ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เห็นโทษ

๑๑ ก.พ. ๒๕๕๕

 

เห็นโทษ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๗๗๙. เนาะ

ถาม : ๗๗๙. เรื่อง “ความลวงซ้อนความลวง”

หลวงพ่อ : นี่เวลาปัญหาเขาเขียนหัวข้อคำถามไง เรื่อง “ความลวงซ้อนความลวง” ถ้าความลวงซ้อนความลวง แสดงว่าเขาก็รู้อยู่แล้วว่ามันลวง แต่เป็นปัญหา เป็นประสบการณ์ของเขานะ

ถาม : ผมเคยส่งคำถามมากราบเรียนหลวงพ่อเรื่อง “จิตกับขันธ์” ประมาณปีที่แล้ว ตอนนี้การภาวนาของผมในเวลาที่ต้องการทำงาน ทั้งงานปกติก็เหมือนมีตาในส่งดูอารมณ์ความคิดเป็นระยะ ถ้าในเวลานั่งสมาธิ ภาวนา ก็จับอารมณ์ที่เกิดเป็นปัจจุบันในจิตไปเลย จดจ่ออยู่ที่เดียวแล้วค่อยๆ สงบลง เมื่อจิตสงบจับอารมณ์มาพิจารณาพบว่าในอารมณ์มีความสำคัญมั่นหมาย ชัง ชอบต่างๆ ซ้อนเป็นเหมือนเงาอยู่ และตัวอารมณ์เองก็เหมือนเงาที่กระทบเปลี่ยนแปลงซ้อนอยู่ในจิตอีกทีหนึ่ง

บางคราวกำลังสมาธิดีก็แยกความมั่นหมายกับอารมณ์ได้เป็นขณะๆ ถ้าสมาธิไม่มากพอก็เห็นแค่อารมณ์กระทบเปลี่ยนแปลงอยู่ในจิต ถ้าพิจารณาอยู่อย่างนี้จิตจะไม่ซับอารมณ์ แต่ก็รู้สึกว่าการกระทบใดๆ ก็ตามล้วนเป็นทุกข์ จึงขอโอกาสถามหลวงพ่อว่า

๑. อุปาทานในอารมณ์ มันเริ่มตั้งแต่แว็บแรกที่กระทบหรือเปล่าครับ?

๒. แว็บแรกที่กระทบอารมณ์ สัญญาเข้าไปรับ ตรงนี้ใช่อุปาทานไหมครับ ผมควรพิจารณาอย่างไรต่อไปดีครับ?

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงว่าถ้ามันเป็นอุปาทาน เห็นไหม สิ่งที่ว่า “ความลวงซ้อนความลวง” นี่คือหัวข้อ ถ้าความลวงซ้อนความลวง เราก็รู้อยู่แล้วว่าสิ่งนี้มันเป็นกิเลสหมด เพราะมันเป็นความหลอกลวง ทีนี้ความลวง เวลาพิจารณาไปแล้ว คำว่า “ความลวงซ้อนความลวง” คือเราเห็นแล้วไง เราเห็นสิ่งนี้เป็นของจอมปลอม สิ่งนี้เป็นของหลอกลวง ฉะนั้น เราพิจารณาไปมันก็ละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป เราถึงบอกว่า “ความลวงซ้อนความลวง” ข้างนอกก็ลวง ปกติก็ลวง ข้างในก็ลวง มันหลอกลวงทั้งนั้นแหละ แต่เราจะแก้ไขอย่างไรล่ะ? เราจะแก้ไขอย่างไร?

ทีนี้คำว่าแก้ไข การพิจารณาโดยใช้ปัญญาแล้วมันต้องใช้ปัญญาของมันไป ใช้ปัญญาของมันไปนะ พิจารณาแล้วก็ปล่อย ปล่อยแล้วถ้ามีสติปัญญาเราก็พิจารณาต่อซ้ำไป นี้เพียงแต่เวลาเราปฏิบัติกัน เราจะเข้าใจว่าการทำงานมันเหมือนกับสิ่งที่เป็นทางโลก ทางโลกคือถ้าทำงานเสร็จ ทำงานเฉพาะการนั้นเสร็จก็คือว่าเสร็จ แต่งานทางโลกมันยังมีต่อไป ต่อเนื่องกันไปเพราะเราต้องอาศัยการดำรงชีวิตต่อเนื่องกันไป งานถึงไม่มีวันจบ

ในการปฏิบัติ เวลาความลวงซ้อนความลวง ความลวงเราเห็นว่าเป็นความลวง เราพิจารณา เห็นไหม นี่คำถามถามว่า ถ้าสติมันดี สมาธิมันดี สิ่งนี้เราเห็นเลยว่ามันซ้อนกันอยู่ นี่ถ้าเรามีสติ สมาธิดีมันก็ปล่อยได้ มันก็วางได้ พอมันปล่อยวางมันก็วางได้ แต่ แต่เดี๋ยวสักพักมันก็คิดอีก นี่ถ้าสมาธิไม่ดี สิ่งนี้มันจะซ้อนมา มันเป็นอารมณ์ร่วมไป ถ้าอารมณ์ร่วมไป ถ้าเราทำได้ขนาดนี้นะมันต้องมีการขวนขวายไง อย่างเช่นงานการกระทำ เราทำซ้ำทำซาก แล้วมันไม่เกิดผล ไม่เกิดผล เราก็ว่าเอ๊ะ ทำไมทำมาขนาดนี้ ขณะทำมันก็ต้องลงทุนลงแรง คือมันต้องเหนื่อย ต้องพยายามทำความเพียร แล้วมันจะต่อเนื่องไปอย่างไรล่ะ?

มันต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่องมันก็ย้อนกลับมาแล้ว ย้อนกลับมาจริตนิสัยของคน ถ้าจริตนิสัยของคนนะ คนที่ทำแล้ว โดยทั่วไปนะ โดยทั่วไปเวลาประพฤติปฏิบัติมาขนาดนี้ เวลาเราปล่อยวางแล้ว เราอะไรแล้วเราจะเทียบ เราก็เทียบกับทางวิชาการ ถ้าเราเทียบทางวิชาการนะ ทางวิชาการบอกว่าถ้าเราจับอารมณ์ได้ ธรรมารมณ์ไง เราจับอารมณ์ได้ เราจับจิตได้ เราจับเวทนาได้ เราจับกายได้ ถ้าเราพิจารณาจนปล่อยวางๆ นั่นคือธรรม

ถ้าปล่อยวางคือธรรม ใช่ปล่อยวางมันเป็นสภาวธรรม แต่มันยังไม่สิ้นสุดกระบวนการ คือว่ามันยังไม่สมุจเฉท คือว่ามันยังไม่ถึงที่สุด ถ้ามันยังไม่ถึงที่สุดเราจะทำอย่างไรต่อไป? ฉะนั้น ถ้าเราจะทำอย่างไรต่อไป ถ้าจิตใจมันอ่อนแอ มันไม่เอาสิ่งนี้มาเป็นบรรทัดฐานไง มันเอาแต่ความสำเร็จของเรา เอาความสำเร็จของเรา แล้วก็พยายามจะเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎก พยายามจะเปรียบเทียบกับตำรา ตำราสอนว่าให้พิจารณา แล้วพิจารณาแล้ว ทำสิ้นกระบวนการแล้วทำไมมันไม่เกิดผล? ทำไมมันไม่เกิดผล?

คำว่าเกิดผล ตำราสอนไว้อย่างนั้น แต่เวลาปฏิบัติไปแล้วมันมีแก่ มีอ่อน คำว่าแก่ อ่อน กิเลสคนหนา กิเลสคนบาง กิเลสของคนมันไม่เหมือนกัน กิเลสของคนไม่เท่ากัน เหมือนการเป็นโรคเจ็บไข้ได้ป่วย คนเจ็บไข้ได้ป่วย เห็นไหม เจ็บไข้ได้ป่วยเพิ่งเริ่มเป็น คนเจ็บไข้ได้ป่วยจนหนักหนาสาหัสสากรรจ์ การรักษาก็แตกต่างกัน จิตใจของคนมันมีที่มาที่ไปแตกต่างกัน มันมีเวร มีกรรมแตกต่างกัน

ทีนี้แตกต่างกัน เวลาปฏิบัติไปแล้วนี่ตำราเป็นกลาง ตำราสอนไว้วิธีการเป็นแบบนั้น ทีนี้เราไปเทียบกับตำรา เทียบกับสิ่งที่เราเคยทำมาแล้ว เราก็มานึก เอ๊ะ เราก็ทำครบกระบวนการ เราก็ทำทุกอย่างเสร็จแล้ว ทำไมมันไม่มีผล? ทำไมมันไม่มีผล? มันมีผล มีผลตรงที่เรารู้ขึ้นมา เรารู้ว่า “ความลวงซ้อนความลวง”

นี่ธรรมดามันก็ลวงอยู่แล้ว พอพิจารณาไป ไปเห็นมันยังมีความละเอียดกว่านั้น ละเอียดกว่านั้น เราก็ต้องเข้มแข็งทำของเราไป นี่ถ้ามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะคอยแนะนำอย่างนี้ แนะนำว่าที่ทำมาถูกต้องไหม? ถูก ถูกแล้วทำไมผลมันเป็นอย่างนี้? ผลเป็นแบบนี้เพราะเราได้สร้างเวร สร้างกรรมมาแบบนี้ เวลาคนอื่นเขาสร้างเวร สร้างกรรมมา ถ้าจิตของเราอ่อนแอกว่านี้นะ เขาจะเทียบตามตำรา

เขาเทียบตามตำรานะ ตอนนี้มีลูกศิษย์มาปรึกษาเยอะมาก บอกว่าเขาเข้าไปในเว็บไซต์ เข้าไปดู โสดาบันเต็มไปหมดเลย คนนั้นก็โสดาบัน คนนี้ก็โสดาบัน โสดาบันอะไรกันก็ไม่รู้ แล้วโสดาบันของเขา คำพูดของโสดาบันมันสมกับความเป็นโสดาบันไหมล่ะ? มันไม่เป็น มันเป็นไปตามตำราหมดเลย เพราะมันเป็นโสดาบันโดยอ้างตำรา เหมือนเรา นี่เราบอกว่าเราเป็นเศรษฐีอันดับโลกกันหมดเลย แต่เราไม่มีสตางค์สักสลึงหนึ่ง อ้าว แล้วก็อ้างสิบอกว่าเราก็มีสิทธิเหมือนกัน เราก็มีสิทธิเหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้หรอก

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นโสดาบัน นี่ทำอย่างไรเป็นโสดาบัน? ฉะนั้น คุณสมบัติไง เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาท่านรู้ของท่าน ท่านรู้ของท่านนะ แล้วท่านรู้ของท่านมันเป็นความจริง คือมันมีข้อเท็จจริง แต่เวลาเขาพูด ข้อเท็จจริง เห็นไหม ดูสิผู้ถาม เราเห็นว่าผู้ถามถ้าจิตใจไม่มีหลักมีเกณฑ์ ก็จะเอาผลไง เอาตามที่ต้องการ นี่มันเป็นอย่างนั้นๆ แล้วก็อ้างตำรา แต่นี้เพราะเรามีหลักมีเกณฑ์ จิตใจ เวลาถ้ามีสติ มีปัญญามันรู้เท่า

นี่มีสติปัญญามันรู้เท่า เห็นไหม มันก็จะเห็นเป็นเงา เห็นเป็นการกระทบมันซ้อนกัน มันต่างๆ เรารู้ของเรา ถ้ารู้ของเรา เราใช้สติปัญญาของเรา ถ้าสติปัญญาดีนะ ถ้าสมาธิมันดี สิ่งที่เห็นมันจะมีกำลัง คำว่ามีกำลังนะคือทำง่าย พิจารณาสิ่งใดก็มีเหตุมีผล แล้วมันซาบซึ้ง แล้วมันปล่อยวาง แต่ถ้าสมาธิมันไม่ดีนะ มันละล้าละลัง แล้วมันยึดเหนี่ยว แล้วกว่ามันจะปล่อยมันมีหลายอย่างมาก

ฉะนั้น นี่คือสิ่งที่เขาทำมา สิ่งที่เคยประสบการณ์มา แต่คำถามว่า

ถาม : ๑. อุปาทานในอารมณ์มันเริ่มตั้งแต่แว็บแรกที่กระทบหรือเปล่าครับ?

หลวงพ่อ : แล้วคิดว่ามันเป็นแว็บแรกหรือเปล่าล่ะ? มันเป็นมาก่อนหน้านั้น มันเป็นก่อนหน้านั้น เพราะอวิชชา ปัจจยา สังขารา เพราะมีอวิชชาถึงมีการเกิด จิตนี้มันมีอวิชชา มันมีความไม่รู้เป็นอนุสัยมา นี้คือปู่ของมัน แล้วพอปู่ของมัน โดยหลักจิตนี่มีอวิชชามันถึงมาเกิด ทีนี้โดยหลักมันแบบว่าจิตใต้สำนึกมันมีเชื้อไขที่เต็มที่ของความไม่รู้

ทีนี้ความไม่รู้ พอมันไม่รู้ พอแว็บแรก แว็บแรกมันคืออะไร? แว็บแรกคือจิตมันสงบใช่ไหม? ถ้าจิตเราไม่สงบเราจะไม่เห็นแว็บแรกเลย เราคิดเราก็ไม่รู้ว่าเราคิด คิดไปแล้ว พอคิดแล้ว คิดจนแบบว่ามันเอาความรู้สึกเราไปหมดแล้ว เหลือแต่กากเมือง ยังพอใจความคิดของตัว แต่นี้เพราะเรามีสติ มีปัญญา เราพิจารณาของเราใช่ไหมเราถึงเห็นแว็บแรก เห็นไหม สิ่งที่เวลาเขาว่าอุปาทานในอารมณ์มันเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่?

อุปาทาน อุปาทานต่างๆ มันเป็นอนุสัย มันนอนมากับจิตหมดแหละ มันอยู่ที่จิตเลย ฉะนั้น คำว่าแว็บแรก นี่ใช่ แว็บแรก ถ้าอุปาทานมันอยู่ที่แว็บแรก เวลาพิจารณา เวลาคนเห็น เห็นแล้วทำไมมันไม่รู้ทันมันล่ะ? แล้วคนที่ไม่รู้ ไม่เห็นล่ะ? บางคนยังไม่เห็นนะ ไม่เห็นแต่รู้ทางทฤษฎี ว่าความคิดไม่ใช่เรา สรรพสิ่งไม่ใช่เรา แต่เขาไม่รู้ ไม่เห็น

ที่เราใช้คำว่าไม่มีข้อเท็จจริง ไม่มีข้อเท็จจริง เพราะ เพราะคนที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นเขาพูดทางทฤษฎี พูดตามสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการไว้ ก็จำมา จำมาว่าเป็นแบบนั้น เหมือนเรารู้ เราเห็นอะไหล่รถยนต์เรารู้หมดเลยว่านี่คืออะไหล่รถ แต่เราถอดและเราประกอบอะไหล่นั้นไม่เป็น นี่เครื่องยนต์เราถอดหมดไม่ได้ เราถอดแล้วเราจะประกอบไม่ได้ แต่เครื่องยนต์เราก็รู้อยู่ว่ามันเป็นอะไหล่ แล้วก็ประกอบขึ้นมาเป็นเครื่องยนต์

นี่ก็เหมือนกัน ทางทฤษฎีก็สอนว่าจิต อาการของจิตเป็นอย่างนั้น ขันธ์ ๕ เป็นอย่างนั้น อารมณ์เป็นอย่างนั้น รูปฌานเป็นอย่างนั้น นี่เรารู้หมด แต่เราไม่เคยรู้ เคยเห็น เรารู้ทางทฤษฎี แต่พอเราปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม นี่ถ้าจิตนะมันจับอาการได้ นี่ตรงนี้สำคัญ เพราะการจับอาการได้ นั้นคือวิปัสสนา แต่ถ้ายังจับสิ่งใดไม่ได้ นี่เรารู้ เรารู้หมด เรารู้ทางทฤษฎีหมด แต่เราไม่รู้ไม่เห็นสิ่งใดเลย

เรารู้ทางทฤษฎีคือรู้ทางสัญญา รู้ทางจินตนาการ แต่เราไม่เคยเห็นข้อเท็จจริง เราก็ต้องพยายามทำความสงบของใจ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิคือตรึกในธรรม ตรึกในสิ่งที่เราศึกษามา ตรึก ตรึกให้จิตมันตรึกอยู่อย่างนั้น เหมือนกับที่หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่า

“เอาจิตนี้อยู่ในร่างกาย ให้มันคิดไตร่ตรองอยู่ในข้อกระดูกเป็นชั่วโมงๆ”

ถ้าเราตรึกในธรรม เห็นไหม มันอยู่ในธรรมเป็นชั่วโมงๆ จิตมันจะสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามาคืออะไร? คือมันคลายอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมด มันถึงเข้ามาสักแต่ว่ารู้ เป็นสัมมาสมาธิ เวลามันจะมีอารมณ์ มีความรู้สึกมันจะมีแว็บที่ว่านี่ไง นี่มันเสวย มันเสวยอารมณ์ แล้วมันเสวยมันถึงเกิดความรู้สึกนึกคิด แล้วถ้าจิตเราสงบเราเห็นมันเสวย เห็นแว็บๆ นั่นแหละเราเห็น เราจับได้ พอเราจับได้ สิ่งที่เราเสวยกับเรามันคนละส่วนกันใช่ไหม? นี่เรากินอาหารมันคนละส่วนกัน อาหารก็คืออาหาร เราคือเรา

นี่ก็เหมือนกัน จิตคือจิต แต่อารมณ์ความรู้สึกที่มันแว็บเข้ามานั่นน่ะ แล้วบอกว่ามันเป็นอุปาทานไหม? มันเป็นอุปาทานไหม? มันมีโดยที่จิต มันมีโดยเนื้อแท้ของมัน แต่ตอนนี้เราพยายามฝึกฝน นี่เขาถามว่า “อุปาทานในอารมณ์ที่มันเริ่มต้นในแว็บแรกที่กระทบนั่นหรือเปล่า?” เขาจะถามว่าอุปาทานอยู่ที่ไหน? อุปาทานมันอยู่ที่จิต ฉะนั้น พออยู่ที่จิตแล้ว เวลาเราพิจารณาไป เราพิจารณาเพื่อจะถอดถอน

ทีนี้เพื่อจะถอดถอน เราต้องพิจารณาอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ สิ่งนี้เอามาแยกแยะว่ามันคืออะไร? มันเป็นอย่างใด? มันมีส่วนประกอบเป็นอย่างใด? นี่พิจารณาซ้ำ พิจารณาซากจนมันเป็นไตรลักษณ์ คำว่าไตรลักษณ์คือมันสลายของมันไป มันแปรสภาพของมันไป ถ้ามันแปรสภาพของมันไป จิตมันรู้ มันเห็นไง จิตมันรู้ มันเห็น มันก็เหมือนเครื่องยนต์ ที่บอกเครื่องยนต์ เรารู้อยู่เครื่องยนต์มันส่วนประกอบของอะไหล่ มันถึงเป็นเครื่องยนต์ขึ้นมาได้ เรารู้หมดแหละ แต่เราประกอบแล้วเราติดเครื่องได้ไหม? ประกอบเสร็จแล้ว เติมน้ำมันแล้วทุกอย่างมันเป็นไหม?

ประกอบเข้าไปแล้วนะ หนึ่งถ้าคนไม่เป็นนะมันขันน็อตไม่แน่น พอเติมน้ำมันแล้วมันก็รั่ว ถ้าน้ำมันมันอยู่ไม่ได้ น้ำมันเครื่องใส่เข้าไป นี่ปะเก็นไม่ดี สิ่งต่างๆ ไม่ดี น้ำมันอยู่ไม่ได้หรอก ถ้าเราขันไม่แน่นนะ ยิ่งขันน็อตไม่แน่น เราขันทุกอย่างไม่แน่น เวลาเราติดเครื่องไม่ได้หรอก นี่อากาศมันออกหมด ทุกอย่างมันกระจายหมด มันไม่ทำงานโดยตามความเป็นจริงของมัน นี่มันต้องฝึกต้องฝนอย่างนี้ นี่พูดถึงแว็บแรกเป็นอุปาทานหรือเปล่า? แล้วเราพิจารณาอย่างไร? นี่ที่ว่าเราพิจารณาอย่างไรต่อไป? อย่างไรต่อไป พิจารณา มันต้องเอาสิ่งนี้มาพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ถาม : ๒. แว็บแรกที่กระทบอารมณ์ สัญญาเข้าไปรับ ตรงนี้ใช่อุปาทานไหมครับ? ผมควรจะทำอย่างไรต่อไป?

หลวงพ่อ : เห็นไหม เขาบอกว่าสิ่งที่มันเกิดแว็บแรกนี่เป็นอุปาทานหรือเปล่า? แล้วข้อ ๒. แล้วที่สัญญาเข้าไปรับเป็นอุปาทานหรือเปล่า?

กรณีเช่นนี้มันเหมือนกับผู้ที่ปฏิบัติ ทุกคนอยากจะละสังโยชน์ แล้วว่าสังโยชน์มันอยู่ที่ไหน? สังโยชน์มันคืออะไร? พยายามจะไปละสังโยชน์ สังโยชน์นะ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันเป็นนามธรรม แล้วเราให้ชื่อมันว่าทิฐิความเห็นผิดเป็นสังโยชน์ แล้วเราบอกเราจะละสังโยชน์ สังโยชน์มันอยู่ไหน?

นี่ก็เหมือนกัน เราจะละอุปาทาน อุปาทานมันอยู่ที่ไหน? อะไรเป็นอุปาทาน? กรณีอย่างนี้นะ มันก็เหมือนกรณีที่บอกว่านิพพานคืออะไรไง นิพพานเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตา นิพพานมันเป็นนิพพานอยู่แล้วนะ ทำไมต้องบอกว่านิพพานเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตาล่ะ? แล้วก็มาเถียงกันนะ นิพพานเป็นอัตตาหรือนิพพานเป็นอนัตตา เลยเกิดสงครามอนัตตา ไม่อนัตตา แต่ไม่พูดถึงนิพพานแล้วนะ นิพพานมันเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตา แล้วก็เลยมาเถียงกันอยู่ที่อัตตาหรืออนัตตา แล้วนิพพานมันก็เลยยิ้มแฉ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย

อันนี้ก็เหมือนกัน อะไรเป็นอุปาทาน? แล้วเราจะเอาอะไรไปสวมชื่ออุปาทาน มันเหมือนหนูเลย หนูเขาประชุมกัน บอกว่าเวลาเราเป็นหนูนี่นะเราจะโดนแมวจับไปกินเป็นอาหาร ฉะนั้น หนูประชุมกันว่าถ้าเราจะเอาลูกกระพรวนไปใส่คอแมว เวลาแมวมา เราจะได้รู้ว่าแมวมันมาแล้ว ฉะนั้น ตกลงกันว่าใครจะเอาลูกกระพรวนนี้ไปผูกคอแมว มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย ทั้งๆ ที่เรากลัวแมวจะมากิน แต่เราเอาลูกกระพรวนไปผูกคอแมวได้อย่างไร?

นี่ก็เหมือนกัน อุปาทานมันก็เป็นอุปาทาน ฉะนั้น สิ่งที่ว่าอุปาทานมันคืออะไร? นี่มันก็อย่างว่าแหละ เขาเสกสรรว่าเป็นอาจารย์ของเขาเนาะ เขาก็ต้องให้ชี้มาว่าอุปาทานมันอยู่ตรงไหน? สุดท้ายคำถามก็ต้องมา ต้องบอกมาอุปาทานมันคืออะไร? อุปาทานมันก็เป็นนามธรรม ฉะนั้น

ถาม : แว็บแรกที่กระทบอารมณ์ สัญญาเข้าไปรับ ตรงนี้ใช่อุปาทานไหมครับ?

หลวงพ่อ : อุปาทานมันคือตัวอุปาทานนะ นี่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ตรงตัวหมด เพียงแต่ว่ามันเป็นตรงตัว แล้วเรารู้ว่าสิ่งนี้ คำว่าอุปาทานคือการยึดมั่นถือมั่น เพราะเราอุปาทาน เราไม่ทัน ปัญญาเราไม่ทัน เราถึงอุปาทานกับสิ่งนั้นแล้วยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้น เราก็พยายามจะถอนอุปาทานสิ่งนั้นให้เป็นสัจจะ

เวลาหลวงตาท่านพิจารณาของท่าน ท่านบอกว่าเวลามันละกายนะ นี่กายก็จริงของกาย จิตก็จริงของจิต ทุกข์ก็จริงของทุกข์ นี่ต่างอันต่างจริง พอต่างอันต่างจริงก็ต่างอันต่างอยู่ มันไม่เกี่ยวเนื่องกันมันก็เลยกลายเป็นพระโสดาบัน แต่ที่เราไม่เป็นอย่างนั้นเพราะเราไปยึดว่ากายก็เป็นของเรา จิตใต้สำนึกมันก็ไปเกาะเกี่ยวอยู่ นี่เราก็พยายามอยากจะละ ทีนี้อยากจะละ เวลาอยากจะละ ถ้าเรายังไม่จริงมันก็ยังลังเลสงสัยอย่างนี้ ถ้ามันไม่จริง เราจะให้จริงเราก็ต้องพิจารณาของเรา

นี่พิจารณาที่ทำมาถูกต้องหมดแล้ว เห็นไหม คำถามนะ เวลาคำถามเราฟังหลวงตาท่านตอบปัญหา ตอบคำถามนี่ประจำ ถ้าเวลาถามท่านบอกว่า

“ถูกไหม?”

“ถูก”

แล้วคนถามว่า “แล้วทำอย่างไรต่อไป?”

“ก็ให้ซ้ำไง ให้ซ้ำ”

สิ่งที่ทำมานี่ถูกไหม? ถูก ทีนี้สิ่งที่ถูก สิ่งที่ถูกต้องเห็นอุปาทานสิ ทำไมทำถูกแล้วทำไมยังไม่เข้าใจเรื่องอุปาทาน อุปาทาน เพราะมีอุปาทานเราถึงยึดมั่นถือมั่น เราถึงเห็นผิด แต่ถ้าเราพิจารณาซ้ำไปๆ พอเราเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว อุปาทานมันก็ต้องหลุดลอยไปเป็นธรรมดา เพราะมันไม่มีสิ่งใดเป็นความลังเลสงสัยให้เกิดอุปาทาน

ฉะนั้น สิ่งที่อุปาทานมันเป็นชื่อของกิเลส มันเป็นชื่อนามธรรม มันเป็นสิ่งหนึ่ง ทีนี้เราจะบอกว่ามันเป็นสิ่งใด เป็นสิ่งใด? ฉะนั้น

ถาม : ผมควรกระทำอย่างไรต่อไปครับ

หลวงพ่อ : ตั้งสติแล้วพิจารณาไป อย่าให้กิเลสมันมาชักนำ มันมาชักให้เราเสียงาน ให้มันมาชักใยให้เราเสียงานว่าเราจะต้องไปอย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาบอกสติปัฏฐาน ๔ นะ ให้พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ไม่ให้พิจารณาอย่างอื่นเลย ทีนี้คำว่าธรรมารมณ์ๆ นี่สิ่งที่ว่าเป็นอุปาทานต่างๆ เราก็พิจารณาธรรมารมณ์ อารมณ์ความรู้สึกมาแยกแยะ ไอ้สิ่งที่ว่าเป็นอุปาทานหรือไม่เป็นอุปาทาน เดี๋ยวเราจะรู้ เราจะเห็น

ฉะนั้น พอเราจะไปดูอุปาทานๆ พอเราจะไปฆ่ามัน จะจับกิเลสมาฆ่า จับกิเลสมาฆ่า เวลาจับกิเลสมาฆ่านะ มานะ ๙ ตนเสมอเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขา สำคัญว่าสูงกว่าเขา เราต่ำกว่าเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขา สำคัญว่าเสมอเขา สำคัญว่าสูงกว่าเขา เราสูงกว่าเขา สำคัญว่าสูงกว่าเขา สำคัญว่าเสมอเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขา นี่คือมานะ ๙

มานะ ๙ เห็นไหม เราต่ำกว่าเขา สำคัญตนว่าต่ำกว่าเขา นี่ไงสำคัญตนว่าต่ำกว่าเขา ฉะนั้น อุปาทาน นี่เวลากิเลส ชื่อของกิเลส แต่เวลาทำขึ้นมา กิเลสอย่างละเอียดมันจะละเอียดกว่านี้อีก ฉะนั้น อุปาทานมันเป็นชื่อหนึ่ง เราทำของเราไป ถ้าเราทำของเราไป เราเป็นจริงของเรา เราจะเห็นโทษของมัน ถ้าเห็นโทษของมันมันก็ใช้ได้

นี่ทำอย่างไรต่อไปล่ะ? พิจารณาซ้ำนะ ซ้ำเข้าไป นี่เริ่มต้นตั้งแต่ว่า

ถาม : ถ้าจิตมันสงบ มันจับอารมณ์ได้ พิจารณาพบว่าอารมณ์นี้มีความสำคัญมั่นหมาย มีชอบ มีชังต่างๆ ซ้อนเป็นเหมือนเงาอยู่

หลวงพ่อ : นี่ต่างๆ มันซ้อนเหมือนเงาอยู่เราก็พิจารณาของเราไป ถ้ามันซ้อนนะ เรามีสติปัญญา ถ้ามันซ้อนนี่จับทีละชั้นแล้วพิจารณา ถ้ามันปล่อยขึ้นไปก็ละเอียดเข้าไป พิจารณาซ้ำละเอียดเข้าไป สิ่งที่จับมาก็เหมือนกิเลส เห็นไหม นี่หลานมันก่อน ลูกมัน พ่อมัน ปู่มันจับมาพิจารณาให้หมด ถ้ามีสิ่งใดอยู่มันจะอยู่อย่างนั้น นี่ทำอย่างนี้ไปแล้วใจเย็นๆ ขณะที่ปฏิบัติไปต้องละเอียดรอบคอบ อย่าทำสะเพร่า อย่าทำมักง่าย อย่าทำสักแต่ว่า อย่าทำว่าอยากให้มันได้ผล อยากได้ผลมาก รีบกระทำมาก แล้วมันไม่คลายความสงสัยไง

ถ้าไม่คลายความสงสัยนะ นั่นแหละอุปาทาน เพราะมันยังสงสัยอยู่มันก็มีอุปาทานยึดมั่น นี่เพราะยังไม่หายสงสัย ก็ซ้ำไปๆๆ ซ้ำจนกว่ามันชัดเจนของมันแล้ว เดี๋ยวอุปาทาน พอมันหลุดไปแล้ว อ๋อ หลวงปู่มั่นท่านบอกว่าถึงบางอ้อ เห็นไหม เขาก็เลยไปหาหนองอ้อกัน คำว่าถึงบางอ้อคือ อ๋อขึ้นมา อ๋อ หนองอ้ออยู่ที่ไหน? ไปหาเลยนะหนองไหนมันอ้อ มันจะไปที่หนองกระจับไง มันจะไปจับกระจับ ไปหากระจับมาต้มกินกัน หนองอ้อนู่นน่ะ มันอ๋อ อ๋อขึ้นมาจากหัวใจ

ฉะนั้น พิจารณาซ้ำเข้าไป เพราะเวลามันเป็นมันเป็นที่นี่ ฉะนั้น ถามว่าอันนี้ใช่อุปาทานไหม? ใช่ อุปาทานมันเป็นชื่อของมัน แต่เราต้องรู้ของเรานะ อย่างเช่นทางโลกเขาว่าบ้าห้าร้อยจำพวก ถ้าคนมันบ้าสิ่งใด มันก็มีอุปาทานยึดมั่นกับสิ่งนั้น คนรักสิ่งใด ชมรม เห็นไหม ชมรมนั้นก็อุปาทานเรื่องนั้น ชมรมใดก็มีอุปาทานเรื่องนั้น ฉะนั้น อะไรคืออุปาทานล่ะ?

นี่ชมรมต่างๆ ชมรมออกกำลังกาย ชมรมจักรยาน ชมรมอะไร นั่นแหละเขามีของเขาทั้งนั้นแหละ แต่อันนั้นมันเป็นประโยชน์กับร่างกายของเขา มันเป็นประโยชน์กับโลก ฉะนั้น เราจะยึดสิ่งใดว่าเป็นอุปาทาน? ฉะนั้น ให้ปฏิบัติไป สิ่งนี้ถูกต้องแล้วนะ ตอบเท่านี้เนาะ

ต่อไปข้อ ๗๘๐. ไม่มีเนาะ ข้อ ๗๘๑.

ถาม : ๗๘๑. เรื่อง “จะละกามราคะได้อย่างไร?”

กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพ เกล้าฝึกหัดภาวนามายังไม่ถึงปี เมื่อก่อนที่ไม่เคยภาวนานั้น ใจไม่คิดที่จะต่อสู้กับกามราคะเลย โดยปล่อยให้มันบงการอยู่เป็นนิจ เหมือนหมาโดนเขาเอาชิ้นเนื้อล่อ จนถึงตอนนี้เริ่มฝึกหัดภาวนา รู้สึกว่ากิเลสตัวกามราคะนี้รุนแรงมาก เพราะทุกครั้งที่กามราคะกำเริบ เกล้าพยายามต่อสู้กับมัน แต่ก็โดนมันไสหัวทิ่มไม่เป็นท่าทุกครั้ง

มันกินอิ่มแล้วก็นึกว่ามันจะเลิกก็หาไม่ เจ้ากามราคะมันวนเวียนมากินตับ กินปอดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกล้าเบื่อหน่ายที่ต้องตกเป็นทาสมันเหลือเกิน เกล้าจึงขอรบกวนกราบเรียนถามอุบายวิธีต่อสู้กับกามราคะ เพื่อเป็นหลักใจในการพิจารณาแก่เกล้ากระผมผู้โง่เขลาด้วยครับ

หลวงพ่อ : อืม โทสจริต โมหะจริต โลภะจริต นี่จริตของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ฉะนั้น เรื่องกามราคะ โดยสัญชาตญาณของสัตว์มันมีทุกตัว ฉะนั้น ในทางการแพทย์เขาบอกว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ นั้นทางการแพทย์ ทางการแพทย์เขาต้องพยายามให้มนุษย์อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ฉะนั้น สิ่งใดที่ขาดตกบกพร่อง เขาก็ทำให้กลับมาเป็นปกติ ทำให้เป็นเรื่องปกติ เรื่องธรรมดา นั่นเรื่องของทางการแพทย์ แต่ถ้าทางการธรรม

ถ้าทางธรรม เห็นไหม ทางธรรมถ้าเราเป็นฆราวาส นี่พระพุทธเจ้าสอนไว้ให้ถือศีล ๕ มนุษย์ถ้ามีศีล ๕ แล้ว เราจะไม่ได้สร้างเวร สร้างกรรมจนเกินไป มนุษย์มีศีล ๕ ไม่ลักของเขา ไม่ทำลายเขา ไม่ผิดลูกเมียเขา ไม่พูดปด ไม่เมาสุรายาเมา นี่สิ่งนี้ไม่ผิด สิ่งนี้เป็นเรื่องของศีล ๕ เราอยู่ในศีล ๕ คู่ครองของเรา ถ้าคู่ครองของเรา นี้โดยสัญชาตญาณของมนุษย์ คู่ครองของเรา แต่ถ้าไม่ใช่คู่ครองของเราผิดหมด ผิดหมดนะ เพราะคำว่าคู่ครองของเราไม่ผิด แต่ถ้าไม่ใช่คู่ครองของเรามันผิดอยู่แล้ว มันผิด

นี่พูดถึงมนุษย์นะ พูดถึงศีล ๕ ถ้าถือศีล ๕ ในเมื่อมนุษย์ถ้ามีศีล ๕ ศีล ๕ นี่เป็นชาวพุทธ ถ้าเป็นฆราวาสควรมีศีล ๕ แล้วถ้ามีศีล ๕ ขึ้นมาเราอยากจะประพฤติปฏิบัติ พอศีล ๘ พอศีล ๘ นี่พรหมจรรย์แล้ว พอพรหมจรรย์ เห็นไหม สิ่งที่ว่าถ้าไม่ผิดในคู่ครองของเรา ไม่ผิดศีล ๕ แต่ถ้าเป็นพรหมจรรย์ผิด พรหมจรรย์นะ ถ้าพรหมจรรย์ เราจะถือศีลในการปฏิบัติใช่ไหม? เราจะถือศีลของเรา เริ่มต้นเราก็ถือ ๑ วัน วันนี้เราจะถือพรหมจรรย์ เราจะไม่ยุ่งเรื่องคู่ครอง เราไม่ยุ่งเลยวันนี้ ๑ วัน แต่ถ้าพอถือมากขึ้นถือ ๗ วัน อ้าว ถือ ๗ วัน

นี่ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ นี่เรื่องพรหมจรรย์ ถ้าพรหมจรรย์ เรื่องกามราคะนี่ผิดแล้ว แต่ถ้าเป็นปุถุชน นี่หลวงตาท่านพูดบ่อย บอกว่าทางการแพทย์เขาบอกว่าเป็นเรื่องสามัญสำนึก เป็นเรื่องธรรมชาติของสัตว์โลก เป็นเรื่องของมนุษย์ ถ้าในพุทธศาสนาก็เหมือนกัน ในพุทธศาสนาสอนว่าถ้าศีล ๕ ถ้าศีล ๕ ถือว่าไม่ผิด นี่มันเป็นเรื่องสามัญสำนึกของมนุษย์ แต่เราจะมีความดีที่เหนือมนุษย์ เราจะมีความดีที่เหนือไป

สิ่งที่เป็นความดีที่เหนือไปคือ ถือพรหมจรรย์ ถ้ามีพรหมจรรย์เพื่อจะรองรับสถานะของธรรม ถ้าสถานะของธรรม นี่ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ถ้าศีล ๒๒๗ เห็นไหม อธิศีลเลย อธิศีล นี่เวลาคนภาวนาไปนะ มันจะรู้เลยว่ากามราคะมันอยู่ที่ไหน? นี่เราไปมองกันว่ากามราคะมันอยู่ที่เพศไง เพศตรงข้าม แต่ปฏิบัติไป เวลากามราคะเวลาจิตมันละเอียดเข้าไป นี่กามฉันทะ ถ้ามันไม่มีความพอใจ ไม่มีความรู้สึกนึกคิดของมัน มันจะเกิดกามราคะได้อย่างไร? เห็นไหม เอาซากศพกับซากศพไปพาดกันมันจะมีกามราคะไหม? เพราะมันไม่มีจิต กามราคะมันอยู่ที่จิตไง

ฉะนั้น กามราคะอยู่ที่จิต เวลาประพฤติพรหมจรรย์ นี่พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรานะ พระพุทธเจ้าฉลาดมาก พระพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ ทีนี้พระพุทธเจ้าถึงรู้ว่าควรสอนคนระดับไหน สอนอย่างใด? ถ้าสอนคนระดับของคฤหัสถ์ ฆราวาสเขา ศีล ๕ ถ้ามีศีล ๕ เราอยู่ในศีล ในธรรม มันจะไม่รบกวนกัน เวลาถ้าใครมีครอบครัวขึ้นมา นี่ถ้าไม่ผิดลูก ผิดเมียมันก็ไม่ผิดศีล นี่ธรรมชาติของมนุษย์มี มีก็เก็บไว้ใช้เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ แต่ถ้าพอมันจะเอาคุณธรรมขึ้นมามันก็มาอีกชั้นหนึ่ง ถ้าอีกชั้นหนึ่งมันจะละเอียดเข้ามาเป็นชั้นๆ เข้ามา

เพราะคำถามถามว่า แต่ก่อนถ้าไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ สิ่งนี้มันก็ไม่เป็นโทษเป็นภัยกับเรา แต่พอมาประพฤติปฏิบัติ เดี๋ยวนี้ อู๋ย มันรุนแรงมาก คำว่ารุนแรง รุนแรงเพราะเราไปจำกัด เราไปต่อสู้ ทีนี้คำว่าต่อสู้มันก็มีหลายชั้น หลายตอน คำว่าหลายชั้น หลายตอนนะ นี่เวลาคนเรา ถึงเวลาแล้วเราไม่มีกำลัง แล้วเราก็จะไปสู้กับมัน ทีนี้คำว่าสู้กับมันเราถือศีล ๕ เรามีศีล ๕ ขึ้นมา ถ้าศีล ๕ ทางโลกนะ พอมาปฏิบัติถือศีล ๘ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ แล้วถ้าพอมันถือศีล ๘ สิ่งนี้ เหมือนคนไม่ขาดแคลนสิ่งใดมันก็ไม่ต้องการสิ่งนั้น ถ้าใครขาดแคลนสิ่งใดมันก็ต้องการสิ่งนั้น

นี้คำว่าขาดแคลน ถ้าพอขาดแคลนเพราะเราไม่ต้องการ เราไม่ต้องการขึ้นมา แต่โดยสัญชาตญาณของมนุษย์ ทางการแพทย์เขาบอกว่าเรื่องกามมันเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ทีนี้เรื่องธรรมชาติของมนุษย์ นี่ธรรมชาติ ธรรมชาติของโลก นี้ถ้าพรหมจรรย์มันสูงกว่า พอสูงกว่าปั๊บเราจะเอาคุณงามความดีที่เหนือกว่า ที่เหนือกว่าเราก็ต้องมีปัญญาไตร่ตรองเราสิ ในเมื่อชีวิตเราชีวิตหนึ่งเราก็ทุกข์ขนาดนี้ แล้วถ้าทุกข์ขนาดนี้นะ ถ้าเกิดกามราคะ เรามีกามราคะเราก็สืบพันธุ์กันต่อไป ถ้าสืบพันธุ์มันก็จะมีลูก หลาน เหลนต่อไป

ถ้าเราจะไม่มีลูก หลาน เหลนต่อไป นี่ไงนี่คือการ เขาเรียกวางแผนครอบครัว การวางแผนครอบครัว เห็นไหม ถ้าการวางแผนครอบครัว ถ้าเขามีครอบครัว เขาต้องมีการวางแผนครอบครัวเพื่อจะไม่ให้คนล้นโลก นี่เรื่องการคุมกำเนิด แล้วการคุมกำเนิดที่สุดยอดที่สุดคือการไม่มีเพศสัมพันธ์ ทีนี้การคุมกำเนิด เขามีเพศสัมพันธ์แล้วจะมีการคุมกำเนิดอีก นี่มันก็เลยขัดแย้งกัน แต่ถ้ามีการคุมกำเนิดพระพุทธเจ้าคุมมา นี่พอคุมมา ในสมัยพุทธกาลนะมีคนมาต่อว่าพระพุทธเจ้ามาก บอกว่าถ้าถือพรหมจรรย์หมดแล้ว ต่อไปโลกจะอยู่กันอย่างไร? จะไม่มีมนุษย์เกิดมาเลย

มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปได้เพราะคนดีมันมีน้อย จริงๆ เวลาถึงที่สุดแห่งทุกข์ เป็นพระอรหันต์ขึ้นมามันมีเท่าไร? นี่ขนาดว่าพุทธศาสนามี คนยังล้นโลกอยู่แล้ว แต่เวลากิเลสมันคิดไง โอ๋ย ถ้าคนไม่มีเพศสัมพันธ์กันเลย แล้วมันจะมีมนุษย์ขึ้นมาได้อย่างไร? อู๋ย เดี๋ยวโลกมันจะขาดมนุษย์นะ นี่เวลาคนไปโต้แย้งพระพุทธเจ้า สมัยนั้นนะในพระไตรปิฎกมี พระพุทธเจ้าบอกว่าเรื่องความเห็นของศาสดาที่สูงกว่า กับความเห็นของโลกมันแตกต่างกัน มุมมองมันแตกต่างกันมาก

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้ามันเป็นนะ มันมารุนแรงกับเรา ที่เราพูดมาทั้งหมดนี้เราพูดให้เห็นภาพรวม ถ้าเห็นภาพรวม คนมีปัญญามันจะเข้าใจภาพรวม เข้าใจภาพทั้งหมด ถ้ามันเข้าใจปั๊บมันจะกำจัดให้สิ่งที่ว่ากามราคะมันกินตับ กินปอด มันทำให้เราเป็นทาสของมัน ถ้าเราเป็นทาสของมัน ดูคนโทสจริตสิ นิดหนึ่งก็โกรธ นิดหนึ่งก็จะฆ่ากัน นิดหนึ่งก็จะทำลายกัน ไอ้คนมันหลงนะพอเดินออกไปไม่ต้องให้คนมาหลอกมันหรอก มันจะหลงไปตั้งแต่ออกจากบ้านมันแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจคนมันคิดแต่เรื่องอย่างนี้ มันก็จะหมักหมมแต่เรื่องอย่างนี้ ฉะนั้น เวลาคนขี้โทสจริต กระทบมันก็โทสจริต เขาก็ต้องแผ่เมตตาเพื่อให้จิตใจของเขาเห็นว่าสัตว์ร่วมโลก เขาไม่ตั้งใจหรอก เขาทำนี่เขาไม่มีสติปัญญาของเขา เราอย่าไปโกรธเขา ความโกรธมันก็จะเบาลง คนจะหลง เห็นไหม เราจะไปหลงอะไร? เรามีสติของเราสิ

นี่ก็เหมือนกัน กามราคะ ถ้าเรามีสติปัญญา เรารู้เรามีสติปัญญา ถ้ามีสติปัญญาเรื่องนี้ไม่เกิดเลย ไม่เกิดเพราะอะไร? เพราะมันจะไปคิดเรื่องนี้มันก็มีปัญญาใช่ไหม? พอจิตมันคิดเรื่องปัญญาแล้ว มันอยู่กับเหตุผลแล้วมันจะไปได้อย่างไร? คนที่จะไปเพราะมันขาดเหตุผล พอมันขาดเหตุผลมันก็ไปสิ มันก็ไปคิดเรื่องที่มันพอใจของมัน มันก็ไปคิดแต่เรื่องที่มันจุดประเด็นขึ้นมา แล้วมันก็คิดแต่เรื่องนั้น

แต่ถ้ามันมีสติปัญญาของมัน เห็นไหม ชีวิตนี้ทุกข์นะ ชีวิตนี้ทุกข์ เราเกิดมา พระพุทธเจ้าสอนทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง ชีวิตนี้ก็ทุกข์พอแรงอยู่แล้ว เราจะไปสร้างทุกข์ต่อเนื่องอย่างไร? ดูสิทางโลกจนฆ่าแกงกันก็เพื่อเรื่องนี้ จิตใต้สำนึกมันต้องการตรงนี้ แล้วก็ไปหึง ไปหวง ไปทำลายกัน ก็เรื่องนี้ทำให้ต้องฆ่ากัน แกงกัน ต้องให้ติดคุก ติดตารางไป ไม่เห็นโทษของมันหรือ? ถ้าเห็นโทษของมัน ถ้าเรามีสติปัญญาเราควบคุมอารมณ์ได้ เราควบคุม นี่ทางโลกนะเราควบคุมอารมณ์ต่างๆ ได้ มันจะคิด มันจะอะไรมันก็มีของมัน แต่ถ้าเวลาภาวนามามันจะรู้

ฉะนั้น คนบอกว่า เห็นไหม นี่ยังดีนะเขาบอกว่าผมเพิ่งปฏิบัติไม่ถึงปี เมื่อก่อนไม่ปฏิบัติมันก็ไม่รุนแรง พอเดี๋ยวนี้ปฏิบัติขึ้นมาแล้วมันรุนแรงนัก นี่อันหนึ่ง แล้วมีคนถามมาอีกเหมือนกัน โอ้โฮ เดี๋ยวนี้ปฏิบัตินะ แหม พอเห็นผู้หญิงเป็นอสุภะหมดเลย ไอ้ผู้ชายก็เห็นผู้หญิงเป็นอสุภะหมดเลย เดี๋ยวนี้หนูละกามราคะได้แล้ว โอ๋ย หนูรู้หมดเลย ถ้าคำถามอย่างนี้ นั่นล่ะระวังให้ดี เวลาจิตมันดีมันก็คิดอย่างนั้น ประเดี๋ยวมันเสื่อมแล้วเดี๋ยวจะรู้ เดี๋ยวจะรู้ เราประมาทไม่ได้หรอก

นี่เวลาเรามีสติปัญญาอย่างนี้ดี ดีหมายความว่าเรายอมรับความจริง ถ้าเรารู้ความจริงเราใช้ปัญญาของเรา นี้บางคนบอกว่าเดี๋ยวนี้นะจิตดีมากเลย เห็นใครเดินผ่านมา เพ่งพิจารณาเป็นอสุภะหมดเลย ถ้าจิตมันดี มันได้เป็นบางครั้งบางคราว ถ้าจิตเราดีก็เหมือนที่เราพูด ถ้าเรามีสติปัญญาเราควบคุมสติปัญญาของเรา เรามีสติปัญญาอยู่แล้วเราจะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก เราบังคับได้ เราบริหารจัดการได้ มันไม่ออกมาจนมันทรมาน เห็นไหม มันทรมานผม มันกินปอด กินตับ มันกินซ้ำ กินซาก มันทรมานผม แต่ถ้าเรามีสติปัญญา มันรู้ทันปั๊บจบหมด พอจบหมด การกระทำจากภายนอกมันก็ไม่มี

ฉะนั้น กรณีที่บอกว่าผู้ที่ปฏิบัติใหม่ เวลาจิตมันสงบขึ้นมา จิตมันดีขึ้นมาเพราะมันมีปัญญาอย่างที่พูดนี่ พอมันมีปัญญาอย่างที่พูด จิตใช่ไหม? จิตเรามันมีปัญญาของมันใช่ไหม? พอจิตมันดี จิตมันมีความสงบระงับ พอจิตมีความสงบระงับ เวลาเพศตรงข้ามเดินผ่านมามันพิจารณาได้ไง นี่มันพิจารณาได้ เขาเปรียบเทียบเรื่องร่างกายเหมือนโลงศพ ในธรรมะนะเปรียบเหมือนโลงศพ โลงศพเขาประดับด้วยดอกไม้ ลายเทพพนม ลายต่างๆ ลายสวยงาม ลายโลงศพสวยงามมาก แต่ในโลงศพนั้นมีแต่สิ่งที่เป็นปฏิกูล

สิ่งที่เราเดินผ่านกันไป ผ่านกันมา ผิวหนัง ถุงหนัง ถุงหนังรักษาไว้เหมือนกับโลงศพ มันสวยงามมาก แต่ถ้ามันผ่านผิวหนังเข้าไปมันคืออะไรล่ะ? นี่ถ้ามีปัญญามันพิจารณาอย่างนี้ มันพิจารณาของมันอย่างนี้ ฉะนั้น พอบอกว่าคนนั้นเดินไปพิจารณาเป็นอสุภะเลยนะ คนนี้เป็นอสุภะ เออ สาธุ สาธุ ถ้าพิจารณาได้อย่างนั้นสาธุ แต่มันเป็นของชั่วคราว ของชั่วคราว ถ้าใครไม่มีสติปัญญา ของชั่วคราวจะทำให้พลั้งเผลอ พอพลั้งเผลอไปมันจะถลำไป แล้วมันจะเป็นการประมาท แต่ถ้ามันมีสติปัญญา ของชั่วคราวเราก็พยายามจะทำให้มันดีขึ้น ถ้าไม่ทำให้ดีขึ้นมันไม่เกิดความประมาท

ที่เราพูดนี่เราห่วงเวลามันประมาท ประมาทหมายความว่าคนเราเวลาดีเรามั่นใจของเรา แต่เวลาประมาทมันผิดพลาดไปแล้วนะ พอมันเสีย มันเสื่อมไปจะเสียใจมาก ถ้าเสียใจมากก็ตีอกชกตัวไง แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ สิ่งใดเกิดขึ้นเราพิจารณาของเรา เราดูแลของเรา ถ้าเราดูแลของเรานะทำให้มันพัฒนาขึ้น ทำให้มันดีขึ้น ที่เป็นอสุภะเลย เห็นใครเดินผ่านเป็นอสุภะเลย แล้วควบคุมใจได้สาธุ สาธุ แล้วทำไปบ่อยๆ ทำไปบ่อยๆ จนมันไม่ประมาท มันมีสติปัญญาของมันพิจารณาซ้ำ

เริ่มต้นจากตรงนี้ เริ่มต้นจากตรงมีสติปัญญา ถ้ามีสติปัญญา ถ้าจิตมันสงบมันจะเห็นภาพแบบนั้น ถ้าจิตไม่สงบมันไม่เห็นอย่างนั้น ฉะนั้น พอเรามีสติปัญญา แต่จิตไม่สงบเราก็รักษาตัวเรา รักษาตัวเราโดยที่เราพูดอธิบายให้ฟัง แล้วรักษาตัวเรา เราใช้ปัญญาของเราอย่างนี้ นี่ใช้ปัญญาอย่างนี้ แล้วเวลาเราพิจารณาของเรานะ สิ่งนี้มันไม่ใช่มาเกิดกับเราเดี๋ยวนี้ มันเกิดมา มันเป็นของคู่โลก กามภพ รูปภพ อรูปภพ สิ่งที่เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะนี้มันเป็นของคู่โลก อย่างเช่นที่ยกขึ้นว่าวงการแพทย์ วงการแพทย์เขาบอกเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เป็นเรื่องปกติของสัตว์ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ฉะนั้น มันไม่เป็นโทษหรอก

ใช่ มันไม่เป็นโทษหรอก ถ้าเอ็งไม่ไปทำลายให้ผิดกฎหมาย ถ้าเอ็งทำอะไรผิดกฎหมายมันก็เป็นโทษ เอ็งต้องติดคุก แต่ถ้าเป็นธรรม เห็นไหม เป็นธรรมเพราะเราจะพ้นจากกามภพ รูปภพ อรูปภพ ถ้าจะพ้นจากกามภพ รูปภพ อรูปภพ กามภพมันก็เริ่มต้นจากตรงนี้ไง เพราะว่าตรงนี้มันดึงดูดไว้ ถ้ามันดึงดูดไว้เราก็ต้องมีสติปัญญาของเรา แล้วถ้าจิตสงบมันก็จะเห็นอย่างที่ว่าเป็นอสุภะๆ นั่นแหละ

พอเห็นอสุภะแล้วนะ สุภะ อสุภะมันเป็นของคู่กัน อสุภะๆ จนมันเป็นอสุภะหมด แล้วมันยังไม่ละกิเลสมันจะทำอย่างไรต่อไป? ต้องเอาสุภะมาเพื่อหลอกล่อให้จิตออกมาให้มันเป็นกลางระหว่างสุภะกับอสุภะ สุภะก็ไม่ใช่ อสุภะก็ไม่ใช่ สุภะคือความสวยงาม มันก็เป็นอนิจจัง มันไม่มีความแน่นอนหรอก อสุภะมันก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นอสุภะมันสลายไปแล้วมันเหลืออะไร? สุภะและอสุภะมันเป็นระหว่างทางสองส่วนที่ไม่ควรเสพ ทั้งดีและชั่วไม่ควรเสพ แล้วมัชฌิมาเป็นอย่างไรล่ะ? มัชฌิมาตรงไหน?

นี่มัชฌิมาเวลาจิตมันพิจารณาของมันแล้วมันจะลงมัชฌิมา มัชฌิมาเพราะอะไร? เพราะมันเห็นโทษของสุภะและอสุภะ แล้วมันจะมัชฌิมาปฏิปทา แล้วมันทำลายลง นี่ไงเวลาที่เขาทำลายมันเข้ามากลืนกินอย่างไร? มันทำลายจิตของมันอย่างไร? แล้วมันพ้นจากกามราคะ ฉะนั้น สิ่งที่มันพิจารณาไปมันจะไปอีกข้างหน้านะ

ฉะนั้น เพราะพูดถึงเรื่องกามราคะไง สิ่งที่ว่ากามราคะ ฉะนั้น เรายกให้เห็นเรื่องของวงการแพทย์ เขาบอกว่าเป็นเรื่องของสัญชาตญาณ เป็นเรื่องของสามัญสำนึกของมนุษย์ มันไม่ผิด ฉะนั้น มันไม่ผิด ถ้าเราจะบอกว่ามันผิด มันเป็นสิ่งที่โหดร้าย มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องมันก็ไม่ใช่ ฉะนั้น ถ้ามันเป็นสามัญสำนึกของโลก ผู้ที่อยู่ครองเรือน

นี่กามคุณ ๕ ถ้าคู่ครองเรือนเขากามคุณ ๕ เขาอยู่ในศีล ๕ มันก็ไม่ผิด เพราะว่าสัตว์โลก บารมี วุฒิภาวะของจิตมันแตกต่างหลากหลาย ถ้าเราเป็นชาวพุทธ เราเกิดมาพบพุทธศาสนา เราครองเรือนอยู่ เราก็มีศีล ๕ เราก็สร้างสมบารมีเราไป มันก็ถูกต้องตามอำนาจวาสนาของจิตที่มันมีกำลัง แต่ถ้าเราจะพิจารณาให้เป็นพรหมจรรย์ เราพิจารณาเพื่อจะละ เพื่อจะถอด จะถอน นี่อันนี้เป็นโทษ เป็นโทษเพราะอะไร? เป็นโทษเพราะมันทำให้เราเกิด ให้เราตาย ให้เราเวียนตาย เวียนเกิดมา มันทำให้เราทุกข์ ทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ ทำให้เราทุกข์ยากมาหนักหนาสาหัสสากรรจ์ แล้วเราจะแก้ไขอย่างไร?

ถ้าแก้ไขอย่างไรเราก็ต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้ว เห็นไหม เรามีสติปัญญาอย่างที่อธิบายมามันจะเห็นคุณและเห็นโทษ เป็นสุภะและอสุภะ เป็นทางสองส่วน อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค มันเป็นทางสองส่วน ทางของโลก พุทธศาสนาเสนอแนวทางที่สาม แนวทางที่สามคือมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ทางสายกลางที่จะพ้นจากสุภะ และอสุภะ ถ้าพ้นจากสุภะและอสุภะเราพิจารณาอย่างไร?

ถ้าพิจารณาอย่างไร? พิจารณาอย่างไรหมายความว่าเราจะพิจารณาโดยก็อปปี้ โดยสูตรสำเร็จที่ครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอนมันเป็นไปได้ยาก มันเป็นไปได้ยากเพราะอะไร? เพราะน้ำมันต้องเกิดจากบรรจุภัณฑ์ของภาชนะนั้น ร่างกายของเราเป็นภาชนะหนึ่ง เราเป็นคนๆ หนึ่ง เรามีจิตของเรา ถ้าจิตของเรา เราเกิดกามราคะที่มันกินตับ กินปอดเรา เราจะแก้ไข มันต้องแก้ไขภาชนะนี้นะมันต้องเก็บสะสมน้ำ มันถึงจะมีน้ำขึ้นมา มีน้ำขึ้นมามันก็ต้องพิจารณาขึ้นมาจากใจดวงนั้นใช่ไหม?

ฉะนั้น สิ่งที่แนะนำมาของครูบาอาจารย์ท่าน จากใจดวงหนึ่งยื่นให้ใจดวงหนึ่ง แต่ใจดวงนี้มันต้องพิจารณาของมัน มันต้องเข้มแข็งของมัน มันถึงจะเข้าใจเรื่องสุภะและอสุภะในใจของมันเอง ถ้าในใจของมันเอง เราก็ต้องขยัน ต้องเข้มแข็ง เข้มแข็งแล้วพิจารณา พยายามหาทางออก นี่หาทางออกโดยใช้ปัญญาอย่างที่เราแนะนำ พิจารณาเริ่มต้น เริ่มต้นความรู้สึกนึกคิดเป็นอากาศ เป็นนามธรรมเหมือนอากาศ ความรู้สึกนึกคิดเป็นนามธรรมเหมือนอากาศ แล้วเราจะไปไขว่คว้าเอามาจากไหน?

ฉะนั้น ถ้าเราเริ่มต้นฝึกฝนขึ้นมา เห็นไหม สิ่งที่มันฝึกฝนมา นามธรรมนี้เหมือนอากาศ มันเกิดจากความรู้สึกนึกคิด แล้วเรามีความรู้สึกนึกคิดที่คิดหาทางออก แล้วถ้าจิตมันสงบ จิตมันมี มันเป็นไปมันจะเริ่มเบาลงๆ พอเบาลงแล้วเป็นสัมมาสมาธิ เราจะพิจารณากาย พิจารณาต่างๆ แล้วมันจะเป็นโสดาบัน พอเป็นโสดาบันแล้วพิจารณาต่อไปมันก็เป็นอุปาทานเหมือนข้อแรกนั่นแหละ พิจารณาอุปาทานต่างๆ ถอดถอนอุปาทานเป็นโสดาบัน แล้วพิจารณาขั้นต่อไปมันถึงจะเป็นอสุภะ มันถึงจะเป็นกามราคะ ถ้าถึงตอนนั้นแล้วเราค่อยพิจารณากัน

ฉะนั้น เริ่มต้นจากกามราคะมันก็ทำให้เราเจ็บปวด ทำให้เราสับสนแล้ว เราค่อยๆ แก้ไขไป ค่อยๆ แก้ไขไป แล้วถ้ามันพิจารณาไปแล้ว อย่างที่เราพูดถึงเรื่องอสุภะๆ มันเป็นข้อเท็จจริงที่จะต่อสู้กับมันเลยนะ นี่ถ้าเราเห็นโทษ เราเห็นโทษของความหลงผิด เราเห็นโทษของอวิชชา เราจะพยายามแก้ไขของเรา ปฏิบัติของเรา หาเหตุหาผลกับใจ ให้ใจเติบโตขึ้นมา มันจะมีหลักมีเกณฑ์ของมัน เอวัง