ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ตื่นโสดาบัน

๗ ม.ค. ๒๕๕๕

 

ตื่นโสดาบัน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๗๕๘. ข้อ ๗๕๙. ไม่มี

มันข้อ ๗๖๐. เนาะ

ถาม : ๗๖๐. เรื่อง “การแผ่เมตตาที่จะได้ผล ต้องมีสมาธิถึงระดับอัปปนาสมาธิใช่หรือไม่?”

กราบนมัสการหลวงพ่อ ด้วยโยมเลี้ยงหมาไว้เฝ้าบ้าน อายุ ๗ ขวบแล้วมันตายไป โยมอยากจะแผ่เมตตาให้มันได้เกิดเป็นมนุษย์ แต่เคยอ่านมาว่า “การแผ่เมตตาจะมีผลนั้น ต้องถึงอัปปนาสมาธิก่อนถึงแผ่ตอนนั้น” โยมต้องไปทำสังฆทานให้มันใช่ไหมคะ คือโยมยังทำไม่ถึงระดับนั้น หมาตัวนี้มันจะเฝ้าโยมเวลาเดินจงกรม แล้วบางครั้งโยมจะพามันเดินจงกรมและท่องพุทโธให้มันฟัง

ก่อนตายก็บอกให้มันไปเกิดเป็นมนุษย์ โดยบอกว่าพุทโธ พุทโธไปนะ หวังว่าไม่รบกวนหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : นี่เขาถาม นี่ด้วยความรักไง ด้วยความรักหมา ด้วยความรักหมานะ เวลาเดินจงกรม หมาเดินจงกรมกับเรา แล้วหมามันต้องพุทโธกับเรา หมามันไปเกิดดีกว่าเราแล้ว หมาไปเกิดเป็นเทวดาก็ได้ ถ้าหมาไปเกิดเป็นเทวดา อ้าว จริงๆ ท้าวโฆสกะก็เป็นหมานะ ท้าวโฆสกะก่อนที่เกิดเป็นท้าวโฆสกะเป็นหมา แต่เพราะว่าเจ้าของพาไปทำบุญ แล้วเจ้าของนัดกับพระปัจเจกพุทธเจ้าบอกว่าถึงเวลาทำอาหารเสร็จแล้วนิมนต์มาฉัน ๑ พรรษา ถ้าเวลามันเดินไป เดินกลับจะให้สุนัขนี่มาแทน สุนัขมันก็ไปแทน ถึงเวลา พอเห็นสุนัข พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มากับสุนัข

ทีนี้ท่านรักสุนัขด้วย แล้วท่านก็เดินผิดทาง เดินต่างๆ มันก็พยายามจะไปดึงกลับ คาบจีวรแล้วดึงกลับๆ ด้วยความผูกพัน เวลาพระปัจเจกพุทธเจ้าออกพรรษาแล้ว ธรรมเนียมของพระ พอออกพรรษาแล้วจะออกธุดงค์ ออกหาที่วิเวก พอหาที่วิเวก สุนัขตัวนี้มันผูกพันมาก มันหอนจนตาย พอตายไปไปเกิดเป็นเทวดาที่เสียงเพราะที่สุดในหมู่เทวดาด้วยกัน

ฉะนั้น มันอยู่ในพระไตรปิฎก พออยู่ในหมู่เทวดา เทวดาที่เสียงเพราะที่สุดคือท้าวโฆสกะ ฉะนั้น เวลาเราตั้งโฆษกๆ เห็นไหมโฆษกมันมาจากท้าวโฆสกะ ผู้ที่เป็นโฆษกในงานเขาเรียกว่าเป็นผู้ที่เสียงเพราะ เป็นผู้ที่ทำหน้าที่เลยบอกว่าโฆษก ทับศัพท์มาว่าจากท้าวโฆสกะ โฆษกก็คือหมา หมาก็คือโฆษก ทีนี้ท้าวโฆสกะนั่นน่ะเขาก็เป็นสุนัขมา ฉะนั้น ถ้าเราผูกพัน เรารักของเรา เราอยากจะให้เขาไปเกิดเป็นมนุษย์ เขาไปเกิดเป็นเทวดายังได้เลย เขาไปเกิดเป็นอะไรก็ได้ถ้าเขาทำบุญของเขา

นี่เขาเดินจงกรมกับเรา เขานั่งสมาธิกับเรา แล้วเราไปผูกพัน ตอนนี้เราเองต่างหากจะเกิดเป็นสุนัข เพราะเราไปผูกพันกับมัน เวลาตายไปนี่เกิดเป็นสุนัขนะ แต่ถ้ามันเป็นสุนัขใช่ไหม? เรารักเขา เราปรารถนาดีกับเขา เขาไปเกิดดีแล้ว จบ ถ้าเราอยากทำบุญกุศลให้เขา เห็นไหม เราตักบาตร เราทำบุญกุศล เราอุทิศส่วนกุศลได้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าต้องเข้าถึงอัปปนาสมาธิถึงจะอุทิศส่วนกุศล หรือว่าเข้าอัปปนาสมาธิแล้ว อุทิศส่วนกุศลแล้วจะได้บุญมาก

ใช่ คนที่เข้าอัปปนาสมาธินี่จิตใจเขานิ่ง จิตใจเขา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คือเขาวางสัญญาอารมณ์ไว้หมด คำว่าวางสัญญาอารมณ์ใช่ไหม? สัญญาอารมณ์คือฟองอากาศ น้ำในขวดมีอากาศมากน้ำก็น้อย ถ้าในน้ำขวดนั้น น้ำเต็มขวดเลย น้ำก็มีคุณภาพมากน้ำเต็มขวด แต่ฟองอากาศ เห็นไหม นี่สัญญาอารมณ์ต่างๆ คือฟองอากาศ ทำให้น้ำนั้นไม่เต็มขวด น้ำไม่เต็มขวด จำนวนก็ต้องน้อยกว่าเป็นธรรมดา แต่ แต่ถ้าเรามีน้ำ เรามีสิ่งใดๆ เรามีความปรารถนาดี มีน้ำไว้ดื่ม มีน้ำไว้ใช้ มีน้ำต่างๆ มันเป็นประโยชน์หมดแหละ

ฉะนั้น การอุทิศส่วนกุศล ไม่ต้องถึงอัปปนาสมาธิหรอก แค่เรามีเจตนาดี ระลึกถึงความดีของเรา แล้วอุทิศให้คนอื่นนี่ได้แล้ว เรามีเจตนาดี เรามีความคิดที่ดีๆ เราเห็นสิ่งใดที่ไม่ดี เราเห็นแล้วเศร้าใจนะ เราปรารถนาสิ่งที่ดีๆ เราอุทิศส่วนกุศล นั่นล่ะบุญแล้ว แล้วนี่อุทิศส่วนกุศลได้แล้ว การอุทิศส่วนกุศลคือฝึกหัวใจเราให้จิตใจเป็นสาธารณะ จิตอาสาๆ จิตที่ดี แต่ถ้าเราไม่อุทิศ

ดูสิเวลาเราตระหนี่ถี่เหนียว เราจะปิดกั้น เราจะไม่ยอมรับสิ่งใดเลย จิตใจเรามันจะเห็นแก่ตัว แต่ถ้าเราอุทิศส่วนกุศล เห็นไหม ความดีเราก็ยกให้ ทุกอย่างเรายกให้ ทีนี้กิเลสมันก็บอกว่ายกให้ได้อย่างไร? เราหามาเกือบตายยกให้คนอื่นหมดได้เลย อย่างนี้เราก็ทุกข์น่ะสิ ไม่ใช่ เรายิ่งยกให้ยิ่งเป็นคุณงามความดี มันยิ่งมากขึ้น นี่ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบบ่อยว่าเราจุดเทียนเล่มหนึ่ง แล้วเราเอาเทียนนี้ต่อให้คนอื่นไปทุกเล่มๆ เทียนเราก็ยังสมบูรณ์อยู่ ไฟที่เทียนเราก็ยังครบอยู่

นี่มันเป็นนามธรรมไง คุณงามความดีเราอุทิศส่วนกุศลให้คนอื่น คุณงามความดีเราไม่พร่องเลยนะ แต่คุณงามความดีเราได้อีกเท่าหนึ่ง อุทิศให้คนนั้นได้อีกเท่าหนึ่ง อุทิศให้คนนั้นได้อีกเท่าหนึ่ง คุณงามความดีเราอุทิศ ๑๐๐ หน เราเพิ่มขึ้นไป ๑๐๐ เท่า แต่กลับอยู่ที่เราเท่าเดียว อยู่ที่เราเฉพาะสิ่งที่เราทำ แต่เราอุทิศ ๑๐๐ หนๆ สิ่งนั้นมันเพิ่มขึ้นมาอีก ๑๐๐ ครั้ง แต่อุทิศให้คนอื่น อุทิศให้คนอื่น แล้วจิตใจเราจะเปิดกว้าง

ทีนี้เขาว่า “การแผ่เมตตาต้องให้ถึงอัปปนาสมาธิหรือไม่?”

ถ้าพูดอย่างนี้แล้วมันก็ต้องว่าน้ำเต็มขวดเท่านั้นถึงจะเอามาใช้ได้ น้ำ ๑ ใน ๔ น้ำครึ่งขวด น้ำ ๓ ใน ๔ นี่ใช้ไม่ได้ ห้ามใช้ ต้องน้ำเต็มขวดแล้วค่อยใช้ เป็นอย่างนั้นไหม? ไม่เป็น น้ำมันมีจำนวนมาก จำนวนน้อยเราใช้ได้ เราใช้เป็นประโยชน์สิ่งที่เรามีแค่ไหน?

นี่ก็เหมือนกัน เราจะถวายสังฆทานให้ เราตักบาตร อุทิศให้ได้หมดเลย อุทิศให้ได้หมด นี้พูดถึงการอุทิศส่วนกุศล แต่ถ้ามันอยู่กับเรานะ สุนัขอยู่กับเราแล้วมันทำดี มันภาวนากับเรา ต่างๆ สิ่งนี้เป็นคุณงามความดีแล้วล่ะ เป็นคุณงามความดีกับตัวเขายิ่งประโยชน์มาก เพราะมันเป็นสมบัติของเขา แล้วเวลาเขาตายไปก็นั่นล่ะ สิ่งนั้นเขาจะได้ประโยชน์อันนั้นก่อน

ฉะนั้น เรื่องอุทิศๆ เราก็ทำเพื่อนั่นน่ะ สัตว์มีคุณไง อย่างเช่นโบราณ เห็นไหม อย่างพวกโค กระบือต่างๆ เขาทำไร่ไถนากับเรา เขาไม่ฆ่ามันนะ เขาเลี้ยงจนตาย ตายแล้วเนื้อก็ไม่กินด้วยเอาไปฝัง แล้วทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ เขาเรียกว่า “สัตว์มีคุณ” ถ้าสัตว์มีคุณ เจ้าของสัตว์นั้นเป็นสัตว์ประเสริฐ เจ้าของสัตว์นั้นหัวใจเป็นธรรม รู้ว่าอะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ แต่ถ้าหัวใจของเรามันมืดบอด เห็นไหม เขาว่าสัตว์มันก็เกิดมาเป็นอาหารของมนุษย์ อะไรมันก็เอาหมด แต่ถ้าจิตใจเราดี ทุกอย่างมันจะดีไปหมดเลย

ฉะนั้น ถ้าจิตใจเราดีแล้วจะมาวิตกกังวลอะไรกับเรื่องแผ่เมตตา กับเรื่องอุทิศส่วนกุศลล่ะ? เราทำแล้วก็จบ เราอย่าไปละล้าละลังกับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เราทำแต่สิ่งที่เราควบคุมได้ สิ่งที่เรารู้ได้ สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์กับเรา นี่เรื่อง “วิธีการอุทิศส่วนกุศล” จบ

ข้อ ๗๖๑. นะ อันนี้แหละโสดาบัน (หัวเราะ)

ถาม : ๗๖๑. เรื่อง “โสดาบัน”

นมัสการหลวงพ่อค่ะ กราบถามดังนี้

๑. ฆราวาสที่ประกาศตนเองว่าได้โสดาบัน มีความแตกต่างจากฆราวาสทั่วไปอย่างไร ทั้งทางโลกและทางธรรม

๒. การบรรลุโสดาบัน ดูเหมือนว่าไม่ได้สิ่งนี้จากการนั่งสมาธิ (ฟังจากคำพูดของเขา) เป็นไปได้หรือเจ้าคะ โยมไม่เชื่อเขาแต่ไม่ขวาง เพราะสิ่งนี้เป็นไปด้วยใจไม่ใช่ด้วยสมอง

๓. โสดาบันที่เป็นฆราวาสยังแสวงหาอาหารที่จะบำรุงร่างกาย หรือสารพัดอาหารที่คนเขาว่าดี หรือที่ตัวเองคิดค้นว่าดี เพื่อมาบำรุงร่างกายอยู่หรือเปล่าเจ้าคะ

๔. อาวุธอะไรที่จะฟาดตัวต้นเหตุที่สั่งการให้ชีวิตเราเป็นอย่างนู้น อย่างนี้

๕. เราจะเข้าถึงตัวตนต้นตอสิ่งที่เป็นต้นเหตุแห่งการสั่งการชีวิตเราได้อย่างไร?

๖. เราจะเป็นอิสระจากตัวที่คอยขับเคลื่อนนี้ได้อย่างไร?

๗. เรารู้อยู่ว่าทุกสิ่งมันอยู่กับเรา แต่ถ้าเรายังแกะมันออกไม่ได้ อะไรที่ทำให้เรามีปัญญา หาตัวมัน แล้วทำลายตัวขับเคลื่อนให้มันตายไปจากใจเรา หรือเราต้องทำลายตัวเราเองเพื่อให้หลุดออกจากตัวขับเคลื่อนนั้น ให้มันหาตัวเราไม่เจอ

ขอบพระคุณเจ้าค่ะ

หลวงพ่อ : นี่เขาสงสัยมาก แล้วสังคมปฏิบัติ ถ้าเมื่อก่อนไม่ปฏิบัติ หรือการปฏิบัติ ใครภาวนานี่เขาบอกภาวนาไม่ได้นะเดี๋ยวเป็นบ้า เมื่อก่อนจะบอกว่าห้ามภาวนานะ ภาวนาไม่ได้เดี๋ยวจะเสียสติ แต่เพราะครูบาอาจารย์ของเราท่านภาวนามาแล้วท่านไม่บ้า ท่านปราบบ้าในหัวใจของท่านหมดแล้ว ท่านสงบเสงี่ยม ท่านนิ่งมาก

อย่างเช่นหลวงปู่มั่น นี่หลวงตาท่านเล่าให้ฟังประจำว่าอยู่กับหลวงปู่มั่นมา ๘ ปี แล้วครูบาอาจารย์ที่อยู่ต่อกับหลวงปู่มั่นมา แล้วพระที่อยู่กับหลวงปู่มั่น เข้าไปอยู่กับหลวงปู่มั่นเป็นร้อยๆ รอบๆ หนองผือนี่เต็มไปหมด อยู่ในวัดประมาณ ๑๐-๒๐ องค์ แต่รอบนั้นเต็มเลย พอจะอุโบสถนี่มากันหมดเลย นี่ไปอยู่รอบๆ รอบๆ หมายถึงว่าตำบลนี้แล้วก็อยู่ข้างๆ ให้ฉันอาหารเสร็จแล้วเดินมาฟังเทศน์ท่านทัน พอท่านจะเทศน์นะ พระจะมาฟังเทศน์หลวงปู่มั่นตลอด

ท่านบอกว่า “ไม่เคยได้ยินหลวงปู่มั่นบอกว่าท่านได้เป็นโสดาบัน ได้เป็นสกิทาคามี ได้เป็นอนาคามี ได้เป็นอรหันต์ หลวงปู่มั่นไม่เคยพูดเลย” นี่คนที่เป็นจริงเขาไม่พูด เขาไม่พูดว่าเขาได้อะไร? เพราะสิ่งที่เขาได้อะไรมามันเหมือนกับสิ่งที่โลกเขาไม่มี สิ่งที่โลกเขาไม่มี เขาบอกได้สิ่งที่โลกนี้ไม่มี แล้วจะเอาสิ่งที่โลกไม่มีมาให้โลกเขาดู มันจะเป็นไปได้อย่างใด?

สิ่งที่โลกไม่มี เห็นไหม นี่อริยทรัพย์ ทรัพย์ที่เหนือโลก มันโลกเขาไม่มี ถ้าโลกเขาไม่มี จิตใจนี่พอได้ทรัพย์อย่างนั้นมา เราบอกว่าเรามีทรัพย์อย่างนั้น แล้วเราจะเอาทรัพย์อย่างนั้นมาให้คนที่ไม่รู้ดู คนที่เขาไม่รู้เขาก็ดู เขาก็ไม่รู้กับเรา เห็นไหม ไก่ได้พลอยๆ ไก่มันไม่ต้องการ ไก่มันต้องการข้าว ถ้าเอาพลอยไปให้ไก่มันดู ไก่บอกขอข้าวเม็ดเดียวดีกว่า ขอข้าวเม็ดเดียวดีกว่า

โสดาบันมันมีคุณค่ามาก แต่มีคุณค่าขนาดไหนคนเขารู้กับเราไม่ได้หอรก พระโสดาบัน ยังว่าโสดาบันเอง บางคนที่หลงยังไม่รู้ว่าเป็นโสดาบันอย่างไรเลย ฉะนั้น ครูบาอาจารย์บอกว่าหลวงปู่มั่นท่านไม่เคยพูดถึงมรรคผลของท่านเลย แล้วนี่ในเมื่อท่านไม่เคยพูดถึงมรรคผลของท่าน ทำไมพระเชื่อล่ะ? ทำไมสังคมเชื่อถือ?

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกว่าท่านประพฤติปฏิบัติอยู่ ๙ ปีหรือ ๗ ปี นี่ท่านเรียนอยู่ ๗ ปี แล้วท่านจะออกปฏิบัติไง ท่านบอกว่าจะไปหาใครที่จะแก้ความรู้สึกนึกคิดของท่าน แก้ความกังวล แก้ความว่า นี่นิพพานก็เรียนก็หมดแล้วแต่มันก็ยังสงสัยอยู่ ใครจะแก้เราได้? ก็คิดถึงหลวงปู่มั่น

ท่านบอกว่าหลวงปู่มั่น นี่ได้ยินข่าวร่ำลือตั้งแต่ท่านเป็นเด็กๆ ตอนท่านเป็นเด็กๆ หลวงปู่มั่นนี่ชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วหมดแล้วนะ แต่ตัวหลวงปู่มั่นท่านไม่เคยบอกท่านได้โสดาบัน ไม่เคยบอกว่าได้อะไรเลย ไม่เคยบอก ท่านไม่เคยบอกว่าท่านได้อะไร? แต่สังคมเขาเชื่อถือ ศรัทธากันมาก เชื่อถือ ศรัทธากันมาก แล้วพอใครเข้าไปแล้วนี่ อย่างเช่นคนไข้ไปหาหมอ หมอคนนั้นรักษาคนไข้หาย รักษาคนไข้หาย รักษาคนไข้หาย นี่ต้องบอกว่าหมอคนนั้นดีไหม? แต่สังคมเขารู้ว่าหมอคนนั้นดี เพราะหมอคนนั้นรักษาคนไข้หายๆๆ

พระที่ปฏิบัติ เวลาจิตใจมันติด จิตใจมันเกิดความสงสัย จิตใจมันเข้าไปเผชิญกับปัญหา แล้วมันแก้ไม่ได้ เหมือนคนไข้ เหมือนคนไข้ มันเป็นไข้ใจ ไข้มาก ไข้น้อย ไข้รุนแรงขนาดไหน อยู่ที่คนปฏิบัติ ไข้ของใจมันมีแตกต่างหลากหลาย พอมีแตกต่างหลากหลาย เวลาเข้าไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ ท่านแก้ไขใครไปท่านแก้ให้หมด ท่านจัดการให้หมด ท่านรักษาหายหมด ใครเข้าไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นจัดการ ออกมานี่ยิ้มแย้มแจ่มใส ออกมามีแต่ความโล่งออกมาเลย นี่ไงต้องบอกไหมว่าหมอคนนั้นเป็นหมอที่ดี

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าหลวงปู่มั่น หลวงตาบอกว่าท่านไม่เคยพูดเรื่องว่าท่านเป็นหมอที่ดี แต่ท่านมีหน้าที่รักษาคนไข้ รักษา เห็นไหม นี่หลวงปู่มั่นบอกว่า เวลาพูดกับพระนะ

“นี่การแก้จิตนี้แก้ยากมากนะ ให้หมู่คณะรีบปฏิบัติมา การแก้จิตแก้ยากมาก ใครมีปัญหามาผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ ผู้เฒ่าตายไปแล้วจะแก้ยากนะ”

ถ้าผู้เฒ่าตาย คือถ้าท่านสิ้นอายุไปแล้ว ท่านสิ้นอายุขัยไป คนแก้จะแก้ยากนะ แต่ท่านพยายามสร้างบุคลากรมา ถ้าคนที่รู้จริงก็จะแก้ได้ ถ้าการแก้ได้ เห็นไหม นี่การแก้จิตแก้ยากมากนะ แล้วคนที่มาบอกว่าฆราวาสที่เขาประกาศตนเองว่าเขาได้โสดาบัน

อืม เราจะบอกว่ามันเป็นยุคตื่นทอง เวลายุคตื่นทองนี่นะคนจะวิ่งเข้าไปเพื่อหาทองกัน จะไปหาทอง คนบางคนเขาก็ไปหาทองของเขาเจอ บางคนนะเขาไปหาทอง ยุคตื่นทองนะ นี่สมัยอเมริกายุคตื่นทองทั่วทั้งโลกนะ เขาบอกว่าเมืองไทยนี่นะ แต้จิ๋วมีมากกว่าภาษากลางใช่ไหม? แล้วเขาก็บอกว่าน่าแปลกใจ ส่วนใหญ่แล้วในเอเชียจะมีพวกภาษากวางตุ้งภาษากลางมากที่สุด ทำไมเมืองไทยมีแต้จิ๋วมากกว่า

ฉะนั้น พอศึกษากันแล้วเขาบอก สมัยยุคตื่นทอง พวกจีนกลางเขาอพยพไปอเมริกากันหมด นี่เวลาสมัยที่เขาตื่นทองๆ ในสมัยอเมริกาที่ตื่นทองกัน เกือบทั้งโลกเขาจะอพยพไปหาทองกัน เขาตื่นทองกันนะ นี่เขาบอกคนตื่นทอง คนไปแล้วนะไปเสียชีวิตก็มี ไปกลางทางนะ นี่เดินทางไปแล้วไปประสบอุบัติเหตุก็มี คนที่ไปถึงแหล่งแร่แล้ว ไปถึงแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็มี คนที่เขาทำประสบความสำเร็จก็มี นี่ยุคตื่นทองไง

เวลายุคตื่นทอง เรามองที่ยุคตื่นทองสิ แล้วจะย้อนกลับมาว่าสมัยนี้ “ยุคตื่นโสดาบัน” ใครเอาโสดาบันมาแจกกัน นี่วิ่งกันขาหัก ขาขวิดกันเลยแหละ อยากจะได้โสดาบัน แล้วผู้ที่เอาโสดาบันมาเป็นเหยื่อล่อ เห็นไหม ว่าทำอย่างนั้นจะได้โสดาบัน ทำอย่างนี้ได้โสดาบัน มันไม่จริงหรอก ยุคตื่นทองนะ ใครได้ทองคนนั้นถึงจะได้ทองจริง แต่ใครไปได้ที่ประสบกันมามันยังไม่ได้ทองกันหรอก ยังต้องมาร่อน ยังต้องมาแยกแยะว่าอะไรเป็นทอง อะไรไม่เป็นทอง

ฉะนั้น เราจะบอก ที่เขาบอกว่า “ข้อ ๑. ฆราวาสที่ประกาศตนเองว่าได้โสดาบัน” นี่เราไม่ฟังเลยนะ เราไม่ฟังเลย นี่ประกาศตนว่าเป็นโสดาบัน มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าเป็นพระหรือเป็นนักบวช นี่อวดอุตตริมนุสสธรรม ปรับอาบัติปาราชิกเลย แต่ถ้ามีล่ะ? ถ้ามีในตนล่ะ? ถ้ามีในตนเขาก็ไม่ประกาศ แล้วถ้ามีในตนเขาจะดูกิริยา ดูการกระทำ กิริยามันเป็นจริงไหม? คนเรานะ คนเรานี่เวลาเป็นไข้ แล้วเวลาเป็นไข้มันจะทุกข์ร้อนมาก เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนี่จะทุกข์ร้อนมาก แล้วเวลาเริ่มว่าเรารู้จักวิธีการรักษา เราจะเริ่มรักษาให้เราหายจากไข้ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน คนเราเกิดมานี่เรามีกิเลส เรามีความเผาลนในหัวใจนะ เราจะมีไฟสุมขอนในใจทุกคนแหละ คนจะมั่งมีศรีสุข ทุกข์ทนเข็ญใจขนาดไหนมันจะมีลึกๆ ไฟสุมขอน อวิชชาจะเผาไหม้ในหัวใจ ฉะนั้น ถ้าเรารู้วิธีการที่ชำระเราจะรีบขวนขวายไหม? เป็นโสดาบันนี่นะแค่พาดกระแส แล้วเป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามีแล้วถึงสิ้นกิเลส

ฉะนั้น ถ้าว่าเป็นโสดาบันนี่พาดกระแส หมายความว่าเข้าโรงพยาบาลแล้วหมอเขารับไว้เป็นคนไข้ใน แล้วเขาจะเริ่มรักษา ยังไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น โสดาบันนะเหมือนกับคนไข้เวลาไปโรงพยาบาล ถ้าเขาไม่รับแอดมิดเข้าโรงพยาบาลนะ เอ็งเป็นคนไข้นอก คนไข้นอกมารับยาแล้วกลับไป แต่ถ้าคนไข้ในนะ เขารับเข้าเป็นคนไข้ใน

นี่ก็เหมือนกัน พาดกระแส โสดาบัน ถ้าเป็นโสดาบัน เห็นไหม นี่เราพาดกระแสเข้าสู่ธรรมะ ถ้าพาดกระแสเข้าสู่ธรรมะ สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์มันรออยู่ข้างหน้า มันจะมาทำชีวิตให้เร่ร่อน ทำชีวิตเราให้หมดไปกับโลกมันเป็นไปไม่ได้หรอก คนได้โสดาบันนี่นะมันมองกันออก มองกันได้ เพราะคนได้โสดาบันเหมือนคนเริ่มทำงานเป็น ถ้าคนทำงานเป็น งานเรายังไม่เสร็จเราจะขวนขวายไหม?

ถ้าคนทำงานเป็น หมายถึงรู้ว่างานนั้นคือผลประโยชน์ งานนั้นคือคุณงามความดี งานกระทำแล้วมันจะเสร็จจากงาน คนที่ทำงานเป็นจะรีบทำงาน คนทำงานไม่เป็นมันก็เร่ร่อนใช่ไหม? อย่างพวกเรานี่ พวกปุถุชนไม่รู้เรื่องก็เร่ร่อน แต่ถ้าคนได้โสดาบันแล้วเขาไม่เร่ร่อน เขาจะตั้งใจจริงของเขา แล้วเขาตั้งใจจริงของเขา เขาจะทำความเป็นจริงของเขา แล้วเขาไม่เที่ยวประกาศ ถ้าประกาศปั๊บ ประกาศปั๊บทุกคนก็ต้องเพ่งเล็ง ทุกคนนี่ภาระต้องเกิดแล้ว

ฉะนั้น เราอยู่กับหลวงตานะ เวลาใครภาวนาเป็นท่านจะกันคนนั้นไว้ไม่ให้คนอื่นเข้าไปยุ่ง ท่านจะให้เวลาไง นี่แต่ถ้าภาวนาไม่เป็น คำว่าภาวนาไม่เป็น ดูสิอย่างเช่นที่หนองผือ อยู่ๆ หลวงปู่มั่น นี่ถ้าใครภาวนาเป็นนะ เพราะหลวงตาเล่าให้ฟัง อย่างเช่นหลวงตา หลวงตานี่ภาวนาเป็น เพราะว่าท่านภาวนาเสร็จแล้วขึ้นไปรายงานหลวงปู่มั่น พอเวลาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นจะถามประจำ

“มหา จิตเป็นอย่างไร? มหา จิตเป็นอย่างไร?”

ถ้าคนภาวนาเป็นท่านจะคอยตรวจสอบเลย เพราะมันจะต้องพัฒนา แต่ถ้าคนภาวนาไม่เป็น อย่างเช่นเรานี่ ถ้าสมมุติเราอยู่ที่นั่น แล้วเราภาวนาไม่ได้ เราภาวนาไม่ได้คือจิตก็พอรักษาตัวเองอยู่ได้ แต่ไม่สงบ พิจารณายังไม่เป็น ท่านจะไม่ถามเลย เพราะว่าถ้าเป็นการถามแล้วมันเป็นการบีบคั้น เป็นการกดดัน ทำให้เราไม่สบายใจเลย เดี๋ยวอาจารย์จะถามไม่มีการบ้านส่งไง ครูก็จะเรียกหาแต่การบ้านๆ เอามาส่ง ไอ้เราก็ไม่ได้ทำการบ้าน อู๋ย ไม่มีการบ้านส่ง มันก็ไม่กล้าสู้หน้า

นี่ถ้าเป็นอาจารย์เขาจะเป็นอย่างนี้ เขาจะรู้ว่าคนไหนภาวนาเข้าที่เข้าทางมาแล้ว แล้วก็จะคอยดูแล คอยประคองเพื่อจะให้มันขึ้นมา แต่ถ้าคนภาวนายังไม่เป็น เราจะไปจ้ำจี้จ้ำไช เหมือนเด็กเลย เราจะบอกให้เด็กไม่ให้มันเล่นเลย เด็กใช่ไหมก็ต้องให้มันโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ แต่ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว วัยทำงานมันก็มีมรรยาทสังคมแล้ว มันรู้กาลเทศะ ถ้าไปเล่นเหมือนเด็กมันก็น่าเกลียด แต่ถ้าเป็นเด็กจะไม่ให้เล่น จะให้ทำตัวแบบผู้ใหญ่มันก็ไม่ได้

จิต! จิตถ้ามันยังภาวนาไม่เป็นนี่เหมือนเด็กๆ ทำอะไรยังไม่ได้หรอก เราก็ต้องดูแลกัน ดูแลกันใช่ไหม? เพราะว่าในวิชาชีพทุกวิชาชีพเขาต้องสร้างบุคลากรขึ้นมา เพื่อให้วิชาชีพนั้นเข้มแข็ง ในศากยบุตร พุทธชิโนรส ในพระเรา ครูบาอาจารย์เราท่านพยายามจะสร้างพระขึ้นมาให้เป็นพระในหัวใจ ให้ใจเป็นพระไม่ใช่ร่างกายเป็นพระ ร่างกายเป็นพระนี่นะแค่โกนหัวไปหา อุปัชฌาย์ นี่อุปัชฌาย์ยกเข้าหมู่ก็เป็นพระแล้ว แต่เป็นพระโดยสมมุติไง

ถ้าเป็นพระโดยสมมุตินะมันก็เหมือนจิตยังเร่ร่อนอยู่ มันก็เหมือนเด็กๆ ยังจับต้นชนปลายไม่ถูกหรอก แต่ถ้าภาวนาเป็น นี่จากเด็กจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา แล้วถ้าเป็นโสดาบันขึ้นมาอย่างนี้ปั๊บยิ่งต้องสงวนเวลาเพื่อจะประพฤติปฏิบัติ ไอ้จะบอกว่ามีฆราวาสประกาศตนว่าเป็นโสดาบัน แล้วมีความแตกต่างจากฆราวาสทั่วไปอย่างไรในทางโลกและทางธรรม

ในทางโลกนะ ในทางโลกอยู่กับโลกนะ พระโสดาบันที่อยู่กับโลกเราจะดูได้เลยว่าเขาจะไม่ทำสิ่งใดที่ไปรบกวนใจเขา คำว่าใจเขานะ คำว่าใจเขาคือว่าสิ่งใด เพราะคำว่าศีลเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำให้หัวใจนี้มันเป็นภาระ เขาจะหลีกเร้น ที่ไหนมีมหรสพสมโภช ที่ไหนเป็นเรื่องของโลกเขาจะหลบหลีก ที่ไหนเขามีทำบุญกุศล ที่ไหนมีการภาวนาเขาจะไปที่นั่น ที่ไหนมันเป็น แบบว่าอ้างเล่ห์ไง หนาวนักก็ไม่ทำงาน ร้อนนักก็ไม่ทำงาน ที่ไหนมีมหรสพสมโภช

แต่ถ้าเป็นโลกนะ ที่ไหนเขามีมหรสพสมโภช พระโสดาบันจะไปที่นั่น (หัวเราะ) ที่ไหนมีการพนัน พระโสดาบันจะไปที่นั่น ที่ไหนเขามีการชนวัว พระโสดาบันจะไปที่นั่น มันไม่ใช่ไง มันไม่ใช่ ที่ไหนมีบุญกุศล ที่ไหนเขาจัดการประพฤติปฏิบัติ พระโสดาบันจะไปที่นั่น นี่พูดถึงเรามองตรงนั้น นี่พูดถึงไง มันยุคตื่นทอง มันยุคตื่นทอง พอยุคตื่นทองเอาพระโสดาบันมาแจกกันไง แล้วโสดาบัน

นี่นาย ก. บอกว่า นาย ข. เป็นโสดาบัน แล้วก็ยึดเลย จะโฆษณาไปเรื่อยว่านาย ก. ได้บอกแล้วว่าเป็นโสดาบัน นาย ก. ได้บอกแล้วเป็นโสดาบัน นาย ก. บอกว่าเป็นโสดาบันจะเป็นได้อย่างไรล่ะ? นาย ก. ไม่มีสิทธิบอกว่าใครเป็นโสดาบัน ไม่เป็นโสดาบัน การที่จะเป็นโสดาบัน ไม่เป็นโสดาบันมันเกิดจากการกระทำ เราเกิดจากการกระทำ นี่อาหารดิบเราทำให้เป็นอาหารสุก ถ้ามันสุกแล้วนั่นก็คือสุก

จิตใจที่มันดิบ จิตใจที่มันมีกิเลสอวิชชา เขาพิจารณาของเขา เขาทำความสงบของใจ พอสงบแล้วใจวิปัสสนาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม วิปัสสนาด้วยปัญญาใช่ไหม? ด้วยมรรคสามัคคีแล้วมันปล่อยวาง ปล่อยวางอย่างไร? พระโสดาบันถามเขาตรงนี้ ถามเขาว่าเขาได้ใช้อะไรทำให้เขาเป็นพระโสดาบัน ถ้าเขาใช้ความรู้สึก ความตรึก มันไม่ใช่โสดาบันหรอก เพราะคำถามต่อไปมันจะมี เดี๋ยวไปตอบคำถามหน้าดีกว่าเนาะ

นี่พูดถึงว่า

ถาม : ฆราวาสประกาศตัวว่าเป็นโสดาบัน แล้วฆราวาสที่เป็นโสดาบันจะแตกต่างกันอย่างไร แตกต่างกับที่ไม่ใช่เป็นโสดาบัน

หลวงพ่อ : แตกต่างก็เขามีสติปัญญามาก ดีกว่าเรา เพราะว่าถ้าเป็นพระโสดาบันนะ เขาเรียกว่า “ไม่ถือมงคลตื่นข่าว” พระโสดาบันจริงๆ จะระลึก จะกระทำอยู่ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะเชื่อมั่นในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะเขาได้โสดาบันมาเพราะเป็นพุทธพจน์ พุทธพจน์พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ แล้วเขาปฏิบัติแล้วเขาได้โสดาบัน เขาจะยึดมั่นในทฤษฎี ในความเป็นจริงของพระพุทธเจ้าหนึ่ง

แล้วเวลาเขาเป็นพระโสดาบัน เขารู้จักเป็นพระโสดาบันเพราะว่าเขาปฏิบัติธรรม เห็นไหม ธรรมๆ นี่พระพุทธ พระธรรม เขารู้ธรรม เขาเห็นธรรม นี่แล้วถึงว่าถ้าจิตที่มันเป็นโสดาบัน นี่ไงจิตที่ว่าเป็นอริยสงฆ์ อริยสงฆ์ จิตที่เป็นพระๆ นี่พุทธ ธรรม สงฆ์ ถ้าเป็นโสดาบันจะไม่ถือมงคลตื่นข่าว เขาจะไม่ทำนอกกรอบจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เด็ดขาด โดยข้อเท็จจริง โดยเนื้อหาสาระเลย สิ่งใดที่เป็นพระพุทธเจ้าบัญญัติเขาจะไม่ทำผิดอย่างนั้น เขาจะซื่อตรงอย่างนั้น เพราะ เพราะสิ่งนี้เป็นพื้นฐานที่จะทำให้เขาพัฒนาขึ้นไปเป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันแตกต่างกับโลก แตกต่างตรงนี้ไง แต่โลกยังสะเปะสะปะ จับนู่น จับอะไรชัดเจนไม่ได้ นั่นคือโลก แต่ถ้าเป็นพระโสดาบัน เขาว่าต่างกันอย่างไรระหว่างโลกกับธรรม? ต่างกันมาก แต่คนที่จะมองเห็น เราคนตาพร่ามัวมองไม่รู้หรอก แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันด้วยกันเขามองทีเดียวก็รู้ ยิ่งเป็นสกิทาคามี เขามองทีเดียวเขาเห็นเลย ยิ่งเป็นอนาคามีนะเขาหัวเราะเยาะเลย ยิ่งเป็นพระอรหันต์นะ อย่างนี้ชัดเจนมาก เพราะอะไร? เพราะเขาได้ผ่านอย่างนี้มาก่อน

พระอรหันต์เขาต้องผ่านการเป็นโสดาบันมาก่อน แล้วเขาก็ผ่านการเป็นสกิทาคามี แล้วเขาก็ผ่านการเป็นอนาคามี เขาถึงเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้น พระอรหันต์เขาจะรู้ว่าอย่างใดเป็นโสดาบันจริง โสดาบันเก๊ สกิทาคามีจริง สกิทาคามีเก๊ อนาคามีจริง อนาคามีเก๊ เขารู้หมดแหละ ฉะนั้น สิ่งที่ประกาศตูมๆ นี่ยุคตื่นทอง ยุคตื่นทองนะ เรายกให้เห็นว่าเราตื่นทอง อยากได้ทอง เราแสวงหาทองจนไม่เห็นคุณค่าของชีวิต บางคนทำให้ชีวิตนี้เสียไปโดยที่ไม่ได้สิ่งใดเลย แต่คนที่เขาขวนขวายจนเขาได้ของเขาขึ้นมา เขาก็ต้องทำได้จริงของเขา

นี่ยุคตื่นทอง แล้วตอนนี้ในการประพฤติปฏิบัติ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราทำให้สังคมเชื่อถือ แล้วตอนนี้เราก็จะเอาโสดาบันมาแจกกัน เป็นยุคตื่นทอง เหมือนกระต่ายตื่นตูมแข้ง ขาหักหมด จนวิ่งตามหา วิ่งบอกฟ้าถล่มๆ จนตายหมดเลย นี่ก็บอกโสดาบันๆ จนจะไม่มีอะไรติดตัวกันเลย นี่ยุคโสดาบัน

ถาม : ๒. การบรรลุโสดาบัน แต่เหมือนว่าไม่ได้มีการนั่งสมาธิ (ฟังจากคำพูดของเขา) เป็นไปได้หรือเปล่าเจ้าคะ โยมไม่เชื่อเขา แต่ไม่ขวาง

หลวงพ่อ : เขาว่านะ เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ ถึงเขาไม่นั่งสมาธิ แต่เขาต้องมีสมาธิ เพราะในมรรค ๘ มีสัมมาสมาธิ ถ้าบอกว่าสัมมาสมาธิไม่ต้องมีสมาธิ มันตรึกแล้วมันได้เลย เป็นไปไม่ได้ พระปัญจวัคคีย์ พระพุทธเจ้าไปเทศน์เขาไม่ได้ทำสมาธิ แต่ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะไปเทศน์เขาทำสมาธิมา ๖ ปีแล้ว เขาอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี เขาทำสมาธิมาก่อนตั้ง ๖ ปีแล้ว เขาปฏิบัติสมาธิอยู่ ๖ ปี แต่ยังไม่มีใครสอนเขา พอเขามีสมาธิอยู่แล้ว พระพุทธเจ้ามาเทศน์ธัมมจักฯเขาถึงเป็นโสดาบัน ฉะนั้น บอกว่าไม่ต้องทำสมาธิเลย พระพุทธเจ้าเทศน์แล้วก็เป็นโสดาบันเลย แต่เขาทำสมาธิมา ๖ ปีนี่ใครเห็นบ้าง?

นี่ก็เหมือนกัน บอกว่าเขาไม่ได้นั่งสมาธิเลย เขาบอกฟังจากคำพูดของเขาว่าเขาไม่ต้องทำสมาธิ เขารู้ขึ้นมาด้วยตัวเอง โอ้โฮ ตื่นทองมันยังมีทองอยู่นะ อย่าตื่นความฝันนะไม่มีอะไรเลย ตะครุบเงาเลยล่ะ เราไม่เชื่อตั้งแต่ว่าเขาพูดแล้วแหละ หนึ่งไม่เชื่ออยู่แล้ว ฉะนั้น ถ้าเราไม่ขวางเขา ธรรมดานะสัตว์มันตื่น เราไปขวางเราก็เสียหายหมด เพียงแต่ว่าเรามีปัญญา แล้วเราคิด แล้วเราคัดเลือก แล้วเราแยกแยะ

ถ้ามันแยกแยะแล้วนะเราจะสะเทือนใจ สะเทือนใจว่ายุคคราวหนึ่งเขาไม่เชื่อว่ามรรคผลมี ใครปฏิบัติไปเขาบอกคนนั้นจะบ้า แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติกันจนได้มรรค ได้ผล แล้วมีความเชื่อถือมั่นคงในศาสนา แต่เวลามาปฏิบัติกันก็รวนเร โลเล แล้วอยากได้ อยากได้โดยที่ไม่สมเหตุสมผล ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“ผู้ใดปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม จะได้ธรรมะโดยความเป็นจริง”

ผู้ใดด้นเดาธรรม มันก็จะได้ธรรมะด้นเดา ผู้ใดคาดหมาย จินตนาการธรรม มันก็ได้จินตนาการ แล้วทีนี้เพียงแต่สังคม กระแสสังคม ตอนนี้เขาเชื่อถือ เชื่อมั่นว่าครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติแล้วได้ความเป็นจริง ฉะนั้น มรรคผลมีจริงมันถึงตื่นได้ไง แต่ถ้าไม่มีจริงเอาอะไรมาตื่น? มันตื่นไม่ได้

ทีนี้คำว่าตื่น ตื่นเพราะว่าครูบาอาจารย์ของเราทำให้พวกเรา เหมือนเปิดแนวทางให้เรา แนะแนวให้พวกเราได้มีความมั่นคงแล้วปฏิบัติ แล้วถ้าแนะแนวให้เรามั่นคงแล้วปฏิบัติ เราควรเอาความจริง เราอย่าไปตื่น อย่าไปตื่น อย่าให้คว้าน้ำเหลว มันน่าเสียดายไง น่าเสียดายชีวิตของเรานะ ปฏิบัติของเราเอาความเป็นจริงสิ ถ้าความเป็นจริงมันต้องแยกแยะได้ อะไรเป็นเหตุ? อะไรเป็นผล? อะไรเป็นกิเลส? แล้วเราเห็นกิเลสอย่างไร? กิเลสเราจับต้องมันอย่างไร? แล้วเราชำระอย่างไร?

ดูสิเวลาเป็นไข้ ไม่สบายไปหาหมอ หมอเขาวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องหมดนะ ถ้าหมอวินิจฉัยโรคไม่ถูกต้อง เขารักษาผิด เดี๋ยวนี้เขาฟ้องศาลทั้งนั้นแหละ ถ้าเราเป็นโรค เป็นภัย เราเป็นโรคอะไร หมอต้องวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง เขารักษาได้ถูกต้อง โรคนั้นถึงจะหาย

นี่ก็เหมือนกัน กิเลสในหัวใจของเรานี่เราติดอะไร? ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมเราติดอะไร? เราเป็นโรคอะไร? ปัจจุบันนี้จิตใจเรามันมีอะไรหมักหมมอยู่ แล้วเราจะรักษาด้วยอะไร? แล้วรักษาด้วยยาอะไร? รักษาแล้วมันหายอย่างใด? แล้วกิเลสมันตายไปอย่างใด? แล้วเราเป็นโสดาบันขึ้นมามันชัดเจนขนาดนั้นนะ ชัดเจน

นี่ในวงกรรมฐานเขาคุยกันอย่างนี้ ในวงที่เขาเชื่อถือ เพราะหลวงปู่มั่นท่านตรวจสอบอย่างนี้ ท่านคุยกันอย่างนี้ ท่านถึงรู้ได้จริงอย่างนี้ แล้วคนรู้จริงอย่างนี้ จะไปพูดข้างนอกให้มันผิดพลาด พูดข้างนอกให้มันมีแต่สิ่งที่เพ้อเจ้อ มันเป็นไปไม่ได้หรอก คนรู้จริงจะไม่พูดเพ้อเจ้อ เพราะคำพูดของเขาจะมีเหตุมีผล มีหลักมีเกณฑ์ที่พวกเราจับต้อง พวกเราจะได้หลักได้เกณฑ์จากคำพูดของครูบาอาจารย์เราที่เป็นธรรม

ถ้าครูบาอาจารย์เราเป็นธรรม พูดสิ่งใดมาเราจะเห็นร่องเห็นรอย เห็นการกระทำ เห็นสิ่งที่เราจะเอามายึดเป็นหลักเกณฑ์ของเราได้ แต่ถ้าเขาเลื่อนลอย เขาเป็นยุคตื่นทอง ความตื่นในเงาของเขา ตื่นในมรรคผลที่ไม่มีจริงของเขา เขาพูดอะไรไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย เขาพูดให้ตัวเขาเสียโอกาสไป แล้วคนฟังแล้ว หลวงตาบอกว่า “กลับบ้านต้องไปล้างหูนะ ต้องเอาน้ำยาล้างหูล้างหู เพราะมันได้ยินได้ฟังสิ่งที่ไม่เป็นมงคลมา”

นี่พูดถึงข้อที่ ๒. นะ ถ้าเขาบอกว่าเขาไม่ต้องทำสมาธิเลย แต่โยมก็ไม่เชื่อเขา ไม่เชื่อเขาแต่ก็ถามเรามา (หัวเราะ) นี่ไงที่บอกจะไม่ตอบๆ เพราะปัญหานี่มันเป็นปัญหาส่วนตัว ๒ คน แล้วก็ต้องให้บุคคลที่ ๓ คือเราเป็นคนพูดอีก

ถาม : ๓. โสดาบันที่เป็นฆราวาสยังจะแสวงหาอาหารที่มาบำรุงร่างกาย หรือสารพัดอาหารที่เขาว่าดี หรือตัวเองคิดค้นว่าดีเพื่อบำรุงร่างกาย

หลวงพ่อ : ถ้าเขาเจ็บไข้ได้ป่วย พูดถึงนะ คำว่าถ้าหมายถึงว่าบุคคลนี่นะ มันมีนะ บางคนธาตุขันธ์นี่อาหารบางอย่างมันใช้ไม่ได้ ถ้าเขาหาสิ่งนั้นตรงธาตุขันธ์แล้วเขาปฏิบัติดี อย่างนี้อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าโดยที่ว่าหาอาหารมาบำรุงร่างกาย หาอาหารนี่ก็คือกิเลสไง

คำว่ากิเลสคือว่าอาหารนี่แค่ดำรงชีวิต ถ้าคนปฏิบัติเป็นถึงโสดาบันแล้วนี่เขาจะขวนขวาย เอาเวลาของเขามาปฏิบัติ เพราะว่าถ้าเราปฏิบัติมันต้องมีงานทำอยู่ คนเราทำงานยังไม่เสร็จ ถ้าเราตายไปก่อนน่าเสียดายไหม? ถ้าคนเรานี่นะงานยังไม่เสร็จแล้วเราขวนขวาย เขาจะไม่เสียเวลาไปกับเรื่องปลีกย่อย เรื่องอาหาร เรื่องอะไร

หลวงตาบอกว่า “คนภาวนาเป็น เรื่องอาหารจะไม่เป็นภาระเลย”

เป็นพระที่ภาวนานี่เขาแค่ดำรงชีวิต พระป่า เรื่องการอยู่ การกินเป็นเรื่องที่แบบว่าไม่เป็นภาระ ไม่เป็นความกังวลในการปฏิบัติ ท่านบอกว่าพระกรรมฐานเลี้ยงง่าย พระกรรมฐานกินง่าย อยู่ง่าย ปฏิบัติง่าย ไปง่าย มาง่าย พระกรรมฐานนี่นักปฏิบัติ คำว่าพระกรรมฐานคือนักปฏิบัติ นักปฏิบัติจะกินง่าย อยู่ง่าย จะทำอะไรสะดวกสบาย เพื่อจะเอาเวลามาปฏิบัติทั้งนั้นแหละ ฉะนั้น ถ้าจะไปแสวงหาอาหารมากินอยู่นี่หมู หมูอยู่บนเขียง ถ้าความเป็นจริงมันอีกเรื่องหนึ่งนะ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาแสวงหาอาหารกันอยู่ อย่างนี้มันก็น่าแปลกใจแล้วล่ะ มันน่าแปลกใจ เว้นไว้แต่อย่างที่ว่าถ้าเขาป่วย เขาไข้ เออ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเขาไม่ป่วย ไม่ไข้ อืม พระโสดาบันหมูไง โสดาบันนี่เราเอามาแจกกันอยู่เรื่อยเลย

ถาม : ๔. อาวุธอะไรที่จะฟาดตัวต้นเหตุสั่งการให้ชีวิตเราเป็นแบบนั้น แบบนี้

หลวงพ่อ : ชีวิตเราเป็นแบบนั้น แบบนี้ มันมีมรรคกับกิเลส ถ้าเป็นมรรคนะเราใฝ่ดี นี่เราใฝ่ดี เราพยายามใฝ่ดีของเรา เราใฝ่ดี อย่างเช่นสมาธินี่ เห็นไหม มันก็บอกว่าอาวุธอะไรที่จะฟาดฟันสิ่งที่เป็น นี่อาวุธอะไร? เราพยายามทำตัวเราให้มีสติ แล้วเราจะแก้ไขสิ่งนั้น สิ่งที่เราจะฟาดฟันกิเลสเราต้องมีสมาธิของเรา เราต้องมีกำลังของเรา คนเราอ่อนแอจะยกสิ่งใดขึ้นไม่ได้เลย คนเราแข็งแรงขึ้นมา สิ่งของจะมีน้ำหนักมันก็เป็นของเบาถ้าเราแข็งแรง

จิตใจถ้าเราได้ฝึกหัด เห็นไหม ได้มีสติ ได้มีสมาธิขึ้นมา ถ้ามันเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญาจะไปฟาดฟันมันเอง สิ่งที่จะฟาดฟันต้นเหตุ ต้นเหตุคือความหลง ต้นเหตุคือความไม่รู้ ถ้าต้นเหตุมันรู้ขึ้นมาแล้ว นี่เราไม่รู้ไงอะไรเป็นเหตุ อะไรไม่เป็นเหตุ ถ้าจิตสงบแล้วนี่ พอจิตสงบแล้วเราค่อยค้นหา ค้นคว้า

การขุดคุ้ยหากิเลสนี่เรื่องหนึ่ง การชำระกิเลสอีกเรื่องหนึ่งนะ บางคนคิดว่าพอจิตสงบแล้วนี่กิเลสจะวิ่งมาให้เราฆ่า นี่ทุกคนหวังว่าเป็นพระอรหันต์ ทุกคนอยากเป็นคนดี เราก็ตั้งใจว่าจะฆ่ากิเลส แล้วเราฆ่ากิเลสได้ไหมล่ะ? เราฆ่ากิเลสไม่ได้เลย กิเลสมันอยู่หลังความคิดเรา กิเลสมันใช้ความคิดเรา เห็นไหม ความอยากๆ ที่ทำดี แต่ต้องอาศัยความดีนะ อาศัยความดี อาศัยสติ อาศัยสมาธิ สติ สมาธิจะเห็นตัวมัน พอเห็นตัวมันนี่มันสะเทือนใจเรา พอเห็นตัวมันนี่ขนลุกขนพองเลย เห็นตัวมันนะ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมโดยความเป็นจริง

อย่างเช่น เช่นเห็นเวทนา เรานั่งสมาธิ นั่งสมาธิเราก็อยากดี แต่นั่งสมาธิทำไมมันปวดล่ะ? ถ้าเราปวดอยู่นี่ จิตเรายังไม่เป็นสมาธิใช่ไหมมันถึงปวด พอเวลามันปวดเราก็จับเวทนา จับเวทนา พิจารณาเวทนา จนมันปล่อยเวทนาเข้ามา มันปล่อยเวทนาเพราะอะไร? เพราะมันใช้ปัญญาของมัน ใช้กำลังของจิตพิจารณาเวทนา แล้วมันปล่อยเวทนาเข้ามา นี้เป็นสมถะ สมถะเพราะอะไร? เพราะมันปล่อยเวทนาเข้ามา จิตมันก็สงบระงับ

พอจิตมันเป็นสมาธิขึ้นมา เห็นไหม พอจิตเป็นสมาธิขึ้นมานี่มันจับเวทนา พอมันจับเวทนา เวทนานี้เป็นวิปัสสนาเพราะอะไร? เพราะจิตมันสงบแล้ว พอจิตสงบแล้วมันแยกแยะเวทนาได้แล้ว มันแยกแยะเวทนาได้นะ นี่เวทนาเป็นอะไร? นี่กายเป็นเวทนา กระดูกเป็นเวทนา เนื้อเป็นเวทนา เวทนามันมีที่ไหน? เวทนามันไม่มี นี่ร่างกายนี้เป็นเวทนาไม่ได้ แล้วถ้าร่างกายนี้เป็นเวทนา ร่างกายนี้เป็นธาตุ เป็นสสาร สสารมีชีวิตไหม? สสารไม่มีชีวิต ไม่มีชีวิตแล้วมันรู้เวทนาได้อย่างไร?

รู้เวทนา อ๋อ ไอ้ความรู้สึกเรามันไปยึดเอง ความรู้สึกเรา นี่ความรู้สึกเรา จิตเราไปยึดเอง ไปยึดมันก็เกิด เห็นไหม นามธรรมยึดนามธรรม ไปยึดอารมณ์ความรู้สึก ความรู้สึกมันก็มีความเจ็บปวดขึ้นมา อ๋อ ไอ้จิตนี้มันโง่เอง พอจิตมันพิจารณาไป มันโง่เองจิตมันก็ปล่อย จิตพิจารณาเวทนาครั้งแรก เวทนาครั้งแรก โดยธรรมชาติของมนุษย์มันก็มีความเจ็บ ความปวดเป็นธรรมดาใช่ไหม? เพราะจิตใจเราเป็นปุถุชน

จิตใจเราเป็นปุถุชน ทีนี้พอพิจารณาเวทนา จิตมันเป็นปุถุชนอยู่ จิตมันยังมีกิเลส มีความไม่รู้เจือปนอยู่ มันก็พิจารณาของมันไป พอมันปล่อย พอมันปล่อยขึ้นมานี่เป็นสมาธิหรือยัง? พอมันปล่อยเป็นสมาธิใช่ไหม? พอเป็นสมาธิแล้วมันก็จับเวทนาอีก เห็นไหม เราจะบอกว่าการจับเวทนานี่เป็นสมถะก็มี เป็นวิปัสสนาก็มี จับโดยที่ไม่เป็นนี่มันเป็นสมถะ มันเป็นสมถะคือมันเป็นสมาธินั่นแหละ มันปล่อยเป็นสมาธิ แต่ก็จับซ้ำจับซากเข้าไป

นี่ไงเวลาว่ากิเลสมันอยู่ที่ไหน? ถ้าคนไม่รู้จักมัน จะรู้จักได้อย่างไรว่าเวทนาอะไรเป็นสมถะ? เวทนาอะไรเป็นวิปัสสนา? นี่ถ้าคนไม่เป็นไง แต่ถ้าคนมันเป็นนี่เป็นเพราะอะไร? เป็นเพราะมันต้องมีธรรมในหัวใจมันถึงจะเป็นได้ มันถึงจะรู้ว่าอะไรเป็นกิเลส อะไรไม่เป็นกิเลส นี้บอกไม่รู้อะไรเป็นกิเลส จะเอาอาวุธอะไรไปฟาดฟันกับสิ่งที่สั่งนู่น สั่งนี่เรา เราต้องมีสติ มีปัญญา แล้วฝึกฝนของเราขึ้นไป นี่มันไม่ใช่ยุคตื่นธรรม ตื่นแต่คนจะให้ศักยภาพ เราต้องทำของเราเอง เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก นี่พูดถึงการกระทำของเรานะ

ถาม : ๕. เราจะเข้าถึงตัวต้นตอสิ่งที่เป็นต้นเหตุแห่งการสั่งการชีวิตเราได้อย่างไร?

หลวงพ่อ : เข้าถึงต้นตอนะ คำว่าต้นตอ ตอนี่มันมีหลายระดับ คำว่าต้นตอแรกคือฐีติจิต ฐีติจิตคือจิตปกตินี่ฐีติจิต ฐีติจิต จิตเวลามันสงบเข้าไปนี่ฐีติจิต จิตที่มันสงบระงับ นี่ต้นตอของมัน แต่ แต่มันก็เศร้าหมอง มีสิ่งที่เป็นอวิชชาครอบคลุมทั้งหมด แต่ถ้าเราใช้ปัญญาวิปัสสนาไปแล้ว มันเป็นโสดาบันมันก็แยกสักกายทิฏฐิออกไปส่วนหนึ่ง เวลาพิจารณาเป็นสกิทาคามีขึ้นมา เห็นไหม มันก็แยกอุปาทานออกไป นี่ขันธ์อันละเอียดพิจารณาเป็นอนาคามีมันปล่อยหมด อันนั้นแหละตอของจิต ตออย่างนี้ ตอของจิตขั้นอนาคามี ตอของจิตเขาเรียกว่า

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

จิตเดิมแท้ไง จิตเดิมแท้ที่สิ่งกิเลสหยาบๆ มันชำระล้างมา แต่ถ้าต้นตอ เห็นไหม ต้นตออย่างปุถุชนของเราเลย เวลาจิตเราสงบเข้าไปแล้ว นั่นคือตอที่มันสิ่งเริ่มต้นเลย เริ่มต้นของชีวิต เริ่มต้นของโลก เริ่มต้นของการกระทำ นั่นคือกิเลสทั้งหมดเลย ไม่มีอะไรที่เราสละละได้ในหัวใจเราเลย

คำว่าต้นตอมันมีหลายระดับ ต้นตอของใคร? ต้นตอของปุถุชน ต้นตอของสกิทาคามี ต้นตอของอนาคามี ต้นตอของที่จะเข้าสู่แดนพ้นทุกข์ อู๋ย มันมีหลายชั้นนะ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นท่านจะรู้ของท่าน แต่ของเรานี่เรายังไม่เป็น แต่คำถามถามมาอย่างนี้

ถาม : เราจะเข้าถึงตัวต้นตอสิ่งที่เป็นต้นเหตุแห่งการสั่งการชีวิต

หลวงพ่อ : อันนี้มันเป็นเหนือความรู้ของผู้ถาม ฉะนั้น เหนือความรู้ เหนือเหตุ เหนือผลจนเราไม่ต้องอธิบาย แต่ถ้าพูดถึงคนที่เขาปฏิบัติมาแล้ว อย่างเช่น เช่นละทุกอย่างหมดแล้ว ว่างหมด นี่สิ่งนี้อธิบายได้เลย อธิบายว่าตอของจิตมันเป็นแบบใด ตอของจิต นี้ตอของจิตอย่างหยาบๆ ก็มี อย่างละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปจนละเอียดสุด แต่ถ้ายังมีอยู่ตอคือภพ ตอคือสิ่งที่มีอยู่ ตอคือสถานที่ตั้ง ตอคือตัวตน ตอคือทิฐิมานะ ตอคือมานะ ๙ นี่ถ้าทำลายแล้วก็จบ

ทีนี้ถ้าพูดถึงเรายังไม่เป็น คือว่าคนเราไม่เป็นไข้ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ยาก็ยังไม่จำเป็น ฉะนั้น อันนี้อธิบายไปแล้วเดี๋ยวยิ่งงงใหญ่เลย

ถาม : ๖. เราจะเป็นอิสระจากตัวที่คอยขับเคลื่อนนี้ได้อย่างไร?

หลวงพ่อ : เราจะเป็นอิสระต่อเมื่อเราสิ้นกิเลส ถ้าเรายังไม่อิสระนะ เราละได้เป็นบางอย่าง เราก็ควบคุมได้เป็นบางอย่าง สักกายทิฏฐิ โสดาบันนี่ละสักกายทิฏฐิ ไม่มีวิจิกิจฉา ไม่มีสีลัพพตปรามาส ละสักกายทิฏฐิ เห็นไหม เรื่องที่เราจะไปมีอารมณ์ความรู้สึกแบบโลกๆ เขา นี่ไม่เหมือนเขาแล้ว โลกเขามีอารมณ์ความรู้สึกแบบสามัญสำนึก แต่เป็นพระโสดาบันปั๊บมันมีความรู้สึก มันมีความรู้สึกเพราะอะไร? เพราะมีสติระดับหนึ่ง มันมีระดับหนึ่งก็ทันความคิดตัวเองระดับหนึ่ง มันจะไม่ไปแบบโลกๆ เขา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราจะมีอิสระอย่างไร? นี่มันอิสระของใคร? ถ้าอิสระแบบสามัญสำนึกเขา ถ้าเขาทำความสงบของใจได้ เขาควบคุมได้ก็เป็นอิสระส่วนหนึ่ง แต่ถ้าพอเป็นโสดาบัน อิสระของเขา นี่เขาอิสระจากปุถุชนเข้ามา แต่สิ่งที่ละเอียดอยู่เขาไม่รู้เรื่องเลย ขั้นของสกิทาคามีเขาไม่รู้เรื่องเลย ยิ่งเรื่องอนาคามีเขาไม่รู้เลย ถ้าเขารู้นะ นางวิสาขาจะไม่มีครอบครัว

นางวิสาขาเป็นพระโสดาบันเขาก็มีครอบครัวของเขา นี่สิ่งที่ละเอียดกว่าเขาไม่รู้เลย ยิ่งตอของจิต ตอที่เป็นอวิชชาเขายังไม่เห็นเลย ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปมันจะเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ถ้าตามความเป็นจริงของครูบาอาจารย์ของเรานะ ไม่ใช่ยุคตื่นทอง ตื่นธรรม ถ้ายุคความเป็นจริงมันจะเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป แล้วสิ่งที่เขามาคุยกันจะมาโกหกเราไม่ได้ จะมาโกหกนักปฏิบัติไม่ได้หรอก

หลวงตาท่านพูดประจำ “ผู้รู้มีนะ ผู้รู้ในสังคมของเรา ผู้รู้ในวงกรรมฐานเรา นี่ผู้รู้จริงเขามี พูดอะไรไปนี่ระวัง ผู้รู้เขาโต้แย้งมาได้นะ”

ผู้รู้มี ไม่ใช่จะมีแต่คนโง่ๆ จะให้คนนู้นหลอก คนนี้หลอก ใครจะตื่นทองตื่นไปเถอะ คนที่เขามีสติปัญญาเขาไม่ตื่นทอง เขาจะทำนา เขาจะหาอาหาร เขาจะมีอาหารกินของเขา เขาไม่ตื่นทอง ทองกินไม่ได้ แต่เขาจะหาสมบัติของเขา หาอาหารของเขา เพื่อดำรงชีวิตของเขา

ถาม : ๗. เรารู้อยู่ว่าสิ่งนี้มันอยู่ในตัวตน อยู่ในตัวเรา แต่เรายังแกะมันออกไม่ได้ อะไรที่ทำให้เรามีปัญญาหาตัวมัน แล้วทำลายตัวขับเคลื่อนนี้ให้ตายไปจากเรา หรือให้เราทำลายตัวเราหลุดออกไปจากตัวมัน

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) อันนี้พยายามจะใช้ตรรกะคิดให้ได้ จะใช้ตรรกะรู้ให้ได้นะ นี่บางคนคิดอย่างนี้ไง บางคน นี่เราจะไปดูงานใช่ไหม? ทางโลกเขาจะไปดูงาน ว่าที่ไหนเขาทำงานประสบความสำเร็จ แล้วเราจะทำตามเขา เราจะเอามาพัฒนาบ้านเราให้เหมือนเขา นั่นเราไปดูงานมา

ทีนี้เราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาก็อย่างนี้ เหมือนดูงานมา นั่นเป็นงานของพระพุทธเจ้า ธรรมะของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว แต่เราต้องปฏิบัติตามความเป็นจริงของเรา ถ้าเราไปดูงานมา เราจะก็อปปี้มาเลย นั่นเป็นเรื่องโลก เห็นไหม ดูงานมันเป็นสุตมยปัญญา เวลาปฏิบัติแล้วเราต้องทำให้ได้ เราต้องทำของเราขึ้นมาให้ได้ ถ้าเราทำได้ของเรา มันจะเป็นความจริงของเรา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “สิ่งที่มันอยู่ในตัวเรา เราจะแกะออกอย่างไร?”

จะแกะออกเราต้องเห็นมันก่อน แกะออกเราต้องทำจิตสงบก่อน พอจิตสงบแล้วนี่เราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม การไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมนั้นเพราะอะไร? เพราะกิเลสมันอาศัยสิ่งนั้นออก อาศัยสิ่งนั้น สิ่งที่ว่าเราจะแกะออกๆ เราจะแกะอะไรออก? เราก็แกะกิเลสออก

แล้วกิเลสมันคืออะไร? กิเลสมันเป็นนามธรรม กิเลสมันคือความเคยชิน เคยใจ กิเลสคือความสะดวก กิเลสมันคือสิ่งที่เราพอใจ แล้วเราฝืนมันเราก็ฝืนกิเลส ทีนี้เราจะแกะกิเลส เราจะแกะอย่างไร? เราก็เอาสิ่งที่มันชอบ เอาสิ่งที่มันแสดงตัวมาแยกแยะ อย่างเช่นรถ เราจะซ่อมรถเราก็ต้องถอดหมดเลยว่ารถประกอบไปด้วยอะไร? แล้วค่อยมาดูแลรักษามัน

จิต จิตนี้มันเกาะสิ่งใด เราก็มาแยกแยะมัน พอแยกแยะมันเราก็จะเห็นไง สิ่งที่ว่าอะไรไปขับเคลื่อนเป็นตัวเรา แล้วเราจะเอาปัญญาตัวไหนไปทำลายมัน (หัวเราะ) พอมันรู้จริงขึ้นมามันก็ทำลายได้ พอมันทำลายได้แล้วนะ พอทำลายได้แล้วนะหลวงพ่อไม่ต้องพูดหรอกหนวกหู พอทำลายได้แล้วมันไม่ถามเลย แต่นี่มันถามมาเพราะมันทำลายไม่ได้ ถ้ามันทำลายได้แล้วมันก็ไม่ถามใช่ไหม?

ฉะนั้น สิ่งที่ถามมา เราจะบอกว่าคนที่ถาม หรือคนที่ยัง อย่างเช่นหลวงปู่มั่นท่านฝึกฝนลูกศิษย์ ถ้าลูกศิษย์ยังไม่รู้ท่านก็จะสอน นี่ไงสิ่งที่ถามมาคือเรายังไม่รู้ ทีนี้พอถามมา เพราะเรายังไม่รู้ เราไม่มีพื้นฐานใช่ไหม? เราถึงต้องทำความสงบของใจ ถามนี่พอตอบปัญหาแล้วเราต้องใช้ปัญญาเราไตร่ตรอง ไตร่ตรองจริงหรือไม่จริง ใช่หรือไม่ใช่ แล้วให้มันเป็นประโยชน์กับเรา พอเป็นประโยชน์กับเรา มันเข้าใจมันก็ปล่อยเข้ามาๆ มันละเอียดเข้ามาเรื่อยๆ

มันต้องปล่อยเข้ามา ทีเดียวรู้ไม่ได้หรอก พอมันปล่อยเข้ามาปั๊บมันสงบระงับ มีฐานของมัน แล้วฝึกฝนมัน เดี๋ยวมันจะเห็นกิเลส พอเห็นกิเลส โอ้โฮ เห็นกิเลสนะ โอ๋ย มันอยู่นี่เอง อยู่นี่เอง พออยู่นี่เอง นี่ที่ว่า “อะไรที่ทำให้เรามีปัญญาหาตัวมันไง”

พอเรามีปัญญาขึ้นมา เราไตร่ตรองขึ้นมาเราเห็นตัวมัน อู้ฮู นี่เองๆ ทำไมไปถามท่านทำไม? ทำไมต้องไปถามท่าน? เราก็เห็นของเราได้ พอเห็นแล้วมันก็แยกของมันนะ แยกของมัน นี่ใช้ปัญญา ทีนี้พอปัญญาใคร่ครวญ เห็นไหม แยกแล้วเป็นตทังคปหาน มันปล่อย ปล่อยแล้วปล่อยเล่า ปล่อยจนมันสมุจเฉทมันก็ฆ่า พอฆ่าก็จบ พอจบแล้ว เราทำลายมันๆ เราไม่ต้องทำลายตัวเราหรอก เราทำลายมัน ทำลายแล้วคือจบ

สุดท้ายแล้วมันละเอียดเข้ามาจนตัวเราเองก็เป็นปัญหาด้วย ตัวจิตนี่เป็นตัวปัญหา ตัวสถานที่ ตัวตอนี่เป็นตัวปัญหา แล้วถ้าเราจะทำลายตัวตอนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งไง เพราะคำถามเขาถามว่า “เราจะต้องทำลายเขา หรือจะต้องทำลายเรา?”

คำถามมันถามอย่างนี้ ถามว่า

ถาม : อะไรที่ทำให้เรามีปัญญาที่ทำลายตัวขับเคลื่อน (คือตัวเขา) ทำลายตัวขับเคลื่อนให้ตายไปจากเรา หรือเราต้องทำลายตัวเรา เราต้องทำลายตัวเราเองเพื่อให้หลุดพ้นไปจากตัวขับเคลื่อน

หลวงพ่อ : เขาถามมา ๒ ปัญหาไง ปัญหาว่า “ต้องฆ่ากิเลส หรือต้องฆ่าเรา?” ต้องฆ่ากิเลสก่อน ฆ่ากิเลสไปเรื่อยๆ ฆ่ากิเลสไปเรื่อยๆ จนไม่มีอะไรเลยนะ

“โมฆราช เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ ผู้รู้ ผู้รู้ว่าว่างไง”

เธอจงทำลายให้ว่าง คือฆ่าเขามาหมดเลย ทำลายเขามาหมดเลย ให้ว่างหมดเลย เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง แล้วถอนไอ้ผู้ที่ทำลายเขา ไอ้ผู้ที่รู้ ไอ้ตัวภพ ไอ้ตัวตอนี่ถอนออกให้หมด พอจบแล้วนะ นี่รู้หมดเลย แล้วจะไม่ถาม เอวัง