ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

กะเทาะจิต

๒๘ เม.ย. ๒๕๕๕

 

กะเทาะจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๘๖๘. เรื่อง “ความเป็นจิต”

(คำถามเขาว่า “ความเป็นจิต”)

กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมเร่งปฏิบัติเท่าที่สติปัญญาผมมี และก็ลุ่มๆ ดอนๆ ไปตามวิบากกรรม แต่มีคำถามที่อยากเรียนถามหลวงพ่อครับ ผมเข้าใจจากการปฏิบัติว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แบบไม่มีข้อกังขา เพราะเห็นถึงคุณลักษณะของจิตที่เป็นทิพย์ เมื่อจิตสัมผัสกับสิ่งใด เช่นธรรมต่างๆ ที่ขันธ์ ๕ ปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว จิตก็สร้างอารมณ์เพื่อเป็นอาหารให้จิตเสวยได้ ทำดีจิตก็รู้ และเสวยอารมณ์แห่งกุศลกรรม ทำชั่วจิตก็รู้ และเสวยอารมณ์ของอกุศลกรรม

แม้เราบังคับไม่ให้จิตปรุงขันธ์ ๕ ให้จิตอยู่ลำพัง จิตก็อยู่ได้ด้วยการที่จิตสัมผัสจิต แล้วปรุงอารมณ์ได้จากตัวเองเพื่อเป็นอาหารของจิตได้ จิตจึงดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองได้ แม้ไม่มีขันธ์ ๕ ให้พึ่งพาก็ตาม แต่จิตนี้เองก็ทำให้ไม่จบ และหมุนไปในวัฏวน เนื่องจากเสื่อมสภาพจากการเป็นจิตอย่างเดียว ก็ออกไปสัมผัสสิ่งอื่น ก็สร้างอารมณ์หลากหลายมากินอีก ถ้าผู้ปฏิบัติวิปัสสนาซ้ำจนเหลือจิตอย่างเดียว ถ้าไม่ปล่อยจิตทิ้งไป แล้วจะวนเข้าสู่วัฏฏะเดิมๆ อีก เป็นเช่นนี้เรื่อยไปๆ ไม่รู้จบ จึงใคร่ขอความเมตตาหลวงพ่อหนึ่งคำถามครับ

๑. จิตที่สัมผัสตนเอง แล้วสร้างอารมณ์กินเองได้ โดยที่จิตไม่เคยรู้และยึดตนเองไว้แน่น ทุกขณะจิตกลายเป็นภพ ให้เรื่องราวต่างๆ จรมาจรไปตามกำลังสมาธิของจิตในแต่ละขณะ และวิบากกรรมที่ผ่านเข้ามา สิ่งนี้คือกายสุดท้ายใช่หรือไม่ครับ ขอบพระคุณอย่างสูง

ตอบ : กรณีนี้เราพยายามจะหลบหลีกตรงนี้มาตลอด เราพยายามจะหลบหลีกสิ่งที่ว่า “กายสุดท้ายใช่หรือไม่” เพราะคำถามถามตรงนี้มา ๒-๓ ครั้ง แต่เราพยายามจะหลบตรงนี้ หลบไม่ตอบไง ว่าสิ่งที่เข้าไปเป็นตออยู่นี่ เข้าไปเป็นอาการของจิต เป็นสิ่งที่มันปล่อยวางหมดแล้วมันไปคร่อมตอ คร่อมความรู้สึกเฉยๆ อยู่ ที่ไม่ใช่อารมณ์ มันเป็นกายสุดท้ายหรือเปล่า? เราพยายามหลบไม่ตอบมาตลอด แต่วันนี้จะบอกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ ไม่ใช่กายสุดท้าย ไม่ใช่อะไรเลย คือจิตอย่างเดียว จิตอย่างเดียว ไม่ใช่กายสุดท้าย

ฉะนั้น คำว่าการภาวนาไป เวลามันจะปล่อยสิ่งใดก็แล้วแต่ มันปล่อยเข้ามาแล้ว เห็นไหม “อนุโลม ปฏิโลม” คำว่าอนุโลม ปฏิโลม เวลาอุปัชฌาย์สอนพระไง นี่เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ อนุโลม ปฏิโลม คือเข้าไปแล้วออก เข้าไป พิจารณาเข้าไปแล้ว ถ้ามันเข้าไปแล้วถึงไม่ได้ให้พิจารณาย้อนกลับ ย้อนหน้าย้อนหลัง ย้อนหน้าย้อนหลัง

ในการพิจารณานี้ก็แล้วแต่ เราจะพิจารณาจิตอย่างไร เราจะปล่อยวางขนาดไหนแล้วเราต้องพิจารณาย้อนหน้าย้อนหลัง เพราะว่าพิจารณาปล่อยไปแล้ว นี่คำถามบอกว่า

ถาม : ในเมื่อถ้าจิตมันไม่ปรุงขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีแล้ว มันว่างหมดแล้วนี่มันคืออะไร?

ตอบ : ถ้ามันว่างหมดแล้ว มันว่างหมดก็คือจิต แล้วถ้าจิตมันเสวยอารมณ์สิ่งต่างๆ เอง เห็นไหม เราพิจารณาเข้าไป แต่เราไม่ปฏิโลมไง อนุโลมเข้าไป พิจารณาเข้าไป อนุโลม ปฏิโลม คือพิจารณาเข้า พอพิจารณาเข้าถึงที่สุดแล้วมันเข้าไปมันก็ปล่อยๆ ปล่อยแล้วทำอย่างไร? ต้องย้อนออก ย้อนกลับออกมา

ถ้ามันพิจารณาเข้าไปแล้วมันไม่ถึงที่สุด เห็นไหม อย่างเช่นการพิจารณาขันธ์ ๕ พิจารณาขันธ์ ๕ ปล่อยแล้ว ขันธ์ ๕ ในขันธ์ ๕ ถ้าพิจารณาขันธ์ ๕ ปล่อยไปแล้ว ในขันธ์ ๕ นี่รูป ในรูปก็มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในเวทนาก็มีรูป ถ้าเวทนาไม่มีรูป เราจะรู้จักเวทนาได้อย่างไร? ในสัญญา ถ้ามีสัญญานะ ในสัญญามันก็มีข้อมูลของมัน นี่พอพิจารณาเข้าไปแล้วมันต้องแยกเข้าไปเรื่อยๆ พอแยกเข้าไปเรื่อยๆ พอมันปล่อยหมดแล้ว

นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม บอกว่า “เราเป็นไข่ฟองแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา เราเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา”

จิต จิตเวลาปล่อยวางเข้ามาแล้วมันคือจิต จิต เห็นไหม มันต้องกะเทาะจิตออกมา จากจิตนั้น พอจิตมันเข้าไปปล่อยแล้ว นี่เขาว่า

ถาม : แม้เราบังคับไม่ให้จิตปรุงแต่งขันธ์ ๕ จิตมันอยู่ลำพัง จิตก็อยู่ได้ด้วยจิตที่จิตสัมผัส แล้วก็ปรุงอารมณ์ออกมา

ตอบ : นี่ปรุงอารมณ์ อารมณ์นั้นมันคือขันธ์ ๕ จิตมันก็ปรุงอารมณ์ จิตมันก็คือจิต จิตคือพลังงาน ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่อารมณ์ ถ้าไม่มีขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ไปไม่ได้ ถ้ามันปรุงอารมณ์มันก็ปรุงเข้าสู่ขันธ์ ๕ ถ้ามันปรุงเข้าสู่ขันธ์ ๕ เห็นไหม นี่เราพิจารณาไปแล้วเราไม่ละเอียดพอ ถ้าเราละเอียดพอนะ นี่พิจารณาเข้าไปแล้วพอมันปล่อย พอปล่อยแล้วมันก็ตั้งสติไว้ พอมันเสวยเราก็จับ พอมันเสวยอารมณ์ นั่นแหละมันเสวยแล้ว มันเสวย

นี่ไงอนุโลมเข้าไป พิจารณาเข้าไป เวลามันพิจารณามันก็พิจารณาย้อนมา แม้แต่พิจารณาไม่ได้นะ เวลาหลวงตาท่านพิจารณาอสุภะ พิจารณาอสุภะจนปล่อยวางหมด ปล่อยวางหมดทุกอย่างเลย ท่านบอกว่า “ปล่อยวางแบบนี้ไม่เอา เพราะปล่อยวางแบบนี้ไม่มีเหตุ ไม่มีผล ไม่เอา” ทั้งๆ ที่มันพิจารณาไปแล้วมันปล่อยวางหมดนะ โล่งหมดเลย ถ้าเป็นอย่างพวกเรานะ โอ้โฮ ถ้าปล่อยวาง ปล่อยวางนี่เป็นพระอรหันต์ไง ปล่อยวางนี่คือจบไง ท่านบอกว่าปล่อยวางอย่างนี้ไม่เอา มันไม่มีเหตุ มันไม่มีผล

นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นี่เราพิจารณาจนปล่อยวาง ปล่อยวางขนาดไหนมันก็คือจิต แล้วถ้าจิตมันก็เป็นจิต จิตมหัศจรรย์ จิตมันสร้างอารมณ์กินเองได้ สิ่งต่างๆ ได้ นี่เพราะเราไม่รอบคอบ ถ้าเรารอบคอบนะ เรารอบคอบแล้วเราต้องมีเวลา เรามีเวลา เราพิจารณาของเรา นี่เราจับของเรา จับจิตออกมา จับจิตตัวนั้นแหละ

จิต พอพิจารณาถึงจิต จิตปล่อยวางหมด จิตสักแต่ว่าจิต จิตมันอยู่ของมันนิ่งอยู่อย่างนั้นแหละ นิ่งอยู่อย่างนั้น นิ่งอยู่ของมัน มันปล่อยวางของมันมา มันปล่อยวางมา เรายังไม่เผลอ พอเผลอมันก็ออกอีก เพราะโดยธรรมชาติของมัน มันอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ เวลาพระอาทิตย์นี่นะ นี่พายุสุริยะ เวลามันเกิดปฏิกิริยาระเบิดมา มันพัดมา มันกระทบมานี่โลกทั้งโลกเลย โลกทั้งโลกโดนพายุสุริยะ เรื่องเทคโนโลยีต่างๆ เสียหายไปหมดเลย แล้วเราเห็นด้วยตาไหม? นี่เวลามันระเบิด มันระเบิดมาจากดวงอาทิตย์นะ มันทำปฏิกิริยาจากดวงอาทิตย์แล้วมันระเบิดมา พายุสุริยะมันมา นี่พลังงานมันมา

จิต จิตเวลามันเป็นตอของจิต อย่างดวงอาทิตย์พลังงานมันส่งออกตลอด มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จิตมันจะอยู่ของมัน เป็นไปไม่ได้ แม้แต่เข้าอัปปนาสมาธิ เวลาเข้า ดูสิเข้าสมาบัติ สุดท้ายมันก็ต้องออกมา มันอยู่ไม่ได้หรอก นี่จะอยู่ได้กี่วัน อย่างเช่นเข้าสมาบัติอยู่ได้ ๗ วัน ๗ วันก็คือ ๗ วัน ๗ วันก็ต้องออก เพราะมันออกมาเป็นปกติ จิตเวลามันปล่อยสิ่งต่างๆ เข้ามาแล้วมันเป็นตัวจิต แล้วจิตนี้มันต้องกระทบไง มันก็ต้องกระทบ ต้องมีการกระทำ นี่แล้วว่าจิตมันเป็นกายสุดท้าย กายสุดท้ายแล้วทำอย่างไรต่อไป?

มันไม่ใช่ ไม่ใช่กายสุดท้าย ถ้ากายสุดท้ายมันยังอีกยาวไกลนัก กายสุดท้ายนะ พิจารณากายเป็นโสดาบัน พิจารณากายนะ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ กายมันแยกออกจากกัน นี่กายแรก กายนอกกายแรก

กายที่สอง พิจารณากายซ้ำเข้าไปมันจะปล่อยไปตามธรรมชาติของมัน นี่ไปสู่ดิน น้ำ ลม ไฟ ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ จิตมันปล่อยวางหมด โลกนี้ราบหมดเลย นี่กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง นี่กายที่สอง

ถ้ากายที่สามนะ กายที่สามก็อสุภะ ถ้าพิจารณาอสุภะนะ อสุภะถ้าเป็นอสุภะ พิจารณาอสุภะ เห็นไหม อสุภะคืออะไร? อสุภะคือกามราคะ กามราคะมันเกิดขึ้นมาจากไหน? เกิดขึ้นมาจากปฏิฆะ รูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา นี่มันเกิดจากปฏิฆะ กามราคะ ถ้าเกิดขึ้นมาพิจารณาซ้ำๆๆ เข้าไป นี่กามราคะ ปฏิฆะคือข้อมูล กามราคะคือความต้องการ พิจารณาไป นี่กายอย่างที่สาม พอพิจารณากามราคะขาดไปแล้ว มันก็ไปสู่ เห็นไหม

“โมฆราช เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ”

กลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ คือกลับมาถอนภพ กลับมาถอนฐาน กลับมาถอนกายสุดท้ายไง นี่แล้วบอกพอจิตมันปล่อยวางเป็นกายสุดท้าย ไม่ใช่ ยังอีกไกลนัก! แต่เราพยายามจะเลี่ยงไม่พูดนะ ไม่พูดเพราะอะไรรู้ไหม? เพราะไม่ต้องการให้คนติดไง ไม่ต้องการให้คนพูด แต่ทีนี้เวลาภาวนาไปแล้วมันไปคาอยู่ไง ถ้าคาอยู่ต้องปฏิโลม นี่อนุโลม ปฏิโลม พิจารณาเข้าแล้วต้องพิจารณาออก ต้องพิจารณาออกมา พิจารณาออกมาให้มันเสวยออกมา ล่อมันออกมา ต้องพิจารณาออกมา

นี่เวลาปฏิบัติกันไป พอคนปฏิบัติไปบอกว่าคนนู้นว่าง คนนั้นมีคุณธรรม มีอะไร? มันเป็นสัญญาทั้งนั้น มันไม่มีหรอก ถ้ามันมีสัญญานะ มันเหมือนกับทางโลกนี่ ทางโลก เห็นไหม เราทำสินค้าขึ้นมา วิทยาศาสตร์เราค้นคว้าขึ้นมา สินค้าของเรามันจะไม่ไปซ้ำกับใคร เขาจดลิขสิทธิ์ไว้หมดแล้ว เราจะไปซ้ำกับใครไม่ได้หรอก นี่วิทยานิพนธ์ เวลาปฏิบัติขึ้นมามันจะเป็นของเราเอง ถ้ามันเป็นขึ้นมา นี่มันเป็นขึ้นมาได้อย่างไร? ถ้าเป็นขึ้นมามันก็จบไง ถ้ามันไม่เป็นขึ้นมาเราจะรอช้าอยู่ไม่ได้ ถ้ารอช้าอยู่นะ นี่ปฏิบัติไปแล้วจิตมันปล่อยหมดเลย จิตมันสัมผัสตัวจิตได้

เวลาปฏิบัตินะ เวลาขณะจิตที่มันเป็น นี่เวลาขณะจิตที่มันเป็น เห็นไหม อย่างเช่นเข้าประตู ถ้าเข้าประตูเข้าประตูอย่างไร? เข้าไปแล้วมันจบอย่างไร? แต่ถ้ามันยังไม่เข้าประตูมันอยู่ในโลกียะ มันอยู่โดยสามัญสำนึกของเรา มันอยู่ในความเป็นไปของเรา ถ้าความเป็นไปอย่างนี้มันก็พิจารณาอยู่ของมันอย่างนี้ แล้วพิจารณาอย่างนี้เราจะแยกแยะอย่างไร? เราจะต่อสู้อย่างไร? ถ้าพอต่อสู้เข้าไปแล้วมันปล่อย พอมันปล่อย เห็นไหม จิตสัมผัสจิต จิตสัมผัสจิตนะ นั่นแหละมันสมบูรณ์โดยการกระทำพร้อม แต่เราจับไม่ได้เอง

นี่จิตมันปรุงแต่ง จิตมันสัมผัสจิต จิตสัมผัสก็คืออารมณ์ ทุกอย่างเป็นอารมณ์หมด ถ้าไม่เป็นอารมณ์จับไม่ได้ นี่คิดดูสิเวลาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม สิ่งที่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ นี่อารมณ์ความรู้สึก พอเราปัญญาอบรมสมาธิเพราะเราพิจารณา สิ่งนี้พอจับเข้าไปแล้วมันมีความโลภ ความโกรธ ความหลง มันมีความไม่พอใจ มันมีความสุข ความทุกข์ เราเห็นโทษของมันแล้วก็ปล่อยวางๆ นี่มันเป็นเรื่องโลกียะมันก็ปล่อยมาจากข้างนอก พอปล่อยข้างนอกมันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ นี่ปัญญาใคร่ครวญอย่างนี้มันก็เป็นสมาธิ สมาธิคือมันปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามามันเห็นการกระทำ

นี่สิ่งที่ว่าเวลาเราพิจารณาจากโลก สิ่งที่ว่าเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง สิ่งที่มันเป็นสัญญาอารมณ์นี่มันก็เป็นสามัญสำนึก แต่เวลามันปล่อยเข้ามาแล้วจิตมันจะละเอียดเข้าไป มันเห็นขันธ์ ๕ เห็นสิ่งที่เป็นสื่อ สื่อที่จะให้เกิดอารมณ์ สื่อที่ให้เกิดอารมณ์ นี่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ ๕ พอขันธ์ ๕ กระบวนการของมันกระทำเสร็จแล้วมันก็เป็นความคิด เป็นสัญญาอารมณ์ พอเราวางสัญญาอารมณ์เข้ามาแล้วมันเห็นสื่อ เห็นการกระทำ เห็นขันธ์ ๕ พอเห็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มันเกิดจากอะไร? เกิดจากจิต เพราะจิตมันเป็นพลังงาน มันเสวยขันธ์ ๕ มันถึงออกไปเป็นอารมณ์นู่น

นี่พอพิจารณาแล้วเราเห็นเป็นชั้นๆ เข้าไป พอปล่อยวางหมดแล้วตอนนี้ก็ว่าเหลือแต่จิตๆ เหลือไม่เหลือมันก็เรื่องของมัน จิตสัมผัสจิต เห็นไหม ฉะนั้น

ถาม : ผู้ที่วิปัสสนาซ้ำจนเหลือจิตอย่างเดียว ถ้าไม่ปล่อยจิตทิ้งไป แล้วมันก็จะวนสู่วัฏฏะเดิมๆ อีก เช่นนี้ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบ

ตอบ : นี่ไงถ้าไม่ปล่อยจิตทิ้งไป เพราะว่าจะปล่อยจิตทิ้งไปไงมันถึงไม่ทำอะไรเลย จิตต้องจับมาพิจารณา มันจะปล่อยทิ้งไปไหน? ถ้าปล่อยทิ้งไปมันก็เหมือนกับเราปฏิเสธ เราไม่รับรู้หรือ? แล้วไม่รับรู้ นี่มันต้องรับรู้สิ ทำอะไรมันต้องชัดเจนหมด

ดูสิเวลาเรากำหนดพุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิ เวลาจิตมันจะเป็นสมาธิเข้ามา เราจะมีสติปัญญามาพร้อมนะ มันจะเว้นวรรคไม่ได้ จะเผลอไม่ได้ ถ้าเผลอมันไม่เข้าสมาธิเลย ถ้ามันเผลอมันก็แว็บ เผลอมันก็ตกภวังค์ไป มันหายไปเลย ถ้าเรามีสติพร้อมไปๆ มันจะเข้าสู่สมาธิ ถ้าเข้าสู่สมาธินะมันปล่อยทิ้งที่ไหน?

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตถ้ามันปล่อยทิ้งไป แล้วจะปล่อยอย่างไร? เราเป็นหนี้เขา แล้วเราปฏิเสธความเป็นหนี้ เราไม่รับรู้ ถึงเราไม่ใช่ชาตินี้ หนี้กรรมมันก็มีนะ

นี่ก็เหมือนกัน

ถาม : ถ้าไม่ปล่อยจิตทิ้งไป แล้วมันจะวนอยู่ในวัฏฏะ

ตอบ : ตัวจิตนั่นแหละต้องเอามาพิสูจน์ ตัวจิตนั่นแหละ นี่เรากะเทาะฟองอวิชชาออกมา ตัวจิต คำว่าตัวภพๆ มันก็เป็นภพนั่นแหละ แต่เป็นภพ เวลามันทำงานแล้วเรายังเซ่ออยู่ มันทำงานครบวงรอบแล้วบอกว่าจิตสัมผัสจิต เราไม่รับรู้อะไร มันทำงานของมันไปแล้ว นี่ไงความไม่รู้เท่า พอความไม่รู้เท่า แต่เราบอกว่ามันเป็นจิต มันปล่อยหมดแล้ว มันไม่มีอะไรแล้ว ไม่มีอะไรแล้วมันมีอารมณ์ได้อย่างไร? ไม่มีอะไรมันมีความรู้สึกได้อย่างไร?

ของมันมีอยู่ ของมันทำอยู่ทั้งนั้นแหละ แต่มันไม่ทำ พอมันทำขึ้นมาก็บอกว่าทำแล้วๆ มันละเอียดแล้ว ละเอียดแล้วดึงออก ดึงออกมาทำอีก ถ้าไม่ดึงออกมาทำมันก็อยู่อย่างนี้ นี่ไงเวลาคนปฏิบัติแล้ว ที่ว่ามันไม่เป็นอกุปปะ มันยังไม่ได้ผล ถ้ามันเป็นอกุปปะ มันตัดทิ้งออกมามันจะเป็นของมัน ถ้าไม่เป็นของมันมันก็เป็นอย่างนี้แหละ

นี่ถ้าจิตมันไม่ปล่อยจิต เพราะคิดว่าจะปล่อยไง คิดว่าจะทิ้งไง คิดแบบวิทยาศาสตร์ไง นี่เวลาบอกว่าเป็นหนี้ ใช้หนี้แล้วก็จบ แล้วเป็นหนี้ ใช้หนี้ก็จบ แต่เวลากรรมมันมีมันจบไหมล่ะ? นี่เวลากรรม เห็นไหม กรรมเก่า กรรมใหม่ กรรมมีการกระทำตลอดไป

ดูสิดูอย่างศาสนาเชน เขาบอกว่าพระเราเป็นอยู่นี่มันยังไม่ปล่อยวาง เพราะอะไร? เพราะยังนุ่งห่มกันอยู่ เขาไม่นุ่งห่มเลยนะ เขาเป็นชีเปลือย เขาเป็นพระอรหันต์ เขาปล่อยวางหมดเลย แต่ตอนนี้วิทยาศาสตร์มันเจริญนะ เขาไปเอาหน้ากากมาปิดจมูก เขาบอกว่าเวลาเขาหายใจมันมีจุลินทรีย์ อ้าว เปลือยกายหมดเลยนะ แต่ห่วงว่าเวลาหายใจเข้าไปเชื้อโรคมันจะเข้า นี่มันวิตกไปหมด มันทำของมัน มันไม่เป็นความจริง มันจะติดขัดแย้งกันไปเองในความเป็นจริง

ฉะนั้น สิ่งนี้

ถาม : ๑. จิตที่สัมผัสตัวเอง แล้วสร้างอารมณ์ให้ได้กินเอง โดยที่ไม่เคยรู้และยึดตนเองไว้แน่น ทุกขณะจิตเป็นภพ เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ที่จรมาจรไปตามกำลังสมาธิและจิตในขณะนั้น เป็นวิบากกรรมที่ผ่านเข้ามา สิ่งนี้คือกายสุดท้ายหรือเปล่า?

ตอบ : จะเห็นกายหรือเห็นจิตนี่นะมันต้องมาพิจารณาทั้งนั้นแหละ มันจะสุดท้ายหรือไม่สุดท้ายเราตั้งชื่อมันเอง เราตั้งชื่อว่าไอ้สุดท้าย แล้วมันสุดไหมล่ะ? เรามีลูกคนหนึ่งใช่ไหม พอคนแรกบอกเลยไอ้สุดท้าย จะไม่เกิดอีกแล้ว เดี๋ยวน้องมันเกิดจะตั้งชื่อมันอะไร? ไอ้ท้ายสุด แล้วน้องมันเกิดมาอีกคนจะตั้งชื่ออะไร? เออ ไอ้คนมาทีหลัง เราตั้งชื่อเอง เพราะเราไปตั้งชื่อมันเอง ถ้าเราไม่ต้องไปตั้งชื่อมันนะ เราพิจารณาของเราไป จิตนี่ต้องเอามาพิจารณา

นี่พอบอกว่ากายสุดท้าย กายสุดท้ายแล้วทำอย่างไร? แล้วจะปล่อย ปล่อยอย่างไร? มันไม่ปล่อยหรอก ถ้ามันไม่ปล่อย เราถึงต้องอนุโลม ปฏิโลม ขณะที่ว่าพิจารณาปล่อยจนหมดแล้วนะ นี่หลวงตาท่านเป็นมาก่อน พิจารณาสุภะจนไม่มีอะไรเลย “เอ๊ะ แบบนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ? มันไม่มีอะไรเลย มันหาไม่เจอเลย อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ?” แต่ด้วยเพราะวุฒิภาวะท่านได้ศึกษามาจนเป็นมหา ถ้ามันยังมีความสงสัยอยู่ ถ้ามันยังมีความสงสัย เพราะบอกว่าอย่างนี้ไม่ใช่ นี่มันคือสงสัย อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ? อย่างนี้ไม่เอา เพราะมันไม่มีเหตุผล

ฉะนั้น พอพิจารณาอสุภะจนมันปล่อยวางแล้วนี่ เอาสุภะ นี่สุภะ เห็นไหม สิ่งที่สวยงามเราเห็น เพราะความสวยงามความจริงมันไม่มี ความสวยงามมีเพราะเราทำขึ้น อย่างเช่นโต๊ะตัวนี้มันจะสวยงามเพราะช่าง นี่อุปกรณ์การใช้สอยมันสวยงามเพราะคนกระทำ แล้วมันอยู่ไม่ได้ มันต้องแปรสภาพ ความสวยงามอยู่ที่เราประกอบขึ้น เราจัดขึ้น อย่างความสะอาดเราต้องดูแลรักษา เราเก็บ เราเช็ดมันก็สะอาด แล้วความสะอาดจะอยู่คงที่ไหม? เดี๋ยวก็สกปรก ความสะอาดจริงๆ มันไม่มี มันแปรสภาพของมันไปอยู่อย่างนี้

ฉะนั้น จริงๆ ของสวยงามมันไม่มี แต่มนุษย์อยากมี พอมนุษย์อยากมี มนุษย์ก็ไปติดในความสวยงาม ความพอใจของตัว ทีนี้ความพอใจของตัว พระพุทธเจ้าถึงสอนอสุภะไง สอนถึงฝั่งตรงข้ามว่ามันของมันต้องเสียหาย มันจะเป็นไตรลักษณ์ คือมันคงที่ของมันไม่ได้หรอก ไม่มีสิ่งใดคงที่เลย เราก็พิจารณาถึงความเป็นไตรลักษณ์หมดเลย ไม่มีสิ่งใดคงที่ ของสิ่งใดที่เขาประกอบขึ้นมาเป็นวัตถุก็รื้อมันออกให้หมด แยกมันออกให้หมดมันก็ไม่มีอะไร เห็นไหม ไม่มีอะไรเลย ไม่มีแล้วเป็นอย่างไรต่อ? ไม่มีก็คือไม่มีไง กูก็ทุกข์อยู่นี่ไง

นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาจนว่างหมดเลย ปล่อยหมดเลย เอ๊ะ อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ? ถ้าอย่างนี้ก็มีเราอยู่ใช่ไหม? ถ้าอย่างนี้กูก็ยังสงสัยอยู่ เพราะอย่างนี้ ท่านบอกอย่างนี้ไม่เอา อย่างนี้ไม่เอา ท่านก็ไปเอาความสวยงาม เอาสิ่งที่โลกเขาติดกัน ความสวยงามเอามาแนบไว้กับจิต ๓-๔ วันแรกมันดิ้น พอมันมีอาการรับรู้นะ ไหนว่าไม่มีไง?

คือสิ่งนี้มันลึกลับซับซ้อน กิเลสคนลึกลับซับซ้อนนัก แล้วการศึกษาธรรมะ ศึกษามาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างพวกเราศึกษาวิทยาศาสตร์ เอ็งวิศวะ เอ็งสาขาไหนวะ? วิศวะก็ยังแตกเป็นเอกอีกร้อยกว่าวิศวะ แล้ววิศวะกับวิศวะมันก็มาเถียงกันนะ อ้าว สาขาใครสาขามัน

นี่ก็เหมือนกัน ศึกษามา นี่ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้ามา เราก็ศึกษามาว่าเข้าใจหมด แล้วปฏิบัติก็นี่ไงปล่อยหมดแล้ว ปล่อยหมดเลย แล้วเป็นอย่างไรต่อ? เป็นอย่างไรต่อ? ก็คิดแบบวิศวะไง โครงสร้างเป็นอย่างนี้ ทุกอย่างเป็นอย่างนี้ แล้วเป็นอย่างไรต่อ? อ้าว ผมคนละสาขา ผมไม่ได้เรียนมาสาขานั้น ผมไม่รู้

นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติไป พิจารณาไปสิ พอมันปล่อยหมดแล้วทำอย่างไรต่อ? ทำอย่างไรต่อ? นี่ปฏิโลม เห็นไหม ถึงต้องดึงออกมา หลวงตาท่านฉลาด พอท่านปล่อยแล้วมันไม่มีเหตุมีผล เอาสุภะมาแนบเลย พอแนบขึ้นมา พอแนบขึ้นมาเพราะอะไร? เพราะความเห็นของเรา ความเห็นของเราว่ามันเป็นไตรลักษณ์ มันเป็นอสุภะ มันไม่มีสิ่งใดเลย มันปล่อยวางหมดเลย แล้วอย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ?

มันปล่อยวางหมดเลย แต่มันไม่มีเหตุมีผล เพราะกิเลสมันปฏิเสธ มันอ้าง เหมือนทางวิชาการ เหมือนโลก ทำตามแบบ ทำสมบูรณ์ ทำครบทุกอย่าง แล้วทำว่าเหมือนงานเสร็จ ถ้างานอย่างนี้เสร็จแล้วมันคือเสร็จ นี่พอเสร็จแล้ว เสร็จแล้วเพราะกิเลสมันรู้เท่าแล้วใช่ไหม? เพราะพระพุทธเจ้ายังไม่มีธรรมะ ยังไม่มีใครทำสิ่งใด อย่างเช่นในตลาดสินค้าชนิดนี้ไม่มี เราทำมานี่เราเป็นสินค้าชิ้นแรก เราเป็นสินค้าชิ้นแรก เราไม่ได้เลียนแบบใครมา ทีนี้พอมีสินค้าชิ้นแรกมันเป็นตัวอย่าง เราจะทำเข้าตลาดเราก็เลียนแบบสินค้าชิ้นนี้ เพราะสินค้าชิ้นนี้ติดตลาด เราจะเลียนแบบสินค้าชิ้นนี้

ธรรมะของพระพุทธเจ้าวางไว้ในชาวพุทธ แล้วเราก็มาเลียนแบบสินค้าชิ้นนี้ พอเลียนแบบสินค้าชิ้นนี้เราก็ทำครบทุกอย่างหมดเลย แล้วมันก็เต็มไปหมดเลย แล้วอย่างไรต่อ? ทำสมบูรณ์หมดแล้วทำอย่างไรต่อ? มันก็เกิดในวัฏฏะนี่ไง ฉะนั้น สิ่งนี้ถึงต้องหามัน ต้องคุ้ยมัน ไอ้กรณีอย่างนี้มันเป็นจริตนิสัย คือว่ากิเลสหยาบ กิเลสละเอียด ถ้ากิเลสหยาบๆ หรือกิเลสที่คนมันพิจารณาของมัน มันเห็นโทษ เห็นภัยของมัน แต่ถ้ากิเลสมัน ๒ ชั้น ๓ ชั้นนะ มันได้ทำแล้ว มันได้ทำแล้ว มันได้จัดการแล้ว มันทำของมันหมด ถ้ามันทำได้มันก็คือได้ ถ้ามันทำไม่ได้ มันเป็นสภาวะแบบนี้มันก็เป็นแบบนี้

ถ้ามันเป็นแบบนี้แล้ว นี่เราจะหลบตรงนี้มาตลอด เห็นไหม ที่ว่ากายสุดท้ายหรือเปล่า? กายสุดท้ายหรือเปล่า? เราพยายามจะไม่พูด เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะว่าพูดแล้วนี่ เพราะตัวเองคิดอย่างนี้ ตัวเองมีความหวังอย่างนี้ นี่คนสุดท้าย ไอ้คนท้ายสุด ไอ้คนมาทีหลัง เพราะมันยังมีอีกไกล เพราะเราดูแล้วมันยังไปอีกไกลนะ ถ้ามันไปอีกไกลแล้ว นี่มันวนอยู่อย่างนี้ แล้วโดยธรรมชาตินะเราก็หวังผลกัน แล้วอย่างเรามีครูบาอาจารย์ใช่ไหม? ก็อยากให้ครูบาอาจารย์ชี้นำเราๆ ยิ่งชี้นำนะ

ฉะนั้น เทคนิคในการสอน หลวงปู่มั่นถึงบอกไง “การแก้จิตแก้ยากมากนะ” บอกมาสำเร็จรูปหมดเลย มันก็เอาความสำเร็จรูปไปสร้างภาพไว้หมดเลย พอยิ่งสร้างภาพขึ้นมา มันก็เหมือนยานี่ใช้หมดแล้ว ใช้ยาขนานที่สุดยอดแล้ว แล้วต่อไปจะใช้อะไรต่อ? อ้าว มึงจะใช้อะไรต่อ? ไปนั่งร้องไห้กันไง เวลาภาวนาแล้วนะก็นั่งคอตก เอาหัวชนกันแล้วก็น้ำตาไหล แล้วทำอย่างไรต่อ? เออ เอาหัวชนกันใช่ไหม? แล้วก็ต่างคนต่างน้ำตาไหล น้ำตาไหล แต่ครูบาอาจารย์ท่านรู้ ท่านถึงบอกว่าอะไรควร ไม่ควร ฉะนั้นถึงบอกว่าครูบาอาจารย์ชี้มาสิ บอกมา บอกมาให้รู้ เอาปืนมายิงหัวทิ้งไปเลย

ฉะนั้น นี่สิ่งที่มันทำมา มันเขียนมาอย่างนี้ มันก็เป็นอย่างนี้ ในเมื่อจิตมันต้องปฏิโลม ดึงออกมาพิจารณาของเรา พิจารณาซ้ำ พิจารณาซาก จิตนี้ต้องกะเทาะมัน เวลาเปรียบเทียบนะ จิตนี้ถ้าเป็นตัวจิตล้วนๆ นะ นี่จิตของเรามันรับรู้ไปหมด ถ้าจิตล้วนๆ นะมันก็เปรียบเหมือนลูกมะพร้าว ถ้าเราปอกเปลือกมะพร้าวนี่โสดาบัน คือปอกเปลือกมันออก ปอกได้ไหม? ถ้าเราทำลายกะลามันได้ มะพร้าวนี่ออกไปเลย นั่นแหละสกิทาคามี แล้วถ้าเราทำลายเนื้อมะพร้าวทั้งหมดเลย เนื้อมะพร้าวคืออนาคามี เพราะเนื้อมันตัวเป็นประโยชน์ที่สุด

เนื้อมัน เห็นไหม ภพชาติเกิดเพราะอะไร? มนุษย์เกิดเพราะอะไร? เพราะกามทั้งนั้นแหละ ถ้าไปทำลายตรงเนื้อนั่นน่ะ แล้วพอทำลายเนื้อหมดแล้วมันจะเหลืออะไร? มะพร้าวก็เหลือแต่น้ำ เหลือใจมัน นั่นแหละคือตัวภพ นั่นแหละกายสุดท้าย ถ้ากายสุดท้ายมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่นี่เราค่อยๆ ทำของเราไป ปฏิโลมของมันมา พิจารณาของมันมา มันจะเป็นแบบนี้ นี่ถ้าจิตนะ ขันธ์ ๕ ส่วนขันธ์ ๕ อันนี้มันเป็นการพิจารณาจิตนะ พิจารณาจิตมันจะออกมาเป็นรูปนี้

อันนี้ข้อ ๘๖๘. เนาะ เรื่อง “ความเป็นจิต”

ฉะนั้น ข้อ ๘๖๙. ข้อ ๘๗๐. มันไม่มี

ถาม : ข้อ ๘๗๑. เรื่อง “สภาวธรรมผ่านได้อย่างไร?”

กราบนมัสการครับ ผมเป็นคนหนึ่งที่ฝึกกรรมฐานมานานเกือบปีแล้ว ทั้งภาวนา ทั้งกรรมฐาน ผมสามารถผ่านช่วงจิตฟุ้งซ่านคิดมากได้แล้ว ตอนนี้สามารถหลับตาแล้วเข้าสู่ความสงบได้เลย แต่ความสงบที่ผมกล่าวถึงคือความสงบที่ไม่มีอะไร เหมือนจิตเราลอยอยู่เหนือทุกอย่าง ทั้งปัญหา ภาระมากมาย ไม่ยึดติดเอามาใส่ใจอะไรเลย แต่ตอนนี้ผมมีปัญหาคือสภาวะที่ผมเจอ อยากขอความเมตตาเรียนถามหลวงพ่อดังนี้

บางครั้งที่ผมนั่ง ตัวผมจะหายไปจนเหลือแต่จิตก้อนเดียว แล้วผมเกิดความกลัวในสภาวะที่เจอจนต้องออกจากสมาธิแล้วเริ่มใหม่ มันจะมีผลอะไรไหมครับ ในสิ่งที่ผมเจอ บางครั้งผมนั่งผมจะเกิดนิมิตที่เหมือนมีตัวตน เป็นภาพที่น่ากลัวที่ไม่เคยเจอมาก่อน มันเกิดมาจากอะไรครับ สภาวะที่เจอบางครั้งเหมือนเรากระโดดลงเหว รู้สึกวูบลงจากที่สูง จะเป็นอะไรไหมครับ ต้องปฏิบัติสภาวะเหล่านี้อย่างไร?

หลวงพ่อ บางทีบอกว่าให้รู้ ให้ดูเฉยๆ แต่มันโหดร้ายมากเลยครับ น่ากลัว สุดท้ายคือตอนนี้ผมเจอคือความเงียบแบบไม่มีอะไรเลย พอหลับตาจิตนิ่ง มันก็นิ่งยาวเลยครับ เห็นแค่จิตตัวเองที่คอยรู้ว่าตอนนี้เกิดอะไรบ้าง พิจารณาในความเงียบมันก็ไม่มีอะไรครับ นอกจากตัวจิต นอกจากตัวเรา จิตเรา กายและจิตแยกกันอยู่ แต่ผมรู้สึกว่าผมจะจมอยู่ตรงนี้ครับ ต่อไปไม่ได้ ขอความเมตตาจากหลวงพ่อด้วย

ตอบ : ไอ้ที่ว่ามันวูบๆ อันนี้มันวูบ มันวูบภาษาใด ทีนี้เพียงแต่ตอบตรงนี้ก่อน

ถาม : บางครั้งที่ผมนั่งแล้วจิตมีอยู่ก้อนเดียว หลวงพ่อบอกว่าให้รู้ ให้ดูอยู่เฉยๆ

ตอบ : เราไม่ได้บอกอย่างนี้นะ เราไม่เคยบอกว่าให้รู้ ให้ดูเฉยๆ ไอ้คำว่าเฉยๆ เราปฏิเสธมาตลอด เราไม่ยอมรับความดูอยู่เฉยๆ เราบอกที่เวลาพูดโดยรวบยอด โดยรวบยอดจะบอกว่าให้ดูแลรักษาจิต ให้ดูแลจิต คำว่าดูแล วิธีการดูแลมันเยอะแยะไปหมด

ฉะนั้น คำว่ารวบยอดคือให้ดูแลรักษาจิต คือให้ขยันหมั่นเพียร ให้ภาวนา แต่ไม่ได้บอกให้รู้ ให้ดูเฉยๆ ไม่มี ดูเฉยๆ ให้รักษา ให้ดูแลจิต คือมีสติแล้วกำหนดพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ อย่างนั้นคือการให้ดูแลรักษา คนดูแลรักษา บอกให้ดูแลรักษานะ เหมือนกับคนใช้ไง ลูกสาวชื่อแตงโม เขาจะไปทำงาน บอกว่าเดี๋ยวเอาแตงโมเข้าตู้เย็นนะ เขาซื้อแตงโมมาลูกหนึ่งใช่ไหม? บอกให้เอาแตงโมเข้าตู้เย็น เขาให้เอาแตงโมเข้าตู้เย็น เขาไม่ใช่ให้เอาลูกชื่อแตงโมเข้าตู้เย็น มันดันเอาลูกชื่อแตงโมเข้าตู้เย็น กลับมาลูกตายเลย

นี่ก็เหมือนกัน บอกว่าให้ดูจิต รักษาจิต จะดูแบบแตงโมหรือ? จะผ่าแตงโมกันใช่ไหม? ทีนี้เวลามันพูด พูดให้มันละเอียด พูดให้มันกว้างขวาง ไอ้คนฟังทีนี้ก็เบื่อ หลวงพ่อพูดจำเจ พูดจนน่าเบื่อ ไอ้คนมันถามมาก็บอกว่าหลวงพ่อพูดอะไรก็ปฏิเสธ พูดอะไรก็ปฏิเสธ อืม กูไม่รู้จะทำอย่างไรดี

ฉะนั้น กรณีที่บอกว่า

ถาม : หลวงพ่อบอกว่าให้รู้ ให้ดูจิต ให้ดูเฉยๆ ไอ้ที่ให้ดูเฉยๆ นี่ให้รู้ ให้ดูเฉยๆ แต่มันโหดร้ายมาก

ตอบ : คำว่าโหดร้าย นี่เรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่นะ พุทโธไว้ กำหนดพุทโธไว้ ถ้าจิตมันสงบมันจะสงบของมัน ถ้ากำหนดพุทโธไว้นะ คนเรา เห็นไหม ดูสิเวลาเข้าฟิตเนส เขาออกกำลังกาย เขาไปทำอะไรเหมือนคนบ้า ไปยกน้ำหนัก อู้ฮู ไม่มีงานทำหรือ? ไปยกเวทนะ โอ้โฮ ยกเวท มึงยกทำไม? บ้าหรือเปล่า? เออ แต่ยกแล้วเขาแข็งแรง นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธได้อะไร? พุทโธทำไม? ก็มึงไปยืนเฉยๆ สิ ไม่ต้องพุทโธ เดี๋ยวท้องจะยื่น

นี่ก็เหมือนกัน บอกให้ดู ให้รู้ไว้เฉยๆ มันไม่ใช่ ให้กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธไว้ กำหนดพุทโธไว้ ถ้ากำหนดพุทโธไว้ ถ้ามันจะรู้ จะเห็น ที่ว่ามันโหดร้าย ถ้ามันรู้ มันเห็นนะ ไอ้กำหนดพุทโธนี่สำคัญมาก ถ้าพุทโธชัดๆ ไอ้ความโหดร้ายจะไม่มี ไอ้ความโหดร้ายมันจะเกิด พอพุทโธ พุทโธจิตมันเริ่มสงบ พอจิตเริ่มสงบมันออกรู้ คำว่าออกรู้คือมันปล่อยพุทโธ ถ้ามันไม่ปล่อยพุทโธมันออกรู้ไม่ได้

พอพุทโธ พุทโธ พอจิตมันเริ่มสงบใช่ไหม? พอสงบปั๊บมันมีกำลังใช่ไหม? กำลังมันก็ไปรู้ไปเห็นที่ว่านี่ มันโหดร้าย ไปเห็นภาพ ถ้าเห็นภาพมันเป็นเวร เป็นกรรมของคน ทำไมเราไม่เห็นภาพเทวดาล่ะ? เออ ถ้ามันจิตสงบเนาะ เห็นนางฟ้าลอยมา โอ้โฮ เห็นนางฟ้าเขาจะมาอุปัฏฐากเรา โอ้โฮ อย่างนั้นก็สุดยอดน่ะสิ ทำไมไม่เป็นล่ะ? ทำไมคนอื่นเขาเป็นล่ะ? ที่เขาเป็นเพราะเขาสร้างคุณงามความดีของเขามา ที่เราเป็นแบบนี้เพราะเราสร้างของเรามา ใครทำเวร ทำกรรมอย่างใด เวลาจิตมันเข้าไปถึงฐาน ถ้ามีสมาธิ ถ้าออกนิมิตมันก็จะรู้ จะเห็นตามแต่เวร แต่กรรมของคน

มันไม่มีใครปฏิเสธได้หรอกว่าจะบังคับให้ตัวเราเห็นตามที่เราต้องการ นี่บางคนอยากเห็นดีๆ ทั้งนั้นแหละ แต่ทำไมไปเห็นอย่างนั้นล่ะ? ไปเห็นอย่างนั้นเพราะเขาทำของเขามา ถ้าทำมา ทำมาแล้วเราจะไปตีโพยตีพายเอากับใคร? ถ้าเราทำมาเราก็ต้องแก้ไขเรา อย่างเช่นเรานี่ เราทำความผิดใช่ไหม? เราขึ้นศาล อ้าว ศาลพิพากษาสิ พอศาลพิพากษาเสร็จแล้วนะ ข้าแต่ศาลที่เคารพ กระผมไม่เคยทำความผิดมาเลย ขอให้ศาลมีความเมตตา เห็นไหม ศาลก็บอก เออ บุคคลคนนี้ไม่เคยทำความผิดเลย อ้าว สิ่งที่เป็นโทษก็ให้รอลงอาญาไว้ แน่ะ แล้วก็กลับบ้านได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันโหดร้าย มันโหดร้ายเพราะอะไรล่ะ? แล้วโหดร้ายแล้วไปแก้กันที่ไหนล่ะ? มันจะโหดร้าย มันจะดีงามอย่างไรนะ นี่ไงทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แล้วทำมาชาติไหน? ทีนี้เพียงแต่ในปัจจุบันนี้เรามีสติปัญญา เรามีสติปัญญาสามัญสำนึกที่ดี เพราะเราหาอยู่หากินกันอยู่นี้ เราก็หาอยู่หากินเพื่อปากเพื่อท้อง เพื่อปากเพื่อท้องคือร่างกายนะ คือร่างกาย คือวัตถุธาตุ

นี่จิตใจ จิตใจเป็นนามธรรม จิตใจมีสุข มีทุกข์เป็นอาหารของมัน แล้วเราพยายามจะหาความสุข ความดีที่ดีเพื่อให้จิตใจเราได้สัมผัส ได้ดื่ม ได้กิน แล้วเราพยายามสร้างคุณงามความดีกันอยู่นี่ ทีนี้พอสร้างคุณงามความดีกัน เพราะเรื่องของจิตใจ จิตใจ นี่จิต เห็นไหม เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ จิตนี้เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ มันสร้างบาป สร้างกรรมมาตั้งแต่อดีตชาติ ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมาจนมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

จิตของเราก็เวียนตายเวียนเกิดมา นี่เวียนตายเวียนเกิดมา มันสร้างเวรสร้างกรรมมาอย่างนั้น ถ้ามันสร้างเวรสร้างกรรมอย่างนั้น พอเราจะเข้าไปรักษา เราจะเข้าไปดูแลจิต นี่สิ่งที่เป็นข้อมูลเดิม สิ่งที่เป็นเวรเป็นกรรมนั้นมันแสดงออกมา ถ้ามันแสดงออกมา เห็นไหม นี่ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีเหตุมีผล ท่านก็บอกว่า “ให้พุทโธชัดๆ”

นี่เวลามันเห็นนะ เวลาคนเห็นที่ว่ามันโหดร้ายต่างๆ ถ้ามีสตินะนึกพุทโธชัดๆ ภาพนั้นจะหายไป หายไปเพราะอะไร? เพราะพุทธานุสติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาคุ้มครอง ดูแลจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นทิ้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป แล้วไปเห็นเวรเห็นกรรม การทำกรรม ทำเวร มันจะเห็นภาพชนิดนั้นขึ้นมา แต่ถ้าเรามีสติปัญญาเราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปกป้อง คุ้มครองดูแลจิตดวงนั้น คุ้มครองดูแลจิตดวงนั้น เพราะจิตดวงนั้นอยู่กับพุทธะ พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้รู้ รู้พุทธะ ผู้ตื่น ตื่นในพุทธะ ผู้เบิกบาน เบิกบานในพุทธะ แล้วนิมิตนั้นจะเห็นได้อย่างไร? สิ่งที่เห็นนิมิตมันปล่อยพุทธะ มันออกไปดูไง เห็นไหม เหมือนคนมีสตางค์ สามล้อถูกหวย พอมีเงินขึ้นมามันจะจ่ายอย่างเดียวไง มันจะเข้าไปช๊อปปิ้ง มันจะไปเที่ยวเมืองนอก แล้วเวลากลับมาเอาหนี้กลับมาไง

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันเริ่มพุทโธ พุทโธ มันเริ่มสงบลงไง ดันออกไปรู้นิมิตไง นี่มันออกไปจ่าย ออกไปใช้โดยฟุ่มเฟือย แต่ถ้าพอมันออกไปใช้ ถ้าเราไม่ใช่สามล้อถูกหวยใช่ไหม? เราหาเงิน หาทองมาด้วยความยากลำบาก เราหาเงินทองด้วยความทุกข์ ความยาก พุทโธ พุทโธ กว่าจิตมันจะสงบเกือบตาย พอกว่าจะสงบเกือบตายเราก็พุทโธให้ชัดๆ ไม่ให้มันออก ไม่ให้มันออกไปรู้ อยู่กับพุทโธ อยู่กับพุทธะ ให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคุ้มครอง สิ่งที่จะรู้จะเห็นนี่ไม่มี ทั้งๆ ที่เป็นเวรเป็นกรรมนี่แหละ มันไม่มี มันวางไว้

ทั้งๆ ที่เวรกรรมก็มีนะ แต่เราอยู่กับความสงบ อยู่กับพุทธะ สิ่งที่ว่ามันน่ากลัวต่างๆ มันจะวาง เพราะนิมิตมันออกไปรู้เอง แต่ถ้าจิตมัน นี่เขาว่า

ถาม : บางครั้งมันเหมือนกระโดดลงเหว มันวูบลง

ตอบ : กระโดดลงเหว เห็นไหม ถ้าจิตมันวูบ ถ้ามีสติปัญญามันจะลงอยู่สมาธิชั้นที่ลึกลง ถ้ามันเป็นความถูกต้องนะ แต่ถ้ามันวูบด้วยอาการที่มันวูบ ไม่มีสติ อย่างนั้นมันจะลงสู่ภวังค์ ถ้ามันวูบไม่มีสติ เหมือนกับเรานั่งๆ นี่วูบไปเลย วูบอย่างนั้นมันจะลงสู่ภวังค์ อันนี้เป็นมิจฉา แต่ถ้ามันพุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วมัน วืด..ลงไป สติพร้อมมันจะลงสู่อัปปนาสมาธิ ลงสู่สมาธิที่ละเอียดกว่า

นี่เวลาจิตมันเป็น เวลามันวูบนะ ถ้าวูบไปโดยไม่มีสติ วูบหายไปเลย อันนั้นเข้าภวังค์ไปเลย หลับไปเลยนะ นั่งหลับ สมาธิหลับ มิจฉาสมาธิ พอรู้สึกตัวขึ้นมาสะดุ้งตื่น สะดุ้งตื่นขึ้นมา อย่างนั้นมันไม่มีกำลัง ไม่มีผล แต่ถ้ามันวืดลงไป มีสติพร้อมขึ้นไปนะ วืด.. วืดขนาดไหนนะ วืดจนถึงฐานมันจะหยุดของมัน กึก! นิ่ง ปล่อยวางหมดเลย แล้วมีความสุขมาก แล้วมันค่อยๆ ออกมา อันนั้นอีกอันหนึ่ง นี่เวลาแก้ไขมันมีของมันหลายซับหลายซ้อน

ฉะนั้น เราจะพูดถึงที่ให้รู้ไว้เฉยๆ ไม่ใช่ให้รู้ไว้เฉยๆ เฉยๆ ไม่ได้ ลมพัดมาเรารับรู้ไว้เฉยๆ ได้ไหม? เราจะเอาอะไรเก็บมาเป็นประโยชน์เรา แต่ถ้าเขามีกังหัน เห็นไหม ลมพัดมา เขามีกังหัน กังหันมันหมุน มันยังปั่นไฟได้ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเฉยๆ อยู่ รับรู้เฉยๆ มันมีแต่ลมพัดมันไปเลย อาการของใจมันวูบมามันก็ไปเลย แต่ถ้าเรามีพุทโธไว้ เราเกาะไว้ เรายึดไว้ เหมือนลมมาเรามีกังหันลม เรามีต่างๆ เราแปลงพลังงานลมมาเป็นพลังงานไฟฟ้า เราแปลงพลังงานลมมาเพื่อสะสมพลังงานของเรา มันเป็นประโยชน์ถ้ารู้จักใช้ไง

ฉะนั้น ถ้าเราพุทโธไว้ พุทโธเพื่อดึงไว้ แล้วถ้ามีสตินี่แยก ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ความคิดเร็วกว่าแสง จิตนี้เร็วกว่าแสงมาก ฉะนั้น เวลาสิ่งที่เกิดขึ้นมันเร็วมาก เหมือนขับรถ ๓๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เหตุการณ์เกิดขึ้นมานะเราควบคุมรถได้ยากมาก จิตของเราเวลามันจะเข้ามันเหมือนอย่างนั้นแหละ มันคุมได้ยากมาก แต่ถ้ามันคุมได้มันจะดี ค่อยๆ ฝึกหัดมันจะคุมของมันได้ ถ้าคุมได้นะ สติเหนือทุกๆ อย่าง เหนือความคิด เหนือความเร็ว ยับยั้งได้หมด ควบคุมคอนโทรลได้หมดเลย นี่ถ้าชำนาญในวสีอย่างนี้ สมาธิของหมูๆ ทุกอย่างควบคุมได้ แต่ตอนนี้เพราะเราขาดความชำนาญ เราขาดการกระทำ เวลาอะไรเกิดขึ้นเราถึงรู้สิ่งนี้ไม่ได้เลย

ถาม : สุดท้ายนี้สิ่งที่ผมเจอคือความเงียบแบบไม่มีอะไรเลย พอหลับตาจิตนิ่งมันก็ยิ่งยาวเลยครับ เห็นแค่จิตตัวเอง

ตอบ : ถ้ายิ่งยาวเลยครับ ถ้าจิตนิ่ง จิตนิ่งนะ คำพูดว่าจิตนิ่ง จิตปล่อยวาง จิตลงเราไม่ค่อยเชื่อ เพราะส่วนใหญ่พวกนี้หลับหมด ถ้าจิตมันนิ่งจริงนะ ถ้าพุทโธจริงๆ นะ สิ่งที่มันเป็นนิมิตมันดับหมด มันไม่มีหรอก ถ้าลงสัมมาสมาธินะ แต่ถ้ามันออกรู้ นี่ออกรู้ที่มันเห็นนิมิตต่างๆ มันไป ถ้านิ่งๆ อยู่ ถ้านิ่งๆ อยู่ถ้ามันพุทโธชัดๆ ไว้มันจะเข้าขึ้นมาอีก

ถาม : นี่พอจิตนิ่งขึ้นมา พิจารณาถึงความเงียบ มันไม่มีเลยครับนอกจากกายกับจิตแยกออกจากกัน จิตเรา กายกับจิตแยกกันอยู่

ตอบ : ถ้าแยกกันอยู่นี่เราขี้เกียจ ความจริงนะพอแยกอย่างนี้แล้วเราพุทโธได้ไง เวลาใครมาบอกว่านี่ว่างๆ ว่างๆ เรารู้อยู่นะ คำว่าว่างๆ เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่สุดยอดของเราแล้ว ฉะนั้น เราจะทำอย่างอื่นมากไปกว่านี้คงไม่ได้อีกแล้ว มันก็เลยบอกว่าว่างๆ ว่างๆ เราก็เลยใช้คำว่า

“สมมุติว่าให้นึกพุทโธนี่นึกได้ไหม?”

“ได้ค่ะ”

ถ้าได้ค่ะมันนึกได้ ถ้ามันนึกได้มันยังไม่ว่างจริงไง ถ้ามันยังนึกได้อยู่ มันยังมีตัวตนของมันอยู่ ถ้าตัวตนอย่างนี้ มันระลึกพุทโธชัดๆ เข้าไปอีก ที่ว่ามันว่างๆ ว่างๆ มันจะบอกว่า อึ๊ อึ๊ อึ๊ จริงๆ สมาธิเกิดขึ้นมามันพูดไม่ได้ มันพูด นี่คำพูดกับจิต จิตคือพลังงาน มันพูดออกมาคือความคิดทั้งหมดเลย ฉะนั้น มันคิดว่าว่างมันก็พูดได้ แต่ถ้ามันว่างจริงนะมันพูดไม่เป็น นั่นแหละสมาธิแท้

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ากายกับจิตมันแยกออกจากกัน นี่เรากำหนดพุทโธชัดๆ ไว้ เพราะเราคิดว่ากายกับจิตแยกออกจากกันมันเป็นความสามารถที่สูงส่งของเราแล้ว เราจะทำให้มันเกินกว่านี้ไปคงจะสุดความสามารถเราแล้ว ทั้งๆ ที่มันทำได้ ความจริงมันทำได้ แต่เพราะเราไม่เคยทำ แล้วเราไม่รู้ นี่ไงที่บอกว่าทำไมต้องมีครูบาอาจารย์ไง อาจารย์สำคัญอย่างไรไง สำคัญว่าเพราะอาจารย์เคยทำมาแล้ว อาจารย์รู้แล้วมันจะรู้หมดเลย แต่ถ้ายังไม่รู้นะเราก็อย่างนี้

เวลาเราไม่ปฏิบัติเราก็ว่าธรรมะไม่มี นรก สวรรค์ไม่มี แต่พอเราปฏิบัติไป ถ้าคนมันได้ผลขึ้นมามันเป็นอย่างนี้ เจอนั่น เจอนี่ เจออะไรเข้าไป แล้วเวลาก่อนที่จะปฏิบัติก็ไม่เชื่อนะ ว่าปฏิบัติไปแล้วความมหัศจรรย์ของจิตมันจะมี ความรับรู้ของจิตมันจะเป็นความมหัศจรรย์ มันจะเป็นไปได้อย่างไร? เขียนเสือให้วัวกลัว มันจะมีจริงหรือ? แต่พอปฏิบัติไปอย่างนี้ งงไปหมดเลย

งงสิ ของที่เราไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น สิ่งที่เราปฏิบัติ เรารู้ เราเห็นเก่งนัก ตาเห็นนี่รู้นัก เก่งนัก คำนวณนี่โอ้โฮ สุดยอดเลย แต่พอไปรู้จริงๆ รู้สมบัติของตัว ดันไม่รู้ ไปเจอสมบัติของตัว ไม่รู้ว่าทำอะไรมากัน แต่ถ้าพอพิจารณาไป พอเราชะเราล้างจนถึงที่สุดแล้วนะ เพราะว่าถ้าเรายังมีความสงสัย เรายังมีความไม่รู้อยู่ นั่นแหละกิเลสทั้งนั้น แต่ถ้าเราใช้ปัญญาแยกแยะ กรรมเก่า กรรมใหม่ เออ เพราะเรามีกรรมอย่างนั้นมันถึงส่งผลมาแบบนี้

ถ้ามันแบบนี้ ปัจจุบันนี้เราเกิดมาเราทุกข์เรายาก เรามีความเข้มแข็ง เรามีความพยายามประพฤติปฏิบัติของเรา พอถึงที่สุดมันปล่อยวางหมดแล้ว มันขาดแล้ว อืม เห็นไหม เพราะกรรมนั้นส่งมาเป็นเรา แล้วเราก็พยายามของเรา เราพยายามต่อสู้ของเรา เราปฏิบัติของเรา งานของเรา งานของโลก งานของโลกเขา เขาทำทางโลก เวลาเขาเหนื่อยเขาก็พักของเขา เวลางานของเราล่ะ? นี่เราอยู่ของเรา อยู่ในป่าในเขาของเรา เราปฏิบัติของเราคนเดียว หัวหกก้นขวิดอยู่ของเราคนเดียว ถ้ามันเป็นจริงมันก็เป็นจริงที่ปัจจัตตัง รู้ของเรานี่แหละเราไม่ต้องไปคุยกับใคร คุยกับธรรม คุยกับจิตนี่แหละ

เวลาปฏิบัติไป ทุกข์ก็คุยกับทุกข์นี่แหละ เวลามันสุขก็คุยกับสุขนี่แหละ เออ สุขเป็นเรา เวลาคุยกับทุกข์ ทุกข์มันซาบซึ้งๆ นี่สู้กับมันอยู่อย่างนี้ นี่ปัจจัตตัง แล้วนี่สมบัติอย่างนี้เราเป็นผู้ปฏิบัติมา เห็นไหม สิ่งที่อดีตชาติมันก็ส่งมาเป็นเรา ถ้าเราปฏิบัติขนาดนี้ ปัจจัตตังเดี๋ยวนี้นะเราปฏิบัติได้จริง แล้วเราจะปฏิบัติของเรา จะเป็นประโยชน์กับเราเนาะ

เราพยายามจะคิด ว่าเขาถามปัญหามานี่เราได้ตอบหรือยัง ไอ้คนถามมันหาว่าหลวงพ่อพูดไปร้อยแปดเลย แต่หลวงพ่อไม่ตอบผมสักคำ คือกลัวมันไม่รู้ไง ไอ้คนถามมันบอกว่าหลวงพ่ออ่านแต่ของผม แต่ไม่ตอบให้ผมรู้เลย ตั้งใจนะ แล้วถ้าอย่างไรแล้วว่ากันใหม่เนาะ เอวัง