ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

งานภายใน

๑๕ ม.ค. ๒๕๕๕

 

งานภายใน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๗๖๖. เนาะ

ถาม : ๗๖๖. เรื่อง “จะต่อยอดอย่างไร?”

กราบนมัสการหลวงพ่อ ขอความเมตตาหลวงพ่อค่ะ ขอถามอาการที่เกิดในการปฏิบัติ ตามที่หนูได้กราบเรียนหลวงพ่อเมื่อคราวก่อน คือการปฏิบัติกรณีที่จิตสงบลง แล้วมันไม่ออกพิจารณา และหลวงพ่อได้เมตตาแนะนำให้หนูเริ่มต้นกับหน่วยกิตที่ ๑ ใหม่ คือพุทโธใหม่ พุทโธใหม่ ถ้ามันชำนาญแล้วมันก็จะกลับมาอีกเพราะมันไว และกลับมามันก็มีมากกว่าเดิมนั้น (นี่ข้อที่แล้ว)

เมื่อหนูไปปฏิบัติที่วัดหลวงพ่อตอนน้ำท่วม ก็ได้ทำตามที่หลวงพ่อเมตตาแนะนำ โดยการภาวนาพุทโธ พุทโธแนบไปกับจิต แล้วพอมันสงบเข้าไป สงบเข้าไป จนมันละเอียดถึงขนาดที่ตัวตนเบาบาง แทบไม่รู้สึกถึงการมีกาย แล้วจิตของหนูมันก็จับที่ร่างกาย พอหนูมองดูร่างกายของหนูมันแปรสภาพเป็นโครงกระดูกแล้วค่อยๆ สลายลงไปกองกับพื้นค่ะ สักพักมันก็กลับขึ้นมาเป็นตัวของหนูนั่งภาวนาเหมือนเดิม และก็แปรสภาพเป็นโครงกระดูกแล้วค่อยๆ สลายไปกองกับพื้นเหมือนเดิม

แต่ที่เหลือรออยู่คือดวงจิตค่ะ มีลักษณะกลมๆ สีเขียวจางๆ หนูนั่งมองดูอย่างนั้น ไม่ว่าจิตจะไปแตะร่างกายส่วนไหน มันก็แปรสภาพเป็นกระดูกให้รู้และเห็นได้โดยอัตโนมัติ สักพักหนูก็มองออกไปข้างนอกกาย เห็นคนเดินกันเยอะมาก พอหนูมองสักพัก คนเหล่านั้นก็แปรสภาพเป็นโครงกระดูก แล้วค่อยๆ สลายลงไปกองกับพื้น เหลือไว้แต่ดวงจิตที่ลอยไปมา มีลักษณะกลมๆ หลากสี แต่เป็นสีอ่อนๆ ค่ะ

หลังจากนั้นก็เกิดอาการสะเทือนใจ ปีติ ขนลุก ร้องไห้ นึกถึงคำของหลวงพ่อที่ว่า “ให้เก็บเงินล้านก่อนแล้วค่อยซื้อรถเบนซ์” เพราะเมื่อมีเงินแล้ว เซลล์มันมาขายรถถึงบ้านหนู หนูรู้สึกซาบซึ้งมาก จึงนั่งร้องไห้ และตะโกนอยู่ในใจว่า “หนูรู้แล้ว หนูซื้อรถได้แล้ว” และหลังจากนั้นพอปฏิบัติใหม่มันก็ไม่เหมือนเดิมค่ะ

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) มันไปหมดแล้ว

ถาม : คำถาม อาการที่เกิดขึ้นคืออะไรคะ หลวงพ่อโปรดเมตตาด้วยค่ะ และต่อไปข้างหน้า หนูจะต่อยอดภาวนาอาการนี้อย่างไรคะ อยากกราบหลวงพ่อค่ะ

หลวงพ่อ : นี่คือคำถามนะ คำถามหมายถึงว่าคนที่มาภาวนา ถ้าไม่มีประสบการณ์เขาก็ถามไม่ได้ ถ้าเราอ่านหนังสือมา เราทำของเรามา เราจะถามอย่างนี้ไม่ได้หรอก แต่เพราะเราภาวนาไปแล้ว เรามีอาการรู้เห็นอย่างนี้ เขาถึงเอาสิ่งนี้มาถามได้

คนเรานี่ไม่มีการกระทำ เราไม่เคยผิดพลาด เราจะเอาอะไรไปถามเขา เราเคยผิดพลาด เราเคยทำผิด เราถึงเอาสิ่งที่เราทำนั้นน่ะไปถามครูบาอาจารย์ว่าทำอย่างนี้ถูกหรือผิด? ถ้าบอกว่าถูก ถูกอย่างใด? ถ้าบอกว่าผิด ผิดอย่างใด? นี่มันต้องมีอาการต่อไป แต่เวลาครูบาอาจารย์นะ อย่างเช่นหลวงตาท่านจะพูดบ่อย มีคนไปถามหลวงตามากเรื่องการภาวนา

ถามว่า “ถูกไหม?”

ท่านจะบอกว่า “ถูก”

“แล้วทำอย่างไรต่อไป?”

“ซ้ำ ซ้ำ ซ้ำ”

ท่านให้ทำซ้ำไป เพราะการทำซ้ำ เหมือนกับคนทำอาหาร เราหัดทำอาหารใช่ไหม? เราทำอาหารไม่เป็น เราก็อยากทำอาหารเป็น ทำอาหารเป็นจานแรก เสร็จหรือยัง? ได้ไหม? ได้ แต่ชำนาญหรือยัง? ยัง ถ้าทำอาหารชนิดนี้แต่ทำครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ครั้งที่ ๔ ครั้งที่ ๕ ทำไปบ่อยๆ เราจะมีความชำนาญมาก ถ้ามีความชำนาญมาก นี่ชำนาญในวสี นี่คือประสบการณ์นะ นี่คือการกระทำ นี่คือผู้ที่มีประสบการณ์ทำงาน

ฉะนั้น ย้อนกลับมาเรื่องการภาวนา เรื่องการภาวนามันก็เหมือนกัน มันเหมือนกันนะ เหมือนกับการภาวนามันอยู่ที่ประสบการณ์ สันทิฏฐิโก เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า คำว่า “สันทิฏฐิโก” แต่เราบอกว่าต้องมีคนนั้นรับประกัน คนนี้รับประกัน ใครรับประกันให้ใครไม่ได้หรอก เรื่องการรับประกันธรรมะ นี่ความจริงแล้วมันไม่มี มันอยู่ที่คนไหนทำได้ ก็คนนั้นแหละเป็นปัจจัตตัง รู้ของคนนั้นเอง เพียงแต่ว่าในสังคมเราเชื่อถือศรัทธาใคร ถ้าใครคนนั้นพูดถึงว่าคนนี้ได้แล้วๆ เราก็เชื่อถือตามนั้นไป

นี่เวลาในสมัยพุทธกาล เห็นไหม เวลาใครไปเฝ้าเรื่ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรื่องการปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ๆ คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฟังแล้วบอก “ใช่หรือไม่ใช่” นี่ก็เหมือนกัน บอกว่าซ้ำ คำว่าซ้ำคือทำบ่อยครั้งๆ เข้า ถ้าบ่อยครั้งเข้ามันจะมีความชำนาญมากขึ้นๆ

ฉะนั้น ย้อนถึงการซ้ำๆ คือย้อนกลับมาที่คำถาม คำถาม เห็นไหม เพราะเริ่มต้นเขาเคยปฏิบัติมา แล้วล้มลุกคลุกคลานมา แล้วไม่มีสิ่งใดเหลือตกผลึกไว้ในใจเลย แล้วเราก็ไปตะครุบเอา อยากได้มรรค ได้ผล เรามีการกระทำ เราคิดว่าเหมือนการทำงานไง การทำงาน นี่เราทำงานเสร็จแล้วก็คือเสร็จ แต่การภาวนานะ เราทำงานรอบหนึ่ง นี่มันเสร็จแล้ว งานที่เขาเสร็จแล้วเขามีผลงานนะ อย่างเช่นใครทำงานสิ่งใดก็แล้วแต่ เสร็จแล้วจะมีผลงานชิ้นนั้นๆ สิ่งนั้นเป็นการยืนยันว่าเราได้ทำงานนั้นเสร็จแล้ว

ในการปฏิบัตินะ พอจิตมันสงบแล้วใช่ไหม? พอสงบนี่นิ่งมาก แล้วพอมันคลายออกมาล่ะ? ผลงานอยู่ที่ไหน? ผลงานอยู่ที่ไหน? หนึ่งความรู้สึกนี้เป็นนามธรรมอยู่แล้ว เวลาจิตสงบเข้าไปก็สงบเข้าไปสู่รากฐานของจิต เวลามันคลายออกมาแล้วมันก็มีความรู้สึกอยู่ แต่ความรู้สึกนี้มันออกมาเป็นปุถุชนไง ออกมาจากความรับรู้สามัญสำนึกนี่ไง แต่สิ่งที่มันเคยมา มันเคยเป็น เคยเป็นคือมันเคยผ่านมา แล้วผลงานอยู่ไหนล่ะ? สิ่งใดจะเอามาเป็นเครื่องยืนยันล่ะ?

แต่มันเป็นการยืนยันที่เคยรู้ เคยเห็น ได้สัมผัสอยู่ แต่มันไม่มีใครรู้กับเราได้ พอไม่มีใครรู้กับเราได้เราก็เรียกร้องสิ่งนั้น เรียกร้องสิ่งนั้น เหมือนนับเงิน มีเงิน ๑ บาท พอเงินบาทที่ ๒ ก็เป็น๒ บาท พอเงินบาทที่ ๓ ก็ต้องเป็น ๓ บาท แต่ถ้าเป็นเงิน ๑ บาท ๑ บาทใช้หมดแล้ว นี่ใช้ไปแล้ว ๑ บาทนี้ใช้ไปแล้ว ได้มาใหม่ก็ ๑ บาท อ้าว ก็ขึ้นต้นด้วย ๑ บาท พอ ๑ บาทนี้ใช้ไปแล้ว พอได้มาใหม่ก็อีก ๑ บาท มันก็ ๑ บาท แต่ ๑ บาทแรกใช้ไปแล้ว

จิตมันภาวนาสงบแล้ว นี่มันเสื่อมไปแล้ว ทีนี้พอภาวนาใหม่มันก็ ๑ เหมือนเดิม ๑ เหมือนเดิม ๑ เหมือนเดิม พอ ๑ เหมือนเดิมเราถึงได้บอกเขาไง บอกว่านี่เริ่มต้นว่าให้พุทโธใหม่ ให้พุทโธใหม่ อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งใดที่ผ่านไปแล้วคือผ่านไปแล้ว เวลาจะเป็นจริงเราต้องกลับมาพุทโธ พุทโธ พุทโธของเรา กลับมาทำความสงบของใจ กลับมาให้จิตมันสงบได้ ถ้าจิตสงบได้นะมันก็ไปเห็นที่เราเห็นนี่ไง

สิ่งที่เราเห็นใช่ไหม? พอเขาบอกว่าจิตเขาสงบแล้ว เขามองดูร่างกาย คำว่ามองดูร่างกาย ถ้าเป็นการปฏิบัติแบบกรรมฐานนะ คำว่ากรรมฐานนะ ผู้หญิงหรือผู้ชาย เห็นไหม ตามสถานะ จิตแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน บางคนก็เห็นได้ บางคนก็เห็นไม่ได้ บางคนจิตสงบแล้วไม่เห็นอะไรนะ ฉะนั้น คำว่าเห็น ทีนี้บอกว่าถ้าจิตมันเห็น เห็นกระดูก เห็นโครงกระดูก เห็นร่างกาย ถ้าเป็นทางฝ่ายอภิธรรมเขาจะบอกว่านี่เป็นนิมิต แล้วก็บอกพวกนี้ภาวนาไปแล้วก็ติดนิมิต พอติดนิมิตแล้วนะมันก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร เพราะมันไม่เกิดปัญญา เขาว่าของเขาอย่างนั้นนะ

ทีนี้ในการปฏิบัติเราไม่บอกว่าติดนิมิต หรือไม่ติดนิมิต เราจะบอกว่า “มันมีนิมิต หรือไม่มีนิมิต” ต่างหาก คำว่ามันมีนะ ใครก็แล้วแต่ถ้าปฏิบัติไปแล้ว คนที่มีจริตนิสัยแบบนี้ มันต้องมีแบบนี้แน่นอน เหมือนคนเป็นไข้ คนเป็นไข้เข้าโรงพยาบาล เห็นไหม นี่หมอเขาต้องวิเคราะห์โรค วินิจฉัยโรคตามแต่ว่าคนนั้นเป็นโรคอะไร? แล้วรักษาตามอาการของโรคนั้น

จิต จิตถ้ามันสงบโดยที่มันไม่มีนิมิตมันก็เป็นชนิดหนึ่ง คือจิตมันสงบไปเฉยๆ อย่างนี้มันก็ไม่เห็นภาพต่างๆ แต่ถ้าจิตมันมีนิมิต มีนิมิต เห็นนิมิต นี่นิมิตอย่างนี้ถูกต้อง นิมิตอย่างนี้ถูกต้องหมายความว่าเขาเห็นร่างกาย แล้วมันแปรสภาพ มันย่อยสลายลงไปกองกับพื้น นี่มันเป็นนิมิต แต่นิมิตในเรื่องกายคตาสติ สติปัฏฐาน ๔ อันนั้นมันเห็นกายของมัน แต่ถ้านิมิตไปเห็นผี เห็นสาง เห็นเทวดา อินทร์ พรหม นั้นมันส่งออกไปรู้ อันนั้นไม่เป็นประโยชน์ ถ้าไม่เป็นประโยชน์นะเราไม่ควรทำแบบนั้น

แต่ถ้ามันเป็นนิมิตอย่างนี้ เห็นไหม ถ้ามันเป็นนิมิตอย่างนี้ ถ้าจิตมันสงบแล้วมันเห็นของมัน มันก็พิจารณาของมันได้ ถ้าพิจารณาของมันได้ แต่การพิจารณาแล้ว ถ้าเห็นนิมิต เห็นกาย ถ้ามันพิจารณาแล้วมันปล่อยมา ปล่อยมามันก็เป็นสมถะเหมือนกัน ถ้าเป็นสมถะ แต่ถ้าจิตมันมีนะ มันมีสมาธิของมันแล้ว ถ้ามันไปเห็นกาย เห็นกายแล้วมันสะเทือนหัวใจ

คำว่าสะเทือนหัวใจนะ การเห็นกาย เห็นกายแล้วร้องไห้ เห็นกายต่างๆ มันก็รู้ของมันได้ แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามา พอเห็นกาย เห็นกายนี่มันสะเทือนนะ มันสะเทือนขนพองสยองเกล้า แล้วพอพิจารณาไป พิจารณาไปนะ นี่ยกตัวอย่างหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านปรารถนาพุทธภูมิ พอท่านภาวนาจิตสงบเข้าไปแล้ว เห็นไหม เวลาพิจารณาไปท่านบอกว่าเหมือนกับท่านไปถึงทางตัน มันไปแล้วมันไปไม่ได้ มันเป็นทางตัน

พอเห็นกายพิจารณาแล้วออกมาก็เหมือนเดิม มันเหมือนเดิม นี่ถ้าเหมือนเดิมแสดงว่าเราเห็นกายโดยปกติของเรา พิจารณาแล้วพิจารณาเล่ามันก็เป็นอย่างนั้นแหละ เพราะ เพราะมันล็อกไว้ไง ใจนี่มันล็อกไว้ เพราะพระโพธิสัตว์ได้ฌานโลกีย์ พระโพธิสัตว์จะวิปัสสนาเป็นอริยสัจไม่ได้ ถ้าเป็นอริยสัจปั๊บมันจะทะลุ มันจะทะลุเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี ถ้าทะลุเป็นโสดาบันปั๊บมันจบนะ เพราะโสดาบันนี่ ๗ ชาติ พอโสดาบันปั๊บมันจะเป็นพระอริยเจ้าขึ้นมาไง

แต่ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์จะเป็นปุถุชน ปุถุชนปั๊บ ถ้าจิตมันสงบของมัน มันพิจารณาของมันไป พิจารณาอย่างไรก็เพื่อฌานโลกีย์ เห็นไหม พิจารณากายแล้วมันก็ปล่อย ปล่อยแล้ว หลวงปู่มั่นนะท่านบอกท่านพิจารณากาย พิจารณากายเสร็จแล้วเวลามันคลายออกมานะ มันก็เหมือนปกตินี่แหละ เหมือนเรา ก่อนภาวนาเรามีความรู้สึกอย่างไร มันก็มีความรู้สึกอย่างนั้นแหละ มันไม่ถอดถอนกิเลสไง ก็เหมือนเราภาวนาไปแล้ว เหมือนเราทำงานแล้วไม่มีผลตอบแทนไง เอ๊ะ เราก็ทำงานแล้ว เราก็พิจารณากายแล้ว ถ้าเราพิจารณากายแล้วทำไมเป็นแบบนี้ล่ะ?

นี่ท่านใคร่ครวญของท่านเอง ท่านมีบารมีมาก พอท่านใคร่ครวญปั๊บท่านบอกว่ามันน่าจะติด ติดที่ว่าท่านปรารถนาไว้ ฉะนั้น ท่านถึงต้องลาโพธิสัตว์ ลาความจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไปในอนาคตไง ท่านกำหนดจิตของท่านสงบเข้าไปแล้วลา ลาถึงบอกว่าท่านใช้ปัญญานะ ก่อนที่จะลาเราก็คิดกันว่าเราเป็นพระโพธิสัตว์แล้วเราจะลาๆ ไอ้นี่มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันเป็นความคิดเปลือกนอก คือมันคันที่ผิวหนัง เราก็เกากันที่ผิวหนัง แต่จริงๆ แล้วโพธิสัตว์มันเป็นแผลใจ แผลเป็นในหัวใจ มันจะต้องไปลากันที่นั่น มันต้องไปถอดถอนกันที่นั่น

ท่านถึงพิจารณาของท่านนะ ว่าถ้าเราเป็นพระโพธิสัตว์ เราอยากจะปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็ต้องภาวนาสร้างบุญญาธิการไปอย่างนี้เรื่อยๆ

“เกิดตายๆ การเกิดตายนี้เป็นความทุกข์”

นี่คำนี้เราเกิดไม่ทันหลวงปู่มั่น แต่หลวงตาเวลาท่านเล่าไงว่าหลวงปู่มั่นท่านรำพันอย่างไร? ท่านรำพึง ท่านรำพันในหัวใจของท่าน เห็นไหม ว่า

“เกิดตายๆ มันก็ทุกข์ แต่การเกิดตายๆ สร้างคุณงามความดีเพื่อจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายภาคหน้า แต่ถ้าปัจจุบันนี้มีสติ มีปัญญา แล้วถ้าเราพิจารณาของเรา เราเข้าสู่อริยสัจมันก็ถอดถอนกิเลสได้ มันก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน”

เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน พระพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์ ถ้าเราสำเร็จชาตินี้ก็เป็นพระอรหันต์ เลยตกลงใจว่าจะเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ ก็เลยสรุปเอา พอเป็นพระอรหันต์ชาตินี้ นี่มันต้องรำพึงก่อน มันต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญ ใคร่ครวญเสร็จแล้ว ถึงอย่างนั้นแล้วก็กำหนดจิต ทำให้จิตสงบเข้าไปแล้วไปลาพระโพธิสัตว์อันนั้น นี่ถอดถอนอันนั้น ปลดเปลื้องล็อกอันนั้นออก

พอปลดเปลื้องล็อกอันนั้นออกแล้ว ท่านบอกว่าท่านก็เริ่มต้นภาวนาเหมือนเดิมนี่แหละ คือกำหนดพุทโธ ถ้าจิตมันสงบแล้วก็พิจารณากาย ทีนี้พอพิจารณากายไปแล้ว พอพิจารณากายไปแล้วมันไม่เหมือนกันแล้ว พอพิจารณากายไปมันมีความรู้สึก มีความรู้สึกว่าได้มีการกระทำงาน แล้วมันได้ถอด ได้ถอน ได้ผ่อนคลาย พอจิตพิจารณาแล้ว พอออกมานี่มันแตกต่าง

ความแตกต่าง เห็นไหม เขาบอกว่าสมถะกับวิปัสสนามันแตกต่างกัน ใช่ มันแตกต่างกันเด็ดขาด แต่มันต้องมีที่มาจากจุดเริ่มต้นเหมือนกัน เหมือนเช่นเราเกิดเป็นคน นี่เราจะมีตำแหน่งหน้าที่การงานอย่างใดก็เกิดจากเรา เพราะเราเป็นคน เราถึงมีสถานะตามตำแหน่งหน้าที่การงานของเรา เราจะมีทรัพย์สมบัติ มีมาก มีน้อย เพราะมีเราเราถึงมีสมบัติ ถ้าไม่มีเราทรัพย์สมบัติมันก็เป็นทรัพย์สมบัติสาธารณะ เป็นของใคร? เราไปหามา

นี่ก็เหมือนกัน บอกว่าจะเป็นสมถะๆ สมถะมันคืออะไรล่ะ? สมถะมันคืออะไร? สมถะคือความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบ ใจมันก็มีสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน เป็นผู้รับรู้ผิด รู้ชอบ รู้ชั่ว รู้ดี รู้หลง รู้ไม่หลง รู้ความเป็นไป นี่มันมาแก้กันที่นี่ไง ฉะนั้น มันต้องเข้ามาที่สมถะ ถ้าไม่เข้าสมถะ พอถึงสมถะแล้วค่อยวิปัสสนา แต่เข้ามาสมถะแล้ว ถ้ามันอย่างที่หลวงปู่มั่นท่านติดของท่านอยู่ ฉะนั้น ท่านปลดล็อกได้แล้วมันก็เข้าสู่วิปัสสนา

พอสู่วิปัสสนา เห็นไหม สมถะกับวิปัสสนาแตกต่างกัน แตกต่างคือสมถะเข้าไปสงบ มีความสงบร่มเย็น เพราะสุขใดเท่ากับจิตสงบไม่มี แต่ก็สงบแบบฌานโลกีย์ แบบโลก แบบโลกียะ แบบสามัญสำนึก แบบวัฏฏะ คือแบบ ๓ โลกธาตุ แต่พอมันเข้าสู่วิปัสสนา มันจะถอดถอน มันจะทำลายวิวัฏฏะ มันจะทำวัฏฏะเป็นวิวัฏฏะ มันจะถอด มันจะถอน ถ้ามันถอดมันถอนมันก็มีความรู้สึกของมัน มีความรู้สึกของมันมันผ่อนคลายของมัน ถ้าผ่อนคลายของมันนะ นี่มันถอดมันถอนนะ เออ อันนี้ใช่ หลวงปู่มั่นท่านทำแล้วท่านบอก เออ อันนี้ใช่

นี่พูดซะยาวเลย ยาวเพราะอะไร? เพราะเขาบอกว่า “จะต่อยอดอย่างใดไง?” คำว่าต่อยอดของเรานี่นะ เราก็คิดว่าเราจะต่อยอด เหมือนเราจะสร้างพีระมิด นี่เราจะต่อยอดๆ ขึ้นไป นี้เป็นวัตถุนะ แต่ถ้ามันเป็นการภาวนา เวลามันเสื่อมนะมันเสื่อมหมดเลย นี่เวลาเราทำมันดีขึ้น มันจะพัฒนาของมันขึ้น ถ้าพัฒนาของมันขึ้น เห็นไหม นี่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกข้อ ในพระไตรปิฎก ผู้ที่ปฏิบัติไม่ได้ผลเพราะขาดการปฏิบัติสม่ำเสมอ

ความสม่ำเสมอคือความเสมอต้นเสมอปลาย ความเสมอต้นเสมอปลายมันจะรักษาของมัน รักษาจิตใจนี้ให้เป็นพื้นฐาน แล้วต่อยอดขึ้นไป พัฒนาขึ้นไป เวลามันเสื่อมนะ เสื่อมถึงฐานเลย นี่ถ้าปุถุชนนะ เวลาเสื่อมก็กลับมาจิตปกติเลย นี่สมถะนะ ปุถุชน แต่เวลาเดินพิจารณาโสดาปัตติมรรค เวลาเสื่อมก็กลับมาปุถุชน แต่พิจารณาโสดาปัตติมรรคจนเป็นโสดาปัตติผล แล้วเราพยายามพิจารณาเป็นสกิทาคามิมรรค เวลาเสื่อมจากสกิทาคามิมรรคมันจะมีโสดาปัตติผลรับไว้ คือพระอริยบุคคลก็คือพระอริยบุคคล ถ้ามันเสื่อมมันเสื่อมอย่างนั้น แต่ถ้ามันเป็นปุถุชน เวลามันเสื่อมมันเสื่อมหมด

ฉะนั้น คำว่าต่อยอดๆ ต่อยอด สิ่งที่มันผ่านไปแล้วนะมันต้องวางเลย สิ่งที่พิจารณากายไปแล้ว ถ้ามันพิจารณากายเป็นสมถะมันก็สงบระงับเข้ามา เราพิจารณากายซ้ำ พิจารณากายซ้ำ แต่ แต่เวลาพิจารณาไปแล้วมันบอกว่าพิจารณาไม่ได้ การพิจารณากายแล้วมันมีการพิจารณาได้ถึง ๔ ช่องทาง กาย เวทนา จิต ธรรม การพิจารณากาย เราพิจารณากายได้ แต่ถ้าขณะสิ่งใดที่มันเกิดขึ้นเราพิจารณาได้ทุกอย่าง

อย่างเช่นบอกว่าถ้าเราพิจารณากายแล้ว สิ่งใดผ่านมาเราจะไม่พิจารณาเลย เราจะพิจารณากายอย่างเดียว นี่ดูอย่างเช่นหลวงตา เห็นไหม เริ่มต้นท่านพิจารณาเวทนา ท่านสู้กับเวทนาจนตลอดรุ่งๆ ท่านผ่านตรงนี้ไป ท่านบอกว่าจิตท่านเคยเสื่อม เสื่อมมาตลอด พอมันผ่านอันนี้ปั๊บท่านบอกนี่เกาะติด มันไม่เสื่อมแล้ว นี่โสดาบัน ท่านผ่านโดยการผ่านเวทนา แล้วท่านพิจารณากายของท่าน กายนี้มันแปรสภาพของมันไปสู่ดิน น้ำ ลม ไฟ

นี่ท่านพิจารณาหมดเลย แล้วมันรวมลง โลกนี้ราบหมดเลย แล้วท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น ที่หลวงปู่มั่นบอก “เหมือนเราที่ถ้ำสาริกา เหมือนเราที่ถ้ำสาริกา” เพราะถ้ำสาริกา หลวงปู่มั่นก็พิจารณาร่างกายเหมือนกัน เพราะท่านเป็นโรคถ่ายท้อง พอท่านพิจารณาแล้วมันราบหมด คือกายกับจิตมันขาดกัน อุปาทานมันขาดหมด พอขาดหมดจิตมันรวมลง พอรวมลง เห็นไหม

นี่สิ่งนี้ถ้าจิตคนไม่มีวาสนามันจะติดอย่างนี้ เพราะตรงนี้มันเป็นสิ่งที่คนจะก้าวเดินต่อไปในอสุภะนี่ยากมาก แต่ถ้ามันค้นคว้าได้ มันเจอได้ มันพิจารณาอสุภะต่อไป พิจารณาต่อไป มันพิจารณาของมันไป มันก็ขาดเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันดูดดื่มเข้าไปจนถึงหัวใจ มันทำลายกันที่นั่น พอทำลายที่นั่นมันก็ต่อไปอีก ต่อไป

นี่เวลาถ้ามันเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม ถ้ามันมีฐานของมัน มีโสดาบัน โสดาบันจะรองรับไว้เป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรมคือไม่เสื่อม นี่ธรรมะแท้ๆ ไม่เสื่อมเด็ดขาด นี่สิ่งที่ไม่เสื่อม แต่ถ้ามันเสื่อมมันลักษณะอย่างนี้ นี่บอกว่าเราจะพิจารณากาย เราจะต่อยอดการพิจารณากาย เพราะเราพิจารณากายแล้วเรามีปีติ เราขนลุกขนพอง เราร้องไห้ นี่มันก็ฝังใจ พอฝังใจมันก็คิดว่าเราจะต้องทำงานหน้าที่นี้ๆ อย่างเดียว แต่ถ้ามันทำหน้าที่นี้มันสะดวก มันคล่องตัวเพราะเราชำนาญ ก็ทำหน้าที่นี้

แต่ แต่บางทีนะ พอเราทำงานใช่ไหม? ดูสิการทำงานของคนถ้ามันชินชา มันทำบ่อยครั้งเข้ามันก็จะมีการเผอเรอ มันจะทำโดยที่ไม่รอบคอบ ฉะนั้น ไม่รอบคอบ ถ้ามันพิจารณาแล้วเราพิจารณาอย่างอื่นบ้าง เพื่อให้จิตมันตื่นตัว เห็นไหม แล้วพิจารณาจิตก็ได้ พิจารณาเวทนาก็ได้ พิจารณาสิ่งต่างๆ ก็ได้ ให้มันเป็นปัจจุบันไง ถ้ามันเป็นปัจจุบันมานี่มันเป็นของมัน มันพิจารณาของมัน มันพิจารณาได้มันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา จิตมันได้ใคร่ครวญของมัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า คำว่า “ต่อยอด” นี่คำถามอยากจะถามว่า

ถาม : ถ้าทำอย่างนี้แล้ว ทำอย่างไรต่อไปแล้วมันจะเจริญไปข้างหน้า

หลวงพ่อ : คำว่าเจริญไปข้างหน้านะ เวลาเราปฏิบัติกัน คำว่าล้มลุกคลุกคลานเพราะมันต้องถนอมรักษา ฉะนั้น เวลาเราดูครูบาอาจารย์ของเรานะ เวลาครูบาอาจารย์ ถ้าใครภาวนาเป็นท่านพยายามจะกันให้ กันให้หมายถึงว่าจะไม่ให้คนเข้าไปคุยด้วย จะไม่ให้คนเข้าไป เพราะกิเลสนี้มันร้ายมาก ทั้งๆ ที่มันพยายามจะแสดงออกอยู่แล้ว แต่ถ้าพอใครก็แล้วแต่ได้คุยกัน ได้คลุกคลีกัน พอคลุกคลีกันสติมันต้องเผลอแน่นอน

พอมันเผลอปั๊บนะ พอมันเสื่อมแล้ว ทีนี้เอาขึ้นได้ยากมาก พอเอาขึ้นได้ยาก นี่คนภาวนาทุกคนต้องรู้ว่าเจริญแล้วเสื่อม ใครไม่เคยปฏิบัติ จะไม่รู้ว่าจิตมันดีมันดีแค่ไหน? แล้วเวลามันเสื่อมมันร้อนรนแค่ไหน? คำว่าเจริญแล้วเสื่อมเป็นเรื่องปกตินะ คำว่าเรื่องปกติ แล้วทำงานที่ว่าไม่เสื่อมเลยมีไหม? ขิปปาภิญญาที่ว่าปฏิบัติง่ายรู้ง่ายนี่มี แต่กว่าจะมีเขาก็ต้องสร้างบุญญาธิการมามาก เพราะคนสร้างบุญญาธิการมามาก เราสังเกตได้ไหม? เด็กบางคนมันจะมีปฏิภาณดีมาก ปฏิภาณไหวพริบ ปัญญานี่เขาสร้างของเขามานะ แล้วเขาสร้างของเขามามันยังลุ่มๆ ดอนๆ

ชีวิตของคนยังไม่แน่นอนนะ แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นไป นี่สิ่งที่เราปฏิบัติมา ถ้ามันเจริญขึ้น เจริญขึ้น เห็นไหม จิตมันดีขึ้น จิตมีหลักมีเกณฑ์ขึ้น แล้วถ้าเราดูแลรักษาไม่ดี เวลามันเสื่อมนะ พอมันเสื่อมนี่รู้ว่าเสื่อม พอรู้ว่าเสื่อมเราจะตั้งใจว่าจะรักษานะ ความตั้งใจนั้นมันเลยไปกระเทือนให้จิตนี้เสื่อมลงๆๆ เสื่อมจนหมดเลย แล้วทำอย่างไรล่ะ? ทีนี้ก็หาทางออกไม่ได้

แต่ถ้าเป็นคนมีหลักนะ มันจะเสื่อมหรือมันจะเจริญ ช่างหัวมัน นั่นเป็นเรื่องของมัน เราจะรักษาเหตุของเราไว้ เราจะตั้งสติของเราไว้ เรากำหนดพุทโธ เวลาตั้งสติกำหนดพุทโธ คิดดูสิน้ำป่ามันมา แล้วเราต้องตั้งสติพุทโธ พุทโธ แล้วน้ำป่าพุ่งเข้าใส่ใครกล้าทำบ้าง? ทุกคนก็ไม่กล้าทำ เราจะบอกว่าอาการเสื่อม อาการจิตเสื่อม เวลามันถอยกรูดๆๆ มันเหมือนน้ำป่ามันพุ่งเข้าใส่เลย แล้วเรามัวแต่พุทโธ พุทโธอยู่นี่เราจะพ้นจากน้ำป่าได้อย่างไร?

นี่คือความรู้สึกนึกคิดไง แต่จะเป็นน้ำป่า จะเป็นพุทโธต่างๆ นี่มันเป็นนามธรรม ถ้ามันจะเสื่อมให้มันเสื่อมไป มันจะเป็นอย่างไรให้มันเป็นไป เรากำหนดพุทโธของเราไว้ เราตั้งสติของเราไว้ เป็นปัญญาอบรมสมาธิไว้ นี่แค่นี้ไอ้น้ำป่ามันไปไม่ได้หรอก น้ำป่ามันก็เกิดจากจิตทั้งนั้นแหละ อาการต่างๆ ที่เกิดจากความรู้สึกเราเกิดจากจิตหมด แล้วพอจิตมันเสื่อมมันก็ไหลกรูดๆ ไป มันก็ไหลไปหมด แต่ถ้าเราตั้งสติปั๊บ ไอ้ที่ไหลกรูดๆ ไป ไหลกรูดๆ มันคืออะไร? คืออาการ พอเราตั้งสติปั๊บ กำหนดพุทโธไปแล้ว ไอ้ที่ไหลๆ ไปมันจะไหลไปได้อย่างไร?

ถ้ามันไหลไปไม่ได้ แต่นี้เพราะความตกใจ เพราะความไม่เป็น เพราะความไม่รู้ไง พอมันไหลก็ไหลกรูดๆ ไปเลย แล้วก็บอก โอ๋ย มันเสื่อม มันทุกข์ มันยาก มันเสื่อม เราก็เสื่อมกับมันไปไง พอมันเสื่อมเราก็ตกใจไง พอมันเสื่อมเราก็ไหลไปกับมันไง พอไหลกับมันไปเราก็ไปหมดเลยไง แล้วก็ไปนั่งทุกข์อยู่นั่น คอตกอยู่นั่นนะ อู้ฮู ปฏิบัติ ๕ ปี ๑๐ ปีก็ไม่เห็นได้อะไรเลย ปฏิบัติมาแล้วเราก็ทุกข์ขนาดไหน?

ปฏิบัติมา ๕ ปี ๑๐ ปีนะ ถ้ามันเสื่อมก็เรื่องของมัน แล้วเรามีความเพียรของเรา มุมานะของเรา หลวงปู่มั่นท่านบอกหลวงตาอย่างนี้ “จิตนี้เหมือนเด็กๆ เด็กมันต้องกินอาหารของมัน เด็กมันเผลอของมัน มันก็ไปเที่ยวของมัน” มันไปเที่ยวนะมันเสื่อม มันเสื่อมไปหมดเลยช่างหัวมัน ขอให้พุทโธ พุทโธไว้ พุทโธนี่คืออาหารของใจ เดี๋ยวเด็กมันไปเที่ยวจนมันไม่มีอาหารกิน มันไปเที่ยวจนมันไม่มีแรงนะ มันต้องกลับมาหาพุทโธ ให้พุทโธ พุทโธไว้

หลวงตานะท่านเชื่ออาจารย์ ท่านเชื่อโดยความเชื่อมั่นของท่าน ท่านก็พุทโธ พุทโธ พุทโธไว้ ท่านบอกว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันเสื่อมจนหมดแล้ว มันเสื่อมจนไม่รู้จะไปแล้ว พอพุทโธ พุทโธนี่เดี๋ยวมันกลับมาดี มันกลับมาดีของมันเอง พอดีขึ้นมา คำว่ากลับมาดีของมันเอง เองได้อย่างไร? เองเพราะมันมีพุทโธไว้ไง แต่เวลามันเสื่อม เห็นไหม พอมันเสื่อมมันก็รับรู้อารมณ์ข้างนอกต่างๆ แล้วความรู้สึกเรา นี่เราก็เห็นด้วยบวกไปกับมันไง

รับรู้เรื่องนั้นๆ แล้วก็ตื่นเต้นไปกับมัน มันยิ่งเสื่อม เสื่อมก็ยิ่งไป ยิ่งไปมันก็ยิ่งคิด ยิ่งคิดมันก็ไหลหมดเลย แล้วก็นั่งคอตกไง แต่ถ้าคนเป็นนะมันกล้าสลัด กล้าสลัดความรู้สึกอันนั้นทิ้งไป แล้วเรากำหนดพุทโธของเราไว้ ตั้งพุทโธของเราไว้ พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วตั้งสติของเราไว้ อยู่อย่างนี้ พุทโธอยู่อย่างนี้ จะเจริญ จะเสื่อม จะไปไหนขอเชิญตามสบาย

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

ถ้าเรารักษาเหตุของเราแล้ว มันจะเสื่อมขนาดไหนให้มันเสื่อมไป ถ้าเรารักษาเหตุแล้วมันเสื่อมให้มันเป็นไป เป็นการพิสูจน์กัน พอเดี๋ยวมันเป็นจริงแล้วมันวิ่งมาหาเราเอง เพราะวิ่งเข้ามาหาจุด เห็นไหม เพราะว่าพุทโธ ใครเป็นคนพุทโธ? พุทโธคือการวิตก วิจาร ระลึกรู้ ระลึกขึ้นมา นึกพุท วิจารคือพุทกับโธ พุทโธ พุทโธนี่วิตก วิจาร ถ้ามันพุทโธชัดๆ วิตก วิจารชัดๆ ตัวจิตมันอยู่นี่ ตัวจิตมันอยู่นี่ ตัวจิตคือตัวความรับรู้ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

ถ้าผู้รู้มันกำหนดอยู่กับพุทโธ อาการจากผู้รู้ที่มันไหลออกไปมันเรื่องของมัน อยู่กับพุทโธนี่แหละ แต่เราไม่ใช่ เพราะพุทโธมันเป็นความตั้งใจที่เราเหนื่อย เราต้องรวบรวมพลังงาน ต้องตั้งสติ แต่ถ้าไหลไปตามอารมณ์นะมันเสื่อม มันทุกข์ โอ๋ย อันนี้ชอบ เพราะมันไหลไป มันไม่ต้องทำอะไรเลย นี่อันนี้คือตามน้ำไง ลอยตามน้ำไป ลอยตามน้ำ ลอยตามกระแสไป ลอยตามความเสื่อมไป อันนี้ไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ถ้าพุทโธ พุทโธต้องฝืน ต้องฝืนไง

ฉะนั้น พอจิตมันเสื่อม เราอยากจะแก้ไข แต่ด้วยตัณหาความทะยานอยาก ด้วยกิเลส ด้วยสมุทัยเราไม่รู้หรอก เราก็ไหลตามความเสื่อมไป โดยที่เราไม่รู้ว่านี่เราไหลตามความเสื่อมไป แต่พอเราจะตั้งขึ้นมาว่าพุทโธ พุทโธเพื่อจะทวนกระแส เพื่อจะตั้งสติ มันกลับว่ามันเป็นงานที่หนักหนา สาหัสสากรรจ์ หนักหนา สาหัสสากรรจ์เพราะจิตมันเสื่อม

ในการปฏิบัตินะ ใครเจริญแล้วเสื่อมจะรู้ว่าถ้าโดยปกติ เราเป็นคนปกติมา เหมือนคนไม่เป็นไข้ ไม่เป็นผู้ป่วย มาถึงเป็นปกติ ภาวนามันก็ง่าย เวลาจิตมันเสื่อมไปแล้วมันเหมือนคนไข้ พอเราทำหน้าที่การงานเสร็จแล้ว มันมีไข้มันเสื่อมไป คนไข้ คนที่ไม่มีกำลัง คนที่สุขภาพไม่ดีแล้วมาทำงาน มันทำงานยากกว่าคนที่ปกติที่ไม่เป็นไข้

จิตไม่เคยภาวนาเลย เหมือนคนปกติไม่เป็นไข้ ทำสิ่งใดมันก็ทำได้ตามกำลังของตัว แต่พอเวลามันทำแล้วมันเสื่อมไป มันอะไรไป เหมือนจิตใจมันอ่อนแอลง มันเป็นไข้ จะฝืนกลับมาให้ทำงานเหมือนคนปกติมันต้องใช้กำลังมากกว่า เห็นไหม เวลาจิตมันเสื่อมไปมันถึงปฏิบัติยากกว่า แต่ยากกว่า อาการแบบนี้เหมือนนักกีฬา คนทำงานทุกคนต้องมีอุปสรรค ต้องผ่านอุปสรรคของตัวเองมา

การภาวนา ถ้าทุกคนได้ผ่านอุปสรรคแล้ว ความเข้าใจแล้วจะแก้ไขตัวเอง จะทำจิตนั้นให้มีหลักมีเกณฑ์ การภาวนาจะแก้ไขตัวเองได้ แล้วมันจะผ่านไปได้ แต่ถ้าไม่ได้นะมันก็ต้องล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ แล้วเวลาพูดขนาดนี้นะ แต่เวลาทำมันก็ยังงงๆ อยู่นะ

นี่เพราะอะไร? เพราะคำถามนี้เราบอกว่าเขาเคยภาวนามาแล้ว แล้วมันเสื่อมหมดเลย แล้วมาหาเรา เห็นไหม เราบอกว่าไอ้เสื่อมก็คือมันผ่านไปแล้ว คืออดีต เราให้พุทโธใหม่ แล้วพุทโธแล้วมันกลับมาดีขึ้น ดีขึ้นคือเขาเห็นกายของเขา มันเสื่อมสภาพของเขา แล้วตอนนี้มันก็หายไปอีกแล้วไง (หัวเราะ) แล้วตอนนี้มันก็หายไปอีกแล้ว แล้วหลวงพ่อให้ทำอย่างไร?

นี่มันก็เหมือนเดิม เหมือนเดิมหมายถึงว่าเราก็ต้องกลับมาฟื้นฟูของเราใหม่ เราต้องกลับมาฟื้นฟู เห็นไหม นี่คำถามว่า

ถาม : อาการที่เกิดขึ้นคืออะไรคะ? หลวงพ่อช่วยเมตตาด้วย แล้วต่อไปข้างหน้าหนูจะภาวนาอย่างไรต่อไป

หลวงพ่อ : อาการที่เกิดขึ้น พอจิตมันสงบแล้วมันเห็นของมัน ถ้าเห็นของมัน เห็นกาย เราเห็นกายได้ ถ้าเห็นกายแล้วมันถอดมันถอน เห็นไหม ปีติ ขนลุกขนพองนี่ใช้ได้ ฉะนั้น ใช้ได้แล้ว สิ่งนี้คือจิตสงบแล้ว เห็น นี่สติปัฏฐาน ๔ เราจะบอกว่าถ้ามีจิตรู้ ถ้ามีจิต มีสัมมาสมาธิ รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม นี้คือสติปัฏฐาน ๔

ถ้าไม่มีจิต ไม่มีจิตหมายถึงว่าจิตคนไม่สงบ จิตคนมันปุถุชน ความรู้สึกนึกคิดนี่เราจะคิดเอาไง คิดถึงกาย คิดถึงเวทนา คิดถึงจิต คิดถึงธรรม ใช้ปัญญา เขาบอกอย่างนี้ใช้ปัญญาสติปัฏฐาน ๔ เราบอกนี่สติปัฏฐาน ๔ แบบโลก โลกียะ สติปัฏฐาน ๔ ปลอมๆ ถ้าสติปัฏฐาน ๔ จริง สติปัฏฐาน ๔ จริงคืออริยสัจ คือสัจจะความจริง คือจิตสงบ จิตมีหลักมีเกณฑ์

จิตสงบ เห็นไหม พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่านาย ก. นาย ข. นาย ง. ไม่เคยพูด พระพุทธเจ้าบอกจิตสงบ พอจิตสงบ ทุกคนมีจิตหมด ชื่อเสียงเรียงนามนี่สมมุติตั้งขึ้น แต่ความรู้สึกนึกคิดก็คือความรู้สึก ถ้าความรู้สึกนี้มันสงบเข้ามา ตัวนั้นแหละตัวที่จิต เพราะทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ ทุกคนมีความเสมอภาค ทุกคนมีโอกาสเหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบแล้วจิตมันพิจารณาได้ ถ้าจิตมันพิจารณาได้ เห็นไหม ถ้าจิตสงบแล้วนั่นล่ะมันถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง

ถ้าตามความเป็นจริง พอตามความเป็นจริงเพราะอะไร? เพราะมันมีรสของธรรม รสของธรรมเพราะมันเป็นผู้พิจารณา มันเป็นผู้ค้นคว้า มันรู้ มันเห็น มันซาบซึ้งนะ เวลามันปล่อยนะ โอ้โฮ เวลามันปล่อย เหมือนนี่ยกกลับไปที่หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นพิจารณากายไป พิจารณากายไปนะ พอพิจารณากายไปแล้ว พอออกจาพิจารณามา อึ๊ ไม่มีรส ไม่มีชาติ ปกติ เพราะท่านติดโพธิสัตว์ พอติดโพธิสัตว์ การกระทำพระโพธิสัตว์เข้าได้แค่ฌานโลกีย์

ฌานโลกีย์คือโลก โลกก็คือเหรียญด้านหนึ่ง นี่โลกียปัญญา ฌานโลกีย์ โลกุตตรปัญญา นี่ภาวนามยปัญญาที่เกิดจากสัมมาสมาธิ มันเป็นเหรียญอีกด้านหนึ่ง ถ้าเหรียญอีกด้านหนึ่งนี่เป็นธรรม โลกกับธรรม เหรียญ ๒ ด้านอยู่ด้วยกัน ทีนี้เราเป็นเหรียญอยู่ตรงกลาง แล้วตรงไหนเป็นโลก ตรงไหนเป็นธรรมล่ะ?

ตรงไหนเป็นโลก ตรงไหนเป็นธรรม? ตรงนี้มันทำให้งง แต่ถ้าผู้ที่ปฏิบัติไปแล้ว ถ้ายังไม่เคยเข้าธรรมไม่รู้ ถ้าไม่เคยภาวนาจนเกิดปัญญา ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นโลกียะ อะไรเป็นโลกุตตระ แต่ถ้าเคยเข้ามาสู่ทางธรรมแล้ว มันรู้เลยว่าที่ผ่านมาเป็นโลกียะ ที่ผ่านมาเป็นโลก แต่พอมันเข้าสู่ธรรมปั๊บ พอเข้าสู่ธรรมมันจางคลาย กิเลสมันเริ่มเบาลง กิเลสมันเริ่มถอดถอนลง อันนี้เป็นธรรม พออันนี้เป็นธรรม เพราะว่ามันมีรส มีชาติ พอเป็นธรรมนี่มันเข้าไปแล้ว

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้ามันสติปัฏฐาน ๔ ถ้าจิตมันสงบแล้ว เขาถามว่า

ถาม : นั่นมันคืออะไร? สิ่งที่ทำนั้นคืออะไร?

หลวงพ่อ : สิ่งที่ทำมา มันภาวนามานี่มันเป็นปัจจัตตังนะ ตัวเราเรารู้เอง แต่นี้ให้ยืนยัน ก็ยืนยันว่าถ้าจิตสงบแล้วพิจารณานี่ถูกต้อง แล้วถ้าต่อไปข้างหน้า ต่อไปข้างหน้านะ เวลาใครไปถามเรื่องการภาวนากับหลวงตา ถามว่า “ถูกไหม?” หลวงตาจะบอกว่า “ถูก” แล้วผู้ถามก็ถามต่อไปว่า “ทำอย่างไรต่อไป?” ท่านบอกให้ “ซ้ำ”

คำว่าซ้ำหมายถึงว่าเราทำถูกต้องแล้วถึงซ้ำในทางที่ถูก แต่ถ้ามันผิดนะท่านจะบอกว่าอย่างนี้ผิด อย่างนี้ผิดหมายถึงว่าให้ใช้ปัญญาใหม่ คือให้วาง ให้วางสิ่งที่เราทำอยู่นี้ แล้วให้ใช้ความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบแล้ว ถ้ามันพิจารณาได้นะ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม สิ่งที่เราพิจารณาได้ ถ้าเราพิจารณาได้มันเป็นความจริง นี่รสของมัน เห็นไหม เรามีผลตอบแทน เราจะวางคำถามที่เราเคยถามไว้นั้นเอง

คำถามที่เราถามไว้ว่า “นี้คืออะไร?” เราจะวางเลย เพราะเราได้การยืนยัน เห็นไหม มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เรารู้เอง เห็นเอง ความยืนยันอย่างนั้นมันเป็นความถูกต้อง เราจะวางสิ่งนั้นเอง นี่แล้วอย่างนี้เรารู้เอง พอเรารู้เองเราทำอะไรนี่ชำนาญในวสี แล้วเราจะต่อยอดขึ้นไป นี่คำว่าต่อยอดนะ พิจารณากายซ้ำแล้วซ้ำเล่านะ ฟังให้ดี ฟังให้ดีนะ ใครพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาขนาดไหนมันปล่อยวางแล้ว แล้วพอจิตสงบแล้วนี่จับได้ จับได้ ค้นหาแล้วมี มีความรู้สึกคือเวทนา

ความรู้สึกของจิต จิตยิบๆ ยิบๆ นั่นคือเวทนาแล้ว มันขัดข้องหมองใจ แต่ถ้ามันผ่องใส ถ้ามีธรรมารมณ์ ธรรมะ ธรรมะที่เรารู้แล้ว แต่มันมีความรู้สึกนึกคิดนี่คือธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ อารมณ์ที่มันจับอารมณ์เรื่องธรรมะ อารมณ์เรื่องละเอียด เรื่องหยาบ นี่จับแล้วพิจารณาซ้ำๆ ไป นี่ถ้าเห็นกายพิจารณาซ้ำ การพิจารณาซ้ำๆ ซ้ำๆ ไป จากตทังคปหานคือความรู้ชั่วคราว ความใช้ปัญญาชั่วคราวแล้วมันปล่อยวางๆ ซ้ำจนถึงที่สุดมันจะขาด คำว่าขาดคือมันสมดุลแล้วมันขาด พอมันขาดนั่นจะเป็นสมุจเฉทปหาน

คำว่าขาดนะ พอขาดไปแล้วมันจะรู้เอง ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ความรู้สึกนึกคิดเราไม่ใช่เรา แต่ถ้าโดยปกติมันไม่ใช่เราได้อย่างไร? มันกระตุ้นเรา มันคิดเรา มันทำให้เรามีความรู้สึกนึกคิด แต่พอพิจารณาโดยธรรมไปแล้ว พอมันขาดแล้วมันจะเก้อๆ เขินๆ แยกจากกัน แต่คิดได้ ทำได้แต่แยกจากกัน เป็นผู้ควบคุม เป็นผู้ทำงาน

ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดในทิฐิ ความเห็นผิดว่าเป็นเรา เป็นของเรา แต่ถ้าเวลาเราเห็นถูกแล้ว เห็นถูก มันก็มีอยู่นี่เห็นถูก แต่ไม่ใช่เรา มันเป็นสัญชาตญาณ เป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น แต่เรามีสติปัญญา มีความรู้สึกนึกคิด เราควบคุมได้หมด นี่เวลามันขาด ขาดแล้วก็คือจบไง

ถ้าขาดอันนั้นจบ นี่เพราะอะไร? เพราะเกิดการซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ แต่คนส่วนใหญ่พอพิจารณาไปแล้ว พอมันปล่อยวางแล้ว เพราะการปล่อยวางแต่ละครั้งมันต้องใช้พลังงานมากนะ ต้องตั้งสติ ต้องทำสมาธิให้มั่นคง แล้วพิจารณาไป พิจารณาไปเหมือนคนบริหาร ผู้บริหารจะรู้ว่าเรากำหนดนโยบายนี่เราเครียดมากนะ เรากำหนดนโยบายไปแล้ว เราบริหารนโยบายของเรามันจะเป็นไปตามนั้นไหม? บุคลากรจะทำอย่างนั้นหรือเปล่า? ทำเสร็จแล้วมันจะทำสำเร็จ ไม่สำเร็จ โอ๋ย เครียด

การภาวนาก็เหมือนกัน มันใช้ปัญญาไป อื้อฮือ ทำงานภาวนานี่เหนื่อยมาก การภาวนานี่งานสุดยอดเลย หลวงตาถึงบอกว่าถ้าใครยังไม่เคยใช้ภาวนา อย่าเพิ่งว่าทุกข์นะ ไอ้ว่าทำงานหนักๆ อย่าเพิ่งคุย อย่าเพิ่งคุย ให้นั่งเฉยๆ นี่แหละ แต่พิจารณานี่โอ้โฮ นี่มันซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ มันละเอียดเข้าไปๆ นี่แล้วเราบริหารมันได้ เราดูแลได้ แล้วคนดูแลได้นะ

ฉะนั้น ย้อนกลับมาที่ว่าคนเคยเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ พอขึ้นมาถึงตรงนี้จะระวัง ใครพิจารณาแล้ว พอตทังคปหาน คือพิจารณาแล้วมันปล่อยไง เข้าใจว่าเป็นธรรมแล้วปล่อย ปล่อยหมายถึงว่าไม่ได้ดูแลรักษา มันจะเสื่อมๆๆ ถอยกรูดๆ เลย พอถอยกรูดๆ เลยนะ พอกลับไปเป็นปกติ เพราะมันก็เป็นอารมณ์สามัญสำนึกนี่จะเสียใจ โอ้โฮ ทำขึ้นไปได้ขนาดนั้นแล้ว แต่มันยังไม่ได้สรุป ยังไม่จบ งานยังไม่จบ

นี่เจริญแล้วเสื่อม ก็กลับมาเป็นปุถุชน กลับมาเหมือนเรานี่แหละ กลับมาเหมือนคนที่เริ่มต้นปฏิบัติใหม่นี่แหละ แล้วถ้าอยากได้ผล อยากได้ผล อยากได้ความเป็นไป ก็ต้องลงทุนลงแรงเหมือนเดิมนี่แหละขึ้นไป นี่ถ้าใครเจริญแล้วเสื่อมมันจะฝังใจ ฉะนั้น พอมันฝังใจว่ามันทุกข์ยากขนาดนั้น พอมันพิจารณาแล้วมันพยายามจะรักษาไว้ นี่บริหารไว้ นโยบายของเรา การกระทำของเรา

มันเป็นนามธรรมนะ งานภายใน งานใช้ปัญญา งานภายใน นี่มันไม่มีใครจะเกื้อกูลเราเลยล่ะ เราจะต้องรักษาของเราเอง นี่มันพิจารณาแล้วมันก็รักษาของมันไว้ หลบหลีก ฉะนั้น คนที่ภาวนาเป็นเขาจะหลบ เขาจะหลีก บางคนนี่บอกคนนั้นเห็นแก่ตัว ไม่คุยกับเรา ไม่อะไร นั่นล่ะของเขา เขาก็รักษางานของเขา ถ้าคนภาวนาเป็นแล้วจะเห็นใจ แล้วพยายามจะให้โอกาส

ฉะนั้น เราพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ซ้ำแล้วคือพิจารณาด้วยปัญญารอบหนึ่ง บางทีปัญญามันมากเกินไปนะ ปัญญามากเกินไป สมาธิมันอ่อนมันไม่ปล่อย คือพิจารณาแล้วมันไม่ขาด ถ้าสมาธิมันแรงเกินไปนะ พอสมาธินี่เหตุโจทย์ชัดเจนมากเลย แต่ปัญญามันก็ไม่สมดุล เห็นไหม มรรคสามัคคีเวลามันสมุจเฉทปหานมันต้องสมดุลหมด

นี่มรรคสามัคคี สติชอบ งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ นี่ทุกอย่างชอบธรรม ความชอบธรรมของมันอยู่ที่การฝึกหัด พอการฝึกหัด พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ พอมันมรรคสามัคคีมันรวมตัวนะ มันสมุจเฉทนะ เวลาคนภาวนานี่แสนทุกข์แสนยาก แต่เวลามันขาดนะ ในธรรมะของพระพุทธเจ้า ในธรรมของครูบาอาจารย์เราบอกว่า “ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น” แพล่บ ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น แต่กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้นะต้องสมบุกสมบัน ต้องตรวจสอบ ต้องทดสอบ ต้องมีการกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ถ้าถึงที่สุด

นี่เวไนยสัตว์ ถ้าทางโลกนี่ชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางหมายถึงว่าผู้ที่มีฐานะอยู่ในสังคมที่เป็นชนชั้นกลาง เห็นไหม ชนชั้นกลาง นี่ขิปปาภิญญาคือพวกเศรษฐี มหาเศรษฐี เขามีเงินมีทองของเขา เขาทำอะไรก็สะดวกของเขา นี่ขิปปาภิญญา แต่ส่วนใหญ่ชนชั้นกลางนี่นะเวไนยสัตว์ เวไนยสัตว์เป็นผู้ที่มีโอกาส อย่างพวกเรานี่ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง จะต้องขวนขวาย จะต้องทำอะไรให้มันชัดเจนของเรา ทีนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงที่สุดเวลามันขาดนะ

แล้วถ้าขาด นี่เวลาขาดเป็นโสดาบัน ที่เราฟังๆ มานะเป็นโสดาตราสิงห์หมดเลย ไม่มีโสดาบันหรอก ถ้ามีโสดาบันต้องพูดโสดาบันถูก กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์เป็นอย่างใด? ส่วนใหญ่ตอนนี้มันโสเดา มันเดากันไป คือมันพูดถูก พูดธรรมะได้ ธรรมะในตำราบอกไว้อย่างนี้ แล้วพูดธรรมะแบบนี้แล้วเกิดจินตนาการ จินตนาการให้เป็นแบบนั้นแล้วก็ว่าเป็น นี่ไม่เป็นหรอก

ถ้ามันเป็นนะ เวลามันขาด ขาดอย่างไร? นี่หลวงตาท่านพูดประจำ เวลามันขาดนะ กายกับจิตมันแยกเป็น ๓ ทวีป กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์มันแยกออกหมด แล้วมันกลับมารวมกันไม่ได้อีกเลย เหมือนกับแก้วที่มันแตกแล้ว เอามาประกอบไว้มันก็แก้วแตกแล้วที่มาประกอบไว้เฉยๆ จะทาด้วยกาว จะทำอะไรสมานไว้มันก็แค่สมานไว้เป็นแก้ว

นี่ก็เหมือนกัน พอเวลามันขาดแล้วนะต่อกันไม่ได้เลย อย่างไรอย่างนั้นเลย อยู่อย่างนั้นตลอดไป ถ้าอย่างนั้นแล้วนี่ อันนั้นจะเป็นสมุจเฉทปหาน นี่คำว่า

ถาม : หนูจะภาวนาต่อยอดอย่างไรต่อไป?

หลวงพ่อ : กลับไปทำความสงบนะ ทำความสงบแล้วกลับมาพิจารณา นี่พิจารณาอย่างนี้ พิจารณากายก็ได้ นี่เขาว่าพิจารณากายแล้วดีไง ทีนี้เราคิดว่า ไม่ใช่คิดหรอก โดยข้อเท็จจริงเลย คนเรานี่ทำงานหน้าเดียว บางทีมันจำเจ ฉะนั้น เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ ธรรมก็ได้ แต่เอากายนี้เป็นหลัก เอากายเป็นหลัก คือว่ากายนี้เป็นกำปั้นทุบดินมันชัดเจนมาก พิจารณากายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงที่สุดนะถ้ามันต่อยอด ถ้าต่อยอดได้กลับมา มันพิจารณาแล้วมันจะปล่อย

ปล่อยนี่คือตทังคปหาน แล้วพอมันสมุจเฉทปหานมันก็จบ เพราะสมุจเฉทปหานมันเป็นสันทิฏฐิโก รู้จำเพาะตน รู้ในหัวใจของเรา เราเป็นคนทำมาเอง นี่ความลับไม่มีในโลก เราทำดีเราก็รู้ เราทำชั่วเราก็รู้ เราเป็นคนทำ คนอื่นเป็นแค่พยาน ไอ้เราเป็นคนทำ จิตเหมือนกัน ถ้าเราเป็นคนทำนะ ถ้าเป็นโสดาบันนะ พูดมาสิโสดาบันเป็นอย่างไร?

โสดาบันไม่รู้ ไม่รู้เป็นอย่างไรโสดาบัน แต่เขาบอกว่าเป็นโสดาบันน่ะ ถ้าอย่างนั้นบ้านเอ็งก็ยกให้ข้าก็แล้วกัน เอ็งไม่รู้ สมบัติเอ็งยกให้ข้าให้หมดเลย ทำไมสมบัติเอ็งไม่ยอมยกให้ล่ะ? แต่เวลาธรรมะจะเอา มันเป็นไปไม่ได้หรอก ไอ้นั่นพูดถึงถ้าเขาเป็นไปอย่างนั้นใช่ไหม? นี่พูดถึงว่า

ถาม : แล้วหนูจะภาวนาอย่างไรต่อไป?

หลวงพ่อ : ก็ภาวนาแบบที่ทำมานี่แหละ แต่ตั้งสติไว้ ตั้งสติของเรา ทำของเรา งานภายใน งานภายนอกยังไหว้วานเจือจานกันได้ งานภายใน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เราเป็นคนชี้ทาง แล้วพวกเธอเป็นคนปฏิบัติกันเอง”

คนที่อยากจะพ้นทุกข์ต้องขวนขวายด้วยกิริยาของใจนะ ด้วยสติ ด้วยปัญญา ไม่ใช่ว่าน้ำพักน้ำแรงภายใน น้ำพักน้ำแรงโดยความรู้สึกนึกคิดจากภายใน ไม่ใช่น้ำพักน้ำแรงจากร่างกาย น้ำพักน้ำแรงจากหัวใจ แล้วหัวใจมันจะทำงานภายใน แล้วปฏิสนธิจิตนี้มันจะมีขอบเขตของมัน มันจะพ้นจากโลก มันจะพ้นจากวัฏฏะ ในการกระทำของเรามันมีผลอยู่ข้างหน้า เราจะมั่นคงแค่ไหน? เราจะมีความจริงจังแค่ไหน? แล้วเราจะทำของเราได้ เอวัง