เทศน์เช้า วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
วันคืนล่วงไปๆ ชีวิตนี้ เห็นไหม เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา มนุษย์เกิดมามีศักดิ์ศรี ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มนุษย์จะแสวงหาคุณงามความดีที่ต่างจากสัตว์ สัตว์นะมันไม่มีศีลมีธรรมของมัน แต่มันมีความผูกพันความรักในหมู่ฝูงของมัน มันก็ดูแลของมันนะ มันแย่งชิงของมัน แต่มนุษย์ มนุษย์มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ รัฐธรรมนูญเขาเขียนไว้มีความเสมอภาค
ความเสมอภาค ความเสมอภาคจากภายนอก แต่ความเสมอภาคจากภายในล่ะ? ถ้าความเสมอภาคจากภายใน ถ้าภายในใครมีหลักมีเกณฑ์ นี่หลักเกณฑ์อันนั้นเรารู้ไม่ได้ ถ้าเรารู้ไม่ได้เราถึงแสวงหาของเรา ถ้าเราแสวงหาของเรานะ เราประพฤติปฏิบัติของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา ถ้ามันเป็นประโยชน์นะ ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด แล้วสมบัติสิ่งใดจะเป็นของเราล่ะ? สมบัติสิ่งของเรา เราแสวงหากันอยู่นี้ไง บุญกุศล ถ้าเรามีบุญกุศลของเรา เราจะมีปฏิภาณ มีจุดยืนของเรา เพราะเราไม่มีจุดยืนของเรา เราถึงต้องไหลไปตามโลกไง
เราไหลไปตามโลกนะ โลกนี้เป็นเครื่องอาศัย แต่จิตใจของเราเราต้องมีหลักเกณฑ์ของเรา ถ้ามีหลักเกณฑ์ของเราจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์ได้ เห็นไหม สิ่งที่เป็นประโยชน์ได้เราจะมีจุดยืนของเรานะ เราจะไม่ไหลไปตามกระแส โลกที่ไปตามกระแสนี้เพราะเราไม่มีปัญญา สิ่งใดมาเสนอเราเราก็ตามไปหมด สิ่งที่ตามไปจะทำให้เราติดกับโลก ความติดของโลกมันติดของมันแล้วมันปลดเปลื้องมันไม่ได้ ความจะปลดเปลื้องต้องใช้ธรรมะ ถ้าธรรมะจะปลดเปลื้องของเรา เราจะมีสติปัญญาของเรา
อาศัยอยู่นะ ปัจจัยเครื่องอาศัยต้องแสวงหา โลกนี้ขาดไม่ได้ สิ่งที่มีชีวิตต้องมีอาหาร อาหาร ๔ ของวัฏฏะ ในเมื่ออาหาร ๔ ของวัฏฏะ เราเกิดในวัฏฏะ เห็นไหม แต่ถ้าเวลาไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เขาไม่กินอาหารแบบนี้ เพราะเขาไม่กินอาหารแบบนี้ เราถึงมาสร้างบุญกุศลของเราไง ถ้าบุญกุศลของเรามันเป็นอาหารของใจ ใจต้องกินสิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรม เห็นไหม เวลาเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เขากินบุญเก่า เขากินบุญเก่าเขาว่าเป็นทิพย์ๆ ที่ทำบุญกุศลเป็นทิพย์ๆ แล้วเวลาคนไปเกิด ไปเกิดเป็นเทวดา แต่เขาทำบุญของเขาน้อย เวลาไปเกิดเป็นเทวดาของเขา แสงหรือสมบัติของเขามันไม่เหมือนคนอื่น การไปเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมก็ไม่เสมอภาค ความเสมอภาค ใครทำบุญมากทำบุญน้อยแตกต่างกัน เทวดา อินทร์ พรหมก็แตกต่างกัน ไปเกิดในภพชาติใดก็แตกต่างกัน นี่เพราะบุญกุศลนะ
แต่เวลามาเกิดเป็นมนุษย์ เห็นไหม สิ่งที่เราใช้นี้เป็นวัตถุ เราไปเอาสิ่งที่เป็นวัตถุ วัดกันที่วัตถุนะ เราไม่ได้วัดกันที่ค่าของใจ ถ้าวัดที่ค่าของใจ เห็นไหม คนที่จิตใจเป็นธรรม สิ่งที่ว่าเสมอภาคๆ ทางโลก เสมอภาคทางโลกนี่เขามองกันด้วยสิ่งที่ว่ารูปร่างหน้าตา แต่ถ้ามองกันโดยหัวใจ สิ่งที่จิตใจเป็นธรรมนะ จิตใจจะกว้างขวาง จิตใจจะไม่มีสิ่งใดไปขัดข้องหมองใจ
ความขัดข้องหมองใจในหัวใจเรานี่แหละ สิ่งนี้มันเป็นทุกข์ สิ่งที่เป็นทุกข์ ความขัดข้องหมองใจใครจะช่วยเหลือเราได้ล่ะ? มันเผาลนอยู่ในหัวใจนะ แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา สิ่งใดเผาลน? สิ่งที่เผาลนนี่เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง แต่ความรู้สึกนึกคิดของเรามันเป็นนามธรรม ทำไมไม่เป็นอนิจจังล่ะ? มันไม่เป็นอนิจจังเพราะว่ามันมีตัณหาความทะยานอยาก เวลาตัณหาความทะยานอยาก สิ่งใดที่มันเจ็บปวดแสบร้อนเรากลับชอบนึกชอบคิดมัน สิ่งใดที่เป็นบุญกุศล เราคิดสิ่งใดแล้วมันจืด มันชืด เห็นไหม แต่สิ่งใดถ้ามันเจ็บปวดแสบร้อนมันชอบของมัน
นี่สิ่งนี้มันให้โทษ มันเป็นอวิชชา ความไม่รู้ตัวของมันมันถึงไปแสวงหาสิ่งที่เป็นของร้อน แต่ถ้าเป็นวิชชาล่ะ? วิชชา เห็นไหม เราอยู่โคนไม้ก็มีความสุข เราทำสิ่งใดก็มีความสุขของเราเพราะเราเสียสละของเรา เราเสียสละของเรา สิ่งที่โลกเขาแย่งชิงกัน เพราะเขาไม่รู้ว่าสิ่งเป็นความจริงและความปลอม เขาถึงแย่งชิงกัน แต่เพราะเรามีสติปัญญาของเรา เราไม่แย่งชิงกับเขา เราปล่อยวางเขาไป เราให้เขาแย่งชิงกัน เราเสียสละของเรา เราจะรักษาใจของเรา
เขาแย่งชิงกัน เหมือนอำนาจทางโลก เวลาเขาแย่งชิงกันเขาได้สิ่งใดมา เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบว่าโลกนี้ อำนาจของโลกนะมันเหมือนแท่งไฟ วิ่งเข้าไปกอดแท่งไฟที่ว่าร้อนๆ แต่เขาก็แสวงหากัน คนนะ คนนั้นเป็นคนดีๆ นะ พอมีอำนาจคนนั้นเสียหมด เสียเพราะอำนาจน่ะ อำนาจทำให้คนหลง อำนาจทำให้คนเห่อเหิม อำนาจทำให้คนข่มเหงคน แต่ถ้าเราไม่มีอำนาจ เห็นไหม เราไม่มีอำนาจสิ่งใดเลย แต่เรามีสติปัญญา สติปัญญานี้มันจะมีอำนาจเหนือเรา ถ้ามีอำนาจเหนือเรา มันจะทำสิ่งที่ว่าเป็นความขัดข้องหมองใจในหัวใจ
อวิชชาเพราะความไม่รู้ มันเข้าใจว่าสิ่งที่เป็นตัณหาความทะยานอยาก ถ้าสิ่งนั้นเราจะมีความสุข สิ่งนั้นเราจะพอใจ มันแสวงหาของมัน เห็นไหม นั่นล่ะมันแสวงหาของร้อน แต่ถ้ามีสติปัญญาของมัน มันจะละสิ่งนั้นไว้ ปัจจัยเครื่องอาศัยเราใช้จนตายมันก็ไม่หมด ชีวิตนี้ถ้าเรารักษาไว้ ชีวิตนี้ดูสิเวลาเราหายใจ เราหายใจถ้าอากาศที่สะอาดบริสุทธิ์ทำไมเรารู้สึกปลอดโปร่งล่ะ? ถ้าเราหายใจเอาอากาศที่เป็นพิษเข้าไป เราจะมีความกระวนกระวายในร่างกายของเรา
จิตใจที่มันเสพความเป็นพิษของมัน มันเสพความเป็นพิษเพราะมันโง่ของมัน มันไม่เข้าใจของมัน นี่ที่เขาแย่งชิงกันอยู่นั้นน่ะเพราะเขาไม่เข้าใจของเขา เขาแย่งชิงของเขา แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เห็นไหม เรามาแย่งชิงกับใคร? ถ้าเราไม่แย่งชิงกับใครนะ เราอยู่โคนไม้ก็มีความสุขนะ โดยสายตาที่โลกเขามอง มองว่าคนที่เราไม่มีสิ่งใดเลย คนนั้นเป็นคนที่ขาดตกบกพร่อง
ดูคนจนผู้ยิ่งใหญ่ ดูหลวงตาเราสิ ท่านมีบริขาร ๘ เท่านั้น สมบัติส่วนตนมีบริขาร ๘ นะ มีบาตร มีบริขารต่างๆ เป็นสมบัติส่วนตนเท่านั้น สิ่งที่เป็นวัดวาอาราม สิ่งที่เป็นสมบัติในวัดนั้นเป็นของของสงฆ์ เป็นของสาธารณะ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ สิ่งที่พระเป็นเจ้าของได้มีบริขาร ๘ เท่านั้น สิ่งที่เป็นบริขาร ๘ ทำไมท่านเป็นหลักชัยของชาติ ทำไมเป็นหลักชัยของบ้านเมืองล่ะ? ทำไมท่านหาสิ่งที่เป็นสมบัติ ปัจจัยเครื่องอาศัยที่เราแสวงหากันอยู่นี่ท่านก็แสวงหา แสวงหาสิ่งนี้มาเป็นสมบัติของชาติ เป็นสมบัติของสาธารณะ เป็นสมบัติเพื่อความมั่นคง
นี่สิ่งที่แสวงหามา แต่เราแสวงหามาเป็นของเราไง สิ่งที่เราแสวงหามาเป็นของเรา เห็นไหม นี่ตัณหาความทะยานอยากมันดิ้นรนเป็นของเรา แต่สิ่งนั้นท่านแสวงหามาไม่ใช่เป็นของเรา แต่แสวงหามาเพื่อเป็นของโลก เพื่อความมั่นคงของโลก เพื่อให้คนอยู่ร่มเย็นเป็นสุข นี่เพราะมันไม่มีตัณหาความทะยานอยาก แต่ตัณหาความทะยานอยากมันแสวงหามาแล้วมันไม่รู้จักพอ มันแสวงหามาขนาดไหนมันก็ไม่พอหรอก มันไม่รู้จักพอ เห็นไหม แล้วมันเป็นอามิส สิ่งที่เป็นอามิส สิ่งที่ว่าเราแสวงหานี่บุญไง บุญที่เป็นอามิสมันใช้หมด แต่ที่เราจะแสวงหากันนี้เราแสวงหาธรรมเหนือโลก ธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรมที่มันไม่มีวันหมดไง
เวลาเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เห็นไหม พอหมดบุญกุศลมันก็เวียนไปในวัฏฏะ แต่ถ้ามันเป็นธรรมนะ โสดาบันเกิดอีก ๗ ชาติ สกิทาคานี่อีก ๓ ชาติ นี่อนาคาไม่เกิดในกามภพอีกแล้ว ถ้าสิ้นสุดแห่งทุกข์ไปมันไม่เกิดอีกเลย มันไม่เกิดแล้วมันอยู่ของมัน แต่ที่เวลาเราเกิดนี่เราอยากเกิด เราอยากเกิด อยากมั่งมีศรีสุข นี่ไงตัณหาความทะยานอยากมันว่าสิ่งนั้นเป็นสมบัติของมัน แต่ถ้าเป็นสมบัติของมันนะเพราะความไม่รู้ของมัน แต่สมบัติที่มันเป็นจริง สมบัติที่เป็นจริงนะกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันไม่รู้จัก แล้วมันหาไม่ได้ มันหาไม่ได้เพราะจะมาลบล้างมันไง
สิ่งที่จะลบล้างมันต้องมีสติปัญญา เห็นไหม สติปัญญานี่เราแค่กำหนดพุทโธ พุทโธให้จิตมันสงบ พอจิตมันสงบ สงบจากการยุแหย่ของมันแล้ว สิ่งที่มันไม่สงบเพราะมันยุแหย่ของมัน พอกิเลสตัณหามันยุแหย่ในหัวใจของเรามันถึงคิดนะ เวลาตรึกในธรรมก็ว่าจริงหรือเปล่า? เป็นหรือเปล่า? เป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้? ปฏิบัติไปแล้ว ในพระไตรปิฎก ในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่าเป็นศาสดาของเรา เราก็ศึกษามา เราก็ประพฤติปฏิบัติ ทำครบทุกอย่างแล้ว
ทำครบทุกอย่างนั้นมันเป็นกิริยา แต่กิเลสมันเป็นอนุสัยที่มันละเอียดกว่านั้น มันอยู่หลังความคิดของเรา มันให้เราคิดเรื่องธรรมะ แต่มันก็ซ่อนอยู่ในตัวเรา คือมันไม่สะอาดบริสุทธิ์พอเพราะมันขาดสมาธิ ถ้ามันเป็นสมาธิขึ้นมานี่กิเลสมันซ่อนในนั้นไม่ได้ เพราะเอกัคคตารมณ์จิตตั้งมั่น กิเลสมันจะไม่มีที่ซุกซ่อนของมัน ถ้าไม่มีที่ซุกซ่อนของมันนะ เวลามันตรึกในธรรม เวลามันพิจารณาโดยธรรม เห็นไหม มันพิจารณาโดยธรรม โดยธรรมเพราะอะไร? เพราะมันไม่มีตัณหาความทะยานอยาก มันไม่มีสมุทัยเข้ามายุแหย่
สิ่งที่มันยุแหย่อยู่นี่ เราตรึกในธรรมๆ ที่เราปฏิบัติแล้ว ธรรมและวินัยก็ได้ปฏิบัติครบสมบูรณ์ทุกอย่างแล้ว แต่ทำไมมันไม่เป็นไป? แต่ทำไมมันไม่เป็นไป? นี่เพราะเราคิดว่าธรรมอันนั้นเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง เหมือนลิขสิทธิ์ เห็นไหม สินค้าลิขสิทธิ์เราไปเอาของเขามา เราได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์เขาหรือเปล่า? นี้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราท่องจำมา เราพิจารณามา เราตรึกมา แต่มันมีตัวตนของเรา มันเหมือนฉากกั้นไว้ไง แต่ถ้าเราทำความสงบเข้ามาฉากกั้นนั้นมันจะไม่มี ถ้าฉากกั้นนั้นไม่มี สินค้านั้นเราพัฒนาของเราขึ้นมาเอง
เราพัฒนาของเราขึ้นมา เราใช้ปัญญาของเราขึ้นมา เราประกอบขึ้นมา เราทดสอบของเราขึ้นมา มันเป็นขึ้นมาเพราะมันไม่มีฉากกั้นไว้ ไม่มีตัณหาความทะยานอยาก ไม่มีสมุทัยมากั้นไว้ เพราะเรากำหนดพุทโธ พุทโธ พอจิตมันสงบเข้ามา ถ้าสงบเข้ามาเราทดสอบสิ่งใด เราเป็นอะไร นี่สิ่งนี้เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก จิตมันสัมผัสของมัน แล้วพอสัมผัสของมัน มันจะเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม
เราบอกว่าเราก็ได้ทำแล้ว ทำมาทุกอย่างเลย นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษามาหมด ศีล สมาธิ ปัญญาก็มีแล้ว เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาจนล้มลุกคลุกคลานขนาดนี้ ทำไมมันไม่เป็นผล ไม่เป็นผลล่ะ?
มันไม่เป็นผลเพราะอวิชชา เพราะตัณหาความทะยานอยาก เพราะกิเลสมันยุ มันแหย่ แต่ถ้าเราทำของเรานะ เราทำความสงบของใจขึ้นมา ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา เรามีทุนของเรา เรามีเงินของเรา เรามีสมาธิของเรา เรามีปัญญาของเรา เราทำสิ่งใดขึ้นมามันจะเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา มันจะมากจะน้อย นี่อำนาจวาสนาของเราเป็นแบบนี้ เราจะต้องต่อยอดของเราขึ้นไป เราจะต้องมีปัญญาของเรา เราต้องมีความขยันหมั่นเพียรของเรา
ถ้าทำของเรา เห็นไหม ไม่ใช่มาน้อยเนื้อต่ำใจไง ธรรมก็ได้ศึกษาแล้ว ปฏิบัติก็ได้ทำแล้ว ทำครบทุกอย่าง ในพระไตรปิฎกนี้สอนไว้ แล้วทำไมมันไม่รู้ ถ้ามันรู้มันจะรู้ของมันนะ เวลารู้ขึ้นมามันตัดทอนของมัน ตัดทอนสิ่งที่ความไม่เข้าใจ ถ้าคนทำสมาธิไม่ได้ก็ยังงงอยู่ว่าสมาธิเป็นแบบใด คนทำจะมีความชำนาญนะ สมาธิตั้งมั่นมันจะมีความสุขมาก เวลาเสื่อมไป ของหลุดมือไปมันจะรู้ทันทีเลย แต่เวลาคนใช้ปัญญาขึ้นมาเป็นโลกุตตรปัญญา พิจารณาเข้าไปแล้วมันปล่อยๆ มันปล่อยของมัน
มันปล่อยขึ้นมามันรู้ มันรู้ว่ามันสุข มันระงับ มันละเอียดลึกซึ้งขนาดไหน แล้วเวลามันใช้ปัญญาของมัน แล้วปัญญามันไม่ก้าวเดินของมันไป เพราะสมาธิมันไม่พอมันก็รู้ คนเราจะรู้ต่อเมื่อมันเคยประสบสัมผัส เห็นไหม ปัจจัตตังๆ ถ้ามันสัมผัสของมันแล้วมันจะรู้ว่าอันนี้จริง แล้วถ้าอันไม่จริงมันก็อยากให้จริง พออยากให้จริงมันก็พยายามขวนขวายๆ ..ก็มันไม่จริง ถ้ามันไม่จริงต้องวาง ปล่อยเลย วางเลย แล้วเราทำความสงบของใจเราเข้ามา ให้ตั้งมั่นขึ้นมา
เหมือนเรายกของหนัก เรายกนั่นก็ไม่ไหว ยกนี่ก็ไม่ไหว แล้วเราจะฝืนยกอยู่นี่ยกไม่ไหว แต่ถ้าเราไม่ฝืนยกมันนะ เราพักผ่อนก่อน เรามาพักผ่อน มาทำให้เราแข็งแรงก่อน เรากลับไปยกได้ แต่เวลาเรายกอยู่มันใช้ปัญญาไง ใช้ปัญญา เราว่าเราใช้ปัญญาแล้ว เราจะใช้ปัญญาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนคนยกของหนัก มันยกไม่ไหวก็จะฝืนยก ไม่ไหวก็จะฝืนยก
ถ้าเรายกไม่ไหวปล่อย.. ปล่อยกลับมามาทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจแล้วกลับไปยกใหม่ ทำไมของมันเบา? ทำไมของมันยกขึ้นล่ะ? ครั้งที่แล้วยกแล้วยกอีกทำไมไม่ขึ้น ทำไมครั้งนี้มันยกขึ้นล่ะ? เพราะครั้งที่แล้วมันโง่ มันงก มันอยากได้ มันก็พยายามจะใช้ปัญญาว่าเคยใช้ปัญญามา เพราะมันงก มันโง่ มันไม่เข้าใจตัวมันเอง แต่เพราะมันงก มันโง่มันถึงได้เสื่อม มันถึงได้ทุกข์ยาก แต่เราปฏิบัติไป พอมันไปไม่รอดเรากลับมาทำความสงบของใจ พอทำความสงบของใจ ใจมันมีหลักมีเกณฑ์ กลับไปพิจารณามันก็ปล่อย
นี่มันทำได้ตามความเป็นจริง เราก็จะรู้ว่า อ๋อ ถ้าอยากจนเกินไปมันจะเป็นแบบนั้น แต่ถ้าเราอยากได้ เราอยากเป็น เราอยากจะพ้นจากทุกข์ แต่ความอยากนั้น เวลาปฏิบัติแล้วต้องให้มันเป็นสัจจะ เป็นความจริงของมัน เพราะความอยากเป็นสมุทัย สมุทัยมันเป็นของหลอก สมุทัยคือฉากกางกั้น สมุทัยนะ ดูสินิวรณธรรมเป็นเครื่องกางกั้น นิวรณธรรมเป็นสิ่งกางกั้นศีล สมาธิ ปัญญา มันลังเลสงสัย มันทำไปด้วยลูบๆ คลำๆ มันกางกั้นหมดแหละ
ฉะนั้น ถ้ากางกั้นมันก็จะเป็น เห็นไหม มันมีสมุทัยมันก็มีฉากบังอยู่ ฉะนั้น เวลาทำไปทำด้วยสมุทัยที่มันบังอยู่ มันก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าเราปล่อย ปล่อยกลับมาทำความสงบของใจ นี่พอสงบแล้วสมุทัยมันไม่มี ถ้าสมุทัยมันมีมันสงบไม่ได้ ถ้าสมุทัยไม่มีกลับมาใช้ปัญญา ปัญญามันก็ทะลุทะลวงไปอีก พอทะลุทะลวงไปมันก็เห็นความเป็นจริงของมัน มันถอด มันถอน มันปล่อย มันวางของมัน แต่มันไม่ถึงที่สุด ถ้ามันถึงที่สุดนะมันจะขาด เวลาที่กิเลสมันขาดนะดั่งแขนขาด! ถ้าดั่งแขนขาด คนแขนขาด คนตัดแขนตัวเอง ไม่รู้จักว่าตัดแขนตัวเองมันเป็นไปได้อย่างไร?
เวลาเราปฏิบัตินี่ว่าทำก็ได้ทำแล้ว ปฏิบัติก็ได้ปฏิบัติแล้ว ศึกษาก็ศึกษาแล้ว ทำทุกอย่าง ครบทุกอย่างเลยทำไมไม่เป็น? แต่ทางโลกเขาทำอย่างนั้น เวลาทำงาน เห็นไหม นี่ผู้ที่ทำงาน ทำแล้ว ผู้ที่ทำงานก็ทำงานที่เราเคยทำมานี่แหละ นี่ทำเสร็จแล้ว จบก็คือจบ นี่ได้ส่งงานของเขา นั่นคืองานที่เป็นวัตถุ แต่ถ้างานที่เป็นนามธรรมมันมีตัณหา มันมีสมุทัย มันมีสิ่งเร้า มันมีสิ่งร้อยรัด สิ่งนี้มันขาดไม่ได้ ถ้ามันขาดไม่ได้คือมันไม่จบ
ถ้ามันไม่จบ เห็นไหม ถ้ามันไม่จบ ถ้ามันขาดแล้วมันเป็นอิสระ ต่างอันต่างจริง จิตก็จริงของจิต ทุกข์ก็จริงของทุกข์ ขันธ์ก็จริงของขันธ์ ต่างอันต่างจริง แต่นี้ไม่มีอะไรจริงเลย ปลอมหมดเลย เป็นของเราหรือไม่เป็นของเรา ใช่หรือไม่ใช่ มันไม่มีอะไรจริงซักอย่าง
แต่ถ้ามันจริงขึ้นมานะ จิตเป็นจิต ขันธ์เป็นขันธ์ ทุกข์เป็นทุกข์ มันต่างอันต่างจริง แล้วมันจริงตามความเป็นจริง พอมันเป็นจริงขึ้นมา เห็นไหม สิ่งที่มันจอมปลอมก็ขาดไป ถ้ามันขาดไปเพราะสิ่งแวดล้อมมันไม่ดีมันขาดไป ขาดไป อะไรมันขาดไป? คนที่ขาดมันจะรู้ มันจะเห็นของมัน
ถ้าเป็นความจริงอย่างนี้ นี่สิ่งที่เป็นสมบัติที่เราหา สมบัติทางโลกก็เป็นสมบัติทางโลกนะ ถ้าสมบัติทางธรรม เห็นไหม เราก็แสวงหาของเรา ถ้าแสวงหาเราทำความเป็นจริงของเราขึ้นมา ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจ ทำก็ได้ทำแล้ว ศึกษาก็ได้ศึกษาแล้ว ปฏิบัติทุกอย่างเลย เพราะการกระทำ เห็นไหม ดูสิเวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า
ถ้ามีสติปัญญา มีสมาธิปัญญา เราใช้ของเรา ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี
บางคน ๗ วันก็จบ ๗ วันกับ ๗ ปีมันแตกต่างกันอย่างใด? ๗ วันกับ ๗ ปี เห็นไหม ๗ วันกับ ๗ ปีเพราะคนที่สร้างบุญญาธิการมา ดูสิเราเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เราซื้อทีเดียวก็จบ เราเป็นคนทุกข์คนจนเราต้องผ่อน เราต้องผ่อน เราต้องหาทุนมาผ่อนเขา ดูแลเขา อยากได้ทรัพย์สินซักชิ้นหนึ่ง นี่คนเราต้นทุนมันแตกต่างกัน ๗ วันกับ ๗ ปีมันก็แตกต่างกัน
ฉะนั้น เราทำของเราด้วยบุญวาสนาของเรา ขออย่างเดียว ขอให้ตั้งศรัทธาอันนี้ ตั้งจิตใจอันนี้ไว้ให้มั่นคง ถ้าจิตใจนี้ไม่มั่นคงนะ มันล้ม มันเรรวน แล้วมันก็จะหันออก หันออกทั้งนั้นนะ เลิกดีกว่า ไม่ทำแล้ว ทำมาทุกข์ยากขนาดนี้ กลับไปใช้ชีวิตปกติดีกว่า ปกติมันก็เป็นแบบนี้ มันเป็นแบบนี้อยู่แล้ว คือต้นทุนมันเท่านี้ไง แต่ถ้าเราขวนขวายขึ้นไปเราได้มา ต้นทุนมันเท่านี้อยู่แล้ว ถ้าขวนขวายก็จะได้ แล้วต้นทุนเท่านี้ กลับมาต้นทุนขึ้นมาก็กลับมากินของเก่า ของเก่าคือในการเกิดเป็นมนุษย์
เราเกิดเป็นมนุษย์นี้มีบุญนะ เพราะถ้าไม่เกิดเป็นมนุษย์มันจะเกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นต่างๆ มันเกิดแน่นอน จิตนี้เกิดแน่นอน ไม่มีเว้นวรรค แต่ได้เกิดเป็นมนุษย์นี่บุญเก่า ได้กินของเก่า แต่ถ้าเราขวนขวายมากกว่านี้ มันจะได้สมบัติมากกว่านี้ เพื่อประโยชน์กับเรา นี่ถ้าเราถึงทำได้หรือไม่ได้ก็มีสติมีปัญญาไว้ รักษาใจนี้ อย่าให้มันถดถอย ดูแลใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเราเอง เอวัง