ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จิตเป็นของเรา

๑๔ เม.ย. ๒๕๕๕

 

จิตเป็นของเรา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : นั่งสมาธิแล้ว มีคนบอกว่าเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าทุกครั้ง แล้วเหตุการณ์นั้นก็เป็นจริง อย่างนี้ถือว่าปฏิบัติถูกต้องหรือยัง? หรือต้องภาวนาอย่างไรจึงจะก้าวหน้า

ตอบ : คนภาวนาแล้วบอกเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าไม่ต้องฟังเลย จบ ไม่ต้องฟัง เพราะเหตุการณ์ล่วงหน้าไม่ใช่เรื่องศาสนา เรื่องศาสนานี่เรื่องของอริยสัจ เรื่องของความสุข ความทุกข์ เรื่องของความเป็นจริง

เหตุการณ์ล่วงหน้า เหตุการณ์ล่วงหน้า เห็นไหม ตอนนี้ดูสิวันสงกรานต์ พวกพราหมณ์เขาพยากรณ์ไปถึงปีหน้า ว่าปีนี้วัวกินอะไร? จะได้น้ำเท่าไร? วัวกินภัตตาหาร ปีนี้ข้าวนาจะสมบูรณ์ กราบไหม? กราบไหม? ถ้าทายล่วงหน้า นั่นคือการพยากรณ์

ฉะนั้น บอกว่า

ถาม : มีคนบางคนเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าทุกครั้ง แล้วเหตุการณ์นั้นก็เป็นจริง

ตอบ : เป็นจริงหรือไม่เป็นจริง เราก็พูด นี่นาฬิกาบอกเราด้วย ๒๔ ชั่วโมงเพี๊ยะไม่มีคลาดเลย นี่เหตุการณ์ล่วงหน้า มันหมุนไปตลอดเวลา ตอนนี้คนคิดไปนะ นี่ไงในพุทธศาสนา ในศาสนาใช้คำว่า “ผู้วิเศษ” ผู้วิเศษไม่ใช่ธรรม ผู้วิเศษคือรู้สิ่งใดๆ กรณีอย่างนี้นะ ฤๅษีชีไพรเขาก็รู้มาตั้งเก่าแก่ เพราะเรื่องนี้ อย่างนี้นะ อย่างเช่นเรามานั่งกันอยู่ทุกๆ คน แล้วทุกๆ คนให้คิดถึงบ้านของตัวเอง ทุกๆ คนเก็บของในบ้านของตัวเองวางไว้ที่ไหน คนนั้นจะรู้จริงไหม?

ทุกๆ คนออกจากบ้านของตัวเองมา สิ่งของในบ้านตัวเอง เราเป็นคนจัดเรียงเอง เราจะรู้ว่าของในบ้านเรา เราจัดเรียงไว้ที่ไหน? แล้วถ้าคนมารู้ล่ะมันไม่เกี่ยว จิตของเรานะเวลาจิตสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามา จิตนี้มันเคยทำเวร ทำกรรมมา จิตนี้มันเคยได้สร้างบุญกุศลมา จิตนี้มันมีข้อมูลของมันมา ถ้าจิตมันสงบเข้ามามันก็ไปรู้ข้อมูลของมัน มันก็เหมือนเรากลับบ้านเรา เรากลับไปบ้านเรา เราก็รู้ว่าของในบ้านเราจัดเรียงไว้ที่ไหน

บุพเพนิวาสานุสติญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาจิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ ตั้งแต่พระเวสสันดรไป นี่พระพุทธเจ้าเคยเกิดมา พระพุทธเจ้าเป็น ๑๐ ชาติมา พระพุทธเจ้าสร้างพระโพธิสัตว์มา พระพุทธเจ้าสร้างสมมาทุกภพ ทุกชาติ มันสะสมลงไปในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบุพเพนิวาสานุสติญาณย้อนอดีตชาติไป มันเป็นธรรมะหรือยัง? ยัง

บุพเพนิวาสานุสติญาณ ปฐมยาม พระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ ธรรมะยังไม่มี พอจิตองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสงบลงรู้อดีตชาติ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ฤๅษีชีไพรในชาติภพต่างๆ เขาก็รู้ เทวทัตนี่นะจิตสงบมันแปลงกายเป็นพญานาค แปลงกายเป็นงูไปบนหัวของอชาตศัตรู แล้วเทวทัตเป็นอย่างไร? เทวทัตเป็นอะไร? เทวทัตตอนนี้ตกนรกอเวจีอยู่ เขาแปลงร่างได้ เป็นอริยสัจไหม? ไม่เป็น ไม่เป็น

นี่ไง ทีนี้เราจะเทียบให้เห็น เราจะพูดให้โยมไม่ตื่นไง คำว่าไม่ตื่นหมายถึงว่าในเมื่อมีคนนั่งสมาธิไปแล้วเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า อ้าว ก็เรื่องของเขา เหตุการณ์ล่วงหน้า คนที่นั่งสมาธินะ ในทางการปกครองเขาบอกว่า เวลาคนนี่นะถ้าเขาเป็นพระ ถ้าเขาไม่เป็นพระนะ เวลาเขาเป็นหมอดู เป็นต่างๆ เขาก็ไปดูล่วงหน้าทั้งนั้นแหละ กลับไปบ้านของเขานะ ในครอบครัวเขาทะเลาะเบาะแว้งกัน ในครอบครัวเขามีแต่ความทุกข์ แต่เขาดูฤกษ์ดูยามให้คนอื่นนะ แต่ในครอบครัวเขาดูแลได้ไหม? นี่ไงเหตุการณ์ล่วงหน้า ล่วงหน้าอะไร?

ถาม : มีบางคนเขารู้เหตุการณ์ล่วงหน้า แล้วจริงทุกครั้ง

ตอบ : นี่สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ความจริงที่คงที่ที่เขารู้ทุกครั้งไม่มี สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง ถูกบ้าง ผิดบ้าง มันจริงทุกทีเอาที่ไหนมา? ไม่มีหรอก เพราะความจริงในโลกนี้เป็นอนิจจังไหม? ความจริงในโลกนี้เป็นอนิจจังไหม? เป็น สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นี่เพราะในสัจจะมันบอกอยู่แล้ว สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง แม้แต่ชีวิตเรามันก็แปรสภาพไป ทุกอย่างแปรสภาพหมด ไม่มีอะไรคงที่ เจ็บไข้ได้ป่วยไปข้างหน้า แล้วมันเป็นจริงตรงไหนล่ะ? มันมีอะไรจริงล่ะ? มันไม่มีอะไรจริงหรอก

ถาม : อย่างนี้ถือว่าปฏิบัติถูกต้องหรือยัง? หรือต้องภาวนาอย่างไรจึงจะก้าวหน้า

ตอบ : การจะก้าวหน้านะ สิ่งที่เรารู้ เราเห็น นี่สิ่งที่เรารู้เราเห็น มันปฏิเสธได้ไหม? พอมาที่นี่ ใครผ่านถนนหนทางมา ใครมาที่นี่นะมาถนนสายไหน? มาจากมุมไหนของบ้านของตัว มาจากทางเมืองกาญจน์ก็มาจากหลังเขานี้ ถ้ามาจากทางราชบุรี มาจากกรุงเทพฯ เขาแตกต่างเส้นทางกันมา เขาจะเห็น เขาจะรับรู้สิ่งที่เขาเห็นแตกต่างกันมา

ถ้ารับรู้สิ่งที่เห็นแตกต่างกันมา เห็นไหม ฉะนั้น ถ้าเราปฏิบัติไป ถ้าเรารู้ เราเห็น สิ่งใดที่รู้เห็นวางไว้ สิ่งที่รู้ที่เห็นนั่นแหละจะทำให้เนิ่นช้า สิ่งที่รู้ที่เห็นนะ เราจะเข้าบ้านนะ บ้านของเรา เห็นไหม ถ้าเราเข้าไปถึงสัมมาสมาธิ เข้าสู่บ้านของเรา เข้าสู่ฐีติจิต ถ้าเข้าสู่ฐีติจิต การจะเข้าบ้าน ถ้าบ้านของคนใหญ่โต มันมีสวนหน้าบ้าน มันมีรั้ว บางคนจะมีรีโมทกดตั้งแต่ก่อนเข้าบ้าน บางคนเข้าไปเคาะประตูแล้วเขายังไม่ยอมเปิดบ้านให้

เราจะบอกว่าการทำความสงบของใจ มันมีอุปสรรคแตกต่างหลากหลายกันไป แล้วแต่เวรแต่กรรมของจิตแต่ละดวง มันไม่มีสิ่งใดเหมือนกันหมด ไม่มี ไม่มี สิ่งที่สอนเป็นสูตร สิ่งที่สอนเหมือนกันหมด อันนั้นคือเขาคิดเหมือนทางวิชาการ เหมือนทางการศึกษาทางโลก การศึกษาทางโลกนะเขาจะไม่เอานักเรียนไว้ค้างชั้น เพราะมันเสียที่นั่ง เขาจะพาส หมดเลย หมดห้อง สอบผ่านหมดๆ แต่ในการปฏิบัติไม่มี ต่างคนต่างรู้ ต่างคนต่างเห็น ต่างคนต่างตามความเป็นจริง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าเป็นตัวเราเอง เวลาปฏิบัติไปรู้ไปเห็นแล้วมันเป็นจริง จริงๆ หรือ? แล้วที่เวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติ ที่ไม่รู้อีกเยอะแยะเลย นี่มันเป็นการ กิเลสนะมันคว่ำกินหงายกิน ไม่ปฏิบัติมันก็หลอก ปฏิบัติมันก็หลอก เวลาปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม ไปรู้สิ่งนั้น ไปรู้สิ่งนี้ นี่มันจะทำให้เสียหาย เสียหายคือจิตมันส่งออก มันไม่เข้าสู่ฐีติจิต มันไม่เข้าไปสู่บ้าน มันไม่เข้าไปสู่ที่กิเลสมันอยู่ ถ้าเราจะเข้าไปสู่ที่กิเลสมันอยู่นะ เราทำความสงบของใจไป มันจะรู้ มันจะเห็นสิ่งใด เออ วางไว้ มันไม่มีสิ่งใดมหัศจรรย์หรอก วางไว้ จะรู้หรือไม่รู้มันก็เป็นอย่างนี้

เราจะรู้อยู่ นี่คนที่เขาอยู่ริมทะเล เห็นไหม น้ำขึ้นน้ำลงเขารู้ของเขา เราอยู่ในพื้นที่ชั้นใน เรามีน้ำขึ้นน้ำลงกับเขาไหมล่ะ? เราก็ไม่มี เราไม่เห็นมีน้ำขึ้นน้ำลงเลย หน้าบ้านก็ไม่มีน้ำขึ้นน้ำลงเลย แต่คนที่เขาอยู่ชายทะเลเขามีน้ำขึ้นน้ำลงนะ แล้วแต่แรงโน้มถ่วงของโลก เขามีของเขา จิตของเราถ้าเราภาวนาไป เราสงบขึ้นมา เรารู้เห็นสิ่งใดวางไว้ เพราะเขาถามว่า

ถาม : แล้วจะภาวนาอย่างไรต่อไปถึงจะก้าวหน้า

ตอบ : ถ้าภาวนาอย่างไรถึงจะก้าวหน้า ศีล สมาธิ ปัญญา สิ่งที่รู้ ที่เห็นมันเป็นสิ่งล่อ กิเลสเอาสิ่งนี้มาล่อ รู้เรื่องของคนอื่น รู้ว่าพระพุทธเจ้านิพพานด้วยนะ แต่ตัวเองขี้ทุกข์ ทุกข์ทั้งตัว พระพุทธเจ้านิพพานแล้วก็สาธุ เราก็สาวก เราก็เป็นพุทธชิโนรส เราก็เป็นศากยบุตร เราก็เป็นลูกศิษย์ลูกหา เราจะประพฤติปฏิบัติไป เรื่องของพระพุทธเจ้าเราก็สาธุ เราก็ศึกษามา ปริยัติเราก็เรียนมาแล้วแหละ แล้ววางไว้ แล้วปฏิบัติให้ตามความเป็นจริง

เหมือนกับที่หลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น เห็นไหม นี่ข้อนี้ทำให้ฝ่ายปริยัติเขา จะบอกเขาด่าเรามา ว่าอย่างนั้นเลย จะบอกว่าเขาเอ็ดเรามาไง เขาด่ามา เขาบอกว่าพวกเรานี่ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า เพราะคำพูดนี้แหละ แต่คำพูดนี้เราพูดให้เห็นว่าการปฏิบัติมันมีปลีกย่อย มันทำให้เราติดขัด อย่างเช่นเวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่นครั้งแรก หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า

“มหา มหาก็มีความรู้ เรียนจนถึงขั้นเป็นมหา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นของที่ประเสริฐมาก เลิศเลอมาก เราจะเอาทูนใส่ศีรษะไว้ เราจะเทิดทูนไว้ แล้วใส่ลิ้นชัก แล้วลั่นกุญแจไว้อย่าให้มันออกมา”

ถ้ามันออกมา เพราะเราปฏิบัติไป เรามีการศึกษาเป็นถึงขั้นมหา นี่มันก็ต้องเทียบ ธรรมะว่าอย่างนั้น นิพพานว่าอย่างนั้น ปฏิบัติแล้วจะได้อย่างนี้ ถ้าเดินอย่างนี้มันจะเป็นมรรค ถ้าเดินอย่างนี้มันไม่เป็นมรรค มันก็ไปขัดแย้งกับความเป็นจริง เพราะเรารู้ขึ้นมาเรารู้จริงๆ เราเห็น แต่เห็นอย่างนี้มันยังเห็นแบบไม่สมบูรณ์ เห็นแบบว่าเรายังเริ่ม

อย่างเช่นปลูกต้นไม้ เขาบอกว่าทำนาแล้วจะได้ข้าว เราก็หว่านข้าว เวลามันออกต้นขึ้นมา เห็นไหม มันงอกขึ้นมา เราจะเอาข้าวๆ มันไม่มีหรอก มันต้องออกรวง พอเราหว่านข้าวไป พอต้นข้าวมันงอกมา นี่จะเกี่ยวข้าวๆ เหมือนกับการเรียนมาไง เรียนมาหมายความว่าถ้าเราจะทำนาใช่ไหม เราก็หว่านข้าว หว่านข้าวแล้วมันก็จะมีข้าว แต่กว่ามันจะมีข้าวมันก็ต้องมีต้นข้าว มันต้องเติบโตขึ้นมา กว่ามันจะแก่ กว่ามันจะออกรวง ออกรวงแล้วถ้ามันลีบ ถ้าออกรวงแล้วมันไม่แก่มันก็ไม่ได้ข้าวอีก

กว่ามันจะได้ข้าว ได้ข้าวเสร็จแล้วต้องเกี่ยว เกี่ยวเสร็จแล้วต้องมานวด นวดเสร็จแล้วต้องมาผึ่งความชื้นถึงจะได้ข้าวมา พอได้ข้าวแล้วเข้าโรงสีอีก นี้พอเราเรียนมา เห็นไหม เราเรียนของเรามา นี่หลวงปู่มั่นบอกว่าให้เอาเก็บใส่ลิ้นชักไว้ แล้วล็อคกุญแจมันไว้ก่อน แล้วถ้าปฏิบัติไปนะ เราปฏิบัติไปใช่ไหม? เราปฏิบัติของเรา เราทำไปนะ เวลาเราหว่านข้าว เราดูแลต้นข้าวมันจะมีข้าวมา พอเราเกี่ยวข้าวเสร็จ ทุกอย่างเสร็จ ทำสมบูรณ์เสร็จ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าเราจะทำนา เราต้องหว่านข้าว”

เราก็ได้มีการหว่าน มีการกระทำ มีการดูแล มีการนวด มีการเกี่ยว มีการเก็บ การนวด การสี นี่ข้าว ข้าว เห็นไหม หลวงปู่มั่นบอกว่า “เวลาปฏิบัติไปถึงที่สุดแล้วมันจะเป็นอันเดียวกัน”

มันจะเป็นอันเดียวกัน เราพูดด้วยการเชิดชูนะ เขาบอกว่า “พระป่านี่ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า” นั่นไง ก็เพราะเอ็งเชื่อพระพุทธเจ้าไงเอ็งถึงฉ้อโกง ฉ้อโกงว่ารู้แล้ว พุทธพจน์ๆ รู้ไปทุกเรื่อง แต่งงทุกเรื่องนะ รู้แล้วก็งง รู้แล้วก็ไปไม่รอด แต่ครูบาอาจารย์ของเราท่านทำของท่านตามความเป็นจริง

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า

ถาม : แล้วจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรต่อไป?

ตอบ : ถ้าประพฤติปฏิบัตินะ เรารู้สิ่งใดแล้ววางไว้ นี่เขาบอกว่าเวลาเห็นนิมิตๆ มาติดนิมิต คำว่าติดนิมิตนี่นะเราจะโทษกันไม่ได้ เราโทษกันไม่ได้หมายความว่าคนที่มันจะมีนิมิตนะ จะยุบหนอ พองหนอ จะอภิธรรมมันก็มีนิมิต เพราะคนที่ภาวนาอภิธรรมมาหาเราเยอะ บอกว่าจะแก้อย่างไร? จะแก้อย่างไร? นิมิตเหมือนกัน แต่เขาจะบอกว่า “ถ้าเป็นพุทโธจะเป็นนิมิตนะ ถ้าเป็นนามรูปจะไม่มีนิมิต เพราะมันใช้ปัญญา”

ไม่มีนิมิตแต่ มี มีเพราะอะไร? มีเพราะจิตดวงนั้นมันมี จิตดวงนั้น นี่พันธุกรรมของมันสร้างมาอย่างนั้น มันจะไปภาวนาทางไหนมันก็เป็นแบบนั้น จะไปยุบหนอพองหนอ จะไปอภิธรรม จะไปพุทโธมันก็มีนิมิต พระกรรมฐานนี่ภาวนาพุทโธ พุทโธเยอะแยะไปไม่มีนิมิต ไม่มีเลย บางคนสงบเฉยๆ ไม่มีนิมิตหรอก ถ้าไม่มีนิมิตนะ ไปกำหนดยุบหนอพองหนอก็ไม่มีนิมิต ไปกำหนดอภิธรรมก็ไม่มีนิมิต ไม่มี แต่ถ้าคนมันจะมีนะ มันกำหนดอะไรมันก็มี

ฉะนั้น กำหนดอะไรก็มีมันต้องแก้ตามนั้นไง คือแก้ตามนิสัย แก้ตามพันธุกรรมของจิตที่มันสร้างมา นี่ถ้าครูบาอาจารย์ที่ภาวนาเป็นเขาแก้กันตรงนี้ เหมือนกับนายแพทย์รักษาคนไข้ คนไข้เป็นโรคอะไร เขารักษาโรคนั้น ไม่ใช่นายแพทย์รักษาโรคนี้มีอยู่โรคเดียวในโลกนี้ คือโรคนามรูป รู้เท่า รู้ทันจบ ไม่มีโรคอื่นเลย โลกนี้ไม่มีกิเลสอย่างอื่นนะถ้าปัญญามันทัน ไม่มีนิมิต ไม่มีอะไรเลยแก้ได้หมด ไม่มีโรคอะไรเลย ความเป็นจริงเป็นอย่างนั้นไหม? ไม่เป็นหรอก

ทีนี้พอไม่เป็นปั๊บ ถ้าว่าจะภาวนาอย่างไรต่อไปนะ ภาวนาต่อไป รู้สิ่งใดที่รู้แล้วเรื่องจริงๆ ก็วางไว้ ถ้ามันจะเป็นจริงก็คือว่าเห็นกาย ถ้าเห็นกายนี่นะเราพิจารณากายไป พิจารณากายไป ถ้าจิตมันดี การพิจารณากายไปมันจะมีขั้นตอนของมันไป ขั้นตอนหมายความว่าถ้าจิตมันดีมันจะพิจารณาได้ ถ้าจิตไม่ดีพิจารณาไม่ได้ ถ้าพิจารณาไม่ได้ แล้วถ้าคนไม่เป็นนะมันจะถูลู่ถูกัง พิจารณาไม่ได้ด้วย แล้วก็ถูลู่ถูกังไปด้วย แล้วก็มีแต่เสื่อมไป ล้าไป เลิกไปเป็นธรรมดา

นี่ถ้าไม่เป็นนะ แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นนะท่านจะค่อยๆ บอก ค่อยๆ บอก ทำอย่างนี้ติดอย่างนั้น ทำอย่างนี้จะติดอย่างนั้น เพราะครูบาอาจารย์ท่านได้ผ่านไปแล้ว

“จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง”

ใจดวงนั้นไม่มีการกระทำ ไม่มีขั้นตอนเลย ใจดวงนั้นจะสอนใครไม่ได้ สอนไม่ได้หรอก บอกได้เป็นครั้งเป็นคราว แต่บอกแล้วแก้ไม่ได้ เพราะการแก้เหมือนไข้ อาการไข้ ฉีดยาแล้วมันไม่หายทีเดียว มันมีผลข้างเคียง มันจะมีผลต่อเนื่อง แล้วจะรักษาอย่างใดต่อไปให้มันถึงที่สุด คนภาวนาไม่เป็นแก้ไม่ได้ นี่คำนี้หลวงปู่มั่นท่านภาวนาเป็น ท่านพูดบ่อย

“หมู่คณะภาวนามานะ แก้จิตมันแก้ยาก ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ ถ้าผู้เฒ่าตายไปแล้วหาคนแก้ยากนะ”

หลวงปู่มั่นท่านย้ำประจำ เพราะหลวงปู่มั่นท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ของกรรมฐาน ฉะนั้น ถ้าทำสิ่งใด ถ้าทำให้ก้าวหน้านะ นี่ถ้ากำหนดพุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธิ รู้สิ่งใดแล้ววางไว้ มันไม่เป็นประโยชน์หรอก นี่ที่ว่ารู้ทุกอย่าง รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า เหตุการณ์ล่วงหน้าใครไม่รู้? ใครนั่งอยู่นี่ไม่ตายหรือ? รู้ทุกคนว่าต้องตายหมด ทุกคนก็รู้เหตุการณ์ล่วงหน้าหมด ถ้าทุกคนรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าหมด แล้วเป็นอะไรล่ะ? ก็ให้กิเลสมันขี่หัวไง

ปัญหามันเยอะ จะเอาปัญหาต่อไป วันนี้ปัญหาเจ็บๆ นะ

ถาม : เวลาปฏิบัติสมาธิมีอาการดังนี้

๑. ตัวหมุนติ้วหลายรอบ

๒. บางครั้งเหมือนมีอีกร่าง เหมือนกับตัวเองถอดร่างได้เป็น ๒ คน จะรู้สึกกลัว ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อดี

ตอบ : เวลานั่งสมาธิตัวมันหมุนนะ อาการเวลานั่งสมาธิ นี่บางคนเอียง บางคนน้อม บางคนไปข้างหน้า เวลาไปข้างหน้า เห็นไหม พอไปข้างหน้าถ้าเรามีสติเราก็ดึงกลับๆ กลัวจะไม่เป็นสมาธิไง ดึงไว้ เอนไว้ มันก็เอียง เอียงก็ดึงกลับ ทีนี้พอจิตสงบแล้วมันหมุนติ้วๆๆ อาการนะ ถ้าเราสรุปลงโดยหลัก เรานั่งสมาธิเพื่อความสงบของใจ เราไม่ได้นั่งสมาธิเพื่อมาอวดว่าใครจะนั่งสวยกว่ากัน นั่งสวย นั่งไม่สวยไม่สำคัญ สำคัญว่าจิตเป็นสมาธิหรือจิตไม่เป็นสมาธิ ฉะนั้น ถ้าเรารั้งได้เราก็รั้ง เรารั้งได้หมายถึงว่าเราดูแลใจของเรา เราไม่ได้ดูร่างกาย

ร่างกาย เห็นไหม ถ้าการเคลื่อนไหว การเดินจงกรมมันเคลื่อนไหวแต่สงบ เคลื่อนไหวสงบ การนั่งสมาธิ ถ้าจิตสงบแล้วก็คือเป็นสมาธิ แต่การเดินจงกรม ถ้าจิตมันสงบนะ สมาธิในการเดินจงกรมมั่นคง แข็งแรงกว่าการนั่งสมาธิ เพราะการเดินจงกรมแล้วจิตสงบ เพราะมันเคลื่อนไหวแล้วมันสงบ แล้วมันสงบยากการเดินจงกรม แต่ถ้ามันสงบอันนั้นดีมาก จะมีกำลังมากกว่า แต่ถ้ามันสงบเข้ามา เพราะเรามีเป้าหมายคือความสงบ

ฉะนั้น เวลาพอนั่งแล้วมีอาการตัวหมุน อาการตัวหมุน ถ้าเรากำหนดพุทโธชัดๆ หรือเรารู้ตัวชัดๆ อาการหมุนจะไม่มี อาการหมุนก็เกิดจากเราไปรับรู้ เราไปรับรู้ มันเป็นอาการของใจ แต่เพราะมันมีอาการหมุน โดยอาการที่มันหมุน หมุนเพราะอะไร? หมุนเพราะเราตกใจ หมุนเพราะแบบว่าเราไปเจอภาพประทับใจ ภาพนั้นฝังใจ พอมันหมุนปั๊บมันเกิดข้อมูลในหัวใจ แผ่นเสียงตกร่อง

พอนั่งสมาธิปั๊บ พอเริ่มนั่งหมุนแล้ว นั่งแล้วหมุนแล้วเพราะอะไร? เพราะไม่ได้นั่งมันก็จะหมุนแล้ว เพราะจิตมันสร้างภาพ จิตมันไปยึด พอจิตไปยึด ไม่ต้องนั่งหรอก มันก็จะหมุนก่อนนั่งอีกเพราะจิตมันเป็น พอจิตมันเป็นมันพูดอะไร? พูดนี้พูดเพราะรู้ไง แต่คนที่เขาเป็นเขาไม่รู้ มันจะไปยึดอย่างไรก็มันหมุนเอง ก็มันเป็นเอง พอนั่งทีไรก็ติ้วๆๆ เลย เหมือนกับเด็กมันเป็น ผู้ใหญ่เขารู้แล้วว่าทำอย่างนี้มันผิดอย่างไรๆ แต่เด็กก็ว่า ก็ผิดจริงๆ ก็ทำจริงๆ ทำจริงๆ นี่แก้จิต

ฉะนั้น ถ้ามันหมุนติ้วๆ นะ หมุนติ้วๆ เราสักแต่ว่า มันหมุนให้มันหมุนไป แล้วเรากำหนดพุทโธ หรือกำหนดสิ่งใดก็กำหนดสิ่งนั้นไว้ นี่ถ้าเราเอาธาตุรู้ ธาตุรู้ทั้งหมดมาอยู่ที่พุทโธ มาอยู่ที่เราบริกรรม ธาตุรู้ทั้งหมดมันมาอยู่ที่นี่ อาการที่หมุนจะเกิดขึ้นได้อย่างไรถ้าไม่มีจิตไปรับรู้มัน สิ่งที่มันจะหมุนได้เพราะเราไปรับรู้มัน ในปัจจุบันนี้นะ ในประเทศไทยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายทั้งเหตุการณ์ในประเทศไทย เรารู้ด้วยไหม? เรานั่งอยู่นี่ เรารู้กันเฉพาะเสียงในศาลานี้เท่านั้นแหละ มันก็เกิดของมันอยู่

เหมือนกัน ถ้าเรารักษาจิตของเรา อาการหมุนก็เหมือนกับประเทศไทยทั้งประเทศไทย เขาก็เกิดอยู่ ตอนนี้ประเทศไทยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นร้อยแปดพันเก้าในประเทศไทย แล้วเกี่ยวอะไรกับเราล่ะ? เกี่ยวอะไรด้วย? ถ้ามันจะหมุนๆๆ อาการกับใจ อาการหมุนไม่ใช่ใจ ถ้ารักษาใจแล้ว อ้าว เอ็งหมุนไปสิ มันก็ไม่หมุนไง ถ้าไม่สนใจมันก็ไม่หมุน ก็มันหลอกไม่ได้ไง ถ้ามันหลอกได้มันก็หมุนติ้วๆๆ ไง แต่ถ้าเรารู้ทันปั๊บมันก็ไม่หมุน

นี่แก้อย่างนี้ อาการที่หมุนรอบตัวไง ตัวหมุนติ้วๆ อาการอย่างนี้นะ ถ้าแก้อาการหมุนรอบจบนะมันก็เกิดอาการใหม่ เกิดอาการใหม่เพราะอะไร? พันธุกรรมของจิต ถ้าจิตมันได้สร้างเวรสร้างกรรมมา พันธุกรรมเป็นแบบนี้ มันเกิดอย่างนี้เราแก้ทัน นี่เป็นกรณีเคสหนึ่ง แล้วพอต่อไปนะจิตมันก็ไปสร้างอีกเคสหนึ่ง มันจะเป็นไปอย่างนี้ ปฏิบัติจะติดไปเรื่อยๆ ติดไปเรื่อยๆ เราก็ค่อยๆ แก้ไป ค่อยๆ แก้ไป

บอกว่าพอแก้รอบแล้วนะมันไม่มีอะไรหรอก มันมีอยู่เรื่องเดียวเท่านั้นแหละ มึงโง่ นี่มันมีอยู่เรื่องเดียวเท่านั้นแหละ คือจิตโง่ไง เพราะพอมัน อ๋อ กูโง่เอง กูไม่ไปยุ่ง จบ ไม่อย่างนั้นแก้ไปเถอะ มันเป็นอย่างนี้เพราะมันมีรากเหง้าของมัน แต่ถ้าแก้ไปๆ ทุกเรื่องนะ ของอย่างนี้บอกเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องแก้ด้วยตัวเอง บอกอย่างใดก็ไม่รู้ ถ้าเราไปรู้เอง เออ ไม่ใช่เรื่องอะไรเลย เรื่องกูโง่เอง ไม่ใช่เรื่องอะไรเลย พอฉลาดแล้วก็จบ

“วิชชา อวิชชา”

อวิชชาคือความไม่รู้ พอมีปัญญาขึ้นมา มีวิชาขึ้นมา อวิชชามันจะอยู่ได้อย่างใด? มีปัญญาขึ้นมาแล้วความโง่มันอยู่ได้อย่างใด? หลวงตาพูดประจำ “ที่ไหนมืดอยู่ เปิดไฟสว่างขึ้นมาความมืดจะหายไปทันที” ที่ไหนมีความมืดอยู่ กดสวิตซ์แปะ สว่างทันที ถ้าที่ไหนมันรู้ทันแปะ ไอ้หมุนๆ หายไปไหน? ไม่มี

ที่พูดนี้ เวลาพูดมันเหมือนกับเราเย้ยกันนะ ไม่ใช่ พูดให้เห็นจริงไง เหมือนกับเราเป็นอยู่ใช่ไหม? เราหมุนอยู่ แล้วมาบอกว่าไม่มี แล้วบอกว่าเราโง่ โอ้โฮ ทำไมมันถากถางกันขนาดนั้น ไม่ใช่ๆ อันนี้ตอบปัญหาธรรม มันเป็นแบบนี้ แต่ถ้าพูดเยิ่นเย้อมันก็จับประเด็นไม่ได้ จับประเด็นไม่ได้เราก็ไปหมุนๆ อยู่ ทุกข์นะ แต่ถ้าเราจับประเด็นได้นะ มันหายคุ้มค่ากว่า คุ้มค่ามาก

หลวงปู่มั่นบอกว่า “การแก้จิตแก้ยากนะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ”

นี่ก็เหมือนกัน การแก้ความหมุนๆ การแก้ความวิตกกังวลแก้ยากนะ ถ้ามีคนแก้ให้เราเราจะสาธุ

ถาม : ๒. บางครั้งเหมือนมีอีกร่างหนึ่ง เหมือนตัวเองถอดร่างเป็น ๒ คน

ตอบ : เห็นไหม มันจะมีไปเรื่อยๆ นี่บอกว่าจริตนิสัย ถ้าจิตมันเป็นนะ ไปกำหนดอะไรก็เป็น ถ้าจิตไม่เป็น กำหนดอะไรก็ไม่เป็น คือมันไม่มี มันเหมือนกับคนเป็นไข้ คนมีโรคประจำตัว ถ้าใครมีโรคประจำตัวต้องแก้ตามโรคนั้น แต่นี้มันโรคกิเลสไง โรคจิต โรคจิต เขาบอกโรคจิตต้องเข้าโรงพยาบาล ไม่ใช่ โรคของจิตมัน มันเป็นนามธรรม ต้องค่อยๆ แก้ไป ถ้ามันปกติมันก็ปกติ

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามีอยู่ ๒ ร่าง ๓ ร่าง มันมีสิ่งใด มีอาการให้เราเคลิบเคลิ้มแล้วเราเชื่อ พอเชื่อแล้วเราก็จะยึดมั่นถือมั่น มันจะเป็นไปเรื่อยๆ นะ เรากลับมาพุทโธ นี่หลวงตาท่านบอกว่า

“การปฏิบัติธรรมะมียากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น กับอีกคราวหนึ่งคือคราวสิ้นกิเลส”

เพราะคราวเริ่มต้นจับพลัดจับผลู หลวงตาท่านบอกว่าท่านบวชครั้งแรก อุปัชฌาย์ท่านกำหนดพุทโธ ท่านก็ไปกำหนดพุทโธกับอุปัชฌาย์ แล้วมาเรียนอยู่ ๗ ปี พุทโธ พุทโธนี่จิตรวมได้ ๓ ครั้ง ๗ ปี แล้วพอศึกษาจบมหามาแล้ว จบมหาคือมีปัญญาแล้ว ไปปฏิบัติที่จักราช ท่านก็ไปดูจิตเฉยๆ ท่านบอกว่าท่านไม่ได้กำหนดพุทโธ ท่านดูจิตเฉยๆ ดูไว้เฉยๆ มันก็เป็นไปได้เพราะคนมีปัญญา แต่ถึงที่สุดแล้วมันเสื่อม มันเสื่อมนะทุกข์อยู่ ๑ ปีกับ ๖ เดือนเพราะไม่มีคำบริกรรม

สุดท้ายแล้วด้วยปัญญาของท่านเอง “ที่เราเสื่อมนี้เพราะมันขาดคำบริกรรม” ท่านถึงกลับมาเอาพุทโธ แต่เพราะว่าไปดูจิตอยู่ ทุกข์อยู่ ๑ ปีกับ ๖ เดือน พอเวลามากำหนดพุทโธครั้งแรก ท่านบอกว่า ๓ วันแรกอกแทบระเบิด อกแทบระเบิดเพราะมันไม่อยากทำ มันเคยสะดวกสบายแล้ว บังคับให้มันทำงาน ๓ วันแรกอกแทบระเบิด แต่พอบังคับมันๆ จนมันอยู่ได้แล้ว จิตมันมีที่อยู่ จิตมันมีที่เกาะ จิตมีที่เกาะมันก็เริ่มเข้ามา นี่แล้วท่านได้ฝัน ฝันว่าต้องรอดกอไผ่ ก็ไปเล่าให้หลวงปู่มั่นฟัง หลวงปู่มั่นบอกว่าความฝันมันบอก บอกว่าเริ่มต้นท่านจะทุกข์นัก ฉะนั้น จะทุกข์ขนาดไหนก็ต้องสู้

เริ่มต้นต้องลอดกอไผ่ไป ที่ท่านเล่าในฝันท่าน ทุกข์นัก แล้วเวลาปฏิบัติแล้วส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ เริ่มต้นตั้งแต่การปฏิบัติยากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น เริ่มต้นจับพลัดจับผลู มั่วไปหมดเลย มีแต่ปัญหา เริ่มต้นเพราะเราไม่เป็น หญ้าปากคอก แต่ถ้าผ่านตรงนี้ไปแล้วนะ เอาล่ะไปได้แล้ว แล้วจะไปยากอยู่อีกทีหนึ่งตอนที่สุดแห่งทุกข์ ไปยากเพราะอะไร? ไปยากเพราะหลวงปู่ฝั้นท่านก็พุทโธผ่องใส พุทโธสว่างไสว ไปยากเพราะหลวงปู่บัว หลวงปู่บัวบอกว่ามันสิ้นแล้ว ไปยากเพราะหลวงปู่คำดี หลวงปู่คำดีท่านบอกว่ารู้อยู่แต่ไปไม่รอด

นี่ติดกันเยอะมาก ถ้าไม่มีคนไปแก้นะไปไม่รอด ถ้ามีคนแก้นะยากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น ที่ว่ามันหมุนติ้วๆๆ แล้วมันก็แยกร่าง แยกทรง นี่หมุนติ้วๆ ยุ่งไปหมดเลย ยากตรงนี้ แล้วยากตรงนี้ไม่ธรรมดานะ ยากตรงนี้แล้วเราก็เพิ่งมาหัดปฏิบัติใหม่กัน เราก็ทุกข์ยากมา เราก็อยากปฏิบัติแล้วมีอะไรที่ชุ่มชื่นหัวใจบ้าง แล้วมาปฏิบัติมันก็ทุกข์ๆๆ มันยากตรงเริ่มต้นนี่แหละ แต่พอมันผ่านตรงนี้ไปได้นะ มันภาวนาเป็นแล้ว มันจะมีช่องมีทางให้เราเดินไป เดินไปมันก็จะได้มรรคได้ผลขึ้นไป มันก็พอมีเครื่องอยู่ พอเป็นไปได้

ฉะนั้น ให้เข้มแข็ง นี่เพราะว่าหลวงตาท่านก็ปฏิบัติมา คนที่ปฏิบัติมาจะผ่านเหตุการณ์อย่างนี้มาทั้งนั้น เพราะคนเกิดมา นี่คนเกิดมาจากกิเลสหมด ฉะนั้น คนที่เกิดมา คนปฏิบัติทุกคนผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาทั้งนั้น ฉะนั้น เวลาเราเจอเหตุการณ์แบบนี้เราต้องสู้ เราต้องสู้ ถ้าเรามีหลักเกณฑ์นะ อ้าว พูดตั้งนานมันมาเข้าหลักอันลึกๆ นี่ไง

ถาม : กราบเรียนหลวงพ่อค่ะ

๑. จิตเป็นนามรูป เป็นอัตตา หรือเป็นอนัตตา

๒. จิตเป็นอัพยากฤตใช่ไหมคะ?

๓. แต่จิตมีอยู่ในสภาวะนิพพาน ไม่เป็นอัตตา ไม่เป็นอนัตตา ไม่เป็นทั้งหมดใช่ไหมคะ?

ตอบ : ไม่ใช่หมดเลย จิตมันก็เป็นจิต จิตจะเป็นอัตตา เป็นอนัตตา เป็นอะไรล่ะ? จิตเป็นอะไร? จิตเป็นนามรูป ไอ้คำว่านามรูปนะ นามรูป หรือเป็นอัตตา เป็นอนัตตา นี่จิตมันก็เป็นจิต จิตของคนนะ จิตเวลาเกิดขึ้นมา เห็นไหม จิตที่หยาบๆ เวลาเกิดนะ อยู่ในพระไตรปิฎก มันมีทาสีเป็นขอทาน เป็นขอทานที่ทุกข์มากนะ ทุกข์มากเป็นขอทาน แล้วบังเอิญท้อง พอเวลาท้องขึ้นมานะ วันไหนไปขอทานไม่ได้กิน อย่างไรก็ไม่ได้กิน ทุกข์น่าดูเลยตั้งแต่ท้องคนนี้

ฉะนั้น เวลาคลอดแล้ว คลอดลูกคนนี้ออกมา ถ้าวันไหนเอาลูกไปขอทาน อย่างไรก็ไม่ได้ อย่างไรก็ไม่ได้กิน แต่ถ้าวันไหนเอาลูกวางไว้ แล้วไปขอทานนะยังได้กินอยู่ ยังได้กินอยู่ แล้วเอาสิ่งนั้นมาเผื่อแผ่ลูกได้ด้วย เราจะบอกว่าจิตนะเวลามันทุกข์ มันยาก เวลาเกิดมา เห็นไหม ขอทานก็ทุกข์อยู่แล้ว เวลาท้องขึ้นมาไปขอทานไม่ได้เลย ไปขอทานอย่างไรก็ไม่ได้เลย เราจะบอกว่าเวลาจิตคนทุกข์ยากเป็นอย่างนั้นแหละ เวลาจิตของคนที่มีบุญกุศล เวลามาเกิดพรั่งพร้อมไปทุกอย่างเลย

นี่บอกว่าจิตนี้เป็นนามรูปไหม? จิตนี้เป็นอัตตาไหม? จิตนี้เป็นอนัตตาไหม? เราจะบอกว่าจิตก็คือจิต ถ้าจิตมีบุญกุศล เวลาเกิดก็สูงส่ง เวลาจิตมีบาปอกุศล ไปเกิดก็ทุกข์ทนเข็ญใจ ยากแค้นแสนเข็ญ นี่แล้วมันเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตาล่ะ? ไอ้ที่ถามเพราะอะไรรู้ไหม? ไอ้ที่ถามนี่เพราะเราเป็นชาวพุทธไง พอเราเป็นชาวพุทธเราก็ศึกษาธรรมะ พอศึกษาธรรมะ ก็เอาธรรมะมาถามเรื่องจิต เอาธรรมะมาถามเรื่องจิต เพราะเราศึกษาแล้วใช่ไหม? เรารู้นี่ถ้ามีกิเลสอยู่เป็นอัตตา ถ้าธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เป็นอนัตตา

อ้าว พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอนัตตานี่ ทีนี้เราก็เอาอัตตาและอนัตตามาถามว่าจิตมันเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตา อ้าว แล้วจิตเป็นอะไรล่ะ? หรือจิตเป็นนามรูป จิตเป็นนามรูปไหม? จิตเป็นอัตตาไหม? จิตเป็นอนัตตาไหม? อ้าว จิตเป็นอะไร? จิตก็เป็นจิต จิตก็เป็นจิต จิตนี้ปฏิสนธิวิญญาณ แต่เวลาที่เราอยู่กันนี่นะ เวลาวิญญาณรับรู้มันไม่ใช่ปฏิสนธิวิญญาณ มันเป็นวิญญาณในขันธ์ ๕ ในขันธ์ ๕ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

อย่างเช่นตาเห็นรูป มีจิตรับรู้ มันจะเป็นจักขุวิญญาณ เสียงกระทบหู ถ้ามีวิญญาณรับรู้จะเป็นโสตวิญญาณ ลิ้นรับรสมันเป็นชิวหาวิญญาณ นี่ถ้ากระทบร่างกาย อายตนะ ๖ นี่วิญญาณอย่างนี้เป็นวิญญาณในขันธ์ ๕ นี่ไงที่เราเคารพพระพุทธเจ้ากัน เรากราบพระพุทธเจ้ากัน เพราะนี่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ นี่ธรรมะของพระพุทธเจ้า ในลัทธิศาสนาอื่นเขาไม่มี มีแต่ศาสนาพุทธ แล้วเราก็เป็นชาวพุทธ พอเราเป็นชาวพุทธเราก็ศึกษาศาสนา ศึกษาศาสนาเราว่าเรารู้ธรรม

เพราะอะไร? เพราะเวลาอัตตา อัตตาก็เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง อนัตตา อนัตตาเป็นธรรมของพระพุทธเจ้าชนิดหนึ่ง อนัตตา เพราะอนัตตาคือไตรลักษณ์ พอไตรลักษณ์ มันเป็นไตรลักษณ์เพราะอะไร? ไตรลักษณ์มันเกิดได้อย่างไร? ถ้าจิตมันเป็นอนัตตา อ้าว มันก็มีธรรมะในใจเลย เกิดมาเป็นพระอรหันต์เลย ก็ไม่ใช่ เกิดมาก็ขี้ทุกข์ เออ แล้วอนัตตาเกิดได้อย่างไร? อนัตตาเราก็ต้องฝึกหัด อนัตตาจะเกิดเองหรือ? ไม่ใช่ อนัตตาเราก็ต้องมีสติ มีปัญญาศึกษาของเรา

แล้วถ้าเป็นอัตตาล่ะ? อัตตาไม่ต้องบอกเลยมันเป็นเอง เพราะว่ามันชอบอะไรก็คืออัตตานั่นแหละ มันชอบ มันรัก มันสงวน นั่นแหละอัตตา อัตตามันมีอยู่แล้ว เออ อะไรที่ว่าของกูๆ นั่นแหละอัตตา แต่ธรรมของพระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ เป็นของชั่วคราวนะ ของนี้มันมีขึ้นเพราะเวร เพราะกรรม แล้วถ้ามันหมดเวรหมดกรรม มันไม่มีนะเอ็งจะทุกข์เอ็งจะยาก แต่ถ้าเอ็งสร้าง เอ็งทำของเอ็ง เอ็งจะรู้ นี่พูดถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า

ฉะนั้น จิตก็เป็นจิต อัตตาคือกิเลสชนิดหนึ่ง อนัตตาคือสัจธรรม คือธรรมะที่เราจะสร้างขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง นามรูป เวลาจิตเราสงบ เห็นไหม นาม รูปก็จับอยู่ ไอ้นี่มันละเอียด แล้วถ้าอธิบายไปมันหลายขั้นตอน

นี้พูดถึงข้อ ๑.

ถาม : จิตเป็นนามรูป หรือเป็นอัตตา หรือเป็นอนัตตา

ตอบ : เพราะเราไปศึกษาธรรมะ เราพูดบ่อย นี่รู้พุทธพจน์ เวลาบอกว่าพุทธพจน์ๆ แล้วเวลาคุยกับเรา หลวงพ่อห้ามเถียงนะอันนี้พุทธพจน์ บอกกูไม่เถียงหรอกพุทธพจน์ กูเถียงมึงแหละ กูเถียงคนพูดพุทธพจน์ กูไม่เถียงพุทธพจน์

พุทธพจน์กูก็เรียนมา กูก็รู้ ฉะนั้น พุทธพจน์กูก็ส่ายหัวไว้ก่อน แต่กูเถียงคนพูด เพราะคนพูดมันไม่รู้พุทธพจน์ คนพูดมันอาศัยอ้างคำพุทธพจน์มาพูด แต่มันไม่รู้พุทธพจน์ มันไม่รู้เนื้อหาข้อเท็จจริงตามพุทธพจน์นั้น แต่มันรู้ชื่อของพุทธพจน์ แล้วเอามากล่าวอ้างกัน ฉะนั้น พุทธพจน์กูจะเทิดใส่ไว้บนศีรษะ แล้วกูจะเถียงกับมึง กูจะเถียงกับมึง

นี่พูดถึงเวลาจะแก้จิตนะ ถ้าไม่แก้จิตก็สาธุ รางเนื้อชอบรางยา ใครชอบสิ่งใด ใครชอบวัฒนธรรมสิ่งใด สาธุ ตามสบาย เอาเลยตามสบาย ใครชอบ ใครรัก ใครพอใจกับสิ่งใด นี่เข้ากันโดยธาตุ ธาตุของเขา ความเห็นของเขา ความชอบของเขา มันเป็นเนื้อเดียวกัน เขาชอบกัน แล้วเราพยายามบอกว่าสิ่งนั้นไม่ดี สิ่งนี้ดีกว่า มันเป็นเรื่องไร้สาระ ใครชอบสิ่งใด ใครอยากปรารถนาสิ่งใด สาธุ ตามสบาย แต่ผลอีกเรื่องหนึ่ง

ผลในการปฏิบัติ ผลที่จะเป็นจริง ผลที่จะเป็นธรรม ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ใจมันจะรู้ ใจมันจะเห็น ใจมันจะสัมผัส ถ้ามันไม่รู้ ถ้ามันไม่เห็น มันก็ลูบๆ คลำๆ พุทธพจน์ๆ ลูบพุทธพจน์แล้วต้องให้มั่นใจด้วยนะ เดี๋ยวกลัวผิดไง พุทธพจน์ พุทธพจน์กอดไว้เลย กลัวผิดจากพุทธพจน์ แต่ถ้าเป็นสมาธิมันก็เป็นสมาธิจากหัวใจ เป็นปัญญา ปัญญานี้ได้ฟาดฟันกับกิเลส กิเลสทับถมหัวใจ ก็รู้ว่ากิเลสทับถมหัวใจ วันไหนฟาดฟันจนกิเลสมันหลุด มันขาดออกไปจากใจ มันจะซาบซึ้งธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“เวลากิเลสมันขาดดั่งแขนขาด”

คนเห็นกิเลสขาดออกไปจากใจ เหมือนตัดแขนทิ้ง เหมือนตัดแขน ตัดขาจากร่างกายเรา มันชัดเจนขนาดนั้น แล้วถ้าใครรู้ ใครเห็นอันนั้นมันจะซาบซึ้ง หลวงตาท่านไปบรรลุธรรมที่วัดดอยธรรมเจดีย์ ท่านลุกขึ้นกราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า ท่านบอกว่าถ้าใครมาเห็นตอนนั้นก็นึกว่าเป็นคนบ้า แต่ความจริงคือคนเห็นไง

ดั่งแขนขาด กิเลสมันพลิกฟ้าคว่ำดิน โลกธาตุมันไหวกลางหัวใจ มันซาบซึ้ง มันซาบซึ้ง มันกราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า กับที่เราบอกว่าพุทธพจน์ๆ กอดไว้พุทธพจน์ กลัวผิด นี่มันต่างกันราวฟ้ากับดิน นี่เวลาครูบาอาจารย์ของเรา วงกรรมฐานของเรา นี่ข้อที่ ๑. นะ

ถาม : ข้อที่ ๒. หรือจิตเป็นอัพยากฤตใช่ไหมคะ?

ตอบ : ไม่ใช่ ไม่ใช่ ถ้าจิตมันเป็นอัพยากฤตมันก็เป็นแบบชั่วคราว อย่างเช่นสุขกับทุกข์ อุเบกขา เขาบอกว่าอุเบกขานะ บางคนว่าอัพยากฤตนี่เปรียบเทียบเท่ากับอุเบกขา เขาก็บอกอุเบกขาเป็นนิพพาน เราเคยเจออยู่ เขามาถามเราว่า “อุเบกขาเป็นนิพพานไหม?” โอ๋ย เรางงเลยนะ มันคนละคำ อุเบกขาก็คืออุเบกขาใช่ไหม? นิพพานก็คือนิพพานใช่ไหม? มันก็คนละคำกันอยู่แล้ว มันไม่ใช่ แต่เราตีเหมา ตีรวมไง

ฉะนั้น พอจิตมันแบบว่าไม่ไปซ้าย ไม่ไปขวา เราก็คิดว่าจิตนี้มันเป็นอัพยากฤต จิตเป็นอัพยากฤตมันหมายถึงว่ามันเป็นธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว มันเป็นเวทนา ๓ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา มันเป็นเวทนาอันหนึ่ง เวทนาที่ว่าเรามั่นคง เราไม่เอียงไปซ้ายหรือไปขวา แต่อยู่ไม่ได้ ดูศาลสิ ศาลเขามีตาชั่ง เห็นไหม ตาชั่งอย่าเอียงนะ ตาชั่งอย่าเอียง มันบอกตาชั่งอย่าเอียง อัพยากฤตไง แล้วมันจะเอียงไหมล่ะ? เอียง เอียงเพราะเวลาหน้าหนาวมันก็หนาว เวลาหน้าร้อนมันก็ร้อน เวลาชอบ เวลาไม่ชอบไปไหม? ไป

ฉะนั้น เวลาถ้าจิตนะ จิตที่ไม่เป็นอัพยากฤต เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดชัดเจนกว่า หลวงปู่มั่นบอกว่าสรรพสิ่งในโลกนี้มีเหตุมีปัจจัย ไม่มีสิ่งใดเลื่อนลอยมาเอง ต้องมีพ่อมีแม่ มีที่มาที่ไป ฉะนั้น อวิชชามันเกิดบนอะไร? อวิชชาเกิดบนฐีติจิต ฐีติจิต จิตเดิมแท้ คำว่าจิตเดิมแท้กับอัพยากฤตนี้เป็นอันเดียวกันไหม? เออ

เราจะบอก เห็นไหม เวลาผู้รู้จริงพูด กับผู้ที่เราพูดตามตำรานี่แตกต่าง ผู้รู้จริงพูดนะ อวิชชาเกิดจากฐีติจิต เกิดจากจิตเดิมแท้ ไม่มีจิตเดิมแท้มันจะเอาวิชชา เอาความไม่รู้มาจากไหน? ไม่มีสิ่งมีชีวิตมันจะมีความรับรู้ได้อย่างไร? สิ่งที่มันจะรับรู้ได้มันต้องเป็นสิ่งที่มีชีวิต แล้วสิ่งที่มีชีวิตมันคืออะไร? คือชีวะ แล้วชีวะมันคืออะไร? นี่พวกเราปฏิบัติไม่เป็นก็ยังไม่เห็นหรอก

ฉะนั้น

ถาม : จิตเป็นอัพยากฤตหรือไม่?

ตอบ : ไม่ใช่อีกแหละ คือว่าถ้าโยมหรือใครมีความคิดเห็นว่าใช่ ก็แล้วแต่จริตนะ แต่ของเราบอกว่าจิตก็คือจิต อัพยากฤตนี่มันเป็นธรรมบทหนึ่งของพระพุทธเจ้า

ถาม : แต่จิตที่อยู่ในสภาวะนิพพาน ไม่เป็นอัตตา ไม่เป็นอนัตตา ไม่เป็นทั้งหมดใช่ไหมคะ?

ตอบ : นี่เราจะตอบเป็น ๒ ประเด็น

ถาม : แต่จิตที่อยู่ในสภาวะนิพพาน

ตอบ : อันนี้เราขีดเส้นใต้เลย เพราะเราพูดบ่อย พูดบ่อยเพราะเราไม่ใช่อวดรู้นะ แต่เราจำขี้ปากหลวงปู่มั่นมา เพราะเขาไปถามหลวงปู่มั่นเรื่องนิพพานนี่แหละ เขาบอกว่านิพพานคือว่าภวาสวะ มันเป็นอะไร? หลวงปู่มั่นบอกนั่นแหละภวาสวะยิ่งตัวร้ายใหญ่ ภวาสวะคือตัวภพ ฉะนั้น พอตัวภพ ตัวภพคือตัวจิต ฉะนั้น ถ้าทำลายภพ กิเลสสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ นี่อาสวะ ๓ ถ้าทำลายภวาสวะคือทำลายภพ ทำลายจิตถึงจะเข้าสู่นิพพาน

ทีนี้พอเข้าสู่นิพพานแล้ว เพราะจิตมันเข้าไปสู่นิพพานไม่ได้ ถ้าจิตเข้าไปสู่นิพพาน จิตนี้ก็จะไปขวางนิพพานอยู่ ถ้าจิตไปขวางนิพพานอยู่ ฉะนั้น จิตที่อยู่ในสภาวะนิพพานไม่มี ไม่มี นิพพานไม่มีสภาวะใดๆ เลย นิพพานไม่มีสภาวะใดๆ เลย แต่มีที่หลวงตาท่านบอกว่าเป็นธรรมธาตุ เป็นธาตุธรรม ไม่ใช่จิต จิตเป็นภพ ฉะนั้น จิตที่อยู่ในสภาวะนิพพานไม่มี ในสภาวะนิพพานไม่มีจิต ไม่มีภวาสวะ ไม่มีอวิชชา ไม่มีกิเลสสวะ ไม่มีสิ่งใดเลย ฉะนั้น นิพพานก็คือนิพพาน

ฉะนั้น บอกว่า

ถาม : แต่จิตที่อยู่ในสภาวะนิพพานไม่ใช่อัตตา

ตอบ : แน่นอนไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่อนัตตา ไม่ใช่

ถาม : ไม่เป็นทั้งหมดใช่ไหมคะ?

ตอบ : ไม่เป็น ไม่เป็นทั้งหมด ไม่เป็น ถ้าพูด เพราะในมหายานนะ ในมหายาน เวลาลูกศิษย์ท่านสิ้นกิเลสแล้ว เขาบอกว่าให้พูดถึงนิพพาน ลูกศิษย์เขาจะยืนขึ้นทันทีเลยนะ แล้วก็เม้มฝีปากแน่นๆ แล้วก็นั่งลง นี่ในมหายาน เขาบอกให้อธิบายนิพพานมา เขาลุกขึ้นพรึ่บเลย แล้วก็เม้มฝีปาก นั่งลง จบ ไอ้ของเรานิพพานนะ โอ้โฮ มันเป็นความว่าง โอ๋ย มันเป็น โอ๋ย นิพพานไอ้พวกขี้โม้ นิพพานขี้โม้มันพูดได้ ๕ วัน ๕ คืน แต่คนที่นิพพานจริงๆ นะเขาลุกขึ้นยืน เม้มฝีปาก แล้วนั่งลง

นี่คนรู้กับคนรู้เขารู้กัน เพราะอะไร? เพราะอาจารย์เป็นคนให้พูด อาจารย์ ถ้าอาจารย์ในมหายานสมัยเว่ยหล่าง สมัยที่ของจริงๆ นั่นเขาของจริงนะ ถ้ามึงพูดผิดนะอาจารย์เอาตายไง ฉะนั้น เขายืนขึ้น เม้มฝีปาก แล้วนั่งลง ทำไมอาจารย์เขาเชื่อล่ะ? ทำไมอาจารย์เขาเชื่อ? เพราะอาจารย์เขามีวุฒิภาวะความจริง ลูกศิษย์ก็มีวุฒิภาวะความจริง มันถึงกันไง มันถึงกัน มันเป็นธรรมอันเดียวกัน ฉะนั้น เขาเม้มปากแล้วนั่งลง อันนั้นเป็นความจริง

ฉะนั้น สิ่งนี้เราจะบอกว่า เวลาบอกว่านิพพานไม่มีจิต นิพพานไม่มีจิต แต่ทำไมเมื่อก่อนนั้นหลวงตาท่านเทศน์ สมัยที่ท่านยังเทศน์บนศาลาอยู่ เห็นไหม ท่านบอก “จิตบริสุทธิ์ จิตมันพ้นจากทุกข์ไป” นี่ทำไมเราฟังตอนนั้นทำไมเราเชื่อล่ะ? เราเชื่อ เราเชื่อเพราะอะไร? เราเชื่อเพราะว่าผู้ใหญ่คุยกับเด็ก หลวงตาท่านจะบอกให้พวกเรา ไอ้โง่ๆ ไอ้พวกโง่ บ้า เซ่อ ไอ้พวกตาบอดให้มันฟังแล้วมันรู้ได้ ท่านถึงบอกว่าจิตมันบริสุทธิ์ เราก็รู้อยู่ว่าจิตมันทุกข์ๆ พอจิตมันบริสุทธิ์ อ๋อ จิตบริสุทธิ์อย่างนั้น เวลาท่านพูดกับสังคมที่ยังสื่อกันไม่ได้ ท่านก็สื่อเพื่อให้พวกเรามีร่องมีรอยเดินขึ้นไป

นี่เวลาเมื่อก่อนนะท่านบอกว่าจิตบริสุทธิ์เป็นอย่างนั้น ภาวนาไปแล้วจิตมันจะพ้นทุกข์ จิตเป็นหนึ่ง นี่ท่านบอกว่านิพพานเป็นอนิจจังก็ได้ คือเป็นที่มีอยู่ เหมือนกับเป็นอัตตา ท่านเคยพูด แต่ตอนพูดสมัยนั้น คือว่าสังคมยังจับต้นชนปลายไม่ถูก คือเรายังก้าวเดินกันไม่เป็น เราขยับตัวกันไม่ได้เลย ท่านถึงบอกแนวทาง บอกร่องรอยเราไว้ใช่ไหม? แล้วพอพวกเรารู้แนวทาง รู้ร่องรอยแล้วนะท่านก็ตบอีกทีหนึ่ง นิพพานเป็นธรรมธาตุ จบเลย ไอ้จิตบริสุทธิ์หายไปแล้ว เพราะเราโตขึ้นมา วุฒิภาวะเราโตขึ้นมา เห็นไหม จิตบริสุทธิ์ไม่มี

ช่วงท้ายๆ ชีวิตหลวงตาท่านไม่พูดถึงจิตบริสุทธิ์อีกเลย ท่านพูดแต่ธรรมธาตุ ธาตุของธรรม มันเป็นธรรมไปทั้งหมด เป็นธรรมไปแล้ว ไม่มีอะไรตกค้าง นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดสิ่งใด ถ้าเราตามทันนะเราจะตามทันว่าท่านพูดด้วยเหตุใด? ประสงค์สิ่งใด? ประโยชน์กับโลก ประโยชน์เพื่อสื่อความจริงกัน ทีนี้พอเรานี่ เราเป็นนักวิชาการใช่ไหม? เราศึกษาแล้วเราก็จะเอาคำพูดของท่านมาชนกัน อ้าว ทำไมมันไม่ตรงกันล่ะ? ทำไมไม่ตรงกัน?

เราต้องดู ดูที่มาที่ไป เวลาอ่านพระไตรปิฎกนะ เวลาพระไตรปิฎก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพวกฆราวาส เห็นไหม พูดถึงอนุปุพพิกถา พูดถึงระดับของทาน ต้องพูดจนจิตใจของเขามั่นคงแล้วท่านถึงเทศน์อริยสัจ ฉะนั้น บอกว่าพระพุทธเจ้าพูด พระพุทธเจ้าพูด ใช่ พระพุทธเจ้าพูด แต่พูดกับชาวประมง พูดกับพวกพ่อค้า ไม่ได้พูดกับพระสารีบุตร ไม่ได้พูดกับผู้ปฏิบัติจะเข้าสู่นิพพาน เวลาจะพูดกับผู้ปฏิบัติที่จะเข้าสู่นิพพาน ท่านจะพูดถึงอริยสัจเลย แต่ถ้าเวลาไปพูดกับพวกชาวประมง นี่พูดกับเขาให้เขาได้สร้างบุญของเขา นี่พุทธพจน์เป็นแบบนั้น เราต้องดูที่มาที่ไป แล้วเราจะเข้าใจว่าคำพูดมันเป็นอย่างใด?

ฉะนั้น สิ่งที่เราพูด เหมือนกับเราปฏิเสธหมดเลย แต่เราปฏิเสธแล้ว เราก็อธิบายอย่างที่เราอธิบายนี่แหละ ว่า

ถาม : แต่จิตไม่อยู่ในสภาวะนิพพาน

ตอบ : นี่ยังดีนะ ไม่บอกจิตนิพพานมีอยู่แล้วกับจิต มันอีกเรื่องหนึ่งเลยนะ นี้เขาว่า

ถาม : แต่จิตไม่อยู่ในสภาวะนิพพาน ไม่เป็นอัตตา ไม่เป็นอนัตตา ไม่เป็นทั้งหมดใช่ไหมคะ?

ตอบ : ใช่ แล้วไม่เป็นทั้งอยู่ในนิพพานนั้นด้วย นิพพานคือนิพพาน นิพพานคือวิมุตติ พอวิมุตติแล้วก็เย็บปาก วิมุตติมันพ้นจากสมมุติทุกๆ อย่าง สมมุติคือการอ้าปาก สมมุติคือภาษา เอ็งได้ขยับ นั่นคือสมมุติแล้ว ถ้ามันพ้นจากวิมุตติไปนะ เย็บปากซะ แล้วนั่งลง จบ เอวัง