ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ไม่ทำตลาด

๓๑ มี.ค. ๒๕๕๕

 

ไม่ทำตลาด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อันนี้มันข้อ ๘๓๑. เนาะ

ถาม : ๘๓๑. เรื่อง “กราบขอขมาหลวงพ่อ”

เรื่องกราบเรียนหลวงพ่อ กระผมกราบขอขมาองค์หลวงพ่อด้วยครับ คือผมได้ส่งเสียงธรรมของหลวงพ่อลงในเฟสบุ๊คก่อนได้รับอนุญาต แล้วคัดลอกแถบเสียงธรรมะในรูปแบบเอ็มพีสาม (MP3) ในซีดีแจกเพื่อน และวัดที่เคยบวชอีกด้วยครับ การคัดลอกธรรมไปครั้งเดียวจำนวน ๑๐ แผ่น แต่ลงเฟสบุ๊คนี่ลงบ่อยครับ ครั้งหลังสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๘

กระผมเข้ามาดู มาฟังบ่อย แล้วรู้สึกผิดในการกระทำของตัวเองมากครับ กระผมได้ทำผิดล่วงเกินในองค์หลวงพ่อแล้ว จึงขอกราบขอขมาหลวงพ่อด้วยครับ กราบหลวงพ่อเมตตา

ตอบ : ไอ้นี่ที่ว่าถ้ามันแบบว่าขอขมา หรือว่าสิ่งที่ความผิดไปแล้วสำนึกได้ อันนี้จบนะ กรณีนี้เราไม่ถือสา มันผ่านไปแล้ว พอมันผ่านไปแล้ว ทีนี้เราจะพูด เราจะพูดเรื่องการให้ธรรมเป็นทาน ให้ธรรมเป็นทาน เราจะพูดอีกกรณีหนึ่ง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาขอขมาลาโทษ เรายกให้แล้วเนาะ ไม่ติดใจกัน ฉะนั้น พอไม่ติดใจปั๊บ เราไปพูดเดี๋ยวบอกไม่ติดใจทำไมด่าตามหลัง (หัวเราะ) ไอ้ขอขมาเรายกให้แล้วนะ ไม่ผิด เรายกให้แล้วแหละ แต่นี้เราจะพูดให้ฟังเรื่องเหตุผล ถ้าเราพูดถึงเหตุผลแล้วนี่ เราต้องพูดเหตุผล ถ้าไม่อย่างนั้นคนจะไม่เข้าใจว่านี่ให้ธรรมเป็นทาน เราอุตส่าห์ให้ธรรมเป็นทานนะ แล้วนี่อุตส่าห์เสียค่าไฟ อุตส่าห์ต้องมานั่งจัด ต้องมานั่งโหลดแล้วไปใส่เฟสบุ๊ค ทำไปแล้วทำไมมันมีความผิด? ทำไมมันไม่ดีอย่างใด?

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าทำไปแล้ว สิ่งที่ทำไปแล้วแล้วขอขมานี่เราให้อภัยหมด เพราะเราไม่ติดใจอยู่แล้ว เพราะธรรมดาเราออกอินเตอร์เน็ต ทำเว็บไซต์ต่างๆ มันก็เหมือนกับจะให้ธรรมเป็นทาน ทีนี้ให้ธรรมเป็นทานแล้วคนอื่นช่วยมันทำไมเสียหายอย่างใด? มันเสียหาย มันเสียหายเพราะว่าด้วยความไม่เข้าใจ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นี่ทำไปนะ ทำไปถ้ามันเป็นประโยชน์มันก็เป็นประโยชน์ ถ้าทำเป็นประโยชน์ใช่ไหม?

เพราะเราอยู่กับหลวงตามา เมื่อก่อนเราก็มีความคิดแบบโยมนี่แหละ เพราะเราก็บวชมา เราก็เป็นฆราวาสมาก่อน พอเป็นฆราวาสมาก่อน สิ่งใดที่โยมเขาช่วยทำ แล้วเขามารายงานกับหลวงตา หลวงตาก็บอกว่าไม่ถูกต้องๆ ในความรู้สึกเรา เราก็เข้าข้างคนที่เขารายงานนะ คนที่เขาช่วยเผยแผ่ แล้วทำไมหลวงตาบอกว่าเขาผิดๆ เขาไม่ควรทำอย่างนั้น

นี่อย่างเช่นมูลนิธิ ตอนนี้มูลนิธิหลวงปู่มั่น เขาบอกว่าท่านไปเอาเทปของหลวงตา แล้วก็มาอัดเทปแล้วก็แจก แล้วก็บอกว่าแจก เพราะเทปซื้อมา สมัยนั้นเทปม้วนละ ๘ บาทหรือ ๙ บาทจำไม่ได้ แล้วเขาก็อัดเทป แล้วมูลนิธิก็ขายในราคา ๙ บาท ราคาต้นทุน ต้นทุนที่อัดมา หลวงตาบอกว่าไม่ถูกต้อง ควรจะแจก ควรจะให้ฟรี ควรจะแจกเขาไป โยมเขาก็บอกว่า “อ้าว ต้นทุนราคา ๘ บาท ก็อัดเทปเราต้องเสียค่าปก เสียค่าไฟ เสียค่าแรงงาน เราก็ขาย ๘ บาท เออ เราขาดทุนด้วยนะ”

ตอนนั้นเราก็คิดว่า เออ เพราะเขาอยากจะให้ทำต่อเนื่อง แต่หลวงตาบอกว่า “ถ้าเราจะให้ธรรม เราจะให้ทาน ควรจะทานให้สะอาดบริสุทธิ์ ก็เราทานซะก็จบ มันได้ผลสมบูรณ์ แต่ถ้าเราทำอย่างนี้มันได้เล็ก ได้น้อย ได้อะไร แล้วแบบว่ามันมีการแลกเปลี่ยน มันไม่สะอาดบริสุทธิ์” สุดท้ายแล้วพอเรามาคิด อืม มันก็จริงของท่านนะ

แต่โยมที่เขาพูดก็บอกว่า อ้าว ถ้าทำอย่างนั้นทีเดียวก็จบเลย ซื้อมา ๘ บาท พอแจกไปแล้วก็หมด แต่ถ้าเราซื้อมา ๘ บาทใช่ไหม? เราเสียค่าไฟ เสียค่าแรงงานของเรา เสียค่าต่างๆ แต่เราก็ขายในราคา ๘ บาทให้มันได้ต่อเนื่อง นี่โยมคิดกันแบบนั้น นี่แบบว่าไม่อะไรผิดพลาดเลยนะ แต่ถ้าความผิดพลาดที่เขาทำกันอยู่ เวลาหลวงตาท่านบอกว่าสมัยที่ท่านภาวนาอยู่นะ ใครจะมาถ่ายทอดหนังสือท่าน เขียนหนังสือท่าน ท่านไม่เห็นด้วย ท่านห้ามเด็ดขาด ท่านบอกว่าไม่มีวุฒิภาวะ ไม่มีความรู้ เขียนหนังสือออกไปคลาดเคลื่อนแน่นอน แน่นอน

สังเกตได้ในประวัติหลวงปู่มั่น ในหนังสือครูบาอาจารย์ท่านจะบอกว่าไม่รู้เขียนไม่ได้ ไม่รู้ถามไม่ได้ คนไม่รู้จะเอาปัญหาไปถามคนที่รู้ได้อย่างใด? แล้วคนที่ไม่รู้จะตอบได้อย่างใด? ฉะนั้น ไอ้ที่เอาไปออกเฟสบุ๊ค ที่เอาไปขยายความกัน เอาไปเพื่อเป็นธรรมๆ นี่เวลาเอาไปทีแรกก็ถูกต้อง พอไปๆ อืม หลวงพ่อน่าจะพูดผิด เอ๊ะ หลวงพ่อพูดมันกำกวม เดี๋ยวมันจะเติมมันไปเรื่อยๆ ไง มันจะขยายความ มันจะเติมไป มันจะทำของมันไป

นี่พูดถึงในทางที่ว่ามันจะคลาดเคลื่อนนะ คำว่าคลาดเคลื่อน ต่อไปมันจะมีคลาดเคลื่อน ฉะนั้น ถ้ามันจะไม่ให้คลาดเคลื่อน ต้องแบบว่าตรงตัวคำต่อคำเอาไปเผยแผ่ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง นั่นหลวงตาท่านบอกว่าไม่สมควร ไม่สมควรตรงไหน? ไม่สมควรว่าคนที่จะเผยแผ่ คนที่จะไปทำ เอ็งภาวนาหรือยัง? คิดดูสิเราปรารถนาให้คนอื่นภาวนา ให้คนอื่นบรรลุธรรมหมดเลย แล้วเราไม่ได้อะไรเลยอย่างนั้นหรือ? เอ็งจะเผยแผ่เอ็งปฏิบัติก่อนสิ สำคัญที่เรานี่ปฏิบัติก่อน เราทำของเราให้ได้ก่อน ถ้าเราทำของเราได้นะเราปฏิบัติก่อน

ทุกคนรักตัวเองใช่ไหม? ทุกคนรักตัวเองมากเลย แต่เวลาธรรมะจะไปแจกคนอื่น ทำไมไม่แจกตัวเองล่ะ? ทำไมตัวเองไม่ทำก่อน แต่ถ้าตัวเองได้ทำแล้ว ตัวเองได้เข้าใจแล้วนะ นี่เราไปบอกใครจะไม่ผิดพลาดเลย แต่ตัวเองไม่เข้าใจ ตัวเองไม่รู้ แล้วกระจายไป ราจะบอกว่าอันนี้เป็นอันหนึ่งนะ นี่พูดถึงในข้อเท็จจริง แต่ถ้าในทางโลก เห็นไหม ในทางโลกคือการตลาด ของเราไม่ทำการตลาด ธรรมะไม่ทำการตลาด เพราะการทำการตลาดนั่นคือโลก โลกกับธรรม

ถ้าเป็นธรรม เห็นไหม เป็นธรรมตามข้อเท็จจริง ใครแสวงหา หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าในเขานะ คนจะไปทำบุญต้องซื้อทางเข้าไป เพราะคนไปทำบุญนะ คนไปทำบุญมาจากสกลฯ เวลาจะเข้าไปมันต้องผ่านคันนาเขา ผ่านร่องนาเขา แล้วคนที่ไปทำบุญแบบว่าเขามีฐานะ เขาต้องซื้อนานะ ซื้อนาแล้วจ้างเกวียนนั่งข้ามไป คนจะทำบุญกับหลวงปู่มั่นนะต้องซื้อทาง ต้องขวนขวาย ต้องกว่าจะเข้าไปหาหลวงปู่มั่นได้

แล้วหลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าของท่าน ท่านอยู่ที่หนองผือนั่นน่ะ คนจะเข้าไปนะต้องซื้อทางเข้าไป เว้นไว้แต่คนที่เดินไหวก็เดินไปตามคันนา ผู้เฒ่า ผู้แก่เดินไม่ได้นั่งเกวียนไป แล้วจ้างเกวียน พอเกวียนเขาจะไปมันต้องซื้อคันนาเขา เพราะเกวียนมันต้องไปในร่องนาของเขา เห็นไหม ถ้าเป็นความจริงนะเขาขวนขวาย นี่คือธรรมกับโลก แต่ถ้าโลกนะ อยู่ถึงบ้าน ยัดเยียดเข้าไป นี่มันเรื่องการตลาด ถ้าทำการตลาด ถ้าการตลาดมันเป็นแบบนั้น เราไม่ต้องการให้เป็นการตลาด เราต้องการความเป็นจริง

ฉะนั้น พอบอกว่าทำไมทำแล้วหลวงพ่อไม่ให้ทำๆ ไม่ให้ทำ เราไม่เคยให้ใครทำ แล้วถ้าใครจะทำเราไม่อนุญาต ไม่อนุญาต ไม่อนุญาตใครทั้งสิ้น แล้วถ้าไม่อนุญาตมันคับแคบนะหลวงพ่อนะ มันไม่กว้างขวางนะ มันไม่มีใครมารู้นะ มันเรื่องกรรมของสัตว์ ถ้าสัตว์มันไม่รับรู้ มันไม่เข้ามาดูก็เรื่องของมัน ไม่มีความจำเป็น แต่ถ้ามันมีความจำเป็นมันเข้ามานะ ถ้าแบบว่าในเฟสบุ๊คเขาเอาไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ทำไป มีคนทำ เพราะโดยสัญชาตญาณของมนุษย์ไง รู้สิ่งใดก็อยากจะให้คนอื่นรู้ด้วย เขาก็ทำของเขาไป

ถ้าเขาทำนะ ถ้าเขาทำเริ่มต้นทุกคนทำมันต้องแบบว่าซื่อตรง แต่ถ้าทำๆ ไปแล้ว พอทำไปมันจะมี พอการคุ้นชิน การเห็นนี่มันจะเห็นของมัน ไอ้นั่นไม่ถูกต้อง ไอ้นี่ไม่ดีงาม ไม่ถูกไปสักอย่างหนึ่งเลย เพราะมันไม่รู้จริง มันไม่รู้ทางธรรมแต่รู้ทางโลก มันคิดให้ทางโลก เพราะทางโลก เพราะเราหวังให้คนเข้าใจใช่ไหม? พอเราหวังให้คนเข้าใจมันก็ต้องทำให้คนเข้าใจ พอคนเข้าใจมันก็ไปตามโลกหมดเลย

นี่เหตุผลนะ สิ่งที่เขาขอขมา นี่เราไม่ถือสานะเรายกให้ แต่เหตุผลของเรา เราไม่ทำการตลาด ไม่ทำตลาด เพราะทำตลาดแล้ว หลวงตาพูดบ่อยนะ เวลาทำตลาด นี่เวลาพระเราปฏิบัตินะ พระธุดงค์ไปอยู่ในเทศบาล ๑ เทศบาล ๒ กระดูกหมู กระดูกหมา นี่เวลากระดูกหมูใช่ไหม? ถ้ากระดูกหมูดีๆ กระดูกหมูต้มเปื่อยๆ อย่างนั้นแหละมันจะภาวนาดี แต่ถ้าไปอยู่ในป่าในเขานะภาวนาไม่ดี

นี่ก็เหมือนกัน ทำการตลาดก็กระดูกหมู กระดูกหมาไง เวลาต้มซุปก็ต้มให้มันเปื่อยๆ นะ เวลาเข้าปากมันละลายในลิ้นเลย อย่างนั้นธรรมะมันจะเกิดใช่ไหม? แต่ถ้าพูดถึงเราเอาจริงเอาจังของเรา ใครจะรู้ได้ไม่รู้ได้นั่นเรื่องของเขา มันต้องยืนในข้อเท็จจริงไว้

ทีนี้เพียงแต่ว่าอนาคต อนาคตทุกคนก็ปรารถนาดีทุกคนแหละ เวลาปรารถนาดีเขาก็ทำแบบนี้ มันเป็นเรื่องของตลาดนะ ถ้าจิตใจอ่อนแอ มันเป็นดาบสองคม ถ้าเป็นเรื่องของการตลาดแล้วมันก็เป็นเรื่องโลก ถ้าเรื่องโลกแล้วนะ เวลาคุยธรรมะกันนี่ปากเปียกปากแฉะ เวลาเถียงธรรมะกันปากเปียกปากแฉะเลย แต่เอาความจริงไม่มีแม้แต่ขี้เล็บ แต่ถ้าเราเอาความจริงนะ เราทำความจริงของเรา

ฉะนั้น สิ่งที่เผยแผ่ไปๆ มันคลาดเคลื่อนได้ มันคลาดเคลื่อนจากคนที่เอาไปเผยแผ่ต่อไปนั่นแหละ มันคลาดเคลื่อนตรงนั้น แต่ถ้ามันไม่คลาดเคลื่อน มันซื่อตรงนะ นี่มันเป็นตามจริงของมัน แล้วเขาช่วยทำไมไม่ชอบล่ะ? เขาช่วยเผยแผ่ไม่ชอบหรือ? มันถึงเป็นกาล เป็นเวลานะ ถ้าเป็นกาล เป็นเวลา ถ้าเป็นความจริง ถ้ามันสัจจะจริง คนเรามันทำได้ ถ้ามันไปตามกระแสโลก มันมีประโยชน์ มันก็มีโทษของมัน

ฉะนั้น การขอขมาลาโทษนี่เราสาธุนะ จบแล้ว นี่พูดถึงเราไม่ถือสา เราไม่ถือสาเพราะว่าเราก็ปรารถนาเพื่อความสงบร่มเย็นอยู่แล้ว เพื่อความสงบร่มเย็น เพื่อความเป็นธรรม แล้วไปกวนสังคมทำไม? ไปทำให้สังคมนี้ปั่นป่วนไปหมดเลย ขวางเขาไปทั่ว ขวางเขาไปทั่วนะ ถ้ามันเป็นการ เวลาเขาฉีดวัคซีน เวลาเอาเด็กเอาลูกไปฉีดวัคซีน เห็นไหม เวลาเข็มทิ่มไปลูกเราเจ็บไหม? ลูกเราเจ็บ แต่ทำไมพ่อแม่ต้องเอาลูกไปฉีดวัคซีนด้วยล่ะ? ฉีดวัคซีนไว้ป้องกันโรค เวลาป้องกันโรคขึ้นมามันจะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งใดที่มันเป็นพิษ สิ่งใดที่มันจะให้โทษ นี่สังคมจะรู้หรือไม่รู้ ถ้าเรารู้ได้เราก็ให้วัคซีน ทีนี้การให้วัคซีนของเรา เห็นไหม เวลาบอกว่าปรารถนาจะให้โลกร่มเย็นๆ ขวางเขาไปทั่ว อันนี้มันเป็นวัคซีน วัคซีนเพื่อต้องการให้สังคมเข้มแข็ง ให้สังคมรู้ตัวของเขา ถ้าใครยอมเจ็บฉีดวัคซีน เขาจะมีภูมิคุ้มกัน ถ้าใครไม่อยากเจ็บก็บอกว่าหลวงพ่อนี่ยุ่งไปหมดเลย เขาจะไม่มีภูมิคุ้มกัน พอไม่มีภูมิคุ้มกันแล้ว เขาก็จะรู้ของเขาเองว่าเขาถูกหรือเขาผิด

นี่พูดถึงมุมมอง เวลาเราบอกว่าอยากให้สังคมร่มเย็น อยากให้ทุกคนมีความสุข แล้วทำไมเรานี่ตัวปัญหาเลย ตัวล่อเขาเรื่อยเลย ไม่หรอก ถ้าอะไรในดุลพินิจนะ ทุกคนมีความรู้สึกนึกคิด อะไรดี อะไรชั่ว นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เห็นว่ามันจะเป็นโทษกับใครนะเราก็ไม่สนหรอก แต่ถ้ามันรู้แล้วทนไม่ไหวว่าอย่างนั้นเถอะ ถ้ามันทนไม่ไหวเราถึงได้พูด แต่ไอ้เรื่องปัญหาถาม-ตอบมันมีเหตุ มีเหตุเพราะเขาเขียนมา เราต้องการความรับรู้เราก็จะตอบไป

แล้วเวลาตอบนะ อย่างที่หลวงตาว่านั่นน่ะเขารับรู้ได้แค่ไหน ธรรมะนี่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ผู้ถามเขารับได้ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คนถามแท้ๆ เขายังรับไม่ได้เลย รับไม่ได้เพราะอะไร? เพราะตอบมานะตอบมาคนละเรื่อง เขาคิดว่าคนละเรื่อง แต่ความจริงมันเรื่องเดียวกัน มันเรื่องเดียวกันแล้วเรื่องหนักหนาสาหัสสากรรจ์ด้วย ฉะนั้น เวลาตอบนี่อยู่ที่รับได้หรือไม่ได้

ที่เราพูดนี่จะบอกว่า อ้าว หลวงพ่อมีกั๊กด้วยหรือ? มี กั๊กไว้เยอะเลย ตอบนี่กั๊กไว้ทั้งนั้นแหละไม่ปล่อย เพราะปล่อยไปแล้วมันยิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่ ฉะนั้น เวลาที่ตอบๆ นี่ตอบไม่หมดหรอก ตอบไม่หมดหรอก ถ้าตอบหมดนะมันจะมากกว่านี้ไง อันนี้ถึงว่าการขอขมานะ เพราะเราไม่ทำการตลาด สิ่งนั้นเป็นเรื่องตลาด ตลาดไม่ใช่ธรรม เรื่องโลกไม่ใช่ธรรม เรื่องโลกคือโลก สินค้าทางโลกเขายังทำการตลาดกันเลย แล้วธรรมะต้องไปทำการตลาดด้วยหรือ?

ฉะนั้น ถ้าเขาต้องการตลาด เขาต้องการความสบาย เขาต้องการหยิบฉวยเอา ก็ให้เขาเอาธรรมะตลาดไป แต่ถ้าธรรมะแท้ๆ ธรรมะที่มันสะเทือนใจ ธรรมะเป็นธรรมโอสถที่จะสะเทือนกิเลสต้องขวนขวายกัน เราจะกินยา เราจะต้มยาหม้อ เราจะต้องต้มยาหาหม้อ เห็นไหม ต้มยาไทย ถ้าหม้อดินยังมีคุณภาพของยาดีกว่าหม้ออลูมิเนียม หม้อสแตนเลสอีกนะ เวลาต้มยาเขายังมีหม้อดิน หม้อดินต้มแล้วคุณภาพยาจะเป็นอย่างนี้ หม้ออลูมิเนียมต้มยาแล้วจะเป็นแบบนี้

นี่แม้แต่หม้อต้มยามันยังมีคุณภาพของยาเลย แล้วนับประสาอะไรกับธรรมโอสถ กับธรรมตลาด ฉะนั้น ธรรมะตลาดปล่อยเขาไป แต่ถ้าธรรมะจริงๆ เออ มันกินเข้าไปรสมันขมนะ มันขื่นน่าดูเลยล่ะ แต่มันหายจากโรค แต่ไอ้หวานๆ ไอ้ตลาดมีแต่ อันนั้นเรื่องของโลกๆ เขาไป อันนั้นจบแล้ว นี่พูดว่าจะไม่ (หัวเราะ) จะกั๊กไว้แล้วนะ

ข้อ ๘๓๓. นี่นะมันเป็นเรื่องไร้สาระ เขาถามมานี่จบ ยกเลิกเลยข้อ ๘๓๓. เวลาถามมามันอยู่ที่เขาเหมือนกัน ว่าเขามีวุฒิภาวะแค่ไหน? เขามีความรู้สึกแค่ไหน? อันนี้มันจะเป็นประเด็น

ถาม : ข้อ ๘๓๔. เรื่อง “ประเพณี ทำให้พระสงฆ์ทำผิดวินัยหรือไม่?”

ตอบ : เรื่องประเพณีนะ ทีนี้พอพูดไปแล้วมันก็จะเป็นประเด็นแล้ว

ถาม : พระวินัยสงฆ์มีว่าการบิณฑบาตต้องบิณฑบาตตอนเช้าตรู่ แต่ผมได้ดูข่าวว่ามีประเพณีที่เรียกว่าประเพณีของเขา จะมีการทำบุญตอนเที่ยงคืน มีการบิณฑบาตข้าวสารอาหารแห้ง และพระสงฆ์และสามเณรเป็นผู้บิณฑบาต ขอถามดังนี้

๑. พระสงฆ์ สามเณรผิดวินัยหรือไม่?

๒. ถ้าผิดประชาชนจะได้บุญหรือไม่?

๓. ถ้าผิดควรทำอย่างไรต่อไปครับ ขอกราบด้วยความเคารพอย่างสูง

ถาม : ๑. พระสงฆ์ สามเณรผิดวินัยหรือไม่?

ตอบ : การว่าผิดวินัย ถ้าเราศึกษาเถรวาทเรา ถ้าว่าอรุณยังไม่ขึ้น เราบิณฑบาตมามันผิดวินัย มันผิดวินัยเพราะว่าในการบิณฑบาต เห็นไหม ภิกษุสงฆ์ห้ามสะสมอาหารไว้แรมคืน ก็อรุณขึ้นเขาก็ถือว่าวันรุ่งขึ้น นี่พอมันรุ่งขึ้นไป แล้วเวลาบิณฑบาตมาก็ฉันได้แค่ยาม แค่ช่วงเช้า แค่ได้ภายในเพล ฉะนั้น ภายในเพล ถ้าพ้นไปก็เป็นสันนิธิแล้ว ถ้าสันนิธินี่พระสงฆ์ผิดหรือไม่?

ถ้าพูดถึงตามธรรมวินัยนี่ผิด แล้วถ้าผิด นี่บอกประเพณีเขาบิณฑบาตกันเที่ยงคืน แล้วดูประเพณีของเรา เราบิณฑบาตของเราล่ะ? นี่มันเคลื่อนไปๆ เพราะว่าธรรมวินัยนี่นะ หรือว่าพระ หรือธรรมะตามโลกไป โลกเขาเจริญ โลกเขาเป็นไป เราตามโลกเขาไปไง ถ้าตามโลกเขาไปเราจะทรงของเราได้อย่างไร? เราจะทรงของเราได้อย่างไรว่าเป็นประเพณี

ทีนี้เขาตักบาตร ถ้าพูดถึงพระสงฆ์ผิดธรรมวินัยหรือไม่? ถ้าโดยธรรม โดยวินัยนี่ผิดแน่นอน ถ้าบิณฑบาตเที่ยงคืนผิด ทีนี้ผิดแล้ว ถ้าผิด เห็นไหม ถ้าผิด ถ้าผิดประชาชนจะได้บุญหรือไม่? นี่ประชาชน เวลาประชาชนไปทำบุญมันเป็นประเพณี ถ้าเป็นประเพณีความเชื่ออย่างนั้น ถ้าเป็นประเพณีความเชื่อของเขานะ นี่การทำบุญ ถ้าพูดถึงเฉพาะการทำบุญ การตักบาตร แต่ถ้าทำบุญมันมีนอกกาล นอกเวลาก็เยอะแยะไป นี่ทำบุญที่ว่าไม่ใช่อาหาร เขาก็มีทำบุญของเขาเหมือนกัน ทีนี้จะได้บุญหรือไม่? จะได้บุญหรือไม่?

อันนี้มันรัดคอเนาะ เพราะอะไร? เพราะว่าประเพณีมันมาอย่างนี้ อย่างเช่นกรณีทางภาคเหนือ เวลาภาคกลางมีแม่น้ำเขาก็ลอยกระทง แต่ถ้าพูดถึงทางภาคเหนือเขาก็ลอยโคม เขาลอยโคมของเขา เขาบูชาพระพุทธเจ้าเหมือนกัน นี่พูดถึงประเพณี เขาทำเพราะอะไร? เพราะมันเป็นพื้นที่ ทีนี้พอประเพณีของเขา เขาทำบุญตอนเที่ยงคืน วันเพ็ญ ๑๒ เขาตักบาตรทำบุญ ทีนี้ตักบาตรทำบุญเขาทำของเขา วัฒนธรรมของเขานะ ประสาเรานะถ้าเป็นประชาธิปไตยเขาจะไม่ดูถูกความเชื่อกัน

ทีนี้ความเชื่อส่วนความเชื่อ ความเชื่อไม่ใช่ธรรมวินัย ทีนี้พอบอกถ้าเป็นธรรมวินัยผิดไหม? ผิด เพราะธรรมวินัย ถ้าเป็นเถรวาทนะ แต่ถ้าเขาเป็นมหายาน เขาเป็นต่างๆ เขามีของเขาอย่างนั้น ถึงประเพณีของเขา วัฒนธรรมประเพณีไม่เหมือนกัน ฉะนั้น อย่างเช่นประเพณีเวลาอยู่ในพื้นถิ่น เราไปเราจะเห็นของเรา

ถาม : ภิกษุ สามเณรผิดวินัยหรือไม่?

ตอบ : ไอ้ผิดวินัยนี่เราว่าผิด ทีนี้ผิดแล้วเราทำได้อย่างไร? ในเมื่อประเพณีที่คนเขาไปมาก แล้วภิกษุสงฆ์มันเยอะมากเขาทำอย่างไร? นี่เขาทำอย่างไร? เขาทำของเขา ตามประเพณีของเขา ผู้ใหญ่พาทำมาอย่างนั้น ด้วยความเคารพ ด้วยความเกรงใจ ด้วยความอย่างไรมันเป็นไปได้ไง

คนที่ความเห็นต่างมันมี แต่คนเห็นต่าง วัฒนธรรมอย่างนั้นมันเป็นแบบนั้น ทีนี้พอวัฒนธรรม เวลาพระธุดงค์ไปมันจะเจอปัญหาแบบนี้ ปัญหาเวลาที่เขาฉัน เห็นไหม แล้วเขาฉันเอกา เขาฉันเป็นคณะ ทีนี้เราไปร่วมกับเขาเราทำอย่างไร? เพราะพื้นที่เวลาพระที่เขาอยู่นี่เขาอยู่ของเขา อยู่ของเขาโดยวัฒนธรรมของเขา แล้วเราธุดงค์ผ่านไป แล้วไปอาศัยกับเขา

ฉะนั้น พระธุดงค์เราถึงไปนอนตามเรือนว่าง เราจะไปนอนตามเรือนว่าง นอนในป่า แล้วเราบิณฑบาตของเรา ภิกขาจารของเรามา เราฉันเสร็จแล้ว เราเก็บล้างแล้วเราก็ไปต่อ ถ้าไปต่อมันจะเห็นกรณีอย่างนี้มาก ถ้ากรณีที่เกิดขึ้นมันอยู่ที่ใครศึกษาได้มาก ได้น้อย ถ้ากรณีนี้นะ นี่มันนึกถึงกรณีหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่า ท่านธุดงค์อยู่ในป่า แล้วท่านเล่าให้หลวงปู่เจี๊ยะฟัง แล้วหลวงปู่เจี๊ยะเป็นคนเล่าให้เราฟัง

นี่หลวงปู่มั่นท่านธุดงค์อยู่ในป่า ทีนี้พอธุดงค์อยู่ในป่าด้วยกัน ก็ไปเจอพระอีกองค์หนึ่งธุดงค์มาด้วยกัน พระองค์นั้นชื่อหลวงปู่เภา หลวงปู่เภาอยู่ที่วัดสำเภาทอง ที่ลพบุรี นี่หลวงปู่มั่นชมด้วยนะ ทีนี้เพียงแต่หลวงปู่มั่นชมให้กับหลวงปู่เจี๊ยะ ว่าไปเจอพระในป่าองค์หนึ่งมีหลักมีเกณฑ์ คำว่ามีหลักมีเกณฑ์ของหลวงปู่มั่นแสดงว่าภาวนาเก่ง มีหลักมีเกณฑ์แล้ว ท่านบอกว่าไปเจอพระองค์หนึ่ง ตอนนั้นเจอกันอยู่ในป่า ท่านเล่าให้หลวงปู่เจี๊ยะฟัง นี่เสร็จแล้วไปเจออยู่ในป่าคุยธรรมะกัน หลวงปู่มั่นพูดแค่นี้ ท่านจะพูดเรื่องคุยธรรมะกัน คุยธรรมะกันคือวุฒิภาวะของใจที่ภาวนามาแล้วมีหลักมีเกณฑ์

ฉะนั้น เวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านไปหาหลวงปู่เภา วัดสำเภาทอง ท่านเสียแล้ว ทีนี้ไปได้หนังสือของท่านมาไง หนังสือของหลวงปู่เภาท่านเขียนมา ท่านเขียนประวัติของท่านเองนะ ท่านบอกว่าท่านเป็นพระเมือง คือท่านอยู่กรุงเทพฯ สมัยนั้นท่านอยู่กรุงเทพฯ ท่านจบนักธรรมเอก แล้วท่านก็ออกธุดงค์ไปในป่า แล้วท่านก็ภาวนาดีท่านติดใจมาก แล้วไปเจอพระองค์หนึ่ง ไปเจอพระองค์หนึ่ง พระองค์นั้นดีมาก พระองค์นั้นแบบว่าพูดธรรมะกัน ตอบธรรมะท่านได้หมด แล้วถามท่าน แล้วท่านก็อยากจะไปธุดงค์กับพระองค์นั้น

ทีนี้พอจะไปธุดงค์กับพระองค์นั้นปั๊บ เวลาคุยนี่ เขาเรียกว่าด้วยความสัมพันธ์ลึกซึ้ง มันแบบว่าคุยด้วยกัน ไปด้วยกัน ทันกัน ดีมากเลย แต่เวลาจะเดินทางหลวงปู่มั่นกลับไม่ให้ไป ไม่ให้ไปเพราะอะไร? หลวงปู่มั่นถามว่า “ถ้าไปกับเรานี่มีธมกรกไหม?” คือดูบริขารไง ไม่มีธมกรกที่เอาไว้กรองน้ำ เวลาจะบวชมันจะมีธมกรก ถ้าไม่มีธมกรกหลวงปู่มั่นบอกไม่ให้ไป

ทีนี้หลวงปู่เภาท่านขอไปด้วย ท่านอยากไป แต่หลวงปู่มั่นบอกว่า

“ท่านไม่มีธมกรกแล้วท่านจะไปได้อย่างไรล่ะ?”

ทีนี้หลวงปู่เภาท่านพูดอย่างนี้นะ นี่นักปราชญ์ ท่านบอกว่าท่านไม่มีธมกรกมา ท่านลืมเอามา ฉะนั้น เวลาท่านจะฉันน้ำท่านใช้ผ้ากรองน้ำ กรองลงไปใช่ไหม? แล้วก็ดูดน้ำจากผ้า เพราะธมกรกมันคือผ้ากรองน้ำไม่ให้มีตัวสัตว์ ภิกษุดื่มน้ำที่มีตัวสัตว์เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุกินน้ำไม่ได้น้ำต้องกรอง น้ำห้ามมีตัวสัตว์ ฉะนั้น พอทำไม่ได้ ก็บอกแก้ตัวใหญ่เลยนะ

อันนี้มันอยู่ในประวัติหลวงปู่เภา พอแก้ตัวขนาดไหนหลวงปู่มั่นท่านก็ไม่ให้ไป ก็เลยแยกทางกัน นี้ในประวัติหลวงปู่เภานะ เราก็ไปอ่านเจอเข้า หลวงปู่เภาท่านบอก ท่านพูดเองนะ นี่หลวงปู่เภาพูด ตามหนังสือนะ เดี๋ยวจะหาว่าเราไปพูด หลวงปู่เภาท่านไปไม่ได้ ท่านไม่ได้ไปท่านบอกว่า ท่านเขียน ท่านสำนึกในความรู้สึกท่านคิดเองไง นี่บอกว่า “เราเรียนมาถึงนักธรรมเอก แล้วเราก็เป็นพระเมือง ไม่น่ามาเสียท่าพระป่าเลย” คือมาเสียท่าพระอยู่ในป่า พระบ้านนอกเนี่ย

ท่านเรียนมาถึงนักธรรมเอก แล้วยังมาจากในเมือง มาจากเมืองหลวง มาจากกรุงเทพฯ มาเสียท่าพระในป่าได้ เสียท่าคือว่าพูดท่าไหนเราผิดหมดเลย พูดท่าไหนเราไปไม่ได้เลย เราติดขัดไปหมดเลยเพราะเราผิดจริงๆ ไม่มีธมกรกมา นี่ไงเพราะไม่มีครูบาอาจารย์ไง นี่ขนาดท่านบอกว่าท่านเป็นนักปราชญ์นะ แต่หลวงปู่มั่นท่านก็ชม ชมว่าไปเจอพระในป่าองค์หนึ่งภาวนาดี แล้วท่านบอกชื่อกับหลวงปู่เจี๊ยะไว้ แล้วเราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ

ตอนที่เราไปอยู่ที่ปทุมฯ (วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม) หลวงปู่เจี๊ยะพอได้ข่าวลูกศิษย์ของท่านมาหา ไปเลยนะ เพราะเราก็ถามหลวงปู่เจี๊ยะว่าทำไมล่ะ? หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่าหลวงปู่มั่นบอกไว้ หลวงปู่มั่นบอกไว้ ไปที่วัดสำเภาทอง เห็นไหม นักปราชญ์กับนักปราชญ์ด้วยกันเขายอมรับความจริง นี่ไปอยู่ในป่า ไปเจอแก้ตัวนะ เพราะไม่มีธมกรกใช่ไหม? ไม่มีธมกรกก็ใช้ผ้ากดไปในน้ำ พอกดไปในน้ำ น้ำที่อยู่ในผ้าก็ถือว่ากรอง ก็ใช้น้ำนี้

นี่พูดถึงเวลาแก้ไขเอง แต่ของอย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้ให้แล้ว เวลาบวชเราต้องมีบริขาร ๘ มีธมกรก เพราะมนุษย์ขาดน้ำไม่ได้ มนุษย์อดอาหารได้นะ แต่มนุษย์อดน้ำไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อก่อนพระใช้น้ำที่มีตัวสัตว์เป็นอาบัติปาจิตตีย์ แม้แต่น้ำใช้ น้ำฉันเราต้องกรองตลอด เราต้องกรอง เราต้องดูแลตลอด อย่างเช่นน้ำใช้เราจะมีฝาปิดไว้ เพราะยุงมันจะไปไข่ มันจะเกิดลูกน้ำ ฉะนั้น เราต้องมีฝาปิดไว้หมด กันสัตว์มันลงไปวางไข่กัน เพราะถ้ามีตัวสัตว์ปั๊บต้องให้โยมถ่ายให้ แล้วเราต้องเปลี่ยนน้ำตลอด น้ำมีตัวสัตว์พระใช้ไม่ได้ นี่พูดถึงเวลายอมรับ นี่ยอมรับกัน

ฉะนั้น ถามว่า

ถาม : พระสงฆ์ สามเณรผิดวินัยหรือไม่?

ตอบ : ถ้าวินัยก็คือวินัย แต่ทีนี้เพียงแต่ประเพณี เราจะบอกว่าประเพณีมันเป็นภาคนิยมเลยนะ นี่เวลาเราพูดถึงธรรมะเราปากแข็งมาก เราต้องอย่างนั้นๆ แต่เวลาภาคนิยมทำไมไม่กล้าล้มเขาล่ะ? ประเพณีเขานะ ประเพณีวัฒนธรรมมันสะสมกันมาขนาดนั้น ถ้าสะสมขนาดนั้น ถ้าเราทำ เขาทำมันมีส่วนเสีย แต่มันก็มีส่วนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของวัฒนธรรมของเขา

ถาม : นี่พูดถึงพระสงฆ์ผิดไหม?

ตอบ : ผิด

ถาม : ถ้าผิดประชาชนจะได้บุญหรือไม่?

ตอบ : ถ้าผิด เห็นไหม ถ้าผิดประชาชน เวลากรณีอย่างนี้นะ นี่พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาแห่งปัญญานะ ถ้าพระองค์ไหนทำผิดเป็นอลัชชี ทำลายศาสนา แล้วเราไปส่งเสริมเขา นี่สิ่งที่เขาทำลายเราได้ครึ่งหนึ่ง เพราะเราเป็นคนส่งเสริมอลัชชีทำลายศาสนา ฉะนั้น เวลาไปทำบุญ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่าพระองค์ไหนเป็นอลัชชีหรือไม่เป็นอลัชชี พระองค์ไหนเป็นคนทำผิดหรือไม่เป็นคนทำผิด เราจะรู้ได้อย่างไร? แต่ถ้าเราไปคลุกคลี ถ้าเรารู้ได้เราก็หลบหลีกของเรา

นี่พูดถึงว่าประชาชนผิดหรือไม่ผิดไง ถ้าประชาชน ถ้าเขาไม่ได้ทำลายศาสนา มันเป็นวัฒนธรรมประเพณี แต่ถ้ามันผิด มันผิดที่พระที่ว่าสะสมเอาอาหารไว้แรมคืน ถ้าอาหารไว้แรมคืนประชาชนจะผิดหรือไม่? นี่ประชาชนถ้าเราส่งเสริม เราส่งเสริมเพื่อคุณงามความดี แต่ถ้าประเพณีมันก็ปีละหน แต่ถ้าเขาบิณฑบาตเที่ยงคืนทุกวัน ฝ่ายปกครองเขาคงไม่ปล่อยไว้เหมือนกัน มันคงเป็นไปไม่ได้ มันคงเป็นไปไม่ได้หรอก

ไอ้นี่เวลาเราศึกษาศาสนาเราก็ต้องสะอาดบริสุทธิ์ไง ไอ้ที่เราต้องพูดอยู่นี่เพราะอะไร? เพราะว่าในเว็บไซต์เราตอบปัญหาไปเยอะ เวลาเจอปัญหาเดี๋ยวจะหาว่า แหม หลวงพ่อ เวลาปัญหาที่ตอบซึ่งๆ หน้านี่หลวงพ่อยังจะหลบได้อย่างไร?

ถาม : ๓. ถ้าผิดควรทำอย่างไรต่อไปครับ กราบด้วยความเคารพ

ตอบ : ถ้าผิด เห็นไหม ถ้าผิดเราก็ดูว่ามันผิดมาก ผิดน้อยขนาดไหนล่ะ? ถ้าผิด ถ้าเรารู้ว่าผิดเราก็ไม่ไปยุ่งกับเขา แต่วัฒนธรรมของเขา เขาก็เชื่อของเขา ความเชื่อของเขานะ อย่างเช่นพระเรา ธรรมดานี่นะพระแสดงธรรม บุคคลที่เรายืนอยู่ พระเขานั่งอยู่ แล้วพระแสดงธรรมเป็นอาบัติหมด

กรณีอย่างนี้ผิด กรณีพระให้พรตอนบิณฑบาตเหมือนกัน พระบิณฑบาตให้พรก็มาจากภาคเขานี่แหละ แล้วเวลาพระให้พร บิณฑบาตให้พร โยมผู้ถามเคยเห็นไหมล่ะ? แล้วเขาผิดไหมล่ะ? แล้วโยมทำอย่างไรเขาล่ะ? โยมจะทำอย่างไรกับเขา? สมัยโบราณพระบิณฑบาตมีการให้พรไหม? แล้วเดี๋ยวนี้ให้พรมันมาจากไหน? มันมาจากที่เดียวกันนี่แหละ มันมาจากที่เดียวกันที่โยมถามมานี่แหละ แล้วพอเป็นอย่างนี้ก็ยอมรับกันไป ยอมรับกันไป

นี่ไงเขาเรียกว่าภาษามันมีชีวิต มันมีชีวิตของมัน ภาษามันจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา วัฒนธรรมประเพณีมันจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา สังคมที่ว่าศาสนาเสื่อมๆๆ นี่มันจะเสื่อมไปเพราะคน แต่ตัวศาสนา ตัวสัจจะไม่เสื่อม แต่คนที่นับถือ คนที่กระทำมันจะเสื่อมไปอย่างนี้ มันจะหมุนไปอย่างนี้

ฉะนั้น มันหมุนไป ถ้าเรามองโลกอย่างนี้ปั๊บเราจะย้อนกลับมาที่เราเลย นี่เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกนะ เห็นความเปลี่ยนแปลงของความเชื่อ ความเชื่อที่นับถือศาสนาพุทธมันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วถ้ามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราเกิดมาเราก็เห็นแล้ว ฉะนั้น เราเกิดมาเราเห็นแล้วเราก็ว่าสิ่งที่เราทำนี่ถูก แล้วพอเราโตขึ้นมามันมีการศึกษา พอมีการศึกษา เราไปศึกษาธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามันขัดแย้งกันแล้ว มันผิด มันไม่เป็นอย่างที่เราเชื่อแล้ว เพราะสิ่งที่เราเกิดมาเราก็เห็นแล้ว แต่เราไปศึกษาธรรมวินัยปั๊บผิดหมดเลย ถ้าผิดหมดเลยนี่ทำอย่างไร?

นี่ไงกรณีอย่างนี้ อย่างเช่นพระจอมเกล้าท่านก็บวชแล้วมันถึงได้มีขึ้นมา แต่มีขึ้นมาแล้ว ด้วยความเข้มแข็งของท่านนะ สุดท้ายแล้วมันไปนะ ถ้าคนไม่มีหลักมันก็ไหลไปตามเขานั่นแหละ โลกมันเป็นแบบนี้ นี่ไงที่ว่าโลกที่ตลาดๆ เขาทำตลาดกัน เขาเป็นอย่างนั้นไป มันก็เป็นอย่างนั้นไป ถ้าเป็นอย่างนั้นไปมันก็เป็นสิ่งที่จะต้องคิดนะ ถ้ามันต้องคิดแล้วต้องดูแล มันต้องคิดพิจารณา นี่ถ้าอย่างนี้กาลามสูตรชัดเจนมากเลย ไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อแล้วเราแยกแยะว่าถูกหรือผิด จริงหรือไม่จริง ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้

แล้วตอนนี้นะตอนนี้การศึกษาเจริญ พระไตรปิฎกฉบับประชาชนเล่มเดียว พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม สุชีพ ปุญญานุภาพ เขาย่อลงมาเหลือเล่มเดียว เปิดได้เลย พระไตรปิฎกฉบับประชาชน นี่พระไตรปิฎกฉบับประชาชน ถ้าอะไรผิดถูกเปิดพระไตรปิฎกเทียบเลย ถ้าเทียบเลยมันก็จบหมด กรณีอย่างนี้จบหมด

ทีนี้ที่เราพูดอยู่นี่เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะประสาเรา ถ้าเราพูดไปนี่สังคมไง ธรรมและวินัย วินัยนี่ผิดแน่นอน แต่ธรรม เห็นไหม พระสารีบุตร ชาววัชชีบุตร เป็นพระที่เหยียบย่ำธรรมวินัย แล้วพระมาฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระสารีบุตรไปจัดการ พระสารีบุตรบอกว่า

“จะไปได้อย่างไร? เพราะชาววัชชีเขาเป็นบุคคลที่ร้าย เป็นพวกนักเลงอันธพาล”

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ให้เธอเอาพระไป แล้วไปถึงที่นั่นให้ทำพรหมทัณฑ์ให้ออกจากที่นั่นไป ไม่ให้อยู่”

กรณีอย่างนี้มันมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แล้วถ้าเราไปในสังคมใด สังคมใดที่เขามีกระแสอย่างนั้นให้เราค้านไว้ในใจ ค้านไว้ในใจ ถ้าเราเข้าไปในสังฆกรรม สังฆกรรมมันบิดเบี้ยวไปแล้ว ถ้าเราอยู่ในสังฆกรรมนั้นมันจะมีเวร มีกรรมไปด้วยนะ ให้เราค้านไว้ในใจ คือว่าเราไม่เห็นด้วยกับการกระทำอันนี้ คือสิ่งการกระทำนี้มีเจตนา มีการกระทำมันเลยเกิดกรรม ถ้าเกิดกรรม เราอยู่ในสังคมนั่นแหละแต่เราไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเราไม่เห็นด้วย เราพูด เราคัดค้านไปมันสะเทือน

นี่ธรรม ธรรมและวินัย ถ้าวินัยมันสะเทือนกัน มันอะไรกัน เรามีปัญญา เรามีความรู้ เราค้านไว้ในใจเลย ถ้าเรายังเป็นพระผู้น้อย เราเป็นพระเด็ก แต่เรามีปัญญาของเรา เราศึกษาของเราว่ามันถูกมันผิด สังคมนั้นเขาทำวินัยกรรมอย่างนี้ ทำวินัยกรรมอย่างนี้ สังฆกรรมทำอย่างนั้น เราค้านไว้ในใจว่าเราไม่เห็นด้วย แต่เราค้านไว้ในใจ

ดูอย่างกฐิน เวลามีกฐิน มีอะไรต่างๆ เขาต้องแบบว่าญัตติจตุตถกรรม เป็นฉันทามติ ไม่มีผู้ใดค้านเลย แต่ถ้ามันผิด มันผิดมันมีกรรม แต่ไม่ให้สังฆกรรมนั้นเสีย ไม่ให้สังฆกรรมนั้นเสีย ให้การกระทำนั้นไม่ผิดพลาด แต่เราไม่เห็นด้วยเพราะมันจะมีกรรมกับเรา เราค้านไว้ในใจ ค้านไว้ในใจมันก็จบ นี่พูดถึงธรรมและวินัย ถ้าธรรมมันผิดธรรม วินัยก็ผิด วินัยมันผิด พอมันผิดวินัยมันจะสะเทือนธรรม นี่เราค้านไว้ในใจ แล้วเราไม่ไปยุ่งกับเขา

นี่พูดถึงว่า “ถ้าผิดควรทำอย่างไร?” ควรทำอย่างไรนะ ควรทำอย่างไร ถ้าผิด ถ้าเขาเห็นว่าผิดหรือไม่ผิดล่ะ? ถ้าเขาเห็นผิดเขาก็ไม่ควรทำ แต่ประเพณีค้านไม่ขึ้นหรอก ประเพณีเขาใหญ่โตมาก ฉะนั้น เราตอบเท่านี้เนาะ เอวัง