ภาวนาถูกไหม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
อันนี้โทษนะ อันนี้เป็นของใคร? คนปฏิบัติคือใคร? ตัวเองเลยหรือ? ถ้าปฏิบัติแบบนี้ ถ้าพูดถึงอย่างที่เขียนมา ถ้าเขียนมาได้อย่างนี้ปั๊บมันต้องเข้าใจอะไรพอสมควรเหมือนกันแล้วนะ มันต้องเข้าใจอะไรบ้างแล้ว เพราะเวลาจิตมันสงบมันจะเห็นร่างกายเป็นอย่างนี้เลยหรือ? ละลายลงอย่างนี้ เห็นอย่างนี้จริงๆ เลยหรือ? เห็นไหม? ถ้าเห็นแล้วทำอย่างไรต่อไป?
มันแปลก ถ้าเห็นอย่างนี้มันต้องปล่อยวาง มันต้องมีผล ถ้าเห็นอย่างนี้มันไม่มีสมาธิ เราไม่มีสมาธิไงมันถึงเห็นอย่างนี้แล้วมันไม่ปล่อย เออ งงแล้วแหละ เดี๋ยวนะ เราถึงว่าคนถามอยู่หรือไม่อยู่ บางทีคนถามเขียนมาอย่างนี้มันเห็นโดยจริงก็มี เห็นโดยอุปาทานก็มี เห็นโดยจินตนาการก็มี เห็นโดยข้อเท็จจริงก็มี ทีนี้เวลาคำพูด นี่คำพูดคำเดียวกัน แต่ผลมันแตกต่างกัน เห็นไหม
เอาละเนาะ มา เอาแล้ว อันนี้ปัญหานะ ปัญหาว่า
ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพ ผมปฏิบัติเดินจงกรมสัก ๒๐ นาทีแรกจิตเริ่มสงบ หลังจากจิตสงบเป็นสมาธิแล้วก็เจริญปัญญา ซึ่งก็แล้วแต่จิตว่าเขาจะให้เจริญปัญญาอย่างไร ซึ่งจะไม่ซ้ำกัน เช่นดูกายภายใน จิตอยากดูอะไร จะเห็นอย่างไร เป็นตับ ไต ไส้ ปอด บางทีอยากซูมจุดไหน
ตอบ : นี่อันนี้สำคัญ ถ้าอยากซูมจุดไหนแสดงว่ามีสมาธิ ถ้าอยากซูมจุดไหน ดึงจุดไหนเข้า จุดไหนออก ขยายส่วนเป็นวิภาคะ
ถาม : ถ้าอยากจะซุมจุดไหนก็จะเห็นขยายให้เข้าชัดเจน บางวันจิตพิจารณากระดูกโครงสร้างของร่างกาย ดูกระดูกตั้งแต่กะโหลกลงมาถึงเท้า ขึ้นลงอยู่อย่างนั้น บางวันก็พิจารณาภายนอก เห็นผมเป็นเส้นใหญ่ๆ แล้วก็มีขี้ผมผุดออกมาด้วยเสมอ เห็นขนก็เห็นขนเต็มร่างกายออกมาคล้ายกัน เห็นเล็บก็เห็นขี้เล็บดำๆ เห็นฟัน ก็เห็นขี้ฟันสีเหลืองผุดออกมา เป็นหนัง เป็นขี้เล็บ เป็นต่างๆ
ฉะนั้น จิตมันสลดสะอิดสะเอียน บางวันขณะเดินจงกรม จิตก็พิจารณาอริยสัจ ๔ แต่ละข้อได้อย่างละเอียด ทั้งๆ ที่ปกติก็ไม่รู้อะไรเลย ตั้งแต่ทุกข์อย่างไร? สมุทัยเกิดขึ้นมาจนตัณหา ๓ นิโรธจะพ้นทุกข์อย่างไร? มรรคคือวิธีการจะพ้นทุกข์ มันจะพิจารณาลงลึกมากกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น บางวันก็พิจารณาอย่างอื่น ก็จะเห็นในสมาธิเป็นโครงกระดูกบ้าง เป็นเครื่องในร่างกาย เป็นขดลำไส้บ้าง เป็นต่างๆ ถ้าอยากเห็นก็ไม่เห็น เห็นเมื่อจิตนี้สั่งได้ ทั้งที่กล่าวว่านี่คือขณะเดินจงกรม
ขณะนั่งสมาธิ พิจารณาแบบนี้ก็นึกพุทโธ พุทโธในจิตไปตลอด บางทีเผลอหน่อย บางวันก็เห็นจิตไหลเคลื่อนเร็วๆ พอสักพักก็ออกมาช้าลง เห็นช้าลงจนนิ่ง แล้วก็เห็นกิเลสเล็กๆ น้อยๆ เข้ามารบกวนขัดใจ บางวันก็รู้สึกว่ากิเลสเข้ามาแทรกซะแล้ว ขณะนั่งและขณะเดินจะไม่เหมือนกันเลย ทำไมขณะเดินนั้น เมื่อพิจารณากายจึงสลดสะอิดสะเอียน แต่พอใช้ชีวิตประจำวันก็ยังพอใจ ชอบใจ ติดใจเหมือนเดิม ผิดถูกอย่างไรครับช่วยเติมด้วย
ตอบ : นี่ถ้าพิจารณานะถ้าจิตมันสงบ ถ้าจิตไม่สงบ เวลาพิจารณาไปแล้วโครงสร้างอย่างนี้ เราสังเกตได้ไหมเวลาที่เราเห็นอุบัติเหตุ เห็นข้างถนน เห็นเวลาคนประสบอุบัติเหตุ เราไปเห็นสิ่งใดเราก็เห็นกาย มันจะเกิดการสะอิดสะเอียน มันสะอิดสะเอียน เราจะกินพวกเนื้อสัตว์ไม่ได้ไปหลายวันเลย
อันนี้เป็นเรื่องโลกไง เรื่องโลกคือเห็นอย่างนี้มันเห็น ทีนี้เราคิดว่าเราเห็นธรรมะใช่ไหม? นี่ที่ว่าเวลาพิจารณาไปแล้วเห็นโครงกระดูก เห็นต่างๆ การเห็นนี่นะ ถ้าในกรรมฐานเรา ในพระป่า การเห็นเป็นงานอันที่แสนยากเลยล่ะ ถ้าการเห็นตามความเป็นจริงนะ เพราะเริ่มต้นทำสมาธิก่อน เอาอย่างนี้ เอาพื้นฐานก่อน ถ้าโดยพื้นฐานเราคิดถึงธรรมะปั๊บ เราบอกว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนังเราจะเห็นได้โดยธรรมชาติเลย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แต่เวลาบางอาจารย์เขาจะให้ท่องเอา เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
นี่คำว่าท่องของเขาก็คือพุทโธ ถ้าอย่างของเรากำหนดพุทโธ พุทโธคือคำบริกรรม ทีนี้เขาบอกว่าให้ท่องผม ขน เล็บ ฟัน หนัง คำว่าท่องคือยังไม่เห็นไง คำว่าท่องคือยังไม่รู้ ทีนี้คำว่าท่อง ท่องผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไอ้นี่คือการท่อง มันยังไม่เห็นจริง ทีนี้พอเขาท่องผม ขน เล็บ ฟัน หนังนะ แล้วจิตเขาก็ลงได้ ฉะนั้น ว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนังของเขามันก็เหมือนคำบริกรรมว่าพุทโธ พุทโธของเรา
ฉะนั้น พอเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าพุทโธจนจิตมันลง การเห็นนะถ้าการเห็นตามความเป็นจริง ถ้าการเห็นตามความเป็นจริง พอจิตมันสงบแล้ว พอมันเห็นนะมันเห็นโดยจิต ถ้ามันเห็นโดยจิตมันจะเกิดการกระเทือนใจแล้ว เพราะจิตมันเห็น จิตมันกระเทือนใจ แต่ถ้าเราเห็นโดยสามัญสำนึก ที่ว่าเราเห็นโดยโลก เราก็รู้ ก็เห็น นี่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังที่ให้ท่องเอาเราก็รู้อยู่แล้ว ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถ้าท่องอย่างนี้ปั๊บ ท่องมันเป็นสัญญาไง มันเป็นสามัญสำนึก เหมือนกับเราเห็นนี่
ฉะนั้น มีพระบางองค์ เห็นไหม บอกว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนังเป็นอริยสัจๆ มันเป็นได้อย่างไร? ถ้าผม ขน เล็บ ฟัน หนังเป็นอริยสัจนะ เมื่อกี้เพิ่งกินขาหมู เมื่อกี้กินขาหมู กินเข้าไปเลย โอ้โฮ นี่กินอริยสัจเข้าไปเลยนะ นี่กินอริยสัจคือว่ากินขาหมูไง กินอริยสัจเข้าไปในท้องเลย แล้วมันก็จะไปเจริญออกมาจากข้างในเลย นี่เขาคิดกันไป เพราะว่าคิดแบบวิทยาศาสตร์ คิดแบบโลกไง ที่ว่าสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าเราระลึกได้ เราจับต้องได้ สิ่งนี้จะเป็นอริยสัจ แต่ถ้าในกรรมฐานนะ ในครูบาอาจารย์เราบอกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่หมายความว่าต้องทำความสงบของใจก่อน ถ้าใจมันสงบนะ
นี่เวลาคำถามสุดท้าย เห็นไหม
ถาม : สิ่งที่มันลงมาแล้วมันเห็นมาหมดแล้ว มันเห็นหมดแล้ว แล้วพอออกมาแล้วมันก็เป็นเรื่องปกติ เวลาเราพิจารณาไปแล้วมันสะอิดสะเอียน แต่พอมาใช้ชีวิตประจำวันมันก็ยังพอใจ ยังชอบใจ ยังติดใจ นี่แล้วทำอย่างไรต่อไป?
ตอบ : เรียกว่า กายนอก คำว่ากายนอกนะ เวลากายนอก เห็นไหม โดยปกติ อย่างเช่นพูดตอนเช้า โดยปกติเราไปรดน้ำ ดำหัวผู้หลัก ผู้ใหญ่ ฉะนั้น คำว่ารดน้ำ ดำหัวผู้หลัก ผู้ใหญ่ หมายถึงว่าผู้ใหญ่ผ่านโลกมามาก เขาผ่านประสบการณ์ชีวิตมามาก เขาก็จะสอนเราว่าการดำรงชีวิตควรทำอย่างใด?
นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง พวกกายเป็นของอนิจจังๆ มันก็เป็นประสาโลกๆ ไง ประสาโลกๆ แต่ถ้าพูดถึงพอผู้ใหญ่เขาสอน เราประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าเราเป็นจริงขึ้นมา ชีวิตของเราเป็นจริงขึ้นมา เราทำจริงขึ้นมาเราจะเห็นผลไง ว่าถ้าเป็นคนดีมีผลตอบสนองในทางที่ดี แต่ถ้าเราเป็นคนเกเรเกตุง ผลตอบสนองก็คือคุกตาราง นี่มันมีผลตอบสนองของมัน
นี่ก็เหมือนกัน เวลาบอกว่าเวลาเราศึกษาธรรมะ เห็นไหม ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กายต่างๆ สิ่งนี้มันเป็นอนิจจัง นี่มันก็ศึกษามาจากโลก แต่ถ้าจิตยังไม่สงบมันก็เห็นแบบโลกๆ นี่เห็นแบบโลก นี้ที่เราพูดตอนเช้า บอกว่าชีวิตสามัญของเรา ชีวิตโลกของเรา แต่ถ้าเราเห็นโทษของมัน เราจะปฏิบัติขึ้นมามันจะเป็นความจริงอีกอันหนึ่ง ความจริงอีกอันหนึ่ง แบบว่าถ้าเราเสียสละทางโลกเลย เรามาปฏิบัติของเรา เราจะรู้อริยสัจ เราจะรู้สัจจะความจริง
อันนี้ก็เหมือนกัน ชีวิตเราเป็นอย่างไร? นี่รู้จริง เห็นจริงไปหมดแล้ว ไอ้นี่มันก็อปปี้ไง ลิขสิทธิ์ เห็นไหม สินค้าไปก็อปปี้ของเขามาทำ พอเสร็จแล้วเราไปขาย เดี๋ยวเจ้าของสินค้าเขามาจับ นี้ธรรมที่เราศึกษาเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ธรรมของเรายังไม่มี แล้วธรรมของเรายังไม่มี ทำไมเรารู้ เราเห็นอย่างนี้ล่ะ? นี่เห็นผม เห็นขน เล็บ ฟัน หนังเลย เห็นลำไส้ เห็นต่างๆ ไปหมดเลย เห็นได้ อุปาทาน จินตนาการของคนเห็นได้ ทีนี้ว่าการเห็น นี่ถ้าเห็นได้ เห็นได้โดยอุปาทานก็ได้
ฉะนั้น เขาบอกว่ามันไปกำหนดพุทโธแล้วมันจะเกิดนิมิต มันจะเกิดอุปาทาน การปฏิบัติของพระป่า พุทโธ พุทโธ พวกนี้ไม่มีปัญญา เราก็ต้องรู้ตัวทั่วพร้อมใช้ปัญญาไปเลย เขาก็ไปขึงจิตของเขาไว้ไม่ให้ลงสมาธิ ไม่ให้ลงสมาธิหมายถึงว่าถ้าไม่เป็นสัมมาสมาธิมันจะไม่เกิดอริยสัจ แต่พวกเรานี่เราทำความสงบของใจ เราทำพุทโธ พุทโธ เราทำความสงบของใจไง ทีนี้พอทำความสงบของใจ ใจสงบอย่างไร?
เออ ถ้าใจมันสงบนะเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่คนที่จิตสงบแล้ว จิตมันปล่อยวางเข้ามา มันหดสั้นเข้ามา จิตมันจะปล่อยวางหมดเลย ปล่อยวางอะไรเข้ามา? ปล่อยวางสัญญาอารมณ์ อุปาทานเกิดจากอะไร? จินตนาการเกิดจากอะไร? เราปล่อยสิ่งที่มันจะออกไปจินตนาการ ปล่อยสัญญาอารมณ์ที่มันไปเก็บข้อมูลมา เรามีสติปัญญา นี่มีสติบังคับ บังคับให้จิตไม่เสวยอารมณ์ ไม่ไปตามสัญญาอารมณ์เดิม ที่ร่องน้ำเก่าที่เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ ที่มนุษย์เคยใช้อยู่นี่ บังคับให้ใช้ร่องน้ำใหม่
พุทโธ พุทโธ พุทโธ บังคับให้จิตมาอยู่ในร่องน้ำใหม่ ขุดคลองใหม่ ขุดทางเดินของน้ำใหม่ ถ้าเราขุดทางเดินของน้ำใหม่ เห็นไหม พุทโธ พุทโธจนน้ำมันใสสะอาด มันไม่มีสิ่งใด นี่ถ้าน้ำที่มันร่องน้ำเดิม เวลาน้ำหลาก น้ำมันจะขุ่นแล้วแต่ดินสีอะไร แล้วมันยังซัดเอาบ้านเรือนของคนมา นี่อารมณ์ที่มันเกิดขึ้นมา มันก็เกิดสัญญาอารมณ์กระทบกับคนนู้น กระทบกับคนนี้ กระทบถึงชีวิตของเราประจำวัน ทุกข์ โศกเศร้ากับความรู้สึกนึกคิดตลอดเวลา
กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ขุดร่องน้ำใหม่ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ดึงความรู้สึกนึกคิดมาอยู่ที่น้ำที่ใสสะอาดทั้งหมด ออกซิเจนที่ดี แหล่งน้ำที่ดี ถ้าพอมาอย่างนี้ปั๊บ ถ้าจิตมันสงบแล้ว โอ้โฮ ร่องน้ำก็ใหม่ น้ำก็มีออกซิเจนเยอะแยะเลย นี่เป็นสมาธิแล้ว แล้วไม่เห็นเป็นปัญญาสักที ไม่เห็นเกิดอริยสัจสักที อ้าว ร่องน้ำใหม่ใช่ไหม? ร่องน้ำใหม่ น้ำใหม่ ออกซิเจนใหม่ ปลาใหม่ มันก็ต้องมีกิจกรรมขึ้นมา มันถึงจะสร้างบ้านสร้างเมืองขึ้นมาจากแม่น้ำใหม่ นี่จากโลกียะเป็นโลกุตตระ
ผู้ถาม นี่ทุกคนปฏิบัติไปแล้วสงสัย สงสัยว่าพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม เราก็ได้ทำหมดแล้ว เห็นกายก็ได้เห็นแล้ว เห็นกระดูกก็ได้เห็นแล้ว เห็นทุกอย่างก็ได้เห็นแล้ว อริยสัจ ๔ ก็ได้ทำครบแล้ว แล้วศาสนาอยู่ที่ไหน? มรรค ผลอยู่ที่ไหน? นี่ไง แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ใช่ไหม? ครูบาอาจารย์บอกว่า กายนอก กายใน
กายนอกหมายถึงเวลาปฏิบัติใหม่ๆ ให้ไปอยู่ป่าช้า ให้ไปเห็นซากศพ พอไปเห็นซากศพขึ้นมามันก็กลัวผี มันก็กลัวป่าช้า จะเข้าป่าช้าก็ขาสั่นเลย ขาสั่นเพราะอะไร? เพราะมันกลัวผี แต่เวลามันอยู่บ้านมันไม่กลัวผีนะ มันคิดไปร้อยแปด พอเข้าไปป่าช้ามันกลัวผี กลัวผีก็ต้องกลับมาพุทโธ นี่ชัยภูมิเขาให้ไปเที่ยวป่าช้า ให้ไปอยู่ในป่า ในเขา เพื่อบังคับไม่ให้จิตมันฟุ้งซ่านจนเกินไป พอไปอยู่นี่เพราะให้จิตมันสงบเข้ามา พอจิตสงบมันปล่อยสัญญาอารมณ์ ปล่อยสิ่งที่ทำให้เหมือน ปล่อยสิ่งที่จินตนาการที่สร้างได้ มันเข้ามาอยู่ความสงบของมัน
ถ้าสงบแล้วนี่นะ มันสงบแล้ว เห็นไหม ดูสิถ้าในโลกนี้ ในตลาดนี้มีแต่แผงค้าสินค้า แต่ไม่มีสินค้าสิ่งใดๆ เลย เราจะขายอะไร? ในตลาดสดมีแต่แผงร้านค้า แต่ไม่มีสินค้าเลยเราจะขายอะไร? แต่เราเข้าไปตลาดนะ อู้ฮู สินค้านี่นะมันมีเยอะแยะไปหมดเลย แล้วขายดีมาก เราก็อยากขายอย่างนั้น ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือสินค้าที่มีอยู่แล้ว ฉะนั้น พอจิตมันเข้าไปแล้วมันจะอ้างสิ่งนั้นตลอด เห็นไหม นี่สัญญาอารมณ์
สัญญาอารมณ์ สิ่งที่เป็นสัญญา สิ่งที่เป็นภาพความจำ แต่ภาพความจำทำไมมันเห็นจริงๆ ล่ะ? มันเห็น เห็นเพราะจิตมันเห็นได้ จิตมันจินตนาการได้ แต่จินตนาการแบบนี้มันจินตนาการแบบโลก ฉะนั้น ครูบาอาจารย์บอกว่าต้องให้วาง แต่ถ้าจะใช้มันเป็นประโยชน์นะก็ให้คิดถึงกาย คิดถึงเวทนา คิดถึงจิต คิดถึงธรรมโดยเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธินะ นี่ที่มันปล่อย เห็นไหม ที่มันรู้ มันเห็น เวลามันปล่อยขึ้นมานี่มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ
ปัญญา สิ่งที่จิตเวลาจะออกไปคิดนอกเรื่อง นอกราว คิดแต่เรื่องความทุกข์ ความโศกของมัน คิดแต่เรื่องธุรกิจการค้า คิดแต่สิ่งที่กระทบกระเทือนก็ให้มาตรึกในธรรม คิดในธรรมะไง คิดในธรรม ตรึกในธรรม ถ้าตรึกในธรรม ใช้ปัญญาในธรรมมันก็เหมือนกำหนดพุทโธนี่แหละ พุทโธนี่เราบังคับจิตให้มันนึกพุทโธ พุทโธใช่ไหม? นี่ก็เหมือนกัน เราบังคับจิตที่มันจะไปคิดเรื่องโลก เรื่องสัญญาอารมณ์ ให้มาคิดในธรรมะของพระพุทธเจ้า
คิดไง คิดในธรรมะ นี่ตรึกในธรรม ตรึกในธรรม พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น พระพุทธเจ้าเคยเกิด เคยตายอย่างนั้น ตรึกในธรรมๆ ตรึกในธรรม ผลของมันก็คือปัญญาอบรมสมาธิ เพราะมันตรึกในธรรมแล้ว พอมันเข้าใจธรรมะมันก็สะเทือนใจ พอสะเทือนใจมันก็เศร้าใจ พอเศร้าใจนะจิตมันก็ปล่อยวาง พอปล่อยวางมันก็เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ เห็นไหม
ฉะนั้น ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิ ถ้ามันรู้อีกทีหนึ่ง นี่รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม รู้ด้วยอะไร? รู้ด้วยจิตที่สงบแล้ว พอจิตสงบแล้วพอเห็นกายนะ โอ้โฮ ขนลุกหมดเลย ขนพองหมดเลย เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะมันสะเทือน นี่จิตนี้เคยเกิดเคยตายมาไม่มีต้น ไม่มีปลาย อวิชชา ปัจจยา สังขารา อวิชชา ตัวอนุสัยมันนอนเนื่องอยู่ใต้จิตสำนึก
เวลาพระพุทธเจ้าเย้ยมารไง มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว เจ้าจะเกิดบนหัวใจเราไม่ได้อีกเลย
นี่ตัวที่อยู่ที่จิตใต้สำนึกนี่แหละ ถ้าจิตเราสงบแล้ว เวลาเราพิจารณากายมันไปสะเทือนตัวนี้ ถ้าสะเทือนตัวนี้นะขนลุกหมดเลย มันสะเทือนขั้วหัวใจเลย ใครเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมครั้งแรกนะหัวใจหวั่นไหว ร่างกายแทบจะทรงไว้ไม่ได้เลย เพราะ เพราะมันรู้ตามข้อเท็จจริง รู้ว่าของสิ่งนี้มันหลอกให้จิตเรานี่ จิตดวงนี้เวียนตาย เวียนเกิด แต่ถ้ามันไม่เข้าถึงตรงนี้นะ อืม เห็นกาย มันละลายไปเลยต่อหน้า แล้วมันเหลืออะไรก็ไม่รู้
นี่มันมีไง มันมีสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ปัญญา ๓ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พวกเราเข้าได้ลึกที่สุดคือจินตนาการ จินตมยปัญญา มันไม่ใช่ภาวนามยปัญญา ถ้ามันเป็นภาวนามยปัญญา นี่มันจะเป็นภาวนามยปัญญาได้อย่างไร? อย่างที่เราใช้ปัญญาพิจารณาๆ อยู่นี่ พิจารณาแล้วปล่อยเข้ามา แล้วจับกายพิจารณาซ้ำ พิจารณาแล้วปล่อยเข้ามา จับกายพิจารณาซ้ำ พิจารณาแล้วปล่อยเข้ามา จับกายพิจารณาซ้ำ ทำอยู่อย่างนี้
ทีนี้ทำอยู่อย่างนี้ บางคนก็บอกมันจืดหนึ่ง สองทำแล้วมันปล่อยกายแล้ว ลึกๆ มันก็บอกโสดาบัน ลองได้ปล่อยนี่โสดาบันแน่ๆ เลย มันถูกต้องเปี๊ยะตามธรรมวินัยเลย ตามพระไตรปิฎกเลย ตามพุทธพจน์ อู้ฮู เป๊ะ ต้องโสดาบันแน่ๆ โสดาบันแน่ๆ คำว่าโสดาบันแน่ๆ นี่ไม่แน่ ไม่แน่เพราะอะไร? เพราะว่าคำว่าโสดาบันแน่ๆ โสดาบันมันอยู่ข้างนอก คนพูดมันอยู่นี่ มันเป็นสองไง
หลวงตาพูดบ่อย สัญญาอารมณ์กับเราเป็นสอง
อารมณ์กับความรู้สึก อารมณ์กับพุทโธนี่เป็นสอง อารมณ์กับจิต ที่เรามีอารมณ์อยู่นี่มันมีจิตซ่อนอยู่เบื้องลึกนะ ถ้าไม่มีจิตก็ไม่มีอารมณ์ที่เราเป็นกันอยู่นี้ แต่ถ้าเรามีอารมณ์ อารมณ์เกิดจากอะไร? เกิดจากจิต ฉะนั้น นี้เป็นของคู่ สิ่งที่เป็นของคู่ไม่ใช่ของหนึ่ง ไม่ใช่ของหนึ่งมันไม่เป็นความจริง ฉะนั้น ว่าเราเป็นโสดาบันแน่ๆ นี่เป็นของคู่ เพราะโสดาบันมันอยู่ข้างนอก เราเป็นแน่ๆ อีกอันหนึ่ง นี่เป็นของคู่ ไม่ใช่ ไม่ใช่ แต่ทุกคนคิดอย่างนี้นะ โอ้โฮ พิจารณากายแล้ว ปล่อยกายแล้ว อันนี้โสดาบันแน่ๆ แน่ๆ ไม่แน่ ไม่แน่ ไม่ใช่เลย ไม่ใช่ด้วย
นี้พูดถึงเวลามันทำไป เพราะคำถาม ถามว่า
ถาม : แล้วจะทำอย่างใด? นี่ทำอย่างไรต่อไป?
ตอบ :ถ้าทำอย่างไรต่อไปนะ สิ่งที่ทำมาแล้วนี่วางไว้ แล้วถ้ามันเกิดอย่างนี้นะ เพราะถ้าเราพิจารณาได้อย่างนี้ นี่เพราะเริ่มต้นทำให้เราสะกิดใจตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว
ถาม : ผมปฏิบัติเดินจงกรม ๒๐ นาที
ตอบ : เพราะเราเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืนยังไม่เห็นเลย
ถาม : ผมเดินจงกรม ๒๐ นาทีแรกจิตก็เริ่มสงบแล้ว
ตอบ : เดินจงกรม ๒๐ นาที นี่อย่างนี้มันเหมือนกับเด็กนักเรียนไง เหมือนเด็กนักเรียน เด็กนักเรียน เห็นไหม อาจารย์สอน ก.ไก่ เราก็ ก.ไก่ เราเรียนได้แล้ว ก.ไก่ นี่อาจารย์สอนเลขเราก็ได้เลขแล้ว นี่คืออะไร? นี่คือการศึกษา การศึกษาคือสุตมยปัญญา คือการศึกษาเอาข้อเท็จจริง แต่เราทำประโยชน์กับเราได้หรือยัง? ยัง
นี่ก็เหมือนกัน นี่เราปฏิบัติอย่างนี้เราได้แล้ว เราปฏิบัติแล้ว แล้วเราเห็นของเราแล้ว เห็นอย่างนี้แล้วมันเป็นจริงไหม? นี่ยังดีนะ โทษนะ ไม่ใช่อวดนะมาเจอเรา ถ้าไปเจอคนอื่นนะงงเลย เพราะอะไร? เพราะอย่างนี้กับคำสอนของพระพุทธเจ้ามันอันเดียวกัน พระพุทธเจ้าก็สอนอย่างนี้ สอนให้เราพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมนี่แหละ แล้วก็เห็นกาย พระพุทธเจ้าก็สอนอย่างนี้ แล้วเราก็ทำแล้ว แล้วมันผิดตรงไหนล่ะ?
ผิดน่ะสิ ผิดเพราะว่ารากฐานของเรา แบบว่าข้อเท็จจริงใช่ไหม นี่เวลาคนมีการศึกษาจบแล้ว ทุกคนก็ไปทำธุรกิจหมด บางคนก็ประสบความสำเร็จ บางคนก็ล้มลุกคลุกคลาน บางคนก็เป็นหนี้เป็นสิน เพราะไปทำแล้วกลับล้มลุกคลุกคลาน เป็นหนี้เป็นสินเขา แล้วทุกคนออกไปแล้ว นี่ศึกษามาจบเหมือนกันหมด พระพุทธเจ้าบอกอย่างนี้ ทฤษฎีว่าอย่างนี้ แล้วไปทำแล้วจริงไหม? นี่ข้อเท็จจริงเกิดตรงนั้นไง
ไอ้นี่การปฏิบัติก็เหมือนกัน ทำให้เหมือนก็เหมือนจริงๆ เพราะกรณีอย่างนี้นะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านพิสูจน์มาหมดแล้ว ท่านทำมาหมดแล้ว แล้วใครจะสอน? ไม่มีครูบาอาจารย์ แต่บัดนี้ในปัจจุบันนี้มี มีครูบาอาจารย์ที่รู้จริง รู้จริงเพราะอะไร? รู้จริงเพราะว่าการทำอย่างนี้มันผ่านมาหมดแล้วแหละ นี่ถ้ามันเป็นไปมันก็เป็นสุตมยปัญญา สุตมยปัญญาได้อย่างไร? เดินจงกรม ๒๐ นาทีก็เกิดจากการภาวนา
ไอ้การภาวนามันเป็นกรอบเฉยๆ แต่จิตมันยังไม่เป็นตามความเป็นจริง ถ้าจิตเป็นตามความเป็นจริงนะ เพราะการเดินจงกรม กว่าเราจะรักษาจิตของเราให้สงบได้ พอจิตสงบได้นะ หลวงตาพูดบ่อยมาก
การขุดคุ้ยหากิเลสเป็นงานอย่างหนึ่ง
การขุดคุ้ยหากิเลสเป็นงานอย่างหนึ่ง แต่พวกเราคิดว่ากิเลสมันมีอยู่แล้ว มันต้องวิ่งมาชนเรา ความจริงกิเลสมันมีอยู่แล้ว มันอยู่ในใจเรานี่แหละ มันบีบคั้นเรานี่แหละเจ็บช้ำนัก แต่เวลาจิตสงบแล้วจะไปหามันนะหาไม่เจอ กิเลสอยู่ไหนวะ? กิเลสอยู่ไหนวะ? มันซุกอยู่ในใจ แต่เวลามันบีบให้เราเจ็บช้ำนะ เจ็บช้ำมาก แต่เวลาจะไปหามันนะหามันไม่เจอ หาไม่เจอหรอก กิเลสนี่หาไม่เจอ เพราะกิเลสเป็นนามธรรม แต่กิเลสเป็นนามธรรม นี่ถ้าหาไม่เจอเราขุดคุ้ยหามัน การขุดคุ้ยหามันไม่ต้องไปหาที่ตัวกิเลส ขุดคุ้ยหาที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม
บางคนจิตสงบแล้วไม่เห็นกาย บางคนไม่เห็นอะไรเลย หันซ้าย หันขวา หันซ้าย หันขวาไม่เห็นอะไรเลย แล้วบางคนเกิดทิฐิอีก เกิดทิฐิเพราะว่าไปยึดคำของพระพุทธเจ้าบอกว่า น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา จิตสงบแล้วเดี๋ยวกิเลสมันจะวิ่งมาชน ก็รอนะ เขาบอกว่ารอกิเลสมันวิ่งมาชน เหมือนผลมะม่วงมันต้องออกมา มันจะโตมา มันจะเห็นมา นี่โดยที่เขาคิดของเขา ไม่จริง ถ้าผลของมะม่วงก็เป็นมะม่วงที่ต้นไม้ มันไม่ใช่เป็นเรื่องของจิต เพราะอะไร? เพราะมันสร้างภาพ แต่ถ้ามันเป็นจริงนะ ถ้ามันจะเห็นกิเลสนะ
น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา น้ำใสแล้วมีปลา น้ำใสแล้วดูให้ดีจะเห็นตัวปลา น้ำขุ่น น้ำเป็นตะกอน ปลาอยู่ในน้ำนั้นเราจะไม่เห็นมัน
นี่อารมณ์ความรู้สึกของสามัญสำนึกเราทุกข์ยากมาตลอด การงานทุกอย่างทับถมมาในใจทั้งสิ้น ความเครียด ความกังวลอยู่ในใจทั้งหมด กิเลสอยู่ไหน? ไม่รู้ ทำใจให้สงบ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พยายามรักษาใจของเรา ดูแลใจของเรา ปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา รักษา น้ำใส น้ำใสสะอาด ดูแลใจให้มันผ่องแผ้ว ผ่องแผ้วแล้วน้อมจิตไป เห็นไหม
หลวงตาท่านจะสอนว่า ให้น้อมจิตไปสู่กาย
ถ้าน้อมจิตไปสู่กาย นี่ถ้าจิตนี้มีพื้นฐานนะจะเห็นกาย ถ้าเห็นกายนี่ไหวเลย สะเทือนเลย ถ้าไม่เห็นกาย นี่มีเวทนาไหม? มีจิตไหม? มีธรรมไหม? มันต้องพิจารณาอย่างนั้นมันเป็นปัจจุบัน นี่ขุดคุ้ยหากิเลส นี้เป็นงานที่แสนยาก ถ้ากิเลสนะ เวลาจิตสงบน้ำใสแล้วเห็นตัวปลานะ หลวงตาจะไม่ติดสมาธิ ๕ ปี ครูบาอาจารย์ของเราที่ติดขั้น ติดตอน ที่ภาวนาไปแล้วไปติดๆ จะไม่ติดเลย เพราะทำความสงบแล้วไปชนกับกิเลส
ไอ้นี่ทำความสงบแล้วไม่เห็นกิเลส พอไม่เห็นกิเลส จิตมันว่างๆ ใช่ไหม? นี่คือนิพพาน แล้วก็ติดอยู่อย่างนั้นแหละ จนมีผู้รู้ ผู้ที่ชำนาญ อันนั้นเป็นสมาธิ อันนั้นไม่ใช่นิพพาน นิพพานมันต้องมีมรรค ๘ นิพพานมันต้องมีงานชอบ เพียรชอบ สติชอบ ระลึกชอบ ต้องมีปัญญาฟาดฟันกับกิเลส แล้วฟาดฟันอย่างใด? นี่ถ้ามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ถ้าเป็นความจริงท่านจะพาให้เราออกฟาดฟันกับกิเลสอย่างใด? ให้พาเราไปฟาดฟันกับกิเลสนะ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์จะพาอะไรไปฟาดฟัน?
เราสร้างเหมือนหนังสารคดี เราสร้างขึ้นมา เราทำขึ้นมา แล้วก็เป็นอย่างนั้น เริ่มต้นการฝึกหัดก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ เวลาเราใช้ นี่ถ้าพิจารณา ใครจิตสงบแล้วพิจารณากายไม่เห็นกายบอกให้นึกเอา เขาบอกว่านึกก็เป็นสัญญาสิ ใช่ นึกก็เป็นสัญญา ในเมื่อถ้าเรายังเห็นไม่ได้ เรายังรู้ไม่ได้เราต้องนึกขึ้นมา สร้างขึ้นมา สร้างภาพ สร้างประเด็นขึ้นมา พอประเด็นขึ้นมาเราก็ฝึกหัด ฝึกหัด พอฝึกหัดจิตใจมันจะโล่งโถง มันจะมีช่องทาง พอมีช่องทางไป
ประสาเรานะเหมือนที่หลวงปู่มั่นว่า ปลาในสุ่มเรายังค้นคว้าไม่ได้ เรายังจับปลาตัวนั้นไม่ได้ แล้วเราจะไปจับปลาในทะเล
ปลาในสุ่มเรายังจับไม่ได้ ปลาในสุ่มก็คือจิตในกายเรานี่แหละ กายนี้คือสุ่ม มันสุ่มปลาตัวหนึ่งไว้ในกายนี้ มันสุ่มจิตไว้ในกายนี้ แล้วเรายังค้นหามันไม่เจอ แล้วคิดดูสิว่าเราจะไปค้นหาปลาในทะเลเราจะไปเจอได้อย่างใด?
ฉะนั้น พอจิตมันเริ่มสงบ เห็นไหม เราจะค้นคว้าหามัน ถ้าเห็นกายนะ นี่โยมตั้งสติดีๆ นะ เพราะสิ่งที่พูดมานี่มันถูก ถูกตามคำสอน แต่มันไม่ได้แก้กิเลสเรา ถ้ามันไม่ได้แก้กิเลสเรา เราก็ต้องทำจิตของเราให้สงบเข้าไปมากกว่านี้ ถ้าทำจิตเราสงบแล้วกลับมาพิจารณากายใหม่ สิ่งที่ทำมา ถ้าใจไม่ร้อนนะ นี่พอพิจารณากายแล้วมันปล่อย พอปล่อยแล้ว แต่พอออกมาแล้วมันก็คงที่เหมือนเดิม ไม่มีสิ่งใดที่มันชำระกิเลสเลย แต่ แต่เราก็มีแนวทาง นี่ปฏิบัติเริ่มต้นมันเป็นแบบนี้แหละ ปฏิบัติเริ่มต้นจากคนที่ไม่เป็น ปฏิบัติเริ่มต้นจะเป็นแบบนี้ แต่ต้องก้าวเดินไป
นี่รู้แล้วปล่อย รู้แล้วปล่อยแล้วเดินไปข้างหน้า รู้แล้วปล่อยแล้วเดินไปข้างหน้า รู้แล้วอย่ายึด ถ้าบอกนี้เรารู้แค่นี้ เราเก่งแค่นี้นะ นี่ปัญญาเราจะไม่ก้าวไปข้างหน้า รู้แล้วปล่อย รู้สิ่งใดแล้วปล่อย ทำความสงบเข้าไป เห็นกายคราวนี้หยาบๆ เห็นกายคราวหน้าจะดีกว่านี้ คนเรานะถ้าสมาธิมันไม่แน่วแน่ เห็นกายก็เห็นกายโดยปกติ แต่ถ้าคนสมาธิดีๆ นะ เห็นกายนี่ใสเป็นแก้วเลย ถ้ากายใสเป็นแก้วก็ใช้ไม่ได้อีก สมาธิมันแรงไป
คำว่าสมาธิมันแรงไปนี่นะ มรรคไง สัมมาสมาธิ สมาธิระดับกลาง มัชฌิมาปฏิปทา สมาธิมัชฌิมาปฏิปทา ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ มันต้องมัชฌิมาปฏิปทาระหว่างกลาง ถ้าระหว่างกลางนะมันสมดุลของมัน ถ้ามันสมดุลของมันมันก็เป็นไป แต่ถ้าสมาธิเราไม่ดีนะ เห็นกายนะมันก็เห็นกายโดยทั่วไป ถ้าสมาธิมันเข้มแข็งนะใสเป็นแก้วเลย ถ้าใสเป็นแก้วก็พิจารณาไม่ได้ อย่างเช่น ถ้าเป็นนิมิตแล้ว ถ้ามันใสมากมันไม่วิภาคะ คือมันไม่เป็นไตรลักษณ์ไง
ถ้ามันเป็นไตรลักษณ์นะ เพราะมันสมดุลของมัน มันเป็นไตรลักษณ์คือมันแปรสภาพ ของมันจะแปรสภาพ มันจะเคลื่อนไหวของมัน ถ้าเคลื่อนไหวของมันมันต้องมัชฌิมาปฏิปทา ทีนี้มัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาของใคร? มัชฌิมาปฏิปทาของกิเลส มัชฌิมาปฏิปทาของธรรม มัชฌิมาปฏิปทาของโสดาบัน มัชฌิมาปฏิปทาของสกิทาคามี มัชฌิมาปฏิปทาของอนาคามี มัชฌิมาปฏิปทาของอรหัตตมรรค แตกต่างหลากหลายทั้งนั้นเลย นี่ถ้ามันละเอียดเข้าไปมันจะเป็นอย่างนั้น
ที่พูดนี้เพราะเราห่วงอย่างเดียวเท่านั้นแหละ เราห่วงว่าถามอะไรหลวงพ่อก็ว่าผิด ถามอะไรหลวงพ่อก็ว่าผิด หลวงพ่อไม่เคยพูดอะไรว่าถูกสักที เราถึงต้องอธิบายให้เห็นยาวๆ ไง เดี๋ยวจะว่า โอ้โฮ หลวงพ่อนี่ถามอะไรก็ผิดทั้งนั้นเลย ไม่มีอะไรถูกสักอย่าง ถ้าถูกถ้าเป็นผล การภาวนาของเรามันจะเจริญรุ่งเรือง แต่นี้มันภาวนาแล้ว ๑. มันไม่ก้าวหน้า สำคัญตรงนี้
๑. มันไม่ก้าวหน้า
๒. เริ่มลังเล
๓. เริ่มเบื่อหน่าย
ฉะนั้น เวลาเราตอบธรรมะนี่เรารู้ เวลาคนปฏิบัติมันทุกข์ขนาดไหน? มันดูแลเรามาขนาดไหน? แล้วพอเกิดสิ่งใดขึ้นมามันก็ไม่ได้ผล มันทำให้ลังเลนะ ทำให้ลังเล แล้วทำให้เบื่อหน่าย นี่เราถึงบอกว่าทำอย่างนี้ ถ้าพูดถึงโดยปกติของมัน การปฏิบัติก็เริ่มต้นกันแบบนี้ทั้งนั้นแหละ เริ่มต้นแบบโลก เริ่มต้นโดยต้นทุนกับจิตของเรา คือเราเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วกรรมของคนมันมาไม่เหมือนกัน เราใช้คำว่า พันธุกรรมของจิต
นี่พันธุกรรมของมัน กรรมของมันไง กรรมของจิตแต่ละดวงมันไม่เหมือนกัน ทีนี้พอมันมาเกิดเป็นเรา เป็นมนุษย์ มนุษย์เหมือนกัน นี่มนุษย์เหมือนกันหมดเลย แต่ความคิดของมนุษย์ไม่เหมือนกันสักคนหนึ่ง แล้วความต้องการของคนก็ไม่เหมือนกัน แล้วปฏิบัติไปนะมันจะล้มลุกคลุกคลานแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ง่ายบ้าง ยากบ้าง ทุกข์บ้าง ลำบากบ้าง ไม่มีเหมือนกันสักคน เหมือนกันไม่มี
ฉะนั้น พอเหมือนกันไม่มี เห็นไหม นี่เวลามาเริ่มต้นจะมาปฏิบัติ เวลาปฏิบัติไปแล้วนี่ของใครของมัน แล้วถ้าของใครของมันแล้วเราจะต้องเข้มแข็ง แล้วเราจะต้องทำของเรา ถ้าทำของเรา พอทำแล้วเริ่มต้นมาจากโลก พอเริ่มต้นมาจากโลกมันก็เป็นแบบนี้ เป็นแบบโลกจากจิตใจของใคร? แล้วโยมลองคุยกันสิ อุปสรรคของแต่ละคนมันเหมือนกันไหมล่ะ? มันไม่เหมือนกันสักอย่าง แล้วไม่เหมือนกันแล้ว อันนี้ฟังนะ อันนี้ยึดให้มั่นๆ นะ อย่า! อย่าไปเอาความสำเร็จของเขา หรือเอาความที่ถูกต้องของเขา แล้วจะทำตามนั้น อย่า เพราะอันนั้นคืออาหารที่เขาชอบ
คนภาคใต้ก็ชอบกินอาหารรสจัด คนภาคเหนือเขาก็ชอบกินแคบหมู คนอีสานเขาก็ชอบกินส้มตำ อ้าว แล้วมันเหมือนกันไหม? แล้วบอกว่าต้องกินให้อร่อยเหมือนกันๆ มันเป็นไปไม่ได้หรอกนะ คนภูมิภาคเขาเคยกินอย่างใด? เขาถูกปากของเขา ฉะนั้น เขาอร่อยของเขา เขาก็บอกว่าอร๊อย อร่อย เราไปกินนะโอ้โฮ เผ็ดน่าดูเลย มันอร่อยตรงไหน? แต่เขาว่าอร่อย
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันตรงกับเรา ฉะนั้น เราฟังได้ ฟังมาเป็นคติ มาเป็นตัวอย่าง แล้วเราพยายามทำของเราขึ้นมา ของเรานี่เราพยายามทำของเราขึ้นมา ถ้ามันเป็นอาหารก็ให้เป็นอาหารของเรา แล้วให้เป็นที่เราชอบกิน ถ้าเราชอบกินมันคือตรงกับจริต ถ้าชอบ ปัญญาชอบ งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ สมาธิชอบ ถ้ามันชอบธรรมมันเป็นสมบัติของเรา ถ้ามันไม่ชอบธรรม เราพยายามฝืนกินให้มันอร่อยแบบคนอื่น แล้วมันไม่เป็นความจริง
แต่ถ้าเรากินแล้วมันชอบ ความชอบธรรม นี่เป็นสมาธิก็สมาธิโดยชอบ ถ้าเป็นปัญญาก็ปัญญาโดยชอบ ถ้าไม่ชอบธรรมนี่เราทำให้เหมือนไง เขาว่าอร่อยนะ เราว่ากึ่งๆ อร่อย มันไม่อร่อยจริง แต่เขาว่าอร่อยไหม? อร่อยๆ กลัวจะตกขบวนรถสายเขา ก็ต้องไปตามเขา แล้วมันเป็นจริงไหมล่ะ? เพราะเวลาปฏิบัตินะ เวลาเขาส่งยานอวกาศไปนอกโลกเขาไม่ให้คนขับ เขาใช้เทคโนโลยีหมดเลย เพราะถ้าคนขับ แว็บเดียวมันออกนอกเส้นทางเลย
จิตใจของคนมันโลเลมาก มันวอกแวกวอแวมาก ฉะนั้น สิ่งที่ว่าอร่อย ไม่อร่อยมันแป๊บเดียวๆ เท่านั้นแหละ ทีนี้สิ่งที่โลเลมาก ถ้าสติมันทันนะ จิตที่เร็วมากสติมันทัน มันทันหมด จะเร็วขนาดไหนไม่พ้นจากสติไป พอเกิดสติ ทำดีแล้วมันจะเกิดปัญญา แล้วถ้าเกิดปัญญาเป็นภาวนามยปัญญา คำถามที่ว่าต่อไปนี้ แล้วมันไม่ถอดไม่ถอน เราจะรู้ จะเห็นของเรา มันจะถอดถอนไปเรื่อยๆ มันจะดีขึ้นเรื่อยๆ มันจะดีขึ้นเรื่อยๆ เห็นไหม
นี่ใช่มันไม่เหมือนเดิม คำว่าเหมือนเดิม เรายกตัวอย่างเรื่อยตอนที่หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติใหม่ๆ พิจารณากายไปแล้วออกมาก็เหมือนเดิม พิจารณากายไปแล้วก็ออกมาเหมือนเดิม มันเหมือนเดิม คำว่าเหมือนเดิมนี่กิเลสมันไม่ยุบยอบเลย กิเลสไม่สะเทือนเลยมันเหมือนเดิม หลวงปู่มั่นก็พิจารณาว่ามันเป็นเพราะอะไร? หลวงปู่มั่น อ๋อ เพราะเราปรารถนาพระโพธิสัตว์ไว้
หลวงปู่มั่นท่านถึงทำจิตของท่านสงบ สงบนะเข้าไปลากันที่ในสมาธิ เพราะมันเป็นฐานของจิต พอลาเสร็จแล้วออกมาพิจารณานะ พอจิตมันสงบแล้วพิจารณากาย พอพิจารณากายมันสำรอก เออ อย่างนี้ถูก เห็นไหม มันไม่เหมือนเดิมไง มันพิจารณากายไปแล้วมันถอด มันคลายออก มันเบาลง สิ่งที่ในใจมันเริ่มคลายออกๆ หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า เออ อันนี้ใช่
นี่มันรู้ไง ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก จิตใดถ้ามันพิจารณาแล้วเหมือนเดิม ไม่มีอะไรมันดีขึ้นเลย เราขยันแล้วเราพิจารณาของเราว่ามันควรจะหาทางออกอย่างใด แล้วถ้ามันมีทางออกแล้วมันพิจารณาของมันแล้ว เวลามันสำรอก มันคลายออกมันไม่เหมือนเดิม ออกมาแล้วไม่เหมือนเดิม ศรัทธา อจลศรัทธา จากศรัทธานะก็เป็นอจลศรัทธา ศรัทธาที่มั่นคง ศรัทธาที่มั่นคงแล้วจะขึ้นโสดาปัตติมรรค
โสดาปัตติมรรค ถ้าพิจารณาขาดก็เป็นโสดาปัตติผล ถ้าโสดาปัตติผลนะก็แค่นั้นแหละ ถ้าไม่ขุดคุ้ยเป็นสกิทาคามิมรรค ถ้าสกิทาคามิมรรคมันก็เป็นสกิทาคามิผล ก็แค่นั้นอีกแหละ ถ้าไม่ขุดคุ้ยจะไม่เกิดอนาคามิมรรค พอเกิดอนาคามิมรรค เพราะการขุดคุ้ยมันถึงเป็นมรรค พอเป็นมรรคมันก็เป็นอนาคามิมรรค อนาคามิมรรคพิจารณาซ้ำ ถึงที่สุดแล้วมันก็เป็นอนาคามิผล ถ้าอนาคามิผลมันว่างหมด มันก็โลกนี้ว่างไปหมดเลยเพราะมันปล่อยวางหมดแล้ว ถ้าไม่ขุดคุ้ยมันก็ไม่เป็นอรหัตตมรรค ถ้าไม่มีอรหัตตมรรคมันก็ไม่มีอรหัตตผล ถ้ามันมีอรหัตตผลมันก็สิ้นกิเลส พอสิ้นกิเลสถึงรู้ได้ชัดเจนแจ่มแจ้งเป็นอย่างนั้น
ฉะนั้น สิ่งที่ทำมามันเป็นพื้นฐาน แล้วทำต่อไป ทีนี้เพียงแต่ว่าถ้าไม่มีครูบาอาจารย์มันก็จะบอกว่า ก็ทำแล้ว สมบูรณ์แล้ว ได้ทำแล้ว แล้วทำไมมันไม่ได้ผล นี่ตรงกับพุทธพจน์หมดเลย ไอ้พุทโธ พุทโธ หลับตาแล้วก็พุทโธมันจะเอาปัญญามาจากไหน? ปัญญาของมัน เห็นไหม ไม่มีการศึกษาจะเอาปัญญามาจากไหน?
หลวงปู่มั่นบอกว่า อยู่ในป่า ในเขาฟังธรรมทุกวันเลย
เวลาจิตมันใช้ปัญญาค้นคว้าไปนี่ธรรมมันเกิด มีธรรมมาสะเทือนให้ฟังตลอด นี่สิ่งที่ทำนั่นธรรมแท้ๆ เป็นธรรมของบุคคล ไม่ใช่ธรรมสาธารณะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนรัฐบาล ธรรมเป็นของสาธารณะ ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพใช้ได้ด้วยกัน แต่ถ้าเป็นธรรมของเรา เห็นไหม มันเกิดในใจของเรา นี่มันเป็นถนนส่วนบุคคล จะให้ใครใช้ ไม่ให้ใครใช้ ให้ใช้หมายความว่าบอกกล่าวให้เขาได้ประโยชน์ ถ้าไม่ให้ใครใช้ ไม่ต้องพูดจบ มันเป็นถนนของเรา อยู่ในหัวใจของเรา ไม่มีใครรู้ไปกับเรา นี่ธรรมอันนี้ถึงจะเป็นธรรมส่วนบุคคล
ธรรมส่วนบุคคล เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก อานนท์ เราเอาธรรมของเราไป เราไม่ได้เอาธรรมของใครไปเลย เวลาพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะจะนิพพานก็ไปลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เอาธรรมส่วนบุคคลไปเท่านั้นแหละ มันเป็นธรรมธาตุในใจนั้น แล้วเอาสิ่งนั้นเพื่อเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น
ฉะนั้น เราปฏิบัติแล้ว สิทธิเสรีภาพเรามี เพราะสิ่งที่จิตนี้จะเป็นผู้พ้นจากกิเลส ไม่มีร่างกาย ไม่มีสิ่งอันใดที่พ้นกิเลส จิตที่พ้นกิเลส เพราะเรายังมีชีวิตเราถึงมีจิต เรามีจิต เรามีการพิจารณา เรามีการกระทำ เราจะได้มรรค ได้ผล เอวัง
เพิ่มเติมท้ายกัณฑ์
อ้าว ใครมีอะไรพูดได้นะ เดี๋ยวจะหาว่าตีหัวเข้าบ้าน พูดคนเดียวไม่ให้ใครพูดเลย อ้าว ใครจะพูดพูดได้ ใครจะถามอะไรได้หมดเลย
ธรรมะส่วนบุคคลมันก็มีโลกียธรรม โลกุตตรธรรม ถ้าเป็นโลกียธรรมมันก็ย้ำแต่กิเลสนั่นไง โลกียะคือโลก โลกุตตระคือธรรม ธรรมส่วนบุคคลมันก็มีโลกียะกับโลกุตตระนะ โลกียะคือเกิดจากกิเลส เกิดจากทิฐิ เกิดจากความเห็น โลกุตตระคือเกิดจากสัจจะ โลกุตตระคือมันไม่มีกิเลสร่วมไง ถ้าโลกียะนี่เกิดจากกิเลส มันต้องฝึกไปรู้
ว่าไป ว่าไปสิ อันนี้เป็นไตรลักษณ์ที่ไหน? อันนี้เป็นไตรลักษณ์ที่ไหน? ไตรลักษณ์คือการแปรสภาพ ถ้าเกิดขึ้นอย่างนี้เขาเรียก ธรรมเกิด นี่อย่างนี้ธรรมเกิด เกิดอย่างนี้ มันผุดขึ้นมาไง ให้เอาความตาย เห็นไหม เมื่อกี้พูดว่าอย่างไร? ให้เอาความตายเป็นเครื่องอยู่ มันเป็นคำพูดหรือเปล่า?
นี่ธรรม นี่ที่ว่าธรรมเกิดๆ อย่างนี้เกิด มันจะผุดขึ้นมาในใจไง บางทีมันจะผุดขึ้นมานะเป็นคำๆ หลวงตาบอกว่าหลวงปู่มั่นเป็นภาษาบาลี อาจารย์จวนเป็นภาษาบาลี แต่หลวงตาท่านบอกว่าท่านเป็นภาษาไทย เกิดขึ้นอย่างนี้ นี่ธรรมเกิด ธรรมผุด ธรรมผุดนี้ไม่ใช่อริยสัจ คือมันจะมีความคิดดีๆ ผุดขึ้นมา ฉะนั้น เวลาธรรมเกิดๆ ใครบอกธรรมเกิด อู๋ย ตื่นเต้นกันใหญ่เลย
เฮ๊อะ เรารู้จักมันดี เรารู้จักว่าอะไรเกิด อริยสัจเกิดอย่างไร อะไรเกิดอย่างไร ไอ้นี่เขาเรียกธรรมเกิด ไม่ใช่ไตรลักษณ์ ถ้าไตรลักษณ์นะมันจะเป็นความรู้สึกนึกคิดเรานี่ก็ได้ เป็นธรรมไง แล้วพิจารณาไปแล้วมันแปรสภาพ ไตรลักษณ์คือการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป คือการแปรสภาพ จากดิบเป็นสุก จากสุกเป็นเน่า นี่คือไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์คือการเปลี่ยนแปลง แต่ไอ้คำพูดนี้มันเป็นธรรม
นี่เวลาปฏิบัติไปมันจะรู้ อันนี้เป็นศัพท์อยู่ในพระไตรปิฎก แต่ถ้ายังไม่เกิดขึ้นจริงไม่รู้หรอกว่าพระพุทธเจ้าพูดถึงอะไร? แต่ถ้าใครไปโดนเข้านะ เออ อ๋อ พระพุทธเจ้าพูดถึงอย่างนี้เอง ไอ้นั่นมันเป็นศัพท์อยู่ในพระไตรปิฎกไง แต่พอเราไปเจอสิ เอ๊อะ เอ๊อะเลยแหละ
ฉะนั้น ไอ้ที่เกิดเมื่อกี้นั้นเป็นธรรมเกิด ไม่ใช่ไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์เป็นอีกอย่างหนึ่ง ไตรลักษณะนี่นะมันทำให้เราสำรอกกิเลสเลย นี่เราถือสิ่งนี้อยู่นะ แล้วมันละลายไปเลย เอ็งว่ากูช็อกไหม? กูถืออยู่อย่างนี้ ไตรลักษณ์คือมันละลายไปเลย เพราะมันแปรสภาพไงไตรลักษณ์ แต่นี่ไม่ใช่นี่แก้วสวย มันไม่เป็นไตรลักษณ์ มันสวยของกู แต่ถ้ามันเป็นไตรลักษณ์ มันละลายต่อหน้า นี่คิดดูสิช็อกไหม?
พิจารณากาย เห็นกาย กายตั้งอยู่อย่างนี้นิมิต แล้วมันละลายลง มันแปรสภาพมันไป ช็อกครับ ช็อก! โธ่ ฉะนั้น คนไม่เคยเห็นอย่ามาโม้ ไม่มี เป็นไปไม่ได้ ถ้ารู้เห็นแล้วมันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่เวลาเกิดอย่างนี้ เห็นไหม นี่อย่างนี้ที่เขาเรียก ธรรมเกิด แต่ไตรลักษณ์เป็นอีกอย่างหนึ่ง ปฏิบัติไปจะรู้
มรณานุสติ คนเราให้ระลึกถึงความตายตลอดเวลา นี่มรณานุสติ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ นี้คือมรณานุสติ คนเราระลึกถึงความตาย พอระลึกถึงความตายมันก็ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เหิมเกริม ไม่ลำพอง เพราะกูจะตายแล้ว แต่ถ้าคนบอกกูยังไม่ตาย โอ้โฮ มันลำพอง นี่มรณานุสติ ถูก แต่เพียงแต่ว่าเราจับวางมันถูกต้องตำแหน่ง นี่มรณานุสติ ถูก ฉะนั้น มันก็ถูกในการปฏิบัติ ทีนี้ปฏิบัติมันจะถูกไปเรื่อยๆ ยังมีขั้นตอนไปเรื่อยๆ