ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

นิโรธ

๒๒ ม.ค. ๒๕๕๕

 

นิโรธ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๗๖๙.

ถาม : ๗๖๙. เรื่อง “ฌานสมาบัติ กับนิโรธสมาบัติ แตกต่างกันอย่างใด?”

กราบนมัสการหลวงพ่อ กราบขอโอกาสโปรดเมตตาพิจารณาตอบคำถามดังนี้ (โอ้โฮ)

๑. ฌานสมาบัติ กับนิโรธสมาบัติ แตกต่างกันอย่างใด? พระอริยะระดับใดที่เข้านิโรธสมาบัติได้ และอานิสงส์ของการเข้านิโรธสมาบัติ

๒. พระอริยะที่จะเข้านิโรธสมาบัติเป็นเวลานาน ๑๕ วันบ้าง ๑ เดือนบ้าง เช่นนี้ท่านกำลังสร้างอภิญญาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ใช่หรือไม่?

๓. นักปฏิบัติธรรมที่ปฏิบัติธรรมมาพอสมควร แต่ยังไม่ขึ้นสู่อริยภูมิขั้นสูง เขาควรทำจิตอย่างใดให้จิตหลุดพ้นในขณะกำลังจะทิ้งร่าง

๔. เราจะสอนคนแก่ หรือป่วยหนักใกล้ตายให้ปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิตใจอย่างไร? จึงจะช่วยให้เขาตายอย่างมีสติและไม่กลัวความตาย

๕. ญาณทัศนะในแง่ของการปฏิบัติมีลักษณะอย่างใด? เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าญาณทัศนะเกิดมีขึ้นกับจิตแล้ว

กราบขอบพระคุณอย่างสูง

หลวงพ่อ : ฉะนั้น เอาเรื่องฌานสมาบัติกับนิโรธนี่ก่อน เรื่องฌาน ฌานเรื่องหนึ่ง ฌาน สมาธิ สมาบัติ นิโรธสมาบัติ

“ฌาน” นะ ฌานก็ฌาน ฌานคือการเพ่งกสิณนี่ได้ฌาน

“สมาบัติ” เห็นไหม สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘

“นิโรธสมาบัติ” นิโรธสมาบัติตั้งแต่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ นี่พระกัสสปะเข้านิโรธสมาบัติ

มันคนละเรื่องกันหมดเลย แต่พวกเราจับพลัดจับผลูมาเป็นเรื่องเดียวกัน พอเป็นเรื่องเดียวกันก็งงไปหมดเลย คำว่างงไปหมดนะ แล้วมันเป็นแค่สัญญาอารมณ์ ไม่มีข้อเท็จจริงเลย เราฟังๆ ดูอยู่นี่โลกไม่มีข้อเท็จจริงเลย อย่างเช่นสมัยอยู่กับหลวงปู่จวนนะ แล้วท่านเขียนเป็นหนังสือ หรือหนังสือเล่มไหน ในประวัติหรือก่อนหน้านั้น ท่านบอกว่าตอนท่านอยู่ที่ภูทอกหรือถ้ำจันทร์นี่แหละ จำไม่ได้

ตอนนั้นหลวงปู่บัว หลวงปู่บัวท่านมาอยู่ด้วย หลวงปู่บัวมาอยู่กับหลวงปู่จวน แล้วหลวงปู่บัวท่านบอกว่าท่านเข้านิโรธสมาบัติ พอเข้านิโรธสมาบัติแล้ว ท่านเห็นว่าท่านจะเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วท่านจะตาย พอท่านจะตาย ให้หลวงปู่จวนเป็นคนทำโลง เพราะหลวงปู่จวนท่านพรรษายังน้อยอยู่ ให้พระนี่ทำโลงศพไว้ เพราะบอกว่าท่านจะตายๆ เพราะท่านเข้านิโรธสมาบัติ ท่านเห็นอนาคตว่าท่านต้องตาย

แต่หลวงปู่จวนท่านค้านไว้ในใจนะ ท่านบอกว่าไม่ใช่ๆ ไม่ใช่อย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนี้ พอไม่ใช่ขึ้นมาท่านก็ดูแล ดูแลเวลาหลวงปู่บัวท่านป่วย พอป่วยก็ช่วยกันดูแลรักษาๆ เพราะหลวงปู่บัวท่านบอกว่าท่านจะตาย นี่ต้องทำโลงศพไว้ แล้วทำให้มันเรียบร้อย แต่สุดท้ายก็ดูแลรักษากันมา แล้วหลวงปู่จวนท่านก็พูดนะ ท่านค้านไว้ว่ามันไม่ใช่อย่างนี้ นิโรธของหลวงปู่มั่นไม่ใช่เป็นแบบนี้

นิโรธคือการดับทุกข์ นิโรธ นิโรธคือการดับ ไม่ใช่ออกรู้ ไม่ใช่ต่างๆ สมาบัติเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สมาบัติเป็นสมาบัติ นิโรธเป็นนิโรธไม่เกี่ยวกัน นิโรธของหลวงปู่มั่นไม่เป็นแบบนี้ นิโรธของหลวงปู่มั่นไม่เป็นแบบนี้ ถ้านิโรธ นิโรธหมายถึงว่านิโรธสมาบัติ ถ้านิโรธสมาบัติก็หมายถึงว่าพระอรหันต์ พระที่มีคุณธรรมที่ท่านดับนิโรธ ท่านดับกิเลสของท่านแล้ว คำว่านิโรธคือการดับ แล้วนี่พอบอกนิโรธสมาบัติ รู้ว่าตัวเองจะตาย รู้อย่างนั้นแล้วก็ดูแลรักษา

หลวงปู่จวน ไปดูหนังสือหลวงปู่จวน ไปดูได้ หลวงปู่จวนบอก “นิโรธของหลวงปู่มั่นไม่เป็นแบบนี้ นิโรธของหลวงปู่มั่นไม่เป็นแบบนี้” นี่ไม่ใช่ นี่เข้าสมาบัติ นี่เป็นสมาบัติ แล้วเห็นว่าตัวเองจะตายนะ แล้วสุดท้ายแล้วนะดูแลกันไป ดูแลกันมาจนหลวงปู่บัวท่านหาย พอหลวงปู่บัวท่านหายท่านก็กลับหนองแซง พอกลับหนองแซงแล้ว ในปีนั้นหรือปีต่อไป หลวงปู่บัวท่านถึงได้มางานที่วัดป่าแก้วชุมพล หลวงตาท่านถึงได้ไปแก้ทีหลังไง

พอหลวงตาไปแก้ เพราะเราอ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วเราดูด้วย ดูหนังสือเล่มนี้ แล้วดูวันเวลา แล้วหลวงปู่จวนท่านพูดอย่างนั้น พูดบอกว่าเวลาออกไปแล้ว เพียงแต่ว่าหลวงปู่จวนท่านยังเป็นพระที่พรรษาน้อยกว่า ตามประเพณีใช่ไหม? เราเด็กกว่าเราก็ไม่ค่อยกล้าพูดสิ่งใด แต่ในใจพูดอย่างนั้น ฉะนั้น เวลาท่านมาเขียนหนังสือ ท่านมาพูด ท่านบอกว่า นิโรธสมาบัติของหลวงปู่มั่นเป็นอย่างหนึ่ง นิโรธสมาบัติทั่วไป

เราจะบอกว่า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเรียนกับอาฬารดาบส อุทกดาบส ได้สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ สมาบัติเป็นสมาบัติ สมาบัตินี้เป็นสมาบัติเลย เพราะสมาบัตินี่พวกฤๅษีชีไพรเข้า พอฤๅษีชีไพรเข้ามันเป็นเรื่องมีฤทธิ์ มีเดช ไอ้เรื่องนี้เป็นเรื่องฌานโลกีย์ มันไม่เกี่ยวหรอก ฉะนั้น คำว่านิโรธ นิโรธมันอยู่ในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

นิโรธมันอยู่ในอริยสัจ ถ้านิโรธอยู่ในอริยสัจ นิโรธกับสมาบัติมันไม่เกี่ยวกัน แต่เวลาที่พระสารีบุตรท่านเข้าไปพักของท่าน ท่านเข้านิโรธสมาบัติ คือท่านเข้าสมาธิ แต่นิโรธท่านดับของท่านแล้ว นี่พระกัสสปะเวลาเข้า ๗ วัน ๑๐ วัน พระปัจเจกพุทธเจ้าเข้านิโรธสมาบัติ มันมีของมัน แต่นี้ของเรามันเป็นสัญญาอารมณ์นะ เพราะ เพราะสิ่งนี้มันจะไปเข้ากับอจินไตย ๔ เรื่องความว่างไง

เรื่องฌานเป็นอจินไตย อจินไตย ๔ มีอะไรบ้าง? มีพุทธวิสัย มีกรรม มีโลก มีฌาน นี่มันอจินไตย คือมันกว้างขวาง คือมันละเอียดลึกซึ้ง มันไปมากกว่านั้น แล้วประสาคนที่เริ่มปฏิบัตินะ ในโลกเดี๋ยวนี้เป็นแบบนี้นะ เขาว่าเข้านิโรธสมาบัติอะไรนี่ เราจะบอกว่าโกหกทั้งนั้นแหละ โกหก! คนรู้ไม่พูด คนพูดไม่รู้ คนรู้ไม่พูดหรอก เหมือนกับของ เห็นไหม คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ ไอ้คนใช้ไม่ค่อยได้ซื้อหรอก แล้วคนซื้อมาก็อู้ฮู ดีที่สุด ยอดที่สุด เยี่ยมที่สุด แต่ไอ้คนใช้ ใช้ไม่ได้ คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ

นี่ก็เหมือนกัน ผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติได้เขาไม่พูดหรอก เพราะมันลึกลับมาก แต่ไอ้ที่คุยกันอยู่นี่นะมันก็แค่ทำความสงบของใจ แค่ใจสงบนิดหน่อยมันก็ว่านิโรธๆ มันก็ว่ากันไป นี่พูดถึงสัญญาอารมณ์นะ เราพูดถึงสัญญาอารมณ์ก่อน แล้วสิ่งที่ว่าสังคมที่ทำกันอยู่ มันยิ่งสลดใจมากเข้าไปอีก สลดใจมากเข้าไป แบบว่าเวลาเขาจะเข้านิโรธสมาบัติกัน เห็นไหม เขาโฆษณากัน เขาประชาสัมพันธ์กันไป

แล้วอย่างนี้ เพราะว่าในปาราชิก ๔ นี่ในปาราชิก ๔ นะ แม้แต่เข้าฌานสมาบัติบอกเขา นิโรธสมาบัตินี่เป็นหมดแหละ แล้วเขียนกัน ทำกัน แล้วนี่เขียนนะ เราจะบอกว่ามันหลายซับหลายซ้อน มันหลายซับหลายซ้อนมาก ที่ว่าเข้านิโรธสมาบัติกันไปเพราะมันไม่มีใครตรวจสอบ แล้วคนที่จะตรวจสอบ ใครจะตรวจสอบล่ะ? เห็นไหม คันถธุระ วิปัสสนาธุระ ถ้าวิปัสสนาธุระเขาจะตรวจสอบสิ่งนี้ได้

เมื่อก่อน เห็นไหม นี่วินัยธร ธรรมกถึก ถ้าวินัยธรก็ศึกษาเล่าเรียนกันไป ธรรมกถึกนี่เขาจะรู้กัน แล้วเขาแบบใครที่มีคุณธรรมสูงกว่า คนที่ต่ำกว่าเขาชี้ได้หมดไง แต่ตอนนี้ครูบาอาจารย์ท่านรักษาดูแลในหมู่คณะ ในครอบครัวของกรรมฐาน แต่เวลาคนอย่างนี้เห็นว่ามันเป็นไปได้ พอเป็นไปได้มันก็มีการทับซ้อนกันไป

ฉะนั้น คำว่านิโรธสมาบัติต้องแยกให้ชัดเจนก่อน ฌานกับสมาบัติก็คนละเรื่องกัน แล้วสมาบัติกับนิโรธ นิโรธ คำว่านิโรธแล้วเติมคำว่าสมาบัติไปก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะคำว่านิโรธสมาบัติ นิโรธ เห็นไหม นิโรธคือการดับทุกข์ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าอภิญญา ๕ ที่ว่าอภิญญา ๖ ว่าแก้กิเลสได้หรือไม่ได้ อภิญญา ๖ แก้กิเลสได้หรือไม่ได้ อภิญญาๆ เขาสร้างอภิญญาแค่ไหน? นั่นอีกเรื่องนะ

นี่พูดถึงคำว่า “นิโรธสมาบัติกับสมาบัติ” ก่อน เพราะคำว่าสมาบัติๆ ทุกคนนี่ ขนาดเราเคยฟังพระองค์หนึ่งพูดนะ บอกว่าสมาบัติของเขานะ เริ่มต้นกำหนดเป็นสี สีเขียว สีเหลือง สีแดงเป็นสมาบัติ โอ๋ย เรางงเลยนะ เอ๊ะ สีมันเกี่ยวอะไรกับสมาบัติ? แล้วบอกว่าสมาบัติมันเป็นอย่างนั้นหรือ? สมาบัติมันก็ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน รูปฌาน อรูปฌาน อากาสานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ วิญญาณัญจายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี่สมาบัติ

แล้วพระพุทธเจ้าไปเรียนกับอาฬารดาบส อุทกดาบส เห็นไหม สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษาไปทั่ว พอจากอุทกดาบส อาฬารดาบสแล้ว ไม่ได้แล้ว หยุดแล้ว ทำไมพระพุทธเจ้ากลับมาอานาปานสติล่ะ? กลับมากำหนดลมหายใจล่ะ?

นี่ไงถึงบอกว่า “ฌานกับสมาธิแตกต่างกันอย่างใด?” ฌานคือการเพ่ง ฌานมีกำลังไง ฌานมีกำลังมันก็ส่งออก เพราะจิตมันส่งออก สมาธิคือความสงบร่มเย็น สงบกลับมา แล้วสมาธิกับฌานต่างกันไหม? ทำฌานก็คือทำความสงบของใจ แต่ทำความสงบ มันมีกำลังของมัน มันเป็นฌานโลกีย์ มันเพ่งใช่ไหม? มันเพ่งมีกำลัง เพ่งเทียน เพ่งแสง เพ่งสีขาว สีเขียว สีแดง แล้วพุทโธนี่ เห็นไหม พุทธานุสติ ธัมมานุสติย้อนกลับ นี่ย้อนกลับมา

ถ้าย้อนกลับมา ฉะนั้น ในมรรค ๘ ถึงเป็นสัมมาสมาธิ ไม่ใช่สัมมาฌาน ไม่มี มีแต่สัมมาสมาธิ นี่มันเป็นสมาธิไม่ใช่ฌาน แต่ แต่ทีนี้บอกฌานมันเป็นอจินไตย เรื่องความสงบเป็นอจินไตย ทีนี้เวลาพูดไปมันก็กว้างออกไป พอกว้างออกไป ฉะนั้น ไม่ต้องไปสนใจเรื่องนี้เลย ถ้าไปสนใจเรื่องอย่างนี้นะ ว่านิโรธสมาบัติแล้วจะทำอย่างไร? ฌานสมาบัติทำอย่างไร? ทุกคนอยากจะมีอภิญญา ๖ อยากจะรู้วาระจิตต่างๆ พวกเรื่องอย่างนี้ทำให้จิตส่งออกหมด

จิตส่งออก อยากรู้ อยากเป็นไป อยากต่างๆ ความอยากอันนี้มันกวนใจ แล้วใจมันจะเข้ามาไม่ทำงานของตัวมันเอง เหมือนเรารอความนิ่ง รอความสงบ แต่เราเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลามันจะสงบได้อย่างไร? เราเคลื่อนไหวอยู่นี่จะสงบได้อย่างไร? การเคลื่อนไหวคือพวกฌานโลกีย์นั่นน่ะ แล้วจะให้สงบ สงบมันต้องหยุดนิ่ง แล้วหยุดนิ่งอยู่ได้อย่างไร? หยุดนิ่งความรู้สึกมันตั้งอยู่บนอะไร? มันถึงต้องมีคำบริกรรมไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่านี่เรื่องของโลก เฮ้อ เพราะว่าแค่ทำความสงบของใจนี่นะ ทำสัมมาสมาธิ ทุกคนก็ยังทำล้มลุกคลุกคลาน แต่ถ้าเป็นเรื่องใช้ปัญญา เรื่องโลกียปัญญา ปัญญาโลก ปัญญาที่ว่าเราศึกษาในศาสนามันเป็นเรื่องโลกไง เราถึงบอกว่าเรื่องโลกกับเรื่องธรรมมันคนละมิติกัน มิติของโลกนะเราไม่ต้องทำอะไรเลย มันเกิดขึ้นได้ ความคิดนี่เกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติเลย แต่เรื่องของธรรม ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ ปัญญาที่เกิดกิเลสพาใช้หมด แล้วปัญญาที่เป็นธรรมมันจะเกิดตอนไหน? นี่มันเกิดตอนไหน?

แล้วถ้าพูดกันนี่ก็ปัญญาเหมือนกัน ความรู้สึกเหมือนกัน เหมือนผู้ใหญ่กับเด็กเลย ผู้ใหญ่ เวลาการดำรงชีวิตของผู้ใหญ่ก็อย่างหนึ่ง เด็กก็อย่างหนึ่ง ก็อยู่ด้วยกันนี่แหละ แต่พื้นฐานของใจมันคนละเรื่องกันเลยล่ะ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เรื่องที่ว่าเรื่องฌาน เรื่องสมาบัติ เรื่องฌาน เรื่องนิโรธสมาบัติต่างๆ อันนี้นะมันเป็นเรื่องฌานโลกีย์ คำว่าฌานโลกีย์ อภิญญา ๖ คือว่าอภิญญาแก้กิเลสไม่ได้ อภิญญานี้แก้กิเลสไม่ได้ นิโรธสมาบัติ เดี๋ยวเราจะอธิบายเรื่องนิโรธสมาบัติทีหลัง

นี่เขาบอกว่าฌานโลกีย์แก้กิเลสไม่ได้ ฌานโลกีย์แก้กิเลสไม่ได้ อภิญญา ๖ อภิญญาคือฌานโลกีย์ รู้วาระแล้วมันจะมาแก้กิเลสได้อย่างไร? มันไม่ใช่มรรค แต่ถ้ามันเป็นมรรค เพราะมรรค ๘ มรรคมันถึงมีปัญญาพิจารณาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม สติปัฏฐาน ๔ นี่ถึงเข้าสู่อริยสัจ มรรค ๔ ผล ๔ สติปัฏฐาน ๔ สิ่งที่มันจะเข้ามาที่นี่ แต่ในเมื่อมันเป็น เพราะพระพุทธเจ้าทิ้งเลย หลวงตาท่านพูดเด็ดขาดเลย

“ไอ้เรื่องฌานๆ แฌนๆ นี่อย่ามาคุยกับเรานะ”

ท่านไม่พูดเรื่องนี้เลยนะ ท่านตัดทิ้งไปเลย แต่ที่เราพูดนี่เพราะว่าคำถามมันเข้ามาหนึ่ง แล้วเรื่องทางโลกเขาสนใจเรื่องอย่างนี้ สิ่งที่เขาสนใจ ต้องพูดถึงเรื่องที่เขาสนใจว่ามันถูกหรือมันผิด ถ้ามันถูกนะ มันถูกมันถูกอย่างไร? มันผิด มันผิดอย่างไร? แล้วเราจะเริ่มต้นเดินกันอย่างไรเพื่อจะเข้าไปสู่ความถูกต้อง

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นเรื่องฌาน เรื่องสมาบัติ เรื่องต่างๆ วางไว้ก่อน ใจเราสงบจริงหรือเปล่า? ถ้าเข้าฌานสมาบัตินะ อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ สมาบัติ ๘ เห็นไหม ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ฌาน ๔ ฌาน ๔ กับสมาธิ ถ้าสมาธิมันเอกัคคตารมณ์จิตตั้งมั่น ถ้าตั้งมั่นแล้วตั้งมั่นอย่างไร? เพราะคำสอน คนสอนชอบสอนสิ่งนี้ แต่เวลากรรมฐานสอนนะ กรรมฐานสอนพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

ขณิกสมาธิ สมาธิเล็กน้อย สมาธิมันพอเป็นไป อุปจารคือสมาธิที่มันเข้มแข็งขึ้น แล้วมันออกรับรู้ได้ ออกรับรู้ก็เหมือนฌานโลกีย์ ออกรับรู้ แต่มันออกรับรู้ด้วยอุปจารสมาธิ ออกรับรู้ด้วยมีสติปัญญา ด้วยมีสติ ด้วยมีการรับรู้ ด้วยการบริหาร ไม่ใช่ออกรับรู้แบบส้มหล่น ออกรับรู้แบบว่าพลังงานมันพุ่งไปโดยที่ไม่มีใครควบคุมมัน แว็บๆ แว็บๆ ออกรับรู้ ออกรับรู้เพื่ออะไร? แต่ถ้ามันเป็นอุปจารสมาธิ เห็นไหม คือว่าอัปปนาสมาธิมันเข้าไปสงบระงับจนทำสิ่งใดไม่ได้เลย เพราะมันพุทโธไม่ได้ มันสักแต่ว่า สักแต่ว่าที่ละเอียดมาก แล้วพอคลายตัวออกมาแล้วมันถึงจะเป็นอุปจาระ อุปจาระก็ออกใช้ทำงาน

นี่พูดถึงว่าเวลาพุทโธ เวลากรรมฐาน ๔๐ ห้องมันมีคุณสมบัติอย่างนี้ คุณสมบัติอย่างนี้มันก็เข้าสู่อริยสัจ เข้าสู่มรรค แต่ถ้ามันไปสมาบัติ สมาบัติมันไปแล้ว ตัวตนอยู่ไหน? ในอุทกดาบส อาฬารดาบสเขามีสติของเขา เพราะตอนนั้นพระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ไง เขาก็ได้สมาบัติ ๘ เขายังเข้าออกของเขาได้ แต่ถ้าเป็นคนทั่วไปนะ หรือเราไม่ชำนาญ มันจะเข้าได้หน ๒ หนเท่านั้นแหละ พอเข้าต่อไปนะมันเข้ายากแล้ว เพราะอะไร? เพราะพอไปรู้ ไปเห็นเข้ามันมีความอยาก มีตัณหา มีกิเลสไง นี่มันจะเข้าออกได้ยากมาก พอเข้าออกได้ยาก จะเข้าออกอย่างเก่าอีกไม่ได้ ฉะนั้น พอเข้าอย่างเก่าไม่ได้ แม้แต่รักษาให้มันเป็นไปยังรักษาไม่ได้

ดูพระพุทธเจ้าไปศึกษาสิ ศึกษากับอุทกดาบส อาฬารดาบส สมาบัติ ๘ แล้วพระพุทธเจ้าทิ้งเลย มันใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ทิ้งเลยแล้วกลับมา ทีนี้โลกมันเป็นไปอย่างนั้น เพราะโลกมันเป็นเรื่องโลก เห็นไหม เรื่องโลกๆ คือว่ากำหนดจิตได้อย่างนั้น คาดหมายได้อย่างนั้น เราจะบอกว่าสิ่งที่ทำกันทางโลกนี่ เราพูดเลยโกหกเกือบทั้งนั้น แต่มันมีอักษรอยู่ในตำราไง ก็อ้างอิงกันทั้งนั้น โกหกเกือบทั้งนั้น ฉะนั้น ถึงว่าสมาบัติย้อนกลับมาตอบปัญหาแล้ว นี่พูดถึงพื้นฐานก่อน ว่านิโรธสมาบัติกับสมาบัติมันแตกต่างกันอย่างใด?

คำถามที่ ๑

ถาม : ๑. ฌานสมาบัติกับนิโรธสมาบัติแตกต่างกันอย่างไร? พระอริยะระดับไหนจะเข้านิโรธสมาบัติได้ อานิสงส์ของการเข้านิโรธสมาบัติ พระอริยสงฆ์ขนาดไหนที่เข้านิโรธสมาบัติได้

หลวงพ่อ : เวลาเข้านิโรธสมาบัติ เพราะตรงนี้แหละ คำนี้แหละทุกคนถึงมาอ้างว่าเข้านิโรธสมาบัติ เวลาพระพูดว่าเข้านิโรธสมาบัติ เข้านิโรธสมาบัติ เพราะเขาอยากให้เห็นว่าเขาเป็นอริยสงฆ์ไง

เพราะคำพูด มันพูดนี่มันมีนัย เวลาใครบอกเข้านิโรธสมาบัติๆ แล้วก็บอกว่าใครเข้านิโรธสมาบัติได้ก็อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามี แล้วพระองค์นั้นเข้านิโรธสมาบัติ แสดงว่าพระองค์นั้นเป็นอะไรล่ะ? ก็เป็นอนาคามีไง แล้วเข้าจริงหรือเปล่าล่ะ? เพราะในตำราบอกว่าผู้ที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามี แล้วเขาก็บอกว่าพระองค์นี้เข้านิโรธสมาบัติได้ แปลว่าอะไร? แปลว่าอะไรล่ะ? อ้าว แปลว่าอะไร?

นี่มันมีเลศนัยอย่างนี้ ที่โลกเขาทำกันมันมีเลศนัยอย่างนี้ แล้วถ้าเข้านิโรธสมาบัติเข้าทำไมล่ะ? แล้วเข้าเพื่ออะไรล่ะ? เข้าเพื่อสตางค์หรือ? เข้าเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อหรือ? แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่ทำได้จริงนะมันมี เรารู้อยู่ครูบาอาจารย์ทำได้จริง ถ้าทำได้เขาไม่พูด แต่วงในรู้กัน เขาทำเขาไม่พูดหรอก คนทำได้เขาไม่พูด ไอ้คนขี้โม้นั่นน่ะทำไม่ได้ ทำไม่ได้หรอก

ฉะนั้น ที่เขาถามว่า

ถาม : พระอริยะระดับใดเข้านิโรธสมาบัติได้?

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) ในตำราบอกพระสารีบุตรเข้านิโรธสมาบัติ ออกมานะ คนทำบุญแล้วได้บุญมาก นี่พระกัสสปะเข้านิโรธสมาบัติ เพราะเวลาผู้ที่สิ้นกิเลสแล้วมีวิหารธรรมเป็นเครื่องอยู่ มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ทีนี้ธรรมเป็นเครื่องอยู่ อนาคตมันไม่มีเพราะมันดับหมดแล้ว พอดับหมดแล้ว ชีวิตนี่รออายุขัย ทีนี้บางทีรออายุขัยก็เข้านิโรธสมาบัติก็เป็นเครื่องอยู่ อยู่เป็นความสุขของเขา คือว่ามันสุขอยู่แล้วเพราะมันพ้นกิเลสแล้ว

ฉะนั้น เพียงแต่ว่าเหมือนเรานี่ เราวันๆ ทำอะไรล่ะ? นี่วันทำงานจบแล้วทำอะไรต่อล่ะ? ทีนี้พอไม่มีอะไรทำก็เข้านิโรธสมาบัติ นี่มันเป็นเครื่องอยู่เฉยๆ มันเป็นเรื่องปกติของพระระดับนั้น แต่มันไม่เป็นปกติแบบปุถุชน แบบไอ้พวกที่จะปีนบันได พยายามจะปีน พยายามไขว่คว้า เข้าไม่ได้หรอก พยายามไขว่คว้า พยายามจะปีนยอดเขา พยายามจะปีนก้อนเมฆ ไม่มีประโยชน์หรอก แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านทำจิตของท่านจบแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ เรื่องความเป็นอยู่ของท่านไง เป็นเรื่องการพักผ่อน

เป็นเรื่องการพักผ่อนนะ พักผ่อนนอนหลับ เป็นเรื่องไม่มีอะไรเป็นพิเศษเลย เพราะพวกนี้มันเป็นเรื่องอะไร? ก็เป็นเรื่องปกติใช่ไหม? เพราะจิตใจท่านพ้นแล้ว พ้นออกไปจากความขุ่นมัวในใจ มันไม่มีสิ่งใดมาเร้าในใจ ไม่มีสิ่งใดเลย เพราะมันไม่มีอะไร พอไม่มีอะไรนะก็เป็นเรื่องปกติ แต่ไอ้พวกตะกายดาว ไอ้พวกจะปีนก้อนเมฆ โอ้โฮ จะเข้านิโรธสมาบัติ จะเข้านิโรธสมาบัติ แล้วเข้าทำไมล่ะ? แล้วเข้าทำไมต้องประกาศด้วยล่ะ? จะนอนก็ต้องประกาศใช่ไหม? เวลาจะเข้านอน ฉันจะนอนแล้วนะ ต้องอย่างนั้นด้วยหรือ?

เออ แปลกเนาะ คนจะนอน กินแล้วก็นอนสิ คนกินข้าวเสร็จเขาก็นอน นอนเสร็จแล้วเขาก็ตื่น ตื่นแล้วเขาก็ทำงาน ก็เป็นเรื่องปกติ ทำไมจะนอนก็ต้องบอกเขาว่าจะนอนด้วยล่ะ? ฉันจะนอนแล้วนะ เออ มันก็แปลกอยู่เนาะ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ชาวพุทธจะไม่เป็นเหยื่อใครไง ชาวพุทธไม่ต้องเป็นเหยื่อใคร แล้วปรับปรุงทัศนคติตัวเองซะ เรื่องนิโรธสมาบัติ เรื่องฌานโลกีย์มันก็เหมือนเรื่องปกติของมนุษย์นี่แหละ

มนุษย์เกิดมามีคุณสมบัติอย่างใด? เชาว์ปัญญามีแค่ไหน? มันก็เกิดจากบุญกุศลที่เราสร้างมา ใครมีคุณสมบัติ ที่เวลาจิตสงบแล้วเขาทำของเขาได้ นั่นก็บุญกุศลของเขา เขาได้สร้างของเขามา เราไม่ได้สร้างของเรามาอย่างนั้น แล้วเราอยากให้เป็นแบบนั้นมันไม่มีหรอก แต่ถ้าของเรามันเป็นอย่างนั้นนะ พอเราทำแล้วมันก็เข้ารูปนั้นแหละ มันไม่หนีไปไหนหรอก

คนไม่มีแล้วไม่ต้องตะกายดาว ไม่ต้องปีนก้อนเมฆ ทำแต่คุณงามความดีของเรา ทำความสงบใจของเรา ทำเพื่อประโยชน์ของเรา แค่นี้ก็สุดยอดแล้ว ใครเขาจะปีนก้อนเมฆ เขาจะตะกายดาว เขาจะอะไรเรื่องของเขา มันเรื่องปกติไม่มีอะไรเป็นพิเศษเลย เรื่องพิเศษ เรื่องความจริง เรื่องอริยสัจ เรื่องกลับมาพิจารณาของเราต่างหากล่ะ

ฉะนั้น

ถาม : พระอริยะระดับใดที่เข้านิโรธสมาบัติได้ แล้วอานิสงส์ของการเข้านิโรธสมาบัติ

หลวงพ่อ : อานิสงส์เรื่องอะไรล่ะ? อานิสงส์ เขาแบบว่าผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติได้ เห็นไหม นิโรธคือดับหมดแล้ว ฉะนั้น เขาเข้าแล้ว เขาเข้าเพื่อพักผ่อน เพราะคำว่านิโรธแล้วนี่มันอานิสงส์อันนั้นเต็มเปี่ยมแล้ว

นิโรธะ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ นิโรธคือนิพพาน หลวงปู่จวนพูดอย่างนั้น บอกว่านิโรธของหลวงปู่มั่น นิโรธคือนิพพาน นิโรธคือมันหมดแล้ว นิโรธมันสูงสุดแล้ว แล้วอานิสงส์อะไรอีกล่ะ? จะมีอานิสงส์อะไรอีกให้ไปสู่นิโรธอันนั้น จะมีอานิสงส์อะไรไปเพิ่มเติมนิโรธอันนั้น ไม่มีหรอก

ฉะนั้น นิโรธสมาบัติแล้วก็จบ นิโรธสมาบัติหมายถึงว่าครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นไปแล้ว นี่ทีนี้เพียงแต่พอเป็นไปแล้วพวกเราก็อยากจะเข้านิโรธกัน การเข้านิโรธนี่เพราะเราอยากสิ้นกิเลสไง เราก็อยากเข้านิโรธ อยากจะสิ้นกิเลส แล้ววิธีสิ้นกิเลสทำอย่างไรล่ะ? อ้าว นิโรธนี่เป็นชื่อนะ แต่เวลาทำทำอย่างไร? ทำก็ย้อนกลับมาที่มรรคนี่ไง

เราต้องย้อนกลับไปที่มรรค เราไม่ต้องไปตอบที่นิโรธ นิโรธคือผล นิโรธคือคำตอบ แล้วเหตุล่ะ? เราไปเอาที่คำตอบได้อย่างไร? เราต้องกลับไปที่เหตุสิ เหตุอะไรถึงนิโรธ? ถ้าเป็นนิโรธแล้ว ตรงนั้นต่างหากที่เราต้องทำ เราต้องทำเหตุที่เข้าสู่นิโรธ แล้วพอนิโรธแล้วนะ สมาบัติมันก็มา นิโรธสมาบัติ (หัวเราะ) เออ ก็มันนิโรธน่ะ มันดับหมดแล้ว นี้จะเอานิโรธสมาบัติ แล้วนิโรธอะไร? นิโรธที่ไหน? นิโรธอะไรกัน?

ฉะนั้น คำถาม หรือว่าพระที่บอกว่าพระท่านใดเข้านิโรธสมาบัติ เห็นไหม ก็จะแอ็คกันไง โอ้โฮ พระองค์นั้นเข้านิโรธได้ เสาเราก็เข้านิโรธได้ ก้อนหินเราก็เข้านิโรธได้ เพราะมันไม่ขยับเลยล่ะ ก้อนหินมันเข้านิโรธเลย นิ่งอยู่นั่นน่ะไม่ขยับมาแล้ว ๓ เดือน (หัวเราะ) เข้านิโรธนิ่งเลย นี่ก็พระองค์นี้จะเข้านิโรธไง มันเป็นนัยไง เขาทำกันเป็นนัยให้สังคมเข้าใจอย่างนั้น นี่ข้อที่ ๑

ข้อที่ ๒

ถาม : ๒. พระอริยะที่เข้านิโรธสมาบัติเป็นเวลานาน ๑๕ วันบ้าง ๑ เดือนบ้าง เช่นนี้ท่านกำลังสร้างอภิญญาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ใช่หรือไม่คะ

หลวงพ่อ : สร้างอะไรล่ะ? สร้าง เขาเข้าสัมมาสมาธิแล้วใช้ปัญญาพิจารณา นี่คือการสร้าง ถ้าพูดถึงพระอริยะที่เข้านิโรธสมาบัติแล้ว ถ้าเข้านิโรธจริงนะ ๑๕ วันบ้างนี่เขาเข้าไปพักผ่อน เขาเข้าไปพัก ก็อย่างที่ว่า จะนอนก็นอน จะกินก็กิน ในมหายานเขาบอกเลย พระอรหันต์เขาถามว่าดำรงชีวิตอย่างไร? อ้าว หิวก็กิน ร้อนก็อาบน้ำ ง่วงก็นอน ก็เท่านั้นแหละ

แล้วพวกเราปฏิบัตินะ นี่ไงเขาบอกว่าหิวก็กิน หิวก็กิน เราถามเลย กินอะไร? กินขี้หรือ? จะกินอะไร? หิวก็กินนี่กินอะไร? คนที่เขามีวุฒิภาวะ หิว ใช่หิวเขาก็กิน เขาก็อยู่โดยปกติของเขา แต่ถ้าเรานี่นะ เราไม่ได้สร้างอะไรมานะ เหมือนกับเด็กทารก เวลามันนอนอยู่ มันก็นอนทับขี้ ทับเยี่ยวมัน เด็กทารกมันไม่ได้เติบโตมา เวลาหิวไม่มีจะกินมันทำอย่างไรล่ะ? มันก็เอามือล้วงขี้มันกินเอง

อ้าว หิวๆๆ หิวแล้วกินอะไร? แต่ถ้าผู้ที่เขามีของเขา เขาโตแล้ว หิวเขาก็เข้าครัวของเขา เขาเปิดอะไรเขาก็กินของเขาได้ มันต้องมีมาก่อนไง ไม่ใช่ว่าเราไม่มีอะไรเลย หิวก็กิน อ้าว คนนั้นเขามีทรัพย์สมบัติของเขาใช่ไหม? เขามีอาหารของเขาใช่ไหม? หิวเขาก็กิน ไอ้เราไม่มีอะไรเลย หิวก็จะกิน ก็กินลมไง จะกินอะไรล่ะ? อันนั้นมันเป็นความเข้าใจ ตีความกันไป

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “เข้านิโรธเพื่อสร้างอภิญญา” อภิญญาคืออะไร? อภิญญา ๖ ใช่ไหม? นี่อภิญญาๆ อภิญญา ๖ อภิญญาตัวที่ ๖ เขาบอกคือจิตสงบแล้วย้อนกลับมาเป็นมรรคนั่นแหละ เขาว่าเป็นมรรค ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นมรรค เราบอกอภิญญา ๖ แก้กิเลสไม่ได้ แก้กิเลสไม่ได้ก็ตรงนี้ไง ดูอย่างแม่ชีแก้ว แม่ชีแก้ว เห็นไหม รู้ทุกอย่าง ถ้าวันไหนภาวนาแล้วไม่รู้ คิดว่าตัวเองไม่ได้ภาวนา นี่ไงอภิญญา

แม่ชีแก้วนะ อู้ฮู รู้หมดเลย สุดท้ายแล้วนะหลวงปู่มั่น นี่มันเรื่องของผู้รู้นะ กับคนที่ไม่รู้ วุฒิภาวะมันแตกต่างกัน หลวงปู่มั่นนะท่านอยู่ที่วัดที่หนองผือ ก่อนที่จะมาที่ห้วยทราย ก่อนมาที่ห้วยทราย นี่แม่ชีแก้วยังเป็นเด็กๆ ไง แล้วแม่ชีแก้วจะภาวนาแล้วดี แล้วหลวงปู่มั่นท่านพักอยู่ท่านรู้ไง แล้วหลวงปู่มั่นท่านมาเล่าให้หลวงตาฟังทีหลังไง บอกว่า

“มันเป็นเด็กผู้หญิงนะ ถ้าเป็นเด็กผู้ชาย เราจะบวชเณรแล้วเอาไปกับเรา”

นี่เป็นผู้หญิง พอเป็นผู้หญิงเอาไปไม่ได้ พอเอาไปไม่ได้ พอหลวงปู่มั่นจะจากที่นั่นไปนะ หลวงปู่มั่นบอกว่า “อย่าภาวนานะ ให้หยุด อย่าภาวนานะ” เพราะถ้าเขาภาวนาอยู่ จิตเขามหัศจรรย์ หลวงปู่มั่นอยู่ที่นั่น หลวงปู่มั่นท่านดูแลได้ ท่านควบคุมได้ แล้วท่านจะจากที่นั่นไปท่านห่วง ท่านห่วงว่าท่านไปแล้ว เด็กคนนี้ถ้าภาวนาไป มันไปรู้ ไปเห็นสิ่งใด มันจะไม่มีพี่เลี้ยง ไม่มีคนแก้ไข หลวงปู่มั่นเลยสั่งไว้ว่า

“อย่าภาวนานะ เราไม่อยู่แล้วอย่าภาวนา”

นี่ไงอภิญญา จิตดวงนี้สร้างบุญมามาก แล้วทีนี้พอหลวงปู่มั่นท่านจากไป แม่ชีแก้วท่านมาเล่าให้หลวงตาฟัง ว่าเวลาหลวงปู่มั่นท่านไปแล้ว ใจมันก็อยากภาวนา แล้วหลวงปู่มั่นก็สั่งไว้ว่าอย่าภาวนานะ ก็พยายามตั้งสติแล้วค่อยๆ พิจารณาเอา ค่อยๆ แก้เอา คืออยากภาวนา แต่หลวงปู่มั่นก็สั่งไว้ว่า “อย่าภาวนานะ” แต่ก็ใช้วิธีตั้งสติ คือพยายามจะรักษาไว้ไม่ให้เสียไง

นี่คืออภิญญา เห็นไหม นี่ที่ว่าอภิญญา ๖ อภิญญา ๖ จะแก้กิเลส อภิญญามันเป็นการส่งออก แล้วถ้าไม่มีใครบอก มันจะเป็นการเพิ่มทิฐิมานะว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ ตัวเองมีความรู้ ตัวเองมีอำนาจเหนือโลก เหนือทุกอย่าง ถ้ามีความรู้สึกนึกคิดไปอย่างนี้เป็นกิเลสหรือฆ่ากิเลส? มันเป็นกิเลสทั้งนั้นแหละ มันไม่ใช่การฆ่ากิเลสหรอก อภิญญาจะส่งเสริมให้กิเลสตัวใหญ่ๆ พองมากเลย แต่พอแม่ชีแก้วไปสร้างวัด เพราะบวชชีแล้วอยากภาวนาก็ใช้ดูจิตเอา แล้วที่หลวงปู่มั่นบอกว่าต่อไปจะมีคนมาสอน ก็รอๆ ไง จนหลวงตาท่านไป

นี่เวลาจะปราบแม่ชีแก้ว “จิตส่งออกนะ ส่งออกบ้างก็ได้ ดึงไว้บ้างก็ได้ ได้หรือเปล่า?” คือเริ่มต้นคนจะดึงให้อยู่ มันไม่อยู่หรอก แบบว่าจากที่มันส่งออกตลอด อภิญญาที่มันรู้ตลอด อภิญญาที่มันรู้เหนือ รู้ใต้ตลอด แบบว่า

“ให้ไปบ้างก็ได้ ให้หยุดบ้างก็ได้ ได้ไหม?” นี่ต่อรองกันก่อน

“ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้”

ไม่ได้ไล่ลงจากเขาเลย ไล่ไปเลย ทีนี้พอไล่ไปแล้ว นี่คนมีปัญญา เห็นไหม อภิญญาๆ อภิญญาแก้กิเลสไม่ได้ พอคนมีปัญญา แม่ชีแก้วก็ไปนั่งคิดว่าเราก็ภาวนามาตลอด ถ้ามันดีมันก็ต้องดีไปแล้วสิ ถ้ามันไม่ดีเราก็อยากมีคนแก้ไข แล้วนี่ท่านบอกว่าส่งออกก็ได้ ไม่ส่งออกก็ได้ ทำไมไม่ลองทำดูล่ะ? ทำไมไม่ลองทำดู?

นี่คนมีปัญญา เห็นไหม พอมาบอกว่าถ้าเราลองทำดู แม่ชีแก้วก็ทำความสงบของใจเข้ามา แล้วพยายามรั้งไว้ไม่ให้ส่งออก ไม่ให้ส่งออก คือไม่ให้ไปรู้ไง แต่เดิมถ้าวันไหนภาวนาไปแล้วไม่เห็นผี เห็นเทวดา เห็นอินทร์ เห็นพรหม คือส่งออก วันนั้นถือว่าไม่ได้ภาวนา ถ้าไม่เห็นนะตัวเองไม่มีความรู้ แต่ถ้าวันไหนพอจิตมันสงบแล้วมันไปรู้นั่น รู้นี่ มันไปนรก สวรรค์ มันไปทั่วนะ โอ้โฮ วันนี้ได้ภาวนา

นี่มันไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แต่พอหลวงตาท่านบอกว่าอย่าส่งออกนะ อย่าให้ออกไปนะ ดึงไว้ๆ แล้วพอหลวงตาไล่ลงมา ด้วยความที่ว่าเสียใจว่ารอพึ่งอยู่ คือตัวเองก็แบบว่ามันไม่เจริญมากกว่านี้เลย ก็รอพึ่งอยู่ จะมีใครมาบอก พอหลวงตาท่านบอกก็คิดว่า อ้าว เราออกเรารู้ เราเก่ง แล้วหลวงตาบอกไม่ให้ออกมันก็จะไม่ได้อะไรเลย แต่ในเมื่อท่านพูด ก็ต้องลองดูสิ ลองดู

พอลองดูก็ดึงไว้ๆ ไม่ให้ออก มันก็รวมตัว พลังงานที่ส่งออกมันก็สะสมตัวมันเอง พอสะสมตัวเองมาเรื่อยๆ สะสมตัวเองเรื่อยๆ มันก็เริ่มจิตสงบ พอจิตมันสงบขึ้นมามันก็เห็นกายใช่ไหม? เห็นกาย เห็นกายปั๊บมันก็เห็นเป็นภาพว่าหลวงตาถือดาบมาฟันร่างกายนั้นแหลกหมดเลย โอ้โฮ ความรู้สึกนะ กับฌานที่ออกไปรู้ อภิญญาที่ไปรู้มันแตกต่างขนาดไหน?

ไปรู้กลับมาแล้วก็แบกทิฐิมานะ แบกความหนักหน่วงของใจไว้ตลอด แต่พอจิตมันสงบแล้วมันพิจารณากาย หลวงตาเอาดาบมาฟัน เอามีดมาฟัน มันฟันหมดเลย มันปล่อยหมดเลย โอ้โฮ มันโล่ง มันมหัศจรรย์มาก เพราะมหัศจรรย์อย่างนี้ไง ถึงได้จะไปกราบท่านน่ะ พอขึ้นไปนี่ อู๋ย ไล่ลงเขาเลย “เดี๋ยวๆๆ เดี๋ยวๆๆ อย่าเพิ่งไล่” จะมาแจ้งผลงานไง เห็นไหม อภิญญาแก้กิเลสได้ไหม? ไม่ได้หรอก นิโรธมันเป็นชื่อ สิ่งที่มันจะเป็นมันคืออะไร? สิ่งที่มันจะเป็น สิ่งนั้นมันคือมรรคไง

ฉะนั้น พอเป็นมรรค สิ่งที่ว่านี่ พระที่เขาเข้า ๑๕ วัน ๒๐ วัน เขาสร้างอภิญญาอะไร? ไปสร้างอะไร? เขาไปพักผ่อนอยู่เขาไปสร้างอะไร? แต่ถ้ามันจะสร้างมันจะสร้างที่นี่ไง ฉะนั้น อภิญญา ๖ อภิญญาที่ ๖ คือมรรค เขาบอกคือปัญญานั่นแหละ แต่ใครจะควบคุม? ใครจะดูแล? แต่นี่สิ่งที่ชัดเจนมาก แม่ชีแก้วพูดอัดเทปไว้นะ แม่ชีแก้วท่านรู้อะไรเยอะมาก แล้วพูดอัดเทปไว้ว่าอดีตชาติของท่าน กับอดีตชาติหลวงตามันลึกซึ้งมากนะ นี่พูดอย่างนี้แต่ไม่พูดทั้งหมด พูดแค่นี้ ว่าคนที่สร้างบุญญาธิการมามันมี ถ้าคนสร้างบุญญาธิการมี มันถึงเป็นอย่างนั้น ถึงมีความสำคัญอย่างนั้น

ทีนี้เราปฏิบัติกัน เราก็ต้องมีความเชื่อของเรา เราก็ต้องมีของเราอยู่แล้ว ฉะนั้น สิ่งที่ว่า นี่ข้อที่ ๒

ถาม : ๒. พระอริยะที่เข้านิโรธสมาบัติเป็นเวลานาน ๑๕ วันหรือ ๑ เดือนนี่ ท่านเช่นนี้ท่านกำลังสร้างอภิญญา?

หลวงพ่อ : ไม่ได้สร้าง ถ้าคำว่าสร้างอภิญญา การสร้างสิ่งต่างๆ อันนั้นคือหนังการ์ตูนนะ ที่ว่าโดยทั่วไปนี่หนังการ์ตูน เวลามีคนมีจิตใจของเขามันเป็นธรรม เขาก็ศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้านี่แหละ แล้วเขาก็มาเรียงเป็นพล็อตเรื่องเลย จะเป็นอย่างนั้นๆ แต่ความจริงไม่มี ไม่มีหรอก พอไม่มีขึ้นมามันก็ผู้ชนะสิบทิศไง ผู้ชนะสิบทิศมันก็มีเกร็ดประวัติศาสตร์นิดหนึ่ง แล้วยาขอบเขียน อู้ฮู คนอ่านกันทั่วประเทศ ร้องไห้กันฟูมฟายเลย

นี่ก็เหมือนกัน พูดถึงว่าถ้าเข้านิโรธสมาบัติแล้วท่านสร้างอภิญญาอะไรอยู่? ฉะนั้น ผู้ที่จะเขียนพล็อตเรื่องก็ว่า อู้ฮู นี่กำลังสร้างอภิญญานะ กำลังจะสร้างบุญญาธิการ จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ จะมาช่วยเหลือโลก จะมา อู้ฮู เขียนเรื่องกันไป สังคมไทยก็เชื่อ ชาวพุทธก็เชื่อ เศร้าใจ

ถาม : ๓. นักปฏิบัติธรรมที่ปฏิบัติธรรมมาพอสมควร แต่ยังไม่ขึ้นสู่อริยภูมิขั้นสูง เราควรทำจิตอย่างไรให้หลุดพ้น ในขณะที่จิตกำลังจะทิ้งร่าง

หลวงพ่อ : จะทิ้งร่าง ทำสมาธิมันก็ทิ้งร่าง พอจิตสงบแล้วนะ จิตสงบ อัปปนาสมาธิมันไม่รับรู้กายเลย เวลารวมใหญ่เข้าไปแล้วนะสักแต่ว่ารู้ ไม่มีสิ่งใดเลย อายตนะนี่ดับหมดนะ นี่พูดถึงอัปปนาสมาธินะ แต่ถ้าเข้าสมาบัตินะ มันตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน นี่รูปฌานรับรู้ร่างกาย อากาสานัญจายตนะมันจะว่างหมด เป็นอากาศหมด ร่างกายนี่เป็นอากาศ ความรู้สึกเป็นอากาศ ความรู้มีอยู่ แต่ว่างเป็นอากาศหมดเลย

อากิญจัญญายตนะ วิญญาณัญจายตนะ วิญญาณคือตัวรู้ ตัวรู้ เห็นไหม มันเข้ามาที่ตัวรู้นี่เลย อากาศดับหมด เวลาอากาสานัญจายตนะมันจะรู้อากาศ เวลาวิญญาณัญจายตนะกลับมาที่วิญญาณ อากิญจัญญายตนะรู้จักสิ่งที่วิญญาณ รู้ถึงวิญญาณ แล้วเนวสัญญานาสัญญายตนะมันก็ละเอียดเข้าไป อันนี้พูดถึงสมาบัติ แต่ถ้าพูดถึงอัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิ เห็นไหม การทิ้งร่าง ถ้าจิตมันทิ้งร่าง ทิ้ง สมาธิมันก็ทิ้ง แต่ทิ้งชั่วคราว ทิ้งขณะเป็นสมาธิ พอมันคลายออกมามันก็จบ

ทีนี้คำว่าทิ้งร่าง ทิ้งอะไร? ทิ้งอย่างไร? ถ้าทิ้งร่าง ทิ้งแบบบุรุษพยาบาล เวลาเขาเอาคนไข้มาเขาโยนทิ้ง เขาก็ทิ้งเหมือนกัน คนอื่นทิ้งไม่เป็นประโยชน์หรอก ต้องจิตเรา ผู้รู้ของเรา ถ้าผู้รู้ของเราทิ้ง การจะทิ้งร่างนี่อย่างหนึ่ง แต่การพิจารณากาย เวลามันปล่อยกายมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะมันไม่ได้ทิ้ง มันอยู่อย่างนี้แหละ

นี่จิตมันอยู่ในร่างกาย มันพิจารณาของมัน โดยจิตที่มันเป็นสัมมาสมาธิ พิจารณาของมันแล้วมันปล่อย มันปล่อย มันปล่อยที่ไหนล่ะ? มันปล่อยที่ความรู้สึกไง มันปล่อยที่ใจ ทุกอย่างมันเกิด เห็นไหม หลวงตาบอกว่า

“ธรรมะนี่สิ่งที่สัมผัสได้คือความรู้สึก คือใจของคน”

ถ้าใจของคนสัมผัส ทีนี้ใจมันแบกรับรู้ แบกทิฐิมานะไว้ เวลามันพิจารณา มันพิจารณาที่กาย พอพิจารณาที่กาย พิจารณากายแล้วมันปล่อย มันปล่อยสิ่งที่มันรู้ มันเห็น กายก็อยู่นี่แหละ กายนี่มันที่อยู่ของจิต ถ้าจิตพิจารณาแล้วมันปล่อยของมัน นั่นอีกเรื่องหนึ่ง การพิจารณากายแล้ววางกาย มันวางสังโยชน์ สักกายทิฏฐิ มันไม่ใช่การทิ้งร่าง

โฮ้ คำว่าทิ้งร่าง นี่พูดนะ คำว่าทิ้งร่างเอาอะไรไปทิ้ง? เขาทิ้งกิเลสต่างหาก ทิ้งสังโยชน์ต่างหาก ฉะนั้น อย่างที่ว่า คำถามนี่แบบว่ามันไม่มีผลในความเป็นจริง คำถามมันเลยคำตอบไปแล้วไง ทีนี้คำตอบที่ว่า

ถาม : นักปฏิบัติธรรม ที่ปฏิบัติธรรมมาพอสมควร แต่ยังไม่ขึ้นสู่อริยภูมิ เขาควรจะทำจิตอย่างใด?

หลวงพ่อ : ทำจิตอย่างใด ก็ทำจิต ปฏิบัตินะ พอจิตสงบแล้วนะ ถ้าไม่พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ ไปไม่รอด คำว่าพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม นี้คือการพิจารณาแล้วมันจะไปชำระกิเลส ทิฐิความเห็นผิด ความยึดมั่นถือมั่นอันนั้นต่างหาก นี่การปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั่น แล้วถ้าการปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั่น

พูดถึงถ้าเราสนใจเรื่องฌาน เรื่องสมาบัติ เรื่องฌานโลกีย์ มันก็สนใจเรื่องสมาธิ ถ้าสนใจสมาธิมันก็เหมือนแสงเลเซอร์ เราทุกคนพยายามปฏิบัติแบบเครื่องยิงแสงเลเซอร์ แล้วจะเอาเลเซอร์ยิงให้กิเลสมันตายเลย ทีนี้พอยิงกิเลสมันก็หลบหลีก มันยิงไม่โดนหรอก เพราะเราคิดกัน นี่คิดแบบโลกไง คิดแบบหนังวิทยาศาสตร์ไง การต่อสู้ การต่อสู้ด้วยพลังงาน การต่อสู้ด้วย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราคิดว่าฌาน อภิญญามันก็เหมือนกำลังของสมาธิ กำลังของสมาธิเราแปรเปลี่ยนมาเป็นพื้นฐานให้เป็นเหมือนคมมีด คมมีดก็เอาไปทำครัว เอาไปทำสิ่งต่างๆ เกิดประโยชน์ สัมมาสมาธิให้เกิดปัญญา ปัญญาก็เกิดไปชำระกิเลส แต่นี่บอกว่าปฏิบัติธรรมเป็นอภิญญานะ มีกำลังแล้วจะชำระกิเลส มันก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ย้อนข้อเมื่อกี้นี่แหละ ผู้ชนะสิบทิศไง ผู้ชนะสิบทิศมันมีเกร็ด มีเกร็ดในพระไตรปิฎก มีเกร็ดประวัติศาสตร์ เกร็ดประวัติศาสตร์ก็เขียนเป็นนวนิยาย ได้เงิน ได้ทอง ได้ชื่อเสียงศักยภาพ สังคมยกย่อง

นี่ก็เหมือนกัน เอาคำหนึ่งในพุทธศาสนา ในคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็มาเขียนเป็นพล็อตเรื่องความรู้สึกของตัว มันเป็นจินตนาการ มันก็ไปใหญ่เลย มันไม่เข้าสู่อริยสัจ ไม่ต้องไปรับรู้สิ่งใดเลย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อริยสัจ ๔ สติปัฏฐาน ๔ มรรค ๘ แล้วมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ คอยบอก เดี๋ยวมันจะเข้ามาสู่ตรงนี้ แล้วเข้ามาสู่ตรงนี้ มันจะเข้าสู่การปฏิบัติ

ถาม : ๔. เราจะสอนคนแก่ที่ป่วยหนักใกล้ตายให้ปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิตได้อย่างไร? จึงจะช่วยให้เขาตายอย่างมีสติ และไม่กลัวความตาย

หลวงพ่อ : ถ้าเขาจะตายอย่างมีสติและไม่กลัวความตาย ให้เขาศึกษาธรรมะ เราพูดธรรมะให้เขาฟัง พูดให้เขาฟัง ทีนี้คำพูดให้เขาฟัง แบบว่าบางทีนะถ้าเราพูดให้เขาฟัง คนที่กลัวแล้ว ยิ่งพูดมันจะยิ่งกลัวเข้าไปใหญ่ ฉะนั้น

ถาม : เราจะสอนคนแก่ผู้ใกล้ตายให้ปล่อยวางกายได้อย่างใด?

หลวงพ่อ : คนแก่คนนั้น ถ้าจิตใจเขาดีนะไม่ต้องไปสอนเขา ถ้าจิตใจเขาดีนะ เขารู้อยู่เขาจะสอนเราด้วย นี่ผู้ที่ปฏิบัติ เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาท่านเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านบอกนี่ธรรมะมาแล้ว ทุกอย่างมาแล้ว ธรรมะมาเตือนแล้ว นี่แสดงให้ดูเลย ท่านแสดงธรรมให้ดูนะ เอาชีวิตของท่านแสดงให้เราดู ถ้าแสดงให้เราดู ท่านเผชิญหน้ากับพญามัจจุราชด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปปรินิพพานนะ คือจะไปตายคืนนี้ นี่ตั้งแต่ไปหานายจุนทะใช่ไหม? นายจุนทะถวายอาหารมื้อสุดท้าย เทศน์ให้นายจุนทะฟัง แล้วพอฉันสูกรมัททวะนะ

“จุนทะ เธอเอาสิ่งนี้ไปเทลงคลองเถิด ไม่มีพระองค์ไหนจะย่อยอาหารสิ่งนี้ได้เลย นี่เอาอันนี้ไปเทลงคลอง”

นี่ยังเป็นห่วงจุนทะอีกนะ เวลาไปถึงจะไปนิพพานนะ

“อานนท์ ถ้ามีใครจะมาบอกว่าเราฉันอาหารของนายจุนทะ แล้วเราถึงซึ่งนิพพาน เดี๋ยวเขาจะไปโทษนายจุนทะว่าเพราะกินอาหารของนายจุนทะแล้วทำให้พระพุทธเจ้านิพพาน เธอจงประกาศนะ ว่าบุญในพุทธศาสนามีอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งเราฉันอาหารของนางสุชาดา เราถึงซึ่งกิเลสนิพพาน กับอีกคราวหนึ่งเราได้ฉันอาหารของนายจุนทะ นี่เราได้ถึงขันธนิพพาน เธอบอกเขาว่าทานนี้ยิ่งใหญ่ ถ้าเราไม่พูดอย่างนั้น คนเขาจะไปเพ่งโทษ จะไปโทษนายจุนทะว่าเพราะฉันอาหารของนายจุนทะแล้วจะนิพพาน”

นี่คนจะไปตายนะ จะไปตายยังสอนเขาไปทั่วเลย ยังสอนเขามาตลอดเลย นี่ถ้าจิตมันมีธรรมไง แต่ถ้าเราไม่มีธรรม เห็นไหม นี่บอกว่าจะสอนคนแก่อย่างไรที่ใกล้ตายให้ปล่อยวาง? ไปบอกคนแก่ คนแก่ก็บอกว่าไม่อยากตาย อู๋ย เอายาอายุวัฒนะมา เอาสิ่งนั้นมากินเยอะๆ เลย อะไรที่มันทำให้ไม่ตาย ไม่ยอมตาย

จะบอกว่ามันอยู่ที่คุณภาพของผู้ที่เป็นผู้เฒ่านั่นน่ะ ถ้าผู้เฒ่าเขาได้สร้างบุญกุศลมา เขามีปัญญาของเขามา เขาพูดกันรู้เรื่อง พูดก็ง่าย ถ้าผู้เฒ่าเขามีแต่ความหนักหน่วงในใจ มีจิตใจที่หมักหมมมา เรายิ่งพูดอย่างไร มันเหมือนกับเราทำความผิดมาเยอะมากเลย คนนู้นบอกนั่นก็ผิด นี่ก็ผิด อู้ฮู ใจหายหมดนะ เราทำความผิดมาเยอะใช่ไหม? แล้วคนก็มานั่งบอกนะ นี่ทำอย่างนี้เป็นบาปนะ ทำอย่างนี้ไม่ดีนะ โอ๋ย ใจอยู่ที่ตาตุ่มเลย อู๋ย ถ้าตายคราวนี้คงจะตกอเวจีเลย แต่ถ้าผู้ฉลาด สิ่งที่ผิดมาแล้วมันเป็นอดีต นี่ให้วางให้ได้ แล้วให้นึกถึงพระ ให้นึกถึงพุทโธ

ในปัจจุบันนี้เรามีสติสัมปชัญญะ ถ้าจิตนึกถึงพุทโธ นึกถึงพระเราก็เกาะที่นี่ไว้ สิ่งที่เป็นอดีตมาไม่มีใครแก้ไขได้ สิ่งที่ทำมาแล้วมันเป็นอดีตหมดแหละ พระพุทธเจ้าสอนให้แก้ที่ปัจจุบันนี้ ถ้าปัจจุบันนี้เรายอมว่าสิ่งนี้ทำมาเพราะเราขาดสติ เราเคยทำสิ่งใดมา นั้นเราก็อโหสิกรรม เราก็พยายามจะทำบุญกุศล แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ แล้วสิ่งที่เราทำดีมา เอาสิ่งความดีนี้มาเป็นที่พึ่ง นี่ถ้าจิตใจมันมีสติปัญญานะมันก็พอทำได้ แต่ถ้าเราไม่มีสติปัญญา ถ้าอย่างนี้เราก็ค่อยๆ บอก ค่อยๆ สอน สอนอย่างนี้

เราจะบอกว่าคนที่เขาต้องดูก่อนไง ประเด็นนี้นะมีคนถามมา เมื่อก่อนคนถามเยอะ พวกที่มีอาชีพเป็นพยาบาลที่เขาอยู่กับพวกผู้เจ็บไข้ได้ป่วย เขาจะพยายามศึกษาเรื่องนี้เพื่อจะพยาบาลคน เราก็บอกเขาทำนองนี้ ทำนองที่ว่าจิตใจแต่ละดวงมันไม่เหมือนกัน จิตใจแต่ละดวง ถ้าจิตใจที่ดีมา พูดสิ่งใดเขาก็เข้าใจได้ง่าย แต่จิตใจที่มันมีเวร มีกรรม ยิ่งพูดนะบางทีมันทำให้เขายิ่งวิตกกังวลมากขึ้น เราจะพูดมันก็ต้องดูว่าคนนี้พูดได้หรือพูดไม่ได้

นี่ไงเวลาพระพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ท่านจะดูว่าจิตใจของคนมันพูดได้หรือพูดไม่ได้ ทำได้หรือทำไม่ได้ ไม่ใช่ว่าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ก็เหมือนปลาไง เอาสวิงช้อนเอาเลยนะ อู้ฮู ปลานี่เต็มสวิงๆ มันไม่ใช่อย่างนั้น ปลาเราช้อนตัวมันขึ้นมา แต่หัวใจปลาทุกตัวมันอยากจะลงน้ำ มันอยากจะไปตามธรรมชาติของมัน เราก็เอาสวิงไปช้อนมันมา เราได้แต่ตัวมันมา หัวใจเราไม่ได้หรอก แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล็งญาณก่อนนะ

จิตใจของคนนี้สมควรไหม? จิตใจคนละเอียดอ่อนไหม? จิตใจคนหยาบ ถ้าจิตใจคนหยาบท่านก็ไม่ไปพูดด้วย จิตใจคนละเอียดอ่อนท่านก็ไปเอาคนๆ นั้นก่อน นี่ไงเขาดูกันที่นั่น ย้อนกลับมาที่คำถาม

ถาม : เวลาจะสอนผู้เฒ่า ผู้แก่ ผู้ป่วยให้ปล่อยวางกายได้อย่างไร?

หลวงพ่อ : ก็ต้องค่อยๆ ปูพื้นฐาน นี่ไงพระพุทธเจ้าถึงบอกว่าถ้ามีสติปัญญา ให้เราทำคุณงามความดีของเรา ให้เราฝึกหัดปฏิบัติของเรา เวลามันไปเจอวิกฤติ โอ้โฮ ยิ้มเลยนะ อู๋ย รอตั้งนาน มาแล้วหรือ? มาแล้วก็เผชิญหน้าเลยนะ โอ๋ย ฝึกมาตั้งนาน นี่เจอวิกฤติจะได้รู้ว่าจิตใจนี้แข็ง ไม่แข็งไง มันเจอมันก็ยิ้มเลย แต่ถ้าเขาไม่ได้ฝึกมา นี่เราฟังตรงนี้แล้วเราถึงตั้งสติกัน ให้เรามีสติปัญญา มีสติแล้วเราฝึกฝนของเรา นี้พูดถึงผู้เฒ่า ผู้แก่เนาะ

เราจะบอกว่าผู้เฒ่า ผู้แก่เขาไม่ใช่วัตถุ ถ้าเป็นวัตถุเราก็จะจับพลิกคว่ำ พลิกหงาย ทุกอย่างเราก็ทำได้สมความปรารถนาเรา แต่จิตใจของคนมันไม่ใช่วัตถุ พูดอย่างหนึ่ง มันก็คิดอีกอย่างหนึ่ง ปรารถนาดีกับเขา เขาก็หาว่าไปจับผิดเขา จะไปสั่งสอนเขา เขาก็บอกว่าเที่ยวไปรังแกเขา นี่จิตใจของคนมันไม่ใช่วัตถุ ฉะนั้น เราก็ต้องดูตรงนี้ด้วย

นี่เรื่องเวร เรื่องกรรมมันเป็นอย่างนี้ แต่เราคิดกันนะ ธรรมะเป็นวิทยาศาสตร์ ธรรมะวิทยาศาสตร์ ทำไมจะช่วยไม่ได้ อู๋ย ต้องช่วยได้ เออ ไปช่วย เอ็งไปช่วยนะ เดี๋ยวจะตามไปดูว่าช่วยได้หรือเปล่า? แต่ถ้าเป็นธรรมะเขาเป็นเรื่องของความรู้สึก เป็นความนึกคิด มันเรื่องของใจไง ธรรมโอสถจะเข้าไปหล่อเลี้ยงหัวใจ ถ้าธรรมเหนือโลก จะให้จิตใจดวงนั้นพ้นจากกิเลส ถ้าฝึกฝน ใจเท่านั้น ความรู้สึกเท่านั้นจะพ้นจากกิเลสได้ ตำรับ ตำราต่างๆ มันเป็นวิธีการ เป็นคำสอน เป็นสิ่งชี้นำให้เราทำมุมานะ ถ้าทำตามนั้นได้ จะได้ตามนั้น

ถาม : ๕. ญาณทัศนะในแง่ของการปฏิบัติมีลักษณะอย่างไร? เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าญาณทัศนะนี้เกิดกับจิตแล้ว

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) ญาณทัศนะมีลักษณะอย่างใด? ยถาภูตัง เวลากิเลสมันขาดไปแล้ว กิเลสมันขาด เกิดญาณทัศนะว่ากิเลสขาด ฉะนั้น เวลาคนกิเลสมันไม่ขาด เวลาพิจารณาไปเราพิจารณาเป็นธรรม เราว่าสิ่งนี้เป็นธรรม แล้วมันเกิดญาณทัศนะไหม? มันเกิดมิจฉาทัศนะ มันเกิดมิจฉาทัศนะ เพราะมันยึดมั่นถือมั่นว่ากิเลสขาด มันไม่ใช่ฌานทัศนะ มันจะเป็นมิจฉาทัศนะ

ญาณทัศนะเกิดอย่างไร? มีลักษณะอย่างไร? มีลักษณะ เห็นไหม มีลักษณะที่ว่าเวลาคนรู้พูดไม่ได้ อะไรนะ คนรู้ไม่พูด คนพูดไม่รู้ คนรู้เขาไม่พูดหรอก คนรู้เรื่องญาณทัศนะ เรื่องต่างๆ เขายิ่งเก็บเงียบเลย หลวงตาเวลาท่านปฏิบัติจบแล้ว ท่านทอดธุระเลยนะ จะสอนโลกได้อย่างไร? จะสอนโลกได้อย่างไร? จนท่านใช้ปัญญาของท่านนะ อ้าว แล้วเรามาได้อย่างไรล่ะ? เราปฏิบัติอย่างไร? หลวงตาท่านปฏิบัติอย่างไรถึงเป็นอย่างนี้ล่ะ? อ๋อ ก็ข้อวัตรปฏิบัติไง เรามีข้อวัตร เรามีการปฏิบัติ มีหลวงปู่มั่นวางข้อวัตรไว้ หลวงปู่มั่นชักนำมาก็มาได้ไง แต่เวลาไปถึงที่สุดแล้วนะ จะสอนได้อย่างไร? จะสอนได้อย่างไร?

นี่ก็เหมือนกัน เวลาใครมีญาณทัศนะจะพูดกับโลกเขาอย่างไร? จะพูดอย่างไร? ถ้าพูดไปแล้วนะมันก็เหมือนที่ว่าเมื่อกี้นี้เป็นวัตถุหมด ถ้าเราบอกญาณทัศนะ เขาก็มีญาณทัศนะ นี่ญาณทัศนะ ใครลองพูดกับโยมสิ ผู้ที่ปฏิบัติเขาบอกญาณทัศนะ อ๋อ อย่างนี้หรือ? ฉันก็มี ฉันก็มี ถ้าไปบอกญาณทัศนะเขาทุกคนมีหมด แต่มิจฉาทัศนะ ไม่ใช่ญาณทัศนะ เป็นมิจฉาทัศนะ มิจฉาทั้งนั้น แต่ถ้าคนมีเขามีจริงนะ เพราะโลกรู้ได้-ไม่ได้ ถ้าคนมีจริงเขาถึงไม่พูดไง

คนมีจริงเขาจะกลับไปหาอาจารย์เขา เขาจะไปพูดให้อาจารย์เขาฟัง ถ้าอาจารย์เขาไม่รู้นะ แสดงว่าอาจารย์ไม่ถูกต้อง ถ้าอาจารย์ถูกต้อง พอพูดปั๊บอาจารย์นี่เพี๊ยะๆ เลย ญาณทัศนะจะพูดต่อผู้ที่มีญาณทัศนะด้วยกัน ผู้ที่มีญาณทัศนะ แล้วไปพูดกับคนที่ไม่รู้จักญาณทัศนะ เหมือนกับเราพูดกับเด็กน้อย พูดไปเถอะปากเปียกปากแฉะ เด็กมันจะร้อง อ๋อใช่ อ๋อใช่ แล้วเด็กมันก็จินตนาการของมันไป อ๋อ ญาณทัศนะเป็นอย่างนั้นใช่ไหม? เป็นแบบลูกโป่งเนาะ ที่มันลอยอยู่บนอากาศใช่ไหม? อ๋อ เป็นแบบบอลลูนๆ อ๋อ เป็นแบบเครื่องบิน ญาณทัศนะ ลองพูดออกไปสิ

นี่ไง “ญาณทัศนะมีลักษณะอย่างไร?” ก็มีลักษณะแบบลูกโป่งไง มันจะลอยขึ้นไป อ๋อ มันเป็นแบบฟองสบู่ไง ญาณทัศนะอะไร? ญาณทัศนะ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ผู้ที่สูงกว่า เขาควรรู้อะไรควรและอะไรไม่ควร เราพูดผู้ใหญ่กับเด็กนะ แต่ถ้าใจเรานี่จะบอกว่าคนพูดกับสัตว์ แต่สัตว์เลี้ยงนี่พูดมันยังรู้เรื่อง สัตว์ป่านี่พูดไม่รู้เรื่อง แล้วไปบอกญาณทัศนะ ญาณทัศนะอะไร?

ญาณทัศนะเอาอ้อยอันหนึ่ง อ้อยน่ะ เอาอ้อยดีกว่า ญาณทัศนะไม่เอา เหมือนไก่ได้พลอยไง เอาพลอย เอาเม็ดข้าวดีกว่า ญาณทัศนะไม่เกี่ยว เม็ดข้าวดีกว่า พอบอกญาณทัศนะ เงินร้อยหนึ่งดีกว่า ญาณทัศนะอะไรของเอ็ง? นี่ไงถ้าคนมีสติ มีปัญญา เราจะบอกว่าเดี๋ยวนี้โลกในการปฏิบัติดีมากๆ แต่ฟั่นเฟือน พูดจาเฉไฉ แล้วผู้ที่แสดงธรรม ผู้ที่เป็นหัวหน้าไม่รับผิดชอบ นี่ผู้ชนะสิบทิศทั้งนั้น เกร็ดประวัติศาสตร์ เกร็ดธรรมะ โอ้โฮ แต่งกันไปร้อยแปด มันไม่มีเหตุมีผลอะไรเลย

ถาม : ญาณทัศนะมีลักษณะอย่างใด?

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) แบบลูกโป่ง ลอยไปเลย

ถาม : เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าญาณทัศนะเกิดกับจิตเราแล้ว

หลวงพ่อ : สังเกตว่าอย่างใดล่ะ? คำว่าสังเกต คำว่าสังเกตนี่ดีมากนะ คำว่าสังเกตทำให้เรามีสติ เราบำรุงรักษาใจเรา ญาณทัศนะเวลามันเกิดขึ้น ถ้ามันเกิดมันเป็นความจริงของมัน มันสมุจเฉทปหาน เพราะมันต้องเกิดจากสมุจเฉทปหาน

พิจารณากาย เห็นไหม พอมรรคสามัคคี มรรครวมตัว พอมรรครวมตัวมันสมุจเฉทปหาน พอสมุจเฉทปหาน นี่กายเป็นกาย จิตเป็นจิต แยกออกเป็น ๓ ทวีป หลวงตาบอกแยกออกเป็น ๓ ทวีป แล้วจิตมันรวมลง พอจิตมันรวมลงขึ้นไปแล้ว มันรวมลงมันปล่อยหมด นี่ยถาภูตัง ยถาภูตังเลย มันสัมปยุตเข้าไป พอสัมปยุตคือมันกลืนทำลายจิตเข้าไป สัมปยุตเข้าไป แล้วมันวิปปยุตคลายตัวออกมาล่ะ? คลายออกมาเป็นจิตเราล่ะ?

นี่สัมปยุตเข้าไปนะ มันสัมปยุต มันมรรคสามัคคี มรรครวมตัว มรรคสมุจเฉทปหานทำลายกิเลสทั้งหมดเลย แล้วมันคลายตัวอย่างไร? เออ (หัวเราะ) พอมันคลายตัวออกมา นี่ยถาภูตัง สัมปยุตเข้าไป วิปปยุตคลายตัวออกมา เกิดอะไร? เกิดทัศนะอย่างใด? (หัวเราะ) เกิดลูกโป่งลอยมากี่ลูก? มีบอลลูนมาด้วย

เพราะว่าสิ่งที่มันเป็นธรรมมันก็เป็นธรรม ฉะนั้น สิ่งที่เป็นธรรม เห็นไหม เพราะว่ายถาภูตัง ญาณทัศนะมันอยู่ในธัมมจักฯ อยู่ในอาทิตตปริยายสูตร อยู่ในอนัตตลักขณสูตรต่างๆ อยู่ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาปฏิบัติไป ถ้าเรารู้จริง เห็นจริงมันเป็นอันนั้นแหละ แต่ทีนี้เรารู้ยังไม่ได้จริง เรายังเห็นไม่ได้จริง แต่เราก็อาศัยเอาคำสิ่งนั้นแล้วก็มาอ้างอิงกัน เอามาเสริมกิเลส เอามาเสริมทิฐิมานะ เอามาเสริมการปฏิบัติของคนๆ นั้น

แล้วคนๆ นั้น ในการประพฤติปฏิบัติธรรมะมันมีแต่การอ่อนน้อมถ่อมตน อ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อให้จิตของเรามันสมดุล เพื่อให้มันมีความเป็นไป เพื่อให้มันเป็นการต่อสู้กับกิเลส แต่ถ้ามันเกิดเอาญาณทัศนะ เอาสิ่งนั้นมาส่งเสริมความเห่อเหิมของใจ นี่เอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาส่งเสริมทิฐิมานะ แล้วว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม แล้วแอบอ้าง ต้องการให้ทุกคนยอมรับสิ่งนั้น แล้วธรรมะมันต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ทำไมต้องให้ใครยอมรับล่ะ? ในเมื่อเราทุกข์อยู่ เรามีกิเลสอยู่ ทุกข์จะเป็นจะตาย ต้องให้ใครมายอมรับเรา? แล้วเวลาสุขขึ้นมา มันสุขขึ้นมามันก็สุขในหัวใจของเรา ต้องให้ใครมารับรู้กับเรา?

สิ่งที่มันเป็นความจริง มันก็เป็นความจริงในใจนั้น สิ่งที่เป็นความจริง แล้วนี่พอเป็นความจริงขึ้นมาก็เป็นร่มโพธิ์ ร่มไทรของพวกเรา พวกเรามีครู มีอาจารย์เป็นร่มโพธิ์ ร่มไทร พอร่มโพธิ์ ร่มไทร สิ่งใดถูกต้อง สิ่งใดผิด ครูบาอาจารย์ก็คอยบอก คอยชี้แนะเรา เข้าไปเผชิญหน้าก็คุยกับท่านสิ ไปหาอาจารย์แล้วก็ไปนั่งอยู่นู่นชายขอบเลยนะ แล้วก็ตั้งจิตเลยนะ ตั้งจิตถามเลยนะ แล้วท่านเทศน์ก็ตอบมาถูกต้องๆ

แม้แต่เข้าไปหาอาจารย์ก็ยังไม่กล้าเข้าไปหาท่าน เวลาไปหาอาจารย์ก็ยังไม่กล้าไปบอกเลยว่ามีญาณทัศนะอย่างใด? มีลูกโป่งกี่ใบ? มีบอลลูนกี่ใบ? ก็ไม่กล้าขึ้นไปคุยกับท่าน แล้วมันจะเกิดเป็นญาณทัศนะอะไร? ถ้าเกิดเป็นญาณทัศนะ แม้แต่ความจริงก็ยังไม่กล้าพูด ไม่กล้าคุยกับใคร? มันจะเป็นญาณทัศนะมาจากไหน?

ถ้ามันญาณทัศนะ เห็นไหม ดูสิหลวงตาท่านบอกว่าถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา ท่านจะกล้าเข้าสังคมทุกสังคม แล้วสิ่งที่เป็นธรรมขึ้นมา เวลาธัมมสากัจฉาเป็นธรรมขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์ใช่ไหม? เวลาวิสัชนาธรรมะกัน แล้วผู้ฟัง เวลามีคนออกจากป่า จากเขามาไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นจะถามปัญหา แล้วให้ตอบปัญหาเป็นส่วนบุคคลก่อน แล้วท่านให้รวมพระเลย แล้วท่านเทศน์เลย เพราะเอาเหตุของพระองค์นั้นเป็นประเด็น แล้วเทศน์สอนหมู่พระ หมู่พระจะดี ปลื้มใจมากว่าจะได้ธรรมะ ได้ทุกอย่างมากับเรา

ฉะนั้น ญาณทัศนะ นี่ว่า “ญาณทัศนะเกิดขึ้นมาอย่างไร? เกิดกับจิตอย่างไร?”

เราไม่ต้องไปขวนขวายหรอก ไม่ต้องไปขวนขวายหา ไปหาที่ไหนก็ไม่เจอหรอก เวลามันเกิดมันเกิดกลางหัวใจเรานั่นล่ะ เวลาทุกข์ก็ทุกข์ที่ใจ เวลามันเป็น ใจมันเป็นขึ้นมามันก็จบที่นั่น ธรรมะ เห็นไหม ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกอยู่ที่ใจของเรา

จะบอกว่าอย่าเชื่อคนโฆษณาชวนเชื่อนะ อย่าเชื่อ คนที่เขารู้จริงเขาไม่พูด เขาจะพูดต่อเมื่อมีความจำเป็น คนที่ไม่รู้จริงที่เขาโฆษณาชวนเชื่อกันอยู่นี่อย่าไปเชื่อเขา อย่าไปเชื่อเขา แล้วเรากลับมาประพฤติปฏิบัติของเราเอง นี้คือ “นิโรธสมาบัติ” เอวัง