ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ทางอันตราย

๑๒ ก.พ. ๒๕๕๕

 

ทางอันตราย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๗๘๒. ไม่มี ๗๘๓. ไม่มี

ถาม : ข้อ ๗๘๔. เรื่อง อยากให้แม่ออกห่างจากสายดูของ จะทำอย่างไรดีคะ”

หลวงพ่อ : คือพ่อแม่ไปปฏิบัติ ลูกเป็นทุกข์น่าดูเลย

ถาม : เรื่องมันยาว (เขาเขียนมาว่าเรื่องมันยาว) ต้องเท้าความสักนิด คือแม่หนูไปปฏิบัติสมาธิอยู่กับหลวงพ่อองค์หนึ่งเป็นเวลานานมาก ท่านอายุมาก อายุ ๘๐ กว่าแล้วแต่ยังแข็งแรง ท่านเป็นพระที่หนูคิดว่าปฏิบัติดี ศีลบริสุทธิ์องค์หนึ่ง ไม่สร้างหรือสะสมวัตถุใดๆ ไม่ได้จำวัดที่ไหน แต่มีลูกศิษย์สร้างกุฏิเล็กๆ ให้ ท่านเน้นการสอนทำสมาธิกับทุกคนที่ได้เข้าไปกราบท่าน วิธีกำหนดจิตของท่านไม่เหมือนใคร คือให้นึกถึงท้องฟ้ากว้างๆ ในส่วนนี้หนูอธิบายได้ไม่มาก แต่หนูไม่เคยลองทำ

ส่วนตัวไม่ใช่คนปฏิบัติมากนัก ไม่กล้าจะไปวิจารณ์หรือล่วงเกินสิ่งที่ไม่รู้ แต่ประเด็นก็คือท่านเน้นสอนลูกศิษย์ดูของ ถอนของให้แก่ผู้ที่หาที่พึ่ง หรือใครที่มีอาการเจ็บป่วย แล้วสวดมนต์รักษาโดยให้ลูกศิษย์ทั้งหลายเป็นผู้ดูของ โดยท่านถามว่าลูกศิษย์ที่เก่งแล้วท่านจะบอกในสิ่งที่เห็น จากนั้นก็จะสวดมนต์อุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณหรือสิ่งของไม่ดีที่มาเกาะ บางทีก็ใช้มีดหมอจี้ประกอบให้ลูกศิษย์เช่นกัน

แม่หนูเป็นหนึ่งในผู้ทำการดู-ถอนของ แม้กระทั่งตัวหลวงพ่อเอง เวลามีอาการเจ็บป่วยก็จะบอกว่าโดนของเป็นประจำ หนูได้ยินแม่สวดมนต์ถอนของให้ท่านทางโทรศัพท์ เคยถามแม่ว่า ในเมื่อท่านเป็นพระอริยะแล้ว ทำไมของถึงเข้าท่านได้ เข้าบ่อยด้วย ในความเข้าใจของหนู พระอริยะ ของไม่ดี หรือวิญญาณไม่ดี สัมภเวสีต่างๆ ไม่น่าจะทำอะไรท่านได้ เพียงแค่ศีล ๒๒๗ มีพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณคุ้มครองอยู่ แล้วก็ค่อนข้างจะงง คือเมื่อท่านเป็นอาจารย์ ไฉนลูกศิษย์จึงต้องเป็นผู้รักษาให้ แม่ตอบประมาณว่า ยิ่งเป็นอริยะของยิ่งเข้าง่าย เพราะกายจะใสๆ

ที่ผ่านมาแม้จะเห็นวิถีที่ดูแปลกๆ รู้สึกกังวลเล็กน้อย แต่ทุกคนในครอบครัวก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะไม่ได้มีอะไรที่ไม่ดี อย่างน้อยก็ได้ทำบุญ ได้อุปัฏฐากหลวงพ่อที่มีอายุมาก ได้สวดมนต์ ได้ทำสมาธิที่บ้านก็อนุโมทนา แต่เมื่อไม่นานมานี้หนูคุยกับคุณแม่จนเข้าถึงเรื่องนี้ แม่บอกว่า “ได้โสดาบันแล้ว”

หนูอึ้ง ก็ถามว่า “แม่รู้ได้อย่างไร?”

แม่บอกว่า “เพื่อนๆ ในกลุ่มบอก เขาก็ทดสอบอารมณ์อะไรต่างๆ”

แต่พูดไปมา แม่ก็เปลี่ยนไปว่า “ถ้าไม่ได้ก็ใกล้จะได้โสดาบันแล้ว ชาตินี้ไม่ลืมแน่”

บอกว่าลูกศิษย์บางคนสำเร็จโสดาบันแล้ว บางคนได้ยินว่ามีอนาคามี มีการสอบอารมณ์และยืนยันโดยหลวงพ่อ หนูเป็นกังวลเพราะยอมรับว่าไม่เชื่อ หนูรู้จักแม่ดี ถ้าแม่ได้โสดาบันจริง อารมณ์ของแม่ต้องไม่เป็นแบบนี้ หนูกลัวว่าจะไปกันใหญ่ เพราะตอนนี้ดูว่ายึดติดในนิมิต ซึ่งว่ามีฤทธิ์รักษา ผู้ที่ปฏิบัติค่อนข้างจะมีทิฐิเข้าใจว่าตัวเองได้ระดับไหน ไม่ฟังอาจารย์องค์อื่น

แม่หนูถือศีล สวดมนต์ นั่งสมาธิเก่ง ไม่อยากให้ท่านมัวแต่ดูของ ถอนของ ใครเป็นอะไรก็โดนของอยู่แบบนี้เรื่อย หนูเคยพาแม่ไปกราบหลวงพ่อที่วัดเร็วๆ นี้ด้วย หวังจะดึงแม่ ถ้าแม่ได้ฟังเทศน์จากหลวงพ่อแล้วสนใจมาปฏิบัติ ถ้าแม่อยากได้มรรค ได้ผล หนูอยากให้แม่ได้เจอครูบาอาจารย์ที่ไปถูกทาง แต่หนูคิดว่ายากที่แม่จะหันมาสนใจทางอื่น เพราะทิฐิ ล่าสุดน้องชายโทรมาเล่าว่า แม่บอกว่าไปวัดสวดมนต์ (ไอ้นี่อ่านไม่ได้หลายอย่าง)

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงประเด็นในคำถามนี้ สังคมเป็นอย่างนี้มาเยอะมาก ทีนี้เพียงแต่สังคมเป็นอย่างนี้ คนที่จะรู้เรื่องอย่างนี้ต้องเป็นเรื่องพระปฏิบัติ เพราะพระปฏิบัติ หรือมนุษย์เราที่ปฏิบัติ เราจะผ่านสังคมมา เราจะเลือกแยกแยะมาว่าอะไรผิด อะไรถูก กว่าจะผ่านมารู้ว่าผิด รู้ว่าถูก เราเองเราต้องอยู่ในเหตุการณ์นั้นมา ถ้าเราไม่เคยผ่านสังคมว่าถูกหรือผิดมา เราจะรู้ได้อย่างไรว่าถูกหรือผิด

แล้วก็มองกลับนะ มองกลับถึงว่าพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เวลาลูกๆ หลานๆ มาปฏิบัติ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายจะเป็นห่วงมาก กลัวลูกเราจะเสียไป แล้วในการปฏิบัติ ในทางสังคมเขาบอกว่าอย่าปฏิบัตินะ ปฏิบัติแล้วเดี๋ยวเป็นบ้า ปฏิบัติแล้วเดี๋ยวเป็นบ้า เพราะไม่มีครูบาอาจารย์สอน แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์สอนนะ แล้วครูบาอาจารย์ที่ถูกต้องเขาจะคอยแยกแยะ

ทีนี้ถ้าครูบาอาจารย์สอนมันก็เหมือนกับในโรงเรียน สังเกตได้ไหมว่าอาจารย์คนไหน ครูในโรงเรียนไหนเป็นครูที่สอนดี เป็นครูที่มีทางวิชาการ นักเรียนจะกลัวมาก แต่ถ้าครูคนไหนสำมะเลเทเมา เล่นไปกับเด็กนะ เด็กมันก็ชอบไปอย่างหนึ่ง ชอบความสะดวกสบาย แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่เข้มงวดนี่เด็กก็กลัว แต่เด็กจะได้ผล

ในการประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ที่เป็นท่านจะเข้มงวด พอเข้มงวด พอเราจะไปปฏิบัติที่ไหนก็แล้วแต่ ที่ไหนมีการเข้มงวด แล้วที่ไหนเขาพยายามชี้นำในความถูกต้อง เราจะอึดอัดขัดข้องแล้วไม่อยากเข้าไป ที่ไหนเขาอำนวยความสะดวก ที่ไหนเขาทำให้เราสะดวกสบาย ที่ไหนทำให้เราพอใจ เราอยากไปที่นั่น ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน แล้วเราเองเราเป็นผู้ปฏิบัติใหม่ เราจะรู้ได้อย่างไร? เราจะแยกแยะได้อย่างไรว่าอะไรผิด อะไรถูก

ฉะนั้น พอเราแยกแยะอะไรผิด อะไรถูกไม่ได้ พอไม่ได้นะ นี่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม เขาโคกับขนโค เขาโคหมายถึงว่าผู้ที่จะได้มรรค ได้ผลมันแค่เขาโค แล้วขนโคมันเยอะ ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติที่เป็นพระๆ นี่ในเมื่ออาจารย์ของผู้ถามเขาบอกว่าเป็นลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์เราที่เชื่อถือได้ ที่เราก็เคารพนะ นี่เราก็เคารพ เราก็รักมาก แต่นี้พอมาเป็นลูกศิษย์ ลูกศิษย์ได้มา ในการปฏิบัติในฝ่ายลูกศิษย์ ในแง่ลูกศิษย์ขึ้นมามันจะได้จริงหรือไม่ได้จริง ถ้าได้จริงขึ้นมามันจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง

หลวงตาเน้นไว้ประจำนะ “ในการปฏิบัติ ให้มีสติอยู่กับผู้รู้แล้วไม่ผิด”

อยู่กับผู้รู้ ต้องมีสติอยู่กับผู้รู้ ความผิดพลาดจะไม่มีเลย แต่ดูของ เห็นไหม ดูของ ถอนของมันอยู่กับจิตหรือเปล่า? ใครเป็นคนไปถอน? อ้าว นี่มันส่งออกไง คำว่าดูของๆ เราธุดงค์มา เราเจอมา เราธุดงค์ไปนะไปจังหวัดหนึ่ง นี่ไปจังหวัดหนึ่งไปเจอญาติเขาก็ปฏิบัติอย่างนี้ ปฏิบัติบอกว่านี่อยู่ในสังคมๆ หนึ่ง เขาจะทักจิตกัน พอไปถึงจิตจะรู้อย่างนั้นจิตจะรู้อย่างนี้ เสียงใบไม้พัดไม่ได้นะ บอกว่าอีกคนหนึ่งส่งจิตมาแล้ว แล้วเขาก็เชื่อมั่นของเขา พอเขาเชื่อมั่นของเขา เขาไปสร้างในบ้านของเขาเป็นสำนักปฏิบัติ

นี่มีอย่างนี้เยอะไปหมด ถ้ามีอย่างนี้เยอะไปหมด เห็นมาเยอะ ถ้าเห็นมาเยอะแล้ว ทีนี้พอคำว่าเห็นมาเยอะนะ สังคมมันอ่อนด้อย สังคมมันอ่อนด้อย ผู้ปฏิบัติอ่อนด้อย พออ่อนด้อยไปฟังอย่างนั้นแล้วเชื่อ นี่การทักจิตๆ ไง อย่างที่ว่าเขาดูจิตกัน เห็นไหม ที่เขามาเขาบอกว่า ถ้าเขาไม่ได้เขาทักจิตได้อย่างไร? มีเยอะมาก นี่อาจารย์ที่เราไม่เชื่อถือเลย แล้วเราเห็นว่าพวกนี้ภาวนาใช้ไม่ได้ด้วย แต่คนที่เขาไปเขาบอกว่าดี ดีเพราะเขาทักจิต เขาทักหนเดียวไง ทักหนเดียวแบบว่าเราเข้าไป เรานึกอะไรเขาพูดตรงใจเรา แค่พูดถูกที่เราคิดเท่านั้นแหละ สิโรราบเลย ไปหมดเลย พอไปหมดเลย ทุกอย่างพอมันเชื่ออย่างนี้ปั๊บทุกอย่างมันก็เชื่อไปหมดใช่ไหม? พอเชื่อไปหมด เขาทักจิต แต่เขาเข้าอริยสัจไหม?

คำว่าทักจิต เวลาส่งออกมันไม่ใช่แล้ว พอมันไม่ใช่ แต่ในเมื่อมันเป็นความรู้สึก มันเป็นนามธรรม เราไม่มีหลักเกณฑ์เราก็จะเชื่อสิ่งนั้นไป ถ้าเชื่อสิ่งนั้นไปมันเสียหายหมดแหละ ถ้ามันส่งออกผิดหมด ถ้าส่งออกนะ เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ทวนกระแส” ทวนกระแสคืออะไร? คือทวนความคิดเข้ามาไง ทวนความรู้สึกนึกคิดเราเข้าไปสู่ใจ คำว่าทวนกระแส เห็นไหม ปลาขึ้นไปสู่ตาน้ำ ขึ้นไปสู่ต้นน้ำ แม่น้ำมาจากตาน้ำ แม่น้ำมาจากเทือกเขาที่หิมะละลาย มันต้องมีต้นน้ำ ต้นน้ำ ฐีติจิต

ความคิดมันมาจากไหน? มันมาจากต้นขั้วของใจ แล้วกิเลสมันอยู่ที่ขั้วหัวใจ มันไม่ได้อยู่ที่ความคิด ทีนี้พอความคิดถ้ามันทวนน้ำ ทุกคนอยากเป็นปลาตายไง น้ำมันพัดไปสบาย แต่ถ้าเป็นปลาเป็น โอ้โฮ เราต้องทวนน้ำนะ เราต้องว่ายขึ้นทวนน้ำ ไอ้พุทโธ พุทโธคือปลาเป็น คือจะทวนเข้าไปสู่จิต จะทวนสายน้ำเข้าไป พุทโธ พุทโธ ปัญญาอบรมสมาธินี่ปลาเป็น ปลาเป็นมันต้องว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นไป เหนื่อยมาก เหนื่อยมาก แต่ถ้ามันว่ายขึ้นไป เห็นไหม มันจะขึ้นไปถึงต้นน้ำ มันจะไปถึงถิ่นเกิดของมัน มันจะไปวางไข่ มันจะไปฟักลูก ฟักเชื้อพันธุ์ของมันออกมา

นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัตินะ หลวงตาเน้นมาก เวลาท่านพูดกับพระทั่วไปนะ ถ้าท่านจะเสียหาย ท่านจะห่วงท่านจะบอกว่า “อย่าทิ้งผู้รู้ ห้ามทิ้งผู้รู้เด็ดขาด อยู่กับผู้รู้ไม่เสีย”

อยู่กับผู้รู้เรานี่แหละ ความรู้สึกเรานี่แหละ อย่าปล่อยออก ถ้าปล่อยออกเสีย นี่พูดถึงโดยหลักเลย แล้วย้อนกลับมา นี่เขาสอนกันว่าให้ดูของ ว่าคนนั้นมีของเข้าๆ อันนี้หมอดูเขาก็ทำกัน เรื่องหมอดู เรื่องสิ่งที่เขาสร้างสม อย่างที่ว่าพระโพธิสัตว์ต่างๆ เขาจะรื้อสัตว์ ขนสัตว์เขาช่วยกันแบบนี้ ถ้าช่วยกันแบบนี้ นี่ช่วยกันแบบสร้างสมบารมีนะ มันไม่ได้ช่วยโดยความเป็นจริงนะ

ถ้าความเป็นจริง เวลาพระพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ ขนสัตว์ท่านกำหนดดูจิตนะ กำหนดดูจิต ความรู้สึกนึกคิดเลยว่าเอ็งคิดเรื่องอะไร? เอ็งมีอำนาจวาสนาไหม? เอ็งจะปฏิบัติได้หรือไม่ได้ท่านดูตรงนั้น แล้วถ้าไม่ได้ท่านไม่ไปยุ่งหรอก เสียเวลาเปล่า เหนื่อย สีซอให้ควายฟังลำบากตายห่า ไม่มีใครอยากสีซอให้ควายฟังหรอก เพราะควายมันฟังเสียงเพลงไม่เป็น แต่เวลากำหนดดูจิต นั่นรื้อสัตว์ ขนสัตว์ของในพุทธศาสนาอีกอย่างหนึ่ง รื้อสัตว์ ขนสัตว์ คือให้สัตว์ตัวนั้นมันสำนึก ถ้าสัตว์ตัวนั้นมันสำนึกแล้วมันรู้จักตัวมันเอง มันจะเข้าสู่ใจของมัน แล้วมันเองมันจะไปแก้ไขที่ใจของมัน

นี้มันเป็นรัฐบาลไง รัฐบาล เห็นไหม ต้องมีรัฐสวัสดิการ ไอ้นั่นมันไปรื้อสัตว์ ขนสัตว์ มันไปช่วยเหลือเรื่องความเป็นอยู่ไง ถ้าเรื่องความเป็นอยู่นั่นมันเรื่องโลกๆ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าสร้างบารมีนะ เราจะถอนของอะไรเนี่ย ไอ้อย่างนี้มันไม่มีวันจบหรอก ถ้าไม่มีวันจบแล้ว พอไม่มีวันจบใช่ไหม? แต่นี้เป็นเส้นทางไง นี่ข้อวัตรปฏิบัติ ปฏิปทาเครื่องดำเนิน ถ้าปฏิปทาเข้ามาดูจิต เข้ามารักษาจิต คำว่าดูจิตๆ เข้ามารักษาจิต เข้ามาแก้ไข ปฏิปทาแบบนี้ ปฏิปทาคือเข้ามาแก้ไขกิเลส

นี้ปฏิปทาส่งออก ปฏิปทาถ้าส่งออกอย่างนี้นะจิตแพทย์มันก็ทำได้ ศรีธัญญามันก็รักษาอยู่ โรงพยาบาลศรีธัญญาเขาก็รักษา ในเมื่อสิ่งนี้มันเป็นเรื่องโลก ถ้าเรื่องโลกแล้วมันจะสร้างบารมีนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ทีนี้พอบอกว่าถ้าเป็นพุทธศาสนา เห็นไหม เราเคยเห็นอยู่ ในทางโลกเขาบอกว่าบวชพระแล้วนะต้องศึกษาทางพืชสมุนไพร เพื่อจะได้รักษา จะได้ช่วยเหลือประชาชน ต้องศึกษาเรื่องพรหมศาสตร์นะจะได้ช่วยสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาให้ญาติโยม นี่โลกเขาคิดกันแบบนั้น แต่พอมาพุทธศาสนาไม่ใช่เลย ไม่ใช่เลย

“อริยสัจ” ทุกข์ ทุกข์อยู่ที่ไหน? แก้ทุกข์ ทุกข์อยู่ที่ไหน? สมุทัย นี่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่ถ้ามันได้อริยสัจ มันได้ความจริงอันนี้มันจะแก้ไขที่นี่ ถ้าแก้ไขที่นี่มันจบที่นี่ พุทธศาสนาสอนที่นี่ พุทธศาสนาสอนเรื่องกิเลส โลกกิเลส โลกการเกิด การตายอันนี้ต่างหาก แต่นี่พอมันบอกว่าส่งออก เห็นไหม พอส่งออกไปแล้วมันก็จะเป็นอย่างนี้

เห็นมาเยอะ เห็นเยอะมาก แล้วอยากให้แม่ออกห่าง ออกห่างมันออกห่างจากอะไรล่ะ? เรื่องอย่างนี้นะต้องใช้เวลา แล้วต้องแยก เห็นไหม เพราะมันเป็นกระแสสังคม ถ้าเราไปอยู่สังคมไหน มันเหมือนสี เหมือนสถาบัน ใครไปอยู่ในสีไหน สถาบันไหนมันก็ยึดว่าสีมันถูก สถาบันมันดี ดูสินักเรียนมันตีกัน มันตีกันเพราะอะไร? มันตีกันเพราะสถาบัน ถ้าให้เป็นพี่น้องนะ พี่ชายกับน้องชายอยู่คนละสถาบันมันก็จะตีกัน แม้แต่พี่น้องมันก็จะตีกัน

นี่ก็เหมือนกัน พอเราเข้าไปอยู่ในสายไหน เราเข้าไปอยู่ในสังคมใด นี้เราต้องแยกออกมา ถ้าแยกออกมา โดยความเป็นจริงมันไม่มีอยู่แล้ว เพราะในนี้เขาก็เขียนแล้วว่า “โดยข้อเท็จจริงหนูไม่เชื่อ” หนูไม่เชื่อ แต่ทีนี้หนูไม่เชื่อแล้วนี่ด้วยความห่วงใย ทีนี้ด้วยความห่วงใยนะ เพราะลูกกับแม่มันเรื่องธรรมดา เรื่องความห่วงใย ทีนี้ความห่วงใย เห็นไหม นี่เราคุยกันได้ เรารักษากันได้แต่ภายนอก แต่ความเชื่อ ความเชื่อที่มันเป็นไปแล้ว ยิ่งแม่กับลูกด้วยมันแก้ไขได้ยาก ทีนี้พอมันแก้ไขได้ยากมันก็ต้องอาศัย ต้องค่อยๆ กันออก ค่อยๆ กันออก

แล้วอย่างที่ว่า พอปฏิบัติไปๆ ส่งออกแบบนี้นะแล้วได้โสดาบัน นี่ได้โสดาบัน ตอนนี้เป็นไปหมดนะ ได้โสดาบัน คำนี้ แม้แต่เราก็เหมือนกันมีลูกศิษย์มาบอก เขาบอกพวกนั้นได้โสดาบัน ได้โสดาบันเพราะอะไรล่ะ? เพราะเขาเคยมาหาหลวงพ่อ แล้วเขามาถามปั๊บหลวงพ่อว่าใช่ ใช่เขาว่าเขาเป็นโสดาบัน ส่วนใหญ่คนมาถามเรานะ ๑ บวก ๑ เป็น ๒ ใช่ไหม? ใช่ ถ้าคนมาหาเรานะ หลวงพ่อ ๑ บวก ๑ เป็น ๒ ใช่ไหม? ใช่ แล้วเขาก็กลับ เขาบอกว่าเขาได้โสดาบันเพราะเราบอกว่าใช่

อ้าว ก็เอ็งถามว่า ๑ บวก ๑ เป็น ๒ ใช่ไหม? เราก็ว่าใช่ แล้วเอ็งบวกเสร็จแล้วเอ็งจะเอาตรงนี้ เอ็งซื้อของ เอ็งคำนวณถูกไหม? เอ็งไปซื้อของเอ็งไปทำธุรกิจไหม? เอ็งไปทำสิ่งใดเป็นประโยชน์ขึ้นมา อันนี้ต่างหากมันถึงจะเป็นความจริงขึ้นมา แต่ว่า ๑ บวก ๑ เป็น ๒ ใช่ไหม? ใช่ กลับเลยนะเป็นโสดาบัน นี่ไง นี่ก็เหมือนกันคำว่าโสดาบัน แม้แต่เราเขาก็ไปอ้างว่าได้โสดาบัน เคยมาหาเราแล้วเราบอกว่าใช่ เป็นโสดาบัน อ้าว ก็ไปถามสิว่าเป็นโสดาบันหรือไม่เป็นโสดาบัน ถ้าถามมาเราบอกว่าไม่ใช่ แต่ถ้า ๑ บวก ๑ เป็น ๒ ใช่ไหม? ใช่ อ้าว แล้วมันเกี่ยวอะไรกับโสดาบันล่ะ?

อันนี้มาก็พิจารณากาย พิจารณากายแล้วถูกไหม? ถูก แล้วพิจารณาอย่างไรต่อไปล่ะ? แล้วทำอย่างไรล่ะ? เอ็งต้องบอกสิว่าพิจารณากายใช่ไหม? ใช่ แล้วพิจารณาแล้วผลมันเป็นอย่างไรล่ะ? มันมีความรู้อย่างไร? มันปล่อยวางอย่างไร? เพราะการพิจารณากายมันแตกต่างหลากหลายมากนะ พิจารณากายนอกเป็นสมถะ พิจารณากาย ดูสิเราไปเที่ยวป่าช้าเป็นสมถะ พอจิตสงบแล้วพิจารณากาย เห็นกายตามความเป็นจริงขึ้นมา มันพิจารณาแล้ว เพราะพอเห็นกายตามความเป็นจริงมันถอดถอนทิฐิไง

คำว่าความเป็นจริงนี่เราเห็น เรารู้ เราเห็นขึ้นมา นี่เป็นความเป็นจริง แต่จิตใต้สำนึกเรามันเคยยึดทิฐิเอาไว้ ความเป็นสมุทัยของมัน ความยึดของมันมันมีอยู่ ในหัวใจของเราเราสงสัยอยู่ เรามีความกังวลสงสัยอยู่ พอพิจารณาจนมันเห็นชัดเจนขึ้นมา อันนั้นต่างหากมันถึงจะไปถอน แต่กว่าที่จะถึงอันนั้นขึ้นมามันมีเป็นชั้นเป็นตอน คำว่าโสดาบัน นี่เขาบอกว่าเขาได้โสดาบัน บางคนได้ถึงอนาคามีเลย แล้วสังคมเขาจะใหญ่ เพราะอะไร? เพราะมันได้ง่ายๆ ไง สิ่งที่ได้ง่ายๆ มันก็เป็นไปหมด ฉะนั้น มันผิดมาตั้งแต่ต้น มันผิดตั้งแต่ส่งออก ส่งออก

คำว่าส่งออกนะ นี่เพราะไปดูของไง ใครของเข้า นิมิตต่างๆ หมอดูมันก็ทายได้ แม้แต่เด็กมันเล่นปั่นแปะ มันเล่นเป่าโป้งมันยังทายกันได้เลย แล้วมันมีอะไรขึ้นมา มันเล่นกันมันก็ยังเล่นได้ มันจะมีอะไร? แต่ความรู้ของเราจากภายในสำคัญมากนะ ยิ่งอย่างนี้มันยิ่งเป็นไปใหญ่เลย ในเมื่อเขาบอกว่ามันเป็นแล้วมันส่งออก แล้วมันเป็นไปไม่ได้ แล้วสิ่งต่างๆ เขาพูด เห็นไหม เขาได้โสดาบันแล้ว ในหมู่คณะเขาสืบกันได้เอง ไม่ใช่ ใครจะได้โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี นี่ตัวเองต้องรู้เอง แล้วพอตัวเองรู้เอง

ดูสิเวลาทางปฏิบัติเราเขาบอกว่าใครกินข้าวอิ่มคนนั้นจะรู้ แล้วทุกคนบอกว่ากินข้าวอิ่ม กินข้าวอิ่ม เพราะคำว่ากินข้าวอิ่มเป็นการเปรียบเทียบ ถ้าใครกินข้าวก็จะรู้เองว่าอิ่มท้องหรือกินพอประมาณ เราจะรู้เราเองว่าเรากินข้าวได้มากน้อยแค่ไหน? นี่สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเราจะรู้ผลของเรา ฉะนั้น เราต้องรู้ ไม่ใช่ว่าให้ในสังคมเป็นผู้ตรวจสอบ แล้วสังคมก็เป็นคนให้ค่า อย่างนี้มันก็เป็นเหมือนหนังกำลังภายในแล้ว มันเป็นที่ว่าเขาทดสอบกัน แต่ถ้าเป็นจริงเราเป็นของเราเอง ถ้าเราเป็นจริงขึ้นมา มันก็จะเป็นจริงขึ้นมา การสอบอารมณ์ๆ ใครจะสอบอารมณ์ ถ้าเราจะสอบของเราเอง

ฉะนั้น สิ่งที่มันเป็นไป สังคมนะเราจะบอกว่าในการปฏิบัติในปัจจุบันนี้อันตรายมาก อันตรายเพราะผู้นำไม่มีวุฒิภาวะ แล้วถ้าผู้นำไม่มีวุฒิภาวะนะ ถ้าผู้นำที่ฉ้อฉลนั่นไปอีกเรื่องหนึ่งเลยนะ ผู้นำที่ฉ้อฉล โยมเห็นไหมที่เขาปฏิบัติกัน เขาปฏิบัติกันเขาต้องการชื่อเสียง ต้องการลาภสักการะ ต้องการการยอมรับ ต้องการให้คนเชื่อมั่นเขา ถ้าสิ่งนั้นมันมีขึ้นมาแล้ว สิ่งต่างๆ มันจะตามมาหมดเลย

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าจิตใจเขาไม่เป็นธรรมนะ เขาปฏิบัติเพื่อความรู้ ความเห็นของเขา ด้วยเจตนาการฉ้อฉลของเขา แต่ถ้ามันเป็นความจริง อย่างเช่นหลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่า ในเขาตลอดนะ แล้วมีแต่พวกเราผู้ประพฤติปฏิบัติมันจะดั้นด้นเข้าไปหาท่าน พอดั้นด้นเข้าไปหาท่าน ท่านยังไม่ให้อยู่กับท่านเลย หลวงตาท่านเล่าให้ฟังว่าสมัยที่อยู่เชียงใหม่ สมัยที่ท่านยังหนุ่มๆ อยู่ พระจะอยู่กับท่าน จำพรรษากับท่านไม่เกิน ๒-๓ องค์ นอกนั้นท่านจะให้อยู่กระจายทั่วไปข้างนอก ไม่ให้อยู่กับท่านเลย

ท่านไม่ให้อยู่กับท่าน ให้ไปปฏิบัติ ถ้าได้ผลขึ้นมาแล้วให้มาถาม แล้วถึงเวลาอุโบสถท่านเทศน์ จะมารวมกันแล้วเทศน์แล้วกระจายออกไป คือต่างคนต่างจะฝึกฝนตัวเองให้โตขึ้นมา ต่างคนต่างปฏิบัติให้โตขึ้นมา ไม่ใช่ว่าไปนอนกองกัน นี่เวลาอยู่บ้านตาดหลวงตาท่านพูดประจำ ที่นี่ไม่ใช่ปลากระป๋องนะ จะมาอัดกันอยู่เป็นปลากระป๋องอยู่นี่ คือพระมันเยอะเกินไป พระมันอัดแน่นเกินไป เวลาปฏิบัติมันไม่สะดวกไง

ตอนแรกท่านรับไม่เกิน ๑๘ องค์ ที่ ๑๐๐ กว่าไร่ไม่เกิน ๑๘ องค์ แล้วท่านบอกเลยไม่รับเพราะว่ามันมีครูบาอาจารย์อยู่โดยทั่วไป ทีนี้ครูบาอาจารย์เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด เพราะอะไร? เพราะว่าท่านตรวจสอบกันเอง อย่างเช่นหลวงตาท่านได้คุยกับหลวงปู่ขาว โดยเจ้าคุณจูม ธรรมเจดีย์ หลวงตาท่านได้ปรึกษา ได้คุยกับหลวงปู่ฝั้น นี่มันรู้กันหมดว่าที่ไหน สังคมมันมีแต่พระอรหันต์ที่มั่นใจและไว้ใจกันได้

ฉะนั้น เราไม่ต้องไปแบกรับสังคม เพราะมันจะกระจายไปอยู่กับครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริง เหมือนอาจารย์ที่เป็นจริงท่านมีอุดมคติจะสอนลูกศิษย์ นี่ทุกคนมันสบายใจได้ แล้วพอบอกว่าครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงท่านล่วงไปๆ พอล่วงไปขึ้นมา ผู้ที่จะสืบต่อขึ้นมามันทันหรือไม่ทัน ถ้าไม่ทันเพราะมันรู้ ในวงวิชาชีพใด จะรู้ในวงวิชาชีพนั้นว่าคนๆ นั้นจะมีความจริงหรือเปล่า? ทีนี้พอมันไม่มีความจริงมากขึ้นมาท่านก็เลยเปิดวัดไง เปิดวัดเดี๋ยวนี้เป็นร้อย จากทีแรก ๑๘ องค์เท่านั้นแหละ พอท่านยิ่งชราภาพมา ๖๐-๗๐ เข้ามาในวัดเต็มไปหมดเลย นี่เมื่อก่อน ๒๐ องค์ท่านยังบอกปลากระป๋องอัดแน่นกันเกินไป

เราจะบอกว่าผู้ที่ปฏิบัติ ผู้ที่ฉ้อฉลเขาต้องการ เขาจะเรียกร้องเอาสิ่งนั้นมาเพื่อเป็นพื้นฐานการประชาสัมพันธ์ให้สังคมเห็นภาพ แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์จริงๆ นะ สังคมจะรู้เรื่องธรรมะตามความเป็นจริงไม่ได้ โลกจะรู้ธรรมะตามความเป็นจริงไม่ได้ ถ้าโลกเขารู้ไม่ได้ สิ่งที่เห็นได้ก็เห็นได้แค่วัตถุ เห็นกิริยาที่แสดงออกนี้เท่านั้น แต่ความเป็นจริงในหัวใจนั้นไม่มีใครจะรู้ได้

ฉะนั้น เวลาลูกศิษย์ที่ไปปฏิบัติ ถ้าพอปฏิบัติขึ้นไปแล้วมันมีหลักมีเกณฑ์ มีหลักมีเกณฑ์หมายถึงว่าจิตสงบมา พอจิตสงบแล้วมันพิจารณาไป เวลาอาจารย์บอก บอกถูก บอกผิด คนที่ปฏิบัติขึ้นไปมันเริ่มเอะใจแล้ว ถ้าเราปฏิบัติมา เรามีความสงสัย เรามีสิ่งใดเป็นประเด็นในใจ แล้วอาจารย์เคลียร์ใจเราไม่ได้ อาจารย์บอกเราไม่ได้ นี่ใครเป็นอาจารย์ใครแล้ว? แต่ถ้าจิตใจเรามีประเด็นขึ้นมา พออ้าปากทีเดียวหลุดหมด ท่านพูดคำเดียวเถียงไม่ขึ้นเลย คำเดียวเท่านั้น คนเป็นพูดคำเดียว ไม่เยิ่นเย้อ ไม่วุ่นวาย ทีเดียวจบ ทีเดียวจบเลย นั่นแหละของจริงเป็นอย่างนั้น ผู้ที่ไม่ฉ้อฉล

ฉะนั้น คำว่าไม่ฉ้อฉลปั๊บ เวลาปฏิบัติขึ้นมาถ้ามันจะเป็นความจริงขึ้นมานะ ถ้ามันเป็นจริงมันจะเป็นจริงขึ้นมา แต่นี่บอกว่าได้โสดาบัน ถ้าไม่ได้โสดาบันก็ใกล้จะได้โสดาบันแล้ว แล้วยิ่งใน เส้นทางการปฏิบัติ เส้นทางการเดินของจิต ทางอันตรายนะ ทางอันตรายหมายถึงทางนี่มันจะมีกิเลสของเราคอยกระซิบ กิเลสเรานี่คอยกระซิบ สิ่งที่ไม่เคยรู้ เคยเห็น พอไปรู้ ไปเห็นแค่พยับแดด แค่เป็นลางๆ เราก็จะเชื่อมั่นของเราแล้ว เพราะคนเรานี่ทำมาขนาดนี้ก็วิกฤติเต็มที่ในชีวิตเราแล้ว แล้วพอไปเจออะไรที่มันเป็นสิ่งที่ไม่รู้ ไม่เคยเห็นนี่เชื่อไปก่อน พอเชื่อไปก่อนเดี๋ยวก็เสื่อม เดี๋ยวก็หมด พอเสื่อมแล้วมันก็เท่ากับขี่หลังเสือ มันก็พยายามแสดงออกของมันไป

นี้เส้นทางการปฏิบัตินะ ดูสิทางที่เดินมันอันตรายนะ ทีนี้คำว่าอันตราย ปฏิบัติธรรมมันจะอันตรายขนาดนั้นเชียวหรือ? ปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมเพื่อความสุข ความสงบ เพื่อการให้จิตมันมีบุญกุศล ให้จิตมันมีคุณงามความดี เราก็ต้องมีหลักมีเกณฑ์ มีหลักหมายถึงว่าเราจะไม่เชื่อสิ่งใดๆ ที่มันมาล่อลวง กิเลสนี่มันจะมาล่อลวง ความมักง่ายในใจจะมาล่อลวง ทุกอย่างจะมาล่อลวงหมด มันจะทำให้เรายอมจำนนไม่ก้าวเดินไปถึงเป้าหมาย นี่เส้นทางมันอันตรายเพราะกิเลส อสรพิษ สิ่งที่มันเย้ายวน

นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันเป็นทั้งบ่วง บ่วงคือมันดักคอยทำร้าย มีพวงดอกไม้ มีคอยเยินยอ มันคอยเยินยอนะได้ธรรมะขั้นนั้นแล้ว รู้อย่างนั้นแล้ว ดีอย่างนั้น มันทั้งเยินยอ ทั้งหลอกลวง นี่เส้นทางเดินของใจ แล้วทางปฏิบัติล่ะ? ทางปฏิบัติถ้ามีครูบาอาจารย์คอยบอก คอยสอน คอยนั่นมามันก็มาได้ แต่นี้มันไม่เป็นแบบนั้น เส้นทางมันอันตราย ยิ่งบอก นี่โอ๋ย ยิ่งได้โสดาบัน ยิ่งใกล้ได้โสดาบัน เพราะเราพูดอย่างนี้ เรามีความรู้สึกเพราะมันเยอะมาก มันเยอะจน

คนเขาชอบอย่างนั้นจริงๆ นะ ทุกคนก็ชอบแบบนั้น แล้วชอบแบบนั้นมันจะไปถึงไหน? มันจะไปถึงไหน? มันมีแต่ความเสียหาย แล้วผู้ที่สอนเขาไม่รับผิดชอบ เวลาเสียหายกัน เพราะเราจะบอกว่าเขาก็ไม่รู้เรื่องสิ่งใด ชีวิตนี้มีค่ามากนะ แล้วชีวิตนี้เราจะเสียไปเพราะเหตุนี้หรือ? นี่บอกว่าเกิดเป็นชาวพุทธแล้วพบพุทธศาสนาด้วย แล้วเราอยากประพฤติปฏิบัติด้วย แล้วก็ยังไพล่ออกไป

ถาม : หนูกลัวแม่หนูหลุดมากค่ะ หนูจะทำอย่างใดได้บ้างคะ

หลวงพ่อ : นี่เวลาเขาพูดนะ

ถาม : หนูเครียด หนูกลัวแม่หนูหลุด หนูจะทำอะไรได้บ้างคะ ขอกราบเมตตาหลวงพ่อช่วยด้วย

หลวงพ่อ : โอ้โฮ ถ้าเวลาเสกคาถามา นี่เอ็ดเขามาตลอดเลย มันนอกธรรม นอกวินัย ส่งออกหมด แล้วจะช่วยนะก็เสกคาถา เป่าคาถากันใหญ่เลยนะ มันก็เลยว่าแต่เขาเนาะ อิเหนาเป็นเอง ถ้าจะช่วยเราก็อยู่ในหลักในเกณฑ์นี่แหละ ช่วยก็ชีวิตเป็นแบบอย่าง ชีวิตเป็นแบบอย่างก็แค่นี้แหละ แล้วเขามีหลักมีเกณฑ์ไหม? เขาเห็นสิ่งใดผิดถูกแล้วค่อยว่ากัน

ช่วยก็จะช่วยทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าทุกคนมันมีเวร มีกรรม กรรมของสัตว์ คำว่ากรรมของสัตว์เขาเห็นสิ่งนั้นเขาชอบ มันเข้ากันโดยธาตุ เห็นไหม สังคมใด ที่เขาอยู่ในสังคมนั้นเขาก็ชอบแบบเดียวกัน ถ้าชอบแบบเดียวกัน เราอยู่ในความเห็นต่างกับเขา จะบอกว่าเขาผิดมันจะมีความโต้แย้งทันที ฉะนั้น ถ้าเขาเห็นโทษแล้วเขาจะกลับตัวเขาเอง

ฉะนั้น

ถาม : หนูเครียด หนูกลัวแม่หนูหลุด หนูจะทำอย่างไรคะ

หลวงพ่อ : หนูก็คอยดูแลแม่ ดูแลแล้วเป็นเพื่อนคุย ถ้าเขาเห็นเหตุ เห็นผล เขารู้ถูก รู้ผิดแล้วเขาจะวางสิ่งนั้นเอง

ข้อ ๗๘๕. ไม่มีเนาะ เดี๋ยวฟังอันนี้บ้างนะ พอกันเลยนะ คำถามที่แปลกมาก

ถาม : ข้อ ๗๘๖. คำถามเรื่อง “การบิณฑบาตของแม่ชี”

นมัสการหลวงพ่อ โยมเป็นผู้หญิงที่อยากออกธุดงค์มาก วันมอบทองหลวงตาครั้งหนึ่ง ได้เจอแม่ชีสำนักหนึ่งเขาไม่ได้เป็นลูกศิษย์หลวงตา เขาชวนออกไปธุดงค์ หนูก็ใจง่ายไปกับเขา เขาพาเดินไปทางแม่แจ่ม เชียงใหม่ ขุนยวม แม่ฮ่องสอน เดินตามถนน ตอนแรกนึกว่าเขาจะพาไปป่า ไปกัน ๕ คนผู้หญิงล้วน มีแม่ชีโกนหัว ๒ ไม่โกน ๓ เป็นผู้รักษาศีล ๘ ใส่ผ้าถุงดำไม่โกนผม

แม่ชีพาไปบอกว่า พวกเราเป็นผู้หญิง เดินไปในป่าจะอันตราย ต้องเดินตามถนน ค่ำไหนนอนนั่น ก่อนเข้าที่พักตามข้างทางซึ่งเป็นศาลาบ้าง ป่าช้าบ้าง แม่ชีจะบอกให้คนในหมู่บ้านว่าตอนเช้าจะไปบิณฑบาต ชาวบ้านจะได้เตรียมของใส่บาตร โยมก็ไปกับหมู่คณะอยู่สุดท้ายเป็นอันดับที่ ๕ ได้ยินชาวบ้านพูดว่า “แม่ชีไม่โกนหัว” ดูเหมือนจะตำหนิ วันต่อๆ มาโยมจึงไม่ไปบิณฑบาต

โยมมีข้อกังขาในใจ อยากหาคำตอบจากหลวงพ่อให้กระจ่างดังนี้

๑. แม่ชีบิณฑบาตได้หรือไม่?

๒.โยมรู้สึกว่ายังไม่มีคุณวิเศษอันใดที่จะขอรับทานจากชาวบ้าน ถ้ายังภาวนาไม่ถึงไหน การไปบิณฑบาตคงไม่เหมาะสมใช่หรือไม่คะ

๓. โยมเห็นว่าชาวบ้านใส่บาตรมากมาย และปลื้มใจในความศรัทธาของพุทธศาสนาของพวกเขา จึงเก็บของกินแบกใส่เป้เดินทางไปกินด้วยในวันถัดๆ ไป จะทิ้งก็เสียดาย และโยมถือศีล ๘ ไม่ต้องเคร่งไม่เหมือนพระ ไม่ทราบว่าปฏิบัติถูกหรือผิดเจ้าคะ หลวงพ่ออย่าหัวเราะนะ (เขาว่านะ เขาเขียนมาด้วยไง)

โยมรู้สึกว่าอยากไปธุดงค์เจ้าค่ะ หลวงพ่ออย่าหัวเราะนะ กราบหลวงพ่อด้วยค่ะ

หลวงพ่อ : เขาถามมาเรื่อง “แม่ชีบิณฑบาต”

แม่ชีบิณฑบาต ไอ้นี่มันเป็นวัฒนธรรม เพราะอย่างบางพื้นที่แม่ชีบิณฑบาต แต่ถ้าโดยข้อกฎหมาย โดยข้อกฎหมาย เห็นไหม นี่แม่ชีบิณฑบาตมันไม่มีกฎหมายรองรับไง แต่พระมีกฎหมายรองรับ มีกฎหมายรองรับ แต่แม่ชีให้อยู่ในปกครองของพระ อยู่ในการปกครองดูแล เขาต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ทีนี้บางพื้นที่แม่ชีบิณฑบาต เราเห็นอยู่แม่ชีบิณฑบาต เขาถามว่าแม่ชีบิณฑบาตได้หรือเปล่า?

คำว่าได้หรือเปล่ามันมี ๒ อย่าง

อย่างที่ ๑. คือกฎหมายอนุญาตหรือเปล่า?

อย่างที่ ๒. ธรรมและวินัยมีความถูกต้องหรือเปล่า?

แต่ถ้าเป็นภิกษุณีบิณฑบาตได้ แล้วถ้าเป็นแม่ชี แม่ชีในบางพื้นที่เขาก็บิณฑบาตได้ เพราะประชาชนเขายอมรับ เขาใส่บาตรได้ ทีนี้เพียงแต่ว่าเวลาพูดถึงทางวิชาการเขาจะเถียงกัน มีอยู่สังคมเขาโต้แย้งกันเรื่องนี้ว่าแม่ชีบิณฑบาตได้หรือไม่ได้ ทีนี้เขาว่าถ้าบิณฑบาตได้ มันบิณฑบาตได้เพราะเหตุใด? มีข้อกฎหมายสิ่งใดรองรับถึงจะบิณฑบาตได้ แต่ถ้าพูดถึงทางวัฒนธรรมนี่บิณฑบาตได้ไหม? ได้ แต่ถ้าพูดถึงเวลาว่าได้ ได้เอาอะไรเป็นเหตุผล?

นี่มันก็ติดตรงนี้ไง ทีนี้มันติดตรงนี้ปั๊บมันก็ต้องบอกว่าสังคม สังคมที่ว่าในวัฒนธรรมพื้นที่นั้นเขาทำกันหรือเปล่า? ถ้าเขาทำมันก็ไม่เสียหาย แต่ถ้าเขาไม่ทำ เห็นไหม นี่เพราะเขาบอกว่าเขาไปบิณฑบาต แล้วมีโยมเขาวิจารณ์ จนตัวเองอายไม่กล้าไปบิณฑบาต อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง อันนี้บิณฑบาตใช่ไหม? มันอยู่ที่เขา อยู่ที่ความเป็นไป

ฉะนั้น

ถาม : แม่ชีบิณฑบาตได้หรือไม่?

หลวงพ่อ : นี่คำถามที่ ๑. เพราะบิณฑบาตได้ แต่ถ้าพื้นที่ที่ไม่ได้ล่ะ? ทีนี้มันก็ลำบากนิดหนึ่ง เพราะการดำรงชีวิตไง ปัจจัย ๔ ปัจจัย ๔ มันต้องมีได้ นี่พอบอกเรื่องนี้ปั๊บก็แม่ชีกับภิกษุณี ก็อย่างนั้นแม่ชีไม่ได้ก็อยากบวชภิกษุณี มันอยู่ที่ว่าเราเกิดมาในยุคใดเนาะ ถ้าเราปฏิบัติ ถ้าเรามีจิตใจ ดูสิถ้าอย่างแม่ชีแก้ว แม่ชีแก้วทำไมท่านเป็นพระอรหันต์ล่ะ? ถ้าเราปฏิบัติสังคมมันจะบีบคั้นเข้ามานะ

ดูสิต่อไปถ้าพูดถึงในโบราณ เวลาเห็นพระนี่นะ พระนี่เขาจะยกไว้อีกส่วนหนึ่งเลย เขาจะยกไว้สูงเลย เพราะว่าเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ทีนี้พอปัจจุบันนี้ ในปัจจุบันทางโลกเจริญ เห็นไหม พระก็คือคน พระมีสิทธิเท่าคน ทีนี้พอคนกับพระมันก็ไม่ห่างกันแล้ว พอคนกับพระไม่ห่างกัน นี่ไปกรุงเทพฯ สิ โยมกับพระเดินชนกันเลย อ้าว มันก็เข้ามาใกล้เรื่อยๆ ตอนนี้ที่มีปัญหา มีปัญหาคือแบบพระอยากจะมีครอบครัวไง อ้าว พระก็อยากจะมี ยิ่งเป็นพระเข้าพิธีเลย มันยิ่งไปใหญ่เลยนะ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าสังคมมันจะบีบคั้นเข้ามาอย่างนี้ บีบคั้นเข้ามาเพราะว่าพวกเราไม่เชื่อกันเองไง ทีนี้พอคำว่าศาสนาเสื่อมๆ ต่อไปพระนี่จะแค่ผูก มีโบว์ แบบว่ามีเครื่องแสดงออกเท่านั้นเอง นี่ต่อไปอนาคต เพราะเราเห็นค่ามันต่ำกันไปเอง พอเห็นค่ามันต่ำเรายอมรับได้แค่นี้ แต่ถ้าพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แล้วท่านปฏิบัติของท่าน ท่านละอายไง ท่านละอายว่าสิ่งนี้มันผิดธรรมวินัย ธรรมวินัยบัญญัติไว้อย่างนี้ แล้วเราทำผิดไปท่านจะมีความละอายของท่านเอง ถ้ามีความละอายท่านไม่ทำ นั่นคือจิตใจท่านสูง

นี่ไงศาสนามันอยู่ที่นั่น มันอยู่ที่จิตใจของผู้นั้น ถ้าจิตใจมันหยาบ นี่สังคมมันเป็นแบบนี้ สังคมมันจะไหลไปเรื่อยๆ มันจะไหลไปเรื่อยๆ จนมัน ประชาธิปไตยไง ประชาธิปไตยๆ ถ้าธรรมาธิปไตยสิ ถ้าธรรมาธิปไตย เห็นไหม ท่านทำของท่านได้ ท่านพิจารณาของท่านได้ ท่านชี้นำบอกถึงความเป็นไปในหัวใจของเราได้ ท่านบอกถึงความสุข ความทุกข์ของเราได้ ท่านบอกที่มาที่ไปในจิตได้เลยแหละ เพียงแต่ว่าเราจะเชื่อหรือไม่เชื่อล่ะ? ถ้าไม่เชื่อขึ้นมา เวลาพูดมานี่ อ๋อ ไอ้นี่มันเพ้อเจ้อ ถ้าเราไม่เชื่อนะเราฟังแล้วมันเป็นของเพ้อเจ้อเลย แต่ถ้าคนมันมีเหตุ มีผล มันจับต้องได้มันไม่ใช่เพ้อเจ้อนะ มันมีข้อเท็จจริงรองรับ มันเป็นความจริง

นี่พูดถึง “แม่ชีบิณฑบาตได้หรือไม่ได้?”

ถาม : ๒. โยมรู้สึกว่าไม่มีคุณวิเศษในอันที่จะไปรับทานของชาวบ้าน ยังภาวนาไม่ถึงไหน การไปบิณฑบาตคงไม่เหมาะสม

หลวงพ่อ : อันนี้พูดถึงว่าเราไปมาแล้ว ถ้าเราไปมาแล้วเราก็คิดของเราเอง ถ้าเราคิดได้มันก็เป็นประโยชน์ใช่ไหม? นี่เพราะอยากไปธุดงค์ไง

ถาม : ๓. โยมเห็นว่าชาวบ้านใส่บาตรมากมาย และปลื้มใจ

หลวงพ่อ : นี่เวลาข้อคิดมันขัดแย้งกัน คิดว่า

ถาม : โยมเห็นเขาใส่บาตรมาก ปลื้มใจในความศรัทธาของชาวพุทธ โยมจึงเก็บของกินแบกใส่บาตรไป เพราะเอาไว้กินวันถัดไป จะทิ้งก็เสียดาย เพราะถือศีล ๘ ไม่ต้องเคร่งเหมือนพระ

หลวงพ่อ : ถ้าพระมันเป็นอย่างนั้น นี่เพราะพระปั๊บ สิ่งที่เป็นพระมีกฎหมาย เห็นไหม ธรรมวินัยรองรับ แล้วตามชนบทนะเขาเรียก “พ่อออกจารย์” พ่อออกจารย์หมายความว่าเขาเคยบวชพระ เขาเคยบวชพระแล้วเขาสึกไป ส่วนใหญ่นะเวลาพระธุดงค์ไปจะเจอพวกนี้ เขาเรียก “พ่อออกจารย์ๆ” คือส่วนใหญ่เขาเคยบวชพระมาเก่าแก่ พอบวชพระมาเก่าแก่เขาจะมีความรู้เรื่องพระนะ พอมีความรู้เรื่องพระปั๊บ พอเขาสึกไปแล้วเขาจะนำชาวบ้านสวดมนต์ เขาจะนำชาวบ้านภาวนา นี่เวลาพระเข้าไปในหมู่บ้าน เขาจะรู้เลยว่าพระนี่อยู่ในหลักธรรมวินัยหรือไม่อยู่ในหลักธรรม เขารู้แล้วเขาตรวจสอบได้

อย่างเช่นที่หลวงตาท่านเคยเล่าให้ฟัง เห็นไหม เวลาท่านไปทางนครพนมหรืออย่างไรนี่แหละ แล้วไปอดอาหาร พอไปอดอาหาร เช้าขึ้นมาก็บิณฑบาต ก็มีพ่อออกจารย์มาถาม

“เอ๊ะ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้อดอาหารหรือ?”

นั่นไงเริ่มใช้ภูมิปัญญาไง ทีนี้หลวงตา นักปฏิบัตินะเขาบวชพระมาเก่า แล้วหลวงตาก็เป็นพระธุดงค์ที่ว่ามีหลักมีเกณฑ์ในหัวใจ รู้แล้วว่าเขาพูดนี่เขาจะพูดเผดียงว่าในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าห้ามอดอาหาร แล้วท่านมาอดอาหารนี่มันถูกหรือไม่ถูก แต่เขาไม่กล้าพูดตรงๆ เขาก็พูดอ้อมๆ ทีนี้หลวงตาก็เลยถามกลับเลย

“แล้วโยมกินข้าวหรือเปล่า?”

“กิน ผมไม่อดหรอก เพราะผมต้องกินข้าว”

หลวงตาท่านก็ย้อนกลับเลย

“แล้วกินมาทั้งปีทั้งชาติ หลายสิบปี หลายสิบชาติ กิเลสมันเคยถลอกปอกเปิกบ้างไหม?”

เงียบเลยนะ ถ้าอดอาหารมันเป็นความทุกข์ ความยาก นี่พระพุทธเจ้าไม่อนุญาต อย่างนั้นก็ต้องมากินกันแบบเต็มที่เลยใช่ไหม? แล้วโยมก็กินมา ๓ มื้อ ๔ มื้อ ๑๐ มื้อ แล้วแก้กิเลสได้ไหม? มันก็ไม่ได้ นี่พอพูดอย่างนั้นปั๊บ พ่อออกจารย์บอก เอ้ยๆ มานี่แล้ว มานี่แล้ว คือจะเข้าหาตัวแล้ว ก็เลยหลบไป นี่หลบไปก็เลยจบไง

นี่เวลาเขาดูกันออก แล้วเขาดูกันได้ นี้หลวงตาท่านก็เข้าใจว่าถ้าคนมีการศึกษามาจะยึดตามทฤษฎี ทฤษฎีพระพุทธเจ้าบอกว่าห้ามให้พระอดอาหาร แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาท่านประพฤติปฏิบัติของท่านท่านอดอาหาร เข้าใจว่า เพราะว่ากิเลสมันอยู่กับเรา ฉะนั้น เราก็ต้องพยายามเข้มงวดกับกิเลส ก็คิดว่าอดอาหารเป็นหนทางหนึ่ง ทีนี้ตอนนั้นพระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา อดอาหารอดจนขนเน่า ขนนี่หลุดหมดเลย รากขนเน่าเลย

ฉะนั้น สิ่งที่อดขนาดนั้นนะมันยังแก้กิเลสไม่ได้ ฉะนั้น แก้กิเลสไม่ได้ สิ่งนี้ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ห้ามไว้ ถ้าคนปฏิบัติไปมันจะเอาสิ่งนี้มาทดสอบ คนจะมีอันตราย พระพุทธเจ้าเลยบอกว่า “ห้ามอดอาหาร” ห้ามอดอาหารปิดทางไว้เลย ปิดทางไว้ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นใจสาวก สาวกะ เห็นใจพวกเราที่ปฏิบัติ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปัญญาขนาดนั้น ไอ้พวกเรานี่โง่เง่าเต่าตุ่นขนาดนี้ มันไม่มีทางมีปัญญาเสมอพระพุทธเจ้าได้หรอก พระพุทธเจ้าเลยบัญญัติไว้ว่าห้ามอดอาหาร

แต่พระพุทธเจ้าเห็นว่าการที่ท่านอดอาหารมา ๔๙ วัน แล้วพอมาเริ่มฉันอาหารของนางสุชาดา แล้วท่านพิจารณาของท่านเพราะมันได้กำลังจากตรงนั้นมา กำลังตรงที่ท่านทำสมาธิมา ๔๙ วัน ตรงนั้นมันมีกำลังมา มีกำลัง ถ้าคนใช้ประโยชน์ขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์มาก แต่คนต้องใช้เป็น ทีนี้คนใช้เป็นท่านจะบอกว่า “ภิกษุห้ามอดอาหารนะ แต่ แต่ถ้าใครจะอดอาหารเพื่อเป็นอุบายวิธีการปฏิบัติเราตถาคตอนุญาต”

มันก็มีไปผ่อนให้ไง ไปผ่อนให้ผู้ที่จะเห็นประโยชน์ ผู้ที่ฉลาดแล้ว พอผู้ที่ฉลาดแล้วให้มันเป็นอุบาย อดอาหารมันเป็นแค่อุบายวิธีการ ไม่ใช่ตัวหลักไง ตัวหลักมันคือตัวปัญญา ตัวหลักคือศีล สมาธิ ปัญญา นี่ตัวนี้คือตัวหลัก แต่อาหารนี่ถ้าคนภาวนาจะรู้ เวลาเราภาวนาเราทำไมง่วงเหงาหาวนอน ทำไมเราสัปหงกโงกง่วง ทำไมเราปฏิบัติปัญญาไม่เดินเลยล่ะ? เดินจงกรมไปนะ นั่งสมาธิไป โอ้โฮ มันถ่วง มันหน่วงไปหมดเลย แต่ถ้าอดอาหารมา ๕ วัน ๑๐ วันนะ โอ้โฮ มันโปร่งหมดเลย มันโล่งหมดเลย

นี่มันช่วยเสริม ถ้าคนฉลาดมันจะช่วยเสริม แต่ต้องรู้ลิมิตนะ รู้ระดับของตัวเองว่าเรามีความสามารถแค่ไหน ตรงนี้จะเสริม เสริมแล้วจะไปเร็วมาก นี่ไงที่ว่าเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ถ้าไม่ผ่านอย่างนี้มาไม่รู้เรื่องอะไรหรอก มันส่งออกไปยังไม่รู้ว่าส่งออกเลย แต่เวลาเข้ามาอย่างนี้ปั๊บมันจะรู้ของมัน มีระดับของมัน แล้วมันแก้ไขของมัน เห็นไหม

ฉะนั้น “ใครอดอาหารเพื่อเป็นอุบายวิธีการ เราตถาคตอนุญาต” เสร็จแล้วมันก็มีการอดอาหารมาอวดกัน มาโชว์กันอีก พระพุทธเจ้าบอกว่า

“ใครอดอาหารเพื่อจะอวด เพื่อจะอวดเขา เพื่อจะต้องการให้เขาเคารพนบนอบ ให้เขานับถือ ปรับอาบัติทุกกฏ ทุกกิริยาที่เคลื่อนไหว”

เราอดอาหารใช่ไหม? แล้วก็จะมาคุยโม้ นี่อดอาหารนะ เก่งนะๆ ปรับอาบัติหมด ปรับอาบัติทุกกิริยา ทุกคำพูดที่พูดออกไป นี่ไงพระพุทธเจ้ากันไว้หมดเลย เพราะว่ากิเลสนี้มันร้ายนัก พระพุทธเจ้าจะปิดกั้นให้หมด นี่พูดถึงถ้ามันเป็นพระไง

ฉะนั้น เขาบอกที่ว่าเป็นโยมๆ เราเป็นโยมถือศีล ๕ ไม่ได้ถือศีล ๘ เราไม่ได้เป็นพระ พระเขามีธรรมวินัย แล้วมีพ่อออกจารย์ๆ ตามชนบท มีส่วนใหญ่แล้วผู้นำชุมชนเขาจะมีการศึกษา เขาจะศึกษา เดี๋ยวนี้ยิ่งการศึกษาในพุทธศาสนาเขามีการศึกษา เขาดูได้ ฉะนั้น เวลาเราจะไปธุดงค์ นี่มันธุดงค์ข้างนอก ถ้าธุดงค์ในกายของเรา ธุดงค์ในจิตใจของเราเราทำของเราได้

นี่เขาถามปัญหามาก็ตอบปัญหาเขา ทีนี้เขาพูดไปเอง จริงหรือไม่จริง? ได้หรือไม่ได้? นี่พูดถึง “แม่ชีบิณฑบาตได้หรือไม่ได้?” แล้วการปฏิบัติเราจริงหรือไม่จริง? สิ่งนี้มันเป็นเพศ เพศหญิง เพศชาย เพศพระ เพศพรหมจรรย์ เห็นไหม เป็นเพศ เป็นการแสดงออก เป็นการแสดงภาระรับผิดชอบว่าเราจะเดินทางไหน?

ฉะนั้น สิ่งนี้มันเป็นเรื่องข้างนอกนะ แล้วถ้าเราจะเอาจริง เวลาภาวนาไปแล้ว เวลาเป็นสมาธิก็ไม่มีหญิง ไม่มีชาย มันเป็นสมาธิ เป็นสากล เวลามันปฏิบัติมันรู้ธรรมนะ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีไม่มีแบ่งเพศหญิงหรือชาย เวลาในสมัยพุทธกาลนะ นี่เอตทัคคะ พระอรหันต์ที่มีความชำนาญใน ๘๐ ช่องทาง มีนางภิกษุณีหลายองค์ นางอุบลวรรณา นางที่เป็นภิกษุณี เป็นเอตทัคคะอยู่ร่วมกันระหว่างภิกษุกับภิกษุณีที่เป็นเอตทัคคะ มันไม่มีแบ่งหญิงหรือชาย

ฉะนั้น ไอ้นี่พูดถึง ทีนี้พอมันออกมาสู่โลกแล้วมันมี พอออกมาสู่โลก เห็นไหม ดูสิภิกษุณีกับภิกษุก็ไม่ใช่แล้ว ภิกษุณีมีวินัยมากกว่าภิกษุด้วย ทีนี้ออกมาแล้ว พอออกมาเป็นสมมุติ ออกมาเป็นเรื่องโลกมันก็ต้องมีกฎกติกาบังคับ แต่เวลารวบยอด เวลาปฏิบัติเข้าไปถึงธรรมแล้วมันเป็นอันเดียวกัน ฉะนั้น สิ่งที่มันเป็นเรื่องปลายเหตุ ถ้าใครไปติดตรงนี้มากมันก็ยุ่งเกินไป แต่ถ้าเรารักษาตัวของเรา ธรรมวินัยบัญญัติไว้อย่างนี้ ในเมื่อเราเป็นภิกษุ เราเป็นภิกษุณี เราเป็นแม่ชี เราเป็นต่างๆ เรามีสถานะอย่างนี้ นี่ธรรมวินัยบังคับอย่างนี้ เราก็ทำตามนั้นเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น มันไม่มีแตกต่าง พอถึงเป้าหมายก็จบ นี่พูดถึง “แม่ชีบิณฑบาตได้หรือไม่ได้?” จบ

อันนี้นะ ข้อ ๗๘๗.

ถาม : ๗๘๗. เรื่อง “สมมุติว่าจิต”

หลวงพ่อ : อันนี้จะยกหาง ยกหางนะ

ถาม : หนังสือ “สมมุติว่าจิต” เป็นหนังสือที่ดีมาก ดีกว่าหลายเล่มที่ได้จากงานโยมแม่ของหลวงพ่อ ตอนแรกเห็นแจกที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แต่คิดว่าตัวเองสามารถอ่านจากเว็บไซต์ของหลวงพ่อได้ น่าจะแบ่งปันให้คนอื่น แต่ต่อมาได้รับทางไปรษณีย์ อ่านแล้วได้คำตอบหลายอย่างที่เคยสงสัย ไม่เคยเห็นหนังสือเล่มไหนดีเท่าเล่มนี้เลย ขอบคุณมากค่ะ

หลวงพ่อ : นี่เขาส่งข่าวมา หนังสือ “สมมุติว่าจิต” อันนี้เวลาเขาพูด ถ้าใครทำหนังสือหรือใครแก้ไขก็จะดีใจว่าหนังสือเล่มนี้ดีที่สุด แต่ในความเป็นจริงมันอยู่ที่ว่าพื้นฐาน คนเรา คนทุกคนเป็นโรคอะไร? ถ้ายานั้นรักษาโรคนั้นหาย ยานั้นก็คือดีที่สุด ใครสงสัยสิ่งใด อ่านหนังสือแล้วมันไปเคลียร์ความสงสัยของตัว ก็บอกว่าสิ่งนั้นดีที่สุด

ฉะนั้น เขาบอกว่าสมมุติว่าจิตนี้ดีที่สุดคือความเห็นของเขา แต่ความเห็นของคนอื่น เล่มอื่นอาจจะดีกว่าก็ได้ มันอยู่ที่ว่าตรงจริตนิสัยหรือเปล่า หรือว่าคนเป็นโรคสิ่งใด เขาต้องการยาแตกต่างกัน โรคที่เป็นไป นี่เป็นโดยกรรม กรรมของใคร ธาตุขันธ์ของใคร มันจะตรงกับของใคร ฉะนั้น หนังสือ นี่เวลาหลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ หลวงตาท่านบอกว่าท่านฟังเทศน์ของท่านเองทุกคืน เมื่อก่อนท่านจะฟังเทศน์ของท่านเองทุกคืน แล้วพอฟังเสร็จท่านบอกว่า เทศน์ม้วนนี้ดี เทศน์ม้วนนั้นดี เทศน์ม้วนนี้ดี ดีไปดีมาท่านบอกว่าไม่รู้ว่าอะไรมันจะดีกว่าอะไร มันพอดีที่ว่ามันดีส่วนไหน? ดีอย่างไร?

ทีนี้คำว่าดีของท่าน เห็นไหม ม้วนนั้นก็ดี ม้วนนี้ดี เลยแยกไม่ถูกว่าม้วนไหนดีกว่าม้วนไหน เวลาท่านฟังของท่านทุกคืนนะ ท่านบอกว่าเวลาท่านเทศน์ท่านก็เทศน์ของท่านเอง แต่เวลาเทศน์นั้นเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น เวลาท่านฟังเทศน์ท่านไม่ได้ฟังว่าท่านฟังเทศน์ท่าน ท่านฟังธรรม วิหารธรรม ฟังธรรมที่สัจธรรม สัจจะ อริยสัจจะมันเป็นการแสดงออก ฉะนั้น เวลาท่านมาฟังท่านเอาเนื้อความมัน ท่านไม่ใช่เอาว่าใครเป็นคนเทศน์

ท่านไม่ได้ฟังว่าท่านเทศน์ ท่านฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ท่านฟังเทศน์ของท่านทุกคืน สมัยที่ท่านยังมีเวลานะ แต่พอมาโครงการช่วยชาติแล้ว อะไรแล้ว เวลาท่านน้อยลงท่านก็ไม่ได้ฟัง แต่ก่อนหน้านั้น นี่เพราะวัดป่า พอตกเย็นมันก็จะสงัดหมด ท่านก็จะอยู่วิหารธรรมของท่าน ท่านจะฟังเทศน์ของท่าน นี่พูดถึงว่าเทศน์ของท่านทุกๆ กัณฑ์

อันนี้ย้อนกลับมาว่า “สมมุติว่าจิตดีที่สุด” มันดีที่สุดเพราะว่าโยมอ่านแล้วโยมพอใจ ตรงกับความรู้สึกของตัว ตัวก็ว่าดีที่สุด ฉะนั้น สิ่งที่ดีหรือไม่ดีมันเป็นสัจจะ มันไว้กับโลก แล้วใครจะเข้าไปหาประโยชน์ จะได้ประโยชน์กับคนๆ นั้นเองเนาะ เอวัง