ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

พระสงฆ์

๓o มี.ค. ๒๕๕๕

 

พระสงฆ์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราจะอ่านคำถามไปรอบหนึ่งก่อนเนาะ แล้วเดี๋ยวเรามาไล่ตอบไปทีละข้อ ถ้าไม่ไล่ไปแล้วเดี๋ยวมันจะงงไง

(คำถาม)

๑. พระสงฆ์หลงรักเพศเดียวกันจะอาบัติหรือไม่?

๒. การทำบุญทางเว็บไซต์ได้บุญหรือไม่?

๓. ถ้าหากผู้ชายแปลงเพศเกิดอยากบวช สามารถบวชได้หรือไม่?

๔. ถ้าหากได้มีส่วนร่วมกับการทำแท้ง โดยที่ไม่รู้จะมีผลต่อเราหรือไม่?

๕. มีคำพูดใดที่สามารถโน้มน้าวจิตใจให้บุตรบวชโดยที่ไม่บังคับจิตใจ

๖. การที่มีคนมารักเรา แล้วเราปฏิเสธไป ทำให้เขาไปทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย เราจะบาปหรือไม่?

๗. ถ้าพ่อกับแม่ทะเลาะกัน เราจะมีวิธีการอย่างใดในการแก้ไข

๘. การที่คนเราเห็นผี ถือว่าเราเคยทำเวรกรรมต่อกันมาใช่หรือไม่?

๙. เคยได้ยินมาว่าในการทำบุญ แล้วบอกคนอื่นให้อนุโมทนาเป็นสิ่งที่เป็นบุญอย่างหนึ่ง หรือเราควรทำบุญโดยที่ไม่บอกให้ใครรู้เลย อันไหนดีกว่ากัน

๑๐. หากโดนผู้อื่นดูถูกเหยียดหยาม จะมีวิธีการรักษาใจของเราอย่างไร?

ถาม : ๑. พระสงฆ์หลงรักเพศเดียวกันจะอาบัติหรือไม่?

ตอบ : พระสงฆ์หลงรักเพศเดียวกันที่ไหน? นี่เวลามีเพศ เห็นไหม เพศนะ พูดถึงเรามีเพศหญิงและเพศชาย นักบวชนี่เป็นเพศหนึ่ง เพศนักบวช ฉะนั้น ถ้าหลงรักในเพศเดียวกัน หลงรักในเพศเดียวกันมันเป็นเรื่องกิเลสแล้ว เป็นเรื่องความภายใน

พระสงฆ์เวลาบวชแล้วนะ เวลาบวช เห็นไหม นี่เป้าหมายในการบวช พระพุทธเจ้านะ เวลาครั้งแรกพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เวลาพระพุทธเจ้าปรารถนาสร้างบุญญาธิการมา เริ่มต้นตั้งแต่หลักของศาสนาก่อน หลักของศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมา เวลาสร้างบุญญาธิการนี่ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย คือการเกิดตายๆ ในวัฏฏะ แล้วพระพุทธเจ้าเคยเกิดกับพระพุทธเจ้าองค์ต่างๆ มา จนพระพุทธเจ้าพยากรณ์ไง พยากรณ์ว่า “ต่อไปจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อว่าสมณโคดม”

ถ้าพระพุทธเจ้าพยากรณ์แล้ว พวกพระโพธิสัตว์จะกลับใจไม่ได้ แต่นี่ความปรารถนาดีของคน ปรารถนาดีคือเป็นพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์หมายถึงปุถุชน พระโพธิสัตว์หมายถึงผู้ที่สร้างสมบุญญาธิการ ปรารถนาสร้างบุญบารมีไปเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายภาคหน้า

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบวชนะ เวลาประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาที่เป็นราชกุมาร จะได้เสวยราชย์ ทีนี้พอไปเที่ยวสวน เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย มันเห็นฝั่งตรงข้ามไง มันสะเทือนถึงฝั่งตรงข้าม ถ้าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายทำอย่างใด? นี่อย่างเช่นตอนเช้าถามว่า “ถ้าไม่เกิด ไม่ตายทำอย่างไร?”

ไอ้นี่มันเป็นเพ้อเจ้อ มันไม่มีหลักแหล่งว่าไม่เกิด ไม่ตายเป็นอย่างไร? เพียงแต่เราเป็นชาวพุทธใช่ไหมเราก็ว่าไม่เกิด ไม่ตาย ไม่เกิด ไม่ตายในอะไร? ตอนนี้กำลังเพ้อเจ้อกัน ในศาสนานี่เพ้อเจ้อ เพ้อเจ้อ เพ้อฝันไปหลุดโลก แต่ถ้าเป็นความจริงนะ เป็นความจริงนี่คนใดทุกข์ คนใดเกิด คนๆ นั้นถึงมีหลักมีเกณฑ์ คนๆ นั้นจะสำนึกตน แล้วคนๆ นั้นจะทำดี

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเที่ยวสวนนะ เห็นยมทูต เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบุญไว้มาก ทีนี้สร้างบุญไว้มาก มันก็เหมือนที่ว่ากรรมนี่ต้องบังคับตายตัวมาอย่างนั้น แต่ แต่กรรมบังคับตายตัวมาอย่างนั้นนั่นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบุญญาธิการมาก นี่พวกเทวดา อินทร์ พรหมเขาพยายามโน้มน้าวให้เป็นแบบนั้น ถ้าโน้มน้าวให้เป็นแบบนั้น นี่ยมทูตก็เทวดามาแปลงกายนั่นแหละ ให้เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย แล้วถ้าฝั่งตรงข้ามล่ะ? ถ้าเราไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย นี่มันมีที่มาที่ไป

ฉะนั้น พอมีที่มาที่ไปถึงสะเทือนใจ สะเทือนถึงออกบวช พอออกบวช นี่เราจะบอกว่าเป้าหมายของพุทธศาสนาคือสิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งนั้น ทีนี้เป้าหมายของพุทธศาสนาคือสิ้นสุดแห่งทุกข์ใช่ไหม? พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา นี่พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม มันเป็นความลึกลับมหัศจรรย์ ทั้งๆ ที่มีความพร้อมมาเพื่อจะมาเผยแผ่ธรรมนะ แต่เพราะมันละเอียดลึกซึ้ง มันคนละมิติ มิติของโลกกับมิติของธรรม

ฉะนั้น คำว่ามิติของโลก นี่วิทยาศาสตร์ ในพระไตรปิฎก ธรรมและวินัยนี่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม คือรู้จริง รู้จริงแล้วเขียนตำราไว้ในพระไตรปิฎก แล้วเราก็ไปศึกษาตำรากัน ท่องตำรากัน แล้วว่าตำรานั้นเป็นความจริง ตำรานั้นเป็นความจริง แล้วก็พยายามเอาความจริงนั้นออกมาจากตำรา พยายามจะเอามาคั้น เอามาแสวงหาเรื่องในตำรา มันเลยไม่มี มันมีความจริงอยู่ที่หัวใจ ทีนี้พอมีความจริงอยู่ที่หัวใจ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว ถึงท้อใจนะว่าจะสอนกันอย่างไร? เพราะมันเป็นเรื่องการรื้อภพรื้อชาติ เรื่องการไม่เกิด ไม่ตาย ทีนี้พอเรื่องไม่เกิด ไม่ตายทำอย่างไร?

นี่จนต้องดูนะ เล็งญาณนะจะไปสอนอาฬารดาบส อุทกดาบสก่อน เพราะว่าเคยไปเรียนกับเขา นี่เขาได้สมาบัติ ๘ สมาบัติ ๖ เขามีพื้นฐานของเขา ถ้าแนะนำเขา การทำความสงบของใจนี่กำปั้นทุบดิน ที่เขาทำกันอยู่นี่โลกียปัญญา ใครทำอะไรก็แล้วแต่ ผลของมันคือความสงบ ทุกคนบอกใช้ปัญญา นี่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา อู้ฮู ใช้ปัญญากันไปใหญ่เลยนะ อู๋ย นี่เป็นนักปราชญ์กันหมดเลย มันเลยปราศจากไม่ได้อะไรเลย เพราะมันไม่มีหลักใจ มันไม่เปิดบริษัท ไม่มีบัญชี เห็นไหม เราไม่เปิดบัญชี ใครจะโอนเงินมาให้เราได้ ถ้ามันไม่เห็นใจของมัน มันเริ่มต้นปฏิบัติไม่ได้ ไม่เกิด ไม่ตาย ไม่เกิด ไม่ตายลอยฟ้ามาจากไหน? ไม่เกิด ไม่ตายมันต้องมีที่มาที่ไปสิ

ฉะนั้น เวลาเล็งญาณไปหาอาฬารดาบส อุทกดาบส ก็ตายเสียแล้วเมื่อวานนี้เอง เสียดายมาก ก็เล็งญาณ เล็งญาณไปเห็นปัจญวัคคีย์ ไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ เห็นไหม พอไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ ปัญจัคคีย์อุปัฏฐากอยู่ คนที่พยายามสมบุกสมบัน แล้วมีคนดูแลอุปัฏฐากอยู่ มันก็เหมือนปฏิบัติไปพร้อมกัน แต่การปฏิบัตินั้นพระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ ฉะนั้น มันไม่มีมรรคญาณ ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีความจริง ต่างคนต่างดันกันไปจะไปให้ได้ มีแต่แรงปรารถนา มีแต่ความจงใจ มันไปไม่รอดไง พอไปไม่รอด พระพุทธเจ้าถึงหันกลับมาฉันอาหารของนางสุชาดา แล้วคืนนั้นปฏิญาณตน

“ถ้านั่งนะ ถ้าไม่ได้ตรัสรู้ธรรม จะตายคาท่านั่งนี้เลย”

นี่สมบุกสมบันมาทั่วหมดแล้ว กลับมาสำเร็จในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทีนี้พอไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ก็ได้อุปัฏฐากมา ก็ได้อุปัฏฐาก ได้ประพฤติปฏิบัติมา ประพฤติปฏิบัติ ๖ ปี ดูสิคนบวช ๖ ปีมันต้องทำความสงบของใจมามีหลักมีเกณฑ์ เพราะมีอำนาจวาสนา แต่ไม่มีปัญญา ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีการชี้นำไป เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศน์ธัมมจักฯ เห็นไหม พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก

นี่เราจะรวบรัดนะ เวลาพระพุทธเจ้าไปเทศนาพระอัญญาโกณฑัญญะ แล้วเทศนาว่าการเอาพระยสะได้ ๕๔ องค์ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“เธอทั้งหลายพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์”

บ่วงที่เป็นโลกเราติดกันหมดเลย บ่วงที่เป็นโลก เห็นไหม โลกธรรม ๘ ชื่อเสียง เงินทอง นี่บ่วงของโลก ศักยภาพของโลก บ่วงของโลก บ่วงที่เป็นทิพย์ไง คนอยากจะมีความร่มเย็น อยากเกิดเป็นพรหม เป็นอินทร์ อู้ฮู นี่บ่วงที่เป็นทิพย์ ถ้าพระอรหันต์พ้นจากบ่วงที่เป็นโลก นี่โลกธรรม ๘ สิ่งที่โลกเขาแสวงหากัน มันเป็นภาระ มันเป็นเครื่องแบกหาม มันเป็นของหนัก มันเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย บ่วงที่เป็นทิพย์ เราต้องไปเกิด ไปตายอีก เห็นไหม

พระพุทธเจ้าบอกว่า “เธอทั้งหลายพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์ เธอจงไปอย่าซ้อนทางกัน โลกนี้เร่าร้อนนัก”

นี่โลกนี้เร่าร้อนนัก เหมือนเราเป็นไข้ทุกข์ยากนัก ต้องการยาคือธรรมโอสถ ฉะนั้น เวลาเป้าหมายของพระสงฆ์ที่บวช เริ่มต้นบวชเพื่อพ้นจากทุกข์ นี้เราพูดถึงเป้าหมายนะ แล้วพอเป้าหมาย ถ้าใครมีเป้าหมายอย่างนี้ มันจะมีความตั้งใจ มีความจงใจ พฤติกรรมของเขา เราอยากเป็นคนดี เห็นไหม เราเป็นชาวสวนที่ดี เราก็ต้องดูแลสวนของเรา เพื่อจะมีผลของมัน เพื่อเราจะได้กินเพื่อดำรงชีวิตของเรา เพื่อได้เจือจานใคร เราทำธุรกิจต่างๆ เราก็ต้องดูแลผลงานของเรา

เราเป็นพระ เราอยากปฏิบัติ อยากจะพ้นจากทุกข์ เห็นไหม ถ้าเรามีเป้าหมายแล้ว พระนี่จะเริ่มเห็นศีล สมาธิ ปัญญามีคุณค่า ถ้าศีล สมาธิ ปัญญามันมีคุณค่า เพราะสิ่งนี้ศีล สมาธิ ปัญญาจะพาเราให้พ้นจากทุกข์ เทคโนโลยีที่พาเราพ้นไป เขาจะทำลายตรงนี้ไหม? เขาจะมาว่าพระสงฆ์หลงรักเพศเดียวกัน จะเป็นอาบัติหรือไม่? เขาจะทำอย่างนี้ไหม? ถ้าคนเรามีเป้าหมายจะทำอย่างนี้ไหม? เรื่องไร้สาระ พระสงฆ์หลงรักเพศเดียวกันมันเรื่องไร้สาระ ถ้าคนมีเป้าหมายที่ดี เป้าหมายที่เขาจะพ้นจากทุกข์ เรื่องนี้ไม่ต้องถามก็รู้อยู่แล้ว

พระพุทธเจ้าสอนนะ นี่พวกนี้ไม่เชื่อ พระพุทธเจ้าสอนว่า “ที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” ที่ไหนมีความรัก ที่นั่นมีความทุกข์ นี่แล้วถ้าพระสงฆ์ไปหลงรักเพศเดียวกัน พระพุทธเจ้าสอนแล้วที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ แต่พวกเราบอกมันมีทุกข์ที่ไหน? มันมีความสุข มีความปลื้มใจ เออ เดี๋ยวถ้ามันหักนะมันจะทุกข์

ที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ นี่พระพุทธเจ้าเทศน์เองนะ พระพุทธเจ้าเทศนาว่าการบอกว่าที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ แล้วคนก็จำคำพูดไปบอกกับกษัตริย์ จำชื่อไม่ได้ ไม่เชื่อนะเพราะเขามีความสุขมาก ไปถามพระพุทธเจ้าว่า

“เป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ? พระพุทธเจ้าพูดอย่างนั้นจริงๆ หรือ? ที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์”

พระพุทธเจ้าบอก “จริง ที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์”

ในเมื่อมีความรักนะมันต้องมีความทะนุถนอม มีความดูแลรักษา มีความผูกพัน อันนี้เป็นทุกข์ไหม? เพราะเรารักเราถึงว่าเป็นความสุข แต่ความจริงเป็นความทุกข์ทั้งนั้นแหละ ดูพ่อแม่สิ ลูกออกมานี่ความรักที่สะอาดบริสุทธิ์นะ ความรักของพ่อแม่เป็นสิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์มากเลย แล้วดูสิตอนนี้พ่อแม่อยู่บ้านคิดเลย ลูกเราไปไหน? ลูกเราไปนี่จะจริงหรือไม่จริง นี่อยู่บ้านก็นอนทุกข์อยู่นั่นน่ะ รักไหม? รัก ที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ ทุกข์มาก ทุกข์น้อยเท่านั้นแหละ

ฉะนั้น ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้ว ที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ พระสงฆ์จะหลงรักไหม? ทีนี้นี่พูดถึงเป้าหมายของศาสนาก่อน ฉะนั้น ถ้าพูดถึงเป้าหมายของศาสนา ถ้าคนบวชมาแล้วมีเป้าหมายอยากจะพ้นจากทุกข์ เหมือนชาวสวน ชาวสวนเขาต้องดูแลพืชพันธุ์ของเขา เขาต้องดูแลอย่างเต็มที่เลย เราเป็นพระ ถ้าเราบวชมาเราอยากจะพ้นจากทุกข์ เราจะดูแลหัวใจเราเต็มที่เลย ถ้ามันแฉลบ มันออกนอกลู่นอกทาง ต้องมีสติ ต้องมีปัญญาบังคับมัน ต้องมีเหตุมีผล

ในทุกวงการมันต้องมีทั้งคนดีและคนชั่วในทุกวงการ ฉะนั้น คนชั่วหรือคนที่ทำผิดพลาดไป ถ้าเขาไม่มีสติปัญญาสามารถเหนี่ยวรั้ง เขาทำสิ่งนั้นไปเขาก็เสียหายของเขา ตาลยอดด้วน ถ้าเขาทำความเสียหายของเขานะ เขาจะมีเวร มีกรรมของเขาไป แต่ถ้าคนมีสติปัญญาเขาจะรั้งของเขา ฉะนั้น ถ้าเราเล่านิทาน ไม่ใช่นิทานหรอก ความจริงในวงการของพระเรา นี่เรื่องอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าเรื่องอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาได้เพราะอะไร? เพราะทุกคนควบคุมใจตัวเองไม่ได้หรอก

ทุกคนเวลาเกิดขึ้นมานี่นะ เราจะมีสติปัญญาเหนือความรู้สึกนึกคิดเรานี่เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเราฝึกหัด เราเห็นโทษของมัน เราจะพัฒนาขึ้นมาจนเราจะควบคุมมันได้ ถ้าควบคุมมันได้ บริหารจัดการมันได้ นั่นคือมรรค มรรคคือศีล สมาธิ ปัญญา ที่มันเป็นธรรมจักรที่มันหมุน เวลามันหมุนขึ้นมา มันเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมานะ มันเป็นสิ่งที่จับต้องได้เลยนะ พอเป็นสิ่งที่จับต้องได้นี่มันเข้าไปทำลาย เข้าไปทำลายเชื้อไข สิ่งที่มันกระตุ้นให้เกิดความรัก

อะไรทำให้เกิดความรัก เอ็งไปรักเขานี่เอ็งหน้าด้านไหม? ทำไมเอ็งหน้าด้านขนาดนี้? เอ็งไปรักเขาได้อย่างไร? แล้วรักมันเป็นโทษ แล้วมันเป็นโทษอย่างไร? นี่มันพิจารณาของมันนะ แล้วมันจะปล่อยของมัน ถ้ามีปัญญานะ ถ้าปัญญานี่ถ้าธรรมจักรมันเกิดขึ้น ถ้ามันเกิดขึ้นมันจะย้อนกลับมา ย้อนกลับมา มาแก้ไข

ฉะนั้น นี่พูดถึงว่าในเรื่องของใจมันหักห้ามกันยาก หักห้ามกันไม่ได้ แล้วมันเกิดขึ้นไหม? เกิด อย่างตอนเช้าเราพูดถึง เห็นไหม ที่ว่าหลวงปู่มั่นท่านดูแล มี ในวงกรรมฐาน ในวงกรรมฐานสมัยที่ว่าลูกพ่อเดียวกัน หลวงปู่มั่นท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ แล้วมีลูกศิษย์ได้ผลิตผลออกมาจากหลวงปู่มั่นเป็นลูกพ่อเดียวกัน จะรักกันมาก จะดูแลกัน เพราะเราชอบศึกษาเรื่องอย่างนี้ พอเรื่องอย่างนี้ปั๊บ เวลาพระที่มีปัญหาสิ่งต่างๆ เขาจะคอยดูแลกัน เขาจะคอยให้สติกัน เขาจะคอยชักนำกันมาในสิ่งที่ดี ถ้าพระที่รักกันจริงๆ นะ

ฉะนั้น สิ่งที่พอสังคมมันกว้างขึ้น แล้วสังคมมันกว้างขึ้น ถ้าพระองค์ใดมีความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมา แล้วเรามีความคิดที่ดีจะไปชักนำเขา เขาหาว่าเราอิจฉาเขานะ แล้วหาว่าเราจะไปซ้ำเติมเขานะ นี่เวลามุมมองของจิต เวลากิเลสมันครอบงำแล้วมันจะมองผิดไปหมดเลย ใครปรารถนาดีกับเราก็หาว่าเขาจะจับผิดเรา แต่ถ้าจิตใจมันไม่มีกิเลสครอบงำนะ พอเขามาพูดในแง่มุมที่ถูกต้องมันได้สติ พอได้สติมันก็พยายามหลีกเลี่ยง พยายามทำขึ้นมาให้ไม่รัก พยายามให้ตัวเองให้พ้น

ฉะนั้น

ถาม : พระสงฆ์หลงรักเพศเดียวกัน จะเป็นอาบัติหรือไม่?

ตอบ : คำว่าอาบัตินี่นะ อาบัติของจิตมันไม่มี อาบัติมันเกิดจากการกระทำ การกระทำที่มันเป็นอาบัติแล้วครบองค์ของอาบัติ แต่โลกวัฏฏะ โลกติเตียน นี่ธรรมและวินัย เวลาวินัยคืออาบัติ วินัยคือกฎหมาย แต่ธรรมะละเอียดกว่านะ มันเหมือนนิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ รัฐศาสตร์คือการปกครอง แต่นิติศาสตร์นี่ผิดตามกฎหมาย เราจะปกครองด้วยกฎหมาย หรือเราจะปกครองด้วยคุณธรรม นี่ถ้าเป็นธรรมนะ เวลาพระพุทธเจ้าบอก

“ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของเธอ”

นี่ถ้าไม่ผิดศีลมันก็ผิดธรรม ฉะนั้น คำว่าอาบัติมันเป็นนิติศาสตร์ มันเป็นกฎหมาย ถ้าเราทำผิดมันถึงผิด นี่หลงรักเขา แต่ถ้าไปทำผิด เห็นไหม มันมีผิดนะ ภิกษุอยู่ในที่ลับกับหญิง อยู่ในที่ลับนะ ในที่ลับหู ลับตา นี่ถ้าจะปรับ มีคนที่น่าเชื่อถือได้มาปรับอาบัติสิ่งใด ต้องเป็นอาบัติอย่างนั้น มีที่น่าเชื่อถือได้ในสมัยพุทธกาลคือนางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน เพราะพระโสดาบัน

นี่มันมีพระกับผู้หญิงเขาชอบคุยกัน นี่เขาไปเตือนแล้ว พอเตือนว่าที่ลับหู ลับตา ลับตาคือว่าเขาอยู่ในที่ลับ แต่พอไปบอก พระพุทธเจ้าก็บัญญัติขึ้นมาเลย “ภิกษุห้ามนั่งกับผู้หญิงตัวต่อตัวในที่ลับตา” เขาก็ไปนั่งอยู่ห่างๆ พอห่างๆ ปั๊บมันไม่ได้ยิน คุยอะไรกันก็ไม่ได้ยิน ก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้าอีก พระพุทธเจ้าก็บัญญัติว่า “ในที่ลับหู” คือพูดต้องมีบุคคลที่ ๓ นั่งด้วย นี่พูดถึงเวลาเรื่องที่มันเกิดความรู้สึกทางใจ

ฉะนั้น ถ้าพระสงฆ์รักเพศเดียวกัน อันนี้มันเป็นอาบัติมันจะต้องครบองค์ประกอบไง ตามกฎหมายถ้ามันผิดมันถึงผิด ฉะนั้น ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ ทางฆราวาสจะบอกว่าเวลาพระพูดพระจะเข้าข้างกัน เพราะเราอ่านคำถามแล้ว เดี๋ยวมันจะไปตอบปัญหาข้างหน้านะ ปัญหาข้างหน้ายังมี ฉะนั้น อันนี้ผ่าน

ถาม : ๒. การทำบุญผ่านเว็บไซต์ได้บุญหรือไม่?

ตอบ : การทำบุญทางเว็บไซต์ ถ้าทางผู้ที่กระทำเว็บไซต์นั้น ผู้ที่ทำบุญนั้นจริง เขาทำให้เราได้จริง ได้บุญ ได้บุญหมายถึงว่าเขาเป็นสื่อ ทีนี้การทำบุญทางเว็บไซต์ ทางเว็บไซต์มันก็มีหลากหลายใช่ไหม? พอหลากหลาย เรารู้ได้อย่างไรว่าเขาเอาไปทำบุญจริงหรือไม่จริง

นี่เราจะบอกว่าถ้าไปทำบุญทางเว็บไซต์แล้วได้บุญหมด จะบอกว่าในทางพุทธศาสนานะต้องใช้ปัญญาอย่างเดียว ถ้ามีปัญญา มีสติปัญญาของเรา เราทำบุญไปแล้ว ถ้าเราเสียสละไปแล้ว ถ้าคนที่มีธรรมในหัวใจนะถือว่าทำแล้วก็คือจบ คนที่เขาทำต่อไปในเว็บไซต์ ถ้าเขาทำของเขา นี่ได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์ นั่นคือเวรกรรมของเขาแล้ว ส่วนใหญ่แล้วอย่างนี้เป็นธรรม เป็นธรรมหมายความว่าเราทำของเราแล้ว คนอื่นเขาจะทำบาป ทำกรรมเป็นเรื่องของเขา นี่เป็นธรรม แต่ถ้าเป็นวินัย วินัยก็ต้องตรวจกันแล้ว เว็บไซต์นั้นมันถูกต้องไหม? เว็บไซต์นั้นเอาไปทำจริงหรือเปล่า?

ฉะนั้น

ถาม : ทำบุญทางเว็บไซต์แล้วจะได้บุญหรือไม่?

ตอบ : เราไม่กล้าฟันธงว่าได้หรือไม่ เพราะ เพราะมันต้องอยู่ที่ว่าถ้าเขาไปทำจริง ได้ ถ้าเขาไปทำไม่จริงนะเราก็ทำทาน ถ้าเราทำทานกับเขาไป ปัญหานี้มันก็จบไป ถ้ามันจบไปนะ ทีนี้ข้อที่ ๓.

ถาม : ถ้าหากผู้ชายแปลงเพศเกิดอยากบวช สามารถบวชได้หรือไม่?

ตอบ : ไม่ได้ มันไม่ได้เพราะว่าเวลาบวชนี่บัณเฑาะก์ บัณเฑาะก์บวชไม่ได้ นี่เราคิดกันเองว่าสมัยปัจจุบันนี้เป็นสมัยสิทธิเสรีภาพ เป็นเพศที่ ๓ เห็นไหม เพศหญิง เพศชาย แล้วเพศที่ ๓ ต้องมีสิทธิเสมอภาค เราต้องยอมรับ สังคมต้องเปิดกว้าง

อันนี้เป็นเรื่องของสังคม แต่ถ้าในธรรมวินัย เห็นไหม บัณเฑาะก์เพศระหว่างกลาง ในธรรมวินัยไม่ให้บวช ไม่ให้บวชเพราะว่า ในสมัยพุทธกาลนะ แม้แต่พญานาค พวกพญานาคพวกนี้เขาเป็นทิพย์ได้ เขาแปลงกายได้ เขาเห็นพวกฆราวาสบวช เห็นโยมบวช เขาก็อยากบวชบ้าง เขาก็แปลงกายมาบวช บวชในพุทธศาสนา พอบวชเป็นพระแล้ว กลางวันถ้าเขามีสติอยู่เขาก็เป็นคนธรรมดา แต่เวลาถ้าเขานอนหลับ เพราะสติเขาไม่ได้ควบคุมมันจะกลับไปเป็นพญานาค

ฉะนั้น เวลาพระเขาจะไปเยี่ยมพระองค์นี้ไง พอเปิดเข้าไปนี่ขดอยู่ในกุฏิเต็มเลย ก็ตกใจมาก ยิ่งปุถุชนด้วยยิ่ง โอ้โฮ ใจนี่หายเลย ไปบอกพระพุทธเจ้า นี่พอเขาเห็นว่าคนแตกตื่น พญานาคนั้นเวลาตื่นขึ้นมาแล้วมีสติก็กลับมาเป็นพระ พอกลับมาเป็นพระ นี่พระพุทธเจ้าบอกว่าสัตว์เดรัจฉานบวชไม่ได้ ทั้งๆ ที่ว่าเขาเป็นพญานาคเขามีฤทธิ์ขนาดไหนก็บวชไม่ได้ นี่ศาสนาพุทธให้แต่ภิกษุ ภิกษุณี ถ้าเขาบวชเป็นภิกษุณีก็ถูกต้องของเขา ถ้าเป็นเพศหญิงก็บวชเป็นภิกษุณีไปเลย ถ้าเป็นเพศชายก็บวชพระ ถ้าเป็นเด็กก็บวชเณร

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพอแปลงเพศนี่บวชไม่ได้ ไม่ได้ตรงไหน? ไม่ได้ที่เริ่มต้น เริ่มต้นเวลาบวช เราจะบวชด้วยญัตติจตุตถกรรม การบวช นี่อุปัชฌาย์จะถามว่า “เธอเป็นมนุษย์หรือเปล่า? เธอเป็นโรคร้ายไหม? เธอเป็นนี่หรือเปล่า?” เห็นไหม มีการคัดกรองมาตั้งแต่ต้นไง มีการคัดกรองมาตั้งแต่ตอนที่อุปัชฌาย์บวช ถ้าการคัดกรองตรงนั้น นี่ถ้าเรามุสา เราเป็นอย่างไรแล้วเราไม่ยอมรับของเรา เรามุสาขึ้นมา ตรงนั้นมันก็เป็นวิบัติ คำว่าวิบัติคือการบวชนั้นมันไม่สมบูรณ์ นี่มันจะเป็นมาได้ไหมล่ะเพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้ว

เวลาบวช นี่เวลาบวชเราต้องกล่าวคำนั้น ฉะนั้น มันไม่ใช่ว่าบวชไม่ได้เพราะว่าพระพูด หรือมาบวชไม่ได้เพราะสังคมนั้นเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ มันบวชไม่ได้เพราะว่าด้วยญัตติจตุตถกรรม นี่พิธีการบวช พิธีการรับเข้ามา อย่างเราเป็นฆราวาสใช่ไหม? เราอยากบวชใช่ไหม? เราอยากบวชขึ้นมาเราก็มาฝึกฝน พอฝึกฝนเสร็จเราก็ไปบรรพชาเป็นสามเณร เวลาบวชเขาให้บวชเณรก่อน ให้ศีล ๑๐ พอศีล ๑๐ บวชเป็นเณรใช่ไหม? บวชเป็นเณรคล้องผ้าเสร็จแล้วก็เข้ามาบวชพระ

ฉะนั้น สิ่งที่บวชนี่เราขอบวชนะ เราขอบวช แล้วหมู่สงฆ์นี่ยกเข้าหมู่เข้ามา เห็นไหม ยกเข้าหมู่เข้ามา มันมีพิธีกรรมของเขา ฉะนั้น พิธีกรรมอันนั้นมันกรอง ทีนี้เวลากรองขึ้นมา นี่มันจะมีปัญหา วิธีกรองเข้ามาแล้วทำไมพระเป็นกันอย่างนั้นล่ะ? ที่เห็นๆ กันอยู่นั่นน่ะ ก็เวลาบวช บางคนมันเปลี่ยนแปลงทีหลัง หรือว่าการคัดกรองนั้นอ่อนแอ การคัดกรองนั้นไม่สมบูรณ์

ฉะนั้น เวลาคนที่ปรารถนาดีกับพระสงฆ์ ทำไมพระสงฆ์เป็นอย่างนั้น? ทำไมพระสงฆ์เป็นอย่างนั้น? นั่นอีกกรณีหนึ่งนะ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ว่าบวชได้หรือไม่ได้ นี่ไม่ได้ตามธรรมวินัย

ถาม : ๔. ถ้าหากได้มีส่วนร่วมกับการทำแท้ง โดยที่ไม่รู้จะมีผลต่อเราหรือไม่?

ตอบ : ถ้าหากได้มีส่วนร่วมกับการทำแท้งนะ นี่การมีส่วนร่วม เราทำของเราไปแล้ว ถ้าเรามีส่วนร่วมนะ กรรมนี่มีหมดแหละ กรรมนี่มีนะ คำว่ากรรมมี ทีนี้กรรมที่ละเอียด เห็นไหม ดูสิเวลาพระนะ เวลาที่พระหรือว่าการกระทำ ถ้าเรายังโต้แย้งกันอยู่ นี่กรรมอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้าเขาปล่อยวางเลยว่าเขาเสียสละแล้ว ตามวินัย เห็นไหม ถ้าตามวินัยใครไปวิสาสะเอาเงินของใครมา ใช้เงินหมายความว่าในเงินนี่มันเป็นปัจจัย ๔ เขาใช้ ถ้ายังมีการทวงกันนี่ยังไม่ถึงที่สุด แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดบอกว่าเราจบ เราเสียสละ ขาดเลยนะ

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีส่วนร่วม เรามีส่วนร่วมมันมีหยาบ มีละเอียดไง ฉะนั้น คำว่าหยาบ ละเอียดเราคิดว่าเราทำแล้วมันไม่มีเวร ไม่มีกรรม เวรกรรมนี่นะ ฉะนั้น พอเวรกรรมขึ้นมา เรื่องเวรกรรมเป็นเรื่องจริงนะ แต่เรื่องสังคมมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเรื่องของสังคม เห็นไหม ในเมื่อความไม่พร้อม ทุกอย่างความไม่พร้อมมันต้องทำอย่างนั้น ถ้าพูดถึงเราจะเชื่อแต่ศาสนามันก็จะมีแต่คนพิการ มีแต่สังคมมันจะอ่อนแอ นั่นเป็นเรื่องของทางสังคม

ทีนี้เรื่องของชีวิตมันไม่พูดถึงอย่างนั้นเลย การกระทำ ถ้าทำลงไปแล้วต้องมีผลทั้งนั้น มีผลทั้งนั้น ฉะนั้น ว่ามีผลทั้งนั้น เราจะคิดว่ามันมีผลมากหรือผลน้อย หรือว่าเรายอมรับความจริงอันนี้ นี่เวลาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ก็เคยทำบุญทำบาปมาเหมือนกัน จิตทุกดวงจิตนี่นะเคยเกิดนรกอเวจี เคยเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหมมาทั้งนั้นแหละ นี่ทุกดวงใจ ทุกดวงใจเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ ทุกดวงใจไปมาหมดแหละ แต่ชาติไหนเราไม่รู้

ฉะนั้น สิ่งที่มันมีเวร มีกรรม สิ่งนี้มันมีผล ถ้ามันมีผลขึ้นไป นี่มันมีผล ฉะนั้น ถ้ามันมีผลนะ เวลาเราทำนี่เราก็ทำ เพราะมันมีลูกศิษย์ ไม่ใช่ลูกศิษย์ โดยสังคมโดยทั่วไปเขาเคยทำเรื่องอย่างนี้มา เวลาถึงสุดท้ายแล้วจิตใจนี่มันไปผูกพัน พอผูกพัน พอชีวิตเขาล้มลุกคลุกคลานเขาจะคิดถึงทุกทีเลย แล้วเขาก็จะมาปรึกษาว่าควรทำอย่างใด? ควรทำอย่างใด? เขาบอกตอนนั้นมันเป็นเรื่องสุดวิสัยที่เรามีวิกฤติอย่างนั้น นี่พูดถึงโดยข้อเท็จจริงก่อน โดยข้อเท็จจริงที่ว่ามันจะมีผลของมัน

ทีนี้โดยสังคม โดยความจำเป็นนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทีนี้โดยความจำเป็น นี่เรามีความจำเป็น ถ้าเรามีความจำเป็นเราก็ต้องยอมรับสภาพ เพราะเราทำอย่างนี้ไป ผลมันตอบมาเป็นอย่างไรนี่เรารับสภาพของเรา ฉะนั้น จะรู้หรือไม่รู้ก็แล้วแต่นะ เพราะความไม่รู้ เราจะปฏิเสธความไม่รู้ไม่ได้ อย่างเป็นชาวไทย จะปฏิเสธกฎหมายไทยไม่ได้หรอก ไม่รู้ ทำไปแล้ว ไม่รู้ ไม่รู้ก็ติดคุกครับ ไม่รู้ก็ติดคุก รู้ก็ติดคุก ปฏิเสธความไม่รู้ไม่ได้

อันนี้ก็เหมือนกัน เพราะนี่ไงพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ทีนี้ศาสนาแห่งปัญญา ถ้าเราไม่ถือศาสนาใดเลย อย่างนั้นก็เรื่องของบุคคลคนนั้น แต่พอเรามานับถือพุทธศาสนา พุทธศาสนา ศาสนาแห่งปัญญา ศาสนานี่มันลึกซึ้ง ลึกซึ้ง เห็นไหม ดูสิเริ่มต้นตั้งแต่สอนให้เรามีความรักกัน มีความผูกพันด้วยสังคม เวลาพระปฏิบัติมาแล้ว เฮ้ย เวลาสอนให้คนรักกันนะ แต่ทำไมพระนี่หน้าบึ้งๆ ไม่เห็นคุยกันเลยนะ ต่างคนต่างอยู่

อันนั้นเขาต้องการความสงบอีกระดับหนึ่ง เพราะว่าเขาต้องการรักษาใจของเขา แต่ตามหน้าที่ของเขา นี่ความละเอียดขึ้นไปเป็นชั้นๆๆ ขึ้นไป มันมีของมัน ฉะนั้น สิ่งที่ว่านี่กรรมมีผล มีผลแบบนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า

ถาม : ถ้าหากได้มีส่วนร่วมกับการทำแท้ง โดยที่ไม่รู้จะมีผลต่อเราหรือไม่?

ตอบ : โดยที่ไม่รู้ นี่รู้หรือไม่รู้ ตรงนี้เราจะต้องกลับมาตั้งสติ ว่าถ้าผู้ที่ฉลาดนะ สิ่งที่ไม่ดี อย่างเช่นว่าอาหารนี้มันมีสารพิษเราจะกินไหมล่ะ? ถ้าสารพิษมันเข้มข้น กินก็ตาย แล้วเขามาวางต่อหน้าเราจะกินไหมล่ะ? ทีนี้ย้อนกลับมาที่เขาทำกรรม นี่มันจะเกิดสภาวะที่เราต้องทำกรรมกันแล้ว เราจะทำไหมล่ะ? เราจะทำไหม? เราคิดของเรา ถ้าเราคิดว่าเราเสียสละล่ะ? เราคิดว่าเราเสียสละ หรือเราคิด

นี่มันมีนะคนที่เสียสละได้ คนที่ทำได้ ถ้าเราเห็นว่ามันเป็นความเจ็บไข้ได้ป่วยมันจะเห็นภาพชัด ฉะนั้น เพียงแต่ว่ามันเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าว่าเราจะต้องทำสิ่งใด แล้วโลกมันเป็นแบบนี้ โลกมันเป็นแบบนี้หมายถึงว่า ถึงเวลามันมีเหตุการณ์ขึ้นมา เราจะต้องดูแลของเรา ถ้าเราศึกษาในหลักของศาสนาแล้ว นี่เวลาที่เราจะแก้ไข เราก็แก้ไข ต้องรับผิดชอบ คนเราชีวิตจะราบเรียบไปตลอดมันไม่มี มันต้องแก้ของมัน นี้เพียงแต่ว่าจะรู้หรือไม่รู้

นี่อวิชชาคือความไม่รู้ ไม่รู้ ถ้าทำแล้วไม่มีผลหรือ? อ้างว่าไม่รู้แล้วไม่มีผล ไม่มีทางหรอก รู้หรือไม่รู้ ถ้าพูดถึงรายละเอียดนะ ถ้าไม่รู้นี่บางทีผลมันมากกว่ารู้ด้วย ถ้าเรารู้ว่าสิ่งนี้มันเป็นสารพิษ มันเป็นอะไร เราจะหลบหลีก มีความจำเป็นต้องทำ ถ้าไม่รู้นี่เต็มมือนะ เต็มๆ เลย แล้วเวลามันให้ผลนั่นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น บอกไม่รู้ก็ส่วนไม่รู้ เพราะเวลาพระเรา เวลาเป็นอาบัติ เห็นไหม คำว่าเป็นอาบัติ ถ้ามันผิดกฎหมาย เป็นอาบัติเพราะทำความผิดจริงๆ เป็นอาบัติเพราะความลังเลสงสัย ฝืนทำเป็นอาบัติทันทีเลย

เป็นอาบัติเพราะความไม่รู้ ไม่รู้ก็เป็น ทำผิดก็เป็น สงสัยก็เป็น ไม่รู้ก็เป็น ฉะนั้น พอเป็นอาบัติปั๊บ ถ้าสิ่งใดเราก็แก้ไขของเรา เพราะมันปลงได้ รักษาได้ ฉะนั้น พูดถึงคำว่าไม่รู้ไม่สามารถปิดกั้นเรื่องกรรมได้

ถาม : ๕. จะมีคำพูดสิ่งใดที่จะสามารถโน้มน้าวจิตใจให้บุตรบวชโดยที่ไม่บังคับจิตใจ

ตอบ : ไอ้กรณีนี้มันก็กรณีที่ว่าถ้าจิตใจเขาดีมา จิตใจของเขาดีมานะเขาก็อยากกระทำ ทีนี้สังคมมันน่าเห็นใจมาก น่าเห็นใจว่าบวชแล้วได้อะไร? บวชไปทำไม? บวชไปให้เขาเหยียดหยามหรือ? ถ้าจิตใจของคนที่มันไม่เห็นด้วยใช่ไหม ก็ว่าทำไมต้องบวชพระ? คนสิ้นไร้ไม้ตอกหรือถึงไปบวชพระ?

นี่พูดถึงถ้ามีจิตใจอย่างนี้พ่อแม่จะพูดอย่างใด? แต่ถ้าจิตใจเขาดีนะเขาเข้าใจ เขาเข้าใจว่าการบวชพระมันได้บุญมาก แน่ะ ได้บุญมากเลย การบวชพระได้บุญมากตรงไหน? เราคิดถึงในหลักของศาสนา เทคโนโลยีอันนี้ หลักพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป จนมาถึงปัจจุบันนี้มีพระสืบต่อมาตลอด ถ้าไม่มีพระสืบต่อมา นี่ไม่มีพระ ๕ องค์ขึ้นไปในชนบทประเทศ ถ้าในมัชฌิมานะ ต้องมี ๑๐ องค์ขึ้นไป ถ้าไม่มีพระบวชขึ้นมา เราจะบวชพระขึ้นมาไม่ได้

ถ้าบวชพระขึ้นมา ถ้าพระเรานะ ถ้าพระเราบวชขึ้นมาเพื่อศึกษา เพื่อเฝ้า ก็เป็นมดแดงเฝ้าผลมะม่วง ไม่ได้กินมะม่วง ก็เฝ้ามะม่วงไว้ ใครฉลาด เห็นไหม ใครฉลาดก็เหมือนพระไตรปิฎก เหมือนกับผลมะม่วง ใครฉลาดก็มาเก็บผลมะม่วงนั้นไปกิน แต่เราบวชมาเราค้ำชูศาสนา ถ้าเราค้ำชูศาสนา ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานมา จนป่านนี้ไม่ขาดพระเลย ถึงได้บวชต่อกันมา บวชต่อกันมา

การบวชต่อกันมา เรามารักษาอริยสัจ รักษาสัจจะความจริง รักษาธรรมะ แล้วถ้าเราศึกษาได้ เรารู้ได้ เราจะเป็นพระอริยบุคคล จิตใจเราจะชำระกิเลสของเราไป เราจะรู้จริง เราจะได้กินมะม่วง เราจะรู้ถึงรสชาติของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง เราจะรับรู้รสหมดเลย แต่ถ้าเราบวชเข้ามาแล้ว เราศึกษาแต่เราไม่สามารถได้กินมะม่วง คือจิตใจไม่เป็นธรรม เราก็เป็นมดแดงเฝ้าพวงมะม่วง ถ้าเฝ้ามะม่วง เฝ้ามะม่วงไว้ให้ใครที่มีความสามารถมาเด็ดผลมะม่วงนี้ไปกิน

นี่มรรค ผล นิพพานไง ใครมีความสามารถจะได้เข้าถึงมรรค ผล นิพพานอันนี้ ถ้ามีจิตใจอย่างนี้ มีความรู้สึกอย่างนี้นะมันก็เห็นว่า อืม ใช่ในสังคมพระ ถ้าสังคมที่เขาทำไม่ถูก ไม่ควร เราเห็นแล้ว นี่เพราะความทำไม่ถูก ไม่ควรนั้น เวลาคนไปบวชพระถึงว่า อืม ไปบวชทำไม? บวชแล้วสมรรถภาพเป็นแค่นั้นไม่บวช แต่เวลาพระป่าเรา พระปฏิบัติเรา บวชมาแล้วนะเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง ดำรงชีวิตด้วยตัวเอง เข้าป่า เข้าเขา พยายามจะไปหาสัจจะความจริง เผชิญกับความจริง เผชิญกับความจริงกับที่ว่าพระที่รักษาไว้นี่

ดูสิหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สมัยนั้นพระที่ได้กินผลมะม่วงไม่ค่อยมี หรือจะไม่มีเลยก็ได้ แล้วหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านบวชมาแล้วท่านพยายามจะกินมะม่วงให้ได้ คือจะบรรลุธรรมให้ได้ นี่มันไม่มี แล้วพอไม่มี สังคมที่เขาไม่ทำ แล้วเราไปทำนะ โอ้โฮ มันเป็นอุปสรรคมหาศาลเลย ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าเขามีความคิดว่าอยากจะบวชมันก็ง่าย แต่ถ้าความคิดเขาไม่อยากจะบวชมันก็เป็นเวร เป็นกรรม

ถาม : นี่พ่อแม่จะมีความโน้มน้าวอย่างไร?

ตอบ : ความโน้มน้าวมันก็ต้องพูดความจริง พูดความจริงนะ เพราะเอาสังคมประเพณีก็พอ เอาวัฒนธรรมของไทย ถ้าลูกไม่ได้บวชก็เป็นคนดิบ เออ ถ้าบวชแล้วเป็นคนสุก เห็นไหม เป็นบัณฑิต บัณฑิตเพราะอะไร? บัณฑิตเพราะได้มาศึกษาศาสนา ถ้าเป็นสังคมไทยแต่โบราณนะ ถ้าใครอาราธนาศีล อาราธนาธรรมไม่เป็น ไปขอลูกสาวใครเขาไม่ให้

ผู้ชายถ้าบวชแล้วมันอาราธนาศีลเป็น อาราธนาธรรมเป็น เขาถือว่าคนสุก ถ้าคนสุกแล้วมันก็เข้าใจหลักของชีวิต เหมือนตอนเช้าที่พูด เห็นไหม ความดีกับความฉลาด ถ้ามีความดี มีความเข้าใจ คนสุกแล้วเขาสามารถจะนำครอบครัวนั้นไป พาลูกสาวเขาไปไม่ทุกข์ไม่ยากจนเกินไป นี่ถ้าอย่างนั้นวัฒนธรรมประเพณี เราก็ต้อง

ประสาเรานะเขาเรียกจริต มันเป็นทิฐิ มันเป็นมุมมองในใจ ระหว่างแม่กับลูกในสังคมนี่พูดกันยาก เวลาพระจะเอาพ่อ เอาแม่นี่ยากมาก เพราะ เพราะกูเลี้ยงมึงมา กูอาบน้ำร้อนให้มึงมา แล้วมึงจะมาสอนกูนี่ยาก แต่นี้ลูกทุกคน เวลาเราศึกษาเราก็มีทางวิชาการ เราก็อยากจะบอกพ่อ บอกแม่ ฉะนั้น เขาจะอ้างว่าเขาได้อาบน้ำร้อนมาก่อน แล้วเวลาพ่อแม่จะเอาลูกก็เหมือนกัน ถ้าพ่อแม่จะเอาลูก ความผูกพัน สายบุญ สายกรรมนี่สำคัญมาก ความผูกพันระหว่างพ่อกับแม่

ดูสิเราเป็นเด็ก ใครจะช่วยเหลือเจือจานเราครั้งเดียวนี่ โอ๋ย กตัญญูเขามาก คิดถึงเขามากเลย พ่อแม่เลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก ให้มาตลอด ให้ทุกวัน ให้มาตลอดเลยไม่เห็นคุณของพ่อแม่เลย แต่ถ้าไปตกทุกข์ได้ยากนะ มีใครมายื่นความช่วยเหลือเรานะ โอ๋ย ฝังใจ ฝังใจมาก คนนี้มีความช่วยเหลือเรา แต่พ่อแม่ช่วยทุกวันทำไมไม่คิด? คิดไม่ได้ คิดไม่เป็น

ถ้าเราคิดได้ คิดเป็นนะ แล้วบวช เห็นไหม ถ้าบวชแล้วนะพ่อแม่ได้ ๑๖ กัป บุญบวช ดูพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างวัด ๘๔,๐๐๐ วัด พอสร้างวัด ๘๔,๐๐๐ วัด ไปถามอาจารย์ของตัวพระติสสะว่า

“เป็นญาติกับศาสนาหรือยัง?”

“ยัง แล้วถ้าเป็นญาติศาสนาทำอย่างไรล่ะ?”

“ถ้าเป็นญาติศาสนาต้องเอาลูกมาบวช”

เพราะสายเลือด พอสายเลือดเข้าไปค้ำศาสนา เอาลูกมาบวช พอลูกบวช พระมหินทร์มาที่ลังกา พี่กับน้อง พอบวชแล้วเป็นพระอรหันต์หมดเลย เวลาไปบวช ไปขอให้ลูกบวชนะ พอลูกบวชเป็นพระอรหันต์แล้วส่งมาที่ลังกา นี่สร้างวัด ๘๔,๐๐๐ วัด ยังไม่ได้เป็นญาติกับศาสนา แต่พอลูกมาบวชมันเป็นญาติศาสนา เพราะสายเลือดเข้าไปค้ำศาสนา

พอสายเลือด นี่ไงบุญเกิดตรงนี้ไง พ่อแม่เอาเลือดในอก ก้อนเลือดก้อนหนึ่ง ออกมาเป็นมนุษย์นั่งอยู่นี่ แล้วก้อนเลือดนี้มันมาจากไหน? แล้วโตมา นี่ดูดน้ำนมของแม่ก็ดูดเลือด ดูดเลือดจากอก พอดูดเลือดจากอก เลือดเนื้อเชื้อไขมาค้ำจุนศาสนา นี่ไงพ่อแม่ได้บุญตรงนี้ไง คือเป็นญาติไง เป็นญาติ เป็นเครือญาติ พอเป็นเครือญาติ อยากดองกับพุทธศาสนา พอดองพุทธศาสนา นี่ ๑๖ กัป ได้บุญ ๑๖ กัป อันนี้มันเป็นประเพณีของชาวพุทธ

ฉะนั้น

ถาม : ถ้าจะพูดโน้มน้าวบุตรอย่างไรล่ะ?

ตอบ : มันต้องใช้อุบาย พาให้ดู พาให้เห็น ถ้าพาให้ดู พาให้เห็น เขารู้ เขาเห็นของเขา ถ้าเขารู้ เขาเห็นของเขา เขามีความตั้งใจของเขา แล้วอย่างว่านี่บวชสัก ๗ วันก็ยังดี ถ้าแม่อยากให้ลูกบวชเนาะ ไอ้ความอยากบวช ไม่อยากบวชมันอยู่ที่บุคคลคนนั้นนะ เพราะอะไร? เพราะกรรมเก่า กรรมใหม่ บางคนนะพอบวชไปแล้ว นี่ทุกคนไม่ได้เกิดชาตินี้ชาติเดียว บางชาติมันมีอะไรฝังใจมามันต่อต้าน แล้วเราจะแก้ตรงนี้แก้ยาก

ทีนี้บางคนอยากบวชมากแต่ไม่ได้บวช ไม่ได้บวช บวชยากมาก เขาไม่ให้บวช แต่ไอ้คนไม่อยากบวชเขาอยากให้บวช นี่เวรกรรมมันเป็นอย่างนี้ มันไม่สมดุลสักที มันหาความสมดุลมันไม่ได้ ไอ้นี่มันอยู่ที่เวรกรรมของคนนะ

ถาม : ๖. การที่มีคนมารักเรา แล้วเราปฏิเสธไป ทำให้เขาไปทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย เราจะบาปหรือไม่?

ตอบ : เราเป็นต้นเหตุ คำว่าเป็นต้นเหตุเราจริงหรือเปล่า? ถ้าเราจริง เขามารักเรา เราไม่รักเขา แล้วเราไม่รักเขาเราก็มีเหตุผล มีเยอะมาก มีเยอะมาก เห็นไหม นี่เราเป็นคนที่ว่าเอาแต่ใจตัวเอง แล้วเราก็ไปรักคนอื่น แล้วคนอื่นเขาก็ต้องรักเรา พอรักเราเสร็จแล้วนะก็ต้องมาทุกข์กับเราเพราะเราเอาแต่ใจตัวเอง เราจะต้องไปทุกข์กับเขาทั้งชีวิตเลยหรือ?

ในเมื่อเขามารักเรา เราก็มองดูแล้วว่าเขาดีหรือไม่ดี เขาจริงหรือไม่จริง เรามีสิทธิเลือกได้ ถ้าเรามีสิทธิเลือกได้ เราปฏิเสธไปแล้วเขาไปทำร้ายตัวเอง เขาทำร้ายตัวเอง ทำไมเขาถึงทำร้ายตัวเองล่ะ? แต่ถ้าเราไม่มีสติปัญญาเราจะไปทุกข์กับเขาไหม? ถ้าเราจะไม่ทุกข์กับเขา ถ้าเรามีสัจจะความจริง เราจะดำรงชีวิตอย่างนี้ เราจะดำรงชีวิตของเรา

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ ถ้าเราไปร่วมหรือว่าเรามีปัญหากัน เห็นไหม คนเราถ้าไม่รู้จักกันไปทำร้ายกันนั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้าคนที่เคยผูกพันกันมา เวลาทำร้าย เราไม่รู้ว่าเขาจะมาทำร้ายเราเมื่อไหร่นะ แล้วถ้าทำร้ายแล้วนะเสียใจมาก ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าเราปฏิเสธเขาไป แต่ในการปฏิเสธ ในการกระทำ ในการพูดมันพูดยาก พูดยากเพราะอะไร? พูดยากเพราะเวลาปฏิเสธ เดี๋ยวเขายิงตายเลย ยุ่งไปใหญ่เลย

ฉะนั้น เรื่องเวร เรื่องกรรม ไอ้เรื่องกรณีอย่างนี้เราต้อง นี่เพราะในสังคมเป็นอย่างนั้นใช่ไหม? ถ้าอยู่ด้วยกัน ถ้าเขาไม่พอใจเขาก็ทำร้ายเลย แล้วถ้าเป็นคนอื่นกล้าทำไหม? พอเรามาคุ้นเคยกัน เรามาเห็นช่องทาง ไอ้นี่สภาคกรรมนะ กรรมร่วมกัน ฉะนั้น ถ้าเราจะปฏิเสธ หรือเราจะรักเขา เราจะอย่างนั้น ไอ้นั่นมันเป็นที่เหตุผล กรณีนี้มันต้องไปถามนักสังคมสงเคราะห์ ไม่ใช่มาถามพระ ต้องไปถามนักสังคมสงเคราะห์

นี่พูดถึงกรรมไง กรรมมันมาถึง กรรมมันมานี่เราต้องดูแล ถ้าเรามีหลักของเรานะ เรามีหลักของเรา เราสามารถจะแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ในชีวิตเราแก้ไขได้ถ้าเรามีหลัก แต่ถ้าเราไม่มีหลักนี่ใจเขาใจเรา เขาเสียใจเขาก็ต้องทำอย่างนั้น แต่ถ้าใจเราเข้มแข็งเราทำอย่างไร? อันนี้มันแบบว่าฟันธงไม่ได้ มันอยู่ที่เหตุผล

ถาม : ๗. ถ้าพ่อกับแม่ทะเลาะกัน เราจะมีวิธีการอย่างใดในการแก้ไข?

ตอบ : ถ้าพ่อกับแม่ทะเลาะกันเราก็นั่งเฉยๆ แล้วพอพ่อแม่ทะเลาะกันจบแล้วเราก็ถามว่า “เวลาพ่อแม่ทะเลาะกัน หนูทุกข์นะ หนูเจ็บนะ” ถ้าลูกมีปัญญานะ บอกว่า “หนูทุกข์นะ หนูเจ็บนะ” แต่ถ้าพ่อแม่เขามีสติเขาก็จะระลึกได้ ถ้าพ่อแม่เขาไม่มีสติ ก็ทุกข์เรื่องอะไรของเอ็งล่ะ? เรื่องของพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องของเอ็ง

นี่คำว่าพ่อแม่ทะเลาะกัน มันทะเลาะกันเรื่องอะไร? ถ้าเวลาทะเลาะกันเราสามารถอยู่นิ่งๆ แล้วเราค่อยๆ พูดกัน ค่อยๆ พูดกัน แต่อย่างนี้เขาเรียกโทสจริต โมหะจริต โลภะจริต จริตของคน คนที่ขี้โกรธ คนที่ขี้โกรธอะไรก็จะโกรธ โกรธนำหน้าเลย แล้วก็รู้ว่าโกรธไม่ดี รู้ว่าโกรธไม่ดีแต่ทำไมชอบโกรธ ถ้าคนจะหลงใหลนะ เล็กๆ น้อยๆ มันไหลไปแล้ว มันไหลไปแล้ว

นี่เขาเรียกจริตนิสัย เวลาจิตมันเป็นอย่างนั้น แล้วถ้าพ่อแม่เราเป็นแบบนั้น เราจะรู้ว่าจุดอ่อนของพ่อแม่เราคืออะไร ถ้าเรารู้ว่าจุดอ่อนของพ่อแม่เราคืออะไร เห็นไหม เราค่อยๆ คุยกัน อภิชาตบุตร บุตรที่จะแก้พ่อ แก้แม่นะ อภิชาตบุตร แล้วถ้าเป็นบุตรที่ดี พ่อแม่จริงๆ แล้วก็รักลูกมาก แต่เวลาโกรธ เวลาทะเลาะกัน ถ้ายิ่ง ๒ คนด้วยไปเข้าข้างใครข้างหนึ่งก็หาว่าลำเอียงนะ ต้องใช้อุบาย ถ้าว่าฉลาดแล้วต้องฉลาดให้จบนะ ไม่ใช่ว่าฉลาดจะไปแก้ยิ่งยุ่งใหญ่เลย ค่อยๆ แก้ ค่อยๆ แก้

เวลาหลวงตาท่านเทศน์ประจำ ท่านบอกเวลาพ่อแม่ทะเลาะกันนะ ลูกน้อยหัวอกมันเจ็บช้ำน้ำใจ ฉะนั้น พ่อแม่ทะเลาะกัน เวลาท่านเทศน์นะ หลวงตาท่านจะเทศน์สอนทั้งครอบครัว สอนทุกอย่าง ฉะนั้น ถ้าพ่อแม่ทะเลาะกันมันก็อยู่ที่ตั้งแต่เริ่มต้น นี่เริ่มต้นว่า “การที่มีคนมารักเรา แล้วเราปฏิเสธไป” เริ่มต้นจากตรงนู้นเลย แล้วก็มาถึงตรงนี้

นี่เวลามันเป็นไปเราจะบอกว่า เวลาเราตกไปอยู่ในสถานะใด มันเป็นวิบากแล้ว เวลาแก้ไป ธรรมะของพระพุทธเจ้าถึงบอกว่าอดีต อนาคตแก้กิเลสไม่ได้ ต้องเป็นปัจจุบันธรรม พอปัจจุบันธรรม เวลาเราทำความสงบของใจเข้ามา แล้วย้อนกลับเข้ามาเราจะแก้กันที่นี่ แต่มันเป็นวิบาก เป็นผล เวลาเป็นผล เราเป็นผลแล้วเราก็จะย้อนกลับไป

อย่างเช่นพวกวัตถุ เห็นไหม เราทำเป็นรูปร่างขึ้นมาแล้ว แล้วเราจะต้องหลอมละลายทิ้งแล้วกลับมารูปร่างนั้นใหม่หรือ? นั่นวัตถุมันทำได้ แต่คนมันทำไม่ได้ ถ้าคนมันทำไม่ได้เราถึงต้องมีสติ มีสติแล้วเราแก้ไขของเรา ถ้าแก้ไขได้มันก็จะเป็นประโยชน์ ถ้าแก้ไขไม่ได้นะมันเป็นวิบากกรรม นี่เราจะพูดบ่อย แล้วเรารู้ว่าวัยรุ่นจะบอกว่าอะไรๆ ก็ยกให้กรรม นี่มันเป็นศาสนายอมจำนนนี่ มันไม่ยอมสู้ ไม่ยอมแก้ไขอะไรเลย อะไรก็ยกให้กรรม

แก้ไขเต็มที่ ทำทุกอย่างสุดความสามารถ ถึงที่สุดแล้วมันแก้ไม่ได้ มันแก้ไม่ได้เพราะว่ามันไม่ใช่แก้ที่เรา มันแก้ที่จริตนิสัยของเขา แล้วไม้แก่ เห็นไหม พรหมวิหารไง พรหมวิหารของผู้บริหาร นี่มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา แล้วต้องมีอุเบกขา นี่เวลาผู้บริหารเขาก็เห็นของอย่างนี้เล็กน้อยมากเลย ทำแค่นี้ก็จบ สอนแล้วสอนเล่าๆ ทำไมมันไม่ทำ? นี่ถ้ามันไม่ทำนะเราทุกข์ตายเลย เราทุกข์แทนเขา แต่ถ้ามีอุเบกขานะ เวรกรรมของเขา จ้ำจี้จ้ำไชขนาดนี้มันก็แก้ไม่ได้ นี่ถ้าเราไม่มีอุเบกขานะทุกข์ตายเลย ถ้าถึงที่สุดแล้วนะเราอุเบกขา นี่พูดถึงว่าเราแก้ไขสิ่งใดไม่ได้

ถาม : ๘. การที่คนเราเห็นผี ถือว่าเราเคยมีเวรกรรมต่อกันใช่หรือไม่?

ตอบ : โดยข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนั้น ฉะนั้น โดยธรรมะนี่นะ เราว่าเราเห็นผีเราต้องตั้งสติก่อน เป็นผีจริงๆ หรือ? เป็นผีจริงๆ หรือว่าเป็นอุปาทาน คำว่าเห็นผีๆ เห็นได้ยากนะ คำว่าเห็นผีได้ยากเพราะอะไร? เพราะผีเขาเป็นภพๆ หนึ่ง จิตวิญญาณนี่เป็นภพๆ หนึ่งนะ แล้วเราก็เป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่เรามีธาตุ ๔ เราเห็นกันด้วยรูป เราเห็นกันด้วยสายตา แล้วผีมันอยู่คนละมิติแล้วเราไปเห็น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าจะเห็นผี จริงๆ เราไม่ค่อยเชื่อนะว่าคนนู้นเห็นผี คนนี้เห็นผี เราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อเพราะอะไร? เราไม่เชื่อเพราะว่าผีนี่ เรามาคิดดูสิมันอยู่คนละมิติ แล้วมันจะมาชนกันอย่างไร? มันจะมาชนกันอย่างไร? ฉะนั้น เราเชื่อเรื่องผีไหม? แหม ถ้าพระไม่เชื่อเรื่องผีเนาะ เพราะพระปฏิบัติมันรู้ มันเห็น เพราะถ้าไม่รู้ไม่เห็น จิตมันไม่สงบเข้ามาเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีจิต มีวิญญาณ จิตนี่วิญญาณ ถ้าวิญญาณมันสงบเข้ามา มันแก้ไขของมัน

จิตนี่ เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ จิตมันระลึกอดีตชาติได้ มันรู้อะไรของมันได้ รู้อนาคตได้ นี่มันมีผีตัวแรกคือผีตัวนี้ ทุกคนมีผีอยู่กลางหัวใจ เพราะมีจิตวิญญาณ ฉะนั้น มันไม่มีผีมันเป็นไปไม่ได้ มันมี แต่ในปัจจุบันนี้เราเกิดเป็นมนุษย์ พอเราเกิดเป็นมนุษย์ นี่มนุษย์สมบัติมารับไว้เราก็มีผีตัวหนึ่งอยู่ในนี้ แต่ผีตัวนี้มันเป็นผีสดๆ ไม่ใช่ผีตายแล้วอย่างนั้น ถ้าผีสดๆ ถ้าเราแก้ไขที่นี่

ฉะนั้น

ถาม : ถ้าเราเห็นผี มันมีเวรกรรมต่อกันใช่ไหม?

ตอบ : ใช่ บทที่จะต้องเห็นนะ บทที่จะต้องเห็น ฝันเห็น นี่บางคนฝันนะ ฝันถึงปู่ ย่า ตา ยาย ฝันถึงเจ้ากรรมนายเวรจะมาขอส่วนบุญ นี่เขามาเข้าฝัน ถ้าเข้าฝันอย่างนั้น แสดงว่าเขามีส่วนที่เขามาขอความช่วยเหลือจากเราได้ สิ่งที่เราเสียสละเป็นวัตถุ นี่ที่เราเสียสละทำบุญกันนี่เป็นวัตถุ แต่เรามีหัวใจที่เสียสละไปไหม? เรารู้สึกบุญกุศลไหม? เราอุทิศส่วนกุศลจากความรู้สึกเรานี่ เราอุทิศตักข้าวใส่บาตรพระ เราบอกว่าจะเอาข้าวนี้ไปให้ผีกิน ไม่มี

เราตักบาตรใส่ข้าวในบาตรพระ เพราะหัวใจเราใส่ข้าวในบาตรพระ เราเป็นบุญ เราอุทิศส่วนกุศลความรู้สึกที่เป็นบุญ ที่เรามีความรู้สึก เอาความรู้สึกนี่อุทิศไปให้กับเจ้ากรรมนายเวร ให้กับสิ่งที่เป็นปู่ ย่า ตา ยาย เจ้ากรรมนายเวรของเรา ความรู้สึกอันนี้มันสัมพันธ์กัน ถ้าความรู้สึกอันนี้ นี่จิตถึงจิต ถ้าจิตนี้มันส่งไปถึงจิต ถ้าจิตเขาเคยได้สิ่งนี้มา เขาจะพยายามมาขอ ถ้าเขามีความขัดข้อง เขามีความต่างๆ เขาจะสื่อมาว่าอยากได้ๆ อยากได้อีกแล้ว อยากได้อีกแล้ว

ถ้าอย่างนี้เรื่องเวรเรื่องกรรมมี ถ้าเรื่องอย่างนี้มี แต่ถ้ามันมาโดยที่ว่าทั่วๆ ไปนะ สัมภเวสี ในทางสามแพร่ง ในที่มีอุบัติเหตุ มีคนตายมากๆ นี่คนผ่านไป ผ่านมาเขาอาจเห็นของเขา อาจเห็นของเขา เพราะจิตพวกนั้นเขาทุกข์ เขายากของเขา ฉะนั้น เขาถึงมีการทำบุญกุศลตามทางสามแพร่ง ตามทางที่ต่างๆ เขาเรียกว่าผีไม่มีญาติ

ฉะนั้น ผีมีไหม? มี แต่เราอย่าตื่นเต้นจนมันเป็นศาสนาภูต ผี ปิศาจ เป็นไสยศาสตร์ไป พุทธศาสนาไม่ได้สอนอย่างนั้น พระพุทธศาสนาสอนถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ธรรมะไง สัจธรรมข้อเท็จจริง ถ้าเรามีข้อเท็จจริงแล้ว เราเป็นชาวพุทธแล้วนะ สิ่งนั้นมันคนละมิติ เราก็เคยเป็นมา เราก็เคยเป็นอย่างนั้นมา แต่ในปัจจุบันนี้ถ้ามันเห็นกันเพราะมันมีเวรกรรมต่อกันใช่ไหม? นี่ถ้ามีเวรกรรมต่อกัน เราก็ไม่ตกใจใช่ไหม? เห็นสิ่งนั้นเราก็ไม่ตกใจ ไม่สะดุ้งกลัว ไม่ทำให้เราเสียหาย แต่ถ้าในสังคมทุกสังคมนะ ในสังคมมนุษย์ก็มีดีและชั่ว ในสังคมของผีก็มีดีและชั่ว ในสังคมของเทวดา มีทุกอย่าง ทุกสังคม ในเมื่อมีสังคมขึ้นมามันจะมีฝ่ายตรงข้ามกัน

ฉะนั้น ถ้าผีที่ดีเขาก็ช่วยเหลือเจือจานเรา อย่างที่ว่าในเรื่องภูต ผี ปิศาจที่ในนิยาย เห็นไหม ว่าผีอาฆาต ผีต่างๆ อันนั้นเป็นที่ว่าในสังคมทุกสังคมมันมีอย่างนั้น ถ้ามีอย่างนั้นนะเราถือว่าเราถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มันจะป้องกันเราได้ นี่รัตนตรัย พุทโธ พุทโธ มีสติจะป้องกันภูต ผี ปิศาจได้ ป้องกันได้

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันเป็นไหม? เป็น เป็นที่ว่ามีเวร มีกรรมต่อกันหรือไม่? ถ้าไม่มีเวรมีกรรมต่อกัน มันจะไม่เกี่ยวกัน เราเห็นไม่ได้ไง บางทีนะอย่างที่ว่าเรามีเวรมีกรรมต่อกัน แล้วมีสิ่งที่แสดงให้เราเห็น เราเห็นได้คนเดียว พวกนี้ไม่เห็นกับเรานะ มีเราเห็นคนเดียว เราได้เห็น แต่คนอื่นไม่ได้เห็น เพราะมันมีผลผูกพันกับเรา แต่ไม่มีผลผูกพันกับพวกนั้น อย่างนี้ก็มี เวลาไปด้วยกัน เห็นอยู่คนเดียวนี่เห็นผี ไอ้เพื่อนไปไม่เห็น ทำไมไม่เห็น?

สิ่งนี้มี สิ่งนี้มี ความลึกลับของจิตยังมีอีกเยอะมาก เรายังพิสูจน์กันไม่ได้ แต่ผู้ที่ปฏิบัติเขาจะพิสูจน์ของเขาได้ ฉะนั้น ข้อที่ว่าเป็นอย่างนั้นไหม? เป็น

ถาม : ๙.เคยได้ยินว่าการทำบุญแล้วบอกคนอื่นให้อนุโมทนาเป็นสิ่งที่เป็นบุญอย่างหนึ่ง แล้วเราควรทำบุญโดยที่ไม่ต้องบอกให้ใครรู้เลย อันไหนดีกว่ากัน

ตอบ : การทำบุญเขาเรียกว่ามีบารมี ถ้าเราทำบุญแล้วเราบอกกัน เห็นไหม เพราะคำว่าบอกกัน เขาถึงอ้างข้อนี้เวลาเขาบอกบุญกันไปเรื่อย บอกบุญจนชาวพุทธนี่บางทีแปล้ เพรียบแปล้ไปด้วยบุญเลยล่ะ ทุกคนเจอซองวิ่งหนีหมด ถ้ากรณีอย่างนั้นมันก็ต้องน่าคิดนะ แต่พูดถึงถ้าผลของมัน วิบากผลมีอย่างนั้นจริงๆ

มันมีนะ ยกชาดกนะ มีกษัตริย์องค์หนึ่งอยากทำบุญมาก กษัตริย์เขามีทุกอย่างเพียบพร้อมไปหมดเลย เขาก็ให้มหาดเล็กทำบุญทุกวัน ตักบาตรทุกวัน แล้วกษัตริย์ให้เขาทำ ให้เขาทำตลอด ฉะนั้น มหาดเล็กเวลาเขาไปใส่บาตร นี่เขาใส่บาตรเขาปลื้มใจ แต่ของนั่นไม่ใช่ของเขานะ เขาปลื้มใจมาก เขามีความสุขใจ เขามีความตั้งใจ เขาทำอย่างเต็มที่เลย

ทีนี้เวลากษัตริย์นั้นกับมหาดเล็กนั้นตายไป ไปเกิดในสวรรค์ชั้นเดียวกัน กษัตริย์นั่งอยู่คนเดียว ทรัพย์สินนั่นของเขา สิ่งที่เป็นวัตถุไทยทานนั่นของเขาหมดเลย เขาตั้งใจทำ แต่เขาไม่มีเวลา แต่เวลาคนที่ทำนะไม่ใช่ของเขา ไม่ใช่ของเขา แต่ด้วยมีความผูกพันต่างๆ นี่เวลาตายไปแล้วนะ เขานั่งของเขา บริษัท บริวารเต็มไปหมดเลย

ฉะนั้น กรณีที่ว่าถ้าบอกบุญแล้วต้องบอกเขาๆ เพราะเขาบอกว่าเวลาเป็นเทวดาก็จะมีบริษัท บริวาร จะมีคนห้อมล้อม แต่ถ้าไม่บอกแล้วเราจะอยู่คนเดียว

ฉะนั้น บอกว่า

ถาม : เราทำบุญเราต้องบอกเขาไหม? หรือเราทำคนเดียวดีกว่า”

ตอบ : ถ้าเราบอกเขา โดยธรรมชาติ โดยความเป็นไป ทุกคนนี่ถ้าเขารู้ได้เขาก็รู้ของเขา แต่ถ้าเขารู้ไม่ได้เราไปบอกเขานะ เอ๊ะ ทำบุญที่ไหนล่ะ? พอทำบุญที่นั่นเขาบอก อืม ของเราดีกว่า เดี๋ยวเถียงกันเรื่องทำบุญ

ฉะนั้น ถ้าเราทำของเรา เราสบายใจของเรา เราว่าทำของเราดีกว่า ปิดทองก้นพระ ปิดทองก้นพระ เพราะ เพราะการทำบุญกุศลมากน้อยขนาดไหน ถึงที่สุดแล้วถ้าไม่ภาวนาสิ้นกิเลสไม่ได้ การภาวนาจะถึงที่สุด เห็นไหม เราจะสร้างบุญกุศลไว้มากขนาดไหนเราก็ทำของเรา ฉะนั้น มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วเขาเอาตรงนี้มาอ้าง เพียงแต่ว่าเราต้องดูเป้าหมายของเราว่าเราอยากยุ่งกับเขา หรือเราต้องการของเราคนเดียว

อันนี้ดีมาก

ถาม : ๑๐. หากโดนผู้อื่นดูถูกเหยียดหยาม เราจะมีวิธีการรักษาใจของเราอย่างใด?

ตอบ : เห็นไหม กรณีอย่างนี้นะ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้ ท่านบอกมีบุรุษอยู่ ๒ คนเดินไปเที่ยวด้วยกัน แล้วมีบุคคลคนหนึ่งโดนยิงด้วยธนู คนๆ นั้นเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าบุรุษคนนั้นที่มาด้วยกันเขาโง่ เขาจะต้องตามไปหาคนยิงก่อน ไปจับคนยิงให้ได้ ใครเป็นคนยิง? ยิงด้วยลูกศรชนิดใด? แล้วเข้าตรงไหนมันถึงได้เจ็บไข้ได้ป่วยขนาดนี้? กลับมาคนนั้นตาย แต่ถ้ามีบุคคล ๒ คนเดินไปด้วยกัน แล้วบุคคลคนหนึ่งโดนยิงด้วยดอกธนู บุคคลคนนั้นเป็นผู้ที่ฉลาด ไม่วิ่งตามหาใครเลย ก้มลงไปดูเพื่อนเราที่โดนยิง พยายามชักดอกธนูนั้นออก แล้วรักษาบาดแผล เพื่อนของเราบุคคลคนนั้นจะปลอดภัย

อันนี้ก็เหมือนกัน เราไปนี่โดนคนเหยียดหยาม เราจะแก้ด้วยวิธีใด? ใครจะเหยียดหยาม มันเหยียดหยามเรื่องอะไร? มันจะรู้เรื่องจริงกับเราขนาดไหน? มันจะรู้เรื่องของเราได้ขนาดไหน? เรื่องของเรานี่เรารู้ของเราเอง ถ้าเขาจะพูดขนาดไหนนะมันลมปากของคน

นี่คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก? เรื่องคนโง่ คนฉลาดนี่นะในพระไตรปิฎกมีเยอะมาก ดูสัญชัย เวลาพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะอยู่กับสัญชัย เวลาไปเจอพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าที่ฉลาดกว่าสอน นี่สอนถึงพระโสดาบัน ไปชวนสัญชัยมา สัญชัยบอกว่า

“ในโลกนี้คนโง่มากหรือคนฉลาดมากกว่ากัน?”

“ในโลกนี้คนโง่มากกว่า”

“อย่างนั้นเธอไปเถอะ เธอไปอยู่กับพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้ามีปัญญา มีเหตุ มีผล คนจะเข้าถึงได้น้อยมาก เราจะอยู่กับคนโง่ว่ะ มันโง่มันหลอกได้ง่ายๆ ไง”

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าคนโง่มันมากกว่าคนฉลาด เห็นไหม ถ้าคนโง่มากกว่าคนฉลาด คนมันพูด มันดูถูก มันเหยียดหยาม คนโง่มันพูดนี่เชื่อมันทำไม? แต่ถ้าคนฉลาดนะ พ่อแม่ ญาติพี่น้องของเรา นี่ครูบาอาจารย์เวลาสอนลูกศิษย์ เออ อันนี้ต้องฟัง เพราะว่าเขาปรารถนาดีกับเรา บุคคล ๒ คน คนหนึ่งที่ฉลาด เวลาใครโดนยิงเขาจะดึงธนูเขาออก เห็นไหม เขาจะเลี้ยงบาดแผลเขา เวลาครูบาอาจารย์เขาจะสอนตรงนั้น แต่ก็ไม่เชื่อ เออ เวลาเพื่อนพูดมันเชื่อ

บุคคล ๒ คนโง่ไง เวลาโดนยิงแล้วนะ เออ เดี๋ยวกูจะแก้แค้นให้ เดี๋ยวกูจะไปเอามันให้ วิ่งกันไป ตามกันไป คำว่าโดนยิงคือโดนดูถูกเหยียดหยาม โดนสิ่งที่เป็นพิษ แล้วสิ่งที่เป็นพิษมันอยู่ที่ไหน? มันอยู่ที่เรา แล้วสิ่งที่เป็นพิษนี่ไม่รักษา จะไปรักษาที่คนอื่นไง จะบอกว่าไปไหนในโลกนี้ไม่มีใครเขาเหยียดหยามเลย มีแต่คนเขาเยินยอ ไปหาที่โลกไหนล่ะ? โลกไหนมี? โลกไหนก็ไม่มี

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดเรื่องนี้ไว้เยอะมาก เวลาท่านสอนพระนะ

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอโดนโลกธรรมกระทบรุนแรง เธอให้มองเราตถาคต”

เราตถาคตนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา มีฤทธิ์ มีเดชทำได้ทุกอย่างเลย เวลาเผยแผ่ธรรมขึ้นมา เห็นไหม เขาจ้างคนมาด่า เทวทัตจ้างนายธนูมายิง เทวทัตปล่อยช้างให้ออกมาไสชนพระพุทธเจ้า นี่พระพุทธเจ้าทำดีมาตลอด ทำไมคนทำร้ายพระพุทธเจ้าขนาดนั้น? แล้วพระพุทธเจ้าอาฆาตมาดร้ายใครไหม? พระพุทธเจ้ามีแต่เมตตาเขานะ นี่ถ้าใครทำอย่างนั้นเขาจะโดนธรณีสูบ เพราะว่าผลกรรมมันมี ผลกรรมมันมี

แต่นี้เขาบอกว่า “ถ้าเราโดนใครดูถูกเหยียดหยาม” ถ้าเรามีสติปัญญา เราจะรักษาใจเรา เราจะมีหลักเกณฑ์ของเรา คนที่ดูถูกเหยียดหยาม เพราะคำมันก็บอกอยู่แล้วว่าดูถูกเหยียดหยาม มันไม่ใช่ความจริง มันก็บอกอยู่ชัดๆ แล้ว แต่ถ้าบอกเขาด้วยคุณงามความดีสิ ฉะนั้น เราจะรักษาใจของเราอย่างไรล่ะ?

นี่เรารักษาใจของเรา เห็นไหม รักษาใจนะ กลับไปนี่บอกได้เลยบอกว่าเราเป็นชาวพุทธ เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราเป็นบริษัท ๔ ในพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่าให้เรามีพุทธะ พุทธะ เห็นไหม ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ให้เรามีสติปัญญาของเรา ใครเขาจะมาติฉินนินทา นี่ลมปาก ลมปากเหมือนกับลมพัด เย็นดี ยิ่งใครนินทา โอ้โฮ ลมพัดเย็นดี มันพิสูจน์ว่าเราจริงหรือไม่จริงไง ถ้าเรามีสติปัญญา เพราะเราเป็นชาวพุทธ

นี่คนโง่กับคนฉลาด ครูบาอาจารย์สอนบ่อย “เขาโคกับขนโค” คนดี คนตั้งใจดี เขาโคมีอยู่ ๒ เขา ขนโคมีอยู่เต็มตัว แล้วถ้าเขาเหยียดหยาม ไอ้ขนโคมันเหยียดหยาม ทุกคนเหยียดหยามหมดแหละ แล้วคำว่าเหยียดหยามนะ แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ สิ่งนั้นมันเป็นเกจ์วัดนะ เป็นเครื่องวัดใจเรา เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเรารู้จักใช้ ของไม่ดี เห็นไหม ดูสิคนที่ฉลาดนะ ดูแผงโซล่าเซลล์ นี่แสงแดดเขายังเอามาใช้เป็นพลังงานได้ คนที่ฉลาดนะ สิ่งใดๆ เขาเอามาใช้เป็นพลังงานได้ทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น ถ้าสิ่งนี้มันเกิดขึ้นมา เราฉลาดแล้วเราแก้ไขเราได้ด้วย แล้วเราไม่สะเทือนใจเราด้วย ฉะนั้น สิ่งนี้สิ่งที่ว่าเราแก้ไขที่เรา ไปบอกว่าไม่ให้มีการดูถูกเหยียดหยามเลย เราเป็นชาวพุทธ เราไปไหนมีแต่คนพอใจ คนสรรเสริญ ไม่มีหรอก เวลาหลวงตาท่านมาช่วยชาตินะ ท่านออกมาช่วยด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ใจ ใครเขาจะติฉินนินทาอย่างใด ท่านไม่สนใจเลย ถ้าเราสนใจในการติฉินนินทาของคน เราจะทำคุณประโยชน์กับประเทศชาติกันไม่ได้

ในการเห็นต่าง ในโลกนี้เป็นเรื่องธรรมดา ในเมื่อการเห็นต่าง เห็นไหม ฉะนั้น เราทำของเรา ถ้าเป็นความถูกต้องดีงามนะ แต่ถ้าเป็นความผิดพลาด เป็นสิ่งที่ไม่ควร ถ้ามีใครเขาพูดเราต้องแก้ไข เพราะเราเห็นว่าพวกเรายังเด็กๆ กันอยู่ ถ้าเด็กๆ กันอยู่ ประสบการณ์นะ เวลาเราฟังผู้ใหญ่พูดทุกคนจะรำคาญมาก อาบน้ำร้อนมาก่อน อาบน้ำร้อนมาก่อน เบื่อมากเลย จำไว้นะ ต่อไปก็จะไปพูดกับลูกหลาน

จำคำพูดนี้ไว้ จำคำพูดที่ว่าเบื่อๆ นี้ไว้ แล้วอย่าไปพูดกับคนอื่นนะ เวลาเขาพูดกับเราเราเบื่อมากนะ อย่าไปพูดกับเด็กๆ นะ อย่าไปพูดกับคนอื่น จำไว้ให้ดีๆ ว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน มันเป็นแบบนี้ มันเป็นไปโดยวัย วัยแบบนี้มันมีความรู้ได้แค่นี้ พอวัยทำงานนะ ยิ่งวัยชรา เห็นไหม ในประเพณีของอีสานนะเขาถือคนผู้เฒ่า ผู้เฒ่าในหมู่บ้าน เวลามีสิ่งใดเขาเรียกผู้เฒ่า เขาจะให้ผู้เฒ่าเป็นคนตัดสิน เพราะอย่างของเรานี่เราเถียงกันไม่จบหรอก มันเป็นไปตามวัย วัยแบบนี้มีความรู้สึกนึกคิดแบบนี้ วัยมากขึ้นไปจะมีความรู้สึกนึกคิดอีกอย่างหนึ่ง

ฉะนั้น มันเป็นตามวัย ถ้าวัยอย่างนี้มันก็มีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ แล้วคิดว่าโลกนี้ ถ้ายังเป็นเด็ก โลกนี้มันช่างสวยงามมาก แล้วถ้าเราทำงานขึ้นมา โลกนี้ทำไมมันทุกข์ร้อนนัก ยิ่งคนแก่ คนเฒ่า อย่างเช่นเรานี่ เห็นไหม เราจะลาโลกนี้กันแล้ว เพราะถึงเวลาแล้วโลกมันเป็นแบบนี้ เราจะต้องไปจากมัน เวลาแก่เฒ่าขึ้นมา มันจะรับรู้ของมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา

นี่เราเห็นว่าโลกนี้เป็นที่สุกสกาว น่าชื่นชม คนที่ผ่านชีวิตมาเขาก็สมบุกสมบันมากับมัน สุดท้ายแล้วในพุทธศาสนา ในสังคม ในประเพณีวัฒนธรรมของชาวพุทธ แก่เฒ่าแล้วเข้าวัด เข้าวัดเข้าวาเพื่อหาเสบียงกรัง เพื่อจะเดินทางต่อไป ชีวิตนี้ต้องเดินทางต่อไป

ฉะนั้น เขาผ่านโลก ผ่านร้อน ผ่านหนาวมา สิ่งใดถ้าเป็นประโยชน์ จะเป็นประโยชน์กับเราถ้าเราฟังได้ แต่ถ้าเราฟังไม่ได้นะ แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นานก็น่าเบื่อ ถ้าแก่มะพร้าว แก่ฟัก แก่แฟง ยิ่งแก่ยิ่งมีประสบการณ์ อย่างนั้นจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าอย่างนั้นเป็นประโยชน์กับเรา เราจะได้ประโยชน์เนาะ เอวัง