นมันก็สร้างภาพไง มันก็สร้างให้เป็นแบบนั้น พอสร้างให้เป็นแบบนั้น ถ้าทำแบบนั้นจะเป็น เห็นไหม หลายสำนักมากจะบอกว่าต้องทำแบบนี้ทำอย่างอื่นไม่ได้ ต้องทำแบบนี้ทำอย่างอื่นไม่ได้ นั่นน่ะ ถ้าทำอย่างอื่นไม่ได้ ฉะนั้น คนเรามันก็ต้องมีความรู้สึกเหมือนกันทุกๆ คนสิ ทำไมคนมีความคิดแตกต่างหลากหลายล่ะ? ทีนี้ความแตกต่างหลากหลายมันก็มาจากจริตนิสัยของคน

นี่ก็เหมือนกัน จะต้องทิ้งจิตไหม? ต้อง แต่ถ้าทิ้งจิตทิ้งอย่างไรล่ะ? ถ้าบอกว่าทิ้งจิตปั๊บมันก็สร้างกระบวนการเลยว่าต่อไปนี้จิตไม่เอานะ จะทิ้งอย่างเดียวเลย จะทิ้งอย่างเดียวเลย มันก็เหมือนกับเราปฏิเสธผู้ต้องหา เราปฏิเสธผู้ทำผิด เราบอกมีการกระทำผิด ถ้ามีการกระทำผิดแล้วใครเป็นคนทำ มันต้องสาวไปหาผู้ทำ แล้วผู้ทำพอจับมันได้แล้วมันบอกว่าฉันไม่ได้ทำ ฉันไม่ได้ทำ มันจะบอกว่าฉันไม่ได้ทำ ฉันไม่ได้ทำก็ต้องพิสูจน์กันว่าทำหรือไม่ทำ

นี่ก็เหมือนกัน จะต้องทิ้งจิตไหม? ต้อง แต่ทิ้งอย่างไร? นี่อยู่ตรงนี้ไง แต่ทิ้งอย่างใด? นี่มันต้องพยายามหาก่อน พยายามหาว่าใครจะเป็นคนทิ้ง ทิ้งอย่างไร? ทิ้งแล้วเหลืออะไร? ถ้าทิ้งแล้วเหลืออะไรนี่ยังทิ้งไม่ถึงที่สุด ถ้าทิ้งโดยที่ไม่มีอะไรเลย อันนั้นล่ะใช่ ทิ้งโดยไม่มีอะไรเลย แต่ต้องทิ้ง แต่ทิ้งอย่างใด? ถ้าบอกต้องทิ้งปั๊บมันจะบอกว่าฉันจะทิ้ง ฉันจะทิ้งนะ แล้วก็บอกว่าฉันทิ้งแล้ว ฉันทิ้งแล้ว คือไม่มี

โอ้โฮ กิเลสนี่ร้ายมากนะ นี่ไงเวลาครูบาอาจารย์เทศนา หลวงปู่มั่นท่านจะเทศน์เลยนะ ท่านเทศน์ไปท่านบอกเลย ท่านบอกแต่เหตุไม่เคยบอกผลเลย หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติมา หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ ว่าหลวงปู่มั่นท่านไม่เคยบอกว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านไม่เคยบอก หลวงปู่มั่นไม่เคยพูดเลยว่าท่านเป็นพระอรหันต์ แล้วหลวงปู่มั่นไม่เคยบอกว่าท่านทิ้งกิเลส หลวงปู่มั่นไม่เคยพูดเลย แต่พระลูกศิษย์ทั้งหมดเชื่อ เชื่อว่าหลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์

แต่ตัวท่านเองไม่เคยพูดนะ ตัวท่านไม่เคยบอกว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านบอกท่านละกิเลสได้ ท่านไม่เคยพูดเลย นี่ถ้าพูดปั๊บมันก็มีประเด็นใช่ไหม? ถ้าท่านบอกว่าเราเป็นพระอรหันต์ เราปฏิบัติอย่างนั้นแล้วเป็นพระอรหันต์ คนมันก็จะจับตรงนั้นไปสร้างภาพว่า อ๋อ ถ้าเป็นพระอรหันต์ต้องเป็นแบบนี้ อ้าว เป็นแบบนี้ เห็นไหม มันก็เป็นเหตุล่ะ

นี่หลวงปู่มั่นท่านฉลาดมาก หลวงตาท่านบอกว่า ตั้งแต่อยู่กับหลวงปู่มั่นมา ท่านไม่เคยบอกว่าท่านสิ้นกิเลส แล้วท่านก็ไม่เคยบอกว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านไม่เคยบอกว่าท่านเป็นอะไรเลย แต่เหตุผลที่ท่านเทศน์ อู้ฮู มันฟัง จุ๊ๆๆ เหตุผลที่ท่านเทศน์ เหตุผลอันนั้นมันฟ้อง เหตุผลอันนั้นมันบอกว่าจิตใจดวงนั้นมันประเสริฐ มันดีแค่ไหน จิตใจดวงนั้น ถ้ามันไม่มีประสบการณ์อย่างนั้น มันจะบอกเหตุการณ์อย่างนั้นออกมาได้อย่างใด? แต่ท่านไม่เคยบอกนะว่าท่านเป็นอะไรเลย

ฉะนั้น อันนี้ก็เหมือนกัน นี่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์เวลาท่านเทศนาว่าการ ส่วนใหญ่แล้วท่านจะพูดเรื่องเหตุนะ เหตุ เห็นไหม ในพระไตรปิฎกนี่เหตุทั้งนั้นเลย นี่อริยสัจคือเหตุ คือการกระทำ เป็นเทคนิคทั้งนั้นเลย แต่ผล นิพพานคือพ้นไป นี่เวลาบอกก็บอกว่านิพพาน แต่ไม่เคยอธิบายว่านิพพานเป็นอย่างใด? มีพระไปถามมาก นิพพานเป็นอย่างใดๆ พระพุทธเจ้าก็พยายามยกตัวอย่างเท่านั้นเอง พอยกตัวอย่างนี่เป็นตุ๊กตานะพระมันกระโดดกอดเลย กระโดดกอดตุ๊กตาเลย นิพพานเป็นอย่างนี้ นิพพานเป็นอย่างนี้ อ้าว ก็เลยนิพพานเป็นสมมุติไปเลย

ก็ตุ๊กตา วิมุตติ วิมุตติมันพ้นไปแล้วเอามาพูด ถ้าพูดเป็นสมมุติเลย อ้าปากเป็นสมมุติเลย สมมุติบัญญัติทันที ฉะนั้น ก็พระไปถาม พอพระไปถามท่านก็สมมุติ สมมุติก็ตุ๊กตา ตุ๊กตา เห็นไหม ตุ๊กตาเป็นอย่างนี้นะ เป็นอย่างนี้นะ ไอ้เราก็กระโดดกอดตุ๊กตาเลยนะ อ๋อ นิพพานเป็นแบบนั้น ทีนี้นิพพานก็เลยเป็นรูปแบบ นิพพานเป็นอย่างนั้น นิพพานเป็นอย่างนั้น ว่ากันไป

จะบอกว่าครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นนะ นี่เวลาบอก เวลาบอกเขาเรียกว่าเป็นอุบาย อุบายแนะนำแล้วพยายามจะลงให้เข้ามาให้ได้ แต่พอ เอ๊อะ! ไม่ถามอีกเลยนะ พอเอ๊อะแล้วไม่ถามอีกเลย แหม แล้วมองแล้วมันยิ้มกริ่มๆ นะ อืม เวลามองแล้ว อืม แต่ไม่ถามอีกเลย นั่นล่ะใช่ แต่ถ้ายังอธิบายเป็นนกแก้ว นกขุนทอง

แต่ แต่พวกเราปฏิบัติเราก็หวังพึ่งครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านก็ต้องคอยชี้นำ คอยบอก แต่ครูบาอาจารย์ที่เป็นนะท่านจะบอกแล้วให้เราทำเข้ามา แต่ถ้าบอกโดยที่ว่าผลเป็นอย่างนั้นๆ อันนั้นเวลาเราสงสัยไง นี่มันต้องถกกัน เวลาถกกัน ถ้ามีธรรมเป็นแบบนี้ ถ้ามีธรรมนะจะอธิบายถึงเหตุและผล

“เหตุและผลรวมลงคือธรรม”

เหตุและผล มรรค ๔ ผล ๔ ไง อรหัตมรรค อรหัตผล อรหัตมรรค อรหัตผลทำไมไม่ใช่นิพพาน ๑ ล่ะ? อรหัตมรรคคือเหตุนะ อรหัตมรรคคือเหตุ อรหัตผล เห็นไหม เหตุและผลรวมลง สำเร็จกระบวนการทั้งหมด นิพพาน ๑ เป็นธรรม พอนิพพาน ๑ แล้วไม่ขยับแล้ว แต่เหตุและผล เหตุและผลมีการกระทำ เหตุและผล

ฉะนั้น เหตุและผล เห็นไหม โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค อรหัตผล เหตุและผลรวมลงแล้วถึงเป็นอกุปปธรรม คือไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “จะต้องทิ้งจิตไหม? จะต้องทิ้งไหม?”

ต้องแน่นอน ต้องแน่นอน แต่ แต่ถ้าบอกต้องแน่นอนปั๊บมันก็จะเกิดกระบวนการกระทำว่าทิ้ง กระบวนการกระทำว่าทิ้งมันก็ทำให้แบบว่าเราไม่ละเอียดพอ พอเราไม่ละเอียดพอ พอทิ้งไป นี่การปฏิบัติ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยคเป็นอย่างนี้

กามสุขัลลิกานุโยคคือความสุข ความสงบ ความระงับ ความพอใจ ติด อัตตกิลมถานุโยคนี่ทิ้งๆๆ อัตตกิลมถานุโยคจะทำให้ได้ๆ แล้วมันก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค ก็ตะครุบเงาๆๆ นี่ถ้ามัชฌิมาปฏิปทาลงอย่างไร? ถ้ามัชฌิมาปฏิปทามันจะเป็นความจริงของมัน ถ้าความจริงของมัน มันจะรู้ของมัน

ฉะนั้น เราจะเน้นไง เน้นว่า “ควรละจิตไปเลยหรือไม่ครับ” มันต้องละด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยเหตุ ด้วยผลใช่ไหม? ด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยเราจับ จับขันธ์ ๕ นี่สติปัฏฐาน ๔ จับกาย จับเวทนา จิต และธรรม จับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วพิจารณามัน เพราะ เพราะกิเลสนี้เป็นนามธรรม พอกิเลสเป็นนามธรรม อาศัยสิ่งนี้เป็นการแสดงออก อาศัยสิ่งนี้ กิเลสนี้เป็นนามธรรมนะ นี่เวลาเราอยาก พอเราเสพสุขแล้วเราก็ทิ้ง จบ เดี๋ยวก็อยากอีก

นี่เราอยาก แล้วกิเลสมันคืออะไรล่ะ? กิเลสมันคือเหล้าหรือ? กิเลสมันคือแก้ว แหวน เงิน ทองที่อยากได้หรือ? แก้ว แหวน เงิน ทองก็แร่ธาตุ เหล้าก็น้ำ อ้าว ไพ่ ไพ่ก็คือกระดาษ อ้าว ก็ไพ่มันเล่นกัน เขาสับไพ่ ไพ่ก็คือกระดาษ ตัวไพ่มีกิเลสไหม? เล่นการพนันไง เล่นการพนันมีกิเลสไหม? ลูกเต๋า ลูกเต๋ามันก็เป็นลูกเต๋า อ้าว แก้วขยับมันก็เป็นแก้ว มันมีกิเลสไหม? มันไม่มีหรอก

นี่การพนัน ตัวมันเองนะ การพนันก็คือการพนันขันต่อ แต่สิ่งอุปกรณ์ที่เล่นการพนันมันไม่มีชีวิต มันมีกิเลสหรือ? มันไม่มี แล้วกิเลสมันคืออะไรล่ะ? กิเลสมันคืออะไร? ทำไมคนไปติดมันนักหนา ผีการพนัน ใครติดการพนันนี่หมดนะ ทรัพย์สินเงินทองหมดเลย นี่แล้วมันเป็นอะไรล่ะ? นี่ก็เหมือนกัน เราจะฆ่ากิเลสๆ จะไปฆ่าที่ไหน? จะไปฆ่าที่ไหน? มันแสดงออกอย่างไร? มันก็แสดงออกผ่านสติปัฏฐาน ๔ กาย ผ่านออกทางร่างกาย ผ่านออกทางเวทนา ผ่านออกทางจิต ความรู้สึกนึกคิด ผ่านออกถึงธรรมารมณ์

ฉะนั้น เวลาเราจะฆ่ามัน เวลาเราจะทำลายเขา เราจะทำลายเขาเราก็เอากาย เอาเวทนา เอาจิต เอาธรรมเข้ามาแยกแยะว่ากิเลสมันสวมรอยมาอย่างไร? กิเลสมันสวมรอยอย่างนี้ออกไปทำเพื่อความพอใจของมัน ฉะนั้น เวลาเราพิจารณาของเรา เห็นไหม เราจะทิ้งจิตไป ไม่ทิ้งจิตไปไหม? ถ้าทิ้งจิตไปนะ นี่กาย เวทนา จิต ธรรม จิตมันก็เป็นสติปัฏฐาน ๔ อันหนึ่ง แล้วเราก็ต้องพิจารณามัน จะทิ้งมัน จะทิ้งมันอย่างไร?

จะบอกว่าถ้าทิ้งไปเลย จะบอกว่าทิ้งไปเลยแสดงว่าอาจารย์นั้นรู้สึกว่าไม่ค่อยรอบคอบ ว่าอย่างนั้นเลย ถ้าทิ้งไปเลย อ้าว ทิ้งไปเราก็ทิ้งได้ แล้วก็จุดไฟเผาเลย อะไรเราก็ทิ้งได้หมดเลย เผาไปแล้วก็มานั่งคิดนะ เอ๊ะ เผาอะไรไป เผาจบไปแล้วนะ ไอ้ที่เผาไปมันคืออะไร? ไม่รู้ว่าเผาอะไรไปเหมือนกัน แต่ถ้ามันพิจารณา

อ้าว ในนั้นมันคืออะไร? จิตมันคืออะไร? จิตมันเกิดอย่างไร? จิตมันดับอย่างไร? มันเศร้าหมอง มันผ่องใส มันมีความสุข มันมีความทุกข์ ทำไมมันเป็นอย่างนั้นล่ะ? ทำไมเดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวรับรู้ เดี๋ยวปฏิเสธ ทำไมมันแง่งอน มันเยอะนักล่ะ? ทำไมมันมีเล่ห์ มีเหลี่ยมมากมายขนาดนั้นล่ะ?

นี่เราก็ตั้งสติ เห็นไหม จิตสงบแล้วก็ดูมัน นี่พิจารณาอย่างนั้น ถ้าพิจารณาไปแล้ว ถึงที่สุดแล้วมันก็ต้องทิ้งเป็นธรรมดา แต่ทิ้งด้วยเหตุ ด้วยผล ทิ้งด้วยความเข้าใจ มันมีเหตุ มีผลนะ อ้าว ไฟ นี่ถ่านร้อนๆ นะ เราก็จับหมับ แหม อันนี้ทองคำๆ อ้าว พอรู้ว่าไฟนะ พอแบออกมามันไหม้มือไปหมดแล้ว แต่ถ้าไปจับทองคำๆ นะ มันยังว่าทองคำมันอยู่นะ มันยังไม่รู้ตัว นี่ยังไม่รู้ตัว แต่พอมันรู้ตัวนะมันทิ้งเลย โอ้โฮ พองไปหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันจับไปแล้ว มันไม่รู้ว่าจับไปแล้ว เราก็พิจารณาด้วยปัญญา พิจารณาด้วยปัญญา พิจารณาแยกแยะของมันไป พิจารณาดูมันไป ถ้าถึงที่สุดแล้วมันทิ้งเลย เห็นไหม จิตต้องทิ้งไหม? ทิ้งแน่นอน ทิ้งเด็ดขาด แต่ แต่ทิ้งให้มันเป็นสัมมาทิฏฐิ มัชฌิมาปฏิปทา ทิ้งด้วยความถูกต้องดีงาม ทิ้งด้วยปัญญา ทิ้งด้วยมรรค แต่ถ้าเวลาเราพูดกันทางวิชาการ เห็นไหม ต้องทิ้งใช่ไหม? เอาล่ะสิ ต้องทิ้งๆ มันสร้างภาพการทิ้ง มันก็เลยกลายเป็นว่ากิเลสละเอียดขึ้นไป ภาวนาก็ยากขึ้น

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์เวลาท่านเทศน์สั่งสอนนี่นะ ท่านจะไม่แบหมดไง ถ้าแบหมดนะ แล้วบอก อ้าว อย่างนี้มันก็ขัดแย้งสิ เวลาบอกว่าไม่มีกำมือในพระพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระอานนท์นะ

“อานนท์ ไม่มีกำมือในเรา”

พระพุทธเจ้าจะนิพพานไง แล้วพระอานนท์ก็คร่ำครวญ ต้องการมีคนสั่งสอน อานนท์ ไม่มีกำมือในเรานะ ไม่มีลับลมคมในในศาสนานี้ พระพุทธเจ้าแบหมดแล้ว แบหมดแล้ว ไม่มีกำมือในเราเลย เพียงแต่เราทำไม่ถึงเท่านั้นเอง

ทีนี้พอบอกว่าไม่มีกำมือในเราก็ต้องเปิดเผยแจ่มแจ้งหมดเลย ใช่ เปิดเผยแจ่มแจ้งหมดเลย แต่ แต่เราไม่เคยพบ เราไม่เคยเห็น เราก็รู้ไม่ได้ พอรู้ไม่ได้ปั๊บเราก็คาดคะเนสิ่งนั้นผิดหมด ทีนี้พอคาดคะเนสิ่งนั้นผิดหมดปั๊บ เวลาครูบาอาจารย์บอกว่ามันเป็นอย่างนี้ๆ ปั๊บเราก็คาดคะเนให้มันถูก กิเลสที่มันอยู่กับเรามันก็ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง เพราะการคาดคะเนมันไม่ใช่เป็นความจริง

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ พอไม่มีกำมือในเราเลย พอทำเสร็จปั๊บ เห็นไหม พระอรหันต์ในปัจจุบันนี้กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน เท่ากัน นี่ไม่มีอะไรผิดแปลกแตกต่างกันเลย แต่กว่าจะรู้ได้เกือบตาย ธรรมะอยู่ฟากตาย แต่ถ้าไปบอกมันก่อน เหมือนเด็กนี่ สังเกตได้ไหม เด็กนี่นะ อ้าว พ่อแม่มีมรดกอยู่ ๑๐ ล้านจะให้ลูก แล้วลูกมันโตขึ้นมาจะให้มันเลยไหม? ไม่ให้หรอก ต้องลูกบรรลุนิติภาวะก่อน

ถ้าลูกไม่บรรลุนิติภาวะนะ ๕ ขวบ ๑๐ ขวบบอกนี่เป็นมรดกของเอ็ง กูให้เอ็งเลย ไอ้เด็กคนนั้นนะ เด็ก ๑๐ ขวบ เด็ก ๕ ขวบมีเงินอยู่ ๑๐ ล้าน เด็กคนนั้นจะมีอันตรายกับตัวมันมาก มิจฉาชีพจะเข้ามาหาประโยชน์กับเด็กคนนั้น แล้วทุกๆ อย่างจะเข้ามาหลอกล่อเด็กคนนั้น เพราะเด็กคนนั้นมีเงิน ๑๐ ล้าน แต่ถ้าเรามีเงิน ๑๐ ล้านมรดกจะให้เด็ก เราก็สอนเด็ก รักษาเด็กให้มันโตขึ้นมามีการศึกษา มีความมั่นคง มีความเฉลียวฉลาด มีความรู้เขารู้เราขึ้นมา พอมันมารับมรดก มันรักษามรดกมันได้เลย

จิต! จิตถ้ามันยังเป็นเด็กอยู่ แล้วบอกว่านี่เงิน ๑๐ ล้านคือธรรมพระพุทธเจ้าไง ธรรมพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ๆ มันก็เอาธรรมพระพุทธเจ้ามาประดับตัวมันไง บอกนี่ไงนิพพานๆ โดยที่มันไม่รู้อะไรเลย เงิน ๑๐ ล้านนั่นคือมรรคผล แล้วตัวเด็กมันยังไม่มีความจริงของมัน แต่ถ้าเด็กมันโตขึ้นมาๆ เงิน ๑๐ ล้านมันจะมีคุณค่ามาก มันจะมีคุณค่า แล้วมันจะรักพ่อ รักแม่มันมาก ว่าพ่อแม่รักมันมากขนาดนี้ ให้มรดกกับมันอย่างนี้

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่สุดยอดมากเลย แต่พวกเราเข้ากันไม่ถึงไง ฉะนั้น พอเข้าไม่ถึง แล้วความคุ้นชิน พอไปวัดนะ อ๋อ วัดก็มีเท่านี้เนาะ วัดก็ไปวัด ไปถึงวัดเสร็จก็ทำบุญ ทำบุญเสร็จแล้วก็กลับบ้าน แล้วทำทุกวัน เออ วัดมีเท่านี้เองเนาะ แต่ไม่รู้หรอกว่าวัดนะ นี่หลวงปู่ฝั้น หลวงตาท่านบอกว่า “วัดคือข้อวัตรปฏิบัติ”

วัดไปวัดใจ หลวงปู่ฝั้นบอกว่า “วัดนี่ไปวัดใจดู ว่าใจนี้มันกว้างขวางหรือมันคับแคบ ใจมันดีหรือใจมันไม่ดี” นี่วัดอยู่ที่นั่น เขาไม่ใช่วัดที่อิฐ หิน ทราย ปูน วัดคือคุณธรรม วัดปฏิบัติ ข้อวัตรปฏิบัติอันนั้นวัดหัวใจ หัวใจมันเจริญเติบโตไหม? หัวใจมันอับเฉาไหม? นั่นวัดเป็นอย่างนั้น นี่ไงเพราะว่ามันคุ้นชินแล้ว พอไปวัด ไปวัดก็ไปเท่านี้ ไปวัดเสร็จแล้วก็กลับ นี่เราถึงบอกว่าถ้าศาสนามันมีคุณค่ามาก

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าต้องทิ้งไหมนี่ใช่นะ โดยคำว่าต้องทิ้งไหม? นี่ต้องทิ้ง แต่ แต่ถ้ามันเป็นการปฏิบัติ ถ้าบอกว่าทิ้งหรือบอกอย่างนี้เราก็คิดกันเลย เห็นไหม ดูสิเราฟังแล้วมันหัวเราะในใจนะ มีผู้ปฏิบัติเขาบอก ครูบาอาจารย์บอกต้องพิจารณากายนะ ต้องวางกายนะ เขาก็บอกว่าตั้งกายขึ้นมา แล้วก็เอาระเบิดโยนเข้าไป เขาใคร่ครวญทางวิทยาศาสตร์ไง เราก็ตั้งกายขึ้นมาใช่ไหม? แล้วเราก็จุดไฟเผามัน แล้วเราก็เอาระเบิดยิงมัน แล้วก็เอาจรวดยิงมัน เขาสอนกันอย่างนั้นนะ

พอเราฟังแค่นี้เราก็สะดุ้งเลยนะ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะการพิจารณากายมันพิจารณาด้วยญาณ ด้วยทัศนะ ด้วยความรู้สึกของใจ มันไม่ใช่ด้วยระเบิด มันไม่ใช่ ไม่ใช่ยิงมันด้วยปืน อย่างนั้นนะ พิจารณากายนะแล้วก็ทุกคนจะเตรียมเช็คไว้คนละใบ กรอกตัวเลขว่าจะซื้อได้เมื่อไหร่? มันก็ได้ นี่เวลาพิจารณาก็เอากระดาษมาใบหนึ่งคือเช็ค ดูว่าใครจะใส่ตัวเลขได้มากกว่ากัน ประมูลไง ประมูลมรรค ผล

นี่คิดแบบโลก ตอนนี้โลกกับธรรม ผู้ที่ปฏิบัติไม่มีหลักมีเกณฑ์ แล้วความคิดทางโลก ทางวิชาการมันบวกเข้ามา พอบวกเข้ามามันก็เป็นไป พอมันเป็นไป เวลาคำสอนที่มันพูดออกมา นี่หลวงตาบอกว่า “ศีลจะรู้ได้ต่อเมื่อเราอยู่ด้วยกัน” คนอยู่ด้วยกัน ๑๐ ปี ๒๐ ปีศีลคือการประพฤติปฏิบัติมันจะรู้ว่าพระองค์นี้ หรือหมู่คณะคนนี้จริงหรือไม่จริง

ธรรม ธรรมจะรู้ได้ตอนอ้าปาก ตอนพูดนี่ ถ้าพูดนะ ถ้ามันไม่มีในหัวใจนะ พูดมามันก็สีซอไง ซื่อบื้อๆ อยู่อย่างนั้นแหละ แต่ถ้ามันมีในหัวใจนะ พูดอย่างไรก็เป็นธรรม ธรรมจะรู้ได้ต่อเมื่อมันแสดงออก การแสดงออก อย่างเช่นเรามีเพื่อนอยู่ด้วยกัน มันซื่อบื้อ ทำอะไรไม่เป็นสักอย่างหนึ่งเลย แล้วมันบอกว่าเป็นพระอรหันต์ โยมเชื่อไหม? โยมเชื่อไหมล่ะ?

อ้าว นี่ไงธรรมจะรู้ได้ต่อเมื่อการแสดงออก ฉะนั้น เวลาเขาแสดงออกมาแล้วมันไม่มีเหตุมีผล แหม แล้วทีนี้ถ้ามันเป็นอย่างนั้นไปแล้ว คำว่า แหม นะ ตัวเขาส่วนตัวเขา แต่มันมีผลกับผู้ที่เชื่อ แล้วผู้ปฏิบัตินี่เราเป็นโรคภัยไข้เจ็บมากเลย เสร็จแล้วเราก็เชื่อว่าวัตถุสิ่งหนึ่งเป็นยาที่รักษาได้ ทั้งที่มันรักษาไม่ได้ แล้วเราก็รักษาด้วยวัตถุสิ่งนั้นตลอดไป โรคเราไม่มีวันหาย ถ้าเราเป็นโรคภัยไข้เจ็บนะ แล้วเราก็เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะรักษาโรคได้ แล้วเราก็ใช้แต่อย่างนี้ แล้วเราจะหายได้ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเขาแสดงธรรมแบบนั้น ธรรมคือธรรมโอสถที่มันจะชำระกิเลส แล้วมันไม่มีคุณภาพที่ชำระกิเลสได้ มันจะชำระกิเลสได้ไหม? แล้วคนที่เชื่อจะเสียโอกาสไหม? คนที่เชื่อ แล้วเขาใช้วัตถุอย่างนั้นเขาจะได้สิ่งใดขึ้นมา นี่ไงเวลาฟังมันก็เหมือนกับ อย. เขาจะพิสูจน์เลยว่ายานี้ได้รับการรับรองจาก อย. หรือเปล่า? ถ้าไม่ได้รับเขาเก็บจากตลาดเลยไม่ให้ขาย แต่นี่มันเกลื่อนตลาดเลยนะ หลับไปตื่นมาเป็นพระอรหันต์ นี่พูดถึง “จิตต้องทิ้งหรือไม่? ควรละทิ้งหรือไม่?”

ฉะนั้น นี่พูดถึงอารัมภบท วันนี้อารัมภบทยาวเลย ยังไม่ได้ตอบปัญหาเลยนะมึง (หัวเราะ)

ถาม : ๑. จิตนี่แหละธรรมะที่มันเป็นทุกข์ เพราะมันส่งออกไปรู้อะไรข้างนอกตลอด มันรู้สึกสิ่งที่ออกไปสัมผัสเป็นจำนวนมาก แล้วมันก็เข้าใจผิดเรื่องราวต่างๆ ไปด้วยในตัวมันเอง เช่นจิตมันเข้าใจผิดว่าตัวมันเองคือตัวเรา ทุกครั้งที่มันส่งออก กระบวนการของขันธ์ ๕ ทำงานเร็วมาก และเกิดเวทนาที่ฐาน การตั้งของจิตที่กึ่งกลางหน้าอกจิตก็หลงว่าเวทนาคือเรา ครบกระบวนการของขันธ์ ๕ แล้วเกิดความคิด กายก็ทำตามความคิดทันที จิตก็เข้าใจว่าร่างกายนี้เป็นเราอีก ผมว่าจิตนี่แหละคือตัวทุกข์

หลวงพ่อ : มันถูกต้อง คำว่าถูกต้องนะหมายความว่า นี่ถ้าคนไม่ภาวนาจะไม่เห็นว่าขันธ์ ๕ มันจะทำกระบวนการของมันเร็วมาก นี่ขันธ์ ๕ กระบวนการของมัน เรารู้ เราเห็นได้แสดงว่าเราทำงานเป็น ถ้าเราทำงานเป็นแล้วเราก็ทำงานของเราเรื่อยไป พอทำเรื่อยไป เวลามันปล่อยไง ถ้ามันปล่อย เห็นไหม เขาบอกจิตมันไม่มี ที่มันต้องละไว้ นี่ผลของมันปล่อย

เราพูดบ่อยมากว่าผลของสัมมาสมาธิ กับผลของความสงบของใจนี้อย่างหนึ่ง ผลของการวิปัสสนาคือผลของการปล่อยวางนี้อย่างหนึ่ง เห็นไหม เวลามันปล่อยวาง จิตก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี อะไรไม่มี แต่มี มีธรรมอยู่ไง ธรรมที่เหนือจิตที่มันครอบคลุมหมดไง จิตมันถึงได้รวมลงได้ไง ถ้าจิตรวมลงได้ นี่กระบวนการของมันมี ถ้าคนทำได้มันจะมีเหตุมีผลไง เหมือนยานี่มีส่วนผสมของมัน แต่ส่วนผสมนี้มันยังไม่กลมกล่อม ยังไม่สมดุลขึ้นมา อย่างเช่นการหมัก เห็นไหม การหมัก การทำอะไรให้มันมีอายุของมัน แล้วคุณภาพของมันต้องดีขึ้น

ฉะนั้น ในการวิปัสสนามันจะวิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า คำว่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตทังคปหานมันมีได้มากมายมหาศาล ถ้าตทังคปหานมันมีผลไง ผลของมันคือการใช้ปัญญามันไม่ใช่สมาธิ สมาธิอย่างที่ว่านี่ อัปปนาสมาธิมันอยู่ของมันเฉยๆ อยู่ของมันนี่รู้ สัมมาสมาธิ

“นี่รสของธรรมชนะรสทั้งปวง”

รสของสมาธิธรรม รสของปัญญาธรรม รสของธรรมรู้ได้ เพียงแต่ว่าถ้ารสของสมาธิธรรม เราทำความสงบของใจได้นี่รสของสมาธิธรรม เห็นไหม แต่รสของปัญญา รสของมรรคญาณที่เรายังชำระไม่ได้เราก็ยังสงสัยอยู่ พอสงสัยอยู่เรารับรู้ได้แต่อัปปนาสมาธิ แต่ถ้าเมื่อใดเราพิจารณาของเรา เวลามันปล่อยขึ้นมามันเป็นรสของวิปัสสนาธรรม

วิปัสสนาธรรม เห็นไหม การใช้ปัญญามันลึกซึ้งกว่า เพราะว่ามันชำระล้างกว่า ผ้าที่สกปรกแช่น้ำอยู่มันก็เปียก ถ้าเอาขึ้นมาสะบัดมันก็แห้ง แต่ผ้าที่สกปรก เวลาเราซักขึ้นมา ซักแล้วมันสะอาดขึ้นมา มันเอาความสกปรกออกไปด้วย

ผ้าที่ชุบน้ำขึ้นมาตากอย่างหนึ่ง ผ้าที่ซักน้ำกับผงซักฟอกขึ้นจากน้ำมันต่างกัน ต่างกันที่ว่าชุบน้ำเปียก กับซักให้สะอาด คุณค่าของคุณภาพของผ้ามันต่างกัน วิปัสสนามันชำระให้สะอาด แต่สัมมาสมาธิมันแค่ชุบน้ำไว้ไง นี่มันแตกต่างกัน ถ้าแตกต่างกัน ผลของปัญญา ผลของธรรมมันจะมีขึ้นมา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าข้อที่ ๑. ถ้ามันทำอย่างนี้มันก็เข้าใจได้ว่าจิตนี่แหละทุกข์ ใช่ จิตนี่แหละทุกข์ นี่เหตุเกิด เห็นไหม เหตุเกิดเพราะใจเราเท่านั้น เหตุเกิดเพราะจิตไม่มีสิ่งใดเลย จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นประธาน จิตเป็นผู้รับรู้ทั้งสิ้น แต่มันรับรู้ทุกข์มันก็ทุกข์ของมัน เต็มตัวของมัน แล้วทุกข์เต็มตัวนะ รับรู้ทุกข์เต็มตัวยังมีทิฐิมานะนะ พวกไปวัดนี่พวกที่เวลาว่างเกินไป ตัวมันทุกข์เต็มที่นะ มันยังติเตียนคนอื่นอีกนะ มันยังไม่ยอมรับว่ามันทุกข์นะ ว่ามันไม่มีทางออกไง

นี่มันทุกข์เต็มที่เลยมันก็ยังว่าคนนู้นนะทำไมไปวัดไปวา คนนู้นยังปฏิบัติ โอ๋ย โง่มากเลย หาเงินมาแล้วก็นี่ทำบุญ ทำกุศล สู้เราไม่ได้เรามีแต่เอาเก็บไว้ใช้ มันทุกข์ขนาดนั้นมันยังเที่ยวติเตียนคนอื่น แต่ถ้ามันพลิกมา พอมันพลิกเห็นคุณธรรมขึ้นมามันจะเศร้าใจเลยนะ เศร้าใจมาก นี่คิดถึงหลวงตาเวลาหลวงตาท่านพูด ลูกศิษย์ท่านคนหนึ่งอยู่ที่เมืองจันท์ เป็นนักเลงมาก แล้วมีคนมาชวนไปวัดเขาไม่ไปหรอก จนหลวงตาไปอยู่ที่นั่นเขามีบุญกุศลมั๊งเขาถึงเชื่อหลวงตา แล้วไปภาวนากับหลวงตา

แล้วเขาเล่าให้หลวงตาฟังไง บอกว่าคิดถึงจิต ที่ว่าจิตมันทุกข์ จิตมันยาก นี่สารภาพกับหลวงตาไง บอกก่อนหน้านั้นมีคนเขามาชวนโยมคนนี้ไปวัด เขาบอกเลยนะ พอเขามาชวนไปวัดมันโกรธเขามาก โกรธเขาจนลืมตัวไง โกรธจนคิดจะฆ่าเขา มันเหมือนกับเขาว่าดูถูกไง แต่ความจริงเขามาชวนไปวัด แต่พอจิตเขาพิจารณาแล้ว พอเขามาเชื่อหลวงตาแล้ว เขามาวัดเขาไปหาหลวงตา เขามาสารภาพกับหลวงตาไง

“ก็เขาชวนไปวัด ก็เขาชวนไปวัด”

มันซึ้งไง แต่เมื่อก่อนนั้นนะ ก่อนที่จะมีปัญญาอย่างนี้คิดจะฆ่าเขาเลยนะ เพราะเขาเป็นนักเลง พอมีคนมาชวนเขาไปวัดเขาโกรธมาก มันเหมือนการสบประมาทกัน แค่คนมาชวนไปวัดนะ หาว่าเขามาสบประมาท แต่เวลาเขามาวัดเอง แล้วเขามาพิจารณาของเขาเอง เวลาเขาไปสารภาพกับหลวงตา ก็เขาชวนไปวัด ก็คือเป็นความดีไง พอจิตมันพลิกแล้วเห็นว่าเขามาชวนไปวัดเขาปรารถนาดี เขาปรารถนาดีเขาอยากชวนเราไปวัด แต่ตอนที่จิตใจมันปิดกั้น เห็นไหม เขามาชวนไปวัดนี่โกรธเขามาก นี้เขาสารภาพนะ

หลวงตาพูดอยู่ในเทปบ่อยเรื่องนี้ ตอนอยู่ที่น้ำตกพลิ้วที่เมืองจันท์ เพราะคนๆ นี้เขาเป็นนักเลงใหญ่ แต่พอเขามาอยู่กับหลวงตาแล้วเขาภาวนาดีมาก เขารู้วาระจิตหมดเลย มันก็เหมือนกับที่อยู่มูเซอกับหลวงปู่มั่น ที่ว่าพอจิตสงบแล้วเห็นวาระจิตหมดเลย นี่พอจิตเขาลงนะเขาเห็นหมดเลย เขารู้หมดเลยนะ แต่ก่อนหน้านั้น โอ้โฮ มันสังเวชไง นี่ว่าถ้าจิตเป็นทุกข์ไหม? ใช่

นี่ข้อ ๒.

ถาม : ผมว่าจิตนี้ไม่ควรไว้ใจ เพราะความเป็นจิตและผลผลิตของจิตที่ออกมาคือสมมุติบัญญัติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

หลวงพ่อ : แน่นอน มันไว้ใจไม่ได้ทั้งนั้นแหละ ทีนี้ไว้ใจไม่ได้ใครจะรู้ทันมันล่ะ? ถ้าเราไว้ใจไม่ได้ เห็นไหม กรณีนี้เป็นกรณีที่สามเณรน้อยสอนพระโปฐิละไง พระโปฐิละนี่นะเป็นอาจารย์ใหญ่ เรื่องปริยัติสอนได้หมดเลย ลูกศิษย์ ๕๐๐ อู้ฮู ไปไหนมีแต่คนนับหน้าถือตา อู้ฮู สังคมนี่ยอมรับมาก เพราะแม่นยำในตำรามาก สอนปริยัติชัดเจนมากเลย ทุกคนศรัทธามาก แต่เวลาไปกราบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่า “โปฐิละใบลานเปล่า”

ใบลานเปล่า คือความจำเปล่าๆ จนสะกิดใจไง ไปหาสามเณรน้อย พอหาสามเณรน้อยนี่ทิ้งเลย ทิ้งแล้วไปหาวัดปฏิบัติ เป็นพระอรหันต์ตั้งแต่หัวแถวยันท้ายแถว ไปถึงองค์สุดท้ายคือสามเณรน้อย พอสามเณรน้อยนี้รับไว้ศึกษา เห็นไหม นี่เข้ามาตรงนี้ ตรงที่ว่าจิตเป็นสมมุติบัญญัติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ นี่สามเณรน้อยสอนว่า

“ร่างกายนี้เหมือนจอมปลวก จอมปลวกนี้มีทวารอยู่ ๖ ทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้ปิดไว้ ๕ ทวาร เปิดไว้ทวารหนึ่งคือมโน ใจ”

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ปิดให้หมดเลยเหลือแต่ใจ แล้วคอยจับเหี้ยตัวนั้น เหี้ยตัวนั้น เหี้ยตัวนั้นนะ พอเวลาจิตสงบแล้วนี่วิปัสสนาไง เหี้ยตัวนั้นออกมา เหี้ยตัวนั้นคือกาย เวทนา จิต ธรรมจับมันให้ได้ ถ้าจับได้วิปัสสนา

นี่ไงจะบอกว่าจิต ผลของจิตมันเป็นสมมุติบัญญัติทั้งหมด นี่เวลาสอนโปฐิละ โปฐิละนี่เวลาสอนเขานะ เวลาปริยัติสอนเขา อู๋ย ใบลานเปล่าสอนเขานี่รู้หมด ธรรมะนี่แม่นมากจนคนร่ำลือ ลูกศิษย์มหาศาลเลย อู๋ย พูดได้ชัดเจนแล้วแม่นยำหมดเลย แต่จริงๆ ไม่รู้จักตัวเอง ฉะนั้น เวลาสอนนะ สอนบอกว่าให้เปรียบเหมือนร่างกายนี่เป็นจอมปลวก จอมปลวกนั้นมีรูอยู่ ๖ รู ปิดซะ ๕ รูเหลือไว้รูเดียว ในรูจอมปลวกนั้นมีเหี้ยตัวหนึ่งอยู่ในนั้น แล้วพอปิดทั้ง ๕ รู มันเหลือรูเดียวมันต้องออกรูนั้น แล้วให้คอยจับเหี้ยตัวนั้น ถ้าจับเหี้ยตัวนั้นได้ก็วิปัสสนาได้

นี่ก็เหมือนกัน ที่ว่าเราจะทิ้งจิต เราจะจับจิต เราจะจับจิต เราจะรู้จิตอย่างไร? แล้วจะพิจารณามันอย่างไร? นี่ไงเวลาพิจารณา พระพุทธเจ้าถึงให้พิจารณาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม พอมันออกทางใดทางหนึ่ง เห็นไหม ฉะนั้น บอกว่าจิตนี้เป็นสมมุติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แน่นอน ถึงเป็นสมาธิก็เป็นสมมุติ ถ้ายังเป็นปัญญาอยู่มันเป็นสมมุติบัญญัติ สมมุติเหมือนกัน แต่สมมุติละเอียด แล้วพอถึงที่สุดแล้วมันจะฆ่าของมันได้

ถาม : ๓. การอารัมภบทข้างต้น ผมว่าสภาวะที่ไม่มีเรื่องเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องภพคือไม่มีอดีต ปัจจุบัน อนาคตแต่ก็รู้ได้โดยไม่มีเรื่องเวลามาเกี่ยวข้อง คือการทิ้งจิตหรือเปล่า?

หลวงพ่อ : ถ้าเป็นการใช้ปัญญา พิจารณามันปล่อย นี่ใช่ การทิ้งจิต การทิ้งนะ ทีนี้เราปล่อย สมมุติว่ามีของอยู่ในนี้ เราจะปล่อยหมดเราจะเหลืออะไรไว้ เราต้องทิ้งหมด ทีนี้การทิ้งหมดมันจะเหลืออะไรล่ะ? เหลือปัญญา เหลือความรู้ รู้จากการพิจารณาตรงนั้น ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราพิจารณาแล้วมันปล่อยหมด ต้องให้หมดเลยอย่าให้เหลือ เหลือสิ่งใดไม่ได้

เราพูดบ่อยมากในเทศน์บนศาลา เห็นไหม ต้องพิจารณาจนไม่มีเหลือบ ไม่มีมุม ไม่มีสิ่งเหลืออยู่เลย แม้แต่ ๙๙.๙๙ นะ เหลือ ๐๐.๑ นั่นล่ะกิเลสมันอยู่ตรงนั้น เวลามันอยู่ตรงนั้นนะ มันหลบตัวมันอยู่ตรงนั้นได้นะ พอจิตมันเสื่อมนะ จาก ๐๐.๑ นี่แหละมันออกมาเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย เพราะมันยังไม่สะอาดบริสุทธิ์ไง แต่ถ้าพอพิจารณาจนเต็ม ๑๐๐ ไม่มีอะไรเหลือเลย ขาดหมดเลย สะอาดหมดเลย นั่นแหละธรรมะเป็นอย่างนั้น ธรรมะคือสะอาดบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ของโลกไม่มี ๙๙.๙๙ ๙๙.๐ นั่นน่ะ มันจุดไง มันไม่มี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มี ไม่มี แต่ธรรมะมี

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ ใช่ต้องเต็มที่เข้าไป แต่คำว่าเต็มที่ มันต้องเต็มที่แบบเป็นธรรมนะ ฉะนั้น ถึงบอกว่าคือการทิ้งจิตหรือเปล่า? ทีนี้คำว่าทิ้งจิตหรือไม่ทิ้งจิต เราไม่เอาตรงนี้เป็นประเด็นไง ถ้าเราเอาอะไรเป็นประเด็นนะ กิเลสมันอยู่ตรงนั้นแหละ กิเลสนี่ถ้าเราคิดอะไรต้องเหลือนู่น ต้องเหลือนี่ กรณีอย่างนี้กรณีที่ว่าหลวงตาท่านพิจารณา เวลาถึงสุดท้ายโลกนี้ว่างหมดเลย ทุกอย่างว่างหมดเลย จิตนี้มหัศจรรย์มาก

นี่ว่างไปหมดเลยนะ ภูเขาเลากานี่มองทะลุไปหมดเลย ติดนะว่าง ว่าง เวลาท่านพิจารณาซ้ำกลับมาถึงจุดและต่อม แล้วทำลายหมดแล้วนะท่านบอกว่าความว่างเป็นกองขี้ควาย ไอ้ว่างๆ นี่กองขี้ควาย นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าต้องทิ้งหรือเปล่า? ต้องอะไร? พอทิ้งไปแล้วนะ อ๋อ แต่ตอนนี้ยังสงสัยนะ กล้า ไม่กล้า ละล้าละลังไง แต่พอทิ้งไปแล้วนะกองขี้ควาย แต่ก่อนที่ว่ามหัศจรรย์นะ จิตนี้ว่างไปหมด พอว่างหมดมันก็เหมือนสมบัติของเราไง โอ้โฮ ทำงานมาเกือบตาย ได้โบนัสมา ๕ เดือน แล้วจะทิ้งโบนัสเหรอ ไม่กล้า เอ๊ะ จะไปใช้ต่อไม่กล้าทิ้ง

นี่เป็นวัตถุ แต่เป็นธรรมะนะยิ่งทิ้งยิ่งรวย ยิ่งทิ้งยิ่งเยอะ ยิ่งทิ้งยิ่งมี ยิ่งทิ้งยิ่งได้ ยิ่งเก็บสะสม กิเลสทั้งนั้น ยิ่งสะ ยิ่งสม ยิ่งสงวน ยิ่งรักษา นั้นคือตัวมันทั้งนั้นนะ ยิ่งสงวน ยิ่งรักษา ยิ่งดูแลมันหัวเราะเลย เพราะอะไร? เพราะเป็นเชื้อไขเดียวกันไง เกิดมาด้วยกัน เกิดมาด้วยกันไม่กล้าทิ้ง ไม่กล้าทิ้งเชื้อไขของตัว แต่ถ้าได้ยิ่งทิ้ง ยิ่งละ เดี๋ยวจะรู้ ทีนี้อันนี้ เห็นไหม ต้องทิ้งอย่างเดียว

ถาม : ๔. เมื่อผมวิปัสสนาไปเรื่อยๆ ยิ่งมั่นใจว่าจิตนี่แหละคือเราทุกข์ไม่จบสิ้น ถ้าจะทิ้งจิตไป เพราะเสี้ยนหนามที่ทำให้เราปวดแสบปวดร้อน และทุกข์ร้อนตลอดเวลาก็คือจิตนี่เอง ผมรู้สึก ๒ จิต ๒ ใจ กล่าวคือกลัว ทั้งๆ ที่ผมว่าผมก็ทิ้งจิตมาแล้วครั้งหนึ่งในข้อ ๓. คือกลัวตลอดชีวิต

หลวงพ่อ : คำว่ากลัว นี่มันละล้าละลังอย่างนี้ มันไม่กล้า พอมันไม่กล้า แม้แต่เข้าสมาธิเราก็ไม่กล้าเข้า เวลาจิตมันวูบลงก็กลัว นี่ความกลัว เห็นไหม ธรรมะอยู่ฟากความตาย ถ้ากลัวนี่ เราเคยเป็นนะ เวลามันจะเป็นจะตายมันหลอกนะ หลอกจะเป็นจะตายนะ สุดท้ายเราบอกว่า

“อะไรตายก่อนขอดู”

พอเรารู้ทันมันนะ มันหลอกซ้ำ คราวนี้มันไม่บอกว่ากลัวตาย ไม่กลัวตาย มันทำให้มีความรู้สึกรังเกียจในอาหาร อดอาหารจนกินข้าวไม่ได้เลย วันไหนจะกินข้าวมันจะเกิดอาการต่อต้าน คำว่าจะกินข้าวหมายถึงต้องออกบิณฑบาตนะ ถ้าจะกินข้าวไม่มีข้าวกินหรอกพระนี่ ถ้าจะกินข้าวต้องบิณฑบาต ถ้าบิณฑบาตมาแล้วถึงจะมีข้าวกิน

ฉะนั้น พอเริ่มเตรียมบาตรจะออกบิณฑบาตมันเกิดอาการปั่นป่วน มันอาการปั่นป่วนหมด มันจะอาเจียน ก็เลยบอก เออ อย่างนั้นไม่ไป ถ้าไม่ไปหายทันที เราเป็นอยู่หลายวัน พอจะบิณฑบาตมันเกิดอาการปั่นป่วนๆ แต่เริ่มต้นมันหลอกว่าตายก่อน มันสู้มาได้ทีละเปลาะๆ นะ พอบอกว่าจะตายๆ อะไรตายก่อน

มันใช้ปัญญาไง ไม่มีอะไรตาย มันก็เลยภาวนาต่อ แต่พออดอาหารมันภาวนาดี แต่พอภาวนาดีแต่หลายวันมันจะตาย พอมันจะตายก็ต้องออกไปบิณฑบาตมากินข้าว พอเตรียมตัวจะออกบิณฑบาตนี่อู้ฮู มันจะอาเจียน เหมือนคนเปรี้ยวๆ เค็มๆ โอ๋ย มันป่วน มันจะพุ่งออกเลย จะพุ่งเลยนะ เออ อย่างนั้นไม่ไป พอไม่ไปก็หายนะ เสร็จแล้วพอมันไม่ไปก็เดินจงกรม อย่างนี้ตายจริงๆ เว้ย อย่างนี้ไม่ใช่หลอก อย่างนี้ไม่ใช่หลอกว่าตายนะ อย่างนี้ตายจริงๆ เดินจงกรมอยู่นะ เดินจงกรมอยู่ ก็ใช้ปัญญาสู้กับมัน ใช้ปัญญาสู้

นี่กิเลสของเราเองนะ ใช้ปัญญาสู้เลยว่าอาหารมันสกปรกอย่างไร? ทำไมเรารังเกียจอาหาร แต่เดิมเวลาอดอาหารนี่อดอาหารเพื่อภาวนา แล้วคราวนี้มันไม่ยอมกิน แล้วไม่ยอมบิณฑบาต ไม่ยอมอะไรทั้งสิ้น พอเริ่มจะบิณฑบาตเกิดอาการที่ปั่นป่วนในร่างกายหมดเลย เอ็งรังเกียจอะไร? มันถามตัวเองนะ เอ็งรังเกียจอะไร? เอ็งรังเกียจอาหารหรือ? เอ็งรังเกียจข้าวหรือ? เอ็งรังเกียจส่วนผสมมันหรือ? เอ็งรังเกียจ

ถามตัวมันเองนะ ถามมันไปเรื่อยๆ จนมันบอกว่า อืม มันซักด้วยเหตุผลมันก็จนตรอกใช่ไหม? มันก็เลยพูดกันเองนะ ปัญญากับกิเลสมันคุยกัน เอ๊ะ ถ้าอย่างนั้นพรุ่งนี้เรากินข้าวได้ไหม? มันถามตัวเองนะ เอ๊ะ ถ้าอย่างนั้นพรุ่งนี้เรากินข้าวได้ไหม? มันก็ยังไม่ยอมตอบนะ พักใหญ่เลย น่าจะได้ น่าจะได้ นี่มันต้องคุยกัน ใช้เหตุผลจนจิตมันยอมรับนะ พอยอมรับขึ้นมา เช้าขึ้นมานี่เตรียมบาตรบิณฑบาตได้ ไม่อย่างนั้นบิณฑบาตมันจะอาเจียน มันจะอ๊วกทันทีเลยล่ะ มันจะพุ่ง

แล้วไม่ใช่อ๊วกธรรมดานะ พออาเจียนทีหนึ่ง คนอดกินข้าว อดข้าวมาเป็น ๕ วัน ๑๐ วันมันก็ไม่มีอะไรในท้องอยู่แล้ว เวลาอาเจียนมันมีแต่น้ำดำๆ เขียวๆ นั่นน่ะ เวลาจะอาเจียนออกมามีอะไร? โอ๋ย เวลาจะอาเจียนมันก็เสียพลังงานมาก อู๋ย ทุกข์ฉิบหายเลย นี่จะฆ่ากิเลสนะ ฉะนั้น พอพิจารณาจนพอแล้วมันก็ออกได้ แล้วมันบิณฑบาตมาฉันได้ พอฉันเข้าไปแล้ว พอฉันเข้าไปแล้วนะ อย่างที่หลวงตาว่า พอฉันเข้าไปร่างกายนี่เหมือนกับม้าดีดได้เลย พออาหารตกถึงท้องนะมันเข้มแข็ง แข็งแรงขึ้นมาทันทีเลย แต่หัวใจสิ หัวใจนี่สู้มาอย่างนั้น

นี่เวลากลัวไง ความกลัว ความกล้า ความอะไรนี่มันเป็นจิตใต้สำนึก มันมีมา มันมีของมันอยู่แล้ว ฉะนั้น สิ่งนี้เราต้องใช้ปัญญาของเรา ใคร่ครวญของเรา แต่ไอ้เรื่องทิ้งไหม? จิตต้องทิ้งไหม? ทิ้งแน่นอน แต่ แต่ถ้าบอกทิ้งปั๊บ ไอ้ความกลัวนี่มันบอกกูทิ้งแล้ว กูทิ้งแล้วกูจะทิ้งอย่างนี้ มันจัดกระบวนการทิ้งให้เลยนะ ทิ้งเสร็จแล้วๆ กิเลสอย่างเก่านั่นแหละ

นี่เวลาสู้กับกิเลสมันร้ายอย่างนี้ ร้ายนัก กิเลสนี้ร้ายนัก แต่เราทำมาได้ขนาดนี้ แสดงว่าเราก็มีอำนาจวาสนานะ อำนาจวาสนา เรารู้จักมัน เราแก้ไขมันมา แล้วเวลานี่เป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน ตนเป็นผู้กระทำ ตนเป็นผู้สัมผัส ตนเป็นผู้เห็น ถึงจะรู้ได้ นี่เวลาหลวงตาท่านบอกนะ

“ในโลกนี้ ไม่เคยเห็นโทษสิ่งใด หรือเล่ห์เหลี่ยมของใครจะร้ายเท่ากิเลส”

นี่ไง นี่เราปรารถนาดีนะ เราทำคุณงามความดีนะ แล้วนี่เราปฏิบัติมาเราได้เป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา เรารู้ดีของเรานะ แล้วนี่ใครหลอกเรา? ใครแกล้งเรา? กิเลสของเราไง นี่หลอกเรา แกล้งเรา ทำร้ายเรา ทำให้เราพลัดออกไปจากทาง แต่เราก็พยายามสู้กับมัน ดูแลของมัน ทำของมันมา นี่เพราะความกล้า ความกลัว ๒ จิต ๒ ใจ นี่มันธรรมดา

โธ่ จะกระโดดลงไปในน้ำ น้ำลึกขนาดไหนไม่รู้ ไม่กล้า ไม่กล้า แต่ถ้าเรามีความชำนาญ เราต้องกระโดดลงน้ำ เพราะเพชร นิล จินดามันอยู่ในนั้น ถ้าเราลงไปเราจะได้เพชร นิล จินดาขึ้นมานี่เราไปเลย แต่ไปแล้วก็ต้องว่ามันมีสัตว์ร้ายไหม? มันมีอะไร เรารักษาของเรา ดูแลของเรา ต้องไป ต้องทำ ต้องได้

ฉะนั้น จิตนี้ควรทิ้งไหม? ควร แต่ทิ้งด้วยปัญญา ทิ้งด้วยการกระทำ ไม่ใช่ว่าทิ้งแบบ ถ้าทิ้งเราก็คิดแบบโลกๆ ทิ้งแบบโลก ทิ้งแบบทำลายแบบโลก จิตมาก็บดมันเลย เดี๋ยวนี้ยิ่งมีเครื่องบดด้วย จับจิตบดแล้วก็ละเอียดเลย จบ นี่มันคิดไปนู่นเลย แต่ความจริงบดมันบดวัตถุ จิตเป็นนามธรรม ความรู้สึกนึกคิดมันไม่มีสิ่งใดไปบดมันได้ นอกจากเอามรรคญาณ เอาความรู้สึกนึกคิดของเรา ไปทำลายความรู้สึกนึกคิดที่มันเป็นโทษ

มรรคญาณ ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ เป็นความรู้สึกนึกคิดที่เป็นธรรม เอาความรู้สึกนึกคิดเป็นธรรมนี้ เข้าไปทำลายความรู้สึกนึกคิดที่เป็นโทษ ที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเรา งานถึงได้ยากอย่างนี้ไง มันยากเพราะว่ากิเลสมันเป็นนามธรรม แล้วเวลาสิ่งที่เป็นความรู้สึกนึกคิดก็เป็นนามธรรม เราก็ต้องตั้งสติของเรา ปัญญาของเราขึ้นมา เพื่อชำระล้างมาให้เป็นความจริง ให้เป็นธรรมของเรา เอวัง