ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

หนึ่งในร้อย

๑๕ เม.ย. ๒๕๕๕

 

หนึ่งในร้อย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๘๕๒. นะ

ถาม : ๘๕๒. เรื่อง “กราบขอบพระคุณอย่างสูง”

กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพยิ่ง กราบขอบพระคุณอย่างสูงที่เมตตาช่วยชี้แนะแนวทางในการก้าวเดินต่อไป โยมจะน้อมนำไปพิจารณาและพากเพียรทำต่อไปเจ้าค่ะ กราบขอบพระคุณในความเมตตาเจ้าค่ะ

ตอบ : ข้อ ๘๕๒. เรื่อง “กราบขอบพระคุณอย่างสูง” คำว่ากราบขอบพระคุณอย่างสูง นี่เขาถามปัญหามาเยอะ พอถามปัญหามาเยอะนี่โดยธาตุ เพราะเราสังเกตผู้เขียนเขาเขียนมา เขาฟังธรรมแล้วเขาเขียนมาว่าเขาเห็นด้วย ส่วนใหญ่แล้วเขาเห็นด้วย เขาเห็นด้วยว่าการพูดโดยหลัก โดยเกณฑ์เขาเห็นด้วย ทีนี้การเห็นด้วย เขาก็มีความตั้งใจอยากจะประพฤติปฏิบัติ

ก่อนหน้านั้นมันสับสน มันสับสนเพราะว่ามีการชี้นำ มีแนวทางประพฤติปฏิบัติหลายๆ แนวทาง เขาก็สับสนอยู่ แล้วสับสนนะ คนเรานี่มันแปลก มันแปลกหมายถึงว่าคนเรามีวาสนา คือมีจุดยืน พอมีจุดยืน เราฟังสิ่งใดมันรู้ว่าถูก รู้ว่าผิด แต่มันไม่มีอะไรมาเป็นพยาน มาแยกแยะว่าอะไรผิด อะไรถูก ทั้งๆ ที่เราก็ว่ามันไม่น่าใช่

สังเกตได้เวลาคนมาถามปัญหา เวลาเราเคลียร์ปัญหาเขานะเขาจะบอก อืม ใช่หลวงพ่อ ผมก็สงสัย แต่มันไม่มีใครฟันธง เขาสงสัยอยู่นะ สงสัยแนวทางที่เขาทำมา เขาสงสัยทุกอย่างที่เขาทำมา สงสัยอยู่ แต่มันได้สัมผัสมันก็ อืม ไอ้ว่าจะไม่ใช่หรือ เราก็ได้จับ ได้คลำอยู่ ไอ้ว่าจะใช่หรือมันก็ไม่ใช่ แต่มันก็ยังทำมาอย่างนั้นแหละ พอมาหาเรา เราบอกว่าผิด ใช่ ผมก็ว่ามันผิด แต่มันไม่มีใครบอก พอบอกปั๊บมันจะปล่อยเลย แต่ถ้าไม่มีใครบอกนะ มันยังละล้าละลังๆ ไปอยู่อย่างนี้แหละ หลายคนมากเป็นแบบนี้

ฉะนั้น ผู้ถาม เวลาเขาฟังเทศน์เราแล้วเขาจะมีแนวคิดอย่างนี้ เขามีความเห็นว่าสิ่งที่ว่าเราพูดนี่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าเราเป็นพวกเดียวกัน หรือเราจะยกหางว่าใครว่าถูกแล้วมันคือถูก ฉะนั้น เพียงแต่ว่าถ้าเราจะจับว่าคนนะ ถ้ามันมีแนวทาง นี่เขาเรียกวิสัยทัศน์ ถ้ามีแนวทางอย่างนี้ปั๊บเขาจับทางได้ ถ้าเขาจับทางได้ ปฏิบัติได้หรือไม่ได้นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามีแนวทางนะ เราเห็นว่าแนวทางนี้ถูกต้อง แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติของเราไป

ถ้าประพฤติปฏิบัติของเราไป ฉะนั้น เวลาเขามีความลังเลสงสัย หรือเขามีความขุ่นมัว เขาเข้ามาในเว็บไซต์ พอเข้ามาในเว็บไซต์เขาจะเอาสิ่งนี้เป็นที่พึ่ง แล้วว่าใช่ของเขา ใช่ของเขา ฉะนั้น เขาถึงว่า

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพยิ่ง กราบขอบพระคุณอย่างสูงที่เมตตาชี้แนะแนวทางในการก้าวเดินต่อไป โยมจะน้อมนำไปพิจารณาและพากเพียรทำต่อไปเจ้าค่ะ

ตอบ : เห็นไหม ถึงจะไม่ได้เราก็พยายามพากเพียร เราก็จะทำของเรา ฉะนั้น การกระทำของเรา ในการประพฤติปฏิบัติ เริ่มต้นเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าคนที่ไม่เคยศรัทธาเลยแล้วมาเริ่มศรัทธา เริ่มมาประพฤติปฏิบัติ เราก็เริ่มแบบว่าเราเพิ่งเริ่มต้นจะทำสวนทำนา พอจะเริ่มต้นทำสวนทำนา เรายังไม่มีสิ่งที่เราเคยทำมา เราก็จะทำด้วยความมั่นใจว่าเราทำสวนคราวนี้ เราทำนาคราวนี้เราจะได้ผลตอบแทนมหาศาล เราจะร่ำเราจะรวย

คนที่เวลาทำใหม่ๆ จะคิดอย่างนั้นนะ แต่ถ้าคนที่เคยประพฤติปฏิบัติมา คนที่ล้มลุกคลุกคลานมานะ มันก็เหมือนกับคนที่ทำนาทำสวน นี่ชาวนาเขาบอกว่ายิ่งทำนายิ่งเป็นหนี้ ยิ่งทำนายิ่งเป็นหนี้ มีแต่หนี้เวลาทำนา เพราะอะไร? เพราะมันต้องใช้จ่ายมาก ฉะนั้น พอเขาใช้จ่ายมาก เราจะบอกว่าจิต เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติแล้วมันจะเคยล้มลุกคลุกคลานมา พอล้มลุกคลุกคลานมา มันมีสิ่งใดที่ฝังใจมา

การฝังใจมา เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่มันไม่เหมือนกับคนที่ปฏิบัติใหม่ คนที่ปฏิบัติใหม่เหมือนกับคนที่เริ่มทำสวนทำนาใหม่ คนเริ่มทำสวนทำนามันหวังผล คาดผล หวังผลว่าจะได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่เวลาทำจริงนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทีนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น การกระทำเราจะเริ่มต้นตั้งแต่ตรงนี้ ตรงที่ว่าก่อนที่เราจะประพฤติปฏิบัติมันต้องมีพื้นฐาน มันต้องมีที่มาที่ไป ทีนี้คนที่ไม่มีที่มาที่ไป พวกเรานี่ใจเร็วด่วนได้ พอใจเร็วด่วนได้ เห็นไหม เขาบอกว่าปฏิบัติง่าย ลัดสั้น

พาหิยะฟังธรรมพระพุทธเจ้าทีเดียวเป็นพระอรหันต์ องค์นั้นฟังธรรมพระพุทธเจ้าทีเดียวเป็นพระอรหันต์ เราก็หมายปอง ก็เหมือนกับคนทำนาใหม่ไง นี่เราเริ่มต้นทำนา ทำนาคราวนี้รัฐบาลประกันราคาแล้ว เราจะได้เท่านั้น เราจะได้เท่านั้น เราจะมีเงินเหลือเท่านั้น นี่จินตนาการไป พอไปถึงแล้วบอกว่าไม่ได้ เพราะว่าเกี่ยวข้าวมาแล้ว รีบจะเอามาจำนำ เอามาประกัน มันมีความชื้น มันไม่มีใบประทวน จำนำไม่ได้ ข้าวทำไมล่ะ? ข้าวก็เอาไปเก็บไว้ให้มันงอกไง ถ้าจะเอาไว้ให้งอก อย่างไรมันก็ต้องไปแล้ว อย่างไรก็ต้องทำ

นี่ก็เหมือนกัน มันลัด มันสั้น มันปฏิบัติง่าย แล้วมันจริงหรือเปล่าล่ะ? มันจริงหรือเปล่า? มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไหม? ถ้ามันไม่เป็นจริงๆ เราถึงจะต้อง ถ้าเรามีศรัทธา มีความเชื่อของเรา เราปูพื้นฐานของเรา เรานับ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ เรานับ ๑ ของเราไป ถ้านับ ๑ นะ นับถึงที่สุดแล้วมันจะถึง ๑๐๐ ของมัน ๑ ไม่ใช่ ๑๐๐ นะ แต่ถ้าไม่มี ๑ นั้น ๑๐๐ นั้นไม่มี ๑ นั้นไม่ใช่ ๑๐๐ หรอก แต่ถ้าเรามี ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ เดี๋ยวเราจะได้ ๑๐๐ แต่ไม่ใช่ ๑๐๐ หรอก ๑ นั้นไม่ใช่ ๑๐๐ ๑๐๐ ก็ไม่ใช่ ๑ ถ้ารวมกันเป็น ๑๐๐ แล้วมันไม่ใช่ ๑ หรอก มันรวมกันจนเป็น ๑๐๐

ฉะนั้น ถ้าใน ๑๐๐ นั้นไม่มี ๑ ถ้าไม่มี ๑ ไม่ได้นับ ๑ ไอ้ ๑๐๐ นั้นมีแต่ตัวเลข ไม่มีความจริง ไม่มีหรอก ฉะนั้น ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติ นี่เขาถึงบอกว่าเราชอบเขาที่เขาแบบว่าเหมือนกับธาตุเดียวกัน ธาตุเดียวกัน คือชอบความจริง ความจริงเป็นความจริง ถ้าทำได้ก็คือได้ ถ้าทำไม่ได้เราเชื่อมั่นของเรา เราก็ไปพยายามของเรา เราอย่าท้อแท้ เราอย่าถอดใจ เราอย่าทิ้ง

เราพูดบ่อยนะ บอกว่าเราทิ้งโอกาสเราไป เราทิ้งชีวิตเรานะ เราบอกนี่เป็นชีวิต เราเกิดมา ถ้าใครมีครอบครัว มีต่างๆ เราก็มีชีวิตแล้ว ชีวิตอย่างนี้มันเป็นสมมุติ มันเป็นเรื่องของโลกๆ ทุกคนก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้นแหละ แล้วคุณงามความดี ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาองค์เดียว นี่แล้วกลับไปเอาสามเณรราหุลนะ นางพิมพา พระเจ้าสุทโธทนะ นี่เอาได้หมดเลย

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำของเรา ถ้าเราทำได้ ถ้าเราทำไม่ได้เราก็พยายามของเรา เราอย่าทิ้ง อย่าทิ้งหมายความว่า เห็นไหม ที่ว่านี่เวลาพาหิยะฟังพระพุทธเจ้าทีเดียวเป็นพระอรหันต์ เราก็จะเอาลัด เอาสั้น เอาง่าย เอาลัด เอาสั้น เอาง่ายมันเป็นความเพ้อฝันไหม? ถ้ามันเป็นความเพ้อฝันนะ คนเพ้อเจ้อ ละเมอ ทั้งๆ ที่อ้างอิงธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้วก็เพ้อเจ้อกันไป แต่เวลาคนที่ไม่ได้เพ้อเจ้อ อย่างเรานี่ลูกศิษย์กรรมฐาน เราเห็นหน้าทั้งนั้นแหละ เราปฏิบัติกันมา ๒๐ ปีก็มี ๓๐ ปีก็มี ก็ยังล้มลุกคลุกคลานกันอยู่ อย่างนี้เพ้อเจ้อไหม? อย่างนี้ไม่ได้เพ้อเจ้อ แต่เราก็พยายามทำของเรา

หลวงตาท่านพูดประจำ บอกว่า “คนเราเกิดมามี ๒ ตา”

ตาหนึ่งคือตาโลก ตาหนึ่งคือเราเกิดมาเราต้องมีอาชีพ เราต้องมีสัมมาอาชีวะ เราต้องเลี้ยงชีพของเรา เราอยู่กับสังคมโลก เรามีชีวิตในโลก อีกตาหนึ่ง เห็นไหม อีกตาหนึ่ง ถ้าเรามีโอกาสของเรา เราก็มาประพฤติปฏิบัติของเรา เพื่อให้หัวใจของเรามันมีที่พึ่ง ให้หัวใจเรามีหลักมีเกณฑ์ คำว่ามีหลักมีเกณฑ์นะ คนที่มีหลักมีเกณฑ์ ถ้าเป็นลูกศิษย์นะ ลูกศิษย์หลวงตาแล้วเชื่อหลวงตาจริงๆ นะ จะไม่เป็นเหยื่อคนอื่น เวลาคนอื่น เวลาใครบอกหลวงตาว่าอย่างนั้น หลวงตาว่าอย่างนั้น หา! ท่านพูดอย่างนี้นะ “หา! เราว่าอย่างนั้นหรือ?” หลวงตาว่าอย่างนั้น หลวงตาว่าอย่างนั้น

ฉะนั้น หลวงตาท่านเป็นหลักเป็นชัย ทุกคนก็ว่าหลวงตาว่าอย่างนั้น เพราะ เพราะเราไม่มีเครดิตพอ ที่ว่าเราจะบอกเราพูดอย่างนั้น เราถึงบอกว่าหลวงตาว่าอย่างนั้น ถ้าหลวงตาว่าอย่างนั้น ทีนี้ก็เหมือนกับธรรมของพระพุทธเจ้า ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นความจริง แต่เราคิดของเราอย่างนั้นไง ถ้าคิดของเราอย่างนั้นนะ เราเป็นจริงหรือเปล่าล่ะ? ถ้ามันไม่เป็นความจริงนะ มันไม่เป็นจริงเราก็จะไม่ได้ความจริงของเรา ถ้าเราได้ความจริง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า นี่เราพอใจที่ว่า “โยมจะนำไปพิจารณา และพากเพียรปฏิบัติต่อไป”

เราพากเพียร เราปฏิบัติของเรา เราเป็นชาวนา ถ้าเราได้ทดน้ำเข้านา เราได้หว่านกล้า เราได้ปักดำ เราดูแลต้นข้าวของเรา เราหวังเก็บเกี่ยวข้าวของเรา เราหวังเก็บเกี่ยวมรรค ผลในหัวใจของเรา ๑ ๒ ๓ ๔ ค่อยๆ ทำของเราไป อย่าใจร้อน คำว่าใจร้อน นี่มักง่ายจะได้ยาก คนที่ไม่มักง่าย คนที่มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ คนๆ นั้นจะเอาตัวรอด จะมีมาก มีน้อยเก็บหอมรอมริบ ประหยัดมัธยัสถ์ รู้จักรักษาใจของตัว เขาจะไปนิพพาน เขาจะไปสุขาวดี เขาจะไปถึงสุดมันเรื่องของเขา เราปฏิบัติของเรา เราฟังของเรา เราฟังหมายความว่าปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก หัวใจของเรา

นี่เวลาเราปฏิบัติ เห็นไหม ถ้าคนเชื่อนะ คนตื่น คนตื่นเราปฏิบัติของเรานะ เก็บหอมรอมริบ ดูข้าว ดูนา ดูกล้า ดูต้นข้าว นี่เราดูของเรา เวลาเขาบอกว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนี้ดี มันเหมือนกับทางโลก คราวนี้ผลไม้ชนิดนี้มีราคาดี ปลูกกันเต็มเลย ราคาตก เขาบอกว่าชนิดนั้นดี มันโค่นทิ้งหมดเลย มันไปปลูกชนิดใหม่ พอราคามันจะดี พอปลูกมากโค่นทิ้งใหม่

นี่ก็เหมือนกัน เราจะดูแลนาของเรา เขาว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนี้ดี เราทิ้งไปเลยนะ แต่ทิ้งไปเลย เราไปปฏิบัตินะ ปฏิบัติไปแล้วถ้าคนมีสติ แชร์ลูกโซ่ เวลาธรรมลูกโซ่นี่นะเขาจะบอกสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม แล้วกระตุ้นกันต่อเนื่อง ต่อเนื่องไป เป็นสังคมนะ นี่ไงธรรมะเป็นอย่างนี้ไง แล้วมันอยู่ในสังคม เออ จริงๆ เนาะ นี่มันว่างๆ มันสบายๆ เนาะ โอ๋ย มันดี๊ดีเนาะ มันก็แชร์ลูกโซ่ต่อๆ ไป ถึงที่สุดใครจะดี? มันจะดีไปถึงไหน? เพราะมันไม่มีความจริงรองรับ ไม่มีผลประโยชน์เข้ามา แชร์ลูกโซ่นั้นถึงที่สุดคือล้มคว่ำ

ในการปฏิบัติที่ว่าเรียบง่าย ลองทำดูสิ นี่ไม่ใช่ว่าปิด กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น แล้วไม่ให้เชื่อจะทดสอบเขาได้ไหม? ทดสอบ แต่การทดสอบของเรา เราต้องมีสติปัญญาของเราว่ามันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ทีนี้เราไปทดสอบ เราไม่ใช่ไปทดสอบนี่ เราไปเป็นเหยื่อ คือเราไปส่งเสริมเลยไง ทุ่มไปทั้งตัว ไม่ใช่กาลามสูตรไง ไม่ให้เชื่อ ไม่ได้กลั่นกรองไง เวลาไปก็ไปหมดเลย ไปจนถอนรากถอนโคนไปหมดเลย ที่นาที่ไร่ยกให้เขาไปเลย แล้วก็ไปเกลี้ยงเลย อย่างนี้ไปทดสอบหรือ?

ไปทดสอบเราก็ทดสอบด้วยสติสิ จริงหรือไม่จริง พิสูจน์ได้ตลอดจริงหรือไม่จริง? แล้วกระแสมันไป นี่พูดถึงถ้า ๑ ๒ ๓ มัน ๑ ใน ๑๐๐ แต่ถ้าไม่มี ๑ ไม่มีหรอก ธรรมะไม่มี ถ้าไม่มีสมาธินะ อย่างที่พูดเมื่อวาน ถ้าเขาบอกว่าเห็นกายๆ ถ้าขาดสมาธิ สติปัฏฐาน ๔ ปลอม ถ้าไม่มีสมาธินะ ไม่มีสมาธิอะไรรู้? สามัญสำนึก โลก โลกียปัญญารู้ รู้นี่เห็นกาย เห็นต่างๆ มันเป็นจินตนาการ มันเป็นสัญญา เห็นได้

จิตเวลามันว่างๆ จิตมันมีหลักแล้วมันจินตนาการได้เลย จะเห็นเหมือนกัน แต่เห็นอย่างนี้นะเห็นชั่วคราว เห็นแล้วบางทีก็ดี แต่เห็นแล้วมันไม่มีสิ่งใดเป็นประโยชน์หรอก แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิจนจิตมันสงบระงับ จิตนี้เป็นหนึ่ง พอจิตเป็นหนึ่งจิตออกรู้ จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นจิต จิตเห็นธรรม อย่างนี้ถึงเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง

สติปัฏฐาน ๔ จริงคืออะไร? สติปัฏฐาน ๔ จริงคือมีจิต มีผู้เห็น มีผู้กระทำ มันมีคนทุกข์ คนยาก มีคนที่จะถอดจะถอน แต่สติปัฏฐาน ๔ ปลอมคืออะไร? สติปัฏฐาน ๔ ปลอมคือไม่มีใครเป็นเจ้าของไง อย่างเช่นความรู้สึกนึกคิดเรา มันเกิดมาจากไหน? เกิดมาจากใจเราใช่ไหม? แล้วมันดับดับที่ไหน? ก็ดับที่ใจใช่ไหม? นี่ความเกิดดับ เกิดดับที่ไหน? ก็เกิดดับที่ใจนี้ใช่ไหม? แล้วเกิดดับที่ใจนี้มันก็เป็นสมมุติใช่ไหม? แล้วก็เวียนตายเวียนเกิดอย่างนี้ใช่ไหม? แล้วจิตได้อะไรล่ะ? จิตได้อะไร?

จิตไม่รู้ จิตบอกว่าไม่รู้เรื่อง แต่บอกว่า อู้ฮู มันเป็นอย่างนั้นนะ นี่สติปัฏฐาน ๔ ปลอม แต่ถ้าสติปัฏฐาน ๔ จริงนะ พอจิตสงบมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมโดยความเป็นจริง พอเห็นโดยความเป็นจริง มันเห็นกายมันสะเทือนหัวใจแล้ว แล้วพอมันพิจารณาไปมันเป็นไตรลักษณ์ มันจะแปรสภาพ พอแปรสภาพมันจะถอนออกเลย ถอนอะไรรู้ไหม? ถอนไอ้โง่ไง ถอนไอ้ที่ไม่รู้ สิ่งที่เป็นอยู่เพราะไม่รู้ เพราะไม่รู้ไม่เห็นถึงหลง เพราะไม่รู้ไม่เห็นถึงติด

ทีนี้พอมันพิจารณาของมัน มันเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง แล้วมันถอดมันถอนเข้ามา มันรู้จริงแล้ว คนรู้จริงจะติดไหม? คนรู้จริงจะหลงไหม? คนรู้จริงมันก็ไม่หลง แล้วคนรู้จริงมันก็ไม่ติด แต่มันต้องรู้จริงของมันถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริงไง เดี๋ยวนี้มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ของโลกียะ สติปัฏฐาน ๔ ของจิตสามัญสำนึก รู้กาย เห็นกาย แล้วบอกก็เห็นนะ ก็จิตมันทำความสงบแล้วมันเห็น

ใช่ ทำความสงบของเด็กน้อย ทำความสงบของความหลง มันไม่ใช่ทำความสงบของผู้ตื่น ผู้เบิกบานหรอก ถ้าทำความสงบของผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตเวลาเป็นสมาธิมันรู้ของมัน มันรู้อย่างไร? เราจับของอยู่ แล้วเราวางของลงเรารู้ไหม? จิตมันเสวยอารมณ์อยู่ มันรับรู้ความคิดอยู่ มันวางความคิด รู้ไหม? ใครไม่รู้บอกมา ถ้าใครไม่รู้แสดงว่ามันก็ไม่เคยเป็นสมาธิไง

ถ้าคนเคยเป็นสมาธิมันรู้ ของที่เราถืออยู่เราก็รู้ เราปล่อยเราก็รู้ แล้วมันถือของมันอยู่ บอกหลวงพ่อนี่อะไร? หลวงพ่อนี่เป็นสมาธิ ไอ้ว่างๆ นี่สมาธิ ก็มึงถือว่างๆ อยู่ไง มึงวางอารมณ์หมดแล้วมึงก็มาหยิบไว้ว่างๆ แล้วก็เอาว่างๆ นี่ว่างๆ ไง มันไม่จริง ถ้ามันจริงนะมันพูดไม่ได้ มันวางหมดแล้ว มันว่างในตัวมันเอง แล้วมันจะพูดอะไรอีกล่ะ? ไอ้ที่ว่างๆ มันก็มาถือของว่างไง มันถือของอยู่ แล้วมันวางมันก็บอกว่างๆ

อันนี้เวลาพูดถึงว่าถ้าเขาจะไปปฏิบัติต่อไป คำว่าปฏิบัติต่อไป เราให้กำลังใจว่าเราอย่าข้าม ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ แล้วมันจะครบ ๑๐๐ เหมือนเรานับเงิน นับเงินของเรา เราต้องมีจำนวนของเรา หน่วยของเรา เราจะนับของเราไป นี่มันไม่มีเราข้ามไปเลย ข้ามไปเลยมันก็เป็น เห็นไหม เวลาในมุตโตทัยหลวงปู่มั่น ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๐ ท่านบอกศูนย์นี้มีค่ามาก ศูนย์ไปต่อใน ๑ ก็เป็น ๑๐ ศูนย์ไปต่อใน ๙ ก็ ๙๐ แต่ศูนย์มันไม่มีค่า ตัวศูนย์เองไม่มีประโยชน์ แต่ตัวศูนย์มันไปใส่ใน ๑ มันก็เป็น ๑๐ มันไปใส่ใน ๕ มันก็เป็น ๕๐ มันไปใส่ใน ๙ มันก็เป็น ๙๐ ถ้ามันใส่ ๒ ตัวมันก็เป็น ๙๐๐ นี่ศูนย์ เห็นไหม ทีนี้เราว่า ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙

นี่ตั้งใจปฏิบัติ เราตั้งใจเอาความจริงกัน เอาความจริงคือใจเรานี่รู้ ใจทุกข์มันก็รู้ว่าทุกข์ ถ้าใจมันดีมันจะรู้ว่าดีนะ

ต่อไปข้อ ๘๕๓. อันนั้นข้อ ๘๕๒. เนาะ

ถาม : ๘๕๓. เรื่อง “กราบองค์หลวงพ่อในความเมตตาครับ”

กราบหลวงพ่อที่ได้เมตตาให้กระผม กระผมได้ฟังธรรมของหลวงพ่อแล้ว กระผมได้รับความเมตตา กระผมปลื้มใจมาก

ตอบ : เขาเขียนมาเขาจะบอกว่า กระผมได้รับวัคซีนจากหลวงพ่อแล้ว เขาว่านะ เขาบอกว่าเขาได้รับวัคซีนป้องกันแล้ว เออ จริงเนาะ ถ้าเขาได้จริงๆ

ถาม : กระผมได้รับวัคซีนจากหลวงพ่อแล้ว กระผมจะขวนขวายตามกำลังและโอกาสเวลา เพื่อหาโอสถสมุนไพรจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อมาต้มกินเพื่อรักษาโรคครับ

ตอบ : ถ้าเขาได้ประโยชน์เราเห็นดีเห็นงามด้วย เห็นดีเห็นงามนะ เริ่มต้น ๑ ไม่ใช่ ๑๐๐ แต่ ๑๐๐ ก็ไม่ใช่ ๑ ถ้าคำว่า ๑๐๐ ไม่ใช่ ๑ นี่นะ เห็นไหม ถ้าเขาได้วัคซีนแล้ว เขาป้องกันของเขาแล้ว ถ้าวัคซีนแล้ว

นี่คนเรานะ คนเราทำมาหากิน บอกว่าคนนั้นไม่รวย คนนี้ไม่รวย ถ้ารู้จักมัธยัสถ์ รู้จักเก็บ รู้จักรักษา คนนั้นจะมีพออยู่พอกิน แล้วจะมีเหลือเก็บ ส่วนใหญ่แล้วการใช้จ่ายของเรามันใช้จ่ายฟุ่มเฟือย นี่คนมีมากก็ใช้จ่ายด้วยความฟุ่มเฟือย คนมีเงินน้อยก็ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพราะจริงๆ แล้วปัจจัย ๔ ปัจจัยเครื่องอาศัย เราอยู่เรากินด้วยประหยัดมัธยัสถ์ของเรา เราจะเหลือเก็บของเรา เราจะมีออมของเรา ถ้าเรามีออมของเราชีวิตเราก็มั่นคง

ในการประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าเราปฏิบัติ ถ้าจิตเราสงบแล้ว ถ้าจิตเรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา ถ้ามีหลักมีเกณฑ์นี่มีวัคซีนป้องกัน ถ้ามีวัคซีนป้องกัน นี่ป้องกันอะไร? คนเรานี่นะถ้าบอกว่ามีวัคซีนป้องกันแล้วมันจะเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บโดยที่ว่ามันประมาทของมันไง ถ้าเราไม่ประมาทของเรานะ เรามีวัคซีนป้องกันแล้ว วัคซีนก็คือวัคซีน แต่ชีวิตเราก็ต้องไม่ประมาทด้วย ถ้าในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าเราจะปฏิบัติของเรานะเราปฏิบัติตามความเป็นจริง

เรามาปฏิบัติ เห็นไหม เพราะเขาบอกว่าเขาจะหาธรรมโอสถ มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อรักษาโรคของเขา เพื่อรักษาใจของเขา ถ้าเขารักษาของเขาได้ ถ้ารักษาได้นะ เพราะคนเราเวลาปกติเราก็ไม่ค่อยเห็นว่าร่างกาย สุขภาพของเรามีประโยชน์กับเรามาก แต่เมื่อใดเจ็บไข้ได้ป่วยนะ เราจะเห็นเลยว่าคนที่มีสุขภาพแข็งแรงมันเป็นบุญมาก คนเรานะถ้ายังไม่เห็นว่าของๆ เรา ร่างกายของเรายังแข็งแรง ยังทำสิ่งใดได้ ไม่ต้องอะไรเลย แม้แต่แค่ชราภาพเท่านั้นแหละ เวลาโรคชรามานะ เดินก็ไม่ได้ นั่งก็ไม่ได้ ทำอะไรก็โอดโอยไปหมดเลย

นี่เวลาพระบวช เห็นไหม เวลาพระบวช ๒๐ ปีบวชได้ ถ้าบวชได้ นี่อายุ ๒๐ ๓๐ มันกำลังเข้มแข็งเลย นี่ถ้าต่อสู้กิเลสได้เต็มที่เลย แต่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ก็มี เวลาคนอายุมากแล้วมาบวช พอบวชถ้ามันเข้มแข็งขึ้นมาเราก็ยังปฏิบัติได้ แต่ถ้ามันอ่อนแอขึ้นมาล่ะ? เวลามันอ่อนแอขึ้นมานะ ลุกก็โอย นั่งก็โอย สิ่งนี้ถ้าเรายังไม่เจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ยังไม่รู้ว่าสุขภาพสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรงมันดีอย่างไร? แต่เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเราจะเห็นเลย

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเรา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าจิตใจเรามีกำลังของเราขึ้นมา ฉะนั้น ถ้ามันมีกำลังของมัน มันทำของเรา เราอย่าประมาท ถ้ามันไม่ประมาทนะมันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา ฉะนั้น สิ่งที่ว่านี่หนึ่ง ถ้าหนึ่งไม่ประมาทในทางเริ่มต้น กับไม่ประมาทว่าเราได้ผลแล้วไง นี่สิ่งใดเวลาปฏิบัติไปนะ คนเราเวลาปฏิบัติ ถ้าคนมีวาสนานะมันจับมันได้ คนมีวาสนานะ เวลาจิตสงบมันจะเห็นกายเลย แต่ถ้าบางคนโดยทั่วไป จิตสงบแล้วก็สงบเฉยๆ มันไม่เห็นของมัน ถ้ามันไม่เห็นของมันต้องรำพึง รำพึงไป

รำพึงคือนึก รำพึงคือจุดประเด็นก็ได้ ดึงจิตนี้ออกให้เห็นกายให้ได้ แต่ถ้าคนเรานี่นะ ถ้ามันมีวาสนานะมันจะเห็นกายของมัน ถ้าเห็นกายของมัน แล้วมันพิจารณากายของมัน พอพิจารณากายแล้วมันปล่อย พอมันปล่อย การปล่อยนะ พอปล่อยแล้ว เพราะว่าการปล่อยด้วยปัญญามันจะละเอียดลึกซึ้งกว่า ความสงบระงับ ความสุขมันจะมีมากกว่าสมาธิ สมาธินี่ เวลาพุทโธ พุทโธโดยปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตมันเป็นสมาธิ อืม สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี

มันมีความสุข ถ้ามันไม่มีความสุข พระเราไม่ติดว่าสมาธิเป็นนิพพาน มันติดได้เวลาเป็นสมาธิ แต่สมาธิมันอยู่ของมันไม่ได้ สมาธินี่นะ สมาธิ เห็นไหม เราเร่งอุณหภูมิของเราขึ้นมา นี่ถ้าเรามีเชื้อเพลิง อุณหภูมิมันจะต่ำลงไหม? ธรรมดา จิตก็เหมือนกัน ถ้าเรามีเหตุรักษาเป็นสมาธิ มันเป็นสมาธิขึ้นมา นี่ถ้าเราไม่รักษามัน มันเสื่อมไหม? เสื่อม อ้าว ถ้าเราติดเตาของเรานะ เรามีฟืนใช่ไหมไฟมันก็โชติช่วง ถ้าฟืนมันมอดล่ะ? ก็จบไง

จิตก็เหมือนกัน ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ สมาธิเกิดจากการมีสติ มีคำบริกรรม สมาธินี่เกิดจากคำบริกรรม เกิดจากสติปัญญารักษามัน มันถึงเป็นสมาธิ สมาธิเกิดจากจิต แต่สมาธิไม่ใช่จิต ปัญญาเกิดจากจิตก็ไม่ใช่จิต อะไรไม่ใช่จิตหมดเลย แต่มันเกิดจากจิต จิตเพราะอะไร? จิตมันเป็นภวาสวะ เป็นภพ แล้วถ้ามีสติปัญญามันจะออกรื้อค้น ออกใช้ปัญญาของมัน แต่ถ้ามันไม่มีสตินะมันไม่ออกเวลาเป็นสมาธินะ เป็นสมาธิ อืม ว่างหมดเลยนะ เดี๋ยวก็เสื่อม อยู่ไม่ได้หรอก

ฉะนั้น ถึงบอกธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ อันนี้พระอัสสชิบอกพระสารีบุตร เห็นไหม

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไปแก้ที่เหตุนั้น”

ทีนี้เราแก้ที่เหตุนั้นใช่ไหม? เรามีพุทโธ เรามีสติปัญญา เราก็ตั้งเหตุให้เป็นสมาธิใช่ไหม? ถ้าเรามีสมาธิเราใช้ปัญญาของเราเข้าไป มันก็เป็นปัญญาที่เป็นมรรคใช่ไหม? ออกไปทำลายกิเลส ถ้ามันออกไปทำลายกิเลสนะ ถ้ามันปล่อยวาง พอมันปล่อยวางมันเป็นตทังคปหาน พอตทังคปหานมันมีความสุขของมันนะ แล้วถ้าไม่บำรุงรักษา ด้วยความสะเพร่า ด้วยตัวเองไม่มีครูบาอาจารย์ แล้วตัวเองก็ไม่เข้าใจด้วย คิดว่าพอพิจารณาไปแล้วมันปล่อยแล้วก็คือจบ พอจบแล้วเดี๋ยวมันก็เสื่อม พอจบแล้วมันตทังคปหานไง มันปล่อยวางชั่วคราว

พอปล่อยวางชั่วคราว กิเลสนะพอใครเข้าไปทำร้ายมัน ใครเข้าไปฆ่ามันนะ ถ้ากำลังมันน้อยกว่ามันจะหลบเลย ถ้าสมาธิ ปัญญามันแก่กล้า พอทำอะไรไป โอ๋ย ประสบความสำเร็จหมดเลย กิเลสมันหลบ กิเลสมันหลบซ่อนอยู่ใต้พรม กิเลสมันหลบเข้าเหลือบนะ อู๋ย เก่งมาก ภาวนาคราวนี้เก่งมาก พอมันใช้ปัญญาไปสักพักหนึ่ง ใช้สมาธิไปสักพักหนึ่ง สมาธิ ปัญญามันเริ่มใช้มันเริ่มอ่อนลง กำลังเริ่มอ่อนลงเพราะเราไม่ได้เพิ่มเติม

กิเลสมันเห็นว่าสมาธิเริ่มอ่อนลงนะ มันแสดงตัวออกมานะ มันลุกขึ้นมานะ มันกระทืบตายเลย มันเสื่อมหมด มันกระทืบตายเลย พอมันกระทืบตายนะ พอพิจารณาไป พิจารณา อู๋ย มันปล่อยวางหมดเลย พอกิเลสมันลุกขึ้นมามันกระทืบนะ โอ๋ย มันทุกข์ มันร้อน มันเศร้า มันคอตก มันไปไหนไม่รอด นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านคอยเตือน คอยย้ำก็เพราะเหตุนี้ คนที่ปฏิบัติมานะ มันไม่เคยมีไม่มีหรอก ที่ว่าเจริญแล้วเสื่อม ไม่เคยเจอสภาพเสื่อม

ถ้าเจอสภาพเสื่อม มันน่าเห็นใจนะ เวลาภาวนาดี โอ้โฮ มีแต่ความสุข มีแต่ความรื่นเริง แหม คุยกันนี่ดีมากเลย แต่เวลามันเสื่อมนะ อีกคนมันนั่งคอตก มันนั่งคอตก รำพันแต่ความทุกข์ รำพันแต่ความที่เป็นไปไม่ได้ แล้วทำอย่างไรล่ะ? ทำอย่างไรมันต้องกลับไปเริ่มต้น ในเมื่ออาหารของเราไม่มี เราจะทำครัว เราจะประกอบอาหาร ข้าวสารก็ไม่มี วัตถุดิบที่จะทำอาหารก็ไม่มี เราไม่มีสิ่งใดเลย แล้วเราก็มานั่งกอดคอกันรำพันรำพึงกัน แล้วมันจะได้อะไร? ถ้าเราจะเริ่มทำอาหาร เริ่มประกอบสัมมาอาชีวะ เอาอาหารมากินกันอยู่ เราก็ต้องหาข้าวสารมาเพื่อจะหุงหา เราก็ต้องหาผักหญ้ามาเพื่อจะทำกับข้าวไว้ต้มแกงกินกัน

ฉะนั้น พอมันเสื่อมแล้วเราหาอาหาร หาอาหารคืออะไร? หาอาหารก็ใช้ปัญญา ใช้สติขึ้นมาฟื้นฟู ฟื้นฟูมาให้มีสติ ให้มีปัญญา ถ้ามีสติ มีปัญญามันก็หาอาหารของมันมา ถ้ามีอาหาร มีวัตถุดิบขึ้นมานะ คนมันเคยทำได้นะ เราเคยกิน เราเคยอยู่ แต่เพราะความประมาทพลาดพลั้งของเราเอง เราถึงทำอาหารของเรา ทุกอย่างที่เราเก็บไว้สูญหายไปหมดเลย

ฉะนั้น ถ้าเราเคยกิน เคยอยู่ เรามีสติ มีคนคอยบอกเราว่าสิ่งนี้มันเสื่อมไปแล้ว เรากลับมาหาอาหาร หาข้าวสาร หาทุกอย่างมาเพื่อประกอบเป็นอาหาร พอเราเห็นขึ้นมาเราดีใจ เพราะมันหิวอยู่แล้ว มันประกอบเลย มันหุง มันหา อู๋ย มันจะกิน ถ้ามันกินเข้าไปมันก็กลับมา นี่ถ้าจิตมันสงบแล้วออกพิจารณา มันก็กลับมาอีก ฉะนั้น เวลาจิตใครเสื่อม จิตใครท้อถอย จิตใครอะไรนะ มันไปไหนไม่รอดหรอก

โธ่ เวลาเรื่องอย่างนี้นะทุกคนมันเป็นมาหมด เวลาหลวงตาท่านรำพันขึ้นมา เวลาจิตท่านเสื่อม เห็นไหม จิตนี้แน่นเป็นหินเลย เวลากำหนดขึ้นมามั่นคงเหมือนภูเขาเลย เวลามันเสื่อมนี่มันเสื่อมหมดเลย เวลากำหนดพุทโธ พุทโธ เหมือนกับเข็นครกขึ้นภูเขา พอเข็นขึ้นไปนะ พอเผลอมันก็กลิ้งทับแบนแต๊ดแต๋เลย อู๋ย ทุกข์ ทุกข์มากๆ ทุกข์จนแสนสาหัส

นี่เวลาท่านรำพันถึงความทุกข์ของท่าน เวลาคนเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม แล้วอย่างนั้นพอสุดท้ายก็มาหาเหตุผลว่าทำไมมันเป็นแบบนั้น? อ๋อ เพราะประมาทเลินเล่อ กำหนดดูจิตไว้เฉยๆ ไม่มีคำบริกรรม ฉะนั้น ใครจะไปเหนือ ไปใต้ นี่ไงที่บอกว่าหนึ่งในร้อย เขาจะไปซ้าย ไปขวา เขาจะไปดาวอังคารเรื่องของเขาเถอะ กลับมาพุทโธดีกว่า กลับมาพุทโธ ๓ วันแรกอกแทบระเบิด พุทโธไป พุทโธมา พุทโธ พุทโธ พุทโธด้วยความมั่นใจเพราะมันเสื่อม ความเสื่อม ความทุกข์อันนั้นมันทรมานมาก

กำหนดพุทโธ พุทโธจนพุทโธไม่ได้เลย พุทโธจนมันว่างหมดเลย พุทโธไม่ได้แล้วทำอย่างไร? พุทโธไม่ได้เลยทำอย่างไร? อ๋อ ถ้าพุทโธไม่ได้ก็อยู่กับผู้รู้เฉยๆ ก็ได้ อยู่กับสมาธิ พอมันคลายตัวออกมาพุทโธได้เอาพุทโธใส่เข้าไปเลย นี่ท่านฟื้นมา เห็นไหม คนเจริญแล้วเสื่อม มันเป็นไปไม่ได้หรอกว่าสมาธิทำแล้วมันไม่มีเสื่อม ปัญญาไม่มีเสื่อม ไม่มีหรอก เจริญแล้วเสื่อมทั้งนั้น แต่มันไม่เสื่อมเพราะเราทำอยู่ทุกวัน ข้าวนี่มันมีกินอยู่ทุกวันเพราะอะไร? เพราะทำนาปีหนึ่ง ๓ หน ข้าวที่เมืองไทยอยู่ในยุ้ง ในฉาง ทำนาปีหนึ่ง ๓ หน ๔ หน เขาจะทำนากันทั้งปีแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน สมาธิมันจะเกิด สมาธิมันมาจากไหน? ซื้อมาหรือ? เทวดาให้มาหรือ? ใครให้มา? มาจากสติเว้ย มาจากสติ มาจากคำบริกรรม ไม่มีใครให้มาหรอก ไม่มี ปัญญาหรือ? ปัญญาก็ฝึกสิ ปัญญาก็ขุดคุ้ยขึ้นมาสิ ฝึกหัดมันมา ศีล สมาธิ ปัญญา นี่ตำรา ตำราก็แค่ชื่อ ขวดยาก็บอกว่ายานี้แก้โรคชนิดนั้น แต่เนื้อยาไม่มี มีแต่กระดาษบอกไว้ มีแต่ตำรายาบอกไว้ ให้ไปหาธรรมโอสถกันเอาเอง เราก็จะไปหากันอยู่นี่ไง ถ้าเราหาของเราได้นะ เราหาของเราได้เราจะทำของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรามันเป็นได้

ฉะนั้น เราจะบอกว่าหนึ่งในร้อยนะ ๑ ก็ไม่ใช่ ๑๐๐ ๑๐๐ ก็ไม่ใช่ ๑ แต่เวลาผู้ที่ปฏิบัติไปจะรู้ได้ จะรู้ได้ ปฏิบัติไปถ้าถึงที่สุดนะ ถึงที่สุด นี่อริยสัจมีหนึ่งเดียว ถ้าหนึ่งเดียว พูดมันจะเหมือนกัน ความว่าเหมือนกันมันจะเข้ากันได้ ถ้าเข้ากันได้มันก็จะเป็นประโยชน์กับเราไง อันนี้พูดถึงคำถามในเว็บไซต์นะ

ฉะนั้น คำถาม นี่คำถามว่าเวลาเราเดินจงกรม เวลาเรานั่งสมาธิ ภาวนา มันมีอาการที่รับรู้ต่างๆ การรับรู้ต่างๆ มันออกรับรู้โดยที่ว่ามันไม่รับผิดชอบอะไรแล้ว ถ้ามันออกรับรู้โดยไม่รับผิดชอบอะไรนี่วางให้หมด ไม่ใช่มันออกไปรับรู้โดยความไม่รับผิดชอบ เราก็ต้องไปเคลียร์ปัญหาให้เขาหมด ไม่ใช่ ถ้าเราจะไปเคลียร์ปัญหาทั้งหมดเราจะไม่มีวันจบหรอก เราไม่ต้องไปเคลียร์ปัญหาทั้งหมดเลย เพราะจิตนี้มันมหัศจรรย์ มันรู้ไปหมด จิตนี้ไปได้สามแดนโลกธาตุ

เวลาจิตมันสงบแล้วนะ จิตมันเป็นสมาธินะมันไปเข้าฌานสมาบัติ มันจะไปเทวดา อินทร์ พรหม มันจะลงนรกอเวจี มันเห็นหมดแหละ มันรู้ไปหมดแหละ แล้วพอรู้ไปหมด ไปดูนรกอเวจีสิ คนตกนรกขนาดไหน? คนอยู่บนสวรรค์ เทวดามากขนาดไหน? เราต้องไปถามทีละคนไหมว่า เทวดาคุณทำอะไรมาถึงเป็นเทวดา? ไปนรก เฮ้ย นรกมึงทำอะไรถึงไปนรก? ไม่ต้องไปถามเขา ฉะนั้น ไม่ต้องไปถามเขา ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา เรารักษาใจเรา

อันนี้ก็เหมือนกันที่ออกรู้นี่ เดี๋ยวมันจะเป็นความสุขความทุกข์ขนาดไหน มันเป็นอาการของใจ ถ้าจะให้เขียนนะ พรุ่งนี้เขียนได้อีก ๕ ใบ เพราะมันเป็นอาการทั้งหมดไง เป็นอาการหมายถึงว่าในสำรับอาหาร เวลาเรากินอาหารมีรสชาติอะไรล่ะ? รสชาติมันมีทั้งนั้นแหละ แล้วรสชาติมันมาจากไหนล่ะ? รสชาติมันมาจากลิ้นไง ชิวหาวิญญาณนี่ไง ลิ้นมันกระทบมันก็รู้รส ถ้าลิ้นกระทบรู้รส นี่ถ้าวิญญาณาหารก็รักษาลิ้นเรา ดูแลลิ้นเรา ถ้าดูแลลิ้นเรามันก็เข้ามา

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเรารักษาใจนะ เราดูแลใจของเรา รักษาใจของเรา นี่เพราะเราไม่ตอบปัญหานี้ก่อน เราจะเอาปัญหานี้ขึ้นต้นก่อน ปัญหานี้ขึ้นต้นก่อน เพราะหนึ่งในร้อยมันต้องทำแบบนี้ มันก็จะเข้ามาโดยถูกต้องชอบธรรม ศีล สมาธิ ปัญญาโดยความถูกต้องชอบธรรม แต่พอมันเกิดปัญหา พอมันเกิดปัญหาขึ้นมานี่เพราะสติของเรา สติเราขาดตกบกพร่อง

สติ สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามันขาดตกบกพร่องนะ พระเรานี่เวลาอยู่ป่าอยู่เขา ถ้าเวลาเข้าป่าเข้าเขาไป ธุดงค์ไปศีลต้องบริสุทธิ์ ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์นะ เพราะในป่าในเขามันมีพวกเทพ พวกจิตวิญญาณที่อาศัยอยู่เยอะมาก ถ้าเราสมบูรณ์ เราถูกต้อง สิ่งนี้จะคุ้มครองเราเลย ศีล สมาธิ ปัญญา ฉะนั้น เวลาจิตมันมีปัญหา นี่มันจะเป็นปลายเหตุไง คือแก้ที่ปลายเหตุ ถ้าแก้ที่ปลายเหตุไม่มีวันจบ

ฉะนั้น เวลาการรักษาโรค เขารักษาโรคที่ต้นเหตุ เหตุนี้มันคืออะไร? นี่เรากินอะไรเข้าไป เราทำสิ่งใดเข้าไปร่างกายถึงเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องงดเว้นสิ่งนั้นก่อน งดเว้นสิ่งนั้นก่อน พองดเว้นสิ่งนั้นปั๊บ ร่างกายสมบูรณ์ขึ้นมา เราเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เราก็รักษาตามอาการนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าไปรู้ ไปเห็นต่างๆ เห็นไหม เราให้วาง ให้วาง เราไม่ต้องการรู้เห็นสิ่งนั้น เราต้องการสติ เราต้องการคำบริกรรม เราต้องการให้จิตนี้มันตั้งมั่น ถ้าจิตตั้งมั่นก็จบ ถ้าจิตตั้งมั่นมันไม่ออกรู้ไง ที่มันออกรู้มันไปแล้วก็ตะครุบเงาไง ก็ได้แต่เงาไม่ได้ตัว ตัวมันคือพลังงาน ตัวคือตัวจิต ทีนี้ตัวจิต นี่ความรู้ จิตมันรู้ด้วยอะไร? รู้ด้วยอายตนะที่ออกไป เพราะจิตมันรับรู้อายตนะมันถึงออกไป ถ้าเรารักษาที่อายตนะ รักษาที่จิต อายตนะก็ดับหมด

นี้บอกว่าพอมันรู้ออกไป รู้ออกไปเราก็ว่าที่รู้นั่นคืออะไร? แล้วรู้ ในรู้มันมีอะไร? ในรู้มันเกิดอะไร? ไปเลยแหละ แต่ถ้าเราทวนกระแสกลับมา พระพุทธเจ้าสอนให้ทวนกระแสกลับมา ทวนกระแสกลับมาที่ต้นน้ำ ต้นน้ำคือตัวภวาสวะ คือตัวภพ คือตัวใจ ถ้ากลับมาที่ตัวใจ กลับมาที่ต้นน้ำ แล้วรักษาต้นน้ำ ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ แม่น้ำทั้งสายเราควบคุมได้หมดเลย ถ้าเราไม่มาดูแลที่ต้นน้ำ แล้วไปดูที่ปลายน้ำ ต้นน้ำมันจะไหลมาอย่างไรก็ไม่รู้ ปากน้ำนั่น โอ้โฮ ทั้งเรือสินค้า ทั้งเรือประมง ทั้งเรือขนส่ง มันชนกัน คว่ำกันอยู่เต็มปากน้ำเลย

เราไม่ต้องไปยุ่งกับมัน นั่นมันปากน้ำ เราดูต้นน้ำคือดูหัวใจ กลับมาที่นี่ แล้วเรื่องที่มันไปรู้เห็นนะ ไอ้เรือชนกัน กัปตันมันเดินเรือไม่เป็น มันคุมเรือมันชนกันอยู่ที่ปากน้ำ เราจะฝึกหัดเป็นกัปตันที่ดี เราจะดูแลเรือของเรา ทวนกระแสกลับไปที่ต้นน้ำ ต้องแก้อย่างนี้ ถ้าเราไปที่ปากน้ำ ปลายน้ำไม่ไหวหรอก มันเป็นผลของวัฏฏะ มันไม่เป็นความจริง ความจริงคือภวาสวะ คือภพ ปฏิสนธิวิญญาณนี้เวียนตาย เวียนเกิดถึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม

ขณะนี้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพ เคารพในธรรมพระพุทธศาสนา แล้วกำลังศึกษาค้นคว้า ธรรมของพระพุทธเจ้าสอนเข้ามาที่ใจ แล้วเราจะมาแก้หัวใจของเรา เราจะไปตื่นแก้อะไรกับสิ่งที่ใจมันออกไปรู้ ออกไปรู้เอาแต่ความทุกข์ ความยาก ความทุกข์เข้ามา ปัจจุบันนี้จะเอาความจริง แก้ไขกันที่นี่ เราจะเป็นชาวพุทธ เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอวัง