เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๖ เม.ย. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

พักนี้อากาศร้อน พออากาศร้อน เห็นไหม เราอยู่กับอากาศร้อน เราก็อึดอัดขัดข้อง ฝนตกลงมาลมเย็นไปหมดเลย เวลาฝนตกมันดับอากาศร้อนหมด หัวใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าหัวใจของเรามันเร่าร้อน เราจะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง เป็นที่ดับ

ค่าของน้ำใจนะ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มันมองเหมือนไม่มีคุณค่าสิ่งใดเลย แต่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นี่แหละมันทำให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข ของเล็ก ๆ น้อย ๆ นี่แหละ แต่มันมีคุณค่ามาก

แต่เราจะบอกว่า “เราจะมีของข้าวของมากมายแล้วเราค่อยจะมาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เวลานี้เรายังอัตคัดขาดแคลน เราต้องมีความมั่นคงของเราก่อน” เราคิดของเราไป แต่มีมากมีน้อยนะ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน

ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน นี่ศาสนาสอนอย่างนี้ สอนให้เสียสละ แต่เขาบอกว่าถ้าทางโลก การเสียสละเป็นการไม่ทันคน นี่เวลากิเลส ศักดิ์ศรีของคน...ใช่ ศักดิ์ศรีของคน กับศักดิ์ศรีของธรรม กับศักดิ์ศรีของโลกล่ะ

ถ้าศักดิ์ศรีของธรรม เห็นไหม ถ้าศักดิ์ศรีของธรรมนี่เป็นผู้ที่เสียสละ “บารมีธรรม” ผู้ที่มีบารมี มีคนนับหน้าถือตา มีความเชื่อถือ แต่ถ้าบารมีโลกล่ะ ? สรรพสิ่งเป็นของเรา ยึดว่าเป็นของเรา ๆ แล้วใครเขาคบเราล่ะ ? เราก็อยู่คนเดียว สมบัติพัสถานมหาศาลแต่ไม่มีบารมี แต่เรามีบารมีของเรา เราเสียสละของเราเพื่อประโยชน์ เห็นไหม ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของเรา ถ้ามีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จิตใจนี่ฟังธรรมได้

เวลาฟังธรรม ๆ คำว่า “ฟังธรรม ๆ” ธรรมมันคืออะไร ? ธรรมมันคือสิ่งที่เป็นจริง เป็นจริงในหัวใจ สัจจะเป็นจริง เห็นไหม ความเป็นจริงคือจิตที่มันกระทบ เวลาที่จิตมันเป็นสัมมาสมาธิ จิตมีสิ่งต่าง ๆ นี่มันได้รับรสของธรรม ไอ้นี่ฟังธรรม ๆ ไม่มีรสชาติ

ดอกไม้นี่ดอกไม้พลาสติก ดอกไม้ธรรมชาติมันมีกลิ่นหอมนะ มันมีกลิ่นหอมของมัน มันทำให้เรานุ่มนวล เห็นไหม ดอกไม้พลาสติกปักไว้นั่นน่ะ ๑๐ ปี ๒๐ ปีมันก็ไม่เป็นไรหรอก แต่ถ้าดอกไม้เราไปเก็บไว้ไม่ดีนะมันก็เฉา มันก็เหงา มันก็หงอย

จิตใจคนก็เหมือนกัน ค่าของน้ำใจ นี่ธรรม ๆ ๆ ธรรมคือสัจจะ สัจจะคือจิตที่มันกระทบ จิตที่มันรับรู้ได้ ถ้าจิตรับรู้ได้นะ ถ้าเรา สิ่งใดคนหลับเราจะป้อนอาหาร เราจะสอนคนนอนหลับมันเป็นไปไม่ได้ มันต้องคนตื่นขึ้นมา เขาจะกิน เขาจะอยู่ของเขา เขาจะช่วยเหลือเจือจานเราได้ จิตใจเราก็เหมือนกัน จิตใจเรามันหลับใหลนะ มันหลับใหลไปกับกิเลสอวิชชาตัณหาความทะยานอยาก

มองไปแต่ทางโลก นี่โลกต้องมีการแข่งขัน ความคิดต่างจะทำให้มีความเจริญงอกงามขึ้นมา เพราะมีความคิดต่าง มีการพัฒนาของมัน ถ้าไม่มีการคิดต่างมันไม่มีการพัฒนา เห็นไหม ไปทางเดียวกัน โลกนี้จืดชืด นี่เขาว่านะ

แต่เราเปรียบเทียบหัวใจของเราสิ หัวใจของเราเวลามันขัดแย้ง ความรู้สึกนึกคิด จนงงนะ ทุกคนงงความคิดของตัว มันคิดได้อย่างไร คิดแต่แผดเผาเรานี่คิดได้อย่างไร แต่เวลาคิดสิ่งที่ดีทำไมมันคิดไม่ได้ นี่จิตใจถ้ามันหลับใหล มันหลับใหลไปในอะไร ? มันหลับใหลไปในกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

เวลาเราเกิดมา คนเราเวลาเกิดมานี่อวิชชาพาเกิด อวิชชาพาเกิด จริตนิสัย ความแตกต่างมา มันพาเกิดมา ในพระไตรปิฎกนะ จูฬปันถก เห็นไหม มหาปันถกเป็นพี่ชายของจูฬปันถก เวลาจูฬปันถกนี่พี่ชายบวชเป็นพระอรหันต์ ก็อยากให้เอาน้องชายมาบวชด้วย ไปเอาจูฬปันถกมาบวช

นี่เวลาบวชแล้วสอนนะ สอนให้ท่องคาถาคาถาเดียว ท่องอย่างไรก็ท่องไม่ได้ ท่องไม่ได้จนพี่ชายเขาบอกให้สึกไปซะ ในเมื่อทำอะไรสิ่งใดก็ทำไม่ได้ จะไปสึกนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายืนอยู่หน้าประตูวัด

“จูฬปันถกเธอจะไปไหน ?”

“พี่ชายไล่ให้ไปสึก”

“เธอบวชเพื่อใคร ?”

“บวชเพื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

“ฉะนั้นเธอไม่ต้องสึกนะ เธอบวชเพื่อเรา ถ้าจะภาวนานะให้เอาผ้าขาวผืนหนึ่ง แล้วให้ไปลูบผ้าขาวนั้น ว่าขาวหนอ ขาวหนอ”

ทีนี้พอไปลูบเข้า ๆ มันขาวจริงไหมล่ะ พอเหงื่อไคลมันลงไปมันก็ออกดำ นี่เป็นพระอรหันต์เลยนะ ถ้าเป็นพระอรหันต์ คนเขาถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นพระอรหันต์ ทำไมท่องคาถาเดียวยังท่องไม่ได้

แต่เดิมเป็นคนที่มีปัญญามาก แต่ไปดูถูกดูแคลนเขาไง นี่กรรมมันถึงเวลามันให้ผล พอให้ผลขึ้นมา เวลาเกิดมานี่ท่องคาถาเดียวก็ท่องไม่ได้ แล้วถ้าคนท่องคาถาอันเดียวก็ไม่ได้ทำไมเป็นพระอรหันต์ล่ะ

เขาเคยเป็นกษัตริย์ เวลาเขาตรวจพลสวนสนาม ตรวจพลขี่รถม้าสมัยโบราณ นี่เวลาฝุ่น เอาผ้าเช็ดหน้ามาเช็ดฝุ่น เหมือนกับเรานี่อสุภะสัญญามันฝังใจมา พอเช็ด ๆ เป็นกษัตริย์ใช่ไหม มันก็ประณีต ผ้าขาวพอเช็ดหน้า โอ๋ย ! ฝุ่นดำมาก ฝังใจ นี่ความฝังใจนะ

เวลามา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าให้ลูบผ้าขาว บอกว่า “นี่ขาวหนอ ๆ” ลูบไป ๆ มันไม่ขาว นี่ไงมันสืบต่อเนื่องมา ๆ พอเวลากรรมพามาเกิดมันเกิดอย่างนี้ สิ่งที่จริตนิสัย ความรู้สึกนึกคิดของคนมันฝังมาแต่นั่น มันพัฒนาของมัน

“พันธุกรรมของจิต” เราใช้คำว่า “พันธุกรรมของจิต” จิตที่มันพัฒนาของมันขึ้นมา เห็นไหม ความคิดแตกต่างหลากหลายทั้งนั้นเลย แล้วความคิดอะไรมันเป็นความดีความชั่วล่ะ นี่มันดีของใครล่ะ มันดีของใคร มันชั่วของใคร ถ้าคนมันชอบ มันก็ว่ามันดีของมัน เวลาไม่ชอบมันก็ว่าไม่ดี ไอ้คนชอบหรือไม่ชอบมันถูกต้องหรือเปล่า

ชอบหรือไม่ชอบนะ สัจจะ โดยสัจจะ นี่เขาชอบหรือไม่ชอบมันเป็นจริตนิสัย แต่ถ้าเป็นความจริง เวลาเราพิจารณาของเรา ศาสนาสอนที่นี่ สอนศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนขึ้นมาให้จิตใจของเราได้พัฒนาของเรา

เวลาเกิด แก่ เจ็บ ตายนี่ทุกข์ยากมากนะ แล้วไม่มีใครหักห้ามได้หรอก การเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่เวลาถ้าพิจารณาขึ้นมา เวลามันไปรู้แจ้งเข้าแล้ว เกิด แก่ เจ็บ ตาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องปรินิพพานไป แต่นิพพานแล้วมันไม่เกิดอีก มันจบ มันจบที่นี่ไง

แต่ของเรามันไม่จบนะ เกิด แก่ เจ็บ ตายมันฝังใจเรานะ แล้วเราจะแก้อย่างไร ? เราจะแก้บอกว่าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายก็สต๊าฟไว้เหรอ เราจะเอาคนไปสต๊าฟไว้แล้วบอกไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ถ้าสต๊าฟ เอ็งกินข้าวอย่างไร เอ็งจะอยู่อย่างไร ? เอ็งอยู่ไม่ได้หรอก เอ็งต้องกินอยู่ของเราในภพชาตินี้ แต่จิตใจที่มันพิจารณาของมัน เห็นไหม มันพัฒนาของมัน

นี่คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเวลาพิจารณาเข้าไป ใครเข้าไปเห็นเข้านะ มันจะไม่ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เพราะอะไร เพราะเราสงสัยไปทุกเรื่อง เรามีความฝังใจไปทุกอย่าง ฝังใจไปทุกเรื่อง แต่เวลาปัญญามันเกิด ปัญญามันเกิดเรื่องอะไร

ปัญญาของโลกนี้ เห็นไหม ปัญญาทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์มันจะต่อยอดไปเรื่อย ๆ ไม่จบสิ้นหรอก เรื่องของโลกไม่มีวันจบ แต่ถ้าเรื่องของธรรมมันจบ มันจบที่ไหน ? นี่มันจบที่ว่าเราสงสัยในเรื่องอะไร ในเกิด ในแก่ ในเจ็บ ในตาย อะไรมันเกิด มันแก่ มันเจ็บ มันตาย ถ้าเราพิจารณาที่นี่ แล้วคนจะพิจารณาที่นี่ได้ มันเริ่มต้นมาตั้งแต่ว่าจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

ถ้าจิตใจไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่...อีโก้ ตัณหา ความยึดมั่นถือมั่น พอความยึดมั่นถือมั่นมันอยากให้เป็นจริง ๆ แล้วมันจริงไหมล่ะ ถ้าเป็นจริง ๆ ก็เป็นจริงตามอวิชชาสิ เป็นจริงที่ความเห็นของตัวใช่ไหม มันไม่เป็นความจริงตามสัจธรรม แต่ถ้าเราพิจารณา พุทโธ ๆ เราทำปัญญาอบรมสมาธิ พอเป็นสมาธิขึ้นมามันไม่มีตัวตน เห็นไหม ถ้าเป็นจริงมันก็เป็นความจริงของสัจจะ มันไม่ใช่ความจริงด้วยความเห็นใช่ไหม

ทุกคนอยากบรรลุธรรม ทุกคนอยากจะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ก็ยึดเอานะ “ต้องเป็นอย่างนี้ ไม่เกิดต้องไม่เกิดอย่างนี้ ไม่แก่ต้องไม่แก่อย่างนี้” มันมีอีโก้ของมัน นี่มันเห็นแก่ตัวของมัน มันยึดของมัน ตัณหาความทะยานอยากโดยที่ไม่มีใครรู้ตัวเลย แต่ถ้าเราพยายามทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบก่อน ให้ใจมันเป็นสาธารณะ ให้ใจมันเป็นความจริงขึ้นมา สาธารณะแต่มีสติปัญญานะ

เวลาปัญญามันเกิด เห็นไหม มันเกิดขึ้นมา มันภาวนาขึ้นมามันจะเป็นความจริงของมัน ถ้าเป็นความจริงของมันขึ้นมา นี่การเสียสละ การทำของเราก็เผื่อแผ่หัวใจของเราไง ให้หัวใจของเรามันไม่บีบคั้นตัวมันเอง ถ้าจิตใจมันบีบคั้นตัวมันเองนะ เวลาเราทุกข์เราอยากสลัดทิ้ง เวลาเราเครียดเราอยากสลัดทิ้ง ทุกอย่างที่ไม่ดีอยากสลัดทิ้ง แล้วสิ่งที่ดี ๆ อยากจะยึดมันไว้ แต่มันเป็นจริงไหม มันเป็นความจริงอย่างนั้นไหม ? ไม่ใช่เลย

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา เรามีปัญญาอบรมสมาธิ เรามีพุทโธของเรา นี่มันสลัดในข้อเท็จจริง ถ้ามันปล่อยวางความรู้สึกนึกคิด มันมายึดพุทโธ ถ้ามันยึดพุทโธจนมันเข้าไปถึงตัวมันเอง มันปล่อยทุกอย่างหมด ถ้าปล่อยทุกอย่างนี่ไม่ต้องสลัด ไม่ต้องสลัดเพราะจิตมันวางอย่างนี้ มันวางสิ่งที่เป็นความรู้สึกนึกคิดที่มันเครียด ที่มันไม่พอใจนี้ แล้วบังคับขึ้นมาแต่มันไม่ยอมทำ มันไม่ยอมทำ เห็นไหม

“น้ำ” ธรรมะเหมือนน้ำฝนใสสะอาดไม่มีโทษกับใคร แต่เราไม่ชอบนะ เราชอบน้ำที่มีรสชาติ เวลามันรู้สึกนึกคิดมันมีรสชาติ แต่ถ้ากลับไปสู่จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส กลับไปสู่สัจธรรมความจริงของมัน ถ้าความจริงของมัน ถ้าคนเขารู้เหตุรู้ผล เขาจะบอกว่าน้ำสะอาดเป็นคุณประโยชน์กับร่างกาย น้ำที่เราใช้เป็นอาหาร เป็นเครื่องดื่มต่าง ๆ มันมีรสชาติ แต่มันมีผลกับร่างกาย มีผลทั้งบวกและลบ แต่ถ้าน้ำสะอาดมันมีประโยชน์กับร่างกาย

พุทโธ ๆ พุทโธจนจิตมันสงบระงับขึ้นมามันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริง พอเป็นสัจจะความจริง เห็นไหม ดูสิอุตสาหกรรมใดก็แล้วแต่ต้องมีสิ่งนี้ ต้องมีน้ำเป็นพื้นฐาน มีไฟ มีน้ำ เห็นไหม สาธารณูปโภคของเขามันต้องมี จิตก็เหมือนกัน จิตถ้ามันเข้าไปสู่ข้อเท็จจริงของมัน นี่สัจจะจะเกิดที่นี่

แต่ตอนนี้สัจจะเกิดจากกิเลสของเรา เราบังคับขู่เข็ญ ต้องการให้เป็นความเห็นของเรา อยากจะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บทั้งนั้นแหละ มันโดนกิเลสซ้อนไง กิเลสบังเงา

กิเลสเราก็มีอยู่แล้ว กิเลสคือความต้องการปรารถนาโดยไม่สมความปรารถนา นั่นคือตัณหาความทะยานอยาก แล้วเวลาเราบอกว่าเราอยากบรรลุธรรม ๆ อันนี้เป็นกิเลสไหมล่ะ ? อยากบรรลุธรรมนี่ไม่เป็นกิเลส แต่อยากให้เป็นจริงนี่กิเลส อยากให้เป็นจริง ๆ เพราะมันเป็นจริงไม่ได้ แต่ถ้าเราอยากบรรลุธรรมนี่เกิดความอยากเป็นมรรค แล้วสัจจะเราทำของเราตามความเป็นจริง

ถ้าความจริง เราทำจริงขึ้นมามันเป็นความจริง ใครปฏิเสธความจริงได้ พระอาทิตย์ขึ้น ใครปฏิเสธพระอาทิตย์ขึ้นได้ พระอาทิตย์ตก ใครปฏิเสธพระอาทิตย์ตกได้ มันเป็นความจริงของมัน ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมา มันเป็นความจริงของมัน ใครจะปฏิเสธ

ตัณหาความทะยานอยาก กิเลสที่ไหนมันจะดึงไว้ก็ดึงไม่อยู่ กิเลสตัวไหนมันจะมาดึงไว้ ตัณหาความทะยานอยากมันจะครอบงำไว้ก็ครอบงำไม่ได้ ถ้าเราทำจริงของเราขึ้นมานะ แต่นี้เพราะเรามันทำบวกด้วยกิเลส บวกด้วยความไม่จริง มันถึงครอบคลุมเราไง นี่กิเลสมันถึงบังเงา ๆ บังเงาอย่างนี้ไง

ฉะนั้น เราทำสิ่งใดนะ โลกธาตุ เห็นไหม โลกนี้เป็นโลกธรรม ๘ โลกนี้จะติฉินนินทา จะทำอย่างไรนะเรายืนหลักของเราไว้ ถ้าเราปฏิบัติเริ่มต้นมันจะผิด มันจะพลาด นี่สัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็น ความกระทบสิ่งนั้น ถ้ามันผิดพลาดสิ่งใดแล้วเราแก้ไขของเรา เราต้องแก้ไขของเรา เราปฏิบัติ เราจะทำงานครั้งแรกจะให้ถูกไปเลยเอามาจากไหน เราก็ต้องฝึกหัดดัดแปลงของเรา

เราต้องมีอำนาจวาสนานะ เพราะโลกเขาพยายามแสวงหาเพื่อผลประโยชน์กับเขา แต่เราพยายามแสวงหาเพื่อเป็นอริยทรัพย์ในหัวใจของเรา แล้วมันไม่เห็น เห็นไหม มันเป็นนามธรรม เวลาตะครุบเงาไปเราไม่ได้สิ่งใดเลย แล้วจิตใจมันแสวงหา แสวงหาสิ่งที่มันเป็นธรรมโอสถ ที่มันจะมาสำรอก มาคายพิษไข้ พิษในหัวใจ ทุกคนเกิดมา ถ้าไม่มีพิษตัวนี้มันก็เกิดไม่ได้ เพราะมันมีพิษตัวนี้ เพราะมีพิษมันถึงมาเกิด

จิตมันมีอยู่แล้วไง จิตมีอยู่แล้วโดยดั้งเดิม จิตนี้ไม่เคยตาย แต่เวลานิพพานแล้วจิตไปไหน นิพพานแล้วจิตมันไม่เกิด มันไปไหน ? เพราะมันล้างพิษไข้นั้น เพราะล้างพิษไข้นั้นมันก็ไม่มีการขับดัน ไม่มีรูป ไม่มีนาม ไม่มีการหมุนเวียนไป มันเป็นธรรมธาตุ มันจะอยู่ของมัน มันถึงว่านิพพานคงที่ คือนิพพานมันมีอยู่ แล้วจิตที่มันไม่เคยตาย ถ้ามันเป็นอย่างนั้นแล้วมันก็จบ มันถึงไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แล้วรู้ด้วย

ถ้าไม่รู้นะ มันวัวพันหลัก ยิ่งพูดยิ่งงงนะ ถ้ามันไม่รู้ธรรมะนี่ยิ่งพูดยิ่งงง อะไรไม่เกิด แล้วไม่เกิดแล้วมานั่งนี่ได้อย่างไร นั่งนี่แล้วจะไปไหน...ยิ่งพูดยิ่งงง แต่ถ้ามันจบของมันนะมันรู้ของมัน มันเป็นไปของมัน

ร่มโพธิ์ร่มไทรของเรา เรามีครูมีอาจารย์ไง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นผู้บุกเบิก เป็นผู้ค้นคว้า ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าร่มโพธิ์ใหญ่ ร่มโพธิ์ใหญ่นะเป็นยุคเป็นคราว ทีนี้ร่มโพธิ์ใหญ่เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา รู้จริงขึ้นมา สั่งสอนพวกเรา แล้วเวลาสั่งสอนท่านเอาชีวิตของท่านเป็นแบบอย่างนะ

หลวงตาท่านบอกว่า หลวงปู่มั่นท่านอยู่ป่าอยู่เขานะ ถ้ามองทางโลก เห็นไหม มองทางโลกเหมือนคนไม่มีคุณค่า เพราะอยู่ป่าอยู่เขา อยู่ป่ามาตลอด สิ่งที่โลกนี้เขาได้สัมผัสกันท่านจะไม่เอา ท่านไม่เคยสนใจเลย ท่านถือผ้า ๓ ผืน ท่านถือผ้าบังสุกุล ท่านไม่รับสิ่งใด ๆ เลย

แล้วคิดดูคนที่ไม่รับสิ่งที่เป็นวัตถุทางโลกเขาจะมีความสุขไหมล่ะ ? นี่ทางโลกมองว่าแทบไม่มีคุณค่าเลย แต่ถ้าทางธรรมนะ พระที่ปฏิบัติจะยกย่อง จะสรรเสริญ จะเชิดชู เพราะสิ่งที่เป็นครูบาอาจารย์ของเราท่านมีคุณธรรมในหัวใจด้วย ท่านยังใช้ชีวิตของท่านเป็นแบบอย่างของเราด้วย

ถ้าเรามองชีวิตอย่างนั้น ท่านอยู่ของท่านได้ ท่านมีความสุข เรานี่กิน ๓ มื้อ ๔ มื้อ ทำไมมันทุกข์ยากขนาดนี้ ยิ่งกินยิ่งทุกข์ แล้วท่านไม่มี ท่านฉันหนเดียวท่านยังผ่อนอาหารอีก ทำไมท่านมีความสุขได้อย่างไร นี่มาพิจารณาของเรานะ เราจะได้ไม่ต้องไปข้างเดียว

เหรียญมี ๒ ด้าน เราจะมองอีกข้างหนึ่งเพื่อถ่วงกับกิเลสในใจของเรา เพื่อถ่วงกิเลสของเราที่มันจะดิ้นไป ถ่วงไว้ เอาธรรมนี้ถ่วงไว้ แล้วถ้าเราปฏิบัติขึ้นมา เราได้สัมผัสขึ้นมา มันจะเป็นคุณธรรมของเรา จะเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง