ยาขม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์พระ วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
พูดถึงโลก โลกนะ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์อยู่คนเดียวไม่ได้ ถ้าอยู่คนเดียวนะก็อยู่สมัยยุคดึกดำบรรพ์ ยุคดึกดำบรรพ์มนุษย์ต้องหาอาหารเอง ต้องอาศัยอยู่ด้วยตัวเอง ทุกอย่างเอง เป็นยุคมนุษย์ถ้ำ แม้แต่กินอาหารยังอาหารดิบๆ เลย แต่มันพัฒนามาเรื่อย พัฒนามาเรื่อย แล้วสุดท้ายเราจะกลับไปอยู่มนุษย์ถ้ำได้อย่างไร
สิ่งต่างๆ ในเมื่อโลกมันก็คือโลก มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แม้แต่สังฆะเรา นี่บุคคลอุโบสถ ถ้าอยู่คนเดียวนะบุคคลอุโบสถ ถ้าอยู่ ๒ องค์ หรือ ๓ องค์ขึ้นไปเรียกว่าคณอุโบสถ เป็นคณะ ถ้า ๔ องค์ขึ้นไปเรียกสังฆอุโบสถ เป็นสงฆ์ เป็นสังฆะขึ้นมา
ถ้าเป็นสังฆะวินัยบังคับแตกต่างกันมา บุคคลทำได้บุคคล แต่เวลาเป็นคณะล่ะ เราต้องมีความเกรงอกเกรงใจกัน เพราะคณะ ใจเขาใจเรานะ สังฆะล่ะ ถ้าของของสงฆ์ ของของบุคคลคือคณะไง บุคคลไง มีในพระไตรปิฎก ในทางหน้าที่มี แต่ถ้าเป็นสังฆะล่ะ พอเป็นสังฆะแล้วมันเป็นสงฆ์
คำว่า เป็นสงฆ์ ของส่วนกลาง ของส่วนรวม แล้วเราใช้ด้วยกัน เราอยู่ด้วยกัน เหมือนร่างกายมนุษย์ ร่างกายมนุษย์ ดูสิ แม้แต่พิการ แม้แต่ปลายประสาทมันไม่ทำงาน ปลายประสาทมันเริ่มชา เริ่มหมดอายุขัยการใช้งานของมัน มันเริ่มไม่ฟังคำสั่ง สมองสั่งแล้วมันไม่ทำ มันทำมันไปไม่ได้ของมัน มันก็รู้สึกว่าเฉื่อยชา รู้สึกว่าอึดอัดขัดข้องไม่ได้ดังใจ
แต่ถ้าเวลามันเส้นเลือดสมองอุดตันล่ะ มันทั้งซีกเลยนะ ซีกหนึ่งของร่างกายมันไม่ตอบสนองในการบังคับบัญชาเลย อีกซีกหนึ่งทำงานอยู่ นี่สังฆะ สังฆะหมายถึงคณะบุคคลในในสังฆะนั้น ถ้ามีการกระทบกระเทือนกัน ซีกหนึ่งยังทำงานได้ อีกซีกหนึ่งมันไม่ทำงานเลย ในเมื่อร่างกายมนุษย์มันยังมีการขัดแย้งกันในบุคคลคนเดียว สังฆะความเป็นอยู่ของเรา เราจะต้องสะเทือนกัน มันสะเทือนกัน
เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ทัพพีขวางหม้อ ในหม้อนี่ทัพพีนั้นเป็นประโยชน์สำหรับตักอาหารไว้แจกกัน แต่คนที่มาใช้ประโยชน์นั้นเขาได้รสชาติจากอาหารนั้น ทัพพีมันอยู่ในหม้อ มันจะไม่ได้รสอาหารนั้นล่ะ สิ่งที่เป็นความจริงมนุษย์เป็นสัตว์สังคม แล้วเราอยู่กับโลกมา เราเกิดเป็นมนุษย์ เราเห็นภัยในวัฏสงสารนะ ผู้ที่บวชเรียนคือเห็นภัยในวัฏสงสาร
ดูสิ วันคืนล่วงไปๆ มีความขยันหมั่นเพียร มีความมุมานะ มีการทำหน้าที่การงาน สุดท้ายแล้วนะ หัวใจมันว้าเหว่นะ ในสโมสรสันนิบาตทุกดวงใจว้าเหว่ จะมีความสุขรื่นเริงขนาดไหน ดูสิ ตระกูลใหญ่ๆ เขาถึงเวลาแล้วถึงนักขัตฤกษ์ของเขา ตระกูลเขาร่วมกัน เขามีความสุขของเขา แล้วทุกคนก็ต้องแยกย้ายกันไปนะ เวลาไปส่ง ส่งคนนั้นขึ้นรถ ส่งคนนี้ขึ้นรถ แล้วตัวเองไปไหน? กลับไปนั่งคอตกไง นี่ไง ในสโมสรสันนิบาตทุกดวงใจว้าเหว่
เพราะเราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราถึงมาบวชมาเรียนกัน เวลาเรามาบวชมาเรียน เราจะต้องเข้มแข็งของเรา เพราะเราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราเห็นภัยในการดำรงชีวิตนั้น ดำรงชีวิตด้วยการทำคุณงามความดีนี่ผลของวัฏฏะ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีสิทธิตามความเป็นมนุษย์ของเราอยู่แล้ว ความเป็นมนุษย์ ดูสิ บอกว่า ในรัฐธรรมนูญเขาเขียนสิทธิความเป็นมนุษย์ มีสิทธิความเป็นมนุษย์ต้องมีเสรีภาพ ต้องมีอะไรต่างๆ แล้วเราก็เรียกร้องกัน แต่เราไม่ได้คิดหรอกว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม ในเมื่อสัตว์สังคมมันต้องอยู่ร่วมกัน การอยู่ร่วมกันมันก็ต้องมีการกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา ในเมื่อมีการกระทบกระทั่งกัน ถ้าจิตใจของเราเป็นธรรม เรามีสติปัญญาของเรา
หวานเป็นลม ขมเป็นยานะ เวลาเยินยอ เวลาสรรเสริญเยินยอ นี่หวานเป็นลม ทุกคนก็ต้องมีคำพูดที่รื่นชื่นหูชื่นใจ คำพูดถ้ามันปลอบประโลมนะ มันก็เหมือนโคนันทวิสาล ถ้าพูดดีกับเขาเขาก็ลากเกวียนไปให้ ถ้าพูดไม่ดีกับเขา เขาน้อยใจ เขาก็ไม่ทำ เขาก็ไม่ลากให้ เขาไม่ลากเกวียนไปแพ้การพนันนะ แต่เขาลากเกวียนไปให้ได้ชนะนะ ต้องพูดคำไพเราะเพราะพริ้งกับเขา
นี่ก็เหมือนกัน หวานเป็นลม ขมเป็นยา ขมเป็นยา ดูสิ ข้อวัตรปฏิบัติของเรานี่ขมเป็นยา มันเป็นยา มันเป็นยารื้อยาถอนไง มันเป็นยา ดูบอระเพ็ด พระเรานี่เราเคยอยู่ในหมู่คณะ เขาอมบอระเพ็ดกัน พออมบอระเพ็ดแล้วร่างกายจะแข็งแรง มันไปลดความดัน ลดต่างๆ ทุกอย่างจะเข้มแข็งหมดเลย อมบอระเพ็ดขมมาก บอระเพ็ดนี่ตากให้แห้งแล้วฝานเป็นแว่นๆ ไว้ ใส่ขวดไว้ เวลาเราก็อมกัน แล้วก็เอาไปบดเป็นผง บดผงไว้ทำไม? ไว้ชงกับน้ำไว้ฉัน ชงกับน้ำไว้ฉันแทนใบชา นี่ขมมาก แต่พระฉันทุกวันๆ ฉันจนเป็นเรื่องปกติเลย นี่ขมเป็นยา แล้วร่างกายสะดวกสบาย ร่างกายเข้มแข็ง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มันขมเป็นยา
แต่คนเวลาหวานเป็นลมนะ กินแต่ของหวาน มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข มีแต่ความพอใจนะ เวลาเจอ โอ้โฮ! ขมมาก หน้าบิดหน้าเบี้ยวเลย โอ้ ไม่ไหว ไม่ไหว ไม่ไหว เพราะมันขมมาก แต่ผู้ที่เขาฉันอยู่ทุกวันๆ มันเหมือนน้ำชา ฉันจน โอ้! มันเป็นของดีไปหมดเลย หวานเป็นลม ขมเป็นยา
ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าเรามีสติของเรา บังคับของเรา นี่ยาขม ยาขมนะ แต่มันจะทำให้เราดีขึ้น ยาขมจะทำให้จิตใจนี้เข้มแข็งขึ้น จะทำให้เรามีสติปัญญามากขึ้น แล้วมันจะรั้งไว้ รั้งความรู้สึกนึกคิดของเราไว้ไง นี่ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร เราจะมีปัญญารอบรู้ในกองสังขาร สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง แต่เป็นยารอบรู้ มันควบคุมความรู้สึกนึกคิดของเรา เอาความรู้สึกนึกคิดของเราไว้ในอำนาจของเราไง
ในการประพฤติปฏิบัตินะ เอาใจไว้ในอำนาจของเรา ถ้าเอาใจไว้ในอำนาจของเรา ทำอย่างไรมันถึงอยู่ในอำนาจของเราล่ะ? เราอยู่ในปัจจุบันนี้มันไม่อยู่ในอำนาจของเรา แล้วชอบ กิเลสมันชอบ ชอบของหวาน ชอบความชื่นใจ ชอบความจรรโลงใจ ชอบการเยินยอ ชอบอย่างนั้น ชอบของหวาน แล้วก็เสาะแสวงหากัน นี่มารยาทสังคมเขาเป็นอย่างนั้นนะ
เวลาพูดบอกล่าวถึงความเป็นจริงกัน ไม่ได้ เสียมารยาท แต่ถ้าหลอกกัน นู่นก็ดี นี่ก็ดี ถ้าหลอกกันน่ะ มารยาทสังคมนี่หลอกกัน หลอกแต่เรื่องดีๆ พูดแต่สิ่งที่ปลุกเร้าประโลมใจ สิ่งที่เห็นเป็นของดีๆ หลอกกันน่ะ นั่นมารยาทสังคม แต่ถ้าบอกถึงความบกพร่องกันนี่ ไม่ได้ เสียมารยาท แล้วเราก็อยู่กันอย่างนั้น แม้แต่เป็นทางโลก
แต่ถ้าเป็นทางธรรมล่ะ ทางธรรม เห็นไหม ใครชี้ขุมทรัพย์ให้เราได้ ความผิดพลาดของเรา ใครบอกกล่าวเราได้ สิ่งนั้นจะให้เราได้แก้ไขนะ สิ่งที่มันเคยนี่จริตนิสัย มันเคยทำจนเคย ทำจนเคยนะ จนเราว่าไม่ใช่ความผิดเพราะเคยชิน แต่ถ้าคนที่ไม่เคยทำสิ่งนั้นมันทำได้อย่างใด ถ้าทำไม่ได้นะ เราต้องมีสติปัญญาของเรา นี่เปลี่ยนแปลง
เราถึงได้พูดบ่อยมากว่า ร่องน้ำมันไปทางนั้น น้ำก็ไหลไปทางนั้น เห็นไหม ในแม่น้ำ ในร่องน้ำต่างๆ แต่มันใช้เวลามากเท่านั้นเองที่มันเปลี่ยนกระแสน้ำ กระแสน้ำนี่มันเปลี่ยนแปลงของมันนะ มันกัดเซาะจนมันเปลี่ยนแปลงทางไหลของมัน ขนาดกระแสน้ำมันยังเปลี่ยนแปลงทางเดินของมันได้
นี่ทำอยู่ทุกวัน คิดอยู่ทุกวัน ทำอยู่ทุกวัน ทำจนสิ่งที่สังคมเขามันสะเทือน จนมันเป็นของถูกต้องไป ถูกต้องเฉพาะคนทำนะ แต่สังคมไม่ถูกต้อง สังคมนี่โดนกระทบกระเทือนมาก แล้วกระทบกระเทือนมาก แล้วเขาบอกเรานะ แล้วมีใครบอกเรา ถ้าบอกเรานี่เขาบอกขุมทรัพย์ให้เรา นี่กระแสน้ำมันยังเปลี่ยนแปลงได้ แล้วพฤติกรรมของเรามันจะเปลี่ยนแปลงไหมล่ะ พฤติกรรมนี่ พฤติกรรมของเรา ถ้าเราเปลี่ยนแปลงนี่เราจะควบคุมของเราได้นะ
พฤติกรรม เห็นไหม ทำทุกวันๆ กระแสน้ำมันไหลทุกวัน ไหลลงร่องทางนั้น ทีนี้ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราจะเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำของเรา เราจะเปลี่ยนแปลงทางจิตใจของเราที่มันแสดงออก ถ้ามันแสดงออกนี่เราเปลี่ยนแปลงของเรา ถ้าทำอย่างนี้มันต้องมีความตั้งใจไหม ต้องมีการบังคับตัวเองไหม นี่ขมเป็นยา การบังคับขู่เข็ญ การกระทำนี่ขมทั้งนั้นน่ะ ถ้าไม่มีสัจจะ ไม่มีความจริง ไม่มีการกระทำของเรา
เขาบอกว่า ปฏิบัติธรรมต้องมีความสุขสิ ปฏิบัติธรรมต้องมีความรื่นเริงสิ
นั่นมันเป็นความเพ้อฝันของโลกเขา มันเป็นความเพ้อเจ้อ เพราะโลกเขาจินตนาการเอาไง ดูสิ เวลาเราร้อนมาเราได้ดื่มน้ำเย็น เราได้สิ่งใดที่ประโลมใจให้เรามีความสุข นั่นก็เป็นธรรมๆ ใช่ไหม? มันก็ใช่ แต่มันไม่ใช่ทางโลก มันของชั่วคราว มันไม่ใช่ทางโลก ถ้าเป็นทางธรรมสิ่งที่ว่าร้อนมาเราต้องการความเย็น แต่ความเย็นมันเกิดจากอะไร ความเย็นมันต้องมีที่มาที่ไปสิ
เวลาเราเกิดมานี่อวิชชาพาให้เราเกิดขึ้นมา ด้วยความไม่รู้ของเราสร้างเวรสร้างกรรมขึ้นมา บุญกุศลเท่านั้นที่ทำให้เกิดมาเป็นมนุษย์นะ เวลาบาปอกุศลมันเกิดในนรกอเวจี เกิดในสัตว์ต่างๆ เกิดมาแต่เวรแต่กรรม นั่นใครทำมา มันต้องเกิดของมันอยู่แล้ว จิตมันมีอวิชชา มันมีอนุสัยของมัน มันมีตัณหาความทะยานอยากมันขับดันของมัน มันต้องไปตามวัฏฏะ ผลของวัฏฏะไง การเกิดเป็นมนุษย์นี่ผลของวัฏฏะ วัฏฏะ-วิวัฏฏะ ผลของวัฏฏะ วัฏฏะมันเกิดขึ้นมาแล้วมันเป็นเวรเป็นกรรมของมัน มันต้องมีของมัน แรงขับดันของมัน มันมาของมันโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว
เวลาเราเกิดมาเรารับรู้ของเรา มันเป็นจริตเป็นนิสัย แล้วเรามาศึกษาธรรม เกิดมาในสังคมมีวาสนามากๆ ดูสิ ถ้าเป็นเด็กๆ โอ้โฮ! ดูสิ ชาวบ้านเขาทำมาหากินกัน ต้องลงทุนลงแรงขนาดนั้น พระเขาทำอะไรกันน่ะ เรามีหญิงมีชาย เพศไง เพศของคฤหัสถ์ มีหญิงมีชาย เพศของนักบวช พระก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งแล้วเป็นเพศของพระ ถ้าเราเป็นเด็ก เด็กมันมีความสนใจมีความรู้สึกนึกคิดนะ นี่ไง โลกเขาต้องแสวงหากันเพื่อความอยู่ในสังคมของเขา เพื่อชาติตระกูลของเขา แล้วหัวโล้นๆ ห่มผ้าเหลืองเขาทำอะไรกันน่ะ เขาทำอะไรกัน?
มันได้คิดนะ ถ้ามันได้คิดมันก็ได้หาทางออก เราจะใช้ชีวิตอย่างไร เราจะใช้ชีวิตทางโลกใช่ไหม ถ้าทางโลกมันก็ทุกข์ร้อนกันอยู่อย่างนี้ แล้วชีวิตทางธรรมล่ะ เห็นไหม ทางธรรม โลกเขาบอกว่าอยากจะประพฤติปฏิบัติ ทุกคนเวลามีสติปัญญาที่ดีนะอยากจะพ้นจากทุกข์ เรื่องการเกิดเป็นทุกข์มากไม่อยากเกิด อยากจะไปนิพพานทั้งนั้นน่ะ นี่มีความคิดอย่างนั้น แล้วเวลาเห็นภัยในวัฏสงสารแล้วบวชมาแล้วทำอย่างไรต่อ ถ้ามีความคิดอย่างนั้นมันก็ต้องมีความเข้มแข็ง มีความจริงจัง ถ้ามีความเข้มแข็ง มีความจริงจัง สิ่งที่มันจะกระทำแบบนี่
พระบวชใหม่ สิ่งที่พระบวชใหม่ทนได้ยากคือคำสอนไง คำสอนในหมู่คณะ ในสังคมสงฆ์ คำสอนนี่พระบวชใหม่ทนได้ยาก ทนได้ยากเพราะเวลาเป็นฆราวาสสิทธิเสมอภาค ทำสิ่งใดก็ได้ ไม่ผิดกฎหมาย ทำสิ่งใดก็ได้ แต่ถ้าลองเป็นพระขึ้นมามันไม่ได้ ไม่ได้เพราะเหตุใด ไม่ได้เพราะสัปปายะ ๔ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์ท่านทำอย่างใด ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์ท่านวางตัวอย่างใด หมู่คณะเป็นสัปปายะ นี่มันสะเทือนกันแล้ว นี่หมู่คณะเป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นที่ดีไหม หมู่คณะที่เป็นสัปปายะ สัปปายะนี่เขาให้โอกาสกัน เขาคอยบอกกัน แม่น้ำจะไหลไปทางเดียวกัน เขาจะไม่แตกสาย ไม่กัดเซาะ ไม่ทำให้ตลิ่งพัง ถ้าตลิ่งพังทำให้น้ำมันเกิดคลื่น น้ำต่างๆ มันกระเทือนกันไปหมด หมู่คณะเป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ ฉันแล้วนั่งสะดวกสบายไหม ฉันแล้วไม่เป็นโรคเป็นภัย อาหารเป็นสัปปายะ แล้วสถานที่เป็นสัปปายะล่ะ นี่สัปปายะ ๔
พอเราบวชมาแล้ว สิ่งที่ว่าทนได้ยาก ทนได้ยากเพราะอะไร
ไม่เห็นทำอะไรผิดเลย แล้วผิดตรงไหน?
ผิดตรงเสียงดังไง นี่หมู่คณะเป็นสัปปายะ หมู่คณะเขาสะเทือน ถ้าหมู่คณะเขาสะเทือน เราทำให้เขาสะเทือนใช่ไหม ดูสิ ในร่างกายของเรา เวลาเนื้อร้ายเขาต้องคีโมนะ ฆ่ามันๆ ฆ่าเนื้อร้ายในร่างกายนั้น เม็ดเลือดมันจะทำให้เสียหาย ถ้าสิ่งใดเขาต้องผ่าตัดเขาต้องเปลี่ยนอวัยวะเลย นี่ในร่างกายเขายังเห็นว่าเป็นโทษ
แล้วเราอยู่ในสังฆะ บอกว่า ไม่ผิด ก็เสรีภาพ มันจะผิดตรงไหน มันจะผิดอะไร ไม่เห็นผิดอะไรเลย
นี่มันไม่ผิดทางโลก เพราะเราเห็นภัยในวัฏสงสารใช่ไหม พอเวลาบวชเข้ามาสัปปายะ ๔ เขาต้องสงวนสิ่งนี้ไว้เพื่อเอื้อต่อคนที่เขาอยากประพฤติปฏิบัติ เอื้อกัน เห็นไหม คำว่า เอื้อกัน ถ้ากระเทือนกัน เวลาปวดฟัน ใครปวดฟันบ้างล่ะ เวลาปวดฟันนี่โอ้โฮ! มันปวดฟันๆ นี่เหมือนกัน เวลามันกระทบกระเทือนกันไปแล้วมันก็เหมือนปวดฟัน นี่มันกระเทือนใจนะ
พอมันปวดฟันนะ ใครปวดฟัน?
ไอ้คนไม่ปวดบอก อืม! มันเป็นอย่างไร ปวดฟันเป็นอย่างไรไม่รู้จัก โอ๊ย ปวดฟันไม่เคยมี ไอ้คนปวดฟันๆ เกือบตาย คนที่โดนกระทบมันไปนั่งพุทโธๆ นี่มันกระเทือนเกือบตาย ไอ้คนที่ไม่โดนกระทบน่ะ อืม! ไม่เห็นเป็นไร ไม่เห็นเป็นไร ไอ้คนปวดฟันมันปวดอยู่นั่น ไอ้คนที่มันโดนกระทบไปแล้วมันทำใจมันไม่ลง มันพยายามทำใจของมัน ทำใจเพราะอะไร เพราะเราอยากจะเอาใจไว้ในอำนาจของเราไง
ในการประพฤติปฏิบัติ เราต้องเอาใจไว้ในอำนาจของเรา สมถกรรมฐาน ถ้าฐานที่ตั้งแห่งการงาน ถ้าจิตมันสงบเข้ามามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เราจะใช้ปัญญาของเรา นี่งานของพระของเรา ถ้างานของเรานี่ยาขมทั้งนั้นน่ะ ยาขม ถ้ามันกินยาขมแล้ว ข้อวัตรปฏิบัติเราปฏิบัติ เราทำของเราจนเป็นความเคยชิน จนเรามีรากมีฐานของเรานะ เวลาผลมันตอบสนองขึ้นมา กลิ่นของศีลจะหอมทวนลม คนๆ นั้นเป็นคนดี คนๆ นั้นเขาทำแล้วไม่กระเทือนใคร คนๆ นั้นเป็นคนที่ดี แล้วที่ดีแล้วนะ คนๆ นั้นเขาภาวนานะ เขาภาวนาทั้งวันทั้งคืนเลยนะ เขาทำของเขาแล้วเขาได้ผลของเขา จะได้ผลของเขาเพราะเหตุใด?
ได้ผลของเขาเพราะถ้าจิตของเขาสงบ เขาจะมีความร่มเย็นในใจของเขา ถ้าใจของคนร่มเย็น เขาจะไม่ทำให้คนอื่นสะเทือนเด็ดขาด เพราะสิ่งที่เราปรารถนา เราปรารถนาความสงบสงัด เราปรารถนาความร่มเย็นเป็นสุขของเรา ถ้าเราปรารถนาอย่างนี้ คนที่จิตสงบได้เขาต้องภาวนาพุทโธ เขาต้องมีปัญญาอบรมสมาธิ เขาต้องทำใจของเขาให้สงบร่มเย็นได้ การทำใจให้สงบร่มเย็น คนทำได้นี่มันสาหัสสากรรจ์แค่ไหน คนที่ภาวนาเป็นเขาจะรู้ว่าสิ่งที่เป็นมันมาจากอะไร
ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ จิตที่มันสงบได้มันต้องมีการกระทำมันถึงจะสงบได้
ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ไปดับที่เหตุนั้น ฆ่าก็ฆ่าที่เหตุนั้น ทำลายก็ทำลายที่เหตุนั้น แล้วถ้าจิตนั้นเขาได้ทำความสงบร่มเย็นของเขา เขาได้ผ่านเหตุนั้นมา เขาจะรู้ว่ามันวิกฤตขนาดไหน เขาจะไม่ทำให้คนอื่นสะเทือนให้เสียสิ่งที่ทำให้จิตใจเข้าไปสู่ธรรมนั้นเด็ดขาด
ฉะนั้น ถ้าใจของใครที่เขาได้ทำความสงบร่มเย็นของเขา เขาจะไม่ทำให้คนอื่นสะเทือน เพราะเขารู้ว่าการสะเทือนนั้นเขาได้รับความสะเทือนนั้นมาแล้ว เขามีความกระเทือนใจเขาขนาดไหน แล้วเขาพยายามบังคับ พยายามตั้งสติของเขา เพื่อทำใจของเขาให้สงบ เขาลงทุนลงแรงไปขนาดไหน ถ้าเขาลงทุนลงแรงขนาดไหน คนที่เคยผ่านวิกฤตมาเขาจะเห็นใจกัน พอเขาเห็นใจกัน เขาจะเปิดช่องทางให้กัน เขาจะเปิดโอกาสให้คนอื่น ฉะนั้น เวลาใครเตือนกันแล้วเขาจะยอมรับฟังไง
แต่ถ้าจิตของเราไม่เคยสงบ จิตเราปฏิบัติของเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ของเรา ไม่เห็นเป็นไร ไม่เห็นเป็นไร เห็นไหม นี่พระใหม่ พระใหม่ฟังคำสอนทนคำสอนได้ยาก แต่ถ้าเวลาพระเก่าขึ้นมา เพราะรู้เหตุรู้ผล พอรู้เหตุผลมันทนได้ มันมีเหตุมีผลไง มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่เพราะเราไม่คุ้นเคย เพราะเรานิสัยของฆราวาส นิสัยของความเป็นมนุษย์ นิสัยของความอยู่สังคมมันเคย พอจะมาจำกัด มาอยู่ในสังคม เห็นไหม บุคคลอุโบสถ คณอุโบสถ สังฆอุโบสถ
พอเราอยู่ในสังคม ในสังฆะ ในคณะ ในบุคคล บุคคลที่เขาทำความสงบของใจ บุคคลที่เป็นคณะที่เขาดูแล สังฆะที่เขาปฏิบัตินะ ทำไมมีวัดปฏิบัติมีวัดบ้านล่ะ วัดปฏิบัติเขามีไว้ทำไม มันก็ประกาศว่าวัดปฏิบัติ วัดปฏิบัตินี่เขาจะทำให้กระทบกระเทือนกันเหรอ วัดปฏิบัติเขาทำให้เสียงดังสนุกๆ กันใช่ไหม วัดปฏิบัติเป็นอย่างนั้นเหรอ วัดปฏิบัติเขาก็ต้องการความสงบสงัดกันเป็นธรรมดา วัดปฏิบัติมันก็ประกาศตัวมันเองอยู่แล้ว
อย่างเช่น เราเป็นพระ เราตั้งใจบวชเป็นพระ เราได้ห่มผ้าเหลือง เวลาที่เขาไม่ได้บวชนะ แต่เขาจะหาผลประโยชน์จากศาสนา เขาโกนหัวเอง เขาห่มผ้าเหลืองเอง เขาไปออกบิณฑบาต ออกไปเรี่ยไร ตำรวจจับน่ะ ตำรวจจับเพราะอะไร เพราะเขาแต่งตัวเลียนแบบไง เขาไม่มีสิทธิห่มผ้าเหลืองแต่เขาเลียนแบบ เขาหลอกลวงประชาชน เขาโดนตำรวจจับ
แต่ของเรา สิทธิของเราเราบวชเป็นพระ เพราะเราพอใจ เพราะเราตั้งใจบวชของเรา เรามีอุปัชฌาย์บวชของเราขึ้นมา เราตั้งใจของเราขึ้นมา ได้สถานะนี้ขึ้นมา แต่คนที่เขาแสวงหาแต่ผลประโยชน์เขาไม่บวชพระ แต่เขาโกนหัวของเขา เขาก็ห่มผ้าของเขา เขาก็ออกหาผลประโยชน์ของเขา นี่แจ้งตำรวจจับ เขาติดคุก แต่งกายเลียนแบบภิกษุ นี่เขาไม่มีสิทธิการแต่งใช่ไหม
แต่พวกเราเห็นภัยในวัฏสงสารใช่ไหม เราถึงบวชมาเป็นพระ ถ้าเราบวชมาเป็นพระแล้ว เราต้องมีความเข้มแข็งของเรา พอมีความเข้มแข็ง ดูสิ เวลาโลกเขาเขาต้องทำมาหากินของเขา เขาแสวงหาของเขา แล้วเขาอยากได้บุญของเขา เขามีเสียสละของเขาเพื่อบุญกุศลของเขา เขาอยากจะสนับสนุน อยากจะเชิดชูพระปฏิบัติผู้ที่เป็นนักรบที่จะต่อสู้กับกิเลส เราบวชมาเป็นพระได้ใช้ได้สอย ได้ดำรงชีวิตจากปัจจัยเครื่องอาศัยที่เขาหวังผลประโยชน์ เขาหวังบุญกุศลของเขา เราได้ใช้ปัจจัยเครื่องอาศัยจากที่เขาเสียสละมา แล้วเราจะทำตัวของเราอย่างใดสมกับที่เขาปรารถนา สมกับที่เขาตั้งใจ เขาตั้งใจนะ ในสังคมทุกคนส่งเสริมศาสนา ทุกคนอยากให้ศาสนาเข้มแข็ง ทุกคนอยากให้ศาสนามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา ทุกคนพยายามช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือ
แต่ของเราเป็นพระ เราเป็นนักบวช เราเป็นนักรบ เราเป็นผู้ที่เข้าสู่ชัยศาสนา เราจะมีอะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์ล่ะ เรามีอะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์เป็นการชี้บอกกล่าวว่า สิ่งนั้นเป็นความถูกต้องดีงาม แล้วสิ่งนั้นเป็นหลักเป็นเกณฑ์ด้วยความถูกต้อง ถ้าเราอยากจะมีหลักมีเกณฑ์ของเราในความถูกต้องขึ้นมา เราต้องพิสูจน์ให้มันรู้จริงขึ้นมาในหัวใจของเรา ถ้ามันจะรู้จริง มันรู้จริงเพราะเหตุใดล่ะ
ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เราต้องสาวไปที่เหตุนั้น ตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนา ทางโลกเขา แต่เป็นพระเรา ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเรามีแล้วเรารักษาศีลของเรา ถ้าศีลของเราปกติ ถ้าเขาบอกกล่าวศีลอย่างหยาบ ศีลอย่างกลาง ศีลอย่างละเอียด นี่เวลาเขาอาราธนาศีล ศีลเกิดจากวิรัติเอา ศีลเกิดจากอธิศีล เกิดจากความเป็นปกติของมันเป็นความเป็นจริง นี่ศีลของใคร ศีลขั้นไหนล่ะ
ศีลที่มันเป็นอธิศีล ศีลมันเป็นปกติโดยธรรมชาติของมันเลย ที่ว่าศีลมันมีของมันอยู่แล้ว ถ้าจิตดวงนั้นที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าจิตยังโลเลอยู่เห็นไหม ดูสิ เวลาฆราวาสเขาก็ต้องขอศีล เขาต้องต่อศีลของเขาถ้าศีลของเขาขาด เณรเขาก็ขอศีลของเขา เวลาพระเราล่ะ พระเราก็ปลงอาบัติ ปลงอาบัตินะ สิ่งที่เป็นศีลขาดเราปลงอาบัติไปแล้วเราทำของเราใหม่ แล้วเวลาเราปฏิบัติไปมันเป็นอธิศีลขึ้นมาล่ะ
สังฆะ ๔ องค์ขึ้นไปถึงเป็นสงฆ์ ถ้าจิตองค์นั้นเป็นสังฆะล่ะ เป็นสังฆะ ถ้ามันบรรลุธรรมขึ้นมาเป็นสังฆะโดยข้อเท็จจริงของสัจธรรม แต่ใครรู้ได้ สิ่งนี้ไม่ต้องมาอวดมาอ้างกัน ไม่ต้องอวดอ้างว่าใครจิตใจเป็นสังฆะหรือไม่เป็นสังฆะ จิตเราเป็นสมมุติ ถ้าเราจิตใจเป็นสมมุติ แต่ร่างกายเราเป็นสงฆ์โดยสมมุติ เราก็ต้อง ๔ องค์ขึ้นไปถึงเป็นสงฆ์
แต่ถ้าจิตใจเขาเป็นสังฆะเป็นสงฆ์ของเขาขึ้นมา อันนั้นมันเรื่องปัจจัตตัง เรื่องสันทิฏฐิโก เรื่องเอกเทศ เรื่องปัจเจกบุคคล แต่ปัจเจกบุคคลนั้นเขาก็อยู่ในสังคมเหมือนกัน ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาลงอุโบสถท่านก็ลงอุโบสถร่วมกัน เพราะต้องให้สังฆะเข้มแข็ง สังฆะมั่นคง ดูสิ ไม้ในป่ามันก็มีต้นไม้ที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ ไม้เบญจพรรณ หญ้าแพรกต่างๆ เถาวัลย์มันก็อยู่ในป่าของมันเหมือนกัน นี่ในป่ามันก็ต้องมีสิ่งที่เป็นประโยชน์
สังคมก็เหมือนกัน ในสังคมพระเราก็เหมือนกัน ถ้าสังคมพระเรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เราต้องทำของเรา ถ้าเราพูดได้ทำได้ ทำความเป็นจริงของเราขึ้นมา เราทำของเราขึ้นมา มันอบอุ่นที่เราก่อน ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา จิตใจเรามั่นคงขึ้นมา นี่นกกาอาศัย ๑ นะ ๒. สิ่งที่กระแสลมแรง พายุบุแคมมันมีมา ถึงเวลามันก็มีเกิดขึ้นธรรมชาติเป็นฤดูกาล มันต้องพัดใส่อยู่แล้ว ถ้าการพัดใส่มันทำให้สิ่งนั้นไม่คลอนแคลนไง ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา เราจะไม่คลอนแคลนนะ เราไม่คลอนแคลนขึ้นมา นี่เราบอกชี้ถูกชี้ผิดได้ ถ้าเราบอกชี้ถูกชี้ผิดได้มันจะเป็นประโยชน์นะ ถ้าเป็นประโยชน์กับเราถึงจะเป็นยาขม
แต่นี้เราปฏิเสธยาขมก่อนไม่ได้ เพราะอะไร เพราะจิตของเรามันปฏิเสธไง ในเมื่อมันมีตัณหามีอวิชชาในหัวใจ ธรรมะต้องเป็นของร่มเย็นสิ มีความสงบระงับมันมีความสุขมาก สุขเวทนา ทุกขเวทนา นี่ทุกขเวทนาก็รู้ได้ สุขเวทนา ดูสิ เวลาร่มเย็นเป็นสุขเราก็รู้ได้ แล้ววิมุตติสุขมันเป็นแบบใด เวลามันสุขโดยธรรมชาติของมันมันเป็นแบบใด มันเป็นอย่างไร ทุกคนก็ปรารถนาใช่ไหม แล้วก็เออออกัน เอออวยกันว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นแล้วมันเป็นประโยชน์กับใคร
แต่ถ้าใจใครได้ไปสัมผัสตามความเป็นจริงนะ มันไม่ต้องเอออวยกับใคร มันเป็นสิ่งนั้น ดูสิ ครูบาอาจารย์ของเราเวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา สอนใครได้หนอ สอนใครได้หนอ มันพูดใคร ใครมันจะรู้ พูดไปใครจะรู้ด้วย ไม่มีหรอก เพียงแต่ว่าการแสดงธรรมนี่มันเป็นแค่อย่างสูงสุดก็ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ในการยืนยันสัจจะอันนั้นน่ะ ยืนยันอย่างสูงสุด เพราะอะไร
อย่างที่หลวงตาท่านพูดว่าหลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการนะ ท่านพยายามจะน้อมตัวลง น้อมตัวลง น้อมธรรมะลงสู่โลกให้โลกเข้าใจได้ ให้โลกเข้าใจนะ ท่านบอกว่าเวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ที่หนองผือ เวลาพูดถึงเณรบอกว่า กายมันเป็นเรื่องของสกปรกเน่าเหม็น ถ้าไม่เชื่อก็เอานิ้วคว้านลงไปในทวารหนักเลย แล้วดมดู นี่คำว่า ทวารหนัก ร่างกายนี่มันเป็นวัตถุแล้ว แล้วถ้าเราพิสูจน์กันไม่ได้ก็เอานิ้วนี่ล้วงเข้าไปเลย เอานิ้วไปจิ้มขี้มาดมว่าอย่างนั้นเถอะ มันเป็นอสุภะจริงหรือเปล่าล่ะ
นี่คือว่าธรรมะมันจะน้อมลงไง น้อมลงคือเราจะสื่อให้โลกเข้าใจให้ได้ไง ถ้าโลกเข้าใจได้มันก็จะเห็นโทษ แต่ขณะนี้คือการน้อมลงๆ ฉะนั้นบอกว่าถ้าใจที่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นสัจจะความจริง เวลาจะสื่อกับโลกอย่างมากก็ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ที่โลกจะรู้ได้ อย่างมากนะ เพราะมันเป็นภาษาสมมุติ เพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีสัญชาตญาณ สัญชาตญาณของมนุษย์ เรามีขันธ์ ๕ สื่อภาษากัน ภาษาใจ ภาษากาย ภาษาต่างๆ ภาษาที่สื่อสารกัน ภาษาตา สายตาสื่อสารบอกกล่าวกัน สิ่งนี้พยายามจะบอกๆๆ มันก็ได้อย่างมาก ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เอาความจริงอันนั้นเอาออกมาเผยแผ่ เอามาแผ่ให้เรารู้กันไม่ได้
แต่ถ้าเราปฏิบัติขึ้นไปแล้วนะ หลอกกันไม่ได้เหมือนกัน ถ้าไม่ใช่มีหลักตามความเป็นจริงนั้น สิ่งนั้นจะเข้าไปถึงได้อย่างไร ถ้าจะเข้าไปถึงสิ่งนั้น นี่เวลาคำพูดนี่เหมือนกัน แต่มันไม่มีข้อเท็จจริง มันไม่มีเนื้อหาสาระ แต่ถ้าเป็นคำพูดของครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมนะ มันเป็นธรรมมาตั้งแต่ในหัวใจ การสื่อธรรมนี่สื่อเพื่อความเข้าใจของเราได้ ถ้าเข้าใจของเราได้ต้องสื่อตั้งแต่เหตุแต่ผลมาเลย เหตุมาอย่างนี้แล้วสรุปผลอย่างนั้น แล้วสรุปผลแล้วมันจะเป็นไป
ฉะนั้น บอกว่าคำว่า ยาขม ยาขมคือเหตุ เหตุที่เราจะเข้าสู่ธรรม ถ้าเหตุที่จะเข้าสู่ธรรมเราพอใจกันนะ ถ้าเราพอใจบอระเพ็ดเอามาอม อมเสร็จแล้วยังบดเป็นผงชงกับน้ำดื่มฉัน เพื่อให้ร่างกายมันได้ล้างสารพิษ เพื่อป้องกันสิ่งเข้ามาในร่างกาย เพื่อประโยชน์กับร่างกายนั้น
ฉะนั้น ข้อวัตรปฏิบัติของเรา จิตใจของเรา ถ้าจิตใจของเรามันอ่อนแอ จิตใจไม่มีหลักมีเกณฑ์ มันไม่เอาเลยนะ ยาขมมันไม่เอา ชอบขนม ชอบของหวาน หวานเป็นลม มันเป็นลม หวานเป็นลม กินเข้าไปแล้วก็ถ่าย กินเข้าไปแล้วก็ไม่เห็นประโยชน์กับอะไร หวานเป็นลม ขมเป็นยา ถ้าขมเป็นยา ถ้ายาทำให้เราเข้มแข็ง ให้เรารู้จักมีสติปัญญา ให้รู้จักการแยกแยะสิ่งใดควรและสิ่งใดไม่ควร
สิ่งใดควรเราก็พยายามขวนขวายเพื่อให้เราเข้มแข็ง เพื่อให้มีสติปัญญา เพื่อให้จิตนี้ก้าวล่วงไป ก้าวพ้นจากกิเลสไป แต่ถ้าสิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์เราก็ปฏิเสธออก ปฏิเสธออก ทีนี้มันก็ฝืน ๒ อย่าง ฝืนอย่างหนึ่งคือฝืนกระแสโลก ฝืนอย่างหนึ่งคือฝืนกิเลส กิเลสคือมันพอใจไง กิเลส เห็นไหม นี่หวานเป็นลม มันพอใจของมัน
กระแสโลกเขามีอยู่แล้ว ถ้าใครทำสิ่งใดเข้ากับผลประโยชน์ของเขา นี่กระแสโลก โลกเขาทำอย่างนั้น โลกเขามีของเขาอยู่แล้ว ถ้าใครไปกระแสกับเขา มีเป็นคณะ เป็นหมู่คณะของเขา เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เขาก็ว่าดี
แต่ถ้าไปฝืนกระแส ไม่ยอมรับสิ่งที่เขาต้องการกัน ไปขวางกระแสเขา ขวางประโยชน์ของเขา คนนั้นก็เลว นี่ฝืนกระแสโลก ฝืนกระแสโลกอยู่แล้ว เพราะถ้าเราไม่ฝืนกระแสโลกนั่นแหละคือเชื้อโรค นั่นแหละคือต้นเหตุ ต้นเหตุทำให้พระเราคลอนแคลนจากหลักธรรม พระเราจะไม่มีหลักมีเกณฑ์เพราะเราไปวิตกกังวล
โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา เรากลัวเขานินทา เรากลัวเขากล่าวร้าย เรากลัวเขาจะไม่สนใจเรา เพราะเรากลัวไปเอง นี่ไง ถ้าเราแคร์กับกระแส กระแสมันมีของมันแล้วเราแคร์กับกระแสนั้น เราจะซื่อสัตย์กับธรรมวินัยไม่ได้เลย เราจะต้องไหลไปตามกระแส นี่ไง เพราะหวานเป็นลม ขมเป็นยา ขมเป็นยา เห็นไหม กระแสนั้นคือเชื้อโรค
ถ้าเราไม่เห็นภัยในวัฏสงสาร เราจะมาบวชเป็นพระกันทำไม ทำไมเราไม่อยู่กับกระแสนั้นล่ะ เพราะเราเห็นกระแสนี่มันเป็นกระแสโลก เห็นไหม โลกธรรม ๘ ธรรมะเก่าแก่ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มันเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว แล้วเรายังไปตื่นเต้นอะไรกับสิ่งนั้น เราทิ้งมาแล้ว เราทิ้งมา บวชมาเพราะเห็นภัยในวัฏสงสาร เราทิ้งมาเป็นนักบวช เราก็จะต่อสู้กับกิเลสใช่ไหม
ฉะนั้น สิ่งนั้น กระแสก็ไม่กระเทือนหัวใจของเรา เราต้องฝืน ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือกระแสโลก อย่างหนึ่งคือกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเรา บวชแล้ว อยู่เป็นพระแล้ว ก็จะต้องมีบุญกุศล ต้องได้มรรคได้ผล มรรคผลมันไม่ลอยมาจากฟ้า มรรคผล เห็นไหม มรรค ๘ สมาธิชอบ ความเพียรชอบ สติชอบ งานชอบ ความระลึกชอบ มันต้องมีความชอบธรรมของมัน ถ้ามีความชอบธรรมของมัน สิ่งที่เผาลนในใจจะเกิดขึ้นมาได้อย่างใด สิ่งที่จะเผาลนในใจเกิดขึ้นมาจากความไม่ชอบธรรม
ในเมื่อมันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก กิเลสมันคือไฟ ในเมื่อมันเป็นกิเลสมันก็เป็นไฟ แต่เราก็ชอบมัน เราชอบไฟ เราชอบความร้อน เราชอบความทุกข์ยาก แต่เราบอกว่าเราเป็นพระ บอกว่าเราจะฆ่ากิเลส เราจะต่อสู้กับมัน แล้วถ้าต่อสู้กับมันทำไมไปชอบมันล่ะ ถ้าไปชอบมัน เราจะดับมันอย่างไร ถ้าความร้อน ไฟเขาดับด้วยอะไรล่ะ? ไฟเขาดับด้วยน้ำ ถ้าเป็นสารพิษเขาดับด้วยโฟม
นี่ไง ถ้าเป็นกิเลสเขาจะดับด้วยอะไรล่ะ กิเลสมันเป็นสารพิษไหม ถ้ากิเลสเป็นสารพิษเราก็ต้องถือธุดงควัตร ต้องอุกฤษฏ์กับมัน สู้กับมัน แต่ถ้ามันเป็นไฟโดยทั่วไปเขาก็ดับด้วยน้ำ นี่เวลาพระบวชมาศีล ๒๒๗ เหมือนกัน ธุดงควัตร ๑๓ เหมือนกัน ใครถือหรือไม่ถือ ใครจะทำอะไรก็เรื่องความพอใจของเรา เราเห็นโทษของไฟไหม ถ้าเราเห็นโทษของไฟ เห็นความรุนแรงของมัน เราจะถือสิ่งใดเพื่อประโยชน์กับเรา
นี่มันอยู่ที่จังหวะและโอกาส คำว่าจังหวะและโอกาสนะ กิเลสเดี๋ยวก็รุนแรง เดี๋ยวก็มาด้วยความนุ่มนวล มาใต้ดินบนดิน มันมาของมันตลอด คำว่า มา มาจากไหน? มันผุดมาจากใจ กระแสจากภายนอก ถ้าเรามีความเข้มแข็ง กระแสภายนอกมันอยู่นอกวัด มันเข้ามาในวัดเราไม่ได้หรอก แล้วในวัดในวาในหมู่คณะเราที่ปฏิบัติ เรามีอาจารย์ไหม เรามีหัวหน้าไหม หัวหน้าถ้าฉลาด เขาก็ป้องกันไม่ให้กระแสเข้ามา กระแสเข้ามามันก็อยู่ที่หัวหน้า หัวหน้าเป็นหัวรถจักรก็ปะทะไว้ เราอยู่หลังหัวจักร เราก็รักษาตัวเรา เราก็ดูแลของเรา ถ้าจิตใจของเราเป็นธรรม ถ้าจิตใจเราไม่เป็นธรรมใช่ไหม พอหัวรถจักรปะทะไอ้ตู้ขบวนหลังบอก อืม! หัวหน้านี่ไม่มีปัญญาเลย ถ้าหัวหน้ามีปัญญานะ เอาสิ่งนั้นปล่อยเข้ามามันจะเป็นประโยชน์กับวัดนะ วัดจะได้ใช้สอยนะ โอ้! หัวหน้านี่ไม่มีปัญญา
แต่ถ้าท้ายรถจักรมันรู้จักของมัน หัวหน้าเขาปะทะไว้ให้ เขาไม่ให้สิ่งนั้นเข้ามาในวัด ถ้าไม่ให้สิ่งนั้นเข้ามาในวัด ในวัดของเรา ในสำนักปฏิบัติของเรา เราต้องการสิ่งใดล่ะ เราต้องการสิ่งใด ปัจจัย ๔ มันขาดเหลือตรงไหน? ปัจจัย ๔ มันพร้อมทุกอย่าง ทุกอย่างมันก็พร้อมสมบูรณ์อยู่แล้ว แล้วถ้าสิ่งใดเข้ามา เห็นไหม อย่าให้กระแสโลกมีอำนาจเหนือกว่า ถ้าเราไปห่วงธุระปะปังการดำรงชีวิต เราก็ไปห่วงกระแสโลก ถ้ากระแสโลกมานี่หัวหน้าปะทะไว้แล้วนะ ถ้าเรามีสติปัญญา
แล้วสิ่งที่สะเทือนในวัดล่ะ สิ่งที่สะเทือนในวัด ในวัดในวา ในปัจจัยเครื่องอาศัยของเรา เราก็รักษาของเรา ปัจจัยเครื่องอาศัยนี่อาศัย อาศัยจนเราว่ามันมากเกินไป เพราะวันคืนล่วงไปๆ คำว่า วันคืนล่วงไปๆ สิ่งที่ปัจจัยเครื่องอาศัยนี่มันเปลี่ยนแปลงได้ มันมีของมันได้ตลอด เพราะของเรา เราบิณฑบาตเป็นวัตร เราเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง มันขาดเหลือตรงไหน
เราอยู่ในป่าในเขากัน นี่แหล่งน้ำมันมีที่ไหน ถ้าแหล่งน้ำมีที่ไหนใช่ไหม เราจะบรรจุไว้ในกระติก แล้วในกระติกเราจะใช้ได้กี่วัน เราใช้ได้กี่วัน แหล่งน้ำนะ บิณฑบาตข้างหน้าจะมีหรือไม่มีช่างหัวมัน ถ้าเจอบ้านก็บิณฑบาต ถ้าไม่เจอบ้านก็ไม่ต้องกิน ไม่กินก็ไม่เห็นเป็นไร ดีเสียอีกสบายใจ นี่ไง ถ้าเราเคยธุดงควัตร เราผ่านโลกมาแล้วนะ เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องปกติน่ะ ถ้าจิตใจมีหลักมีเกณฑ์อย่างนี้ เพราะพระธุดงค์ของเราคือธุดงควัตร คือเคยอยู่ชีวิตที่ผ่านโลกมา อยู่กับโลกได้แบบชีวิตนี้มีอยู่ได้ด้วยความสะดวกสบาย แล้วพอมาอยู่ในสังคมเมือง สังคมปฏิบัติ สังคมวัด กระแสมันเข้ามาปั่นหมดเลย แล้วหัวหน้าผู้เป็นหัวรถจักรมีปัญญาหรือไม่มีปัญญา มีปัญญาหมายถึงว่าเห็นประโยชน์ของการปฏิบัติ
ถ้าเห็นประโยชน์ปฏิบัติ ขมเป็นยา เห็นประโยชน์ของการปฏิบัติคือธรรมและวินัย ถ้าเห็นประโยชน์ปฏิบัติ จิตใจมันจะเข้มแข็งมันจะเติบโตขึ้นมาได้ มันต้องอาศัยสิ่งนี้หล่อเลี้ยงขึ้นมา บ้านเรือนที่เขาจะสร้างบ้านเรือนมา เขาต้องมีไม้แบบ เขาต้องมีนั่งร้าน เพื่อก่อสร้างบ้านเรือนนั้นขึ้นมา จิตใจที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่มีธรรมและวินัยเพื่อประกอบขึ้นมา จิตใจนั้นมันจะเติบโตขึ้นมาได้อย่างใด
จิตใจ เห็นไหม มนุษย์เขาเป็นคน ดูสิ ที่ว่าเขาไม่มีสิทธิจะห่มผ้าเหลือง เขาเห็นประโยชน์ เขาห่มผ้าเหลือง เขาออกหาผลประโยชน์เขา เขายังทำได้ แล้วเราเป็นพระที่บวชมาโดยถูกต้องตามธรรมวินัย แล้วเราจะเอาอะไรเลี้ยงหัวใจของเรา ถ้าเราเลี้ยงหัวใจของเราขึ้นมา สิ่งที่มันขมเป็นยา ใช่ ขมเป็นยา โลกเขามันเหมือนกับแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา เวลาทุกข์อยู่กับโลกก็ทุกข์หนักทุกข์หนา ทุกข์สาหัสสากรรจ์ พอบวชเป็นพระแล้วก็นึกว่าจะเป็นนิพพานเลยไง บวชเป็นพระ พอเปลี่ยนจากชุดฆราวาสมาเป็นพระแล้ว อื้อหืม! นิพพาน นิพพาน มันเป็นไปได้ไหม? มันเป็นไปไม่ได้หรอก
บวชเป็นพระขึ้นมาเป็นสมมุติสงฆ์ พอเป็นสมมุติสงฆ์ก็ต้องมารื้อค้น มาขวนขวาย มามีการกระทำขึ้นมา เพื่อประโยชน์ที่เราแสวงหากันอยู่นี่ไง ถ้าเรารื้อค้นเราแสวงหาขึ้นมา นี่เรารื้อค้นเราแสวงหาขึ้นมา มันถึงว่าขมเป็นยา มันไม่ใช่บวชมาแล้วมันจะชื่นมื่น แหม ชื่น ชุ่มชื่น มันจะหวานเป็นลม มันจะมีแต่สิ่งที่อำนวยความสะดวก อำนวยความสะดวกก็อำนวยให้กิเลสไง
ครูบาอาจารย์ของเรานะท่านอยู่ของท่านมา เพราะท่านอยู่ป่ามาจนเคย พอมาอยู่เป็นวัด อยู่เป็นสำนัก ความเป็นอยู่ของท่านท่านจะอยู่แบบกระเหม็ดกระแหม่ ประหยัดมัธยัสถ์ คำว่า ประหยัด ไม่ใช่ขี้เหนียวนะ ขี้เหนียวคือว่าของกูๆ อย่างเดียว คำว่า ประหยัด คือใช้สอยไม่ให้นิสัยเสีย นิสัยผู้ใช้ของนั้นน่ะ ถ้ามันประหยัดมัธยัสถ์มันประหยัดมาจากหัวใจ ถ้าหัวใจเป็นธรรม มันเห็นคุณค่า มันใช้สิ่งใดด้วยความประหยัดมัธยัสถ์
เพราะขณะเราอยู่ป่าอยู่เขา เราอยู่โดยที่ไม่มีสิ่งนี้ อยู่เหมือนสัตว์ป่าอยู่ป่านะ เวลาจะย้อมผ้าก็ใช้เปลือกไม้ สิ่งที่จะต้มน้ำก็หาวัสดุมาต้มน้ำเพื่อซักผ้า เวลาบิณฑบาตก็บิณฑบาตเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง คือไม่ได้ใช้อะไรกับโลกเลย สิ่งที่เป็นสมบัติทางโลกพระเราไม่เกี่ยวข้องเลย เราอยู่ได้ด้วยความสุขสบาย
แล้วพอเรามาเกี่ยวข้องกับโลก แล้วทำไมมันอ่อนแอกันอย่างนั้น ทำไมมันยืนตัวด้วยมันไม่ได้ ทำไมจะต้องให้คนมาเอาอกเอาใจ มาพะเน้าพะนอ นี่ไง หวานเป็นลม เพราะเราคิดกันเอาเองไง มันจินตนาการไปไงว่านิพพานจะเป็นอย่างนั้น บวชเป็นพระจะมีความสุขอย่างนั้น แต่ขมเป็นยา ขมเป็นยาด้วยวัตรปฏิบัติของเรา ด้วยการประพฤติปฏิบัติของเรา พอมันได้ชำระกิเลส มันได้ฆ่ากิเลสแล้วขมมาก
แต่กระแสโลกเขามายุ่งกับเราไม่ได้ ไม่ได้ เพราะเราอยู่ของเราสุขสบาย ยาก็ไม่ต้องเพราะเราอมบอระเพ็ดอยู่ สิ่งใดก็ไม่ต้อง แม้แต่ข้าวปลาอาหารฉันก็บิณฑบาตเอง ผ้าผ่อนแพรพรรณฉันก็เย็บได้ สิ่งที่กระแสโลกเป็นส่วนเกินหมดนะ เป็นส่วนเกิน แต่เพราะว่าเราอยู่กันเป็นบริษัท ๔ เป็นสิ่งที่เขาปรารถนา โลกเขาหวังบุญของเขา กระแสที่เป็นธรรมเขาหวังบุญของเขา เมื่อเขาหวังบุญของเขา เขาก็พยายามแสวงหาบุญของเขา แต่สำหรับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติด้วยความประหยัดมัธยัสถ์นั้นเป็นส่วนเกิน ฉะนั้น เราต้องไม่ไปตื่นเต้นกับสิ่งนั้น ถ้าไม่ตื่นเต้นกับสิ่งนั้นพระองค์นั้นจะเอาตัวรอดได้ พระองค์นั้นจะมีหลักมีเกณฑ์
ขมเป็นยา ถ้ามันขมเป็นยาแล้วเราจะไม่ต้องพึ่งสิ่งใดๆ เลย กระแสโลกนี่เป็นของส่วนเกินทั้งนั้น เขาหวังผลประโยชน์ หวังบุญกุศลจากพระ พระที่ปฏิบัติที่เขาไว้ใจ เขาหวังบุญกุศลตรงนั้น เขาถึงมาเพื่อหวังบุญของเขา ถ้าบุญของเขานั้นก็เป็นสิทธิเสรีภาพของเขา แต่เราล่ะ แต่พระล่ะ? พระถ้ามีจุดยืนมีหลักมีเกณฑ์ของเรา เราอยู่ของเราเป็นพระ เราสุขสบายของเราอยู่แล้ว
ขมเป็นยา เพราะมันไม่เป็นเหยื่อใครไง มันไม่ต้องไปใช้บุญใช้คุณใครไง ไม่มีใครจะมาชี้นิ้วได้นะ วัดที่หัวหน้าไม่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ทุกคนจะมาชี้นิ้วเอา ชี้นิ้วเอานะ เจ้าอาวาสก็ครับ ครับ อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้ามันเป็นประโยชน์นะจะไม่มีใครเข้ามาชี้นิ้วได้ไง ใครมาชี้นิ้วในวัดนั้นไม่ได้ ขมเป็นยา เพราะมันมีศักดิ์ศรี มันมีศักดิ์ศรีของความเป็นพระ แล้วหัวขบวนเป็นอย่างนั้น ท้ายขบวนมันก็ไม่แซงไง ถ้าท้ายขบวนบอกหัวหน้านี่โง่น่าดูเลย เขาอำนวยความสะดวกก็ไม่เอา อะไรก็เข้ามา
จะให้เขาชี้นิ้วใช่ไหม จะให้เขาเข้ามาสั่งพระใช่ไหม พระจะเป็นผู้สอนโยมหรือโยมจะเป็นผู้สอนพระ พระจะเป็นผู้สอนโยมพระต้องมีหลักมีเกณฑ์ ต้องรู้จักหวานเป็นลม ขมเป็นยา อะไรเป็นของหวาน อะไรเป็นของขม อะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นธรรม แล้วสิ่งที่มันสมควรและไม่สมควร กาลเทศะมันมี ฉะนั้น ถ้ากาลเทศะมันมีเราต้องดูใจเรา รักษาใจเรา เป็นครั้งเป็นคราว ถ้าเรามีจุดยืนของเรา เราจะเอาตัวรอดได้
ฉะนั้น ถ้ามันมีสิ่งใดที่อยู่ในหัวใจที่มันสะเทือน มันบีบคั้น ความทุกข์ของโลกเขาก็บีบคั้นในหัวใจของเขา ทุกคนที่เกิดมามีกิเลสหมด เขาเป็นฆราวาสเขาก็มีความบีบคั้นอันหนึ่ง เราเป็นนักรบ เราเป็นพระ เราก็มีความบีบคั้นอีกอันหนึ่ง ความบีบคั้นของเราคืออยากพ้นทุกข์ไง ความบีบคั้นของเราทำไมกิเลสมันไม่พ้นไปจากใจ ทำไมมันสำรอกไม่ออก ทำไมเป้าหมายมันอยู่อีกยาวไกล ทำไมมันยังทุกข์
แต่ความบีบคั้นของโลกเขาอยากจะปฏิบัติ เห็นไหม เขาอยากปฏิบัติ เขาอยากจะมีทางออก เขายังไม่มีทางออก เขาอยากมาปฏิบัติเหมือนพระ พระบวชเข้ามาแล้วก็มีความบีบคั้นว่าปฏิบัติแล้วผลมันอยู่ที่ไหน สิ่งที่เป็นประโยชน์จะอยู่อย่างไร สิ่งที่มันจะพ้นทุกข์จะพ้นอย่างใด
ขมเป็นยา ยาขมนี่แหละมันจะทำให้เรารอดจากอสรพิษ มันจะทำให้เรารอดจากเชื้อโรค มันจะทำให้เรารอดจากกิเลส แล้วมันจะพ้นจากกระแสสังคม
อย่าให้กระแสสังคมชี้นำ ให้ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามีครูมีอาจารย์นะ ไม่ต้องไปศึกษาที่ไหนเลย ประวัติหลวงปู่มั่น เอามาอ่านน่ะพอ แล้วทำตามนั้น ปฏิปทาธุดงค์กรรมฐาน หลวงปู่มั่นท่านทำเป็นตัวอย่าง ศึกษาแล้วนะ เราทำตัวให้ได้อย่างนั้นนะ สุดยอดคน เอวัง