บุญ-บาป
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
อันนี้มันข้อ ๗๖๒. เนาะ ข้อ ๗๖๒. มันไม่มีคำถามหรอก มันเป็น
ถาม : ฟังกัณฑ์ล่าสุด เรื่อง เตรียมปิดถาม-ตอบทางเว็บไซต์
เนื่องจากเห็นกับจิตใจคนมาก พร้อมที่จะให้แรงทุนความช่วยเหลือเต็มที่ แต่ปัญหาคงไม่ใช่อยู่ที่ค่าใช้จ่ายหรือแรงงานกระมัง (หัวเราะ) หากเป็นอุปสรรคก็ยินดีเป็นแรงจิตสาธารณะหนุนกำลังช่วย หากแต่สถานการณ์ปัจจุบัน ทางวัดเดินทางไปค่อนข้างลำบาก มวลชนเยอะ จะถามปัญหาภาวนากรรมฐานคงไม่ง่าย จึงเห็นปัญหาว่าคงยากที่จะแก้ หากทิ้งตรงนี้ก็เหมือนชักสะพานของผู้ที่ยังไม่อาจพึ่งตนเองได้ หวังว่าคงจะมีผู้ที่ยั้งไว้ก่อน พักไว้ก่อน จนเมื่อถึงวัดสาขาเข้มแข็ง แข็งแรง แล้วเมื่อนั้นค่อยว่ากันเป็นไปตามความเหมาะสม
หลวงพ่อ : นี่ผู้ที่ติดตามอยู่เขาว่า เห็นไหม
ถาม : เนื่องจากเห็นกับจิตใจคนมาก พร้อมที่จะให้แรงทุนความช่วยเหลือเต็มที่ แต่ปัญหาคงไม่ใช่อยู่ที่เรื่องค่าใช้จ่ายหรือแรงงาน
หลวงพ่อ : (หัวเราะ) ความจริงอยู่ไหม? อยู่ที่ค่าใช้จ่ายหรือเปล่า? เขาบอกว่าวัดนี่ไม่มีสตางค์ แล้วจะปิดเว็บไซต์ ถาม-ตอบนี่จะเลิกแล้ว เราบอกไปว่าจะเลิก เพราะคำว่าจะเลิกของเรา เราเห็นคำถามมามันสัพเพเหระเกินไป ถ้ามันสัพเพเหระเกินไปไม่มีประโยชน์ ก็จะปิดเพราะมันเสียเวลา แต่ถ้ามันมีปัญหา มันเป็นเรื่องที่มันมีเนื้อหาสาระ มันก็พอว่ากันไป พอว่ากันไปก็อย่างที่ว่านี่ เห็นไหม
ถาม : ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทางวัดเดินทางไปค่อนข้างลำบาก มวลชนก็เยอะ ถ้าถามปัญหาภาวนากรรมฐานคงไม่ง่าย จึงเห็นปัญหาว่าคงจะแก้ที่การอย่าทิ้งตรงนี้
หลวงพ่อ : เราก็เห็นแก่ตรงนี้แหละ เห็นแก่มวลชน เห็นแก่ผู้ที่ภาวนา แต่ถ้ามันภาวนาไปแล้วมันเหมือนเด็กเลย เด็กถ้ามันทำสิ่งใดไม่ได้ มันก็ยังเป็นปัญหาอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ถ้ามันโตขึ้นมานะมันก็แสวงหาของมัน
นี่ก็เหมือนกัน คนภาวนา ถ้าไม่มีหลักมีเกณฑ์มันก็ไม่มีปัญหาให้ถามไง เช่นปัญหาที่ถามมา บางทีมันแบบสะเปะสะปะเกินไป สะเปะสะปะเกินไปแล้วมันไม่เป็นประโยชน์ ก็ถ้าอย่างนั้นต่างคนต่างเสียเวลาไง อย่างเช่นวันนี้พูดคนเดียว ฟังอยู่ ๒ คน แล้วนี่พูดคนเดียว ฟังอยู่ ๒ คนแล้วมันจะไปไหน? ทีนี้ถ้ามันเยอะนะ มันเยอะมันเป็นประโยชน์
ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ ถ้าเวลาพูดถึงเอาหลักความจริง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ครั้งแรก เทศน์ครั้งแรกเลยเทศน์ธัมมจักฯ พระ ๕ องค์ แต่ธัมมจักฯ จนมาเดี๋ยวนี้ธัมมจักฯ เป็นกัณฑ์สำคัญที่สุดของพระพุทธเจ้า เพราะเป็นการแสดงธรรมครั้งแรก เทศน์ธัมมจักฯ แต่ผู้ฟังมีอยู่ ๕ คน แล้วเทศน์อยู่ในป่า แต่จนปัจจุบันนี้ยังยึดเป็นหลัก เป็นเกณฑ์ เป็นหัวใจเลย เป็นหัวใจของศาสนาเลย
นี่ก็เหมือนกัน เห็นเวลาพูดแล้วมันเป็นประโยชน์ไปอีกชั้นหนึ่ง ฉะนั้น ไอ้ที่ว่าบอกว่า อย่าเพิ่งชักสะพาน อย่าเพิ่งสิ่งใด ไอ้ของกรณีนี้ทุกคนก็ปรารถนาดี ทุกคนก็คิดได้แหละ แต่เวลามันถึงคราวจำเป็นขึ้นมามันเป็นไปตามเวร ตามกรรมทั้งนั้นแหละ นี่คำว่าชักสะพาน คนพูดตายไปใครจะพูดแทนล่ะ? แล้วใครจะชักสะพาน มันไม่มีใครพูดแทนมันก็จบ แต่ถ้าคนพูดอยู่ มันพูดได้ก็พูดไป แต่ถ้ามันเห็นว่าเป็นสัพเพเหระ เห็นไหม
มันไม่เหมือนทางโลก ทางโลกมันคลุกคลีกัน อะไรกันมันก็เป็นไปประสาของเขา แต่ถ้าเป็นทางธรรม นี่เวลาหลวงตาท่านออกมาทำงานท่านบอกเลยนะ ท่านรำคาญมากที่จะต้องไปเขี่ยขี้ ท่านบอกว่าขี้มันเหม็นอยู่แล้วไง คือสังคมมันเหม็นอยู่แล้ว แต่ก็ต้องไปเขี่ยมัน ต้องไปคุ้ยมัน คุ้ยมันเพื่อทำให้มันดีไง ท่านบอกว่าท่านทำนี่นะ เหมือนกับเอาไม้ไปคุ้ยขี้
นี่โลกเป็นแบบนั้น ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราจะตอบปัญหาเขาไม่ใช่คุ้ยขี้หรอก แต่ถ้าเป็นปัญหาก็จะว่ากันไป ถ้ามันไม่มีปัญหาก็ต้องจบกันไป นี้พูดถึงปัญหานะ ไม่ต้องตกใจหรอก มันเป็นอำนาจวาสนาของคน อำนาจวาสนาของสังคม เขาบอกคนดียังมีอยู่ คนที่เขาจะทำได้ดีกว่านี้ยังมีอยู่ ถ้าเขาทำได้ก็เรื่องของเขา ไอ้นี่เราทำความเห็นของเรา ไอ้จะปิดหรือไม่ปิดนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ไม่ต้องตกใจหรอก มันเป็นคำขู่ (หัวเราะ) เป็นคำขู่เลยล่ะ ถ้าสัพเพเหระก็เลิกกัน
คือเราไม่จำเป็นต้องการตลาด ไม่จำเป็นต้องมีตลาด ต้องมีสินค้ามาโชว์ มาโอ้ มาอวดกัน เพียงแต่ว่าใครมีประโยชน์ ใครได้ประโยชน์ก็ทำหน้าที่ ถ้ามันไม่มีใครจะได้ประโยชน์ ไม่มีใครจะต้องการมันก็จบ คือมีแต่คนดีๆ มีแต่คนมีความสุข มีแต่คนเป็นพระอรหันต์หมดเลย จะไปพูดให้ใครฟังล่ะ? ก็เขารู้หมดแล้วใช่ไหม? ก็เลิกก็จบ (หัวเราะ)
ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ว่ากันไป ถ้าเป็นพระอรหันต์หมดเลย โลกนี้เป็นพระอรหันต์หมด ทุกคนมีคุณธรรมในหัวใจ สังคมร่มเย็นเป็นสุข จะพูดให้ใครฟังล่ะ? ไม่มีใครฟังหรอก มันก็จบกันไป ฉะนั้น มันก็ดูไปตามนั้นแหละ
ข้อ ๗๖๓. ไม่มีเนาะ ข้อ ๗๖๔. ไม่มี ข้อ ๗๖๕.
ถาม : ๗๖๕. เรื่อง ทำไมคนทำบุญ ตายไปถึงตกนรก
หลวงพ่อ : อืม คำถามนะ
ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ คือมีคุณตาคนหนึ่ง ฝากคำถามให้หนูมาถามหลวงพ่อ ซึ่งคุณตาท่านนี้สงสัยมานานหลายปีมาก หาคำตอบเท่าไรก็ยังไม่ได้คำตอบ เนื้อหาสาระอยู่ในพระไตรปิฎกฉบับประชาชน ย่อความจากพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี ๔๕ เล่ม พิมพ์รวดเดียวจบ ครั้งที่ ๒๕๒๔ หน้า ๔๗๖
ซึ่งคำถามที่คุณตาสงสัยอาจจะไม่เกี่ยวกับภาคปฏิบัติ แต่หนูเชื่อว่าสิ่งนี้สามารถเป็นใบเบิกทางที่คุณตาจะเกิดความเลื่อมใส ศรัทธา และเข้ามาประพฤติปฏิบัติ สมควรตอบหรือไม่สมควรอย่างไร แล้วแต่หลวงพ่อจะเห็นสมควร หรือไม่สมควรเจ้าค่ะ
มหากัมมวิภังคสูตร สูตรว่าด้วยการจำแนกกรรมสูตรใหญ่ พระภูมิภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เวฬุวันวนารามใกล้กรุงราชคฤห์ ตรัสแสดงธรรมแก่พระอานนท์ ภายหลังที่ตรัสปรารภเรื่องพระสมิทธิ ตอบคำถามของปริพาชกโปตลิบุตรแง่เดียว แทนที่จะตอบแบ่งตามเหตุผลที่พระอานนท์กราบทูลร้องขอ จึงแสดงถึงการจำแนกกรรมเรื่องใหญ่ โดยแสดงถึงบุคคล ๔ ประเภทคือ
๑. ทำชั่วแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
๒. ทำชั่วแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
๓. ทำดีแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
๔. ทำดีแล้วไปเกิดในอบายทุคติ วินิบาต นรก
ซึ่งทำให้พราหมณ์บางพวก ผู้เห็นไม่ตลอดสายเข้าใจผิด ทรงรับรองเฉพาะคำกล่าวที่ถูกต้อง ที่ไม่ถูกต้องก็ไม่ตรัสรับรอง นอกจากนั้นทรงแสดงเหตุผลถึงกรรมดี กรรมชั่วที่ทำก่อน ทำหลัง และมีความเห็นถูก เห็นผิดก่อนตายว่าอาจแทรกส่งผลให้คนเข้าใจผิดได้ แต่ความจริงกรรมทุกอย่างจะส่งผลทั้งสิ้น เพียงแต่ไม่เข้าใจตลอดสาย และไม่สับเหตุผล
คำถามของคุณตาคือ
คำถามที่ ๑. จากพระไตรปิฎก ทำไมคนทำบุญ ตายแล้วไปตกนรก
คำถามที่ ๒. ทุกข์เกิดจากอะไร?
คำถามที่ ๓. อ่านหนังสือหลวงพ่อแล้วสงสัยเรื่องอัพยากฤต ซึ่งมันไปคนละเรื่องกับของคุณตา ซึ่งของคุณตามันอยู่ที่ฌาน ๑ หลวงพ่อโปรดอธิบายเพิ่มเติมเจ้าค่ะ กราบขอบพระคุณหลวงพ่ออย่างสูง
หลวงพ่อ : ไอ้เรื่องทำบุญ เห็นไหม นี่บาป บุญ ทำบุญ ทำบาปใช่ไหม? เราก็เข้าใจกันว่าทำบุญต้องได้บุญ ทำบาปต้องได้บาป แล้วพระพุทธเจ้าพูดอย่างนี้จริงๆ ในศาสนาพุทธนะ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนี่เรื่องจริง
ทีนี้คำว่าเรื่องจริง ฉะนั้น ในพระไตรปิฎกที่เรื่องพระสมิทธิไปตอบผิด คำว่าตอบผิดหมายความว่า หมายความว่าเวลาคนเรานี่นะถ้าปฏิบัติไม่เข้าใจ ปฏิบัติยังไม่รอบมันมีความสงสัยอยู่ นี่ปัญญาของคนมันมีหยาบ มีละเอียด ฉะนั้น เวลาไปตอบ อย่างถ้าเราศึกษามาเราก็ตอบตามนั้นแหละ ถ้าผิดจากนั้นแล้วเราก็ตอบไม่ได้
ทีนี้คำตอบไม่ได้ คำตอบไม่ได้ ถ้าเวลาพระเทศนาว่าการกับพวกญาติโยมนี่สบายมาก เพราะโยมไม่ค่อยเข้าใจเรื่องศาสนา ไม่มีพื้นฐานใช่ไหม? พระพูดอยู่ข้างเดียว แต่พระสมิทธิไปพูดกับนักบวชนอกศาสนา ถ้าไปพูดกับนอกศาสนาใช่ไหม? เวลาโต้ธรรมะกันมันก็มีทิฐิคนละฝ่าย ทิฐิของคนมันไม่เหมือนกันใช่ไหม? พอทิฐิของใคร เขาศึกษาลัทธิศาสนาไหนมา เขาก็ถือลัทธิของเขา
ฉะนั้น เวลาเราไปถามนี่เขาถามแย้ง เขาจะถามแย้งขึ้นมาว่าทำไมเป็นอย่างนั้น? ทำไมเป็นอย่างนั้น? แล้วมันพลาดได้ไง มันพลาดได้เพราะมุมมอง มุมของลัทธิต่างๆ มันไม่เหมือนกัน ทีนี้เวลาเขาถามแย้งเข้ามา เวลาตอบไปแล้วมันเลยผิดพลาดไง แต่ถ้าคนเราได้ปฏิบัติมา ได้รู้จริงมา มันจะพูดอย่างนี้ได้ มันจะยกตัวอย่างได้
พูดถึงไอ้นี่วางไว้นี่ก่อนนะ ยกตัวอย่าง เห็นไหม ยกตัวอย่างที่พระสมัยพุทธกาล ชื่อพระอะไรที่ว่าเกิดเป็นเล็น ทีนี้พระเกิดเป็นเล็น เขาปฏิบัติของเขามาเหมือนกัน เขาปฏิบัติมาแล้วไปเยี่ยมญาติ ญาติเขาให้ผ้ามา ผ้านั้นเป็นผ้าฝ้ายที่หยาบ ก็มารื้อใหม่ มาทอใหม่ ทอใหม่จนเป็นผ้าที่เนื้อละเอียด เนื้อดี แล้วตัดย้อมเสร็จ ด้วยการกระทำมันทำมาตลอด ด้วยเขาทำคุณงามความดีมาตลอด แล้วพยายามอยู่ในหลักในเกณฑ์
ฉะนั้น พอคืนนั้นตัดผ้าเสร็จ ย้อมผ้าเสร็จนะก็ตากผ้าไว้ พรุ่งนี้เช้าถ้ามันแห้งแล้ว พรุ่งนี้จะพินทุ อธิษฐาน จะอธิษฐานเป็นผ้าของตัว คืนนั้นท้องร่วง ท้องร่วงเสีย ตายไปก่อน พอตายไปนี่ไปเกิดเป็นเล็น คำว่าเกิดเป็นเล็น เห็นไหม นี่ไงทำความดีมาตลอด เวลาเกิดเกิดเป็นเล็น พอเกิดเป็นเล็นขึ้นมา แล้วมีความผูกพันกับผ้านั้น
ฉะนั้น ในวินัยของพระพุทธเจ้านะ นี่ของๆ สงฆ์ ถ้ามีผู้อุปัฏฐาก สงฆ์องค์นั้นเสียชีวิตลง ผู้ที่อุปัฏฐาก ของๆ สงฆ์ก็บริขาร ๘ บริขาร ๘ นี่ผู้ที่อุปัฏฐากจะได้สิทธิได้บริขาร ๘ นั้น แต่ถ้าไม่มีใครอุปัฏฐาก ของสงฆ์นั้นจะตกเป็นของกลางของสงฆ์ แล้วให้แจกกัน ฉะนั้น นี่ตามวินัย ทีนี้ตามวินัยปั๊บ พระองค์นี้ตาย เห็นไหม ผ้าที่ตัดไว้เป็นของๆ สงฆ์จะแจกใครก็ได้ คือสงฆ์ลงมติว่าจะแจกใคร จะให้ใคร ใครขาดแคลนก็ให้คนนั้น แต่พระพุทธเจ้าเสด็จมาก่อน บอกว่า ผ้านั้นห้ามแจกนะ
พระที่ตายไปมาเกิดเป็นเล็น คำว่ามาเกิดเป็นเล็น เห็นไหม มาเกิดเป็นเล็นอยู่ที่ในผ้านี้ ถ้าแจกผ้านี้ไป เล็นที่เจ้าของผ้า เขายึดว่าเป็นเจ้าของผ้า แต่เขาเป็นเล็นเขาจะเป็นเจ้าของผ้าได้ไหม? แต่พระที่ตายไปไปเกิดเป็นเล็น พอเกิดเป็นเล็นอยู่ในผ้านั้นเขาก็ยึดของเขา ความรู้สึกของเขายึด แต่ตามเรื่องข้อเท็จจริง เพราะมันอยู่ในสังคมของสงฆ์ อยู่ในโลก เป็นเล็นมันไม่เกี่ยวกันแล้วแหละ แต่ด้วยความผูกพันของเขา เขาก็ยึดผ้านั้นว่าเป็นของเขา
พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่าเพิ่งแจกนะ เล็นมันมีอายุของมัน ๗ วัน ให้เขาได้มีความสงบ ให้เขามีความสุขกับผ้าผืนนั้น ก็ตากทิ้งไว้อย่างนั้น ๗ วัน จนเล็นนั้นตาย พอเล็นนั้นตายพระพุทธเจ้าก็มาอีก มาอีกบอกว่า นี่เล็นตัวนี้ได้ตายแล้ว เล็นนี่ได้ตายจากการเป็นเล็นแล้ว แล้วไปเกิดบนสวรรค์ นี่ไงที่ว่าทำบุญแล้วตกนรก ทำชั่วแล้วไปสวรรค์ มันเป็นเพราะเหตุใด? นี่มันมีพูดไม่ตลอดสาย พอพูดไม่ตลอดสาย เห็นไหม พูดว่านี่ในปัจจุบันเราก็ว่าเราทำดีกันอยู่ ทำดีกันอยู่ แล้วทำไมตกนรกล่ะ?
ทำดีอยู่ แต่คนเรานี่มันทำดีแล้วทำชั่ว มันทำสับปนกันไป แล้วสิ่งใดมันให้ผลก่อนไง นี่ว่าทำดีแล้วไปสวรรค์ ทำดี นี่พอพระพุทธเจ้าบอกว่าอย่าเพิ่งแจกนะ พระก็เชื่อฟังพระพุทธเจ้า เพราะพระเรายังปฏิบัติไม่ถึงก็ตาบอด ตาใจยังไม่สว่างไสวกระจ่างแจ้งเหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าใจหมด เห็นไหม รู้อนาคตังสญาณรู้อนาคต รู้ ฉะนั้น ก็บอกว่าให้เก็บผ้านั้นไว้ก่อน ตากไว้อย่างนั้นแหละ ๗ วัน แหม เล็นก็มีความสุขกับผ้านั้น พอเวลาหมดอายุขัย นี่ด้วยความสุข ด้วยอายุขัยของตัว ตายจากเล็นก็ไปเกิดเป็นเทวดา นี่ไปเกิดเป็นเทวดาก็จบ ผ้านั้นก็มาแจกกัน
นี่มันถ้าไม่ตลอดสายไง พระโมคคัลลานะยิ่งอัศจรรย์นะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ พระโมคคัลลานะกับพระสารีบุตรอธิษฐานมานะ อธิษฐานมาเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา นี่ตั้งเป้ามา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งเป้ามาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเป็นพระโพธิสัตว์ต้องสร้างบุญญาธิการมา อัครสาวกเบื้องซ้าย เบื้องขวาต้องตั้งอธิษฐาน ต้องตั้งมานะ แล้วทำบุญมา นี่สาวก สาวกะก็ต้องบำเพ็ญเพียรของแต่ละภพ แต่ละชาติมา ก็ทำความดีมา ทำความดีมา
ฉะนั้น ทำความดีมาขนาดนั้น อธิษฐานมาเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา แต่พอเวลาเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายแล้ว นี่ในราชคฤห์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการนะคนจะเต็มเลย แล้วศาสนาต่างๆ เขาแข่งขันกัน เพราะมีลัทธิศาสนาต่างๆ ใช่ไหม? พอบ้านใดมีคนตาย พอมีคนตายนี่ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นไหนๆ นี่พระโมคคัลลานะไปวิเวก ไปเที่ยวมา เห็นมาหมด เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการก็พูดต่อหน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
บุคคลคนนั้น บ้านที่อยู่ตรงนั้นได้สิ้นชีวิตไป ได้ไปเกิดที่นั่นๆ อยู่บนสวรรค์ชั้นนั้น
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับประกันหมดเลย บอกว่า เป็นตามนั้น เป็นเช่นนั้นจริงๆ เป็นตามนั้นจริงๆ คนก็ศรัทธา คนก็มีความเชื่อมั่นกันมาก
ฉะนั้น ในลัทธิศาสนาต่างๆ เขาบอกว่าจะทำลายพุทธศาสนาต้องเริ่มต้นจากใครก่อน? เขาก็บอกว่าถ้าจะตัดทอนกำลังของพุทธศาสนา ต้องตัดกำลังที่พระโมคคัลลานะก่อน พระโมคคัลลานะมีฤทธิ์มาก พระโมคคัลลานะจะรู้ แล้วจะเอาสิ่งนั้นมาเป็นเครื่องยืนยัน นี่ก็จ้างคนมาทุบ เห็นไหม จ้างนักเลงมาฆ่า มาครั้งที่ ๑ ก็เหาะหนี ครั้งที่ ๒ ก็เหาะหนี ครั้งที่ ๓ นี่เขาทุบจนตาย เพราะพระโมคคัลลานะท่านปลงใจว่าทำไมเป็นอย่างนี้ เพราะตั้งแต่อดีตชาติที่ท่านสร้างบุญญาธิการมา มีอยู่ชาติหนึ่งที่ว่าไปทำร้ายแม่ นี่ในตลอดสายคนมันมีทำดี ทำชั่วมา ฉะนั้น ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว
ฉะนั้น ที่ว่าคนทำบาป นี่ที่ในพระไตรปิฎกท่านพูด พระพุทธเจ้าท่านติ เห็นไหม ท่านติ ท่านไม่ได้รับรองทั้งหมดไง ท่านไม่รับรองว่าคนชั่ว ทำชั่วแล้วไปเกิดบนสวรรค์ นี่ท่านไม่ได้รับรองทั้งหมด ท่านบอกว่าถ้าดูตลอดสาย ถ้าพูดให้มันตลอดแล้วแบ่งเป็นวาระ วาระที่ว่าเขาเคยทำดีตอนไหน? เขาเคยทำความผิดพลาดตอนไหน? แล้วไม่ใช่ชาติปัจจุบัน
พระโมคคัลลานะย้อนไปตั้งแต่สมัยก่อนที่จะอธิษฐาน พออธิษฐานเข้ามา พอมันยิ่งใกล้เข้ามา อย่างเช่นพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ถ้ายิ่งบารมีมากขึ้นเท่าไร? ความผิดพลาดจะน้อยลงๆๆ อย่างเช่นฌานโลกีย์ ฌานโลกีย์นะจะช่วยเหลือเจือจานสังคมใช่ไหม? สังคมมีปัญหาสิ่งใด จะใช้ฌานโลกีย์พิจารณาแล้วช่วยมากขึ้น ถ้าบารมีใครใกล้เข้ามามันก็จะชัดเจน จะไม่ค่อยผิดพลาด แต่ถ้าบารมียังเริ่มต้นมา ความผิดพลาดมากกว่าความถูก นี่มันใกล้เข้ามา
ฉะนั้น พระโมคคัลลานะเคยทำผิดอย่างนั้นมา แล้วสร้างบุญญาธิการมา จนมาเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย แล้วมีฤทธิ์ด้วย คำว่ามีฤทธิ์นี่นะเหาะเหินเดินฟ้าได้ เพ่งไฟได้ ทุกอย่างได้ แสดงฤทธิ์ได้แบบเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แล้วไอ้คนที่มาฆ่าเขาเป็นใคร? ถ้าใช้ฤทธิ์ ใช้เดชทำลายเขาก็ได้ นี่พูดถึงกรณีของฤทธิ์เดชนะ ไม่ใช่กรณีของความบริสุทธิ์ ไม่ใช่กรณีของหัวใจ
กรณีของใจ หมายความว่าเป็นพระอรหันต์แล้วจะทำร้ายใครไม่ได้ เพราะแบบว่ามันเป็นโทษ พระอรหันต์ไม่ทำสิ่งใดที่เป็นอกุศล ถ้าจิตเป็นอกุศล จิตคิดทำร้ายคน จิตคิดเบียดเบียนคน พระอรหันต์ไม่ทำหรอก แต่เราพูดกันเพรียวๆ ด้วยฤทธิ์ ด้วยเดช ด้วยฤทธิ์ ด้วยเดชมันเป็นไปได้นะที่จะทำให้ ๓ คนนี้เข้ามาใกล้เราไม่ได้เลย จะทำให้ ๓ คนนี้ผิดพลาดอย่างไรก็ได้ แต่ท่านไม่ทำ ท่านไม่ทำ เพราะอะไร? เพราะท่านเชื่อกรรม กรรมที่เคยทำไว้
นี่ไงกรรมที่เคยทำไว้ เช่นจะบอกว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถึงทำความชั่วแล้ว ความชั่วมันต้องให้ผล พระโมคคัลลานะมีฤทธิ์ มีเดชทั้งนั้นแหละ ท่านเป็นพระอรหันต์ด้วย มีฤทธิ์ด้วย ทำอะไรได้ด้วย ทำไมนั่งปล่อยให้เขาทุบจนตาย พอทุบจนร่างนี้เละนะ พอตายแล้วยังใช้ฤทธิ์รวบรวมร่างนี้ให้กลับมาเป็นปกติ เหาะไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า
แล้วแต่ความเห็นสมควรของเธอเถิด
ฉะนั้น ก่อนถ้าเธอจะไป เธอจะไปที่ไหน? ก็จะไปตายที่เก่า ที่ๆ โดนทุบนั่นแหละ ก่อนไปเธอเทศน์สอนลูกศิษย์ก่อนนะ สอนรุ่นน้องก่อน นี่ก็ยังเหาะขึ้นไป ลงมาเทศน์ เหาะไปลงมาเทศน์ สุดท้ายแล้วก็กลับไปที่โดนทุบนั่นแหละ แล้วคลายฤทธิ์ออกก็เป็นซากศพอย่างนั้นแหละ
นี่สิ่งนี้ต้องดูให้ตลอดสาย คำว่าตลอดสายนะ พระพุทธเจ้าบอกพระสมิทธิว่าต้องแบ่งเป็นวรรค เป็นตอน แบ่งว่าเคยทำความดีมา ทำความชั่วมา สิ่งที่ให้ผลคือเคยทำร้ายแม่ สิ่งที่ให้บุญ คือสร้างสมบุญญาธิการมาเป็นอัครสาวกที่มีฤทธิ์ มีเดช เห็นไหม ในตัวเราคนเดียวมันก็มี เราเคยทำบุญมา ทำอกุศลมามันมี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปปรินิพพาน นี่ไปปรินิพพาน แล้วพอไปถึงลำธารบอกพระอานนท์
อานนท์ เรากระหายน้ำเหลือเกิน อานนท์ตักน้ำ
นี่พระอานนท์ยังไม่อยากให้ฉันเลย พระอานนท์เห็นน้ำมันขุ่นอยู่ บอก
อาราธนาพระพุทธเจ้าไปข้างหน้าเถิด นี่มันยังมีลำธารอีกสายหนึ่งที่มันสะอาดบริสุทธิ์ ไปที่นั่นเถิด
พระพุทธเจ้าบอก เรากระหายเหลือเกิน
พระอานนท์ก็ด้วยความจำใจ พระพุทธเจ้าอยากดื่มน้ำก็จะไปตัก ด้วยฤทธิ์นะ ด้วยบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เฉพาะที่ตักนี่ใส แต่บริเวณนั้นขุ่นหมดเลย พระอานนท์ยิ่งงงใหญ่เลย พอตักมาถวายพระพุทธเจ้า นี่อยู่ในพระไตรปิฎก เห็นไหม สิ่งที่ไม่เคยมี ไม่เคยเป็น น้ำที่มันขุ่นๆ อยู่มันใสเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยกระเพื่อมอะไรเลย
อานนท์ มันเป็นอย่างนี้เอง สิ่งที่น้ำมันขุ่นเพราะเราเคยเป็นพ่อค้าโคต่าง เราเคยเป็นอยู่ชาติหนึ่ง
เราเคยเป็นพ่อค้าโคต่างไปเล่มเกวียน แล้วโคมันจะดื่มน้ำ เราก็คิดเหมือนพระอานนท์นี่แหละ คืออยากให้ไปดื่มข้างหน้าที่น้ำมันใสสะอาดกว่า ก็ดึงเชือกไว้ไงไม่อยากให้มันดื่ม สุดท้ายแล้วก็ปล่อยให้มันดื่ม นี่ก็เหมือนกัน สุดท้ายแล้วพอโคมันผ่านไป พอพระอานนท์จะไปตัก เห็นไหม น้ำมันขุ่น นี่พระอานนท์ก็คิดอย่างนั้นแหละ ไปดื่มข้างหน้าเถิด พระพุทธเจ้าบอก เรากระหายเหลือเกิน ก็ตักนั้นมา
นี่แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดานะ แต่เวลากรรมมันให้ผลมันจะมีของมันอย่างนั้น ถ้ามีอย่างนั้นนะ แต่มันเป็นความทุกข์ร้อนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม? ไม่ แม้แต่พระอานนท์ยังทุกข์ร้อนแทนเลย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า
อานนท์ มันเป็นอย่างนั้นเอง มันเป็นของมันอย่างนั้น เราเคยทำอย่างนั้น เห็นไหม
แม้แต่พระพุทธเจ้ายังไม่หวั่นไหว เพราะรู้รอบไง ทีนี้พระสมิทธิไม่รู้รอบ ไปพูดไง พูดบอกว่าคนทำชั่วแล้วไปสวรรค์ โอ๋ย เขางงนะ คนทำชั่วแล้วไปสวรรค์ นี่ไงคนทำชั่วไปอบายก็มี คนทำชั่วไปเกิดในสุขคติโลกสวรรค์ก็มี คนทำชั่ว ความชั่วมันก็ส่งผลอย่างนั้น แต่เขาเคยทำดีของเขาเหมือนกัน ไอ้ที่ส่งผลไปสวรรค์ก็คือความดีของเขา
คนทำชั่วก็ทำชั่วอันหนึ่ง แต่ความดีของเขาก็มี ไอ้คนทำดี เห็นไหม คนทำดีไปเกิดในนรก สวรรค์ คนทำดีไปเกิดในอบายก็มี นี่ก็มี มันเป็นครั้ง เป็นคราวของเขา แต่ถ้าเราทำของเรานะ อย่างเช่นพระโมคคัลลานะเคยทำแม่ไว้ มันก็ตกนรกอยู่แล้ว จบแล้ว ผ่านขึ้นมาเป็นชั้นๆ ขึ้นมา แต่ทีนี้เศษกรรมมันตามมา เห็นไหม มันตามมานี่ท่านยังปล่อยอย่างนั้น แต่เพราะว่าเศษกรรมตามมา แต่ความดีที่ได้เป็นอัครสาวก ท่านเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว จบ
ถ้าเรามีกรรมดีและกรรมชั่วมา ทุกคนมีทั้งนั้น ฉะนั้น ให้ทำความดี ให้ทำความดี ทำใจให้เป็นสมาธิ พอทำใจเป็นสมาธิแล้ว ใช้วิปัสสนาแก้ไขจนกิเลสมันหมดแล้วนะจบ พอจบแล้วอะไรจะเกิดขึ้นนะ ข้างหน้าไม่ต่อเนื่องอีกแล้ว แต่ถ้าเรายังทำอะไรไม่จบมันจะให้ผลต่อเนื่องกันไป ถ้าให้ผลต่อเนื่องกันไปมันก็เป็นอย่างนี้แหละ มันเป็นที่ว่าทำชั่วก็ต้องไปนรก ทำดีก็ต้องไปสวรรค์ แต่คนทำมันมีดีและชั่ว แล้วสิ่งใดให้ผลก่อน ให้ผลก่อน
เราพูดบ่อยมาก นี่ถ้าบนสวรรค์ เห็นไหม คนที่มีความเห็นต่าง คนที่มีทิฐิที่คิดผิดมันก็เยอะแยะไป แต่คนที่มีทิฐิที่ดี มีความเห็นที่ดีก็จะมาฟังเทศน์ เพราะคนคิดดี เพราะเป็นเทวดามีฤทธิ์ มีเดชอยู่แล้ว จะมาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ หรือฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตลอดแหละ ถ้าฟังเทศน์ได้ ปฏิบัติได้ มันก็พ้นไปได้ แต่เขาเป็นเทวดาแล้วนะ เขาก็สุขกับเทวดานั่นล่ะ แล้วก็ใช้ชีวิตให้หมดไป พอหมดไปแล้วก็มาเกิดใหม่ ไปเกิดเป็นอะไรก็ไม่รู้ นี่เขาก็คิดของเขาไป
นี่ถ้าใครมีสติปัญญา เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหา นี้พูดถึงข้อที่ ๑ เนาะ
ถาม : ๑. ทำไมคนทำบุญ ตายแล้วไปตกนรก
หลวงพ่อ : นี่ในพระไตรปิฎก คนทำบุญ แล้วดูอย่างนางอะไรที่เป็นพระโสดาบันที่โดนเผา นั่นเวลาเป็นพระโสดาบันนะ แล้วเวลาเทศนาว่าการ นางสนมหรือพวกนี่เป็นพระโสดาบันทั้งหมดเลย แล้วถึงเวลาแล้ว นางมาคันทิยา จุดไฟเผาหมดเลยนะ จุดไฟเผา ขณะที่เผาขึ้นมานะ พระโสดาบันบอกว่าอย่าอาฆาตแค้นนะ อย่าไปตกใจกับอะไรนะ ให้กำหนดไว้ ให้กำหนดไว้ จนตายหมดนะ แล้วเขาก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า ไปถามพระพุทธเจ้าไง ว่า
พระโสดาบัน ทำไมโดนไฟครอกตาย เผาตายหมดเลย
พระพุทธเจ้าบอกว่า นี่คำว่าเป็นพระโสดาบันของเขา นี่อันนี้เป็นอริยทรัพย์ เป็นสมบัติของเขา คุณงามความดีอันนี้ประเสริฐมาก แต่สิ่งที่เขาเป็นอย่างนั้นเพราะกรรมของเขา
ทำไมพระโมคคัลลานะโดนโจรทุบตาย นี่เราก็ว่าพระอรหันต์แล้วจะต้องตายแบบ แหม นอนอยู่บนกองดอกไม้เลย ตายอย่างไรก็ได้ ขอให้กิเลสมันตายก่อน ฉะนั้น
ถาม : คนทำบุญทำไมตายแล้วไปตกนรก?
หลวงพ่อ : คนทำบุญ นี่สิ่งที่มันมีบาปอกุศลอยู่ มีสิ่งใดในหัวใจอยู่ มันมีอยู่ในพระไตรปิฎกอันหนึ่ง พระเวลาไปทางเรือ ไปทางเรือแล้วเอามือนี่ราไปในน้ำ พอราไปในน้ำ มันทำให้สาหร่ายในน้ำขาด สาหร่ายในน้ำขาด นี่พรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์ แล้วพอไปแล้ว ธรรมดาพระก็เห็นอยู่นะ เพราะนั่งเรือไปก็เอามือราน้ำไป ก็เล่นไง ทีนี้พอสาหร่ายมันขาดขึ้นมา มันเห็นว่าพรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์
นี่ธรรมดาปลงอาบัติก็จบนะ แต่ด้วยความกังวล พระองค์นี้ถึงเวลาตอนนั้นยังไม่ได้ปลงอาบัติแล้วสิ้นชีวิตพอดี ไปเกิดเป็นพญานาค นี่ว่าทำบุญแล้วทำไมตายไปตกนรก? เวลาเขาทำนี่เขาทำอะไรล่ะ? เขาทำบุญ แต่ถ้าจิตใจของเขามันไปวิตกกังวล ทำสิ่งใดที่เป็นบาป เห็นไหม เวลาเราคิดว่าเราไปวัด ไปแล้วเราทำอะไรผิดพลาดขึ้นมา เราจะฝังใจของเรา นี่พูดถึงนะ ถามว่ามันมีอะไร? มันต้องมีผลไง ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันต้องมีเหตุของมัน ถ้าไม่มีเหตุมันจะไม่ไปตามนั้น
ฉะนั้น ศาสนาพุทธนี่คือศาสนาแห่งเหตุและผล ถ้าเหตุและผลแล้วมันต้องสาวหาเหตุ ถ้าถึงที่เหตุแล้ว ถ้ามันเป็นผลแล้ว มันเป็นวิบากแล้วมันต้องมีที่มา มันเหมือนการภาวนานี่แหละ ใครทำจิตสงบได้ ใครมีปัญญาได้ ใครเป็นโสดาบัน ใครเป็นสกิทาคามี ใครเป็นอนาคามี มันต้องมีที่มาที่ไป จะบอกว่านอนหลับตื่นมาเป็นโสดาบันมันเป็นไปไม่ได้หรอก มันไม่มีเหตุมีผล ทีนี้พอไม่มีเหตุมีผล นี่มันก็ต้องสาวไปหาเหตุ
นี่ก็เหมือนกัน คนทำบุญแล้วทำไมถึงตกนรก? โดยอริยสัจ โดยสัจจะความจริงมันจะให้ผลตามนั้น เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ฉะนั้น ที่ว่าทำบุญ เวลาทำบุญต้องมีเหตุ เหตุที่ทำให้เป็นอกุศลถึงไปตกนรก แล้วถ้าเป็นบุญกุศลเป็นเหตุ เหตุในชาติปัจจุบัน เหตุในชาติที่ผ่านๆ มา ชาติที่ผ่านๆ มานะ ทำไมพระเทวทัต จากชูชกมาเกิดเป็นเทวทัต แล้วพอเกิดเป็นเทวทัต พระพุทธเจ้านี่จากพระเวสสันดรมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ
จากชูชกมาเกิดเป็นเทวทัต เกิดเป็นพี่เป็นน้องกันด้วย ลูกพี่ลูกน้อง เพราะสุปปพุทธะ กับพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพี่ชาย น้องชายกัน เวลามาเกิดเป็นพี่น้องกัน แล้วมาบวชอยู่ด้วยกัน นี่แล้วเวลาทำ เพราะสิ่งที่สร้างสมมา เห็นไหม พระพุทธเจ้าพูดอะไรไม่ค่อยเชื่อ แล้วก็จะแข่ง จะแข่งดีกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกพระพุทธเจ้าแก่แล้ว เราจะปกครองสงฆ์ นี่มันมีที่มาที่ไป แต่เขายังสำนึกได้ เขาสำนึกของเขาได้
อันนี้พูดถึงว่า ทำบุญแล้ว ตายแล้วไปตกนรก นี่ทำบุญ ถ้าไม่ได้ทำบาปไว้ ไม่ไปเกิดนรก แต่คนที่ทำบุญต้องมีเหตุ ฉะนั้น ต้องสาวไปที่เหตุนั้น ฉะนั้น เวลาเขาพูดนี่ ทำบุญแล้วไปตกนรก โอ้โฮ ทำบุญ แต่มันทำบุญด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดบริสุทธิ์ ทำบุญแล้วทำให้เศร้าหมอง แล้วจิตใจเราก็ไปเกาะเกี่ยวอยู่ตรงนั้น จิตใจนี่สำคัญมาก จิตใจเกาะอารมณ์ใดก็ไปเกิดสภาพนั้น จิตใจเกาะอะไรก็เป็นอย่างนั้น จิตใจของเรา ถ้าจิตใจของเรา เราทำของเราแล้วเราสบายใจ แล้วเราเข้าใจได้
นี่บุญคือความสุขใจ ถ้าบุญเป็นความสุขใจ ความสุขนั้นสุคติ เห็นไหม สุคโต เราจะสุคโต เราต้องสุคโตในปัจจุบันนี้ ถ้าปัจจุบันสุคโต ข้างหน้าต้องสุคโตแน่นอน แล้วในปัจจุบันนี้เป็นสุคโตแล้วไปตกนรก เออ เราไม่เป็นหนี้ แล้วมีคนมาทวงหนี้ไม่จ่ายหรอก แต่ถ้าเป็นหนี้ เขามาทวงก็ต้องจ่าย อันนี้เป็นข้อเท็จจริงนะ นี่ในพระไตรปิฎก
ถาม : ๒. ทุกข์เกิดจากอะไร?
หลวงพ่อ : โฮ้ ทุกข์เกิดจากอะไร? คำถามที่ ๒. นะ ทุกข์เกิดจากอะไร? ทุกข์เกิดจากความลังเลสงสัย ทุกข์เกิดจากนิวรณธรรม ทุกข์เกิดจากความไม่เข้าใจ แต่ถ้าทางโลกทุกข์เพราะเป็นหนี้ เป็นหนี้ก็ทุกข์ ทุกข์ไม่มีจะกินนั่นก็ทุกข์อย่างหนึ่ง ทุกข์เกิดจากอะไรล่ะ? ทุกข์เกิดจากความไม่รู้ อวิชชาเพราะไม่รู้ นี่สงสัย พอสงสัยก็กังวลนะ นี่เพราะอะไร? เพราะถึงที่สุดแล้วนะ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส
ตัวจิตเดิมแท้นี่แหละ ทุกข์อันนี้นะทุกข์อันละเอียดมันไฟสุมขอน ไม่มีอะไรเลย เผาลนอยู่อย่างนั้นแหละ นี่ทุกข์เกิดจากอะไรล่ะ? ทุกข์เกิดจากความไม่รู้ ทุกข์เกิดจากอวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้ พอความไม่รู้มันก็เกิด เพราะคำว่าไม่รู้มันก็สงสัยไปทุกเรื่องเลย สงสัยตัวเอง สงสัยการเกิด สงสัยการตาย พอสงสัยปั๊บมันก็หาเหตุหาผลไปแล้ว นี่ไงธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ คนทำบุญแล้วตกนรกมันต้องกลับไปที่ปัจจัย กลับไปที่เหตุนั้น
นี่ก็เหมือนกัน ทุกข์เกิดจากอะไร? เหตุทำให้เกิดทุกข์มันเพราะอะไร? นี่ถ้าเป็นทางโลก เห็นไหม ทุกข์เกิดเพราะการเกิด ชาติปิ ทุกขา การเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เพราะมีการเกิดถึงมีสภาพทั้งหมดทุกๆ อย่าง นี่พูดเฉพาะภพชาติของมนุษย์ไง แล้วถ้ามันไม่เกิด มันไม่เกิดมันไปไหนล่ะ? มันไม่เกิดจิตมันอยู่ไหนล่ะ?
จิตมันมีอยู่ มันอยู่สภาพไหนมันก็ทุกข์ทั้งนั้นแหละ แต่เวลาเป็นเรื่องของมนุษย์ไง เรื่องของโลกนี่ทุกข์เพราะการเกิด อริยสัจนะข้อแรกเลย ทุกข์นี่ ชาติปิ ทุกขา ชาติการเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เพราะมีการเกิด มีการรับรู้นี่ทุกข์เกิดขึ้น ฉะนั้น ทุกข์เกิดจากอะไร? ทุกข์เกิดจากตัณหาความทะยานอยาก ทุกข์เกิด อู๋ย ทุกข์ร้อยแปดเลย แล้วจะทุกข์เรื่องอะไรล่ะ? ทุกข์เกิดจากอะไร?
อันนี้พูดแล้วมันต้องพูดเรื่องภาวนาไง ทีนี้พูดเรื่องภาวนามันก็เหมือนทางวิชาการ แล้วเราเอามาพูดกับเด็ก หรือเอามาพูดกับคนที่ไม่เข้าใจ คนที่ไม่เข้าใจพูดแล้วมันก็เป็นเรื่องที่ว่า แบบว่ามันเรื่องไกลตัว มันเป็นเรื่องไกลตัวของคนที่ไม่ปฏิบัติ แต่เป็นเรื่องในตัวเลยสำหรับผู้ที่ปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิบัติจะรู้เลยทุกข์เกิดจากที่ไหน? แล้วทำไมถึงทุกข์ เพราะเราจะมาแก้ทุกข์กันอยู่ แต่ถ้ายังไม่ได้ปฏิบัติ พอมาพูดอย่างนี้ไปมันก็เลยทางวิชาการ ไอ้คนที่ไม่เข้าใจเลยมันก็เหมือนเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของตัว ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องในหัวใจนะ
ฉะนั้น ถ้าปฏิบัติแล้วมันจะพูดเป็นภาษาเดียวกันมาเรื่อยๆ แต่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ งงนะ ไปไหนมาสามวาสองศอกเลยล่ะ คนละเรื่องเดียวกัน ทะเลาะกันเรื่องการปฏิบัติ แต่พอมันปฏิบัติไปถึง ถ้าใครเข้าสู่อริยสัจ เข้าสู่ความจริงแล้วนะมันจะเข้ามาสู่เหตุ สู่ผล แล้วจะเข้าใจว่าทุกข์เกิดจากอะไร?
ถาม : ๓. อ่านหนังสือหลวงพ่อเรื่องอัพยากฤต
หลวงพ่อ : อัพยากฤต นี่เราจะใช้คำว่า อุเบกขา ได้ไหม? อัพยากฤตกับอุเบกขาใช้แทนกันได้ไหม? ถ้าอุเบกขาเราพูดได้ง่ายกว่าอัพยากฤตนะ เพราะเราจะบอกอุเบกขา ทำไมเขาบอกว่า อ่านหนังสือหลวงพ่อแล้วสงสัยว่าอัพยากฤตทำไมมันไปคนละเรื่อง เพราะอัพยากฤตของเขาคือฌานที่ ๑
อัพยากฤตกับฌานที่ ๑ มันก็เขียนไม่เหมือนกันแล้ว ฌานก็คือฌาน อัพยากฤตก็คืออัพยากฤต อัพยากฤตนี่นะมันมีทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเบกขาเวทนา อุเบกขาเวทนาคืออัพยากฤต ฉะนั้น อุเบกขากับอัพยากฤตมันอันเดียวกันหรือ? อัพยากฤตนี่เขาบอกเป็นฌานที่ ๑ ฌานก็คือฌาน อัพยากฤต เห็นไหม ทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเบกขาเวทนา
คำว่าอุเบกขามีคนเข้าใจผิดเยอะมาก อัพยากฤตมีคนเข้าใจว่าเป็นนิพพาน แล้วมีคนมาถามเราบ่อยมากเรื่องอัพยากฤต เรื่องอุเบกขาเป็นนิพพาน ถ้าเป็นนิพพานก็เพราะอย่างนี้ไงเขาถึงบอกเฉยอยู่ๆ ให้เฉยไว้ๆ เฉยไว้แล้วทำอย่างไรต่อไป? เฉยไว้ก็เป็นก้อนหินน่ะสิ มันเป็นวัตถุอันหนึ่งเฉยไว้ ทีนี้คนเรามันมีความรู้สึกนึกคิดใช่ไหม? พอเฉยไว้นี่มันถึงเป็นอุเบกขา เพราะอุเบกขามันจะเอียงไประหว่างดีและชั่ว ถ้ามันโน้มไปทางดีมันก็ดี ไปทางสุขเวทนา โน้มไปทางทุกข์ก็ทุกขเวทนา เห็นไหม สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา
ถ้าอุเบกขานี่คืออัพยากฤต คืออยู่ระหว่างสุขและทุกข์ ถ้าอยู่ระหว่างสุขและทุกข์ นี่อัพยากฤต นี่หนังสือเรา หรือความรู้สึก เราพูดอย่างนี้ เราพูดว่าอัพยากฤตนี้ความเป็นกลาง ความเป็นกลางที่ว่าจิตนี่มันยังไม่เสวยไปสุขและทุกข์ มันเป็นกลางอยู่ พอมันเป็นกลาง คำว่าเป็นกลางของจิต เป็นกลางมันก็แว็บๆ แว็บๆ เพราะจิตมันเร็วมาก ฉะนั้น คำว่าเร็วมากมันก็มีของมันใช่ไหม?
เราจะอธิบายถึงกิริยาของจิต กิริยาของจิตเวลามันเสวยอารมณ์ เวลามันทุกข์ เวลามันยาก เวลามันอมเต็มที่ เวลามันคลายออกมันมีกิริยาของมันทั้งหมด จิตมันมีกิริยาของมันนะ มันเสวยอย่างไร? มันทำอย่างไร? มันมีของมัน ฉะนั้น ขณะที่มันยังไม่เสวยล่ะ? เห็นไหม นี่อัพยากฤต
ฉะนั้น เขาบอกว่า
ถาม : ถ้าเป็นของคุณตาท่านเป็นฌานที่ ๑
หลวงพ่อ : นี่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ฌาน ๔ ฉะนั้น ปฐมฌานนี่มันเข้ามาแล้ว เห็นไหม ดูสิวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ มันวิตก วิจาร พุทโธ พุทโธวิตก วิจาร มันเกิดปีติ มันเกิดสุข นี่ฌานที่ ๑ องค์ของฌาน องค์ฌานมันมี ๕ ใช่ไหม? มันมีองค์ ๕ องค์ของฌาน ฉะนั้น นี่คือฌานที่ ๑ เพราะฌานที่ ๑ มันก็เป็นฌานที่ ๑ ไปแล้ว มันกลับมาเป็นอัพยากฤตอย่างไรล่ะ? นี่เป็นฌานที่ ๑ แล้วมันก็ไม่เสวยอะไร มันเป็นอัพยากฤตไง มันเป็นกลาง ถ้าฌานเป็นกลาง ฌานเป็นกลางมันเป็นอัพยากฤต
ฌานก็ส่วนฌาน ฌานมันเสวยแล้ว เพราะจิตมันสุขอันละเอียดไง เวลามีความสุข เห็นไหม เราปล่อยวางเราก็มีความสุขอยู่ แต่เวลามันปล่อยวางหมด นี่มันปล่อยวางหมดมันก็เป็นอุเบกขา ถ้าพูดถึงอารมณ์ทางโลกนะ แต่ถ้าอารมณ์ทางธรรมล่ะ? อารมณ์ทางธรรม คือว่ามันเป็นสติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม ถ้ามันเกิดธรรมขึ้นมามันก็เป็นอารมณ์ทางธรรม ถ้าอารมณ์ทางโลก อัพยากฤตคืออุเบกขา คำว่าอุเบกขา อุเบกขาเป็นไอ้นั่น
ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่าถ้าอ่านหนังสือแล้วงง เห็นไหม เขาบอก
ถาม : อ่านหนังสือแล้วสงสัย ทำไมอัพยากฤตมันเป็นแบบนั้น
หลวงพ่อ : อัพยากฤตเป็นแบบนั้นมันก็สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา เป็นกลาง เป็นอัพยากฤต มันไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง แต่ถ้าบอกว่าของคุณตาท่านเป็นฌาน ๑ ถ้าพูดถึงเป็นความเข้าใจของคุณตา ก็เป็นของคุณตาของเขา แต่ถ้าให้เรารับอันนี้เราก็ไม่ยอมรับ เพราะฌานที่ ๑ เห็นไหม คำว่าฌานที่ ๑ มันก็ชื่ออยู่แล้ว เขียนก็เขียนว่าฌานที่ ๑ แล้วมันเป็นอัพยากฤตได้อย่างไรล่ะ?
อ้าว อัพยากฤตกับฌานที่ ๑ อ้าว ชื่อนาย ก. แล้วก็บอกว่าฉันชื่อนาย ข. แล้วก็เลยบอกชื่อนาย ข. ด้วย แล้วก็ชื่อนาย ก. ด้วย มันก็ไม่ใช่ นี่พูดถึงชื่อนะ แต่ถ้าพูดถึงข้อมูลของมันล่ะ? พูดถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ความเป็นจริงล่ะ? ความเป็นจริงมันก็เป็นอีกอันหนึ่งใช่ไหม?
ฉะนั้น สิ่งที่บอก ถ้าเขาบอกว่าเขาเข้าใจอย่างนั้น ความเข้าใจของเขาก็คือความเข้าใจของเขา มันไม่เป็นความจริง เราไม่เชื่อ แต่ถ้าให้เราพูดนะ อัพยากฤตของเราก็เป็นของเรา อัพยากฤตที่ว่าอ่านหนังสือหลวงพ่อแล้ว แล้วเกิดความสงสัย เกิดความสงสัยมันก็ต้องปฏิบัติไง ถ้าเกิดความสงสัยมันก็กลับไปข้อที่ ๒ ทุกข์เกิดจากอะไร? อ้าว ทุกข์เกิดจากความสงสัย สงสัยหนังสือเรากับของคุณตา อ้าว ทีนี้เป็น ๒ ประเด็นแล้ว แล้วเราจะเชื่อประเด็นไหน? อ้าว มันเป็นปัญหาขึ้นมาแล้ว
ฉะนั้น เราก็ต้องปฏิบัติของเรา พอปฏิบัติของเรา เราเข้าใจได้แล้ว เราจะบอก เออ เราจะรู้ได้อย่างไร? ฉะนั้น เรายังยืนยันความคิดของเรา ก็ต้องยืนยันสิ ก็เราเป็นคนพูดเองใช่ไหม? ก็ต้องเข้าข้างตัวเองเป็นธรรมดา เราพูดเองเราก็ต้องว่าเราถูก คนอื่นก็ต้องว่าเขาผิดเป็นธรรมดา แต่ แต่ต้องปฏิบัติดู เพราะอัพยากฤตมันคืออุเบกขา มันอยู่ระหว่างสุขกับทุกข์ ฌานก็คือฌานไปแล้ว ฌาน ๑ ๒ ๓ ๔ เพราะฌาน ๑ เห็นไหม พอมันเป็นฌาน ๑ ถ้าเป็นฌานที่ ๑ เกิดความสงบแล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญา เราปฏิบัติของเราไป
ธรรมะ เห็นไหม นี่คนปฏิบัติต่างคนต่างปฏิบัติ ต่างคนต่างมีคุณธรรม ต่างคนต่างมีอำนาจวาสนาบารมี ถ้าจริตนิสัยของคนมันมีมาอย่างนั้น ปฏิบัติไปถ้าเป็นความจริงแล้วมันก็เป็นอันเดียวกัน ถ้าอันเดียวกันก็มาคุยกันนะ หลวงตาท่านบอกว่าสมัยก่อนที่มีครูบาอาจารย์อยู่ในภาคอีสานมาก ท่านจะรับพระแค่ ๑๘ องค์
เพราะ เพราะครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม โดยหลักไม่แตกต่างกันหรอก แต่โดยวิธีการนี่มีบ้าง แต่โดยหลักไม่แตกต่างกัน มันไว้ใจได้ทั้งนั้นแหละ แต่พอครูบาอาจารย์ท่านล่วงไปๆ ท่านถึงเปิดวัดของท่านมากขึ้น เพราะ เพราะคนที่จะไปแสวงหา ไปใฝ่หาความดี คนที่ชี้นำมันมีน้อยลง แล้วแบบว่าโดยหลักถ้ามันคลาดเคลื่อนแล้ว วิธีการชี้มันจะไปอีกไกลเลย แต่ถ้าโดยหลักมันไม่คลาดเคลื่อน วิธีการอาจจะแตกต่างกัน เพราะความจริต เพราะความถนัดของคน
ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านล่วงไปแล้วท่านถึงเปิดวัดท่านให้กว้างขึ้น ให้พระได้เข้ามาแสวงหามากขึ้น แล้วพอเข้ามาปฏิบัติกับท่าน พอครบ ๔ ปี ๕ ปีท่านจะให้ออกเพื่อจะรับคนใหม่ รุ่นใหม่ๆ เพราะชีวิตของท่านท่านจะทำประโยชน์มากที่สุด ท่านจะไม่เอาใครอยู่กับท่านนานจนเกินไป ๔ ปี ๕ ปีก็ให้ออกแล้ว พอได้หลักแล้วให้ออกแล้ว ท่านบอกว่าให้คนใหม่เข้ามา ให้คนใหม่เขามารู้จักวิธีการบ้าง
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าจริตนิสัย ความผิดพลาดมันเป็นเรื่องจากข้างนอก ฉะนั้น คำว่าอัพยากฤตของคุณตา กับอัพยากฤตของเรามันแตกต่างกัน อันนี้มันไม่ถึงกับทำให้การปฏิบัติเราบิดเบี้ยวหรือเสียหายไป แต่พอเราปฏิบัติไปแล้ว พอเรารู้จริงแล้วนะเราจะรู้เองว่าอัพยากฤตของหลวงพ่อ กับอัพยากฤตของคุณตาไม่เหมือนกัน แล้วพอเวลาปฏิบัติไปมันจะมีอัพยากฤตของเราอันที่ ๓ ขึ้นมา ไอ้คนที่ปฏิบัติใหม่มันจะมีอัพยากฤตของผู้ถาม ก็เลยกลายเป็น ๓ ทางเข้าไปแล้ว
ฉะนั้น ของอย่างนี้ ในเมื่อมันเป็นทางผ่าน ถ้าเราปฏิบัติแล้ว ถ้าเราผ่านเข้าไป ถึงที่สุดของเราแล้ว หรือเราเข้าใจได้แล้วนะเราวางได้ เพราะเราต้องศึกษา พยายามพิจารณาของเรา พอรู้แล้วเราก็วาง ให้ปัญญามันต่อยอดขึ้นไป เรารู้สิ่งใดแล้วเรายึดไว้ เห็นไหม
มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด
ความรู้ของเรา ความรู้ที่เรารู้อยู่นี่ ก่อนที่เราจะมารู้เรื่องนี้เราก็มีความสงสัยมาเยอะแยะเลย แล้วพอเรามารู้เรื่องที่เรารู้อยู่นี่ ความที่เราสงสัยมาเราปล่อยวางหมดแล้ว แต่ที่เรายึดอยู่นี่ ที่ว่าเรารู้ ความรู้ละเอียดอย่างนี้ยังมีมากกว่านี้ ถ้าเราปฏิบัติขึ้นไป พอความรู้ละเอียดเข้าไปนะ ไอ้ที่เราถามมานี่นะ อืม ไม่เห็นมีประเด็นเลย ไม่รู้ถามไปทำไม? แต่ตอนนี้ถามนะ แต่พอผ่านไปแล้วนะจะไม่ถามเรื่องนี้เลย มันจะรู้ของมันเข้าไป ถ้ารู้เข้าไปมันจะเป็นประโยชน์กับคนนั้นเอง
ฉะนั้น ข้อ ๑. ก็ตอบแล้ว
ถาม : ๑. ทำไมคนทำบุญ ตายแล้วไปตกนรก
หลวงพ่อ : อันนี้มันต้องมีเหตุ มีผล ทำดีต้องได้ดี ทำบุญต้องไปสวรรค์ แต่ทำบุญแล้วมันต้องมีอกุศล มีความผิดพลาด ไม่แต่ในชาตินี้หรือชาติที่ต่างๆ กันมา ฉะนั้น กรรมถึงเป็นอจินไตย กรรมที่มันสร้างสมมายาวไกลเรารู้ไม่ได้ อย่างเช่นพระโมคคัลลานะ นี่เรารู้ไม่ได้ อันนี้อันหนึ่ง ฉะนั้น ทำบุญแล้วต้องได้บุญ ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว นี่เป็นสัจจะ
ถาม : ๒. ทุกข์เกิดจากอะไร?
หลวงพ่อ : ทุกข์เกิดจากความไม่รู้
ถาม : ๓. อัพยากฤต ระหว่างอัพยากฤตของหลวงพ่อ กับอัพยากฤตของคุณตาไม่เหมือนกัน
หลวงพ่อ : ไม่เหมือนกันก็ไม่เหมือนกัน ใครทำสิ่งใด ใครปฏิบัติไปรู้ความจริงแล้ว มันจะปล่อยวางโดยตัวมันเอง มันจะรู้ของมันโดยความเป็นจริง โดยเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ของจริงต้องเป็นของจริง ของไม่จริง เราปฏิบัติไปเราจะวางของเราเอง ถ้าไม่วางเรายึดสิ่งนั้นไว้ ของไม่จริงมันจะขวางเราไปตลอด ให้เราติดอยู่อย่างนั้นตลอดไป
ฉะนั้น สิ่งที่ถามมานี้ได้ตอบแล้ว ก็ต้อง เอวัง