ปอกเปลือกกิเลส
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๔๕
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ภาวนาเลย ตามสบาย ตั้งใจภาวนา ภาวนาให้ใจสงบ ถ้ามีใจสงบได้ เป็นประโยชน์กับเราเอง เรารู้จักความสงบของใจ ความสงบไง ความสงบของใจ เราเห็นแต่ตัวในหนังสือ ตำราเขียนไว้ ศีล สมาธิ ปัญญา เราได้แต่ตำรากัน ได้แต่ความเห็นกัน แต่เราไม่เคยเห็นตัวจริง
ถ้าเราเห็นตัวจริง นั่นน่ะเห็นต้นเหตุ เห็นต้นเหตุแห่งการจะเริ่มต้นเข้าไปปอกกิเลสไง ปอกเปลือกกิเลสต้องเห็นความสงบของใจ ถ้าไม่ได้ปอกเปลือกกิเลส มันไม่มีความสงบของใจมันจะปอกไปทางไหน มันมีแต่กิเลสปอกเรา ปอกให้เราหลงผิด ให้เราเข้าใจผิดออกไปตามความเห็นของตัวเราเอง ถ้าความเห็นของเราหมุนออกไปอย่างนั้นมันก็จะเป็นเรื่องของกิเลส
ถ้าเราจะปอกเปลือกกิเลส เราต้องให้เห็นตัวของกิเลส ถ้าสิ่งที่เราเห็นตัวของกิเลส เราจะเริ่มต้นจากปอกเปลือก ปอกเปลือกกิเลสนะ กิเลสปอกเปลือกได้ ผลไม้เราปอกเปลือก เราจะเห็นว่าเราปอกเปลือกผลไม้สำเร็จลุล่วงไป เห็นกับตา สิ่งที่เห็นกับตา มันสำเร็จโดยมือของเราด้วย เห็นด้วยกับตาเราด้วย
เราทำประสบความสำเร็จ เราได้กินเนื้อของผลไม้นั้น เพราะเราปอกผลไม้นั้นเพื่อจะกินเนื้อผลไม้นั้น เราปอกกิเลสเพื่อจะเห็นใจที่บริสุทธิ์ผุดผ่องออกมาจากความเศร้าหมองของกิเลส กิเลสเป็นสิ่งที่เศร้าหมอง สิ่งที่เศร้าหมองแล้วยั่วยุให้ใจหมุนเวียนไปในวัฏฏะวน หมุนเวียนไปในวัฏฏะ ในความทุกข์ความยาก
ความเกิดของเรา ถ้าคนละเอียดอ่อน คนมีความเข้าใจเปรียบเทียบของชีวิต จะเห็นว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์มาก แต่ไม่สามารถปฏิเสธการเกิดได้ ต้องเกิดประสบกับความทุกข์อย่างนี้ตลอดไป ทุกข์นี้ถึงเป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นสัจจะ สัจจะความจริงที่ทุกคนต้องประสบกับความทุกข์อันนี้ตลอดไป
แต่ความสุขที่เจือไปในโลก ความเห็นความสุขเจือในโลก คนที่มองเห็น เวลาพูดกันว่าไม่อยากจะไปสวรรค์ เพราะสวรรค์นี้ไม่มีสิ่งบำรุงบำเรอความสุขของตัวเอง ความคิดนี่เวลาคิด คิดพูดกันไป พูดตามประสานั้น นี่เวลาความเห็นของใจมันออกนอกลู่นอกทาง มันคิดเปรียบเทียบไป มันพอใจในเรื่องของโลก
สิ่งที่พอใจในเรื่องของโลกก็อยู่ในวัฏฏะ อยู่ในความเห็นของโลก อยู่กับกิเลส คลุกเคล้ากับกิเลสไปจนไม่รู้ว่ากิเลสกับเรานี้อยู่ด้วยกัน จนคิดว่าเราเป็นเรา กิเลสเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา ความเห็นเป็นเรา ความสุขความพอใจในเรื่องของกิเลสถึงมีความสุขความพอใจในเรื่องของวัฏฏะในภพชาติตลอดไป
ถ้ามีความพอใจในภพชาติ จะไม่มีความเฉลียวใจในการยับยั้งความคิด ในการเริ่มต้นหาทางออกเลย ถ้าเรามีความเฉลียวใจ มีความยับยั้งความคิดของเรา สิ่งใดสิ่งหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เห็นเทวทูตทั้ง ๔ ยังเห็นมีทางที่ว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันก็ต้องมีทางพ้นออกจากการไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายเหมือนกัน แม้แต่ไม่มีศาสนายังคิดได้ขนาดนั้น
อันนี้มีศาสนาอยู่ แสดงว่าเรานี้หยาบกันมาก หยาบจนไม่คิดถึงตัวเอง ไม่คิดถึงความพ้นทุกข์ของตัวเอง ไม่คิดถึงความสุขอันละเอียดอ่อนที่มันเป็นความสุขจริง สุขจริงๆ สุขอันความที่พ้นจากทุกข์นี้เป็นความสุขอย่างยิ่ง
แต่กว่าจะพ้นออกจากทุกข์ได้นี้มันเป็นความทุกข์อย่างสาหัสสากรรจ์ในการประพฤติปฏิบัติ เพราะว่ามันเป็นการเอาชนะตนเอง เอาชนะคนอื่นอย่างอื่นนี่เราสามารถเอาชนะเขาได้ ถ้าเราไม่สามารถเอาชนะเขาได้ เราก็มีสิ่งแลกเปลี่ยนกับเขาได้ ถ้าเราแลกเปลี่ยนกับเขาได้ เราเอาสิ่งต่างๆ แลกเปลี่ยนเพื่อให้เขาทำงานเพื่อเรา เราทำได้หมดเลย
แต่กิเลสไม่เป็นอย่างนั้น กิเลสมันปลิ้นปล้อนอยู่ในหัวใจ มันหลอกลวงหัวใจอยู่ แล้วมันก็ชักให้หัวใจนี้หลงไปในการประพฤติปฏิบัติ ในท่ามกลางของการประพฤติปฏิบัติ เราก็ทำไปพร้อมกับกิเลสที่ให้มันชักให้เราหลงทางไป เราจะหลงทางออกไปตามความเห็นของเรา
เราว่าเราประพฤติปฏิบัติ นั่นน่ะมันถึงว่าไม่ได้จับต้องตัวกิเลสเลย ไม่ได้ทำลายกิเลสออกจากหัวใจแม้แต่เล็กน้อยเลย แต่มีความสงบของใจ ความสุขของใจ ความสงบ อันนั้นเป็นไปได้ ความสงบของใจ จิตมันสงบอยู่ เราทำความสงบ เราประพฤติปฏิบัติ สิ่งนี้เราประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราทำสมควรแก่ธรรม ความสงบของใจมันต้องให้ผลเป็นครั้งเป็นคราวโดยธรรมชาติของเขา
เหตุผล เห็นไหม เราไม่ได้ทำความสงบของใจ แม้แต่จิตมันคิดไปถึงที่สุดแล้วมันก็ต้องถึงที่สุดของมัน มันก็ต้องปล่อยวาง ปล่อยวางถึงที่สุดของมัน จนถึงที่ว่ามันปล่อยวางตามธรรมชาติของมัน แล้วมันก็คิดใหม่ มันไม่ใช่คิดตลอดไป นี่มันถึงเป็นไตรลักษณ์โดยธรรมชาติของเขา สิ่งนี้เป็นไตรลักษณ์โดยธรรมชาติของเขาโดยสัจจะความจริง แต่เราไม่เห็นตามความเป็นจริงอันนั้น เราถึงได้ยึดมั่นถือมั่น
ความยึดมั่นถือมั่น จิตใต้สำนึกมันยึดมั่นถือมั่นความเห็นผิดอันนี้ สิ่งนี้คือความเห็นผิด สิ่งนี้คือความเห็นของโลก ความเห็นโลกคือความเห็นด้วยตัณหาราคะ ตัณหาความทะยานอยากของใจต้องมีความสมความปรารถนาแล้วมันจะมีความสุข มันมีความคิดของมันขนาดนั้นตลอดไป แล้วก็มีการคาดการหมายไป ความเห็นของโลกเป็นแบบนั้น
แต่ถ้าความเห็นของธรรม สรรพสิ่งนี้เป็นของเครื่องอยู่อาศัย ปัจจัยเครื่องอยู่อาศัย มีเหตุมีปัจจัยแล้วจะเกิดผลมันไปทุกอย่าง ถ้าตัดเหตุตัดปัจจัยหมดแล้วทุกอย่างก็จะเกิดไม่ได้เพราะขาดเหตุขาดปัจจัย ถ้าขาดเหตุขาดปัจจัย ในโลกนี้มีปัจจัยสืบต่อแล้วมันจะขาดได้อย่างไร? มันขาดไม่ได้หรอก สิ่งต่างๆ สมบัติเราจะไม่มีในโลกนี้ เราจะไม่มีเครื่องอาศัย แต่เราก็สามารถกู้ยืมเขาได้ มันเป็นการยืมกันในโลกนี้ มันสละโลก สละสมบัติออกไปแล้วว่ามันจะพ้นจากกิเลส
มันไม่พ้นหรอก มันต้องสละที่ใจ พอสละที่ใจ สมบัติก็เป็นสมบัติ เรื่องของโลกเขาเป็นสิ่งที่เก้อๆ เขินๆ ตามธรรมชาติของเขา ถ้าหัวใจมีธรรมในหัวใจ สิ่งนั้นไม่สามารถมีอำนาจเหนือหัวใจดวงนั้น หัวใจดวงนั้นเข้าใจตามความเป็นจริงว่านี้เป็นสัจจะ นี้เป็นความจริง เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยก็ต้องอาศัยกันไปในเมื่อมันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าเราได้สถานะใหม่ มันไม่จำเป็นต้องอาศัยสิ่งนี้ มันอาศัยสิ่งที่เหนือกว่า แล้วมันจะมาจำเป็นต้องอาศัยอะไร มันก็ไม่ต้องอาศัย
สิ่งที่ไม่ต้องอาศัย แต่เราคิดของเราว่าถ้ามันอยู่กับเรา เราจะอาศัยมันได้ตลอดไป มันพลัดพรากอยู่แล้ว ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ชีวิตนี้มีการดับไปเป็นที่สุด ต้องมีการพลัดพรากตลอดไป มันพลัดพรากโดยธรรมชาติของมัน เพราะมันเป็นสมมุติสิ่งที่เกิดโดยเหตุปัจจัยแล้วมันต้องสละไปตามเหตุปัจจัยนั้น
เหตุปัจจัยดี เราสร้างบุญกุศล เราสร้างคุณงามความดี ความดีนั้นจะให้ผลกับใจดวงนี้เป็นคุณงามความดี มันถึงต้องหมั่นทำ มีสิ่งใดมีงานมีการของเรา เราต้องมีความพอใจทำ ทำแต่งานแต่การจนเป็นจริตนิสัย จริตนิสัยเห็นไหม เป็นนิสสัย ๔ นิสสัยเครื่องอยู่อาศัย ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยก็อย่าง นิสสัย ๔ กิจไม่ควรทำ ๔ อย่าง กิจควรทำ ๔ อย่าง ในนิสสัย ๔ นั้นก็บอกไว้แล้ว
เวลาบวชแล้วต้องให้ออกบิณฑบาต ให้หาเครื่องอยู่อาศัย ให้ดำรงชีวิตแบบนี้นะ จนอยู่ในป่าในเขาของเราเพื่อความวิเวกของใจ ให้ทั้งชีวิตนี้เพื่อการแสวงหาทางออกให้ได้ นี่กรณียกิจ ๔ อย่างที่ควรทำ นี่กิจของพระสงฆ์ควรทำอย่างนั้น
แล้วกิจของเราผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราก็อยากออกจากกิเลส เราก็อยากออกจากความทุกข์ยาก มันก็ต้องมีกิจที่ควรทำ ควรทำอย่างไร? ควรทำในที่สงบ ในที่สงัด ในที่เปลี่ยว ในที่อะไรควรจะทำที่นั้นเพราะไม่มีคนไปพลุกพล่าน มันจะเป็นสัปปายะให้เราทำความสงบได้ง่ายขึ้น ความสงบของใจ
นี่ก็เหมือนกัน ในการจะชำระกิเลสต้องมีความสงบของใจ ถ้าใจสงบขึ้นมาแล้วมันถึงจะจับสิ่งที่เป็นผลไม้จะปอกเปลือกกิเลสออกจากใจได้ถ้าสงบขึ้นมา ถ้ามันไม่สงบ มันคิดจะปอกเปลือกน่ะ มันเป็นการปอกอารมณ์ ปอกเงาของใจ เงาของใจเกาะเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ไปตลอด เกาะเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ไปแล้วก็เป็นอารมณ์
ใจนี้หิวโหยหิวกระหาย เราคิดนะ เราคิดเราอยากประพฤติปฏิบัติ เราอยากจะพ้นจากทุกข์ อยากมีธรรมในหัวใจ เราก็ทำของเราไป กิเลสมันก็อยู่ในการกระทำนั้น มันเสี้ยมไปตลอดเวลา เสี้ยมไปว่าสิ่งนั้นควรจะเป็นอย่างนั้น สิ่งนั้นควรจะเป็นอย่างนี้ เพราะมันเป็นการคาดหมาย ธรรมชาติของกิเลสเป็นอย่างนั้น สิ่งที่เป็นกิเลสคือการคาดการหมาย การด้นการเดา การเอาอดีตอนาคตมาเป็นปัจจุบัน แต่ไม่ใช่เป็นปัจจุบันโดยเนื้อหาสาระ
ถ้าเป็นปัจจุบันโดยเนื้อหาสาระ อดีตอนาคตมันจะดับเพราะมันอยู่กับปัจจุบัน แต่นี่มันรวบยอดทุกอย่างเป็นความคิดของเราแล้วความคิดมันก็หมุนออกไปตามอำนาจของกิเลส มันไม่สงบ ใจไม่สงบแล้วมันจะทำความสงบได้อย่างไร มันจะชำระกิเลสได้อย่างไร มันชำระกิเลสไม่ได้ ถึงต้องทำความสงบของใจ ใจนี้ต้องทำความสงบให้ได้ อันนี้เป็นการปฏิบัติธรรมส่วนหนึ่ง
การปฏิบัติธรรมมันมี ๒ ส่วน สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานต้องก้าวเดินไปด้วยกัน
สมถกรรมฐาน ในวงของสมถะ ในวงของความฟุ้งซ่านของใจ ใจยังฟุ้งซ่านอยู่ สิ่งที่ยังเป็นสกปรกโสมมอยู่ เราจะไปทำความสะอาด ทำสิ่งที่ไปค้นคว้าสิ่งใด ดูอย่างหมอเขารักษาโรค เห็นไหม จะผ่าตัด จะทำอะไร เขาต้องทำความสะอาดก่อน เขาต้องฆ่าเชื้อก่อน เพื่อจะไม่ให้เชื้อนั้นติด
นี้ก็เหมือนกัน เราต้องทำความสงบของใจเพื่อดับกิเลสที่มันการคาดการหมาย การยึดอดีตอนาคตมาเป็นปัจจุบันแล้วทำให้เราคาดหมายไป พ้นออกไปจากปัจจุบันแล้วมันก็คลาดเคลื่อนไปตลอด มันคลาดเคลื่อนไป นั่นน่ะมันไม่เป็นปัจจุบัน ไม่เป็นตามความเป็นจริง ถ้าไม่เป็นตามความเป็นจริง นั้นก็เป็นอำนาจของกิเลส ถึงต้องทำความสงบของใจ
แม้แต่ทำความสงบของใจ มันก็ทำด้วยความยากลำบาก ยากลำบากเพราะกิเลสมันเคยใจของมัน เหมือนกับเราจับเด็กให้นั่งอยู่เฉยๆ เด็กจะไม่ยอมนั่งอยู่เฉยๆ ธรรมชาติของเด็กต้องวิ่งเล่นตามประสาของเขา ธรรมชาติของธาตุรู้มันเป็นธรรมชาติที่ส่งออกตลอดเวลา สิ่งที่ส่งออกตลอดเวลามันเคยธรรมชาติของมันเป็นแบบนั้น สภาวะของมันเป็นแบบนั้น
พอมันส่งออกไปแล้วส่งออกไป ไม่ส่งออกไปโดยธรรมดา ส่งออกไปแล้วยังมีกิเลสยั่วยุออกไปตลอดไป สิ่งที่ส่งออกไป พอยั่วยุพร้อมกับการยึดมั่น เห็นไหม ส่งไปในอารมณ์ ติดในอารมณ์แล้วก็ยึดมั่นในสิ่งที่ความเห็นนั้น แล้วความเห็นนั้นก็สืบต่อไป นั่นเกิดดับเกิดดับในหัวใจโดยธรรมชาติของมัน วิ่งไปตามสภาวะของเขา แล้วเราก็ไปตามสภาวะของเขา นั้นเพราะความเคยใจ สิ่งนี้เป็นธรรมชาติที่เป็นความดั้งเดิมของมัน แล้วเป็นความเคยที่เราเคยธรรมชาติที่มันทำงานตามปกติของเขาอย่างนั้น แล้วมันก็เป็นปกติตรงนั้น เพราะมันไม่เคยฟังธรรม
ถ้าเป็นฟังธรรม ธรรมคือว่าต้องมีความสงบของใจ ศีล สมาธิ ปัญญา สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาในการประพฤติปฏิบัตินี้ต้องมีความพอใจ มีการกระทำ มีความเพียร มีความตั้งใจ มีวิริยะ มีอุตสาหะยับยั้งสิ่งที่อยู่ในหัวใจเรานี่ ยับยั้งให้มันหยุดนิ่งอยู่ได้ คำบริกรรมถึงต้องใส่เข้าไปพร้อมกับสติสัมปชัญญะ
ถ้ามีสติอยู่ งานนี้เป็นงาน ทำความเพียร เดินไปเดินมาเพื่อหาอะไร? ก็เพื่อหาใจของตัวเอง เพื่อหาความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบขึ้นมามันจะจับต้องตัวเองได้ อ๋อ! นี่คือเรา ความสุขมันจะเกิดขึ้นพร้อมกับความสงบนั้น นี้คือความสุขที่มันเกิดขึ้นจากหัวใจ นั้นเป็นธรรมส่วนหนึ่ง
สิ่งนี้คือการแสวงหา นี่คือสมถธรรม
แล้ววิปัสสนาธรรมเกิดขึ้นจากการใคร่ครวญ ถ้ามีการใคร่ครวญการทำความเพียรในการก้าวเดินของใจ ใจจะก้าวเดินออกไปในวังวนของการชำระสะสางกิเลส
การทำความสงบของใจเหมือนกับเราหาเครื่องอยู่อาหาร เราหาอาหารมามีกุ้ง หอย ปู ปลาต่างๆ เราจะมาทำอาหารน่ะ เราหามาได้ หาความสงบของใจก็หากุ้ง หอย ปู ปลามาเพื่อจะทำอาหาร เพื่อบำรุงร่างกาย ให้ร่างกายนี้ได้กินอาหารนั้น เพื่อเป็นประโยชน์กับร่างกายนั้น
นี้คือหัวใจ ประโยชน์ของหัวใจ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา มันก็ได้อาหารมา ถ้าได้อาหารมาแล้วเราไม่ปรุงอาหารนั้นให้เป็นอาหารขึ้นมา อาหารนั้นก็ต้องเน่าเสียไปโดยธรรมชาติของเขา มันจะเน่าเสียไปถ้าไม่ได้วิปัสสนาแล้วมันจะเน่าเสียไป มันจะเป็นกุปปธรรม มันจะเสื่อมสภาพ มันเป็นสิ่งที่เกิดดับเกิดดับในหัวใจ
เราพยายามสร้างสม พยายามตั้งตัวขึ้นมาเพื่อให้เป็นสิ่งที่ว่าเป็นสิ่งที่ควรแก่การงาน แล้วเราก็ทำหลุดไม้หลุดมือออกไปเพราะความไม่เข้าใจ ความไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้ต้องปรุง ต้องทำให้มันสุกขึ้นมา สิ่งที่สุกขึ้นมาแล้วมันก็จะเป็นอาหารของเรา ถ้าไม่ทำให้สุกขึ้นมานะ มันก็ต่างสิ่งต่างฝ่ายต่างอยู่อย่างนั้น
สัมมาสมาธิเกิดขึ้นมาจากหัวใจแล้วมันก็ต่างอยู่ของมันอย่างนั้น มันเป็นความสุข ความสุขแน่นอน เพราะสิ่งที่มันฟุ้งซ่านทั้งหมด ลมพายุพัดอยู่รุนแรงขนาดไหน ถ้าลมพายุนั้นผ่านไป ความสงบของสิ่งที่ว่าเวลาลมพายุพัดขึ้นมา นี่คืออารมณ์ของใจมันเกิดขึ้น มันมีความปั่นป่วนอย่างนั้นในหัวใจ มันทำตัวของมันอยู่อย่างนั้น แล้วเราทำความสงบของใจเข้ามาด้วยความรู้เห็น ถ้าลมพายุมันพัดมานี่มันถึงสิ้นสุดของมันแล้วมันก็ต้องผ่านไป มันก็ดับเป็นธรรมชาติของมัน นี้คืออาการของใจ มันเป็นธรรมชาติอย่างนั้น แต่เราไม่เคยสามารถสืบต่อให้มันคงที่
สัมมาสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปปจารสมาธิ สมาธิที่มันเจริญงอกงามขึ้นมาในหัวใจ สิ่งที่เจริญงอกงามขึ้นมาในหัวใจคือสติสัมปชัญญะสืบต่อไป ความสืบต่อไปมันต้องมีอยู่ สิ่งนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม มีอยู่แล้ว ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม สิ่งนี้มีอยู่ เพียงแต่เราไม่เคยแสวงหาสิ่งนี้ เราไม่เคยทำสิ่งนี้ให้มันสืบต่อไป ให้มันเป็นขณิกะ เป็นอุปจาระ เป็นอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นมาในหัวใจ สิ่งนี้สงบขึ้นมาโดยการควบคุมได้
ความสงบของโลก ความสงบของพายุ ถ้าพายุมานี่เราไม่สามารถยับยั้งมันได้ มันสงบมันก็สงบเพราะว่ามันผ่านจากเหตุการณ์ไปแล้วมันถึงสงบ นั้นเราถึงไม่ได้เป็นสมบัติของเรา ถ้าเป็นสมบัติของเรา ถึงต้องทำสมถธรรมไง
สิ่งที่เป็นสมถะก็คือการต่อสู้กับความรุนแรงของใจ ใจรุนแรงตามจริตนิสัยของสัตว์โลก สัตว์โลกแล้วแต่ความสะสมมา เจอสิ่งของชอบใจของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ความชอบ ความชังของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน มันถึงว่าทำให้อาการสั่นไหวของใจไม่เหมือนกัน
สิ่งนี้ต้องมีการทำความสงบของใจ ต้องถูกกับจริตนิสัย ถูกกับความเห็นของตัวเอง ต้องโน้มน้าวความเห็นของตัวเองอย่างรุนแรง เพื่อจะให้มีความสงบเข้ามา ให้เป็นกุ้ง หอย ปู ปลาขึ้นมาเพื่อจะปรุงอาหาร ถ้าปรุงอาหารนี้ ร่างกายจะได้กิน นั่นน่ะเริ่มจับผลไม้ได้ เราจับผลไม้ได้ เราเริ่มปอกเปลือกผลไม้ออกไป เริ่มปอกเปลือก ถ้ามันจะปอกเปลือกได้ มันจะปอกเปลือกในความเป็นจริง โดยมรรคอริยสัจจัง สิ่งนี้ทำด้วยมือของตัวเอง เราทำกับมือ เราเห็นกับมือ เราเข้าใจกับมือ
การวิปัสสนาก็เหมือนกัน จะเกิดขึ้นในหัวใจ จะจับต้องสิ่งนี้ได้แล้วหมุนเวียนออกไปในการวิปัสสนาด้วยการแยกด้วยปัญญา ปัญญาคือความเห็นจริงตามสัจจะความจริงว่าสิ่งนี้มันเป็นธรรมชาติของเขาอยู่อย่างนั้น สิ่งนี้เป็นธรรมชาติที่มีอยู่ แต่เพราะมีกิเลสอยู่ แล้วเราถึงยับยั้งสิ่งนี้ไม่ได้
ปัจจุบันนี้เราพยายามยับยั้งกิเลสได้ จนกว่าเราจะจับกาย เวทนา จิต ธรรมขึ้นมา สิ่งนี้เป็นเปลือก เห็นไหม ใจที่หลุดพ้นออกไป ใจที่ผ่านอริยสัจออกไป สิ่งที่เป็นอริยสัจมันเป็นอาการของธรรม สิ่งที่เป็นอาการของธรรมคือการเจริญขึ้นมา การสร้างสมขึ้นมา สิ่งที่สร้างสมขึ้นมา เพื่อให้ใจได้หลุดลอดออกมาจากอริยสัจ ใจนี้เป็นอริยสัจ กลั่นออกมาจากอริยสัจแล้วใจจะพ้นออกไปจากธรรม ธรรมที่เป็นอาการ เป็นธรรมแท้ขึ้นมาในหัวใจ หัวใจจะผ่านพ้นออกไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป
เราจะปอกเปลือกกิเลส ปอกได้จริงๆ ปอกได้ด้วยมรรคอริยสัจจังในหัวใจนั้น
ใจนี้โดนกิเลสปกคลุมไง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ความไม่เข้าใจ เพราะไม่เข้าใจ เพราะความไม่รู้ สิ่งที่ไม่รู้ ไม่รู้แล้วเป็นธาตุรู้ได้อย่างไร ธาตุรู้มีอยู่ แต่รู้ตามประสากิเลสพาใช้ รู้ดิ้นรนอยู่ ใจดิ้นรนอยากจะแสวงหาทางออก ทุกข์มาก เวลาทุกข์นี้ทุกข์มาก เพราะคนมีธรรมในหัวใจ มันเปรียบเทียบได้ โลกกับธรรม โลกเป็นสิ่งที่ว่าเครื่องอยู่อาศัย เป็นสิ่งที่ร้อนอยู่ แล้วเป็นสิ่งที่ว่าสถานะ สถานะคือการเกิดมา
เราเกิดมาได้มนุษย์สมบัติมานี้เป็นสมบัติอันประเสริฐ ถ้าสถานะนั้น เราทำมาสถานะนั้นไม่ได้ เหมือนกับในลัทธิต่างๆ ที่เขาว่า โลกนี้มีเพราะมีเรา ถ้าจะทำลายนี้คือทำลายตัวเราแล้วโลกจะไม่มี ลัทธิอย่างนั้นเขาก็มีของเขา
จับธรรมส่วนหนึ่ง จับความเห็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกส่วนหนึ่งว่าโลกนี้มีอยู่ แต่โลกนี้จะขาดไป
ขาดเพราะความยึดมั่นถือมั่น ขาดเพราะความเห็นผิดอันนั้นขาดออกไปจากใจ ไม่ใช่ทำลายเรา ทำลายกิเลสต่างหาก ทำลายกิเลสที่ยึดมั่นถือมั่นในหัวใจ
สิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นในหัวใจ สถานะที่ได้มาเป็นมนุษย์นี้มันถึงเป็นมนุษย์ที่มันเป็นความทุกข์โดยธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติที่มันเกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติ สิ่งที่มันมีกิเลสอยู่ในหัวใจ มันต้องปลิวไปตามอำนาจของกระแสกรรม กระแสกรรมผลักไสให้กรรมนี้ ให้หัวใจที่มีกรรมในหัวใจนี้ปลิวไปตกในสถานะต่างๆ ตามแต่กิเลสจะขับไสไป ตามแต่กรรมแรง กรรมหนัก กรรมเบาขับไสไป แต่นี้ขับไสมาจนไปเกิดเป็นมนุษย์
สถานะที่เป็นมนุษย์นี้ แล้วเราพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนในการพ้นจากทุกข์ ในการก้าวเดินจากบันไดชั้น ๑ ชั้น ๒ ชั้น ๓ ขึ้นไป จนกว่าจะเข้าถึงหัวใจแล้วพยายามปอกเปลือกของกิเลสให้หัวใจนี้บริสุทธิ์ผุดผ่องออกมา นี้เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้
กิริยาเกิดขึ้นมาจากใจ อาการของใจเกิดจากกิริยา ธรรมนี้เป็นกิริยาทั้งหมด มันถึงเสื่อมสภาวะได้ สิ่งที่เราสะสมขึ้นมา สรรพสิ่งต่างๆ มันต้องแปรสภาพถึงจุดใดจุดหนึ่ง แม้แต่เพชรนิลจินดาก็ต้องกัดกร่อนตามธรรมชาติของเขาไป จะมีอายุขนาดไหนก็ไม่คงที่เด็ดขาด โลกนี้ไม่มีสิ่งใดคงที่เด็ดขาด ความเห็นของสถานะของเราที่เกิดมาก็ไม่คงที่เหมือนกัน มันต้องแปรสภาพ ต้องตายไปโดยสัจธรรมความจริงอย่างนั้น แต่ในปัจจุบันนี้เราได้อยู่ แล้วเราพลิกแพลง
ถ้าเราได้อยู่ เราไม่ประพฤติปฏิบัติ เราไม่ปฏิบัติธรรม มันก็มีสถานะแบบนี้ แล้วก็ทุกข์ไป ทุกข์ไปๆๆ สร้างคุณงามความดี สร้างสมคุณงามความดีเป็นบุญกุศลขึ้นไป แต่ก็กรรม เห็นไหม กรรมนี้ก็ต้องพลัดพราก พัดกระแสให้จิตนี้ตามความเกิดดับนั้นไปตามปัจจัยเครื่องอาศัยที่ใจดวงนั้นมีบุญกุศลมากน้อยขนาดไหน นั้นเป็นการทำบุญกุศล สร้างบุญกุศลขึ้นมา
แต่ในการประพฤติปฏิบัตินี้เป็นการปอกเปลือก ปอกออกไปจากใจ ปอกสิ่งที่เป็นกรรม สิ่งที่ว่าสะสมแล้วขับไสให้ใจดวงนี้ไปเกิดในสถานะต่างๆ จะไม่ให้เกิดอีก สิ่งที่ไม่เกิดอีก ยับยั้งได้ด้วยธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเกิดได้สถานะนี้แล้วเราพบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เราพอใจในการประพฤติปฏิบัตินี้ ควรจะภูมิใจในสถานะของเรา
มนุษย์ สิ่งที่มีคุณค่าในมนุษย์ที่สุดคือใจของมนุษย์ที่อยู่ในร่างกายของมนุษย์นั้น แล้วเรามีคุณ เราทรงคุณค่า เราเห็นคุณค่าของใจของเรา เราเห็นคุณค่าของหัวใจของเรา แล้วเราจะปอกสิ่งที่ว่ามันปกคลุมใจของเราให้ออกไปจากอำนาจของเรา เราต้องปอกของเราเอง
เราทำอำนาจของเรา อำนาจคือความจริงที่เกิดขึ้นมาจากการสะสม การทำความสงบของใจ การบังคับกิเลส การบังคับความฟุ้งซ่าน การบังคับต่างๆ เราต้องบังคับ บังคับเพื่อให้มันสงบเข้ามา ให้เป็นสิ่งที่เป็นพลังงานขึ้นมา
ถ้ามีพลังงานขึ้นมา มันจะมีสิ่งที่ว่ามีเครื่องมือที่จะไปปอกเปลือก ปอกกิเลสออกจากใจ ต้องมีสิ่งนี้ก่อน ว่าถ้าไม่มีกำลังแล้ว คนที่ทำอยู่เฉพาะกำลังแล้วไม่มีชั้นเชิง ก็ว่าในการต่อสู้ต้องมีชั้นเชิง มีวิธีการ อันนั้นเป็นส่วนหนึ่ง คนมีชั้นเชิง คนที่มีวิชาการมาก แต่เขาก็ต้องตายไป เขาก็ต้องหลุดออกไป หลุดตามสภาวะของเขาที่เขาต้องตายในสถานะต่างๆ ที่เขาต้องเปลี่ยนแปลงไป เขาก็ต้องเปลี่ยนไปเพราะเขาไม่มีกำลัง
สิ่งที่เป็นกำลัง เราต้องมีกำลังก่อน กำลังคือความสงบของใจ ถ้าใจสงบขึ้นมามันจะมีกำลัง ถ้าคนที่วิปัสสนาไม่เป็น ใจสงบขึ้นมาจะรับรู้สิ่งต่างๆ ส่งออกจะรับรู้สิ่งสถานะ ส่งออกไปนะ จะเห็นภูตผีปีศาจ จะเห็นอะไรก็ได้ เห็นอดีตอนาคต เห็นสถานะที่ว่าเราจะไปพบสิ่งใด เห็นสิ่งต่างๆ นี้ นั่นเพราะไม่ได้วิปัสสนา นี้คือพลังงานของใจ
ใจนี้มีพลังงานอยู่ เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก พอแค่ทำความสงบของใจจะรู้อดีต รู้ความเห็น รู้ว่าต่างๆ จะเกิดขึ้นมากับเราข้างหน้านี่คาดการณ์ข้างหน้าได้ถูกต้องเลย ความถูกต้องของอำนาจของความสงบของใจ แต่เราต้องพลิกสิ่งที่มันเป็นธรรมชาติของเขา ให้ยกขึ้นมาเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมด้วยมรรคอริยสัจจัง มรรคอันนี้ปอกเปลือกกิเลสในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำเป็นผลสำเร็จขึ้นมาเป็นองค์แรก แล้วก็วางธรรมไว้ให้ครูบาอาจารย์เดินตามเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป จนสำเร็จเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เกิดขึ้นมาจากธรรมอันนี้
เราต้องดัดแปลงจากที่ว่าส่งออกไป ส่งรับรู้สิ่งต่างๆ ให้เข้ามาเป็นมรรคให้ได้ ถ้ายกเข้ามาเป็นมรรคได้ นั่นน่ะงานชอบเกิดจากใจที่จับสติปัฏฐาน ๔ กายกับใจ ใจคืออาการของใจ ใจคือความคิด ความนึก ความปรุง ความแต่ง ถ้ามันปรุงแต่งขึ้นมา มันก็ฟุ้งซ่านออกไป แล้วเราใช้สติสัมปชัญญะไล่ต้อนเข้ามา จนสงบตัวเข้ามา
สิ่งที่สงบตัวเข้ามา สงบจากการปรุงแต่ง แต่ไม่ได้ปอกเปลือกกิเลส ถ้าปอกเปลือกกิเลส ต้องจับสิ่งที่มันฟุ้งซ่านขึ้นมา สิ่งที่มันเป็นอารมณ์แล้วจับต้องสิ่งนี้ แล้วแยกแยะสิ่งนี้ว่าเกิดได้อย่างไร ดับได้อย่างไร สิ่งที่เราเกิดดับ เราเห็นอาการเกิดดับ จนเห็นเกิดดับตามความเป็นจริง เราเห็นแล้วสิ่งนี้ก็เกิดดับโดยธรรมชาติ แล้วเราไปหลงใหลสิ่งนี้ได้อย่างไร
หลงใหลเพราะกิเลสมันทำให้เรายึดมั่น เห็นไหม คิดถึงสิ่งใด คิดถึงแก้วแหวนเงินทองก็อยากได้ คิดถึงฝ่ายความเห็นต่างๆ ก็ยึดมั่นถือมั่นตามความเห็นของตัวเองไป ความยึดมั่นถือมั่น นั่นน่ะยึดสิ่งที่คิด ยึดกาก ยึดสิ่งที่ว่าผสมกันเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้วเป็นกากทิ้งไว้ในหัวใจ สิ่งที่เป็นกากเป็นความยึดมั่นเพราะยึดมั่นผิด เพราะสิ่งนี้ปรุงแต่งขึ้นมาแล้วเราถึงยึดมั่นถือมั่นในความปรุงแต่ง ในผลที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งนั้น
สิ่งที่เป็นปรุงแต่งนั้น ถึงว่าเป็นกากที่ว่าทิ้งไว้ในหัวใจ หัวใจได้แต่กากของความคิดเฉยๆ แต่ไม่เห็นความคิด เพราะสิ่งนั้นเป็นกิเลส สิ่งนั้นคือความเคยใจ ชอบใจสิ่งใดก็คิดสิ่งนั้น ไม่ชอบใจสิ่งใดก็ผลักไสไม่ให้เกิดกับสิ่งนั้น สิ่งที่มันเกิดขึ้นโดยธรรมดา แล้วความยึดมั่นถือมั่นนั้นยึดถือไป
แต่ถ้าเราวิปัสสนาย้อนกลับเข้ามาตรงที่ว่าเกิดเพราะเหตุใด ดับเพราะเหตุใด เราเห็นการเกิดการดับของใจที่เกิดดับ เกิดดับเพราะมีสิ่งยั่วยุ สิ่งที่ยั่วยุเราเข้าใจตามความจริง เห็นไหม นี่วิธีการปอกเปลือกไง
ปอกเปลือกคือขันธ์กับใจ ใจไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์ไม่ใช่ใจ ต่างอันต่างจริงอยู่ด้วยกัน แต่สิ่งที่อยู่ด้วยกัน ถ้าเราสามารถปอกออกไป มันปอกออกไปตามหลุดออกไปโดยมรรคอริยสัจจัง ด้วยความสามัคคีของใจ มรรคสามัคคีรวมกันแล้วมันจะทำอำนาจประหัตประหารสิ่งนี้หลุดออกไปได้
แต่ถ้ามันยังไม่ถึงจุดนั้นเราก็ต้องทำบ่อยๆ ครั้งเข้า สิ่งที่เป็นผลไม้นี่ปอกแล้วมันเป็นวัตถุ มันก็ปอกเลย แต่นี้มันปอกขึ้นมาแล้วมันก็กลับเข้าไปคืนตัวเข้าอย่างเก่า ดึงแล้วมีความยึดมั่นระหว่างกิเลสกับธรรมต่อสู้ขัดขวางกันตลอด ปอกขนาดไหนมันก็เข้าไปรวมตัวอย่างเก่า เข้าไปรวมตัวอย่างเก่า เพราะว่าเห็นอาการปอก เพียงแต่เข้าใจว่าสิ่งนี้ปอกได้ อาการของใจเกิดดับจริงๆ
สิ่งที่เกิดดับของใจ จะเห็นอาการของใจว่าเกิดดับ เกิดดับเพราะสัญญารับรู้ก่อน สัญญารับรู้ แล้วสังขารปรุงแต่ง สิ่งที่ปรุงแต่งไปก็หมุนเวียนไป สติสัมปชัญญะย้อนกลับเข้ามา จะย้อนเข้าไปทันตรงไหนความคิดจะหยุดตรงนั้น ความคิดจะคิดไปไม่ได้ เพราะสติสัมปชัญญะเข้าไปสอดส่องกับความคิดนั้น นั้นวิปัสสนาเกิดขึ้นอย่างนี้ นี้คือปัญญา
ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแต่ละบุคคล บุคคลคนนั้นผู้ที่ปฏิบัตินั้นเป็นปัจจุบันกระทำกันตรงนั้น สิ่งที่ของครูบาอาจารย์นี้ เราฟังมานี้เป็นสัญญา สิ่งที่เป็นสัญญานี้เป็นต้นทุน ถ้าเป็นสัญญาแล้วมันจะไม่เป็นประโยชน์เลย เราจะก้าวเดินไปจากไหน
เราต้องเดิน ก้าวเดินจากความที่ว่าเรายืมของครูบาอาจารย์มา ใจดวงหนึ่งมอบให้อีกใจดวงหนึ่ง ใจดวงที่เข้าใจตามความเป็นจริงแล้วสามารถความเป็นจริง แล้วอธิบายสิ่งที่ว่าเกิดขึ้นจากใจดวงนั้นที่มันเคยเกิดดับแล้วทำลายกันในใจดวงนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็แสดงธรรมอย่างนี้เพื่อจะให้เราประพฤติปฏิบัติ ให้เข้าใจเรื่องสภาวะของใจ
สภาวะของใจ ติดในกาย กายคือกายของเรา สิ่งที่เป็นกายของเรา เรายึดมั่นถือมั่น เห็นว่ากายนี้เป็นเรา สรรพสิ่งนี้เป็นเรา เพราะสรรพสิ่งนี้เป็นเรา เพราะเรายึดเรา เราถึงได้ไม่คิดว่ามันเป็นการฝืนสัจธรรมความจริงของปัจจัยเครื่องอาศัย สถานะแค่มนุษย์ภพชาติหนึ่งแล้วมันก็ต้องเวียนไปในภพชาติต่างๆ สถานะที่ยึดนี้ ยึดเพราะกิเลสมันธรรมชาติของมันยึดอย่างนั้น เพราะยึดอย่างนั้นถึงได้เกิด เพราะเกิดถึงได้สถานะเรา เพราะได้สถานะเรา เราถึงเอาสถานะนั้นพลิกขึ้นมาเป็นธรรม พลิกขึ้นมาเป็นธรรมคือพลิกขึ้นมาเพื่อวิปัสสนา เพื่อให้เห็นด้วยอำนาจของใจ
ถ้าใจสงบขึ้นมา จะยกขึ้นเห็นกาย สิ่งที่เห็นกายได้ต้องมีพลังงานตัวนั้น ถ้าไม่มีพลังงานตัวนั้น มันเป็นกายโดยกายนอก เป็นกายเงา สิ่งที่เป็นเงา เป็นการคาดหมายไปว่าสิ่งใดต่างๆ สิ่งที่ว่าเป็นกาย เห็นสถานะของว่าผู้เจ็บไข้ได้ป่วย มันสลดสังเวชเข้ามา มันปล่อยวางเข้ามา มันปล่อยวางเข้ามา มันปล่อยวางเข้ามา นี้คือการหากุ้ง หอย ปู ปลาเหมือนกัน
เป็นการหาสิ่งที่ว่าเราจะเริ่มผสมขึ้นมา เราต้องลงด้วยปัญญา ให้สุกด้วยไฟ ไฟคือไฟของวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้น จะเห็นสภาวะตามความเป็นจริงว่าสิ่งนี้มันแปรสภาพตลอด ถ้าสถานะของใจตั้งไว้ได้ มีพลังงานแล้วตั้งสิ่งที่เป็นกายได้ มันจะแปรสภาพเห็นในปัจจุบันนั้น
แต่ขณะที่ว่าชีวิตเราชีวิตหนึ่ง เวลาตายไปแล้วซากศพกี่วันเน่า นี่มันต้องรอเวลา เห็นไหม เราต้องยืนรอ แต่ถ้าเราตายแล้ว เราจะไม่มีโอกาส แต่ถ้าวิปัสสนานี้มันจะเห็นเกิดขึ้นมาในปัจจุบัน ปัจจุบันแล้วมันไม่มีกาลเวลา มิติไม่มีในสมาธินั้น สมาธินี้จะยับยั้งสิ่งต่างๆ ทั้งหมด
ถ้าจิตนั้นสงบขึ้นมาแล้ว ไม่มีมิติในหัวใจ มันวิปัสสนาแล้วมันจะเกิดดับเดี๋ยวนั้น เห็นสภาวะว่าสิ่งที่ต้องใช้เวลา ๘o ปี ๑๐๐ ปี เห็นของชีวิตหนึ่งมันจะเห็นโดยปัจจุบันเดี๋ยวนั้น แล้วความเห็นรู้สึกเดี๋ยวนั้นที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น มันจะสลดสังเวชเดี๋ยวนั้น แล้วมันจะเข้าใจตามความจริงเดี๋ยวนั้น เป็นขั้นเป็นตอน เป็นการปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอน นี้คือปอกเปลือกกิเลส ถ้าจะปอกเปลือกกิเลสได้ ต้องปอกอย่างนี้เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป
ปอกกลางความเห็นผิด สิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นกายนี้เป็นของเรา สรรพสิ่งนี้เป็นเรา โดยจิตใต้สำนึก โดยความเป็นจริงความศึกษาธรรม เราศึกษามาเป็นสุตมยปัญญา นี้เป็นสิ่งที่ลอยอยู่บนเหนือน้ำ สิ่งที่เป็นเหนือน้ำ ภูเขาน้ำแข็งลอยบนเหนือน้ำนี้เล็กน้อยมาก สิ่งที่อยู่ใต้น้ำ จมอยู่ในน้ำนี้จะมากกว่า นี้ความยึดมั่นถือมั่นของเรามันมีมากกว่า มันถึงปล่อยวางไม่ได้ไง
ปัญญาในสุตมยปัญญาไม่ใช่ปัญญาฆ่ากิเลส ชำระกิเลสไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ภูเขาน้ำแข็ง สิ่งที่ลอยมาเหนือน้ำ เราเห็นเหนือน้ำมาว่าเป็นน้ำแข็ง เราแล่นเรืออยู่เราก็ต้องหลบสิ่งนี้ออกไป เพราะมันทำให้เรือเราจมได้ นี้ความเห็นของเราก็เหมือนกัน สิ่งที่เห็นน่ะเห็นเฉพาะเป็นภูเขาน้ำแข็ง มันก็ทำให้สงบตัวลงได้ ความสงบตัวลง เห็นสิ่งต่างๆ เห็นกายภายนอก นั้นถึงไม่ใช่การปอกเปลือกกิเลส มันเห็นกายเข้ามาแล้วมันปล่อยวางเข้ามา มันเป็นการแสวงหาอาวุธ แสวงหาเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อจะไปใช้ในการเป็นผลงานของเราขึ้นมา
ถ้าเรามีเครื่องไม้เครื่องมือ ผลงานขึ้นมา เราจะทำสิ่งต่างๆ ประสบความสำเร็จ เราไม่มีเครื่องมือ เราก็ได้แต่นึกคิดกันไป นี่เป็นการจินตนาการ จินตมยปัญญาว่าเราจะได้ผลได้ประโยชน์เมื่อไหร่ เราก็คิดของเราไปตลอด จินตมยปัญญาจนเราใคร่ครวญขึ้นมา
ถึงที่สุด ธรรมถ้าเราประพฤติปฏิบัติจะหลงอยู่ จะไม่เข้าใจอยู่ จะมีกิเลสอยู่ ก็น่าเห็นใจ เพราะกิเลสนี้มันเป็นสิ่งที่เหนียวแน่นในหัวใจ แต่ในการกระทำของเรา เราต้องก้าวเดินตลอด เราจะไม่ย่ำอยู่กับที่ ต้องพยายามก้าวเดินไป สิ่งนั้นน่ะ ตำแหน่งนั้น ตำแหน่งที่ว่าเราพิจารณาอยู่ ต้องพิจารณาตรงนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะขาดไปขนาดไหนมันก็เกิดอีก สิ่งที่เกิดอีก จับต้องได้ นั้นมันยังมีอยู่ สิ่งใดมีอยู่สิ่งนั้นคือตัวกิเลส กิเลสนี้เป็นนามธรรม
ภวาสวะ ถ้าอาการของใจนี้เป็นความยึดมั่นถือมั่นของใจ ใจนี้เป็นภพอันหนึ่ง ก็ยึดมั่นถือมั่นสิ่งนี้ ถ้าจับสิ่งนี้ได้ ก็ทำลายสิ่งนั้นไปบ่อยครั้งเข้าบ่อยครั้งเข้า ภาวะของใจหยาบมากนะถ้าในการประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุด สิ่งนี้เป็นสิ่งที่หยาบมาก เพราะมันจะมีสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปในหัวใจ
เราจะปอกเปลือกกิเลส มันจะปอกเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป จนถึงไปปอกจนถึงเนื้อของใจ กิเลสจะหลุดเป็นชั้นๆ ถึงเนื้อของใจ แต่สิ่งนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่สะสมอยู่ในหัวใจตลอดไป
ทีนี้สิ่งที่ว่าเราพยายามก้าวเดิน มันเป็นการทำยาก ยากตรงเริ่มต้นนี้ ยากตรงวิธีการคนยังทำงานไม่เป็น ถ้าคนภาวนาเป็น ทำงานเป็น การก้าวเดินของปัญญามันจะเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป จะรู้วิธีการแล้วมันจะก้าวเดินง่ายขึ้นไป
ฉะนั้นมันสิ่งที่ทำยากเพราะมันไม่เคย ไม่เคยถึงต้องระมัดระวังตลอด ระมัดระวังแล้วสร้างสม ตั้งสติให้ดี แล้วจดจ่อสิ่งที่การประพฤติปฏิบัตินั้น มันเป็นประโยชน์ขึ้นมาเราก็แยกแยะออกไป แยกแยะออกไป
กำลังไม่พอแยกแยะแล้วมันเป็นไปที่ว่ามันไม่สะดวกสบาย ถ้าเราแยกแยะเป็นชั้นเป็นตอน สิ่งนั้นเป็นขันธ์ นี่เป็นขันธ์ นี่เป็นเวทนา ปล่อยวางอย่างนั้น ปล่อย มันจะปล่อยถ้ากำลังพอ ถ้ากำลังไม่พอ มันแยกแล้วมันแยกไม่ออก แยกแล้วก็เป็นเรา สิ่งนี้เป็นเรา มันแยกออก มันกดถ่วงกัน ย้อนกลับมาทำความสงบของใจ ถ้าใจสงบขึ้นมา พลังงานเกิดขึ้นมา ย้อนกลับเข้าไป นี้เดินก้าวเดินเข้าไปวิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐานต้องไปพร้อมกัน สิ่งที่ไปพร้อมกัน มันก็มรรคสามัคคี
มรรคสามัคคีเพราะสัมมาสมาธิ ปัญญาดำริชอบ ความเห็นชอบ ความเพียรชอบ ถ้ารวมตัวกันมันจะสามัคคีกัน สามัคคีรวมตัวถึง ความเห็นว่ามรรคนี้รวมตัวกัน นั้นคือการปอกเปลือกกิเลสขาดออกไปจากใจ กิเลสนี้จะขาดออกไปจากใจ ขันธ์อย่างหยาบๆ ที่ยึดถือกายเป็นเรา เราเป็นกาย สักกายทิฏฐิ ๒o เกิดขึ้นมาจากการยึดมั่นถือมั่นตรงนี้ แล้วเราใช้วิปัสสนาญาณของเราจนชำระขาดออกไปจากใจ นี้คือการปอกเปลือกกิเลส
กิเลสอย่างหยาบๆ นี้หลุดออกไปจากใจ หลุดออกไปจากใจ ความสุขนี้ไม่ต้องบอก ความสุขนี้จากใจดวงนั้นจะมีความสุขโดยความสุขมาก สุขอันนี้เป็นสุขเฉพาะผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเท่านั้น ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถึงจุดนั้นจะมีความเวิ้งว้างมีความสุข สุขพอใจของตัวเอง
แต่สุขไม่มีทางโลก โลกไม่มี เพราะผู้ที่เห็นมรรคสามัคคีนี้เท่านั้นเป็นผู้ที่ชำระกิเลสออกไปจากใจ หลุดออกไปจากใจ มีความสุข สุขถึงไม่ต้องบอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นความจริง เราพยายามกำหนดทุกข์แล้วย้อนกลับเข้าไปหาเหตุคือสมุทัยที่ความยึดมั่นถือมั่นของใจ
แล้วมันปล่อยวางตามความเป็นจริง นั้นเราปล่อยวาง ปล่อยวางก็เป็นผลงานของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นสร้างสมขึ้นมาแล้วต้องก้าวเดินต่อไป ก้าวเดินเข้าไปเพื่อชำระสิ่งที่ว่าเป็นขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียดในหัวใจ ก้าวเดินเข้าไปเพื่อให้ใจนี้พ้นออกไปจากกิเลส พ้นจากการเกิดตาย
สิ่งที่ได้ธรรมมาในหัวใจนี้ ผู้ที่ได้ธรรมมาในหัวใจ นางวิสาขาเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ได้พระโสดาบันมา แล้วพอใจในผลงานเป็นพระโสดาบันนั้น ก็หัวใจนั้นเป็นพระโสดาบัน เข้าใจตามความเป็นจริง เวลาหลานตาย ร้องไห้มาหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า เป็นเพราะอะไร?
หลานตาย! หลานตาย!
คนในโลกนี้ไม่เคยตายหรือ ถ้าคนในโลกนี้ตายทุกวัน เธอจะไม่ต้องร้องไห้อย่างนี้ทุกวันหรือ?
เห็นไหมพระโสดาบัน เวลาพระพุทธเจ้าเตือนนะ จะเข้าใจ จะปล่อยวางได้ทันที แต่พอหลานตายก็ยังยึดอยู่ ใจมีความสุขแต่ไม่มีสติสัมปชัญญะพร้อมมูล ถึงต้องก้าวเดินต่อไป
พระอานนท์เป็นพระโสดาบัน แล้วเวลาอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ เวลาอุปัฏฐากอยู่ งานมีอยู่ ไม่มีเวลาประพฤติปฏิบัติ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระอานนท์ก็ทำต่อ เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาโดยที่ว่าในวันสังคายนา สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา
จิตนี้ก็เหมือนกัน เราแยกกิเลสอย่างหยาบออกไป เห็นสักกายทิฏฐิ ความหลุดออกไปของใจ มันมีอยู่ในหัวใจ มันสุขรู้อยู่ในหัวใจ เป็นปัจจัตตัง นี่ปอกเปลือกกิเลสออกไปชั้นหนึ่ง แล้วเราก็ก้าวเดินต่อไปเหมือนพระอานนท์ที่ทำต่อไป เราต้องก้าวเดินต่อไป เราไม่พอใจในผลงานเท่านี้
ถ้าพอใจในผลงานเท่านี้ก็เหมือนนางวิสาขาได้พระโสดาบันไปแล้วก็ต้องตายไป ตายไปพร้อมกับพระโสดาบันนั้น ก็ต้องตายไปโดยเป็นพระอริยบุคคลในสถานะที่ไปเสวยนั้น นี้เราจะทำของเราตลอดต่อไปข้างหน้า เราถึงต้องพยายามยกขึ้นวิปัสสนา ทำความสงบของใจ มรรค ๔ ผล ๔ มรรคที่จะเกิดขึ้นมานี้เป็นมรรคที่จะละเอียดขึ้นไป
สิ่งที่ละเอียดขึ้นไป งานอันละเอียดขึ้นมา เราต้องมีความรอบคอบขึ้นไปเพื่อจะย้อนกลับเข้ามาจับอาการของใจให้ได้ ถ้าจับอาการของใจไม่ได้ มันก็ไม่เป็นงาน สิ่งที่ไม่เป็นงาน เห็นไหม ความสงบของใจคือหาอุปกรณ์ หากุ้ง หอย ปู ปลามาเพื่อจะปรุงอาหารตลอดไป
สิ่งที่ปรุงอาหาร ปรุงอาหารด้วยมรรคสามัคคี ถ้ามรรคสามัคคีอาหารนั้นสุก ถ้าอาหารนั้นสุก ใจนั้นสุกเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ได้ผลงานของใจ ใจได้ดื่มกินอาหารนั้น อาหารนั้นคือรสของธรรมไง รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง รสต่างๆ ในโลกนี้ทำให้โลกติดข้องอยู่นั้น นั้นเป็นสิ่งที่ว่าทำให้ติดข้อง เพราะเราไม่เคยเห็นธรรม แล้วรสของธรรม เราต้องสร้างธรรมขึ้นมาแล้วเราได้ดื่มกินธรรมของเราขึ้นมาเอง ธรรมของเราถึงจะเกิดขึ้น
ธรรมคืออาการของใจ ใจทำความสงบของใจ สัมมาสมาธินี้เป็นธรรมส่วนหนึ่ง ธรรมคือความสงบของใจ แล้วใจนี้จับต้องกิเลส จับต้องสติปัฏฐาน ๔ เพราะกิเลสอาศัยธาตุขันธ์นี้เป็นที่อยู่อาศัย ธาตุกับขันธ์ ขันธ์ ๕ กับธาตุ ๔ นี้กิเลสอาศัยสิ่งนี้ออกหากิน ออกหาสิ่งที่ว่ามันดิ้นรนออกไป แล้วไปยึดมั่นถือมั่นพอใจสิ่งใดก็เอาสิ่งนั้นเป็นอาหาร เราก็ได้แต่กากเหมือนกัน
กากคือกากของความคิด ความคิดที่เกาะเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ นั้น เราต้องพิจารณาให้เห็นโทษของมัน...จริงอยู่ มันจะปล่อยสิ่งที่เป็นส่วนที่อย่างหยาบเข้ามา แต่สิ่งที่เป็นอย่างละเอียดเข้าไปในหัวใจนี้มันก็ต้องยุแหย่ในหัวใจ ยุแหย่ให้ใจนี้ข้องเกี่ยวกับสิ่งนี้ตลอดไป ข้องเกี่ยวกับสิ่งที่เคยใจ
ใจเป็น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ในหัวใจนั่นล่ะ อาศัยสิ่งที่ต่างๆ นี้ต่อเนื่องออกมา เพื่อออกไปหารูป รส กลิ่น เสียงภายนอก ผ่านทางอายตนะ กระทบรูปที่เราเคยพอใจมันก็จะพอใจเหมือนอย่างเก่านั้น เพราะกิเลสมันยังมีอยู่ เราถึงต้องพยายามควบคุมใจแล้วย้อนกลับย้อนกลับตลอด เอาพลังงานนั้นย้อนกลับเข้าไปจับต้องสติปัฏฐาน ๔ ให้ได้
ถ้าจับต้องสติปัฏฐาน ๔ ขึ้นไปได้งานนี้จะเกิดขึ้น งานนี้จะเกิดขึ้นก็เป็นวิปัสสนา
สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานเกิดขึ้นไปพร้อมกับการวิปัสสนาไป วิปัสสนาคือการใคร่ครวญในปัญญา นี้คือการพยายามปอกออกไป ปอกขันธ์กับจิตนี้ให้แยกออกจากกัน แยกออกจากกันไป
การยึดมั่นถือมั่นในธาตุ ๔ มันก็เห็นว่าธาตุนี้...เข้าใจว่าสักกายทิฏฐิ เข้าใจว่าไม่ใช่เรา แต่อุปาทานในการยึด อุปาทานในส่วนที่ว่าหลงไปในร่างกายมันยังมีอยู่โดยกายใน สิ่งที่เป็นกายในกับหัวใจที่ละเอียดอยู่ มันก็เกาะเกี่ยวสิ่งนี้ เกาะเกี่ยวสิ่งนี้แล้วมันก็หมุนเวียนไปในธรรมชาติของเขา ในการเกิดดับของใจก็อาศัยสิ่งนี้เกิดดับแล้วก็ยึดมั่นถือมั่น
ยึดมั่นถือมั่นอะไร? ยึดมั่นถือมั่นในส่วนอันละเอียด แล้วก็เป็นความทุกข์อันละเอียด ความทุกข์อันที่ไม่เข้าใจ มันไม่เข้าใจ มันถึงต้องประสบกับความทุกข์ตลอดไป ถ้ามันเข้าใจ มันจะประสบกับความทุกข์ไหม?
เราเดินไปน่ะ เราเดินไปบนถนน ถ้าเราเจอขวากเจอหนาม เราก็หลบหลีกขวากหนามนั้นเพื่อจะไม่ให้เราเจ็บ แต่หัวใจมันโดนกิเลสปิดบังไว้ มันไม่เข้าใจว่าขวากว่าหนาม มันเหยียบย่ำไปตลอด แล้วมันก็ได้เลือดโซกมากับเท้าของมันตลอดไป
นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อกิเลสมันปิดบังหัวใจอยู่ มันก็เวียนไปตามประสาอำนาจของเขา เวียนไปอย่างนั้น เหยียบย่ำไปในเรื่องของความเห็นผิดตลอดไป ได้แต่ความทุกข์มา ความทุกข์นั้นก็เป็นความทุกข์ของใจ สิ่งนี้มันเกิดมาจากไหน? เกิดมาจากเราไปยึดเอง เกิดจากเราไม่เข้าใจแล้วหมุนออกไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งต่างๆ นั้น แล้วก็ทุกข์ยากกับสิ่งเหล่านั้นไป ทุกข์ยากในความยึดมั่น
สิ่งที่เป็นความหยาบ สิ่งที่หยาบนั้นมันปล่อยวางเข้ามาแล้วรู้ สิ่งที่ปล่อยวางเข้ามาแล้วคือรู้ว่าปล่อยวาง อันนั้นเป็นความปล่อยวาง แต่ที่มันยึดอยู่ในหัวใจนี้อะไร? สิ่งที่ยึดในหัวใจมันก็เป็นกิเลสอันอย่างละเอียดที่มันยึด
สิ่งที่ยึดนี่มรรคมันหมุนออกไป ก็ต้องย้อนกลับเข้ามาวิปัสสนา นี้คือปัญญา ปัญญาจะใคร่ครวญ ปัญญาใคร่ครวญขนาดไหน ใคร่ครวญเข้าไปจนถึงที่สุด ถึงที่สุดแห่งปัญญานี้มันก็จะปล่อยวางได้เป็นครั้งเป็นคราว ปล่อยวางได้เป็นครั้งเป็นคราวก่อน บางทีมันไม่ถึงกับทีเดียวจะปอกเปลือกกิเลสได้เลย มันก็ต้องพยายามซ้ำ พยายามวิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการที่ว่าวิปัสสนา ในการยึดมั่นถือมั่นของใจ
ใจนี่มันยึดความเห็นของมันเอง มันถึงติดออกไปข้างนอก วิปัสสนาเข้ามา ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ มันจะคืนสภาวะเก่าของเขา ใจมันยึด มันยึดไม่ได้มันก็ต้องปล่อยวาง มันปล่อยวาง ปล่อยวาง จนถึงที่สุดมันก็ต้องปล่อยวางโดยสมุจเฉทปหาน สมุจเฉทปหานขึ้นมา กายเป็นกาย จิตเป็นจิต จะแยกออกจากกัน
สิ่งที่แยกออกจากกัน นั่นน่ะมันเป็นความเห็นจากตาใน เห็นจากตาธรรม นี่รู้ธรรมต้องรู้จากหัวใจเป็นผู้รู้ เป็นปัจจัตตังรู้เฉพาะใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะมีความสุข ความสุขจากความทุกข์ที่เราทุกข์ยากอยู่ ทุกข์ยากอยู่เพราะเราพยายามฝืนตน ฝืนตนก็ฝืนกับกิเลส เพราะกิเลสมันอยู่กับเรา มันอยู่กับเรา เราต้องฝืนเรา ฝืนเราเพื่อจะฝืนกิเลส
แล้วเราสะสมขึ้นไปจนกว่ากิเลสมันหลุดออกไปจากใจ มันเป็นผลงานของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะมีความสุข มีความสุขนี้เป็นพื้นฐาน พื้นฐานอยู่กับสุขนั้น จนติดสุขนั้นก็ได้ ถ้าไม่ติดสุขนั้น เราต้องแยกออกไปเพื่อจะทำงานต่อไป มันยังมีงานต่อไป งานอันละเอียดอ่อนขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เพราะว่ากิเลสมันเข้าไปเกือบถึงหัวใจแล้ว มันถอยร่นเข้ามา สิ่งที่ถอยร่นเข้ามา เราต้องสร้างมหาสติ-มหาปัญญา
เวลาประพฤติปฏิบัตินะ สติปัญญาเรายังล้มลุกคลุกคลานเลย แล้วมหาสติ-มหาปัญญานี้มันจะมาจากไหน มันจะเป็นไปไม่ได้ เราจะเป็นมหาสติ-มหาปัญญาไม่ได้ มันก็เป็นไปจากหัวใจนี่แหละ
สิ่งที่เป็นธาตุรู้นี่มันพัฒนาได้ทั้งหมด สิ่งที่มันพัฒนาเพราะมันพอใจพัฒนา แล้วมันพยายามฝึกฝนของมันขึ้นมาเอง สะสมขึ้นไป สิ่งที่สะสมได้ เศรษฐี มหาเศรษฐีเกิดมาจากไหน เกิดมาจากที่เขาสร้างสมตัวเขาเองขึ้นมาทั้งนั้นน่ะ เศรษฐีก็มาจากผู้ที่ทำมาหากินล่วงขึ้นไปจนพ้นมีสะสมมีสมบัติของเราขึ้นมา
ถ้าหัวใจผู้ประพฤติปฏิบัติสะสมใจขึ้นมามันก็เป็นไปได้ มหาสติ-มหาปัญญาก็เกิดขึ้นมาจากใจเราได้ เพราะมันเกิดขึ้นมาจากใจ
สติมาจากไหน สติไม่ใช่ใจ ใจนี้เวลาระลึกเป็นสติอยู่ เวลามันระลึกแล้วเดี๋ยวมันก็เผอเรอไป มันระลึก มันก็เกิดขึ้นมาตลอด ระลึกขึ้นมาตลอด ระลึกขึ้นมาตลอด สติมันก็ละเอียดอ่อนเข้าไปเรื่อยๆ แล้วเราสะสม เราพยายามชำระกิเลสเข้าไปจนมันถอยร่นเข้าไปใกล้ใจ สิ่งที่ใกล้ใจ สติปัญญามันจะละเอียดขึ้นไป มหาสติ-มหาปัญญามันจะเป็นไปแบบนั้น มันไม่เป็นไปโดยอัตโนมัติ มันเป็นไปแบบการฝึกฝน แต่มันเป็นไปเพราะพื้นฐานของใจที่มันเกิดจากใจ
สิ่งที่พลังงานเกิดจากใจมีอยู่ ใจระลึกได้มันก็เกิดขึ้นตลอดเวลา นี่มันเกิดขึ้นมาจากใจ แต่มันไม่เกิดขึ้นมาโดยการไม่ฝึกฝน เราถึงต้องฝึกฝนพยายามเกิดมหาสติ-มหาปัญญาขึ้นมา ถ้าเกิดมหาสติ-มหาปัญญาขึ้นมา แล้วออกไง ออกหากุ้ง หอย ปู ปลาอันละเอียด กุ้ง หอย ปู ปลาที่เราจะมายกขึ้นวิปัสสนาได้ เราจะทำให้มันสุกขึ้นมาได้เพื่อเป็นอาหาร เพื่อให้ความเข้าใจเป็นอาการของธรรม อาการของธรรมที่จะชำระกิเลสอยู่ในหัวใจของเรา เราต้องยกขึ้นพยายามสะสมขึ้นมา แล้วย้อนกลับเข้ามาจับ พยายามค้นคว้าให้ได้ ถ้าค้นคว้าได้นั้นก็จับต้องได้
ถ้าค้นคว้าไม่ได้มันก็ติดความสงบ ความสุข เพราะมีความสุขเป็นพื้นฐานที่รองรับอาการนี้อยู่ มันจะมีความสุข จะตายมันก็ตายโดยสถานะที่ว่ามันจะไปเกิดขนาดไหนมันก็พอใจ มันรู้ที่ว่ามันมีทางไปไง
แต่เดิมเราจะทุกข์ยากมาก เราจะไม่รู้ว่าเราตายแล้วเราจะไปไหน เราถึงห่วงอาลัยอาวรณ์ในชีวิต อาลัยชีวิตนี่มันเป็นตามอำนาจของกรรม แต่แล้วตั้งแต่ศรัทธา อจลศรัทธาขึ้นมา พ้นอจลศรัทธาขึ้นมา เข้าใจธรรม เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้ามันตายไป มันก็มีสติสัมปชัญญะ
คนเราจะตาย มันจะย้อนกลับมาที่ใจ ใจนี้หลุดออกไปจากร่างนี้ เวลาย้อนกลับมาจากร่างนี่มันสะเทือนเข้ามา มันสะเทือนพร้อมกับสติย้อนกลับเข้ามาตลอด นี้มันมีสติขนาดนี้ มันก็ถึงว่ามันจะติดสุขของมันตลอดไป เพราะกิเลสอันละเอียดมันปิดบังไว้ไง เราถึงสร้างมหาสติ-มหาปัญญาขึ้นมาเพื่อย้อนกลับเข้ามาพยายามวิปัสสนาให้ได้ ย้อนกลับขึ้นไปจับอสุภะ-อสุภัง จับขันธ์อันละเอียดสุด
สิ่งที่ใกล้หัวใจที่สุดอยู่ในนี้ ถ้าจับตรงนี้ได้ งานจะเกิดจากตรงนี้ ถ้างานเกิดขึ้นมาแล้ว นั้นคือการวิเคราะห์ พยายามค้นคว้าออกไป แยกแยะออกไปด้วยพลังงาน ด้วยอำนาจของมหาสติ-มหาปัญญา สัมมาสมาธิอันละเอียดอ่อน ถ้ามีสัมมาสมาธิอันละเอียดอ่อนนี้มันเป็นพลังงานของใจ
ถ้าใจมีพลังงาน มันจะทำงานได้ ถ้าใจอ่อนแอ ใจก็โดนกิเลสนี่กลบเกลื่อนไป สิ่งที่กลบเกลื่อนไปก็ล้มลุกคลุกคลานไป มีแต่ถอยนะ วิปัสสนาแล้วก็ถอย วิปัสสนาแล้วก็ถอย จับได้แล้วอยู่ก็ยังหลุดไม้หลุดมือตลอด ต้องพยายามสร้างความเข้มแข็งขึ้นมา
ถ้าสร้างความเข้มแข็งขึ้นมา จะต่อสู้กับกิเลสได้ กิเลสไม่ยอมอ่อนข้อให้เราหรอก กิเลสไม่ยอมอ่อนข้อให้ธรรม กิเลสจะต้องพยายามสร้างขึ้นมาให้มีอำนาจเหนือธรรมให้ได้ แต่ธรรมเกิดขึ้นมาจากเราสะสม เราพยายามวิปัสสนาของเราขึ้นไป ธรรมนี้เกิดขึ้นมาจากเรา เราสู้ไม่ไหว เราก็ยันไว้ก่อนแล้วทำความสงบของใจเพื่อกลับไปต่อสู้ใหม่ ถ้าอำนาจของเราพอ จะสู้กับสิ่งนี้ได้
สิ่งนี้สู้ได้ ทำได้ เพราะใจนี้มันเกิดตายเกิดตายมาโดนอำนาจอันนี้ควบคุมอยู่ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำได้ก่อนแล้วสิ่งที่มีเครื่องยืนยันว่าทำได้แน่นอน ถ้าเราทำได้แน่นอน ทำไมเราทำไม่ได้ เราทำไม่ได้อยู่นี้เพราะเราไม่สู้ เพราะเราไม่มีกำลังใจ ถ้ามีกำลังใจขึ้นมา สรรพสิ่งนี้มันเป็นกิเลส มันเป็นนามธรรม อำนาจของธรรมที่เกิดจากเรานี้ก็เป็นนามธรรม
สิ่งที่เป็นนามธรรม เราสร้างสมขึ้นมาจนเราเห็นเป็นวิปัสสนา สิ่งที่เป็นวิปัสสนานี้เหมือนกับรูปธรรมของใจ ใจนี้จะเห็นเป็นรูปธรรม เห็นเป็นสิ่งนี้เป็นการเคลื่อนไหวไปในหัวใจ แล้วเคลื่อนไหวไปในหัวใจทำลายกิเลสออกไป ทำลายกิเลสออกไป ทำลายกามราคะไง ทำลายเรื่องของกิเลส เรื่องของกามราคะ กามราคะในหัวใจนั้น
สิ่งนี้ติดในหัวใจ หัวใจจับต้องอยู่กับสิ่งนี้แล้วกลืนกินสิ่งนี้ตลอดไป ทุกข์ยากเกิดจากตรงนี้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่รุนแรงที่สุด ในการประพฤติปฏิบัติ ไม่มีวิปัสสนาช่วงไหนจะรุนแรงเท่าตรงนี้ ตรงนี้จะรุนแรงมาก รุนแรงเพราะความเคยใจ ใจมีสิ่งนี้เป็นการเกิดการตายในภพชาติ การเกิดการตายมันสะสมมา สะสมมา แล้วมันกี่ภพกี่ชาติ ไม่มีต้นไม่มีปลาย
การเกิดของสัตว์โลกไม่มีต้นไม่มีปลาย หมุนเปลี่ยนไปอำนาจของมัน แล้วมันสะสมลงไว้ที่ใจดวงนั้น มันถึงเกาะเกี่ยวเป็นแก่นของกิเลส สิ่งที่เป็นแก่นของกิเลสแล้วเราทำแบบชุบมือเปิบ มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะให้กิเลสนี้มันขาดออกไปจากใจ ถึงจะล้มลุกคลุกคลานขนาดไหนก็ต้องฝืนใจสู้ก่อน ฝืนใจสู้ไป ยับยั้งสิ่งนี้ จนสิ่งนี้อ่อนตัวลง อ่อนตัวลง
สิ่งนี้อ่อนตัวลงเพราะอำนาจของธรรมเหนือขึ้น ความวิปัสสนาแล้วมันปล่อยวาง มันเข้าใจสิ่งนั้น เห็นสภาวะสิ่งนั้น สิ่งนี้มันยุบยอบไปเพราะอำนาจของธรรมได้ สิ่งที่มีอำนาจเหนือเรา เราแบกของไว้หนักมากเพราะเราไม่มีกำลังพอ ถ้าเรามีกำลังพอ ของที่แบกอยู่มันจะเบาลง เบาลง เพราะเราสร้างพลังงานของเราขึ้นมา สิ่งที่เบาลงน่ะ จนเราสามารถสลัดสิ่งนั้นทิ้งได้จากใจ
นี้ก็เหมือนกัน เราวิปัสสนาของเราเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ความเข้าใจ ความเห็นแล้วมันจะปล่อยวาง ปล่อยวาง มันหลอกละเอียดอ่อน ขั้นของกามราคะนี้ ขั้นของความรุนแรงนี้มันละเอียดอ่อนมาก มันพลิกแพลง มันจะสงวนรักษาชีวิตของมันด้วยสุดความสามารถของเขา
นี้ปัญญาก็ต้องละเอียดอ่อนตามเข้าไป ตามเข้าไปเผาไหม้เข้าไปตรงนั้น ตบะของธรรมเผาไหม้เข้าไปในหัวใจ เผาไหม้สิ่งที่ว่ามันเคยใจอยู่นั้น สิ่งที่เคยใจ สิ่งที่ละเอียดอ่อนแล้วสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นเพราะไม่รู้ ไม่รู้ว่าสิ่งนี้มันเป็นอสุภะ-อสุภัง
สิ่งที่เป็นอสุภะ ความคิดอันสกปรก ความคิดโสมมในหัวใจ เพราะมันพอใจแล้วมันถึงยอมจำนนสิ่งที่เป็นกิเลส แล้วก็คลุกคลีกันอยู่อย่างนั้น ความพอใจของเรา สิ่งที่ไม่เป็นพรหมจรรย์
สิ่งที่เป็นพรหมจรรย์ต้องเป็นหนึ่ง สิ่งที่เป็นพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ในหัวใจนั้นต้องผ่านพ้นไปจากกามราคะที่มันสืบต่อกัน ระหว่างขันธ์กับจิตนี้มันกระทบกระเทือนกันนั้น มันสืบต่อกันอยู่อย่างนั้น มันถึงหมุนออกไปเป็นกามออกไป แต่สิ่งที่เป็นพรหมจรรย์ต้องให้เป็นหนึ่งเดียว สิ่งที่เป็นหนึ่งเดียวมันต้องไม่เกาะเกี่ยวกัน วิปัสสนาซ้ำตรงนี้ ซ้ำตรงนี้ ด้วยปัญญาของเรา ปัญญาใคร่ครวญเข้าไป
เริ่มต้นจากเริ่มปล่อย ปล่อยแล้วว่างหมด ความว่างของใจว่าสิ่งนี้เป็นผล ผลขึ้นมาจากการปฏิบัติ เดี๋ยวมันก็เกิดอีก สิ่งที่เกิดอีก เกิดเพราะจากใจนั้นมันปล่อย กิเลสมันหลบตัวลงแล้วมันซ่อนตัวอยู่ในนั้น พอธรรมเริ่ม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา พลังงานของเราอ่อนตัวลง อ่อนลง มันก็แสดงตัวขึ้นมา สิ่งที่แสดงตัวขึ้นมา มันแสดงตัวขึ้นมามันก็พอใจ สิ่งที่พอใจมันก็ยังอยู่กับใจอยู่อย่างนั้น ต้องพยายามวิปัสสนาซ้ำเข้าไปอีก แยกแยะมันออกไป นี้เป็นวิปัสสนาญาณ ญาณหยั่งรู้ในหัวใจไง
สิ่งที่ว่าเป็นปัญญาญาณที่จะชำระกิเลส เกิดขึ้นมาจากเราประพฤติปฏิบัติ เราค้นคว้าของเรา ค้นคว้าแล้วฟาดฟันกับกิเลส ฟาดฟันกับความรู้สึกของใจนั่นน่ะ กิเลสนี้มันเกี่ยวกับขันธ์ ขันธ์เห็นไหม เวทนา วิญญาณรับรู้ กับความรู้สึกของใจที่อันละเอียดอ่อนในหัวใจนั้นน่ะ ฟาดฟันลงตรงนั้นน่ะ มันต้องทำลายสิ่งต่างๆ สงวนรักษาสิ่งต่างๆ ไว้ไม่ได้เลย
สิ่งที่เป็นอาการของใจ สิ่งที่เป็นอารมณ์รู้สึก สิ่งที่ต่างๆ ในหัวใจต้องทำลาย ต้องปอกเปลือกให้ได้ ถ้ามันเป็นสิ่งที่ละเอียดขึ้นไป เราเห็นว่าปอกแต่สิ่งที่ว่าเป็นเปลือกอันที่เป็นวัตถุ มาปอกออกมาจากสิ่งที่หยาบๆ แล้วสิ่งนี้มันปล่อยวางแล้วมันเข้าใจว่าเป็นธรรม เข้าใจว่าเป็นธรรม นี่กิเลสมันจะหลอกตรงนี้ หลอกว่าเข้าใจว่าเป็นธรรม
พอเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรมแล้ว สิ่งที่ปอกเปลือกสำเร็จรูปแล้ว มันก็สงวนรักษาสิ่งนี้ ถ้าสงวนรักษาเมื่อไหร่ นั้นคือกิเลส สิ่งที่สงวนรักษา มันมีถึงสงวนรักษาใช่ไหม ถ้ามันไม่มี เราจะไปสงวนรักษาอะไร ถ้าไม่เป็นกิเลส มันมีตัวตนอยู่ เราจะสงวนรักษาสิ่งนั้น ถ้าสงวนรักษาสิ่งนั้น ก็เราหลงกิเลสแล้ว โดนกิเลสมันหลอกแล้ว
พอโดนหลอกแล้วเราก็สงวนรักษาสิ่งนี้ นี่ว่าง รักษาความว่างไว้ รักษาไว้ พอรักษาความว่างไป ความว่างนี้ต้องรักษา สิ่งที่รักษา ใครรักษา รักษามันก็ต้องแสดงตัวของมันขึ้นมา จับต้องอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ได้ นั้นก็ต้องวิปัสสนาซ้ำอีก ซ้ำบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า จะมีสิ่งที่เป็นอารมณ์ สิ่งที่เป็นความรู้สึกไม่ได้เลย
ถ้ามีความรู้สึกเป็นอารมณ์ได้ สิ่งนั้นคือวิปัสสนาได้ สิ่งนั้นคือทำลายได้ เราต้องทำลายสิ่งนั้น การทำลายนั้นคือการปอกเปลือก การทำลายคือทำลายอวิชชา ทำลายสิ่งที่เราไม่รู้ อวิชชาคือความไม่รู้ตัว ไม่รู้เรื่องของกามราคะ ไม่รู้เรื่องของความเป็นไปของโลก ความเป็นไปของกิเลส สิ่งที่ความเป็นไปของกิเลส นี้คือธรรมชาติของกิเลส
กิเลสก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เกิดดับในหัวใจ วิปัสสนาจนกิเลสขาดออกไปจากใจ มันก็ขาดออกไปจากใจ พอขาดออกไปมันก็ตายไป สิ่งที่ตายเป็นชั้นเป็นตอนคือการปอกเปลือกได้เป็นชั้นเป็นตอน ถ้าการปอกเปลือกสำเร็จคือการชำระกิเลส ฆ่ากิเลสตายต่อหน้าต่อตา ตายไปในวงกรรมฐานนั้น ในวงวิปัสสนานั้น จะเห็นว่ากิเลสนี้มันตายออกไป พอมันตายออกไป มันต้องมีซ้ำออกไป ซ้ำจนถึงที่สุดแล้วมันตาย ตายก็ขาด สิ่งที่ขาด ใจนี้พ้นออกไป พ้นจากกามราคะ นี่มันเป็นความสุขอย่างยิ่ง ความสุขที่ให้สัตว์โลก ให้ผู้ที่ปฏิบัติติดตรงนี้ตลอดไป
มันเป็นความว่าง ความว่าง ความปล่อยวาง ความเวิ้งว้างขนาดไหน มันฝึกซ้อมใจได้ ใจต้องฝึกซ้อมกับความว่าง ความว่างนี้เป็นสิ่งใด เพราะความว่าง มันมีความว่างอันอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดเข้าไป ฝึกซ้อมเข้าไปบ่อยครั้งเข้า มันจะปล่อยเข้าไปปล่อยเข้าไป เหมือนกับเป็นของที่มีอยู่ เราจับต้องวัตถุสิ่งใด ของที่มีอยู่ ภาพของของสิ่งนั้นมันก็เข้าในคลองของสายตาเรา มันสิ่งที่เป็นของนั้นเราจำภาพสิ่งของนั้นได้
นี้ก็เหมือนกัน กามราคะ ตัวตนของมันคือสิ่งของนั้น เราทำลายสิ่งของนั้น พอทำลายสิ่งของนั้นนะ ความเคยใจของเรา มันยังอ้อยอิ่งอยู่ในใจ ฝึกซ้อมสิ่งนี้ในหัวใจเข้าไป ฝึกซ้อมตั้งขึ้นมา ตั้งรูปขึ้นมา ตั้งความรู้สึกความจับต้องในหัวใจเข้ามา แล้วทำลายมัน ทำลายมัน มันยังทำลายได้อีก ทำลายปล่อยเข้าไป ปล่อยเข้าไป จนหมดสิ้นเลย จนทำลายสิ่งใดไม่ได้เลย
พอทำลายสิ่งใดไม่ได้ ทำลายไม่ได้แล้ว เพราะมันว่างหมดเลย นั้นถึงที่สุด พ้นออกไปจาก ๕ ชั้นของพระอนาคามี ถึงตัวของจิตเลย นี้ตัวจะปอกเปลือกจิต ตัวจิตที่ว่ามันหลบเข้าไปอยู่ภายใน มันจะปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา มันจะเวิ้งว้างมาก สิ่งที่ว่าเวิ้งว้างขนาดไหนก็แล้วแต่ ความว่างขนาดไหนก็แล้วแต่ มันก็ยังสู้ความว่างอันนี้ไม่ได้ มันจะละเอียดอ่อนจนทำให้ติดได้ จนทำให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติหลงไปสิ่งนี้ได้
เพราะมันว่างแล้ว สิ่งที่ว่างคือไม่มีสิ่งใดๆ เลย ไม่มีสิ่งใดเลยในหัวใจเลย มันก็ไปถึงที่สุดของธรรม ก็สงวนรักษาสิ่งนี้ไว้ ก็หลงกับอยู่ตรงนี้ไว้จนกว่าใจของตัวเองจะเข้าใจ จนกว่าใจของตัวเองจะเริ่มเอะใจ สิ่งนี้มันเศร้าหมอง มันผ่องใส มันต้องรักษาสถานะไว้ตลอดเวลา มันต้องสร้างสถานะรักษาไว้ ไม่อย่างนั้นอวิชชามันก็แสดงตัว
อวิชชาคือความไม่รู้ตัวมัน สิ่งที่ไม่รู้นั้นคือตัวใจ ตัวใจคือตัวที่ว่างหมด มันไม่มีสิ่งใดกระทบ
สิ่งต่างๆ ที่กระทบก่อนหน้านั้นมันเป็นการกระทบระหว่างใจตัวนี้กับขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ กับใจกระทบกัน มันกระทบกัน มันก็รู้สึกตัวเหมือนกัน แล้วมันปล่อยวาง มันต้องว่างโดยธรรมชาติของเขา
จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส
จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส
จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสขนาดไหน มันว่างขนาดไหน มันต้องจับตัวมันเองได้ ถ้ามันจับตัวมันเองได้ มันต้องใช้อะไรจับ? ต้องใช้ปัญญาญาณอย่างละเอียดเข้าไปจับต้องสิ่งนี้ นี่จะเป็นวิปัสสนาขั้นสุดท้ายนี้ มันยิ่งยากเข้าไปใหญ่ นี่ทำให้หลง ในวิปัสสนา การประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่หลง หลงทุกคน คนที่ประพฤติปฏิบัติแล้วจะเดินจังหวะเข้าไปเป็น ๑ ๒ ๓ เข้าไปถึงที่สุดโดยที่ไม่มีหลงเลย ไม่เคยมี
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา ๖ ปีนี่ค้นคว้ามาขนาดไหน ๖ ปีนี่ศึกษากับเขามาทั่วไป ใช้เวลา ๖ ปี แล้ว ๖ ปีนี้จะเป็นเครื่องเป็นการพิสูจน์ในหัวใจ แล้วมันไม่ใช่เรื่องความจริงเท่านั้น จนกว่าถึงออกมาว่าตัวเองต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง เพราะสิ่งนี้ไม่มีในโลก สิ่งนี้โลกนี้ไม่มี โลกนี้ถึงเกิดตายอยู่โดยธรรมชาติของเขา
ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขนาดไหนมันก็ว่างของเขา ว่างของเขาว่างโดยสัมมาสมาธินะ ไม่ใช่ว่างด้วยจิตนี้ปล่อยวางขันธ์เข้าไปจนว่างขนาดนี้ จิตนี้มันถึงว่าต้องเป็นมรรคอันละเอียดเข้ามาจับต้องสิ่งนี้ได้ จับต้องสิ่งนี้ได้ ปัญญามันจะเกิดขึ้นจากความวิปัสสนาญาณอันละเอียดเหมือนกัน
ปัญญาอย่างหยาบชำระกิเลสอย่างหยาบ ปัญญาอย่างกลางชำระกิเลสอย่างกลาง ปัญญาอย่างละเอียดชำระกิเลสอย่างละเอียด ปัญญาญาณชำระปัญญาญาณอันบนสูงสุด นี่ปอกเปลือกกิเลสโดยทั้งหมดเลย ปอกกิเลส ปอกเปลือกกิเลสจนกิเลสก็หมดไป
สิ่งที่ว่าเป็นเนื้อของธรรม มันเป็นสิ่งที่ว่าไม่สามารถจับต้องได้ เราปอกเปลือกกิเลส มันยังเหลือผลของผลไม้ เป็นเนื้อของผลไม้ อันนี้ปอกแล้วเนื้อผลไม้ก็ต้องหายไปหมด หายไปเพราะเป็นสิ่งที่ว่าไม่มีสิ่งใดรองรับ ภวาสวะมันโดนทำลายไปพร้อมกัน มันปอกหมด ผลอันละเอียดขึ้นมานี้เป็นนามธรรม
สิ่งที่เป็นนามธรรมในหัวใจดวงนั้น หัวใจดวงนั้นจะมีความสุข มีความพอใจกับหัวใจดวงนั้น หัวใจดวงนั้น นั่นน่ะ จิตดวงนี้มันเคยปฏิสนธิที่ไหน มันเคยอย่างไร มันจะเห็นตัวตนของมันที่มันปฏิสนธิ ปัจจุบันนี้ทำลายจิตปฏิสนธิตัวนี้โดนทำลายแล้ว แล้วมันจะไปเกิดที่ไหน? มันจะไม่เกิดตลอดไป มันจะหยุดมีสถานะของมันอย่างนั้นโดยธรรมชาติของเขา
ตั้งแต่วิปัสสนาญาณขั้นสุดท้าย ทำลายปอกเปลือกกิเลสสุดท้ายแล้ว จะไม่มีอะไรจับต้องใจดวงนั้นได้อีกเลย พ้นออกไปจากสถานะต่างๆ จะไม่มีอารมณ์รู้สึก ไม่มีความรับรู้ต่างๆ ไม่มี เว้นไว้แต่จิตกระเพื่อมออกมาแสวงหาขันธ์ เว้นไว้แต่เวลาสมมุติ นี่สมมุติเพื่อจะสื่อความสมมุติออกมา นี้คือจิตออกมารับรู้ขันธ์
ถ้าจิตโดยธรรมชาติของเขา เขาจะไม่รับรู้สิ่งใดๆ เขาจะอยู่สถานะของเขา ไม่ออกมารับรู้สิ่งต่างๆ เขาจะมีความสุขของเขาโดยธรรมชาติมาก ไม่มีสิ่งใดๆ จับต้องสิ่งนี้ได้ นี้คือการปอกเปลือกกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา จนเป็นธรรมโดย เอโก ธัมโม ธรรมอันเอก เอกในสถานะของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะมีความสุข มีความเป็นสถานะ นี่ปัจจัตตัง
ตนเองเป็นที่พึ่งตนเองได้ พึ่งได้โดยสัจธรรมความจริง มีความสุขด้วย เข้าใจตัวเองด้วย แล้วเป็นสถานะนี้ นี่ตนเองพึ่งตัวเองได้ แล้วจะสามารถให้เป็นที่ชี้นำคนอื่นได้ ชี้นำช่วยผู้อื่นได้ ชี้นำถ้าเป็นผลประโยชน์ ถ้าไม่เป็นผลประโยชน์ก็เรื่องของเขา กรรมของสัตว์
สัตว์นี้มีความเห็นต่างๆ กัน ความเห็นของใจนี้จะมีความเห็นต่างๆ จริตนิสัยก็จะไม่เหมือนกัน ถ้าเชื่อครูบาอาจารย์ ถ้าเราเจอครูบาอาจารย์ที่ว่าเป็นสิ่งที่เราไว้ใจได้ เราเชื่อธรรม เชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์สอนมา เราก็เปิดพระไตรปิฎก เข้ากันได้ไหม ถ้าเข้ากันได้ ธรรมนี้จะไม่มีการขัดกันเลย จะเข้ากันได้ตลอด ถ้ามีความขัดกันนั้น ต้องมีสิ่งใดอันใดอันหนึ่งเป็นการบกพร่องแล้วต้องผิดแล้ว ผิดส่วนหนึ่ง
แต่ถ้าเริ่มต้นก้าวเดินไปจนถูกต้องจนตลอดไปตลอดไป นี้จะพ้นออกไปเป็นการชำระกิเลสออกไปเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป จิตนี้ต้องพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอน
วุฒิภาวะ เวลาต่างกันขนาดไหน วุฒิภาวะของแต่ละชั้นของจิตถึงจะก้าวเดินถึงวุฒิภาวะชั้นหนึ่งได้ ชั้นหนึ่งได้
กาลเวลา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาของการประพฤติปฏิบัติก้าวเดินต่างกัน ความเห็นก็ต้องต่างกัน
ความเห็นของวุฒิภาวะชั้นต่ำๆ นี่จะไม่รู้ของวุฒิภาวะชั้นที่สูงกว่า วุฒิภาวะชั้นที่สูงกว่าใช้เวลาขนาดไหน เรามาปฏิบัติขนาดไหน เวลาการแสดงออก การแยกออกมาว่ามันต่างกัน เวลาขณะที่เราใช้พัฒนา แล้วเวลาอันนี้มันก็อยู่ในว่าใครใช้มากใช้น้อยไง
๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราสร้างสมของเราตลอดไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกต้องถึงฝั่งทั้งหมด
๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมัชฌิมาปฏิปทา เข้าทางสายกลาง จะต้องถึงฝั่งทั้งหมด แล้วทำไมเราไม่มีกำลังใจที่จะประพฤติปฏิบัติ
๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ๗ ปีกับอายุของเรา ๘o ปี ๑๐๐ ปี ๗ ปีเราทนทุกข์ทรมานเพื่อจะประพฤติปฏิบัติไม่ได้ ทำไมเราทำไม่ได้ เราต้องทำได้ นี้คือการปลอบประโลมตัวเอง สร้างกำลังใจของเราขึ้นมา ถ้าใจเรามีกำลังขึ้นมา เราจะก้าวเดินได้โดยสมบูรณ์
ถ้าใจของเราสักแต่ว่าทำ เดินจงกรมก็สักแต่ว่า นั่งก็สักแต่ว่า เรานั่งอยู่แต่หัวใจไปไหนไม่รู้ นี่ทำสักแต่ว่า ผลมันถึงไม่ตามความเป็นจริง ถ้าเราทำตามความเป็นจริง เราทำเลย สร้างแต่เหตุ หน้าที่ของเราคือสร้างเหตุ หน้าที่ของเรา เหตุคือการในความเพียรของเราในทางจงกรม ในการนั่งสมาธิภาวนา นี้คือเหตุของเรา
ถ้ามีเหตุ ผลมันจะต้องเกิดขึ้นมา เหตุมันไม่พอ ผลมันก็ต้องไม่พอ เหตุไม่พอ น้ำหนักของผลมันจะเกิดมาจากไหน มันก็เป็นการคาดเดา พอคาดเดาแล้วมันเป็นการลูบๆ คลำๆ สิ่งที่ลูบๆ คลำๆ ทำให้เราอ่อนแอ ทำให้เราคิดแล้วท้อใจ ท้อใจเพราะลูบๆ คลำๆ เหมือนกับคลำจะแบกของหนัก แล้วก็ลูบๆ คลำๆ ว่าแบกไม่ไหว แบกไม่ไหว ของนั้นจะมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ เลย
ถ้าแบกไม่ไหว เราฮึดขึ้นแบกมันต้องแบกไปได้ แบกความเพียรของเรา แบกธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้ให้ผ่านพ้นไปจากอำนาจของกิเลส เราต้องแบกของเราไป แบกชีวิตนี้ ชีวิตนี้มีความรับรู้สึกเหมือนภาระอันหนักหน่วงที่เราต้องรับรู้ตลอดไป แล้วรับรู้ตลอดไป รับรู้เพื่อใคร? รับรู้เพื่อเรา รับรู้เพื่อการประพฤติปฏิบัติ รับรู้เพื่อจะให้พ้นออกไปจากอำนาจของกิเลส
อำนาจของกิเลส กิเลสของแต่ละบุคคลนะ กิเลสของใครก็เป็นอำนาจของกิเลสดวงนั้นที่อยู่ในหัวใจดวงนั้น จะมีอำนาจกับใจดวงนั้น ทำให้ผู้นั้นมีความทุกข์ความยากในใจดวงนั้น กิเลสของเราก็มีอำนาจเหนือเรา
ถ้าเราชำระกิเลสของเรา กิเลสไม่มีอำนาจเหนือเราแล้ว คนอื่น สัตว์อื่นนั้นเป็นเรื่องของเขา เรื่องของโลกเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น จะมีเราหรือไม่มีเราธรรมชาติของโลกมันก็เป็นโดยสถานะอย่างนั้นอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แล้วเราจะไปแบกรับภาระให้มันหนักหน่วงทำไม
พอมันเข้าใจตามความเป็นจริงทั้งหมด มันอยู่ด้วยกันได้ อยู่ด้วยกันวันคืนล่วงไป ล่วงไป จนถึงที่สุดของใจ ใจดวงนี้สิ้นสุดไป มันก็ไม่ต้องไปเกิดอีก มันก็มีความสุขในหัวใจดวงนั้น
แต่นี้เรายังเกิดยังตาย เราก็ต้องสร้างสมของเรา ถ้าเราสร้างสมของเราขึ้นมา เรากับผลงานของครูบาอาจารย์ต่างกัน ของครูบาอาจารย์นั้นเป็นเรื่องที่ว่าฟากตายของแต่ละบุคคลมาแล้ว ท่านทำของท่านขนาดนั้น เราทำของเรา เราสร้างสมของเรา จะฟากตายของเราขนาดไหนมันก็ฟากตาย เวลาปฏิบัติเป็นอย่างนั้นจริงๆ
อดอาหารอยู่ก็แล้วแต่ จะทำอะไรอยู่ จะเป็นจะตายขึ้นมา มันจะหลอกตลอดเวลา แล้วเราก็กลัว เราก็คิดอ่อนแอกันไป อ่อนแอไป นี่ไงฟากตายอยู่ตรงนี้ไง ถ้าเอาตายเข้าแลก มันไม่ถึงตายแล้วจบหมด ถ้าถึงที่ตายแล้วจะจบทุกอย่าง จะจบตัวลงเพราะมันต้องตาย ตายแล้วไม่มีใครรับผิดชอบอะไรแล้ว จิตนี้ออกไป
นี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันถึงที่ตายแล้ว กิเลสมันก็กลัวเหมือนกัน กิเลสมันกลัวนะ นี่ฟากตายฟากการต่อสู้ อันนี้เพราะกิเลสหลอกอย่างหนึ่ง จะฟากตายจริงๆ ก็อย่างหนึ่ง ฟากตายจริงๆ เวลาประสบสิ่งต่างๆ นี้การประพฤติปฏิบัติมันก็มีเหมือนกัน
แต่ธรรมต้องคุ้มครองสิ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะต้องคุ้มครอง
ผู้มีศีล ๕ จะไม่มีปัญหากับใครเลยเพราะเรามีศีลบังคับตัวเอง นี่ธรรมคุ้มครอง คุ้มครองเพราะเรารักษาศีล รักษาศีล ศีลก็คุ้มครองเรา เรามีธรรมในหัวใจ เรารักษาความสงบของใจ ความสงบของใจ เราก็ต้องพยายามไม่เกาะเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เพราะเราเกาะเกี่ยวนี่ฟุ้งซ่านไปเกาะเกี่ยวสิ่งต่างๆ อันนั้นเป็นโทษของสมาธิ สมาธินี้อยู่ในที่สงัด เราไม่ไปยุ่งกับเขา นี่ธรรมคุ้มครองไปตลอด
ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
แล้วยิ่งจิตนี้พัฒนาขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอน จะมีสิ่งใดๆ คุ้มครอง เวลาอยู่ป่าขึ้นมา ออกป่าออกเขา เวลาเสือมา เสือต่างๆ มันจะมาข่มขู่พระ เสือเทพก็มี เสือจริงๆ ก็มี นี้ก็เหมือนกัน เราประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้ามีปัญหาขึ้นมา จะมีสิ่งที่รักษาเรา เราต้องทำตัวเราก่อน ถ้าเราไม่พยายามฝึกฝนตัวเราเอง เราไม่มีกำลังใจต่อสู้เราเอง จะรอให้คนอื่นมาช่วยเหลือ เป็นไปไม่ได้
สิ่งที่ว่าจะมี เขาจะช่วยเหลือเรา เพราะเราสู้จนถึงเต็มที่ สู้เพราะกำลังของเราเต็มที่ นั่นน่ะสิ่งที่จะมาคุ้มครองรักษา เพราะสิ่งนั้นทนกับบารมีธรรมของเราไม่ได้ เราสร้างธรรมขึ้นมาของเราสมควรแก่ธรรม สมควรตามความเป็นจริง แม้แต่มีกิเลสอยู่ก็จริงอยู่
กิเลสในหัวใจของเรามันไม่เข้าใจตามความเป็นจริง แล้วมันก็เงอะๆ งะๆ ไปตามประสาของกิเลสเขา มันถึงไม่ใช่เป็นเนื้อธรรมแท้ไม่บริสุทธิ์จริง สิ่งที่ไม่บริสุทธิ์แต่ธรรมก็คุ้มครองเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป จนถึงที่สุด พ้นออกไปจากกิเลสแล้ว ใจนี้เป็นธรรมทั้งหมด สิ่งนั้นจะมีอำนาจได้กับใจดวงนั้นได้อย่างไร
สิ่งที่มีอำนาจเหนือใจนั้นโดนทำลายไป ฆ่าตาย กิเลสตายแล้วยังมีชีวิตอยู่ กิเลสตายไป แต่ชีวิตนี้ยังมีอยู่ ชีวิตนี้ยังดำรงต่อไปอยู่ เป็นสิ่งที่ว่าเป็นธาตุขันธ์ เป็นภาระของใจดวงนั้นเท่านั้น จนกว่าจะสิ้นใจเมื่อไหร่แล้วธาตุขันธ์หลุดออกไป ใจดวงนั้นถึงเป็นอนุปาทิเสสนิพพานโดยสมบูรณ์ โดยธรรมชาติของใจดวงนั้น สุขของใจดวงนั้นเป็นผลในการประพฤติปฏิบัติ ในการปรารถนาของสัตว์โลก เอวัง