เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๕ ก.พ. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราชาวพุทธ เราคิดว่าความสุขทางโลก เราปรารถนาความสุข สุขเวทนา แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติวิมุตติสุข สุขที่เหนือโลก เพราะสุขเวทนามันเปลี่ยนแปลง ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ อยู่เป็นเวทนา แต่ที่ข้ามพ้นจากสุขและทุกข์ไปมันเป็นวิมุตติสุข นี่คือเป้าหมายของชาวพุทธ ชาวพุทธเป้าหมายคืออยากประพฤติปฏิบัติ คืออยากจะพ้นจากทุกข์ว่าอย่างนั้นเถอะ อยากจะพ้นจากทุกข์ เพราะว่าการเกิดและการตาย การเวียนตายเวียนเกิด ถ้ามีการเกิดที่ไหนก็มีความทุกข์อยู่ที่นั่น แล้วทำอย่างไรจะไม่ให้มันเกิด?

มันต้องเกิดอยู่แล้วโดยธรรมชาติของมัน โดยธรรมชาตินะจิตนี้ไม่เคยตาย จิตนี้เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เวลาเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เราก็ว่าเรามีความสุขในความรู้สึกนึกคิดของเราไง แต่เทวดา อินทร์ พรหม เขาก็ทุกข์นะ เพราะที่ไหนมีการเกิดไง ที่ไหนมีการเกิด ที่ไหนมีสถานะ ที่นั่นมีความทุกข์หมดแหละ แต่ทุกข์มาก ทุกข์น้อย ทุกข์แตกต่างสถานะกัน เห็นไหม

ดูสิเวลาความทุกข์ของเรา สิ่งที่บีบคั้นของเรามันก็คือความทุกข์ของเรา แต่ถ้าเรามีทุกอย่างพร้อมสมบูรณ์แล้ว เราก็มีความทุกข์เหมือนกัน มันก็เผาลนใจอยู่อย่างนั้นแหละ เพราะกิเลสมันเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวใจที่ไม่มีใครไปรู้ไปเห็นมันได้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา เจาะฟองอวิชชาออกมาพ้นจากการครอบงำของพญามาร พญามาร เขาก็คิดว่าพญามารคือใคร? พญามารก็คือความอยาก ความทะเยอทะยานของเรา ถ้าความอยาก ความทะเยอทะยานของเรา เราอยากจะพ้นจากทุกข์ นี่ไม่ใช่เป็นความอยาก ความทะเยอทะยานหรือ?

ความอยาก ความทะเยอทะยานอย่างนี้เขาเรียกว่า “อธิษฐานบารมี” คือเป้าหมาย การทำสิ่งใดทุกคนต้องมีเป้าหมาย ทำเป้าหมายต้องให้สมเป้าหมาย ฉะนั้น เวลาเราปรารถนาความสุข วิมุตติสุข เราไม่มีเป้าหมายของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติได้อย่างไร? เราต้องมีเป้าหมายของเราคืออธิษฐานบารมี บารมี ๑๐ ทัศขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่พ้นจากกิเลสต้องมีเป้าหมาย ฉะนั้น เป้าหมายนี่เป็นกิเลสไหม? เป้าหมายมันเป็นความปรารถนาของเรานะ แต่ความเข้มแข็งของเราต่างหากมันไม่ใช่เป็นกิเลส

นี่เวลาเรามอง เห็นไหม มองไปทางโลกสิ เวลานกนะมันขี้ใส่หัวใคร เราเห็นหมดนะ นั่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี นั่นก็ไม่ดี แต่เวลานกมันขี้ใส่หัวตัวเรามองไม่เห็น พอมองไม่เห็น พอนกขี้ใส่หัวตัวเรา เรามองไม่เห็น นี่ก็เหมือนกัน เวลาจะแก้ไขกิเลสของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เรารู้ไปหมด ทุกคนผิดไปหมดเลย ศึกษาธรรมะ เหตุนั้นถูก เหตุนั้นผิด แต่ไม่รู้ว่าตัวเราถูกหรือตัวเราผิด เห็นไหม

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” คำว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แล้วจะพึ่งได้อย่างไรล่ะ? ดูสิสัตว์นะเวลามันเกิดมา พ่อแม่ไม่เลี้ยงมันก็อยู่ของมันได้ มนุษย์เกิดมาถ้าพ่อแม่ไม่เลี้ยงตายหมด เกิดมานี่มันช่วยตัวเองไม่ได้หรอก ถ้าอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ แล้วมันจะพึ่งอย่างไร? คนจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร? คนจะมีชีวิตอยู่ได้เพราะความผูกพัน

ความรักของพ่อแม่นะ ดูสิครอบครัวใดก็แล้วแต่ มีลูกคนแรกเห่อแล้วเห่ออีกนะ เห่อตั้งแต่ลูกยังไม่เกิด นี่ความผูกพันเขาต้องดูแลรักษา ดูแลรักษาเพราะอะไร? รักษาด้วยหัวใจไง ความผูกพันดูแลรักษา ชีวิตมันก็เติบโตมา แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราก็ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ไง ในกาลามสูตรนะบอกไม่ให้เชื่อสิ่งใดเลย ให้เชื่อประสบการณ์ของจิต แต่ถ้าประสบการณ์ของจิต ประสบการณ์ไง ถ้าจิตมันสัมผัสนั่นล่ะความจริงของเรา เป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก นี่อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน จิตมันจะพึ่งตัวมันเอง แต่ก่อนที่จะพึ่งตัวมันเอง พึ่งได้อย่างไร?

ก่อนจะพึ่งตัวมันเอง เห็นไหม นี่ศรัทธา ศรัทธาเป็นอริยทรัพย์ของมนุษย์ ถ้ามนุษย์ไม่มีศรัทธา จะไม่ดึงมาศึกษาธรรมะ เพราะความศรัทธาของเราเราถึงดึงเรามา ดึงบังคับให้เรามาวัด มาวัดมาทำไม? มาวัดหัวใจไง มาแล้วมันเร่า มันร้อน มันร่ม มันเย็น มันขัดข้องหมองใจ นี่วัดใจของตัวเอง เพราะมีศรัทธาเราถึงมาวัดใจของเรา ถ้าไม่มีศรัทธานะ เราอยู่ตัวของเราคนเดียวนะ นกขี้ใส่หัวคนอื่นไง เห็นไปหมด แต่ขี้บนหัวตัวเองไม่เห็นหรอก แต่เรามาวัดมันจะมาหาขี้บนหัวตัวเองไง นี่มันจะมาวัดว่าเราทำได้ไหม? มาวัดใจของเรา

นี่มาวัด เพราะศรัทธาความเชื่อมันถึงดึงเรามาศึกษา พอมาศึกษา ศึกษาก็เป็นโลกียะ โลก เรื่องของโลก ดูสิทางวิชาการเขาศึกษาขึ้นมา ไอน์สไตน์ศึกษาไว้จนป่านนี้เขายังร่ำลือกันนะ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษาขึ้นมาเขาบอกว่ามีหรือเปล่า? พระพุทธเจ้ามีตัวจริงหรือเปล่า? สัจธรรมมีจริงหรือเปล่า? เวลาไอน์สไตน์พูดแม่งเชื่อ เวลาพระพุทธเจ้าพูดไม่มีใครเชื่อ ต้องไปขุดค้นกันนะว่าตัวพระพุทธเจ้ามีจริงหรือเปล่า? ไปค้นทางโบราณวัตถุ เห็นไหม มีหมดเลย นี่มันยืนยันว่ามีจริง แล้วเวลามีจริงขึ้นมาพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนที่วัตถุ

อาราม อารามิกเป็นผู้ที่ไม่มีเรือน นี่ผู้ที่ออกบวช ผู้ที่อยากประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่อยากพ้นจากทุกข์เขาไม่มีเหย้ามีเรือนของเขา เขาต้องอยู่อาราม อยู่ในเรือนว่าง นี่สิ่งนี้เราก็ไปค้นแต่วัตถุกัน แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่านั่นมันที่พัก เห็นไหม เวลาพระอยู่วัดนะ ของสิ่งใดเป็นของของสงฆ์ เอามาใช้สอย เวลาเราไปพักกันต้องใช้สอย จากไปไม่ได้เก็บ ไม่ได้สั่งใครบอกให้เก็บเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เป็นอาบัติทันที

นี่ไงอารามิกไง ของกลางไง เป็นกองกลาง เป็นของส่วนกลาง พอของส่วนกลาง ใครมาพักอาศัยเอาสิ่งนั้นมาใช้สอย ออกไปถ้าเรารีบด่วนเราต้องรีบไปก่อน เราไม่ได้เก็บเองก็บอกสหธรรมิก บอกเพื่อนไง บอกให้นี่เราจะรีบไปให้เก็บให้ที ผู้ใดไม่ได้เก็บเอง ไม่ได้สั่งให้ใครเก็บ จากไปนั้นเป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่ผู้ใดต้องเก็บเอง นี่เวลาเอาของสงฆ์มาใช้ จะไปก็ซักแล้วเราก็ตากคืนสงฆ์ไป

สิ่งที่ว่าเป็นที่หลับอาศัย เมื่อก่อนเขาเป็นร้านไง เขาต้องยกตั่งที่ซ้อนๆ กันอยู่ เรายกตั่งลงมานอน เสร็จแล้วเวลาจะไปเราต้องเก็บตั่งนั้นคืนเข้าที่ ในสมัยปัจจุบันนี้ครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม หมอนผูกไว้ ตามเรือนว่างเขาจะเอาหมอนผูกแล้วแขวนเชือกไว้ นี่ไปถึงเราก็ไปแก้เชือกออกมาใช้ เวลาเราจะไปเราก็ต้องผูกเชือกไว้ เพราะกันหนูมันกัด

นี่ของของสงฆ์ไง อารามิก เราไปศึกษากันได้แต่วัตถุไง แต่ไม่มีใครศึกษาเรื่องหัวใจได้ เพราะหัวใจ เห็นไหม หัวใจมันอยู่ที่ไหน? ศาสนาคืออะไร? ศาสนานี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาวก สาวกะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาสัมผัสธรรมขึ้นมา สัจธรรมอันนั้นคือตัวศาสนา ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่บรรลุธรรมขึ้นมาจะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม?

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมามีรัตนะ ๒ มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระธรรม เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรก ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่มีดวงตาเห็นธรรม สงฆ์องค์แรกเกิดขึ้น เห็นไหม ธรรมมันอยู่ที่ไหน? ศาสนามันอยู่ที่ไหน? ศาสนานี่ข้อวัตรปฏิบัติไง วัดหัวใจไง เราไปวัด วัดต้องมีวัตถุที่สร้างเป็นโบสถ์ เป็นวิหาร อันนั้นเป็นวัตถุนะ ศาสนวัตถุ ศาสนพิธี ศาสนบุคคล นี้ศาสนบุคคลเราพิสูจน์กันได้ที่นั่น แต่เวลาศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะประพฤติปฏิบัติเพราะเรามีศรัทธาความเชื่อ เรามาประพฤติปฏิบัติของเรา

ดูสิกิเลสมันขี้รดหัวใจ เวลาขี้บนหัวคนอื่นรู้ไปหมดนะ เราศึกษาได้ไปหมดเลย เวลาขี้บนหัวเราเราก็มองไม่เห็น เวลาเราจะหากิเลสของเรานะ กิเลสเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่าขยะแขยง เราอยากจะพ้นจากทุกข์ เราจะหากิเลสเรา กิเลสมันอยู่ที่ไหน? อยู่ในหนังสือหรือ? อยู่ในตำราหรือ? อยู่ที่ข้าวของเงินทองหรือ? อยู่ที่เพชร นิล จินดาหรือ? ก็ไม่ใช่ มันเป็นแร่ธาตุทั้งนั้นแหละ มันมีกิเลสที่ไหน? เพชร นิล จินดา มันมีกิเลสหรือ? มันไม่มีชีวิต แต่คนไปยึดติดมันใช่ไหมเป็นกิเลส

“อานนท์ รูปอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส ตัณหาความทะยานอยากของคนต่างหากคือกิเลส”

รูป รส กลิ่น เสียง อันวิจิตรมันไม่ใช่กิเลส มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ความทะยานอยากของคนต่างหากมันคือกิเลส นี้ความทะยานอยากมันอยู่ที่ไหนล่ะ? อ้าว ทะยานอยาก อ้าว ก็ฉันอยาก ขี้ไง ขี้รดหัวตัวเองไง เวลาทะยานอยากก็ฉันอยาก เออ ดี ถ้าคนอื่นอยากผิดนะ แต่ฉันอยากถูก นี่กิเลสมันขี้รดหัวมัน มันไม่รู้ของมัน เราทำความสงบของใจของเราเข้ามา เราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมานะ ให้มันสงบร่มเย็นเข้ามา แค่สงบร่มเย็นขึ้นมา เห็นไหม คนจะทำไร่ทำนานะ เขาต้องปรับพื้นที่ของเขา สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน

การงานของจิต จิตดวงนี้ขี้ทุกข์ขี้ยาก จิตดวงนี้จะพ้นจากกิเลส มันต้องหาจิตดวงนี้ให้เจอ ถ้าจิตดวงนี้เจอ นี่สมถกรรมฐาน สัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ๖ ปี ศึกษาด้วยปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธวิสัยต้องมีปัญญามาก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วนะ อจินไตย ๔ พุทธวิสัย พุทธวิสัยคือว่าไม่มีใครจะมีปัญญาเทียบปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เลย

อจินไตย ๔ พุทธวิสัย โลก กรรม ฌาน อจินไตย ๔ เห็นไหม ๔ อย่างนี้ คิดจนหัวแตกก็คิดไปเถอะไม่มีทางเทียบเคียงได้ ฉะนั้น เวลาที่อจินไตย ๔ ขนาดพุทธวิสัย เวลาไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ก็ศึกษาด้วยโลก ศึกษาแล้วก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับมากำหนดอานาปานสติ เห็นไหม อานาปานสติกำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ปรับพื้นที่ของใจ ใจไปศึกษากับเขามา ไปพยายามค้นคว้ามา ๖ ปี มันได้สิ่งใดมา? ได้แต่โลกียปัญญา ปัญญาของโลก ปัญญาเกิดจากจิต ปัญญาเกิดจากมาร ปัญญาเกิดจากขี้บนหัวใจนั้น มันก็แสวงหามาด้วยความไม่รู้ของมัน เวลากลับมากำหนดอานาปานสติ เห็นไหม นี่คิดถึงโคนต้นหว้า แล้วกำหนดอานาปานสติ นี่ปรับพื้นของหัวใจให้ได้ ถ้าใครปรับพื้นของหัวใจให้ได้ นี่ไงสมถกรรมฐาน

นี่บอกทำความสงบไม่มีความจำเป็น ไม่มีความจำเป็น ถ้าคนไม่มีสถานที่ทำงาน คนที่ไม่ได้แก้หัวใจของตัว นี่อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เวลามันทุกข์ใครมันทุกข์ เวลามันทุกข์นี่ใครทุกข์? ลูกทุกข์หรือพ่อแม่ทุกข์ พ่อแม่ก็ได้แต่ปลอบลูก ลูกก็ได้แต่ปลอบพ่อแม่ ใครทุกข์? ก็ทุกข์ทั้งหมด พ่อแม่ก็ทุกข์ในหัวใจของพ่อแม่ ลูกก็ทุกข์ในหัวใจของลูก แล้วในหัวใจอยู่นั่นน่ะใครไปดูแลมัน? ใครจะรักษามัน? ก็บุคคลคนนั้นต้องทำความสงบของใจเข้ามาถึงใจดวงนั้น ถ้าเข้าไปถึงใจดวงนั้น นี่กว่าจะเข้าถึงใจดวงนั้นทำอย่างใด?

นี่ไงเวลาเรามาเสียสละทาน เห็นไหม เราเสียสละขึ้นมาเพื่อเปิดหัวใจไง ไม่ให้มันตระหนี่ถี่เหนียว เขาเรียกว่าจิตสาธารณะ ถ้าจิตมันเปิดกว้าง จิตมันรับฟังไง รับฟังนะ ฟังเหตุ ฟังผล อย่าเชื่อมั่นตัวเองเกินไปนัก เวลาเรามีสัจจะ คนปฏิบัติต้องมีสัจจะ ถ้ามีสัจจะ เราตั้งกติกาอะไรขึ้นมาเราทำตามสัจจะของเรา ถ้าคนไม่มีสัจจะมันล้มเหลว ถ้าคนมีสัจจะ สัจจะอันนี้ไม่ใช่การยึดมั่นถือมั่นไง ไม่ใช่ว่าเชื่อตัวเองจนเกินไปนัก

นี่การเชื่อสัจจะของเราต้องมี แต่เราพิจารณาไปแล้ว สิ่งที่ทำมาถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ถ้ามันไม่ถูกต้องเราปรับตรงนั้น เราปรับตรงนั้น ถ้าปรับตรงนั้นขึ้นไป เห็นไหม ดูสิเวลาเดินจงกรม หลวงตาท่านพูดบ่อย “เวลาพิจารณาก็โง่แบบหมาตาย” หมามันตาย มันนอนตัวแข็ง มันไม่มีกระดิกเลยนะ คือเราไม่พลิกแพลงเลย เวลาเดินจงกรมนะ เขาบอกว่าหมามันมี ๔ ขามันเดินดีกว่าเอ็งอีก คือเดินโดยสักแต่ว่าไง นี่ไม่ใช้ปัญญาเลย

การใช้ปัญญานะ เราเดินจงกรมของเรา แต่เราต้องมีสติปัญญาของเราใช่ไหม? ไม่ใช่เดินแบบหมา หมามันวิ่งไปวิ่งมา วิ่งไปวิ่งมา มันดีกว่าเราอีก มันวิ่งไกลกว่าเราด้วย แล้วเราได้อะไรขึ้นมา นี่เวลาใช้ปัญญาๆ ปัญญานอนจมอยู่นั่น นอนจมอยู่ในใจของตัวไง เวลาทำความสงบของใจก็ทำไม่ได้ เวลาทำใจสงบของตัวนะมันต้องปรับพื้นที่ก่อน สมถกรรมฐาน ต้องทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบแล้วมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมานะมันจะเป็นโลกุตตรธรรม โลกุตตรปัญญาไง

ปัญญาที่จะฆ่ากิเลส โลกไม่เคยเห็น โลกนี้ไม่มี โลกนี้มีแต่โลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากกิเลส เกิดจากทิฐิมานะของตัว ใครรู้มาก ใครเห็นมากก็เกิดจากทิฐิอันนั้น ทิฐิมันชี้นำ ทิฐิมันชี้นำ เห็นไหม นี่สัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ ถ้ามีอวิชชาอยู่มันจะเป็นสัมมาได้ไหม? มารมันจะปล่อยให้ใจดวงนี้หลุดพ้นจากการครอบงำของมันไหม? เราเป็นเจ้าของ เราเป็นเจ้านาย เราเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เราจะปล่อยให้ของนี้หลุดจากมือเราไปไหม?

ในเมื่อมาร นี่ขี้ที่มันขี้บนหัวใจมันครอบงำอยู่ แล้วมันบอกว่าเราตรึกธรรมะ เราจะปฏิบัติธรรมแล้วจะพ้นจากทุกข์ไป มันยอมไหม? มันจะปล่อยให้เราไปได้ไหม? นี่โลกียปัญญา ถ้าโลกุตตรปัญญาล่ะ? จิตมันสงบเข้ามานี่มารมันเผลอ เพราะมารมันเผลอจิตมันถึงสงบ พอมารมันเผลอ แต่สติไม่เผลอนะ สติ คำบริกรรม ธรรมะไม่เผลอ แต่มารมันเผลอ กิเลสมันครอบงำที่ใจอยู่ เราพุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่ดึงใจมาอยู่ที่คำบริกรรม ปัญญาอบรมสมาธิจนจิตมันสงบร่มเย็นเข้ามา

ถ้าจิตสงบร่มเย็นเพราะมารมันเผลอ ถ้ามารไม่เผลอนะมันเร่าร้อน เวลาขี้บนหัวแล้วมันรดนะ แล้วมันเหม็นนะ แล้วมันให้สิ่งที่เป็นมูลอยู่บนหัวมันมีความหนักหน่วงของมัน เวลากิเลสมันคิด มันฟุ้ง มันซ่าน มันตรึกของมัน นั่นแหละมารมันแสดงตัวของมัน เวลาพุทโธ พุทโธ พุทโธ เปลี่ยนมาจนมันสงบได้ สิ่งนั้นมันจะหายไปจากหัวใจ หายไปเพราะอะไร? หายไปเพราะเรามีสติปัญญาของเรา

ถ้ามันหายไป เห็นไหม นี่มันสงบร่มเย็นเข้ามาเพราะมารมันเผลอ พอมารมันเผลอแล้ว เวลาเราน้อมไปสู่กาย เวทนา จิต ธรรม เพราะมารมันเผลอ มันไม่ใช่โลกียะ ไม่ใช่ความคิดโดยกิเลส มันเป็นความคิดโดยธรรม เพราะมารมันเผลอเราถึงได้ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาจากหัวใจของเรา เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก แล้วมันพิจารณาของมัน แก้ไขของมัน เวลามันเห็นจริงของมันนะ มันผงะหมดเลย ถ้ามันผงะ เอ๊อะ เอ๊อะ นั่นล่ะภาวนามยปัญญา นั่นล่ะปัญญาในพุทธศาสนา ไม่ใช่ปัญญาจำอย่างที่ว่าพุทธศาสนาสอนอย่างนั้น โอ๋ย นกแก้ว นกขุนทอง

นกแก้วมันดีกว่าเราอีก มันพูดแล้วมันไม่มีเล่ห์เหลี่ยมด้วย มันพูดตามที่มันรู้ ไอ้นี่ศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้ามาแล้วตะแบง ฉันรู้ ฉันรู้ ไม่มี สักแต่ว่า ไม่เป็นทุกข์หรอก ตะแบง เวลาทุกข์ขึ้นมาน่ะเกือบตาย ถ้าความจริงขึ้นมานะ นี่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นความจริงของเราขึ้นมา ขี้บนหัวตัวเรา ขี้บนหัวใจของเราเราต้องหาที่นี่ ขี้บนหัวของคนอื่นนะ ความเหม็น ความหนักหน่วงของใจดวงอื่นเขาก็ทุกข์ของเขา เกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม ทุกคนเกิดมามีปากมีท้อง มีการแสวงหาต้องอยู่ด้วยกัน เราเป็นญาติกันโดยธรรม ให้เห็นอกเห็นใจกัน แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติกับจิตใจของเราต้องจริงจังกับมัน

เราต้องจริงจังกับตัวเราเอง จริงจังกับตัวเราเอง จริงจังกับหัวใจเราเอง นี่ต่างหากจะเป็นประโยชน์กับเรา แต่หมู่คณะ เพื่อนฝูง สังคมอยู่ด้วยกัน เราต้องมีความเมตตาเขา เขาก็ทุกข์ เราก็ทุกข์ เห็นไหม เราเป็นญาติกันโดยธรรม เราเกิดมาเป็นสัตว์ร่วมโลก แต่เวลาจะพ้นจากกิเลสเราต้องพ้นจากหัวใจของเรา เราจะเข้มแข็งของเรา เราจะปฏิบัติของเรา เพื่อจะพ้นจากทุกข์ในหัวใจของเรา เอวัง