ยาลดไข้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ข้อ ๘๕๙. เรื่อง ผู้ถูกกระทำ
กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเมตตา ขอเล่าก่อน (อันนี้เราตัดทิ้งเลยนะ ทีนี้เอาคำถามนะ)
คำถามค่ะ
๑. ทำอย่างไรจึงจะพิจารณาได้ในเวลาหลังจากนั้น เพราะที่ทำได้แค่เปลี่ยนอารมณ์ (นี่คือการนั่งสมาธินะ)
๒. ทำไมเวลามองดูกลับเห็นทุกอย่างเป็นกิเลส อันนี้ก็กิเลส อันนั้นก็กิเลส แต่ก็ไม่วายที่จะลงไปทุกข์กับมัน แล้วก็ฟังธรรมเข้าใจ จิตมันตั้งมั่น แต่ดูแล้วเหมือนทำจากกิเลส ไม่ใช่ทำเพื่อพ้นทุกข์
๓. ทำไมมันร้อนที่ท้องมาก และกลางอก แสบมากที่ผิวหนัง และตรงสะดือจะหมุน และซี่โครงด้านซ้าย-ขวาจะร้อนมาก และจะนั่งสมาธิก็นั่งไม่ได้ มันทรมานมาก อีกอย่างหนึ่ง ความร้อนที่อยู่ตรงท้องมันเสพสังขารของคนอื่นเข้ามา
ตอบ : อันนี้เป็นความเห็นของเรานะ เราจะตอบถึงปัญหาข้อ ๑. ก่อน
ถาม : ๑. ทำอย่างไรในเวลานั้น หรือหลังจากนั้น
ตอบ : คำว่าเวลานั้นหมายถึงว่า เวลาเขาพิจารณาแล้วจิตมันส่งออก แล้วมันไปรับรู้ ไปรับรู้อารมณ์ต่างๆ คำว่าจิตส่งออก จิตส่งออกมันรับรู้สิ่งใด โดยปกติเราไม่ภาวนาจิตมันส่งออก ส่งออกหมายความว่าเวลารูป รส กลิ่น เสียงมันกระทบนะ เสียงมากระทบหู รูปมากระทบตา ส่งออกมารับรู้ นี่โดยธรรมชาติ ธรรมชาติมันก็ส่งออกๆ ถ้าจิตไม่ส่งออกจะรับรู้สิ่งใดไม่ได้ รูป รส กลิ่น เสียงเรารับรู้ด้วยอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ทีนี้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้าไม่มีจิตรับรู้ มันรับรู้สิ่งนี้ไม่ได้
ทีนี้มันรับรู้สิ่งนี้ มันรับรู้สิ่งนี้มันก็ส่งออกไปรับรู้ รับรู้เรื่องรส รู้เรื่องเสียง รู้เรื่องกลิ่น รู้เรื่องต่างๆ นี่ก็คือส่งออก ทีนี้คำว่าส่งออกมันธรรมชาติของมันอย่างนั้น ฉะนั้น เวลากำหนดพุทโธ พุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธิเพื่อให้จิตมันสงบ ให้มันอยู่โดยตัวมันเอง เหมือนกับโปฐิละ ที่สามเณรสอนโปฐิละ บอกว่าโปฐิละเขาเป็นอาจารย์สอนนะ สอนเรื่องปริยัติ เรื่องธรรมะ เวลาเขาอยากปฏิบัติ เวลาไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า โปฐิละใบลานเปล่ามาแล้วหรือ โปฐิละใบลานเปล่ากลับแล้วหรือ?
ใบลานเปล่า เหมือนกับมีการศึกษาเปล่าๆ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ เห็นไหม เราศึกษาทางทฤษฎีเราเข้าใจหมด แต่เรายังไม่สามารถพิสูจน์ตรวจสอบ ให้เป็นความจริงของเราขึ้นมาได้ ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเตือนสติ พอเตือนสติ โปฐิละเป็นอาจารย์สอนนะ ลูกศิษย์มากมายเลย แต่สอนทางทฤษฎี ทางทฤษฎีนี่ใบลานเปล่า คือไปมาแล้ว ทฤษฎีศึกษาแล้วก็จบ นี่มันได้แต่ความรู้ รู้เรื่องธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่รู้เรื่องความสุข ความทุกข์ในหัวใจของเรา ไม่รู้ว่าเรามาจากไหนไง
ทีนี้พอพระพุทธเจ้าเตือนอย่างนั้นปั๊บก็ทิ้งหมู่คณะ ก็ไปหาพระกรรมฐาน ไปหาพระป่า พระปฏิบัติ เห็นไหม ไปหาพระปฏิบัติ ไปถึงสามเณรน้อยสามเณรจะสอน สอนตรงนี้ นี่สามเณรน้อยทดสอบให้ใจลง ถ้าใจไม่ลงนะมันฟังครึ่งๆ ฟังกึ่งๆ อยากได้อย่างนั้น อยากได้อย่างนี้ ให้โปฐิละที่เคยเป็นอาจารย์มีทิฐิให้ยอมลง ยอมลงใจ พอลงใจปั๊บ นี่ลงใจ ใจก็อยากจะเรียน อยากจะศึกษา อยากจะศึกษา สามเณรน้อยบอกว่า
ร่างกายนี้เปรียบเหมือนจอมปลวก ร่างกายนี้เปรียบเหมือนจอมปลวก ในจอมปลวกนั้น มีเหี้ยตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในจอมปลวกนั้น ฉะนั้น เราต้องปิดจอมปลวก ๕ รู เหลือรูหนึ่งให้เหี้ยออกจากรูนั้น แล้วเราคอยจับจอมปลวกที่รูนั้น
ตา หู จมูก ลิ้น กายปิด นั่งสมาธิพุทโธ พุทโธ ตา หู จมูก ลิ้น กายปิด เปิดใจไว้ พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่จะจับเหี้ยตัวนั้น ถ้าจับเหี้ยตัวนั้นได้ เห็นไหม นี่เราจะมาพิจารณาว่าเหี้ยตัวนั้นมันกินอะไร? มันหาทำอย่างไร? มันออกไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ถ้ามันไม่ออกมา มันอยู่ในจอมปลวกนี้ มันอยู่แล้วมันใช้อาหารอะไร?
นี่ก็เหมือนกัน เราปิดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปิดการส่งออก โดยธรรมชาติของมันส่งออก นี่ตาเราคิดไปทางอื่น ตาเห็นรูป เอ๊ะ เห็นรูปอยู่แต่ไม่รู้ว่ารูปอะไร นี่จิตมันไม่ออกรับรู้ มันไม่ส่งออก ฉะนั้น คำว่าส่งออกใช่ไหม? สิ่งที่เราปฏิบัติ เราว่าอารมณ์เรารู้สึก เราไปรู้เรื่องของคนนู้น เขาคุยกันรู้เรื่องคนนี้ รู้ทุกอย่างไปหมดเลย รู้แล้วได้อะไรล่ะ?
ถ้าพวกที่เป็นหมอดูนะ เวลาอาชีพเขา นี่ทางสถิติเขาเคยทำ เขาคาดหมายจะเป็นอย่างนั้นๆ เราไปเชื่อเขานะ เห็นไหม เราไปเชื่อเขา นี่คือการพยากรณ์ แต่เราส่งออกไป เราส่งออกไป ไปรู้สิ่งต่างๆ เราพยากรณ์ตัวเราหรือ? เราพยากรณ์ใช่ไหม? เรารู้เรื่องนั้นก่อน รู้เรื่องนี้ก่อน แล้วรู้แล้วทำไม? รู้แล้วเป็นอดีต อนาคต แต่ถ้าในปัจจุบัน ถ้าเรารู้ในปัจจุบัน ปัจจุบันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนที่ปัจจุบันนี้ ถ้าสอนที่ปัจจุบันนี้ สิ่งนี้ที่ถามว่า
ถาม : ทำอย่างไรเราถึงจะพิจารณาได้ในเวลานั้น หรือหลังจากนั้น เพราะที่ทำนี้แค่เปลี่ยนอารมณ์
ตอบ : เราไม่ต้องไปรับรู้สิ่งนี้เลย ถ้าเราไปรับรู้สิ่งนี้นะเราเข้าใจ ในทางสถิตินะ มนุษย์นี่ อายุขัยของมนุษย์ ๓๐,๐๐๐ กว่าวัน อายุนี่ ๓๐,๐๐๐ กว่าวัน ถ้า ๓๐,๐๐๐ กว่าวันนะเราก็มาวิจัย ใน ๓๐,๐๐๐ กว่าวันใช่ไหม? วันหนึ่งพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก นี่เราก็เอาสิ่งนี้มาวิเคราะห์ วิจัย มันเป็นอดีต อนาคตไง แต่ถ้าว่าเรารู้สิ่งใดต่างๆ เรารู้นะ รู้ก็ปล่อย รู้ก็วาง รู้ก็วาง แต่เรารู้ตัวเราเองไหม?
พุทโธชัดๆ ไว้ ถ้าพุทโธชัดๆ ไว้นะมันปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามานะ พอปล่อยวางเข้ามาเราจะรับรู้เลยว่า อืม สัมมาสมาธิ ความสงบระงับมันเป็นแบบนี้ จิตของเรา เราไม่เคยเห็นจิตของเราด้วยความเป็นจริง เพราะจิตของเราไม่เคยสงบระงับเป็นสัมมาสมาธิ จิตของเราส่งออก พลังงานนี่ออกรับรู้ ทำงานโดยธรรมชาติของมัน มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ คือร่างกาย ขันธ์ ๕ คือจิตใจ
คำว่าขันธ์ ๕ นะ ขันธ์ ๕ เกิดจากจิต ทีนี้คำว่าธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ธรรมชาติมันทำงานอย่างนี้ นี่ขันธ์ ๕ เห็นไหม ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณออกรับรู้ ออกรับรู้ นี่ธรรมชาติทำงานอย่างนี้ จะเหนื่อยยากสายตัวแทบขาดมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ ธรรมชาติมันเป็นแบบนี้ แต่พอเรามีสติปัญญา เราอยากประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธให้ขันธ์ ๕ มันหดตัวเข้ามา ขันธ์ ๕ มันหดตัวเข้ามา
จิต อาการของจิต สิ่งที่เป็นขันธ์ ๕ เป็นอาการ เป็นความรับรู้สึกเกิดจากจิต พุทโธ พุทโธก็เกิดจากขันธ์ ๕ เกิดจากเรารู้สึกนึกคิด พุทโธ พุทโธนี่เปลี่ยนจากความรู้สึกนึกคิดที่ส่งออก ให้มันมีความรู้สึกนึกคิดในตัวมันเอง ในตัวมันเอง ในเมื่อมันรู้สึกนึกคิดในตัวมันเอง มันก็ไม่ไปไกล ไม่ส่งออกไปไกล มันก็ทรงตัวขึ้นเรื่อยๆ พุทโธเรื่อยๆ ไม่ออกรับรู้เรื่องอื่นเรื่อยๆ จนถึงที่สุดนะมันพุทโธ พุทโธจนพุทโธไม่ได้ มันเป็นตัวมันเอง
จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต ขันธ์ ๕ คือความรู้สึกนึกคิด แล้วตัวจิตล่ะ? ตัวจิตคือตัวสักแต่ว่ารู้ ถ้าไม่สักแต่ว่ารู้นะ นี่มันรู้โดยตัวมันเอง สิ่งที่สุขสงบไง แล้วทำไมตอนนี้มันไม่รู้เรื่องเขาคุยกันล่ะ? ไม่รู้เรื่องสิ่งที่มันรู้ล่ะ? ไม่รู้เพราะมันไม่ส่งออกไปรู้ไง ถ้าไม่ส่งออกไปรู้มันก็เป็นสัมมาสมาธิ นี่อธิบายโดยหลักใช่ไหม? อธิบายโดยหลัก แต่ แต่ทีนี้จิตของเรา คนเรามันมีกิเลส มีตัณหาความทะยานอยาก
ตัณหาคือความอยากได้ ความผลักไส ความผลักไสคือความไม่พอใจอารมณ์อย่างนี้ไง ความไม่พอใจสิ่งที่เกิดกับเรา ผลักมันๆๆ ไม่ไปหรอก สิ่งที่ไม่ได้ก็ตะครุบเอาๆๆ ไม่ได้หรอก ไม่มีสิ่งใดได้ดั่งใจสักอย่าง เห็นไหม ตัณหาความทะยานอยากมันไม่เคยทำอะไรให้เราได้ดั่งใจสักอย่างเลย ไอ้ตัวนี้แหละมันเป็นตัวที่ไปกระตุ้นให้พุทโธแล้วไม่ได้ผลไง
ไอ้ที่ว่าพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธเป็นสัมมาสมาธิ พุทโธเป็นพุทธานุสติ ก็พูดกันแบบวิทยาศาสตร์ ทางวิทยาศาสตร์เขาพูดกันนะ บอกว่าถ้าทำสิ่งใดต้องได้สิ่งนั้นใช่ไหม? นี่พุทโธก็พุทโธแล้ว ทำสิ่งใดก็ทำแล้ว ทำครบทุกอย่างเลย แต่ไม่เป็นผล เพราะมันมีไอ้แรงตัณหา ไอ้ตัวที่ไม่ได้ก็จะตะครุบเอา ไอ้สิ่งที่ไม่พอใจก็จะขับไส ผลักมันๆ ตัณหา วิภวตัณหา มันเป็นธรรมชาติของจิต กิเลสเป็นธรรมชาติอันหนึ่งที่ฝังมากับจิต ตัวนี้แหละที่เราพุทโธ ที่เราตั้งใจทำแล้วไม่ได้ผลอย่างที่เราคาดหมาย
ฉะนั้น เวลาเราทำ เห็นไหม เราต้องวางให้หมด พุทโธให้เป็นเนื้อแท้ พุทโธให้เป็นพุทโธจริงๆ สิ่งใดที่มันจะเกิดขึ้นมาเราปล่อยวางหมด โลกนี้มีเรากับพุทโธเท่านั้น โลกนี้จะถล่มทลาย โลกนี้จะพลิกฟ้าคว่ำดิน เรื่องของโลกไม่ใช่เรื่องของเรา เราจะพุทโธกับเรา พุทโธ พุทโธนี่แหละ แล้วไอ้ที่ว่าตะครุบก็ไม่ไปสนมัน ไอ้ที่จะผลักไสก็ไม่ไปสนมัน นี่ตัณหาความทะยานอยากมันจะขับเคลื่อนให้เป็นอดีต อนาคต ไม่เป็นปัจจุบัน ตะครุบเอาก็เป็นอนาคต ผลักไสมันมีอยู่กับอดีต อดีตก็ผลักไสมัน อนาคตก็จะตะครุบเอา แล้วไม่ได้ ไม่ได้
นี่สิ่งนี้มันเป็นอยู่ในหัวใจ แล้วพอมันรู้ล่ะ? มันก็ไปรู้อย่างที่ว่า พอมันมีกำลังขึ้นมาหน่อยก็ไปรู้คนนู้นว่าอย่างนี้ คนนี้ว่าอย่างนั้น มันส่งออกหมดแหละ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ เห็นไหม มันจะรู้สิ่งใด มันไม่รู้หรือ? รู้ รู้จริงๆ เราระลึกให้รู้มันก็รู้จริงๆ แต่รู้แล้วมันเป็นอะไรขึ้นมาล่ะ? นี่ไงมันเป็นตัณหา จะทำให้พุทโธแล้วไม่ได้ผล หรือปัญญาอบรมสมาธิแล้วไม่ได้ผล นี่โดยหลักทำอย่างนี้ ถ้าโดยหลักทำอย่างนี้ นี่มันถึงว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติจริงๆ แต่เราปฏิบัติ คนเรามีกิเลสมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ โดยทางการแพทย์นะ ถ้ายาไม่หมดอายุ ถ้ายานั้นยังใช้ประโยชน์อยู่ มันมีผลในการรักษา
พุทโธ พุทโธนี่ธัมมานุสติ นี่พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ มันเป็นธรรมโอสถ มันสามารถรักษาได้ แต่ยานั้นหมดอายุหรือยัง? ยานั้นมันเป็นปัจจุบันไหม? มันเป็นประโยชน์กับเราไหม? เราตั้งตรงนี้ นี่ข้อที่ ๑.
ถาม : ๒. ทำไมเวลามองดูกลับไปเห็นทุกอย่างเป็นกิเลส อันนี้ก็กิเลส อันนั้นก็กิเลส แต่ไม่วายไปทุกข์กับมัน
ตอบ : ในการประพฤติปฏิบัติ ทุกคนอยากฆ่ากิเลส ทุกคนอยากทำลายกิเลส แต่ทุกคนไม่เข้าใจว่ากิเลสมันอยู่กับเรา กิเลสมันก็อาศัยธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอ้าง แล้วหาทางให้กิเลสมันได้ประโยชน์ ฉะนั้น เวลาบอก เราย้อนกลับไปดูเราถึงว่านั่นก็เป็นกิเลส เราย้อนกลับไปดูอดีตที่เราทำมา นั่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี แต่ในปัจจุบันนี้ยับยั้งไม่ได้ เวลาปัจจุบันนี้ เดี๋ยวนี้ตั้งอยู่นี่ ตรงนี้ๆ ห้ามทำอย่างนี้ เอาไว้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยห้าม วันนี้ยังไม่ห้าม วันนี้เอาก่อน มันขับไสมันไป
ฉะนั้น ย้อนกลับไปดูถึงว่าสิ่งนั้นก็เป็นกิเลส สิ่งนี้ก็เป็นกิเลส นี่ถ้าย้อนกลับไปดูนะ เห็นไหม ยาลดไข้ เราปฏิบัติกันมันเหมือนยาลดไข้ มันไม่ใช่ยาแก้ไขให้มันหายขาด นี้คำว่ายาลดไข้นะ ถ้าเราเป็นไข้ เราเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเราไม่มียารักษานะเราต้องทนเอา ทนทุกข์ทรมานไป แต่ถ้ามียารักษานะ ถ้ายารักษา เห็นไหม คนเราจะรักษาเขาก็ต้องลดไข้ ลดไข้ก่อน คนที่จะผ่าตัดเขาต้องฟื้นฟูร่างกายก่อน
ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าการชำระกิเลส มรรคญาณ ถึงที่สุดแล้วมันทำลายกิเลสขาดเลย ทีนี้คำว่ากิเลสขาด แต่เรารักษาเราจะทำทีเดียวให้มันขาด ถ้าขิปปาภิญญาทำได้ ถ้าเราทำไม่ได้เราลดอาการ ลดอาการ เห็นไหม แม้แต่มีความเชื่อมั่นในพุทธศาสนา เราก็มีที่พึ่งอาศัยแล้ว ถ้าเราไม่เชื่อมั่นในพุทธศาสนานะ นี่คนเราในปัจจุบันนี้ก็บอกว่ามนุษย์ไม่นับถือศาสนาใดๆ เลย เพราะเขาเห็นว่าการนับถือศาสนานี้มันเป็นเรื่องของการครึ การล้าสมัย มันเป็นเรื่องของโบราณ ปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์ได้หมดแหละ
พิสูจน์อะไร? พิสูจน์ทุกข์หรือ? พิสูจน์กังวลในใจหรือ? วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้หรอก วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้แต่เรื่องทางแร่ธาตุ ทางเทคโนโลยี แต่ถ้าในหัวใจล่ะ? ในหัวใจนี้เป็นนามธรรม ถ้าหัวใจนี้เป็นนามธรรมนะ สิ่งที่เป็นศาสนา เห็นไหม นี่ว่าศาสนาๆ ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะ เพราะจิตนี้เป็นนามธรรม ตัวจิตนี้เป็นตัวตาย ตัวเกิด ตัวจิตนี้เป็นตัวรับรู้สุข รู้ทุกข์ ที่ไหนมันมีความทุกข์ เราจะแก้ไขความทุกข์ เห็นไหม มันก็เป็นเรื่องของศาสนา
ฉะนั้น ถ้าไม่นับถือศาสนาใดๆ เลย เพราะเขาเห็นว่าครึล้าสมัย แต่ถ้าคนที่นับถือศาสนา เห็นไหม นับถือศาสนา แล้ว! แล้วประพฤติปฏิบัติตามศาสนานั้น ถ้าเรานับถือ เรานับถือศาสนาต่างๆ เขาว่าของเขาดีๆ ของเขาดีเพราะว่าอะไร? เพราะว่ามันเป็นประเพณีวัฒนธรรมของเขาอยู่ในสายเลือดของเขา เขาเชื่อของเขาอย่างนั้น แต่เราคุยกันด้วยเหตุด้วยผลสิ นี่คุยทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ทางพุทธศาสตร์ วิทยาศาสตร์ทางศาสนามันพิสูจน์กันอย่างไร?
นี่มันพิสูจน์ได้ ถ้ามันพิสูจน์ได้ มันเป็นที่พึ่งไง นับถือศาสนาแล้วมันมีหลักมีเกณฑ์ ถ้ามีหลักมีเกณฑ์แล้ว เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่เราจะมาปฏิบัติ เห็นไหม ถ้าปฏิบัติแล้วให้จิตมันลดไข้ ลดอาการมาเรื่อยๆ ถ้าลดอาการมาเรื่อยๆ ปฏิบัติไปมันจะเริ่มเบาลงๆ มันจะดีขึ้น ถ้ามันดีขึ้น ย้อนกลับไปนั่นก็กิเลส นี่ก็กิเลส แล้วทำไมถึงฆ่ากิเลสไม่ได้ ทำไมถึงยับยั้งกิเลสไม่ได้ ไม่ได้ ไม่ได้เพราะว่าคุณภาพของยารักษาไม่ถูกโรค
โรคของกิเลสใช่ไหม? โรคของกิเลส แต่เราไปลูบๆ คลำๆ มันอยู่ไง นี่เวลาเราจะทำความสงบของใจ เราต้องบังคับ บังคับให้จิตมันสงบ ถ้าบังคับให้จิตสงบ เห็นไหม พอจิตสงบแล้วมันออกใช้ปัญญา ถ้าออกใช้ปัญญา นั่นล่ะๆ มันจะไปฆ่ากิเลส ฆ่ากิเลสด้วยอะไร? ด้วยอริยมรรค นี่ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ถ้ามรรคมันสมบูรณ์ ตรงนั้นแหละพอไปจับกิเลสได้ จับกิเลสพิจารณาไป พิจารณาไปแยกแยะ เห็นไหม
ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ มันแยกแยะของมัน มันแยกแยะที่สุดแล้วสังโยชน์มันขาด สังโยชน์มันคืออะไร? สังโยชน์ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส นี่สักกายทิฏฐิ สักกายทิฏฐิเห็นไหมเวลาเราปฏิบัติกัน นี่สัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิคือทิฐิที่ผิด สัมมาทิฏฐิคือทิฐิที่ถูก แล้วเราก็เป็นสัมมาทิฏฐิ เราเป็นชาวพุทธเรามีสัมมาทิฏฐิ แล้วทำไมมันฆ่าสักกายทิฏฐิไม่ได้ล่ะ?
สักกายทิฏฐิ นี่ทิฐิในกาย ทิฐิในวัตถุธาตุ ทิฐิว่าเป็นของเราไง เราเกิดเป็นมนุษย์นี่เป็นของเราไหม? โอ๋ย ถ้าขึ้นศาลเป็นทั้งนั้นแหละ ทนายความมันบอกได้ พอเกิดเป็นมนุษย์ปั๊บมีสิทธิเลย สิทธิในมรดกจากพ่อจากแม่ มีสิทธิพร้อม นี่ไงสิทธิในโลกนี้ เวลามันตายไป สิทธิยกให้ใคร? สิทธิโอนให้ลูกหลานมันไป แต่ถ้าสักกายทิฏฐิ ทิฐิผิด นี่มันจะเข้าไปแก้กันที่นี่ นี่อย่างนี้มันไม่ใช่ยาลดไข้นะ อย่างนี้ถ้ามันถอดทิฐิไข้หายเลย มันเป็นยารักษาไข้ ทีนี้ยารักษาไข้ เราจะบอกว่ามันต้องทำต่อไปเรื่อยๆ ไง
ถาม : ข้อ ๒. ทำไมเวลามองดูกลับไปถึงรู้ว่านั่นเป็นกิเลส นี่เป็นกิเลส
ตอบ : พอกินข้าวอิ่มแล้วก็บอกว่านู่นไม่น่ากินเลย นี่ก็ไม่น่ากิน แต่ตอนหิวมันไม่รู้หรอก กินก่อน เวลาหิวนี่กินเลยแหละ พอกินเสร็จแล้ว อืม อันนั้นก็เป็นพิษ ไอ้นี่ก็เป็นพิษ โอ้โฮ มันกินไปอยู่ในท้องแล้ว
นี่พูดถึงปัจจุบันธรรม สติปัญญาเราไม่ทันไง ถ้าสติเราทัน ค่อยๆ เพราะมันชอบคำนี้ไง
ถาม : ทำไมเวลามองกลับไปดูถึงรู้ว่าเป็นกิเลส อันนั้นก็เป็นกิเลส อันนี้ก็เป็นกิเลส แต่เวลามันอยู่กับเราทำไมมันไม่รู้ล่ะ?
ตอบ : ก็มันผ่านไปแล้วมันก็รู้ แต่ค่อยๆ ตั้งขึ้นมาให้มันได้
ถาม : ๓. ทำไมมันร้อนที่ท้องมาก กลางอก และแสบที่ผิวหนัง
ตอบ : ความร้อนนี่นะมันแบบว่าเป็นอุปาทานได้ เป็นวิตก วิจารได้ เวลาไข้นะ หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ฝั้นท่านเป็นโรคประจำตัว เป็นโรคท้องเหมือนกัน เป็นโรคประจำตัวนะ หลวงปู่มั่นก็มีโรคประจำตัว หลวงปู่มั่นท่านมีโรคประจำตัวของท่านก็เป็นเรื่องท้อง แต่หลวงปู่ฝั้นท่านเป็นของท่าน แล้วทีนี้เวลาไปอุปัฏฐาก ไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ไปอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ตอนเช้านะ ประมาณสักตี ๓ เขาจะไปต้มน้ำร้อน เพื่อเอาน้ำอุ่นให้หลวงปู่มั่นได้ล้างหน้า
ฉะนั้น ทีนี้ตี ๓ ไปนะมีพระไปนั่งรอแล้วเพื่ออยากได้บุญ พรุ่งนี้เช้าเราจะไปตี ๒ เราไปก่อน เราไปจองสิทธิ์ก่อนเพื่อจะต้มน้ำร้อน ต้มน้ำร้อนเสร็จแล้ว เอาไว้เพื่อจะให้หลวงปู่มั่นตื่นขึ้นมาแล้วจะได้ล้างหน้า ได้แปรงฟันด้วยในการอุปัฏฐากของเรา นี้หลวงปู่ฝั้นท่านเล่าไว้ในประวัติ ท่านบอกว่าท่านอยากจะไปทำอย่างนั้น แต่ท่านทำไม่ได้เพราะท่านปวดท้อง ท่านมีโรคประจำตัว จะไปอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ มันไม่ทันหมู่ทันคณะเพราะโรคประจำตัว ท่านถึงเสียใจมาก
สุดท้ายแล้วนะท่านนั่งสละตาย ท่านนั่งสละนะ ที่ว่านั่งทั้งคืนตลอดรุ่ง พอนั่งไปนี่ธรรมโอสถไง พอนั่งไปๆ นะ พอจิตมันเริ่มปล่อยวาง จิตมันเริ่มเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิ เข้าไปสู่ความสงบของท่าน ทีนี้ธรรมโอสถมันฟอก มันฟอกร่างกายนี้ พอฟอกนะ มันฟอกร่างกายนี้ ท่านเห็นนะ ไปดูได้ที่เจดีย์ประวัติของหลวงปู่ฝั้น มันจะมีพระรูปหนึ่งเป็นดินเผา ว่าหลวงปู่ฝั้นท่านนั่งอยู่ แล้วมีกวาง ๒ ตัววิ่งออกไปจากตัวคนนั่ง
ท่านบอกว่าท่านมีโรคประจำตัว ท่านนั่งจนจิตสงบออก พอมันจะถอนเวรถอนกรรมอันนี้มันเห็นเป็นนิมิตนะ เห็นเป็นกวาง กวาง ๒ ตัวกระโดดออกไปจากตัวของท่าน วิ่งเข้าป่าไป ตั้งแต่บัดนั้น โรคภัยไข้เจ็บหายหมด หลวงปู่ฝั้น เมื่อก่อนนะท่านบอกว่าเวลาท่านจะไปไหน เวลาท่านธุดงค์ไป เหมือนเป็นไข้ป่าโรคประจำตัว เวลาธุดงค์ไปนะ พระป่าเมื่อก่อนเข้มแข็งมากนะ เวลาธุดงค์ไป เวลาอาการไข้มันเกิด พออาการไข้มันเกิดก็ปลดบริขารลง แล้วเอาผ้าอาบปูแล้วนอน นอนทนเอา พุทโธ พุทโธจนกว่าโรคหาย พอโรคหายเสร็จ พออาการเจ็บไข้ได้ป่วยหายก็เก็บของนั้น เก็บบริขาร แบกของไปต่อ
นี่กรรมฐานสมัยนั้นเขาทำกันอย่างนี้ ฉะนั้น ท่านมีโรคประจำตัวของท่าน พอโรคประจำตัวของท่าน ท่านพิจารณาของท่าน เห็นไหม ท่านพิจารณาของท่านจนลงนะ จนมีกวางวิ่งออกไปจากตัว โรคประจำตัวหายไปเลย จากที่เคยมีโรคประจำตัวนะ เป็นไข้ประจำ นี่โรคท้องเหมือนกัน หายเลย
ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่าถ้าเป็นเวร เป็นกรรม เป็นโรคประจำตัว มันก็มีของมัน แต่ถ้าทำไมมันถึงร้อนมาก นี่ท้องร้อนมาก ทุกอย่างร้อนมาก ความร้อนนี่นะถ้าเป็นพิษไข้ ถ้าไปตรวจสอบแล้ว รักษาแล้วมันหาย แต่ถ้ามันเป็นโดยใจล่ะ? ถ้าเป็นโดยใจ เห็นไหม นี่วิตก วิจาร เป็นโดยอุปาทาน ถ้าเป็นโดยอุปาทานนะ เราต้องเอาธรรมโอสถเข้าต่อสู้ เข้าต่อสู้ กำหนดพุทโธ พุทโธ ไม่รับรู้สิ่งใดทั้งสิ้น ไม่รับรู้ที่มันจะร้อน ที่มันจะเอาอะไรมาทำให้เราเดือดร้อน เราไม่รับรู้มัน แล้วมันก็ค่อยๆ จางไป
นี่ถ้ามันเป็นธรรมโอสถของเรา สติปัญญาของเราทันนะ จะแก้ไขเรื่องอย่างนี้ได้ ถ้าแก้ไขเรื่องอย่างนี้ได้นะ ความวิตกกังวล ความอุปาทานในใจมันไม่มี สิ่งนี้จะมาหลอกเราไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเราวิตกกังวลว่าสิ่งนี้มันมี สิ่งนี้มันมี เห็นไหม คราวนี้ร้อนอุณหภูมิสัก ๕ เปอร์เซ็นต์ คราวหน้า ๑๐, ๒๐, ๓๐ มันไปเรื่อยแหละ เพราะอะไร? เพราะมันอุปาทานมากขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเรารักษาใจเราหมดนะ จบ
อย่างเช่นเวทนา เวลานั่งไปเดี๋ยวเกิดเวทนาแล้ว เกิดเวทนา ถ้าจิตยังไม่เคยสงบ เกิดเวทนานี่เจ็บปวดมาก เพราะอะไร? เพราะเวทนาเป็นเรา แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธจนจิตมันสงบก่อน พอจิตสงบก่อนนะ พอจิตมันสงบแล้วมันมีหลักใช่ไหมเกิดเวทนา จิตสงบ จิตเป็นตัวจิต เวทนาเป็นตัวเวทนา จิตนี่มันจับเวทนาได้ แล้วเอาเวทนามาพิจารณา ถ้าจิตมันยังไม่สงบก่อน จิตไม่มีหลักมีเกณฑ์ มันจับเวทนาไม่ได้ เพราะเวทนาเป็นเรา ความเจ็บแสบปวดร้อนเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา พอเป็นเรามันก็ทุกข์ไปหมดเลย
แต่ถ้าเราทำความสงบของใจของเรา สิ่งที่มันเจ็บแสบปวดร้อนมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันไม่ใช่เรา ตัวเรามันก็จับสิ่งนี้มาพิจารณา มันไม่มีอะไร มันไม่มีอะไร ถ้าจิตมันเข้าใจของมันแล้ว เพราะถ้าจิตมันตั้งแล้ว มันตั้งสมาธิได้นะ สิ่งที่เป็นความเจ็บแสบปวดร้อนข้างนอกมันไม่มีแล้ว เพราะจิตมันไม่ออกไปรับรู้ ถ้าจิตมันไม่ออกไปรับรู้ไง แต่ถ้าเป็นเวทนา เห็นไหม เวทนา เริ่มต้นเป็นเวทนา เราพุทโธ พุทโธหลบ เวทนามันสงบแล้ว
ทีนี้เวทนามันมี มีเพราะอะไร? มีเพราะมันเป็น นี่สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม เห็นไหม เวทนามันมี สิ่งที่เป็นเวทนามันมี ถ้ามีกายอยู่ มีใจอยู่มันต้องมี นี่มันจะมี เพราะเวทนา พระอรหันต์ยังมีเลย คำว่าพระอรหันต์ยังมี ภาราหะเว ปัญจักขันธา ภาราหะเว ภาระ ภาระในขันธ์ ภาระในการดำรงชีวิต ในเมื่อมันมีภาระ นี่เวทนาของกายมี แต่เวทนาของจิตไม่มี แต่ของเรามันมีเวทนาจิตด้วยไง เพราะจิตมันวิตกกังวล จิตมันก็ไปยึดมั่นถือมั่น แต่พระอรหันต์นี่เวทนาของกาย ถ้าพระอรหันต์ไม่มีเวทนา พระพุทธเจ้าฉันข้าวไหม? พระพุทธเจ้าก็ฉันข้าว
พระพุทธเจ้าบอกพระอานนท์นะ บอกกับพระอานนท์ที่ว่าเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หมอชีวกน่ะ หมอชีวกเคยทำนะเอาดอกบัวมาบดป่น แล้วเอาดอกบัวไปให้พระพุทธเจ้าสูดเข้าทางลมหายใจ เพราะมันเป็นโรคลม นี่ไงในเมื่อสิ่งที่เวทนามันมี เวทนามันมี ถ้าจิตมันสงบแล้วจับเวทนาพิจารณาของมัน นี่มันเป็นไปได้ เราเอาใจของเรา เอาความเป็นจริงของเราแก้ไข ถ้าแก้ไขไปแล้วนะมันจบไง
นี่โดยจบ นี่สำหรับผู้ถามใช่ไหม? คนถามมามันเพิ่งเจอ เพิ่งเจอหมายถึงว่าการฝึกหัด การทำอะไรของมันก็ละล้าละลัง เพราะเราไม่รู้รอบ แต่ถ้าโดยธรรมนะ โดยที่เป็นครูบาอาจารย์นี่อะไรเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นในระดับของใคร? เกิดขึ้นในระดับของผู้หัดใหม่จะเป็นอย่างนี้ ถ้าเกิดขึ้นของขั้นโสดาบันจะเป็นอย่างนี้ ถ้าโสดาบันไปแล้วนะ สกิทาคามีจะเป็นอย่างนี้ อนาคามีเป็นอย่างนี้ เวทนานอก เวทนาใน เวทนาในเวทนา เวทนามันแตกต่างหลากหลายกัน ด้วยความยึดของความหยาบ ความละเอียด ถ้าจิตมันหยาบๆ มันยึดเต็มที่เลย ถ้าจิตมันละเอียดมันก็ยึดแต่สิ่งที่ละเอียด ละเอียดมันยึดไปเรื่อยๆ นะ
ทีนี้ยึดหยาบ ยึดละเอียด มันก็ต้องมีครูบาอาจารย์คอยชี้แนะ มันถึงทำให้ผู้ที่ปฏิบัตินี้ปฏิบัติได้ง่าย แต่ถ้ามันไม่มีครูบาอาจารย์ชี้แนะนะ เราจะต้องสู้เอา เราจะต้องแก้ไขเอา เราจะต้องทำของเราให้ได้ เราต้องทำของเราให้รู้ อันนี้พูดถึงว่าจากผู้ที่มีการกระทำ จบเนาะ
ฉะนั้น จะเอาอันนี้อีกอันหนึ่ง อันนี้ก็เหมือนกัน
ข้อ ๘๖๐. ไม่มี ข้อ ๘๖๐. ไม่มีถึงข้อ ๘๖๖.
แล้วนี่ข้อ ๘๖๗. นะ เรื่อง รายงานผล อันนี้ก็มาไกล
ถาม : กราบหลวงพ่อ ผมได้ทำตามหลวงพ่อแนะนำ โดยปิดกระแสของจิตไม่ให้ส่งออกทั้งหมด ได้ผลครับ เวทนาที่ว่าเมื่อก่อนพิจารณาเป็นร้อยๆ ครั้งจนแหลกละเอียด จนหามันไม่เจอเป็นหลายๆ เดือน ตอนนี้เจอแล้วครับ พิจารณา เวทนา กาย จิต อารมณ์อย่างสนุกสนาน กิเลสกับธรรมสู้กันบนหัวใจ ถ้าจิตผมถอนก็กำหนดลงไปสู้กันใหม่ บางครั้งเกือบทั้งคืน ผมมักจะไปเจอเวทนาก่อน แล้วเวทนามันก็เห็นได้จริงๆ จับต้อง ลูบคลำได้
จิตกับอารมณ์ก็เช่นกัน และผลที่เกิดจากกิเลสกับธรรมมันเสมอกันอยู่ มันพักยก แต่ผมไม่ถอย เพราะได้จังหวะแล้วจะพยายามซ้ำต่อไป ผมได้งานเก่าคืนมาแล้วครับ ต้องกราบขอบพระคุณหลวงพ่อมากจริงๆ ไม่อย่างนั้นผมคงต้องงมหาเองอีกนานโข ตอนนั้นตัวเองไม่รู้ว่าตัวเองติดอะไร ที่แท้มันมีการส่งออกแบบละเอียดอีก ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ชี้แนะคงโง่อีกนาน ตอนแรกคิดว่ารู้ทางที่จะไปได้แล้ว มาทำเอาเองก็ได้ แต่ที่ไหนได้ ทางที่เดินมีอุปสรรคอีกมาก ครูบาอาจารย์นี้สำคัญจริงๆ ครับ ถ้ามีอะไรชี้แนะเพิ่มเติม ขอหลวงพ่อโปรดเมตตาชี้นำด้วยครับ ด้วยความเคารพอย่างสูง
ตอบ : นี่เวลาในการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เริ่มต้นเราบอกว่ายาลดไข้ๆ คำว่ายาลดไข้ เพราะคนเราเป็นไข้ ทุกคนมีความทุกข์ร้อน มันเจ็บไข้ได้ป่วยมันมีความวิตกกังวลมาก ทีนี้พอเรากินยาหรือเรารักษาตัวเราเอง เวลาไข้มันทุเลาลงเราก็ดีใจ พอไข้ทุเลาลงเราดีใจนะ เราคิดว่าสิ่งนั้นคือเราจะหายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ความจริงมันเป็นการลดไข้ เป็นการทุเลาเท่านั้น
การทุเลา เห็นไหม ในการประพฤติปฏิบัติ นี่เวลาเราปฏิบัติเราไม่เคยเห็นไง พอจิตสงบเราก็ตื่นเต้น ยิ่งใครหัดใช้ปัญญาเป็นนะ พอปัญญาเกิดขึ้นมันมหัศจรรย์มาก มหัศจรรย์มาก มหัศจรรย์มันได้ผลนะ เพราะมันเป็นตทังคปหาน มันปล่อยวางชั่วคราว พอปล่อยวางแล้วเราจะตื่นเต้น พอตื่นเต้นเราไม่มีการรักษา พอไม่มีการรักษา ทำให้สิ่งนั้นมันผิดพลาดไป คำว่าผิดพลาด เวลามันพิจารณาไปแล้วมันปล่อย มันผิดพลาดตรงไหน? มันไม่ผิดพลาด พิจารณาแล้วมันปล่อยมาด้วยกำลัง ด้วยความสามารถของเรา แต่เวลามันปล่อยแล้ว ความผิดพลาดคือเราไม่เดินหน้าต่อไป ความผิดพลาดคือเราไม่ดูแลรักษาการกระทำของเราไป
อย่างเช่นเราเดินทาง พอเราเดินทาง รถเราเคลื่อนออกจากที่ไป มันไม่ถึงเป้าหมาย เราไปตายกลางทาง เราไปแวะข้างทาง เราไปแล้วเราเข้าใจผิดเราออกนอกเส้นทาง เห็นไหม นี่ยาลดไข้ ยาลดไข้หมายความว่าเราไม่ใช่เป็นพื้นฐานที่เราอยู่กับพื้นที่ เราได้ขยับไปแล้ว ถ้าเป็นปุถุชน เรามีความรู้สึกนึกคิดของสามัญสำนึกนี่อยู่กับที่ แต่พอเราปฏิบัติธรรม เราได้ขยับออกไปแล้ว พอขยับออกไปมันเห็นต่างไง เห็นต่างกับคนอยู่พื้นที่ไง แล้วก็บอกว่าสิ่งนี้เรามีคุณธรรม มีคุณธรรม
ไม่ใช่ ไม่ใช่หมายความว่ามันไม่เป็นอกุปปธรรม มันยังไม่เป็นโสดาบัน ไม่เป็นสกิทาคามี ไม่เป็นอนาคามี ไม่เป็นพระอรหันต์ นี่มันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญโดยธรรมชาติของมัน แต่เราพิจารณาถึงที่สุดไปแล้ว พิจารณาแยกแยะไปแล้วเวลามันขาด เวลาขาดไปนี่สังโยชน์มันขาด เวลาสังโยชน์ขาดมันก็เป็นโสดาบัน พอเป็นโสดาบันมันเป็นอกุปปธรรมไง คือมันไม่แปรสภาพ มันไม่เปลี่ยนแปลง มันไม่มีการขยับอีกแล้ว มันคงที่ของมัน แต่ถ้ายังไม่ถึงที่นะมันยังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
นี่ยาลดไข้ ถ้าเราอยู่ในขั้นของยาลดไข้ เราต้องเข้มแข็ง เราต้องมีการกระทำ เพื่อลดไข้แล้วต้องรักษาไข้ ถ้าไข้หายแล้วก็จบ ยาลดไข้ พอไข้มันเริ่มเบาลงแล้วเราทิ้งไง เราทิ้งด้วยความเข้าใจผิด เราทิ้งด้วยความไม่รู้ เราทิ้งว่านี่คือผลแล้ว เราเข้าใจเองว่านี่คือผล ปฏิบัติธรรมผลมันเป็นอย่างนี้ นี่ไงว่างอย่างนี้ ดีอย่างนี้ นี่ที่สุดอย่างนี้ใช่เลย เดี๋ยวก็หมด พอเดี๋ยวหมดแล้วมันก็จะทุกข์ไง แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านจะคอยยันไว้ แล้วสู้ไว้ สู้ไว้ พยายามทำของเรา ทำให้ได้ๆ พอทำถึงเป็นความจริงขึ้นมา มันก็เป็นความจริงขึ้นมา
ฉะนั้น สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติ โดยหลักหลวงตาท่านพูดบ่อย
ไม่ทิ้งพุทโธ ไม่ทิ้งผู้รู้ ไม่เสีย
อย่าทิ้งนะ อย่าทิ้งผู้รู้ ผู้รู้คือต้นทุน ผู้รู้คือตัวจิตของเรา ตัวจิตของเรานี่แหละตัวสำคัญ เพราะตัวจิตของเราเป็นตัวที่ไม่รู้ มันถึงได้มาเกิดมาทุกข์มายาก แล้วพอเกิดแล้วเราประพฤติปฏิบัติเพื่อจะติดปัญญาให้มันไง ติดมาเป็นวิชชา อวิชชาเป็นวิชชา วิชชานี่ประพฤติปฏิบัติเข้าไป นี่ไม่ทิ้ง ถ้ามันขยับต่อเนื่องกันไป ถึงที่สุดแล้วไอ้ผู้รู้ นี่วิชชามันจะทำให้ถึงที่สุด พอมันถึงที่สุดแล้ว มันเป็นธรรมแล้วมันกลับเป็นอื่นไม่ได้
ฉะนั้น ไม่ทิ้งที่นี่ แต่ส่วนใหญ่แล้วเราไปอยู่ที่ว่างๆ ไปอยู่ที่ความพอใจ ไปอยู่ที่รสของมัน นี่สิ่งนั้นมันทำให้เราออกนอกทาง ถ้าไม่ออกนอกทางเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็เป็นไปได้ไง เพราะเขาบอกว่า
ถาม : ถ้ามีอะไรชี้แนะเพิ่มเติม หลวงพ่อโปรดเมตตาชี้ด้วยครับ
ตอบ : ชี้แนะก็นี่พยายามให้มีความเข้มแข็ง แล้วทำของเราไปนะ นี่จะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ เวลาปฏิบัติมันต้องการจิต จิตของเราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ จะอยู่ที่ไหนทุกคนก็มีหัวใจ หัวใจเป็นผู้ที่ทุกข์ ที่ยาก แล้วในการปฏิบัติมันบำเพ็ญเพียรภาวนา นี่บำเพ็ญเพียรภาวนาที่ไหน? การบำเพ็ญเพียรภาวนาคือทำที่หัวใจ จะอยู่ที่ไหน อยู่ประเทศไหน อยู่วัดไหน อยู่ป่าไหน อยู่ตำบลหมู่บ้านใด นี่บุคคลคนนั้น นี่ภพ ภวาสวะ กิเลสสวะ อวิชชาสวะมันอยู่ที่หัวใจ แล้วเราชำระล้างที่นั่น เราดูแลหัวใจเราที่นั่น ทำที่นั่น มีสติปัญญา
ที่ทำมานี้เป็นยาลดไข้ ลดกิเลสตัณหาความทะยานอยากให้เบาลง เราทำของเราให้ถึงที่สุดนะ ให้เป็นยาแก้ไข้ จากยาลดไข้ พอยาแก้ไข้ พอไข้นั้นหายนะ อกาลิโกไง ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ใครทำที่ไหน นี่ใจผู้นั้นเป็นผู้รู้ ใครทำที่ไหน เวลาใด เมื่อใด ถ้ามันเป็นธรรมคนนั้นจะรู้ทันที ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ไม่ใช่พวกเขา ไม่ใช่พวกเรา ไม่ใช่ใครๆ ทั้งสิ้น ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ให้มีความเข้มแข็ง ให้มีการกระทำ แล้วมันจะเป็นความจริงของใจดวงนั้น เพื่อประโยชน์กับใจดวงนั้นนะ นี่ธรรมของเรา
นี่พูดถึงปฏิบัติแล้วมันได้ผลมันก็เป็นประโยชน์เนาะ ถ้าปฏิบัติมันไม่ได้ผล เห็นไหม รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง นี่เวลาทุกข์ ทุกข์มากๆ รสของธรรมหล่อเลี้ยงหัวใจ หล่อเลี้ยงหัวใจเรา ได้สัมผัส ได้ลิ้มรสให้มีความองอาจกล้าหาญ เห็นไหม เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย อู๋ย ถอยกรูดๆ เลยนะ เวลามันแข็งแรง มันรื่นเริง อาจหาญ มันฮึกเหิม มันต่อสู้ ถ้ามันต่อสู้ นี่เวลาปฏิบัติมีตรงนี้ เวลามีครูบาอาจารย์ท่านก็คอยยุยงส่งเสริมให้เราเข้มแข็ง แต่เวลาปฏิบัติเข้าไปแล้วเราสัมผัสของเราเอง
รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง จิตใจมันสัมผัส รสทุกอย่างในโลกนี้เราก็ได้สัมผัสมาแล้ว แล้วโลกเขา ทุกคนเขาก็มีสิทธิที่เขาจะได้สัมผัสสิ่งนั้นเหมือนกัน แต่เวลารสของธรรมไม่มีใครจะสัมผัสแทนกันได้ มันต้องใจดวงนั้นปฏิบัติสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมนั้นจะเกิดกับบุคคลคนนั้น ถ้าทำอย่างนั้นได้จะเป็นประโยชน์อย่างนั้น
ฉะนั้น ให้เข้มแข็ง ทุกคนมีสิทธิเหมือนกัน ทุกคนมีกายกับใจเหมือนกัน จะปฏิบัติที่ไหน จะทำอย่างใดให้เข้มแข็งขึ้นมา เพื่อประโยชน์กับบุคคลคนนั้น เอวัง