ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ความคุ้นเคย

๖ พ.ค. ๒๕๕๕

 

ความคุ้นเคย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๘๘๑. ไม่มี

ข้อ ๘๘๒. ไม่มี

ถาม : ข้อ ๘๘๓. เรื่อง “เมื่อบิดาไม่อยู่ในศีล”

ขอเรียนถามพระอาจารย์ดังนี้ค่ะ บิดาเป็นผู้ที่ไม่อยู่ในศีลเลย เราเป็นลูกควรทำอย่างใด และมีวิธีชักชวนให้บิดาอยู่ในศีลได้อย่างไรคะ ขอเล่ารายละเอียดดังนี้ค่ะ

จะเลี้ยงดูบิดา มารดาตามกำลังของตนเองที่ทำได้ และพยายามอดทนที่จะไม่โกรธบิดา ท่านดื่มเหล้าเป็นประจำ พยายามห้ามจนบางครั้งเราจึงเป็นผู้ที่ทำบาปเพราะพยายามห้ามท่าน ลูกควรทำอย่างไรคะเมื่อบิดาไม่ยอมที่จะเลิกเหล้า และไม่ยอมที่จะอยู่ในศีล เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมสมควรค่ะบางครั้งมันก็ท้อใจ เพราะงานตามหน้าที่ที่ต้องทำ ทุกข์ใจเรื่องบิดาก็ทุกข์ ขอให้หลวงพ่อชี้แนะด้วย

ตอบ : กรณีอย่างนี้เป็นกรณีความคุ้นเคยนะ กรณีความคุ้นเคย อย่าง สสส. เขาพยายามจะออกเมาไม่ขับ พยายามจะรณรงค์ให้เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ ทุกคนก็รู้ว่าพวกบุหรี่ พวกเหล้าเป็นสิ่งที่ทำลายสุขภาพ แต่เวลาคนเขากินของเขา เขาติดของเขา เขาติดของเขามันเป็นความติดนะ ถ้าจิตใจเข้มแข็งมันก็จะละได้

นี่บางคนโดยความเป็นผู้ชาย ทุกคนส่วนใหญ่ต้องมีการดื่มบ้าง การดื่มบ้างเพราะมันเป็นค่านิยมทางสังคม แต่แปลกนะ เรานี่ไม่ดื่มมาตั้งแต่ก่อนบวช ไม่ดื่ม ไม่แตะต้องเรื่องสิ่งนี้เลย เรื่องการพนันขันต่อ เรื่องอะไรนี่ไม่มี ไม่เอามาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่เอามาตั้งแต่เด็ก ฉะนั้น พอไม่เอามาตั้งแต่เด็ก เข้าสังคมได้ไหม? ได้

กรณีอย่างนี้หลวงปู่ฝั้นท่านพูด เพราะมีคนไปถามหลวงปู่ฝั้นท่านมาก บอกว่าเขาอยากถือศีล แต่เขาก็งดการดื่มไม่ได้ เพราะต้องการเข้าสังคม หลวงปู่ฝั้นท่านบอกว่า ดูเราสิ เพราะหลวงปู่ฝั้นศีลท่านบริสุทธิ์นะ ท่านเป็นพระอรหันต์ “ดูเราสิเราไม่ดื่ม ทำไมสังคมเรานี่คนเยอะไปหมดเลย” เราอ้างกันว่าเพื่อสังคม เพื่อสังคมไง แต่เพื่อสังคมมันก็เป็นเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า ทางโลกเขาก็รู้ได้ว่าสิ่งนี้มันเป็นโทษกับสุขภาพ แต่เราจะบอกว่าเวลาเดี๋ยวนี้นะ การรณรงค์เราพยายามจะให้เด็กมันไม่ติดเหล้า ติดบุหรี่ แต่พวกธุรกิจเขาก็พยายามส่งเสริมให้เป็นลูกค้าของเขา ถ้าเป็นลูกค้าของเขา เราจะให้เห็นว่าบิดาเราเวลากินเหล้า แล้วเราทุกข์ใจนี่มันมีที่มาที่ไปไง มันมีที่มาที่ไป เพราะถ้าเขาเคยกินมา เขาเคยสิ่งใดมา มันเป็นนิสัย ความเคยชิน ถ้าเป็นความเคยชินนะ นี่มันเคยชิน ถ้ามันไม่ได้ทำสิ่งนั้นแล้วมันหงุดหงิด มันร้อยแปด แต่ถ้าจิตใจเข้มแข็ง เรื่องนี้มันก็วางได้

ฉะนั้น พอวางได้ กรณีนี้มันอยู่ที่ว่าถ้าเขาเห็นโทษ และเขาตั้งใจจริง เขาจะงดเหล้า งดบุหรี่ได้ เวลาเข้าพรรษานะ คนที่กินเหล้าหัวราน้ำขนาดไหนนะ พอเข้าพรรษาบอกว่างดเหล้าเข้าพรรษา งดได้ งดได้เลยนะ แต่วันออกพรรษา โอ้โฮ ร้านเหล้าขายดีมากเลย งด ๓ เดือน พอออกพรรษานี่ฉลองกันใหญ่เลย นี่ทำไม ๓ เดือนงดได้ เราจะยกให้เห็นว่าใน ๓ เดือนนี้งดได้ ความจริงมันก็งดได้ถ้าจะงดจริงๆ แต่พองดแล้ว ทำไมถึงเวลาก็กลับไปดื่มอีกล่ะ?

อันนั้นมันเป็นสังคมโลกนะ นี่เวลาในทางโลก การครองเรือน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกการครองเรือนเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความประณีตมาก เพราะในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “การครองเรือนคือการครองใจ” การครองใจ เห็นไหม ถ้าเราเป็นสามี ภรรยากัน ถ้าเรามีน้ำใจต่อกัน ความกระทบกระทั่งมันก็ไม่มี เรามีลูกมาคนแรก ลูกเรามันจะตีโพยตีพาย มันจะเรียกร้องสิ่งใด เราก็จะแสวงหาให้เขา เพราะเขายังเป็นเด็กอยู่ โตขึ้นมา เราต้องพัฒนาจิตใจของเขาขึ้นมา

การครองเรือนคือการครองใจ นี่แสนทุกข์ แสนยาก แสนทุกข์ แสนยากนะ แต่ในเมื่อสังคมมันเป็นแบบนั้น เราพอใจกันแบบนั้น เราปรารถนาอย่างนั้น เราก็ไปแสวงหาความทุกข์ นี่เราพูดถึงความทุกข์นะ ฉะนั้น เราย้อนกลับมาที่ว่าเรื่องพ่อ ถ้าเรื่องพ่อนะเราให้มองถึงเรื่องทางโลก เรื่องทางโลก เรื่องสังคม เรื่องต่างๆ ฉะนั้น เราเป็นลูก เราเป็นลูกเราก็รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี เราก็อยากให้พ่ออยู่ในศีล งดเหล้า เราจะดูแล เราจะอุปัฏฐาก เราอยากจะดูแลพ่อ ดูแลแม่ ก็อยากให้พ่อแม่มีศีล มีธรรม อยากให้พ่อแม่มีคุณงามความดี

ฉะนั้น ความคุ้นเคยอันนี้มันยาก ความคุ้นเคยระหว่างพ่อ แม่ ลูก นี่พ่อ แม่ ลูกนะ ถ้าพ่อแม่ขอลูกนี่ง่าย พ่อแม่ขอลูก เพราะพ่อแม่มีบุญคุณต่อลูก แต่ลูกจะขอพ่อแม่นี่ยาก พอลูกจะขอพ่อแม่ปั๊บ พ่อแม่บอกว่า อ้าว ก็กูเลี้ยงมึงมา ก็กูดูแลมึงมาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย นี่กรณีอย่างนี้ กรณีนี้ความคุ้นเคยไง ความคุ้นเคย เพราะกรณีอย่างนี้น่าสงสารมากนะ น่าสงสาร ทุกคนเวลามาประพฤติปฏิบัติคิดถึงพ่อแม่ทั้งนั้นแหละ อยากจะให้พ่อแม่อยู่ในศีล ในธรรม

แล้วอยู่ในศีล ในธรรม แม้แต่พระสารีบุตร พระสารีบุตรนี่นะทุกข์ใจมาก พระอรหันต์มีความทุกข์หรือ? นี่เขาว่าอีกแล้ว พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์นะ แต่มีความกังวลใจว่าแม่ของเราเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม่ของเราเป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วแม่ของเรามีลูกเป็นพระอรหันต์ทั้งตระกูล พระจุนทะเป็นน้องชายพระสารีบุตร พระเรวัตตะเป็นน้องชายพระสารีบุตร พระสารีบุตร เขาว่ามี ๗ หรือ ๘ องค์ แต่ที่จำได้นี่ ๔-๕ องค์ นี่แม่นะมีลูกเป็นพระอรหันต์ทั้งตระกูลเลย ฉะนั้น พอทั้งตระกูลเลย แล้วทำไมแม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ

แล้วพิจารณาอยู่นะ ใครจะแก้ทิฐิแม่เราได้ ใครจะแก้ทิฐิแม่เราได้ ฉะนั้น จนพระสารีบุตรจะหมดอายุขัย พิจารณาดูว่าใครจะแก้แม่เราได้หนอ พอพิจารณาไปแล้วก็เรานี่แหละจะไปแก้แม่เราเอง ฉะนั้น พอเวลาจะหมดอายุขัยก็ไปลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ลาว่าจะไปนิพพาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“ตามแต่ความสมควรแก่เวลาของเธอเถิด แล้วเธอจะไปนิพพานที่ไหนล่ะ?”

“จะไปนิพพานในห้องที่เกิด”

ฉะนั้น จะไปนิพพานในห้องที่เกิด นี่พระสารีบุตรเดินกลับบ้านนะ สมัยนั้นไม่มีอะไร เดินกลับบ้าน แม่อยู่ในบ้าน เห็นพระสารีบุตรเดินมาแต่ไกล นี่ความคิดเกิด นี่อยู่ในพระไตรปิฎก ความคิดแม่เกิดนะ “ลูกเราบวชมาตั้งแต่หนุ่มยันแก่ สงสัยลูกเราเบื่อในเพศพรหมจรรย์แล้ว คงจะกลับมาสึกยังอยากกลับมาอยู่บ้าน” โอ้โฮ แม่ภูมิใจนะ ลูกกลับมาบ้านคงจะมาหาแม่

นี่ลูกพิจารณาแล้วไม่มีใครแก้แม่ได้ไง ก็ตัวเองนี่แหละจะไปเอาแม่ เพราะแม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นพราหมณ์ไม่ใช่พุทธ เป็นพราหมณ์ ไม่ใช่นับถือศาสนาพุทธ ทีนี้พอพระสารีบุตรเดินเข้าไปในบ้าน นี่อยู่ในพระไตรปิฎก พอพระสารีบุตรเดินเข้าไปในบ้าน แม่คิดเลย เพราะแม่ก็รักลูกนะ ทุกข์มาก ลูกก็ไปบวชหมดเลย แล้วเป็นพระอรหันต์หมดเลย นี่ยังถือพราหมณ์อยู่ เห็นลูกเดินมา นี่ความคิดเกิดอย่างนี้เลยนะ

“ลูกเราไปบวชตั้งแต่หนุ่มยันแก่ สงสัยจะเบื่อในพรหมจรรย์แล้ว สงสัยจะกลับมาสึก”

ทีนี้จะกลับมาสึกก็กลับมาบ้านไง นี่แม่มีความคิดอย่างนี้ กลับมาบ้าน เพราะพระสารีบุตรรู้วาระจิตหมด พอรู้วาระจิต พอมาถึงนี่มาเข้าบ้าน บอกว่ามาทำไม? ก็บอกว่าจะมาตาย จะเข้าไปในห้องที่เกิด ทีนี้ไปอยู่จนหัวค่ำ เพราะพระสารีบุตรเป็นโรคถ่ายท้อง ถ่ายท้อง ท้องร่วงมาก พอหัวค่ำนะ พอเริ่มมืดเทวดามาอุปัฏฐาก ลำแสงจะพุ่งเข้าไปในห้องไง ลำแสงพุ่งเข้าไปในห้อง

นี่คนตาเนื้อเห็นด้วยอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นธรรมเขาจะเห็นของเขาเอง ทีนี้ตาเนื้อเห็นอย่างนั้น เห็นแต่ลำแสงพุ่งเข้ามา โอ้โฮ แม่ตกใจมากนะ เข้าไปในห้องถามว่า

“ลูกใครมา?”

บอก “เทวดา”

เอ๊ะ แม่ก็คิดนะ ลูกเรานี่สำคัญนะ แต่ก็ยังไม่เชื่อนะ ก็แม่กับลูกไง เออ ลูกเรานี่สำคัญเนาะ แต่ก็ยังไม่เชื่อ พออยู่ไปจนเที่ยงคืนนะ พรหม พระพรหมก็ลงมาอุปัฏฐากพระสารีบุตร เพราะพระสารีบุตรป่วยจะสิ้นในคืนนี้ พอจะสิ้นในคืนนี้ นี่เทวดา อินทร์ พรหมก็อยากจะได้บุญกับพระสารีบุตร จะมาอุปัฏฐากพระสารีบุตร ทีนี้ลำแสงมา ลำแสงของพรหมมา เข้าไปในห้องนั้น พอเข้าไปในห้องนั้นนะ แม่เห็นแสงอีก อู้ฮู เข้าไปหาลูก ถามว่า

“ใครมา?”

บอก “พรหมมา”

ฉะนั้น พราหมณ์เขาเชื่อพรหมมาก เขาศรัทธาพรหมมาก เพราะว่าพรหมนะที่เขาศรัทธา เขากราบไหว้ เขากราบไหว้ เขาอ้อนวอนพวกพรหมนะ พระพรหมของเขา แต่พระพรหมของเขามาอุปัฏฐากลูกชาย ไอ้พ่อแม่ก็ศรัทธามาก แต่พรหมนั้นมาอุปัฏฐากลูกชาย พอเข้าไปนี่พรหมมา พอพรหมมานี่เริ่มคิดนะ เริ่มคิดได้ พอคิดได้ คำว่าคิดได้จิตใจมันควรแก่การงาน นี่พระสารีบุตรเทศน์เลย

“แม่ พรหมนี่นะมันก็แค่เด็กถือบาตรพระพุทธเจ้าเท่านั้นนะ พวกพรหม พวกเทวดานี่เด็กอุปัฏฐากบาตรพระพุทธเจ้าเท่านั้นแหละ”

พอเด็กอุปัฏฐากบาตร ท่านก็เทศน์คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พอเทศน์พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โอ้โฮ แม่มีดวงตาเห็นธรรมเลย นี่อยากจะแก้แม่ๆ พอแม่มีดวงตาเห็นธรรมจิตมันก็พลิกใช่ไหม? พอมีดวงตาเห็นธรรม ถ้าใครเป็นพระโสดาบัน นี่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จะเป็นอจลศรัทธา จะเคารพอย่างยิ่ง เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เพราะเห็นธรรมแล้ว อยากจะสิ้นสุดแห่งทุกข์ โอ้โฮ ต่อว่าลูกชายนะ

“ลูกไม่รักแม่ ถ้าลูกรักแม่ ลูกต้องบอกแม่ตั้งนานแล้ว ทำไมเพิ่งมาบอกตอนนี้? โอ้โฮ ลูกนี่ไม่รักแม่ ลูกปล่อยให้แม่ทุกข์มาตั้งนาน ทำไมลูกไม่บอกแม่มาก่อน?”

จิตใจของคนเป็นแบบนี้ ถ้าจิตใจของคนเป็นแบบนี้ นี่อยู่ในพระไตรปิฎกนะ ระหว่างพ่อแม่กับลูกเป็นเรื่องที่แสนยาก พระองค์ไหนที่เอาแม่ได้ พระองค์นั้นเก่งนะ พระองค์นั้นเก่ง แต่ส่วนใหญ่แล้ว เวลาพ่อแม่มาอยู่กับพระลูกชาย ส่วนใหญ่แล้วนะจะมาเป็นอาจารย์พระ จะมาสั่งสอนพระลูกชาย ไม่ใช่มาปฏิบัติเพื่อพระลูกชายนะ โอ้โฮ มีพระลูกชายอยู่ที่วัด ฉันเป็นแม่ของอาจารย์พระลูกชายในวัด อู้ฮู กิเลสมันก็..

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ากรณีอย่างนี้ ถ้าเราเข้าใจเรื่องทิฐิมานะได้ ถ้าเราเข้าใจเรื่องทิฐิมานะได้ พ่อแม่ของเราก็เป็นอย่างนี้ ถ้าพ่อแม่ของเราเป็นอย่างนี้เราจะดูแลอย่างใด? มันยิ่งน่าสงสารนะ มันยิ่งน่าสงสาร มันยิ่งน่าว่า นี่ถ้าคนเราไม่รู้ ไม่เห็นนะ มันก็มองไม่เห็นใช่ไหม? มันก็คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ เรื่องนี้เป็นเรื่องทิฐิของส่วนบุคคล แต่ถ้ามาศึกษาธรรมะแล้วนี่ เรื่องอย่างนี้ เรื่องเจ้าข้าวเจ้าของไง พ่อ แม่ ลูกไง เจ้าข้าวเจ้าของว่าของๆ เรา เลี้ยงมาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย แหม วันนี้จะมาสอนเรา มันเป็นไปได้อย่างไร?

ทิฐิอย่างนี้มันเกิดขึ้นมา นี่มันปิด แม้แต่เราลังเลสงสัย ดูสินิวรณธรรมมันยังทำสมาธิได้ยากเลย แล้วนี่ยึดนะ แต่ แต่ก็เป็นหน้าที่ เป็นหน้าที่มันต้องมีอุบาย เราจะทำให้พ่อแม่ของเราไม่ดื่ม หรือทำพ่อแม่ของเราให้ดื่มน้อยลง เราก็ทำความดี เราทำความดี เราก็ออดอ้อน เราก็ขอเอา นี่จากหนักก็ผ่อนเบา จากหนักก็เป็นน้อย ถ้าเป็นน้อย ถ้าเลิกได้ก็ดี นี่ถ้าไม่มีทิฐิต่อกัน ถ้ามีทิฐินะ เวลาแก้จิต นี่ที่บอกว่าหลวงปู่มั่นแก้จิต เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดนะ

“แก้จิตนี้แก้ยากนะ ให้พระปฏิบัติมา เราจะแก้ว่ะ”

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราออดเราอ้อน แล้วเราพยายามหาเหตุหาผล ถ้ามันเชื่อกันนะเขาก็รู้ เขาก็รู้ว่าดื่มไม่ดี ทุกคนก็รู้ว่าสิ่งนี้มันทำลายสุขภาพ ใครบ้างไม่รู้? รู้ทั้งนั้นแหละ แต่ในเมื่อเขาทำมาแล้ว เขาทำมาแล้วเขาก็ทำของเขา มันเกิดทิฐิต่อกัน เอาชนะคะคานกัน ทีนี้ถ้ามันไม่มีการเอาชนะคะคานกัน เรายอมซะเพราะเราจะแก้ใช่ไหม? เรายอม แล้วเราออดเราอ้อน เราค่อยๆ ทำดีกับเขา แล้วขอเอาทีละเล็กทีละน้อย ถ้าทำอย่างนี้มันเป็นประโยชน์ไง

มันก็เหมือนอภิชาตบุตร บุตรที่ดีกว่าพ่อกว่าแม่ ดีกว่า เพราะนี่อายุขัย เห็นไหม พ่อแม่ต้องมีอายุมากกว่าเราทั้งนั้น แต่ทำไมความรู้สึกนึกคิดของเรานี่สูงกว่า คำว่าสูงกว่าเราจะแก้ไขอย่างไร? คนที่มีความรู้สึกนึกคิดที่สูงกว่า แล้วเราจะแก้ไขคนที่ความรู้สึกนึกคิดที่ต่ำกว่าเรา ต่ำกว่าเรา คือว่าเขาจับต้องสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่ แล้วสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่ เราจะอธิบายอย่างไร ว่าสิ่งที่ไม่ถูกต้องเราควรจะวางอย่างใด? นี่สิ่งที่ทำอยู่มันไม่ถูกต้อง ทั้งๆ ที่ก็รู้ ใครไม่รู้? รู้ทั้งนั้นแหละ แต่จะทำ แต่จะทำน่ะทำไม? เออ ถ้าจะทำเราก็ค่อยๆ พูดอย่างนี้

นี่แก้จิต เรื่องอย่างนี้ เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านภาวนานะ บางทีท่านทำไม่สนใจ ท่านทำไม่รู้หรอก แต่ท่านใช้แคนนอนเอา แคนนอนคือไปพูดข้างหลังไง ตลบหลัง ใช้ตลบหลัง ว่าเหมือนไม่ว่า ว่าเหมือนไม่ว่านะ ไม่ได้ว่าหรอกแต่ว่า ไม่ได้ว่าเลย แต่ตลบหลัง พอตลบหลังไปเขาได้คิด ถ้าได้คิดสะอึกเลยนะ อึก ถ้าได้คิด นี่ที่บอกมันถึงใจ ถ้ามันได้คิดมาจากใจนะ อืม เราก็ผิดขนาดนี้เชียวหรือ? อืม เราก็ไม่ควร เห็นไหม ถ้ามันได้คิดนะ แต่ถ้ามันไม่ได้คิดมันเกิดทิฐิมานะ เอาชนะคะคานกัน

เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติของกิเลสไง นี่ถ้าคนภาวนาเป็นนะจะเห็นว่ากิเลสเป็นอย่างใด? แล้วนี่เรื่องแค่นี้ เรื่องแค่นี้ แต่ถ้ามันเกิดทิฐิมานะ การเอาชนะคะคานกัน เรื่องแค่นี้ให้ฆ่าฟันกันได้นะ เรื่องอย่างนี้ทำให้ถึงฆ่าฟันกันได้เลย แต่ถ้าเรามีปัญญานะ เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยไหม? เรื่องขี้ปะติ๋ว แต่ถ้าเกิดทิฐิมานะมันเอาตัวเราเข้าไปบวกไง มาว่าเราได้อย่างไร? แน่ะ ไปแล้ว ศักดิ์ศรีมาแล้ว ศักดิ์ศรีของเรามา ทุกอย่างเรามา มันกลายเป็นการบาดหมาง กลายเป็นทำลายกันเลย ถ้ากิเลสมันยุ มันแหย่มันไปอีกเรื่องหนึ่งเลย

ถ้าเป็นธรรม นี่มันเป็นความคุ้นเคย ความคุ้นเคยระหว่างพ่อ แม่ ลูก มันเป็นสายบุญสายกรรมกันนะ มันเป็นสายบุญสายกรรม อภิชาตบุตร บุตรที่ดีกว่าพ่อแม่ บุตรที่สูงกว่าพ่อแม่ เราเกิดมาแล้วพ่อแม่มีแต่ความสุข มีแต่ความระงับ นี่บุตรที่ต่ำกว่าพ่อแม่นะ พ่อ แม่ ลูกเกิดมานะ โอ้โฮ ละล้าละลังนะ มันผลาญจนหมด มันผลาญหมดขนาดไหนก็ต้องให้มันนะ พอมันมานี่มันร้องไห้ อู้ฮู ไม่มีสตางค์เลย ธนาคารก็มี บอกไม่มีสตางค์ ไม่มีสตางค์ก็ไปกู้ยืมมาสิ หาให้มันจนได้แหละ

นี่กรณีอย่างนี้มันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม เวรกรรม นี่เป็นลูกของเราเราจะให้ไหม? เป็นญาติของเราเราจะให้ไหม? เป็นคนอื่นเราไม่ให้หรอก แต่ถ้าเป็นลูกของเรา เอาเท่าไรเราก็หาให้ ไม่มีก็ต้องหามา แต่ถ้าเป็นลูกที่ดี ลูกที่ดีเราก็ดูแลอย่างนี้ นี่แล้วถ้าเราดูแลพ่อแม่เรานะ ต่อไปเราแก่ เราเฒ่า เราจะมีคนดูแล ถ้าเราไม่ดูแลพ่อแม่เรานะ คนๆ นั้นไม่ใช่คนกตัญญูกตเวที

ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี เราพยายามดูแลของเรา พยายามแก้ไขของเรา ได้มาก ได้น้อยก็ต้องทำ ไม่ใช่บอกทำไม่ได้แล้วจะทิ้งลามือไม่ทำ ไม่ใช่ ต้องทำ นี่ไงเวลากรรมมันเหมือนประจานไง นี่มันสักที่หน้าเลย พ่อกินเหล้า พ่อกินเหล้า ไปไหนบอกว่าถือศีล ๕ แล้วพ่อมึงล่ะ? อู้ฮู มันอยู่หน้าผากเลย ไปไหนแล้วมีแต่คนติ คนเตียน เรื่องธรรมดา นี่เรื่องกรรมเป็นอย่างนี้

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราจะห้ามอย่างใด? จะห้ามของเรานะค่อยๆ ทำเป็นตัวอย่าง ค่อยๆ ทำสิ่งที่ดี เรื่องพ่อแม่ เรื่องในครอบครัวจะเป็นอย่างนี้มาตลอด แล้วทุกครอบครัวเป็นอย่างนี้ เว้นไว้แต่ เว้นไว้แต่เราเกิดมาในครอบครัวอันสมบูรณ์ นี่ครอบครัวใดก็แล้วแต่ เวลาไปทำบุญนะ ทั้งพ่อ ทั้งแม่ ทั้งลูกไปด้วยกัน อย่างนี้หายากมาก ส่วนใหญ่สามีไป ภรรยาไม่ชอบ ภรรยาไป สามีไม่ชอบ อย่างนี้ ครอบครัวเป็นอย่างนี้มาเยอะ เราเห็นนะ ถ้าพูดถึงต่างคนต่างมาก็พอทน แต่ถ้าพูดถึงมาทั้งครอบครัวได้ อู้ฮู อันนี้แสดงว่าบุญมากนะ

บุญคือความสุขใจ บุญคือความเข้าใจกัน อันนี้เงินซื้อไม่ได้ เงินซื้อหาไม่ได้ ครอบครัวที่เข้ามา นี่บุญแล้วแหละ ถ้าไม่มีบุญนะ เราอยากไป หรือฝ่ายเขาอยากไป พอเขาอยากไป ความไม่เห็นด้วย กลับมาแล้วก็หลบๆ ซ่อนๆ กลับมานี่เหมือนคนไปทำผิดมา เหมือนคนไปทุจริตมา กลับบ้านนี่อื้อฮือ ต้องหลบๆ ซ่อนๆ แล้วมันสุขไหมล่ะ? มันเป็นอะไรในหัวใจล่ะ? เรื่องอย่างนี้เวรกรรมทั้งนั้นแหละ เรื่องอย่างนี้เรื่องเวรเรื่องกรรมทั้งนั้นแหละ แล้วพอถ้าเวรกรรม สุดท้ายการครองเรือน ก็เราไปล้วงเบอร์มาได้อย่างนี้ไง เวลาล้วงเบอร์ ได้เบอร์มานี่ชอบใจ พอต่างคนต่างเผยออก โอ้โฮ ทุกข์ใจ

กรณีนี้เรายกมาให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องสังคม เราจะบอกว่า ลูกๆ ทั้งหลายอย่าน้อยเนื้อต่ำใจ อย่าซีเรียส อย่าเครียดกับเรื่องอย่างนี้ ในเมื่อเรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องของสังคม คำว่าสังคม เห็นไหม สังคมเป็นกันทั้งสังคม มันเป็นอย่างนี้ ถ้ามันเป็นอย่างนี้แล้ว เราพยายามจะชักลากออกมา เราจะดึงพ่อแม่ออกมา เราพยายามจะดึงออกมามันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แล้วถ้าทำได้มันจะภูมิใจมาก มันจะภูมิใจเรานะ

แต่เรื่องอย่างนี้ คิดดูสิเวลาบอกว่า พ่อ พ่อให้ดื่มให้น้อยลงนะ อืม เขาก็คิด ก็จริงเนาะ แต่พอเขาไปนั่งบนโต๊ะ โอ้โฮ เพื่อนๆ ทั้งหมดเลย เฮ้ย ลูกมึงพูดอย่างนี้ได้อย่างไร? โอ๋ย ยุ่งแล้ว เขาอยู่อย่างนั้น เดี๋ยวเราก็ดึงมาได้หน่อยหนึ่ง พอเดี๋ยวเขาไปนั่งโต๊ะนะพวกเขาก็ดึงไปหมดเลย แล้วก็ดึงกันไปดึงกันมา ดึงกันมาดึงกันไป เราอยู่กับสังคมอย่างนี้ แต่ถ้าเขาเห็นความดีนะ เขาทำของเขาได้ จิตใจของเขาทำได้นะ เขาเห็นเอง แล้วเขาละเอง แล้วเขาคุยได้

กรณีอย่างนี้มันมีลูกศิษย์อยู่คนหนึ่ง เมื่อก่อนนะเขาเป็นข้าราชการ แล้วเขาเคยบวชอยู่กับเราไง แล้วเขาก็เห็นโทษของการดื่ม เพราะเขาดื่มมากนะ ดื่มจนเขาเห็นโทษ คือมือเริ่มชาเข้ามาแล้ว คือปลายประสาทมันลิซึ่ม มันจะเคลื่อนไหวไม่ได้เลย เขาก็หยุด พอหยุดเสร็จแล้ว พอเขาสึกไปเขาไปทำงาน พอเขาไปทำงานเขาโดนเพื่อนเสียดสี เสียดสีหนักมาก เขากลับมาหาเรานะ

“หลวงพ่อ ไปทำงานเพื่อนมันด่าเอา ไม่กินเหล้าไม่ใช่ลูกผู้ชาย คบไม่ได้”

เพราะคนมันเคยกินด้วยกัน พอกลับมามันบอกว่า มึงไม่ใช่ลูกผู้ชาย ไม่กินเหล้าคบไม่ได้ ทั้งๆ ที่เป็นเพื่อนกัน เคยดื่มด้วยกัน พอไม่ดื่มมันบอกคบไม่ได้ ก็วิ่งมาหาเราเลย พอมาหาเรา เรารู้ว่ามันมาแรงไง เราบอกว่า

“ปากมันสกปรก ปากพระพุทธเจ้าบอกศีล ๕ ไม่ให้ดื่ม ปากมันปากสกปรก มึงจะเชื่อมันหรือเชื่อพระพุทธเจ้า?”

โอ้โฮ เขาก็เย็นขึ้นมาหน่อยหนึ่ง ไม่อย่างนั้นร้อนเลยนะ เพราะอะไร? เพราะศักดิ์ศรีมันโดนกระทืบ ไม่ใช่ลูกผู้ชาย ศักดิ์ศรีมันแหลกเลย วิ่งกลับมาหาเราเลย ไม่ใช่ลูกผู้ชายคบไม่ได้ เราบอกว่าปากเขาปากสกปรก ปากพระพุทธเจ้าปากสะอาด พระพุทธเจ้าบอกให้ถือศีล ๕ สุราเมรัยนี่ผิดศีล เขาก็ทนได้พักหนึ่ง พออยู่กับเรา เราคอยกระตุ้นเขาก็อยู่ได้ แต่สุดท้ายเราก็ฟังข่าวว่าเขากลับไปดื่มอย่างเดิมนั่นแหละ เพราะเขาทำงานเป็นข้าราชการ พอมันโดนเสียดสีหนักๆ เข้า เสียดสีหนักๆ เข้า

นี่พูดถึงว่าเคยดื่มมา แต่ถ้าเราไม่ดื่มมานะเราก็อยู่ได้ นี้สังคมเป็นแบบนั้น มันถือค่านิยมสังคมมันผิดๆ ถ้าผิดๆ นะ พอใครสุขภาพไม่ดี สิ่งใดไม่ดี ก็ต้องหาเงินมาบำรุงรักษา ตอนนั้นก็ค่อยคิดได้ คนเราจะคิดได้ต่อเมื่อมันสายทุกทีเลย แต่ถ้าคนมันคิดได้ตั้งแต่ยังไม่สายมันก็แก้ได้ นี่พูดถึงว่าความทุกข์ใจของลูกไง ความทุกข์ใจของลูก มันก็ต้องความทุกข์ใจของอาจารย์ด้วย เพราะลูกศิษย์เราก็ดื่ม ก็มาหา เราก็ทุกข์ใจเหมือนกัน คือเราจะแบ่งเบาภาระความทุกข์ไง เราจะแบ่งเบาภาระความทุกข์มาให้เราบ้าง ตัวเองจะได้มีความสุขขึ้นมาหน่อยหนึ่ง เพราะเขียนมาน่าสงสารมาก

ถาม : เข้าใจเรื่องกฎของกรรมพอสมควร บางครั้งก็ท้อใจ เพราะงานในหน้าที่ที่ต้องทำ ทุกข์ใจเรื่องบิดาก็ทุกข์ งานในหน้าที่การงานก็ต้องทำ

ตอบ : เห็นไหม บิดาก็บิดา เราก็ทำดี แต่ต้องยืนให้ได้นะ คำว่ายืนให้ได้ พยายามยืนความดีของเราไว้อย่าคลอนแคลน ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว ในเมื่อการดื่มมันผิดศีล ผิดธรรม มันทั้งผิดศีลด้วย แล้วทำให้ร่างกายสุขภาพไม่ดีด้วย เสียทรัพย์ ทุกอย่างเสียหายหมดเลย แต่ในเมื่อเขาทำอยู่นะ ในเมื่อเป็นพ่อไง พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก ทำไมพระอรหันต์ดื่มเหล้าล่ะ? พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก ดื่มเหล้าเขาดื่มของเขา ค่อยๆ ค่อยๆ ทำไป ทำดีแล้ว ทำดีแล้ว เราทำดีของเรา เราต้องยืนในหลักของความดีของเรา อย่าคลอนแคลนไปกับเขา

นี้พูดถึงว่า

ถาม : หลวงพ่อช่วยบอกทางปฏิบัติให้ด้วย

ตอบ : ทางปฏิบัติคือรักษาใจเรา ถ้าเรารักษาใจเราว่าเราทำคุณงามความดี พ่อไม่เห็นความดีของเราเลย เราก็พยายามจะทำ จะทำให้พ่อเห็นความดีของเรา ถ้าพ่อเห็นความดีของเราพ่อจะลดดื่มลง เราเอาความดีของเรา นี่แต่ทุกข์ใจมาก ทุกข์ใจสิ ทุกข์ใจเพราะเราไปคิดว่าถ้าเราดื่มเหล้าแล้วมันจะเป็นผิดศีล นี่ตายไปแล้วจะไปสิ่งที่ไม่ดี เราคิดล่วงหน้าไป เรายังไม่รู้ว่าวันใดท่านอาจจะหยุดก็ได้ ถ้าท่านอาจจะเลิกได้ เลิกได้เพราะเห็นความดีของเราไง แต่เราต้องใช้ความดีนะ เขาเรียกว่าวัดใจกัน

ถ้าวัดใจกันเราต้องมีหัวใจที่ใหญ่กว่า เราต้องมีหัวใจที่ใหญ่กว่าพ่อแม่ เราถึงจะแก้พ่อแม่ได้ ถ้าหัวใจเราเล็กกว่า เวลาพ่อแม่เขาก็ดูใจเรา เราจะบอกว่าผู้ใหญ่ผ่านโลกมามาก เขารู้ เขารู้ว่าลูกทุกข์อย่างไร? ลูกคิดอย่างใด? เขารู้ แล้วเราเอาความดีเข้าแลก ถ้าความดีของเรามันทำแล้วเป็นประโยชน์นะเขารู้ เราทำความดีของเรา เรายืนอยู่ในความดีของเรา ทำดีต้องได้ดีแต่ แต่ด้วยความคุ้นเคยในสถานะของผู้รับมานาน ตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่เกิดมา ท่านเลี้ยงดูมาท่านก็บอกว่าสมบัติของท่าน

ก็จริง พระอรหันต์ของลูกเป็นอย่างนี้จริงๆ ฉะนั้น เวลาเราจะแก้มันถึงแก้ยากไง แก้ยากนะ หลวงปู่มั่นท่านบอก “แก้จิตนี้แก้ยากมาก” แล้วนี่ยังแก้พ่อแก้แม่อีกชั้นหนึ่งมันยิ่งยากเข้าไปใหญ่ แต่ยากอย่างไรก็ทำ ถ้าเราเกิดมาสร้างคุณงามความดี นี่ย้อนกลับไปดูพระโพธิสัตว์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์สิ เสียสละชีวิตมาอย่างนี้ เพื่อหมู่ เพื่อคณะ เพื่อต่างๆ สร้างสมมา

นี้ก็เหมือนกัน เป็นพ่อเป็นแม่นี่จริง เวลาตายไปแล้ว ไม่รู้ชาติใดชาติหนึ่งจะพลิกกลับไปใครเป็นพ่อใครเป็นแม่ล่ะ? พ่อ แม่ ลูกพลิกไป คนนั้นเป็นพ่อเป็นแม่ชาตินี้ ชาติหน้าจะเปลี่ยนเป็นพ่อเป็นแม่กันอีก สับไปสับมา ต่างคนสับกันอยู่อย่างนี้ ถ้ามีบุญกุศล มีสายบุญสายกรรมต่อกันนะ นี้พูดให้กำลังใจไง เรื่อง “บิดาดื่มเหล้า”

ข้อ ๘๘๔. ไม่มีนะ

ถาม : ข้อ ๘๘๕. เรื่อง “จากผู้ที่ถูกกระทำ”

ตอบ : เขียนมายาวมาก เขียนมายาวมากว่าถูกกระทำมาต่างๆ ฉะนั้น สิ่งนี้เวลาอ่านออกไปแล้วมันจะไม่เป็นประโยชน์กับใคร นี่มันสรุปเอาที่ว่า

ถาม : อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก เขาจะรู้หมดเลยว่าโยมคิดอะไร ขอถามนะคะ

๑. ตอนที่โยมเลิกติดต่อมานานแล้ว ทำไมทุกอย่างยังเหมือนเดิม

๒. จะแก้ตรงนี้ได้อย่างไร ในเมื่อมีการที่จะล้างสัญญาก็ต้องใช้กำลังสมาธิด้วย แต่ทำสมาธิไม่ได้เลย

ตอบ : นี่พูดถึงว่าเขาไปทำบุญกับที่หนึ่ง แล้วเขาเข้าใจว่าเขาโดนครอบงำ โดนครอบงำทำให้เชื่อศรัทธาเฉพาะเขา แล้วจะต้องไปทำบุญตลอด แต่สุดท้ายเขาไปปฏิบัติแล้วเห็นว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง พอสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง นี่เราจะแยกตัวออกมา พอแยกตัวออกมาเกิดการที่จิตใจมันปั่นป่วน มันมีสิ่งใดทำให้ตัวเอง นี่เขาเขียนมาตั้งแต่ต้นว่ามีเงินเท่าไรก็ต้องให้เขา ถึงเวลาแล้วเขาจะทำบุญเท่าไรก็ต้องเอาไปให้เขา เป็นพระด้วยนะ ฉะนั้น จะทำอย่างใด?

ถาม : สิ่งที่สำคัญมาก เขาจะรู้หมดเลยว่าโยมคิดอะไร

ตอบ : แล้วโยมคิดอย่างไรว่าเขารู้ล่ะ? ถ้าเขารู้ก็เรื่องของเขา ก็ความคิดของเรามันก็เป็นเรื่องความคิดของเรา ความคิดของเรามันเป็นสิทธิของเรา ความคิดของเราคือความคิดของเรา เราจะเป็นอิสระ ความคิดของเรา ดูสิเวลาพระบวชมา เห็นไหม เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาพระบวชมานี่เหมือนนก มีปีกกับหาง เช้าขึ้นมาบิณฑบาต ฉันเสร็จแล้วล้างบาตร เก็บบาตรก็บินไป นี่อิสระ เสรีภาพ บวชมาเป็นพระแล้วอิสระ เป็นพระจะขึ้นต่อใคร?

ทีนี้จะขึ้นต่อใคร? เราไม่ขึ้นต่อใครถ้าสิ่งนั้นไม่เป็นธรรม แต่เวลาหลวงตาท่านอยากจะประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ท่านแสวงหาครูบาอาจารย์ที่จะชี้นำ ท่านศึกษามาจนเป็นมหา นี่อ่านถึงนิพพานนะ อ่านทีแรกว่าอยากไปสวรรค์ พออ่านถึงไปสวรรค์ อ้าว พรหมดีกว่าสวรรค์ก็อยากไปพรหม พอถึงพรหมแล้วก็ยังต้องเวียนตายเวียนเกิด ต้องอยากไปนิพพาน พอศึกษานิพพานขึ้นไป ศึกษาแล้ว อืม นิพพานทำอย่างไร? นี่หันซ้าย หันขวา หันไม่ถูก

“ถ้ามีใครชี้นำเราได้ มีใครชี้บอกได้ว่าจะไปนิพพานอย่างใด เราจะถวายชีวิตกับองค์นั้นเลย” หลวงตาท่านอธิษฐานอย่างนั้นเลย แล้วท่านไปหาหลวงปู่มั่นครั้งแรก เห็นไหม

“มหา มหาจะมาหานิพพานหรือ? นิพพานมันอยู่ที่ไหน? นิพพานมันอยู่บนฟ้าหรือ? อยู่บนอากาศหรือ? อยู่บนภูเขาหรือ? อยู่บนต้นไม้หรือ? มันไม่อยู่ที่ไหนเลย มันอยู่ในหัวใจของสัตว์โลกเว้ย”

เออ ไปหานิพพานอยู่ตั้งนาน ใจมันออกไปหานิพพานข้างนอกไง พอหลวงปู่มั่นชี้เข้ามานะ อืม หานิพพานที่นี่ พอหานิพพานที่นี่ นี่ยอมตายถวายชีวิตให้หลวงปู่มั่น ปฏิบัติกับหลวงปู่มั่นเลย นี้เขาแสวงหากันแบบนั้น

ฉะนั้น ถ้าเขารู้ความคิดเรา ถ้าความคิดของเรา เราจะเป็นอิสระจะทำไม? นี่เราจะเป็นอิสระ เราจะเป็นคนดี เราจะออกจากใต้อาณัติ เห็นไหม เราเกิดมาเราก็ทุกข์แสนทุกข์แสนยากแล้ว แล้วมีกิเลสมาครอบงำอยู่อย่างนี้ยังจะต้องเป็นขี้ข้าใครอีก? ยังจะต้องไปเป็นทาสของใครอีก? ถ้าเขารู้ความคิด รู้ก็รู้ รู้เราก็ตั้งสติของเรา เราตั้งสติของเราให้มีกำลังของเราไว้ นี่ถ้ามีกำลังของเราไว้นะ กรณีเรื่องอย่างนี้มันแก้ไขได้ แก้ไขที่ไหน? แก้ไขคือที่ใจเราอยากแก้ไข ถ้าใจเราไม่อยากแก้ไข อย่างไรก็แก้ไขไม่ได้

ถ้าใจเราอยากแก้ไขใช่ไหม? พอใจอยากแก้ไข มันก็มีสติ มันก็มีกำลังของมัน ถ้ามีกำลังของมัน เขาจะรู้ รู้ก็รู้ รู้แล้วเขาขโมยไปได้ไหมล่ะ? รู้แล้วเขาเอาความคิดเราไปใส่ตู้เซฟหรือ? จะรู้ก็รู้ไป ไม่เห็นกลัวเลย จะรู้ก็รู้ไป ดีด้วยรู้ว่าฉันไม่ไปหาเธอ เออ รู้ด้วยว่า ความคิดเราจะเป็นอิสระ ยิ่งรู้ยิ่งดี รู้ว่าจะไม่เอาสตางค์ไปให้อีกแล้ว แล้วจะไปกลัวอะไร? นี่เราก็รักษาใจเราสิ รักษาใจของเรา เขารู้ใจของเรา

เราไม่เชื่อหรอก เราไม่เชื่อนะ การทำไสยศาสตร์ การทำสิ่งนี้เขาต้องใช้กำลังของเขา มันเป็นวิชา มันเป็นวิชาคุณไสยวิชาหนึ่ง เขามีของเขา แต่ทำแล้วนี่ เพราะอะไรรู้ไหม? นี่ถึงบอกว่าเวลาที่เราไปทำบุญที่ไหน? หรือเราจะไปหาใคร เราต้องใช้เวลาพิสูจน์กันก่อน อย่าเพิ่งไปเชื่ออะไรง่าย พอเชื่ออะไรง่ายแล้ว เราไปให้เรื่องความเป็นส่วนตัวกับเขาหมดเลย

อย่างเช่นในปัจจุบันนี้ โทรศัพท์นี่นะ อย่างข้อมูลส่วนตัวเขาไม่ให้เข้านะ เข้าเดี๋ยวหมดเลย ไอ้นี่ไปบอกเขาหมด พอบอกเขาหมด เวลาเขาทำอะไรมามันก็ลึกซึ้ง แต่ถ้าเขาไม่รู้จักเรา เขาทำของเขา มันก็เรื่องของเขา ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เพราะอย่างนี้ กรณีอย่างนี้มันเป็นเรื่องคุณไสย ถ้าเป็นสมัยปัจจุบันเราไม่เชื่อว่ามันไม่มีไม่มีหรอก มี มีทั้งนั้นแหละ ในเมื่อยังมีคนเกิด คนตาย เวลาคนตายเป็นจิตวิญญาณ คนตายไปแล้ว สายบุญสายกรรมมันเกี่ยวเนื่องกันไป

สิ่งนี้มี ถ้าสิ่งนี้มีแล้วนี่ สิ่งนี้มันมีอยู่ แต่พวกเราในศาสนาพุทธศาสนา เห็นไหม เราทำบุญเราอุทิศส่วนกุศลให้ใคร? ให้กับจิตวิญญาณ ให้กับสัมภเวสี ให้กับผู้ที่ไร้ญาติ ให้กับผู้ที่ไม่มีคนดูแล เราเองต่างหากเราให้ความร่มเย็นเป็นสุข ในพุทธศาสนานี่ให้มีความเสียสละ ให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ใช่เอา มีแต่ให้ เราให้เขาไป ให้ทั้งความรู้สึกนึกคิด เพราะว่าวิญญาณาหาร ความคิดที่ดีๆ ความรู้สึกที่ดีๆ เราอุทิศให้คนอื่นให้คิดแบบเรา

ดูสิเวลาเราเจอหน้ากัน เห็นไหม ถ้าใครมีความคิดดี เราเจอหน้า อืม คนนี้ถูกชะตามากเลย บางคนเราเจอคนนี้ โอ้โฮ เหี้ยมมากเลย โอ้โฮ ไม่อยากเข้าใกล้ ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ? นี่ถ้าเรามีความคิดที่ดีๆ พอเขาเจอนะ อืม คนนี้หน้าตามีความร่มเย็นเป็นสุขเนาะ อบอุ่น เข้าใกล้แล้วมีความสุข เขาก็พอใจ

นี่ไงพุทธศาสนาสอนอย่างนี้ ถ้าสอนอย่างนี้เรามีแต่ให้ มีแต่ให้ ความให้อย่างนี้เรามีหลักมีเกณฑ์ไง แต่ถ้าเป็นไสยศาสตร์ เป็นสิ่งที่เขาดูฤกษ์ ดูยาม เราต้องทำ เจาะจงอย่างนั้น ทำอย่างนั้น สิ่งนั้นยิ่งทำนะ มันมีแต่ตกต่ำๆ แล้วเราก็เป็นชาวพุทธ เราก็ทำดี ทำไมเรามาเป็นอย่างนี้ล่ะ? นี่ทำไมเราไปทำบุญแล้ว พอเรารู้ขึ้นมา เราจะทำให้เป็นอิสระ ทำไมเราแยกตัวไม่ได้ล่ะ? แยกได้ แยกได้ถ้าเราเข้มแข็ง

นี่เป็นพวกโยมนะ ถ้าเป็นเรานะ โอ๋ย ไม่หันหน้าไปมอง จ้างสักพันก็ไม่หันไปมอง แล้วทำมาสิไม่สนด้วย ไม่สนเลย แต่พวกเราจิตใจอ่อนแอ จิตใจอ่อนแอแล้วยอมจำนนกับความคิดอย่างนี้ บอกว่าหลวงพ่อ ไม่ใช่ยอมจำนนนะมันทุกข์มาก มันทุกข์มาก ทุกข์มากขนาดไหน เรามีสตินะมันไม่เกินตายหรอก ทุกข์มากขนาดไหนก็ไม่ไป แล้วเราตั้งสติของเราไว้ ดูแล ตั้งสติ ถ้ากำหนดพุทโธได้ พุทโธไว้ พุทโธไว้ มันจะจางไปเรื่อยๆ จางไปเรื่อยๆ ถ้าเขาจะส่งมาอย่างไร เขาจะเติมมาอย่างไรเรื่องของเขา

นี่เวลาเราพูดถึงอริยสัจ พูดถึงเรื่องสัจจะความจริง เรื่องนี้เราไม่เชื่อเลยนะ เราไม่เชื่อเพราะอะไรรู้ไหม? เราไม่เชื่อเพราะว่าถ้าคนมีศีล มีสัตย์ คนมีศีล มีสัตย์ เรื่องอย่างนี้มันเข้าไม่ถึงเราหรอก แต่อย่างนี้ ที่มันเป็นอย่างนี้เพราะอะไร? เพราะเริ่มต้นเห็นว่าเขาดี ไปพะเน้าพะนอกับเขา แล้วพอเสียเงิน เสียทองขึ้นไป ตอนนี้ก็เห็นว่าเขาไม่ดีแล้ว ตอนนี้ก็จะแยกตัวออกจากเขา

นี่ไงถ้าเรามีศีล มีสัตย์นะเราไม่เชื่อหรอกเรื่องอย่างนี้ เพราะอะไร? เพราะมันเป็นไสยศาสตร์ พุทธศาสตร์มันต้องเหนือกว่า พุทธศาสตร์ พุทธศาสนามันเลอเลิศกว่า มันดีกว่า มันมีปัญญากว่าทั้งนั้นแหละ แต่เพราะเริ่มต้นไปร่วมมือไปกับเขา แล้วพอไปเห็นโทษขึ้นมา ตอนนี้ก็จะแยกตัวออกมา พอแยกตัวออกมา นี่ไปคุ้นเคยกับเขา ไปร่วมมือกับเขา นี้ว่าหลวงพ่อ หลวงพ่อจะแก้หรือหลวงพ่อจะซ้ำเติม

ไม่ได้ซ้ำเติมนะ พูดถึงที่มาที่ไปมันเป็นแบบนี้ แล้วถ้าไม่รู้ที่มาที่ไป แล้วจะแก้ที่ไหนล่ะ? นี่เราถึงสงสารไง เราถึงสงสารเพราะอะไร? เพราะว่าห่างบ้าน ห่างเมืองมันก็อยากมีที่พึ่ง พอห่างบ้าน ห่างเมือง อยากมีที่พึ่งมันก็ไปเป็นเหยื่อเขา เราก็อยากมีที่พึ่ง ที่พึ่ง เห็นไหม เวลาเราปฏิบัติเราเข้าห้องพระเราก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ถ้าทำอย่างนี้ อันนี้พูดถึงว่าถ้าเขารู้ นี่เขารู้ความคิดเราหมดเลย ความคิดมันขายได้ไหมล่ะ? เขาไม่เอาไปขาย เขาไม่เอาไปทำอะไร ช่างมันเถอะ ปล่อยเขาไป เขาจะคิดอย่างไร เขาจะรู้อย่างไร เราตั้งสติไว้ ตั้งสติไว้ นี่ถ้าเขารู้ความคิดนะ

ถาม : ๑. ตอนนี้เลิกติดต่อมานานแล้ว แต่ทำไมทุกอย่างมันยังเหมือนเดิม

ตอบ : เหมือนเดิมเพราะจิตเราไม่ปล่อยเอง เหมือนเดิมเพราะเราวิตก วิจารคิดแต่เรื่องอย่างนั้น ถ้าเราปล่อยวาง เราไม่สนใจเขาเลย เราทำเหมือนไม่รู้จักกัน เขาอยู่ส่วนเขา ในเมื่อเขาใช้ไสยศาสตร์ เขาใช้สิ่งนี้เพื่อดำรงชีพของเขา เราเป็นชาวพุทธ ถ้าเราเป็นชาวพุทธ เราต้องการพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แม้แต่เป็นสมมุติสงฆ์ สงฆ์ที่มีศีล มีธรรม สงฆ์ที่เขามีคุณธรรมพอที่เราจะเป็นที่พึ่งได้ เราถึงจะเอาเป็นที่พึ่ง

ถ้ายังไม่เป็นที่พึ่งได้ เราก็ถามไว้ในใจว่า ถ้าเรามีที่พึ่ง มีแก้วสารพัดนึก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เราจะหาสิ่งนั้นเป็นที่พึ่ง ถ้ายังพึ่งไม่ได้ เห็นไหม เรากำหนดพุทโธ พุทโธ เราจะพึ่งหัวใจของเรา พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเราก็อาศัยสิ่งนี้ เราอยากทำบุญ อยากสร้างบุญบารมีอันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งให้มันมีเวล่ำเวลา มันมีสถานที่ มันก็ค่อยๆ ทำได้ มันทำของมันเองแหละ

นี่พูดถึงว่า

ถาม : แล้วทำไมมันยังเหมือนเดิมล่ะ?

ตอบ : ถ้าเราไม่ย้ำคิดย้ำทำมันก็จะไม่เป็นอย่างนี้ แล้วถ้าเหมือนเดิม ถ้าเกิดว่าเขาต้องการเงิน เขาต้องการให้เราเข้าไปคลุกคลีอยู่กับเขา เขาก็พยายามของเขา เขาพยายาม ถ้าเราแก้ไขของเราได้ ถ้ามันจบแล้วมันก็คือจบ คือถ้าเขาทำเราไม่ได้ว่าอย่างนั้นเถอะ เขาทำเราไม่ได้ แต่ถ้าเรายังวิตกกังวลนี่เขายิ้มเลยนะ เขายิ้มเลย เข้าไปทีละนิดๆ มันยุ่งไปหมดเลย ปล่อยไปเลย เรื่องอย่างนี้จบ

ถาม : ๒. จะแก้ตรงนี้ได้อย่างไร? ในเมื่อการที่เราจะล้างสัญญาที่ต้องใช้กำลังของสมาธิช่วย แต่ก็ทำสมาธิไม่ได้

ตอบ : ทำสมาธิไม่ได้ เห็นไหม นี่พอมันมีเล่ห์กลอย่างไร พอจิตมันเข้าไปมันก็เข้าไปเจอสิ่งนั้น ถ้าเข้าไปเจอสิ่งนั้นนะ นี่เราให้เป็นวิรัตใหม่ วิรัตหมายถึงว่าเราจะขอถือศีล วิรัตนะ วิรัตชัดๆ เลย วิรัต ศีลเกิดจากการวิรัตเอา คือตั้งใจและเจตนาเอา เจตนาจะทำคุณงามความดี เจตนาจะเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิ่งที่เป็นไสยศาสตร์ สิ่งต่างๆ เราวางไว้ วิรัตอย่างนี้เกิดขึ้นมา แล้ววิรัตว่าเราจะวิรัตให้ศีลของเราสะอาดบริสุทธิ์ แล้วเราพยายามทำสมาธิใหม่ เราทำสมาธิเพื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราทำสมาธิเพื่อศาสนาพุทธ

พุทธศาสนาสอนถึงกรรมฐาน สอนถึงการทำความสงบ ๔๐ วิธีการ เราวิรัตถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แล้วเราก็พยายามทำพุทโธใหม่ พยายามทำสมาธิใหม่ ทำสมาธิของเรา สมาธิอย่างนี้เป็นสมาธิสะอาดบริสุทธิ์ เป็นสมาธิฝ่ายขาว ไม่ใช่สมาธิฝ่ายดำ สมาธิฝ่ายดำ เห็นไหม การทำคุณไสย การทำพลังจิตต่างๆ เขาต้องใช้สมาธิเหมือนกัน แต่เป็นสมาธิที่แสวงหา ทำเพื่อผลประโยชน์ ทำลายชีวิตของคน ทำลายความร่มเย็นเป็นสุขในครอบครัว ทำลายสิ่งที่คนเขามีแต่ความร่มเย็น ทำลายให้มันแตกแยก สิ่งนี้เป็นมนต์ดำ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นี่เป็นมิจฉา มิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ ฉะนั้น เราเห็นโทษของมันแล้ว เราจะทำคุณงามความดีของเรา

นี่เขาอยู่ไกลไง ถ้าอยู่ใกล้ๆ มันคุยกันง่าย แล้วค่อยแก้ไขจบเลยนะ นี่อยู่ไกล ฉะนั้น เราวิรัตของเรา แล้วทำของเราไป ทำของเราไป นี่วิรัตถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ วิรัตถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้วเรากำหนดพุทโธของเรา ค่อยๆ ทำของเราไป นี่ดูสิว่าพุทธคุณ คุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรักษาปกป้องบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาหรือไม่? อุบาสก อุบาสิกาไง ถ้าอุบาสก อุบาสิกา นี่พุทธคุณ คุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จะคุ้มครองเราไหม? จะดูแลเราไหม? นี่จิตใจเราให้มั่นคงอย่างนี้ ถ้ามั่นคงอย่างนี้นะ แล้วเรากำหนดเอา แล้วเราทำความสงบของใจเข้าไป

นี่เขาบอกว่า

ถาม : จะไปล้างสัญญาก็ต้องใช้สมาธิ ทำสมาธิไม่ได้เลย

ตอบ : ค่อยๆ ถ้าทำสมาธิได้ทำสมาธิ แล้วไม่ต้องไปล้างสัญญา ไปล้างอะไรหรอก ทำสมาธิเราให้จิตใจร่มเย็นเป็นสุข ปล่อยมันไป เพราะเราไม่รู้หรอกว่าสัญญามันอยู่ตรงไหน เขาทำไว้ตรงไหน แล้วเราจะทำอย่างไร? จะไปล้างสัญญา ล้างสัญญาคือล้างสิ่งที่เคยไปคุ้นเคยกับเขา เคยไปร่วมมือกันมานี่ ทิ้งไป เราทำของเราสงบร่มเย็นเข้ามา เอาตรงนี้เข้ามา แล้วแก้ไขตรงนี้เข้ามา มันจะพอทำได้ไง

เออ สุดท้ายนี้ขอบพระคุณหลวงพ่อเนาะ อย่างว่านี่โลกทั้งโลกเลย ไอ้นี่มันอย่างที่ว่า นี่เวลาทำเพื่อสังคมเนาะ สังคมคือสังคม แต่สุดท้ายแล้วเวลาธรรมนะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่การเห็นแก่ตัว ฝ่ายอื่นเขาจะเห็นว่าหินยาน เถรวาทนี่เห็นแก่ตัว อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนยังไม่เข้าใจ ตนไม่เข้มแข็ง แล้วตนจะเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้อย่างไร? เราว่ายน้ำไม่เป็น แล้วเราจะไปช่วยคนจมน้ำ คนจมน้ำก็ตาย เราก็ตาย แต่ถ้าเรารักษาตัวเรา เราพยายามทำตัวเราได้นะ เราเข้มแข็ง เราจะช่วยคนจมน้ำได้นะ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่ใช่การเห็นแก่ตัว ต้องฝึกฝนให้เราเป็น ให้เรารู้ แล้วเราจะช่วยคนอื่นได้ แต่เขาบอกว่าให้ช่วยกันไปเลย ช่วยกันไปเลย ช่วยไปเลย นี่ไงเพราะเราไปมองอย่างนั้นไง แล้วเราเชื่อเขาไง เราไปคุ้นเคยกับเขาไง แล้วตอนนี้เห็นโทษแล้วใช่ไหมล่ะ? ถ้าเห็นโทษ นี่ไม่ใช่ซ้ำเติมนะ เพียงแต่ว่ายกเป็นตัวอย่าง แล้วเราทำของเรา แก้ไขของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ มันจะแก้ไขได้

เราเป็นชาวพุทธ เราเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะไม่งอมืองอเท้า เราจะไม่งอมืองอเท้าให้คนอื่นเหยียบย่ำทำลายหัวใจของพวกเรา เราเป็นชาวพุทธ เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เราจะให้คนอื่นเขามาเหยียบย่ำทำลายหัวใจของเราได้อย่างไร? ในเมื่อถ้าเป็นหัวใจของเรา มันก็เป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเหมือนกัน เราอุปัฏฐากหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นชาวพุทธ เราต้องรักษาใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง