ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

วัฒนธรรมพุทธ

๑๗ มี.ค. ๒๕๕๕

 

วัฒนธรรมพุทธ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๘๑๗. ข้อ ๘๑๘. ไม่มี

ข้อ ๘๑๙. ขอยกเลิกคำถามเก่า

ถาม : ข้อ ๘๒๐. เรื่อง “ระหว่างการนั่งสมาธิ ภาวนาพุทโธนิ่งๆ กับนั่งสมาธิแล้วฟังธรรมไปด้วย อย่างไหนดีกว่ากัน?”

กราบขอความเมตตาจากหลวงพ่อ

๑. ระหว่างการนั่งสมาธิ ภาวนาพุทโธนิ่งๆ กับนั่งสมาธิแล้วฟังธรรมไปด้วย อย่างไหนจะดีกว่ากัน? และเมื่อฟังธรรมจนจิตสงบแล้ว ควรฟังธรรมต่อไปเรื่อยๆ หรือหยุดฟังไว้ก่อนแล้วกลับมาพิจารณาธรรมตามหลักไตรลักษณ์ ขอท่านอาจารย์แสดงธรรมข้อนี้ให้ชัดๆ และกระจ่างด้วย เพื่อไม่ให้เกิดข้อสงสัยในการปฏิบัติค่ะ

๒. ขอถามให้แน่ใจเกี่ยวกับ “ปานะ” ในยามวิกาล เฉาก๊วย ไอศกรีมผสมโปรตีนจากนม กาแฟทรีอินวันผสมครีมเทียม พระฉันตอนบ่ายได้หรือไม่?

๓. อาหารที่พระบิณฑบาตแล้ว หรือใส่บาตรด้วยอาหารแห้ง เช่นนม น้ำปานะ อาหารกระป๋อง ซึ่งวัดส่วนมากในกรุงเทพฯ มักจะชอบทำอย่างนั้น แล้วส่งกลับไปถวายพระที่อยู่วัดป่าในต่างจังหวัด เช่นนี้คนวัดสามารถนำกลับมาถวายพระต่อได้ไหมคะ จะเป็นบาปแก่ตนหรือไม่หากเราไม่ทราบ และทางที่ดีควรทำอย่างไรกับอาหารแห้งเหล่านั้น ขอแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องชัดเจนด้วยค่ะ

๔. การที่นับถือพุทธศาสนา มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะแล้ว แต่ยังนับถือผีตามบรรพบุรุษ มีผีหรืออมนุษย์เป็นบริวาร อย่างนี้สามารถบรรลุธรรม หรือปฏิบัติภาวนาขึ้นสู่อริยชนได้ไหมคะ

๕. เมื่อฆราวาสหรือผู้ถือศีล ๘ บรรลุธรรมไม่ว่าขั้นใดก็ตาม หากจะบอกคนอื่น เช่นเพื่อนสนิทนักปฏิบัติธรรมด้วยกัน หรือคนใกล้ชิดให้ทราบเพื่อร่วมอนุโมทนาบุญด้วยได้ไหมคะ จะเป็นบาปกับผู้บอกหรือไม่ เป็นพระอริยะแล้วยังอวดตัว อวดตนให้คนเขารับรู้และยกย่องตนอยู่ได้อีกหรือคะ แล้วคนที่จะรับรู้เขาจะเข้าใจไหมว่าอาการขณะที่บรรลุธรรม หรือขณะจิตหลุดพ้นนั้นเป็นจริง เพราะคนที่ฟังก็ยังไม่เคยหลุดพ้น ขอพระอาจารย์ช่วยขยายความให้เห็นความควรและไม่ควรอย่างไร จะขอบพระคุณยิ่ง

๖. หากเราต้องอยู่ร่วมกับคนที่เราเข้าใจว่า เขามีคุณธรรมในระดับใดระดับหนึ่งแน่นอน ตามความรู้ ความเข้าใจของเราเอง โดยไม่มีใครมายืนยัน เราควรปฏิบัติกับเขาอย่างไรจึงจะไม่เกิดบาปกับตนมากค่ะ

ขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างสูง

ตอบ : เฮ้อ เราจะบอกว่าเอาเริ่มต้น ข้อที่ ๑. มันเป็นประโยชน์กับผู้ปฏิบัติ

ถาม : ข้อ ๑. การนั่งสมาธิ ภาวนาพุทโธนิ่งๆ กับนั่งสมาธิแล้วฟังธรรมไปด้วย อย่างไหนจะดีกว่ากัน

ตอบ : ทีนี้อย่างเช่นการนั่งสมาธิแล้วฟังธรรมไปด้วย นี่ครูบาอาจารย์บอกนะ ในสายวัดป่าเรา การฟังเทศน์จากครูบาอาจารย์เป็นอันดับหนึ่ง อันดับหนึ่งนะ เพราะถ้าเราไม่ได้ฟังเทศน์จากครูบาอาจารย์เรามา หรือเราไม่มีความมั่นใจ ในการปฏิบัติของเราจะเรรวนมาก จะไม่มั่นคง แต่ถ้าเราได้ฟังเทศน์นะ ยกตัวอย่างเช่นหลวงตาท่านเรียนจบมหา ท่านอยากปฏิบัติมาก ท่านตั้งปณิธานไว้เลย ตั้งปฏิญาณไว้เลยว่า “ได้ ๓ ประโยคแล้วจะออกปฏิบัติ”

แต่เวลาจะออกปฏิบัติจริงๆ ท่านก็มาลังเลอยู่ว่ามรรค ผลมันจะมีอยู่หรือเปล่า? ใครจะเป็นคนบอกเราว่ามรรค ผลนั้นมีจริง ท่านก็แสวงหาอาจารย์ แสวงหาองค์นั้น แสวงหาองค์นี้ ทั้งๆ ที่สังคมยอมรับนะว่าองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ไปอยู่ด้วย แต่จิตใจของท่านท่านปักว่าท่านจะต้องไปหาหลวงปู่มั่นให้ได้ ต้องไปหาหลวงปู่มั่นให้ได้

ฉะนั้น คนเรานี่เป็นคนที่ดี หลวงตาท่านอุปัฏฐากสมเด็จฯ มา เห็นไหม อุปัฏฐากครูบาอาจารย์มา ท่านเป็นพระที่รับผิดชอบมาก ใครก็อยากให้อยู่ด้วย พระองค์นั้นก็อยากให้อยู่ด้วย ฉะนั้น ท่านบอกว่าท่านตั้งใจว่าจะไปอยู่กับหลวงปู่มั่น พอไปอยู่กับหลวงปู่มั่น พอเข้าไปหาหลวงปู่มั่น เห็นไหม

“มหา มหามาหาอะไร? ท่านมาหามรรค ผล นิพพานใช่ไหม?”

เพราะ เพราะเราสงสัยว่ามรรค ผลมีหรือเปล่า? ทั้งๆ ที่เรียนจบมหานะ ทั้งๆ ที่อยากปฏิบัตินะ เราศึกษานี่ศึกษาได้หมดแหละ เวลาศึกษา ถ้าเรายังไม่ได้ลงไปกระทำ เราก็ว่าสิ่งนั้นเราศึกษาแล้วเราเข้าใจ แต่พอลงกระทำแล้วมันสงสัยนะ นี่ถ้าเรายังไม่ทำอะไรเราบอกเราทำได้ แต่ลองไปทำจริงๆ แล้วงงนะ ไปทำจริงๆ แล้วมันจะลังเลตลอด

ฉะนั้น พอท่านไปหาหลวงปู่มั่น เห็นไหม นี่ฟังธรรม หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า

“ท่านมาหาอะไร? ท่านมาหานิพพานใช่ไหม? นิพพานไม่ได้อยู่ในดิน ฟ้า อากาศ ไม่ได้อยู่ในภูเขาเลากา ไม่ได้อยู่ในวัตถุสิ่งใดๆ เลย นิพพานอยู่กลางหัวใจของสัตว์โลก” กลางหัวใจของสัตว์โลก แล้วหัวใจมันอยู่ที่ไหนล่ะ?

พอเทศน์ให้หลวงตาฟัง หลวงตาท่านปฏิญาณตน เห็นไหม

“นี่เราสงสัย เราแสวงหา บัดนี้มีผู้ชี้ให้เราได้จริงแล้ว”

นี่เพราะว่าท่านเรียนมา ท่านเรียนมา ท่านมีวิชาการมาพร้อม ท่านสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรควรและไม่ควร แล้วมีบุคคลชี้ชัดเข้าไปอีกว่าอยู่ที่ไหน แล้วทำอย่างใด ฉะนั้น บัดนี้มีคนชี้ทางให้เราจริงแล้ว ต่อไปนี้เราจริงหรือเปล่า? ถ้าเราจริงหรือเปล่า? ท่านบอกว่าท่านคิดอย่างนั้นปั๊บ ใจก็คิดขึ้นมาว่า

“เราต้องจริงเด็ดขาด เราต้องเอาให้ได้ ไม่กิเลสตาย เราก็ต้องตาย”

นี่พูดถึงการฟังธรรมสำคัญอย่างยิ่ง การฟังธรรม เพราะว่าการฟังธรรม เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่าเวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์นะ

“นิพพานอยู่บนอากาศ นี่หยิบฉวยเอาได้เลย ใครๆ ก็จับฉวยๆ นิพพานได้เลย”

เพราะท่านเทศน์ เห็นไหม นี่เราฟังธรรมไง คนที่เขาฟังธรรมอยู่ เพราะครูบาอาจารย์เราเป็นพระอรหันต์ หลวงปู่มั่น หลวงตาท่านยืนยันว่าเป็นพระอรหันต์สมัยในปัจจุบันนี้ ถ้าเป็นพระอรหันต์สมัยปัจจุบันนี้ท่านก็มาบอกถึงความรู้สึก ความรู้สึกในใจของพระอรหันต์ วิธีการทำให้ใจเป็นพระอรหันต์ วิธีการจะรักษาความเป็นพระอรหันต์นั้น ท่านอธิบายตลอด เราฟังแล้วเราก็เหมือนกับหยิบจับได้เลย หยิบฉวยได้เลยนะ มันก็เหมือนว่า มันจะได้ๆ ไง

เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการอยู่ พระที่นั่งฟังอยู่ด้วยนะ ๔ ชั่วโมงนั่งเงียบ จะหยิบนิพพาน จะคว้านิพพาน แต่พอหลวงปู่มั่นท่านเทศน์จบนะฟ้าปิดหมดเลย นิพพานหายหมดเลย ไม่รู้จะไปหยิบที่ไหน เห็นไหม การฟังธรรมนี่สำคัญอย่างยิ่ง การฟังธรรมเพราะเราฟังธรรมจากผู้รู้ ผู้รู้จะบอกแง่ บอกมุม บอกวิธีการ บอกเล่ห์เหลี่ยม บอกกลโกงของกิเลสในใจของเรา เล่ห์เหลี่ยม กลโกง ความฉ้อฉล ความลึกลับของมัน อยู่กับเรานี่เราไม่รู้หรอก แต่ทำไมครูบาอาจารย์ท่านรู้ล่ะ?

“นี่การฟังธรรมสำคัญอย่างยิ่ง”

ฉะนั้น การฟังธรรม เราเอาฟังธรรมแทนพุทโธ เวลาเราเปิดเทปนะ เราฟังธรรม เราตั้งสติไว้ เสียงนั้นจะมากระทบเอง แล้วเอาคำใดก็แล้วแต่ที่มันสะเทือนใจ ไม่ต้องจำตั้งแต่คำแรกถึงคำสุดท้ายหรอก คำแรกถึงคำสุดท้ายมันก็เหมือนกับการทำอาหาร เห็นไหม การทำอาหาร เวลาเขาต้มแกงต่างๆ เขาต้องทำส่วนประกอบมันมา เวลาเขาต้มแกงนี่เอาเวลามันสุก เวลายกหม้อแกงออกมาจากเตานั่นน่ะเราจะได้กิน แต่ถ้าบอกว่าอันนั้นเป็นเนื้อสัตว์ อันนั้นเป็นพืชต่างๆ อันนั้นเขายังไม่ได้แกง ยังไม่ได้แกงยังกินไม่ได้หรอก ทิ้งไว้ก็เสีย แต่เวลาแกงนะ เวลาทำอาหารสำเร็จแล้ว ใส่จานแล้วเราจะได้กินตรงนั้น

ฟังเทศน์ ฟังเทศน์นี่หัวใจ เห็นไหม สิ่งนั้น สติ สมาธิ ปัญญา การทำต่างๆ เราก็ฟัง นั้นเครื่องประกอบ มรรค ๘ มรรค ๘ งานชอบ เพียรชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ ระลึกชอบ มันควรจะเริ่มต้นมาแบบใด? วางพื้นฐานมาแบบใด? แต่เวลามันสำเร็จ หรือเวลามันรวมตัว มันเริ่มเคลื่อนมา นี่เราฟังเอาประเด็นไง เอาประเด็นที่มันสะเทือนใจ ฟังธรรมนะ ฟังเทศน์กัณฑ์หนึ่ง ทำความสงบของใจไว้ ระลึกไว้เฉยๆ เสียงนั้นจะมากระทบเอง แล้วถ้าคำไหนมันสะเทือนใจ คำไหนมันสะเทือนใจนะ

นี่เวลาเอาเทปไปฟัง เห็นไหม ฟังวันนี้ แหม คำนี้สุดยอดเลย เทปม้วนนี้ดี๊ดี พอไปฟังคราวหน้านะ เอ๊ะ อันนี้ดีกว่า ตรงนี้ดีกว่า ตรงนี้ทำไมครั้งที่แล้วไม่ได้ยิน ทั้งๆ ที่ได้ยิน แต่มันไม่กินใจ นี่เอาประเด็นที่มันกินใจ ฉะนั้น ฟังเทศน์นี่ฟังซ้ำๆ ฟังสิ่งที่มันสะเทือนใจ ถ้ามันสะเทือนใจแสดงว่ากิเลสมันเริ่มกระเทือน ถ้ากิเลสเริ่มกระเทือน มันเปิดโอกาสให้เราได้รับรู้ แต่ถ้าขณะที่เราฟัง อย่างเช่นผลไม้ เห็นไหม ผลไม้มันมีเปลือก เวลาเราหยิบผลไม้นี่เราหยิบมาพร้อมเปลือก เวลาจะกินผลไม้เราต้องปอกเปลือก

จิตมันมีขันธ์ ๕ ครอบมันไว้อยู่ นี่ถังขยะ กรงขังของใจ ใจมันอยู่ในนั้น ฉะนั้น เวลาฟังมันฟังโดยสามัญสำนึก มันก็ฟังมันไปเบลอๆ นั่นแหละ แต่ถ้ามันปอกเปลือก รสผลไม้นั้นน่ะมันมีรส รสเปรี้ยว รสหวาน รสกลมกล่อม พอจิตมันได้ฟังธรรม นี่มันได้รสของธรรมไง พออะไรมันสะเทือนใจ เอ๊อะ เอ๊อะ ไอ้คำนั้นน่ะ คำนั้น นี่คือการฟังธรรม

ฉะนั้น

ถาม : การฟังธรรมกับการนั่งพุทโธ อย่างไหนดีกว่ากัน?

ตอบ : ถ้าเรานั่งพุทโธนะ เวลาอยู่คนเดียวเราพุทโธ พุทโธ จิตใจนี่นะมันเป็นนามธรรม ปล่อยไม่ได้เลย ถ้าเราภาวนาของเราเราต้องพุทโธ พุทโธของเรา แต่ขณะฟังเทศน์ไม่ต้องพุทโธ ไม่ต้องพุทโธ ฟังธรรม แต่ถ้าเวลาไม่ได้ฟังธรรมเราต้องพุทโธ อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างใดอย่างหนึ่ง

ทีนี้ถ้าบอกว่าพุทโธด้วยแล้วฟังธรรมด้วยนะ มันก็เหมือนในหม้อของเรา เราจะทำแกง ฉะนั้น ใส่น้ำไว้เต็มเลย อะไรก็ใส่เข้าไปไม่ได้ อะไรใส่เข้าไปนะ ชามันล้นถ้วย นี่ถ้วยชาเต็ม กาน้ำชาเต็มเลย แล้วก็เติมน้ำๆ มันจะล้นไปหมดเลย นี่พุทโธ พุทโธมันเต็มหัวใจอยู่แล้ว เพราะหัวใจมันต้องนึกพุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่หัวใจมันกำพุทโธอยู่ แล้วเวลาฟังธรรมมันก็ไหลไปไหลมาอยู่ข้างนอกนั่นแหละ

ฉะนั้น เราตั้งสติไว้ แล้วกำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธถ้าไม่ได้ฟังธรรม ถ้าฟังธรรมนะ ฟังธรรมตลอดไป

ฉะนั้น คำถามต่อไปนะ

ถาม : เมื่อฟังธรรมจนจิตสงบแล้ว ควรฟังธรรมต่อไปเรื่อยๆ หรือหยุดฟังไว้ก่อนแล้วกลับมาพิจารณา

ตอบ : เวลาฟังธรรมนี่เราฟังเพื่อความสงบ เห็นไหม เราฟังเพื่อความสงบ แต่ถ้าจิตเราสงบ เวลาหลวงตาท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ ท่านจะเทศน์ตั้งแต่เรื่องสมาธิขึ้นไปเลย ฉะนั้น เวลาในทางปริยัติเขาบอกว่า “พระป่าหละหลวม ไม่พูดเรื่องศีลก่อน ไม่พูดเรื่องศีล เทศน์ก็เทศน์เรื่องสมาธิไปเลย เพราะพระไม่ถือศีลกัน เพราะมองข้ามศีลไปเอาสมาธิเลย มันก็เลยทำให้รวนเร”

แต่ความจริงศีล พระบวชแล้วนี่ศีล ๒๒๗ พระทุกองค์ต้องสมบูรณ์ด้วยศีล แล้วศีลนี่มันมีความสมบูรณ์อยู่แล้ว มันเป็นพื้นฐานของเรา อย่างเช่นเราเป็นชาวพุทธ เราถือพุทธศาสนา เรานับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่แล้ว ฉะนั้น เวลาพูดถึง หลวงปู่มั่นท่านจะพูดเรื่องความสงบเลย เรื่องทำใจเราสงบ เพราะศีลเราก็มีอยู่แล้วใช่ไหม? เราก็ทำความสงบของใจ นี่พื้นฐาน

ถ้าใครใจยังไม่สงบ ก็พยายามฟังวิธีการทำความสงบของใจ ท่านจะแนะนำว่าจิตมันไม่สงบเพราะอะไร? เพราะเหตุใดมันถึงฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านเพราะว่ามีทุนเดิม ทุนเดิมเพราะเป็นคนโทสจริต โมหะจริต จริตมันไม่ต้องการ จริตมันก็ต่อต้าน แต่ถ้ามันต่อต้านแล้ว นิสัยเราก็ยังเดินตามมันต่อไป นี่ทำให้จิตใจเราไม่สงบ เราก็ต้องมีเมตตาธรรม เราต้องมี นี่ท่านจะอธิบายเลยว่าทำอย่างไรให้สงบ จิตใครยังไม่สงบ ก็หาอุบาย หาวิธีการจะทำให้ใจสงบ ถ้าใจใครสงบแล้วก็กำหนดไว้เฉยๆ ฟังต่อไปว่าจิตสงบแล้วควรทำอย่างใด?

ท่านจะพูดถึงว่าถ้าจิตสงบแล้ว ต้องออกพิจารณาเป็นโสดาปัตติมรรค ถ้าใครยังไม่เคยทำโสดาปัตติมรรค พยายามว่าวิธีการจะออกวิปัสสนา วิปัสสนาจะทำอย่างไร? มันก็เป็นโสดาปัตติมรรค ถ้าใครเดินโสดาปัตติมรรคท่านก็กำหนดใจไว้เฉยๆ แล้วท่านก็อธิบายต่อว่าวิธีการเดินมรรค มรรคเดินด้วยวิธีการใด มรรคเดินได้ เพราะว่ามรรคนี้จิตสงบแล้วก็ออกพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ทีนี้การพิจารณาทำอย่างไร? พอทำอย่างไร ถ้ามันพิจารณาจนผลมันสำเร็จแล้วมันจะเป็นโสดาปัตติผล

พอโสดาปัตติผล ผู้ที่ได้โสดาปัตติผลก็เข้าใจ แต่ผู้ที่มีผลมากกว่านั้นก็ทำความสงบของใจเข้าไว้ นี่รอจนกว่าท่านจะบอกว่าจากโสดาปัตติผลจะเป็นสกิทาคามิมรรค สกิทาคามิมรรคนี่ทำอย่างใด? จิตใจของพระในวัดมันมีระดับแตกต่างกันไป ทุกๆ องค์ จิตใจไม่เสมอกัน ถ้าจิตใจคนที่มีคุณธรรมสูงแล้ว สิ่งที่หลวงปู่มั่นท่านพูดเริ่มต้นเราจะเข้าใจอยู่แล้ว แต่ถ้าพูดถึงคนที่ยังไม่เข้าใจเขาก็ฟัง นี่วิธีการฟังธรรม เห็นไหม ถ้าฟังธรรมแล้วเราจะพิจารณาอย่างไร?

เขาถามว่า

ถาม : ถ้าจิตมันสงบแล้วเราจะออกพิจารณาอย่างใด?

ตอบ : ถ้าพิจารณาอย่างไร สิ่งที่เราฟังแล้ว เราเข้าใจแล้วก็คือเข้าใจแล้ว แต่ถ้าเรายังไม่เข้าใจ ท่านจะบอกเกร็ด บอกวิธี แนะนำเคล็ดลับ นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า“ไม่มีกำมือในเรา” ไม่มีเคล็ดลับไง

แต่คนปฏิบัติไม่ใช่เคล็ดลับ ข้อเท็จจริงใครทำเป็นต้องพูดเหมือนกัน ทีนี้คนทำไม่เป็น พูดอย่างไรก็ไม่เข้าใจ พูดอย่างไรก็ไม่รู้ เห็นไหม มันเหมือนเคล็ดลับ เวลาท่านจะบอกของท่าน ท่านไม่ลับอะไรของท่านเลย ไม่ลับในหัวใจของท่านเลย มันเปิดโล่ง เปิดโล่งหมด ท่านพูดได้หมดเลย แต่เรามีเคล็ดลับเพราะกิเลสมันลับไว้ กิเลสมันปิดไว้ แล้วพอมันไปได้มันก็จะไปได้ เห็นไหม นี่พูดถึงว่า “ถ้าจิตสงบแล้วมันจะพิจารณาธรรมอย่างใด?”

ฉะนั้น พิจารณาธรรมอย่างใด? (เขาบอกว่า) ท่านอาจารย์ต้องตอบชัดๆ นะ ตอบชัดๆ

ตอบชัดๆ อย่างไรนะมันเป็นจริต เป็นนิสัย เป็นความที่เราจะทำได้หรือไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าเราพุทโธเราก็พุทโธของเรา ถ้าเราฟังธรรม เราก็เอาธรรมนั้นเป็นพุทโธแทน เห็นไหม เราเอาเสียงของธรรมกลมกล่อมหัวใจ

พุทโธนี่ หัวใจนึกพุทโธ แต่ถ้ามีธรรมนะเกาะเสียงนั้นไว้ ในเสียงนั้นมีคุณธรรม ในเสียงนั้นจะบอกแยกแยะให้จิตใจนี้ก้าวเดินตาม ก้าวเดินตามเสียงนั้นไป ก้าวเดินตามเสียงนั้นไป ถ้าก้าวเดินตามได้จิตมันก็สงบ ถ้าจิตสงบแล้วเราใช้ปัญญาไป ถ้าเวลาฟังธรรมนะ แต่เวลาภาวนาของเราเองโดยที่เราไม่ได้ฟังธรรม เราก็ต้องจิตสงบ พอจิตสงบแล้วออกพิจารณา พิจารณาคือการฝึกหัดใช้ปัญญา แล้วถ้าเกิดใช้ปัญญาเป็นมันจะทำของมัน มันจะเข้าสู่อริยสัจ เข้าสู่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรค สัจจะ ทางอันเอก มันจะเข้าสู่ความจริง

ไม่ใช่ป้ำๆ เป๋อๆ เพ้อๆ ฝันๆ แล้วก็บอกว่าอย่างนี้เป็นธรรมๆ มันไปกันหมดแล้วนะ ด้วยความมักง่าย ด้วยความไม่จริงจัง เสียหายกันไปหมด การปฏิบัติหละหลวมมาก แล้วเวลาทำไปแล้วผลมันอยู่ที่ไหน? นี่พูดถึงข้อที่ ๑. จบ

ถาม : ข้อที่ ๒. ขอถามให้แน่ใจเกี่ยวกับ “ปานะ” ในยามวิกาล เฉาก๊วย ไอศกรีมผสมโปรตีนจากนม กาแฟทรีอินวันผสมครีมเทียม พระฉันตอนบ่ายได้ไหม?

ตอบ : ไม่ได้ ไม่ได้ แยกเป็นกรณีๆ ไป ถ้าพูดถึงน้ำปานะ เราต้องตั้งว่าน้ำปานะคืออะไรก่อน เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาวางธรรมและวินัย สมัยพุทธกาลนะ เวลาพระอรหันต์หลายพันองค์ยังไม่ได้บัญญัติวินัยเลย จนพระจุนทะ พระจุนทะไปเห็นศาสนาอื่น เวลาศาสดาตายไปแล้วมีปัญหามาก ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“ทำไมเพราะเหตุนั้น?”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เพราะไม่มีวินัย ไม่มีกฎข้อบังคับ” ก็พยายามจะให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งกฎข้อบังคับขึ้นมา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ทำไม่ได้หรอก มันไม่มีเหตุ ไม่มีผล” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยทำอะไรที่ไม่มีเหตุ ไม่มีผล

“ถ้ามีเหตุมีผลแล้วจะเริ่มบัญญัติ”

ฉะนั้น พอมีพระทำผิด ฉะนั้น พระสมัยพุทธกาลที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอหิภิกขุบวชให้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นพระโสดาบันขึ้นไปจนเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้น พระอริยบุคคลไม่ทำผิด พอไม่ทำผิดท่านก็ไม่บัญญัติธรรมวินัย จนเริ่มต้นจากพระสุทิน พระอะไรต่างๆ เห็นไหม พอบวชเข้ามาแล้วในพระองค์นั้นก็มีครอบมีครัว พ่อแม่ก็อยากจะได้อย่างนั้น พ่อแม่ก็อยากจะได้อย่างนี้ นี่ก็ขอให้พระสุทินให้สายเลือดไว้

ทีนี้พระสุทินตอนนั้นเป็นปุถุชนใช่ไหม? ก็คิดว่าทำแล้วคงไม่ผิด เพราะว่าภรรยาเก่า ก็เลยถึงเวลาแล้วก็ภรรยาเก่ามา นี่ให้มีเพศสัมพันธ์กัน พอมีเพศสัมพันธ์กันก็ได้ลูกเหมือนกัน แต่พระสุทินนั่งหน้าคล้ำเลยนะ เพราะว่าทำไปแล้วก็เสียใจ ทีนี้พอเสียใจ พระก็ถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ? เมื่อก่อนเห็นสดชื่น เดี๋ยวนี้หน้าเศร้าหมองเลย เพราะทำความผิดไว้มันก็เสียใจ ก็บอกว่าเราทำอย่างนี้ๆ พระก็ไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เริ่มบัญญัติ บัญญัติว่า

“ทำอย่างนี้มันไม่ถูก” นี่มีเหตุนะ มีเหตุ

“ทำอย่างนี้ใช้ไม่ได้ นี่สมณะ พรหมจรรย์ ทำอย่างนี้ไม่ได้ ผิด ถ้าใครทำเป็นปาราชิก” แต่พระสุทินเป็นต้นบัญญัติไม่ได้เป็น เห็นไหม นี่บัญญัติมาเป็นอย่างนี้

นี้พูดถึงกฎหมาย พูดถึงวินัยก่อน ถ้าวินัยอย่างนี้ ฉะนั้น คำว่าน้ำปานะมันก็มาแล้ว มาถึงว่ากาลิก เวลาพระอยู่กันมากมันมีกาลิกใช่ไหม? นี่กาลิก ยาวชีวิก ยาวชีวิกทั้งๆ ชีวิตเลย อย่างเช่นพวกสมุนไพร พวกยา พวกนี้ถือว่าเป็น นี่เกลือต่างๆ เป็นยาวชีวิก ยาวกาลิกนี่ตอนเช้า ชั่วยาม ชั่วกาลเรื่องอาหาร แล้วสิ่งที่เก็บไว้ เห็นไหม สิ่งที่เก็บไว้นี่เป็นสัตตาหกาลิก คือว่าได้ ๗ วัน นี่สัตตาหกาลิกนะ พระพุทธเจ้าบัญญัติมาตลอด

ฉะนั้น น้ำปานะ น้ำปานะนี่นะมันแบบว่าเช่นผลไม้ เห็นไหม ผลไม้ที่ได้มาตอนเช้า ตอนเช้านี่เป็นอาหารใช่ไหม? ถ้าพระคั้นแล้วกรองในยามเช้าก่อนเที่ยง เราไปฉันตอนบ่ายได้ เพราะอะไร? เพราะเป็นน้ำปานะ ถ้าต่อไปมันชั่วยาม ชั่วกาล เพราะอะไร? เพราะมันจะหมัก มันจะหมัก มันจะเป็นเมรัย มันใช้ไม่ได้ มันมีเวลาของมันน่ะ มันมีเวลาของมัน

ฉะนั้น พอเดี๋ยวนี้มันไม่มีเวลาเพราะอะไร? เพราะน้ำปานะก็ไปซื้อจาก(ร้าน)เซเว่น น้ำปานะก็ไปซื้อจากร้านสรรพสินค้า พระได้ทำไหม? ได้คั้นไหม? ได้กระทำไหม? มันได้บูดไหม? ได้เน่าไหม? ได้เสียหายไหม? ไม่มี นี่พอไม่มีขึ้นมา คำว่าน้ำปานะคืออะไรก่อนไง ฉะนั้น ในวิกาล เห็นไหม ในวิกาลคือไม่ใช่ในกาล ในวิกาลน้ำปานะนี่ฉันได้

ฉะนั้น คำว่าฉันได้ก็ต้องมีอีกนะ มีว่า หนึ่งไม่เป็นมหาผล ไม่เป็นมหาผลถึงจะฉันได้ ถ้าเป็นมหาผลคือผลใหญ่ ผลใหญ่นี่มันเป็นเรื่องภาระใหญ่ การอยู่ การกิน การฉัน การนอนต่างๆ ในพุทธศาสนาจะต้องให้เรียบง่าย ให้ไม่เป็นความกังวล ให้เป็นผู้เลี้ยงง่าย อะไรที่มันวุ่นวายไม่เอาหรอก แต่สิ่งนี้เพราะสมัยพุทธกาลบางที่มันสมบูรณ์ไง นี่สวนมะม่วง มะม่วงไปทั้งหมดเลย เขาก็เอามาคั้นน้ำปานะให้พระ

คือของเขามี ของเขามีเขาจะทิ้งอยู่แล้ว มันไม่มีประโยชน์อะไรก็เอามาทำประโยชน์กับพระ ทีนี้พระเรา เราอยู่บนภูเขาไม่มีมะม่วงสักต้นหนึ่ง ก็วิ่งไปหามะม่วงมา มันก็ไม่ใช่แล้ว เห็นไหม มันไม่จำเป็นไง ฉะนั้น คำว่าสิ่งที่จะอยู่นี่เรียบง่าย ดูพระกรรมฐานสิ แม้แต่มีอาหารนะ แม้แต่มีน้ำปานะ มีอะไร อาหารยังอด ยังผ่อนกันเลย แล้วจะไปวุ่นวายอะไรกับปานะ ไม่ปานะอยู่นั่นน่ะ แต่ถ้ามันมี มันมีก็ต้องทำตามกฎไง ทำความถูกต้อง ฉะนั้น น้ำปานะคืออะไรก่อน มันมีกาล มีเวลาของมัน

ฉะนั้น สิ่งนี้ฉันได้ไหม?

เฉาก๊วย เฉาก๊วยนี่นะ เฉาก๊วยนี่คือหญ้า เอาหญ้านั้นมาต้ม หญ้านั้นเป็นยาหรือไม่เป็นยา? เป็น ฉะนั้น เฉาก๊วยที่ต้มด้วยหญ้า ด้วยสิ่งที่เป็นยา ฉันได้ไหม? ได้ แต่ถ้าเฉาก๊วยผสมแป้ง มันเป็นประเด็นแล้ว ฉะนั้น บอกว่าเฉาก๊วยฉันได้ เฉาก๊วยอะไรก็ฉันได้หมดเลยหรือ? เฉาก๊วยนี่หญ้าที่เป็นยาเอามาต้ม ได้ เก๊กฮวยต้มอย่างนี้ได้ ถ้าผสมน้ำตาลก็ยังได้ แต่ถ้าผสมสิ่งที่เป็นอาหาร อะไรคืออาหารบ้างล่ะ? อะไรคืออาหาร? สิ่งใดเลี้ยงทารกได้ สิ่งนั้นคืออาหาร สิ่งใดเลี้ยงทารก ทารกที่กินเป็นอาหารได้ เป็นอาหาร

ฉะนั้น เฉาก๊วยมันก็ต้องบอกว่า ถ้าถูกต้องตามธรรมวินัย ได้ เฉาก๊วยนี่มีถูกและผิดนะ ถ้าเฉาก๊วยเขาผสมสิ่งที่เป็นอาหารเข้าไปมันก็ไม่ได้ เพราะรู้ๆ กันอยู่ใช่ไหม? วินัยไม่หลอกตัวเอง เราจะเอาความจริงกับคนอื่น ก็ยังเที่ยวจับผิดเขา เราจะเอาความจริงกับหัวใจของเรา ถ้าเราจะเอาความจริงกับหัวใจของเรา เรารู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด เราเป็นคนหยิบนะ แล้วเราก็เป็นคนยื่นใส่ปากเราเอง ถ้าเราเข้าใจเราก็จะไม่หยิบ ไม่ยื่นใส่ปากของเรา เพราะสิ่งนี้เป็นการทุศีล เป็นการผิด เราจะฉันหรือไม่ฉัน นี่ถ้าเฉาก๊วย

ไอศกรีมผสมโปรตีนนม ไม่ได้ แต่ถ้าไอศกรีม สิ่งที่ทำแบบว่าน้ำตาล กาแฟ แล้วทำเป็นสิ่งที่เป็นไอศกรีม คือว่าไม่ผสมส่วนผสมนี่ได้

กาแฟ กาแฟนี่ตลอดชีวิต แต่ถ้าผสมน้ำตาล สัตตาหกาลิกคือ ๗ วัน ถ้าผสมครีมเทียมจบเลย คืออาหาร พระฉันตอนบ่ายไม่ได้ ไม่ได้

อันนี้คือไม่ได้นะ อันนี้ข้อที่ ๒. คือว่าดูกาลเทศะ ดูกาล ดูความเป็นไป ดูความจริง

ถาม : อาหารที่พระบิณฑบาตแล้ว หรือใส่บาตรด้วยอาหารแห้ง เช่นนม น้ำปานะ อาหารกระป๋อง พระในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ทำ

ตอบ : อันนี้มันเป็นวัฒนธรรม เป็นประเพณีของเขานะ แต่ถ้าความจริงตามวินัยแล้วมันไม่ได้หรอก ภิกษุนี่ห้ามสะสม คำว่าสะสม คือว่ารับประเคนมานี่ภิกษุ แต่ถ้าไม่สะสม มันมี เห็นไหม อาหารที่เก็บไว้ในคลัง เพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่ให้พระเก็บสะสมอาหารไว้ในที่อยู่ของตนนะ เป็นอาบัติทุกกฏทันทีเลย เป็นอาบัติปาจิตตีย์ด้วย ห้ามเอาอาหารเข้าไปในที่อยู่ของตัว เพราะอะไร? เพราะมันจะดึงพวกมด ดึงพวกแมลงเข้าไปไง ไม่ได้ อาหารต้องเก็บไว้ที่ส่วนกลาง

ทีนี้คำว่าส่วนกลาง เห็นไหม พอคำว่าส่วนกลาง อาหารแห้งเก็บไว้ส่วนกลาง ส่วนกลางมันไม่ใช่ของใคร มันไม่ใช่ของสงฆ์ ไม่ใช่ของพระ ฉะนั้น ไม่ใช่ของพระมันก็ไม่มีอายุไง แต่ถ้าอาหารแห้ง เราบิณฑบาตแล้วนี่เป็นของเรา ถ้าเป็นของเรา เราเก็บไว้แล้วพรุ่งนี้เราฉันนะเป็นปาจิตตีย์ทุกคำกลืน เก็บอาหารไว้แรมคืน ข้อนี้มันเป็นข้อที่เข้าถ้ำสาริกาแล้ว

ถ้ำสาริกา หลวงปู่มั่นจะไปอยู่ที่ถ้ำสาริกา ชาวบ้านเขาบอกว่าอย่าไปเลย อย่าไปเลยเจ้าที่แรงมาก อย่าไปเลย หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระที่ถ่อมตนนะ ท่านมีคุณธรรมมาก

“เออ ไม่อยู่ก็ไม่เป็นไร ขอไปดูหน่อยหนึ่งก็ยังดี ขอไปดู ให้พาไปดูหน่อยหนึ่ง”

พอพาไปแล้วนะ ไปถึงแล้ว “เออ เราน่าจะพออยู่ได้ ให้โยมกลับเถอะ เราจะอยู่ที่นี่แหละ ลองดูๆ” แล้วท่านก็อยู่ที่นั่น

อยู่ในประวัติหลวงปู่มั่น ท่านบอกว่าท่านอยู่ที่ถ้ำสาริกา พอจิตสงบท่านรู้ของท่าน มีพระเคยมาตายที่นั่น พระเคยมาตายที่นั่นเพราะว่าเวลาเช้าขึ้นมาไปบิณฑบาตมันไกล พระองค์นั้นก็บิณฑบาตกลับมา สิ่งใดที่เป็นอาหารแห้งก็เก็บสะสมไว้ สิ่งใดที่ฉันได้ก็ฉันวันนั้น รุ่งขึ้นฉันอาหารที่สะสมมาจากวันที่ผ่านมา เรียกว่าเป็น “สันนิธิ” วัตถุนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ตัวเองเป็นปาจิตตีย์ แค่นี้ที่ว่ายักษ์มาหักคอๆ เขามาหักคอนี่เป็นความหมายของหลวงปู่มั่น แต่ถ้าความจริงก็คือเจ็บไข้ได้ป่วยนั่นแหละ

นี่พระตายเพราะแค่เก็บอาหารสะสมไว้กินแรมคืน นี่เป็นเพราะอย่างนั้นนะ เพราะความว่าเวลาบิณฑบาตมา สิ่งใดฉันแล้ว พระกรรมฐานเรานี่ฉันเสร็จแล้ว ถ้ามีเหลือก้นบาตร ถ้าอยู่ในป่าก็วางไว้ให้สัตว์มัน ตรงไหนที่สัตว์มันมาได้ก็วางไว้ให้มัน แล้วล้างบาตร เช็ดบาตร จะไม่มีสะสม ถ้าเช้าจะฉันก็ออกบิณฑบาต ถ้าไม่บิณฑบาตก็ไม่ต้องฉัน เพราะวันนั้นจะผ่อนอาหาร นี่พูดถึงนิสสัคคีย์ปาจิตตีย์

ฉะนั้น ข้อนี้เป็นวินัยเด็ดขาด มันอยู่ในนิสสัคคีย์ ๓๐ อยู่ในปาติโมกข์ ฉะนั้น ที่ว่าพระในกรุงเทพฯ เขาทำกัน เห็นไหม พระที่ทำกัน นี่ผู้ปกครอง ผู้ปกครองในสังคม วัฒนธรรมนี่เห็นว่า เพราะเดี๋ยวนี้พอเรื่องสังคม เรื่องวัฒนธรรมประเพณีเป็นใหญ่ เขาเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ไง อาหารก็คืออาหาร อาหารบิณฑบาตเพราะมันเยอะ ที่นี่มันเยอะ บิณฑบาตสะสมไว้แล้วส่งไปที่อื่น ที่อื่นเขาไม่มี เขาขาดแคลน เขาว่าตรงนี้มันเป็นประโยชน์ นี่ในมุมมองไง ในมุมมองของเขา

ทีนี้ในธรรม ในธรรมผู้ปฏิบัติ นี่พระพุทธเจ้าให้พระที่ปฏิบัติเป็นผู้ที่ตัวเบา เคลื่อนไปด้วยความสะดวกสบาย เวลาเข้าป่าเข้าเขาเราไปของเราคนเดียว นี่ไงท่านถึงไม่ให้สะสม นี่ตามวินัยเป็นอย่างนั้น แต่ตามวัฒนธรรม พระในกรุงเทพฯ เขาทำ แล้วบอกว่าผิดหรือไม่ผิดล่ะ? นี่ในวินัยผิด แต่ทำไมเขาทำกันล่ะ? แล้วส่งไปวัดป่าต่างจังหวัดนี่ไม่มี ไม่มีหรอก

พระป่าที่อยู่ในต่างจังหวัดนะ ถ้าอยู่ในป่าด้วยเขายิ่งไม่เอา เราเคยอยู่ในป่านะอดอยากมาก แล้วมีพระที่เขาไปถวายอย่างนี้ เขาถวายนะ พระเรานี่นะต้องทำใจ ๒ ชั้น ชั้นหนึ่งคือเขาเอาของมาให้ ด้วยสังคมพวกเราก็รับไว้ ให้เณรรับไว้ พอพระองค์นั้นกลับไปแล้วนะ เราอยู่ในป่านะ เณร เณรจัดการนะเป็นลาภของเณร เพราะเณรศีล ๑๐ เณรฉันได้ กับฆราวาสนี่ได้ประโยชน์ แต่พระไม่ได้ เพราะพระรู้ๆ เห็นๆ อยู่ เราจะเอาสมาธิ เราจะเอาปัญญา หรือเราจะเอาอาหาร?

นี่มันต้องทำใจ ๒ ชั้น ชั้นหนึ่งคือไม่ให้สะเทือนกันนะ คือว่าเขาเอามาให้ก็รับไว้ให้เขาได้ชื่นใจ แล้วอยู่ในป่ามันอดอยาก อยู่ในป่ามันอดอยากนะ มันเห็นอะไรนี่ แหม สะเทือนใจมาก หัวใจนี่หวั่นไหวหมดเลย เต้นตูมตามๆ เลยนะ อยากก็อยากนะ แต่มันก็มีสติ มีปัญญา ให้เณรมันซะ เป็นลาภของเณร เป็นลาภของโยมวัด แต่พระไม่เอา นี่พูดถึงนะ ทีนี้คนที่เขาเห็นอย่างนั้นเขาบอกว่า

ถาม : แล้วคนวัดสามารถเอาไปถวายคนอื่นต่อไปได้ไหม? หากเราไม่ทราบเราควรทำอาหารแห้งนั้นอย่างใด?

ตอบ : ถ้าเขาให้นะเขาให้เป็นทาน อย่างเช่นถ้าได้มาสิ่งใด วันนั้นได้มามาก ได้น้อย ก็ฉันแค่ดำรงชีวิต ที่เหลือนั้นต้องสละหมดไง สละหมดมันก็เป็นทาน เป็นทานกับใครก็แล้วแต่ แต่เราจะเอาสิ่งนั้นมาถวายพระเป็นบาปไหม?

ในสมัยพุทธกาลนะ พระอานนท์เวลาของมีมาก พอมีมาก เห็นพวกเดียรถีย์มาแล้วสงสาร ก็เอาของไปให้เดียรถีย์ เดียรถีย์มันไปโฆษณานะ บอกพระอานนท์นี่ศรัทธาเขา ไปถวายของให้เขา แล้วคนมาฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าถึงห้ามไง ห้ามให้พระนี่นะเอาอาหารให้พวกเดียรถีย์ แล้วของที่เซ่นไหว้แล้วมาใส่บาตรพระก็ไม่ได้ พระฉันเดน พอของที่เหลือจากเขามาใช่ไหมก็เอามาให้พระ ก็ถือว่าพระนี่แบบว่าฉันเดน

ภิกษุไม่ฉันอาหารที่เป็นเดน ของที่เหลือ เขาเรียกอาหารที่เป็นเดน ของเป็นเดนคือของเหลือ แล้วภิกษุเราไปฉันของเหลือ เหมือนกับคนกินเดน คนกินเดนคือพวกวณิพก คนกินเดน เห็นไหม ก็เหมือนที่ว่านี่ บางคนบอกว่าเข้าใจว่าพระหัวโล้นๆ แหม เช้าก็บิณฑบาตเหมือนขอทาน ไม่ใช่ ไม่ใช่ ภิกขาจาร ภิกขาจารเลี้ยงชีพโดยชอบ แต่ถ้ารับอาหารนี่ขอทาน นี่ไงถ้าเราไปให้ล่ะ? ถ้าคนที่เอาไปให้นะ ฉะนั้น เราจะเอาไปให้หรือไม่ให้ล่ะ?

นี่เรื่องการประเคน องค์ของการประเคน ประเคนขึ้น ประเคนไม่ขึ้น ของนี้ประเคนขึ้น ของนี้ประเคนไม่ขึ้นยังอีกเยอะนะ นี่ถึงบอกว่าเวลาพระ แหม พระป่าไม่รู้อะไรเลย โอ้โฮ ศึกษาก็ไม่ศึกษา มันไม่ได้ศึกษา แต่เวลาอยู่กับอาจารย์ อาจารย์คอยช๊อตตลอดเวลา ป๊าบๆ สะดุ้งตลอด มันทำให้จำแม่น จำได้ชัดๆ เลย ประเคนไม่ขึ้น ของอยู่นอกหัตถบาสก็ประเคนไม่ขึ้น ประเคนไม่ขึ้นก็เท่ากัน ของนี้เท่ากับไม่ได้ประเคน ของไม่ได้ประเคน ภิกษุฉันอาหารที่ไม่ได้ประเคน ปรับอาบัติทุกคำกลืน ปรับอาบัติทุกคำกลืนหมด

ฉะนั้น ของที่เรารู้ๆ อยู่ว่าพระสะสมมา พระรับมาแล้วเราจะไปต่อ ถ้าเราอยากทำบุญเราก็แสวงหาของเราเนาะ เราทำของเราสิ อาหารเราก็ทำของเรา เราทำไร่ไถนา ผลไม้ผลหนึ่ง เราเก็บได้ เราเอาไปถวายพระมันก็บุญเต็มที่แล้วแหละ แต่ของที่มันผิดพลาดมา เวลาไปโรงพยาบาลก็ไม่อยากติดเชื้อใช่ไหม? ใครไปโรงพยาบาลก็อยากไปรักษาให้โรคหาย ไปโรงพยาบาลแล้วได้ติดเชื้อแถมมาอีกด้วย ไอ้นี่จะทำบุญไง จะทำบุญแล้วของก็จะไปเอาอย่างนั้นน่ะ มันจะติดเชื้อไง

เวลาเปรียบเหมือนเชื้อโรคเราก็ไม่ต้องการสิ่งนั้นกันเลย แต่เวลาบอกเรื่องบุญนี่งกกันนัก อยากจะเอาบุญง่ายๆ ถ้าบุญง่ายๆ มันก็ติดเชื้อมาด้วย ติดเชื้อมาด้วยมันเป็นสิ่งที่ไม่ดี อันนี้ข้อที่ ๓.

ถาม : ข้อที่ ๔. การที่นับถือพุทธศาสนา มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะแล้ว แต่ยังนับถือผีตามบรรพบุรุษ มีผีหรืออมนุษย์เป็นบริวาร อย่างนี้สามารถบรรลุธรรมได้หรือไม่?

ตอบ : บรรลุธรรมนะมันอยู่ที่การปฏิบัติของเรา เวลาเราเริ่มปฏิบัติแล้ว แม้แต่ความลังเลสงสัยยังทำให้ใจเราสงบไม่ได้ แล้วภูต ผี เห็นไหม เวลาใครที่ทำจิตสงบ ภูต ผี ญาติพี่น้อง ญาตินะ เจ้ากรรมนายเวรมาขอส่วนบุญ ส่วนกุศล เราเห็นผี เห็นสาง เห็นเทวดา เห็นเปรต เห็นทุกอย่างเลย

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว เป็นศาสดาสามโลกธาตุ เทวดา อินทร์ พรหมเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าทั้งหมด แม้แต่พระอินทร์ยังเป็นผู้อุปัฏฐากบาตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น สถานะของพระนะ ถ้าสถานะของพระ นี่สถานะของรัตนตรัยของชาวพุทธ ถ้าเราชาวพุทธ เราเป็นผู้ให้โอกาสเขานะ เราให้โอกาสเขา ไม่ใช่เขาให้โอกาสเรา ฉะนั้น ถือผีนี่เราเป็นผู้ให้เขา เราจะไปยอมจำนนอย่างนั้นไม่ได้หรอก

ฉะนั้น แล้วมันบรรลุธรรมได้ไหมล่ะ? ถ้าบรรลุธรรมมันจะวางตรงนี้เอง ทีนี้เพราะเรายังไม่บรรลุธรรมเราเลยสงสัยไง ว่าถ้าเราถือผี เห็นไหม มีอมนุษย์ต่างๆ มันขาดจากไตรสรณคมน์นะ พอมันขาดจากไตรสรณคมน์ การขาดจากไตรสรณคมน์ ทำให้จิตใจไม่มั่นคง ความเป็นเอกภาพ ถ้าจิตใจเป็นเอกภาพ เราทำสิ่งใดมันจะมั่นคงมาก ถ้าจิตใจเราเรรวน ทำอะไรทุกอย่างจะเรรวนไหม?

นี่ที่ว่ามันจะบรรลุธรรมได้หรือไม่ได้ มันอยู่ตรงนี้ไง อยู่ตรงที่เราเรรวน เราไม่มั่นใจของเรา แต่ถ้าคนที่เขามั่นใจเขาทำได้ไหม? เออ ถ้าเขาทำได้ไหมนั่นอีกเรื่องหนึ่ง จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้น มันเป็นมรรยาทสังคม ถ้ามรรยาทสังคมเขาทำกันอย่างนั้น เราอยู่ในสังคม อยู่ในโลกไง อยู่ในโลก ในสังคมเราก็อยู่เฉยๆ เราอยู่เฉยๆ แต่ในใจเรารู้ เราไม่เห็นด้วย เราไม่ทำกับเขา แต่ถ้าโดยส่วนตัวเราไม่ทำอยู่แล้วยิ่งสบายใหญ่ ทีนี้โดยสังคมไง นี่นับถือผีบรรพบุรุษ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นไปบนสวรรค์ ไปเทศนาแม่นะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศน์พระเจ้าสุทโธทนะ เห็นไหม นี่บรรพบุรุษไหม? บรรพบุรุษ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอำนาจวาสนาบารมี สามารถเอาพ่อ เอาแม่เป็นพระอรหันต์ได้หมดเลย นี่บรรพบุรุษผู้มีคุณก็ส่วนผู้มีคุณ แต่ถ้าพ่อแม่ของเรา ปู่ ย่า ตา ยายของเรา เวลาเราภาวนาของเรา เราอุทิศส่วนกุศลให้พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายทั้งนั้นแหละ นี่อยากให้พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายของเรามีความสุข มีความร่มเย็น นี่พูดถึงอย่างนี้มันไม่เสียหาย ถ้าบรรพบุรุษนะเราเข้าใจได้

คนเรา เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระโมคคัลลานะ เพราะพระโมคคัลลานะที่จะช่วยเขาเรื่องกาม พอเห็นโทษของมันก็ไปพูดกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โอ้โฮ กรรมให้โทษมาก กรรมมันให้โทษมาก

“โมคคัลลานะ เธอพูดอย่างนั้นไม่ได้ เราตถาคตก็เกิดจากกาม”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดจากโลก เกิดจากพ่อ จากแม่เหมือนกัน ทีนี้การเกิดจากพ่อ จากแม่ แล้วเอาสิ่งนี้มาทำประโยชน์ เอามาศึกษา เอามาปฏิบัติจนเป็นองค์ศาสดาขึ้นมา ฉะนั้น ในเมื่อโลกมันเป็นแบบนั้น เขาบอกโลกนี้หมุนเวียน โลกในวัฏฏะนี้ไม่ดี แล้วเราจะทำลายเขาหมดเลยหรือ? เพราะสัจธรรมมันเป็นแบบนั้น ของจริงมันเป็นแบบนั้น วัฏฏะมันเป็นแบบนั้น เราต่างหากจะหลุดออกจากวัฏฏะนั้นมาต่างหากใช่ไหม? ในเมื่อวัฏฏะมันเป็นอย่างนั้น นี่คนที่เขาอาศัยวัฏฏะอยู่นั้น มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น เราจะไปเพ่งโทษหมดมันไม่ใช่

ฉะนั้น ในเมื่อเป็นบรรพบุรุษของเรา เราก็เคารพได้ มันเคารพผีหรือเปล่า? ไม่ใช่ เราเคารพบุญคุณของบรรพบุรุษของเรา แต่เราไม่ถือว่าผีอมนุษย์ เราไม่ไปยุ่งด้วย แล้วเราจะรู้เองว่าเขามาหาเราเพราะเหตุใดด้วย แล้วว่า

ถาม : มันจะบรรลุถึงอริยชนได้ไหม?

ตอบ : มันจะบรรลุถึงอริยชนได้ไหมเราจะรู้เอง แล้วเราจะวางเอง เพราะถ้าเราวางอย่างนี้ เราไม่สงสัยเอง ถ้าสงสัยคือบรรลุไม่ได้ ถ้าไม่สงสัย แล้วบรรลุได้แล้ว อย่างเช่นหลวงปู่มั่น เห็นไหม ท่านบอกว่าท่านอยู่เชียงใหม่ เทวดา อินทร์ พรหม มาหาเยอะมาก หลวงปู่มั่นอยู่ทางอีสานนะ เวลาพวกตกทุกข์ได้ยากมาขอส่วนบุญ แล้วท่านมาช่วยบอกญาติพี่น้องทำให้บ้าง ท่านช่วยบ้าง

นี่กรณีอย่างนี้ท่านจะเล่าเฉพาะผู้ที่อยากรู้ อยากเห็น มีความสนใจ ท่านจะเล่าเป็นเฉพาะการภายใน แต่เวลาท่านพูดถึงวงกว้างท่านจะพูดเรื่องอริยสัจ เรื่องทุกข์ เรื่องประพฤติปฏิบัติ เรื่องความเป็นจริง แล้วท่านใช้ชีวิตของท่านเป็นแบบอย่างด้วย ฉะนั้น เวลาฟังแล้วจะจับประเด็นที่ว่า โอ๋ย ท่านยังเรื่องถือผีอีกหรือ คนเราถ้ามันจะตะแบงนะมันจับผิดได้หมดแหละ แต่เอาเพื่อความดีกัน เอาความจริงกัน

ถาม : ข้อ ๕. เมื่อฆราวาสเป็นผู้ถือศีล ๘ บรรลุธรรมไม่ว่าขั้นใดก็ตาม หากจะบอกคนอื่น เช่นเพื่อนสนิทนักปฏิบัติธรรมด้วยกัน หรือคนใกล้ชิดให้ทราบเพื่ออนุโมทนาบุญด้วยได้ไหมคะ จะเป็นบาปกับผู้บอกหรือไม่ เป็นพระอริยะแล้วยังอวดตัว อวดตนหรือไม่?

ตอบ : ถ้าเป็นพรรคพวกกัน ที่จะบอกกันมันไม่ต้องบอกหรอก เราจะบอกว่าเวลาคนปฏิบัติอยู่ด้วยกัน เขาจะรู้เลยว่าคนนี้บรรลุธรรมหรือไม่บรรลุธรรม ทีนี้เวลาอยู่ด้วยกัน ทุกคนปฏิบัติด้วยกันในสังคมจะรู้เลยนะ ไอ้คนที่ปฏิบัติด้วยกันไม่มีใครบรรลุธรรมสักคน ไม่มีเพราะอะไร? เพราะมันชอบโม้ไง มันชอบมาพูดอวดให้กูฟังทุกวันเลย เบื๊อเบื่อ

เพราะคนที่ปฏิบัติต้องการความสงบระงับ ต้องการความวิเวก แต่ไอ้คนที่ปฏิบัติก็ชอบมาพูด โอ๋ย ฉันได้ธรรมแล้วนะ ฉันได้ธรรมแล้วนะ อันนั้นไม่ได้ธรรมหรอก แต่ถ้าคนจะได้ธรรมนะเขาจะขังตัวเขาไว้เอง เขาจะไม่ออกไปยุ่งกับใครเลย เขาจะปฏิบัติของเขาด้วยความเข้มข้น เพราะ เพราะคนที่อยากปฏิบัติเขาต้องหาความสงบสงัด ถ้าสถานที่ไม่วิเวก กาย จิต วิเวกได้ไหม? คนที่กายวิเวก จิตวิเวกมันจะออกไปวุ่นวายข้างนอกไหม?

นี่ไงถ้าคนนั้นจะบรรลุธรรมนะ เราจะรู้ คนที่อยู่ด้วยกันรู้เลย เอ๊ะ คนๆ นี้แปลกเนาะ อยู่คนเดียว ไม่ยุ่งกับใคร เอ๊ะ เช้าขึ้นมาก็ไม่เคยเห็น อยู่ปฏิบัตินิ่งอยู่นี่ นี่โอกาสคนที่จะบรรลุธรรม คนที่ไม่มาพูด มาโม้กับเรา คนนั้นจะบรรลุธรรม ไอ้คนที่บอกว่า ถ้าบอกคนใกล้ชิด อยากให้คนใกล้ชิดได้อนุโมทนาด้วย ไอ้นี่มันบอกบุญ มันจะบอกบุญไปสร้างวัดที่ไหนก็ไม่รู้ ไอ้คนที่บอกบุญ มันบอกบุญ มันไม่ได้บอกธรรม ถ้ามันบอกธรรมนะมันจะไม่บอกเราเลย มันไม่บอกเลยว่าคนจะได้ธรรมนะ

หลวงตาท่านบอกว่า “เวลาเราปฏิบัติเหมือนเขียนหนังสือ เราเขียนหนังสืออยู่เราจะไปคุยกับใคร? เราจะไปรับรู้สิ่งใด? เราเขียนหนังสืออยู่”

ถ้าจิตใจมันภาวนา ปัญญามันหมุนนะ มันจะหยุดของมัน มันจะหลบหลีก หลบหลีกเลย เพราะเราเขียนหนังสือยังไม่เสร็จ เราเขียนหนังสือยังไม่เสร็จ เดี๋ยวลืม เดี๋ยวเขียนไม่ได้นะ เราจะเขียนเรื่องนี้ พอคนมาคุยนี่ พอจะเขียนใหม่เขียนไม่ออกแล้ว ไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไร

นี่ก็เหมือนกัน ปัญญาเวลามันหมุนแล้วนะมันไม่ออกมายุ่งกับใครหรอก ฉะนั้น ไอ้ที่ว่าจะบอกให้อนุโมทนา เขาจะอนุโมทนา ไม่มีใครอนุโมทนากับเราหรอก เพราะเขาไม่รู้หรอกว่าเขาจะจริงหรือไม่จริง นี่ไงเขาบอกว่า

ถาม : ถ้าจิตมันหลุดพ้นแล้วเราจะรู้ได้อย่างไร?

ตอบ : แล้วเอ็งจะรู้ได้อย่างไรล่ะ? อ้าว หลุดพ้นแล้ว หลุดพ้นนี่หลุดพ้นอะไร? หลุดพ้นในอริยสัจไง พิจารณากายแล้วปล่อยวางไง ปล่อยวางแล้วเป็นพระโสดาบันไง ถ้าอย่างนี้นะ นี่เวลาเขาพิมพ์หนังสือ เห็นไหม ดูสิหนังสือพิมพ์ทุกเล่ม นี่โรงพิมพ์มันพิมพ์แล้วมันก็ปล่อยวางๆ แท่นพิมพ์มันเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว แท่นพิมพ์มันเป็นหมดเลย มันปล่อยวางหมดเลย มันพิมพ์เสร็จแล้วหนังสือออกมาแจกกันอยู่นี่ มันเป็นคนพิมพ์มาด้วย

นี่ก็เหมือนกัน เพราะมันไม่รู้เรื่อง ตอนนี้นะมันเป็นความเชื่อ มันเป็นความเชื่อเพราะเรามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ของเรานะ เวลาประพฤติปฏิบัติมาจนสังคมเขามั่นใจว่ามีมรรค มีผล สมัยแต่เดิมเราฟังแล้วสะเทือนใจทุกที เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านออกประพฤติปฏิบัติ หลวงปู่เสาร์นี่นะเวลาท่านปฏิบัติ เพราะหลวงปู่เสาร์ท่านมีเมตตามาก ไปไหนท่านจะมีแม่ชีไปด้วย มีปะขาวไปด้วย ชาวบ้านเขาแซวนะ ครอบครัวนี้จะไปอยู่ที่ไหนกัน?

แล้วหลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่า เห็นไหม นี่สมัยโบราณนะ สมัยโบราณ สมัยที่ศาสนานี้ยังไม่เข้มแข็งขึ้นมา พระนี่จะห่มสีเหลืองๆ หมดเลย แล้วหลวงปู่มั่นท่านห่มสีคล้ำๆ ท่านไปไหนชาวบ้านแตกเลย หนีเลย วิ่งหนีเลย สมัยที่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น สังคมเขายังไม่เชื่อถือ ไม่มีใครสนใจหรอกว่าปฏิบัติแล้วจะไม่มีมรรค ไม่มีผล แล้วท่านเข้มแข็ง ท่านประพฤติปฏิบัติของท่านมา แล้วท่านสั่งสอนเป็นรุ่นที่ ๒ มา รุ่นหลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว ครูบาอาจารย์เรา แล้วท่านออก เห็นไหม

นี่ครูบาอาจารย์ของเราท่านทำเป็นตัวอย่าง ท่านทำมาเป็นประโยชน์ จนสังคมเขาเชื่อถือ สังคมเชื่อถือเพราะเขารู้จริงไง แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นความเชื่อ ว่างๆ ว่างๆ นี่ว่างๆ เหมือนเราเลย นี่ว่างๆ อย่างนี้เป็นโสดาบัน ว่างๆ อย่างนี้เป็นอนาคามี ถ้าว่างๆ อย่างนี้เป็นอนาคามี อวกาศมันก็เป็น ในห้อง ในหับมันเป็นหมดเพราะมันว่างหมดเลย มันพูดเฉยๆ ไง แต่มันไม่มีความจริงขึ้นมารองรับ ถ้ามีความจริงมารองรับนะ

ถาม : นี่เป็นพระอริยะจะอวดตัว อวดตนหรือไม่?

ตอบ : เขาไม่ได้อวดตัว อวดตน ถ้าเป็นพระอริยะจริงนะ แต่เขามีคุณธรรมจริง เขารู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก ถ้ารู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก ยิ่งรู้จริงนะยิ่งไม่บอกใคร ไม่บอกใครหรอก บอกเขาทำไม? ยิ่งบอกเขานะ ฉันเป็นอริยะ แล้วเป็นอย่างไรล่ะ? เออ ได้เสีย เออ ก็เป็นอย่างนี้ๆๆ ไง อธิบายอย่างไรไปก็แล้วแต่นะ อธิบายเรื่องการเป็นอริยะถูก ผู้ที่ไม่เป็นอริยะเขาก็ไม่เชื่อ เพราะเขาไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่ผู้ที่เป็นอริยะพูดกับอริยะนะ พูดกับอริยะเขารู้ทันทีเลย ใช่ ใช่

อย่างเช่นเจ้าคุณจูม ธรรมเจดีย์ ท่านให้หลวงปู่ขาวได้สนทนาธรรมกับหลวงตามหาบัว ท่านให้หลวงตามหาบัวสนทนาธรรมกับหลวงปู่บัว เจ้าคุณจูม ธรรมเจดีย์ ท่านเป็นเจ้าคณะภาค ท่านเป็นอุปัชฌาย์ ท่านเป็นคนบวชให้กับพระพวกนี้ ถ้าเขาอยากจะดูว่าพระพวกสิ่งที่ทำนี่มันมั่นคงจริงจังแค่ไหน

เจ้าคุณจูม ธรรมเจดีย์ ท่านเป็นเจ้าคณะภาค ท่านเป็นอุปัชฌาย์ของหลวงตาด้วย ท่านเป็นอุปัชฌาย์ของครูบาอาจารย์เราหมดเลย แล้วลูกศิษย์นี่ก็ไปปฏิบัติกับหลวงปู่มั่น แล้วพอไปปฏิบัติกับหลวงปู่มั่น อุปัชฌาย์เป็นคนจัดให้คุยกัน เพราะท่านเป็นนักปราชญ์ ท่านเป็นผู้ปกครองใช่ไหม? ในทางทฤษฎีท่านรู้หมด ท่านก็จัดให้นักวิชาการที่เก่งๆ กับนักวิชาการที่เก่งๆ คุยกัน แล้วท่านก็นั่งฟัง

นี่หลวงปู่จูม ท่านเป็นผู้ปกครองที่ประเสริฐมาก ท่านทำให้พวกเราเข้มแข็ง ท่านทำให้พวกเราได้ตรวจสอบกัน นี่อริยะกับอริยะอย่างนี้เขาจะคุยกันรู้เรื่อง ถ้าเป็นอริยะอย่างเราคุยกัน เอ็งผิด ข้าถูก เอ็งถูก ข้าผิด เดี๋ยวก็แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่รู้ว่าว่างไหนกับว่างไหนมันจะถูกกว่ากัน ว่างในถ้ำกับว่างในโอ่งอันไหนมันจะว่างกว่ากัน ว่างในห้องกับว่างในถ้ำ อันไหนมันจะว่างกว่ากัน แล้วว่างอันไหนมันจะเป็นความจริงกว่ากัน

โธ่ มันเป็นมาตรฐานความเชื่อไปหมดแล้วนะ คำว่าว่างๆ นี่ ว่างๆ เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่าว่างข้างนอก แต่ในหัวใจไม่ว่าง เราคิดอย่างไรก็ได้ เราคิดอย่างไร เราใช้ปัญญาของเราให้มันปล่อยวาง นี่ว่างได้ไหม? ได้ แต่ทิฐิมานะ กิเลสตัณหาความทะยานอยาก ความขุ่นข้องหมองใจ ความเจ็บช้ำน้ำใจมันว่างด้วยไหม? คิดให้สิ่งอื่นนี่ว่างได้หมดเลย แต่สิ่งที่เศร้าหมอง สิ่งที่ชอกช้ำในหัวใจมันว่างด้วยไหม? แต่ถ้าวิปัสสนาญาณมันจะถอด มันจะถอนสิ่งนี้ออกไป มันจะรู้ของมันว่าจริงหรือไม่จริง

มันเป็นสมมุติ มันเป็นบัญญัติอันหนึ่งว่าว่าง เพื่อให้เข้าใจกันได้ว่าถ้ามันปล่อยวางแล้วมันจะมีความว่างอย่างใด แต่ความว่างอย่างนั้นมันต้องมีเหตุมีผลในการกระทำของมัน แล้วได้ถอด ได้ถอน ได้คลายออกไปมันถึงจะมีว่างอย่างใด แล้วว่างของโสดาบัน ว่างของสกิทาคามี ว่างของอนาคามี ว่างของพระอรหันต์ก็ไม่เหมือนกัน เพราะคุณภาพของความว่างมันแตกต่างกัน เพราะกิเลสหยาบ ละเอียดมันแตกต่างกัน แล้วความว่างอย่างใด? ว่างใครถูก ว่างใครผิด ถ้าว่างอย่างไร? นี่พูดถึงความว่างนะ

ฉะนั้น ถ้าบอกว่าพระอริยบุคคลยังต้องอนุโมทนากัน ยังต้องบอกบุญกัน เออ สาธุ จบ

ถาม : ข้อ ๖. หากเราต้องอยู่ร่วมกับคนที่เราเข้าใจว่า เขามีคุณธรรมในระดับใดระดับหนึ่งแน่นอน ตามความรู้ ความเข้าใจของเราเอง โดยไม่มีใครมายืนยัน เราควรปฏิบัติกับเขาอย่างไรจึงจะไม่เกิดบาปกับตนเองคะ

ตอบ : ถ้าเรามั่นใจว่าผู้ที่อยู่กับเราท่านมีคุณธรรมจริง การเคารพนะ การเคารพในหัวใจ กับกิริยามันแตกต่างกัน ถ้าเราเชื่อของเราว่าคนนั้นเป็นคนดี แม้แต่เราอยู่ด้วยกันว่าคนนี้เป็นนักปราชญ์ คนนี้เป็นคนดีนะ เรายังต้องเชื่อฟังเขา

หลวงตาท่านบอกว่า “ในโลกนี้คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก?”

แล้วท่านก็ตอบเองว่า “คนโง่มากกว่าคนฉลาด”

ฉะนั้น ถ้าคนโง่ ให้ล้านคน กี่ล้านคนก็แล้วแต่ เขานินทาเราขนาดไหน เขาให้ร้ายเราขนาดไหนเราไม่ต้องฟัง เพราะคนโง่เขาไม่มีเหตุ ไม่มีผล เขาไม่มีหลักการอะไร เขาพูดด้วยอารมณ์ของเขา ไม่มีประโยชน์กับเราเลย แต่ถ้าคนฉลาด แม้แต่คนฉลาดคนเดียว ถ้าพูดว่าเราถูก เราผิดอย่างใด นี่เขามีเหตุผล อย่างนี้เราต้องฟัง เราฟังแล้วเรามาหาเหตุผลของเราว่ามันถูก มันผิดอย่างใด เราจะได้แก้ไขของเรา ฉะนั้น แม้แต่คนฉลาดคนเดียวเรายังต้องฟังเขา เพราะคนฉลาดนั้นเขาจะบอกถึงจุดผิดพลาดของเรา เขาจะบอกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจว่าคนนั้นเป็นคนที่มีคุณธรรม คนนั้นเป็นคนที่ดี เห็นไหม เราก็ฟังเขา แต่ฟังเขา เรามีปัญญาเราก็ไตร่ตรองของเรา นี่เราไตร่ตรอง เราทำนะ ในเมื่อเราเชื่อว่าเขาเป็นคนดี เราเชื่อว่าเขาเป็นประโยชน์ เราก็อยู่กับเขามันเป็นประโยชน์ ถ้ามันเป็นประโยชน์ใช่ไหม? เราไม่ลบหลู่ สิ่งที่ว่าในอริยบุคคล เวลามันพลาด เวลาเป็นบาป เป็นกรรม คนๆ นี้เป็นพระอรหันต์ แล้วเราไม่เชื่อเราจะตกนรกหรือ? ไม่

คนๆ นี้เป็นพระอรหันต์ ก็เป็นพระอรหันต์สิ เกี่ยวอะไรกับเราล่ะ? มันไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย แต่ถ้าเราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อเราต้องมีเหตุผลใช่ไหม? เราก็บอกว่านี่ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ คนนี้เป็นคนโกหก ตรงนี้แหละลบหลู่ ลบหลู่อันนี้จะเป็นกรรม ไอ้ที่เป็นบาป เป็นกรรมเพราะอะไร? เพราะเราไปกล่าวตู่พระอริยบุคคล แต่ถ้าเราไม่กล่าวตู่ เราไม่ได้เบียดเบียน เราไม่ได้ทำให้พระอริยบุคคลเสียหายเราจะมีโทษตรงไหน?

ความเป็นพระอริยบุคคลก็เป็นพระอริยบุคคลของเขา เขาทำของเขา เขาก็ได้บุญกุศลของเขา เขาได้ความสุขของเขา เขาได้คุณธรรมของเขา แต่ถ้าเราเชื่อ เราเชื่อ เราศึกษากับเขา เขาให้ทางวิชาการกับเรา เขาให้วิธีการกับเรา เราก็ได้ประโยชน์ ถ้าเราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อเราก็ปิดประโยชน์กับเรา เราก็ปิดสิ เราไม่รับรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์อะไรกับเรา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าเราไม่กล่าวตู่ เราไม่ติเตียน ไม่มีกรรม ไม่มีกรรมหรอก นี่บอกว่า ถ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอริยบุคคล แล้วถ้าเราไม่เชื่อเราจะเป็นบาป เป็นกรรม ไม่ ไม่ เราไม่เชื่อเราเสียโอกาสเราเอง แต่ถ้าเราเชื่อเราได้ประโยชน์กับเรา แต่ถ้าไม่เชื่อแล้วกล่าวตู่ไง โอ้โฮ พระอรหันต์ขี้โม้ พระอรหันต์ไม่จริง นี่ติเตียน อันนี้สิเป็นกรรม บาปกรรมมันเกิดจากตรงนี้

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า

ถาม : ถ้าเราเข้าใจว่าเขาเป็นผู้ที่ปฏิบัติดี เราควรจะปฏิบัติอย่างไรกับเขา?

ตอบ : เราก็ปฏิบัติแบบ เห็นไหม ดูสิพ่อแม่ของเรา เรายังมีความกตัญญู เรายังดูแล นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเขามีคุณธรรมเราก็อยู่โดยปกติ ไม่ใช่พอเขาเป็นอริยบุคคลปั๊บ โอ้โฮ เราจะเป็นวัว เป็นควายเลยนะ ให้เขานั่งบนหลังก็ไม่ใช่ เขาก็เป็นผู้ประเสริฐ ถ้าเขาจริงเขาเป็นผู้ประเสริฐของเขา เราเชื่อฟัง เราเก็บประโยชน์ เก็บประโยชน์จากคำ

ปฏิภาณ ผู้ที่มีคุณธรรมนะเขาจะมีปฏิภาณ เวลาธรรมแสดงออก แสดงออกจากเสียง เสียงนี้จะบอกถึงวิธีการ จับ ฟังให้ดีๆ ถ้าคนที่มีคุณธรรม เขาจะพูดอะไรทิ่มหัวใจเราตลอด ถ้าเขาพูดอะไรสะกิดใจเรา นั่นล่ะเขาสะกิดกิเลสของเรา เราจะได้ประโยชน์ตรงนั้น เราจะได้ประโยชน์จากครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม เขาจะบอกเรา พูดอะไรขึ้นมามันจะทิ่มเข้ากลางอกเลย แต่ถ้าคนอื่นพูดไม่ทิ่ม แต่ถ้าคนที่มีคุณธรรมนะ พูดอะไรมานะเสียว ทิ่มเข้ากลางหัวอกเลย ถ้าทิ่มเข้ากลางหัวอกปั๊บ ถ้าเราได้คิดนะ นั่นแหละประโยชน์ของเรามาก

ฉะนั้น ถ้าเขามีคุณธรรมก็เป็นของเขา แต่เราก็ปฏิบัติตัวเราเป็นปกตินี่แหละ เราไม่ลบหลู่ ถ้าไม่ลบหลู่ ไม่ตีตนเสมอท่าน นี่ไม่เป็นกรรมแล้ว นี่สบายได้แล้ว แล้วดู คอยฟัง คอยฟัง คอยจับประโยชน์ที่เขาให้เรา คือเขาบอกเรา เขาสอนเรา หรือเขาพูดสิ่งใด ถ้ามันเป็นเหตุเป็นผล เหตุผลคือธรรม

“เหตุและผลรวมลงคือธรรม”

ถ้าเป็นธรรมขึ้นมาเราเอาสิ่งนั้นมาเตือนใจเรา แล้วเราจับประโยชน์ตรงนั้น แล้วเราปฏิบัติตรงนั้น มันจะเป็นประโยชน์กับเราเนาะ นี่ความอยู่ใกล้ผู้ที่มีคุณธรรม เอวัง