ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ธาตุลม

๑๘ มี.ค. ๒๕๕๕

 

ธาตุลม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๘๒๑. เรื่อง “ติดปัญหาเรื่องของลมที่เกิดขึ้นภายในกาย”

กราบนมัสการหลวงพ่อ โยมมีปัญหาที่ติดขัด ไม่ทราบว่าจะหาวิธีแก้อย่างใด เป็นมาประมาณ ๓ ปีกว่าแล้วค่ะ จึงกราบขอความกรุณาจากหลวงพ่อเมตตาหน่อยค่ะ คือไม่ว่าโยมจะสวดมนต์ หรือตื่นนอนตอนเช้า จะมีลมเกิดในกายตลอดเวลา แรงมากหมุนอยู่ข้างใน ยิ่งถ้านิ่งจ่อเข้าไปดูก็จะเห็นได้ชัดเจนมาก เคยกำหนดเล่นในกายก็เห็นชัดเจนมาก รู้ชัดถึงลมร้อนหรือลมเย็น

เริ่มแรกเพราะโยมไปอ่านบทความเรื่องของลม ของหลวงพ่อลี วัดอโศการาม ทางอินเตอร์เน็ต เลยลองมาทำดู มันก็เลยติดเป็นแบบนี้แหละค่ะ เคยไปหาหมอตรวจเช็คร่างกายก็ปกติทุกอย่าง บางทีก็รู้สึกอึดอัดมาก ถ้าต้องได้พูดคุยกับคนอื่น ถึงกับต้องปล่อยลมผายออกเบื้องล่าง หรือไม่ก็เรอออกมาแรงๆ บางครั้งมีความรู้สึกอยากจะอาเจียน คล้ายๆ กับคนแพ้ท้อง ก็รู้ว่าเสียมรรยาท แต่ก็ไม่เป็นกับทุกคน และก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดี นั่งภาวนาก็จะติดนิวรณ์ ง่วงนอน ปัญญาไม่เกิด

โยมอยู่กับสามีที่ต่างประเทศ หาโอกาสที่จะภาวนาจริงๆ จังๆ ไม่ได้ เพราะต้องทำงาน ที่อยู่อาศัยก็มีแค่ห้องนอนเป็นอพาร์ทเม้นท์ และสามีก็เปิดทีวีดูตลอดเวลา เขาอยู่บ้าน เขาเป็นคนต่างชาติ ขอบพระคุณ

ตอบ : ฉะนั้น เราจะพูดอย่างนี้ก่อน ก่อนที่ว่านี่เขาเป็นอย่างนี้มา ๓ ปี คือกำหนดภาวนา กำหนดอานาปานสติ กำหนดลม เพราะเขาบอกว่าเขาอ่านบทความของหลวงปู่ลีวัด อโศการาม หลวงปู่ลีท่านจะสอนอานาปานสติ ท่านจะสอนพุทโธ หลวงปู่ลีท่านสอนถูก เพราะหลวงปู่ลีท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านมีหลักมีเกณฑ์ของท่าน ท่านสอนของท่านถูกต้อง แต่เราเวลาไปปฏิบัติ เราอ่านลม นี่การพิจารณาลม เราก็เอาลมมาพิจารณา เอาลมมาประพฤติปฏิบัติ

ทีนี้เวลาปฏิบัติไป มนุษย์นะธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มนุษย์มีธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มันมีของมันอยู่แล้ว ธาตุ ๔ มันมีอยู่โดยธรรมชาติของมัน เวลาเราปฏิบัติ เห็นไหม บางคนบอกให้ดูกาย ให้ดูกาย พิจารณาดูกาย ให้เอากายเป็นอารมณ์ เป็นอารมณ์แล้วพิจารณากาย เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่ก็คือกาย ฉะนั้น เวลากำหนดลม ลมคือธาตุ ๔ ทีนี้ลมคือธาตุ ๔ เรากำหนดลมใช่ไหม? พอกำหนดลม ธรรมชาติของลมมันมีอยู่แล้ว แต่เรากำหนดลมเพื่อ นี่ไงเรากำหนดลมเพื่อรักษาใจเรา เราไม่ใช่กำหนดลมเพื่อลม

อย่างเช่นเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ เรากำหนดพุทโธ พุทโธเพื่ออะไร? พุทโธคือพุทธานุสติ เราอาศัยพุทโธเป็นพุทธานุสติ เอาจิตนี่เกาะพุทโธไว้ เกาะพุทโธไว้เพื่อให้จิตเราสงบ เราไม่ใช่กำหนดพุทโธเพื่อเอาพุทโธนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนพุทโธไม่ได้เลย พุทโธหายหมดเลย จิตเป็นพุทโธโดยเนื้อแท้เลย

นี่ก็เหมือนกัน กำหนดลมๆ เขากำหนดลมเพื่อจิตสงบ เขาไม่ได้กำหนดลมเพื่อเอาลม ฉะนั้น พอเรากำหนดลม พอมันมีลมขึ้นมานี่ไปเห็นลม แล้วเราไปติดที่ลม เหมือนกับทางโลก เห็นไหม เราหาเงิน หาทองมา เราเป็นเจ้าของเงินนะ แล้วใครเป็นเจ้าของเงินทองนี่นะ เราเป็นผู้บริหารใช่ไหม? เรารู้จักใช้จ่าย รู้จักเก็บออม รู้จักใช้เป็นผลประโยชน์ไง แต่ถ้าคนเป็นทาสเงินล่ะ?

คนเป็นทาสเงินนะ พอหาเงินมานะ โอ้โฮ หาเงินมาแล้วใช้เงินก็ไม่ได้ ตระหนี่นะ หาเงินมาก็ไม่ใช้เงิน กินก็ไม่กล้ากิน นอนก็ไม่กล้านอน ทำอะไรไม่ได้เลย เงินกลับเป็นโทษ แต่ถ้าคนหาเงินมา เราเป็นเจ้าของเงิน เราใช้เงินเพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าเราใช้เงินนั้นเพื่อประโยชน์ เงินนั้นทำบุญกุศลก็ได้ เงินนั้นจะช่วยเหลือเจือจานกันก็ได้ เงินเอามารักษาโรคเราก็ได้ เงินเอามาดำรงชีวิตก็ได้ เงินเป็นประโยชน์หมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน เรากำหนดลม (หัวเราะ) เรากำหนดลม แล้วทำไมลมมันมาปั่นป่วนอย่างนี้ล่ะ? ทำไมมันมีแต่ลมล่ะ? กำหนดลมเพื่อเอาลมหรือ? กำหนดลมแล้วเป็นทาสลมหรือ? เรากำหนดลมเพื่อจิตสงบ อานาปานสติกำหนดลมหายใจเข้าไปเรื่อยๆ กำหนดลมหายใจแล้วอยู่กับลมหายใจชัดๆ พอลมชัดๆ เข้าไปนะ นี่พอมันละเอียดเข้าไปลมหายใจเริ่มเบาลง ลมหายใจเริ่มละเอียดขึ้น ถ้าจิตมันสงบนะมันจะละเอียดๆ ละเอียดจนมันวางลมนะ มันวางลม จิตนี้วางลมนะ แล้วจิตนี้สักแต่ว่ารู้เลย

จิตนี้วางหมด มันวางลมหมดเลย ลมสักแต่ว่าลม เพราะลมมันมีอยู่แล้วใช่ไหม? ลมนี่ ดูสิดูลมในอากาศ ดูพายุเกิดขึ้นมา ลมนี่มันกวาดนะ มันทำลายบ้านเรือนคนไปหมดเลยลมนี่ ลมนี่นะเขาเอามาใส่ในท่อเพื่อเป็นประโยชน์ ดูสิออกซิเจนต่างๆ เขาก็ใช้ประโยชน์ได้ ลมนี่มันเป็นโทษก็ได้ มันเป็นคุณก็ได้ ร่างกายของมนุษย์เรา เวลาเขาเรียกลมมันทำเอา เห็นไหม เวลาลมมันทำเอา อั้นลมนี่ปวดไปหมดเลย เวลาจุก เสียด แน่นท้องลมทั้งนั้นแหละ ถ้าเป็นปกตินะ ลมปกติใช่ไหม? เราทำสมดุล โอ้โฮ สบายมาก โล่งโถง ดีไปหมดเลย แต่ถ้าลมมันอั้นนะ ตาย ตายเลย

นี่พูดถึงเฉพาะลม แล้วโยมไปเห็นลม เห็นไหม เย็นก็รู้ว่าเย็น ร้อนก็รู้ว่าร้อน เรากำหนดสติเราสิ เรากำหนดสติเรา กำหนดอานาปานสติ กำหนดไว้นะ กำหนดให้ชัดๆ เราไม่ได้กำหนดจะเอาลมนี่ เรากำหนดลมเพื่อให้จิตมันเกาะไง ถ้าจิตมันเกาะลม เพราะลมมันมีใช่ไหม? ธาตุ ๔ มันมีอยู่แล้ว กำหนดพิจารณาผมๆๆ กระดูกๆๆ เนื้อๆๆ หนังๆๆ แล้วแต่คนจะกำหนด ได้หมดเลย

สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ได้ แต่ แต่จิตนี้เป็นนามธรรม มันละเอียดกว่าลม เห็นไหม ลมที่ว่าเราเห็นลม ลมปั่นป่วนนี่ลม รวมตัวแล้วมันมีกำลังมาก มันทำลายทุกๆ อย่างเลย แต่จิตนี้ละเอียดกว่า จิตนี้ละเอียดกว่าลมอีก ถ้าจิตนี้ละเอียดกว่าลม จิตมันรู้ลม ถ้าจิตมันรู้ลม เพราะเรามีดิน น้ำ ลม ไฟ ถ้าเราไม่ให้จิตที่ละเอียดกว่า ให้สิ่งใดยึดสิ่งใดเกาะไว้เพื่อจะให้มันทรงตัวได้ ยืนตัวได้ เป็นสมถกรรมฐาน ถ้ากรรมฐาน ฐานที่ตั้ง แม้แต่จิตเรา เรายังไม่รู้ แม้แต่ความรู้สึกนึกคิดเรา เรายังไม่รู้ แม้แต่อารมณ์เรา เรายังไม่รู้ แล้วเราจะไปทำสิ่งใดกัน?

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนบอกว่า ต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน กรรมฐาน ๔๐ ห้อง การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ทำให้มันสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามา เห็นไหม เราเป็นใครเราก็รู้ ลมเราก็รู้ว่าลม จิตเราก็รู้ว่าจิต จิตมันอาศัยลมเกาะเข้ามาเพื่อความทรงตัวของมัน แล้วมันก็จะวางลมไว้ มันจะกลับมาเป็นอิสระของมัน ถ้ามันกลับมาเป็นอิสระของมัน เห็นไหม เราจะ อื้อฮือ! โอ๋ย เป็นอย่างนี้เอง สมาธิเป็นอย่างนี้เอง โอ๋ย ความสงบเป็นอย่างนี้เอง เป็นอย่างนี้เอง แต่นี้เรากำหนดลม แต่รู้ลมหมดเลยนะ แต่ไม่รู้ว่าเราเป็นอย่างนี้เอง คือไม่เห็นเราเลย

เรานี่นะ เข้าไปร่วมกับลม รู้กับลม ไปกับลมหมดเลย ทั้งๆ ที่ลมนี่ เราต้องการอาศัยลม เห็นไหม อานาปานสติอาศัยมาเพื่อให้จิตมันเกาะ พอจิตมันเกาะ เกาะเข้ามาจนมันทรงตัวได้มันจะวางลม อย่างเช่นพุทโธ พุทโธ เห็นไหม เราอาศัยพุทโธเกาะไป เหมือนเด็กหัดเดินเกาะราวไม้ไป เกาะราวไม้ไปจนถึงที่สุดแล้วมันเดินได้แล้ว ราวไม้จะทำให้เด็กนั้นวิ่งไม่ได้ เพราะเด็กมันวิ่งไม่ไหว พอมันเดินได้นะ มันทิ้งราวไม้ได้มันจะวิ่งไป พอมันวิ่งไป ราวไม้มันทิ้งไว้ข้างหลังแล้ว เด็กนี่มันวิ่งได้แล้ว เด็กนี้มันวิ่งได้ เดินได้ มันไปของมันได้แล้ว

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธนี่อาศัยจิตเกาะไปๆ พอมันทรงตัวมันได้ มันทำได้นะมันสักแต่ว่าพุทโธ พุทโธเป็นตัวมันจริงๆ นะ มันวางหมด มันไปของมันเองได้แล้ว ลมก็เหมือนกัน ดิน น้ำ ลม ไฟ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง อาศัยให้จิตเกาะเข้าไปสู่ตัวของจิตเอง ถ้าจิตมันเกาะเข้าไปๆ จนมันปล่อยวางทุกอย่าง ทรงตัวได้เป็นตัวของเขาเอง นี้คือสัมมาสมาธิ นี้คือสมถะ พอเป็นสมถะขึ้นมาแล้วเรามีสติปัญญาขึ้นมา พอเป็นตัวเราเอง ดูสิเราเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะ เรามีสิทธิจะทำนิติกรรมได้ทุกๆ อย่าง เรามีสิทธิจะซื้อข้าวซื้อของได้ทุกอย่าง เราจะหาสมบัติใส่ตัวเราได้ทุกอย่าง

จิต จิตถ้ามันทำความสงบของใจเข้ามา มันวางลม วางทุกอย่างหมดแล้ว นี่มันเข้าไปตัวมัน มันเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ มันทรงตัวของมันได้ มันจะทำสิ่งใดๆ ก็แล้วแต่เป็นสมบัติของมัน เป็นสมบัติของจิตดวงนั้นไง แต่จิตดวงนี้ จิตดวงนี้เกิดเป็นมนุษย์ เห็นไหม โดยสัญญาอารมณ์ โดยสัญชาตญาณ นี่ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ เรามีอยู่แล้ว ขันธ์ ๕ ก็คือความรู้สึกนึกคิด แล้วเราก็ไปคิดธรรมะ นิพพานๆๆ นิพพานอย่างนี้มันไม่ได้ นิพพานอย่างนี้เพราะเราอยู่ในสมมุติ เกิดเป็นมนุษย์นี่สมมุติ จริงตามสมมุติ เราอยู่ในสถานะของสมมุติ เราอยู่ในวัฏฏะ

นี่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นความจริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่วางธรรมวินัยไว้ให้เราศึกษา เราเอาสมมุติเข้าไปศึกษาสมมุติบัญญัติ ของเรานี่เป็นสมมุติ ของพระพุทธเจ้าเป็นบัญญัติ สมมุติบัญญัติก็ไปศึกษากัน ไปทำความเข้าใจต่อกัน แล้วก็งงไง นิพพานจะมีความสุขมาก เอ๊ะ ทำไมเราไม่สุขล่ะ? เอ๊ะ นิพพานมันต้องปล่อยวางหมดเลย เอ๊ะ ทำไมเราเครียดขนาดนี้ล่ะ? นี่มันศึกษานิพพานแต่มันไม่นิพพานไง

นี่ก็เหมือนกัน ย้อนกลับมาที่ลม เราจะบอกว่าหลวงปู่ลีท่านสอนถูกนะ แต่เราต้องตั้งสติ แล้วต้องมีอย่างนี้ มีครูบาอาจารย์เป็นที่ปรึกษาว่ากำหนดลม กำหนดลมอย่างไร? ถ้าเรากำหนดลมนะ กำหนดลมที่ปลายจมูก เห็นไหม อานาปานสติ เพราะลมกระทบที่ปลายจมูก ลมกระทบกาย ถ้าลมกระทบกายนี่มันอุ่นๆ เอาตรงนี้ให้มันชัดเจน แล้วหลวงตาสอนว่า

“ไม่ต้องกำหนดตามลมเข้าไป”

ถ้าเราตามลมเข้า ตามลมออก ลมสั้นก็รู้ว่าสั้น ลมยาวก็รู้ว่ายาว ที่เขาพรรณนากันนั่นน่ะ ถ้าลมสั้นรู้ว่าสั้น นี่ลมเข้าไปถึงหน้าอก ทรวงอก ลมเข้าไปถึงท้อง แล้วตามเข้าไปแล้วก็ย้อนออกมา ท่านบอกว่าเหมือนกับขโมยเข้าบ้าน ขโมยเข้ามาที่บ้าน หรือแขกเข้ามาที่บ้าน เราจะตามเข้าไป เราจะทิ้งปากประตูเราไว้ พอเราเข้าไปอยู่ในบ้าน เราเปิดประตูไว้ ทุกอย่างในบ้าน ขโมยเข้ามาลักของได้หมดเลย แต่ถ้าเราเฝ้าอยู่ที่ปากประตูบ้านของเรา นี่ใครเข้า ใครออกในบ้านของเรา เราจะรู้หมด

เราไม่ต้องตามเข้าไป เพราะตามเข้าไปมันเป็นอดีต อนาคต ไหลไปไหลมาอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ถ้าเราอยู่ที่ปลายจมูก นี่ลมกระทบที่ปลายจมูก แล้วบังคับ บังคับว่าไม่ให้ไปไหน รู้การเข้าและรู้การออก เพราะรู้การเข้าและรู้การออกมันทำให้มีสติ ให้มีสติมันจะมีความชัดเจน มันจะมีสว่างโพลงต่อที่ปลายจมูกนั้น จะเห็นอาการลมเข้าและลมออก เห็นลมเข้าและลมออกมันได้อะไรขึ้นมาล่ะ? ลมเข้า ลมออก สูบลมก็ได้ แหม ทำไมต้องมาลมเข้า ลมออก

ไอ้สูบลมนั่นเขาสูบให้เป็นอุตสาหกรรม แต่ขณะเรารู้ลมเข้า ลมออก เห็นไหม เรารู้เพื่อให้จิตเรารู้ จิตเรามีที่เกาะ จิตมันเห็นลม ถ้าจิตมันไม่เป็นอดีต อนาคต มันอยู่กับปัจจุบันนะมันจะรู้ของมัน แล้วมันจะทรงตัวของมัน มันจะเห็นลม โอ๋ย ลมนี้หยาบเนาะ เอ๊ะ ทำไมลมไม่มีเลยล่ะ นี่ไม่รู้นะ ไม่รู้มันละเอียดนะ เอ๊ะ ทำไมลมมันไม่มีเลยล่ะ? แต่ถ้ามันหลับนะ นี่มันหลับจริงๆ มันหลับด้วย มันไม่รู้ลมด้วย แต่ถ้ามันรู้ของมันนะลมมันละเอียด

คนปฏิบัติใหม่ๆ หยาบก็ไม่รู้ว่าหยาบ ละเอียดก็ไม่รู้ว่าละเอียด เพราะตัวเองยังทำไม่เป็น แต่พอมันฝึกบ่อยครั้งๆ นี่อยู่ที่ปลายจมูกนั่นแหละ กำหนดลม ลมเข้า ลมออกอยู่ที่ปลายจมูก แล้วชัดๆ ไว้ ชัดๆ ไว้ พยายามทำอย่างนี้มันจะแก้ที่ว่า อู้ฮู ไปเห็นลมในท้องนะ เห็นลมเย็น ลมร้อน นี่เราตามไปนะ ลมมันเป็นลมเฉยๆ แต่ในเมื่อจิตของเรา เราร่วมกระบวนการของลมไป จิตของเรามีอวิชชาขึ้นมา จิตมีอวิชชาขึ้นมามันเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง หมายถึงว่ามันไปเจอสิ่งใดที่มันฝังใจ

สิ่งที่ฝังใจ พอไปรู้ลมร้อน ลมเย็น ลมหนาว ลมแปรปรวน ลมพัดกระพือ มันไปเรื่อยแหละ คือจะบอกว่ามันไม่มีวันจบ กิเลสมันเล่นแร่แปรธาตุลมนี่ให้เราปั่นป่วนไป เป็นกิเลสมันเล่นแร่แปรธาตุ เอาลมนี่มาหลอกลวงเรา เราก็บอกเรากำหนดลมตามท่านพ่อลี ท่านพ่อลีท่านสอนกำหนดลม เราก็กำหนดตามท่านพ่อลี แล้วท่านพ่อลีท่านบอกให้กำหนดเข้าพุท ออกโธ เราก็กำหนดลมไปจนไปกับลม จนลมมันพาเตลิดเปิดเปิงไปนะ ทีนี้กลับไม่เป็นนะ ทีนี้กลับไม่เป็น

พอไปนี่เป็นมา ๓ ปี กลับไม่ถูกเลย ถลำไปแล้วกลับไม่เป็น วางให้หมดนะ วางให้หมด กำหนดลมเพื่อความสงบร่มเย็นของเรา กำหนดลมเพื่อจิตสงบ กำหนดลม เห็นไหม ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เพื่อจิตสงบ เราทำนี่เรามีเป้าหมาย เรามีเป้าหมายเพื่อความสงบระงับ

“สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

ถ้าจิตมันสงบระงับขึ้นมา จิตสงบระงับมันปล่อยวาง ปล่อยวางความแบกหามเป็นภาระมาหมด มันก็จะเป็นประโยชน์กับตัว นี่มันจะเป็นเรื่องที่ว่าเรากำหนดลมเพราะเหตุนี้ เราไม่ใช่กำหนดลมเพื่อจะรู้จักลม ลมมันไม่มีชีวิตนะ จับมันมาขังไว้มันก็ไม่รู้จักเราหรอก นี่จะไปรู้จักลม จะไปพิจารณา ไม่ใช่

อานาปานสติ นี่กำหนดลมหายใจ อานาปานสติ อัปปนา เห็นไหม เวลาจิตมันสงบเข้ามานี่อานาปานสติ เรามีสติกับลมหายใจเข้า-ออก ถ้ามีสติกับลมหายใจเข้า-ออกเพื่อความสงบระงับ ไม่ใช่เพื่อจะไปรู้ลม ไม่ต้องไปเข้าใจมันหรอกลมนี่ ลมมันก็คือลม แต่เวลาเราหยาบ ละเอียดนะ เราจะรู้ หยาบก็รู้ว่าหยาบ ละเอียดก็รู้ว่าละเอียด แล้วถ้ามันหยาบ ละเอียดนี่มันเกาะอยู่แล้ว ถ้ามันเกาะลมหยาบ ละเอียด มันรู้ นี่มันปล่อยวางความรู้สึกนึกคิดได้หมดเลย ที่มันจะแฉลบไปคิดเรื่องอื่นไม่มีหรอก แต่ถ้ามันแฉลบไปคิดเรื่องอื่นนะ

เออ ลมอะไร? ลมก็คิดไปนู่นหน่อยหนึ่งก็กลับมาลม ลมอยู่ไหน? แล้วก็กลับมา นี่มันแฉลบ ถ้ามันไม่แฉลบนะ ลมจะชัดๆ ลมจะชัดๆ พอลมชัดๆ ถ้ามันชัดๆ นะ ถ้าจิตมันดีจะเห็นเป็นกระแสลมเลย จะกระแสลมอย่างไรก็เรื่องของลม เพราะเราไม่ต้องการอย่างนั้น ชัดๆ ไว้ เดี๋ยวมันจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ จนสามารถเข้าอัปปนาสมาธิไปเลย ถ้าเข้าอัปปนาสมาธิ นี่มันผ่อนออกมาแล้วเราค่อยใช้ปัญญา

ถ้ามันคลายตัวออกมา พอคลายตัวออกมาเราถึงมาพิจารณา พิจารณาธรรมะ พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เพื่อประโยชน์กับการวิปัสสนา ถ้าประโยชน์กับการวิปัสสนา นี่การเดินเขาเดินแบบนี้ หลวงปู่ลีท่านสอนถูก แต่เราฟังแล้ว เราไปปฏิบัติแล้ว นี่พอเวลาปฏิบัติผิดไปแล้วจะไปโทษหลวงปู่ลีนะ จะไปโทษคนสอนนะ ทีนี้คนสอนท่านนิพพานไปแล้วนะ ท่านทำของท่าน ท่านทำถูกต้อง แต่เราเองศึกษามาแล้ว แล้วทำให้เข้าใจจับพลัดจับผลู ฉะนั้น เราต้องว่าเราเข้าใจผิด

นี่เราบอกเลย เราทำตามที่หลวงปู่ลีสอนหมดเลย แล้วทำไมเป็นแบบนี้ล่ะ? นี่เราถลำไปแล้วนะ เราถลำไปเอาลม เราถลำไปอยู่กับลม กลับใหม่ กลับใหม่ ถ้าเราตั้งความรู้สึกไว้ที่ปลายจมูก ไม่ต้องตามไป นี่มันตามเข้าไป ในท้องเห็นปั่นป่วนไปหมดเลย โอ๋ย มันตึงเครียดไปหมดเลย แล้วทีนี้มันก็ติดไป เห็นไหม ติดไป นี่เวลาไปเจอ ไปคุยกับใคร ไปพูดสิ่งใดมันอัดอั้นไปหมดเลย นี่วางไว้ วางนะ คำว่าวาง ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ดึงความรู้สึกมาอยู่ที่ปลายจมูกนี้ เอาแค่อยู่ที่ปลายจมูก

เวลาเราปฏิบัตินะ เวลาหลวงตาท่านสอน ท่านบอกว่า

“เวลากำหนดพุทโธเหมือนโลกนี้ไม่มี” จักรวาลนี้ไม่มี จะไม่รับรู้สิ่งใดเลย รับรู้เรากับพุทโธเท่านั้น”

พุทโธ พุทโธ พุทโธอยู่แค่นี้ อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราบอกให้ลมมาอยู่ที่ปลายจมูก รับรู้แค่นี้ ถ้ารับรู้แค่นี้ ปัญญาชนบอกไม่ได้ ทำแบบนี้มันไม่มีปัญญา ทำแบบนี้ทำแบบคนโง่ ไอ้คนฉลาดๆ เอาตัวไม่รอด ไอ้คนที่ว่าโง่ๆ คนนั้นฉลาดมากเลย คนว่าโง่ๆ นะ มันโง่กับสิ่งที่กิเลสมันจะพาไปข้างนอก แต่มันฉลาดกับตัวมันไง มันฉลาดบังคับไม่ให้กิเลสมาหลอกเอาจิตนี้ไปใช้สอย มันแฉลบออกไปรู้นู่น รู้นี่ นี่กิเลสมันยุแหย่ทั้งนั้นแหละ แล้วพอเวลากิเลสมันยุแหย่ก็วิ่งตามกิเลสไป แล้วบอกคนฉลาดๆ ไอ้คนโง่มันว่ามันฉลาด แต่หลวงตาท่านบอกนะ

“เวลาเราปฏิบัตินะเหมือนโลกนี้ไม่มี มีเรากับพุทโธเท่านั้น”

นี่ก็เหมือนกัน มีเรากับลมเท่านั้น มีเรากับลมเท่านั้น ฉะนั้น บอกว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วมันจะไม่ฉลาด มันไม่ใช้ปัญญา ศาสนาพุทธศาสนาแห่งปัญญา ต้องใช้ปัญญาสิ เออ! ปัญญาอย่างนั้น ปัญญากิเลสมันพาใช้ กิเลสมันจะล้วงตับ กิเลสมันจะเอาใจไปกินหมดเลย แล้วบอก อู๋ย อย่างนั้นมีปัญญามาก โอ้โฮ ปฏิบัติแล้วรู้ทุกอย่างเลย เก่งไปหมด รู้ไปหมดเลย ปัญญาอย่างนั้นมันมีประโยชน์อะไร? ปัญญาอย่างนั้นเป็นปัญญากิเลสทั้งนั้นแหละ ไม่มีประโยชน์หรอก

ฉะนั้น ทำความสงบของใจให้ได้ก่อน ถ้าใจมันสงบแล้วเราถึงจะรู้ถูก รู้ผิด แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมามันจะหายไปเรื่อยๆ ฉะนั้น สิ่งที่เราไปคุยกับใคร รู้กับใครแล้วมันจะรู้เรื่องนั้นๆ อันนั้นอีกอย่างหนึ่ง ที่ว่าเรอต่างๆ มันเป็นเรื่องร่างกายหมดนะ เราจะพูดอย่างนี้เลยล่ะ เราจะพูดว่า ถ้าจิตใจมันไปซับสิ่งใด ซับสิ่งใดแล้วมันก็ยึดสิ่งนั้น พอยึดสิ่งนั้นกิเลสมันก็ยุแหย่ พยายามทำสิ่งนั้นให้ชัดเจนขึ้นมา มันก็เลยเรอ เลยอะไรนี่ เราจะบอกว่ามันเป็นอุปาทานไง

ถ้าอุปาทานมันมีอยู่ไหม? อุปาทานมันมีความยึดของใจ ใจนี้มหัศจรรย์มาก มันยึดสิ่งใด มันเชื่อสิ่งใด มันจะแสดงอาการแบบนั้น แบบที่มันเชื่อ แบบที่มันเข้าใจมันจะแสดงแบบนั้น แล้วเราก็ว่าเป็นจริงๆ เป็นวิทยาศาสตร์เพราะมันจับต้องได้ ก็มันเป็นจริงๆ มันเป็นจริงๆ นะ มันรู้จริงๆ นะ มันเป็นจริงๆ ก็มันเป็นจริงๆ สิ แต่มันเป็นอุปาทาน มันไม่เป็นความจริงหรอก

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า

ถาม : เวลานั่งภาวนามันก็เป็นนิวรณ์ ง่วงนอน ปัญญาไม่เกิด

ตอบ : ปัญญาไม่เกิดเพราะว่ามันยังก้ำกึ่ง ถ้ามันก้ำกึ่งปัญญาไม่เกิดหรอก ถ้าปัญญามันจะเกิดนะมันต้องมีความสงบของใจ ฉะนั้น เวลานั่งแล้วมันเกิดนิวรณ์มันเป็นอย่างนั้นแหละ มันเกิดนิวรณ์ ถ้าปัญญามันไม่เกิดค่อยว่าไป เรื่องสามี เรื่องอะไรนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ

ถาม : ข้อ ๘๒๒. เรื่อง “ขอให้วินิจฉัยว่าเป็นการอวดอุตตริมนุสสธรรม หรือเป็นอาบัติปาราชิกหรือไม่?”

นมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพอย่างสูง ด้วยโยมได้พบเหตุการณ์หนึ่ง ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับปาราชิกข้อที่ ๔ กล่าวคือครั้งหนึ่งโยมได้ไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดหนึ่ง ได้แวะไปทำบุญที่วัดป่าแห่งหนึ่ง ได้รู้จักกับเจ้าอาวาสซึ่งมีอายุคราวเดียวกัน ขณะนั้นเจ้าอาวาสมีอายุพรรษาประมาณ ๒๐-๒๕ โยมทำบุญที่วัดนี้หลายครั้ง และไปปฏิบัติธรรมระยะหนึ่ง

วันหนึ่ง เจ้าอาวาส โยม และคนครัวซึ่งเป็นญาติเจ้าอาวาส ได้สนทนากันที่ศาลา เจ้าอาวาสเล่าถึงสมัยอยู่กับหลวงปู่องค์หนึ่ง เล่าไปเล่ามาท่านก็พูดขึ้นมาว่า “เราเป็นพระอรหันต์แล้ว” เล่าไปอีกสักพักก็ร้องไห้ออกมา เพราะเป็นตอนที่สะเทือนใจเกี่ยวกับหลวงปู่ แล้วก็พูดอีกว่า “พระอรหันต์ร้องไห้ได้ไม่ผิด” โยมตกใจกับคำพูดเจ้าอาวาส และได้เตือนท่านให้ท่านไปเปิดอ่านดูในพระไตรปิฎก วันต่อมาเจ้าอาวาสก็พูดว่า “ได้พูดผิด สี่ตีนยังรู้พลาด” แถมยังอ้างว่า “หลวงปู่ให้รักษาศีลข้อเดียวคือรักษาใจ” แล้วความผิดนี้ท่านว่าเป็นสังฆาทิเสส

โยมคิดว่าเจ้าอาวาสองค์นี้ คิดว่าโยมโง่นักหรืออย่างไร? แต่โยมเองก็ไม่ได้ติดใจเอาความผิดท่าน เพราะเห็นว่าท่านเรียนหนังสือมาน้อย เพียงแต่ไม่ไปวัดนั้นอีกเลย โยมเห็นว่า ถึงโยมจะไม่เอาผิด เพราะเห็นว่าความเสียหายที่ทำให้เสื่อมศรัทธามี แต่โยมและญาติท่านไม่ได้มีประชาชนฟังมาก แต่พระวินัยไม่ยกเว้น จึงกราบเรียนมาเพื่อขอฟังความเห็นจากหลวงพ่อ ว่าเวลาเอาผิดกันจริงๆ จะวินิจฉัยตรงไปตรงมาที่ตัวอักษรที่บัญญัติ หรือว่าปริมาณความเสียหายที่เกิดแก่พระศาสนา

ตอบ : นี่พูดถึงว่าเวลาเขาพูดถึงพระนะ นี่มันเกี่ยวกับการปฏิบัติ ในวงปฏิบัติเรานี่นะ เวลาปฏิบัติไปแล้วมันจะมีของมันไง มันจะมีว่าเวลาปฏิบัติไป เวลาจิตมันว่าง จิตมันเป็นต่างๆ เวลามันให้คะแนนตัวเองมันก็มี

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปแล้ว ครูบาอาจารย์ของเราถึงไม่ให้พูดกัน คือไม่ให้มาอวดอ้างไง ถ้าอวดอ้างนี่อวดไปทำไม? มันจะมีประโยชน์อะไร? นี่มันไม่มีประโยชน์สิ่งใดเลย ฉะนั้น เวลาพูดไปแล้วมันกลับไปเป็นโทษกับตัวเอง กลับไปเป็นโทษกับตัวเอง เพราะถ้าเวลาปฏิบัตินะ เวลาปฏิบัติไปแล้วเราไปพูดสิ่งใดก็แล้วแต่ พูดอะไรออกไป แล้วเวลาเราไปปฏิบัติ เราก็จะไปวิตกกังวลเองนะว่าจิตใจเราเป็นอย่างไร? พูดไปแล้วมันจะมีแต่ความเสียใจภายหลังทั้งนั้นแหละ แล้วมันทำให้การภาวนายาก

ฉะนั้น สิ่งที่เขาอวด เขาพูดออกมาว่าเขาเป็นพระอรหันต์ เวลาพูดอย่างนี้ เวลาเขาบอกว่าเขาพูดอย่างนี้ แล้วมันเป็นแค่สังฆาทิเสส ไอ้อย่างนี้มันตั้งใจและจงใจนะ นี่มันเป็นเรื่องของเขา แต่นี้เราจะย้อนกลับมา ถ้าเขาบอกว่า

ถาม : จึงกราบเรียนมาเพื่อขอความเห็นจากหลวงพ่อ เวลาเอาผิดกันตามจริงๆ จะวินิจฉัยตรงไปตรงมาที่ตัวอักษรที่บัญญัติขึ้นมา หรือว่าปริมาณความเสียหายที่เกิดแก่พระศาสนา

ตอบ : แก่พระศาสนานะ แก่พระศาสนาคืออะไร? ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตัวศาสนา ความที่เข้าไปสัมผัสศาสนาคือตัวใจ แต่ถ้าใจเวลามันผิดไปแล้วมันจะเอาอะไรเข้าไปสัมผัสกับศาสนา? นี่ถ้ามันทำลายศาสนาก็ทำลายตัวเองนี่แหละ ทำลายหัวใจนี่แหละ ถ้าทำลายหัวใจดวงนั้นนะ ถ้าหัวใจนี่เราได้ทำลายแล้ว เห็นไหม นี่ตาลยอดด้วน ถ้าตาลยอดด้วน ปฏิบัติมันจะได้ผลไหมล่ะ?

ฉะนั้น นี่จะเอาผิดกันที่ตัวอักษร แล้วตัวอักษร กรณีอย่างนี้นะ ถ้าพูดถึงเราพูดกันแบบสุภาพบุรุษ เราพูดกันแบบว่าผู้ที่ปฏิบัติธรรมด้วยความเป็นจริง แต่ในสังคมนะ เวลาเขาวางแผนกันมา เขาหลอก เขาล่อกัน ในสังคมนี้มหาศาลเลยเรื่องอย่างนี้ เรื่องอวดว่าตัวเองมีธรรมๆ คำว่าอวดตัวเองมีธรรมเพื่ออะไร? ก็เพื่อผลประโยชน์ทางโลกทั้งนั้นแหละ ถ้าไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ทางโลก เห็นไหม ไม่ใช่ผลประโยชน์ทางโลกต้องไปพูดทำไม?

นี่ยิ่งผู้ที่ปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ของเรานะ เมื่อก่อนอยู่ป่าอยู่เขาไม่พูดเรื่องนี้เลย จะไม่คุยกันเรื่องอย่างนี้ จะไม่คุยกันเลย นี่ถ้าเวลาคุยกัน คุยกันตัวต่อตัว เวลาคุยกันตัวต่อตัว คุยกันแบบว่าไม่ใช่คุยเพื่ออวดไง อย่างเช่นเวลาพระเราปฏิบัติอยู่ในป่า เวลาไปหาหลวงปู่มั่นใช่ไหม? ถ้าไปหาหลวงปู่มั่น สิ่งที่เราปฏิบัติมาสิ่งใด อย่างเช่นเมื่อกี้ที่พูดถึงว่าเขาภาวนาอยู่ แล้วมันมีปัญหาสิ่งใด นี่ก็เหมือนกัน เราไปปฏิบัติแล้วเรามีปัญหาสิ่งใด เราก็มาถามครูบาอาจารย์ของเรา

“ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง”

แต่การสนทนาธรรม มันสนทนาเพื่อการแก้ไขกันไง ถ้าสนทนาเพื่อการแก้ไขกัน เพื่อประโยชน์กับการประพฤติปฏิบัติ อันนั้นมันก็เป็นมงคลชีวิตใช่ไหม? แต่ถ้าไปโฆษณากับโลกมันไม่ใช่การประพฤติปฏิบัติ มันไปโฆษณาทำไม? ถ้าไปโฆษณา นี่อวดอุตตริมนุสสธรรมในตน อวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน ถ้ามีในตน เห็นไหม มีในตนอวดไหม? มีในตนเขาไม่อวด แต่เวลาเขาพูดเขาจะพูดออกมาเป็นประโยชน์ แต่ถ้าไม่เป็นประโยชน์เขาก็ไม่พูด ถ้าไม่เป็นประโยชน์ แม้แต่เป็นประโยชน์ ถ้าผู้ที่มีสตินะ เขาจะรู้เลยว่าพูดไปแล้วมันเป็นดาบสองคม มีทั้งประโยชน์และมีทั้งโทษ คนเชื่อก็ดีไป ถ้าคนไม่เชื่อมันก็เสียหาย แต่ถ้าคนที่มันเสียหายล่ะ?

ตามตัวอักษรมันเป็นอยู่แล้วนะ พระปฏิบัติเรานี่หลายองค์มาก เวลาพูดอะไรพลั้งเผลอไปแล้วพูดออกไป ไม่ใช่ว่าพลั้งเผลอ พูดออกไปโดยความไม่เข้าใจ แล้วกลับมาคิดว่าเรานี่เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า? เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า หมายถึงว่าเป็นอาบัติหรือเปล่า? พอเป็นอาบัติหรือเปล่า ตั้งอธิษฐานเลยแล้วภาวนานะ ถ้าจิตมันลงก็จบ ถ้าจิตมันไม่ลงนะ แล้วการภาวนา บางองค์ภาวนาไป จิตพอมันจะคาบลูกคาบดอก คือมันจะได้ผลนี่มันจะไม่ได้ผล มันจะเด้งออกเลย ถ้าเด้งออกไปมันเป็นเรื่องการปฏิบัติ

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติมันน่าสงสารอีกอันหนึ่ง เวลาปฏิบัตินี่ด้วยความเข้าใจผิดไง ด้วยความเข้าใจผิด เห็นไหม นี่หลวงตาท่านพูดบ่อย ที่พระอรหันต์นกหวีด ไปด้วยกัน ๓ องค์ เวลาตัวเองเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์นะเป่านกหวีดเลย เป่านกหวีดนะ พระที่ไปด้วยกันก็กังวลคิดว่าเขาจะมีอุบัติเหตุ คิดว่าเขาจะมีสัตว์มาทำร้าย ก็ไปหา ไปหาว่า

“นั้นเป็นอะไร? ทำไมถึงเป่านกหวีด”

“อ้าว เป่าเพราะว่าเราสำเร็จเป็นพระอรหันต์”

นี่พระที่ไปด้วยเขามองหน้ากันนะเขาสังเวช เป่านกหวีดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์

“แล้วเป่าทำไมล่ะ?”

“อ้าว ก็มาด้วยกันก็ต้องบอกให้รู้ อยากบอกให้รู้ไง”

นี่ ๒ องค์นั้นท่านไม่เชื่อ ท่านไม่เชื่อท่านก็กลับไปที่พักท่าน เพราะว่าไปธุดงค์กัน ๓ องค์ก็แยกกันอยู่ เห็นไหม แต่วันที่ ๒ เป่าอีกแล้ว พอเป่าอีกแล้ว พอไปนี่ถามว่า

“เป่าทำไมวันนี้?”

“เป่าว่าเราไม่ใช่พระอรหันต์” เห็นไหม

นี่เป่าว่าเราไม่ใช่ อ้าว เวลาเราหลงผิดเราก็เป่าว่าเราเป็นพระอรหันต์สิ แต่เวลาพอเราภาวนาซ้ำไป ตรวจสอบไปแล้วเราไม่ใช่ พอเราไม่ใช่เราก็เป่านกหวีดอีก เป่าว่าเราไม่ใช่พระอรหันต์ เห็นไหม พระที่ฟังเขาบอก “อืม เขาเป็นสุภาพบุรุษ”

คำว่าสุภาพบุรุษ แต่อย่างนี้เป็นปาราชิกไหม? อย่างนี้เป็นปาราชิกไหม? เพราะว่าปาราชิกนี่นะ อวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน แต่ถ้าเป็นความหลงผิดล่ะ? เพราะเขาเป่า เขาหลงว่าเขาเป็นพระอรหันต์ เขาเป่ามา เขาซื่อ เขาบอกว่าเขาเป็นพระอรหันต์ แต่เวลาเขาไม่เป็นเขาก็เป่านกหวีดอีกว่าเขาไม่ได้เป็น นี่เขาไม่เป็น อย่างนี้แสดงว่าเขาเข้าใจว่าเขาเป็น

นี่ความเข้าใจนะ นี่คือว่าโดยความหลงไง อย่างนี้วินัยยังให้โอกาสอยู่ แต่ถ้าตัวเองนี่ทั้งๆ ที่รู้ ทั้งๆ ที่รู้นะว่าไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แล้วก็บอกว่าเป็นพระอรหันต์ แล้วมีคนโต้แย้งไง พอมีคนโต้แย้งขึ้นมาก็บอกว่าสิ่งนี้เป็นความพลาดพลั้ง ถ้าไม่มีคนโต้แย้งล่ะ?

มันเป็นความสำนึกเนาะ มันเป็นความสำนึกของคน คนนั้นเขาสำนึกอย่างไร? เขาเห็นอย่างไร? ถ้าเขาสำนึกของเขา เขาเห็นว่าเขามีความละอาย เขามีความละอายต่างๆ มันเป็นนะ เราอยู่กับครูบาอาจารย์มาหลายองค์เหมือนกันแหละ ครูบาอาจารย์เราเรื่องปฏิบัติอย่างนี้ ทีนี้ถ้าเป็นหลวงตา เห็นไหม หลวงตาท่านบอก ที่ว่า “อรหันต์น้อยๆ” นี่มันเป็นความเข้าใจว่าอย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ? ท่านว่าเป็นพระอรหันต์น้อยๆ แต่ไม่ได้สำคัญตน

เวลาหลวงตาท่านพูด ในเทปท่านจะพูดบ่อย เวลามันปฏิบัติไป

“อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ?”

ท่านบอก “พระอรหันต์น้อยๆ” แต่ไม่ได้สำคัญตน เพราะสำคัญตนมันผิดไง ไม่ได้สำคัญตน แต่ความหลงมันมี

“อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์น้อยๆ หรือ?”

แต่นี้ด้วยปัญญาของท่าน “อย่างนี้ อย่างนี้คือสงสัย อย่างนี้ไม่เอา อย่างนี้ไม่เอา” เห็นไหม

นี่ถ้าผู้ที่ปฏิบัติไปมันจะมีสติปัญญาอย่างนี้ตามไปตลอด เวลามันหลง เวลาปฏิบัติไป เพราะการทำงานของคน เวลาเราวินิจฉัยสิ่งใดมันจะมีถูก มีผิด ถ้าวินิจฉัยไปมันใกล้เคียงกันเหลือเกินว่าอันนี้ใช่หรือไม่ใช่? ใช่หรือไม่ใช่? ถ้าวินิจฉัยแล้วมันถูกหรือผิด ฉะนั้น ถ้ามีครูบาอาจารย์ เราก็เข้าหาครูบาอาจารย์ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์มันก็ต้องหลงกันไปพักหนึ่ง ต้องแก้ไขตัวเอง ต้องมีสติ

ทีนี้การแก้ไขตัวเอง พยายามจะแก้ไขตัวเอง ทีนี้พอแก้ไขตัวเองไป แก้ไขตัวเองไป ถ้ามันดีมันก็กลับมาดี ถ้ามันไหลไปนะ นี่คือการแก้ไขนะ แต่ถ้าเป็นอวดอุตตริฯ เป็นผู้ที่เขาประกาศตน ประกาศในที่ต่างๆ มันไม่ใช่การปฏิบัติ ฉะนั้น ในวงปฏิบัติมันมีตรงนี้ไง มันมีตรงที่ว่าถ้าเขาปฏิบัตินี่น่าสงสาร เวลาปฏิบัติมา ใครปฏิบัติมามันจะรู้ว่าเวลาเราปฏิบัติไปแล้วมันจะก้ำกึ่ง แล้วมันจะวินิจฉัยผิด วินิจฉัยถูก อันนี้เป็นเรื่องสังคมของพระนะ เพราะพระนี่มันมีธรรมวินัยคุ้มครองดูแล แต่ถ้าเป็นเรื่องของโยม เดี๋ยวนี้โยมปฏิบัติเป็นกันไปหมดเลย ว่างๆ ว่างๆ นี่อนาคามีทั้งนั้นเลย ว่างๆ นี่ แล้วว่างๆ อะไรก็ไม่รู้

ฉะนั้น สังคมเขาเชื่อกันอย่างนั้น เราไม่เคยเชื่อเลยนะ เราไม่เคยเชื่อเลย ทีนี้คำถามนี่เขาก็ไม่เชื่อ เพราะเขาไปวัดนี้ เขาไปวัดนี้เขาไปทำบุญ แล้วเขาไม่ไปอีกเลย เขาไม่ไปอีกเลย แล้วเขาพูดมา เห็นไหม

“โยมคิดว่าเจ้าอาวาสองค์นี้คิดว่าโยมโง่นักหรือออย่างไร แต่โยมเองก็ไม่ติดใจ เจ้าอาวาสองค์นี้คิดว่าโยมโง่นักหรืออย่างไร ถึงมาประกาศตนว่าเป็นพระอรหันต์กับโยม”

น่าสงสารนะ นี่เขาพูดอย่างนี้เลยนะ ฉะนั้น เพียงแต่นี่เป็นคำถามที่เขาถามเราเนาะ

ถาม : จึงกราบเรียนถามเพื่อขอความเห็นจากหลวงพ่อว่า เวลาเอาผิดกันจริง

ตอบ : คำว่าเวลาเอาผิดกัน นี่ใครจะเอาผิดใครล่ะ? ไอ้นี่มันเป็นเรื่องของเวร ของกรรมหมดนะ ผู้ใดปฏิบัติ ผู้นั้นก็จะสำเร็จ จะตรัสรู้เอง ถ้าผู้ใดปฏิบัติไม่ได้มันก็ไม่ได้ ฉะนั้น เวลาเอาผิดกัน นี่ไอ้ตรงที่ว่าเวลาเอาผิดกันจริงๆ มันก็เป็นว่าเรา ผลของคนๆ นั้นเอง ผลของผู้ที่ปฏิบัติเอง ว่ามันจะเข้าถึงธรรมหรือจะเข้าไม่ถึงธรรม นี่พูดถึงถ้าเอาผิดกันจริงๆ นะ

ฉะนั้น ถ้าจะวินิจฉัยกันตรงไปตรงมาที่ตัวอักษร ทีนี้ตัวอักษรมันเป็นฝ่ายปกครอง ถ้าฝ่ายปกครอง เขาจะปกครองว่าเขาจะเอาผิด เอาถูกกับผู้ที่ประกาศตนอย่างนั้นอย่างไร ถ้าวินิจฉัยตามตัวอักษรมันก็ต้องว่ากันตามหลักนิติศาสตร์เลยว่ามันผิดถูกอย่างไร? ฉะนั้น พอหลักนิติศาสตร์ปั๊บมันก็ต้องชักเข้าหาตัวนั้น

ฉะนั้น ถ้าในทางปฏิบัติ เห็นไหม ในทางปฏิบัติถ้าจะเอาผิดกันจริงๆ ถ้าจะเอาผิดกันมันก็บุคคลคนนั้นเอง เขาจะรู้ของเขาเอง ฉะนั้น เวลาบวชพระ เห็นไหม เวลาบวชพระ รู้ว่าอุปัชฌาย์ไม่ใช่พระ คืออุปัชฌาย์เป็นผู้ที่มีอาบัติ อุปัชฌาย์ไม่ใช่พระ บวชแล้วเป็นพระไหม? เป็น เป็นพระไหม? เป็น แต่เวลาพระองค์ที่บวชรู้ว่าอุปัชฌาย์ตัวเองไม่เป็นพระ นี่ตัวเองก็ขาดจากพระด้วย

นี่ไงตรงนี้ ตรงนี้หมายความว่าเวลาเราไปบวชกับพระนี่เป็นพระไหม? พอบวชพระแล้วมันเข้าสังฆกรรมไง ถ้าไม่เข้าสังฆกรรมก็เป็นโมฆะหมดน่ะสิ แล้วบวชมาแล้วเป็นพระไหม? เป็น เพราะเราไม่ได้ทำผิดต่อใคร เราเป็นผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยความศรัทธาอยากจะบวชกับพระ แต่มาบวชในสังคมแบบนี้ เป็นพระไหม? เป็นเพราะเราศรัทธาเต็มที่ แต่พอเรารู้ขึ้นมา พอเรารู้ปั๊บมันเป็น ๒ ประเด็นแล้ว

หนึ่งเราบวชเป็นพระ แต่เรารู้ว่าเราบวชกับผู้ที่ไม่เป็นพระขึ้นมา อย่างนี้มันทำให้เราโลเลไง นี่ไงก็ต้องบวชทัฬหีกรรม บวชใหม่ ต้องทำทัฬหีกรรมบวชใหม่ แก้ไขกันไป นี่ในสังคมมันมี เราจะบอกว่าการวินิจฉัยมันอยู่ที่ความมีหิริ โอตตัปปะของคน ถ้าคนมันมีหิริ โอตตัปปะมาก มันก็จะไม่ทำให้มันเสียหายกันไป แต่ถ้าคนไม่มีหิริ โอตตัปปะ มันทำสิ่งใดไปมันก็เสียหายไปอย่างนี้ แล้วมันเสียหายอย่างนี้มันก็มีความเสียหายมาก ถ้ามันเสียหายแล้วมันก็เสียหายกันไปนะ ถ้าเสียหาย

ทีนี้เขาบอกว่า

ถาม : เวลาตัวอักษรแล้ว หรือว่าปริมาณความเสียหายที่เกิดแก่พระศาสนา

ตอบ : นี่ปริมาณความเสียหายที่เกิดกับพระศาสนา นี่เขาทำผิดมากน้อยแค่ไหนล่ะ? ฉะนั้น ถ้าทำความผิดมาก ทำความเสียหายแก่ศาสนา มันเริ่มต้นว่าเขาตั้งใจอย่างนั้นมาก็เยอะนะ คนที่ตั้งใจเข้ามาศาสนา เพราะเรื่องศาสนามันเป็นแบบว่ามีศรัทธา ผู้ที่ศรัทธาในศาสนานี้มาก ถ้าทำให้เป็นที่น่าเชื่อถือได้ก็จะเป็นประโยชน์กับเขา นี่การทำความเสียหายแก่ศาสนา แต่ถ้าคนๆ นั้นเขาหลงผิดของเขา โดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจว่าจะทำความเสียหายแก่ศาสนา แต่มันก็อย่างว่าเนาะ พอขี่หลังเสือไปแล้วมันลงไม่ได้ พอขี่หลังเสือแล้วเสียหายกันไปหมดเลย

นี่พูดถึง เพราะว่าคนถามนี่นะเขาใช้ชื่อถามว่า “คนตรง” ต้องให้ตอบตรงๆ ด้วย ทีนี้คำว่าตอบตรงๆ มันต้องอยู่ที่เริ่มต้นตั้งแต่เจตนาของคนเข้ามาบวช คนที่เข้ามาบวชศรัทธามากอยากจะพ้นทุกข์ เขาก็จะขวนขวายไปจนถึงที่สุดของเขา คนที่เข้ามาบวชเขามาบวชเพื่อการดำรงชีวิตของเขา บวชเพื่อประโยชน์กับเขา เขาก็ทำสิ่งใดให้ผู้ที่บวชเข้ามาเพื่อพ้นทุกข์นี่ ให้ทำให้ศาสนามั่นคง แล้วเขาก็มามีประโยชน์ต่อตรงนั้น อันนี้มันเป็นมุมกว้าง มันอยู่ที่ฝ่ายปกครองจะแก้ไขอย่างไรเพื่อประโยชน์กับเขาเนาะ เอวัง