ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

แบบฝึกหัด

๑๖ เม.ย. ๒๕๕๕

 

แบบฝึกหัด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๘๕๔. เรื่อง “เรียนรายงานการปฏิบัติ”

กราบครูบาอาจารย์ ลูกศิษย์ตั้งสติพยายามทำความสงบ ขณะนั่งสมาธิมีความสงบ มีความรู้สึกปนเป แยกไม่ออก นิ่มนวล สุขสงบ ว้าเหว่ กลัว ทรงตัวอยู่ได้ชัดเจน พยายามขุดคุ้ยแยกแยะ ยังไม่ก้าวหน้า แต่ต้องทำตลอดเพราะเป็นอาหารของใจ ถ้าไม่ทำเหมือนขาดอาหารแน่นอน กิเลสมาก ทำไม่จริงไม่จังดังหลวงพ่อเตือน

ขณะชีวิตประจำวันไม่ได้นั่งสมาธิ แต่จิตมีความรู้สึกอยู่กลางอก หรือรู้สึกหายใจแทบตลอดเวลามีความสงบ แต่บ่อยครั้งเพราะสติไม่ทัน กิเลสส่งออกมาทางขันธ์ จนทำให้จิตความรู้สึกสะเทือน ทุกข์ทำลายความสงบ ต้องจับมาพิจารณาแยกว่ามาอย่างไรมันจึงสงบลง บางที บางวัน บางครั้ง เป็นนาที และต้องกลับมาทำความสงบก่อนจึงจะดำเนินชีวิตต่อไปได้

ตอนนี้ถูกกระทบจนรู้สึกเป็นโรคหัวใจเลย ต้องตั้งสติมันจึงพอได้ ขณะนี้เหมือนกลืนไม่เข้า คายไม่ออก คาราคาซัง เดินต่อก็ไม่ได้ อยู่เฉยๆ ก็ตายจากการส่งออกของจิตกระทบภายนอก สะเทือนมาก (นี่ปัญหาของเขา) ที่ถามมามันมีแต่ความติดขัด ที่เขียนมาไม่ได้มากราบด้วยตนเอง เขียนมาให้รู้สึกว่าใกล้ชิดอาจารย์

ตอบ : เพราะเขามาเหมือนกัน มาบ่อย ฉะนั้น เวลาเขาปฏิบัติ เขาบอกว่าเขาพิจารณาแล้วมันปล่อย มันแยก มันมีความเข้าใจ พอมีความเข้าใจแล้วนี่ โดยความเข้าใจของเรา เห็นไหม เพราะถ้าปฏิบัติมาแล้ว พอเราทำครบสูตรแล้วมันก็ต้องได้ผล นี่ทำครบสูตรนะ ทำทุกอย่างเสร็จหมดเลย แล้วทำได้ด้วย

นี่เวลาจิตมันสงบแล้ว พิจารณาแล้วมันปล่อยวาง แต่เดี๋ยวมันก็จับอีก พิจารณาอีก เวลาปล่อยวางนะมันจะมีความสุขมาก มันจะมีความพอใจมาก แต่พอมันปฏิบัติไปๆ กิเลสเวลามันโดนธรรมเข้าไปกำจัด ธรรมนี้เข้าไปเพื่อจะปราบกิเลส กิเลสมันก็หลบตัวลง พอมันสงบตัวลงนะ พอถึงเวลาแล้วมันก็แสดงตัวมันเป็นแบบนี้ เป็นแบบนี้หมายถึงว่ามันเป็นแบบฝึกหัด ถ้าเราทำแบบฝึกหัด เห็นไหม ทำแบบฝึกหัดเราทำจนครบ

ในการปฏิบัติ ที่หลวงตาท่านใช้คำว่าทำพอเป็นพิธี ทำพอเป็นพิธีก็ทำอย่างนี้ คือทำให้มันครบไง ทำทุกอย่างที่ได้ทำแล้ว นี่ศีล สมาธิ ปัญญา เดินจงกรมก็แล้ว ภาวนาก็ภาวนาแล้ว เวลาจิตสงบก็ว่าสงบแล้ว เราว่าสงบแล้ว เวลามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมเราก็ว่าเราเห็นแล้ว มันครบสมบูรณ์ทุกๆ อย่าง นี่แบบฝึกหัด ทีนี้ทำแบบฝึกหัดเสร็จแล้วจะทำอะไรต่อไป?

นี่ปฏิบัติแบบแบบฝึกหัด ถ้าไม่มีแบบฝึกหัดอยู่อย่างนี้เห็นไหม นี่เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเพราะชำระกิเลสจริงๆ พอชำระกิเลสจริงๆ วางธรรมและวินัยนี้ไว้ พอวางธรรมวินัยไว้ มันเป็นทฤษฎีแล้ว มันเป็นธรรมแล้ว แล้วเราปฏิบัติตามนั้น เวลาปฏิบัติตามนั้น ทำตามนั้น เห็นไหม แต่กิเลสของคนมันไม่เหมือนกัน กิเลสของคนคือมันเป็นปัจจุบันไง มันเป็นธรรมของปัจจุบัน มันเป็นของผู้ที่เป็นสันทิฏฐิโก ผู้ที่เป็นปัจจัตตังผู้นั้น

จิตใดมีกิเลส จิตดวงนั้นจะต้องชำระฟอกกิเลสของจิตดวงนั้นเอง ถ้าจิตดวงนั้นฟอกชำระกิเลสของจิตดวงนั้นเอง แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เราปฏิบัติอะไร? เพราะเราไม่รู้อะไรเลย เราไม่รู้อะไรเลย แต่เวลาเราปฏิบัติ เราปฏิบัติแบบฝึกหัดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญา เราก็ทำแบบฝึกหัด ทำแบบฝึกหัดทำได้ไหม? ได้ ทำแบบฝึกหัดนั้นน่ะ แต่กิเลสมันขาดไปไหม? ไม่ เห็นไหม พอมันไม่ไกลมันสะเทือนใจ

เวลามันปฏิบัติ เวลาเรามีสมาธิมันก็มีความสุข นี่ที่เขาเขียนว่า

ถาม : มันนุ่มนวล มันสุข มันสงบ แล้วก็มันว้าเหว่ กลัว ทรงตัวอยู่โดยชัดเจน

ตอบ : เวลาว้าเหว่ ว้าเหว่เพราะอะไรล่ะ? แต่ถ้ามันมีธรรมของมัน เห็นไหม มันมีธรรมของมัน มันจะมีความองอาจกล้าหาญของมัน มันจะมีความว้าเหว่มาจากไหน? ทีนี้ความว้าเหว่ เห็นไหม อย่างที่เราว่านี่ เวลาปล่อยวาง มันว่างกับมันโหวงเหวงแตกต่างกันไหม? เวลามันว่าง มันมีความสุขสงบ มันว่าง มันโหวงเหวง มันอาลัยอาวรณ์ นี่สิ่งนี้มันเป็นกิเลส มันหยาบนะ เวลาหยาบๆ ดูกิริยาสิ เวลาหยาบก็คดโกงกัน แย่งชิงกัน ทำร้ายกัน นี่กิเลสหยาบๆ เวลามันอย่างละเอียดๆ เห็นไหม มันก็อ้อยสร้อย อ้อยอิ่งอยู่ในใจ

นี่เวลากิเลสหยาบๆ เราก็มองเห็นกันได้ สิ่งนั้นเป็นเรื่องหยาบๆ สิ่งนั้นเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่เวลามันอ้อยสร้อยอยู่ในหัวใจล่ะมันเป็นกิเลสไหม? มันเป็น มันเป็นกิเลส แต่มันเป็นกิเลสอย่างละเอียดไง คำว่าละเอียด มันละเอียดในขั้นของกิเลสเต็มตัวนะ ไม่ใช่ละเอียดในขั้นของโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี เวลาขั้นของโสดาบันก็อีกเรื่องหนึ่ง ขั้นของสกิทาคามีนี่ละเอียดเข้าไป อนาคามี อรหันต์ละเอียดเข้าไป แต่ในขั้นของปุถุชนนี่แหละ ขั้นของเดินโสดาปัตติมรรคนี่แหละ

ถ้ามันพิจารณาของมัน เราไม่ได้ทำแบบฝึกหัด นี่เราทำตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะเราเป็นสาวก สาวกะ มันก็มีที่ว่า คำว่าแบบฝึกหัดมันก็สาวก สาวกะทำตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน แต่ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนมันต้องเป็นปัจจัตตัง มันเป็นกับเรา ถ้าเป็นกับเรา นี่เราทำแล้วมันไม่ได้ผล มันได้ผล ได้ผลการปล่อยวางเข้ามา แต่มันไม่ถึงที่สุด มันไม่ได้ผลเพราะมันสมุจเฉทปหานมันจะขาดไปเลย ถ้ามันไม่สมุจเฉทปหานเราก็ต้องซ้ำ เราก็ต้องแก้ไข

เราต้องซ้ำ เราต้องแก้ไขของเรา เราต้องตั้งใจของเรา เราต้องจริงจังของเรา ถ้าเราทำของเราได้ เรามีความมุมานะ มีความพยายามของเรา มันทำได้ มันก็จะได้ของเรา ถ้ามันทำไม่ได้ นี่เราก็ทำบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ทำบูชา สร้างบุญญาบารมี เวลาเราปฏิบัตินะ กิเลสมันจะสั้นเข้า หดสั้นเข้ามา ภพชาติจะสั้นเข้ามา ภพชาติจะสั้นเข้ามา ถ้าภพชาติสั้นเข้ามานะ การปฏิบัติมันก็จะง่ายขึ้นๆ ในการกระทำ

นี่เวลาย้อนไปดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เห็นไหม นี่สร้างบุญญาธิการมาขนาดนั้น เวลาสำเร็จก็คือสำเร็จเลย แต่ของเรานี่ถ้ามันทำแล้วมันไม่ได้ เราสร้างของเรา มันเป็นเชาวน์ปัญญาของเราแหละ ถ้าเราอยู่ของเราเราก็จะว้าเหว่ เราจะว้าเหว่ของเรา เราจะไม่มีทางออกของเรา แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ เห็นไหม เรามีครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเราเป็นหลัก

หลักหมายความว่าถ้าเราปฏิบัติถึงเป้าหมาย ถึงเป้าหมาย บรรลุเป้าหมาย นี่โสดาบัน ถ้ามันไม่บรรลุเป้าหมายล่ะ? นี่เราปฏิบัติของเราไป ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์ ตรงนี้มันไม่มีใครบอก มันไม่มีใครบอกว่าระหว่างที่เราเดิน ระหว่างที่เราจะต้องจัดการกับกิเลสของเรา กับถึงเป้าหมายแล้ว มันเป็นปัจจัตตังเราจะรู้ทันทีเลย แต่ระหว่างที่เราก้าวเดินอยู่นี่มันไม่ถึงเป้าหมาย พอไม่ถึงเป้าหมาย มันไม่รู้ว่าจบสิ้นที่ตรงไหน? ถ้ามันจบสิ้นที่ตรงไหน ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ใช่ไหมเราก็คาดหมายกันไป นี่ที่ว่าทำพอเป็นพิธี ทำพอเป็นพิธีแล้วสังคมมันเป็นกลุ่มใหญ่

สังคมกลุ่มใหญ่ คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก? นี่ในโลกนี้คนโง่มากกว่าคนฉลาดอยู่แล้ว ถ้าคนโง่มันก็ไม่มีหลักเกณฑ์เหมือนคนฉลาด ถ้าคนฉลาดมีน้อยกว่า แต่เขามีหลักมีเกณฑ์ มีเป้าหมาย มีถึงที่สุดแห่งทุกข์ ปฏิบัติไปเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป แต่ถ้าคนโง่ เห็นไหม เวลาปฏิบัติก็ว่างๆ ว่างๆ กันไป นี่ว่างๆ ถ้าเราอยู่ในสังคมอย่างนี้เราก็จะไม่พัฒนา เราก็อยู่ของเราแค่นี้ แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์คอยชี้นำเราก็พยายามของเรา พยายามทำของเรา

นี่คนที่นี่ เวลาปฏิบัติจะบรรลุธรรมเขาต้องมีบารมี สร้างบารมีมา คำว่าบารมี มันมีเชาวน์ปัญญา เวลาเชาวน์ปัญญามันก็ไม่พ้นจากอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคญาณนี่แหละ แต่มรรคญาณ เวลาทำไมของท่านสำเร็จได้? ทำไมมันสมุจเฉทฯ ได้? ทำไมมันชำระกิเลสได้?

นี่ก็เหมือนกัน เวลาของเราเราว่าเราก็มีมรรคเหมือนกัน เรามีศีล สมาธิ ปัญญาครบสมบูรณ์เหมือนกัน แต่เราใช้ปัญญาไปแล้วทำไมมันไม่ขาดล่ะ? พอมันไม่ขาดเราหาช่องทางของเราสิ เราหาช่องทางของเรา เรามุมานะของเรา เราทำของเรา นี่ถ้ามันมาเพิ่มนะ อย่างเช่นเวลากีฬา เวลาเขาแข่งขันกัน เขาเสมอ ความสามารถเขาเสมอกัน ทุกอย่างเขาเสมอกัน เขาชนะกันแค่ความเข้มแข็งกว่า หรือความอดทนมากกว่า

นี่ก็เหมือนกัน เวลากิเลสกับธรรมมันต่อสู้กัน เห็นไหม เราก็ต้องมีความเข้มแข็งของเรา สิ่งที่ว่าเราสร้างบารมีๆ แต่ถ้ามันทะลุล่ะ? นี่เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาปฏิบัติไป ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสำเร็จของท่านไปได้ ทำไมครูบาอาจารย์ของเราทำได้ ถ้าเราทำได้เราต้องมีความมุมานะ แต่ความมุมานะนั้นมันก็ต้องลงทุนลงแรง

ฉะนั้น ว่าทำตามแบบไง ปฏิบัติไปแล้วมันมีความทุกข์ความยากอย่างนี้เราก็เห็นใจนะ เราเห็นใจ แต่พูดนี่พูดให้เห็นว่าทำแล้วทำไมมันไม่ได้ผล? เวลาคนปฏิบัติ คำว่าไม่ได้ผลๆ คำว่าได้ผลหรือไม่ได้ผล ก็ไอ้การที่ปฏิบัติมันจะส่งต่อเนื่องกันไป มันจะหนุนเนื่องกันไป หนุนเนื่องกันไปนะ หนุนเนื่องกันไปเพราะเรารู้ เราเห็นใช่ไหม? เจริญแล้วเสื่อมรอบหนึ่ง นี่เวลาใช้ปัญญา เวลาเจริญแล้วเสื่อมรอบหนึ่ง เราพิจารณาแล้วก็รักษาความเสื่อมนั้นไว้ รักษาสิ่งที่มันจะเสื่อม รักษาไม่ให้มันเสื่อม รักษาจิตนี้ไว้ไม่ให้มันเสื่อม

ถ้าการรักษาไว้ ถ้าทำของเรา เราใช้ปัญญาของเราไป พอใช้ปัญญาไป พอมันก้าวเดินไป พอมันชำนาญแล้วนะ ถ้าคนไม่ชำนาญ เวลาเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วหาทางออกไม่ได้ แต่เวลาคนเสื่อมไปแล้วเราก็รื้อฟื้นของเราขึ้นมา เราก็ทำจิตใจของเราขึ้นมา พอมันเจริญขึ้นมาได้ มันรู้เลยมันเจริญเพราะเหตุนี้ ถ้าเรารักษาตรงนี้ไว้นะ มันจะเสื่อมไปไหนล่ะ?

มันจะเสื่อมไปไหนเราก็รักษามันไป พอมันรักษาสมาธิได้โดยชำนาญของเราแล้วมันจะใช้ปัญญา พอใช้ปัญญาขึ้นไป มันใช้โดยความไม่ต้องกังวลไง ใช้เต็มที่เลย แล้วเวลาพอมันอ่อนลงเราก็กลับมาทำความสงบได้เลย นี่พอมันชำนาญแล้วมันจะเกื้อกัน มันจะหนุนกัน พอหนุนกันไป พอใช้ปัญญากันไปมันจะกว้างขวางไปเรื่อยๆ กว้างขวางไปเรื่อยๆ ทำได้ ถ้าทำได้มันถึงที่สุดนะ ถึงที่สุด สิ่งที่ว่านี่มันคาราคาซังนะ ต้องตั้งสติไว้ ขณะนี้เหมือนกลืนไม่เข้าคายไม่ออก คาราคาซัง เดินต่อไปก็ไม่ได้ อยู่เฉยๆ ก็ไม่ได้

นี่ถ้าอยู่เฉยๆ เวลาเดินต่อไปก็ไม่ได้ ถ้าอยู่เฉยๆ อยู่เฉยๆ มันมีแต่วันเสื่อมถอย ถ้าอยู่เฉยๆ นะเราต้องตั้งสติ แล้วต้องพยายามกำหนดนะ พยายามกำหนด มีคำบริกรรม ปัญญาอบรมสมาธิทำใจให้สงบ เพราะว่าใจสงบนะ เวลาเป็นสมาธิแล้ว ใช้ปัญญากับไม่ใช้ปัญญานี่แตกต่าง เวลาที่มันโล่ง มันโถง เวลาปัญญามันทันเพราะอะไร? เราก็เห็นไง เหมือนคนนี่ถ้ามีเงินจับจ่ายใช้สอย เราทำอะไรก็ได้ ถ้าเราขาดเงินขึ้นมา แล้วถ้าเรามีเครดิตเราก็ใช้สินเชื่อ ใช้สินเชื่อเราก็ต้องมาใช้เขาทีหลัง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำของเราได้ เรามีกำลังของเรา เราทำของเราได้ มันเป็นประโยชน์กับเราได้ ถ้าเราทำของเราไม่ได้ นี่ทำของเราไม่ได้นะเราก็พยายามทำความสงบของใจ ใจนี่ต้องทำความสงบให้ได้ แล้วจะออกไปใช้ปัญญา มันจะคาราคาซังไง ถ้าเราเก็บจัดทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทาง มันจะคาราคาซังไง มันคาราคาซังเพราะมันก้าวไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ถอยก็ไม่ได้ ถ้ามันถอยไม่ได้เรากลับมาทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจ ใจให้มันสงบไว้ แล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญา พอใช้ปัญญาไป พอสมาธิมันอ่อนนะมันไม่สรุป นี่มันคาราคาซัง ทิ้ง ปล่อยการใช้ปัญญา กลับมาทำความสงบ

นี่ถ้ามันปฏิบัติไปได้แล้วมันจะเข้าใจ แต่ถ้าปฏิบัติไปยังไม่ได้ มันก็ล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ มันล้มลุกคลุกคลาน แต่ก็ยังดี ยังดีที่ว่าโดยทางโลกเขา เขาศึกษาธรรมกันโดยทฤษฎีนะ เขาศึกษาธรรมโดยทฤษฎี เขาก็เชื่อมั่นของเขา แต่เราปฏิบัติขึ้นมาเราได้สัมผัสไง นี่เป็นปัจจัตตัง เราได้สัมผัส ใครได้สัมผัสสมาธิ ใครได้สัมผัสความสงบร่มเย็นของใจ มันก็ได้สัมผัสแล้ว ถ้าได้สัมผัส นี่สมาธิธรรม ปัญญาธรรม แล้วมันมีศีล อธิศีล นี่ถ้ามันอธิศีลมันสิ้นของมันเลยนะ กุปปธรรม อกุปปธรรม

กุปปธรรม สัพเพ ธัมมา อนัตตา ที่ว่าทำไมสัพเพ ธัมมา อนัตตา นี่ธรรมะของพระพุทธเจ้าสอนอนัตตา ทุกอย่างเป็นอนัตตา ใช่เป็นอนัตตา แต่เพราะมันยังไม่ถึงที่สุดไง ถ้าใครเป็นโสดาบันนะ พอถึงที่สุดเขาจะเห็นว่าอกุปปธรรมกับกุปปธรรมนี่แตกต่างกันอย่างไร สิ่งที่ว่าสัพเพ ธัมมา อนัตตา สัพเพ ธัมมา อนัตตา ใช่มันเป็นอนัตตา มันเป็นสิ่งที่มันต้องแปรปรวน แต่สิ่งที่มันพ้นจากการแปรปรวนไปนั้นล่ะ? พ้นจากการที่มันสรุปผล มันสำเร็จแล้ว พ้นจากอนัตตามา อันนั้นเป็นอย่างไร?

นี่ถ้าถึงเป้าหมายแล้วมันเข้าใจหมด ถ้าเข้าใจหมดแล้วถึงว่าในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกแต่เหตุ เหตุให้เรามุมานะ ประพฤติปฏิบัติ แต่ถ้าได้ผลแล้วพระพุทธเจ้าไม่ต้องสอน อย่างเช่นลูกเราเป็นคนดี ลูกเราประสบความสำเร็จ ทำทุกอย่างแก้ว แหวน เงิน ทองมากมายมหาศาลเลย เราต้องไปสอนมันไหม? เราจะสอนคนที่มันยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ คนที่มันยังตั้งตัวไม่ได้ ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ เราจะสอนคนนั้นขึ้นมา แต่คนที่มันสำเร็จ มันประสบความสำเร็จเราจะไปสอนมันไหม?

นี่เราปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าเรามีผลแล้ว ทีนี้สิ่งที่มันยังคาราคาซัง กลืนไม่เข้า คายไม่ออก กลืนไม่เข้า คายไม่ออกนะ ในการปฏิบัติ อันนี้มันก็อยู่ที่วาสนา วาสนานะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการ พระฟังทั้งวัดเลย ผู้ที่ฟังแล้วจิตใจอยู่ในระดับไหน? ถ้าระดับสมาธิ เริ่มปูพื้นของสมาธิ ฟังแล้วก็มีความดูดดื่ม ผู้ที่เป็นโสดาบันแล้วเขาก็กำหนดจิตไว้ เวลาพูดถึงโสดาบันปั๊บเราก็รู้แล้ว รู้แล้วอย่างไร? รู้แล้ว นี่เพราะระดับของโสดาบันใช่ไหมเราใช้ปัญญาอย่างไร? สมุจเฉทปหานอย่างไร? เพราะโสดาบันได้ผ่านมาแล้ว มันรู้ มันเทียบเคียงได้

ทีนี้พอพูดถึงสกิทาคามีเราไม่รู้แล้ว เราไม่รู้แล้ว พอไม่รู้แล้วก็จิตที่สูงกว่า จิตที่สูงกว่า คือจิตหลวงปู่มั่นท่านผ่านพ้นหมดแล้ว แต่เวลาท่านพูดก็ตั้งแต่พื้นฐานขึ้นไป มันก้าวเดิน จิตมันจะก้าวเดินตั้งแต่ปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล แต่ท่านไม่บอกชื่อ

ท่านไม่บอกว่านี่เป็นโสดาปัตติมรรคนะ นี่เป็นสกิทาคามิมรรค นี่เป็นอนาคามิมรรค ท่านไม่ได้บอกหรอก แต่ท่านบอกถึงวิธีการ ท่านบอกถึงกำลังของจิต ท่านบอกถึงปัญญา ไอ้คนเป็นมันฟังรู้หมดแหละ คนเป็นเพราะสิ่งที่เราเคยทำมา เราเคยทำ เราเคยประสบความสำเร็จมา ท่านพูดอยู่นี่เราไม่รู้ได้อย่างไร? ก็ของทำมา แต่ท่านไม่บอกชื่อหรอก

ฉะนั้น พระกรรมฐานเขาสอนกันอย่างนี้ไง นี่เวลาท่านพูดนะ พูดถึงโสดาบัน พูดถึงโสดาปัตติมรรค ถ้าเราเป็นโสดาบันแล้ว เวลาพูดถึงโสดาปัตติมรรคเราเข้าใจแล้ว เออ ปัญญาอย่างนี้เราก็เคยใช้ เออ อย่างนี้ เราทำมาอย่างนี้ แล้วพอโสดาปัตติผลปั๊บมันขาด เออ ใช่มันขาดอย่างนี้ แต่ถ้ามันเป็นโสดาปัตติมรรค แต่มันยังไม่เป็นโสดาปัตติผล อืม เราใช้ปัญญาอย่างนี้เราก็เข้าใจ เราเข้าใจนะ

ท่านบอกว่านี่เวลาจิตมันสงบแล้วออกฝึกออกใช้ปัญญา ปัญญาจะเห็น พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม เออ เราก็พิจารณา พอพิจารณาแล้ว เวลาท่านพูดถึงผลของมันนะ ถ้าพิจารณาแล้ว เวลามันแยกขาดกัน กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์มันแยกออกไปอย่างนั้น เราชักงงแล้วนะ ถ้าพูดถึงคนที่เป็นโสดาปัตติมรรค ไม่เป็นโสดาปัตติผล เพราะผลอันนั้นเราไม่เคยทำ ถ้าผลอันนั้นไม่เคยทำนะเราก็ อืม ผลเป็นอย่างนั้นหรือ? ผลเป็นอย่างนั้นหรือ? เอ๊ะ เราเป็นหรือเปล่า?

ถ้าเอ๊ะ เราเป็นหรือเปล่า นี่ความจริงมันไม่ใช่แล้ว แต่พอเอ๊ะ มันเป็นหรือเปล่า? เป็น เป็นทันทีเลย เพราะกิเลส เพราะอะไร? เพราะมันเข้าข้างตัวเอง บอกว่าเอ๊ะ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า? เป็น เป็นแล้วหลายรอบด้วย เป็นจริงๆ ด้วย แต่มันไม่เป็น มันไม่เป็น เห็นไหม นี่ไงคาราคาซัง เวลาท่านพิจารณาของท่านไป ท่านจะเทศนาว่าการ พระทั้งวัดฟังนะ เพราะพระทั้งวัดมันก็มีสูง มีต่ำใช่ไหม?

นี่เวลาผู้ปฏิบัติใหม่ พระบวชใหม่เข้ามาก็ฝึกหัดใหม่ พระที่อยู่กับครูบาอาจารย์มา ๒๐-๓๐ ปี หลวงปู่ฝั้น ครูบาอาจารย์ต่างๆ ท่านก็ไปเยี่ยมคารวะกัน พูดนี่พูดสูงเป็นชั้นๆๆ ขึ้นไป นี่กรรมฐานไง ถ้าคาราคาซัง มันคาราคาซังเพราะกิเลสมันปิดในหัวใจของเรา แต่เรามีครูบาอาจารย์ มีเป้าหมาย เราก็พยายามทำของเรานะ นี่เวลาเทศนาว่าการครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ของท่าน ท่านเทศน์ของท่าน แล้วคนรู้จริงท่านฟังออก อย่างเช่นในมุตโตทัย เห็นไหม นี่เป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

นี่ท่านพูดของท่าน เพราะว่าเวลาเทศน์ เพราะว่าวุฒิภาวะของจิตของพระมันแตกต่าง ทีนี้คำว่าแตกต่าง เวลาเทศนาว่าการก็ฝนตก ฝนตกไปในชุมชนนั้น ในชุมชนนั้นมีเศรษฐี มีกุฎุมพี มีทุคตะเข็ญใจ มีผู้ที่ต้องการฝน นี่มันมีไปหมด ใครจะเก็บสิ่งนั้นได้เป็นประโยชน์ ฉะนั้น เทศนาว่าการไปก็เริ่มต้นตั้งแต่พื้นฐานเป็นขั้นเป็นตอนไป แต่ท่านไม่ระบุหรอก อันนี้เป็นโสดาบันๆ ไม่ระบุ แต่ที่เราพูดนี้เราพูดให้เห็นเป็นขั้นเป็นตอน

นี่ไงพระกรรมฐาน พระปฏิบัติเขารู้จริงเห็นจริงขึ้นมา เขาพูดกันข้อเท็จจริง แต่ไอ้ชื่อ ไอ้เสียง ไอ้ชื่อเสียงที่บอกเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ไอ้นี่มันชื่อเสียง มันได้ประสบความสำเร็จแล้วเขาถึงบอกว่าเป็นชื่อนั้นๆ ไอ้เราอยากได้ชื่อ แต่ไม่อยากทำ อยากจะได้ อยากจะได้ชื่อนะ อ้าว อยากจะได้ชื่อแต่ไม่ทำ ตอนนี้ดูสิเวลาแรงงานต่างด้าวเข้ามา มันอยากได้ลงทะเบียน อยากได้สถานะแบบชนชาติ นี่ต้องทำเต็มที่ของเรา แต่ของเราเกิดในเมืองไทย เราเกิดจากพ่อจากแม่ เราเกิดที่นี่ เราได้สถานะเลย

นี่ก็เหมือนกัน นี่เวลาเขาไม่มีสถานะเขาต้องอยากได้ชื่อได้เสียง แต่คนที่เขามีสถานะมันก็เหมือนกันนะ คนที่มีสถานะ แต่เขาไม่เห็นว่าสถานะนี้สำคัญ คนที่ไม่มีสถานะ คนแรงงานต่างด้าวนะ เขาเจอเจ้าหน้าที่เขาต้องหลบต้องหลีก เขาต้องเสียเบี้ยใบ้รายทางมาเพื่อให้เขาได้ทำงาน ไอ้ของเรานี่เป็นชาวพุทธ เราเป็นนักปฏิบัติ เรามีสถานะของชาวพุทธ เรามีสถานะของการปฏิบัติ ไอ้คาราคาซังมันเรื่องกิเลสมันมาผลักมาดันให้เราล้มลุกคลุกคลาน อันนี้เราดูของเราไว้ แล้วเราทำของเราจริงๆ

เราทำ มันต้องทำตรงนี้ เพราะไม่ทำตรงนี้ บอกว่าทำไมมันปฏิบัติแล้วมันไม่ได้ผล? ปฏิบัติไม่ได้ผลมันก็อยู่ที่เวรที่กรรม ขิปปาภิญญา ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย เขาสร้างสมมา เขาสละชีวิตมาหลายภพหลายชาติ พระพุทธเจ้าเสียสละมาทุกอย่าง มันสะเทือนใจในชาติที่เป็นเตมีย์ใบ้ แหม ตัดหูนะ ใบ้หรือไม่เชื่อนะ เอามีดตัดหูนะก็ทนเอา เอามีดตัดจมูกนะ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ ชาติที่เป็นเตมีย์ใบ้ นั่งนี่ใบ้หรือ? ไม่พูดใช่ไหม? ไม่พูดเอามีดตัดจมูก เอามีดตัดใบหู ตัดทุกอย่างเลย ทนเอานะ นี่พระพุทธเจ้าทำขนาดนั้น

ถ้าย้อนไปพระพุทธเจ้าท่านทำมาขนาดไหน? ท่านถึงได้มาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วทำไมเราคาราคาซัง เราคาราคาซัง เราทำอะไรมา? ถ้าเราทำมาได้ขนาดนี้ เราทำมาแล้ว เรามีศรัทธา มีความเชื่อ แล้วเราปฏิบัติยังได้สัมผัส ยังได้ลิ้มรส รสของสมาธิธรรม รสของปัญญาธรรม แต่ยังไม่ได้ลิ้มรสของสมุจเฉทปหาน นี่เวลาสมุจเฉทปหาน ประหารกิเลสดั่งแขนขาด ถ้าดั่งแขนขาด ถ้าเราซื่อสัตย์กับตัวเราเองเราจะรู้เลย ถ้าดั่งแขนขาดมันจะขาดอย่างไร? ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์กับตัวเราเองนะเราไม่รู้เรื่อง แล้วก็อยากได้ชื่อ ได้เสียง อันนั้นเป็นเรื่องของเขา

ฉะนั้น เราพูดนี้พูดเพื่อให้กำลังใจไง บอกว่าเราไม่ทำตามแบบฝึกหัด ถ้าทำตามแบบฝึกหัดมันไม่ได้เกิดจากปัญญาของเราเอง แบบฝึกหัดนี้ ศีล สมาธิ ปัญญานี้เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วางธรรมและวินัยไว้ให้เราปฏิบัติ นี่สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน นี่คือแบบฝึกหัด เราก็ทำแบบฝึกหัดกัน แต่เราจะมีความรู้จริงจากแบบฝึกหัดนั้น ไม่ใช่ทำแบบฝึกหัดนั้นแล้วก็จะเอามรรคเอาผลจากแบบฝึกหัดนั้น เราใช้แบบฝึกหัดนั้นเป็นการฝึกหัด แต่เราจะมีปัญญาของเรา มันถึงเป็นปัจจัตตัง มันถึงเป็นสันทิฏฐิโก มันถึงเป็นการชำระกิเลส เป็นการฆ่ากิเลส

ถ้ามันเป็นการฆ่ากิเลสมันเป็นแบบฝึกหัดไหม? มันเป็นการฆ่าจริงๆ เป็นการต่อสู้กับกิเลสจริงๆ แล้วทำลายกิเลสจริงๆ อันนี้เป็นความจริง มันเกิดจากแบบฝึกหัด แต่ไม่ใช่แบบฝึกหัด แต่ถ้าเราทำแบบฝึกหัดแล้วเราไปยึดว่าเราทำถูกต้องแล้ว ทำถูกต้องแล้ว ทำตามแบบฝึกหัดแล้ว แล้วเรายังไม่ได้อะไรเลย เรายังล้มลุกคลุกคลานเลย มันจะน้อยเนื้อต่ำใจไง เราทำแล้ว ทำตามแบบฝึกหัดนี่แหละ แต่เราต้องตั้งสติ เราต้องตั้งสติของเรา เราต้องใช้ปัญญาของเรา เราต้องแยกแยะของเรา แล้วมันจะไม่คาราคาซัง แล้วมันจะทำได้จริง แล้วมันจะเห็นจริงของมัน นี้มันจะเป็นประโยชน์กับเราเนาะ

อันนี้พูดถึงเรื่อง “เรียนรายงานการปฏิบัติ” ข้อ ๘๕๔. เนาะ

ข้อ ๘๕๕. ไม่มี

ข้อ ๘๕๖. น่าสงสารเนาะ อันนี้รายงานการฝึกหัด รายงานการปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วมันคาราคาซัง มันเบื่อหน่าย แต่ดูอันนี้นะ

ถาม : ๘๕๖. เรื่อง “เบื่อค่ะ”

เรียนถามหลวงพ่อ ดิฉันไม่มีความอดทนเลยค่ะ นั่งภาวนาแล้วก็มืดตื้อ นั่งไปแป๊บเดียวก็เมื่อยไม่เอาแล้ว แต่ใจก็อยากหลุดพ้น ตั้งใจรักษาศีล ทำทาน ดิฉันคงไร้วาสนาในการภาวนา จิตใจติดนู่นติดนี่ตลอดเวลาไม่หยุดเลย ท่องพุทโธก็ได้แป๊บเดียว สักพักก็เมื่อย ก็หลับ ใจมันอยากจะเล่น อยากเที่ยว ตอนนี้ดิฉันรู้สึกถอดใจไปเลยค่ะ รู้สึกเบื่อการภาวนามาก สงสัยกรรมคงมาก ท้อแท้ค่ะ

ตอบ : อันนี้เป็นปัญหาหรือเปล่าเนี่ย อันนี้เขียนมานี่เป็นปัญหาหรือเปล่า? เอ๊ะ สงสัยไม่เป็นปัญหาเนาะ ไม่มีปัญหาให้ตอบเลย มีแต่เบื่อค่ะ เวลาจิตของคนมันองอาจกล้าหาญนะ เวลามันศรัทธานะ เห็นไหม การได้เห็นสมณะ การได้เห็นสมณะนะ เวลาพระสารีบุตรไปเห็นพระอัสสชิออกบิณฑบาต ทำไมสงบเสงี่ยมขนาดนั้น? ทำไมการก้าวย่างมีสติปัญญา? คนฉลาดไง

พระสารีบุตรเวลาบวชแล้วเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา เห็นการก้าวเดินของพระอัสสชิ การเดินแบบนี้เป็นการเดินของนักปราชญ์ พระองค์นี้ต้องมีของดีข้างใน ไม่อย่างนั้นจะไม่มีความสงบเสงี่ยมขนาดนี้ ถ้ามีความสงบเสงี่ยมขนาดนี้ นี่ตามพระอัสสชิไปตลอด บิณฑบาตจนสุดท้ายบ้านแล้ว พระอัสสชิไปนั่งฉัน ฉันเสร็จแล้วพระสารีบุตรจะเข้าไปกราบ เพราะเรียนมาจากสัญชัย เรียนมาจากลัทธิอื่นจนหมดไส้หมดพุงแล้ว อาจารย์สอนจนหมดความรู้แล้ว พระสารีบุตรเรียนมาหมดแล้วไม่จบ ยังสงสัยอยู่ เห็นพระอัสสชิ นี่คนมีปัญญาเห็น ตามพระอัสสชิไป พอสุดท้ายพระอัสสชิฉันข้าวเรียบร้อยแล้ว ล้างบาตร เช็ดบาตรแล้วเข้าไปกราบ

“นี่ท่านบวชกับใครมา? ใครเป็นอาจารย์ของท่าน?” อยากรู้ไงว่าทำอย่างไรถึงมีกิริยาอย่างนี้ มันถึงมีสติพร้อมอย่างนี้ เหมือนผู้มีสติสมบูรณ์ขนาดนี้ นี่ถามว่า

“บวชกับใครมา?”

“บวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

“แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างไร?”

“อู๋ย เราเป็นคนบวชใหม่ เราไม่รู้ธรรมะลึกซึ้งหรอก”

“ไม่ลึกซึ้งก็ไม่เป็นไร ขอให้พูดสักหน่อยก็ยังดี เรื่องการใช้ปัญญาตีความเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าเอง”

นี่ก็บอกเลย “เยธัมมา ธรรมทั้งหลาย ใครทำกรรมสิ่งใดมา ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไประงับที่เหตุนั้น”

นี่ฟังเท่านั้นแหละ เพราะมันขวนขวายพยายามปฏิบัติมา ไปอยู่กับสัญชัย สัญชัยก็สอนจนหมดไส้หมดพุงแล้ว ยกให้เป็นอาจารย์ด้วย ไปอยู่กับใคร ใครก็สอนจนหมดไส้หมดพุง มันไม่ได้อะไรเลยนะ พอฟังนี่ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าจะดับเหตุ ดับธรรมนั้นต้องไปดับที่เหตุนั้น จิตมันย้อนทวนกระแสกลับไปที่ใจ พั่บ เป็นพระโสดาบันเลย นี่แล้วเอาธรรมไปบอกพระโมคคัลลานะก็เป็นพระโสดาบัน ไปบอกลูกศิษย์ลูกหา ๒๕๐ เป็นพระโสดาบันหมดเลย ก็ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่การเห็นสมณะ สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ จะเป็นมงคลอย่างยิ่ง คนที่เห็นอย่างนั้นเขาก็เป็นมงคล พอเป็นมงคลจิตใจก็ฮึกเหิม จิตใจก็อยากประพฤติปฏิบัติ จิตใจก็อยากพ้นทุกข์ ไอ้เราปฏิบัติไปแล้วเราไม่เคยไปหาใคร ไม่ไปหาใครนี่เขียนถึงหลวงพ่อ นี่ไปหาหลวงพ่อแล้ว หลวงพ่อพาเบื่อหมดเลย นี่หลวงพ่อพาส่งออก หนูเลยปฏิบัติไม่ได้เลย หนูเลยทุกข์อยู่นี่เลย

ถ้าจิตใจคนมันกล้าหาญ อาจหาญนะ ทำสิ่งใดมันจะรื่นเริง อาจหาญ แต่เวลาใจมันทดท้อ เวลาใจมันตก เวลาจิตตก ใจตก ทำสิ่งใดไม่ได้เลย บางคนนะจิตใจนี่ แหม รื่นเริงอาจหาญมากเลย พอสิ่งใดสะเทือนใจนี่ วูบ! ใจตกไปอยู่ที่ตาตุ่มเลย หมดเลย นี่สิ่งนี้ถ้าจิตใจมันเข้มแข็งนะ จิตใจมันเข้มแข็ง เราแยกแยะนะ ถ้าจิตใจมันตกไปแล้ว จิตใจมันตกตาตุ่มเราต้องฟื้นฟูของเรา

กรณีอย่างนี้ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา พระกรรมฐานเวลาธุดงค์ไป เห็นไหม ไปสถานที่ใหม่ สถานที่ใหม่เราจะเข้าไปประพฤติปฏิบัติ จิตใจมันเหมือนกับเขยใหม่ เขยใหม่เข้าไปในบ้านใครนะ เราเป็นคนใหม่เข้ามาเราต้องตื่นตัวตลอดเวลา ในการประพฤตปฏิบัติ ไปอยู่ที่ไหนที่มันยังใหม่อยู่ มันระแวง เพราะเราไม่คุ้นเคย พอคุ้นเคยนะย้ายที่แล้ว ย้ายที่เพราะจิตใจมันจะเหงา มันจะหงอย มันจะเศร้าของมัน เราจะต้องฟื้นฟูตลอดเวลา เราต้องเข้มแข็งของเราตลอดเวลา ถ้าเข้มแข็งตลอดเวลามันก็จะสู้ต่อๆ

การสู้ต่อเราต้องฝึก เราต้องกระตุ้นความเข้มแข็ง ต้องกระตุ้นตลอดเวลา นี่ค่าของน้ำใจ เห็นไหม เวลาเราทำบุญๆ สิ่งที่เป็นวัตถุมันเป็นวัตถุเฉยๆ แต่หัวใจที่เอามันมา นี่ค่าของน้ำใจ นี่ฝึกใจให้เข้มแข็ง การเสียสละทาน การเสียสละ เราเสียสละทาน ศีล ภาวนา การภาวนาก็ต้องการทำให้จิตใจนี้เข้มแข็ง ถ้ามันเบื่อหน่ายนะ นี่เขาว่า

ถาม : ดิฉันไม่มีความอดทนเลยค่ะ เวลาพุทโธก็พุทโธแป๊บเดียว ใจมันหลุด มันไม่ตั้งใจ

ตอบ : นี่มันแป๊บเดียวๆ แป๊บเดียวก็คือเรารู้ไง เรารู้ว่าแป๊บเดียว เรารู้ว่าคนที่ไม่มีความอดทน ที่ว่าเราไม่จริงใจ แล้วมันเข้ากับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหมล่ะ?

“บุคคลจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร”

นี่มันจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ บุคคลไม่ใช่ล่วงพ้นทุกข์ด้วยความขี้เกียจ ขี้คร้าน ด้วยความเบื่อหน่าย ด้วยความเบื่อหน่าย เห็นไหม กิเลสมันมีอยู่ในใจทุกดวงใจ ไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหน กิเลสมันอยู่ในใจอยู่แล้ว เพียงแค่ขาดสติปล่อยมันไป นี่มันไปเต็มที่ของมันเลย แต่เพราะเรามีสติ เรามีปัญญาเราถึงเหนี่ยวรั้งมันไว้ เหนี่ยวรั้งจิตไว้ไม่ให้ไปตามกิเลส

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นความเบื่อหน่าย ความต่างๆ ไม่ต้องไปซื้อ ไปหามันมีอยู่แล้ว แต่ถ้าความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะมันต้องขวนขวาย การขวนขวายไง ถ้าเราปล่อยไหลก็ไหลตามกิเลส ไหลตามกิเลสมันก็ไปตามกิเลส นี่ไปตามน้ำ ปลาตาย ปลาตายมันไหลไป อู๋ย สบายๆ ปลาเป็นนะ ดูสิปลาที่มันจะวางไข่น่าสงสารเนาะ ขนาดว่ามนุษย์ยังต้องทำช่องปลาเดิน ทำให้ปลามันกระโดดไปวางไข่ เวลาทำเขื่อน นี่มันจะวางไข่นะมันต้องทวนน้ำขึ้นไป ไปถึงที่มันเหมาะสมของมัน มันไปวางไข่ของมัน เพื่อจะรักษาเผ่าพันธุ์ของมัน มันเป็นปลานะ มันเป็นปลามันยังมุมานะขนาดนั้น ไอ้นี่เป็นคน แล้วยังเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อด้วย

หลวงตาท่านพูดบ่อยเนาะ “ลูกศิษย์เรา เราพาโง่ โง่หมดเลย”

นี่ก็เหมือนกัน ลูกศิษย์หลวงพ่อ หลวงพ่อพาเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายหมดเลย เราไม่ได้พาเบื่อหน่าย ขนาดใครดูเว็บไซต์เขายังบอก อู๋ย โหดน่าดู โหดน่าดู ไอ้นี่มันบอกว่าเบื่อหน่าย เราเบื่อหน่ายอย่างไร? นี่ท่องพุทโธก็ได้แป๊บเดียว สักพักก็เบื่อ กรณีอย่างนี้นะเราจะไปเรียกร้องเอาจากใครไม่ได้หรอก กรณีอย่างนี้ ลูกเรียกร้องเอาจากพ่อแม่ได้ ลูกนะ เวลาไปนั่งนะ โอ๋ย ออเซาะสิ พ่อแม่ให้หมดเลย

ลูกมันไปออเซาะกับพ่อแม่มันได้ แต่ออเซาะมันก็ออเซาะได้แต่เงินทอง ออเซาะได้แต่ความผูกพันของพ่อของแม่ มันไม่ได้มรรคได้ผลหรอก นี่ถ้าได้มรรคได้ผล เห็นไหม เราเป็นศากยบุตร เราเป็นลูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาพระไปถามปัญหา ไปต่อรองว่าจะให้บอกเรื่องนั้นเรื่องนี้ ท่านบอกว่า

“เราไม่ได้บอกนี่ว่าบวชมาเพื่อเหตุนั้น”

“อย่างนั้นจะสึก”

“สึกเธอก็สึกไป”

แต่ถ้าบางทีนะพระที่ขวนขวาย ถ้าทำแล้วมันไม่สมความปรารถนา ไปบอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าจะสึก

“สึกทำไมล่ะ?”

“โอ้โฮ วินัยเยอะแยะไปหมดเลย อะไรก็ผิด อะไรก็ผิด”

“เออ ถ้าอย่างนั้นรักษาวินัยข้อเดียวได้ไหม?”

“ได้”

“เออ ถ้าอย่างนั้นตั้งแต่นี้ไปนะรักษาใจอย่างเดียว รักษาหัวใจไว้ ถ้าไม่มีเจตนาทำผิดมันก็ไม่ผิด รักษาได้ไหม?”

“ได้”

“เออ บวชต่อไป”

นี่ยังอยู่ได้ จากที่ว่า โอ๋ย วินัยเยอะมาก อู๋ย นู่นก็ผิด นี่ก็ผิด จะสึก สึกทำไม? โอ๋ย วินัยมันเยอะ กฎหมายมันเยอะมาก โอ้โฮ ทำอะไรไม่ทันเลย อย่างนั้นเอากฎข้อเดียวได้ไหม? ได้ เออ แล้วกฎคืออะไร? คือรักษาใจไง ดูแลใจของตัวเอง นี่รักษาใจก็อยู่ได้ เวลาเราท้อถอย เวลาท้อถอยนี่ไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็ให้กำลังใจนะ

ฉะนั้น ไอ้ที่ว่าเบื่อค่ะๆ มันเป็นเรื่องธรรมดา คนเรานี่จิตใจเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวก็ฟู เดี๋ยวก็แฟ่บ มันเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย แต่มันเสียอย่างเดียวเท่านั้นแหละ เวลาพอมันร้ายขึ้นมาแล้วมันไปหนักไง เวลามันร้ายขึ้นมาแล้ว อู้ฮู มันไปเลย เวลาเดี๋ยวดี ดีนี่ไม่เอานะ ดีบอกพรุ่งนี้ค่อยไปก็ได้ พรุ่งนี้ค่อยทำก็ได้ ถ้าดี ดีเอาไว้ก่อน โอ้โฮ แต่เวลาร้ายนะมันพาไปเลย เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย แต่ร้ายแล้ว ร้ายแล้วมันไปทำนะ พอทำขึ้นมามันทำลายโอกาสของตัวเลยนะ ถ้าทำจนความผิดมหันต์เราแก้ยากเลย แต่ถ้ามันดีขึ้นมา เราส่งเสริมขึ้นไป

เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ไอ้เรื่องเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญเป็นเรื่องปกติเลยนะ เพราะเป็นเรื่องปกติ หลวงตาถึงบอกว่า ตอนอยู่บ้านตาดนะท่านบอกว่า “ต้องเป็นคนก้นเบา” นั่งไม่ได้ เวลาท่านนี่จะลุกนั่งรวดเร็วทันใจ เพราะว่าถ้าเราจมอยู่ที่ใดก็แล้วแต่ กิเลสมันกระโดดเกาะ เพราะท่านเห็นตรงนี้ไง เพราะท่านเห็นว่าถ้าครูบาอาจารย์ไม่คอยกระตุ้น มันมีแต่ไหลลงต่ำ

น้ำมันไหลลงต่ำ มันไม่ขึ้นที่สูงหรอก แล้วท่านพยายามจะสูบขึ้นที่สูง ท่านยกให้สูงนะท่านก็คอยจี้ๆ ถ้าคิดถึงว่าท่านทำเพื่อเรา คอยเช็ค คอยตรวจสอบพวกเรา เราจะซึ้งนะ แต่กลัวไหม? กลัว เหมือนท่านบอกเลย อยู่กับหลวงปู่มั่นกลัวไหม? กลัว กลัว เพราะเอาจริงๆ ไง โดนก็โดนจริงๆ กลัว กลัวแต่ท่านปรารถนาดีกับเรานะ มันก็พอรับได้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาอยู่กับท่าน นี่เหตุของมันก็เพื่อตรงนี้ไง เพื่อจะไม่ให้มันเบื่อหน่าย พอมันเบื่อหน่าย มันติดขัด อย่างนี้มันก็ไปไม่รอดไง แต่ถ้ามันไม่เบื่อหน่ายนะเราก็สู้ เวลาสู้ เวลาผู้ปฏิบัติคนแรก นี่ปฏิบัติได้ เห็นได้ แต่มันก็ยังคาราคาซัง นี่ทำตามแบบเขามีอำนาจวาสนา มีอำนาจวาสนาคือทำแล้วได้ผล ได้สัมผัสปัจจัตตัง ได้จับ ได้ต้อง ไอ้อันนี้เวลาทำขึ้นไปแล้วมันไม่ได้จับได้ต้อง มันไม่มีหลักมีเกณฑ์

ฉะนั้น มีหลักมีเกณฑ์ เห็นไหม นี่ทำตามแบบ ถ้าไม่มีเชาวน์ปัญญาของเรา มันก็ไม่ใช่ธรรมะของเรา แต่ทำตามแบบ แต่มันล้มลุกคลุกคลาน ไม่มีสิ่งใด จับต้องสิ่งใดไม่ได้เลย มันก็ยิ่ง มันไม่มีอะไรบำรุงในหัวใจไง ทุกข์ควรกำหนด สุขล่ะ? สุขอยู่ไหน? จิตที่มันสุขมันจะมีความสุขบ้าง สงบแล้วใช้ปัญญามันจะมีความโล่งโถงบ้าง มันยังได้สัมผัส มันมีอาหาร มันมีที่พัก มันมีที่ได้พึ่งพิง ไอ้ที่ปฏิบัติแล้วไม่มีอะไรเป็นอาหารเลย โอ้โฮ แห้งแล้ง แล้วก็ทดท้อ อันนี้มันเป็นเรื่องของกิเลสนะ ไม่ใช่เรื่องของธรรม ถ้าเรื่องของธรรม เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา

ธรรม สิ่งที่เป็นธรรม ธรรมชำระกิเลส ธรรมให้เป็นประโยชน์กับเรา เราปฏิบัติเพื่อจะเอาประโยชน์ใช่ไหม? แต่ทีนี้ประโยชน์ วิธีการ เห็นไหม หลวงตาบอกว่า ถ้าพุทธศาสนานี่ศีล สมาธิ ปัญญาจะบังคับเรา คนที่ไม่นับถือพุทธศาสนาเขาก็ไม่ต้องทำ แต่ถ้าเราเป็นชาวพุทธ เราปฏิญาณตนว่าเราเป็นชาวพุทธ แล้วยิ่งปฏิญาณตนว่าเราเป็นนักปฏิบัติ นี่ศีล สมาธิ ปัญญาเราต้องถือ เราต้องปฏิบัติ เพราะเราเป็นชาวพุทธ เพราะเราเป็นชาวพุทธ เราอยากจะพ้นจากทุกข์ไง

นี่ก็เหมือนกัน นี่สิ่งที่เราถือคือถืออะไร? ถือธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราพยายามฝึกหัดกระทำให้มันเป็นของเรา ถ้ามันเป็นของเราขึ้นมา เห็นไหม ธรรมนี่ไม่ทำลายใครเลย ธรรมมีแต่ความสุข มีแต่สิ่งที่พ้น ไม่ให้กิเลสมันชักลากไป ให้เราทำไปตามเวร ตามกรรม แต่เราทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดีเพื่อจะให้ใจนี้มันมีหลักมีเกณฑ์ ให้มันสูงขึ้น ปฏิบัติชาตินี้ปฏิบัติต่อเนื่องๆ กันไป

ถ้ามันถึงเวลาไป เห็นไหม นี่เวลาคนทำบุญกุศล เวลาจะตายเทวดา อินทร์ พรหมมารอรับ รถมารับขึ้นไปเลย นี่ในพระไตรปิฎกก็มี เราก็พยายามทำของเรา สิ่งใดที่เป็นประโยชน์เราพยายามสะสมของเราไว้ ทำความดีของเรา คุณงามความดีทางโลกก็ได้ คุณงามความดีในการปฏิบัติ ปฏิบัติเขาบอกไม่เป็นคุณงามความดีกับใครเลย มันไม่รู้หรอก เป็นคุณงามความดีกับใจของเรา ที่ไหนมันเป็นที่ต่ำ ที่ลุ่ม แล้วได้ถมดินจนเป็นที่สูงขึ้นมา เป็นที่ดอนขึ้นมา มันพ้นจากน้ำท่วม พ้นจากภัย พ้นจากสัตว์ร้าย นี่มันเป็นผลของใคร? เป็นผลของเรา

จิตใจของเรา เราดูแลรักษาของเรา เราถมของเรา เราดูแลของเราจนจิตใจเราสูงขึ้นมา จิตใจเรารู้ของเราเป็นปัจจัตตัง เราทำของเราเอง มันสะอาดบริสุทธิ์ในหัวใจของเรา นี่ใครจะรู้กับเรา ใครไม่รู้กับเรา แต่เรารู้ของเรา เห็นไหม ที่ลุ่ม ที่ดอน เราก็ถม เราก็ดูของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เรารักษาของเรา นี้คือจิตใจของเรา ถ้าเราทำแล้วมันก็เป็นประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น ถ้าทำอย่างนี้แล้ว ไอ้เบื่อหน่ายต่างๆ มันก็เป็นอารมณ์หนึ่ง แต่ถ้ามันเบื่อหน่ายแล้วเราคุ้นชินกับมัน เบื่อหน่ายแล้วไม่ต้องทำสิ่งใด เบื่อหน่ายแล้วสบาย เบื่อหน่ายแล้วไม่ต้องทำอะไรเลย เราพอใจ เราก็จะไม่ได้สิ่งใดเป็นประโยชน์กับเรา ถ้ารู้ว่าเบื่อหน่ายแล้วสลัดทิ้ง เบื่อไม่ใช่ความดี ถ้าเราขยันหมั่นเพียร มีความเพียร มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ เราจะขวนขวายของเรา

ปลาเป็นมันจะทวนน้ำ ปลาตายมันจะไหลไปตามน้ำ ฉะนั้น เราจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของเรา เบื่อหรือไม่เบื่อ สิ่งนี้มันเป็นคำพูด มันเป็นความรู้สึกนึกคิด แต่ถ้าใจของเราเปลี่ยนแปลง นี่มันก็รู้สึกนึกคิดใหม่ได้ นึกคิดอย่างหนึ่งทำให้ทดท้อ มันเท่ากับเหยียบย่ำตัวเองนะ ทำลายโอกาสตัวเอง แต่ถ้ามันคิดอีกอย่างหนึ่ง คิดในความวิริยะ ในความอุตสาหะ คนมีกำลังใจ นี่เวลาหลวงปู่ขาว หลวงตาท่านบอกหลวงปู่ขาว เวลาจะออกปฏิบัติ นี่ทุกคนบอกไม่ต้องไปหรอก มรรค ผลไม่มี ต่างๆ ไม่มี ท่านบอกเลย

“ถ้าก้าวขาออกไปจากวัด ไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ จะไม่ย้อนกลับมาอีกเลย”

ใจมันเคี้ยวเพชรได้เลย หลวงตาใช้คำว่าใจของหลวงปู่ขาวเคี้ยวกลืนเพชรได้เลย แล้วท่านก็ออกประพฤติปฏิบัติ ไปหาหลวงปู่แหวนทางเชียงใหม่ จนท่านสำเร็จจริงๆ ถ้าจิตใจมันเบื่อหน่าย เราก็จะไม่ได้สิ่งใดเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าจิตใจเราเข้มแข็ง จิตใจเราขยันหมั่นเพียร แล้วเราทำของเราได้ ความเบื่อหน่ายเคี้ยวแหลกเลย ความเบื่อหน่ายจะไม่มีในใจเรา เอวัง