ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ขันธ์ ๕ จริงหรือ

๑๙ ก.พ. ๒๕๕๕

 

ขันธ์ ๕ จริงหรือ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๗๘๘. คำถามเขาถามมา แล้วเขายกเลิกนะ ข้อ ๗๘๙.

ข้อ ๗๙๐. สิ

ถาม : ๗๙๐. เรื่อง “ขอแสดงความชื่นชมผู้คิดค้นโลโก้มูลนิธิ รูปแบบได้ใจ ความหมายได้จิต ไว้ ณ ที่นี้”

(แล้วก็พรรณนามาเยอะมาก)

หลวงพ่อ : เขาว่าเขาภาวนามา เขาได้

ถาม : ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกๆ ท่านที่ได้ให้หนังสือทุกเล่มของหลวงพ่อ ได้สร้างบารมีทาน ส่วนลูกได้รับสิ่งของจากใจของหลวงพ่อ ได้ทั้งฟัง ได้ทั้งอ่าน ได้เป็นมงคลชีวิต สุดยอดเจ้าค่ะ ถ้าชาตินี้ไม่พ้นวัฏฏะ ชาติหน้าก็คงไม่โง่แน่ๆ เจ้าค่ะ (เขาเขียนมานะ)

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงโลโก้ แล้วเขาชมมาเยอะมาก อันนี้คำชม

ถาม : ๗๙๑. เรื่อง “การแยกจิตออกจากขันธ์ ๕”

แยกจิตออกจากขันธ์ ๕ ถูกหรือไม่? แยกอย่างไร?

หลวงพ่อ : แยกจิตออกจากขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มันคืออะไร? จิตมันคืออะไร? เวลาจะพูดเรื่องขันธ์ ๕ เวลาพูดเรื่องขันธ์ ๕ เรื่องอริยสัจ เรื่องสัจจะความจริง เราจะพูดกับใคร? ถ้าเราจะพูดกับเด็ก เด็กไม่รู้เรื่องหรอก เวลาจะพูดกับเด็ก มันก็ต้องมียาคูลท์ๆ เด็กจะชอบยาคูลท์มาก แล้วเอาอย่างอื่นให้เด็ก เด็กมันไม่เข้าใจหรอก

อันนี้ก็เหมือนกัน ชาวพุทธๆ ศีล ๕ คืออะไร? แต่ก่อนนะ ก่อนหน้านี้ศีล ๕ ไม่มีใครเข้าใจเลย เพิ่งมาฟื้นฟูศีล ๕ กันให้เด็กมีการศึกษา เด็กถึงมาท่องจำกันว่าศีล ๕ คืออะไร

นี่เป็นชาวพุทธ “ชาวพุทธสอนเรื่องอะไร? ทุกคนนับถือศาสนาอะไร?”

“นับถือศาสนาพุทธ”

“แล้วพุทธศาสนาสอนอะไร?”

“ไม่รู้”

ทีนี้พอในปัจจุบันนี้ เห็นไหม ในการประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ของเราทำให้จนสังคมเชื่อถือ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติมาจนคนยอมรับ พอคนยอมรับขึ้นมา การปฏิบัติก็บอกว่าธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เวลาพูดถึงอริยสัจ พูดถึงความว่าง พูดถึงนิพพาน โสดาบัน ตอนนี้โสดาบันเต็มท้องตลาดเลย แล้วโสดาบันอะไรกัน?

ฉะนั้น บอกว่า

ถาม : การแยกจิตออกจากขันธ์ ๕ ถูกหรือไม่?

หลวงพ่อ : นี่ถูกหรือไม่? แล้วถูกหรือไม่ถูกล่ะ? แล้วแยกอย่างไร? นี่เขาบอกว่าขันธ์ ๕ แยกไม่ได้ จิตนี้แยกไม่ได้ มันเป็นนามธรรม มันมาอยู่คู่กับจิตแยกไม่ได้ นี่เป็นเวลาเราศึกษาไง เวลาโง่ก็ไม่ศึกษา เวลาศึกษายิ่งโง่เข้าไปใหญ่ อ้าว เวลาโง่เขาไม่ได้ศึกษาใช่ไหม? ไม่มีการศึกษาเลย ศาสนาพุทธสอนเรื่องอะไรก็ไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลย พอศึกษาเข้าไปแล้วนะต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ยิ่งโง่เข้าไปใหญ่ เวลาไม่ศึกษาก็โง่นะ ศึกษาเข้าไปโง่สองชั้น โง่เพราะไปยึดว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นไง

นี่เขาว่า

ถาม : แยกจิตออกจากขันธ์ ๕ ถูกหรือไม่?

หลวงพ่อ : จะแยกอะไร? แยกที่ไหน? นี่มันจะแยกที่ไหน? มนุษย์นี่นะลองชี้มาสิ ชี้ว่าเราอยู่ที่ไหน? ถ้าชี้มาที่แขน แขนนี้เป็นสงบไหม? ไม่เป็น แขนนี้เป็นแขน ชี้มาที่เราสิ ชี้มาที่ว่าเราอยู่ไหน? ใครชี้มาที่พระสงบนั่งอยู่ไหน? ชี้มาสิ ชี้มาที่หัว นั่นก็หัวพระสงบไม่ใช่พระสงบ อ้าว ชี้มาแขน ก็แขนพระสงบไม่ใช่พระสงบ อ้าว ชี้มาสิ แล้วขันธ์ ๕ มันอยู่ไหน? บอกมาขันธ์ ๕ มันอยู่ไหน? รู้จักขันธ์ ๕ ที่ไหน? ใครรู้จักขันธ์ ๕ บ้าง? เห็นแต่ความคิด เห็นแต่อารมณ์ความรู้สึก แล้วอะไรคือขันธ์ ๕

เราจะบอกก่อน เขาบอกว่าขันธ์ ๕ แม้แต่ขันธ์ ๕ ก็ยังไม่รู้จัก เวลาความรู้สึกนึกคิดขึ้นมา เวลาขันธ์ ๕ สร้างเป้าเทียมกันไง นี่เวลาจับจับแพะ เขาให้จับผู้ร้าย ผู้ทำความผิดดันไปจับแพะ เอาแพะไปบูชายัญ อ้างอิงไปหมด ไอ้นั่นเป็นไอ้นั่น ไอ้นี่เป็นไอ้นี่ เป็นไปได้ เป็นไปไม่ได้ก็ว่ากันไปตามนั้น ฉะนั้น แยกจิตออกจากขันธ์ ๕ ถูกหรือไม่? เออ แล้วไปแยกที่ไหนล่ะ? อ้าว แยกความรู้สึกนึกคิดกับแยกความทุกข์ออกจากกัน แยกอย่างไรล่ะ?

นี่ก็เหมือนกัน

ถาม : แยกจิตออกจากขันธ์ ๕ ถูกหรือไม่? แล้วแยกอย่างใด?

หลวงพ่อ : แยกจิตออกจากขันธ์ ๕ กว่าเราจะทำความสงบของใจ กว่าใจมันจะสงบนะ ถ้าใจมันสงบแล้ว ใจสงบเป็นสัมมาสมาธิ เวลาถ้าใครทำสมาธิ ทางอภิธรรมเขาจะบอกว่าผู้ที่ทำสมาธิ ติดในสมาธิ จะเกิดนิมิต จะเกิดต่างๆ ติดในสมาธิ อันนี้มันเป็นจริตนิสัยของจิต แต่ทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบเป็นสมาธิขึ้นมา ถ้าสมาธิ เห็นไหม สมาธินะเวลาเกิดวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ เกิดปีติธรรม

เกิดปีตินี่ อุพเพงคาปีติ ปีติที่รู้วาระจิตของคนก็ได้ ปีตินี่นะมันไปได้กว้าง ปีตินี่คือว่าอำนาจวาสนาของจิตแต่ละดวงมันไม่เหมือนกัน ฉะนั้น พอใครเป็นผู้วิเศษ ใครไปรู้สิ่งต่างๆ เข้าก็คิดว่าอันนี้คือนิพพาน อันนี้คือนิพพาน คือเรียกว่าติดในสมาธิ เวลาทำความสงบของใจ ใจคนสงบเฉยๆ ก็มี ใจคนสงบไปแล้วจะรู้วาระต่างๆ ใจคนสงบแล้วจะเห็น เห็นเทวดา เห็นอินทร์ เห็นพรหม จะเห็นอะไรต่างๆ อันนั้นเป็นจริต นั่นเขาเรียกอยู่ในปีติ อยู่ในวงกรอบของปีติ ปีติที่มันขยายความออกไป แต่ละชนิด

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นสมาธิ สมาธินี่มันฆ่ากิเลสไม่ได้หรอก ทีนี้การฆ่ากิเลสไม่ได้ แต่ถ้าพอมีสมาธิขึ้นมาแล้ว นี่จะเข้าที่นี่แล้ว จะเข้าที่บอกว่า เวลาหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนไง บอกให้ดูจิตๆ ดูจิตเพื่อความสงบระงับ จิตเห็นอาการของจิต เห็นไหม จิตเห็นอาการของจิต อาการความรู้สึกนึกคิดทั้งหมด นั่นแหละขันธ์ ๕ แล้วใครเป็นคนเห็นล่ะ? ใครเป็นคนเห็น ดูสิเวลาเจ้าหน้าที่รัฐทำความผิด ประชาชนเห็น ประชาชนไปฟ้องได้ไหม? ประชาชนจะไปฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐว่าผิด ศาลไม่รับฟ้อง ไม่ใช่ผู้เสียหาย ประชาชนไม่มีสิทธิ์ฟ้องนะ แต่ถ้าระหว่างประชาชนกับประชาชนทำความผิดต่อกัน ประชาชนจะฟ้องคนนั้นได้

จิตเห็นอาการของจิต อาจารย์จะบอก ใครจะบอก ศาสดาจะบอก ใครจะบอกก็แล้วแต่ ผู้ที่เป็นทุกข์แก้ไม่ได้ จับไม่ได้ บุคคลคนนั้นจะต้องเห็นอาการของบุคคลคนนั้น จิตของคนนั้นต้องเห็นอาการของจิตดวงนั้น มันถึงจะเป็นวิปัสสนาสำหรับจิตดวงนั้น ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์บอก ก็ครูบาอาจารย์เป็น เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บอกวิธีการไว้ทั้งหมด แต่ใครทำได้หรือทำไม่ได้ นั้นมันเป็นวาสนาของคนอันหนึ่ง แล้วถ้าบุคคลคนไหนทำได้มันก็จะเป็นสมบัติของคนๆ นั้น ถ้าคนไหนทำได้มันเป็นสมบัติของบุคคลคนนั้น

นี่เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก จิตดวงนั้นปฏิสนธิมาเกิดในไข่ ในน้ำคร่ำ ในโอปปาติกะ นี่กำเนิด ๔ จิตนี้มันเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ แล้วจิตดวงนี้เวลามันสงบเข้าไป แล้วจิตดวงนี้มันไปเห็นอาการของจิต นี่ไงหลวงปู่ดูลย์พูดไว้ถูกต้องหมดเลย แต่คนทำไม่เป็นมันก็ไม่รู้ว่าจังหวะไหนเป็นขันธ์ จังหวะไหนไม่เป็นขันธ์ มันจะเป็นขันเหมือนไก่แจ้ไง เอ้ก อี เอ้ก เอ้กนู่นน่ะ

ไก่แจ้ขัน ไก่ขันมันบอกอรุณนะ ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ขันน้ำเขาเอาไว้ตักน้ำใช้ แล้วขันธ์ที่ความรู้สึกของใจมันอยู่ที่ไหน? ถ้าคนรู้ คนเห็นนะ พอบอกว่าขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ โอ้โฮ เขาหู ตาพองเลยแหละ แต่ถ้าคนไม่รู้นะ อ้าว ขันธ์ๆ ขัน อ๋อ เมื่อกี้นี้ตอนเช้าอรุณ อู๋ย ไอ้โต้งที่บ้านมันก็ขัน อู๋ย ไอ้ข้างนอกมันก็ขันรับ อู๋ย ขันไปหมดเลย ขันอะไร?

ถาม : แยกจิตออกจากขันธ์ ๕ ถูกหรือไม่?

หลวงพ่อ : คนจะแยกได้เขาจะต้องรู้ ต้องเห็นของเขา แล้วเห็นตามความเป็นจริง ไม่ใช่เห็นจากความจินตนาการ เห็นจากการคาดหมาย การคาดหมาย การจินตนาการ นี่ไงเวลาปริยัติ การศึกษา ศึกษาอย่างไรก็ได้ ศึกษาเพื่อเอาความรู้กัน แต่เวลาปฏิบัติ มันเป็นภาคปฏิบัติมันต้องเป็นความจริงทั้งหมด แล้วถ้าเป็นความจริงทั้งหมด คนที่ไม่เป็นความจริง หรือคนทำความจริงไม่ได้ พูดไม่มีทางถูกหรอก พูดไม่ได้หรอก แล้วพูดไม่เป็น

ของไม่เห็นพูดได้อย่างไร? แต่ได้ยินเขาเล่ามา ฟังนิทานมา นี่นักเล่านิทานชั้นหนึ่ง เรื่องอะไรเล่าได้หมดเลย เพราะฟังมาจำได้มาก แล้วเป็นผู้มีความสามารถทางการเล่านิทาน ก็ไปฟังเขาเล่านิทานมา เวลาคนรู้จริงเขามาถามนะ เป็นอย่างที่ท่านพูดจริงๆ หรือ? มันเป็นจริงอย่างไร? พูดไม่ออกเลย พูดไปไม่ได้หรอก

ถาม : แยกจิตออกจากขันธ์ ๕ ถูกหรือไม่?

หลวงพ่อ : เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทศน์ธัมมจักฯ นะ พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระโสดาบัน มีดวงตาเห็นธรรม แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการต่อไป จนพระมหานาม พระอัสสชิ ปัญจวัคคีย์ทั้งหมดเป็นพระโสดาบัน แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เทศน์อนัตตลักขณสูตร เทศน์อนัตฯ เห็นไหม

“รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง?”

ตอบว่า “ไม่เที่ยงเจ้าค่ะ”

“รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในเมื่อมันไม่เที่ยง มันเป็นสุขหรือมันเป็นทุกข์?”

“เป็นทุกข์พระเจ้าค่ะ”

“รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในเมื่อมันเป็นทุกข์ ทำไมไม่ทิ้งไป?”

นี่ขันธ์-ไม่ขันธ์? พระพุทธเจ้าเทศน์ขันธ์ ๕ เทศน์กับใคร? เทศน์กับปัญจวัคคีย์นะ ถ้าเทศน์ปัญจวัคคีย์ นี่ขันธ์ ๕ แยกจิตออกจากขันธ์ ๕ จิตเป็นขันธ์ ๕ หรือเปล่า? ขันธ์ ๕ เป็นจิตหรือเปล่า? นี่พระพุทธเจ้าเป็นผู้เทศน์เองนะ แล้วผู้ที่ฟังเทศน์นะ ปัญจวัคคีย์ฟังเทศน์กัณฑ์นี้เป็นพระอรหันต์หมดเลย

“รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณคือขันธ์ ๕ มันเป็นอนิจจังหรือไม่เป็น?”

“เป็น”

“ในเมื่อเป็นอนิจจัง มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์?”

“เป็นทุกข์”

“เป็นทุกข์แล้วเธอเหนี่ยวรั้งไว้ทำไม?”

นี่เราทิ้งไป เห็นไหม แล้วยิ่งเทศน์อาทิตฯ มโนวิญฺาเณปิ นิพฺพินฺทติ นี่มันทิ้งขันธ์ ๕มาแล้ว ทิ้งขันธ์ ๕ มาแล้วมันยังมีจิต ถ้าทิ้งจิตล่ะ? ขันธ์ ๕ ก็ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ในอนัตฯ นะ นักปฏิบัติกับนักปฏิบัติเขาจะรู้กัน ทีนี้บอกว่าถ้าทิ้งขันธ์ ๕ ไปแล้วไม่มีจิตใช่ไหมล่ะ?

“อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ”

อาสเวหิ อาสวะสิ้นไป จิตนี้เป็นผู้วิมุตติหมด ถ้าจิตเป็นผู้วิมุตติเราก็ว่านี่จิตพระอรหันต์ๆ เราบอกจิตพระอรหันต์ไม่มีหรอก ถ้าจิตพระอรหันต์มี เห็นไหม มโนวิญฺาเณปิ นิพฺพินฺทติ มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ มโนคือตัวจิต มโน มโน เบื่อในตัวจิต เบื่อในความสัมผัส เวลาจิตมันสัมผัสอารมณ์ เบื่อในจิต เบื่อในสัมผัส เบื่อในความรู้สึกที่ความสัมผัสนั้น ทิ้งหมดเลย

ฉะนั้น ว่า

ถาม : แยกจิตออกจากขันธ์ ๕ ถูกหรือไม่?

หลวงพ่อ : ถ้าบอกว่าถูกนะ เขาจะเอาทางวิชาการมาโต้แย้งไง ว่าจิตมันแยกจากขันธ์ ๕ ไม่ได้ เวลาพูดอันนั้นเขาเรียนอภิธรรม อภิธรรมมันเป็นวิทยาศาสตร์ของจิต แล้วเขาก็เรียงลำดับ อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารา ปจฺจยา วิญฺญาณํ ปัจจยาการคือการสืบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ แต่เวลาเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นกอง กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ มันเป็นเรื่องกอง มันเป็นความหยาบ ความละเอียดที่คนปฏิบัติเข้าไป มันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปนะ

ฉะนั้น

ถาม : แยกจิตออกจากขันธ์ ๕ ถูกหรือไม่?

หลวงพ่อ : ถ้าโดยสามัญสำนึก โดยความไม่รู้เหนือรู้ใต้แยกไม่ได้หรอก อารมณ์ก็คืออารมณ์ อารมณ์ดิบๆ นี่นะ ความรู้สึกเราก็คือความรู้สึกนึกคิดเรานี่แหละ แต่พอจิตมันสงบแล้วมันเห็นความรู้สึกนึกคิด เพราะจิตสงบมันละเอียดกว่าความรู้สึกนึกคิดนี้ พอจิตที่ละเอียดกว่าความรู้สึกนึกคิดนี้มันหันมาเห็นความรู้สึกนึกคิดนี้ เห็นไหม ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดดับ พอความรู้สึกนึกคิดเกิดดับ มันพิจารณาไง พอพิจารณาเข้าไป นี่พิจารณาขันธ์ ๕ พิจารณาตามความเป็นจริงนะ ถ้าพิจารณาไม่จริงมันก็จะเล่านิทานอีกแล้ว แหม ชอบเล่านิทานเรื่อยเลย พอเล่านิทานแล้วเก่งด้วยนะ นิทานนี่มันมีพล็อตเรื่อง แล้วก็ขยายความไปทั่วเลย

แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ ขันธ์ ๕ เป็นแบบใด? รูปมันให้ผลอย่างไร? เวทนามันให้ผลอย่างไร? สัญญามันให้ผลอย่างไร? สังขารให้ผลอย่างไร? วิญญาณให้ผลอย่างไร? รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมันมีผลของมันอย่างไร? แล้วผลของมัน มันประกอบส่วนแล้วมันหมุนเป็นอารมณ์ความรู้สึกไปอย่างไร? แล้วถ้าแยกออกมาแล้ว สิ่งใดที่เป็นกิเลส ที่มันอาศัยขันธ์ ๕ อาศัยความรู้สึกนึกคิดไปหาเหยื่อ นี่เวลาพิจารณาไปแล้วมันจะแยกของมัน มันจะปล่อยของมัน วางของมันอย่างไร? แล้วถึงเวลาเป็นพระโสดาบันนะ

“ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕”

ขันธ์ ๕ ใช่เราหรือเปล่า? แยกขันธ์ ๕ หรือเปล่า? แยก เขาถามว่าแยกขันธ์ ๕ อย่างไร? แยกจิตออกจากขันธ์ ๕ ถูกหรือไม่? เพราะมันมีคำโต้แย้งว่าจิตกับขันธ์ ๕ แยกกันไม่ได้ เขาคิดว่าความรู้สึกนึกคิดแยกกันไม่ได้ไง นี่อันนี้มันทะแม่งๆ แบบว่าจิตส่งออกไม่ได้ ว่าจิตส่งออกไม่ได้ จิตส่งออกไม่ได้แล้วความรู้สึกนึกคิดมันมาจากไหนล่ะ? ฉะนั้น จิตกับขันธ์ ๕ แยกกันไม่ได้ไง อ้าว แยกอย่างไรถึงแยกไม่ได้ล่ะ?

แยกได้ แต่แยกแล้ว มันแยกออกไปเพื่อพิจารณา เพื่อทำความสะอาด พอสะอาดเสร็จแล้ว เห็นไหม ภารา หเว ปัญจักขันธา คนที่ทำความสะอาดขันธ์ ๕ แล้ว ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ขันธมาร แต่ปุถุชนนี่ขันธมาร กิเลสมาร ขันธมาร ขันธ์นี่เป็นมาร รูปก็เป็นมาร เวทนาก็เป็นมาร สัญญาก็เป็นมาร สังขารก็เป็นมาร วิญญาณก็เป็นมาร เป็นมารเพราะกิเลส เพราะอวิชชามันไม่รู้ มันก็เลยเป็นมาร แต่เพราะเราใช้วิชา ใช้ปัญญาของเราแยกแยะออกมา ฆ่ามารๆ ฆ่ามารจนหมดสิ้นแล้วมันก็เหลือแต่ขันธ์เฉยๆ ขันธ์ที่สะอาดบริสุทธิ์ พระอรหันต์ถึงมีขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์คือขันธ์ที่สะอาดบริสุทธิ์ ขันธ์ที่สะอาดบริสุทธิ์คือ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ภาระ ภาระในขันธ์ ๕ ดูแลขันธ์ ๕ ดูแลความรู้สึกนึกคิด ดูแลร่างกาย ดูแลจนกว่าจะหมดอายุขัยไป เพราะจิตดวงนั้นมันพ้นแล้ว จิตดวงนั้นพ้นขณะที่มันชำระกิเลสจบ พอจบนั่นล่ะมันเป็นธรรมะ ธรรมล้วนๆ ธรรมคือไม่มีที่มาที่ไป แต่ถ้าเป็นบุคคลทั่วๆ ไปมีที่มาที่ไป หมายความว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มีการกระทำอยู่ ยังมีผลอยู่ ฉะนั้น พระอรหันต์มันถึง

ขณะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ ๔๕ ปี ไม่ได้รับอะไรจากใครเลย เพราะบุญกุศลจะไปเข้าในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีอีกเลย เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมตั้งแต่วันที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อีก ๔๕ ปีที่พระพุทธเจ้าเทศนาว่าการ ไม่หวังสิ่งใดเพิ่มเติมอีกเลย เห็นไหม ถึงบอกว่าไม่มีที่มาที่ไป ไม่รับผลของใคร ไม่มีสิ่งใดเติมเต็มจิตของพระอรหันต์อีกแล้ว นี่ไงภาระที่เหลืออยู่ มันเป็น ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์นี้ถึงเป็นภาระ เป็นภาระ เป็นหน้าที่ เป็นการสืบต่อเพื่อหมดอายุขัยทางโลก แต่จิตมันหมดอายุขัย จิตมันตายตั้งแต่เป็นพระอรหันต์แล้ว จบไปแล้ว

เออ ว่าจิตส่งออกไม่ได้ แล้วจิตแยกขันธ์ไม่ได้ ที่พูดนี้เพราะเราบวชในวงกรรมฐาน แล้วเราอยู่ในวงกรรมฐาน มีครู มีอาจารย์มา แล้วเราปฏิบัติมาในวงกรรมฐาน ฉะนั้น เทศน์นี่เขาเรียกเทศน์พระป่า เทศน์พระป่า เห็นไหม พระป่าอยู่ป่า อยู่เขา เทศน์จะไม่นุ่มนวล สำนวนอ่อนหวานเหมือนเทศน์ทางโลก เหมือนเทศน์ทางสังคมเขา แต่สังคมเขามันก็เป็นนิทานในการศึกษา การจำมา

นี้เทศน์พระป่าเป็นอย่างนี้ จะบอกว่าแยกได้หรือไม่ได้? จิตแยกออกจากขันธ์ถูกหรือไม่? ถ้าไม่เป็นไม่ถูก ถ้าเป็นถึงถูก ถ้าไม่เป็นผิดหมด จับตรงไหนก็ผิดหมด คนไม่รู้จับที่ไหนก็ผิดหมด หลวงตาพูดขนาดนี้นะ พูดถึงว่าถ้าใจสะอาดบริสุทธิ์ พระอรหันต์แล้ว จิตดวงนี้สะอาดแล้ว จับต้องสิ่งใดมันสะอาดบริสุทธิ์ไปหมด หยิบขี้ยังดีเลย แต่ถ้าใจมันสกปรก หยิบเพชรมันยังชั่วเลย เพราะใจมันสกปรก ฉะนั้น ถ้าเป็นความจริงแล้วก็คือจบ

แหม เขาพูดกันอยู่ แล้วเขาก็ถามมาไง แยกจิตจากขันธ์ ๕ แล้วถามสั้นๆ ด้วยนะ ยิ่งเข้าเป้าเลย ดีมากเลย ให้ไอ้บ้านี่ได้ออกฤทธิ์ เราออกฤทธิ์ไปแล้วจบ

ถาม : ๗๙๒. เรื่อง “วิชามาร”

จะขอเรียนถามว่าในโลกนี้มีอวิชชามากมายเต็มไปหมด หากเรามีคนรู้จักที่โดนทำของ เช่นเสน่ห์ใส่เพื่อให้รัก เพื่อให้หลง ในฐานะที่เราเป็นผู้ภาวนาเราจะช่วยได้อย่างไร? และอยากทราบว่าครูบาอาจารย์ของเราจะช่วยคนเหล่านี้ให้พ้นจากวิชามารเหล่านี้อย่างไร? ขอบคุณ

หลวงพ่อ : วิชามารทางโลก วิชามาร เห็นไหม สิ่งนี้มันเป็นอาชีพของเขา คนที่เขาใช้อย่างนี้เป็นอาชีพของเขานะ เขาสร้างแต่บาป แต่กรรม สุดท้ายแล้วเวลาถึงที่สุดเขาก็ต้องทุกข์ใจของเขา ฉะนั้น ในฐานะที่เราเป็นนักภาวนา ถ้าเรามีคนรัก มีคนรู้จัก ทีนี้เราจะช่วยเหลือเขาได้อย่างไร? ถ้าเราช่วยเหลือเขา เราก็เตือนสติเขาเท่านั้นแหละ

เราเตือนสติเขา แต่คนที่โดนของนะ ของอย่างนี้เขาเรียกว่ามนต์ดำ วิชาไสยศาสตร์ทางโลกเขามีอยู่ ทีนี้เขามีอยู่ เราเป็นชาวพุทธเราถือพุทธคุณ ถ้าเราถือพุทธคุณ เราถือรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ถ้าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง สิ่งใดถ้าเขามาถึงตัวเรา สิ่งใดที่เขาจะมาทำเรา ถ้าเรามีสติปัญญา สิ่งนั้นเราจะปกป้อง คุ้มครอง ดูแล ถ้าปกป้อง คุ้มครอง ดูแลนะ แต่คนเรามันมีกรรมหนัก กรรมเบา ถ้าคนเวลาเขามีกรรมหนักของเขา เวลาถึงสิ่งนั้นมันสะเทือนแล้ว เขาจะมีอารมณ์ลุ่มหลงอย่างนี้ไป

เพราะมีคน ไม่อยากพูด พูดแล้วเดี๋ยวมันจะกระเทือนนะ เพราะมีคนเคยเป็นแบบนี้ คือว่าไม่อยากพูด เพราะเดี๋ยวจะเป็นภาระเราหมดว่าอย่างนั้นเถอะ มีคนเขามาปรึกษาเรื่องอย่างนี้เหมือนกัน ถ้ามีคนมาปรึกษาเรื่องอย่างนี้มันก็ต้องดูแลกันไป เราจะดูแลนะ คำว่าดูแล พยายามจะฟื้นสติเขาให้ได้ แล้วถ้าพูดถึงเขามีสติ บุญกรรมขนาดนี้ สิ่งที่เขาเป็นอยู่นี่มันจะจางหายไป คือคนที่โดนของแล้วหายจากของก็มี แต่โดนของแล้วนะ ถ้าบางคนโดนของแล้วมันโดนซ้ำ โดนซาก โดนอะไร มันเหมือนกับเวรกรรมเขาได้สร้างกันมา ผูกพันกันมานาน พอผูกพันกันมานาน เราแยกขนาดไหนนะเดี๋ยวมันก็กลับไปมีผลอย่างนั้นอีก นี่คนอย่างนี้มันก็มี

ฉะนั้น สิ่งนี้พระพุทธเจ้าถึงสอนเรื่องกรรมดี กรรมชั่ว ถ้าเขาทำของเขามา เขาทำอย่างไร เราก็พยายามจะช่วยเหลือเขานี่แหละ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าแล้วครูบาอาจารย์ท่านทำอย่างไร? ครูบาอาจารย์นะท่านก็เตือนสติ แล้วอย่างเช่นครูบาอาจารย์ หรือว่าสิ่งที่ทำประโยชน์กับสังคม มันมีความโต้แย้งทั้งนั้นแหละ เรื่องอย่างนี้ถ้าเรามีศีลของเรานะ มันช่วยป้องกันได้ชั้นหนึ่ง ช่วยป้องกันได้ชั้นหนึ่งเลย ผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์ ผู้ที่มีศีลสมบูรณ์ สิ่งนี้เข้ามา เว้นไว้แต่ถึงเวลากรรมมันให้ผลนะ สิ่งนั้นมันสะเทือนบ้าง แต่ถ้าเราภาวนาของเราก่อน เราขวนขวาย เราพยายามภาวนาของเรา ถ้าจิตเราเป็นธรรมแล้วนะ สิ่งนี้ยิ่งไกลเลย เข้ามาถึงเราไม่ได้

เขาบอกว่าในเมื่อเราเป็นนักภาวนา เราเห็นเพื่อนเราโดนอย่างนี้ แล้วเราจะช่วยเหลืออย่างไร? ถ้าเราจะช่วยเหลือนี่ปลงสังเวช เวลาธรรมของนักบริหาร เห็นไหม นี่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คำว่าอุเบกขานี่นะ ไม่ใช่อุเบกขาที่ว่าเราจะไม่รับผิดชอบ เราไม่ดูแลสิ่งใดนะ มันเป็นเรื่องสุดวิสัยไง การกระทำของคน บางอย่างเราไม่สามารถจะฝืนกรรมได้ ไม่สามารถจะฝืนผ่านวิกฤติอันนี้ได้ แล้วเราก็ทุกข์ เราก็ทุกข์นะ เราก็เจ็บปวดนะ เราก็เจ็บปวดมาก แล้วทำอย่างไรล่ะ?

นี่ไงถ้าเราไม่มีอุเบกขาเราก็ทนไม่ไหวนะ ถ้ามันสุดวิสัยที่คนจะทำได้ นี่อุเบกขา เพราะทุกคนก็อยากหวังดีใช่ไหม? ทุกคนอยากช่วยทั้งนั้นแหละ แต่มันช่วยรอดไปไหวหรือไม่ไหว แต่ถ้ามันช่วยรอดไปได้มันก็ช่วยรอดไปได้ ฉะนั้น ถ้าเขาโดนของเขา ถ้าเขามีสติปัญญาของเขานะเขาฝืน เพราะมีลูกศิษย์คนหนึ่ง หลายๆ คนเลยเขาบอกว่าเขาเคยโดนของ พอถึงเวลาปั๊บจิตมันจะหวั่นไหว มันจะพรั่นพรึงแล้วคิดแต่เรื่องอย่างนั้น แล้วเขาทำตัวเขาเองนะ เขากอดต้นเสาเขาไว้ หรือเขาให้คนรู้จักเขาจับเขามัดไว้กับต้นเสา แล้วเวลาจิตเขาพอพลัดต่างๆ เขาไม่ไป

คือใจมันเป็นอย่างนั้น แต่ใจเขาไม่ไป เขาผูกไว้เลย แล้วเขาก็พยายามหาครูบาอาจารย์คอยช่วยเหลือเขา เจือจานเขา สุดท้ายแล้วนะเดี๋ยวนี้เขาบอกว่าเขาเกือบปกติ แต่มันก็ยังเสียวๆ ในใจ คือใจมันยังแป้วๆ อยู่ เขาแก้อย่างนี้ เห็นไหม ทีนี้พอของเรา นี่คนจิตใจเขาเข้มแข็ง เข้มแข็งหมายความว่าเขาเข้าใจว่าเขาโดนของ แล้วพอถึงเวลาเขาจะคิดถึงแต่เรื่องของคนๆ นั้น พอเขาบอกว่าถ้าใจเขาดีขึ้นมาใจเขาจะเข้มแข็ง แล้วเขาบอกว่าเวลาเขารู้ว่าเขามีความหวั่นไหวนะ เขาจะบอกให้คนที่รู้จักเขา จับเขาแล้วผูกไว้กับต้นเสา ผูกเขาไว้เลย

แล้วพอผูกเขาไว้เขาก็กระวนกระวาย กระวนกระวายไปพักหนึ่ง แล้วมันก็จะค่อยๆ จางไป เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้ายอยู่อย่างนี้ แล้วตอนนี้รู้สึกว่าเขาดีขึ้นเยอะมาก นี่พูดถึงทางโลกนะ แต่ถ้าเราไม่มีจิตใจขนาดนั้น เรารักษาใจของเรา เราดูแลใจของเรานะ เห็นใจไง เห็นใจว่าโลกมีอย่างนี้เยอะมาก แล้วถ้าจิตใจเราเป็นความจริงนะ เราอย่ามีอุปาทานไปกับมัน บางทีมันไม่เป็นก็จะอุปาทานว่าเป็น แหม ฉันโดนของๆ อย่าไปคิดว่าฉันโดนของ บอกไม่มี ไม่เป็น เวลาใจไม่สบายๆ ก็ว่าฉันโดนของ ฉันโดนของ

เรามีศีลของเรา เราต้องมีสติปัญญาเหนือความรู้สึกนึกคิดเราสิ แต่ที่พูดนี่เพราะมีคนมาปรึกษาเรื่องนี้เหมือนกัน แล้วก็คุยกัน ฉะนั้น เรื่องของโลกนะ เรื่องของชีวิต เรื่องของความเป็นไป ในเมื่อมีชีวิตแล้ว ชีวิตนี่มีค่า แล้วเราจะดูแลรักษาชีวิตเรา เป้าหมายของชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วถ้าเป้าหมาย นี่เรารักษาของเราสิ่งที่ดีๆ นะ อันนี้พูดถึงว่า “วิชามาร”

ถาม : ๗๙๓. เรื่อง “เริ่มต้นวิปัสสนา (๒)”

(๒ ด้วยนะ แสดงว่าถามมาแล้วหนหนึ่ง)

กราบนมัสการหลวงพ่อ หนูขอคำแนะนำเรื่องวิธีการเริ่มต้นวิปัสสนาที่ถูกต้องด้วยค่ะ ตอนนี้หนูพยายามนั่งสมาธิโดยการดูลมหายใจอยู่ แล้วจะทำอย่างไรต่อไปดีคะ

กราบขอบพระคุณค่ะ

หลวงพ่อ : จะทำอย่างไรต่อไปดีคะ นี่ถ้าเราเริ่มต้นภาวนานะ เรากำหนดใจของเราใช่ไหม? นี่ถ้าดูลมหายใจ ทำลมหายใจให้สงบระงับ ถ้ามีความสงบระงับ ถ้าจิตใจมันสงบดี มันไม่ถึงกับฟุ้งซ่าน ถ้าเรามีสติปัญญาเราฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญาเลย

นี่ถ้า “เริ่มต้นวิปัสสนาอย่างไร?”

ฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญานี่เราคิดได้แล้ว เราคิดเรื่องปมในชีวิต เรื่องต่างๆ นี่คิดไป แล้วถ้ามันคิดแล้วมันไม่จบไม่สิ้นเราก็กลับมาดูลมหายใจ กลับมาดูลมหายใจ ถ้าดูลมหายใจมันสงบระงับ สงบระงับไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราคิดมันจะละเอียดไปเรื่อยๆ นี่แล้วจิตมันมีเจริญแล้วเสื่อม ถ้าดูลมหายใจแล้วจิตเรามั่นคงขึ้นมา ความรู้สึกนึกคิดนี่ ถ้ามันมีความรู้สึกนึกคิด ความคิดของเรามันจบ คือว่าเราคิดสิ่งใดมันก็สรุป แล้วมันจบ พอจบแล้วจิตมันก็ปล่อยวาง

นี่มันมีความร่มเย็นเป็นสุข อย่างนี้เราคิดได้ แต่ถ้าเราคิดแล้วมันไม่จบ ถ้าเราคิดแล้ว ความคิดมันต่อเนื่องกันไป ต่อเนื่องไม่มีวันจบหรอก คิดเรื่องโลกไม่จบนะ เรื่องโลก เราคิดเรื่องโลกสิ มันจะมีต่อเนื่อง มันจะมีผลข้างเคียง มันจะต่อเนื่องกันไป บางทีพูดเรื่องเรื่องหนึ่ง เวลาความรู้สึกนึกคิดมันคิดอยู่อีกเรื่องหนึ่ง มันไพล่ไปเรื่องที่คิดมา มันไปไม่จบเลย

อย่างนั้นแสดงว่าจิตไม่มีหลัก จิตมันไม่มีกำลังพอ กลับมา ปล่อยเลย ปล่อยแล้วกลับมาดูลมหายใจต่อ ดูลมหายใจๆ แต่เวลามันคิดไปแล้วนะ จิตมันฟุ้งซ่านไปแล้ว เวลาจะดึงกลับมาลมหายใจมันไม่ยอมมาหรอก มันสนุก มันเพลิดเพลิน เวลาคิดจะให้เป็นเรื่องมันก็ไม่เป็นเรื่อง เวลาจะเลิกคิดมันก็ไม่ยอม มันก็คิดไป เห็นไหม นี่เวลาจิตถ้ามันสงบนะ เวลาคิดเรื่องพิจารณาไป ใช้ปัญญาไปมันสรุป มันจบ นี่จบ เวลาถ้าจิตมันเสื่อม จิตมีกำลังไม่พอ พอคิดเรื่องใด คิดต่อไปมันก็ไม่จบ จะเลิกคิดมันก็ไม่ยอมเลิก จะเลิกคิดกลับมาลมหายใจมันก็เหนี่ยวรั้ง

นี่ค่อยๆ หาวิธี คนเรานี่นะกว่าจะรู้ตัว กว่าจะเข้าใจว่าความคิดนี้ จิตมันเสื่อมแล้ว กำลังไม่พอแล้วนี่ มันก็เตลิดเปิดเปิงไปจนกว่าจะได้สติ เพราะถ้าได้สติมันถึงเอ๊อะ! พอได้สติ เออ เราผิดแล้ว อู้ฮู เราคิดมาเกินเลยเถิดแล้ว กว่าจะมีสตินะมันก็ไถลไปซะไกลแล้ว แล้วเราก็ค่อยๆ ดึงกลับ พอค่อยๆ ดึงกลับนะ ตั้งสติให้ดี กำหนดลมหายใจ ตั้งสติให้ดี มันก็จะคิดแต่เรื่องนั้นแหละ มันติดพันกันอยู่ นี่พยายามดึงกลับมา เห็นไหม

เวลาที่ว่าจะวิปัสสนา วิปัสสนานี่ถ้าเราไม่ฝึกหัดโดยการใช้ปัญญา วิปัสสนาไม่เกิด แล้วคนบอกว่า ก็หลวงพ่อบอกเอง ทำจิตให้สงบก่อน ตั้งจิตให้สงบ จิตสงบ สงบแค่ไหน? สงบระงับแล้วพิจารณาได้เลย ทีนี้พิจารณาไปแล้วคือการฝึกหัดใช้ปัญญา จะเริ่มต้นวิปัสสนาคือการฝึกหัดวิปัสสนา การฝึกหัดวิปัสสนา คือจิตมันสงบระงับมากน้อยเท่าไรเราต้องฝึกหัดแล้ว เราจะรอให้แก่เฒ่าจนเดินไม่ไหวแล้วค่อยมาฝึกหัดหรือ?

นี่ทำความสงบกันจนเดิน ๔ เท้าแล้วนะ นี่ตอนนี้จะวิปัสสนา ตอนนี้มันยังแข็งแรงอยู่บอกว่าไม่ได้ๆ จิตยังไม่สงบ พอมันแก่ มันเฒ่า เดินไม่ได้แล้ว โอ้โฮ ตอนนี้จะวิปัสสนา ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่าจิตต้องสงบก่อน เพราะแต่เดิมเขาบอกไม่ต้องทำความสงบไง เขาบอกเขาใช้ปัญญากันไปเลย แล้วทำความสงบมันเสียเวลา เราก็บอกว่าเพราะความสงบนี่แหละมันถึงจะเข้ามาสู่มรรค มันถึงเข้ามาสู่ปัญญาที่ชำระกิเลส ไม่ใช่ปัญญาของกิเลส

ฉะนั้น มันต้องอาศัยความสงบ ทีนี้พออาศัยความสงบ พอเรามีความสงบที่กิเลสมันสงบตัวลงพอแรงแล้วนี่เราใช้ปัญญาได้แล้ว ทีนี้การใช้ปัญญาไป ปัญญาที่ว่ามันยังไม่สงบถึงเต็มที่ คือเงินของเรามันยังไม่พอจะซื้อสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่เราก็ไปดูสินค้าไว้ก่อน หรือเราเก็บสะสมเงินเราก่อน เพราะเงินยังไม่พอ แต่ถ้าวันไหน ราคาสินค้าขนาดไหน แต่เงินเราพอ เราซื้อสินค้าชิ้นนั้นได้ทันที คำว่าซื้อสินค้าชิ้นนั้นได้ทันที คือเป็นโสดาบันทันทีไง เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามีทันที

คือว่ามันมรรคสามัคคี มรรครวมตัวแล้ว พอดีแล้ว นั้นคือมันสมดุล มันสมดุลด้วยดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ ความชอบธรรม มรรคสามัคคีสมดุลแล้ว ซื้อสินค้าชิ้นนั้นได้ทันที แต่ในเมื่อสินค้าชิ้นนั้นเรายังซื้อไม่ได้ เพราะเงินของเรายังไม่พอ เงินเราไม่พอเราก็ฝึกหัดใช้ปัญญาของเราไป ด้วยการฝึกหัดใช้ปัญญา นี่แหละคือการฝึกหัดใช้ปัญญา เพราะเรามีสติปัญญาว่าเราฝึกหัดใช้ปัญญา เราไม่ใช่ว่าเราเป็นผู้รู้แล้ว ปัญญาฆ่ากิเลสแล้ว

แต่ถ้าคนมีกิเลสนะ เวลาใช้ปัญญาไปแล้วรอบหนึ่ง บอกนี่ไงวิปัสสนารอบหนึ่ง เวลามีความรู้สึกนึกคิดรอบหนึ่ง มันปล่อยวางรอบหนึ่งเป็นโสดาบัน คิดรอบ ๒ สกิทาคามี คิดรอบ ๓ อนาคามี คิดรอบ ๔ เป็นพระอรหันต์ โอ้โฮ พระอรหันต์มันเดินชนกันทั่วประเทศไทยเลยนะ พระอรหันต์ทั้งนั้นเลยนะ แล้วย้อนกลับไปเมื่อกี้นี้ ถามว่าแล้วขันธ์เป็นอย่างไร? ไม่รู้ พระอรหันต์ไม่รู้เรื่องขันธ์นะ แล้วพระอรหันต์ไม่รู้เรื่องสังโยชน์นะ พระอรหันต์ไม่รู้เรื่องสติ ไม่รู้เรื่องปัญญา

คำว่ารู้เรื่องสติ รู้เรื่องปัญญาเพราะเป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันนี่นะ เวลาดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ มันมรรคสามัคคี มันสมดุล จะรู้เลยว่าการสมดุลของมรรคมันเป็นแบบใด แล้วเวลาสมดุลของมัน นี่มันเกิดมรรคญาณ ถ้ามันสมุจเฉทปหาน มันฆ่ากิเลสฉับ! นี่ซื้อสินค้าชิ้นนั้นได้ทันที มันรู้ กิเลสขาดทันที มันรู้ ถ้าคนที่มันรู้แล้ว ภาวนาเป็นแล้วมันจะไปพรั่นพรึงกับสิ่งอื่นไหม? มันจะละล้าละลังกับคำว่ามรรคสามัคคีจากการว่ามันเป็นมรรคอีกไหม? ไม่เป็น

นี้คือว่า “เริ่มต้นวิปัสสนาอย่างใด?”

เริ่มต้นวิปัสสนา นี่ใช่ ที่พูดว่าต้องจิตสงบเพราะมันเป็นส่วนหนึ่ง นี่มรรค ๘ สัมมาสมาธิเป็น ๑ ใน ๘ ทีนี้คำว่า ๑ ใน ๘ มันต้องมีส่วนของมัน แต่คนเรามันบอกว่าไม่ต้องสงบเลย ใช้ปัญญาไปเลย แล้วมันจะไปสงบเอาข้างหน้า มันจะไปครบ ๘ เอาตอนที่เราจะซื้อสินค้า เรามีสตางค์นะ เราลืมเอาบัญชีไป ลืมเอาเช็คไป เขาก็ไม่รับหรอก บอกว่าฉันมีสตางค์ โอ๋ย ที่บ้านมี ๕๐๐ ล้านเลย ไอ้นี่แค่บาท ๒ บาท เขาไม่เชื่อหรอก อย่างไรเขาก็ไม่เชื่อ

นี่ก็เหมือนกัน บอกว่าพิจารณาไปเลย แล้วเดี๋ยวสมาธิมันจะมารวมตัวตอนสุดท้าย จริงหรือ? จริงหรือ? ใครเคยทำได้ แล้วเป็นจริงหรือเปล่า? โม้กันไป พอโม้กันไป เราถึงบอกว่านี่ไงเราจะซื้อสินค้าใช่ไหม? เช็คก็มีพร้อม เงินสดที่บ้านก็มี เท่าไรล่ะเซ็นได้เลย สมาธิเราสร้างมา เราทำของเราจนชำนาญการหมดแล้ว เราจะใช้จ่ายเมื่อไหร่ก็ได้ แต่นี่เขาบอกสมาธิไม่ต้องทำ

ฉะนั้น เพราะเราเป็นคนพูดเอง บอกว่าต้องจิตสงบก่อน จิตสงบก่อน คำถามเลยกลับมาว่า แล้วสงบแค่ไหนล่ะ? แล้วเมื่อไหร่จะวิปัสสนาล่ะ? โอ้โฮ เป็นภาระไปหมดเลย นี่ไงเวลาอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์จะเป็นแบบนี้ อาจารย์จะคอยบอก คอยแนะ เราจะไม่สมดุลหรอก เราจะไม่รู้ว่าอะไรหนัก อะไรเบา แล้วควรแค่ไหน? เราจะรู้ได้ยากมากว่ามันสมควรแค่ไหน? แค่ไหนพอดี แค่ไหนไม่พอดี

นี่แค่ทางวิชาการนะ แล้วพอมันปฏิบัติเข้าไป ความสมดุล มรรคสามัคคี สามัคคีคือมรรค ๘ แล้วมันรวมลง มันรวมลง ดูสิสติปัญญา สมาธิ นี่ทุกอย่างมันพร้อม แล้วมันรวมลง มีงานชอบด้วยนะ ถ้างานไม่ชอบมึงจะไปชอบธรรมในอะไร? เอาเงินไปซื้อของที่ไม่มีขายใช่ไหม? สินค้าเขาหมดแล้ว นี่สินค้าดีมากเลย เร่ขายเลย พอขายหมดแล้วจะมาซื้อ หมด ไม่มีหรอก

นี่งานชอบมันต้องชอบธรรมของมันด้วย แล้วชอบธรรม นี่ชอบธรรมของจิตดวงใดไง ปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ แล้วมันจะลงอย่างไร? แล้วลงอย่างไรมันเฉพาะใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นทำของใจดวงนั้น มันจะเป็นของมัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ความชอบธรรม เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาท่านพูดขนาดนี้เลยนะ

“เราตรัสรู้เองโดยชอบ”

คำว่าโดยชอบเพราะมันจริง แล้วก็คนตรัสรู้เยอะแยะไป สมัยพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไปเรียนกับลัทธิอื่น เขาเป็นศาสดาทั้งนั้นเลย เขาก็ปฏิญาณตนเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นเลย แต่โดยไม่ชอบ เขาบอกเขาเป็นพระอรหันต์ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ บอกว่า

“เราตรัสรู้เองโดยชอบ โดยชอบธรรม”

ไม่มีสิ่งใดโต้แย้ง ฉะนั้น สิ่งที่ทำ เวลาโดยชอบธรรมของใจ วิปัสสนาทำอย่างไร? นี่ทำอย่างที่ว่านี่แหละ ที่ทำอยู่นี่ แล้วค่อยๆ ทำไปนะ เวลาเราทำดีขึ้นมา ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติทำคุณงามความดีทุกคนเขาจะส่งเสริม จะส่งให้เราไปอยู่บนก้อนเมฆเลย ไม่ใช่หรอก เวลาทำดีขนาดไหน ความดีก็คือความดี แต่เวลากิเลสมันเกิดขึ้นมานี่นะ เวลามันเสื่อมมันทดท้อ มันเศร้าหมอง เวลามันทุกข์

เวลาปฏิบัติ นักกีฬาทุกคนมันจะมีจุดสูงสุดและมีจุดตกต่ำ จิตทุกดวงใจ เวลาปฏิบัติมันมีดี มีไม่ดี มีทุกข์ มียาก ฉะนั้น ต้องดูแลกัน เวลาจิตมันดีมันจะดีมากนะ เวลาเสื่อมนะ โลกนี้ไม่มีอะไรดีสักอย่าง ตัวเราก็ไม่ดี ไม่มีอะไรดีเลยเวลามันเสื่อมนะ แต่เวลาจิตมันดีนะ โอ้โฮ โลกนี้มันสุดยอด สุดยอด ธรรมะพระพุทธเจ้านี่ อู้ฮู แน่นอน อู้ฮู สุดยอด นี่จิตมันมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญเป็นวรรค เป็นตอน เวลาเสื่อมเราก็แก้ไข เราก็ต้องมีกำลัง มีหลักของเรา ชีวิตเราทั้งชีวิตมันก็มีลุ่ม มีดอน การปฏิบัติมันมีลุ่ม มีดอนของมัน

ฉะนั้น เวลาดีเราก็รักษาไว้ เวลามันหดหู่ทดท้อ เราก็เข้มแข็งแล้วกัดฟัน เอาศาสดาเป็นตัวอย่าง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดเทศนาไว้ในพระไตรปิฎกมากมายนัก เวลาจะทุกข์ จะยากท่านบอกให้นึกถึงเรา เวลาเจอโลกธรรม ๘ ก็ให้นึกถึงเรา เพราะอะไร? เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นเจ้าของศาสนา เป็นผู้เผยแผ่ โลกธรรมมันพุ่งเข้าไปที่นั่นหมดเลย แล้วเราเป็นผู้อาศัย เราเป็นผู้อาศัย เป็นสาวก สาวกะ เป็นผู้อาศัยเท่านั้นนะ

ฉะนั้น เวลามันเสื่อม เวลามันทุกข์ มันยากเราช่วยกันดูแล แล้วที่สำคัญก็คือดูแลใจเราก่อน ถ้าเรามีสติปัญญานะ อารมณ์ความรู้สึกมันอยู่กลางหัวอก เวลาทุกข์ เวลาร้อนใครจะเข้าไปช่วยเราล่ะ? เราต้องดูแลของเรา แล้วถ้ามันหนักหนาสาหัสสากรรจ์ เราก็มีครู มีอาจารย์ เราก็ปรึกษาท่าน ปรึกษาท่านหาทางออก มันต้องเปลี่ยนไง

เวลาพระกรรมฐานเรา เห็นไหม เวลาธุดงค์ไป ๗ วัน ๘ วันเปลี่ยนสถานที่ เพราะคุ้นชินแล้วนะกิเลสมันจะพองตัวแล้ว นี่เวลาปฏิบัติ กิเลสมันไม่ปล่อยให้เราพ้นมือมันหรอก มันหาช่องทางจะกลั่นแกล้ง จะทำลายเราทุกวิถีทาง เพราะมันเป็นพญามารที่สถิตอยู่ในใจของสัตว์โลก อยู่ในใจของเรามานมนาน ไม่มีต้นไม่มีปลาย แล้วอยู่ดีๆ เราจะปฏิบัติให้พ้นจากมือมัน มันยอมได้อย่างไร? มันเป็นไปไม่ได้ แต่เพราะธรรมะนี่เราจะสู้มัน เห็นไหม

การปฏิบัติธรรมะจะส่งเสริมเรา แต่กิเลสมันจะขัดขวาง มันจะทำลาย มันจะทำให้เรา ถ้าเราทำดีมันก็บังเงา อืม เป็นธรรมๆ มันก็อาศัยไปด้วย แต่เวลาเราเผลอนะมันทำให้เราเสียใจ ทำให้เราเสื่อม แล้วมันก็อ้างเหตุผล รุมด้วยเหตุด้วยผลของกิเลสจนเราทดท้อหมด แต่เวลาเราดีมันก็แอบอิงไปด้วย อาศัยไปด้วย แต่ถ้าเราเสื่อมนะมันหาเหตุผลจนเราจะไม่สู้เลย นี่พูดถึงเวลาเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ นี่ในการปฏิบัติ

ฉะนั้น วิปัสสนา ในเมื่อวิปัสสนานะ เวลาเราใช้ปัญญาแล้ว เวลามันปล่อยมันจะโล่งโถง ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันจะสงบเฉยๆ สงบเย็น แต่เวลามันใช้ปัญญาวิปัสสนามันจะคลายความสงสัย อะไรที่สงสัยอยู่ในหัวใจ มันจะถอด มันจะถอน แต่ถ้าทำความสงบของใจมันพักเอากำลัง นี่โดยหลักมันเป็นแบบนี้ แล้วโดยวิธีการเราก็ต้องฝึกหัด ฝึกหัดใช้ ฝึกหัด การฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าไม่ฝึกหัดเลยจะทำภาวนาไม่เป็น วิปัสสนาไม่เป็น ถ้าวิปัสสนาไป พอวิปัสสนาไปนะ เดี๋ยวพอเป็นขึ้นมานะ หลวงพ่อไม่ต้องพูด หลวงพ่อพูดทุกวันเลย รู้เองไง ถ้ารู้เองมันไม่อยากฟังใคร มันเสียเวลา ถ้ารู้เองนะ ไม่ต้องพูดๆๆ รู้เอง

ฉะนั้น ปฏิบัติไป เดี๋ยวจะรู้เอง เอวัง