ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จินตนาการ

๔ มี.ค. ๒๕๕๕

 

จินตนาการ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๘๐๔.

ถาม : เรื่อง “โยโสนมสิการ กับการทำอานาปานสติ”

หลวงพ่อ : กรณีนี้เป็นกรณีที่ว่าเขามั่นใจในตัวเรามาก มั่นใจในตัวเรา แต่เขาไปเอาเรื่องที่เป็นสัพเพเหระมาเป็นประเด็น มันก็เลยจะยุ่งไง ฉะนั้น เราจะตอบเพื่อประโยชน์เท่านั้น ไม่ไปทั้งหมดไง มันก็เหมือนฟังเทศน์เมื่อวาน ยาวทีหนึ่ง ๔ หน้า ๕ หน้า นี่เขาไปเอาบทความที่เขาเขียน แล้วก็มาถามเรา แล้วมันเรื่องอะไรของเอ็ง บทความคนอื่นเขียน แล้วก็คนเขียนก็ไม่ได้ถาม ไอ้คนไปอ่านก็ดันมาถาม

ถาม : กราบขอความกรุณาหลวงพ่อได้โปรดเมตตาอธิบายเรื่อง “โยโสนมสิการ และการทำจิตให้สงบแบบอานาปานสติ” ในแง่ของกลไกกระบวนการ และผลที่เกิดขึ้นต่อร่างกาย และลมหายใจ และจิต รวมทั้งขอให้หลวงพ่อได้โปรดอธิบายเพิ่มเติมในสิ่งที่ควรแก่การปฏิบัติ เพื่อต่อยอดให้เกิดการเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อจะได้ขัดเกลาจิตได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะต้องมานั่งสมาธิเป็นกิจจะลักษณะเท่านั้น ตามแต่หลวงพ่อเห็นสมควรค่ะ

คือพอดีหนูไปเจอบทความ ที่มีหลายช่วงที่หนูมีความเห็นต่างในบทความนั้น แต่ด้วยความเขลาเบาปัญญาของหนู ขอให้หลวงพ่อให้เหตุผลในสังขารธรรม

หลวงพ่อ : เขาพูดถึงลมหายใจใช่ไหม? นี่ผู้ที่ปฏิบัติ ลมหายใจหมายถึงว่าลมหายใจพุทโธ แล้วโยโสนมสิการ ของเขาใช้คำว่าสติพร้อม แล้วเขาบอก

ถาม : เวลาลมหายใจมันเคลื่อนไหวอยู่จิตสงบไม่ได้ การปล่อยลมหายใจไปให้หมด รู้สึกมีความคล่องแคล่ว แล้วน้อมจิตไป

หลวงพ่อ : การน้อมจิต เราจะบอกว่าน้อมจิตไปจนจิตไม่เสียคุณภาพของประภัสสร ผ่องใส เป็นจริง เวลาถ้าเขาทำไปจิตจะประภัสสร แต่ถ้ามาทำอย่างนี้จิตมันเสียกำลัง เขาว่าเสียกำลัง มันไม่ประภัสสร ทีนี้คำว่าประภัสสร จิตเป็นประภัสสร จิตมั่นคง เขาก็ถามว่า

ถาม : ถ้าอย่างนี้หนูก็สัมผัสไม่ได้เลยสิ

หลวงพ่อ : นี่เขาบอกว่าเขากำหนดลมหายใจ เขียนมายาว พูดถึงมันมีความเห็นกันไง ทีนี้โยโสนมสิการคือการรู้ตัวทั่วพร้อมนั่นแหละ นั่นคือโยโสนมสิการของเขา แล้วถ้าอัปปนาสมาธิ เขาบอกว่าถ้าลมหายใจยังเคลื่อนไหวอยู่จิตมันสงบไม่ได้ ถ้าจิตมันสงบแล้ว คำว่าสงบ นี้เป็นทางวิชาการ แล้วเวลาบทความที่เขาเขียน เขาเขียนหมายความว่าเขาเขียนถึงเป็นทางวิชาการ เขาไม่ได้เขียนในการปฏิบัติ เขาถึงบอกว่า

“ถ้าจิตมันเป็นประภัสสร มันยังมีกำลังของมัน แล้วจิตถ้ามันมีลมหายใจมันจะเสียความประภัสสรของมัน”

ทีนี้คำว่าประภัสสร นี่มันเป็นชื่อใช่ไหม? แล้วใครเคยเห็นประภัสสร จิตประภัสสรคือจิตผ่องใส คำว่าจิตผ่องใส จิตผ่องใสนี้เป็นเรื่องหนึ่งนะ แต่จิตสงบแล้วเห็นแสงนั้นอีกเรื่องหนึ่ง เวลาจิตสงบมันจะเห็นแสงสว่าง เห็นแสงต่างๆ อย่างนี้ผ่องใสหรือ? ถ้ามันผ่องใส มันต้องผ่องใสในตัว จิตผ่องใสกับจิตเห็นแสง ถ้าจิตเห็นแสง จิตมันสงบแล้วมันเห็นนิมิต เห็นต่างๆ เขาบอกว่าเป็นอุคคหนิมิต เป็นปฏิภาคนิมิต

ในการประพฤติปฏิบัติมันมีแนวทางแตกต่างหลากหลายมาก คำว่าแตกต่างนะ แตกต่างมันเป็นจริต เป็นนิสัย ดูสิเอตทัคคะ พระอรหันต์ ๘๐ องค์ เอกทั้ง ๘๐ อย่าง แต่จริตนิสัยไม่เหมือนกัน ทีนี้การปฏิบัติจะให้เหมือนกันมันไม่มีหรอก สังเกตได้ไหม? เวลาเราตอบปัญหา ตอบปัญหากับคนที่ปฏิบัติ แล้วคนที่ปฏิบัตินั้นเขากำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม โอ้โฮ เขาฟังแล้วเขาจะซึ้งใจมาก ไอ้คนนั่งข้างๆ ก็ว่าอู้ฮู ดี๊ดีนะ เอาไปปฏิบัติบ้างไม่ได้เรื่อง

ไม่ได้เรื่องเลยนะ ไอ้คนแอบฟังอยู่ปฏิบัติไม่ได้เรื่องเลย แต่ไอ้คนที่เขากำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม อู๋ย เขาฟังแล้วเขาดี เห็นไหม มันทำไมไม่เหมือนกันล่ะ? มันไม่เหมือนกันเพราะจิตหนึ่ง จริตนิสัยหนึ่ง นี่กรรมของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ฉะนั้น คนที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม เขากำลังจะได้ผลของเขา แล้วถ้ามีใครมาชี้นำปั๊บมันก็จะเข้าตรงนั้นพอดี ทีนี้คนที่ปฏิบัติยังไม่ได้แนวทาง เราจะทำอย่างนั้นมันก็เหมือนเราไปก็อปปี้ เราพยายามจะสร้างจิตเราให้เหมือนแบบนั้น มันก็เลยทำได้ยาก

ฉะนั้น สิ่งที่เวลาปฏิบัติมันต้องวางหมดไง แล้วพยายามทำของเรา ถ้าจิตของเรามันเป็นขึ้นมา มันเป็นขึ้นมา นี่เหมือนการตีเหล็ก การตีเหล็กนะเขาต้องเอาเหล็กเผาไฟ พอเหล็กมันแดงเขาต้องตีเหล็ก การตีเหล็กเขาจะขึ้นรูปอะไร? บางคนนะ บางคนตีมีด พอตีเป็นมีดขึ้นมาแล้วมันต้องมีการชุบ ชุบเสร็จแล้วต้องมีการลับคม ถ้าชุบพอดี มีดนั้นจะมีอายุการใช้งานได้ดี แต่ถ้าไม่ได้ชุบ เหล็กนั้นอ่อน ลับให้คมขนาดไหนนะ ใช้งานเดี๋ยวเดียวคมนั้นจะลบหมดเลย

นี่การตีเหล็ก เห็นไหม เหล็กคือจิต แล้วการตี การตีหลากหลาย พอการตีหลากหลาย คนที่ตีเหล็กแล้ว ตีเหล็กขึ้นมาเพื่อประโยชน์สิ่งใด ในการปฏิบัติ เราปฏิบัติกันไป เราปฏิบัติจิตของเรา การตี การตีเหล็กคือการปฏิบัติของจิต การปฏิบัติของจิต แล้วเรารักษาจิตเราอย่างไร? การตีเหล็กแล้ว พอตีแล้ว ถ้าคนโง่นะ พอตีมีดเสร็จมันก็ว่า อู้ฮู เราก็ตีเสร็จเนาะ เขาก็มีด เราก็มีดเนาะ มีดเขาใช้ดีนะ มีดเราก็ต้องใช้ดี แต่ลืมไปว่าเขาชุบ เราไม่ได้ชุบ ชุบไม่เป็น

ถ้าเวลาชุบเหล็กนะ ชุบเหล็กมันกรอบเกินไป พอใช้ปั๊บมันบิ่นทันทีเลย เห็นไหม การชุบเหล็กความพอดีมันแค่ไหน ชุบเหล็ก เขาจะชุบเหล็ก เขาจะเผาไฟตรงคม แล้วก็จะชุบน้ำพั่บ นี่ให้มันปรับตัว อุณหภูมิมันจะเปลี่ยนทันที เหล็กมันจะแข็งของมัน นี่แล้วถ้าชุบไม่เป็นล่ะ?

ทีนี้ย้อนกลับมาไง นี่การตีเหล็ก การต่างๆ การตีเหล็กคือข้อเท็จจริงในการปฏิบัติ ฉะนั้น ย้อนมาที่การปฏิบัติ เราจะบอกว่าบทความที่เขียนมานี่คือทางวิชาการของเขา ถ้าทางวิชาการของเขา เขาจะเขียนอย่างไรก็ได้ แต่เราไม่เชื่อเลย ไม่เชื่อถึงการปฏิบัติมันจะเป็นจริงอย่างนั้น เพราะ เพราะเวลาเขาบอก นี่ประคองจิตอย่างนั้น เข้า-ออกอย่างนั้น มันง่ายอย่างนั้นเชียวหรือ?

ไอ้นี่คนทำไม่เป็น เห็นไหม ถ้าคนทำเป็นนะ คนทำเป็นเหมือนคนตีเหล็ก คนตีเหล็ก นี่ตีเหล็กนะเราก็ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ แล้วความชำนาญนะตีให้มันเข้าที่ให้ได้ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่การตีหัวใจ นี่คำบริกรรมของเรา เห็นไหม ปัญญาอบรมสมาธิเราก็ดูแลจิตของเรา ดูแลให้มันเป็นความจริงเข้ามา เป็นความจริงขึ้นมา แล้วถ้าจิตประภัสสร เขาเน้นคำว่า “จิตประภัสสร” ผู้เขียนก็เน้นจิตประภัสสร ผู้ถามก็เน้นจิตประภัสสร แล้วจิตประภัสสร เขาบอกมันไม่เสียความเป็นประภัสสร ความประภัสสรมันจะตั้งมั่น อะไรของเขา เขาว่ากันไปอย่างนั้น

เราไม่เชื่อว่าคนพวกนี้เห็นจิตประภัสสร เราไม่เชื่อ เพราะว่าถ้าจิตประภัสสรนะ จิตประภัสสรมันจะรวมของมันใช่ไหม? เวลาหลวงตาท่านพิจารณาของท่านไป ท่านพิจารณาเวลาท่านทิ้งกามราคะ แล้วท่านไปภาวนาอยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ ท่านบอกว่า

“จิตนี้มันมหัศจรรย์นัก มันผ่องใส มันว่างหมด มันทำไมมีความสุขขนาดนี้”

เพ่งไปนี่นะ อู๋ย ภูเขาทะลุไปหมดเลย ไม่มีอะไรขวางกั้นได้หมดเลย นี่จิตประภัสสร นี่จิตผ่องใสไง จิตมันทำไมผ่องใส จิตมันทำไมว่างหมดเลย แล้วใครจะเห็นประภัสสร? เราไม่เชื่อนะ นี่คนเขียนว่าจิตประภัสสร คนถามก็ว่าจิตประภัสสร ประภัสสรอะไร? ประภัสสรก็ตัวหนังสือไง ประ-ภัส-สะ ประภัสสร จิตประภัสสร จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส

ฉะนั้น คำว่าผ่องใสนี่นะ เราจะบอกว่าเวลาคนทำสมาธิ ทำสมาธิกันมันมีความสงบระงับมากน้อยแค่ไหน? ถ้าจิตมันสงบนะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ นั่นล่ะอัปปนาสมาธิ นั่นล่ะมันจะผ่องใส แต่ถ้ามันไม่อัปปนาสมาธิมันจะเอาอะไรมาผ่องใส? ถ้าจิตมันผ่องใส จิตมันว่างหมดนะ ตัวมันว่างนะ ตัวจิตว่าง แต่ส่วนใหญ่แล้วอาการว่าง ตัวไม่ว่าง อาการว่างไง มันปล่อยสัญญาอารมณ์เข้ามา แต่ถ้าตัวมันไม่ว่างนะไม่ผ่องใสหรอก แต่พอมันปล่อยอาการเข้ามาใช่ไหมมันเห็นไง

ดูสิคนเวลาจิตมันเริ่มปล่อยอาการเข้ามา มันจะเห็นแสง เห็นความสว่าง เห็นต่างๆ เห็นอย่างนั้น นี่เห็นอย่างนี้มันก็ส่งออก เห็นอย่างนี้ประภัสสรไหม? อย่างนี้เป็นประภัสสะหรือยัง? ทีนี้คำว่าประภัสสรนี่ใครพูด? ประภัสสรถ้าเด็กมันพูดมันก็ใช่ มันก็ประภัสสรทั้งนั้นแหละ เด็กมันพูด แต่ถ้าผู้ใหญ่นะไม่ใช่ นี่เขาว่าจิตมันไม่เสียคุณภาพของความเป็นประภัสสร ความประภัสสรมันจะมีหลัก มีเกณฑ์ ถ้าทำตามบทความที่เขาเขียน

ฉะนั้น ผู้ถามเขาบอกว่าเขาปฏิบัติแล้วมันไม่เหมือนบทความนั้น ถ้าไม่เหมือนบทความนั้น เขาก็บอกว่าให้หลวงพ่อบอกให้ชัดๆ ชัดๆ นะ เราจะคุยกับเรื่องกฎจราจรทางบก ชัดๆ เอาไปใช้กับการจราจรทางน้ำไม่ได้เลย เวลากรมเจ้าท่าเขาดูแลจราจรทางน้ำ จราจรทางน้ำนะมันจะมี แล้วถ้าเกิดว่าเวลาไปถึงกรมการบินนะมันจะมีกฎจราจรทางอากาศ เวลาจะเข้ามานะ เข้ามาในรัศมีของเขา ต้องแจ้งเขาก่อนนะว่าจะเข้ามาในรัศมีเท่าไหร่

คำว่าชัดๆ มันชัดๆ ในเรื่องอะไร? คำว่าชัดๆ ชัดๆ เพราะหนึ่งเดียวใช่ไหม? แต่กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันเป็นจริต เป็นนิสัยต่างๆ คำว่าชัดๆ มันก็ต้องบอกว่าชัดๆ ในเฉพาะกฎจราจร ชัดๆ เพราะกฎคมนาคมทางน้ำ ชัดๆ เพราะคมนาคมทางอากาศ ชัดๆ แบบนั้นเลย นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพุทโธ พุทโธ ก็ต้องชัดๆ แบบพุทโธเลย อานาปานสติก็คืออานาปานสติเลย เห็นไหม นี่ชัดๆ คืออะไร? ถ้าปัญญาอบรมสมาธิก็ชัดๆ แบบปัญญาอบรมสมาธิเลย

ทีนี้พอมันชัดๆ แล้ว เช่นเราเดินทาง ชีวิตของคนที่เขาทำธุรกิจ เขาไปทั้งทางเครื่องบิน เขาไปทางเรือ เขาไปทางบก เขาไปหมด ถ้าเขาไปหมดแล้ว เวลาเราเดินทาง เราจะเดินทางของเรา พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนพุทโธไม่ได้เลย นี่อยู่กับมัน เวลาพุทโธไปแล้วมันเกิดความฟุ้งซ่านเราก็ใช้ปัญญา ใช้ปัญญาแยกแยะว่าทำไมจิตมันเป็นอย่างนั้น คือว่าเราจะไปทางน้ำก็ได้ จะไปทางเรือก็ได้ เราฉลาดใช้กับการดูแลจิตของเรา เราฉลาดใช้กับการพิจารณาของเรา ถ้าเราฉลาดใช้ เรามีช่องทางไปตั้งหลายช่องทาง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราไม่ได้ใช้ทางใดทางหนึ่งแบบว่าเถรตรง ถ้าคำว่าเถรตรงนะ เถรส่องบาตร ทำสิ่งใดแล้วมันก็จะขวางตัวเองอยู่อย่างนั้นแหละ มันไปไม่รอดหรอก แต่ถ้าเราทำแล้วนะ ใช่ เราต้องเข้มแข็ง ทำจริงจัง แต่ถ้าเวลาเจออุปสรรค เห็นไหม เขาบอกให้ไปตรงหน้า ตรงหน้าไปเจอภูเขาก็จะเอาหัวตำภูเขานั่นล่ะ ไปข้างหน้าเนี่ย พอเจอภูเขาเราก็อ้อมหน่อย อ้อมภูเขาไปมันก็ไปได้ นี่ก็เหมือนกัน เราต้องมีสติปัญญาของเรา มันบอกว่าชัดๆ อย่างนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์ไง ถ้าวิทยาศาสตร์แล้วต้องเป็นแบบนี้ ต้องเป็นแบบนี้ แล้วก็ทะเลาะกันตายเลย

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าให้หลวงพ่อฟันชัดๆ เลย เราจะบอกว่ามันเป็นจินตนาการ จินตมยปัญญาของเขา ทางวิชาการ มันก็มีสิทธินะ มันมีสิทธิทำได้ ถ้ามันมีสิทธิทำของเขาได้ เพราะว่าคนเราเจ็บไข้ได้ป่วยนะ เวลาไปหาหมอ หมอต้องรักษาตามอาการนั้น ถ้าคนภาวนานะมันจะยืนยันกันด้วยจิตสงบหรือจิตไม่สงบไง แต่ถ้าเป็นทางวิชาการเขาเถียงกันทั้งปี เขานั่งเถียงกันทั้งปีเขาเถียงได้นะ เพราะเขาไม่มีสิ่งใดยืนยันว่าสิ่งนั้นเป็นผลหรือไม่เป็นผล แต่ถ้าเราภาวนา เวลาคนภาวนาทุกคนต้องการความสงบระงับ ต้องการจิตสงบ ไอ้ตรงนี้มันเป็นผล ถ้าจิตไม่สงบ สิ่งนั้นมันจะดีเลิศขนาดไหน แต่เราใช้ประโยชน์ไม่ได้ มันก็เป็นประโยชน์กับเราไม่ได้หรอก

แต่ถ้าสิ่งใดเป็นประโยชน์กับเรานะ จิตเราสงบได้ จิตเรามั่นคงได้ สิ่งนั้นมันดีกับเรา ฉะนั้น สิ่งนี้ต่างหากล่ะ เวลาปฏิบัติขึ้นมามันมีสิ่งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่จริง นี่จิตเราเป็นจริงหรือเปล่า? ถ้าจิตมันเป็นจริง ผลมันเป็นแบบใด? ถ้าผลมันไม่มี ต่างฝ่ายต่างไม่มี ถ้าไม่มีแล้วก็จบ นี่พูดถึงว่า “โยโสนมสิการ กับทำอานาปานสติ” ว่าอะไรมันจะถูกไง

ฉะนั้น ถ้ามันผิดมันก็คือผิดทั้งหมด ถูกมันก็คือถูก ถ้ามันผิดนะอะไรก็ผิด คือเราทำแล้วไม่ได้ผลมันก็คือไม่ได้ผลนั่นแหละ แต่ถ้ามันได้ผลนะ คนได้ผลแล้วก็จบ ถ้าได้จบแล้วเราจะไม่มาทะเลาะกันเรื่องอย่างนี้ อันนี้พูดถึง “โยโสนมสิการ” จบนะ

ข้อ ๘๐๕. นะ

ถาม : ข้อ ๘๐๕. เรื่อง “การทำแท้ง”

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ ผมขอเรียนถามเรื่องของผลกรรมของการที่ผู้หญิงคนหนึ่ง มีการผิดพลาดท้องมีเด็กขึ้นมา แล้วเกิดถูกบังคับหรือตั้งใจทำแท้งเอง ผลกรรมจะมีความหนัก-เบา แตกต่างกันอย่างไรครับ และกรรมจะให้ผลเช่นไรครับ และพอมีทางแก้ไขตัวเอง ทำบุญเพื่อขออโหสิกรรมอะไรบ้างได้ไหมครับเพื่อให้ชีวิตนี้ดีขึ้น

หลวงพ่อ : ชีวิตนี้ดีขึ้น พูดถึงนะในชีวิตของเรามันมีอดีต อดีตคือเวรกรรมเก่าที่มันสร้างมา เรามีบุญกุศลจึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์ การเกิดเป็นมนุษย์นี่เป็นบุญกุศลมาก ในพุทธศาสนาบอกว่าการเกิดเป็นมนุษย์มีบุญกุศลมาก ถ้าไม่มีบุญกุศลเราจะเกิดเป็นมนุษย์ไม่ได้ เพราะจิตนี้มันเกิดตลอดเวลา แล้วต้องมีคุณสมบัติพอถึงได้เกิดเป็นมนุษย์สมบัติ ทีนี้พอเกิดมนุษย์สมบัติขึ้นมา นี่มันเป็นปัจจุบัน แล้วก็มีอนาคต มีอดีตมา แล้วปัจจุบันนี่เป็นเรา ถ้าเราทำผิดพลาด ทำบุญกุศล ทำคุณงามความดี ผลจะตอบสนองกับเราเพราะเรามีสติปัญญาที่นี่

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เห็นไหม บอกว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย”

ฉะนั้น ในการดำรงชีวิตในปัจจุบันนี้เราต้องไม่ประมาทในชีวิต ฉะนั้น ชีวิตมันผิดพลาด เห็นไหม ผิดพลาดจนมีเด็กขึ้นมา คำว่ามีเด็กขึ้นมามันอยู่ที่เจตนาไง อยู่ที่เจตนา ว่าเจตนาชีวิตนี้เราจะดำรงชีวิตอย่างไร? เราจะเก็บเด็กไว้ หรือเราจะทำ นั่นมันเป็นความจำเป็นของเขา นี่พูดถึงเขานะ ทีนี้พูดถึงเวลาคนเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดถ้าเขามีท้องขึ้นมา แล้วทางการแพทย์เขาพิสูจน์แล้วว่าเด็กคนนี้เกิดมาจะมีปัญหาขึ้นมา ทางการแพทย์เขาบังคับให้ทำแท้ง นี่โดยจิตใจพ่อแม่ก็ละล้าละลังเป็นธรรมดา มีแม่บางคนอยากมีลูกมาก อยากมีลูกมาก ท้องทีไรแท้งทุกที ท้องทีไรแท้งทุกที ทำไมเขาแท้งล่ะ? การแท้งมันแท้งได้หลายอย่าง

นี่พูดถึงกรรมไง เขาว่าการทำแท้งแล้วมันจะมีกรรมอย่างนั้นๆๆ นี่การทำแท้งมันต้องดูที่เจตนา ดูที่กรรมไง เหตุและผล เหตุแตกต่าง ผลก็แตกต่าง เหตุมันมีความจำเป็นขนาดไหน แต่ถ้าเขาตั้งใจทำของเขา ด้วยความพอใจของเขา นั่นกรรมมันก็มีมากเป็นธรรมดา แต่ถ้าเขามีความจำเป็น ทางการแพทย์เขาบอกว่าต้องทำแท้ง เพราะว่าเด็กมันเกิดมาแล้วจะทำให้พ่อแม่มีอันตราย จะทำให้ลูกมีอันตราย นั่นก็เป็นการบังคับทางเหตุผลทางการแพทย์ แต่ถ้าคนเรามันมีกรรมนะ มันตกลูกๆ ท้องไม่ได้ ท้องแล้วมีปัญหาตลอดเวลา นี่ก็อีกอย่างหนึ่ง มันไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น

ถาม : เวลากรรมมันจะให้ผลอย่างไร?

หลวงพ่อ : ให้ผลนะมันอยู่ที่เราตั้งใจทำ เราตั้งใจทำกรรมมันต้องรุนแรง กรรมมันต้องรุนแรงนะ แต่ แต่ถ้าดูกรรมนะ กรรมที่แบบว่าอดีตชาติมันเป็นแบบนั้น ถ้าอดีตชาติมันเป็นแบบนั้นนะ นี่ในสมัยพุทธกาลมันมียักษ์ที่ว่ามากินเด็ก ยักษ์จะมากินเด็ก แม่ก็รักลูกมาก ยักษ์จะมากินเด็ก มันผลัดกันไง ผลัดกันทำลายลูกของฝ่ายหนึ่งมาตลอด จนสุดท้ายนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการจนยักษ์นั้นให้อภัย แล้วบอกว่า ฉะนั้น ต่างคนต่างแยกลูกกัน บอกว่าให้แม่นี่ส่งลูกให้ยักษ์ แม่ก็ไม่ยอมส่งนะกลัวยักษ์เอาไปกิน แต่ยักษ์นั้นเขาได้เปลี่ยนใจเขาแล้ว พอส่งไปนี่ยักษ์ได้

มันมี มีบุรุษอยู่ ๒ คน นี่เขาผลัดกันฆ่าคนละชาตินะ ผลัดกันฆ่ามาคนละชาติตลอดเลย ผลัดกันฆ่า แล้วพอมาชาติสมัยพุทธกาล บุรุษขึ้นมากำลังจะฆ่าเพื่อน ทั้ง ๒ คนเกิดมาเป็นเพื่อนรักกัน แต่จะผลัดกันฆ่ามาตลอด ผลัดกันฆ่า พอถึงสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่พุทธกิจ ๕ เช้าเล็งญาณเห็นว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้น มาโดยฤทธิ์เลย พอเช้าขึ้นมามาโดยฤทธิ์

เพื่อนกำลังจะฆ่าเพื่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า หยุดก่อน แล้วบอกให้เพื่อนนั้นปลุกเพื่อนคนนั้นขึ้นมา ปลุกเพื่อนคนที่หลับขึ้นมา แล้วเทศนาว่าการ ว่า ๒ คนนี้ได้สร้างเวรสร้างกรรมร่วมกันมามาก แล้วผลัดเวรกันฆ่ามาทุกภพ ทุกชาติ ชาติปัจจุบันนี้คนที่กำลังจะฆ่ามันถึงคราวที่จะต้องฆ่าเพื่อน เพราะด้วยมันจะมีเหตุให้เป็นไปให้เป็นอย่างนั้นโดยกรรม นี่แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการจนให้อภัยกัน จนให้ ๒ คนนี้อโหสิกรรมต่อกัน

นี้เราจะบอกว่าเหตุที่เวลามันเกิดขึ้นมา เราเจตนาว่าเราจะทำ เราจะทำ แล้วถ้ามีเหตุอย่างนี้มาล่ะ? ถ้ามีเหตุอย่างนี้มา มีเบื้องหลังมา มีสิ่งใดมา นี่กรรมมันมีเหตุมีผลของมันมา เหตุผลของกรรมนะ แต่มันเป็นอจินไตย คำว่าอจินไตยมันซับซ้อนมายาวไกลไง นี่กรรมมีผล แต่ว่ามีผลของมันตามกรรม แต่ แต่กรรมนี่เป็นอจินไตย คำว่าอจินไตยคือมันยืดยาวมาจนเราไม่สามารถเรียงได้ว่ามันอยู่ตรงไหน นี่เราไม่สามารถเรียงได้ว่าอยู่ตรงไหน แต่ แต่พระพุทธเจ้าเรียงได้ เพราะว่ามันเป็นอจินไตย ๔ “กรรม ฌาน พุทธวิสัย โลก”

นี่พุทธวิสัย เพราะพุทธวิสัยที่ความว่าเป็นอจินไตยกับสิ่งที่เป็นกรรม ฉะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา แล้วรู้ความลึกซึ้งของมันแล้ว ถึงบอกว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องอจินไตย ท่านบอกว่ามีอยู่ เรื่องกรรมนี่มีอยู่ แต่มันเป็นอจินไตย คำว่าอจินไตยมันลึกลับซับซ้อนมาก พอมันลึกลับซับซ้อนมาก แล้วเราจะสาวไปอย่างไรให้ว่าเป็นอย่างใด

นี่พูดถึงเราจะบอกว่าบางสิ่งบางอย่างที่เราฝืนไม่ได้ ทุกคนพยายามจะฝืนเพื่อจะเอาชนะ อย่านะ อย่าเอาสิ่งนี้มาอ้างนะ เดี๋ยวพอฟังเทศน์บอกว่า เออ หลวงพ่อ อย่างนี้ผมก็ฝืนไม่ได้ อย่างนี้ผมก็ฝืนไม่ได้ ยุ่งเลย คำว่าฝืนไม่ได้มันมีกรรมหนัก กรรมเบามา แต่ฝืนได้ คำว่าฝืนไม่ได้เพราะกรรมมันแรงไง แต่ถ้าใครมีสติปัญญาฝืนได้หมด คำว่าฝืนตรงนี้ ถ้าฝืนตรงนี้ปั๊บ เรื่องที่จะทำเราจะมีสติปัญญายับยั้ง แล้วเราจะเริ่มแก้ไขตามธรรมแล้ว

ฉะนั้น สิ่งใดถ้ามันไม่มีปัญญายับยั้งไปมันก็เกิดเหตุอย่างนี้ เกิดเหตุว่าผู้หญิงคนหนึ่งผิดพลาดขึ้นมา แล้วโดนบังคับให้ทำไปแล้ว แล้วกรรมหนักแตกต่างกันอย่างไร กรรมมันหนักหรือกรรมมันเบาล่ะ? มันอยู่ที่เจตนา นี่กรรม อยู่ที่เจตนาด้วย อยู่ที่ความผูกพันด้วย พอสิ่งนั้นมันเกิดขึ้นแล้วเราปล่อยผ่านแล้ว พอมันผ่านไปแล้วมันก็เป็นอดีตไปแล้ว อดีตเราแก้สิ่งที่เป็นอดีตไม่ได้ เราแก้ในสิ่งที่เป็นปัจจุบัน เราก็ตั้งใจไงสร้างคุณงามความดี สร้างคุณงามความดีไป แล้วนี่อุทิศส่วนกุศลนั้นไป ทำสิ่งนั้นไป แล้ว แล้วเราจะเผชิญหน้ากับความจริงแล้ว

เผชิญหน้ากับความจริงว่าถ้ามีสิ่งใดเกิดขึ้นกับชีวิตเรา เราจะมีความเข้มแข็ง เราจะฝ่าฝืนอุปสรรคอันนี้ไปให้ได้ อุปสรรคนี่เราจะฝืนอันนี้ไป เราตั้งใจของเรา เราทำของเรา เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าเราทำอย่างนี้ได้นะมันก็จะพ้นจากสิ่งนี้ไป นี่ถ้าพ้นจากสิ่งนี้ไป เขาบอกว่า

ถาม : พอจะมีทางแก้ไข ตัวเองทำบุญเพื่ออโหสิกรรม

หลวงพ่อ : นี่มันต้องมีอโหสิกรรมต่อกัน เพราะจิต ชีวิตนี้ ทุกคนรักชีวิตนี้ทั้งนั้นแหละ ใครก็ไม่ต้องการให้ชีวิตนี้ตกล่วงไป แต่ถ้าชีวิตนี้มันตกล่วงไป ทุกคนก็ต้องเสียใจเป็นธรรมดา ฉะนั้น สิ่งที่ผ่านไปแล้วไง ถ้าสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ในพุทธศาสนาสอนให้แก้กันที่ปัจจุบันนี้ ถ้าปัจจุบันเราแก้ได้ เราแก้ได้ไง ฉะนั้น ถ้าพูดถึงแล้วจะให้แก้อย่างไรล่ะ? ให้แก้อย่างไร? ถ้าให้แก้อย่างไรนะ สุดท้ายแล้วกลายเป็นการทรงเจ้าแล้ว แก้กรรม พอแก้กรรมมันจะยุ่งมากไง

ถ้าคำว่าแก้กรรมนะ แก้กรรมในพุทธศาสนานี้คือการนั่งทำความสงบของใจ ถ้านั่งทำความสงบของใจนะ พอจิตเราสงบแล้วเราใช้ปัญญาพิจารณาของเรานะ พอมันชำระกิเลสเป็นชั้นเป็นตอน นั่นแหละแก้กรรม แก้กรรมหมายถึงว่ามันจะไม่เกิด ไม่ตายอีก ถ้ามันไม่มีการแก้กรรมอย่างนี้นะมันมีการเกิด การตาย ถ้าการเกิด การตายนะ มีภวาสวะ มีภพ นี่มารมันมีอยู่ เหตุการณ์ต่างๆ มันต้องตอบสนองแน่นอน ถ้ามันตอบสนองสิ่งนี้แล้ว สิ่งที่มันตอบสนอง คำว่าตอบสนองเพราะมันเป็นอจินไตย มันมีเหตุมีผลมาตลอด แต่เรารู้ไม่เท่าทัน พอรู้ไม่เท่าทันเราก็จะปฏิเสธว่าสิ่งนั้นมันไม่มี สิ่งนั้นไม่มี

เราจะปฏิเสธ นั่นคือคำปฏิเสธนะ ความจริงคือความจริง ความจริงมันจะให้ผลของมัน ถ้าให้ผลของมันนะ ผลสิ่งที่ไม่ดี เห็นไหม ถ้าคนเข้าใจเรื่องสิ่งนี้ได้ ดูสิเวลาพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย มีฤทธิ์มาก เหาะเหินเดินฟ้าได้ เขาจะมาฆ่าเหาะหนีไป ๒ หน หนที่ ๓ พิจารณาแล้วนี่เป็นกรรมของเรา เหาะได้ ทำได้ มีฤทธิ์ได้ แต่ทำไมปล่อยให้เขาทุบตาย เราจะบอกว่าคนที่เวลาพิจารณาไปแล้ว ถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว เวลากรรมมา สิ่งใดเผชิญมา หัวเราะเยาะเลย หัวเราะกับมันเลย

กรรมคือการกระทำ เราทำมาทั้งนั้น ถ้ามันจะมีผลใช่ไหม? นี่เศษส่วนของกรรมเข้าถึงหัวใจของพระโมคคัลลานะไม่ได้ พระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์นะ ไม่มีทุกข์สิ่งใดเข้าไปในจิตใจพระอรหันต์ได้เลย แต่ในเมื่อยังมีขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อยู่ สิ่งนี้ยังกระทบได้ ถ้าพอพระโมคคัลลานะตายจากชาตินั้นแล้วนะ นี่มันทิ้งธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ทิ้งหมดเลย เพราะพอเขาทุบจนแหลกแล้ว เห็นไหม รวมร่างนั้นมาลาพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ทำไมล่ะ?”

“มาลานิพพาน”

“ถ้าลานิพพานก็สมควรแก่เวลาของเธอเถิด นี่ก่อนท่านจะไปให้สั่งสอนน้องก่อน”

เหาะขึ้นไป ลงมาก็เทศนาว่าการ เหาะขึ้นไป ลงมาเทศนาว่าการ แล้วก็เหาะไปที่ที่ตายนั่นน่ะ ไปตรงที่เดิมแล้วจิตนั้นคลายออก ร่างมันก็แหลกอย่างนั้น แล้วก็เผา เผาแล้วทำเจดีย์ขึ้นมา สิ่งที่คำว่าเผา เห็นไหม มันหมดเลย ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ไม่มี ฉะนั้น หมดแล้ว สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ มันยังมีเศษ มีกรรมของพระอรหันต์อยู่ เศษกรรมๆ เศษกรรมมันกระทบได้ที่ร่างกาย เห็นไหม เป็นโรค เป็นภัย เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นหวัด เป็นไอ นั่งก็ปวดเมื่อย นี่เศษกรรมๆ

สอุปาทิเสสนิพพาน ถ้าอนุปาทิเสสนิพพานคือนิพพานแล้ว หมดแล้ว ร่างกายก็ไม่มีเพราะได้ทิ้งไปแล้ว กลับสู่สถานะเดิมของเขาแล้ว จิตใจก็ไม่มีภวาสวะ ไม่มีภพ ไม่มีสิ่งใดให้เห็นเลย มารตามไม่เจอ มารตามอย่างไรก็ไม่เห็น แต่ถ้าพระอรหันต์ยังมีชีวิตอยู่นะ นี่เศษไง ไม่ใช่กรรมจริงๆ นะ ไม่ใช่กรรมโดยเนื้อหาสาระ เศษของมัน เศษเหลือทิ้ง ถ้าเศษเหลือทิ้งของมัน มันโดนของมัน มันกระทบของมัน ถ้ากระทบของมันเป็นอย่างนั้น

นี่พูดถึงว่าถ้ามันมีสติปัญญา มันก็ละได้ มันก็ปล่อยวางได้ ถ้าเศษกรรมมาก็คือเศษกรรม ถ้าเศษกรรม แต่ทีนี้ถ้าเรามีกิเลสอยู่ เรายังยึดมั่นอยู่เราเสียดาย เราเสียดาย เราทะนุถนอมนี่ไม่ใช่เศษนะ เพราะมันสะเทือนแล้วมันเจ็บ เราหวงสิ่งใด เราปรารถนาสิ่งใด ห้ามแตะๆๆ แล้วใครมาแตะดูสิ ขนาดเขาไม่ได้แตะนะ เขาแค่นินทา เขามากระทบ อู้ฮู หูตั้งเลย ใครพูดผิดหูนี่หูตั้งเลย ฉะนั้น ถ้ามันไม่พูดผิดหู หูมันไม่ตั้ง ไม่เป็นไร

นี่สิ่งนี้ถ้ามันเกิดความทะนุถนอมของมัน มันเกิดการหึงหวง ถ้าไม่มีหึงหวง หมด มันเหมือนอากาศธาตุ มันพัดไป มันก็พัดมา มันมีของมันอย่างนั้น โลกเป็นอย่างนั้น โลกเป็นอจินไตยเหมือนกัน โลกเป็นอจินไตย กรรมเป็นอจินไตย มันมีของมันนะ ดูสิพระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ด้วย มันยังตามมานะ ตามมาได้แค่เศษ ตามมา แต่ถ้าพูดถึง ดูสิดูอย่างพระสารีบุตร พระสารีบุตรมีโรคประจำตัวนะ มีโรคเสียดท้อง ถ่ายท้องตลอด พระสารีบุตรก็มีโรคประจำตัว พระอรหันต์ก็มีโรคประจำตัวเหมือนกัน

นี่ถ้าเราคิดนะ ทุกคนคิดอย่างนั้น ว่าเป็นพระอรหันต์แล้วมันจะเหมือนมีฤทธิ์ มีเดช หลุดจากโลกไปเลย หลุดจากโลกไปเลยนะมันก็ตัดกับอดีตไง อดีต ปัจจุบัน อนาคต พระอรหันต์ไม่มีอนาคต แต่ปัจจุบันนี้มันมาจากอดีต ถ้าอดีตมันมีเหตุ มีความเกี่ยวพันกันมา มันก็ยังติดตามมา ติดตามมาตรงที่ นี่เราอยู่กับหลวงตานะ เวลาหลวงตาท่านพูดถึงเรื่องนี้ เราพูดกับท่านเอง ท่านคุยกับเรานะ เวลามีปัญหาอะไรขึ้นมาท่านบอกว่า

“ใช้มัน ใช้มันให้หมด ใช้มันให้หมด”

ท่านไม่ค่อยสนใจนะ ท่านไม่สนใจเลย แต่ทางโลกเขามองแล้วเขาบอก อู้ฮู ทำไมทำอย่างนั้น? ทำไมทำอย่างนั้น? แต่ท่านเฉย ใช้มันให้หมดไป เพราะว่าอย่างพวกเรามีอารมณ์ความรู้สึกใช่ไหม? เห็นอะไรดี ไม่ดีใช่ไหม? แต่ท่านปล่อยหมดไง แล้วคำว่าใช้มันๆ ถ้าจริงๆ ไม่ต้องใช้ก็ได้ เพราะอะไร? เพราะท่านเป็นพระอรหันต์แล้วจะใช้อะไรเนาะ ท่านไม่ต้องใช้อะไรก็ได้ แต่ท่านอยู่เฉยของท่าน ท่านไม่หลบ ท่านไม่หลีก ท่านอยู่เฉย เฉยอย่างนั้นแหละ ใช้มันให้หมด ใช้มันให้หมด

นี่ไอ้ตรงนี้คนเข้าใจได้ยากมาก เวลาพูดถึงพระอรหันต์นะ อู้ฮู ธรรมะนี่สุดยอดเลย แต่เวลามีผลกระทบนี่ ทำไมพระอรหันต์ โทษนะ ซื่อบื้อ ทำไมซื่อบื้อ พระอรหันต์อะไรจะซื่อบื้อขนาดนั้น? ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านพูด ท่านบอกว่า

“ในทางโลก ในทางโลก ถ้ามองกันทางโลกนะเขาจะหาว่าเราโง่ที่สุด”

ท่านพูดเอง ท่านพูดบ่อย ถ้าทางโลกเขาจะหาว่าเราโง่ โง่เพราะอะไร? โง่คือไม่แสวงหาผลประโยชน์ไง สิ่งใดมาก็เจือจานสังคมหมดเลย คือทางโลกเขาต้องมีผลประโยชน์ เขาต้องเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขา แต่หลวงตาท่านไม่เอา ท่านทิ้งหมด

นี่ถ้าทางโลกเขาจะหาว่าเราโง่มากเลย เพราะเราไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดเป็นของของเราเลย เราเสียสละทั้งหมด แต่ถ้าทางธรรม ทางธรรมเราฉลาดที่สุด แล้วทางธรรมใครจะฉลาดกว่าพระอรหันต์ที่รู้ว่าธรรมฉลาดที่สุดล่ะ? ธรรมฉลาดที่สุด แต่ทางโลก เห็นไหม ทางโลกก็เรื่องวัตถุ เรื่องสิ่งที่เขารู้ได้ สิ่งที่เขาจัดการได้ เขาก็จะแย่งชิงกัน แย่งชิงกันนะ แย่งชิงทางโลก แย่งชิงโดยทางเล่ห์กล ทางไม่ให้ใครรู้ทัน แย่งชิงกันโดยเล่ห์ โดยกล แต่ถ้าทางธรรมไม่มี ถ้าสิ่งที่ไม่มีก็คือจบ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าการทำแท้ง สิ่งที่การทำแท้งนะ แบบว่าในพระไตรปิฎก ชีวิตนะ ชีวะมีที่ไหน? ถ้าทำนี่กรรมทั้งนั้นเลยล่ะ ฉะนั้น สิ่งนี้ก็เป็นชีวิตหนึ่ง การทำ ทำด้วยความผิดพลาด เพราะการทำ เราจะพูดถึงกรรมก่อน เพราะว่าบางทีมันปฏิเสธไม่ได้ไง บอกว่าห้ามทำแท้ง แล้วถ้าเกิดแพทย์วินิจฉัยแล้วล่ะ? เกิดถ้าคนๆ นั้นเขามีโรคประจำตัวของเขาล่ะ? ไอ้นั่นก็เรื่องกรรมทั้งนั้นแหละ คนๆ นั้นนะท้องไม่ได้ ท้องทีไรเขาเอาเด็กของเขาไว้ไม่ได้ เขามีปัญหา โอ๋ย หมอต้องดูแลรักษาอย่างดีเลย นี่แล้วออกมาจะสมประกอบหรือไม่สมประกอบนั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ

นี่เวรกรรมของคนมันมี มีจากไหน? มีจากตัวที่ทำมา ถ้าเวรกรรมมันมีแล้ว ถ้าเป็นเขานี่ ถ้าเป็นเรานะยิ้มเลย ก็เราทำมาเอง อะไรจะเกิดก็เกิด เออ ตามสบาย (หัวเราะ) เอาเลยๆ แล้วจบแล้วก็แล้วกันไป อ้าว ก็เราทำมาเอง ก็เราทำมาทั้งนั้น เราทำอะไร? ก็เราทำมาเอง ปากดีเอง ว่าเขาเอง เขาโต้กลับมา โต้กลับก็โต้กลับ โต้ก็โต้สิ ก็ว่าเขาเอง เห็นไหม จบ นี่กรรมไง เพราะเราถือว่าเราทำเอง เราทำทั้งนั้นแหละ แล้วถ้ามันจะโต้กลับมาก็จบ ไม่มีปัญหาอะไรเลย ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าทำใจได้นะ แต่นี้เพียงแต่ว่าถ้ายังทำใจไม่ได้เขาก็ถามมา

ถาม : แล้วพอมีทางแก้ไขอย่างใด? ทำบุญเพื่ออโหสิกรรมต่อกัน

หลวงพ่อ : นี่เพราะทำแล้วเสียใจภายหลัง ก็อยากจะอโหสิกรรมต่อกัน เราก็ทำนี่แหละ ทำสิ่งที่เราทำได้ ตั้งใจ ทำบุญกุศล นั่งสมาธิ ภาวนาแล้วอุทิศส่วนกุศลไป แล้วชีวิตของเราจะเป็นไปข้างหน้า เราก็ดูแลรักษาชีวิตไป สิ่งใดผิดพลาด ผิดไปแล้วเสียใจ สิ่งนั้นอริยวินัย เรารู้ตัว ไม่ใช่เราทำผิดมาแล้ว เรายังทำผิดซ้ำซากต่อไป เราเคยทำผิดมาแล้ว เราก็ทำผิดไปเรื่อยๆ กรรมก็ตอบสนองไปเรื่อยๆ นี้เราทำผิดพลาดมาแล้ว เราเสียใจ ฉะนั้น ต่อไปเราจะทำดีของเรา เราตั้งใจทำดีของเรา เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง