ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ทำดีทำไม

๓o มี.ค. ๒๕๕๕

 

ทำดีทำไม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราจะเอาเลยเนาะ ถ้ามีปัญหาเดี๋ยวถามเอาก็ได้ เริ่มต้น จะเริ่มต้นตั้งแต่ว่าเราเป็นชาวพุทธนะ ถ้าเราเป็นชาวพุทธ พุทธศาสนาสอนถึงว่าการเกิดและการตาย ในการเกิดมานี่ เราเกิดมาเป็นมนุษย์สิ่งนี้มีค่าที่สุด

คำว่ามีค่านะ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดเป็นมนุษย์ นี่พอเกิดเป็นมนุษย์ เห็นไหม สมัยโบราณเกิดเป็นมนุษย์ ในเมื่อกฎหมายบ้านเมืองยังไม่เข้มแข็ง การเป็นมนุษย์ถ้ารวมกลุ่มกันแล้วใครมีกำลังมากกว่า เขาก็พยายามจะหาสิ่งตอบสนองกับชีวิตของเขา แต่พอในปัจจุบันนี้มันมีกฎหมายคุ้มครอง ในเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าการทำลายกัน การต่างๆ กัน กฎหมายจะดูแลเรา

แต่ถ้าเป็นสัตว์ล่ะ? เราเข้าใจกันว่าสัตว์เกิดมาเป็นอาหารของมนุษย์ แต่ความจริงในพุทธศาสนาแล้ว ในเมื่อมีชีวิต ทุกชีวิตมีคุณค่าเท่ากันหมด ไม่มีชีวิตใดสูงกว่าชีวิตใด ในเมื่อสิ่งที่มีชีวิต เห็นไหม นี่ถ้าการฆ่าสัตว์ การฆ่าสัตว์มันเป็นบาป ถ้าเป็นการผิดศีล ถ้าพระนะ การทำลายสัตว์ให้ตกล่วงนี้เป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่ถ้าการทำลายมนุษย์นี่ขาดจากการเป็นพระเลย ถ้าการทำลายชีวิต ที่ว่าชีวิตมีค่า

ฉะนั้น เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี่เรามีค่า พอเรามีค่าขึ้นมา เห็นไหม เกิดมานี่มีค่า เราเกิดมีค่าขึ้นมาในมนุษย์แล้ว ทำไมมนุษย์เกิดมาไม่เท่ากัน? มนุษย์เกิดมาไม่เท่ากัน บางคนเกิดมาพ่อแม่เป็นผู้ที่มั่งมีศรีสุข พ่อแม่ทุกข์ทนเข็ญใจ อันนี้มันอยู่ที่เวรกรรม พอบอกเวรกรรมปั๊บทางวิทยาศาสตร์จะบอกว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการยอมจำนน สิ่งใดก็ยกให้กรรมๆ แล้วกรรมมันคืออะไร? กรรมก็คือการกระทำของเรานี่แหละ

เราทำกรรมดี กรรมชั่ว ถ้าเราได้มีการกระทำมา เห็นไหม การกระทำนั้น เราจะบอกว่าลายพิมพ์นิ้วมือไม่เหมือนกัน ลายพิมพ์จิตไม่เหมือนกันนะ จริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน ดูสิเรามองหน้าตากัน โดยสามัญสำนึกเราว่าเรารู้ เราเข้าใจ แต่เราจะไม่เข้าใจหัวใจความรู้สึกนึกคิดของคนรอบข้างเราเลย เป็นไปไม่ได้ แม้แต่คนๆ เดียวยังไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของเราได้เลย ทุกคนรู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว แม้แต่สัตว์มันยังรู้เลย แต่ แต่ทำไมมันควบคุมตัวมันไม่ได้ล่ะ? มันควบคุมตัวมันเองไม่ได้ เพราะสิ่งที่ว่าจริตนิสัย การฝึกมาแตกต่างกัน บางคนสมาธิสั้น สมาธิยาว นี่สิ่งนี้มันสิ่งที่เราได้ฝึกฝนมา ลายพิมพ์ของจิต

ลายพิมพ์ของจิตนะ คำว่าลายพิมพ์ของจิตเปรียบเทียบให้เห็นลายพิมพ์นิ้วมือมันแตกต่างกัน ลายพิมพ์จิตของเราจะเห็นว่าความรู้สึกนึกคิด การจินตนาการของคนแตกต่างหลากหลายมหาศาลเลย ทีนี้พอแตกต่างหลากหลายมหาศาล แล้วมันเป็นประโยชน์อะไรกับใครล่ะ? นี่ที่ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาตินะ การเกิดและการตายนี้เป็นธรรมชาติ ความรู้สึกนึกคิดของคนเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เพราะมันเรื่องของสสาร เรื่องของความเป็นจริง

ความเป็นจริง นี่เกิดเป็นเทวดาไม่มีร่างกายนะ มันเป็นทิพย์ แล้วเกิดเป็นพรหมล่ะ? แล้วเกิดเป็นมนุษย์ล่ะ? แล้วเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานล่ะ? แล้วถ้าตายไปเกิดเป็นสัมภเวสีล่ะ? เกิดกลายเป็นผี ผีมีไหม ผีไม่มีแต่กลัวผี ทุกคนบอกผีไม่มีแต่กลัวผี ผีตัวแรกนะก็คือจิตใจเรานี่แหละ ถ้าไม่มีจิตใจเรานี่นะ จิตวิญญาณมันเคลื่อนไปนี่มันไปไหน?

ฉะนั้น สิ่งนี้มันมีของมันอยู่ไง เวลาเราตายไป ถ้าเรามีบุญกุศล เราไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมเขาเรียกว่าเป็นทิพย์ ทิพย์หมายถึงว่าในสถานะที่ดี แต่ก็ทุกข์เหมือนกัน ทุกข์ก็ต้องขวนขวายเหมือนเรานี่แหละ แต่ถ้าเกิดไปตกนรกอเวจี เห็นไหม มันเป็นจิตวิญญาณเหมือนกัน แต่ในสถานะที่ทุกข์ยาก ทีนี้พอมาเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์เป็นภพกลาง พอภพกลางเราเกิดเป็นมนุษย์ พอเกิดเป็นมนุษย์ นี่สิ่งนี้มีค่ามาก ชีวิตนี้มีค่ามาก เกิดเป็นมนุษย์ พุทธศาสนาสอนว่า

“ชาติปิ ทุกขา ชาติความเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง”

นี่สิ่งนี้มีอยู่ ทีนี้เราเกิดเป็นมนุษย์แล้ว นี่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วเราก็ต้องมีการศึกษา ในเมื่อเป็นไปตามวัยนะ วัยของเราเราต้องมีการศึกษา ศึกษาเพื่ออะไร? นี่โลกียปัญญา ศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ทางวิชาการนี่โลกียปัญญา เพราะสิ่งที่เราศึกษา เราศึกษาทางวิชาการ ศึกษามาเป็นสัมมาอาชีวะ ถ้าเอามาประกอบสัมมาอาชีวะ เอามาเป็นอาชีพของเรา ถ้าสิ่งนี้เราศึกษามาเพื่อเป็นงานของเรา แล้วเราไปต่อยอด พอเราจบจากการศึกษาแล้วนี่ทุกคนออกไปทำงาน นี่ศึกษาจบมาเหมือนกัน บางคนประสบความสำเร็จ บางคนล้มลุกคลุกคลาน มันเป็นเพราะอะไรล่ะ? มันเป็นเพราะอะไร?

สิ่งที่ประสบความสำเร็จ ประสบความสำเร็จเพราะอะไร? นี่ไงคำว่ากรรมมันไม่มีผล เราทำสิ่งใดแล้วก็แล้วกันไป กรรมมีผลสิ มีผลเพราะว่าเวลาเขามีการศึกษา เขาขวนขวาย เขาใช้ประสบการณ์ของเขาขวนขวาย เพื่อความชำนาญของเขา เวลาเขาออกไปนี่เขาจะมีโอกาสของเขา แต่ถ้าเราศึกษาของเราแล้ว เราศึกษาของเรา แต่เราไม่ทำสิ่งใดเพื่อเป็นความรู้ของเราเลย ความรู้ ศึกษานี่เป็นธรรมชาติ แต่ถ้าเราศึกษาแล้ว ความรู้ของเราหมายถึงว่าเรามีปฏิภาณ เราเอาไปขยายความ เราต่อยอด เราพิจารณาของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเราได้

ถ้าเป็นประโยชน์กับเราได้ เห็นไหม สิ่งนี้มันเกิดมาจากไหน? ก็เกิดจากการฝึกฝนของเราทั้งนั้นแหละ แล้วพอเราเกิดเป็นคน พอเราเกิดเป็นคน สิ่งนี้ที่มีค่ามาก คำว่ามีค่ามากนะ เวลาทุกข์ เวลายาก ใครจะรู้กับเรื่องหัวใจของเรา? เวลาเรามีความสุข ความพอใจของเรา ใครจะรู้สิ่งใดกับเรา? ไม่มีใครรู้ในเรื่องหัวใจของเรา แต่ในเมื่อเราอยู่กับสังคมโลกใช่ไหม สังคมโลก สิ่งที่เป็นโลกธรรม ๘ เขาพอใจกันแต่สถานะ

สถานะทางสังคม สถานะทางเศรษฐกิจ เห็นไหม สถานะ สถานะมันเกิดจากใครล่ะ? ถ้าไม่มีมนุษย์ ไม่มีมนุษย์มันก็ไม่มีสังคม ไม่มีมนุษย์มันก็ไม่มีตลาด นี่เพราะมันมีมนุษย์ขึ้นมา แต่สถานะอย่างนั้นเราไปทำเพื่อโลกธรรมไง เพราะเรามองข้ามความเป็นมนุษย์ของเราไง ถ้าเรามองข้ามความเป็นมนุษย์ พระพุทธเจ้าถึงสอน สอนเราเรื่องปัจจัย ๔

นี่สิ่งที่เราแสวงหาเป็นปัจจัย ๔ เป็นเครื่องอาศัย ถ้าเครื่องอาศัย สิ่งนั้นถ้ามีมา มันมีมาโดยความชอบธรรมนะ ถ้ามันมีมาด้วยความชอบธรรม เราทำสิ่งใดเป็นสัมมาอาชีวะด้วยความชอบธรรม อันนั้นเราปฏิเสธไม่ได้ แต่ถ้ามันไม่เป็นความชอบธรรมล่ะ? ถ้าไม่เป็นความชอบธรรม เราแสวงหาสิ่งนี้มันไม่เป็นความชอบธรรม อันนั้นน่ะมันเป็นกรรม มันเป็นบาปอกุศล เพราะมันไม่ชอบ มันทุจริตอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดีงาม แต่ถ้ามันดีงามเราปฏิเสธสิ่งนี้ไม่ได้ นี่ถ้าเราตั้งอยู่บนหลักการอันนี้ เห็นไหม “กลิ่นของศีลหอมทวนลม”

ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่ในป่านะ อยู่ในป่า แต่เวลาท่านเทศน์ครั้งแรกปัญจวัคคีย์แค่ ๕ องค์เท่านั้นเอง แต่เพราะเป็นความจริง นี่เวลาเทศน์ในสิ่งที่เป็นวัตถุที่เราจับต้องด้วยวัตถุธาตุ เราเห็นมนุษย์อยู่ ๕ คน คือพระปัญจวัคคีย์ แต่เวลาเทศนาว่าการ เทวดา อินทร์ พรหมส่งข่าวเป็นชั้นๆๆ ขึ้นไป นี่เทวดา อินทร์ พรหมส่งข่าวเป็นชั้นๆ ขึ้นไปเลย เห็นไหม เราสื่อสารออกไปสิ เทคโนโลยีสื่อสารออกไป นี่โทรศัพท์เราคุยกัน ๒ คน แต่สื่อที่มันออกไปมันขนาดไหน? แล้วสิ่งที่เขารับรู้ได้ล่ะ?

นี่ก็เหมือนกัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมานี่เทศนาว่าการนะ เทวดา อินทร์ พรหมรับรู้ต่อๆ กันไปเป็นมหาศาลเลย ฉะนั้น สิ่งที่มันเป็นความจริง มันจะมาก มันจะน้อย แต่มันเป็นความจริง แต่สิ่งที่มันเป็นความไม่จริงล่ะ? ฉะนั้น พอเราจะเอาความจริงของเรานะ ทีนี้เราเป็นมนุษย์ เราศึกษา นี่เราศึกษาตามวัย ถ้าวัยเราศึกษา ตอนนี้เราหาความดีงามของเรา ทางวิชาการของเรา ถ้าใครฉลาดจะเก็บสิ่งนี้ไว้มาก

ฉะนั้น คนฉลาด นี่เรื่องของฉลาดใช่ไหม? เรื่องของฉลาด เรื่องของการศึกษา เรื่องที่ว่าเราศึกษา เรามีหน้าที่การงานของเรา แต่ในศาสนา ศาสนาบอก “ความดี” เอาสิ่งที่ฉลาดด้วย คนฉลาดด้วย คนที่ประสบความสำเร็จด้วย แล้วคนดีด้วย สิ่งที่เป็นความดีไง ศีลธรรม จริยธรรม ถ้ามีศีลธรรมนะ ศีลธรรมนี่มนุษย์ต่างจากสัตว์ สัตว์เดรัจฉานนะ สัตว์ไม่เหมือนมนุษย์เลย เพราะสัตว์มันก็มีชีวิต มนุษย์ก็มีชีวิต มนุษย์เรามีครอบครัว สัตว์มันก็มีครอบครัวของมันเหมือนกัน

นี่มนุษย์ต่างจากสัตว์ เพราะสัตว์มันไม่มีศีลธรรม เวลาศีลธรรมของมัน เห็นไหม เวลาของมัน มันใช้ชีวิตโดยสัญชาตญาณของมัน มนุษย์ต่างจากสัตว์เพราะมีศีลธรรม ถ้าเรามีศีลธรรมขึ้นมา คุณงามความดีนี่ศีลธรรม เวลาคนดีจริงๆ นี่นะเขาปิดทองหลังพระ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้องค์เดียวอยู่ในป่า ถ้าตรัสรู้อยู่องค์เดียวในป่า แล้ววางธรรมและวินัยไว้

เราจะบอกว่าเราเกิดมาเป็นชาวพุทธนะ หรือใครนับถือศาสนาอื่นก็ดี ในเมื่อศาสนาอื่นนั่นก็ตามลัทธิศาสนาของเขา แต่ในเมื่อเราถือศาสนาพุทธนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม นี่วัฒนธรรมประเพณี เราเกิดมาในวัฒนธรรมประเพณี อย่างใดก็แล้วแต่เรามองตากันสิ พอเรามองตากันนี่ดีหรือชั่วเรารู้กันได้นะ เรามองตากัน ดีหรือชั่วเรารู้กันได้

ทีนี้รู้กันได้ นี่วางธรรมและวัฒนธรรม แล้วเราเกิดท่ามกลางวัฒนธรรมของชาวพุทธ ถ้าเราท่ามกลางวัฒนธรรมของชาวพุทธ เห็นไหม นี่การเสียสละ การดูแลกัน ดูครอบครัวใหญ่นะ แต่เดิมในสังคมเราอยู่กับศาสนา อยู่กับวัฒนธรรมประเพณี แต่ในตอนนี้ อาหารในโลกนี้นะเป็นอาหารขยะ เพราะต้องกินรสชาติเดียวกัน คุณภาพเหมือนกันทั่วโลก

นี่ก็เหมือนกัน เวลาประชาธิปไตย นี่สิ่งที่มันเป็นคุณงามความดีก็มี แต่สิ่งที่มาลบล้างวัฒนธรรมประเพณี คือครอบครัวใหญ่ของเรา เห็นไหม มีปู่ มีย่า มีตา มียายในครอบครัวเดียวกัน มีความอบอุ่น เดี๋ยวนี้ทุกคนจะเอาแบบทันสมัย นี่ครอบครัวเล็กๆ แล้วก็ปล่อยให้ลูกเด็กเล็กแดงมันว้าเหว่ของมันไป นี่เราไม่ดูแลมัน แล้วสุดท้ายเราก็ไปแก้กันที่ปลายเหตุ ปลายเหตุต่อเมื่อมันเสียไปแล้วไง พอปลายเหตุมันเสียไปแล้วทุกคนนั่งคอตกนะ แต่ถ้าเรากัดก้อนเกลือกิน

คำว่ากัดก้อนเกลือกิน เรื่องวัตถุ เรื่องสิ่งความเจริญทางโลกเราพออยู่ เพราะเราไม่มีความจำเป็นแบบทางตะวันตกหรอก ที่ทางตะวันตกเขามีความจำเป็นเพราะฤดูกาลของเขาบังคับ แต่ของเรานี่นะเราเกิดในประเทศอันสมควร ๓ ฤดูของเรานี่นะ เราอยู่ในกระท่อมห้อมหอนี่เราอยู่ได้นะ แต่ถ้าทางตะวันตกนะเขาอยู่ไม่ได้หรอก ถึงเวลาหน้าหนาวนะเขาอยู่อย่างนั้นไม่ได้ ฉะนั้น วัฒนธรรมประเพณีของเขาถึงไม่เหมือนเรา

ฉะนั้น เราจะเอาสิ่งนั้น ถ้าเราอยู่กับสังคมโลก เราจะไม่ปฏิเสธสังคม เราต้องเข้าใจสังคมทุกๆ สังคมเพื่อความกว้างขวางในทางวิชาการ แต่ในความกว้างขวางทางวิชาการนั้น วิชาการนั้นเรารู้ เห็นไหม รู้นี้รู้เรื่องโลก โลกียปัญญา แต่โลกุตตรปัญญาที่เราอยากรู้กันมากกว่านี้ คือเราอยากรู้ตัวเราเอง ทุกคนนี่นะรู้ได้ทุกอย่าง นี่ถ้าเรามีความบกพร่องสิ่งใดนะ เราจ้างที่ปรึกษาได้หมดเลย นี่เราประกอบสัมมาอาชีวะต่างๆ มีที่ปรึกษาทางกฎหมาย มีที่ปรึกษาทางวิจัยการตลาด เราจ้างได้หมดเลย แต่เราไม่สามารถจ้างคนให้เรามีความสุขได้ เราไม่สามารถจ้างคนบอกว่าให้เรามีความสุข ให้เราประสบความสำเร็จ เราจ้างไม่ได้

ฉะนั้น เราจ้างให้ธรรมกับเราไม่ได้ เห็นไหม เราถึงมองข้ามตัวเราเองไม่ได้ นี่พุทธศาสนาสอนที่นี่ไง นี่ถ้าบอกปัจเจกบุคคล ถ้าปัจเจกบุคคลเป็นเรื่องของส่วนตัว เรื่องของบุคคลคนนั้น แล้วยังจะมองกลับอีกนะ บอกว่านี่พุทธศาสนาสอนให้เห็นแก่ตัว อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน สอนให้คนเห็นแก่ตัว นี่เวลามองมองคับแคบ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เห็นแก่ตัว แต่ทุกคนเป็นคนดีนะ นี่พ่อแม่เรามีลูก ลูกทุกคน ๔-๕ คน ลูกเป็นคนดีหมดเลย โอ้โฮ ถ้าคนดีกับคนดีอยู่ด้วยกันนะ ในบ้านจะร่มเย็นเป็นสุขไปหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนคนนั้นพึ่งได้ ลูกของเรา พี่น้องของเราเป็นคนที่มีกำลัง ทุกคนเป็นที่พึ่งตัวเองได้นะ นี่แล้วทุกคนหาแต่สมบัติ หาแต่ปัจจัยเข้ามา มาเจือจานกัน โอ้โฮ มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข ถ้ามีความร่มเย็นเป็นสุข นี่สังคมมันจะมีความสุขไหม? ทีนี้พอเราบอกว่าต้องเห็นแก่สังคมก่อนๆ ใช่เห็นแก่สังคมก่อน เพราะว่าคนเราเกิดมา เห็นไหม แม้แต่ร่างกายก็ไม่เหมือนกัน ความรู้สึกนึกคิดของคนก็ไม่เหมือนกัน อำนาจวาสนาบารมีของคนก็ไม่เหมือนกัน สอนแล้วสอนอีก บางคนสอนแล้วสอนอีกมันก็ไม่ยอมรับรู้เสียที บางคนเข้าใจได้ทุกๆ อย่างเลย

นี่ในเมื่อมันเป็นเวร เป็นกรรม ที่จะให้เสมอกันมันเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราเข้าใจของเรา เห็นไหม อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนเป็นที่พึ่งแห่งตนด้วย รัฐบาลไม่ต้องมาดูแลเรา สังคมไม่ต้องดูแลเรา เรานี่แหละจะเป็นผู้นำเขาอีกต่างหาก ถ้าเราเป็นผู้นำของเขาได้ นี่ตรงไหนที่มันเห็นแก่ตัว? แต่เพราะมันแบบว่าสังคมนะใส่หน้ากากเข้าหากัน สบายดีไหม? สบายดี ใจทุกข์เกือบตาย

นี่ก็เหมือนกัน บอกเราดีหมด ทุกอย่างดีหมด ถ้าตัวเองข้างในนะ นี่ถ้ามันมีศีลธรรม จริยธรรม กฎหมายนี่มันไว้บังคับเวลาผู้ทำผิด แต่ถ้ามีศีลธรรม จริยธรรมนะมันมีความละอาย เราจะทำสิ่งใดผิดเราทำไม่ลงนะ ทางตะวันตกเขามีตรงนี้ เขามีของเขา เขามีความละอาย ถ้ามีความละอายปั๊บเขาต้องตรงไปตรงมา แต่ของเรานี่สังคมพุทธ ศีล ๕ ด้วย พูดอย่าง ทำอย่าง

พระพุทธเจ้าบอกเลยนะ มนุษย์นี่เป็นสัตว์ประหลาด คิดอย่างหนึ่ง ความคิดนี่คิดอย่างหนึ่ง เวลาพูดนี่พูดไพเราะมากนะ เวลาทำทำอีกอย่างหนึ่ง มันพูดไม่ได้ คิดนี่คิดได้ แต่จะทำไปนี่ทำไม่ได้ นี่ไงพอกิเลสมันมาบังตา แล้วคิดว่าเราทำสิ่งใดไปแล้วจะไม่มีใครรู้กับเรา แต่ผู้รู้เขามี ยิ่งพ่อแม่เลี้ยงลูกมา ลูกมันทำอะไร นี่พ่อแม่รู้เลยว่าลูกมันต้องการอะไร เพราะเลี้ยงมาตั้งแต่ต้น แต่เด็กมันว่ามันฉลาดนะ มันทำอะไรผู้ใหญ่ตามไม่ทันมันหรอก

ฉะนั้น สิ่งนี้เราบอกว่าความดีไง ความดีทางวิชาการ ทางการศึกษา การศึกษาเราต้องศึกษานะ ถ้ายิ่งการศึกษาเรามีหลักของเรา เราจะไม่เป็นเหยื่อนะ เราพูดบ่อยนะ เวลาเขาตกทอง ทำไมเราปลดสร้อยของเราให้เขาไปทำไม? ก็เพราะความโลภอยากได้สร้อยเส้นใหญ่ แต่ถ้าเราไม่ปลดสร้อยของเราออกจากคอ ใครมันจะปลดสร้อยของเราออกไป แต่ถ้าเรามีหลักวิชาการ เรามีการศึกษา ถ้าเรามีปัญญาใครหลอกเราไม่ได้หรอก

มันไม่มีที่ใครอยู่ดีๆ มันจะเอาสร้อยเส้นใหญ่มาให้เรา มันไม่มีหรอก แต่ถ้าเราไม่มีทางวิชาการ มีสิ่งใดเราเป็นเหยื่อเขาตลอดนะ แต่ถ้าเรามีหลักมีวิชาการแล้วเราจะไม่เป็นเหยื่อใคร ถ้าเราไม่เป็นเหยื่อใคร เห็นไหม ทำไมถึงไม่เป็นเหยื่อล่ะ? เราไม่เป็นเหยื่อเพราะเรามีหลักของเราไง เรามีหลักวิชาการของเราไง เรามีความรู้ของเราไง ถ้าเรามีความรู้ของเรา ใครมันจะหลอกเรา แต่ถ้าใครหลอกเราไม่ได้ แล้วเราจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นอย่างไรล่ะ?

ถ้าเราจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นอย่างไร เห็นไหม เวลาพวกโยมทุกข์ร้อนนะ เวลาทุกข์ เวลายากให้มองดูพระ ถ้าพระปฏิบัตินะ หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าของท่านนะ นี่อยู่ในป่า ถ้าวันไหนไม่ฉันอาหารท่านก็ไม่บิณฑบาต ถ้าวันไหนฉันอาหารท่านถึงไปบิณฑบาต นี่บางวันก็ฉัน บางวันก็ไม่ฉัน ถ้าไม่ฉันนี่ไม่ฉันเพื่ออะไร? ไม่ฉันเพื่อเอาเวลา เอาโอกาส เอาความสมดุลของใจ ถ้าใจฉันอาหารแล้วนี่มันอิ่มเต็มของมัน มันอืดอาด แต่ถ้าวันไหนไม่ฉันอาหารนะ นี่ถ้าทางโลกว่าหิวอาหาร แต่ทางร่างกายมันไม่มีพลังงานที่เหลือใช้

ทีนี้พอมันใช้ปัญญาไป มันพิจารณาของมันไป มันพิจารณาในอะไร? พิจารณาในสิ่งที่จิตใจมันเกาะเกี่ยวอะไร? จิตใจมันจะพ้นจากอำนาจของความยึดเหนี่ยว ไอ้พวกวิตกกังวลในใจออกไปได้อย่างไร? มันพิจารณาของมัน มันมีเหตุมีผล มันพิจารณาของมัน เห็นไหม นี่ปัญญาอย่างนั้นมันเกิดขึ้น

ฉะนั้น ดูการดำรงชีวิตของครูบาอาจารย์เราสิ ถ้าครูบาอาจารย์เรานะ อาหารนี่ ๓ วัน ๔ วันกินหนหนึ่ง แล้วพอฉันอาหารหนหนึ่งนี่อยู่ไปอีก ๓ วัน ๔ วัน แล้วความเป็นอยู่ อยู่ด้วยปัจจัย ๔ ทำไมท่านอยู่ได้? แล้วถ้าว่าคนเราจะมีความสุขๆ เพราะมั่งมีศรีสุข เป็นเศรษฐีอันดับโลกต้องมีความสุขๆ แล้วถ้ามีความสุขมาทะเลาะกันทำไม? แล้วเวลาครูบาอาจารย์ท่านอยู่ในป่าในเขา ท่านอยู่ของท่านด้วยธุดงควัตร ท่านอยู่ของท่าน ท่านมีความสุขจริงหรือ? มีความสุขไหม?

มันมีคนพูดบ่อยนะ ว่าเขาอยู่กับโลกเขามีความสุขมาก เพราะเขาได้ใช้ชีวิตทางโลก นี่ทุกอย่างมีความสะดวกสบาย เขามีความสุข จริงหรือเปล่า? แล้วเวลาครูบาอาจารย์ของเราอยู่ในป่าในเขา นี่ถ้าทางโลกมองว่าอัตคัดขาดแคลน แม้แต่หลวงตาท่านพูดเลยว่าหลวงปู่มั่นเวลาท่านอยู่ในป่า เห็นไหม เหมือนเศษคน ถ้าโลกมองมานะเหมือนเศษคน เหมือนเศษคนเลย ไม่มีสิ่งใดเป็นสมบัติส่วนตัวเลย แต่ท่านมีความสุขของท่าน

นี่เวลาถ้ามองทางโลกเป็นเศษคน แต่ถ้าเทวดา อินทร์ พรหมนะท่านบอกนี่ศากยบุตรพุทธชิโนรส เทวดา อินทร์ พรหมท่านมองมา หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าในเขานะ ท่านบอกว่า ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่มเทวดามาแล้ว พรหมมาแล้ว แล้วเขาบอกว่าทำไมเทวดา อินทร์ พรหมไม่ไปหาคนอื่นล่ะ? เราก็จะบอกว่านี่เวลาอยู่ในป่าในเขา กลางคืนมันจะมืดไปหมด เพราะอยู่ในป่ามันไม่มีไฟ แต่ถ้าจิตใจผู้ที่มีธรรม นี่มันสว่างไสวเขารู้ได้อย่างไร?

นี่เรามองกัน เรามองกันว่าถ้าเรามีความสุขเราต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัยอุดมสมบูรณ์ อุดมสมบูรณ์นะ ถ้าคนที่จิตใจเป็นธรรมเขาจะใช้สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ แต่ถ้าจิตใจเขาไม่เป็นธรรมเขาเป็นทาสนะ เขาเป็นทาสผู้ไปดูแลสิ่งนั้นนะ เหมือนเรามีคนใช้เลย แต่ถ้าจิตใจเขาเป็นธรรม เขาเป็นเจ้าของ เขาเป็นผู้ดูแล ผู้ใช้จ่ายสิ่งนั้น แต่ถ้าพูดถึงมีคุณธรรมในหัวใจล่ะ? มีคุณธรรมในหัวใจนะ เวลาเราทุกข์ เรามีความกังวล นี่สิ่งนี้บีบคั้นหัวใจเรา แล้วถ้าสิ่งนี้มันไม่มีล่ะ? แล้วถ้ามันเป็นอิสระล่ะ? สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์ขนาดไหน?

นี้พูดถึงถ้าเรามองทางโลกว่าอะไรมันเป็นหลัก หลักทางชีวิต ถ้าชีวิตมีแค่นี้มันพอได้ มันพอได้เพราะอะไร? นี่ถ้าเรามีศีลธรรมนะ จิตใจเรามีศีลธรรม เราอิ่มเต็มของเรา อิ่มเต็มหมายความว่าเราจะไม่หวั่นไหวไปกับโลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ ถ้าเขามีลาภกัน เขามียศสักการะกัน เราไปมองสิ่งนั้นเราก็เป็นเหยื่อถอดทองให้เขา ถอดสร้อยให้เขา แต่ถ้าเราไม่ตื่นลาภสักการะไปกับเขา สร้อยเส้นนี้มันจะ ๒ สลึง มันจะสลึงเดียวก็พอใจ ก็ของฉัน เขาจะมีเส้นใหญ่ เส้นเล็กมันเรื่องของเขา ถ้าเราทำใจของเราได้ ใจที่ทำได้อย่างนี้ มันจะต้องลึกซึ้งในพุทธศาสนา ในธรรมะคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาสอนนะ นี่เวลาเราศึกษา เราศึกษาแบบทางโลกเขาเรียกว่า “สุตมยปัญญา” สุตมยปัญญาคือศึกษาทางวิชาการ ศึกษาแบบพวกโยมศึกษานี่แหละ แต่เวลาเราปฏิบัติ เห็นไหม สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา พอเวลาภาวนามยปัญญา เวลาจิตเราเริ่มควบคุมใจของเรา ถ้าใจของเราสงบได้ ใจของเรามีปัญญาได้ แล้วถ้าใจเรามีปัญญา นี่ภาวนามยปัญญาที่มันเกิดขึ้นมาได้มันจะชำระสิ่งที่เป็นความเห็นผิด

อริยสัจมีหนึ่งเดียว ทฤษฎีที่เราศึกษากันนี่มีหนึ่งเดียว เราศึกษาจากทฤษฎีเดียวกัน แต่เวลาสอบขึ้นมา นี่เวลาคนสอบ สอบแล้วคะแนนไม่เท่ากัน แต่ศึกษาจากทฤษฎีเดียวกัน อริยสัจนี้มีหนึ่งเดียว ถ้าหนึ่งเดียว พออริยสัจมันเกิดขึ้นมา ภาวนามยปัญญามันเกิดขึ้นมา พอมันชำระล้าง มันสำรอก มันคลายความวิตกกังวล คลายสังโยชน์ออก ถ้าคลายสังโยชน์ออกมันไม่มีสิ่งใด เห็นไหม จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส มันผ่องใส มันมีความสว่างไสว มันมีความพอใจของมัน

ความสุข ความจริง คุณค่าของชีวิต ตรงนี้มีค่ามาก ถ้ามีค่ามาก สิ่งที่เป็นสมบัติทางโลกนี่เรามองแล้วเก้อๆ เขินๆ เลยนะ เราจะวางสิ่งนั้นไว้ เราจะไม่ไปวิตกกังวลกับสิ่งนั้น เราจะรักษาสมบัติของเรา ถ้ารักษาสมบัติของเรา เห็นไหม นี่ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แล้ว แล้วทุกคนมีหมดนะ ทุกคนมีใจ พอมีใจ มีพลังงาน ปฏิสนธิจิตมาเกิดเป็นมนุษย์มันมีเหมือนกันหมดเลย แต่เวลามันส่งออกไง

ดูพลังงานสิ อย่างน้ำมันเติมมาเต็มถังเหมือนกันเลย แล้วบางคนเกือบหมดถังนะ บางคนน้ำมันหมดถัง ไม่มีน้ำมันเลยมีแต่ถังเปล่าๆ แต่ถ้าเรารักษาน้ำมัน เราเติมน้ำมัน ถ้าน้ำมันของเราเต็มถัง เห็นไหม จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส นี่ทุกคนมีสิทธิ์เหมือนกัน เพราะทุกคนมีจิตเหมือนกัน ทุกคนมีความรู้สึกเหมือนกัน ทุกคนมีชีวะเหมือนกัน ชีวะคือปฏิสนธิจิต เวลาเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว เกิดเป็นมนุษย์นี่ ถ้าเราส่งออก เราส่งออกมาเป็นความรู้สึกนึกคิด แล้วเราอยู่กับโลกไป

นี่โลก โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ พระรัฐปาล เห็นไหม อยู่กับพ่อแม่ พ่อแม่มีลูกชายคนเดียว เวลาออกไปบวชแล้วเป็นพระอรหันต์ พ่อแม่นี่ขนสมบัติมากองไว้เต็มไปหมดเลย เต็มไปหมดเลย บอกว่า

“ลูก สมบัตินี้ทำอย่างไร?”

ลูกบอกว่า “สมบัตินี้นะ ใส่รถแล้วเข็นไปแม่น้ำ แล้วดั้มพ์มันทิ้งไป ดั้มพ์มันทิ้งไปเลย”

โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ เพราะของอย่างนี้มันไม่มีอิ่มเต็มหรอก หัวใจของพระรัฐปาลเป็นพระอรหันต์เต็มหมดแล้ว โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ สมบัติสิ่งใดตามกระแส เวลามีค่านี่มีค่ามาก เวลาโลกเขาเลิกนิยมใช้ไม่มีค่าสิ่งใดเลย แล้วเราก็ตื่นกัน วิ่งกัน พยายามหาสิ่งนั้นมาเป็นสมบัติของเรา แต่หัวใจนี่ทุกคนหาไม่เจอ ฉะนั้น ถ้าเรารักษาสิ่งนี้เข้ามาที่หัวใจได้ รักษาที่ใจของเราได้ มันจะเป็นประโยชน์กับเราได้

ถ้าดูแลใจของเรานะ นี่เพราะคำว่าเกิดเป็นมนุษย์ ฉะนั้น พอเกิดเป็นมนุษย์แล้วมันเป็นไปตามวัย ขณะที่เราศึกษาเราก็ตั้งใจศึกษา นี่ตั้งใจศึกษา ศึกษาเพราะ เพราะถ้าเรามีทางวิชาการนะ เวลาเราศึกษานี่เราจบใช่ไหม? เราจบทางการศึกษาไป สิ่งนี้มันจะเป็นพื้นฐาน แล้วถ้าพื้นฐาน เราจะทำอาชีพใดก็แล้วแต่ เพราะเราศึกษาแล้ว เวลาไปทำงานไม่ตรงกับที่เราศึกษาเล่าเรียนมาหรอก แต่เราเรียนมาขนาดไหนเราทำของเราไป นี่มันก็ต้องดำรงชีวิตไปข้างหน้า แล้วถ้าเรามีศีลธรรม จริยธรรมอย่างนี้เรามีความรับผิดชอบนะ เวลาคนเรามีความรับผิดชอบ เราต้องดูแลชีวิตเรา

เราต้องดูแล เห็นไหม “ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี” จะมีมาก มีน้อยเรากตัญญูกตเวที ยิ่งพ่อแม่นี่นะ พ่อแม่ไม่ต้องการสิ่งใดกับเราเลย พ่อแม่จะถามว่าลูกมีความสุขไหม? ลูกมีความสุขไหม? พ่อแม่ต้องการอยากให้ลูกมีความสุข ถ้าลูกมันมีความสุขนะ เราแสดงออกแค่ค่าน้ำใจกับผู้ที่มีคุณกับเรา ถ้าเราไม่มีสิ่งใดเป็นสมบัติที่จะแสดงน้ำใจของเรา เราก็แสดงความกตัญญู นี่แค่คิดถึง แค่ถามความสุข ความทุกข์กัน

นี่ถ้าเราพูด สิ่งนี้มันแสดงออก ถ้าเราไม่มีวัตถุที่แสดงออก เราก็แสดงออกด้วยกิริยา นี่กตัญญูกตเวที ถ้าพ่อแม่มีความสุข พ่อแม่มีสิ่งที่ไว้วางใจได้ แล้วกับเรานี่เราก็ไว้วางใจกันได้ สิ่งนี้มันจะทำให้ความไว้วางใจกัน มันจะเป็นความดี ความดีที่ว่ามันไม่กระทบกระเทือนในหัวใจ เห็นไหม นี่ความดี คนดีกับคนฉลาด ถ้าคนฉลาดนะ คิดว่าตัวเองฉลาด แล้วพยายามแสวงหาสิ่งที่เราคิดว่าเป็นความถูกต้องๆ โดยกิเลส เวลาที่เราจะแก้ไข ถึงสุดท้ายแล้วเราจะแก้ไขนะ เราแก้ไขขึ้นมานี่จะแก้ไขไม่ทัน

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรานะ เห็นไหม ในเมื่อเราเกิดมามันมีค่าเท่ากันตั้งแต่วันเกิดแล้ว ใครมันจะสูง ใครมันจะต่ำกว่าใคร? ไม่มีหรอก จิตใจของเราเท่านั้นแหละ ไปยอมจำนนไงว่าเราสูงกว่า เราต่ำกว่า เรามีข้อบกพร่อง เรามีปมด้อย นี้มันเป็นการว่าเราทำลายหัวใจเราเอง ใครมันจะสูงกว่าใคร? นี่เราเกิดมาเป็นคนเท่ากับคน พุทธศาสนาสอนที่นี่ ความเสมอภาค เห็นไหม เราเกิดมาเป็นคนเท่ากับคน แล้วเขาจะสูงกว่าเราตรงไหน? เขาจะต่ำกว่าเราตรงไหน?

แต่พูดถึงการแสดงออก เห็นไหม การแสดงออกความดี การแสดงออกของค่าน้ำใจ เรามีน้ำใจต่อกัน ถ้าเรามีน้ำใจต่อกันแต่เราต้องมีปัญญานะ เรามีน้ำใจต่อกัน เรามีปัญญาหมายถึงว่า ถ้าบอกเรามีน้ำใจๆ ทุกคนจะบอกถ้ามีน้ำใจต้องแสดงออกอย่างนั้น เราก็เลยกลายเป็นว่าเราต้องวิ่งเต้นตามเพลงที่เขาให้เราเต้นตามนั้นหรือ? ชีวิตเรา เราก็มีหลักของเรา ชีวิตของเรา เราก็เป็นเจ้าของชีวิตของเรานะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้มีศรัทธา ให้มีความเชื่อในศาสนานะ ถึงที่สุดแล้ว เวลาถ้าปฏิบัติแล้วท่านบอกว่า “กาลามสูตร อย่าเชื่อ” อย่าเชื่อนะ อย่าเชื่อตามๆ กันมา อย่าเชื่อว่ามันจะเป็นสิ่งที่เราเข้าใจได้ อย่าเชื่อ ต้องพิสูจน์ก่อน ไม่ให้เชื่อนะ เราอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ เชื่อสิ่งใดก็ไม่ได้ ต้องพิสูจน์ตรวจสอบก่อนว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า? แต่ทีนี้ถ้าเรายังไม่ศรัทธา เรายังไม่เข้าใจเรื่องศาสนา เรามีศรัทธา เราศึกษาของเราไปก่อน แต่เวลาศึกษาแล้วอย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะ เพราะความดีกว่านี้ยังมีมากกว่านี้นะ ความดีที่มีมากขึ้นไป เราเจริญเติบโตขึ้นไปเพื่อประโยชน์กับเรา

นี่คุณค่าของชีวิต ถ้าคุณค่าของชีวิต เราเกิดมาในพุทธศาสนา การเกิดมีค่าเท่ากันแล้ว ใครจะสูงกว่าใคร ใครจะต่ำกว่าใครไม่มี ฉะนั้น เวลาใครจะสูงกว่าใคร ใครจะต่ำกว่าใครไม่มี ในพุทธศาสนานะ เวลาเขาเกิดเป็นสัตว์ เกิดเป็นทุกข์ทนเข็ญใจมันสูงต่ำกว่ากันไหมล่ะ? อันนั้นถ้าเกิดมาแล้วนี่มันเป็นเรื่องของเขา ในเมื่อบุญพาเกิด บาปพาเกิด เห็นไหม เกิดเป็นกษัตริย์ เป็นอะไรต่างๆ เวลาทุกข์ทนเข็ญใจเขาก็เป็นไปได้ เวลาเกิดเป็นกษัตริย์ก็ออกบวชเป็นพระ เวลาเกิดเป็นเศรษฐีกฎุมพีต่างๆ ก็มาบวชเป็นพระ ถ้าเขามีศรัทธานะเขาบวชเป็นพระ

เวลาบวชเป็นพระแล้วมีค่าเท่ากัน เพราะถือศีล ๒๒๗ เหมือนกัน ไม่มีพระองค์ไหนจะถือศีลมากกว่าพระองค์ไหน ไม่มี แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไปแล้ว ในวงการทางวิชาการ เขาจะรู้ว่าในวงการวิชาการเป็นอย่างไร ในวงการของพระก็เหมือนกัน เวลาพระปฏิบัติขึ้นมา เวลาพระปฏิบัติแล้ว ถ้ามีคุณธรรมในหัวใจ เห็นไหม อริยสัจมีหนึ่งเดียว เวลาพูดพูดเหมือนกัน นี่ถ้าพูดแตกต่างกันต้องผิดคนหนึ่ง

ทีนี้เวลาถ้าจิตใจบรรลุธรรม หรือจิตใจมีความรู้ในสัจธรรม อันนั้นแหละเขาเคารพกันที่นั่น ศีลเหมือนกัน ศีลเท่ากัน แต่เขาเคารพคุณธรรมในใจ ถ้าเคารพคุณธรรมนะ เหมือนคนตาบอด เวลาคนตาบอด เขาเดินไปไหน เขาตาบอดเขาก็ใช้ประสบการณ์ ใช้สัญชาตญาณของเขาไป แต่ถ้ามีคนตาดีจูงเขาล่ะ? คนตาดีหมายถึงว่าคนบรรลุธรรม ถ้าบรรลุธรรมมันต้องผ่านสังโยชน์ ผ่านเครื่องร้อยรัดของจิต ถ้าผ่านเครื่องร้อยรัดของจิต มันปลดอย่างไร? ปลดความมืดบอดในใจอย่างไร? ถ้าปลดอย่างไร?

นี่ไงเวลาที่พระเขาฟังธรรมๆ ฟังตรงนี้ ตรงให้คนตาดีบอกคนตาบอด แล้วถ้าคนตาดีบอกคนตาบอด คนตาบอดมันบอดที่ไหน? บอดที่ตาของเขา ถ้าบอดที่ตาของเขา นี่เวลาแก้คนตาบอดเขาต้องไปแก้ที่ตาของเขา แล้วแก้ด้วยวิธีสิ่งใด? คนตาดีจะบอกวิธีแก้ นี่เวลาเราจะแก้ใจของเรา เห็นไหม เราต้องกลับไปที่ใจของเรา ถ้ากลับไปที่ใจของเราต้องกลับไปสมถกรรมฐาน คือกำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรืออานาปานสติ กำหนดเข้าไปให้จิตมันสงบ

ถ้าจิตสงบเข้ามา เวลาจิตสงบเข้ามา ถ้ามันใช้ปัญญาขึ้นมา มันจะแก้ตาบอดของจิต แก้ตาบอดของจิต ถ้าจิตมันพิจารณาของมัน มันจะพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมเพื่อละสังโยชน์ ถ้าละสังโยชน์ วิธีการละสังโยชน์ พอมันละได้มันก็เท่ากับเปิดตา พอเปิดตามันก็จบ พอเปิดตาขึ้นมา เห็นไหม นี่คุณธรรมในใจ ถ้าใจมีคุณธรรมเขาจะรู้ของเขา เขาจะเข้าใจของเขา ถ้าเข้าใจสิ่งนั้นได้ มันก็เป็นประโยชน์กับใจสิ่งนั้น

ฉะนั้น นี่เวลาฟังธรรม เห็นไหม เวลาฟังธรรม ธรรมะคือศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะก็บอกว่า นี่เวลาเราพูดกันก็บอกว่าธรรมะคือการเสียสละ ทำบุญกุศลต่างๆ อันนั้นมันเป็นการฝึกฝนไง ฝึกฝนให้ใจเข้มแข็ง นี่เวลาหัวใจของเรา สิ่งที่เรามีสิ่งใดขึ้นมาเราก็ว่าเป็นของเรา ถ้าเราเสียสละออกไป ใครคนอื่นเขาได้ใช้ประโยชน์สิ่งนั้นขึ้นมา หนึ่งเราได้บุญกุศลตรงนั้น สังคมร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมา เพราะสังคมมีการช่วยเหลือเจือจานกัน

สังคมนะถ้ามีค่าน้ำใจต่อกัน มีความรู้สึกดีต่อกัน สังคมดูแลกัน ถ้าสังคมดูแลกัน เห็นไหม คนทุกข์ คนเข็ญใจ เขาก็ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจ ความน้อยเนื้อต่ำใจที่บอกว่ามีค่าเท่ากันๆ มันเท่ากันโดยข้อเท็จจริง แต่มันจะแตกต่างกันด้วยวุฒิภาวะของใจ ถ้าใจมันอ่อนด้อย ใจมันมีภวาสวะ มันหลงในตัวมันเองต่างๆ มันจะไหลไปตามอารมณ์ความรู้สึก แต่ถ้าพูดถึงคนมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมานะ สังเกตได้ไหม เด็กบางคนเขามีจุดยืนของเขา

เด็กกตัญญูนี่นะ เวลามันไปโรงเรียน กลางวันหรือตอนเย็นมันต้องวิ่งกลับบ้าน ไปเช็ดขี้ เช็ดเยี่ยวปู่ ย่า ตา ยายของเขา ทำไมเด็กอย่างนั้น มันมีความคิดอย่างนั้นได้ล่ะ? ทำไมมันมีความรับผิดชอบขนาดนั้น? ถ้ามีความรับผิดชอบขนาดนั้นมันต้องมีเม็ดใน เม็ดในหมายถึงว่าเขาต้องมีหลักใจของเขา แต่เด็กบางคน ขนาดว่าพ่อแม่ดูแลขนาดไหน เขาก็หาว่าพ่อแม่ไม่รัก เขาก็หาว่าพ่อแม่ไม่ดูแลเขา แต่เด็กกตัญญูแต่ละคนที่เป็นข่าว นี่วิ่งจากโรงเรียนนะไปเช็ดขี้ เช็ดเยี่ยว ป้อนข้าว ป้อนน้ำ แล้วก็กลับมาเรียนต่อ เช้าก็ไปทำอย่างนั้น กลางวันก็ไปทำอย่างนั้น เย็นก็ไปทำอย่างนั้น ทำไมเขาดูแลของเขาได้ จิตใจเขาทำด้วยอะไร? แล้วจิตใจของเรานี่ทำด้วยอะไร?

ถ้าจิตใจของเรา เรามีโอกาสขนาดนี้ เราก็ต้องพอใจแล้ว ถ้าเราพอใจแล้ว เราพอใจของเรา เห็นไหม ถ้าเราพอใจของเรา จิตใจเราก็ไม่บีบคั้นตัวมันเอง ถ้าไม่บีบคั้นตัวมันเอง มันมีช่องทางของมันไปได้นะ ถ้ามันไปได้มันจะเป็นประโยชน์กับมัน นี้คือชีวิต ฉะนั้น เราเกิดมานี่เรามีชีวิตแล้ว แล้วเรามีการศึกษา พอเรามีการศึกษานะ คนเรานี่มันมาจากที่แตกต่างกัน ฉะนั้น จริตนิสัยมันก็ต้องไม่เหมือนกันเป็นธรรมดา

ทีนี้พอจริตนิสัยไม่เหมือนกัน เราศึกษากัน ศึกษากันไว้เป็นความรู้ เราศึกษากัน เราเข้าใจกัน ศึกษากัน แล้วเราช่วยเหลือเจือจานกัน นี่เป็นสังคมของเราไปข้างหน้า สภาคกรรม ทำไมเราต้องมาเกิดเป็นมนุษย์? แล้วทำไมเราต้องมาเจอกัน?

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “คนที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว การเกิดและการตายนี่ไม่เคยเป็นเพื่อนกัน ไม่เคยเป็นญาติกันตั้งแต่อดีตชาติมาไม่มีเลย”

ฉะนั้น เราเคยเกิดตายๆ มา ฉะนั้น เวลาเกิดมาในชาตินี้เราถึงเกิดมาพบกัน แล้วพบกันนี่ให้เห็นใจกัน ให้เมตตากัน เราเกิดมาเป็นเพื่อนเป็นฝูงกัน เราศึกษาเล่าเรียนมาเป็นเพื่อนฝูงกัน เราคบกัน แล้วสิ่งใดที่มันกระทบกระเทือนกัน ให้อภัยได้เราควรให้อภัยต่อกัน ผู้ที่เขาให้อภัยแล้ว เห็นไหม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าอริยประเพณี

“ผู้ใดทำความผิดแล้วสำนึกเสียใจ แล้วขอแก้ตัว สิ่งนั้นนี่อริยวินัย”

ผู้ใดทำผิดแล้วยอมรับผิด คือรู้ว่าผิดไง ใครผิดให้รู้ว่าผิด ใครถูกให้รู้ว่าถูก แล้วให้อภัยต่อกัน เพื่อประโยชน์กับสังคมของเรา เพื่อประโยชน์กับชีวิตของเรา สิ่งใดนะเวลามันกัดหนอง ของเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละ สะเทือนกันแล้วมันเจ็บช้ำน้ำใจ นี่ถ้าเราได้พูดคุยกัน แล้วเราได้ให้อภัยต่อกัน สิ่งที่มันจะกัดหนองนี่มันไม่กัดหนอง มันไม่มีบาดแผลไปข้างหน้า ถ้ามีบาดแผลไปข้างหน้ามันจะกัดไปเรื่อยๆ แล้วแผลมันจะใหญ่ไปข้างหน้า นี่เราพูดคุยกัน แล้วให้อภัยต่อกัน

นี่พูดถึงศีลธรรมนะ ศีลธรรม จริยธรรม ถ้าทางวิชาการนั้นเราไปศึกษาเอา ถ้ามาหาพระเรื่องศีล เรื่องธรรม เรื่องความเสียสละ แล้วมันได้ผลอย่างไรล่ะ? มันได้ผลที่ว่าคนไหนเป็นคนดี ผู้ใหญ่ก็มองด้วยเมตตานะ ถ้าคนไหนเป็นคนแข็งกระด้าง ก้าวร้าว เห็นไหม คนๆ นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก้าวร้าว นี่สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย เราก็รู้ว่าไม่ดีแล้วเราทำทำไม? ฉะนั้น ถ้าเราทำนะ เวลาทำเราบอกว่าสิทธิเสมอภาคๆ

สิทธิเสมอภาคนะ คำว่าสิทธิเสมอภาคมันเป็นสิ่งที่เราเรียกร้อง แล้วสิทธิเสมอภาคจริงๆ มันอยู่ที่ไหน? สิทธิเสมอภาคจริงๆ นะมันอยู่ที่พระอรหันต์ ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว นี่เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน มันจะเหมือนกัน แต่ในเมื่อเรายังไม่เป็นพระอรหันต์ มันมีเวร มีกรรมไง ถ้ามันมีเวร มีกรรม ทุกคนมีเวรกรรมที่มันสร้างมาไม่เหมือนกัน มันจะเหมือนกันได้อย่างไร? คนเรานี่ในเมื่อน้ำหนักต่างกัน ทุกอย่างต่างกัน จะให้เท่ากันมันเป็นไปไม่ได้หรอก

น้ำหนักเราไม่เท่ากัน แล้วบอกสิทธิเสมอภาค น้ำหนักต้องเท่ากันหมด ทุกอย่างต้องเท่ากันหมด มันเป็นสิ่งที่ไม่มี แต่โลกนี้เขาพยายามบัญญัติว่ามี แล้วเราก็ติดกินเหยื่อ แล้วเราก็พยายามแสวงหา แต่ถ้าเอาสิทธิเสรีภาพนะ นี่สิ่งที่เสมอกัน เท่ากันคือพระอรหันต์เหมือนกัน พระอรหันต์เหมือนกัน จะรู้เหมือนกัน จะเห็นเหมือนกัน จะไม่ขัดแย้งกันเลย ไม่ขัดแย้งกัน เว้นไว้แต่เรื่องจริตนิสัย เว้นไว้แต่เรื่องทางโลกๆ แต่เรื่องธรรมะนี่จะไม่มีโต้แย้งกันเลย เหมือนกันหมดเลย

ฉะนั้น ในเมื่อเรายังมีกิเลสอยู่ นี่ในเมื่อเรายังมีเวร มีกรรมอยู่ เรามีความชอบแตกต่างกัน เพียงแต่ว่าความชอบแตกต่างกันแล้ว เรามีแต่ความเผื่อแผ่กัน ใครชอบสิ่งใด คบกัน สนิทกัน ใครชอบสิ่งใดนี่เราสละให้เขา เขาสละให้เรา ถ้ามันอยู่กันได้อย่างนี้มันก็ร่มเย็นเป็นสุข ถ้าร่มเย็นเป็นสุข มันถึงว่าเป็นประโยชน์กับชีวิตนี้

นี่พูดถึงเรื่องชีวิต ถ้าไม่มีอะไรเราจะจบแค่นี้ก่อนเนาะ แล้วให้ไปทำสิ่งใดแล้วเดี๋ยวรอบบ่ายมาอีกที อ้าว ถามต่อ ใครมีอะไรมาเลย ถ้าใครมีอะไรสงสัยถามมาเลย มันมีไมค์อยู่นี่

ถาม : กราบเรียนพระอาจารย์ค่ะ ดิฉันวนิดา จากคณะวิทยาศาสตร์ค่ะ อยากจะถามว่าทำอย่างไรจึงจะไม่มีเกิดแล้วก็ดับคะ

ตอบ : นี่ถามแล้วเนาะ มีคำถาม เก็บคำถามมาแล้วเดี๋ยวเราตอบรวดไปเลยไง เอาเนาะ เดี๋ยวตอบปัญหาก่อน เมื่อกี้ถามว่า

ถาม : ทำอย่างไรจึงจะไม่มีเกิดแล้วก็ดับ

ตอบ : ถ้าไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ มันก็คือไม่มีสิ่งใดเลย ถ้าไม่มีสิ่งใดเลย นี่มันจะมีได้อย่างไร? สิ่งที่ว่าถ้าไม่มีอะไรเลย มันจะมีสิ่งที่ไม่มีได้อย่างไร? ทีนี้มันต้องมีการเกิดและการดับ ทีนี้พอมีการเกิดและการดับ ถ้ามีการเกิดและการดับ คือมันต้องมีชีวิตก่อนไง คือมันมีชีวิต

อย่างเช่นโยมกับเรา นี่เราไม่เป็นหนี้เป็นสิน เราไม่เป็นอะไรกันเลยเราจะมีอะไรต่อกัน ก็ไม่มี แต่ถ้าเรามีธุรกรรมสิ่งใดก็แล้วแต่ มันต้องเกิดเป็นหนี้เป็นสินกันจริงไหม? ถ้ามีธุรกรรมแล้ว ธุรกรรมนั้นก็ต้องมีมูลค่าขึ้นมา มีมูลค่าก็ต้องมีการตกลงราคากัน ก็ต้องมีต่อไป แล้วถ้ามันไม่มีขึ้นมามันก็คือไม่มี

ฉะนั้น ว่ามันไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ นี่เราจะบอกว่าคิดแบบนี้คิดแบบวิทยาศาสตร์ คิดแบบโลก คิดแบบโลกเพราะอะไร? เพราะเราถือว่าสิ่งที่มีอยู่แล้วมันไม่มีต้นทุน พอสิ่งที่มีอยู่แล้วไม่มีต้นทุน มันก็ต้องไม่มีอะไรเลย นี่คิดแบบวิทยาศาสตร์ เราจะบอกว่าวิทยาศาสตร์แก้กิเลสไม่ได้ เพราะวิทยาศาสตร์ไม่รู้จักกิเลสหรอก แต่ก็เริ่มต้นจากกิเลส กิเลสมันคืออะไร? กิเลสมันคืออวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้ ความไม่รู้มันอยู่ที่ไหน? ความไม่รู้นี่อากาศมันไม่รู้หรือ? อะไรมันไม่รู้? วัตถุมันมีอะไรไม่รู้บ้าง มันก็เป็นวัตถุธาตุ มันไม่มีชีวะ ไม่มีชีวิต มันไม่รู้ตัวมันเอง

แต่จิต จิตมันรู้ตัวมันเอง จิตมันมีพลังงานในตัวมันเอง แต่เพราะมันอ่อนด้อย มันถึงโดนความไม่รู้ครอบงำอีกทีหนึ่ง พอความไม่รู้ครอบงำอีกทีหนึ่ง มันถึงไม่รู้จักตัวมันเอง ปฏิสนธิจิตมันถึงได้ไปเกิด พอมันไปเกิด ไปเกิดเพราะอะไร? เพราะมันมีกรรม มันมีการกระทำ ที่ไหนมีนาม มีรูปมันมีพลังงาน พอมีพลังงาน มีขั้วบวก ขั้วลบมันหมุนของมันไป พอหมุนไปมันก็มีการเกิดดับ พอมันมีเกิดดับเพราะมันมีอวิชชา มีการเกิดดับมันก็หมุนของมันไป มันก็มีการเกิด การดับ แล้วการเกิด การดับมันเกิดที่ไหนล่ะ?

มันเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัตว์ พอมันเกิดขึ้นมาแล้ว ทีนี้ว่าที่ไหนไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ? พระพุทธเจ้านี่ไง พระพุทธเจ้าท่านเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตายท่านถึงได้สะเทือนใจ พอท่านสะเทือนใจท่านถึงมาค้นคว้าของท่าน พอมาค้นคว้าของท่าน ไปค้นคว้าที่อื่นทั่วไปหมดเลย ไม่จบ สุดท้ายแล้วท่านมากำหนดอานาปานสติ คือกำหนดเข้ามาหาจิตของท่าน พอกำหนดเข้ามาหาจิตของท่านมันเกิดที่นี่ไง ความรู้สึกนึกคิดเกิดที่นี่ ความรู้สึกนึกคิดเกิดนะ แต่เวลาที่มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าเกิดอย่างไร?

นี่ไงบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ บุพเพคืออดีตชาติ จุตูปปาตญาณคืออนาคต อาสวักขยญาณที่ทำลายอวิชชา นี่ทำลายอวิชชาคือทำลายความไม่รู้ของมันไง พอความไม่รู้ของมัน ทำลายความไม่รู้ตูมในกลางหัวใจ พอมันรู้แจ้งขึ้นมา เห็นไหม พอมันรู้แจ้งขึ้นมานี่มันไม่มีอวิชชา มันจะไปเกิดอีกไหม? ใครจะดึงมันไป? ใครจะดึงอันนี้ไป?

นี่ที่ว่าไม่เกิด ไม่ดับไง มันไม่เกิด ไม่ดับเพราะว่ามันรู้แจ้งหมดแล้ว มันไม่มีสิ่งใดดึง ไม่มีแรงโน้มถ่วง ไม่มีโมเมนตัม ไม่มีอะไรกับใจดวงนี้เลย แล้วมันจะไปไหน? แต่ที่มันไปอยู่นี่อะไรล่ะ? ก็ยังสงสัยอยู่ไง ยังนึกอยู่ ยังนึกอยู่แล้วบอกไม่เกิด ไม่ดับ แต่ยังนึกอยู่นะบอกไม่เกิด ไม่ดับ

นี่พูดจนตายก็ไม่รู้ คนที่จะรู้ต้องทำความสงบของใจเข้ามา พอใจสงบแล้วค่อยมาค้นคว้ามัน ถ้ามาค้นคว้ามัน มาเห็นมัน นี่เรารู้ได้ว่าเราเกิดจากท้องพ่อ ท้องแม่นะ แต่เราไม่รู้ได้หรอกว่าจิตนี่มันลงในครรภ์อย่างใด ถ้าจิตมันไม่ลงในครรภ์มันจะมีการเกิดหรือ? ถ้าจิตมันไม่ลงในครรภ์มันจะมีการเกิดไหม? ไม่มีหรอก แต่ถ้าจิตมันลงในครรภ์นะเรียบร้อย แล้วไม่เกิดอย่างไร?

เวลาเราพูดกันนี่คือวัฒนธรรมไง วัฒนธรรมคือเราเป็นชาวพุทธใช่ไหม? มันก็มีนิพพานเป็นที่สุดแห่งทุกข์ เราก็เข้าใจกันอยู่ มันก็มีเลือนลางในสมอง ก็เลยบอกว่าถ้าไม่เกิด ไม่ดับจะทำอย่างไร? แต่เวลาทำกันจริงๆ นะ (หัวเราะ) เห็นไหม เห็นเศรษฐีโลกไหม? เขาเป็นเศรษฐีโลกเพราะอะไร? เพราะเขาทำธุรกิจ เราก็อยากทำ เราก็อยากเป็นเศรษฐีโลก แล้วเอ็งลองไปทำดูสิ แล้วเมื่อไหร่เอ็งจะได้เป็นเศรษฐีโลก? เอ็งลองดู

นี่ก็เหมือนกัน ไม่เกิด ไม่ดับ แล้วทำอย่างไรถึงไม่เกิด ไม่ดับ? มันทำได้ มันทำได้เพราะอะไร? มันทำได้เพราะว่าหลวงปู่มั่นมี ครูบาอาจารย์เรามี ผู้รู้จริงมี ผู้รู้จริงกับผู้รู้จริงเขาตรวจสอบกันมี แต่ผู้รู้จริง คิดดูสิทางวิชาการมันมีรู้จริงกี่คน? ไอ้รู้ไม่จริงมันมีกี่คน? ไอ้รู้ไม่จริงมันมากกว่ารู้จริงเยอะมาก ฉะนั้น ถ้าความรู้จริงนี่มันเป็นไปได้ นี่พูดถึงว่าทำไมไม่เกิด ไม่ดับ

อันนี้ก็เหมือนกัน

ถาม : ทำอย่างไรจึงจะไม่มีการเกิด?

ตอบ : เวลาเราเกิดมาแล้วเรามีสถานภาพ คือมีเรา พอมีเราขึ้นมา เราก็มีชีวิตใช่ไหม? เราก็ต้องมีอาหาร เราก็ต้องมีทุกอย่าง เราเกิดมานี่เรามีพ่อ มีแม่ เราเกิดในตระกูลสิ่งใด เราก็รักตระกูลของเรา ฉะนั้น พอเกิดขึ้นมาแล้วมีสถานะ เราก็ต้องดูแลทั้งนั้นแหละ แล้วทำอย่างไรถึงไม่มีการเกิด ทุกคนก็ไม่อยากจะเกิด ถ้ามีการเกิดมันก็ต้องมีการรับผิดชอบ แล้วถ้ามันไม่เกิดทำอย่างไรล่ะ?

มันปฏิเสธไม่ได้ไง ปฏิเสธไม่ได้เพราะจิตนี่ ใครจะควบคุมความรู้สึกเราให้ได้ตลอดเวลา แล้วเวลามันมีเวร มีกรรมนะ อย่างเทวทัตกับพระพุทธเจ้า นี่เกิดมาเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นญาติกันมาตลอดนะ เวลาเกิดมามันก็มีการกระทำ

ถาม : ทำอย่างไรถึงจะไม่มีการเกิด?

ตอบ : ไม่มีการเกิดก็ต้องให้รู้แจ้งในใจของตัว ถ้าเรารู้แจ้งในใจของตัวนะ รู้แจ้งในใจของตัวแล้ว เราจะสงสัยเรื่องอะไรเรื่องนี้เรื่องหนึ่ง แต่เราไม่สงสัยในหัวใจของเราเลย ในหัวใจของเรานี่เราจะรู้เท่าหมดเลย ถ้ารู้เท่าทำอย่างไร? นี่มันก็ต้องมาศึกษานี่แหละ ทำความสงบ ทำสมถกรรมฐาน แล้ววิปัสสนากรรมฐานแยกแยะอย่างไรทางวิชาการ ทางวิชาการของการปฏิบัตินะ

ปริยัติคือการศึกษา ปฏิบัติคือประสบการณ์ คือลงปฏิบัติจริง นี่ปฏิเวธคือรู้แจ้ง มันก็จะไปรู้ว่าทำอย่างไรถึงจะไม่เกิด แล้วคนที่ไม่เกิดแล้วนี่ อธิบายนะธรรมะอยู่ฟากตาย ธรรมะอยู่ฟากตาย ท่านทำมาสมบุกสมบันมาก เพราะคนเรานี่นะ เวลาถึงที่สุดแล้วนี่เข้าข้างตัวเอง เอาไว้เมื่อนั้น เอาไว้เมื่อนี้ เวลาวิกฤติขึ้นมานี่ผลัดแล้ว เอาไว้ก่อนๆ ทุกข์แล้วเอาไว้ก่อน มันไม่กล้าเผชิญหน้าหรอก แต่ถ้าเอาจริงนะมันจะได้จริงของมัน นี่พูดถึงว่า “ทำอย่างไรถึงจะไม่เกิด”

ถาม : ชีวิตพระธุดงค์เป็นอย่างไร?

ตอบ : ชีวิตพระธุดงค์

เพราะถ้ามันบวชแล้ว การบวชเป็นพระ ธรรมดาเวลาบวชพระนี่ได้รุกขมูลเสนาสนัง ได้นิสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ การปฏิบัติมีทุกองค์ เพียงแต่บวชแล้วก็เข้าไปศึกษา ศึกษาอยู่ทางโลกไง เป็นคันถธุระ คือทางวิชาการ คือฝ่ายเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง แต่เวลาพระธุดงค์ เห็นไหม นี่บวชเหมือนกัน บวชกับอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์จะให้เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ แล้วก็ให้รุกขมูล รุกขมูลคือว่าให้ปฏิบัติอย่างนั้น ให้ถือนิสัย ๔

เวลาบวช คนบวชจะมีทุกคน นิสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ เห็นไหม ให้แบบว่าทำได้ ทำไม่ได้ ๔ อย่าง แล้วก็ให้อยู่ด้วยปัจจัย ๔ ที่ว่าบริขาร ๘ มีบาตรคืออาหาร ธมกรกคือน้ำ มีผ้า ๓ ผืน แล้วก็ธมกรก ฉันน้ำดองด้วยน้ำมูตรเน่า มีอยู่ ๔ อย่างแล้วธุดงค์ นี่พระธุดงค์ พระธุดงค์หมายความว่าถือธุดงควัตร ฉันมื้อเดียว ฉันอาสนะเดียว ถือผ้า ๓ ผืน พระธุดงค์ไม่ใช่พระผ้าสีคล้ำๆ ถ้าพระธุดงค์สีคล้ำๆ นะ กางเกงโยมกางเกงสีดำ นี่ยิ่งกว่าธุดงค์อีกเพราะมันออกสีดำเลย ดีกว่าสีกรักอีก

นี่คนบอกว่าพระห่มผ้าสีคล้ำๆ ผ้าห่มเคร่งๆ เคร่งๆ ต่อหน้าเอ็งไง ลับหลังดูว่าเคร่งไม่เคร่ง นี่เปลือกหมด พระธุดงค์คือธุดงควัตร ๑๓ ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือฉันหนเดียวเป็นวัตร ถือผ้า ๓ ผืนเป็นวัตร ถืออาสนะเดียวเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร คือว่าต้องออกบิณฑบาต ต้องเข้มแข็ง แล้วมันจะรู้ของเขา นี่พอถึงที่สุดแล้วนะถือเนสัชชิกคือไม่นอน ไม่นอนเป็นคราวๆ ไป ไม่นอนเป็นคราวๆ ไม่นอนเพื่อปฏิบัติ นี่ชีวิตพระธุดงค์ ทีนี้พระธุดงค์เวลาปฏิบัติไป เหมือนทุกคนที่เรียนหนังสือนี่ตำราเยอะแยะเลย พอไปเปิดแล้วปวดหัวไหม? ทำไมต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษา ทำไมต้องหาอาจารย์ให้ตอบ

นี่ก็เหมือนกัน พอธุดงค์ไปนะ พอมันไปเห็นนิมิต พอมันไปรู้อะไรเข้านี่เดี๋ยวเป็นเรื่อง ถ้ายังไม่ได้ปฏิบัตินี่เก่งนะ พอปฏิบัติไป นั่งไปไปรู้เห็นโน่นเห็นนี่ อ้าว แล้วใครจะตอบล่ะ? ตัวเองยิ่งรู้ก็ยิ่งงง ทีนี้พอหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เวลาท่านฝึกพระ ท่านฝึกพระอย่างนี้ เพราะว่าท่านผ่านมาก่อน พอผ่านมาก่อน เหมือนนักมวย เหมือนวิชาการทหาร พวกเสธ พวกอะไรต่างๆ เขาผ่านสงครามมา แล้วสงครามไหนที่วิกฤตินะเขาจะเอาสงครามนั้นแหละมาเป็นทางวิชาการเลยว่านี่ยุทธวิธีอย่างนี้ รบอย่างนี้ๆ

จิตใจของพระธุดงค์นี่นะ เวลาจิตมันลงไปแล้วมันไปเห็นนะ ถ้าเห็นกาย เห็นกายเห็นอย่างไร? เห็นกายแล้ว เหมือนกับเราไปเห็นข้าศึกแล้ว เห็นแล้วงงยิงไม่เป็น ปืนนี่แข็งเลย นี่พอไปเห็นแล้ว ที่พูดนี้ไม่ได้พูดเล่น นี่พูดจริงๆ นะ เพราะพอไปเห็นแล้วมันทึ่ง มันทึ่ง มันอึ้ง ไปเห็นนี่ เอ๊อะ เอ๊อะ แล้วถ้ายังไม่เห็น นี่ทางวิชาการมันจะเป็นอย่างนั้นนะ

อย่างเช่นเปรียบเหมือนอวิชชา นี่ทางวิชาการนะไปตามโบสถ์สิ เขาจะเขียนภาพอวิชชาเป็นยักษ์นะ อวิชชานี่น่ากลัว ไอ้ความไม่รู้ทำให้เกิด ทำให้เกิด อวิชชามันเป็นยักษ์ เป็นมารเลยนะ แต่เวลาหลวงตาไปเจอนะท่านบอกว่า “เราก็เข้าใจว่าอวิชชามันน่าเกลียด น่ากลัว เพราะอวิชชาความไม่รู้มันทำให้เราเสียหายมาตลอด”

พอไปเจอจริงๆ ท่านบอกว่า “เวลาความเข้าใจก็ว่าเป็นความที่น่าเกลียด น่ากลัว แต่ไปเจอจริงๆ แล้วมันเยิ้ม มันสวยงามยิ่งกว่านางสาวจักรวาล”

นางสาวจักรวาลนี่นะ คือว่าสิ่งที่สวยที่สุด สิ่งที่ประณีตที่สุด สิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งที่สุด นี่คืออวิชชา เราถึงได้ไปติดมันไง นี่คือเวลาเราเห็น เราเห็นสภาวะแบบนั้น แต่โทษของมันคือยักษ์ คือมาร คือมันให้โทษกับเรา เขาเลยเขียนแบบการให้โทษ คือเขียนเป็นรูปว่าเป็นยักษ์ เป็นมาร แต่พอเราไปเห็นเข้า ถ้าเจอยักษ์เราก็วิ่งหนีสิ ไอ้นี่มันไม่ใช่เจอยักษ์ มันไปเจอสิ่งที่ล่อลวง สิ่งที่ทำให้เราเคลิบเคลิ้ม สิ่งที่ทำให้เราเสียหายไป แต่เวลาเขาเขียนมา เขาเขียนมาเป็นยักษ์นะ นี่ยักษ์มันจะกินเอ็งนะ เดี๋ยวจะไปตอบอีกข้อหนึ่ง

นั่นน่ะพระธุดงค์ เวลายังไม่ปฏิบัติยังไม่รู้เรื่องอย่างนี้ แต่ถ้าปฏิบัติไปแล้วนะ ใครยังไม่ได้ปฏิบัติยังไม่รู้หรอก นี่ดูสิเรียนมาทุกคนก็ว่าเก่ง ถ้าพูดถึงให้คะแนนตัวเองนะเอหมดเลย แต่เวลาส่งไปนี่อาจารย์ไม่ให้สักที แต่ถ้าส่งให้ไปนี่เอหมดเลย เพราะกูเก่งๆ นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไปกูเก่งๆ ทั้งนั้นแหละ แต่จริงๆ เรานี่โดนหลอกทั้งนั้นเลย แต่ถ้าบอกตัวเองนะ ตัวเองว่าตัวเองเก่งหมดแหละ เอ๊ะ ทำไมกูไม่ได้ ทำไม โอ๋ย โกรธทั้งนั้นแหละ ทำไมไม่ให้เอ ไม่ได้เอ

นี่ไงถึงว่าชีวิตพระธุดงค์เขาถึงติดครูบาอาจารย์ แล้วครูบาอาจารย์ ถ้าเป็นอาจารย์หมายถึงว่าเวลาเราถามสิ่งใดไป อาจารย์จะตอบได้ อาจารย์จะรู้ แต่ถ้าเราถามสิ่งใดอาจารย์ตอบไม่ได้ มันเป็นการบอกเราว่าอาจารย์ไม่เคยเห็น ถ้าเราถามนะ เราถามปัญหาเลย ปัญหาเป็นอย่างนั้นๆ ถ้าอาจารย์ตอบไม่ได้นะ แสดงว่า ถ้าเป็นพระกรรมฐานที่เขามีกึ๋นนะ เขาจะเก็บบริขารแล้วออกจากที่นั่นไป เพราะรู้ได้ว่าเขาไม่มีกึ๋น ถ้าเขามีกึ๋นนะเขาจะเป็นแบบอย่างให้เรา

ฉะนั้น สิ่งนี้ เรื่องชีวิตพระธุดงค์ ถ้าบวชแล้วจะรู้ ถ้ายังไม่ได้บวชแล้วว่าชีวิตพระธุดงค์เป็นอย่างไรนะ ธุดงค์นี่ความจริงแล้ว สัลเลขธรรมใช่ไหม พระธุดงค์จะพูดกันแต่เรื่องการชำระกิเลส จะพูดกันแต่สถานที่ปฏิบัติที่ดี เขาจะพูดกัน เขาจะคุยกันแต่ในเรื่องการต่อสู้กับกิเลส เขาจะไม่พูดกันเรื่องโลกๆ ไง

โอ๋ย จะไปอินเดีย ไปสังเวชนียสถาน ไม่พูดกันอย่างนี้ อันนี้เขาจะพระเอาบุญ แต่ถ้าพระธุดงค์เขาไม่พูดกันอย่างนั้น เขาจะบอกว่าที่ไหนป่าสงบสงัด ที่ไหนครูบาอาจารย์เข้มงวด ที่ไหนเราทำแล้วมันจะได้ประโยชน์ นี่พระธุดงค์เขาคุยกันอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้พระธุดงค์เขาจะไปธุดงค์อินเดียกัน เขาจะไปเผยแผ่ธรรม เขาจะไป โอ๋ย ไม่พูดเนาะ เดี๋ยวจะไปแซวคนอื่น

นี่คำว่าพระธุดงค์มันจะเข้ากับข้อนี้ ข้อนี้ เห็นไหม

ถาม : ถ้าพระสงฆ์แอบชอบโยม จะผิดศีลไหมคะ?

ตอบ : เออ (หัวเราะ) นี่พระธุดงค์ กรณีอย่างนี้นะ มีพระองค์หนึ่งไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ไปอยู่กับหลวงปู่มั่นที่ทางภาคเหนือ พอไปอยู่กับหลวงปู่มั่นใช่ไหม? นี่มันเป็นเรื่องแปลก มันเป็นเรื่องกรรมไง ธรรมชาตินะของผู้หญิงพวกชาวเขา เขาจะไม่ค่อยออกจากหมู่บ้าน แต่วันนั้นพระองค์นั้น ธรรมดาไปอยู่ในป่า เราจะไปหาแหล่งน้ำ แหล่งน้ำเป็นลำธาร พอถึงเวลาเราจะอาศัยลำธารนั้นเป็นน้ำใช้ น้ำฉัน แล้วสรงน้ำที่นั่นด้วย

มีอยู่วันหนึ่งพระองค์นี้ก็ไปสรงน้ำที่นั่น ไปเจอผู้หญิงชาวเขาอาบน้ำอยู่ พอไปเห็นเข้านี่ โอ้โฮ มันเหมือนบุพเพ ของเดิม เห็นก็ช็อกเลย พอช็อกเลยนี่ ถ้าพระสงฆ์รักโยม (หัวเราะ) เออ ไปรักเขาแล้ว พอไปรักเขาแล้ว พอกลับมานะหลวงปู่มั่นท่านรู้ เห็นไหม ชีวิตพระธุดงค์ พอหลวงปู่มั่นท่านรู้ พอพระองค์นั้นมาทำข้อวัตรท่านพูดอย่างนี้นะ เพราะว่ามันอันตราย อันตรายหมายความว่าถ้าตอนเช้าไปบิณฑบาตก็ต้องไปเจอหน้ากันอีก หลวงปู่มั่นบอกว่า

“ท่านไม่ต้องไปบิณฑบาตนะ ให้ท่านภาวนาเลย เราจะไปบิณฑบาตมาเลี้ยงเอง”

หลวงปู่มั่นไม่เคยทำกับใครอย่างนี้ ทีนี้พอหลวงปู่มั่นไปบิณฑบาตกลับมา พระที่อยู่กับหลวงปู่มั่นนะก็รีบไปถามพระองค์นั้นใหญ่เลยว่า

“อู้ฮู ท่านภาวนาดีขนาดไหน? ทำไมหลวงปู่มั่นไม่ให้ไปบิณฑบาต”

ไอ้พระองค์นั้นบอกว่า “มันจะภาวนาดีอะไร? มันจะตายอยู่นี่ ไปรักเขา ไปรักเขาแล้วมันจะภาวนาดีตรงไหน?”

นี่หลวงปู่มั่นท่านกันไว้เลย เห็นไหม ไม่ให้บิณฑบาต แล้วท่านก็ไปบิณฑบาตมาแล้วให้ฉัน แล้วให้ภาวนา สุดท้ายแล้วภาวนาขึ้นมา ถ้าภาวนาแล้วนะมันจะลด ถ้าภาวนาอดอาหาร ผ่อนอาหาร นี่อดอาหาร ผ่อนอาหารนะ ถ้ามันแบบว่าเรารักก็ส่วนรักนะ แต่ทุกคนจะรักตัวเองมากกว่า ถ้าตัวเองมันทุกข์ มันยาก มันจะเป็นจะตายมันต้องมาดูแลเราก่อน แต่ถ้าเราสุข เราสบายเราจะรักคนอื่นแล้ว

ฉะนั้น พอถ้าอดนอน ผ่อนอาหาร ถ้ามันผ่อนได้มันก็ผ่อนได้ พอผ่อนไม่ได้ปั๊บ หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า ถ้าอย่างนี้แล้วต้องให้หนี ให้หนีหมายถึงว่าให้พระองค์นี้กลับมาในเมืองซะ กลับมาวัด ฉะนั้น พอถึงเวลานะให้กลับมา บังเอิญว่าผู้หญิงคนนั้นก็ไปเยี่ยมญาติอีกหมู่บ้านหนึ่ง ไปเจอกันที่นั่นก็สึกไป นี่อันนี้อยู่ในประวัติหลวงปู่มั่น ในประวัติหลวงปู่มั่นมีนะ

ฉะนั้น

ถาม : ถ้าพระสงฆ์ชอบโยมจะผิดศีลข้อไหน?

ตอบ : เวลาผิดศีล มันผิดศีลในเรื่องการกระทำ เรื่องกาย แต่มันไม่มีอาบัติในความรู้สึกนึกคิดไง มโนกรรมเป็นอาบัติเป็นข้อผิดพลาดมันไม่มี แต่ถ้าเราทำผิด สมมุติว่าเราคิดใช่ไหม? อย่างศีลที่เราทำผิด เรามีการกระทำ มันต้องมีองค์ประกอบมันถึงจะผิดศีล แต่ถ้าไปชอบโยมมันเป็นผิดธรรม ผิดธรรมคือผิดทำนองครองธรรม มันเป็นสิ่งที่ไม่สมควรแน่นอน แต่จะบอกว่าผิดศีล

ถ้าอย่างนี้ ดูสิดูประชาธิปไตย ประชาธิปไตยนี่เขาต้องมีความเห็นต่าง ต้องเคารพความเห็นต่างใช่ไหม? เขาต้องให้แบบว่ามีอิสรภาพทางความคิด ฉะนั้น เวลาปฏิบัติ เห็นไหม ความรักเป็นอิสรภาพทางความคิดไหม?

ฉะนั้น

ถาม : พระสงฆ์แอบชอบโยมเป็นอาบัติข้อไหน?

ตอบ : มันเป็นสิ่งที่ว่าไม่สมควรจะมีเลย แต่ถ้าเราบอกว่ามันผิดศีลข้อไหน นี่มันไม่มีกฎหมายบังคับว่าผิดข้อไหน แต่คำว่าไม่สมควรจะมีเลยเพราะอะไร? มันไม่สมควรจะมีเลยเพราะ เพราะเราได้กินข้าว เราได้ใช้ปัจจัยอาศัยอย่างนั้นแล้ว แล้วเรายังไม่รู้จักคุณของเขาอีกหรือ? เห็นไหม มันถึงไม่สมควรจะเป็นอย่างนั้นเลย

ถ้าอย่างที่ว่านี่ถ้าแอบไปชอบเขา แต่ถ้าเป็นเมตตาล่ะ? อย่างเช่นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านเมตตา ท่านพยายามชักนำ พยายามดึงไปสิ่งที่ดี อันนั้นเป็นความเมตตาธรรม ถ้าเมตตาธรรมมันไม่ใช่ความรักที่เหมือนทางโลกเขานะ อันนี้อันหนึ่ง

ถาม : ความดีไม่มีใครเห็น แล้วจะทำไปเพื่ออะไร?

ตอบ : ก็เพราะการคิดอย่างนี้ไง ความดีต้องทำให้มีคนเห็น มันก็เลยกลายเป็นการจัดฉากความดีไง โลกนี้มีแต่ดีฉากๆ ไง ดีจริงๆ มันหาไม่มีไง ความดีมันไม่มีใครเห็น แล้วทำไปทำไม?

เพราะเรามีความคิดกันแค่นี้ เราถึงไม่เป็นพระโพธิสัตว์ เวลาจะเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระโพธิสัตว์ มันมีนายพรานหลงอยู่ในป่า ๒ คน หลงป่า พระโพธิสัตว์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นกระต่าย เห็นคนป่าเขาหลงป่า แล้วเขาหิวกระหายมาก กระต่ายตัวนั้นเป็นพระโพธิสัตว์ กระต่ายตัวนั้นกระโดดเข้ากองไฟ ให้เอาร่างกายของตัวให้เป็นอาหารของพรานป่า ๒ คนนั้น เพื่อให้พรานป่า ๒ คนนั้นมีชีวิตรอดออกไป นี่พระโพธิสัตว์ทำขนาดนี้

ฉะนั้น เวลาบอกว่าเป็นพระพุทธเจ้า โอ๋ย มันมีอยู่แล้ว เรากราบอยู่แล้ว มันเหมือนสินค้าที่มีอยู่แล้ว เราไม่เห็นคุณค่ามันเลย แต่ถ้าสินค้าเราต้องการแล้วมันไม่มีนี่เราหาเกือบตาย นี่พระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน เวลาตรัสรู้ธรรม นี่อย่างที่พูด บอกว่า

“ทำความดีไม่มีใครเห็น แล้วทำไปทำไม?”

เพราะไม่ทำจิตใจมันถึงอ่อนด้อย จิตใจถึงไม่มีกึ๋น จิตใจมีแต่เป็นเหยื่อ แล้วก็ไหลไปตามเขาไป แต่ถ้าทำความดีๆ จิตใจมันมีหลัก จิตใจมีหลักนี่ใครจะหลอกมันไม่ได้ใช่ไหม? มันมีหลักมีเกณฑ์ มันมีหลักใช่ไหม? ใครจะมาชักนำ โน้มนำมันไม่ไปหรอก ถ้าจิตใจคนมีหลัก นี่มันมีหลักมันเกิดได้อย่างไรล่ะ? ทุกคนก็อยากจะมีปฏิภาณไหวพริบ ทุกคนอยากเป็นคนฉลาด ทุกคนอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทุกคนอยากจะไบร์ท แล้วถ้าเอ็งไม่ฝึกใจเอ็ง เอ็งจะเป็นไหม? นี่ผลงานทางห้องแล็ปมันจะไปขโมยใครมา?

มีนะ มีนักศึกษาเรานี่แหละ ไปอยู่เมืองนอกแล้วไปทำวิทยานิพนธ์ แล้วกลับมาโดนอาจารย์ขโมยไป มาคุยให้เราฟังเยอะ ฝรั่งนี่ ไปทำวิทยานิพนธ์นี่นะให้เขาตรวจๆ แล้วเขาลักเอาไปเป็นผลงานเขาเลย นักศึกษาต้องไปทำใหม่ นี่ไงเอ็งไม่มีกึ๋นเลย เอ็งไปขโมยความดีเขา แล้วเราทำไปทำไม? เราทำไปทำไม?

เราทำความดีเพื่อความดี ความดีไม่มีใครเห็น นี่พูดถึงคำถามนะ แต่ความจริงนี่จริงไหม? ใครไม่เห็น? ใครเป็นคนทำความดี? ใครเป็นคนทำ? เห็นไหม? แล้วใครไม่เห็นล่ะ? ไม่มีหรอก ความลับไม่มีในโลกจำไว้ ความลับไม่มีในโลก คนทำนั่นแหละเห็น คนทำนั่นแหละเห็น แต่คนอื่นไม่เห็น เพราะคนทำมันเห็นไง เพราะคนทำมันเห็น แล้วคนทำก็ท้อใจไง คนทำก็ว่านี่ทำดีเกือบตาย ทุกคนจะมาหาเรานะ บอกว่า “หลวงพ่อ นี่ทำความดีทุกวันเลย ตักบาตรทุกวันเลย ทำไมทุกข์ขนาดนี้? ทำไมทุกข์ขนาดนี้?”

อ้าว ไอ้ทุกข์มันส่วนทุกข์สิ ถ้าเอ็งไม่ทำเอ็งจะทุกข์ขนาดไหน? เพราะเวลาทำมันผ่อนคลายไง นี่เราได้เสียสละแล้วนะ สิ่งใดเราได้เสียสละ นี่สิ่งต่างๆ ให้มันพ้นภัยกันไป อย่างเช่นเราลอยกระทง เห็นไหม ทุกข์ โศก โรคภัยให้มันไป นี่เราได้พยายามให้มันมีทางออก แล้วถ้าไม่มีทางออกล่ะ? มันไม่มีทางออกมันจะทุกข์ขนาดไหน?

ถาม : ทำความดีไม่มีใครเห็น แล้วจะทำไปทำไม?

ตอบ : เพราะคิดกันแบบนี้จิตใจมันถึงได้อ่อนแอ แต่ถ้าคิดในเชิงบวกนะ เราทำดีเพื่อดีไง ถ้าเราทำความดีเราไม่รู้ พระโพธิสัตว์มันจะสมบูรณ์ได้อย่างไรล่ะ? ๔ อสงไขยย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ทำความดีอย่างไรถึงความดีจะเต็ม พอความดีเต็มจะได้ไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้า เราทำอย่างนี้ทำความดีเต็ม ถ้าเราไม่รู้มันจะเต็มได้อย่างไร?

เรารู้ แต่ไอ้ความดีโลก เดี๋ยวนี้ความดีแบบการเมืองเยอะ ฉะนั้น เขาถึงแย่งความดีกัน พอแย่งความดีกันแล้วก็ทะเลาะกันเรื่องดีๆ นั่นแหละ เรื่องชั่วๆ ไม่ทะเลาะกันหรอก เรื่องดีๆ ทะเลาะกัน อันนี้มันจะออกไปทางโลกนะยกไว้ ฉะนั้น เราคิดกันเองไง เราทำความดีเถอะ ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเด็ดขาด ทำดีต้องได้ดี บากบั่นทำ บากบั่นทำ ทำความดีๆ ใครจะว่าโง่ ใครจะว่าอย่างไรช่างเขา

หลวงตาท่านพูดประจำนะ “ใครจะดี จะชั่วเรื่องของเขา เราจะทำความดีว่ะ เราจะทำความดีว่ะ”

ท่านทำของท่าน ท่านทำของท่าน แล้วเราทำแล้วนะ ดูสิเราทำความผิด เราทำความผิดนะแล้วเขาจับเราไม่ได้ แต่ความผิดอยู่กับเราไหม? แต่ถ้าเราทำความดี เราทำความดีของเราตลอดเลย แล้วเขาก็จับเราไม่ได้ แล้วความดีอยู่กับเราไหม?นี่ทำความดีๆ พอเราทำความดีนะ ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ แล้วจริงหรือ? เห็นคนดีๆ คนดีๆ เราคอยกลั่นแกล้ง

อันนั้นเวลาทำความดีมันจะมีอุปสรรค ไม่ใช่ทำความดีแล้วทุกคนจะว่าดีหรอก ถ้าทำความดีโดยที่ว่าทำความดีแล้วเขาจะว่าเราดีนะ อีกชาติหนึ่งก็ไม่เป็นความดี แต่ทำความดีแล้วไม่สนใจเลย เขาจะบอกว่าไอ้นั่นดีเว้ย ไอ้นั่นดี เพราะเราอยากได้ดีไง เราทำของเราไป แต่ทางโลกนะ ทางโลกมันมีการแข่งขัน แล้วทางโลกมันซับซ้อน สังคมมันซับซ้อนนัก ฉะนั้น เราทำความดีเพื่อดี จบ แล้วเราเอาคุณงามความดีกันไป แล้วทำไว้เพื่อทำไม?

๑. ทำไว้เพื่อบุญกุศล

๒. ทำไว้เพื่อความสบายใจ

เรานั่งอยู่บนความสะอาดบริสุทธิ์ สบายใจไหม? เรานั่งทับความชั่วของเรา เรามีความทุกข์ไหม? โธ่ แค่นี้ก็ชัดๆ แล้ว ถ้าเราไม่มีสิ่งใดที่เรานั่งทับไว้เลยนะ จบ เราทำความดีของเรา ใครจะว่าอย่างไรเรื่องของเขา เพราะเราเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไอ้นั่นมันเชื่อเทวทัต เทวทัตมันจะพากันไป เราไม่เชื่อเขา

ถาม : ในปัจจุบันนี้มีการเขียนว่ากันในเฟสบุ๊ค จะถือว่าบาปหรือผิดศีลไหม?

ตอบ : ไอ้เขียนว่ากันมันก็เขียนว่ากัน เขียนว่ากันเขาคิดว่าเขาถูกไหมล่ะ? เขารู้จริงหรือเปล่า? ถ้าเขาไม่รู้จริงนะ ถ้าเขาไม่รู้จริง แต่เหตุผลเขาดีก็โน้มนำกันไป เพราะเวลาเราผิด เราหลงผิดมันก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีอยู่แล้วล่ะ แต่ถ้าเราไปทำให้คนอื่นหลงผิดนี่บาปกรรมมันมากกว่าไง เราเองหลงผิด เพราะเราทำตัวเราเอง เพราะเรามีความเห็นผิด ทำให้ชีวิตเราบิดเบี้ยวไปเลย แต่ถ้าเราไปชักนำให้คนอื่นหลงผิด เห็นไหม ชีวิตของเขา ความเป็นอยู่ของเขา

ฉะนั้น เถียงกันในเฟสบุ๊ค ถ้าเป็นความจริง นี่ถ้าเป็นความจริงจะเถียงนะ ฉะนั้น เถียงในเฟสบุ๊ค ของเรามีคนเอาไปออกเหมือนกัน เราพยายามจะห้ามเขา แต่ของเราที่เราออกไปในอินเตอร์เน็ตของเราก็มี เราออกไปเพื่อเป็นบรรทัดฐาน (นั่นแน่พูดบรรทัดฐานเชียวหรือ)

เราคิดว่าเราออกไปเป็นบรรทัดฐาน ถ้าใครเถียงกัน ใครเห็นถูก เห็นผิด เทียบเคียงเข้ามาดูของเราได้ ถูกหรือผิด เว็บไซต์เราก็มีเหมือนกัน ฉะนั้น เวลาเราพูดไปมันก็ต้องมีความมั่นใจไง มีความมั่นใจ มีความมั่นคงในสัจธรรม มันถึงเห็นจริงไง อันนี้พูดถึง “ในปัจจุบันมีการเขียนว่ากันในเฟสบุ๊ค ถือว่าบาปไหม?”

ถ้าเราเห็นว่ามันเป็นความผิด แต่ถ้าเราเขียนเพื่อประโยชน์นะ เราว่ามันก็เป็นประโยชน์ เพราะมันเป็นสื่อ เดี๋ยวนี้โลกมันเจริญแล้ว ในเฟสบุ๊ค ในอินเตอร์เน็ตมันก็เหมือนสื่อสารมวลชน เป็นการสื่อความหมายกัน ถ้าเราสื่อเพื่อประโยชน์ แต่เราไม่ได้สื่อเพื่อโทษ เราไม่ได้สื่อเพื่อหลอกลวง เราไม่ได้สื่อเพื่อผลประโยชน์ เราจะว่าอย่างนั้นนะ เดี๋ยวนี้โลกมันไปไกล เราบวชมา ๓๔ ปีนี้ ก้าวไม่ทันโลกหรอก ก้าวไม่ทันโลก

ถาม : ถ้าเราสมาธิสั้น เราจะมีวิธีแก้อย่างไร?

ตอบ : ถ้าสมาธิสั้นใช่ไหม? นี่เราก็ฝึกหัดใช้สติ

หลวงตาบอกว่า “แม้แต่ความฟุ้งซ่าน แม้แต่ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เวลามันมีมาแรงๆ อารมณ์ความรู้สึกเรามันเหมือนกับพายุ แล้วคิดดูสิว่าฝ่ามือมันสามารถกั้นพายุได้อย่างไร? ฝ่ามือนี่”

ท่านบอกฝ่ามือนี่สามารถกั้นพายุได้ เวลาพายุ เห็นไหม ฝ่ามือกับพายุมันคนละเรื่องเลย แต่ถ้าเวลาเรามีอารมณ์ปั่นป่วนในหัวใจ นี่เหมือนกับพายุมันมา ถ้าเราฝึกหัดใช้สติ กำหนดรู้ ระลึกรู้ คือยึดมั่น ระลึกรู้ตัวเอง ถ้าระลึกรู้ตัวเองมันก็เหมือนกับฝ่ามือ มันสามารถปิดกั้นอารมณ์ของเราได้หมดเลย ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เราตั้งสติระลึกรู้ ระลึกรู้ มันมั่นคง ถ้ามันมีสิ่งใดที่มันรุนแรงมาในความรู้สึกนึกคิดที่มันจะฉุดกระชากใจเราไป ต้องให้ทำอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น มันมีความโกรธแค้นอย่างนั้น เราตั้งสติของเรา นี่ตั้งสติของเราเพื่อเป็นฝ่ามือกั้นพายุนั้น

ถาม : นี่ถ้าสมาธิสั้น เรามีวิธีแก้อย่างไร?

ตอบ : ถ้าเรามีสติ เห็นไหม เรามีสติ แล้วเราระลึกต่อเนื่องๆ ทุกอย่างในโลกนี้นะ ถ้าใครมีความมุมานะที่จะแก้ไข แก้ไขได้ แต่พอมีสมาธิสั้น อืม เราเป็นคนสมาธิสั้นเว้ย ก็เลยต้องยอมรับสมาธิสั้น มันก็จะสั้นอยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าสมาธิมันสั้นใช่ไหม? เราจะฝึกตัวเรา เราจะแก้ไขตัวเรา เราไม่ยอมรับความเป็นสมาธิสั้น

เพราะสมาธิมันคืออะไรล่ะ? สมาธิ เห็นไหม สมาธิไม่ใช่จิต จิตมันเป็นพลังงาน สมาธิมันเกิดจากจิต ถ้าเรามีจิตอยู่นี่เราแก้ไขของเราได้ ถ้าเราแก้ไขของเราได้ เราก็ฝึกฝนของเราได้ ถ้าเราฝึกฝนของเราได้นะ ฝึกฝนของเราได้ เดี๋ยวเรารู้ของเราเอง รู้เพราะว่าสมาธิมันมั่นคง มันทำอะไรดีขึ้น ทำอะไรดีขึ้น ถ้าทำอะไรดีขึ้น สมาธิมันมา สมาธิมันมา

ถ้ามีสมาธิ ทำสิ่งใดจะผิดพลาดน้อย จะบอกไม่ผิดเลยไม่ได้ ถ้ามีสติ มีสมาธิ ทำสิ่งใดจะผิดพลาดน้อย แต่เพราะเราขาดสติ สมาธิเราไม่ดี ทำสิ่งใดจะเกิดความผิดพลาดมาก ถ้าความผิดพลาด ความผิดพลาดเกิดจากอะไรล่ะ? เกิดจากความประมาท ความพลั้งเผลอทั้งนั้นแหละ ถ้าเรามีสมาธิ มีสติ ความพลั้งเผลอมันก็ต้องน้อยลง ถ้าน้อยลงเราทำของเราไป

ฉะนั้น เราแก้ได้ เพราะสิ่งนี้เป็นนามธรรมทั้งนั้น สิ่งที่เป็นนามธรรม เราก็ฝึกกันด้วยนามธรรม พอฝึกกันด้วยนามธรรม เห็นไหม มันเป็นไป เรารักษาของเรา เราดูแลของเรา มันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา เป็นประโยชน์กับเรานะ

ถาม : นี่สมาธิสั้นแก้ได้อย่างใด?

ตอบ : ถ้าสมาธิสั้นเราก็แก้ด้วยการตั้งสติ ตั้งสติของเราไว้ ตั้งสติของเราไว้ พอสติ เพราะมีสติปั๊บสมาธิมันก็ต่อเนื่องๆ ถ้าสมาธิต่อเนื่องไป นี่สมาธิสั้นมันก็เป็นสมาธิยาว ถ้าสมาธิสั้นเป็นสมาธิยาวมันก็ใช้ได้แล้ว แล้วเวลาการศึกษานั้นเราก็ไปฝึกหัดของเราอีกทีหนึ่ง ถ้าเราฝึกหัดของเราขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์นะ ถ้าเป็นประโยชน์ นี่ประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น ปัญหาจบแล้ว