ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สืบต่อธรรม

๕ ก.พ. ๒๕๕๕

 

สืบต่อธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตอนนี้ทุกคนถามว่า ถ้าเราตั้งใจจริง เราปฏิบัติจริง เราจะได้ผลประโยชน์ไหม? เราจะได้มรรค ผลจริงหรือเปล่า? แล้วเราทำบุญกุศล นี่เราทำบุญกุศลเราจะได้ผลประโยชน์จริงหรือเปล่า? คำว่าจริงหรือเปล่า เห็นไหม เวลาบุญกุศลมันเป็นเรื่องของหัวใจ เรื่องของความรู้สึก นี่ถ้ามีความรู้สึก เวลาเรามีความสุข คำว่ามีความสุขคือหัวใจเรามันมีคุณธรรม ถ้ามีคุณธรรมขึ้นมาในหัวใจ เราไม่มีสิ่งใดขัดแย้ง พอไม่มีสิ่งใดขัดแย้งมันจะไม่มีความทุกข์บีบคั้นในหัวใจ ถ้าไม่มีความทุกข์บีบคั้นในหัวใจนั่นแหละคือบุญ

ถ้าบุญอย่างนี้ บุญมันอยู่ในหัวใจของเรา แต่เวลาเราบอกว่าเราทำแล้วมันจะได้บุญกุศลไหม? มันจะประสบความสำเร็จไหม? สิ่งใดไหม? นี่เราไปวิตกกังวล ถ้าเราวิตกกังวลแล้วเราจะต้อง เห็นไหม อย่างเช่นแม่ปูลูกปู เราต้องการแม่ปู ต้องการผู้อบรมสั่งสอนเรา ให้เดินนำเรา แล้วพอเดินนำเรา เราจะรู้ได้อย่างไรว่าแม่ปูจะพาเราไปทางที่ถูก

นี่แม่ปูมันบอกเดินให้ตรง ลูกเดินให้ตรงนะ เดินแบบแม่นี่เดินให้ตรงนะ เดินแบบแม่ แม่มันยังเดินไม่ตรง แล้วเดินแบบแม่ คำว่าเดินให้ตรงแล้วเดินแบบแม่มันขัดแย้งกัน เพราะปูมันเดินไม่ตรงหรอก ถ้าปูมันเดินไม่ตรงหรอก บอกว่าเดินแบบแม่สิเดินให้ตรง คือแม่ก็อยากปรารถนาให้ลูกเดินให้ตรง นี่แล้วแม่ก็เดินของแม่ปูไปมันไม่ตรง มันไม่ตรง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าครูบาอาจารย์ของเราชี้นำ ประพฤติปฏิบัติได้ตามความเป็นจริง อันนั้นจะเป็นความจริง แล้วถ้าไม่เป็นตามความเป็นจริง เราจะรู้ได้อย่างไรล่ะ? ถ้าจะรู้ได้นะ เรารู้ได้ด้วย นี่โดยหลักธรรมนะ การพูดกับการกระทำต้องเสมอกัน การพูดกับการกระทำมันจะไปทางเดียวกัน แต่การพูดกับการกระทำ ถ้ามันขัดแย้งกันมันเป็นไปได้อย่างไร?

การพูดกับการกระทำ เวลาพูด “ผู้ใดรู้ด้วย พูดได้ด้วย สิ่งนี้ประเสริฐที่สุด” ครูบาอาจารย์ของเรานะรู้แต่พูดไม่ได้ ไอ้ไม่รู้ ไม่รู้แล้วพูดนั่นล่ะแม่ปู นี่มันพาให้เราตรงไปไม่ได้หรอก ถ้ามันพาตรงไม่ได้ สิ่งนั้นโลกมีแต่อย่างนั้น ถ้าโลกมีอย่างนั้นนะเราวางไว้ เห็นไหม เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านออกประพฤติปฏิบัติ มันไม่มีครู ไม่มีอาจารย์ ไม่มีผู้อบรมสั่งสอน ก็อาศัยธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพยายามประพฤติปฏิบัติค้นคว้าขึ้นมาด้วยตัวของเราเอง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เรามองสิ เรามองสิ่งที่ว่าคำพูดกับการกระทำมันไปทางเดียวกันไหม? ถ้าการพูดกับการกระทำมันไม่ไปทางเดียวกัน มันทำให้เราสงสัย ถ้าสงสัยเราต้องพิสูจน์แล้วว่าเราทำมันได้ประโยชน์ตามจริงนั้นไหม? ถ้ามันไม่ได้ประโยชน์ตามความเป็นจริงนั้น เราจะต้องขวนขวายด้วยตัวเราเองแล้ว เราต้องดูตัวเราเอง เราต้องประพฤติปฏิบัติของเราเอง ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเราเองขึ้นมา เห็นไหม แล้วถ้าเป็นจริงขึ้นมา เวลาหลวงปู่มั่นท่านไปสอนหลวงปู่เสาร์ ท่านไปแก้หลวงปู่เสาร์

หลวงปู่เสาร์เป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่นนะ เอาหลวงปู่มั่นออกมาบวช แต่เวลาประพฤติปฏิบัติไปหลวงปู่มั่นท่านมีอุปสรรคในหัวใจ กลับไปถามหลวงปู่เสาร์ เริ่มต้นหลวงปู่เสาร์ท่านก็แก้ให้ได้ เพราะเวลาเราบวชใหม่เราจะไม่มีพื้นฐานสิ่งใดเลย เวลาหลวงปู่เสาร์ท่านแก้ให้ได้ ทีนี้พอแก้ให้ได้ การประพฤติปฏิบัติ ใจมันพัฒนาขึ้นมาได้ พอมันพัฒนาขึ้นมาได้เสมอกัน หรือพัฒนาไปมากกว่า นี่เวลาหลวงปู่มั่นท่านไปถามหลวงปู่เสาร์ บอกว่าท่านปฏิบัติแล้วมันมีอุปสรรคข้างหน้าอีก หลวงปู่เสาร์ท่านบอกว่าท่านต้องแก้เองแล้วแหละ เรามีความรู้เท่านี้แหละ

นี่คำพูดกับการกระทำมันตรงกัน ถ้ามันตรงกัน แล้วหลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติมาท่านมีสิ่งใดผิดพลาดขึ้นมา เวลาหลวงปู่เสาร์ท่านแก้ไข แก้ไขหมายความว่า เวลาปฏิบัติไปแล้วจิตมันเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ เป็นสมาธิ เวลาเป็นสมาธิแล้วมันเสื่อม เวลาเป็นสมาธิแล้วมันมีอุปสรรคเราจะแก้ไขอย่างไร? เราจะมีอุบายอย่างไรทำให้จิตเราสงบ ถ้าจิตมันมีอุบายทำให้จิตเราสงบ สงบแล้วเราจะดำเนินการต่อไปอย่างไร? พอสงบแล้วรักษาไม่ดีมันก็เสื่อม เสื่อมแล้วเราจะทำอย่างไร? จะพิจารณาของเราอย่างไร?

นี่เริ่มต้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านมีพื้นฐานท่านก็ส่งเรามาได้ แต่สิ่งที่มันเหนือกว่านั้นท่านส่งมาไม่ได้ พอท่านส่งมาไม่ได้ก็บอกว่าท่านต้องแก้ไขตัวเอง ท่านต้องปฏิบัติเองเพราะท่านมีปัญญา หลวงปู่มั่นท่านก็ต้องมาค้นคว้าของท่าน มาปฏิบัติของท่าน เพราะเวลาสิ่งที่เราบวชใหม่ แล้วมีครูบาอาจารย์ชี้นำมามันก็แก้ไขจิตนั้นมาได้ แก้ไขจิตนั้นมาได้ มันรู้มาได้ แต่เวลามันถึงที่สุดแล้วท่านมีความรู้แค่นั้น ท่านส่งเราไปไม่ได้ หลวงปู่มั่นท่านต้องไปปฏิบัติของท่านเอง

ท่านปฏิบัติของท่านเอง ท่านค้นคว้าของท่านเองนะ ตรวจสอบทางธรรมวินัย ธรรมวินัยคือพระไตรปิฎก แล้วก็มาตรวจสอบกับสัจธรรม คือสัจธรรมที่เกิดขึ้นในหัวใจของตัวเอง นี่เวลาล้มลุกคลุกคลานอย่างไร? ปฏิบัติอย่างไร? มันดีขึ้นอย่างไร? มันเสื่อมถอยอย่างไร? นี่คนที่สร้างอำนาจวาสนามา สิ่งนี้มันเป็นสัจจะ มันเป็นสัจจะในหัวใจของเรา ถ้าสัจจะอันนี้เราพิจารณาของเรา เราแก้ไขของเรา เราทำของเรา ถ้ามันผ่านพ้นไป

นี่ไงเราถึงบอกว่าถ้าหัวใจเรา บุญกุศลนี่เรามาปฏิบัติแล้วมันจะได้ความจริงไหม? เวลาเราปฏิบัติไปแล้ว จิตใจเรามีอุปสรรคมันจะผ่านพ้นไปได้ไหม? นี่ถ้าเราปฏิบัติ เห็นไหม เวลามันเป็นปัจจัตตังไง มันเป็นปัจจัตตัง ถ้าคนมีสัจจะ เวลาเราปฏิบัติไป เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราถูกหรือเราผิด ถ้าปฏิบัติไปแล้วมันมีความลังเลสงสัย ปฏิบัติขึ้นไปแล้วจิตมันไม่เป็นตามนั้น นั่นแหละมันผิด แต่ถ้ามันถูกมันถูกอย่างไร? นี่เวลาถูกนะ เวลาจิตเรามีสติปัญญาขึ้นมา เรามีคำบริกรรม เรามีปัญญาอบรมสมาธิ จิตมันนิ่ง จิตมันรวมลง มันมีความร่มเย็นเป็นสุขนะ

ดูสิเราตากแดดเราร้อน เราเข้าที่ร่มมันก็เย็น เราเข้าที่ร่มเราไม่ตากแดด ความร้อนอุณหภูมิมันก็ต่ำลง แล้วมีร่มเงาให้เราพักอาศัย มีลมโชยมา เห็นไหม นี่เวลาปฏิบัติ จิตมันปล่อยวางขึ้นมา ปล่อยวางความฟุ้งซ่าน ปล่อยวางต่างๆ เข้ามา พอปล่อยวางเข้ามามันเป็นเอกเทศของมัน ถ้าเป็นเอกเทศของมัน ดูสิมันมีหลักเกณฑ์ไหม? มันเป็นเอกเทศแล้วมันทำอะไรต่อไป? เวลาเราเข้าไปพักในร่มไม้ เราพักร่มไม้เราก็มีความร่มเย็นเป็นสุข แต่ แต่เราหิวน้ำ เราไม่มีอาหารกิน นี่แล้วเราจะทำอะไรต่อไป?

เราจะพักอย่างนั้นตลอดไปได้ไหม? เราจะอยู่โคนต้นไม้ เราจะไม่ต้องทำสิ่งใดต่อไปมันเป็นไปไม่ได้หรอก จิตถ้ามันเข้าสงบนะ นี่เราพูดเปรียบเทียบเหมือนการทำหน้าที่การงานของเรา ชีวิตประจำวันของเรา เห็นไหม นี่ตื่นขึ้นมาเราก็อาบน้ำ เราแต่งตัว แล้วเราหาอาหาร เสร็จแล้วเราจะออกไปทำงาน นี่ชีวิตประจำวันมันเป็นอย่างนั้น แต่เวลาจิตสงบขึ้นมานี่ชีวิตของจิต จิตมันสงบเข้ามามันไม่ต้องทำสิ่งใด มันเป็นความรู้สึกจากภายใน ถ้าเป็นความรู้สึกจากภายใน เวลามันสงบเข้ามาแล้วทำอย่างไรต่อไป? เราจะนอนแช่อยู่อย่างนั้น เราจะให้อยู่โคนไม้อย่างนั้นโดยที่ไม่ต้องมีการพลิกแพลงสิ่งใดไปเลยหรือ? มันเป็นไปไม่ได้

ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ เห็นไหม นี่สิ่งที่เราพิสูจน์ได้ในใจของเราไง สิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าเราทำแล้วเราจะได้ผลหรือไม่ได้ผล มันจะผิด มันจะถูกมันเป็นปัจจัตตัง มันพิสูจน์ได้ ถ้า ถ้าเราซื่อสัตย์ แต่ถ้าเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราเห็นแก่ตัว เราแบบว่ามักง่ายอยากจะได้ผลไวๆ ได้ผลไวๆ เราเข้าข้างตัวเองไง เราไม่ต้องเข้าข้างตัวเอง กิเลสมันเข้าข้างตัวเองอยู่แล้ว แล้วยิ่งเราไม่มีสัจจะกับเรา นี่เราไปเชื่อสิ่งที่มันเป็นในหัวใจ แล้วมันมีอะไรเป็นเครื่องยืนยันล่ะ? แต่ถ้ามันดีขึ้นมามันมีเครื่องยืนยัน ยืนยันว่าเรารักษาได้ เราดูแลได้ เราพัฒนาได้

จิตเวลาสงบแล้วมันมีหลักมีเกณฑ์ มันจะออกทำงานของมัน ถ้าจิตไม่ออกทำงานนะ เวลาจิตมันสงบแล้วมันไม่ทำงานของมัน นี่ติดในสมาธิ แต่ถ้ามันไม่เป็นสมาธิล่ะ? ถ้าจิตไม่มีความสงบเลย เราอยู่กลางแดด กลางฝนเราทุกข์ยากไปหมดเลย แล้วคนทุกข์ยากขนาดนี้จะไปทำอะไร? นี่ทุกข์ยากขนาดนี้จะไปทำอะไร? อาบเหงื่อต่างน้ำ เดินก็จะเดินไม่ไหวอยู่แล้ว ร่างกายอ่อนเพลียจนขยับไม่ไหวจะไปทำอะไร? แต่ถ้าได้พุทโธ พุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิมันสงบร่มเย็นเข้ามา อืม มันทำได้นะ มันทำได้ แต่ถ้ามันไม่ออกทำล่ะ? ถ้ามันไม่ออกทำเราก็จะไม่พัฒนาขึ้นไป

นี่เวลาหลวงปู่มั่นท่านไปถามหลวงปู่เสาร์ ท่านต้องทำเอง ท่านต้องพิจารณาของท่านเอง เราไม่มีปัญญาสอนท่านได้

หลวงปู่มั่นท่านมาพิจารณาแล้วพิจารณาเล่า พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่หาวิธีการของตัว พอวิธีการของตัวนะ จนจิตมันสงบ คนมีวาสนานะ ข้างนอก ข้างนอกคือว่าสังคมก็มีคนเมตตา มีครูบาอาจารย์ท่านดูแล นี่สังคมก็เกื้อหนุนอำนวย เกื้อกูลกัน เวลาจิตสงบไปแล้ว ถ้าคนมีอำนาจวาสนานะก็มีเทวดา มีสิ่งที่เป็นเทวดา อินทร์ พรหมคอยเกื้อกูล

สิ่งที่คอยเกื้อกูลนะ มันมีความสงสัย มันมีสิ่งใดมันจะสัมผัส ถ้าคนที่มีสติ มีสัมปชัญญะ มีหลักมีเกณฑ์เขาจะไม่ตื่นเต้นกับสิ่งนี้ ไม่ตื่นเต้นเลย มันเป็นการแก้ไข มันเป็นการแก้ไข มันเป็นการเอาจิตนี้มาพัฒนา เอาจิตมาแก้ไข เราจะฆ่ากิเลส เราจะฆ่าสิ่งที่มันอยู่ในหัวใจของเรา สิ่งนี้ เราไม่เอาสิ่งนี้มาเป็นประเด็นเลย ถ้าไม่เอาสิ่งนี้มาเป็นประเด็น สิ่งใดที่เกิดขึ้นนี่ไม่ตื่นเต้น โลกนะเขาทำงานกัน ดูสิเวลาเขาไปทางธรณีวิทยา เห็นไหม ที่ไหนมีทองคำดำ มีน้ำมันนี่เขาตื่นเต้นนะ อู๋ย เขาต้องลงทุนลงแรงก็เพื่อเอาสิ่งนั้นมาใช้ประโยชน์

นี่เรื่องทางโลก แต่ถ้าทางธรรมล่ะ? เวลาจิตมันมีความสงบร่มเย็นของมันล่ะ? แม้แต่ทางธุรกิจเขายังตื่นเต้นนะ เขาสำรวจที่ไหนถ้ามีแหล่งแร่ แหล่งน้ำมันนะ เขาจะแย่งชิงกันเพื่อไปลงทุนเพื่อจะเอาผลประโยชน์ของเขา นี่เป็นประโยชน์สาธารณะที่ทางโลกเขายังต้องแข่งขันกัน แล้วเวลาประโยชน์ทางจิตล่ะ? นี่เวลาจิตของเราร่มเย็นเป็นสุข เห็นไหม เรามีแหล่งแร่นะ เรามีฐีติจิตนะ เรามีหัวใจของเราที่จะแก้ไขนะ จิตใจของเรา ดูสิทองคำ ทองแดงต่างๆ แร่ต่างๆ เขาได้สิ่งใดมาเขาต้องมาหลอม เขาต้องมาแต่งแร่ เขามาคัดนะความบริสุทธิ์ของมัน

นี่จิตใจของเราถ้ามันเป็นสมาธิล่ะ? จิตเรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา นี่เราพิจารณาของเรา เราดูแลของเรา แล้วดูแลของเรา ถ้าคนไม่มี ดูสิดูทางสิ่งที่เขาไม่มีทางวิชาการ เขาไม่มีเทคโนโลยี เขาจะเอาแร่ดิบๆ เอาสิ่งที่ว่ามันเป็นแร่ธาตุ เป็นสินค้าที่ขายได้ราคาต่ำ ออกค้าขายอย่างนั้น บางประเทศนะ บางประเทศเขาเป็นเจ้าของบ่อน้ำมัน แต่บางประเทศเขาไม่มีโรงกลั่นน้ำมันนะ เขาขายน้ำมันดิบออกไปนะ แล้วซื้อน้ำมันสำเร็จรูปมาใช้ นี่ดูประโยชน์ของเขา

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเรา นี่เวลาเขาไม่มีเทคโนโลยีของเขา เขาต้องขายวัตถุของเขาด้วยราคาต่ำ แต่จิตใจของเรา เวลาถ้ามันมีสติปัญญาขึ้นมามันจะแก้ไขสิ่งนี้ไง ถ้าแก้ไขสิ่งนี้ นี่ครูบาอาจารย์ท่านพิจารณาของท่าน ท่านแก้ไขของท่าน ถ้าแก้ไขของท่าน วิธีการแก้ไข นี่ประเทศที่เขามีบ่อน้ำมัน แต่เขาไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน เขาต้องขายน้ำมันดิบออกไป แล้วไปซื้อน้ำมันสำเร็จรูปมาใช้ จิตใจของนี่เวลามีมีกิเลสทั้งนั้นแหละ แล้วเราจะใช้ปัญญาของเราแก้ไขจิตใจของเราอย่างไร?

นี่ถ้ามีสติ มีปัญญา มีหลักมีเกณฑ์มันจะเริ่มมีความรู้สึกนึกคิดเปรียบเทียบ แล้วดูแลใจของเรา จะพัฒนาใจของเราขึ้นไป มันจะเป็นอริยสัจ เป็นมรรคไง มันจะเป็นมรรค ๘ เห็นไหม ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความชอบธรรมในหัวใจมันจะเกิดขึ้น นี่พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาอย่างนี้ไง ปัญญาด้วยแล้วมีหลักเกณฑ์ด้วย ไม่ตื่นเต้น ไม่ตื่นเต้นกับความเห็นของตัว ไม่ตื่นเต้นกับสิ่งที่ประสบ ประสบนะ คนถ้ามีอำนาจวาสนา จะมีคนอุปถัมภ์ จะมีคนค้ำจุน

เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม สิ่งใดที่มันเกิดขึ้นจากภายใน นี่มันเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ละล้าละลังนะ นี่มันก็มหัศจรรย์ มหัศจรรย์ แค่จิตสงบก็มหัศจรรย์แล้ว มหัศจรรย์เพราะมันสงบร่มเย็นขนาดนี้ ถ้าไม่สงบร่มเย็นขนาดนี้ ทำไมนักปฏิบัติเราบอกว่านี้คือนิพพานล่ะ? เวลาเข้าสมาธิได้นี่หลงว่าเป็นนิพพานนะ นี่สิ้นกิเลสแล้วเพราะมันร่มเย็นเป็นสุข มันมหัศจรรย์มาก มหัศจรรย์ เห็นไหม แต่เวลามันเสื่อมมันหมดเลย เพราะมันไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ

คำว่าข้อเท็จจริงนะ เหตุ นี่เหตุ “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” แล้วสิ่งนี้เราประพฤติปฏิบัติระดับเหตุของเราได้แค่ความสงบร่มเย็น แต่มันยังไม่เกิดปัญญา ไม่เกิดวิปัสสนาญาณแก้ไข ถ้าแก้ไขขึ้นมา เห็นไหม สิ่งที่เกิดขึ้น นี่ไงถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์ แม่ปูบอกเดินให้ตรงนะ ลูกเดินให้ตรง แล้วเดินอย่างไรล่ะ? เดินอย่างไรเดินให้ตรง? ก็อยากจะเดินให้มันตรง นี่มันตรงอย่างไร? โดยสัญชาตญาณไง แต่ถ้าเป็นหัวใจ เวลาเป็นความรู้สึกมันเล็งให้ตรงได้ไหม?

ถ้ามันเล็งให้ตรงได้ เห็นไหม สิ่งที่เราหลบจากแดด จากฝนเข้ามาพักร่มเย็น แต่ถ้าร่มเย็นแล้ว จิตใจมันเป็นสมาธิแล้วเราจะทำอย่างไรต่อไปให้จิตมันพัฒนาขึ้นไป ถ้ามันพัฒนาได้มันก็จะเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมมันเกิดภาวนามยปัญญา ถ้าเกิดภาวนามยปัญญา เราจะรู้ เราจะเห็นของเรา ถ้ารู้เห็นของเรานะมันแก้ไข เวลาคนถ้าจิตสงบแล้ว แล้วเวลาออกใช้ปัญญามันจะขวนขวาย คำว่าภาวนาเป็น คนภาวนาเขาจะสงวนเวลาของเขา เขาจะไปที่สงบสงัด เขาจะเข้าไปชัยภูมิที่ควรแก่การงาน

ที่ชัยภูมิ เห็นไหม เวลาพระกรรมฐานเราไปเที่ยวป่าช้า ไปอยู่ในป่าช้า ไปอยู่ในที่โลกเขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่ารังเกียจมันจะได้ไม่มีคนไง เขาไม่ไปในที่พลุกพล่าน นั่นคือที่อโคจร อโคจรคือไม่ควรไป อโคจร แต่เป็นที่ของคฤหัสถ์เขา เป็นที่ของสิ่งที่เขาทำธุรกิจของเขา เขาต้องการผลประโยชน์ของเขา เขาไปหาผลประโยชน์ทางโลก ประโยชน์ทางโลกเพื่อการดำรงชีวิต ปัจจัย ๔ แต่เราจะหาความจริงของเรา เราไปในป่าช้า ไปในป่ารกชัฏ ไปในที่ไม่มีคน นี่คนภาวนาเป็น

คนภาวนาเป็นเขาจะหาที่ชัยภูมิของเขาเพื่อประพฤติปฏิบัติของเขา แล้วจะดูแลรักษาใจของเขา แล้วถ้าจิตมันเป็นไปนะ มันเป็นไปของมัน จิตเวลามันเป็นไปของมัน มันออกพิจารณาของมัน มันเห็นของมัน นี่เทวดาฟ้าดินเขาอนุโมทนา เขาอยากให้เป็นอย่างนั้น เวลาในพระไตรปิฎกนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในป่าในเขา เทวดาเขาร่มเย็นเป็นสุข เวลาพระองค์นั้นจะจากไป สิ่งที่จะจากไปนะเขาละล้าละลัง เขาอาราธนา เขาอยากให้อยู่กับเขา เพราะเขาได้ความร่มเย็นเป็นสุขอันนั้น นี่จิตที่มันเป็นธรรมไง

ฉะนั้น เวลาอยู่ในป่า ในเขา เวลาเทวดา อินทร์ พรหมเขาดูแลของเขา เขารักษาของเขานะ เพราะ เพราะเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมนะมันก็มีทุกข์หยาบ ทุกข์ละเอียดไปประสาภพชาติ แล้วประสาภพชาติ ในเมื่อจิต ดูสิความรู้สึกของเรา เราว่าเราเป็นผู้มีปัญญาคนหนึ่งนะ เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทางวิชาการทุกคนก็เข้าใจได้

เวลาเราสวดธัมมจักฯ กัน ทเวเม ภิกขเว ทางสองส่วนที่ไม่ควรเสพ ทางสายกลางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มรรค ๘ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ นี่เวลามัคคะมันรวมตัว เกิดญาณ เกิดความสว่าง เกิดปัญญา เราสวดทุกวันเลย สวดทุกวัน

นี่ทางวิชาการ เห็นไหม เขาศึกษามาทางวิชาการเราก็ว่าเราเข้าใจได้ ทีนี้เวลาเราสวดของเรา เราก็ศึกษาของเรา เราก็ว่าเราเข้าใจได้ ความเข้าใจอย่างนี้มันเป็นความเข้าใจแบบโลกๆ นี่ว่าปัญญาๆ แต่เวลามันเป็นจริงขึ้นมานะ ใจเราสงบแล้ว เรารู้ เราเห็นของเรา มันเป็นปัจจัตตัง จิตดวงนั้นได้สัมผัส จิตดวงนั้นได้แสวงหา ได้ค้นคว้ามา จิตดวงนั้นมันรู้ของมัน เวลาจิตสงบแล้วมันออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม

นี่เวลาเรานั่งภาวนาของเรา เวลามันเกิดการบีบคั้นของธาตุ ของร่างกาย นี่มันจะเกิดความเจ็บปวดขึ้นมา เกิดอาการปวดต่างๆ ถ้ามีสติปัญญาเราใคร่ครวญของเรา เราพิจารณาของเรา เพราะเรามีสติปัญญานะ มีสมาธิ มีหลักมีเกณฑ์มันทำได้ ถ้าไม่มีหลักมีเกณฑ์ เจ็บก็โอย ปวดก็โอย นี่จิตใจ เห็นไหม

จิตใจนี้อยู่ท่ามกลางแดด อยู่ท่ามกลางความเร่าร้อน มันไม่มีกำลังของมันที่สามารถจะพิจารณาได้ แต่เวลาอยู่ในความร่มเย็นเป็นสุข อยู่ในร่มต่างๆ เราอยู่ในร่ม ถ้าจิตมันเห็นเวทนา เห็นต่างๆ เราอยู่ในร่มใช่ไหม? เราไม่เดือดเนื้อร้อนใจจนเกินไปนัก เราจะมีสติปัญญาใคร่ครวญของเรา เราแยกแยะของเรา

เกิดปัญญา ปัญญานี่ฝึกฝน ฝึกฝน ฝึกให้มีการกระทำ มันเกิดเป็นปัจจัตตังไง เกิดเป็นปัจจัตตังคือมันเห็นต่อหน้า โกรธเดี๋ยวนี้ หายเดี๋ยวนี้ นี่สิ่งใดที่มันมีความเศร้าหมองในหัวใจเดี๋ยวนี้ มันจะปล่อยวางได้เดี๋ยวนี้ มันเห็นเป็นปัจจุบันไง มันเห็นกันเดี๋ยวนั้น พิจารณาเดี๋ยวนั้น พอมันยิ่งพิจารณาไปมันเห็นของมัน จิตใจมันจะพัฒนาเพราะมันเชื่อมั่น คนเราปฏิบัติแล้วมันสมความปรารถนา มันจะมีความเชื่อมั่นในตัวมันเอง ถ้าเชื่อมั่นขึ้นมานี่เราทำได้ เราทำได้

แต่ก่อนล้มลุกคลุกคลาน แต่ก่อนเวลาปฏิบัติล้มลุกคลุกคลาน เราจะไม่มีความมั่นคงเลย เราทำสิ่งใดมันกระเทือนหัวใจทั้งนั้น แต่เวลาพิจารณามันมีความตั้งมั่นของมัน มันมีกำลังของมัน มันพิจารณาของมัน มันมีประสบการณ์ของมัน เราทำได้ๆ มันขยันหมั่นเพียร มันทำของมัน ถ้าทำของมัน นี่มันพัฒนาขึ้นมามันเกิดปัญญา เพราะปัญญาที่เกิดขึ้นมันมีความสุข เห็นไหม มีความสุขคือตทังคปหาน นี่สุขที่เกิดจากการใช้ปัญญา ปัญญาที่มันเกิดขึ้นมันทำให้สะอาด ทำจิตใจให้มันเบาลง มันเบาจากการกดขี่ของตัณหา ของความทะยานอยากของมาร พิจารณาซ้ำ พิจารณาซากขึ้นมา

นี่พิจารณาขึ้นไป ผู้ที่มีการกระทำ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาผลมันเกิดขึ้น เกิดขึ้นที่ไหน? เกิดขึ้นที่หัวใจนะ จิตใจที่มันทุกข์ มันร้อน ที่มันจะก้าวหน้าไปไม่ได้ มันปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันเป็นจริง นี่อำนาจวาสนาให้จิตดวงนี้ได้สัมผัส พอได้สัมผัสอย่างนี้ คนกระหายนะเดินไปบนทะเลทราย ขณะอยู่ที่กลางทะเลทรายนี่หิวกระหายมาก ถ้ามีน้ำดื่ม มีสิ่งต่างๆ เขาจะมีความสุขของเขา

จิตใจของเรามันหิวมันกระหาย มันไม่เคยได้สัมผัสธรรมเลย แต่เวลาสิ่งที่มันสัมผัสกิเลสตัณหาความทะยานอยาก สัมผัสความคิด ความรู้สึกนึกคิดที่แห้งแล้ง มันมีแต่ความเจ็บช้ำน้ำใจทั้งนั้นแหละ มันมีความรู้สึกสะเทือนหัวใจ แต่ แต่มันก็ไม่ตาย มันก็ไม่บุบสลาย แล้วมันก็ไม่เข็ด มันก็คิดซ้ำ คิดซาก นี่มันมีสัมผัสแต่ความทุกข์มาตลอด ฉะนั้น พอจิตมันสงบเราก็ได้ความร่มเย็นเป็นสุข เห็นไหม จากที่มันตากแดด ตากฝนก็มาอยู่ในที่ร่ม เวลามันพิจารณาของมันไป เห็นไหม มันได้ดื่ม ได้กิน

“นี่รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง”

สัจธรรมที่เราได้สัมผัส มันมีความสุข เวลาใช้ปัญญา ปัญญาใคร่ครวญแล้วมันมีความสุข มีความพอใจของใจดวงนั้น เวลาพัฒนาขึ้นไป เวลาปฏิบัติไปแล้ว สิ่งนี้ทำแล้วพิสูจน์ในหัวใจของเรา ทีนี้พิสูจน์ในหัวใจของเรามันไม่มีครูบาอาจารย์ที่จะสอน หลวงปู่มั่นไม่มีครูบาอาจารย์สอน ก็มาเทียบกับตำรับ ตำรา มาเปิดตำราแล้วก็มาพิจารณาซ้ำๆ นี่สิ่งที่เวลามันเป็นจริงขึ้นไป เวลาจิต เวลาพิจารณาจนมันขาดนะ กาย เวทนา จิต ธรรมขาดจากจิต เวลาขาดจากจิตมันสะเทือนเลื่อนลั่นในหัวใจ

เวลาจิตที่มันทำให้สงบระงับ สิ่งที่คนที่ไม่มีอำนาจวาสนานะ เทวดา อินทร์ พรหมอนุโมทนา เข้ามาคอยให้สติ ให้ปัญญา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นบุคลาธิษฐาน เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ นี่เทวดามาดีดพิณสามสาย ถ้ามันตึงเกินไป ดีดมันก็ขาด ถ้ามันหย่อนเกินไปมันก็ไม่มีเสียง ถ้ามันมัชฌิมาปฏิปทาท่ามกลาง เสียงจะเพราะ เสียงจะนุ่มนวล มันจะเป็นประโยชน์หมด นี่บุคลาธิษฐาน แต่ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติมันก็มีจริงๆ นะ มีอย่างนั้นจริงๆ แต่ แต่เป็นแต่ละคน แต่ละดวงใจที่ได้สร้างบุญกุศลกันมา

เวลาเราสร้างบุญกุศล เห็นไหม เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ นี่ไม่มีต้น ไม่มีปลาย เราได้สร้างสมมามาก ถ้าคนที่สร้างสมมามากก็มีญาติ มีตระกูลมาก ฉะนั้น เวลาทำสิ่งใดไป เทวดาจะมาส่งเสริม มาต่างๆ เขารอตรงนี้อยู่ เขารอตรงนี้อยู่ เพราะสิ่งที่ไม่รู้ ทุกคนรู้ได้ ทุกคนรู้ได้ว่าสิ่งที่ไม่มี สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ทุกคนรู้ได้ แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ใครรู้ ไม่มี แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เวลาแสดงธัมมจักฯ เทวดาส่งข่าวขึ้นไปเป็นชั้นๆ นะ

นี่ปัจจุบันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงธัมมจักฯ จักรนี้ได้เคลื่อนแล้ว ได้ชำระกิเลสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จักรนี้จะไม่มีการย้อนกลับเลย เทวดาส่งข่าวเป็นชั้นๆๆ ขึ้นไปเลยล่ะ เพราะอะไร? เพราะเขารออยู่

ทีนี้เทวดาส่งข่าวเป็นชั้นๆ ขึ้นไปแล้ว แล้วเวลาหลวงปู่มั่น เวลาครูบาอาจารย์เรามาประพฤติปฏิบัติ เทวดาเขามารออะไรอยู่อีกล่ะ? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว นี่ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีคุณธรรม ท่านก็ได้นิพพานไปหมดแล้ว

ฉะนั้น หลวงปู่มั่นเวลาท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม จิตมันสัมผัสได้ เพราะ เพราะสอุปาทิเสสนิพพาน มันมีเศษส่วน มันมีเศษ มีขันธ์ ๕ มีสิ่งที่สัมผัสได้ สิ่งที่ทำให้เทวดา อินทร์ พรหมเขาเห็นได้ แต่เวลาท่านนิพพานไปแล้วจบ นี่พอมันจบแล้วจะไปถามใครล่ะ? จะไปฟังเทศน์จากใคร? นี่จะไปฟังเทศน์จากใคร? แต่ถ้าเวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติของท่านขึ้นมา ท่านมีคุณธรรมในหัวใจของท่าน ท่านยังพูดได้ เห็นไหม

เวลาเทศน์ในประวัติหลวงปู่มั่นบอกว่า “เวลาเทศน์ให้คนฟังนี่นะเหนื่อยมาก ต้องใช้เสียง ใช้ต่างๆ แต่เวลาเทศน์ให้เทวดาฟังง่ายมากเลย ภาษาใจ นี่ใจถึงใจ”

เทวดา อินทร์ พรหมเขามาภาษาใจ ในเมื่อมันมีอยู่ ในเมื่อสอุปาทิเสสนิพพานยังมีสิ่งที่สืบต่อได้ ทีนี้เทวดา อินทร์ พรหมเขามาฟังเทศน์ตรงนี้ไง นี่บอกว่าในเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา แสดงธัมมจักฯ ขึ้นมา เทวดาส่งข่าวไปแล้ว ต้องรู้ข่าวอันนั้นอยู่แล้ว ทำไมต้องมาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์อีกล่ะ? นี่เวลาส่งข่าวนั้นเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่นะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา นี่อายุ ๔๕ ปี แล้ว ๔๕ ปี เสวยวิมุตติสุขอยู่ ๓ สัปดาห์ แล้วมาเทศน์ธัมมจักฯ เทศน์ธัมมจักฯ อายุ ๔๕ ปี

นี่ในเมื่อพระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ แล้วพระพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ อยู่ มันก็ส่งข่าวขึ้นไป เทวดาก็มาฟังเทศน์พระพุทธเจ้า เทวดาก็มาอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าหมดแหละ แต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ทีนี้เหลือธรรมวินัย คือร่องรอยธรรมวินัยที่บัญญัติวางไว้ พอวางไว้แล้วเทวดาจะมาฟังจากใคร? เรายังมีอำนาจวาสนากว่าเพราะเรามีหู มีตา เรายังอ่านจากพระไตรปิฎกได้ นี่แต่อ่านแล้วก็งง

ฉะนั้น เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติของท่านขึ้นมามันถึงมีสิ่งนี้มาไง เพราะท่านสร้างอำนาจวาสนามา คำว่าสร้างอำนาจวาสนามาคือท่านเป็นหัวหน้าทำบุญกุศล ท่านเป็นผู้นำ เป็นผู้นำทำสิ่งที่ดีๆ ฉะนั้น ถ้ามันสายบุญสายกรรม เห็นไหม เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติของท่านขึ้นมามันถึงมี คนเรานะถ้าจะประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ จะต้องมีความมั่นคงในใจ ทีนี้คนที่มีความมั่นคงในใจ คนที่เชื่อมั่นตัวเองสูง คนจะมีทิฐิมาก

ทีนี้คนที่มีทิฐิมาก คนที่มีปัญญามากฟังใครไม่ได้หรอก จะไม่ฟังใครหรอก จะฟังใคร คนๆ นั้นต้องมีอำนาจเหนือกว่า คนๆ นั้นต้องมีเหตุผลที่เหนือกว่า แล้วคิดดูสิ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนสังคมยอมรับนับถือเห็นไหม

แล้วเวลาหลวงปู่มั่นท่านพิจารณาของท่าน ท่านสั่งสอนของท่าน ท่านสร้างบุคลากร ดูสิลูกศิษย์หลวงปู่มั่นเป็นเพชรน้ำหนึ่งๆ อีกมหาศาลเลย แล้วเพชรน้ำหนึ่งๆ เขามีบุญกุศลของท่าน ท่านจะฟังใครง่ายๆ ไหม? นี่ไงสายบุญสายกรรม ที่หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ท่านได้สร้างบุญกุศลของท่านมา ฉะนั้น เวลาทำสิ่งใดๆ ไป สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านมาก

ทีนี้เวลาท่านพิจารณาของท่าน ท่านปฏิบัติของท่านขึ้นมาจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ เห็นไหม แล้วหลวงปู่มั่นท่านก็ไปแนะนำหลวงปู่เสาร์ นี่สิ่งที่ว่าให้ธรรมมาสถิตที่ตา ให้ธรรมมาสถิตที่ใจ คือการสวดอ้อนวอน สิ่งนั้นเราวางไว้ก็ได้ สิ่งที่สวดอ้อนวอน เราประพฤติปฏิบัติดีกว่า

พระกรรมฐานเรา เวลาข้อวัตรปฏิบัติคือเครื่องอยู่ของจิต นี่เราถึงมีข้อวัตรนะ เช้าขึ้นมาดูสิวัตรในศาลา ทำวัตรของเรา เรามีวัตรพร้อมออกบิณฑบาต มีวัตรต่างๆ มันเป็นเครื่องอยู่ นี่วัตรเป็นเครื่องอยู่ ข้อวัตรปฏิบัติเป็นเครื่องอยู่ของใจ เครื่องอยู่เพื่ออะไร? เพื่อเอาใจอยู่กับตัวเรา แล้วเราได้ประพฤติปฏิบัติ สิ่งนี้ที่ข้อวัตรปฏิบัติเพื่อการประพฤติปฏิบัติ

ฉะนั้น เวลาสวดมนต์อ้อนวอนขอเอา การขอเอา วัฒนธรรมประเพณีมันเป็นความดีงาม เป็นความสวยงามของสังคม สังคมถ้ามีวัฒนธรรมประเพณีก็ทำให้สังคมนั้นเป็นสังคมที่ดีงาม แต่ความดีงามก็ดีงามของโลกไง มันไม่ใช่ดีงามของจิต ถ้าดีงามของจิต เห็นไหม นี่ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ศาสนธรรม สัจธรรม สัจธรรมอันนั้นถึงเป็นความจริง ถ้าใจมันจะเข้าสู่สัจธรรมมันต้องมีหลักมีเกณฑ์ พอมีหลักมีเกณฑ์ เราถึงต้องมีข้อวัตรปฏิบัติขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องอยู่ แล้วรักษาใจให้ตั้งมั่น ถ้ารักษาใจให้ตั้งมั่นนะมันจะออกหาสิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

กิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วบอกว่ากาย เวทนา จิต ธรรมมันเป็นกิเลสตรงไหน? เป็นกิเลสตรงไหน? นี่ว่าฆ่ากิเลสๆ จะไปฆ่าอะไรที่กาย? กาย เวทนา จิต ธรรม เห็นไหม คนเราเกิดมาก็มีรูปธรรม นามธรรม มีกายกับใจ ถ้ามีกายกับใจ ความตระหนี่ถี่เหนียวมันอยู่ในหัวใจ แต่ แต่เวลามันหวงมันหวงที่ไหนล่ะ? ใจมันหวงอะไร? ใจมันก็หวงใจนั่นแหละ หวงตัวมันเองนั่นแหละ แต่ตัวมันเองเป็นนามธรรม ทีนี้นามธรรม สิ่งในโลกที่มีคุณค่าที่สุดก็คือชีวิตของมนุษย์ คือชีวิตของเราสิ่งที่มีค่ามาก ฉะนั้น เวลามันหวง มันก็หวงออกมาที่กายนี่ไง

ถ้าหวงมาที่กายนี้ เห็นไหม ดูสิเราก็บอกว่าเราไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย เราจะมีชีวิตค้ำฟ้า เราจะอยู่จนโลกหน้า โอ๋ย ถ้าบอกว่าไม่ตายได้ทุกคนสมัครเลย ไม่ตาย แต่มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น พอเป็นไปไม่ได้ สิ่งนี้คนหวง คนถนอมรักษา หวง ถนอมรักษาคืออะไร? นี่แล้วความจริงมันคืออะไร? ความจริงมันคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่เราปรารถนา ทีนี้เราปรารถนา แล้วเราจะรู้จริงได้อย่างไรว่าสิ่งที่มันเป็นความจริงไปไม่ได้ล่ะ? นี่พอจิตสงบแล้วมันก็พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมไง

ฉะนั้น บอกว่ากาย เวทนา จิต ธรรมคือกิเลสหรือ? ไม่ใช่ กิเลสมันคือกิเลส แล้วกิเลสมันอยู่ที่ไหนล่ะ? กิเลสมันอาศัยสิ่งนี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว อาศัยสิ่งนี้เป็นเครื่องดำรงชีวิตของมัน ฉะนั้น เวลาจิตสงบแล้วเราก็พิจารณาสิ พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม พิจารณาของมันไป พิจารณาแล้วฆ่ากิเลสอย่างไรล่ะ? พิจารณาไปแล้วมันเป็นไตรลักษณ์ มันเป็นไตรลักษณะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มันมีของมัน วงรอบของมัน มันมีการกระทำของมัน แล้วถ้าจิตมันพิจารณาแล้วมันเห็นของมัน เห็นความจริงของมัน เห็นไหม มันเริ่มรู้จริงของมัน

เหมือน เหมือนคนเป็นไข้ คนเป็นไข้แล้วกินยาลดไข้ ไข้มันก็หาย จิตใจที่มันมีความยึดมั่นถือมั่นของมัน ดูสิมันหวง มันหึงของมัน ร่างกายนี่ของเรา ทรัพย์สินนี้เป็นของเรา เกิดมาแล้วต้องเป็นของเราทั้งหมด โดยกิเลสนะ แต่โดยมรรยาทไง วัฒนธรรมชาวพุทธไง วัฒนธรรมชาวพุทธ เห็นไหม

ดูสิทางตะวันตกเขาดูทางตะวันออก เวลาคนเกิด คนตาย ทำไมทางตะวันออกเขาไม่ค่อยทุกข์ยากนัก ถ้าทางตะวันตกเวลาเขาเกิด เขาตาย เขาเป็นวิทยาศาสตร์ไง เขาพิสูจน์ไม่ได้ จิตใจมันคัดค้าน เขาทุกข์ยากนะ แต่ทางตะวันออก เห็นไหม นี่ศาสนาเกือบทุกศาสนา เรื่องการเกิดและการตาย เพราะว่าศาสดาสอนไว้อย่างนั้น สอนนะว่าคนเกิดมาแล้วตายหมด

นี่โดยวัฒนธรรมประเพณีเราก็รู้ทั้งนั้นแหละ มันถึงไม่ทุกข์ยากจนเกินไป แต่ แต่สิ่งนี้มันเป็นการหึงหวงของใจ ถ้าใจยังหึงหวง มันมีที่หวง ที่รักษาของมัน มันก็จะเกิดตรงนั้นแหละ ฉะนั้น เราก็พิจารณาตรงนั้น เห็นไหม ว่ากาย เวทนา จิต ธรรมเป็นกิเลสหรือ? ไม่ใช่ มันเป็นวัตถุมันเป็นกิเลสได้อย่างไร? แต่เวลาพิจารณาของมันไปแล้วกิเลสมันอาศัยสิ่งนี้แสดงออก เราก็ พิจารณาซ้ำๆ มันก็ปล่อยของมัน ดูแลของมัน มันวางของมัน พอวางของมัน นี่ไงไตรลักษณ์ พอเห็นไตรลักษณ์เข้า เราเห็นไตรลักษณะ จิตมันไม่มีที่ยึดเหนี่ยวของมัน

นี่จิตใต้สำนึกมันยึดเหนี่ยว ยึดเหนี่ยวที่ไหน? ยึดเหนี่ยวที่ภพ เวลามันปล่อยภพมันปล่อยอะไร? นี่มันปล่อยสักกายทิฏฐิ ทิฐิความรู้ ความเห็น นี่มันปล่อยๆๆ ถึงที่สุดแล้วมันขาด พอมันขาดขึ้นไปมันก็รู้จริงตามความเป็นจริง เห็นไหม มันถึงเกิดธรรม เกิดธรรม นี่ดูสิพิจารณากายซ้ำ อุปาทานขาดไป พิจารณาซ้ำเข้าไป กามราคะขาดไป พิจารณาซ้ำเข้าไป ทำลายภพ ทำลายชาติ ทำลายภพ ทำลายจิตเดิมแท้ ทำลายหมดเลย

นี่ไงสิ่งนี้ไง สิ่งนี้ที่เทวดาฟังธรรมๆ เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางธรรมวินัยไว้มันก็เป็นกิริยา กิริยา เห็นไหม ดูสิสัจจะ นี่พระพุทธเจ้าเทศนาว่าการเรื่องนั้นๆ แต่เทศนาว่าการโดยอะไร? ก็โดยจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ ท่านเทศนาว่าการอย่างนั้น ฉะนั้น เวลาเทวดามาฟังเทศน์ ฟังเทศน์เรื่องอะไร? ถ้าฟังเทศน์เรื่องอริยสัจ ถ้าเทวดาใหม่ๆ ก็ว่านี่อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นบาปอกุศล การเกิดและการตายเป็นเพราะเหตุใด ก็ฟังเทศน์อย่างนั้นก่อน ถ้าพอเข้าใจถึงเรื่องจิต เรื่องการเกิด การตายในวัฏฏะ นี่ฟังอริยสัจ

อริยสัจคืออะไร? อริยสัจ ก็จิตที่มันเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมนี่เกิดมาได้อย่างไร? พอเกิดมาแล้วมีอะไรแก้ไข ถ้าพูดถึงเราเป็นมนุษย์ล่ะ? เราเป็นมนุษย์เราก็อยากจะแก้ไขของเรา แก้ไขในจิตใจของเรา นี่เราประพฤติปฏิบัติ ดูสิถ้าผู้นำของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนเป็นประโยชน์กับกรรมฐานของเรานะ

เวลาเราพูดถึงครูบาอาจารย์เราว่า “ท่านอาจารย์ใหญ่ๆ ท่านอาจารย์ใหญ่เป็นผู้บุกเบิก บุกเบิกให้เรามีหลักมีเกณฑ์ บุกเบิกขึ้นมาให้มีประโยชน์กับเรา”

ประโยชน์กับเราอย่างนี้ ประโยชน์อันละเอียด โลกเห็นได้ด้วยความหยาบๆ ของตาเนื้อ ประโยชน์นี่เราได้เรื่องวัตถุ เรื่องสิ่งต่างๆ เรื่องชื่อเสียงกิตติศัพท์ กิตติคุณ นั่นเรื่องของโลก เราทำนะ ถ้าเป็นคนที่มีคุณธรรมเขาทำบุญทิ้งเหว ทำบุญโดยไม่มีใครรู้ ทำเสร็จแล้วเราพอใจของเรา ฉะนั้น สิ่งที่เราจะเอาชีวิตเราให้มีหลักมีเกณฑ์นะ ถ้าเรารักษาหัวใจของเราไว้ได้ ถ้าเรารักษาหัวใจของเราไว้ได้นะ จะไม่มีใครทำลายเราได้เลย

แต่ในปัจจุบันนี้เวลาเราทุกข์ เรายากเพราะเรารักษาหัวใจของเราไว้ไม่ได้ คนนะเขาแค่ยิ้มเยาะเราก็ทุกข์ ก็ยาก คนเขาถากถางนินทาเราก็มีความหวั่นไหวไปกับเขา แต่ถ้าเรารักษาหัวใจของเราไว้ได้นะ มันมีใครสักคนหนึ่งไหมที่ไม่เคยมีคนติฉินนินทา มันมีสักคนหนึ่งไหมที่คนเขาจะยกย่องโดยที่ว่าเขาไม่ได้พิสูจน์ตรวจสอบ มันไม่มี ถ้ามันไม่มี ชีวิตของเราก็คือชีวิตของเราใช่ไหม? ฉะนั้น ชีวิตของเรา เราก็ดูแลรักษาของเรา นี่ถ้าเรารักษาหัวใจของเราได้ ใครมันจะมาย่ำยีหัวใจของเราล่ะ? ถ้าใครมาย่ำยีหัวใจของเราไม่ได้ ใครมันจะเป็นความสุขล่ะ? ก็ผู้ที่รักษาใจดวงนั้นไว้ได้ นี้ก่อนที่จะรักษาใจดวงนั้นไว้ได้ เห็นไหม เรารักษาวิธีใด?

ฉะนั้น การรักษาวิธีแบบใดเราถึงมาศึกษา เราถึงมาฝึกหัด ถ้าเราฝึกหัด นี่ฝึกหัดก็ดูแม่ปู ดูผู้อบรมสั่งสอน อบรมสั่งสอนเรื่องอะไร? วัตรปฏิบัติเขาก็เน้นกันที่ปฏิบัติ เน้นกันที่นั่น ทีนี้การปฏิบัติ คนเรามันมีชีวิตใช่ไหม? ชีวิตต้องมีปัจจัย ๔ ทีนี้ปัจจัย ๔ ปัจจัย ๔ เพื่อปัจจัย ๔ จบ ปัจจัย ๔ เอาปัจจัย ๔ นั้นเพื่อผลประโยชน์ เพื่อชื่อเสียงกิตติศัพท์ กิตติคุณนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ อ้างปัจจัย ๔ กัน แต่ แต่เพราะสิ่งนั้นปัจจัย ๔ มันก็พออยู่ดำรงชีวิตแล้วแหละ แต่ก็ปัจจัย ๔ ปัจจัย ๔ แล้ว แต่อ้างอิงตัวตนขึ้นมาไง

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นปัจจัย ๔ มันเพื่อดำรงชีวิต ฉะนั้น เมื่อเราดำรงชีวิตของเราได้แล้ว เราก็ต้องหาที่สงบสงัด ชีวิตนี้ดำรงได้แล้ว ดำรงไว้ทำไม? ดำรงไว้ค้นหาความจริงในชีวิตไง นี่ถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตมีหลักมีเกณฑ์แล้ว เอาจิตนั้นเข้ามาค้นคว้าในหัวใจของเรา การค้นคว้าในหัวใจของเรา นี่คืออริยสัจ สัจจะความจริงที่บอกว่ากาย เวทนา จิต ธรรมมันเป็นกิเลสหรือ? มันไม่ใช่ ไม่ใช่ๆ แต่เพราะจิตนี้เอามาค้นคว้าหาตัวมันเอง นี่เวลาพลังงานไฟฟ้ามันออกไป เวลามันเคลื่อนที่ไปมันจะให้ผลประโยชน์ กับให้พลังงาน ให้เครื่องใช้ไฟฟ้านั้นเป็นประโยชน์

จิต จิตเวลามันสงบระงับแล้ว นี่ให้มันออกทำงาน เห็นไหม ออกทำงานเพื่อชำระตมันออกมาพิจารณา นี่ออกมาพิจารณาแล้วมันแก้ไขของมัน แก้ไขด้วยอะไร? แก้ไขด้วยความเห็นถูก เห็นผิด ฉะนั้น การกระทำมันมี เห็นไหม ดูสิแม้แต่คัตเอ้าท์ เราสับเข้าไปไฟมันก็ผ่านได้ ถ้าคัตเอ้าท์เราสับเข้าไป แล้วเกิดถ้าฟิวส์มันขาด อะไรมันขาด มันขัดข้องของมัน ทำไมไฟมันถึงไม่ไปล่ะ?

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบมีกำลังของมัน เห็นไหม มันไปของมัน มันพิจารณาของมัน มันเป็นชั้นเป็นตอนของมัน โอ๋ย วันนี้พิจารณาดี วันนี้อู้ฮู มีความสุขมาก วันไหนจิตมันคลอนแคลน มันไม่มีกำลังของมันนะ สับคัตเอ้าท์ไปไฟมันไม่ไป มันช็อตด้วย มันลัดวงจรด้วย มันจะไปเผาตัวมันเองด้วย นี่ก็เหมือนกัน จิตเวลามันเสื่อม มันถอย นี่พิจารณาของเรา แก้ไขของเรา เรารู้ของเรา ถ้าเรารู้ เราเห็นของเรา เห็นไหม เทคนิคอันนี้ ประสบการณ์อันนี้ นี่ครูบาอาจารย์ท่านมีอันนี้ ถ้ามีความจริง

ถ้าครูบาอาจารย์มีความจริงท่านจะเป็นหลัก เป็นชัยของเรา

นี่ถ้ามีหลัก มีชัย ถ้ามีหน่อแห่งพุทธะ การสร้างสมหัวใจนั้นให้เกิดเป็นร่มโพธิ์ ร่มไทร นก กาจะอาศัยนะ แต่ถ้ามันไม่มีหน่อพุทธะ นก กามันจะไปเกาะมันก็กลัวต้นไม้นั้นจะล้ม นี่ครูบาอาจารย์ของเราท่านทำของท่านมา การประพฤติปฏิบัตินะเพื่อตนเองก่อน ถ้าตนเองปฏิบัติมา ชำระจิตใจของเรามา ของบุคคลคนนั้น อันนั้นแหละมันร่มเย็นที่ว่ารักษาใจได้ รักษาใจได้นะถ้าใจมีหลักมีเกณฑ์

นี่พระไตรปิฎกบอกว่า “เหมือนกับแท่งศิลาฝังดินไป ๔ ศอก โผล่ขึ้นมา ๔ ศอก เจอลมฝนขนาดไหนแท่งศิลานั้นจะไม่หวั่นไหว”

จิตที่มั่นคงแล้ว นี่สิ่งที่โลกธรรมจะรุนแรงขนาดไหน โลกธรรมนะมันมีทุกคน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ดูสิพราหมณ์ที่นิมนต์ไว้แล้วลืมใส่บาตร แล้วนางมาคันทิยาจ้างคนมาด่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วในพระไตรปิฎกนะ เจ้าลัทธิต่างๆ นอกลัทธิพยายามจะแข่งขัน นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดานะ มีฤทธิ์ มีเดชทำอะไรได้หมดเลย แต่ฤทธิ์มันทำได้แต่วัตถุ มันไม่สามารถทำให้จิตใจนั้นเปลี่ยนแปลงได้

แต่สัจธรรมเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ นี่การบันลือสีหนาท การแสดงธรรมทำให้คนได้คิด ทำให้คนได้พิจารณา ทำให้คนได้เปลี่ยนความรู้สึกนึกคิด ถ้าเขาเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดเขาก็ไม่ทำแบบนั้น

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โลกธรรมยังรุนแรงขนาดนั้น แล้วเราเป็นใคร? เราเป็นใคร? ฉะนั้น ถ้าเราเป็นใคร สิ่งที่ว่าเราไม่ปรารถนา ไม่อยากให้มี มันเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ เห็นไหม โลกมันเป็นอย่างนั้น ถ้าอย่างนั้นเราบอกไม่ให้มีเลย โลกธรรมไม่ให้มีเลย ก็ต้องไม่มีออกซิเจนด้วย ไม่ต้องหายใจ เราหายใจออกซิเจนเพื่อดำรงชีวิตของเรา โลกธรรม ๘ ก็เหมือนกัน รักษาใจเรา ดูแลใจเรา เพื่อสัจธรรมนะ เพื่อพิสูจน์ว่าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริง

ผู้ใดทำดีต้องได้ดี ผู้ใดทำชั่วต้องได้ชั่ว

แต่ทุกคนแย้งหมด ว่าคนทำชั่วได้ดีเยอะแยะเลย ไอ้คนทำดีไม่ได้ความดีเลย มีคนแย้งมาก ทำชั่วเราไปมองกันที่วัตถุไง เขาทำชั่ว จิตใจเขาต้องเร่าร้อน คนทำชั่ว คนทำผิดคนนั้นต้องรู้ ฉะนั้น เขาผิดพลาดไปแล้วเขาพยายามปิดบัง เขาพยายามจะไม่ให้ใครรู้ แต่ตัวเขารู้ แล้วมันจะมีความสุขไหมล่ะ? มันเผาลนใจนั้นน่ะ ใครทำความผิดไว้ ได้สารภาพ ได้เปิดเผยเขาจะมีความสุขนะ เขาเหมือนถอนยกภูเขาออกจากอก

นี่เขาทำชั่วแล้วเขาได้ดีจริงหรือ? เราไปดูสิ่งที่เป็นวัตถุที่เขาได้แค่นั้นหรือที่ว่าเป็นความดี ถ้าวัตถุเป็นความดี ธนาคารชาติเงินตั้งกี่หมื่นล้าน ธนาคารชาติมีความสุขไหม? ธนาคารชาติมันก็เป็นวัตถุ เห็นไหม มันจะมีความสุขอะไร? ฉะนั้น เราไปให้ค่ากันเอง เพราะเป็นค่าสังคมไง สังคมให้ค่า แล้วเราก็อยากให้มีค่าแบบนั้น ฉะนั้น ถ้าเราไม่ตื่นเต้นไปกับค่าของสังคมนั้น เราย้อนกลับมาดูเรา ย้อนกลับมาดูเรานะ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราทำดีของเรา

ฉะนั้น คนทำชั่วเขาได้ประสบการณ์ เขาได้วัตถุอย่างนั้น อันนั้นลาภนะ เวลาลาภ เห็นไหม ดูสัตว์สิ สัตว์ป่านะเวลาฝนตก หญ้าอ่อนมันออกมานะ สัตว์ฝูงแรกมามันได้เล็มหญ้าอ่อนๆ สัตว์ฝูงต่อมามันได้เล็มหญ้าที่แก่ นี่ก็เหมือนกัน โอกาส จังหวะของเขาไง นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพูดถึงวัตถุไง ถ้าเขาทำชั่วของเขา แต่วัตถุอย่างนั้นมันเป็นโอกาสและจังหวะของเขานะ เขาทำอย่างนั้น เขามีความปรารถนาอย่างนั้น

แต่ครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ดูสิหลวงตาเวลาท่านทำของท่าน ท่านทำด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ เวลาไปเทศนาว่าการที่ไหน สิ่งใดที่เขารวบรวมมาเพื่อจะช่วยชาติๆ นี่สะอาดบริสุทธิ์ ทำซึ่งๆ หน้า ทำในที่สาธารณะ ทำในที่ที่สังคมตรวจสอบ นี่ไงทำดี ทำดีจริงๆ นี่แล้วมีอะไรเป็นประเด็นปมในใจล่ะ? ไม่มี แต่ แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยเขาก็โจมตี เขาก็ทำลาย นี่โลกธรรม ๘ เห็นไหม มันหนีไม่พ้นหรอก มันหลบไม่ได้

แต่ใครทำชั่ว เขาโจมตี เขาทำลายของเขา ผลของกรรมของเขามันต้องเกิดกับใจของเขา เขารู้ของเขา แต่ของเรา เราทำแล้วเราสบายใจ เราทำของเราเพื่อประโยชน์ ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว เอวัง